วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2567

คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก
Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago
วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โตริโก)

ท่านเริ่มงานนี้ของท่านจากชีวิตของท่านเอง โดยการใช้ชีวิตสอดคล้องไปกับ ‘ปีพิธีกรรม’ ที่ท่านตระหนักว่านี่คือการสถิตอยู่ขององค์พระคริสตเจ้าในพระศาสนจักร ผ่านพระสมณสาส์นคนกลางของพระเจ้า (Mediator Dei) ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ดังนั้นการดำเนินชีวิตไปพร้อมปฏิทินนี้ จึงไม่ใช่เพียงการผ่านพ้นวันเวลา แต่ยังเป็นการใช้เวลาแต่วันสนิทไปกับพระเจ้าผู้ยังทรงพระชนม์อยู่และพระภารกิจที่ยังมิได้จบลง ท่านจึงพยายามใช้ชีวิตและทำให้ปีพิธีกรรมเต็มไปด้วยชีวิตชีวาทั้งด้วยดนตรี สัญลักษณ์ทางพิธีกรรม งานศิลปะ และกิจการต่าง ๆ ท่านซื้อรูปภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวันต่าง ๆ ทั้งเพื่อเก็บไว้เองและแจกให้กับคนอื่น ๆ และเมื่อถึงเทศกาลสำคัญในปีพิธีกรรม ท่านจะตกแต่งบ้านพักให้สอดคล้องกับวันดังกล่าว ตัวอย่างเช่นเมื่อถึงเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ท่านจะเตรียมพวงมาลาเทียนเตรียมรับเสด็จ และเมื่อใกล้ถึงวันฉลองพระคริสตสมภพ ท่านก็จะเตรียมถ้ำพระกุมารไว้ที่บ้าน หรือเมื่อถึงช่วงเทศกาลมหาพรต นอกจากการอดอาหาร ท่านยังมีผ้าปูพระแท่นสีม่วง และเมื่อถึงปัสกาท่านก็มีเทียนที่ท่านต่อจากเทียนปัสกาในคืนตื่นเฝ้า เป็นต้น นอกจากนี้ในโอกาศพิเศษเหล่านั้นท่านยังจะเพิ่มบทภาวนาพิเศษในระหว่างมื้ออาหาร และร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับวันดังกล่าวอีกด้วย โดยวันฉลองที่ท่านให้ความสำคัญมากที่สุด คือ วันพระคริสตสมภพ วันปัสกา และวันสมโภชพระจิตเจ้า ซึ่งสองวันแรกท่านจะลงมือเตรียมการ์ดส่งให้เพื่อน ๆ ทุกคนโดยตลอด

นอกจากใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับปีพิธีกรรมแล้ว เพื่อผลักดันความเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรมที่ยังไม่ได้รับความสนใจในปวยร์โตริโกเสียเท่าไร ท่านจึงได้สละแรงกาย เวลา และทุนส่วนตัวจำนวนเล็กน้อยที่ได้จากการทำงานเป็นเสมียนตามห้างร้างและองค์กรต่าง ๆ เพื่อเคลื่อนไหวด้านนี้ ท่านใช้ความสามารถในด้านการแปลภาษาของท่านแปลข้อเขียนความรู้ที่ถูกผลิตขึ้นในกระแสดังกล่าว และพิมพ์เผยแพร่แจกจ่ายให้ผู้สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งในเวลาต่อมาท่านได้ออกจดหมายข่าวสองหัว คือ ลิตูร์เกีย (Liturgia / พิธีกรรม) และ คูลตูรา คริสเตียนา (Cultura Cristiana / วัฒนธรรมคริสตัง) ซึ่งจะได้กล่าวอย่างละเอียดต่อไป ท่านยังมีบริการจัดส่งสิ่งพิมพ์ที่ให้ความรู้ฟรีแก่ผู้สนใจ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บทความที่ท่านแปลด้วยตัวเอง ใบสมัครสมาชิกจดหมายข่าว นอกจากนี้ท่านยังมักส่งพระคัมภีร์ หนังสือคู่มือมิสซา (Missal) หนังสือทำวัตร และหนังสือว่าด้วยพิธีกรรม ที่ท่านได้แปลด้วยตัวเองเป็นของขวัญให้คนอื่น ๆ อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังเขียนจดหมายกระตุ้นการให้ความสำคัญเรื่องพิธีกรรมไปยังผู้คนมากมาย คราวหนึ่งเมื่อมีพระสงฆ์ใหม่มาประจำที่คากูอัส ท่านก็ได้เขียนจดหมายไปถึงพระสงฆ์ท่านนี้ มีความตอนหนึ่งว่า “คุณพ่อเจมี่ครับ ลูกยินดีจะร่วมมือกับท่านในงานฟื้นฟูพิธีกรรมในเขตวัดของพวกเรา ลูกพูดเลยว่าไม่ใช่เพียงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ล้านเปอร์เซ็นต์” และ ใน ค.ศ. 1958 ท่านได้ส่งข้อเขียนของท่านชื่อว่า ‘อย่าพลาดที่จะทำการตื่นเฝ้าปัสกา ข้อแนะนำสำหรับปัสกา’ ไปหาพระสงฆ์ทุกคนในปวยร์โตริโก เป็นต้น

บ้านชมพู บ้านพักที่บุญราศีการ์โลสใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่คากูอัส

เพื่องานด้านการผลิตเอกสารที่จำเป็นสำหรับการเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรม ท่านมีเครื่องพิมพ์ดีดไว้ที่ห้อง เพื่อใช้พิมพ์ข้อความต่าง ๆ ลงบนกระดาษคาร์บอน และมีเครื่องอัดสำเนาด้วยกระดาษไขขนาดเล็กสำหรับทำสำเนาเอกสารเหล่านั้น ท่านลงมือทำงานเหล่านี้ด้วยความชำนาญอย่างไม่รีบร้อน แม้งานดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะขั้นตอนการอัดสำเนา แต่ท่านก็สามารถแก้ไขปัญหาที่เผชิญที่กับการทำงานในขั้นตอนเหล่านี้ได้ตลอด ด้วยความเพียรพยายามและความไม่เคยสิ้นหวัง จนเมื่อได้สำเนาเอกสารที่ท่านต้องการตามจำนวนท่านจึงค่อย ๆ บรรจงเย็บเล่มจนแล้วเสร็จ บางคราวขั้นต่อไปคือการนำส่งไปรษณีย์ แต่บางคราวคือการนำไปแจก พยานจำนวนหนึ่งยังคงจดจำภาพของท่านที่เป็นชายรูปร่างสัดทัดไม่ค่อยแข็งแรง แต่หอบกระดาษข้างละรีมเดินเท้าจากถนนมารีอานา บราเซตตี ไปยังจตุรัสริโอเปียดรัส เพื่อต่อรถสาธารณะไปยังคากูอัสได้เป็นอย่างดี

ใน ค.ศ. 1948 ขณะท่านอายุได้ประมาณ 30 ปี และทำงานเป็นเสมียนที่บริษัทปวยร์โตริโกภาคีน้ำตาลตะวันออก โดยการสนับสนุนจากคุณพ่อแมควิลเลียม พระสงฆ์ในเขตวัดของท่านที่ต้องการให้สร้างฆราวาสที่เป็นอัครสาวกและผู้นำ ท่านได้ขยายงานความเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรมของท่านไปยังเขตวัดของท่าน ด้วยการก่อตั้ง ‘กลุ่มผู้สนใจการศึกษาและพิธีกรรม คากูอัส’ ขึ้นที่เขตวัดของท่าน โดยกลุ่มดังกล่าวมีคณะกรรมการ แผนการศึกษาและมีกิจกรรม ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก คือ “เพื่อเรียนรู้พิธีกรรมและวิธีการปกป้องความเชื่อคริสตังบางประการ และเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นทางศาสนาที่น่าสนในในปัจจุบัน เพื่อสร้างอัครสาวกฆราวาสและผู้นำกลุ่มต่าง ๆ” ดังนั้นพื้นที่เล็ก ๆ นี้จึงเป็นพื้นที่อีกหนึ่ง ที่ท่านได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ท่านมีต่อพิธีกรรมผ่านทั้งคำพูดและกิจการ และสืบเนื่องจากกลุ่มดังกล่าวมีสถานะเป็นกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไร ทุกคนที่เข้ามาจึงต้องร่วมด้วยช่วยกันในการขับเคลื่อนกลุ่มดังที่ท่านกล่าวว่า “รูปแบบพิธีกรรมก็ดี แนวทางการศึกษาก็ดี วิธีการดำเนินงานของพวกเราก็ดี ต่างเกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของพวกเราเอง และทุกสิ่งยังคงอยู่ในมือของพวกเรา” และ “เนื่องจากพวกเราไม่มีทุนหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกใด ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ของพวกเรา ความพยายามของพวกเรา และความช่วยเหลือจากมิตรสหายของพวกเราบางคนที่ได้มอบเครื่องทำสำเนาให้พวกเรา”


กลุ่มผู้สนใจนี้มีการนัดพบกันทุกวันจันทร์ที่ห้องประชุมวัด สมาชิกในกลุ่มมีทั้งพระสงฆ์ สมาชิกในครอบครัวท่าน บุคคลใกล้ชิดท่าน และผู้ที่ปรารถนาจะติดตามพระคริสตเจ้า แนวทางของกลุ่มคือการมุ่งสร้างคนและสังคมตามพระสมณสาสนของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ว่าด้วยคำสอนของพระศาสนจักร การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในพิธีมิสซาและพิธีกรรม โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ ตรีวารปัสกา พิธีตื่นเฝ้าปัสกา และวันอาทิตย์ปัสกา บรรยากาศในกลุ่มเต็มไปด้วยความเคารพยำเกรง ความเอาใจใส่ และความอดทนต่อกันและกัน ในระหว่างการพูดคุยภายในกลุ่มท่านคอยเสริมด้วยความสุภาพ ไม่ใช่ด้วยเรื่องตลกไม่มีแก่นสารหรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม แต่เป็นการเสริม ไม่ใช่เพียงแค่คำสอนเท่านั้น ท่านยังกระตุ้นให้ทุกคนด้วยความรักของพระเจ้า การสวดภาวนา ชีวิตในศีลศักดิ์สิทธิ์ ความศรัทธาต่อแม่พระ โดยท่านเอาใจใส่ในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ทุกคนแบบตัวต่อตัว และหากในระหว่างวงเสวนาเกิดความเห็นต่าง การตั้งคำถาม และการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ท่านก็รู้วิธีที่จะรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้น การดำรงอยู่ของท่านในการเสวนาทุกครั้งนำไปสู่สันติ

ในปีเดียวกันกับที่ท่านเริ่มกลุ่มผู้สนใจพิธีกรรมที่เขตวัด ด้วยความสามารถในการเล่นเปียโนและออร์แกนที่ท่านเรียนรู้ด้วยตัวเอง และความชอบในการร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์ ท่านยังได้ร่วมกับคุณพ่อแม็คกลอน ก่อตั้งคณะนักขับประจำวัดคากูอัสชื่อว่า ‘คณะเตเดอุม เลาดามุส’ โดยมีท่านเป็นผู้นำเพื่อทำหน้าที่ร้องเพลงในพิธีมิสซาวันอาทิตย์ นอกจากนี้เมื่อโอกาสเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ท่านยังได้รวมกลุ่มนักขับร้องขึ้นมาสำหรับพิธีมิสซาเตรียมรับเสด็จวันพระคริสตสมภพอีกด้วย (ธรรมเนียมนี้แพร่หลายในวัฒนธรรมสเปน-โปรตุเกส เรียกว่า มิสซาอากีนัลโด/Misa de Aguinaldo มีลักษณะเป็นมิสซาที่พระสงฆ์จะสวมอาภรณ์สีขาว เป็นมิสซาที่มีจุดประสงค์คือการเตรียมจิตใจให้พร้อมก้อนถึงมิสซาเที่ยงคืนในวันที่ 24 ธันวาคม จิตตารมณ์ของประเพณีนี้คือการเฝ้ารอการประสูติของพระคริสตเจ้าไปพร้อมแม่พระ จึงสัมพันธ์กับวันฉลองความคาดหวังของพระนางมารีย์ที่ฉลองก่อนวันพระคริสตสมภพ นิยมทำกันในช่วงวันที่ 16 – 24 ธันวาคม แง่หนึ่งประเพณีนี้จึงเป็นการนพวารเตรียมรับเสด็จด้วยมิสซา) โดยการรวมกลุ่มนักขับทั้งสองกลุ่มเช่นนี้เป็นไปเพื่อให้สัตบุรุษได้มีส่วนร่วมในพิธีกรรม เวลาเดียวกันก็เป็นการเคลื่อนไหวในการฟื้นฟูพิธีกรรมให้มีความเหมาะสมทั้งเชิงความหมายและความสง่างาม ดังจะเห็นได้จากข้อเขียนจำนวนหนึ่งของท่านแสดงให้เห็นว่าท่านสนับสนุนการใช้เพลงและการบรรเลงดนตรีในพิธีกรรม เพียงแต่ต้องถูกต้องตามกาลเทศะ ถูกช่วงเวลา และสอดคล้องกับพิธีมิสซา เพื่อช่วยนำจิตใจสัตบุรุษให้ร่วมในพิธีกรรม


เข้าใจว่าในช่วงรอยต่อระหว่างทำงานเป็นเสมียนที่บริษัทปวยร์โตริโกภาคีน้ำตาลตะวันออกกับสถานีทดลองเกษตร มหาวิทยาลัยปวยร์โตริโก (ค.ศ. 1951 – ค.ศ. 1952) ท่าได้ขยายงานของท่านไปยังกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยปวยร์โตริโก เมืองริโอเปียดรัส ที่น้องชายของท่านชื่อ โฮเซ (ภายหลังได้บวชเป็นพระสงฆ์คณะเบเนดิกติน) และน้องสาวท่านชื่อ เอย์ดี (ภายหลังได้ถวายตนเป็นซิสเตอร์คณะคาร์เมไลท์) ทำงานอยู่ก่อนหน้านั้น ที่นี่ท่านเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ชาร์ลี’ และท่านได้เริ่มกิจกรรม ‘วันชีวิตคริสตัง’ ขึ้น กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ทั้งชายและหญิง รวมถึงผู้ใหญ่และเด็กได้มาสัมผัส ‘ความยินดีในการเป็นคริสตัง’ ผ่านกิจกรรมที่ถูกแบ่งและออกแบบให้สอดคล้องกันไปไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงหัวข้อหลักในวันนี้ การร่วมพิธีมิสซา การสวดภาวนาทำวัตรร่วมกัน การรับประทานอาหารร่วมกัน การฝึกร้องเพลงในพิธีกรรม และการหย่อนใจ

