บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา
Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña
วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน
ในโอกาสที่วันฉลองพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าใกล้จะเวียนมาถึงในปีนี้ ผู้เขียนได้นึกย้อนไปถึงบทความเก่าชิ้นหนึ่งที่เคยเขียนไว้ด้วยปัญญาอันน้อยนิด ซึ่งเกี่ยวข้องกับวันฉลองดังกล่าว ที่ผู้เขียนต้องกล่าวยอมรับว่าได้เริ่มลงมือปัดฝุ่นบทความชิ้นนั้นเสียใหม่มาตั้งแต่ก่อนวันฉลองพระหฤทัยฯ ปีที่แล้ว เพื่อจะลงบทความที่ปรับปรุงใหม่ให้ทันในช่วงนั้น แต่ด้วยจังหวะต่าง ๆ กว่าผู้เขียนจะสามารถเรียบเรียงปัดฝุ่นบทความนี้ได้สำเร็จลง ก็ใช้เวลาลากยาวมาจนใกล้ถึงวันฉลองพระหฤทัยในปีนี้ และเมื่อพิจารณาบทความที่ความตั้งใจแรกสุดเป็นเพียงการเกลาคำตรวจทานคำผิดเสียใหม่ กลับมีเนื้อหาที่เพิ่มขึ้นจนมีความยาวมากกว่าบทความเดิมถึงเท่าตัว ผู้เขียนจึงตัดสินใจลงเป็นบทความใหม่ และขอลบบทความเดิมที่ชื่อว่า “‘เบร์นาโด ฟรานซิสโก’ นักสร้างสะพานและธรรมทูตพระหฤทัย” ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 2013 ไป เพื่อให้ผู้อ่านได้อ่านฉบับที่ดีที่สุดที่ปัญญาของผู้เขียนในเวลานี้จะทำได้ - รูทราย เทเรซีโอของพระเยซู
21 ปีภายหลังมรณกรรมของนักบุญมาร์การิตา มารีอา อาลาก๊อก ธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่แห่งดวงพระฤทัยของพระเยซูเจ้า หรือ 29 ปีหลังมรณกรรมของนักบุญโกล้ด เดอ ลา โกลอมบีแอร์ ผู้ได้รับเกียรติว่าเป็น ‘อัครสาวกแห่งดวงพระหฤทัย’ องค์พระผู้เป็นทรงผู้ทรงประสงค์จะประกาศถึงความรักความเมตตาอันไม่มีขอบเขตและไม่มีแบ่งแยก ผ่านธรรมล้ำลึกแห่งดวงพระหฤทัยที่เผยออกให้มนุษย์ทุกคนและลุกร้อนไปด้วยเปลวไฟแห่งความรัก ก็ทรงส่งธรรมทูตผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้นในโลกเพื่อประกาศถึงความจริงในเรื่องนี้อีกครั้งในแผ่นดินคริสตังที่สำคัญอีกหนึ่งที่อย่าง ‘สเปน’ โดยพระองค์ได้ทรงเลือกสรรครอบครัวคริสตังใจศรัทธาหนึ่งซึ่งมีชายผู้เป็นสามีมีตำแหน่งเป็นถึงเลขาธิการในสภาเมืองโตรเรโลบานตอน เมืองที่ตั้งอยู่ในการปกครอง จ. บายาโดลิด และสังฆมณฑลปาเลนเซีย แคว้นกัสติล อี เลออน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสเปนในปัจจุบัน ให้เป็นที่กำเนิดของธรรมทูตผู้นี้ ผู้ที่พระองค์ได้ทรงกำหนดให้ทำพันธกิจเดียวกันกับเจ้าสาวและผู้รับใช้ที่สัตย์ซื่อทั้งสองคนของพระองค์ในประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งที่ประเทศสเปน
เรื่องราวในวันนี้ของเราเริ่มขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1711 เมื่อนางดอญา ฟรานซิสกา เด เซญา ภรรยาของนายดอน มานูเอล เด โอโยซ เลขาธิการสภาเมืองโตรเรโลบานตอนให้กำเนิดทารกเพศชาย ซึ่งในวันที่ 16 กันยายน ปีเดียวกัน ทั้งสองได้พาไปรับศีลล้างบาปที่วัดพระนางมารีย์ โตรเรโลบาตอน โดยทั้งสองได้ตั้งชื่อให้ทารกน้อยตามนามของนักบุญที่ฉลองในวันก่อนหน้าที่หนูน้อยจะเกิด คือ นักบุญเบอร์นาร์ด แห่ง แคลร์แว็กซ์ (ฉลองวันที่ 20 สิงหาคม) นักพรตผู้ยิ่งใหญ่และนักปราชญ์ของพระศาสนจักรชาวฝรั่งเศส ส่วนพระสงฆ์ผู้ทำพิธีโปรดศีลล้างบาปก็ประสงค์ให้ทารกผู้นี้ได้รับความคุ้มครองจากท่านนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ พระสงฆ์ธรรมทูตเยซูอิตชาวสเปนผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีรูปแกะสลักที่วัดและเป็นที่ศรัทธากันมาในเขตวัดนี้ จึงอยากให้เพิ่มนามของนักบุญองค์ดังกล่าวไป ดังนั้นหนูน้อยที่พึ่งลืมตาดูโลกได้ 26 วันจึงได้รับนามของสองนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ว่า ‘เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก’ ด้วยประการละฉะนี้
เมื่อได้รับศีลล้างบาปแล้วทั้งนายมานูเอลและนางฟรานซิสกาก็ได้เฝ้าเลี้ยงดูบุตรชายคนนี้เป็นอย่างดี เพราะหนูน้อยมีสุขภาพที่ไม่สู้จะแข็งแรงเท่าไรนัก จากชีวประวัติของท่านที่เขียนโดยคุณพ่อฆวน เด โลโยลา คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่านได้บรรยายว่า “นางฟรังซิสกาได้คอยดูแลและเอาใจใส่เขาเป็นพิเศษ นางเล่าว่าในบางคราวนางก็เคร่งครัดมากแม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะหากนางสูญเสียบุตรชายคนนี้ไป สวรรค์ก็เผยให้นางทราบว่านางได้พรากนักบุญที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งไปจากโลก” นอกจากทั้งสองจะเอาใจใส่ในการดูแล ด.ช. เบร์นาร์โด ให้เติบโตในชีวิตฝ่ายกายอย่างดีแล้ว ในชีวิตฝ่ายจิตเองทั้งสองก็ได้เอาใจใส่อบรมให้บุตรชายเติบโตเป็นคริสตังที่ดีเช่นกัน เราอาจพอจะจินตนาการว่าทั้งสองอบรมอะไรได้บ้างจากข้อความบางตอนของพินัยกรรมของนายมานูเอลที่ว่า “ข้าพเจ้าขอให้แนะนำบรรดาลูก ๆ ของข้าพเจ้าดังนี้ ขอให้พวกเขาจงยำเกรงพระเจ้าและมโนธรรมของตนเอง อีกทั้งรับผิดชอบงานและหน้าที่ได้รับมอบหมายให้จงดี เพราะด้วยวิถีทางนี้ พวกเขาจะได้รับความบรรเทาใจเป็นอันมาก และมากยิ่งไปกว่านั้นที่พวกเขาจะได้ ก็คือความยินดีในพระเมตตาของพระองค์ผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงชี้นำและส่องสว่างทางให้พวกเขาในการทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์และดำรงอยู่ในพระองค์จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ขอให้พวกเขาจงรักษาความนอบน้อม ความยำเกรง และความเคารพต่อมารดา ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอาของพวกเขา รวมถึงคนอื่น ๆ ด้วย เพื่อว่าพวกเขาจะเป็นที่รักของทุกคนและได้รับการพักผ่อนตลอดนิรันดร”
