วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

'ฟรังซิสโกและยาซินทา' เด็กเลี้ยงแกะแห่งฟาติมา ตอน 1

นักบุญฟรังซิสโก มาร์โต และ นักบุญยาซินทา มาร์โต
St. Francisco Marto and St. Jacinta Marto
วันฉลอง : 20 กุมภาพันธ์
องค์อุปถัมภ์ : ความเจ็บป่วยฝ่ายกาย, ผู้ถูกคุมขัง, คนที่ถูกเยาะเย้ยเพราะความเชื่อศรัทธา, นักโทษ, คนเจ็บป่วย, การต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ


มีตำนานปรัมปราบทหนึ่งเล่าว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วในราวศตวรรษที่  12 เมื่อกองทัพอัศวินคริสตชนสามารถมีชัยเหนือเมืองออริช อัศวินหนุ่มผู้หนึ่งก็ได้พบรักกับหญิงสาวชาวตะวันออกนางหนึ่งชื่อ ฟาติมะฮ์ นางผู้นี้มีสิริโฉมที่งดงามนัก จนยากที่ชายหนุ่มจะละสายตาไปจากนางได้ สองหนุ่มสาวแม้จะต่างเชื้อชาติศาสนา เมื่อพบและรู้จักกันด้วยบุพเพสันนิวาสที่พระเจ้าทรงขีดไว้ ทั้งสองจึงต่างมอบรักให้แก่กัน และได้ปลงใจแต่งงานกัน โดยนางฟาติมะฮ์ได้กลับใจมาเป็นคริสตชนในคราวนั้นด้วย แต่ก็น่าเศร้าทั้งสองครองรักกันฉันสามีภรรยาอย่างถูกต้องไปยังมิทันจะแก่เฒ่า ฟาติมะฮ์ก็มาจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

ด้วยความอาลัยรักต่อหญิงผู้เป็นยอดแห่งดวงใจ ชายหนุ่มจึงได้ตั้งชื่อสถานที่หนึ่งเพื่อระลึกถึงนางว่า ฟาติมา’ มาจากชื่อนางในภาษาอาหรับที่ว่าฟาติมะฮ์ และได้ละทิ้งโลกไปบำเพ็ญเป็นนักพรตอยู่ ในอารามอัลโกบาซา ก่อนจากโลกนี้ไปโดยทิ้งไว้แต่ตำนานชื่อย่านบ้านเมืองซึ่งจะเป็นที่เริ่มต้นเรื่องราวของเราต่อไป

ฟาติมา คือตำบลที่เราหลายคนในฐานะคริสตชน ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าไม่รู้จัก เพราะที่แห่งนี้คือสถานที่ที่แม่พระ พระมารดาพระเจ้าได้ทรงประจักษ์มาประทานสารที่มีใจความเรียกร้องการสวดภาวนาและกลับใจแก่เด็กเลี้ยงแกะสามคน ก่อนสงครามร้าจะมาถึง ส่วนนาม อัลยุสเตร์ล คือหมู่บ้านในเขตปกครองของตำบลฟาติมา ที่ที่เรื่องของเราเริ่มขึ้น

ครอบครัวมาร์โต และครอบครัวโดส ซานโตส ตามคำอธิบายของลูเซียคือ เหมือนกับทุก ๆ คนที่อยู่ในเขตวัด สองครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่ยากจน เป็นคริสตชนที่ทำงานหนัก มีรายได้และของที่จำเป็นเพื่อการดำเนินชีวิตจากการทำไร่ในแปลงที่ดินของตนเท่านั้น คือสองครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งทางเครือญาติและทางเพื่อนบ้าน ซึ่งปักหลักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอัลยุสเตร์ล ตำบลฟาติมาแห่งนี้ แต่ครอบครัวที่เราจะขอเจาะลงเป็นพิเศษในวันนี้ก็คือครอบครัวมาร์โต เพราะผู้ถือสารสองคนที่เราจะกล่าวถึงได้เกิดมาจากครอบครัวนี้