หัวข้อของกิจกรรมแต่ละครั้งถูกออกแบบให้สอดรับไปกับสถานการณ์โลกและเวลาของพิธีกรรม กิจกรรมในวันดังกล่าวมุ่งนำเสนอคำสอนพระศาสนจักร ทั้งในส่วนของความเป็นมาของเทศกาลพิธีกรรม ธรรมล้ำลึกที่เป็นแกนกลางของพิธี การเตรียมจิตใจ การมีส่วนร่วมในศีลศักดิ์สิทธิ์และการประกาศศาสนา (กระแสเรียกของการเป็นคริสตัง การถวายบูชาในวันอาทิตย์ ศีลศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นฆราวาส) ส่วนการภาวนาก็จะประกอบด้วยการทำวัตรเช้า ทำวัตรสาย ทำวัตรเที่ยง ทำวัตรบ่าย และทำวัตรเย็น และเมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร ทุกคนจะมานั่งเป็นวงกลมและแบ่งปันกับข้าวที่ทุกคนเตรียมมา สถานที่จัดกิจกรรมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ส่วนใหญ่คือชานเมืองริโอเปียดรัส พยานที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมต่างจดจำได้ช่วงเวลาที่พวกเขานั่งฟังเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย พวกเขาได้หย่อนใจในเวลาเดียวกันก็ได้ความรู้ รวมถึงประสบการณ์การสถิตอยู่ของพระเจ้า และวันเวลาของพิธีกรรม ในการดำเนินกิจกรรมนี้ นอกจากท่านจะเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมแล้ว ท่านยังเป็นคนคอยเตรียมเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในกิจกรรม และเป็นคนคอยนำสอนร้องเพลงโดยมีสำเนาเนื้อเพลงที่ท่านใช้เงินของท่านเตรียมมาอีกด้วย

บุญราศีการ์โลสถ่ายรูปพร้อมกับสมาชิก
ศูนย์นักศึกษามหาวิทยาลัยคริสตัง

ต่อมาประมาณ ค.ศ. 1953 – ค.ศ. 1954 เมื่อท่านสามารถรวมกลุ่มผู้สนใจได้เป็นจำนวนมาก ท่านจึงได้มาร่วมงานกับศูนย์นักศึกษามหาวิทยาลัยคริสตัง (Centro universitario católico - CUC) ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำ การทำกิจกรรมอาสา กิจกรรมทางวัฒนธรรม งานพิธีกรรม การออกหนังสือเวียนเพื่อเรี่ยไรทุน การจัดชั้นเรียนคำสอนสำหรับผู้ใหญ่ การจัดกิจกรรมเนื่องในวันฉลองของแม่พระ การไปทัศนศึกษา และกิจกรรมวันชีวิตครัสตัง ร่วมกับกลุ่มครูคาทอลิก ท่านและคาร์เมน ยูดิธต่างร่วมกันทำงานอย่างเข้มข้นทั้งในด้านงานวัฒนธรรมและงานศาสนา ซึ่งทำให้จำนวนสมาชิกในศูนย์เพิ่มมากขึ้น ท่านทำงานกับองค์กรนี้ประมาณสิบปี ท่านเขียนบรรยากาศภายในองค์กรว่า “คุณจะได้พบเพื่อนที่ศูนย์แบบคุณไม่เคยมีมาก่อน ทุกคนที่นี่ยินดีจะรับใช้คุณ แบ่งปันความสุขกับคุณ และช่วยคุณแก้ปัญหาที่ยากลำบาก พวกเขาต่างเป็นคนที่ผ่านชีวิตมหาวิทยาลัยมาแล้วหรือกำลังอยู่ในขั้นของการแสวงหาปัญญาเช่นเดียวกับคุณ ทุกคนต่างมีแรงผลักดันแบบเดียวกัน ความฝันแบบเดียวกัน ความยากลำบากแบบเดียวกัน และความทุกข์แบบเดียวกันกับที่คุณมี ตัวอย่างของพวกเขาจะกระตุ้นให้คุณได้เลียนแบบพวกเขา ถ้าพวกเขาทำได้ ทำไมคุณจะทำไม่ได้ พระคัมภีร์ได้สอนบอกเราว่า ‘วิบัติจงมีแก่ผู้ที่อยู่คนเดียว ถ้าเขาล้มลงก็จะไม่ผู้ใดพยุงเขาให้ลุกขึ้น’ (ปัญญาจารย์ 4 :10)”

ขณะทำงานร่วมกับองค์กรนี้เอง ท่านจึงได้ริเริ่ม ‘กลุ่มผู้สนใจวัฒนธรรมคริสตัง’ ขึ้น ให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมขององค์กร ตามต้นแบบกลุ่มที่ท่านเริ่มไว้ที่คากูอัส กลุ่มนี้เกิดขึ้นเมื่อบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งได้เริ่มมาทำกิจกรรมร่วมกับท่านจากกระตุ้นด้วยปรีชาญาณที่น่าดึงดูดของท่าน พวกเขาจะพบกันในทุกเช้าหรือบ่ายวันเสาร์ แต่บางครั้งก็เป็นระหว่างสัปดาห์ การรวมกลุ่มพูดคุยภายในกลุ่มนี้มีเนื้อหาระดับสูงขึ้นกว่าการรวมกลุ่มอื่น ๆ ที่ท่านจัด กลุ่มเป้าหมายของกลุ่มนี้ คือ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษามหาวิทยาลัย และเพื่อน ๆ ของท่าน กลุ่มนี้คณะกรรมการ รวมถึงมีแผนทั้งในเรื่องการศึกษาและการจัดกิจกรรม ท่านอธิบายวัตถุประสงค์ของกลุ่มนี้ว่า “เพื่อสร้างอัครสาวกฆราวาสและผู้นำกลุ่มคนซึ่งจะกลายมาเป็นผู้นำกลุ่มนักศึกษาและอัครสาวกกลุ่มอื่น ๆ”


ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังออกเยี่ยมไปยังเขตวัดต่าง ๆ พร้อมทีมอัครสาวกแห่งพิธีกรรมคนอื่น ๆ เพื่อจัดวงเสวนาในประเด็นดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีในหลายวัด เราพอทราบว่าเขตวัดที่ท่านสามารถทำการฟื้นฟูพิธีกรรมสำเร็จนอกจากเขตวัดพระนามกรเยซู คากูอัส ซึ่งท่านได้เริ่มต้น คือ เขตวัดพระหฤทัย ซานตูร์เซ เขตวัดคุณแม่คาร์บินี ริโอเปียดรัส (ท่านเตรียมพิธีตื่นเฝ้าที่ใน ค.ศ. 1955 - 1956) เขตวัดนักบุญอันตน ริโอเปียดรัส และเขตวัดแม่พระผู้ทำอัศจรรย์ ริโอเปียดรัส

นอกจากทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว เพื่อผลักดันการเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรมให้เกิดขึ้นในปวยร์โตริโก ในระหว่าง ค.ศ. 1959 - ค.ศ. 1963 ท่านได้ลงมือทำจดหมายข่าวชื่อว่า ‘ลิตูร์เกีย’ (Liturgia / พิธีกรรม) เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับปัสกา สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในพิธีกรรม วันเวลาของพิธีกรรม โดยนำข้อมูลมาจากงานเขียนของนักเขียนที่มีชื่อเสียงในพระศาสนจักร และในระหว่าง ค.ศ. 1959 – ค.ศ. 1961 ท่านยังได้ทำจดหมายข่าวอีกหัวชื่อว่า ‘คูลตูรา คริสเตียนา’ (Cultura Cristiana / วัฒนธรรมคริสตัง) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นหลากหลายมากกว่าพิธีกรรม เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม การศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรกับรัฐ ศิลปะสมัยใหม่ ความเป็นเมืองสมัยใหม่ มนุษย์นิยม เป็นต้น โดยทั้งหมดเป็นการคัดงานเขียนของนักเขียนที่มีชื่อเสียงมาให้ผู้อ่านได้อ่านเช่นเดียวกับจดหมายข่าวหัวแรก นอกจากนี้ท่านยังตีพิมพ์หนังสือความเชื่อและชีวิต: พิธีกรรม พื้นฐานชีวิตคริสตัง อีกด้วย


อาจกล่าวได้ว่าในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรม นอกจากการมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในพิธีกรรม เรายังสามารถลงรายละเอียดประเด็นด้านพิธีกรรมที่ท่านเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนตลอดชีวิตได้ 3 ประเด็น คือ พิธีมิสซา ปัสกา และการทำวัตร ซึ่งแต่ละประเด็นท่านให้ความสำคัญและมีการเคลื่อนไหวดังนี้ ในประเด็นแรกสุดเป็นประเด็นที่ท่านให้ความสำคัญมาก เพราะท่านมองว่าพิธีมิสซาสามารถสรุปธรรมล้ำลึกไว้อย่างครบถ้วนที่สุด ดังข้อเขียนของท่านที่ว่า “โดยทางพิธีมิสซาเราสามารถแสดงการนมัสกาพระเจ้าได้โดยสมบูรณ์ อย่างที่พระองค์ทรงสมควรจะได้รับ เพราะเราได้กระทำ ‘อาศัยพระคริสตเจ้า พร้อมกับพระคริสตเจ้า และในพระคริสตเจ้า’ … พิธีมิสซาประกอบด้วยพระธรรมล้ำลึกทั้งหมด : พระมหาทรมาน การสิ้นพระชนม์ การกลับคืนพระชนม์ชีพ พระสิริรุ่งโรจน์ และการเสด็จกลับมาครั้งที่ 2 ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พิธีมิสซาจึงเป็นปัสกาของพระคริสตเจ้าที่กลายปัสกาของพวกเราด้วย…”

ท่านถึงกับเขียนถึงพระสงฆ์องค์ใหม่ที่มาประจำที่คากูอัสว่า “หัวใจสำคัญของการฟื้นฟูพิธีกรรมนี้และการหวนคืนสู่ความเชื่อศรัทธาในอดีตกาล คือ การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและโดยตรง ของสัตบุรุษในพิธีกรรม โดยเฉพาะในพิธีมิสซา” และ “ลูกจะรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่จะได้เห็นว่าในที่สุดพวกเราจะสามารถทำให้บรรดาสัตบุรุษได้มีส่วนร่วมตามที่พวกเขามีสิทธิ และเป็นสิ่งที่พระสันตะปาปาหลายพระองค์ได้ทรงส่งเสริมมานานกว่า 50 ปีแล้ว หากพวกเราจะเริ่มจากพวกเด็ก ๆ ในโรงเรียนและพิธีมิสซาสักหนึ่ง เป็นการดีที่จะระลึกไว้เสมอว่าการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นมีไว้สำหรับผู้เชื่อศรัทธาทุกคนไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นเรื่องดีที่เด็ก ๆ ในโรงเรียนจะเป็นแกนหลัก แต่ก็เป็นเรื่องแย่ที่เราจะปล่อยให้เป็นมันเรื่องของพวกเขาเท่านั้น เพราะพระศาสนจักรประสงค์ให้เราทุกคนมีส่วนร่วม พระสันตะปาปาหลายพระองค์ทรงกระตุ้นเรื่องนี้มาโดยตลอด บรรดาผู้อภิบาลก็ต่างร้องขอสิ่งนี้ และพิธีกรรมเองก็เรียกร้องสิ่งนี้เช่นกัน”


ท่านปรารถนาที่จะให้มีการทำมิสซาแบบที่เรียกกันว่า ‘มิสซาตอบรับ’ (Dialogue Mass) เพราะท่านมองว่านี่คือแนวทางการทำมิสซาที่สัตบุรุษและพระสงฆ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันสอดคล้องกับการให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งก่อนจะกล่าวถึงประเด็นนี้ต่อขอนำเรียนนิยามของมิสซาตอบรับเพิ่มเติมเสียก่อน มิสซาตอบรับ คือ มิสซาที่ไม่มีการขับร้อง จัดเป็นมิสซาน้อย (Low Mass) หรือมิสซาวันธรรมดา เป็นมิสซาที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงศตวรรษที 20 ซึ่งให้สัตบุรุษที่ในบริบทของมิสซาจารีตละตินก่อนสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมใดนอกจากการ ‘ฟัง’ มิสซาตามพื้นฐานแนวคิด คือ การเป็นพยาน เป็นผู้ ‘ร่วม’ มิสซา ด้วยการให้ตอบรับกับพระสงฆ์ และขับบทพระสิริรุ่งโรจน์ บทยืนยันความเชื่อ บทศักดิ์สิทธิ์ และบทพระชุมพา รวมถึงบทภาวนาก่อนรับศีลที่ว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควรจะรับเสด็จมาประทับอยู่กับข้าพเจ้า โปรดตรัสเพียงพระวาจาเดียว แล้วจิตใจข้าพเจ้าก็จะบริสุทธิ์” ในภาษาละติน รูปแบบของมิสซาเช่นนี้ต่อมากลายเป็นมิสซาแบบปัจจุบันอย่างที่เรารู้จักภายหลังการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 แต่ในยุคสมัยของท่านนั้นสิ่งนี้ยังเป็นสิ่งใหม่อยู่มาก

ท่านเขียนถึงมาโนลินและพระสงฆ์องค์ใหม่ที่มาประจำคากูอัส ว่า “เป็นความจริงที่น่าเสียดายที่วัดหลายแห่งยังไม่มีท่าทีแม้แต่น้อยว่ามีความตั้งใจจะริเริ่มให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมในพิธีมิสซา มีคนถึงกับกล่าวไปไกลว่าเขตวัดของพวกเขาทำไม่ได้ด้วย ‘เหตุผล’ หลายประการ ทั้งที่เป็นเวลากว่าห้าสิบปีแล้วที่นักบุญปีโอที่ 10 ได้ตรัสว่า สัตบุรุษจะต้องได้รับส่วนเป็นของพวกเขาคืนและจะต้องสอนบทสวดเกรโกรเรียนแก่บรรดาสัตบุรุษ เพื่อที่พวกเขาจะได้มีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม” ท่านจึงได้ลงมือสนับสนุนการทำมิสซาตอบรับ และได้อธิบายให้เห็นว่าการทำมิสซาแบบนี้ไม่ได้ขัดต่อ ‘ความเงียบ’ ที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้ร่วมมิสซาละตินแบบเดิม โดยท่านอภิปรายถึงความเงียบในมิติของมิสซา ที่ชี้ให้เห็นความเงียบที่ถูกต้องคือความเงียบเชิงนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม “ข้อสาม: ใน ‘มิสซาตอบรับ’ ผู้นำประกอบพิธีหรือผู้อ่าน และสัตบุรุษต่างโต้ตอบกันโดยตลอด โดยเริ่มตั้งแต่เริ่มพิธีมิสซาไปจนจบพิธี โดยแม้แต่เพียงนาทีเดียวก็ไม่นิ่งเงียบ อันเป็นสิ่งขัดต่อโครงสร้างและจุดประสงค์ที่แตกต่างกันของพิธีมิสซา ขัดกับบรรทัดฐานที่ทางโรมได้กำหนด และขัดต่อความเชื่อศรัทธาแท้ของผู้เชื่อ ความเงียบก็เป็นสิ่งจำเป็นและจำเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าหมายถึงความเงียบไม่ใช่การเงียบ”