วันเวลาล่วงผ่านมาได้ 9 ปี ทั้งสองก็ได้ให้ ด.ช. เบร์นาร์โด รับศีลกำลังจาก ฯพณฯ ฟรานซิสโก เด โอชัว ในวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1720 และในปีต่อมาทั้งสองก็ได้ตัดสินใจส่ง ด.ช. เบร์นาร์โดไปอยู่กับคุณน้าที่เมืองเมดินา เดล กัมโป จ. บายาโดลิด ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนางฟรานซิสกาและอยู่ลงไปทางตอนใต้เมืองโตรเรโลบานตอนประมาณ 40 กิโลเมตร เพื่อเข้าเรียนภาษาละตินในโรงเรียนของคณะเยซูอิตในเมืองดังกล่าวอยู่หนึ่งปี (ค.ศ. 1721 - ค.ศ. 1722) ก่อนที่ทั้งสองจะเปลี่ยนใจพาท่านย้ายไปเรียนที่โรงเรียนของคณะเยซูอิตที่เมืองวีลลาการ์เซีย เด กัมโปส จ. บายาโดลิด ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโตรเรโลบานตอนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร ตั้งแต่ ค.ศ. 1722 เป็นต้นมาแทน เราอาจกล่าวได้ว่าการตัดสินใจของสามีภรรยาที่ส่ง ด.ช. เบร์นาโดเข้าเรียนในโรงเรียนที่ดำเนินการโดยคณะเยซูอิตแห่งนี้ ส่งผลต่อความคิดอ่านถึงอนาคตของบุตรชายคนนี้อย่างไม่อาจจะปฏิเสธไม่ได้ เพราะผ่านระเบียบปฏิบัติของโรงเรียนที่ไม่เพียงมุ่งปลูกฝังความรู้ทางวิชาการ แต่ยังรวมถึงความเชื่อในพระศาสนจักร ได้ค่อย ๆ หล่อหลอมความคิดของหนูน้อยให้มองเห็นกระแสเรียกที่พระเจ้าได้ทรงเรียก จนเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่นำไปสู่ ‘การตัดสินใจสำคัญ’ ของท่าน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับนักบุญโกล้ด เดอ ลา โกลอมบีแอร์ในที่สุด
ตั้งแต่เล็ก ๆ นอกจากจะเป็นเด็กสุขภาพไม่ค่อยดี ท่านยังเป็นคนตัวเล็ก ค่อนข้างผอมและสูงไม่มาก แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ท่านกลายเป็นเด็กเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ชอบสุงสิงกับคนอื่นไปเสีย เพราะถึงแม้ร่างกายของท่านจะอ่อนแอ แต่จิตใจและวิญญาณของท่านนั้นกลับแข็งแรงและสดใสอยู่เสมอ ท่านจึงเป็นเด็กที่ชอบเข้าสังคม ที่โดดเด่นจากเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันด้วยความสดใส ความกล้าได้กล้าเสีย ความรู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย และความศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า ท่านตรงเวลาเสมอในเวลาที่ต้องไปแก้บาปและรับศีลมหาสนิทซึ่งจัดขึ้นทุกเดือนตามระเบียบของโรงเรียน ท่านเป็นมิตรและมีจิตใจโอบอ้อมอารีโดยเนื้อแท้ รวมถึงเป็นเด็กหัวดีอีกคนหนึ่ง จึงทำให้เมื่อท่านจบการศึกษาในโรงเรียนมัธยมที่วีลลาการ์เซีย เด กัมโปส ใน ค.ศ. 1726 ท่านทั้งสามารถพูดและเขียนภาษาละตินได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งแน่นอนด้วยความรู้ความสามารถและมันสมองเช่นนี้ หากท่านตัดสินใจศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป ท่านก็คงได้มีโอกาสในการทำงานในตำแหน่งที่ดี มีเกียรติยศ และทรัพย์สินเป็นอันมาก แต่ด้วยประสบการณ์ภายในจากการที่โรงเรียนที่วีลลาการ์เซีย เด กัมโปส ตั้งอยู่ไม่ไกลจากนวกสถานของคณะเยซูอิต เป็นเหตุให้ท่านได้เห็นบรรดานวกะของคณะเยซูอิตมาโดยตลอด ก็ทำให้ท่านตัดสินใจหันหลังให้อนาคตในทางโลก และมุ่งติดตามรับใช้องค์พระเยซูเจ้าในฐานะพระสงฆ์แทน
วัดประจำนวกสถานคณะเยซูอิตที่วีลลาการ์เซีย เด กัมโปส
สิ่งปลูกสร้างเดียวที่ยังเหลืออยู่ของนวกสถานที่บุญราศีเบร์นาโด
เข้ารับการฝึกอบรมในฐานะนวกะคณะ
เวลานั้นท่านในวัย 14 ปีจึงได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งกับครอบครัว ฝั่งนางฟรานซิสกาที่แม้จะพึ่งเสียผู้นำครอบครัวอย่างนายมานูเอลไปตอนท่านอายุได้ 13 ปี นางก็มิได้ขัดขวางความประสงค์นี้ และยินดีที่จะยกถวายบุตรชายที่เฝ้าดูแลด้วยความใกล้ชิดให้เป็นสิทธิ์ขาดของพระเจ้าไป แต่เนื่องจากอายุของท่านยังไม่ถึงเกณฑ์ของคณะเยซูอิตในเวลานั้น ที่กำหนดให้ผู้สมัครจะต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่ของคณะเยซูอิตที่วีลลาการ์เซีย เด กัมโปสจึงขอให้ท่านรอไปก่อน แต่ “จงดูพระราชกิจของพระเจ้า การกระทำของพระองค์ต่อมนุษย์ช่างน่าพิศวง” (สดุดี 66 : 5) เพราะเพียงหนึ่งเดือนก่อนท่านจะอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ทางผู้ใหญ่ของคณะเยซูอิตก็ได้อนุญาตให้ท่านเข้านวกสถานของคณะได้ ดังนั้นในวันที่ วันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1726 ท่านจึงเข้าเป็นนวกะของคณะเยซูอิตเพื่อเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ของคณะต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับนามนักบุญองค์อุปถัมภ์ของท่านอย่างท่านนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะบรรลุถึงความครบครันบริบูรณ์ในพระเจ้า