ครอบครัวมาร์โต คือ ครอบครัวของนายมานูเอล เปโดร มาร์โต กับนางโอลิมเปีย ทั้งสองมีลูกด้วยกันทั้งสิ้นหกคน คือ ด.ช.โยเซ ด.ญ.ฟลอรินดา ด.ญ.เทเรซา ด.ช.ยวง ด.ช.ฟรังซิสโก และ ด.ญ. ยาซินทา ซึ่งสมาชิกสองคนสุดท้ายที่ออกมาลืมตาดูโลกนี้เอง ก็คือผู้ที่พระเป็นเจ้าได้ทรงเลือกสรรให้เป็นผู้ถือสารของพระมารดาของพระองค์แก่โลกมนุษย์ และคืออนาคตยุวนักบุญองค์ต่อไป

เขาคือ ฟรังซิสโก

ฟรังซิสโก มาร์โต เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.. 1908 เขาเป็นหนุ่มน้อยหน้าตาดี ผมสีบลอนด์สว่าง ตัดกับดวงตาสีเข้ม ลูเซียเล่าว่าเขาเป็นคนคิดอะไรก่อนทำ รักสงบ ชอบเล่นเกมกีฬาต่าง ๆ และชอบจับกลุ่มกับเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน นอกนี้เขายังไม่ชอบให้มีเรื่องขัดแย้งในชีวิตประจำวันหรือการประลองใด ๆ เขาไม่สนใจสิทธิ์ที่ตนพึงมี และเมื่อถูกละเมิดสิทธิ์นั้น เขาก็ไม่เต็มใจนักที่จะปกป้องมัน

เช่นครั้งหนึ่งเมื่อนางเทเรซา แม่ทูนหัวของทั้งลูเซีย ฟรังซิสโก และยาซินทา กลับจากการเดินทางไปทะเลประจำปีและซื้อของมาฝากลูกทูนหัวทุกคนของนางตามวิสัย ครั้งนั้นนางได้ซื้อผ้าเช็ดหน้าพิมพ์ภาพแม่พระแห่งนาซาเรผืนสวยมาให้เขา ซึ่งฟรังซิสโกเองก็ชอบของฝากชิ้นนี้มาก เขาหวงมันและเอาไปอวดให้เพื่อน ๆ ได้ดูอย่างภาคภูมิ แต่เขาชื่นชนได้ไม่เท่าไร ของฝากชิ้นนี้ก็หายไปเสียเฉย ๆ  เพื่อน ๆ ของฟรังซิสโกจึงช่วยกันตามสืบ จนได้ความว่าเป็นเพื่อนในกลุ่มเองที่ขโมยผ้าเช็ดหน้าของฟรังซิสโกไป เพื่อน ๆ จึงเอาชื่อคนขโมยไปบอกฟรังซิสโก แต่แทนที่เขาจะโกธร ตรงข้ามเขากลับขอให้เพื่อน ๆ ไม่ให้ไปมีเรื่องต่อตีกับเพื่อนหัวขโมยคนนั้น ให้เขาเก็บไว้เถอะ ข้าไม่ว่าอะไรหรอก ฟรังซิสโกเสนอวิธีแก้ปัญหาง่าย ๆ พร้อมด้วยรอยยิ้มที่ไม่ต้องเสแสร้งอันใด

ลูเซียยังเล่าอีกว่า ตัวฟรังซิสโกเล่นกับเพื่อนทุกคนโดยไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง และไม่เคยจะหาเรื่องทะเลาะกับใคร แต่หากเล่น ๆ ด้วยกันไปแล้วเกิดมีเรื่องอะไรไม่ดีขึ้น เขาก็จะปลีกตัวออกมา ซึ่งเมื่อถามถึงเหตุผล เขาก็เพียงตอบว่า “เพราะนายทำตัวไม่ดี” หรือไม่ก็ตอบง่าย ๆ ว่า “เพราะข้าแค่ไม่อยากเล่นละ” และแม้ตัวลูเซียจะเผลออารมณ์เสีนใส่เขา เวลาเธอมีเรื่องกังวลใจ ตัวฟรังซิสโกเองเมื่อลูเซียไปขอโทษเรื่องอารมณ์ร้อนที่เธอแสดงออกไป เขาก็หาถือโทษไม่และปฏิบัติดั่งไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเลย

ในเรื่องนิสัยอ่อนโยนของฟรังซิสโก นายมานูเอลบิดาของเขาเห็นด้วยและได้ให้ข้อมูลถึงบุคลิกที่บ้านของเขาว่า เขากล้ากว่ายาซินทาเยอะ เขามักไม่ค่อยจะอดทนกับเรื่องอะไร และบ่อย ๆ ด้วยเรื่องขี้ปะติ๋ว เขาก็วิ่งไปทั่วเหมือนวัวหนุ่ม เขามีนิสัยทุกอย่างยกเว้นนิสัยขี้ขลาด เขาชอบออกไปข้างนอกตอนกลางคืน แล้วอยู่ตามลำพังโดยไม่มีอาการหวาดกลัวใด ๆ เขาชอบเล่นกับกิ้งก่าและงู โดยให้พวกมันพันรอบ ๆ ไม้เท้า และพาไปดื่มน้ำที่หลุมหิน ทั้งยังกล้าออกตามจับพวกกระต่าย หมาจิ้งจอก และตัวตุ่น

นิสัยชอบจับสัตว์แปลก ๆ ที่ชาวบ้านปกติไม่นิยมจับกันของฟรังซิสโกนี้ นางโอลิมเปียก็ได้เล่าถึงนิสัยเช่นนี้ ทั้งเสริมว่าเขามักนำพวกมันเข้ามาในบ้านอีกด้วย (แน่นอนสิ่งที่นางโอลิมเปียทำเมื่อพบเช่นนี้ ก็คือ ‘วิ่ง’) เธอเป็นพยานว่าเธอแปลกใจกับความกล้าของลูกชายคนนี้ยิ่ง และยืนยันชัดในระหว่างการให้การว่า “เขาไม่เคยกลัวอะไร” นอกนี้นางยังเสริมว่าฟรังซิสโกยังชอบเล่นอะไรพิเรนทร์ ๆ อาทิ การเอาของแปลก ๆ ที่กินไม่ได้มาหย่อนใส่ปากของยวง พี่ชายของตนตอนเขานอนหลับ แล้วเผลออ้าปาก นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นคำพยานของทั้งสองสามีภรรยาถึงบุตรชายผู้นี้ยังพร้อมใจให้การเป็นเสียงเดียวกัน ถึงเรื่องก่อนการประจักษ์มาของแม่พระว่า มีอยู่เพียงหนึ่งหรือสองเท่านั้นที่ฟรังซิสโกไม่ยอมสวด จนนายมานูเอลต้องจับลูกชายตัวดีมาดัดนิสัย

คุณลักษณะอีกสองประการของฟรังซิสโกที่ไม่อาจจะลืมเล่าไปได้เลย ก็คือ ความเมตตาเพราะตัวฟรังซิสโกเองมีจิตใจที่เมตตาต่อทุกสิ่ง ดวงใจของเขาเป็นทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นทุกข์ ไม่เว้นแม้แต่สรรพสัตว์ มีครั้งหนึ่งเขาเคยเอาเงินตัวเองมาซื้อนกจากเด็กชายอีกคน แล้วนำนกตัวนั้นมาปล่อยให้กลับไปหารังของมันไป และ ความรักการดนตรีที่อยู่สะท้อนกังวานในตัวเขา มีคำยืนยันว่าฟรังซิสโกมีความสามารถในการเป่าขลุ่ย ซึ่งนำให้ลูเซียและยาซินทาพร้อมใจกันร้องเพลงและเต้นไปตามทำนองขลุ่ยนั้นอย่างเริงรื่น “คำบอกเล่าแสดงชัดว่าฟรังซิสโกเป็นเพื่อนตัวน้อยที่ดี และจากหลักฐาน ขณะอายุได้ 9 ปี เขาไม่ได้เป็นทั้งนักเลงหัวไม้หรือนักบุญผู้เจิดจรัส” คุณพ่อยอห์น เดอ มาร์ชี กล่าวในบทสรุปประวัตินำของฟรังซิสโก