จากจดหมายของท่านเราพบว่าเพื่อเผยแพร่มิสซาเช่นนี้ ท่านได้มีความคิดจะทำโบว์ชัวร์เกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยได้ไอเดียมาจากทั้งการทำมิสซาหมู่คณะ (community Mass) ที่ท่านอธิบายว่าเป็นมิสซาที่ตอบรับด้วยเพลงตามแนวทางของพระสงฆ์สององค์ชาวสเปน และมิสซาสนทนาตามแนวทางที่กำลังแพร่หลายในยุโรปและอเมริกา เพราะท่านสนับสนุนให้มีการทำมิสซาเช่นนี้ในปวยร์โตริโก แต่ดูเหมือนว่าภายใต้ข้อจำกัดของสังคมในเวลานั้น ท่านจึงเสนอให้ทำการ์ดมิสซาสนทนา ให้ผู้ร่วมมิสซาได้ใช้เพื่อสามารถร่วมมิสซาได้อย่างดีขึ้น ทั้งง่ายและสะดวกกับผู้ที่มีความรู้น้อย รวมถึงไม่ขัดกับหลักการด้านพิธีกรรมในเวลานั้น เราพบว่าท่านทั้งเชิญชวนให้พระสงฆ์ปฏิบัติและชวนฆราวาสให้ลองร่วมมิสซาประเภทดังกล่าว ดังปรากฏในจดหมายที่ท่านชวนมาโนลินให้ลองไปร่วมมิสซาตอบรับ ซึ่งเป็นการทำมิสซาหมู่คณะ ตามแนวทางที่ท่านประทับใจ ท่านเขียนตอนหนึ่งในจดหมายฉบับนี้ว่า “สิ่งที่คุณจะได้เห็นมันช่างงดงามและน่าประทับใจ พวกเขาตอบรับกันด้วยภาษาละติน ผู้อ่านบทอ่านและพระวรสารเป็นภาษาท้องถิ่น พวกเขาร้องเพลงสวดง่าย ๆ และเปี่ยมไปด้วยการเจิมอย่างเต็มแน่น ซึ่งปรับให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่พวกเขาร้อง : ภาคถวาย การรับศีล จบพิธี”

นอกจากนี้ในประเด็นว่าด้วยพิธีมิสซา ท่านยังตำหนิการทำอะไรรวดเร็วเกินไป จนทำให้พิธีมิสซาแทนที่จะเป็นช่วงเวลาสงบสันติ กลายเป็นช่วงเวลาตึงเครียด ท่านมองว่าถ้าทำให้สัตบุรุษเข้าใจและมีส่วนร่วม สัตบุรุษจะไม่เบื่อที่ร่วมพิธีมิสซา และพระสงฆ์ก็ไม่ต้องรีบร้อนที่จะประกอบพิธีให้เสร็จ ดังที่ท่านเขียนบอกพระสงฆ์องค์ใหม่ที่มาประจำคากูอัส ตอนหนึ่งในเรื่องนี้ว่าที่สัตบุรุษจำนวนมากรู้สึกเบื่อหน่ายหรือเหนื่อยกับการร่วมพิธีกรรม ไม่ได้มาจากระยะเวลาของพิธีกรรม หากแต่มาจากการที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมและไม่เข้าใจความหมาย เพราะฉะนั้นกุญแจสำคัญจึงคือ ‘การทำให้พวกเขาเข้าใจและมีส่วนร่วม’ ดังความที่ว่า “การที่พวกเราไปร่วมพิธีก็เป็นเพราะพวกเราต้องการสวดภาวนา น้อมใจถวายบูชา ทำในสิ่งที่พวกเรามีและต้องทำตามครรลอง หากบรรดาผู้เชื่อศรัทธาเข้าใจ (และพวกเขาจะเข้าใจก็เมื่อมีการอธิบายและสอนอย่างถูกต้อง) และมีส่วนร่วมอย่างชาญฉลาด พวกเขาก็จะไม่รู้สึกเหนื่อยแต่จะปรารถนาให้พิธีกรรมนั้นยาวขึ้น บรรดาผู้เชื่อศรัทธาจะเหนื่อยหน่ายและเบื่อในพิธีมิสซาสั้น ๆ เงียบ เร่งรีบ ไร้ความหมาย ซึ่งพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมหรือไม่เข้าใจ มากเสียกว่ามิสซาที่ยาวกว่าเพียงเล็กน้อย แต่พวกเขาสามารถเข้าใจ และสามารถมีส่วนร่วม และเริงรื่นไปกับมันได้”


ไม่เพียงเท่านั้นในประเด็นที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมและความศรัทธาพิเศษ ท่านไม่ได้มองว่าความศรัทธาพิเศษเป็นปัญหา แต่มองว่าเป็นส่วนที่ช่วยให้การปฏิบัติพิธีกรรมตามกำหนดเป็นไปได้อย่างดีขึ้น ท่านมองว่ากิจศรัทธาพิเศษไม่ควรถูกนำมาแทนที่พิธีกรรม แต่เป็นส่วนเตรียมตัวสำหรับพิธีกรรม “กิจศรัทธาพิเศษหรือกิจการนอกเหนือจากพิธีกรรมที่พระศาสนจักรกำหนด สิ่งเหล่านี้สามารถเสริมคุณค่าในด้านความรู้ การปฏิบัติ และความซาบซึ่งในชีวิตพิธีกรรมได้ดียิ่งขึ้น และดังนั้นด้วยเหตุนี้มันจึงสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องเตรียมตัวสำหรับการร่วมเฉลิมฉลองพิธีกรรม หรือเป็นส่วนขยายและเพิ่มเติมออกมา แทนที่จะเป็นการขัดหรือแทนที่” ท่านอธิบายว่ากิจศรัทธาพิเศษหลายอย่างเป็นสิ่งที่ดี จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรักษาและทำอย่างเหมาะสม โดยไม่เบียดบังพิธีกรรม ซึ่งเป็นกิจศรัทธาแห่งกิจศรัทธาที่ไม่อาจทดแทนได้ ท่านชี้ว่ารูปแบบการภาวนาทั้งสองรูปแบบไม่ควรถูกนำมาปฏิบัติร่วมกันจนนำไปสู่ความสับสน โดยท่านได้ยกคำแนะนำของที่ประชุมจารีตเรื่องดนตรีและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในสมณกิจจานุเบกษา ฉบับที่ 12 - 13  บทที่ 2 ข้อที่ 5 . 25 (Acta Apostolicae Sedis, n° 12-13 [Sec. II, v. XXV]) ที่ว่า “พิธีกรรมและกิจศรัทธาพิเศษไม่ควรผสมปนเปกัน แต่หากสถานการณ์บังคับ กิจศรัทธาพิเศษพึงทำก่อนหรือหลังพิธีกรรม”

ประเด็นประการต่อมาที่ท่านให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าพิธีมิสซา คือ ปัสกา ท่านอธิบายความสำคัญของปัสกาไว้ว่า “ในเทศกาลปัสกาชีวิตได้รับการฟื้นฟูด้วยความศักดิ์สิทธิ์ จนถึงวันสมโภชพระจิตเจ้าจึงเอ่อล้นไปด้วยความสุขการของการเป็นบุตรธิดาของพระเจ้า เพื่อว่าในเวลาต่อมา เมื่อวิญญาณบรรลุถึงการเติบโต มันจะพร้อมต่อสู้ในศึกอันยิ่งใหญ่” ดังนั้นปัสกาในมุมมองของท่านจึงคือหมุดหมายในแต่ละปีที่วิญญาณจะได้รับการฟื้นฟูให้พร้อมสู้ศึกในโลกต่อไป สอดคล้องกับพระวาจาของพระคริสตเจ้าที่ว่า “ท่านมิได้เป็นฝ่ายโลก และเราเลือกท่านออกมาจากโลก โลกจึงเกลียดชังท่าน” (ยอห์น 15 : 19) ดังนั้นเมื่อถึงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ ท่านจึงร้อนรนในการเตรียมสัปดาห์เหล่านี้อย่างดีที่สุด ท่านเตรียมข้อเตือนใจถึงความหมายของเทียนปัสกาเพื่อแจกจ่ายให้ผู้คน รวมถึงจัดเตรียมข้าวของในพิธีอย่างมีรสนิยม เช่น ใบลานสำหรับแห่ หรือแม้ความหมายของพิธีกรรมแต่ละขั้นในภาษาสเปน (เวลานั้นยังใช้ภาษาละติน) ท่านยังร้อนรนในการสร้างความเข้าใจการทำตรีวารปัสกา โดยการจัดกิจกรรมประชุมเพื่อความรู้ในเรื่องนี้ และเป็นวิทยากร ท่านมีเวลาให้ทุกคนที่ต้องการรู้เรื่องนี้เสมอ

ธรรมเนียมการตื่นเฝ้าปัสกาเดิมที่จุดเทียนสามแท่งก่อนเทียนปัสกา

ท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษในการรณรงค์ให้มีการทำ ‘พิธีตื่นเฝ้าปัสกา’ ในตอนกลางคืนวันเสาร์แทนที่จะเป็นเช้าวันเสาร์อย่างที่นิยมกันในเวลานั้น ท่านให้ความสำคัญกับวันนี้มาก ท่านมักกล่าวอยู่บ่อย ๆ ว่า “พวกเรามีชีวิตอยู่เพื่อคืนนั้น” ท่านจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ใน ค.ศ. 1952 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ทรงเปลี่ยนเวลาในการทำพิธีตื่นเฝ้าปัสกาเป็นตอนกลางคืน ซึ่งก่อนจะมีความเคลื่อนไหวเช่นนี้จากทางสันตะสำนัก ใน ค.ศ. 1950 ท่านได้เสนอให้จัดพิธีตื่นเฝ้าในคืนวันเสาร์ขึ้น ซึ่งคุณพ่อเจ้าวัดนักบุญอันโตนีโอ เมืองริโอเปียดราส ก็ได้ตอบรับข้อเสนอนี้ ดังนั้นสัตบุรุษจากคากูอัสจำนวนหนึ่งจึงได้เดินทางมาร่วมพิธีดังกล่าว และเมื่อเสร็จพิธีแล้วพวกเขาจึงต่างพากันกลับไปที่บ้านของท่าน ที่นั่นพวกเขามิได้พักผ่อน แต่ต่างร่วมกันเฉลิมฉลองในงานเลี้ยงซึ่งตกแต่งให้ล้อไปกับเทศกาล ด้วยเทียนปัสกา ภาพพิมพ์ และผ้าเช็ดปาก ท่านนั่งที่เปียโนและสอนทุกคนร้องเพลงคริสตังจงร้องเพลง จงร้องเพลงถวายพระเจ้าเป็นภาษาละติน ทุกคนไม่มีใครนอนจนงานเลี้ยงจบลงในเวลาตีห้าด้วยการไปร่วมมิสซาในรุ่งอรุณวันอาทิตย์

ในบริบทพระศาสนจักรในเวลานั้นจะพบว่า สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ทรงฟื้นฟูการทำพิธีตื่นเฝ้าหลังพระอาทิตย์ตกแทนการทำในเช้าวันเสาร์ ซึ่งกลายมาเป็นที่นิยมแทนการตื่นเฝ้าในตอนกลางคืนวันเสาร์ ตามข้อเสนอของกลุ่มพระสังฆราชและนักพิธีกรรมที่ต้องการให้ฟื้นฟูพิธีกรรมแบบโบราณ การฟื้นฟูในคราวนั้นยังรวมถึงการเปลี่ยนธรรมเนียมการจุดเทียนปัสกาเป็นลำดับสุดท้ายภายหลังการจุดเทียนสามแท่ง (Tricereo / The Triple Candle) มาเป็นการจุดเทียนปัสกาตั้งแต่แรกอย่างที่ปฏิบัติกันในปัจจุบัน รวมถึงทรงให้ความสำคัญกับการทำตรีวารปัสกาสามวันในเวลาค่ำแทนการเฉลิมฉลองเพียงแค่วันอาทิตย์ปัสกาในฐานนะยอดแห่งพิธีกรรม โดยทรงเริ่มทดลองใน ค.ศ. 1951 และประกาศใช้อย่างจริงจังใน ค.ศ. 1955 ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานของท่านมีความล้ำหน้าสันตะสำนัก และเป็นส่วนหนึ่งของสันตะสำนักในเวลาเดียวกัน


ประเด็นประการสุดท้ายที่ท่านให้ความสนในการเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรม คือ การสนับสนุนให้ฆราวาสสวดทำวัตร ท่านสวดทำวัตรตลอดในชีวิตประจำวัน แม้ในเวลาไปท่องเที่ยว เมื่อออกเดินไปรอบเกาะ ท่านก็ใช้เวลาสวดทำวัตรไปด้วยพร้อมกัน ท่านเขียนไว้ในหนังสือความเชื่อและชีวิต: พิธีกรรม พื้นฐานชีวิตคริสตังว่า “ผ่านการทำวัตรเราได้รับความสว่างใหม่ให้เข้าใจความหมายของข้อพระคัมภีร์ผ่านอรรถาธิบายของบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร” และยังให้ความเห็นอีกว่าการทำวัตรยังช่วยทำให้การฉลองพิธีกรรมมีชีวิตชีวา ดังนั้นการทำวัตรจึงเป็นกิจศรัทธาพิเศษที่ช่วยเสริมให้วิญญาณยิ่งเติบโตและชิดสนิทกับพระเจ้ามากยิ่งขึ้น และเพื่อให้การทำวัตรเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตฆราวาสได้ ท่านมีความเห็นว่าจะต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับชีวิตฆราวาส อาทิ การย่นย่อลง ดังนั้นท่านจึงมุ่งมั่นที่จะแสดงตัวอย่างและชักชวนให้ทุกคนรอบตัวสวดทำวัตร เพื่อให้ทุกคนได้มีประสบการณ์ ท่านแสวงหาโอกาสต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมการสวดทำวัตรให้กับฆราวาสอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมวันชีวิตคริสตังหรือกับสมาชิกคณะนักขับที่วัดคากูอัส โดยได้รับอนุญาตจากคุณพ่อเจ้าวัด และเมื่อท่านทราบว่าทางสันตะสำนักอนุญาตให้สวดภาวนาเป็นภาษาสเปนได้ ใน ค.ศ. 1956 ท่านจึงเขียนจดหมายไปหาบรรดาพระสงฆ์เบเนดิกตินที่อารามในเมืองกูเอร์นาวากา ประเทศเม็กซิโก เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการดัดแปลงดนตรีให้เหมาะกับภาษาสเปนในการสวดทำวัตรเช้าและเย็นในวันอาทิตย์และเทศกาลสำคัญ ตลอดจนการประกอบพิธีในวันอาทิตย์และวันฉลองต่าง ๆ