ในฐานะนวกะของคณะเยซูอิต ท่านได้รับการอบรมตามจิตตารมณ์ที่นักบุญอิกญาซีโอได้วางเอาไว้ และถูกทดสอบกระแสเรียกว่าเหมาะสมกับคณะนี้เพียงไหน ซึ่งท่านก็สามารถผ่านไปได้และเป็นที่ยอมรับในหมู่นวกะด้วยกันรวมถึงในหมู่นวกจารย์ว่าเป็นผู้ถือตามกฏคณะได้อย่างครบถ้วน เวลาที่มีการจัด ‘เวลาฤทธิ์กุศล’ (Charity Classes) ซึ่งนวกะจะได้ฝึกที่จะถ่อมตนผ่านการถูกวิจารย์ความประพฤติของพวกเขาอยู่เป็นระยะ ๆ เมื่อถึงตาของท่านที่จะต้องถูกวิจารย์ ก็ปรากฏว่าไม่มีเพื่อนร่วมนวกสถานคนใดจะสามารถหาเรื่องมาตำหนิติเตือนท่านได้ เพราะท่านไม่เคยแม้แต่จะละเลยกฏข้อใดของหมู่คณะเลย แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ไม่มี เอาเข้าจริงเราอาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นนวกะที่โตเกินวัยและเป็นแบบอย่างของนวกะที่ดีเลยทีเดียว และเป็นด้วยเหตุผลเช่นนี้เองที่ทำให้ในปีต่อมา คือ ค.ศ. 1727 แม้จะมีอายุน้อยกว่าเพื่อนหลาย ๆ คน ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็น ‘ผู้ช่วยนวกจารย์’ (beadle) ที่มีหน้าที่เป็นคนกลางคอยรับคำสั่งจากนวกจารย์มากระจายให้บรรดาเพื่อน ๆ นวกะได้ปฏิบัติโดยทั่วกัน ท่านจึงได้รับเป็นโอกาสในการฝึกจัดการกับภาระความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่รับมอบหมายมา รวมถึงวิธีรักษาที่ทางของตนระหว่างผู้ใหญ่และผู้น้อย อันจะเป็นประโยชน์ต่อแผนการณ์ในอนาคตที่จะพระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับท่าน และในหน้าที่นี้ด้วยอายุเพียง 15 ปีท่านก็สามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ให้เป็นที่พอใจทั้งหมู่นวกจารย์และเพื่อน ๆ นวกะ
ท่านได้เลือกเอา ‘ยาน แบร็คมันส์’ สามเณรคณะเยซูอิตชาวเบลเยี่ยมผู้เจริญชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1599 - ค.ศ. 1621 หรือ 100 ปีที่แล้ว เป็นแบบฉบับในการเจริญชีวิตและเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์อีกองค์ของท่านสำหรับการดำเนินชีวิตในคณะเยซูอิต โดยในเวลานั้นประวัติของยาน แบร็คมันส์ยังไม่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ มีแต่ฉบับที่เขียนและคัดลอกส่งต่อกันอ่านภายในนวกสถานวีลลาการ์เซียอย่างกระตือรือร้น (พระศาสนจักรสถาปนายาน แบร็คมันส์เป็นบุญราศี ใน ค.ศ. 1865 และเป็นนักบุญใน ค.ศ. 1888) จึงพอเข้าใจได้ว่าท่านได้รับทราบประวัติของอนาคตนักบุญองค์นี้จากชีวประวัติฉบับที่คัดลอกส่งต่อกันอ่าน ท่านมีความศรัทธาต่อสมาชิกเยซูอิตท่านนี้มาก จนท่านได้ขอรูปของสมาชิกผู้นี้จากคุณพ่อมานูเอล เด ปราโด นวกจารย์ของท่านมาเสริมด้วยกระดาษหนา และแต้มสีแดงลงไปบนรูปเพื่อให้ภาพของยาน แบร็คมันส์ชัดขึ้น ก่อนจะนำไปตั้งไว้ที่โต๊ะในห้องพักของตน เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจในการเลือนแบบชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ของยาน และด้วยความศรัทธานี้เองคุณพ่อฆวน เด โลโยลาจึงได้เขียนในชีวประวัติของท่านว่า ท่านเป็น “ผู้เอาอย่างยาน แบร็คมันส์โดยสมบูรณ์ และได้กลายมาเป็นแบบฉบับที่ใกล้ตัวเราและควรค่าแก่การเอาอย่าง”
ในเวลาของการอบรมเป็นนวกะนี้เอง พระเจ้าผู้ทรงเตรียมท่านไว้เพื่อสานงานที่เริ่มด้วยนักบุญมาร์การิตา มารีอา อาลาก๊อก และนักบุญโกล้ด เดอ ลา โกลอมบีแอร์ในประเทศฝรั่งเศส ก็ทรงได้นำท่านสู่ ‘ชีวิตแบบรหัสนิก’ หรือ ‘ชีวิตเหนือธรรมชาติ’ ซึ่งด้วยลักษณะสำคัญประการหนึ่งของท่านในระหว่างการเป็นนวกะคณะเยซูอิต คือ การเปิดเผยทุกสิ่งในวิญญาณต่อพระเจ้าและต่อพระสงฆ์ผู้ดูแลวิญญาณของท่านอย่างซื่อตรง สิ่งนี้เป็นไปตามข้อแนะนำของนักบุญอิกญาซีโอ และความมุ่งมั่นของท่านที่จะปกป้องวิญญาณให้พ้นจากการล่อลวงของจิตชั่วร้าย ท่านจึงอธิบายสภาพวิญญาณของตนอย่างตรงไปตรงมาและละเอียดละออให้กับพวกท่านเหล่านั้นได้ช่วยชี้ทางในการรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการถูกทดลองและการมีชัยชนะเหนือการทดลอง หรือความทุกข์ทรมานและความยินดีในวิญญาณ โดยมิได้ปิดบังสิ่งใดที่ได้ประสบพบเจอ เว้นเสียเรื่องบางประการที่ท่านนิยามว่าเป็น “ความลับอันน่ารักยิ่งที่ทรงไขแสดงให้กับลูก แต่ลูกไม่อาจบรรยายหรืออธิบายได้” ท่านให้ความสำคัญการปฏิบัติดังนี้มาก ยิ่งในช่วงที่ท่านพบเหตุการณ์เหนือธรรมชาติอยู่บ่อย ๆ ท่านจะไปพบคุณพ่อที่ดูแลวิญญาณไม่เพียงทุกวัน แต่หลายครั้งต่อวัน เพื่อแจกแจงความคิด อารมณ์ความรู้สึก และความกังวลในใจของท่านให้คุณพ่อได้ทราบ เพราะท่านมีความถ่อมใจและระลึกเสมอว่า ตัวเองไม่ได้มีประสบการณ์ต่อเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นท่านจึงเกรงตัวเองจะหลงเข้าใจผิดว่าบรรดาศัตรูวิญญาณแห่งความมืดเป็นทูตสวรรค์แห่งความสว่าง
นี่เองทำให้นวกจารย์ผู้ดูแลวิญญาณของท่านสามารถมองเห็นวิญญาณของท่านได้อย่างทะลุปุโปร่งแทบจะทุกเวลา ดุจเป็นหนังสือที่เปิดไว้ตลอดเวลา นวกจารย์ผู้หนึ่งจึงได้ให้ ‘หมายสำคัญ 6 ประการ’ เพื่อให้ท่านให้ใช้ตรวจสอบประสบการณ์เหนือธรรมชาติที่พบว่ามีต้นทางมาจากสวรรค์หรือไม่ ประกอบด้วย ประการที่ 1 ไม่นำไปสู่การหลงมัวเมาในสิ่งสร้าง ประการที่ 2 นำไปสู่ความรังเกียจเดียจฉันท์บาป ประการที่ 3 นำไปสู่การนบนอบเชื่อฟัง ประการที่ 4 นำไปสู่ความปรารถนาที่จะเป็นผู้ต่ำต้อย ประการที่ 5 นำไปสู่ความร้อนรนที่เก็บเกี่ยววิญญาณ และประการที่ 6 นำไปสู่ความปรารถนาที่จะรับความทุกข์ยากเพื่อความรักบนไม้กางเขน ดังนั้นด้วยวัตรปฏิบัติที่ได้กล่าวไปแล้ว เมื่อผนวกกับหมายสำคัญที่นวกจารย์ได้สอนท่าน ทำให้เมื่อท่านพบกับประสบการณ์เหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะการมีภาพนิมิต ท่านจึงสามารถรับมือกับปรากฏการณ์เหล่านี้ได้อย่างดี ไม่ใช่ด้วยความเดียงสาไม่รู้ความ แต่ด้วยความรอบคอบถี่ถ้วนระแวดระวังที่จะตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา และเมื่อตระหนักแยกแยะได้ว่าสิ่งที่พบเป็นความจริงแท้อย่างไม่ต้องสงสัย ท่านก็มิได้คิดลำพองใจว่าตนนั้นประเสริฐกว่าคนอื่น ๆ ตรงกันข้ามท่านกลับยิ่งระมัดระวังตัวในการปฏิบัติตามพระหรรษทานที่ได้รับนี้มากยิ่งขึ้น