เธอคือ ยาซินทา

ยาซินทา มาร์โต เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1910 เธอเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวมาร์โต ใบหน้าของเธอ
ละหม้ายคล้ายฟรังซิสโก พี่ชายที่อายุห่างจากเธอสองปี นางโอลิมเปีย ผู้เป็นมารดาเล่าถึงลักษณะของเธอว่า เธอไม่ท้วมเหมือนฟรังซิสโก ดวงตาของเธอเป็นประกายและสดใสกว่าตาของฉันเมื่อฉันยังเด็ก เธอชอบจะให้ผมเรียบอยู่เสมอและฉันคอยจัดผมให้เธออยู่ทุกวัน แจ็คเก็ตตัวน้อยกับกระโปรงผ้าฝ้ายและรองเท้าคือชุดเก่งของเธอ…”

นอกจากนี้เธอยังเป็นเด็กหน้าตาน่ารัก สุขภาพดีแข็งแรง มีพลังเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ เอางานเอาการ และเป็นที่รักใคร่ของทุกคน ดั่งคำให้การของนายมานูเอล ผู้เป็นบิดาว่า เธอเป็นที่รักและไม่มีใครจะเปรียบกับเธอได้ และเขายังให้การถึงลูกสาวที่เขารักคนนี้อีกว่า เธอเป็นเด็กอ่อนโยนและอ่อนหวานเสมอ และเธอก็เป็นเช่นนั้นแต่เกิด หากเธออยากจะได้อะไร เธอก็มีวิธีแบบเธอเองที่จะบอกกับพวกเรา หรือเพียงร้องไห้เล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรอีก เวลาพวกเราไปมิสซาหรือไปทำธุระนอกบ้าน เธอก็ไม่เคยงอแง พวกเราไม่เคยต้องรับมือกับปัญหาอะไรที่ไร้สาระจากเธอเลย เธอเป็นเด็กดีและอ่อนหวานโดยธรรมชาติในบรรดาลูก ๆ ของพวกเรา เมื่อคุณแม่ของเธอเล่าเรื่องหลอกเด็กเล็ก ๆ ให้เธอฟัง เช่น เธอไปแค่สวนกระหล่ำเล็ก ๆ แต่จริง ๆ เธอไปไกลกว่านั้น ยาซินทาก็จะจับได้และไม่วายรีบตำหนิคุณแม่อยู่ตลอด

ไม่เพียงแต่เป็นที่รักของทุกคน ยาซินทาเองก็มอบความรักให้กับทุกอย่างไม่ว่าจะคนในครอบครัว เพื่อนวัยไล่เลี่ยกัน เจ้าแกะ และเป็นพิเศษกับลูกพี่ลูกน้องต่างวัยของเธอ ลูเซีย’ (เช่นกันลูเซียก็รักยาซินทามาก ดังนั้นบันทึกของเธอจึงเต็มไปด้วยความทรงจำเกี่ยวยาซินทาเป็นส่วนใหญ่) และเมื่อลูเซียถึงวัยต้องรับหน้าที่ต้อนแกะของครอบครัวไปกินหญ้านอกหมู่บ้าน ยาซินทางจึงมีอาการหงอยเหงา จนบิดามารดาจำต้องยอมให้เธอกับฟรังซิสโกพาแกะสองสามตัวของครอบครัวไปกินหญ้าพร้อมลูเซีย