ความทรงจำของผู้คนที่มีต่อท่านนอกเหนือจากเรื่องการเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรมอย่างร้อนรน ก็คือการดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างและประจักษ์พยานดังเกลือดองแผ่นดิน ซึ่งกระตุ้นให้ทุกคนมีความร้อนรนในการติดตามพระคริสตเจ้า ในฐานะสมาชิกในครอบครัวโรดริเกซ ซันติอาโก ท่านคอยเอาใจใส่พี่น้องทุกคนและคอยสนับสนุนให้ทุกคนเติบในความเชื่อเสมอ ท่านยังคอยติดต่อพี่น้องที่อยู่ห่างไกลอยู่เป็นระยะโดยตลอดผ่านทางจดหมายอีกด้วย คุณพ่อโฮเซ โมเดสโต น้องชายของท่านได้เป็นพยานว่า หลังทานอาหารเย็นวันอาทิตย์ เป็นเวลาที่พวกเขาจะได้พูดคุยกันในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องศาสนา คุณพ่อยืนยันว่า “เกือบทุกอย่างที่พ่อได้รู้ในเรื่องนั้น (ศาสนา) พ่อก็รู้มาจากเขาเป็นหลัก การมาเรียนต่อด้านเทววิทยาสำหรับการเป็นพระสงฆ์เพียงเสริมขึ้นมาเล็กน้อย เว้นแต่เรื่องรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ได้สำคัญมาก” และในการกล่าวปราศัยหลังมิสซาแรกของคุณพ่อโฮเซที่วัดพระนามกรพระเยซู คุณพ่อก็ได้กล่าวว่า “ทุกคนในบ้านเป็นหนี้เขามาก ตั้งแต่เล็ก ๆ เขามีความรักเพียงหนึ่งเดียว คือ พระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ (…) มันไม่ง่ายเลยที่การอยู่ใกล้เปลวไฟแห่งความรักเมตตาซึ่งลุกช่วงโชติจะไม่ได้ร่วมอยู่ในความสว่างและความลุกร้อนนั้นโดยไม่ติดเชื้อไฟนั้นมา ผมยังคงพึ่งพาเขามาก ผมสามารถพูดอย่างจริงใจว่า พื้นฐานที่หยั่งรากลึกที่สุดในบรรดาความรู้ด้านเทววิทยาทั้งหมดของผม ผมเรียนรู้จากเขา ผมจึงเป็นหนี้เขา”


นอกจากมีอิทธิพลกับคนในครอบครัวแล้ว ผู้คนจำนวนหนึ่งยังได้เป็นพยานว่าการได้รู้จักท่าน ได้ยินคำสอนของท่าน ได้เห็นแบบอย่างในการเจริญชีวิตคริสตชนอย่างครบครันและรับใช้ผู้อื่น ทำให้ความเชื่อที่มีชีวิตของพวกเขาเติบโต พยานหลายคนรู้สึกกระแสเรียกการเป็นนักบวชจากการได้เห็นความร้อนรนที่ท่านมีต่อพระคริสตเจ้า พยานคนหนึ่งได้เล่าถึงท่านว่า “เขาเป็นที่ปรึกษาที่เป็นที่ยอมรับ เขาสามารถจัดการกับคนใหญ่คนโตเรื่อยมาถึงคนตัวเล็ก ๆ ตาสีตาสาเรื่อยมาถึงคนมีการศึกษา ชายเรื่อยมาถึงหญิง” ทุกคนที่แสวงหาคำตอบเพื่อไขข้อปัญหาในใจหรือเพื่อเพิ่มพูนความเชื่อจะไม่ผิดหวัง เมื่อมาพบท่าน ชีวประวัติท่านสำนวนหนึ่งได้พรรณนาว่า “การได้เข้าใกล้คาร์โลส มานูเอล และทำความรู้จักกับเขาเปรียบเสมือนการได้เข้าใกล้แสงสว่างที่ส่องสว่างมุมมองและความหมายของชีวิต สายตาและรอยยิ้มของเขาเผยให้เห็นความยินดีแท้แห่งปัสกา ความแข็งแกร่งทางวิญญาณอันมากมายมหาศาลของเขาอยู่เหนือร่างกายที่เปราะบางของเขา ความมั่นใจในความเชื่อของเขาอย่างแน่วแน่ ทำให้เขาสามารถเอาชนะธรรมชาติที่ขี้อายของเขา เขาพูดด้วยความมั่นใจเหมือนนักบุญเปโตรในวันเปนเตกอสเต”

ในขณะท่านกระตุ้นกระแสเรียกการเป็นนักบวชให้ผู้คนรอบข้าง การดำเนินชีวิตประจำวันของท่านในกระแสของความเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรมก็ทำให้มั่นใจมากขึ้น ว่าพระเป็นเจ้ามิทรงได้เรียกให้ท่านเป็นนักบวช แต่ทรงเรียกท่านให้เป็น ‘ฆราวาสผู้ถวายตัว’ ดังนั้นเมื่อท่านอายุได้ 37 ปี ใน ค.ศ. 1955 ท่านจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะครองตนเป็นโสดตลอดชีวิต และนอกเหนือจากการอุทิศตนเพื่อกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงด้านพิธีกรรมให้เกิดขึ้นในปวยร์โตริโกอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยในกลุ่มที่ท่านได้ตั้งขึ้น ท่านยังเป็นสมาชิกกลุ่มคาทอลิกอื่น ๆ เช่น กลุ่มพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ กลุ่มอัศวินโคลัมบัส และกลุ่มภราดรภาพแห่งคำสอนคริสตัง โดยเฉพาะกลุ่มหลังนี้ได้เปิดโอกาสให้ท่านได้ทำงานกับกลุ่มนักศึกษาที่มีที่มาจากหลากหลายแหล่งเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาสามารถเจริญชีวิตแห่งความเชื่อได้อย่างดี ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังเป็นครูคำสอนสำหรับเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยใช้ทุนของท่านเองจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนอีกด้วย

รองเท้าของบุญราศีการ์โลส ซึ่งมีเพียงคู่เดียวในวันที่ท่านเสียชีวิต

เมื่ออ่านชีวประวัติของท่านมาถึงตรงนี้ เราอาจคิดจินตนาการไปว่าท่านคงต้องมีชีวิตที่พิศวงเป็นแน่ แต่แท้จริงในการดำเนินกิจการอันน่ามหัศจรรย์เหล่านี้เป็นไปอย่างเรียบง่ายและแสนธรรมดา ท่านตื่นแต่เช้าเพื่อไปร่วมมิสซาประจำวันในเวลาหกโมงเช้า หลังจากนั้นท่านจึงไปเข้างาน ระหว่างวันนั้นหากท่านมีเวลาว่างท่านก็จะเอางานการเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรมขึ้นมาทำเท่าที่ทำได้ เช่น การแปล การตัดกระดาษฉลุลาย การเรียงหน้าเอกสาร เป็นต้น และเมื่อเสร็จจากการทำงานเป็นเวลาแปดชั่วโมงต่อวัน ท่านจะตรงกลับมาที่พักเพื่อเตรียมการประชุมต่าง ๆ จนแล้วเสร็จทุกอย่าง ในตอนกลางคืนท่านจะเปิดชั้นเรียนเพื่ออบรมเรื่องต่าง ๆ ให้กับครูคำสอนและบุคคลที่มีความสนใจ กำลังของท่านในการทำสิ่งต่าง ๆ ล้วนมาจากการชิดสนิทกับพระเจ้า หรือที่ท่านเรียกว่า ‘การต่อกิ่งเข้ากับพระคริสตเจ้า’

คำกล่าวของท่านที่ว่า “พวกเรามีชีวิตอยู่เพื่อคืนนั้น” คือภาพสะท้อนวิญญาณของท่านที่ดีที่สุด เพราะอาศัยธรรมล้ำลึกแห่งปัสกาที่ถูกรื้อฟื้นเสมอในทุกพิธีมิสซา คือ พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์ พระคริสตเจ้าได้ทรงเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ พระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ท่านมีกำลังกายและกำลังใจที่จะทำงานที่พระเจ้าทรงเรียกท่น รวมถึงอดทนต่ออาการป่วยที่รุมเร้ามาตลอดชีวิตโดยไม่เคยปริปากบ่น ผ่านความหมายของพิธีกรรมในค่ำคืนแห่งปัสกา ท่านได้นำประสบการณ์ชีวิตของท่านที่ท่านต้องเผชิญกับอาการเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ จากการภาวะลำไส้ใหญ่บวมมาตั้งแต่เด็กมาวางทาบลงไป ผ่านการเจริญชีวิตชิดสนิทกับพิธีกรรม ทำให้ท่านพบความหวังและพลังในการดำเนินชีวิต กล่าวคือในปลายทางของความทุกข์ยากไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่คือการมีชีวิตใหม่การกลับคืนชีพในพระคริสตเจ้า เหมือนดังที่พระคริสตเจ้าทรงรับทรมานจนสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และทรงกลับคืนพระชนม์ชีพในวันที่สาม ดังนั้นค่ำคืนวันเสาร์ตื่นเฝ้าปัสกาจึงเป็นเวลาแห่งความหวัง และความยินดีที่โลกไม่ได้มีอำนาจเหนือเราอีกต่อไป คำกล่าวของท่านที่ว่า ปัสกาของพระคริสตเจ้าได้กลายเป็นปัสกาของพวกเรา จึงไม่เกินความจริง นี่เองจึงทำให้ท่านเอาชนะข้อจำกัดต่าง ๆ ในชีวิต และตอบเสนองเสียงเรียกของพระเจ้าในการนำพาทุกคนให้กลับมาสู่ ‘แหล่งสำคัญและขาดไม่ได้มากที่สุดของจิตตารมณ์การเป็นการเป็นคริสตชน’


ท่านทำงานด้วยความร้อนรนจนถึงวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1963 อาการลำไส้ใหญ่บวมที่ท่านเป็นมาโดยตลอดก็ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อีกทั้งปรากฏอาการของโรคข้ออักเสบที่ทำให้ท่านเจ็บตามข้อแทรกซ้อนขึ้นมา ท่านจึงพึ่งยาบรรเทาอาการปวด แต่ก็กลายเป็นว่าตัวยาดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อกระเพาะของท่าน ทำให้ท่านเริ่มรับอาหารได้น้อยลง จนทำส่งผลให้น้ำหนักตัวท่านลดลงมาก ในเวลาเดียวกันอาการปวดบริเวณในทวารหนักส่วนปลายก็รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ท่านจึงหยุดทำงานต่าง ๆ และตัดสินใจไปพบแพทย์เพราะท่านเริ่มสงสัยว่าตนอาจจะเป็นมะเร็ง ซึ่งผลของการตรวจวินิจฉัยท่านในต้นเดือนมีนาคม โดยหัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยปวยร์โตริโกก็พบว่าท่านเป็นมะเร็งชนิดต่อมที่ทวารหนัก ดังนั้นท่านจึงต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อเตรียมเข้ารับการผ่าตัดเป็นลำดับถัดไป ในเวลานี้ท่านต้องประสบความทุกข์อีกประการเพิ่มมา คือ การไม่สามารถไปร่วมมิสซาเช้าได้อย่างปกติ

ล่วงถึงวันที่ 12 มีนาคม ปีเดียวกัน ท่านจึงได้รับการผ่าตัดเป็นเวลาเจ็ดชั่วโมงตั้งแต่เวลาเจ็ดนาฬิกาเป็นต้นมา ในการผ่าตัดครั้งนี้แพทย์ได้ตัดสินใจตัดลำไส้ใหญ่ส่วนปลายของท่านออกไป 23 ซม. พร้อมต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ติดกันและชิ้นส่วนของตับของท่านออก เนื่องจากแพทย์พบว่ามีเนื้องอกกระจายไปถึงสามในสิบของต่อมน้ำเหลืองท่านแล้วในเวลานั้น และยังได้ใส่ถุงทวารเทียมให้ท่านที่หน้าท้อง การผ่าตัดผ่านไปด้วยดีในบ่ายวันเดียวกันท่านได้ถูกพาออกมาพักฟื้นที่ห้อง แต่ท่านยังมีอาการหายใจลำบาก และไม่สามารถขยับศีรษะและแขนซ้ายได้ เมื่อท่านฟื้นตัวท่านเป็นทุกข์มากที่พบว่าตัวเองต้องใช้ถุงทวารเทียม ซึ่งสร้างอาการระคายเคืองให้กับท่าน ท่านบ่นออกมาว่า “ไม่มีใครบอกผมเรื่องนี้เลย” แต่กระนั้นก็ตามท่านก็ยังคงดำรงอยู่ในสันติเหมือนสหายสนิทของท่านอย่างองค์พระเยซูเจ้าบนทางสู่กัลวารีโอ


ท่านยังคงต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ท่านต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัดและการสอดท่อเข้าไปในหลอดอาหาร ในระหว่างการพักรักษานี้เองท่านประสบความทุกข์ยากอยู่ไม่ใช่น้อย ทั้งจากอาการเจ็บป่วย การดูแลอย่างของไปทีของพยาบาล การใช้ถุงทวารเทียม อคติจากบุคลากรทางการแพทย์บางคน และการเยี่ยมจากทั้งบรรดาพระสงฆ์และฆราวาสบางรายที่สร้างความหนักใจให้ท่านมากกว่าความบรรเทาใจ ซึ่งท่านก็มิได้ปริปากบ่นว่าอันใด แต่น้อมรับทุกสิ่งด้วยความสงบเงียบโดยตลอด ในเวลาต่อมาเมื่อแพทย์เจ้าของไข้ลงความเห็นว่าท่านไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดอีก ท่านก็มิปริปากบ่นว่าอะไร แม้การงดยานี้จะทำให้ท่านต้องเผชิญกับความเจ็บปวดเป็นทวีคูณ ท่านเชื่อฟังคำสั่งแพทย์และเชื่อฟังคำสั่งของน้องชายที่บวชของท่าน และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสวดภาวนา โดยทุกวันน้องชายของท่านจะเป็นผู้นำศีลมหาสนิทมาส่งให้ท่านตลอด เวลานี้ครอบครัวโดยเฉพาะน้องชายของท่านเป็นผู้อยู่เคียงข้างท่านตลอดในการต่อสู้กับโรคร้าย

เมื่อถึงวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรตซึ่งพระสงฆ์จะสวมอาภรณ์สีกุหลาบ เพื่อนกลุ่มหนึ่งของท่านได้นำเค้กและดอกกุหลาบมาให้ท่าน ท่านสามารถสนทนากับพวกเขาได้เพียงเล็กน้อย โดยไม่ได้บ่นว่าถึงเรื่องอาการป่วยที่ท่านเป็นอยู่ ก่อนที่พยาบาลจะเข้ามาอาบน้ำและเปลี่ยนถุงทวารเทียมให้ ท่านจึงขออภัยพวกเขาที่ทำให้ต้องลำบาก ต่อมาเมื่อถึงคืนวันเสาร์ตื่นเฝ้าปัสกาที่ท่านชื่นชอบ เพื่อน ๆ ของท่านก็ได้นำเทียนที่ต่อไฟมาจากเทียนปัสกามาให้ท่านในคืนวันนั้น ท่านมองมันและกล่าวขอบคุณในน้ำใจของเพื่อน ๆ หลังจากวันนั้นอาการของท่านยังคงไม่ดีขึ้น ท่านยังคงพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จนวันเวลาล่วงถึงวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1963 รายล้อมด้วยสมาชิกในครอบครัวที่ท่านรัก ขณะฟังเสียงอ่านคำประกาศปัสกา ที่จะถูกอ่านขึ้นในทุกคืนตื่นเฝ้าค่ำคืนที่ท่านรักที่สุด ท่านในวัย 44 ปี ซึ่งกลับมามีสันติภายในวิญญาณอีกครั้ง หลังจากไม่นานก่อนหน้านี้พระเจ้าได้ทรงปล่อยให้ท่านได้เข้าสู่คืนมืดของวิญญาณดุจเดียวกับพระบุตรทรงได้รับในสวนเกทเสเมนีและห้วงสุดท้ายบนไม้กางเขน จึงถวายคืนวิญญาณไปหาพระเจ้าอย่างสงบ เป็นไปดังคำกล่าวเมื่อสองสามวันของท่าน ที่หลายคนไม่เข้าใจในวันวานแต่ต่างเข้าใจแล้วในวันนี้ว่า “13 เป็นวันดี”