ในเวลาเดียวกันกับที่ท่านเปิดเผยประสบการณ์เหนือธรรมชาติโดยไม่ปิดบังกับผู้ใหญ่ที่ดูแลวิญญาณของท่าน ท่านก็ได้เก็บซ่อนสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้พ้นจากสายตาเพื่อน ๆ ของท่าน กระนั้นก็ตามเพื่อนของท่านก็ได้แลเห็นประกายบนใบหน้าของท่านและสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นจากความรักของท่าน รวมถึงสังเกตุเห็นอาการชอบปลีกตัวเป็นครั้งคราวของท่าน แต่ทุกคนก็แทบจะไม่มีข้อสงสัยถึงเหตุการณ์เหนือธรรมชาติที่ท่านประสบอยู่ภายในเลย เพราะภายนอกท่านได้เจริญชีวิตหมู่คณะอย่างเรียบง่าย ปฏิบัติตัวเหมือนคนอื่น ๆ มุ่งยึดถือธรรมนูญของคณะอย่างเถรตรงดุจเดียวกับนักบุญยาน แบร็คมันส์ เป็นความจริงที่ว่าพระหรรษทานพิเศษที่พระเจ้าประทานให้ท่านในระหว่างการภาวนาไม่เคยทำให้ท่านเสียการเรียน รวมถึงมีเพียงไม่กี่คนที่ทราบว่าท่านได้รับพระหรรษทานพิเศษ ดังนั้นภาพลักษณ์ภายนอกของท่านในเวลาต่อ ๆ มา จึงคือภาพลักษณ์ของนักศึกษาจากคณะเยซูอิต ผู้สัตย์ซื่อทั้งในเวลาเรียนและเวลาฝึกจิตภาวนา แม้ในเวลาต่อมาพระเจ้าจะทรงเผยภารกิจอันยิ่งใหญ่ให้ท่านทราบ ท่านก็มิได้ทิ้งการเรียน เพราะมีแบบฉบับในการแสวงหาความบริบูรณ์ในทุกสิ่งเหมือนบรรดาโหราจารย์ที่แสวงหาความรู้และพระกุมาร
วัดนักบุญเปโตรและเปาโลของวิทยาลัยนักบุญเปโตรและเปาโล
เมืองเมดินา เดล กัมโป ปัจจุบันภายหลังเหตุการณ์การปราบปราม
คณะเยซูอิต วัดแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดนักบุญยากอบ องค์ใหญ่
ใน ค.ศ. 1728 เมื่ออบรมเป็นนวกะคณะเป็นเวลาสองปี ขณะท่านอายุได้ 17 ปี ท่านจึงได้เข้าพิธีปฏิญาณครั้งแรกตนตามระเบียบของคณะ ท่านบันทึกว่า “เมื่อลูกเริ่มอ่านคำปฏิญาณตน ลูกได้เห็นพระเยซูคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท พระองค์ประทับสดับฟังลูกอย่างอ่อนโยน เหมือนตุลาการบนบัลลังค์ผู้พิพากษา ในหนแรกลูกเหมือนสติหลุดไป เมื่อได้เห็นจอมกษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้แสดงออกให้คนอื่น ๆ เห็นมากนัก ลูกได้เห็นพระองค์ทรงพระดำเนินเข้ามาในปากที่เปี่ยมความยินดีของลูก เมื่อได้มองเห็นพระองค์เสด็จมาและประทับบนลิ้นของลูกเช่นนี้ ก็บันดาลให้ความรักที่ยำเกรงและความยำเกรงด้วยความรักเกิดทวีมากขึ้น และเมื่อพระวรกายของพระองค์อันตรธานหายไป ลูกได้ยินองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสพระวาจาที่เปี่ยมด้วยปรีชาญาณว่า ‘แต่นี้ไป เราจะชิดสนิทกับลูกมากยิ่งขึ้น เพราะความรักที่เรามีให้ลูก” และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีปฏิญาณตนแล้ว ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกันทางคณะจึงได้ส่งท่านเข้าศึกษาต่อด้านปรัชญาที่วิทยานักบุญเปโตรและเปาโล เมืองเมดินา เดล กัมโป เพื่อเตรียมบวชเป็นพระสงฆ์ต่อไป
ที่นี่ในฐานะสามเณรใหญ่ ท่านมีผลการเรียนที่ดีและได้เฉิดฉายออกมาจากหมู่สามเณรด้วยกัน ท่านมุมานะไม่เพียงในการพัฒนาความรู้ที่จำเป็นในชั้นเรียน แต่ยังในการพัฒนาวิญญาณให้เติบโตอยู่ตลอด ท่านร้อนรนที่จะยกจิตใจและวิญญาณของท่านให้สูงขึ้นไปหาสวรรค์ด้วยการอ่านหนังสือประเภทต่าง ๆ และการไตร่ตรอง ท่านมีสำเนาพระคัมภีร์อยู่ที่โต๊ะตลอดเวลา และไม่เคยปล่อยเวลาให้ผ่านไปวันหนึ่งโดยไม่ได้คุกเข่าลงอ่านพระคัมภีร์สักบท และนอกจากพระคัมภัร์แล้ว ท่านยังอ่านหนังสือของนักบุญอิกญาซีโอ ผู้ก่อตั้งคณะ นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ และนักบุญเทเรซา แห่ง อาบิลา รวมถึงงานเขียนของนักเขียนที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น และชีวประวัติของนักบุญองค์ต่าง ๆ ดังแสดงให้เห็นในงานเขียนจำนวนมากของท่านมีการกล่าวอ้างถึงหนังสือเหล่านี้ อาทิ จดหมายให้คำแนะนำของท่านที่เขียนถึงอิกญาซีโอ เอนริโก โอโซริโอ ที่ถูกค้นพบใน ค.ศ. 1948 ซึ่งเขียนขึ้นในขณะท่านอายุได้ 21 ปี จดหมายฉบับนี้นอกจากแสดงบุคลิกสุขุมลุ่มลึกไปพร้อม ๆ กับความเป็นกันเองและความถ่อมใจของท่าน ยังปรากฏการอ้างข้อพระคัมภีร์ไม่ต่ำกว่า 160 จุดจากพระคัมภีร์พันธสัญญาเก่าและพันธสัญญาใหม่จำนวน 32 เล่ม ดังนั้นจึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า ด้วยวัตรปฏิบัติเช่นนี้ คือ การอ่านและไตร่ตรอง ได้มีส่วนทำให้วิญญาณของท่านล้ำหน้าเพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกัน จนเป็นที่ประจักษ์แก่คุณพ่ออธิการนวกสถานและคุณพ่อวิญญาณารักษ์ของท่าน ทั้งสองจึงลงความเห็นความเห็นและมอบหมายให้ท่านคอยสอนเรื่องชีวิตฝ่ายจิตและการทำพลีกรรมแก่บรรดาเพื่อนนวกะรุ่นเยาว์ แม้ในเวลานั้นท่านจะยังไม่ได้รับศีลบวชก็ตาม
ด้วยความเฉลียวฉลาดของท่านที่มีมาเป็นทุนเดิม เมื่อรวมกับความขยันหาความรู้ของท่าน ทำให้เมื่อมีการถกปัญหาทางวิชาการ ซึ่งถูกกำหนดให้มีทุกสัปดาห์ขึ้น ท่านจะขึ้นถกด้วยท่าทีมั่นใจ รวมถึงสามารถเก็บอารมณ์ที่พลุ่งพล่านภายในและถกอย่างใจเย็นได้ แม้ตามจริงแล้วท่านจะเป็นคนอารมณ์ร้อนคนหนึ่ง นี่เองทำให้ในช่วงปีท้าย ๆ ของการศึกษาด้านปรัชญา ท่านจึงได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นโต้วาทีกับสถานศึกษาแห่งอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าท่านก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีเยี่ยม คำบรรยายถึงชีวิตในช่วงชั้นปีปรัชญาของท่านที่กล่าวมานี้มิได้เกินเลยไป เพราะในเอกสารรายงานที่ถูกส่งไปยังกรุงโรมใน ค.ศ. 1730 ก็ได้ให้ข้อมูลถึงท่านในทำนองเดียว โดยในเอกสารชิ้นนี้ได้ระบุว่า ท่านเป็นสามเณรที่มีสุขภาพแข็งแรง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด การตัดสินเฉียบขาด และความรอบคอบที่เฉียบแหลมมากจนน่าชื่นชมยิ่งในหมู่เยาวชนรุ่นเดียวกัน มีความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะความยากลำบาก มีความสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยความจริงใจ มีคุณสมบัติสำหรับทุกหน้าที่ โดยเฉพาะการเทศนา