ยาซินทามีความสุขมากกับการได้อยู่ในทุ่งหญ้าของที่ราบสูงแซรร์รา เธอชอบอยู่กับลูเซียนาน ๆ และมีเจ้าแกะทั้งหลายเป็นมิตรสหายสนิท ชนิดตั้งชื่อให้พวกมันบางตัวว่า เจ้าพิราบ  เจ้าดาว เจ้าสวย และเจ้าหิมะ ลูเซียเล่าว่า เธอเคยนั่งลงข้าง ๆ พวกมัน แล้วอุ้มมันมานั่งตักและหอมมัน ส่วนตอนกลางคืน เมื่อกลับบ้านหลังน้อย เธอก็พยายามจะแบกมันไว้ที่บ่าเพื่อช่วยมันให้พ้นความเมื่อยล้า แบบเดียวกับภาพพระชุมภาบาลผู้แสนดีที่เธอเคยเห็น

เธอยังชอบดอกไม้หลากสีที่พากันเบ่งบานตามฤดูกาล เธอชอบเก็บมันหลากหลายสีคราวละมาก ๆ เพื่อเอามาประดับผมของเธอบ้าง บ้างก็ทำเป็นมาลัยมาให้ลูเซีย มีครั้งหนึ่งหลังเธอได้มีโอกาสเป็นเทวดาโปรยดอกไม้หน้าศีลในพิธีศีลหมาสนิทครั้งแรกของวัดฟาติมา ตั้งแต่นั้นมาเธอก็มักเก็บดอกไม้มาโปรยใส่ลูเซีย โดยเธอให้เหตุผลกับลูเซียว่าเธอทำตามแบบที่ทูตสวรรค์ทำอีกด้วย นอกนี้แล้วยาซินทายังมีจินตนาการมากมายกับทุก ๆ ความงามแห่งธรรมชาติที่พระเป็นเจ้าได้รังสรรค์ เธอเรียกดวงอาทิตย์ขณะใกล้อัสดงว่า โคมของแม่พระ และดวงดาวที่ประดับนภาว่า ตะเกียงของทูตสวรรค์ ซึ่งเธอชอบท้าฟรังซิสโก พี่ชายให้ทำตาเหล่และปั่นจิ้งหรีดแล้วมานับพวกมันแข่งกัน

และในขณะที่ฟรังซิสโกมีพรสวรรค์ด้านการเล่นดนตรี น้องสาวคนเดียวของเขาก็มีทั้งพรสวรรค์ทั้งด้านการเต้น และด้านการร้องเพลง ลูเซียจดจำได้ดีว่าเสียงร้องเพลงของลูกพี่ลูกน้องตัวน้อยคนนี้ของเธอ นั้นมีความไพเราะเพราะพริ้งยิ่ง และจำได้ว่าเธอยังชอบขึ้นไปนั่งบนเนินเขาสูง ๆ แล้วตะโกนเพื่อฟังเสียงเอคโคที่สะท้อนกลับมาจากหุบเขา และ
ชื่อที่สะท้อนได้ดีที่สุดก็คือชื่อมาเรีย ลูเซียเล่า

แต่แม้จะมีเป็นเด็กน่ารักอ่อนหวาน แต่ยาซินทาเองก็ยังเป็นเหมือนเด็กทั่วไป เธอยังมีความหลงผิดเล็ก ๆ นั่นก็คือการเล่นเกมส์หนึ่งที่ชื่อ เกมส์กระดุมดั่งที่ลูเซียเล่าว่า ดิฉันรู้สึกหงุดหงิดกับเธอ เพราะหลังจากเล่นเกมส์กระดุม ชุดดิฉันจะไม่มีกระดุมเหลือเลยเวลาถูกเรียกไปรับประทานอาหาร เธอมักดึงพวกมันจากดิฉันได้เสมอ และนั่นเองจึงหมายถึงการตำหนิจากคุณแม่ของดิฉัน แต่ดิฉันจะทำอะไรได้เมื่อเธอไม่ยอมคืนพวกมันให้ดิฉัน นอกเสียจากไม่ยอมพูดกับเธอ แผนของเธอก็คือการเตรีมพวกมันไว้ใช้เล่นต่อโดยไม่ต้องใช้ของเธอเอง มีเพียงวิธีเดียวที่ดิฉันจะได้ของคืนก็คือการขู่ว่าไม่มาเล่นอีก