พิธีปลงศพของท่านถูกจัดขึ้นในวันเดียวกันที่วัดพระนามกรเยซู โดยมีน้องชายของท่านเป็นประธานในพิธีมิสซา มีครอบครัว เพื่อน สมาชิกศูนย์นักศึกษาคริสตัง สมาชิกกลุ่มคากูอัส พระสงฆ์ นักบวชชายหญิง และสัตบุรุษคนอื่น ๆ ร่วมส่งท่านเป็นครั้งสุดท้าย และด้วยกลิ่นหอมความศักดิ์สิทธิ์ของท่านที่ยังคงติดตรึงในใจของคนรอบข้าง วันหนึ่งใน ค.ศ. 1981 เมื่อเพื่อนของท่านคนหนึ่งเกิดป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดร้ายแรง เธอและสามีที่ต่างเคยรู้จักท่านสมัยเรียนมหาวิทยาลัยและทราบว่าเสียด้วยโรคมะเร็ง จึงได้พร้อมใจสวดภาวนาวอนขอการรักษาจากพระเจ้า อาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน และปรากฏว่าอาการป่วยของเธอก็หายขาดอย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้นเพื่อนและผู้รู้จักท่านกลุ่มหนึ่งจึงได้ร่วมใจกันร้องขอให้มีการแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ เป็นผลให้กระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศีได้ถูกเริ่มขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1992 นับเป็นกรณีการขอแต่งตั้งฆราวาสเป็นนักบุญที่ส่งเสริมโดยกลุ่มฆราวาสเป็นครั้งแรกในปวยร์โตริโกและแคริเบียน

ภายหลังการสอบสวนจากทั้งทางสังฆมณฑลที่รับผิดชอบและสมณกระทรวงว่าด้วยการแต่งตั้งนักบุญ จึงได้มีการประกาศให้ท่านเป็นคารวียะใน ค.ศ. 1997 และเมื่ออัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่านที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1981 ได้รับการรับรองจากทางสมณกระทรวงว่าด้วยการแต่งตั้งนักบุญว่าเป็นอัศจรรย์อย่างแท้จริง จึงทำให้ในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2001 หรือ 37 หลังมรณกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของท่านและเพียง 8 ปีหลังเปิดกระบวนการของท่าน สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงได้ทรงบันทึกนามท่านไว้ในฐานะ ‘บุญราศี’ พร้อมข้ารับใช้พระเจ้าท่านอื่น ๆ ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร เป็นผลให้พระศาสนจักรแห่งปวยร์โตริโกต่างพากันชื่นชมยินดีที่ได้มีบุญราศีองค์แรกในประเทศ และนับเป็นอนาคตนักบุญองค์แรกแห่งปวยร์โตริโกซึ่งพระศาสนจักรแห่งปวยร์โตริโกยังคงเฝ้ารออย่างมีความหวัง ว่าวันใดพระศาสนจักรของพวกเขาจะรับพระพรนี้ ดุจเดียวกับพระศาสนจักรอื่น ๆ ในโลกใหม่

พิธีสถาปนาข้ารับใช้พระเจ้าการ์โลสเป็นบุญราศี

“พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (ลูกา 24 : 6) นี่คือถ้อยคำที่บุรุษสองคนที่ยืนอยู่ใกล้พระคูหาที่ว่างเปล่าบอกแก่กลุ่มสตรีที่เดินทางไปยังพระคูหาในเช้าวันต้นสัปดาห์ นี่คือเหตุการณ์ที่เราคริสตชนร่วมกันเฉลิมฉลองในทุกเทศกาลปัสกานั่นคือ การที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์ได้กลับคืนพระชนม์ชีพ เมื่อเป็นเช่นนี้ปัสกาจึงคือความหวัง คือการย้ำเตือนว่าเมื่อผ่านความทุกข์ยากแห่งกางเขน ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นการกลับคืนชีพในเช้าวันที่สามต่างหากที่เป็นจุดสิ้นสุด ปัสกาจึงเรียกร้องให้เราคริสตชนผู้กำลังเดินทางอยู่ในโลกให้มองไปยังจุดหมายปลายทางของชีวิตที่ไปไกลเกินสิ่งที่มนุษย์เห็นได้อย่างความตาย นั่นคือการกลับคืนชีพมีชีวิตนิรันดร์ และนี่เอง ‘คือปัสกาของการ์โลส มานูเอล’ นี่คือสิ่งที่ชีวิตของท่านบุญราศีการ์โลสได้กำลังส่งสารถึงเรา และเป็นเป้าหมายที่ทำให้ท่านได้ออกมาเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรมอย่างร้อนรน นั่นเพราะท่านตระหนักได้ว่าแกนกลางของพิธีกรรมคือการฉลองธรรมล้ำลึกเรื่องพระเยซูเจ้า ดังนั้นเมื่อมนุษย์ชิดสนิทและเข้าใจพิธีกรรม พวกเขาจึงสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าและสามารถผ่านความท้าทายในโลกไปได้

ในวันนี้ผ่านคำกล่าวที่ท่านบุญราศีกล่าวอยู่บ่อย ๆ และเป็นคำที่จารึกที่หลุมฝังศพของท่านในอาสนวิหารพระนามกรเยซูที่ว่า “พวกเรามีชีวิตอยู่เพื่อคืนนั้น” ท่านได้ส่งสารแห่งความหวังให้แก่พวกเราในการเดินทางบนโลกใบนี้ คืนนั้นที่ท่านกำลังบอกเราไม่ได้เพียงมีความหมายถึงการรอคอยเช้าวันสมโภชปัสกาในแต่ละปี แต่มีความหมายถึงการรอคอยเช้าวันที่เราจะได้กลับคืนชีพในพระคริสตเจ้าเพื่อมีชีวิตนิรันดร์ ขอให้เราได้เลียนแบบการนำชีวิตของเราไปวางทาบลงบนชีวิตของพระเยซูเจ้าอย่างที่ท่านบุญราศีได้ทำ เพื่อให้เราได้เข้าใจเช่นเดียวกับท่านว่าเมื่อผ่านความทุกข์ยากแห่งกางเขนบนโลก ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นการกลับคืนชีพในเช้าวันที่สามต่างหากที่เป็นจุดสิ้นสุด เราจึงจะมีความหวังที่จะอยู่จนถึงคืนนั้น โดยไม่หันหลังแล้วมุ่งกลับไปเอมมาอุสเหมือนศิษย์สองคน (ลูกา 24 : 13 - 35) ท้ายนี้จึงขอส่งความหวังแห่งปัสกาแก่ทุกคนได้อ่านบทความธรรมดาชิ้นนี้ ให้ชีวิตของผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งได้เป็นแรงบันดาลใจให้เรามีความหวังเสมอในทุกจังหวะของชีวิต ให้ความหมายของปัสกาที่สะท้อนผ่านชีวิตของท่านทำให้หัวใจของเราอบอุ่นขึ้นด้วยความหวัง และขอให้ความหวังของเราที่เกิดขึ้นจากธรรมล้ำลึกแห่งปัสกานี้แผ่ไปยังผู้คนรอบข้างผ่านทั้งการกระทำ คำพูด และคำภาวนา โดยเฉพาะผู้ที่กำลังพบคืนมืดของวิญญาณ อาแมน
รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
สัปดาห์ที่สามในเทศกาลปัสกา
ที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2024

“ข้าแต่ท่านบุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก 
ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
https://www.blackcatholicmessenger.com/carlos-manuel-rodriguez-feast-2022/
https://www.pmariamm.org/beatocarlos.html
https://www.stignatiusmobile.org/saint-of-the-month-blessed-carlos-manuel-rodriguez/
https://www.vatican.va/news_services/liturgy/saints/ns_lit_doc_20010429_rodriguez-santiago_en.html
https://es.zenit.org/2020/07/12/beato-carlos-manuel-rodriguez-santiago-13-de-julio-5/
https://es.eucharisticrevival.org/post/carlos-manuel-cecilio-a-eucharistic-life
http://www.savior.org/saints/santiago.htm
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Carlos_Manuel_Rodr%C3%ADguez_Santiago



คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนแรก

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก
Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago
วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โตริโก)

พระศาสนจักรคาทอลิกได้เริ่มลงหลักปักฐานในแผ่นดินที่มีนามว่า ‘ปวยร์โตริโก’ อย่างเป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ. 1508 เมื่อฆวน ปอนเซ เด เลออน กองกิสตาดอร์ (conquistador) หรือทหารและนักสำรวจชาวสเปนได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงบนแผ่นดินใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะฮิสปันโลยา (ปัจจุบันคือประเทศเฮติและประเทศโดมินิกัน) ที่เขาเป็นข้าหลวง และถูกขนานนามโดยโคลัมบัสผู้ค้นพบเกาะแห่งนี้ก่อนหน้านี้ว่า ‘ซาน ฆวน’ เพื่อเป็นเกียรติแก่นักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง โดยกษัตริย์เฟร์ดินานด์ที่ 2 แห่งอรากอน เพราะการมาถึงของเด เลออนยังดินแดนแห่งนี้ไม่เพียงนำกองทหารนักสำรวจ รวมถึงสถานภาพอาณานิคมสเปนเข้ามา แต่ยังได้นำคณะบาทหลวงเข้ามาตั้งอาณานิคมบนแผ่นดินนี้ด้วย นี่เองเป็นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศคริสต์ศาสนากับชาวตาอิโน ชนพื้นเมืองในดินแดนซาน ฆวน จนนำไปสู่การกลับใจของชาวตาอิโนและการตั้งสังฆมณฑลคาปาร์ราขึ้นเป็นสังฆมณฑลแรก ใน ค.ศ. 1511

410 ปีต่อมาหลังการมาถึงของคริสต์ศาสนาในปวยร์โตริโก เด็กชายผู้หนึ่งจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในพระศาสนจักรแห่งนี้ และได้กลายมาเป็นเกียรติภูมิแห่งปวยร์โตริโก ในฐานะบุคคลที่พระศาสนจักรได้ยกไว้บนพระแท่นบูชาในท่ามกลางบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เป็นดังศักดิ์ศรีของปวยร์โตริโกเช่นเดียวกับท่านนักบุญโรซา ชาวลิมา เป็นศักดิ์ศรีของชาวเปรู แม้ในวันนี้กระบวนการขอแต่งตั้งนักบุญ ซึ่งเป็นผลอันรุ่งโรจน์ของพระศาสนจักรแห่งนี้จะยังคงค้างอยู่ในขั้นของการเป็น ‘บุญราศี’ แต่พระศาสนจักรปวยร์โตริโกก็ยังคงมีความหวังที่ผลผลิตแห่งหยาดเหงื่อแรงกายของบรรดาธรรมทูตที่สั่งสมมากกว่าสี่ร้อยปีผู้นี้จะได้กลายเป็น ‘นักบุญ’ องค์แรกของปวยร์โตริโก และเป็นนักบุญอีกองค์ในพื้นที่โลกใหม่ร่วมกับบรรดาพรรณพฤกษาจำนวนหนึ่งที่งอกเงยบนแผ่นดินนี้ ซึ่งพระศาสนจักรได้ยกไว้ในฐานะนักบุญ ไม่ว่าจะเป็นนักบุญคาเทรี เทคาควิทาจากสหรัฐอเมริกา นักบุญเทเรซา แห่ง แอนดีสจากชิลี นักบุญมาร์ติน เด ปอร์เรสและนักบุญโรซา แห่ง ลิมาจากเปรู นักบุญมารีอานา แห่ง พระเยซูเจ้าจากเอกวาดอร์ เป็นต้น

วัดพระนามกรเยซู คากูอัส ปัจจุบันเป็นอาสนวิหาร

410 ปีหลังการมาถึงของพระสงฆ์คาทอลิกกลุ่มแรก ในวันธรรมดาไม่ได้พิเศษอะไรที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ครอบครัวคริสตังใจศรัทธาซึ่งเกิดจากสองสามีภรรยาผู้มาจากครอบครัวคริสตังขนาดใหญ่ทั้งสองฝั่งของนายมานูเอล เบาดิลีโอ โรดริเกซ และนางเอร์มีเนีย ซันติอาโก เอสเตรัส ซึ่งเปิดร้านค้าเล็ก ๆ อยู่ในเมืองคากูอัส ประเทศปวยร์โตริโก ได้ต้อนรับบุตรคนที่สองจากห้าคนของครอบครัว บุตรชายคนนี้เมื่อแรกเกิดไม่ได้มีเครื่องหมายพิเศษประการใดจากสวรรค์ ที่แสดงว่าในวันข้างหน้าบุตรผู้ที่ทั้งสองให้กำเนิดนี้จะกลายมาเป็น ‘ศักดิ์ศรีของปวยร์โตริโก’ อย่างเรื่องราวของนักบุญหลาย ๆ องค์ที่หลายคนอาจคุ้นเคย แต่โดยหนทางแห่งสวรรค์พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมสภาพแวดล้อมแห่งความเชื่อ คือ หน่วยย่อยที่สุดอย่าง ‘ครอบครัว’ ไว้หล่อหลอมเด็กชายผู้นี้ให้เติบโตขึ้นไม่เพียงแต่ทางด้านร่างกาย แต่ยังด้านวิญญาณ

เมื่อทารกมีอายุได้ประมาณห้าเดือน สองสามีภรรยาจึงได้นำสมาชิกใหม่ของครอบครัวไปรับศีลล้างบาปที่วัดพระนามกรพระเยซู เมืองคากูอัส และตั้งนามว่า ‘การ์โลส มานูเอล’ ในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 ทั้งสองเฝ้าเลี้ยงดูบุตรชายผู้นี้จนมีอายุได้ประมาณ 6 ปี ครอบครัวเล็ก ๆ นี้ก็ต้องประสบกับสถานการณ์ยากลำบากครั้งใหญ่ เมื่อไฟได้ลุกไหม้บ้านและร้านของครอบครัวจนไม่เหลือซาก เป็นเหตุให้นายมานูเอลและนางเอร์มีเนียจำต้องย้ายไปอยู่ที่บ้านพ่อแม่ของนางเอร์มีเนีย นี่เองทำให้ ด.ช. การ์โลส มานูเอล ได้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมแห่งความเชื่อมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมีคุณยายอเลฮานดรินา เอสเตรัส เป็นแบบอย่างคริสตังใจศรัทธาร่วมกับบิดามารดาของท่าน คุณยายผู้นี้ไม่เพียงเป็นตัวอย่างในด้านความเชื่อ แต่เธอยังคอยสนับสนุนหลาน ๆ ของเธอให้ติดตามน้ำพระทัยของพระเจ้าตามกระแสเรียกของตัวเอง สภาพแวดล้อมเช่นนี้เมื่อกอปรกับแบบฉบับของนายมานูเอล ผู้มีความหวัง มองโลกในแง่ดี และความเชื่อเสมอแม้ในวันที่เขาต้องสูญเสียทุกสิ่งไปกับกองเพลิง และนางเอร์มีเนีย ผู้มีนิสัยเจียมเนื้อเจียมตัวเพราะตนต้องจากบ้านมาอยู่กับบ้านของสามีในช่วงแรก ในเวลาเดียวกันก็เป็นคริสตังผู้พบความสุขสันติผ่านความเชื่อ ผู้หล่อเลี้ยงชีวิตประจำวันด้วยศีลมหาสนิท คือ สภาพแวดล้อมสำคัญเอื้อให้วิญญาณดวงน้อย ๆ ของท่านเติบโตขึ้นในความเชื่อไปพร้อม ๆ กับร่างกาย

บุญราศีการ์โลสขณะเรียนที่โรงเรียนคาทอลิกนอเทร์ ดาม

สถานที่ต่อมาที่มีผลต่อการหล่อหลอมวิญญาณของท่านให้เติบโตขึ้นต่อจากครอบครัว คือ ‘โรงเรียน’ จากประวัติของท่านเราทราบว่า ในปีเดียวกันกับที่ครอบครัวของท่านประสบกับเหตุวิปโยคครั้งใหญ่ ท่านได้ถูกส่งเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนคาทอลิกนอเทร์ ดาม ซึ่งอยู่ติดกับวัดพระนามกรพระเยซู เมืองคากูอัส ที่นี่ภายใต้การบริหารของคณะภคินีโรงเรียนแห่งนอเทร์ ดาม พร้อมทั้งพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ ผู้ได้เชิญนักบวชหญิงคณะดังกล่าวมาเปิดโรงเรียนในเขตวัดได้มีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนความเข็มแข็งให้กับความเชื่อของท่าน พร้อมกับความรู้วิชาทางโลก และดูเหมือนว่าภายใต้การดูแลของคณะนักบวชหญิงกลุ่มนี้คงจะมีอิทธิพลตราตรึงในหัวใจของท่านไม่น้อย เพราะตลอดชีวิต ท่านยังคงมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคณะนักบวชหญิงนี้ตลอด ท่านศึกษาอยู่ที่นี่จนถึงชั้น ม. 2 ใน ค.ศ. 1932 ท่านจึงจบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ด้วยคะแนนเป็นที่หนึ่งในรุ่น พร้อมได้รับรางวัลด้านคำสอน และย้ายไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโกติเอร์ เบนิเตซ ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลในเมืองคากูอัส

นอกจากหน่วยย่อยอย่างครอบครัวและโรงเรียนแล้ว หน่วยสำคัญอีกประการที่มีส่วนในการหล่อหลอมวิญญาณของท่าน และดูจะเป็นหน่วยสำคัญที่มีส่วนในการก่อร่างสร้าง ‘กระแสเรียก’ สำหรับชีวิตในวันข้างหน้าของท่าน หน่วยนั้นก็คือ ‘วัด’ เมื่อท่านได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกที่วัดดูเหมือนว่านี่จะเป็นจุดสำคัญที่ได้ทวีความเชื่อและความรักที่ท่านมีต่อพระเจ้าให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ท่านเริ่มอาสาเป็นเด็กช่วยมิสซาอย่างร้อนรนอยู่บ่อยครั้ง การขันอาสาเช่นนี้ทำให้ท่านได้มีโอกาสใกล้ชิดพิธีกรรม ซึ่งเป็นมรดกที่สืบทอดมาอย่างยาวนานในพระศาสนจักร ที่ละเล็กละน้อยอาศัยความใกล้ชิดนี้ ดูเหมือนว่านี่จะเป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้ท่านพบกระแสเรียกในชีวิตภายหน้าของท่าน เป็นไปได้ว่าประสบการณ์ภายในวัดในฐานะผู้ช่วยพิธีกรรมธรรมดา ๆ นี้ได้ค่อย ๆ หล่อหลอมให้ท่านพบประสบการณ์ทางความเชื่อ ซึ่งทีละเล็กละน้อยนำไปสู่ความปรารถนาที่จะแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ออกไปให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ นี่อาจเป็นพื้นฐานที่ทำให้ความคิดที่จะเป็นพระสงฆ์และนักบวชค่อย ๆ เป็นรูปร่างขึ้นในความคิดของท่าน แต่ในขณะความคิดดังกล่าวกำลังสุกงอมตามวัย ความคิดดังกล่าวก็ต้องเปลี่ยนไป ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนคาทอลิกนอเทร์ ดาม ไปสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโกติเอร์ เบนิเตซ


บ่ายวันหนึ่งสุนัขป่าของเพื่อนบ้านได้หลุดเข้ามาทำร้ายหลานชายวัยหนึ่งปีของท่าน มันได้กัดเข้าที่หลังคอหลานชายของท่านจนได้รับบาดเจ็บ ท่านในวัยได้ 13 ปีที่เห็นเหตุการณ์จึงได้ปรี่เข้าไปปกป้องหลานชายอย่างกล้าหาญ ผลปรากฏว่าหลังจากการต่อสู้ดังกล่าว ท่านจึงเริ่มมีอาการลำไส้ใหญ่เป็นแผลบวม เป็นผลให้ท่านที่พึ่งเริ่มเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำต้องพักการเรียนอยู่ระยะหนึ่ง เพราะอาการป่วยดังกล่าวสร้างความเจ็บปวดให้ท่านเป็นอันมาก และแม้ในเวลาต่อมาอาการดังกล่าวจะทุเลาลงจนทำให้ท่านสามารถกลับมาเรียนได้ แต่สุขภาพของท่านก็ไม่ได้กลับมาเต็มร้อยดังเดิม อาการของโรคดังกล่าวยังคงแสดงผลเป็นระยะ ๆ เป็นผลให้ความฝันที่จะเป็นพระสงฆ์หรือนักบวชต้องมีอันพับไป ดังนั้นเมื่ออาการของท่านดีขึ้นท่านกลับมาศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโกติเอร์ เบนิเตซ กระทั่งถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ท่านจึงย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนแม่พระนิจจานุเคราะห์ เมืองซานฮวน นี่จึงเป็นโอกาสที่ท่านได้กลับมารับการศึกษาภายใต้คณะภคินีโรงเรียนแห่งนอเทร์ ดาม และพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่อีกครั้ง ใน ค.ศ 1934 แต่แล้วเพียงสามปีที่ท่านย้ายมาเรียน ปัญหาด้านสุขภาพจากระบบย่อยอาหารที่ไม่แข็งแรงก็ทำให้ท่านไม่สามารถศึกษาต่อที่โรงเรียนแห่งนี้จนจบชั้นมัธยมศึกษาต่อปลายได้ และจำต้องกลับมาเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเดิมที่เมืองคากูอัส จนจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาใน ค.ศ. 1939 ในสายการเรียนเลขานุการบริษัท ด้วยคะแนนเกียรตินิยม

ด้วยการอบรมจากหน่วยต่าง ๆ ในสังคมคริสตังทำให้ท่านเติบโตมาเป็นชายหนุ่มขี้อายที่เรียนรู้ที่จะรักผู้อื่นเหมือนพี่น้อง มีความสุขุม ความเพียร ความมุมานะ และความอดทนโดยเฉพาะต่อความทุกข์ยาก ท่านเรียนรู้ที่จะหล่อเลี้ยงวิญญาณด้วยการเจริญชีวิตชิดสนิทกับพระเจ้า ผ่านการภาวนาการรำพึง การรับศีลศักดิ์สิทธิ์ การไตร่ตรองพระวาจาของพระเจ้า การสวดทำวัตร การฝึกจิตเข้าเงียบ การสวดสายประคำ การตื่นเฝ้า การอ่านหนังสือฝ่ายจิต การทำพลีกรรม การอดอาหาร และการทรมานตนเอง ซึ่งทำให้วิญญาณของท่านเข็มแข็งยิ่งเสียกว่าร่างกายที่เจ็บออด ๆ แอด ๆ นอกจากนี้ท่านยังเป็นชายหนุ่มที่รักในธรรมชาติ ตั้งแต่ยังเยาว์วัยท่านชอบใช้เวลาวันหยุดในช่วงฤดูร้อนในชนบทของปวยร์โตริโก บางคราวท่านกับพี่น้องก็ชอบพากันไปแม่น้ำหรือทะเลแบบไปเช้าเย็นกลับ และในวัยเป็นผู้ใหญ่ท่านก็มักจัดทริปเดินป่าง่าย ๆ ในชนบทกับครอบครัว เป็นการออกทริปแบบไม่รีบเร่งเพื่อชื่นชมสิ่งสร้างของพระเจ้า นี่เองคือบุคคลที่พระเจ้าได้ทรงเตรียมไว้เป็น ‘ศักดิ์ศรีแห่งปวยร์โตริโก’ ชายหนุ่มธรรมดา ๆ ที่มีความเชื่อซึ่งต่อมาได้เริ่มงานเป็นเสมียนตามห้างร้านและองค์กรต่าง ๆ


ระหว่างกลับมาเรียนต่อที่เมืองคากูอัสนี้เอง ท่านได้เริ่มทำงานพาร์ทไทม์เป็นเสมียนหรือพนักงานนั่งโต๊ะที่ท่าเรืออูมาเกา และเมื่อท่านสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมอย่างสมบูรณ์ขณะอายุประมาณ 20 ปี ท่านจึงได้เข้าทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานเกษตร เมืองคากูอัส ท่านทำงานอยู่ที่นี่จนถึง ค.ศ. 1942 ท่านจึงย้ายมาทำงานที่ส่วนของร้านสหกรณ์กูราโบ ซึ่งจำหน่ายสินค้าให้กับบุคลากรภายในสถานีตำรวจ ก่อนที่ใน ค.ศ. 1946 ด้วยวัยประมาณ 25 ปี ท่านจึงได้ลาออกจากงานดังกล่าว เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยปวยร์โตริโก เมืองริโอเปียดรัส ที่นั่นแม้ท่านจะผลการเรียนที่ดีในปีแรกและมีใจรักการเรียนมากเพียงไหน อาการป่วยเรื้อรังของท่านก็ทำให้ท่านจำต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยในระหว่างการเรียนปีสอง ท่านจึงเบนชีวิตกลับมามุ่งมั่นในการทำงานเป็นเสมียนเหมือนเดิม โดยเริ่มจากการเป็นเสมียนที่บริษัทปวยร์โตริโกภาคีน้ำตาลตะวันออก ที่เมืองเซยบา ใน ค.ศ. 1948 ท่านทำงานอยู่ที่นี่จนถึง ค.ศ. 1951 หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1952 ท่านจึงย้ายมาทำงานที่สถานีทดลองเกษตรของมหาวิทยาลัยปวยร์โตริโก เมืองริโอเปียดรัส และทำงานอยู่ที่นั่นถึง ค.ศ. 1960

กระนั้นก็ตามแม้ชีวิตของท่านจะต้องเบนเข็นออกจากการศึกษาในระบบมาสู่การทำงานอย่างเต็มรูปแบบในบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ท่านก็ยังคงมีใจใฝ่ขวนขวายความรู้จากการอ่านหนังสือประเภทต่าง ๆ ท่านอ่านหนังสือหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับศิลปะ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา เทววิทยา พิธีกรรม พระคัมภีร์ ชีวิตฝ่ายจิต ประวัติศาสตร์พระศาสนจักร ชีวประวัตินักบุญ พระสมณสาส์นพระสันตะปาปา (ท่านทราบตลอดว่าในช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่พระสันตะปาปาทรงออกพระสมณสาส์นใดบ้าง) วรรณกรรมอังกฤษและสเปน เรื่อยไปจนถึงงานประเภทสังคมศาสตร์ รวมถึงฝึกอ่านภาษาอื่น ๆ นอกจากภาษาสเปน ได้แก่ ภาษาละติน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ท่านมีห้องสมุดเล็ก ๆ ส่วนตัวที่รวบรวมองค์ความรู้อันมีค่าเหล่านี้ไว้หล่อเลี้ยงชีวิต และไม่เคยหวงห้ามมิให้ใครมาใช้หนังสือเหล่านี้ ตรงกันข้ามท่านพร้อมจะให้หยิบยืมเรื่อยไปถึงยกหนังสือบางเล่มให้กับผู้ต้องการอย่างไม่คิดอะไร คุณพ่อโฮเซ โมเดสโต น้องชายของท่านนิยามถึงท่านตอนหนึ่งว่า ท่านเป็นสารานุกรมเดินได้และอัครสาวกของการอ่านหนังสือโดยประจักษ์แจ้ง ดังนั้นโลกทัศน์ของท่านจึงกว้างไกลและได้เห็นว่าในพระศาสนจักรกำลังมีกระแสของการเคลื่อนไหวหนึ่ง นี่เองทำให้ท่านเข้าใจกระแสเรียกในฐานะ ‘ฆราวาส’ ของท่านอย่างแจ่มชัดขึ้น

พระสมณสาส์นคนกลางของพระเจ้า (Mediator Dei) 
ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12

ในบริบททางประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกก่อนการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 จะพบว่าตั้งแต่ศวตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาได้เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญในเรื่องพิธีกรรม (Liturgical Movement) ที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่มุ่งสนับสนุนให้สัตบุรุษไม่เพียงเป็น ‘ผู้ร่วม’ แต่เป็น ‘ผู้ร่วมทำ’ ในพิธีกรรมไปพร้อมกับบรรดาพระสงฆ์ หรืออาจกล่าวได้อีกว่า กระแสของความเคลื่อนไหวนี้มุ่งสนับสนุนให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมในพิธีกรรมของพระศาสนจักรอย่างกระตือรือร้น และมุ่งสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับบรรดาสัตบุรุษและนักบวชถึงหน้าที่ของตนในพิธีกรรม ซึ่งความพยายามเช่นนี้เกิดจากความต้องการปรับปรุงจารีตพิธีกรรมในเวลานั้นให้สอดคล้องกับธรรมประเพณีในยุคแรก และความเป็นคริสตชนสมัยใหม่ ผ่านการย้อนกลับไปศึกษาพระคัมภีร์ ข้อเขียนบรรดาปิตาจารย์ งานโบราคดีคริสตศาสนา งานวรรณกรรมและข้อเขียนเรื่องพิธีกรรมของคริสตศาสนาในยุคแรก และนำมาปรับปรุงให้เหมาะกับโลกในเวลานั้น โดยเริ่มจากบริเวณฝรั่งเศส เบลเยียม และเยอรมันในศตวรรษที่ 19 ก่อนที่ในศตวรรษต่อมา กระแสดังกล่าวจึงแพร่ขยายไปยังฮอลแลนด์ อิตาลี อังกฤษ และอเมริกา

โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 20 จะพบว่าส่วนของสันตะสำนักเองก็มีความเคลื่อนไหวดังกล่าว ดังปรากฏการสอนของพระศาสนจักร (Magisterium) ที่สอดคล้องไปกระแสดังกล่าว ตัวอย่างเช่น พระสมณลขิตอัตตาณัติเพลงศักดิ์สิทธิ์ (Motu Proprio Tra le sollecitudini) ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ที่ออกในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1903 พระสมณสาส์นคนกลางของพระเจ้า (Mediator Dei) ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ที่ชี้ให้คริสตชนต้องให้ความสำคัญกับพิธีกรรมและความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในพิธีกรรมเหล่านี้ ที่ออกในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 การอนุญาตให้มีการใช้ภาษาท้องถิ่นในบางส่วนของพิธีมิสซาที่เริ่มมีในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 เรื่อยมาถึงสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 การปรับปรุงรูปแบบพิธีกรรมตรีวารปัสกาในทศวรรษ 1950 ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 รวมถึงการอนุญาตให้สัตบุรุษสามารถอ่านบทพระวรสารในภาษาท้องถิ่นของตนขณะที่การอ่านบทพระวรสารในภาษาละตินอย่างเงียบ ๆ และการใช้ภาษาถิ่นในการอภิบาลในบางกรณี (ยกเว้นพิธีมิสซา) รวมถึงในเพลงศักดิ์สิทธิ์ได้ในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12

พระสมณลขิตอัตตาณัติเพลงศักดิ์สิทธิ์
ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10

แต่หนึ่งในคำสอนพระศาสนจักรในช่วงเวลาเหล่านี้ที่มีความสำคัญต่อกระแสความเคลื่อนไหวมากที่สุด คือ การออกพระสมณลขิตอัตตาณัติเพลงศักดิ์สิทธิ์ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ซึ่งในบริบทที่เอกสารชุดนี้เผยแพร่ออกมา สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ทรงปรารถนาฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพระเจ้าเพื่อโต้ตอบกับความเป็นสมัยใหม่และความเป็นฆราวาสนิยมในต้นศวตรรษที่ 20 โดยทรงพุ่งความสนพระทัยไปยังพิธีกรรม จึงทรงมีความพยายามจัดการพิธีกรรมให้เหมาะสม ดังนั้นพระสมณลขิตอัตตาณัตินี้จึงกล่าวถึงการจัดเตรียมวัดให้เป็นสถานที่เหมาะสมในมิติของความศักดิ์สิทธิ์สมศักดิ์ศรีสำหรับการเป็นแหล่งที่มาของจิตวิญญาณคริสตชนแท้ สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ได้ทรงอธิบายว่าวัดเป็นสถานที่ที่บรรดาสัตบุรุษมาชุมนุมกันด้วยเหตุผลเดียว คือ การได้รับจิตวิญญาณการเป็นคริสตชน จากแหล่งสำคัญและขาดไม่ได้มากที่สุด “ซึ่งคือการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นทั้งในธรรมล้ำลึกอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งและในคำภาวนาอันเป็นสาธารณะและศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร” แม้ในบริบทของเอกสารชุดนี้ พระองค์ดูจะทรงมุ่งไปที่การใช้เพลงในพิธีที่เสนอให้สัตบุรุษไม่เพียงเป็นผู้ร้องเพลงในมิสซา แต่เป็นผู้ร้องเพลงร่วมในมิสซา แต่ถ้อยคำและข้อเรียกร้องดังกล่าวนั่นคือ ‘การมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น’ (active participation) ได้กลายมาเป็นหัวใจสำคัญของกระแสความเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรม ที่ได้ขยายขอบเขตของการอธิบายการมีส่วนร่วมนี้ไปเกินกว่าขอบเขตของบทเพลงศักดิ์สิทธิ์

ภายใต้บริบทเช่นนี้เองด้วยอิทธิพลจากคำสอนของพระศาสนจักร (Magisterium) และงานเขียนที่ถูกผลิตขึ้นภายใต้กระแสดังกล่าวจำนวนมากที่ได้ผ่านตาของท่าน เมื่อผสานกับประสบการณ์ระหว่างท่านกับพระเจ้าที่ท่านได้รับผ่านการเป็นเด็กช่วยมิสซา และความปรารถนาจะรับใช้พระองค์ ท่านจึงสามารถตกผลึกความคิดถึง ‘กระแสเรียก’ ในชีวิตของท่าน ที่อยู่ในกระแสของความเคลื่อนไหวนี้ แต่หากจะกล่าวว่าอาศัยกระแสความเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรมอย่างเดียวที่มีผลทำให้ท่านลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งก็คงจะไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะแท้จริงหน่วยเล็กที่สุดอย่างครอบครัวได้เป็นสถานที่แรกที่บ่มเพาะประสบการณ์ด้านพิธีกรรมให้ท่าน เพราะในครอบครัวของท่านให้ความสำคัญกับวันพิเศษของคนในครอบครัวและวันสำคัญตามปฏิทินพิธีกรรม ในวาระเหล่านั้นครอบครัวของท่านจะประดับประดาบ้านด้วยของตกแต่งตามวาระ จะมีบทภาวนาพิเศษในมื้ออาหาร มีบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ มีรูปภาพ มีนพวาร หรือแม้แต่วิธีแต่งกายที่แสดงถึงความพิเศษกว่าปกติ ดังนั้นตั้งแต่เล็ก ๆ ท่านจึงให้ความสำคัญกับพิธีกรรมมาอยู่ก่อนแล้ว ดังที่ตั้งแต่ก่อนจะเป็นวัยรุ่น ท่านไม่เพียงเอาใจใส่สุขภาพกายและสุขภาพจิตของพี่น้อง แต่ยังคอยเอาใจใส่สุขภาพวิญญาณของพวกเขาด้วยการคอยกระตุ้นให้พี่น้องของท่านมีความร้อนรนในการปฏิบัติตามวันเวลาของพิธีกรรม ท่านสอนให้พวกเขารู้จักที่จะดำเนินชีวิตตามวันเวลาของพิธีกรรม เพราะนี่คือการได้พบกับพระเยซูเจ้าและธรรมล้ำลึกแห่งความรอด ให้หมั่นสวดทำวัตร ไปมิสซาเพื่อเจริญชีวิตในศีลมหาสนิท และตระหนักรักในธรรมล้ำลึกแห่งปัสกา ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นในกระแสเรียกของท่าน คือ การเชื่อมระหว่างประสบการณ์ส่วนตัวและสถานการณ์ของพระศาสนจักร

บุญราศีการ์โลสขณะเป็นเด็กช่วยมิสซาถือไม้กางเขน

เราอาจกล่าวได้ว่าท่านตระหนักถึง ‘ความเป็นปัจจุบัน’ ของคริสต์ศาสนา ในความหมายถึงการสืบเนื่องภารกิจต่อมาจากการเสด็จมาครั้งแรกของพระคริสตเจ้า ซึ่งมิได้มีจุดจบที่การเสด็จสู่สวรรค์เมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา แต่คือการเสด็จกลับมาครั้งที่ 2 ในอนาคต ดังนั้นท่านจึงนิยามคริสต์ศาสนาว่าเป็น ‘กิจการ’ ที่ยังคงดำเนินไปใน ตามที่ท่านเขียนว่า “คริสต์ศาสนาไม่ใช่เพียงการสั่งสมหลักคำสอนและหลักศีลธรรม แต่เป็นกิจการ ไม่ใช่ในอดีต แต่เป็นในปัจจุบันขณะ เป็นกิจการที่รื้อฟื้นอดีตและสร้างความหวังในอนาคต เป็นกิจการที่แสนยิ่งใหญ่และใหญ่ยิ่งซึ่งรวมมนุษย์เข้าไว้กับพระเจ้าโดยมีพระคริสตเจ้าเป็นคนกลาง กิจการนั้นเริ่มด้วยการเสด็จมาครั้งแรกของพระคริสตเจ้าและจะสิ้นสุดลงด้วยการเสด็จมาครั้งสุดท้ายของพระองค์หรือปารูเซีย”

ดังนั้นเมื่อคริสต์ศาสนามีภาวะเป็นปัจจุบัน คริสตชนผู้นับถือศาสนาคริสต์จำต้องมีส่วนร่วม และสิ่งที่ทำให้คริสตชนมีส่วนร่วมนั่นก็คือ ‘พิธีกรรม’ ดังที่ท่านเขียนว่า “พระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นมนุษย์แท้และพระเจ้าแท้ ทรงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมอันสูงส่ง พระองค์ทรงเป็นมหาสมณะของมนุษยชาติ ได้ทรงถวายเครื่องบูชาของพระองค์เองบนไม้กางเขน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพระองค์ แต่เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ แต่นี่เป็นงานที่ต้องการการรวมใจและความร่วมมือของประชากร…” ในหนังสือความเชื่อและชีวิต: พิธีกรรม พื้นฐานชีวิตคริสตัง ท่านเขียนว่า “คำว่าพิธีกรรมจึงมีความหมายเป็นสองเท่า ความหมายหลักคือพันธกิจในการไถ่กู้ที่กระทำโดยองค์พระผู้เป็นเจ้าตามลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์ และเวลานี้ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในศีลบวชหรือธรรมล้ำลึกในมิสซา ศีลศักดิ์สิทธิ์ และการสวดทำวัตร บัดนี้กิจการของพระคริสตเจ้าก็เป็นกิจการของพวกเราเช่นเดียวกัน เพราะพวกเรา ซึ่งเป็นสมาชิกในพระวรกายอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ก็เป็นร่วมกระทำสิ่งเหล่านี้กับพระองค์” และ “ธรรมล้ำลึกเป็นกิจการอันศักดิ์สิทธิ์และจารีตพิธีกรรมถูกทำให้เป็นจริงผ่านพิธีกรรม เป็นความจริงแห่งความรอด ชุมชนที่ปฏิบัติตามจารีตภายใต้พิธีกรรมนี้ ก็ได้กลายเป็นผู้มีส่วนในกิจการความรอด และรอดพ้นโดยความรอด … พระศาสนจักรไม่อาจจะธำรงอยู่ได้โดยปราศจากธรรมล้ำลึกแห่งจารีตพิธีกรรม … พิธีกรรมแห่งธรรมล้ำลึกเป็นศูนย์กลางที่ยืนยันได้และเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับคริสตศาสนา”

ภาพกระจกสีรูปพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
ที่ตำแหน่งอ่างล้างบาปเดิม วัดพระนามกรเยซู

นอกจากนี้ด้วยมุมมองต่อความหมายของการเป็นคริสตชนของท่าน ว่าศักดิ์ศรีของความเป็นบุตรของพระเจ้าเกิดขึ้นผ่านพระหรรษทานที่มนุษย์ได้รับเมื่อรับศีลล้างบาป ดังนั้นคริสตชนจึงไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากพระหรรษทาน ดังที่ท่านเขียนถึงเพื่อนชื่อ มาโนลิน ว่า “สิ่งที่ทำให้ใครคนหนึ่งเป็นคริสตชนไม่มีอะไรนอกเหนือสายสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานให้อย่างเสรีผ่านทางพระหรรษทานที่ได้รับในศีลล้างบาป คริสตชนคือผู้ที่ได้ต่อกิ่งเข้ากับพระคริสตเจ้าโดยทางพระหรรษทานเท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดใหม่อีกครั้งเพื่อเป็นสิ่งสร้างใหม่ และนี่ความรู้สึกที่แท้จริง แม้ว่าจะดูน่าพิศวง นี่ไม่ใช่การเปรียบเทียบ การกวี หรือจิตวิทยา จงทำมากกว่าเพียง ‘เคารพยำเกรงพระคริสตเจ้าและแก้ไขความประพฤติของตนตามคำสอนอันดีและแบบฉบับขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา’ ‘ไม่มีใครเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า ถ้าเขาไม่เกิดจากน้ำและพระจิตเจ้า’ ‘สิ่งใดที่เกิดจากเนื้อหนังย่อมเป็นเนื้อหนัง สิ่งใดที่เกิดจากพระจิตเจ้า ย่อมเป็นจิต’ (ยอห์น 3 : 5 - 6) ”

กระนั้นก็ตามความเป็นคริสตชนไม่เพียงเกิดขึ้นจากพระหรรษทานที่พระเจ้าทรงให้เปล่าผ่านทางศีลล้างบาปเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นจากการที่บุคคลผู้การรับศีลล้างบาปตอบรับพระหรรษทาน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คริสตชนจะต้องตอบรับพระหรรษทาน และโดยการตอบรับนี้เองพระหรรษทานจึงเข้าไปทำงานที่ภายในวิญญาณ และทำให้วิญญาณสามารถจำลองแบบคริสตเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ ดังที่ท่านอธิบายว่า “จริงอยู่ที่คริสตชนต้องเคารพยำเกรงพระคริสตเจ้าและแก้ไขความประพฤติของตนตามคำสอนและแบบฉบับของพระองค์ แต่คริสตชนล้วนเกิดขึ้นจากธรรมชาติและมีความสำคัญผ่านชีวิตใหม่ที่ได้รับจากศีลล้างบาป แน่ทีเดียวว่าสิ่งนี้มิได้เกิดขึ้นเองหรือมีกลไก คุณจำเป็นต้องร่วมมือกับพระหรรษทาน ไร้พระหรรษทานก็ไม่มีสิ่งใด ดังที่นักบุญเปาโลบอกกับพวกเราว่า พระหรรษทานเป็นผู้ให้ความปรารถนาและความสามารถที่จะทำงาน พระหรรษทานไม่ได้พรากอิสระ เพื่อที่เราจะสามารถปฏิเสธไม่รับได้ และดังนี้เองจึงสมควรที่เราจะตอบรับ เราจำต้องใช้ความเพียรพยายาม แต่เป็นในทำนองของการร่วมมือ และความเพียรเช่นนี้ได้รับการดูแลโดยพระหรรษทาน การจำลองแบบและการยำเกรงพระคริสตเจ้าโดยไร้ซึ่งพระหรรษทานไม่ทำให้เราเป็นคริสตชน จำต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในโดยพระหรรษทาน ซึ่งคือการเปลี่ยนผ่านและการบรรลุถึงการเป็นคริสตชน ไม่ใช่ทางจิตวิทยาโดยความพยายามของเรา แต่ในทางภววิทยาโดยพระหรรษทาน เป็นการกระทำของพระคริสตเจ้าในตัวเรา แน่นอนสิ่งนี้ต้องอาศัยความนบนอบ ความร่วมมือ และความเพียรพยายามส่วนตัวของเรา แต่ทั้งหมดทั้งมวลหากไร้ซึ่งพระหรรษทาน มันก็ไม่มีค่าอันใด”


ดังนั้นอาศัยพระหรรษทานเท่านั้นที่จะทำให้บุคคลหนึ่งเป็น ‘ผู้ที่ได้ต่อกิ่งเข้ากับพระคริสตเจ้า’ ท่านอธิบายเพิ่มว่า “ชีวิตคริสตังไม่ได้ประกอบขึ้นจากการเลียนแบบภายนอกและทำงานหนักตามอย่างพระคริสตเจ้า … (คริสตัง) คือ การแทรกชีวิตของพระเข้าไปในตัวของเรา … การเป็นคริสตังคือการเป็นพระคริสตเจ้าอีกองค์ คือการสวมพระคริสตเจ้า นี่หมายความว่าพระคริสตเจ้าทรงพระชนม์ชีพและดำรงอยู่ในตัวของพวกเราอย่างแท้จริงผ่านทางพระหรรษทาน คำสอนเรื่องพระหรรษทานคือสะสารเดียวและแก่นแท้ของชีวิตฝ่ายจิต หากไม่มีของประทานจากสวรรค์ชิ้นนี้ เราก็ไม่มีส่วนกับพระคริสตเจ้า” และ “โดยทั่วไปผู้คนมักคิดว่าคริสตชนคือบุคคลที่เคารพยำเกรงพระคริสตเจ้าและแก้ไขความประพฤติของตนให้สอดคล้องกับคำสอนและพระแบบฉบับขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา หลายต่อหลายครั้งผู้คนมักคิดว่าชีวิตคริสตังคือการดำเนินชีวิตอย่างกระตือรือร้นในครอบครัว สังคม และศาสนาคริสตัง สิ่งนี้ช่างอยู่ไกลจากความจริงแท้ยิ่ง (…) ชีวิตคริสตังไม่ได้เพียงประกอบขึ้นจากจากการเลียนแบบภายนอกและทำงานหนักตามอย่างพระคริสตเจ้า หรือการปฏิบัติศาสนกิจที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน คริสตศาสนาตามความเห็นของท่านฟูลตัน ชีน คือ ชีววิญญาณ (biología espiritual) คือการแทรกชีวิตของพระเข้าไปในตัวของเรา ‘เรามา เพื่อให้แกะมีชีวิต และมีชีวิตอย่างสมบูรณ์’ (ยอห์น 10 : 10) ” จากข้ออธิบายเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า นิยามความหมายของการต่อกิ่งที่ท่านชี้ให้มาโนลินเห็น ไม่ใช่เรื่องภายนอกแต่เป็นเรื่องภายใน ที่ก้าวพ้นไปกว่าความสามารถของวิญญาณ จึงจำเป็นยิ่งที่วิญญาณจะต้องรับพระหรรษทานเพื่อบรรลุถึงสิ่งนี้ แล้วที่ใดเล่าที่จะเป็นแหล่งพระหรรษทาน คำตอบนั้นก็คือ ‘พิธีกรรม’ ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 อธิบายว่านี่คือ ‘แหล่งสำคัญและขาดไม่ได้ของจิตวิญญาณคริสตชน’

หรืออาจกล่าวได้อย่างสั้น ๆ ว่าท่านตระหนักว่าโลกต้องการ ‘นักบุญ’ มากกว่า ‘อัครสาวก’ คือต้องการคริสตชนที่สามารถบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เพียงเป็นผู้เผยแพร่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้คริสตชนสามารถบรรลุเช่นนั้นได้ จึงคือการดำเนินชีวิตติดสนิทกับพระ และเมื่อพระคริสตเจ้าทรงเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ตามที่ท่านเขียนถึงพระสงฆ์องค์ใหม่ของคากูอัส การดำเนินชีวิตติดตามพิธีกรรม ‘อย่างมีส่วนร่วมด้วยความกระตือรือร้น’ จึงทำให้คริสตชนสามารถบรรลุได้ถึงความเป็นนักบุญ เพราะนี่คือการตอบรับให้ชีวิตของพระคริสตเจ้าแทรกซึมเข้ามาในชีวิตของมนุษย์ และทำให้ชีวิตนั้นเกิดความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งนำไปสู่การบรรลุถึงเมืองสวรรค์ที่พระคริสตเจ้าได้ทรงขึ้นไปเตรียมที่ไว้ให้ ดังพระวาจาที่ว่า “ในบ้านพระบิดาของเรา มีที่พำนักมากมาย ถ้าไม่มี เราคงบอกท่านแล้ว เรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน” (ยอห์น 14 : 2)


ไม่เพียงเท่านั้นท่านมองว่าปัญหาที่คริสตชนในปัจจุบันกำลังเผชิญในท่ามกลางกระแสฆราวาสนิยม คือ การที่คริสตชนไม่เข้าใจพิธีกรรมและไม่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมอย่างแท้จริง ทำให้พิธีกรรมไม่สามารถหล่อเลี้ยงวิญญาณได้ ท่านเขียนว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมและชีวิตฝ่ายจิตไม่เคยเกิดขึ้นในพระศาสนจักรยุคโบราณ ในเวลานั้นพิธีกรรมเป็นสิ่งรวมชีวิตภาวนาทั้งหมดของพระศาสนจักรและของคริสตชนทุกคนไว้ด้วยกัน สำหรับคริสตชนในเวลานั้นพิธีกรรมไม่ได้เป็นเพียงโรงเรียนของคำภาวนา แต่ยังเป็นคำภาวนาของพวกเขาด้วย แต่ละคนต่างมีส่วนร่วมในคำภาวนาของที่ชุมนุมและเปลี่ยนคำภาวนานั้นเป็นของคำภาวนาของตนเอง” ซึ่งหากมองไปไกลกว่านั้น คือ การไม่เข้าใจแก่นแท้ของจิตตารมณ์การเป็นคริสตชน ดังที่ท่านเขียนว่า “พระสันตะปาปาหลายพระองค์ได้ทรงตรัสไว้แล้วและพวกเราก็มีก็มีความประสงค์เพียงทำให้คำสอน บรรทัดฐาน และความประสงค์ของพระองค์ท่านทั้งหลาย ซึ่งเชื่อมั่นว่าการเป็นคริสตชนในโลกสมัยใหม่ไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยวิธีอื่นใด นอกจากการฟื้นฟูจิตตารมณ์แท้ของการเป็นคริสตชนอย่างเอาจริงทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคม ในระดับชีวิตส่วนตัวและชีวิตสาธารณะ ในองค์กรต่าง ๆ ในโรงเรียน ในห้องทำงาน ในท้องถนน และแม้แต่ในพระศาสนจักรเอง เป็นจริง ”

ดังนั้นท่านจึงต้องการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับทุกคนว่า พิธีกรรมที่ถูกสืบทอดกันมาอย่างยาวนานในพระศาสนจักรคือ ‘ธรรมล้ำลึกแห่งความรอด’ ดังที่ท่านเขียนว่า “ธรรมล้ำลึกคือแก่นแท้ของพิธีกรรมคาทอลิกทั้งหมด ดังนั้นเพื่อที่จะเข้าใจและซึ้งซาบไปกับพิธีกรรม จึงจำต้องเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่ามันคืออะไร (ธรรมล้ำลึก) นี่คือกุญแจสำคัญในการจะเข้าใจพิธีกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างมากจากการแสดงนาฏกรรมหรือจินตนาการที่สมจริงและเป็นรูปธรรม” และ “ไม่เพียงพอที่จะให้บรรดาผู้ศรัทธาได้รับอนุญาตให้ร่วมตอบรับ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอนพวกเขาเพื่อให้พวกเขาได้เข้าใจ เห็นคุณค่า และรับรู้วิธีการมีส่วนร่วมภายนอก ผ่านทั้งการสวดภาวนา ร้องเพลง กริยาและตำแหน่ง นี่คือการแสดงออกถึงสายสัมพันธ์ของพวกเขาและการมีส่วนร่วมในระดับบุคคลในธรรมล้ำลึกอันศักดิ์สิทธิ์” ฉะนั้นเมื่อคริสตชนสามารถเข้าใจความหมายแท้จริงนี้ การเฉลิมฉลองพิธีกรรมจึงไม่เพียงสง่างาม แต่ยังหล่อเลี้ยงวิญญาณของคริสตชน นี่เองจึงเป็นการฟื้นฟูจิตตตารมณ์แท้ของการเป็นคริสตชน ซึ่งทำให้พระศาสนจักรสามารถผ่านความท้าทายของโลกสมัยใหม่ต่อไปได้


นอกจากนี้ท่านยังมองเห็นอีกว่าการฟื้นฟูนี้ไม่เพียงเป็นการกลับไปสู่แก่นแท้ของพระศาสนจักร เพื่อทำให้พระศาสนจักรก้าวต่อไปในกระแสความเป็นสมัยใหม่และฆราวาสนิยม แต่ยังคือเครื่องมือในการฟื้นฟูโลกให้สวยงามในพระหรรษทานของพระเจ้าและฉกฉวยวิญญาณจากอุ้งมือของซาตาน ดังที่ท่านได้อธิบายว่า “มิสซาจะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราและโลก นั่นคือมิสซาที่เรารู้จัก เราเข้าใจ เรามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น (ทั้งภายในและภายนอก)” และ “คริสตชนสามารถฟื้นฟูโลกได้ แต่มีเงื่อนไขคือพวกเขาจำต้องฟื้นฟูตัวเองและฟื้นฟูความเป็นคริสตชน และพวกเขาจะไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกต้องหากพวกเขาไม่หันมาพึ่ง ‘แหล่งสำคัญและขาดไม่ได้ของจิตวิญญาณคริสตชน’ ซึ่งก็คือพิธีกรรม” ดังนั้นท่านจึงมีปรารถนาที่ทำให้ผู้คนในปวยร์โตริโกกลับมาทบทวนประเด็นเรื่องพิธีกรรม เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความเป็นคริสตชนให้ผลิบาน ผู้มีส่วนร่วมในภารกิจการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้วัดทุกเขตวัดในปวยร์โตริโก สัตบุรษและพระสงฆ์ต่างร่วมกันเฉลิมฉลองพิธีกรรมอย่างเต็มที่และแข็งขัน ด้วยสำนึกในศักดิ์สงฆ์ที่ทุกคนได้รับผ่านศีลล้างบาป

ด้วยการตระหนักรู้เช่นนี้เอง ท่านจึงได้เริ่มใช้คำสอนของพระศาสนจักรและงานเขียนภายใต้กระแสความเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรม ตัวอย่างเช่นงานเขียนของคุณพ่อโรมาโน กัวร์ดินี (Romano Guardini) พระสงฆ์ชาวอิตาลีซึ่งทำงานอภิบาลในประเทศเยอรมัน ผู้เขียนหนังสือจิตตารมณ์ของพิธีกรรม (Vom Geist der Liturgie) ซึ่งเป็นผลงานที่มีอิทธิพลต่อกระแสความเคลื่อนไหวเรื่องพิธีกรรมในประเทศเยอรมัน และในการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 จนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของความเคลื่อนไหวนี้ในประเทศเยอรมัน งานเขียนของคุณพ่อปีอุส ปารสช์ (Pius Parsch) พระสงฆ์ชาวเช็ก ผู้เป็นหนึ่งในผู้นำในกระแสพิธีกรรมในศวตรรษนี้ ผ่านการตีพิมพ์หนังสือว่าด้วยพิธีกรรมจำนวนหลายเล่มเป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งบางส่วนก็ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนการทำ ‘มิสซาของสัตบุรุษ’ (volksliturgischen) หรือมิสซาที่ทำบนพระแท่นที่ตั้งแยกออกมาและหันหน้าหาสัตบุรุษ งานเขียนของคุณพ่อหลุยส์ โบเยร์ (Louis Bouyer) อดีตพระสงฆ์นิกายลูเธอร์ลันชาวฝรั่งเศส ผู้เขียนหนังสือว่าด้วยพิธีกรรม ซึ่งมีผลงานโดดเด่น คือ การล่มสลายของคริสตัง (The Decomposition of Catholicism – ค.ศ. 1969) ซึ่งชี้ให้เห็นปัญหาของพิธีกรรมและคำสอนบางประการของพระศาสนจักรในเวลานั้น งานเขียนพระคาร์ดินัลฌอง ดาเนียลู (Jean Daniélou) พระสงฆ์เยซูอิตชาวฝรั่งเศสผู้เป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของพระศาสนจักร คุณพ่อฌาคส์ เลอแคลร์ก (Jacques Leclercq) พระสงฆ์และนักเทววิทยาชาวเบลเยี่ยม งานเขียนคุณพ่อโยเซฟ อันเดรอัส ยุงมันน์ (Josef Andreas Jungmann) พระสงฆ์เยซูอิตชาวออสเตรีย ผู้สนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นของสัตบุรุษในพิธีกรรม ผ่านการกลับไปทบทวนพัฒนาการของพิธีมิสซา และตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือพิธีมิสซาจารีตโรมัน: ต้นกำเนิดและพัฒนาการ (The Mass of the Roman Rite: Its Origins and Development - ค.ศ. 1948) และงานเขียนของคุณพ่อกิปรีอาโน วากัจจินี (Cipriano Vagaggini) พระสงฆ์คณะกามัลโดเลเซชาวอิตาลี ผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรม เข้ามาช่วยให้ท่านสามารถนำพาเป้าหมายที่ท่านตั้งไว้ให้เป็นจริงได้อย่างถูกต้องและมีหลักการ


เมื่อตระหนักได้ถึงพันธกิจในชีวิตฆราวาสของพระศาสนจักร อาศัยโลกทัศน์ที่กว้างไกลกว่าเพียงประเทศที่ท่านอยู่และประสบการณ์ชีวิตฝ่ายจิตซึ่งเป็นมรดกที่บรรดาธรรมทูตได้หว่านเมล็ดพันธุ์ไหว้กว่าสี่ร้อยปี ท่านจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งกระแสความเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรมในพระศาสนจักรในประเทศบ้านเกิดของท่าน ติดตามเรื่องราวของฆราวาสผู้แรกจากปวยร์โตริโกที่ได้เป็นบุญราศีองค์แรกของประเทศ ไปพร้อม ๆ กับความหมายแห่งปัสกาที่สะท้อนผ่านชีวิตธรรมดา ๆ ของเสมียนตัวเล็ก ที่ได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์พระศาสนจักรปวยร์โตริโก ผู้มีคำพูดติดปากว่า“พวกเรามีชีวิตอยู่เพื่อคืนนั้น” ได้ในบทความ คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ (คลิกที่นี่) 

“ข้าแต่ท่านบุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก 
ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
https://www.blackcatholicmessenger.com/carlos-manuel-rodriguez-feast-2022/
https://www.pmariamm.org/beatocarlos.html
https://www.stignatiusmobile.org/saint-of-the-month-blessed-carlos-manuel-rodriguez/
https://www.vatican.va/news_services/liturgy/saints/ns_lit_doc_20010429_rodriguez-santiago_en.html
https://es.zenit.org/2020/07/12/beato-carlos-manuel-rodriguez-santiago-13-de-julio-5/
https://es.eucharisticrevival.org/post/carlos-manuel-cecilio-a-eucharistic-life
http://www.savior.org/saints/santiago.htm
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Carlos_Manuel_Rodr%C3%ADguez_Santiago

คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โต...