“แสงสว่างน่าชื่นใจ … แต่เขาจงระลึกว่าจะต้องมีวันมืดหลายวันด้วย” (ปรีชาญาณ 11 : 7 - 8) และในเวลาเดียวกันกับที่วิทยาลัยนักบุญเปโตรและเปาโลได้เตรียมพร้อมวิชาความรู้ด้านปรัชญาให้กับบราเดอร์เบร์นาร์โดเพื่อเป็นพระสงฆ์ที่ดี องค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็ทรงเตรียมวิญญาณของบราเดอร์ให้พร้อมเป็น ‘ธรรมทูต’ ผู้จะสานงานที่พระองค์ได้ทรงเริ่มไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนที่ฝรั่งเศสให้เกิดผลในแผ่นดินสเปนอีกขั้น โดยทรงปล่อยให้ท่านได้พบ ‘คืนมืดของวิญญาณ’ ที่กินระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1728 ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1729 ซึ่งตรงกับวันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ เป็นเวลาร่วมห้าเดือนที่วิญญาณของท่านประสบกับการชำระด้วยความทุกข์ยากภายใน เวลานั้นวิญญาณของท่านมองไม่เห็นพระเจ้าผู้ทรงพระเมตตา แต่กลับมองเห็นพระเจ้าเป็นพระตุลาการ ผู้ไม่สบพระทัยในตัวท่าน วิญญาณของท่านจึงรู้สึกสิ้นหวังเป็นอันมาก
ท่านพบว่าไม่ว่าจะเป็นการรำพึงภาวนา การร่วมมิสซา การรับศีลมหาสนิท หรือการทำพลีกรรมแทนที่จะเป็นเครื่องบรรเทาความทุกข์ในวิญญาณกลับเป็นเครื่องทวีความทุกข์ในวิญญาณของท่านให้แทน ไม่เพียงเท่านั้นพระหรรษทานพิเศษที่ท่านเคยได้รับมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเคยเป็นความชื่นชมชุบชูวิญญาณก็แปรเปลี่ยนเป็นความทุกข์แสนสาหัส เพราะสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องเยาะเย้ยความน่าสมเพศในวิญญาณของท่านไปสิ้น ท่านไม่พบความบรรเทาใจที่ไหนเลยแม้แต่ในหมู่เพื่อนฝูง หรือแม้แต่ในเวลาหย่อนใจหลังทานอาหาร ที่ควรเป็นเวลาที่ร่างกายและวิญญาณได้พักผ่อนจากภาระต่าง ๆ วิญญาณของท่านก็ไม่เคยได้รับการหย่อนใจเลย ตรงกันข้ามกลับยิ่งทุกข์ตรมหนักกว่าเดิม ภาวะสิ้นหวังที่เกาะกุมกัดกินวิญญาณเช่นนี้ ทำให้ท่านรู้สึกหัวเสียเป็นอย่างยิ่ง จนบางครั้งท่านอยากจะเอาศีรษะโขกกับบางสิ่ง อยากจะกัดริมฝีปากแน่น อยากจะดึงทึ้งผมตัวเอง หรือแม้แต่อยากจะกระโดดทะลุหน้าต่าง
ไม่เพียงเท่านั้นพวกปีศาจก็ยังใช้โอกาสนี้ พากันรุมเยาะเย้ยใส่ท่านว่า “เจ้าคนหน้าซื่อใจคดผู้ศักดิ์สิทธิ์เอ๋ย บัดนี้เจ้าจะได้เห็นว่าช่างเป็นเรื่องล้อเล่นกับพระเจ้า เมื่อเจ้าล่วงหล่นสู่พระหัตถ์ของพระองค์” พวกมันยังได้ยุแหย่ให้ท่านดูหมิ่นพระเจ้า แม่พระ บรรดาทูตสวรรค์ และบรรดานักบุญที่ท่านรัก และเมื่อใดก็ตามที่ท่านร้องวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า พวกมันก็จะพากันเยาะเย้ยใส่ว่าท่านไม่คู่ควรกับพระหรรษทานใด ๆ เพราะพฤติกรรมที่เสื่อมทรามของท่าน การคุกคามของพวกมันที่หนักที่สุด คือ การที่พวกมันพยายามชักจูงให้ท่านละเมิดความเป็นพรหมจรรย์ของท่าน พวกมันใส่ความคิดหยาบโลนในหัวของท่าน จนท่านถึงกับต้องน้ำตาร่วงและขบเขี้ยวเคี้ยวฟันด้วยความสุดจะทน ด้วยการผจญเช่นนี้เองส่งผลให้วิญญาณของท่านจึงบอบช้ำเป็นยิ่งนัก และในสภาพวิญญาณที่บอบช้ำท่านยังเริ่มมีความเชื่อมากขึ้นทุกวันว่า พระหรรษทานที่ท่านเคยได้รับในเวลาที่ผ่านมาเป็นเพียงภาพลวงตา และเป็นบ่วงของพวกปีศาจที่ดักรอดึงตัวท่านลงสู่ขุมนรกที่อยู่ของพวกมัน แต่เดชะอำนาจของพระคริสตเจ้าที่ยังคงสถิตอยู่เหนือท่าน ท่านจึงได้การดลใจไม่ให้หลงทำอะไรที่ร้ายแรงไปด้วยภาวะวิญญาณที่สิ้นหวังในสงครามประสาทภายใน ดังนั้นตลอดห้าเดือนในภายนอก ท่านจึงไม่ได้พูดหรือแสดงอาการแม้เพียงเล็กน้อยที่สุดให้เป็นที่สะดุดในหมู่เพื่อน ๆ แม้แท้จริงท่านจะเผชิญกับความทรมานภายในทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะในเวลาสวดภาวนาและจะไปรับศีลมหาสนิท
เมื่อท่านสามารถผ่านการชำระวิญญาณให้พร้อมเป็นเครื่องมือของพระองค์ในการนำความรักของพระองค์ให้แพร่ไป พระเป็นเจ้าก็เตรียมวิญญาณของท่านอีกขั้นด้วยการทรงหมั้นหมายวิญญาณท่านไว้เป็น ‘เจ้าสาวของพระองค์’ ดุจเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติกับนักบุญหลายองค์ในอดีตกาลที่ผ่านมา โดยวันหนึ่งพระองค์ได้ทรงตรัสขอท่านเป็นคู่ชีวิตของพระองค์ในวิญญาณของท่านว่า
“เจ้าวิญญาณที่ได้รับเลือกสรรของเราเอ๋ย เราปรารถนาให้เจ้าเป็นสหายของเรา เราคือพระบุตรของพระบิดานิรันดร์ เป็นผู้เสมอและดำรงอยู่เช่นเดียวกับพระองค์ และเป็นผู้ที่มาจากพระองค์มาตั้งแต่การสร้างในปฐมกาล เราคือหน้าที่สองของพระตรีเอกภาพ ซึ่งมีเนื้อแท้เสมอเดียวกับพระบิดาและพระจิต อำนาจ ความยิ่งใหญ่ ความไม่มีขอบเขต ความเมตตากรุณา ความประเสริฐ และความบริบูรณ์ของเราเสมอเท่าพระบิดาและพระจิต จงตรองดูเถิดว่าลูกปรารถนาให้เราเป็นคู่ชีวิตของลูกหรือไม่ เพราะเราปรารถนาให้ลูกเป็นของเรา
เราคือพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ เราจึงได้รับการอวยพรให้มีสินสอด เทียมเกียรติศักดิ์ในสวรรค์ เราคือชายรูปงามที่สุด พระคัมภีร์ต่างเต็มไปด้วยความยิ่งใหญ่ของเรา อำนาจเหนือสิ่งสร้างทั้งหมดได้ถูกมอบแก่เราแล้ว เราจึงเป็นกษัตริย์เหนือสิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นสิ่งสร้าง กลไกอันงดงามแห่งจักรวาลนี้พร้อมด้วยความบริบูรณ์ทั้งหลายได้ทำให้เราเป็นทั้งพระผู้สร้าง เป็นพระเจ้า และเป็นทายาทแห่งรัชสมัยยูดาห์ บรรดาทูตสวรรค์อันสูงส่งต่างคุกเข่าและเคารพยำเกรงอยู่เบื้องหน้าเรา ทั้งทราบดีถึงเกียรติศักดิ์ที่เรามีและระยะห่างอันมิรู้ประมาณระหว่างพวกเขาและเรา