ท้ายสุดนี้หากจะไม่กล่าวถึงเรื่องความเชื่อศรัทธาของยาซินทาเลยก็จะเป็นการผิดไป เพราะตั้งแต่เล็ก ๆ ยาซินทาก็ได้ฉายแววของนักบุญองค์น้อยออกมา ดั่งลูเซียเล่าว่า “เมื่อเธออายุได้สักห้าขวบหรือต่ำกว่านั้น เธอจะร้องไห้เมื่อได้ฟังเรื่องพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า ‘ข้าแต่พระเยซูผู้น่าสงสาร หนูไม่ขอทำบาปและทำร้ายพระองค์ไปมากกว่านี้’ เธอพูด”

ชีวิตของเด็กเลี้ยงแกะแห่งฟาติมา

ดังที่เล่าเหตุผลที่ทั้งทั้งสามได้มาพบกันไปแล้วในหัวข้อ เธอคือ ยาซินทาข้างต้น ทำให้ทุกเช้านางโอลิมเปียจะคอยมาปลุกฟรังซิสโกในวัยประมาณ 7 ปี และยาซินทาในวัย 5 ปี ตั้งแต่ก่อนแสงแรกของวันจะย้อมพื้นฟ้าที่ดำสนิทให้เป็นสีฟ้าคราม ขอนมัสการมีแด่ศีลมหาสนิท…” เสียงทั้งสองจะสวดอย่างงึมงำ ขณะอยู่ในสภาพกึ่งหลับกึ่งตื่น นางโอลิมเปียจำได้แม่นว่าทั้งสองไม่เคยจะตอบรับคำภาวนาข้างต้นอย่างศรัทธาแบบที่ควรยึดเป็นแบบฉบับ และมีสภาพที่มึนมาก ๆ เสียด้วยซ้ำ พวกเขาทำสำคัญมหากางเขน และสวดเท่าที่สามารถจะสวดบทนั้นได้ เด็ก ๆ ในวัยนี้เบื่อกับการสวดภาวนาได้เร็วมาก ๆ

หลังจากนั้นเมื่อตื่นแล้ว ทั้งสองจึงไปทำธุระส่วนตัวและขณะทั้งสองกำลังแต่งตัว นางโอลิมเปียก็จะจัดแจงทำอาหารเช้าซึ่งก็คือซุปร้อน ๆ กับขนมปังที่นุ่มเพราะน้ำมันมะกอกที่ทาลงไป ส่วนอาหารกลางวันที่ทั้งสองจะต้องเตรียมไปก็จะเป็นขนมปัง ผลมะกอก ปลาแห้ง ไม่ก็ปลาซาร์ดีน (ปลาร้าฝรั่ง) และอย่างอื่นที่วันนั้นครอบครัวมาร์โตมี ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรกับทั้งสอง เพราะจุดมุ่งหมายของสองพี่น้องไม่ใช่อาหาร แต่คือการออกไปเล่นกับลูเซียเสียมากกว่า

และเมื่อทำอะไรต่าง ๆ นานาในบ้านเสร็จแล้ว สองพี่น้องจึงจะออกมาพบกับลูเซียที่รอท่าอยู่พร้อมฝูงแกะ และลูเซียก็จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการเลือกทุ่งหญ้าที่จะพาแกะไปในวันนั้น ๆ บางครั้งเธอก็เลือกทุ้งหญ้าใกล้ ๆ ฟาติมา แต่บางครั้งเธอก็เลือกทุ่งหญ้าที่ใกล้กับหมู่บ้านมุยตา แต่ที่ที่เธอชอบมากที่สุดก็คือบริเวณกาเบโซ ซึ่งสวนมะกอกของครอบครัวตั้งอยู่ เพราะมันอยู่ตรงข้ามหมู่บ้านฟาติมา ใกล้บ้านของทั้งสาม และมีก้อนหินรูปร่างแปลก ๆ แต่ที่ดีไปกว่านั้นคือที่กาเบโซมีต้นมะกอกและต้นสนคอยให้ร่มเงาไว้หลบร้อน ในวันที่ร้อนจัดได้อีกด้วย

หลายครั้งคนเลี้ยงแกะคนอื่น ๆ ก็ติดตามทั้งสามไปที่นี่ตามคำเชิญของลูเซีย ซึ่งหลังจากปล่อยแกะให้เล็มหญ้าไปตามทุ่งหญ้านอกหมู่บ้าน พวกเขาก็จะพากันเล่นสนุกด้วยเกมส์ต่างๆ โดยไม่ต้องพะวงกับเรื่องแกะจะหลงฝูงกัน เพราะพวกแกะก็เหมือนลูกสุนัขหรือลูกแมว คือพวกมันรู้ดีว่าใครคือนายมัน และในการเล่นเกมส์ต่าง ๆ ของบรรดาเด็กเลี้ยงแกะ ผู้นำในการเล่นเหล่านั้นก็คือลูเซีย

หนึ่งในเด็กเลี้ยงแกะเหล่านั้น ซึ่งคือแม่บ้านวัยกลางคนในวันที่ให้คำพยานนี้ ชื่อ เทเรซา ไมเทียส ได้แบ่งปันเรื่องราว
วันวานนั้นว่า ลูเซียเป็นคนตลกมาก เธอมีวิธีปฏิบัติที่ดีกับพวกเรา ดังนั้นพวกเราจึงชอบอยู่กับเธอ เธอยังเป็นคนฉลาดมาก และมีความสามารถในการร้องเพลงและการเต้นและการสอนพวกเราให้ทำเช่นเดียวกัน พวกเรามักเชื่อเธอเสมอ พวกเราชอบใช้เวลาหลายต่อหลายชั่วโมงไปกับการเต้นและร้องเพลง และบางครั้งก็ลืมกินข้าวเที่ยงกันเลยทีเดียว นอกจากเพลงศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเราร้องในวัดซึ่งฉันจำได้อยู่เพลงหนึ่งคือเพลงแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล ที่ฉันยังคงร้องระหว่างทำงานและได้สอนลูกๆทุกคน (ถึงตรงนี้นางเทเรซาได้ร้องเพลงนี้ให้ผู้สัมภาษณ์นางได้ฟัง) พวกเรายังร้องเพลงพื้นบ้าน ซึ่งเช่นกัน ฉันจำมันไม่ได้เสียแล้ว และมีพวกเด็กผู้ชายตัวเล็กคอยเป่าขลุ่ยระหว่างพวกเราเต้นกัน

และหลังจากรับประทานอาหารกลางวันที่เตรียมมาแล้ว เด็กเลี้ยงแกะทั้งสามก็จะร่วมกันสวดสายประคำตามแบบฉบับของพวกเขาเอง เพราะพวกเขาต่างได้รับการสั่งสอนให้สวดสายประคำหลังมื้ออาหารเที่ยงเสมอ แต่วันเวลาช่างแสนสั้นเหลือเกินสำหรับการสวดภาวนา พวกเราจึงคิดหาวิธีดี ๆ ที่จะสวดให้เสร็จเร็ว ๆ พวกเราเพียงสวดว่า วันทามารีย์ วันทามารีย์ ที่เม็ดลูกประคำ และเมื่อจบแต่ละทศ ก็สวดว่า ข้าแต่พระบิดา’ พร้อมหยุดสักพัก ดังนั้นด้วยวิธีนี้ เพียงไม่กี่นาที พวกเราก็สวดสายประคำจบ” ….นี่แหละคือชีวิตของเด็กเลี้ยงแกะแห่งฟาติมาพอสังเขป


ข้าแต่ท่านนักบุญฟรังซิสโก มาร์โต และ นักบุญยาซินทา มาร์โต ช่วยวิงวอนเทอญ



คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โต...