เจ้าวิญญาณที่รักเอ๋ย ลูกจงตรองดูเถิดว่ามันจะเหมาะสมเพียงใดที่เจ้าจะรับเราเป็นคู่ชีวิตของลูก เพราะเราผู้มีความรักให้ลูกเพียงเท่านั้นปรารถนาจะวิวาห์กับลูก จงตรองให้ดีเถิดและปรารถนาตามความปรารถนาที่ติดอยู่ในใจลูก เพราะยังมีเวลาอีกมาก ในระหว่างนี้เราจะเตรียมลูกให้พร้อมและจะประทานของขวัญอีกมากมายให้แก่ลูก เพื่อเป็นตัวแทนคำมั่นสัญญาที่มั่นคง สิ่งเหล่านี้เป็นความพอพระทัยของเรา และเริ่มแรกด้วยนิมิตนี้ ซึ่งเราได้จุดไฟในหัวใจของลูกแล้ว”
ท่านบันทึกว่าเสียงที่ท่านได้ยินนี้ชัดเจนเหมือนยามกลางวันและดังลึกอยู่ในตัวของท่าน ท่านสดับฟังเสียงนี้ด้วยความรู้สึกหวาดกลัวแต่ก็หวานล้ำในเวลาเดียวกัน และรู้สึกว่าหากพระเจ้ามิทรงช่วยท่านไว้ให้พ้นจากความตายเมื่อได้ยินคำพูดที่หวานล้ำเช่นนี้ ท่านก็คงต้องมลายไปเป็นแน่ ท่านไม่รู้ว่าท่านจะต้องเอ่ยเอื้อนคำใดตอบ เพราะเวลานี้วิญญาณของท่านรู้สึกสับสนอยู่ภายใน เมื่อระลึกได้ถึงสภาพอันน่าสมเพศและว่างเปล่าของตนเอง ท่านไม่รู้ว่าจะต้องทำสิ่งใดต่อไปเพื่อจะเข้าใจควาหมายของถ้อยคำที่พระเยซูเจ้าตรัสกับท่าน เวลาเดียวกันท่านก็รู้สึกว่าตนช่างไม่คู่ควรกับพระหรรษทานที่พิเศษเช่นนี้ แต่ที่สุดความรักของพระเจ้าก็ได้รุนเร้าหัวใจดวงน้อยของท่าน ทำให้ความกังวลใจที่มีอยู่ของท่านสูญสิ้นไป คงเหลือแต่เพียงคำตอบที่ท่านตอบอย่างไม่รู้ตัว แต่ถูกผลักดันด้วยความรักซื่อ ๆ ว่า “เอชเช อันชิลลา โดมินี ฟีอัต มิฮิ เซกุนดุม แวร์บุม ตูอุม” หรือ “นี่คือผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอจงเป็นไปตามวาจาของพระองค์เทอญ” ท่านอธิบายต่อว่า “ผลของข้อเสนอนี้ช่างศักดิ์สิทธิ์ และยามนี้ลูกเงียบเสียดีกว่า เพราะลูกกำลังถูกตรึงจากความรัก และไม่รู้จะไปต่ออย่างไรแล้ว”
ภายหลังจากพระเยซูเจ้าทรงได้รับคำตอบของท่านแล้ว ในวันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ซึ่งในคราวนั้นตรงกับวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1730 พระเยซูเจ้าจึงได้ประจักษ์มาหาท่าน เพื่อทรงเข้าวิวาห์กับท่าน เพื่อกันท่านไว้จากโลกเป็นสิทธิ์ขาดของพระองค์ ท่านบันทึกถึงสิ่งนี้ว่า “ทรงจับมือขวาของผม องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงนำผมให้นั่งลงในบัลลังก์อันว่างเปล่า แล้วพระองค์จึงทรงสวมแหวนสีทองที่นิ้วของผม … ‘ขอให้แหวนนี้เป็นเครื่องเตือนถึงความจริงใจในรักของสองเรา ลูกเป็นของเรา และเราเป็นของลูก ลูกสามารถเรียกตัวลูกและใช้นามว่าเบรนาร์โดแห่งพระเยซูเจ้า เช่นเดียวกับที่เราเคยบอกกับเทเรซา เจ้าสาวของเรา ลูกคือเบรนาร์โดของเยซู และเราคือเยซูของเบรนาร์โด เกียรติมงคลของเราก็คือของลูกฉันใด เกียรติของลูกก็คือของเราฉันนั้น จงพินิจสิริมงคลของเราในฐานะคู่วิวาห์ของลูกเถิด แล้วเราจะพินิจถึงสิริมงคลของลูก ในฐานะคู่วิวาห์ของเราเช่นกัน สิ่งใดที่เรามีล้วนเป็นลูก และสิ่งใดที่ลูกมีก็ล้วนเป็นของเรา เราเชื่อมกับลูกด้วยพระหรรษทาน เราและลูกเป็นหนึ่งเดียวกัน’”
นำมาวางทาบกับแผนที่ปัจจุบัน
หลังจากจบการศึกษาด้านปรัชญา ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1731 ทางคณะจึงได้ส่งท่านศึกษาต่อด้านเทววิทยาที่วิทยาลัยนักบุญอัมโบรสซีโอ เมืองบายาโดลิด ที่นี่ท่านยังคงมีวัตรปฏิบัติเช่นเดียวกับสมัยศึกษาอยู่ด้านปรัชญา คือ เป็นสามเณรใหญ่ที่เอาจริงเอาจังกับการเรียน ปฏิบัติตามกฏคณะอย่างเคร่งคัด ดังที่คุณพ่อฆวน โอ บริเอน พระสงฆ์เยซูอิตที่มีโอกาสรู้จักท่านเป็นเวลา 5 ปี เล่าถึงหลังท่านเสียชีวิตว่า “ไม่มีสิ่งใดที่แตกต่างหรือพิเศษปรากฏขึ้นในตัวเขา เขาปรับปรุงตนให้เหมาะสมกับธรรมนูญของพวกเราโดยสมบูรณ์ จนข้าพเจ้าถือว่าเขาทั้งในฐานะนวกะ นักเรียน หรือพระสงฆ์เป็นสำเนาที่มีชีวิตของธรรมนูญก็ตาม” นอกจากนี้คำพรรณนาของคุณพ่อฆวน เด โลโยลา คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่าน ที่กล่าวถึงท่านว่า “ก้าวหน้ากว่าคนวัยเดียวกันมาก ด้วยความรู้มากกว่าที่เขาหาได้ในหนังสือ” ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ระบุช่วงเวลา ก็ช่วยทำให้เราพอนำมาจินตนาการถึงชีวิตในการเรียนของท่านในด้านเทววิทยาได้บ้าง
ส่วนในเรื่องชีวิตฝ่ายจิต จากข้อความตอนหนึ่งในจดหมายของท่านลงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1732 ถึงคุณพ่อเด โลโยลา ที่ว่า “ลูกมองเห็นว่าทุกสิ่งในหัวใจของลูกต่างล้วนกำลังเคลื่อนเข้าหาพระเจ้า เหมือนเหล็กถูกดึงเข้าหาแม่เหล็ก มันปรารถนาเพียงพระเจ้า แสวงหาเพียงพระเจ้า และโหยหาเพียงพระเจ้า…” ได้แสดงเห็นชีวิตฝ่ายจิตของท่านที่ชิดสนิทกับพระเจ้าอย่างแนบแน่ ดังนั้นจึงอาจกล่าวสรุปชีวิตของท่านขณะเป็นสามเณรใหญ่ศึกษาด้านเทววิทยา เป็นช่วงหนึ่งที่นอกจากการเพิ่มพูนความรู้ที่จำเป็นสำหรับการเป็นพระสงฆ์ที่ดี วิญญาณของท่านยังยิ่งชิดสนิทกับพระเป็นเจ้ามากขึ้นตามลำดับ และเป็นเวลานี้เองที่วิญญาณของท่านได้รับการชำระ จนเหลือเพียงความปรารนาในพระเจ้าเท่านั้น พระเจ้าจึงได้ทรงเปิดเผย ‘พันธกิจ’ ที่ทรงเตรียมไว้ให้ท่านรับรู้ และด้วยภารกิจนี้เองชื่อเสียงเรียงนามของท่านจะเป็นระบือไกลตามถึงปัจจุบัน
ในปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1733 ขณะท่านอายุได้ 21 ปี และกำลังมุ่งมั่นในการเรียนด้านเทววิทยาด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเป็นพระสงฆ์ ท่านได้รับจดหมายจากสหายชื่อ คุณพ่ออากุสติน เด กาดาเวรัซ ซึ่งเวลานั้นพึ่งได้รับศีลบวชได้ไม่นานและถูกส่งไปทำงานอภิบาลและเป็นครูไวยากรณ์ภาษาอยู่ที่เมืองบิลเบา จ. บิซกายา แคว้นบาสก์ (ห่างจากเมืองบายาโดลิดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณสองร้อยกิโลเมตร) ในจดหมายฉบับคุณพ่อได้แจ้งว่าตัวเขาได้ถูกขอให้ขึ้นเทศน์ให้ช่วงอัฐมวารพระคริสตวรกาย (the Octave of Corpus Christi, ใน ค.ศ. 1955 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ทรงยกเลิกธรรมเนียมอัฐมวารนี้ไปพร้อมอัฐมวารในเทศกาลอื่น ๆ คงเหลือไว้เพียงอัฐมวารพระคริสตสมภพ อัฐมวารปัสกา และอัฐมวารพระจิตเจ้า) คุณพ่อจึงนึกถึงหนังสือภาษาละตินเล่มหนึ่งที่ตนเคยอ่านสมัยอยู่เมืองบายาโดลิด คือ ความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและพระเยซูคริสตเจ้า พระเจ้าของชาวเรา (De Cultu Sacrosancti Cordis Dei ac Domini Nostri Jesu Christi) เขียนโดยคุณพ่อโฌเซฟ เดอ กัลลิเฟต พระสงฆ์เยซูอิตาชาวฝรั่งเศสลูกศิษย์ของนักบุญโกล้ด เดอ ลา โกลอมบีแอร์ ใน ค.ศ. 1726 คุณพ่อจึงมีความประสงค์จะเทศน์เรื่องเกี่ยวกับวันฉลองพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า และอยากรบกวนให้ท่านช่วยแปลบางตอนของหนังสือเล่มดังกล่าวในประเด็นที่จะเทศน์ส่งมาให้เพื่อใช้เตรียมบทเทศน์ต่อไป
เมื่อทราบความประสงค์ดังนี้ ในวันที่ 3 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ท่านจึงไปยืมหนังสือเล่มดังกล่าวจากห้องสมุดของวิทยาลัยกลับไปที่ห้องของท่านเพื่อเตรียมคัดข้อความที่คุณพ่อเด กาดาเวรัซต้องการ นี่เองที่ทำให้ท่านได้รู้จักกับ ‘ความศรัทธาพิเศษต่อดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า’ ที่ถูกเริ่มขึ้นจากอารามคณะพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลิซาเบธ หมู่บ้านปาเรย์ เลอ โมเนียล ประเทศฝรั่งเศสเมื่อหลายทศวรรษผ่านมา ซึ่งกระตุ้นให้ท่านตระหนักถึง ‘พันธกิจ’ ที่พระเจ้าได้ทรงตระเตรียมปรีชาญาณและวิญญาณของท่านให้พร้อมมาตลอดยี่สิบเอ็ดปี จนทำให้ท่านปรารถนาจะมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ความศรัทธานี้ในทันที ดังที่ท่านเขียนไว้ว่า “ลูกไม่เคยได้ยินเรื่องเช่นนี้มาก่อน เมื่อเริ่มอ่านเรื่องความเป็นของความศรัทธาพิเศษต่อดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าผู้น่ารักของชาวเรา และลูกก็รู้สึกได้ถึงแรงกระเพื่อมอันทรงพลัง แต่ก็นุ่มนวม ไม่รุ่มร้อนหรือทำให้กระวนกระวายใจในวิญญาณของลูก ลูกจึงไปอยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์ในศีลมหาสนิทเพื่อถวายตัวลูกเองต่อดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ เพื่อร่วมในพันธกิจครั้งนี้อย่างสุดกำลังเท่าที่จะสามารถทำได้ อย่างน้อยที่สุดก็ด้วยการสวดภาวนาเพื่อให้ความศรัทธานี้แพร่ขยายไปเรื่อย ๆ”
ท่านเฝ้าวนเวียนคิดถึงเรื่องความศรัทธาพิเศษต่อดวงพระหฤทัยตลอดทั้งคืน จนถึงรุ่งเช้าของวันต่อมาเมื่อท่านไปร่วมพิธีนมัสการศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าก็ทรงตรัสกับท่านด้วยพระสุรเสียงดังชัดว่า พระองค์ทรงประสงค์เผยแพร่ความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัยของพระองค์ผ่านท่านเพื่อนำพระหรรษทานจากสวรรค์นี้ไปยังวิญญาณจำนวนมาก ท่านจึงเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดว่า นี่เป็นแผนการณ์ของพระองค์ที่ได้ทรงใช้คุณพ่อเด กาดาเวรัซให้มาขอความช่วยเหลือจากท่าน แต่ท่านก็อดกังวลใจไม่ได้ว่าท่านจะสามารถทำสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงร้องขอเช่นนี้ได้อย่างไร ดังที่ท่านเขียนสรุปเหตุการณ์ไว้ว่า “ท่ามกลางความรู้สึกสับสนที่โอบคลุม ลูกจึงรื้อฟื้นการถวายตัวของลูกเมื่อวานอีกครั้ง แม้ลูกจะรู้สึกไม่สบายใจอยู่บ้าง เพราะมองเห็นความบกพร่องและความไร้ค่าของเครื่องมือชิ้นนี้ (ท่านหมายถึงตัวท่าน)”
กระนั้นก็ตามความรักต่อดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าก็แผ่ซ่านไปทั่ววิญญาณของท่าน ท่านจึงดำเนินชีวิตแต่ละวันหลังจากวันนั้นด้วยความรักต่อดวงพระหฤทัย อันเป็นสิ่งเดียวที่ท่านมั่นใจว่าสามเณรธรรมดา ๆ อย่างท่านทำได้พร้อม ๆ กับความกังวลใจจากการตระหนักดีว่าท่านต้องทำอะไรมากกว่านี้ ดังที่ท่านบันทึกไว้ในวันที่ 10 พฤษภาคม ว่า “หัวใจของลูกยังคงรู้สึกเหมือนอยู่ในโรงอาบน้ำหรือน้ำด่างเข้มข้น ซึ่งเราใช้กันอยู่ทุกวันซึ่งเต็มไปด้วยผงขี้เถ้าลอยปะปน แต่นั้นเป็นต้นมาลูกถูกดูดและจมอยู่ในดวงพระหฤทัยของพระเจ้า ไม่ว่าจะยามกิน ยามนอน ยามพูด ยามเรียน ไปจนถึงยามอื่น ๆ วิญญาณของลูกไม่รู้สึกถึงอะไรนอกเสียจากดวงหทัยของพระองค์ผู้เป็นที่ยอดรักของลูก และเมื่อลูกได้อยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าในศีลมหาสนิท กระแสธารแห่งความรักอันอ่อนหวานของพระองค์ได้เผยออก”
เพื่อระลึกถึงพระสัญญาของพระคริสตเจ้า
จนวันหนึ่งพระเยซูเจ้าก็ทรงประจักษ์มาหาท่านอีกครั้งระหว่างท่านสวดภาวนาเพื่อชี้ให้ท่านเห็นว่า ทุกสิ่งเป็นไปได้ ขอท่านเพียงวางใจในพระญาณสอดส่องของพระองค์ พระองค์ได้ทรงเลือกท่านไว้แล้วเพื่อทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ “และเมื่อวานนี้ขณะลูกกำลังสวดภาวนา องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงประทานพระหรรษทานพิเศษเช่นเดียวกับที่ทรงเคยประทานแก่ผู้ริเริ่มความศรัทธานี้เป็นผู้แรก ธิดาของผู้ชี้นำอันศักดิ์สิทธิ์ (นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์) ท่าน ว. ม. มาร์การิตา อาลาก๊อก และนักเขียนชีวประวัติของท่านก็ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในชีวประวัติของท่านหน้าที่ 32 แก่ลูก พระองค์ได้ทรงแสดงดวงพระหฤทัยที่ถูกเผาด้วยความรักและเป็นทุกข์เพราะการถูกละเลยให้ลูกเห็น พระองค์ทรงย้ำการเลือกผู้รับใช้ผู้ไม่คู่ควรผู้นี้เพื่อจะทำให้ความศรัทธานี้แพร่ขยายไป และทรงทำให้ความสับสนที่ลูกได้เล่าไปข้างต้นสงบลง ลูกจึงเข้าใจว่าลูกเพียงปล่อยให้พระญาณสอดส่องของพระองค์ชี้นำลูกไป รวมถึงให้หารือทุกเรื่องกับ ว. ร. (คุณพ่อเด โลโยลา) ผู้ซึ่งพระองค์ทรงจะพอพระทัย หากเขตที่ท่านดูแลจะมีการสวดภาวนาและการฉลองวันฉลองดวงพระหฤทัยของพระองค์ เหมือนกับหลาย ๆ แห่ง”
สิบวันต่อมาหลังจากท่านทราบว่าพระเยซูเจ้าทรงประสงค์ให้ท่านสานต่อสิ่งที่พระองค์ได้ทรงตั้งต้นในดินแดนฝรั่งเศส ผ่านภคินีธรรมดา ๆ จากคณะพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลิซาเบธ และพระสงฆ์ธรรมดา ๆ จากคณะเยซูอิตซึ่งถูกหลอมรวมหัวใจให้เป็นหนึ่งในดวงหฤทัยเปี่ยมรักของพระองค์ เพื่อให้ความศรัทธานี้แพร่ขยายไปทั่วทิศาผ่านดินแดนที่นักบุญยากอบ บุตรเศเบดีได้เริ่มต้นไว้ ในวันที่ 14 พฤษภาคมซึ่งปีนั้นตรงกับวันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ ในวันเดียวกับพระเยซูเจ้าทรงตรัสบอกบรรดาอัครสาวกว่า “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง” (มาระโก 16 : 15) พระเยซูเจ้าจึงทรงย้ำถึงพระประสงค์ที่จะทรงส่งท่านไปเพื่อประกาศถึงดวงพระหฤทัยของพระองค์ให้ผู้คนมากมายได้รู้จักโดยเฉพาะในดินแดนสเปน และได้ทรงประทานสิ่งที่ต่อมาจะถูกเรียกว่า ‘พระสัญญาอันยิ่งใหญ่’ แก่ดินแดนสเปนผ่านท่าน วันนั้นหลังจากรับศีลมหาสนิท ขณะท่านร่วมพิธีมิสซากับเพื่อน ๆ สามเณรด้วยกันอยู่ข้างพระแท่นในวัดประจำวิทยาลัย ท่านก็ได้แลเห็นดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าอีกครั้ง ท่านเขียนเล่าไว้ว่า “ลูกจึงเข้าใจว่าลูกไม่ได้รับอนุญาตให้ลิ้มรสความรุ่มรวยของดวงพระหฤทัยนี้เพียงเพื่อตัวลูกเอง แต่เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้ลิ้มรสความมั่งคั่งนี้ผ่านตัวลูก ลูกจึงวอนขอต่อพระตรีเอกภาพ โปรดให้ความปรารถนานี้สำเร็จไป และโปรดให้มีการฉลองนี้เป็นพิเศษในดินแดนสเปน ซึ่งดูเหมือนว่าจะยังไม่รู้จักกับความศรัทธานี้ พระเยซูเจ้าตรัสกับลูกว่า ‘เราจะขึ้นเป็นกษัตริย์ครองดินแดนสเปน ด้วยเกียรติมากกว่าดินแดนอื่น’ ”
แม้จะได้รับทราบเช่นนี้ท่านก็ยังคงกังวลถึงภาระหน้าที่นี้ว่าท่านในฐานะ ‘สามเณรใหญ่’ ธรรมดา ๆ จะทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้ได้อย่างไร แต่จากส่วนลึกของวิญญาณท่านก็ตระหนักว่าท่านไม่ควรรอเวลาไปจนกว่าท่านจะได้บวชเป็นพระสงฆ์ แต่นั่นหมายความว่าท่านจะไม่มีทั้ง ‘เวลา’ และ ‘วัยวุฒิ’ ซึ่งจะพร้อมเมื่อท่านบวชเป็นพระสงฆ์พอสำหรับการทำงานชิ้นนี้อย่างเปิดเผย ดังนั้นท่านจึงพบว่าในฐานะสามเณรที่มีหน้าที่หลัก คือ การตั้งใจเรียนเทววิทยาเพื่อเป็นพระสงฆ์ ท่านสามารถเป็น ‘สื่อกลาง’ เป็นเครื่องมือของพระที่ชักนำผู้อื่นที่มีสถานะสูงกว่าและมีโอกาสมากกว่าท่านให้เข้ามาร่วมทำงานนี้ ฉะนั้นท่านจึงเริ่มจากการเรียนแจ้งเรื่องดังกล่าวให้เพียงคุณพ่อเด โลโยลาทราบเป็นผู้แรก และในเวลาเดียวกันก็เริ่มแสวงหาการสนับสนุนที่จำเป็นจากผู้ใหญ่ในคณะ โดยเฉพาะในแคว้นกัสติล อี เลออน ที่ท่านอาศัยอยู่ เพราะท่านเล็งเห็นความจำเป็นที่งานครั้งนี้ จะต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่าเพียงจากคุณพ่อเด โลโยลา การทำเช่นนี้ท่านเขียนยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “ช่างเป็นเรื่องยากกว่าการโน้มน้าวท่านนักบุญเทเรซายิ่งนัก” แต่ท่านก็เลือกที่จะวางใจในพระญาณสอดส่องของพระเจ้า และลงมือแสวงหาการสนับสนุนจากผู้ใหญ่
เมื่อได้ตระหนักถึงพันธกิจในการเป็นธรรมทูตประกาศความรักของพระเจ้า ที่แสดงผ่านภาพลักษณ์แห่งดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ในประเทศชาติของท่าน สามเณรใหญ่เช่นท่านที่ตระหนักได้ถึงข้อจำกัดตัวเองจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อเป็น ‘สื่อกลาง’ ระหว่างดวงพระหฤทัยอันร้อนรักต่อมนุษย์กับมนุษยชาติ โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่อยู่ในดินแดนสเปน ซึ่งท่านนักบุญยากอบได้วางรากฐานความเชื่อไว้อาศัยความช่วยเหลือของพระนางมารีย์ พระเจ้าจะทรงทำการอันน่าพิศวงใดต่อไปอีกผ่านชีวิตของสามเณรใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งพระองค์ได้ทรงเตรียมเขาไว้อย่างน่าพิศวงมาตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อให้เขาเป็นดั่ง ‘สะพาน’ ระหว่างมนุษย์และดวงพระหฤทัยของพระองค์ ติดตามเรื่องราวซึ่งจะเป็นหน้าสำคัญของการเผยแพร่ความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าได้ต่อใน “‘เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก’ ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ ตอนจบ” (คลิกที่นี่ได้เลย)
“พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ทรงเมตตาเทอญ”
“ข้าแต่ท่านบุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา
ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง