วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

มุกงามของพระ 'มาร์เกอริตา' ตอนจบ

นักบุญมาร์เกอริตา แห่ง กิตตา ดิ กัสเตลโล
St. Margherita da Città di Castello
วันฉลอง: 13 เมษายน
องค์อุปถัมภ์: คนตาบอดและคนพิการในสังฆมณฑลกิตตา ดิ กัสเตลโล
และอัครสังฆมณฑลอูร์บีโน อูร์บานีอา ซานตาอังเยโล อิน วาโด

ไม่นานชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านก็แพร่ไปทั่วเมือง ใครที่ต่างได้สัมผัสกับท่านต่างพบว่าความเป็นนักบุญนั้นแฝงเร้นอยู่ในร่างกายอันน่าสังเวชโดยไม่มีการปรุงแต่ง เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ก่อเกิดจากวิญญาณดวงหนึ่งที่รักพระเจ้าโดยไม่มีข้อแม้ ไม่ว่าพระองค์จะสถิตอยู่ในรูปไหน รูปอันเป็นทิพย์ อาหาร หรือสิ่งสร้าง และได้แผ่ซ่านออกมาให้คนรอบข้างได้สัมผัสจากทุกอณูรูขุมขน เรื่องดังกล่าวทราบไปถึงอารามนักพรตหญิงไม่ทราบคณะแห่งหนึ่งในเมือง (ภายหลังได้กลายเป็นอารามคณะโดมินิกันภายหลังท่านเสียชีวิต และมีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นอารามคณะเบเนดิกติน) พวกเธอจึงได้เชิญชวนให้ท่านมาเข้าอารามของพวกเธอ ซึ่งในทีแรกก็ดูจะมีปัญหาอยู่บ้างจากการที่ไม่มีใครทราบที่มาที่ไปของท่าน รวมถึงท่านก็มิได้ยอมเปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าว แต่เมื่อคุณแม่อธิการอารามได้พิจารณาถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของท่านที่เป็นประจักษ์ภายในเมืองอย่างไม่ต้องสงสัยด้วยถี่ถ้วน และเห็นว่าชีวิตในอารามน่าจะเหมาสมกับท่าน คุณแม่จึงอนุญาตให้ท่านเข้ามาเป็นนักพรตภายในอารามได้ในทันที

เมื่อข่าวนี้ทราบไปถึงบรรดามิตรสหายของท่านในเมือง พวกเขาก็ต่างพร้อมใจกันมาส่งท่านเข้าอาราม ฝั่งบรรดานักพรตหญิงในอารามก็ต่างพากันยินดีที่จะได้รับท่านมาเป็นสมาชิก ส่วนท่านนั้นยิ่งยินดีกว่าใครที่ตนจะได้ถวายตนเป็นเจ้าสาวของพระคริสตเจ้าและได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือดวงวิญญาณผ่านคำภาวนาและการพลีกรรม ท่านตระหนักในใจว่าทุกคนที่เดินเข้ามาในอารามไม่ได้เป็นนักบุญอยู่แล้วพวกเธอถึงมาสมัครเข้าอาราม แต่เพราะพวกเธอปรารถนาจะเป็นนักบุญต่างหาก พวกเธอจึงได้สละทุกสิ่งและเลือกมาเจริญชีวิตในอาราม เพื่อจะได้เติบโตในความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าผ่านธรรมนูญที่เคร่งคัดในอาราม ดังนั้นเมื่อแรกเข้ามาท่านจึงตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเจริญชีวิตอย่างเคร่งคัดตามธรรมนูญของอารามเหมือนนักพรตคนอื่น ๆ ท่านนำความประหลาดใจไม่น้อยมายังบรรดานักพรตในอาราม ไม่ใช่เพียงเพราะการที่ท่านสามารถทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้เหมือนคนปกติไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาด จัดห้องหับต่าง ๆ ในอาราม ช่วยเตรียมกับข้าว จัดโต๊ะรับประทานอาหาร ล้างจาน และงานเมตาธรรมอื่น ๆ แต่ยังรวมถึงการดำเนินชีวิตที่เคร่งคัด


ระยะแรกการเจริญชีวิตตามธรรมนูญเดิมของอารามอย่างเคร่งคัดไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับบรรดาสมาชิกในอาราม เพราะพวกเธอเชื่อว่าไม่เกินสี่ถึงห้าสัปดาห์ท่านก็คงจะกลายเป็นเหมือนพวกเธอ แต่ปรากฏว่าแม้จะผ่านมาถึงเดือนที่สิบแล้วนับแต่วันที่พวกเธอต้อนรับท่านเข้ามา ท่านก็ยังคงเจริญชีวิตที่เคร่งคัดเหมือนเดิม แม้นวกจารย์อารามรวมถึงพวกเธอบางคนจะได้อธิบายให้ท่านฟังว่า เวลาได้เปลี่ยนไปแล้วธรรมนูญบางอย่างก็ต้องปรับเปลี่ยนไปโดยเน้นให้กิจการเมตตาธรรมนั้นมาก่อน โดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วยการถือความเงียบ แต่ท่านก็ไม่เข้าใจทำไมนักพรตไม่สามารถรักษาทั้งธรรมนูญเดิมและกิจการเมตตาธรรมให้ดำเนินไปพร้อมกันและยังคงปฏิบัติตัวเช่นเดิม เพราะท่านเศร้าใจยิ่งนักที่ในอารามที่ท่านรู้สึกขอบคุณสำหรับการต้อนรับกลับเต็มไปด้วยความหละหลวม ท่านจึงปรารถนาที่จะพาสมาชิกทุกคนให้กลับมาสู่รากเหง้าดังเดิม โดยตระหนักว่าหากการพูดนั้นไร้ผล แบบอย่างที่ดีก็จะพาพวกเธอกลับมา เช่นครั้งหนึ่งมีภรรยาของผู้มีอำนาจในเมืองในเสนอจะมอบกางเขนทำจากเงินให้ท่าน ท่านก็ได้ปฏิเสธไปเพราะสิ่งนี้ขัดกับศีลบนความยากจนที่ท่านปฏิญาณตน แม้มันจะสร้างความไม่พอใจให้กับหญิงผู้นั้นก็ตาม เป็นต้น

การปฏิบัติตัวของท่านดังนี้เป็นเหตุให้ในไม่ช้าบรรดาสมาชิกในอารามจึงเริ่มไม่พอใจในตัวท่านมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มเห็นว่าการที่ท่านอยู่ร่วมในอารามกับพวกเธอต่อไปไม่ใช่เรื่องที่ ‘น่าอภิรมณ์’ พวกเธอจึงได้รวมตัวกันไปฟ้องคุณแม่อธิการอารามถึงเรื่องนี้ คุณแม่จึงได้เรียกท่านมาพบและบอกกับท่านว่า “แม่รู้ว่าลูกทำไปด้วยประสงค์ดี แต่พฤติกรรมที่แปลกแยกของลูกกำลังทำลายความสงบของอาราม แม่จึงขอยืนยันให้ลูกปฏิบัติตามพี่น้องคนอื่น ๆ ในอาราม” ฝั่งท่านที่ได้ยินคำสั่งเช่นนี้ก็ตอบกลับคุณแม่ด้วยเสียงสั่นเทาว่า “คุณแม่ที่เคารพคะ ลูกได้คุยเรื่องนี้กับคุณพ่อจิตตาธิการหลายต่อหลายครั้ง และคุณพ่อก็ได้รับรองว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่พอพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้ามากค่ะ” คำขาดของคุณแม่อธิการในเรื่องวัตรปฏิบัติของท่าน นำความไม่สบายใจไม่น้อยมาสู่หัวใจของท่าน เพราะหากท่านเลือกปฏิเสธมโนธรรมที่บอกให้ท่านทำในสิ่งที่ถูกต้อง ท่านก็จะมีที่พักพิงต่อไปภายในอารามรวมถึงได้ไมตรีจากบรรดาพี่น้องในอารามคืนมา แต่หากท่านเลือกปฏิบัติตามมโนธรรม ท่านก็ต้องกลับไปขอทานข้างถนนดังเดิม


หลังจากครุ่นคิดอยู่ภายใน ท่านจึงเลือกที่จะปฏิบัติตามเสียงแห่งมโนธรรม ไม่ว่าในท้ายที่สุดการตัดสินใจครั้งนี้จะต้องแลกด้วยอะไร ท่านยังคงปฏิบัติตัวอย่างเคร่งคัดเหมือนดังเดิมในสันติดุจไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น เป็นผลให้ในไม่ช้าบรรดานักพรตที่เคยโอบรับท่านอยากอบอุ่น ได้กลับเป็นผู้ขับไล่ท่านออกไปจากอารามอย่างไม่ใยดี ซึ่งเมื่อท่านทราบเช่นนี้ความสับสนครั้งใหญ่ก็ได้ถาโถมเข้ามาในดวงวิญญาณของท่าน ภายในที่เคยเข้มเเข็งไม่ว่าจะเผชิญกับเรื่องใด ๆ ในชีวิตกลับเริ่มท้อแท้สิ้นหวัง ความรู้สึกถูกทอดทิ้งไม่เพียงจากเพื่อนมนุษย์ แต่ยังรวมถึงพระเจ้ากลืนกินวิญญาณที่เคยเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะคำภาวนานั้นดูช่างไร้ผล แต่ในเวลาที่ความสิ้นหวังกำลังกลืนกินวิญญาณของท่านอยู่นั่นเอง เมื่อท่านหยุดรำพึงถึงพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า ท่านก็ดูเหมือนจะได้ยินเสียงหนึ่งตรัสกับท่านว่า ‘มาร์เกอริตา ลูกจะทิ้งเราไปอีกคนงั้นหรือ’ พลันความสับสนต่าง ๆ ที่ภายในของท่านก็สงบลง ท่านจากอารามออกมาด้วยสันติและความพร้อมที่จะเผชิญทุกสิ่ง ที่องค์พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้ท่านด้วยพระญาณสอดส่องของพระองค์

ข่าวการออกจากอารามของท่านกลายเป็นข่าวใหญ่ในเมืองกิตตา ดิ กัสเตลโล พวกบรรดานักพรตในอารามที่ท่านจากมาได้พากันใส่ร้ายท่านต่าง ๆ นานาให้บรรดาชาวเมืองที่พบพวกเธอฟัง เพื่อทำให้พวกเธอมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำและปกปิดความจริงว่าชีวิตของพวกเธอในเหลวแหล่เพียงใด ในขณะที่ท่านมิได้ปริปากถึงเหตุผลที่ท่านถูกขับออกจากอารามให้ใครทราบเพื่อแก้ต่าง นี่เองเป็นเหตุให้ท่านตกเป็นขี้ปากของชาวบ้านชาวเมืองอยู่พักใหญ่ ๆ แม้หลายคนจะไม่เชื่อในข่าวลือดังกล่าวและพยายามเล่าถึงตัวตนที่แท้จริงของท่านแก้ข่าวนี้ไป แต่ชาวเมืองส่วนมากก็ดูจะเชื่อในเรื่องโกหกที่ลอยลอดออกมาจากอารามเสียมากกว่า ดังนั้นพวกเขาจึงต่างเยาะเย้ยและดูถูกดูแคลนท่าน ยามนี้เมื่อท่านเดินเหินไปทางใดของเมือง ไม่วายท่านจะต้องถูกพวกเด็ก ๆ ตามท้องถนนล้อเลียนว่า “นังคนแคระหลังค่อมคนนี้เป็นนักบุญ” นี่จึงนับเป็นกางเขนใหม่ที่ท่านต้องผ่านไป


ในระหว่างที่ต้องพบเจอคำครหานี้เอง ท่านก็ได้เริ่มไปมิสซาประจำวันที่วัดพระเมตตาธรรม ซึ่งดูแลโดยคณะโดมินิกัน ที่ก่อตั้งโดยนักบุญดอมินิกในช่วงต้นศควรรษที่ 13 และเป็นศูนย์กลางของนักบวชหญิง ‘มันเตลลาเต’ หรือนักบวชฆราวาสขั้นสามของคณะโดมินิกัน ที่รับสมัครหญิงหม้ายและหญิงสูงวัยที่ได้รับอนุญาตาจากสามีซึ่งปรารถนาจะดำเนินชีวิตเป็นนักบวช แต่มีเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถจะเข้าอยู่ในอารามเป็นนักบวชขั้นที่สองของคณะได้ พวกนักบวชหญิงประเภทนี้จะดำเนินชีวิตนักบวชที่เคร่งคัดทั้งที่บ้านและภายนอกบ้าน โดยจะสวมเครื่องแบบตัวยาวสีขาวของคณะ คาดด้วยเข็มขัดหนัง คลุมศีรษะด้วยผ้าสีขาว และมีผ้าคลุมสีดำคลุมตัวซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘มันเตลลาตา’ (Mantellata) จึงกลายมาเป็นชื่อของนักบวชกลุ่มนี้ ท่านเมื่อได้พบกับนักบวชประเภทดังกล่าวก็รู้สึกได้ถึงกระแสเรียกของท่านภายในคณะนักบวชนี้ ท่านจึงได้ขอสมัครเข้าเป็นนักบวชมันเตลลาเต และก็เป็นอีกครั้งที่ท่านต้องพบกับอุปสรรค์ เมื่อระเบียบของคณะได้กำหนดว่ามาชิกต้องเป็นหญิงหม้ายหรือหญิงที่มีครอบครัวแล้วเท่านั้น ซ้ำคณะก็ไม่เคยรับสมัครหญิงสาววัยรุ่นมาก่อน

แต่เมื่อบรรดาสหายของท่านได้ชี้ให้คุณพ่อเห็นถึงความพิการและความทุกข์ยากต่าง ๆ ที่ท่านประสบมา รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่คณะหากรับท่านมาเป็นสมาชิกก็ทำให้คุณพ่อลุยจิ พระสงฆ์ผู้ทำหน้าปกครองคณะโดมินิกันในเมืองกิตตา ดิ กัสเตลโลอนุญาตให้ท่านเข้าเป็นสมาชิกมันเตลลาเต ทำให้ท่านได้เข้าพิธีปฏิญาณตนในท่ามกลางความยินดีของบรรดามิตรสหาย และได้กลายเป็นมันเตลลาเตคนแรกที่เป็นเพียงหญิงวัยรุ่นซึ่งยังไม่เคยผ่านพิธีสมรสตามที่ปรากฏบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ภายหลังพิธีปฏิญาณตนครอบครัวที่พอมีกำลังในเมืองกิตตา ดิ กัสเตลโลจำนวนหนึ่งก็พากันเสนอตัวรับเป็นผู้ดูแลท่าน ซึ่งท่านก็ได้เลือกที่จะไปพำนักกับครอบครัวคหบดีของนายโอฟเฟรนดุชโชและนางเบอาตริเช ก่อนที่ในเวลาต่อมาท่านจะย้ายไปพำนักกับครอบครัวคหบดีของนายมาเชร์ตีและนางอิสกีนา


ในฐานะธิดาของนักบุญโดมินิก ท่านได้เจริญชีวิตติดตามจิตตารมณ์ของการสวดภาวนาและพลีกรรมอย่างเคร่งครัด ท่านทำพลีกรรมตามที่คณะกำหนด สวดบททำวัตรพร้อมสมาชิกคณะ ตื่นนอนตอนเที่ยงคืนเพื่อตื่นเฝ้า ถือพรตอดอาหารตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเทศกาลปัสกา นอนบนพื้นเปล่า และใช้อุปกรณ์ทรมานตน ทุกคืนเมื่อท่านได้ยินเสียงระฆังแจ้งเวลาเที่ยงคืน ท่านจะตื่นขึ้นมาเพื่อร่วมตื่นเฝ้ากับสมาชิกในคณะจนเสร็จภารกิจ ท่านก็จะใช้เวลาหลังจากนั้นในการรำพึงภาวนากับตัวเองต่อไป กระทั่งระฆังเช้าตีขึ้นราวตีสาม ท่านจึงจะออกจากที่พัก ค่อย ๆ คลำทางไปยังวัดพระเมตตาธรรมเพื่อแก้บาปและรับศีลมหาสนิทในมิสซาประจำวัน ซึ่งในบางคราวท่านก็ร่วมมากกว่าวันละหนึ่งมิสซา ท่านยังได้รับอนุญาตจากคุณพ่อวิญญาณณารักษ์ให้เฆี่ยนตีตัวเองได้สามครั้งต่อคืน ครั้งที่หนึ่งสำหรับความผิดบาปของท่าน ครั้งที่สองเพื่อความรอดของผู้อื่น และครั้งสุดท้ายเพื่อช่วยวิญญาณในไฟชำระ นอกเหนือจากนี้ทุกเช้าท่านยังสวดบทสดุดีทั้ง 150 บทของกษัตริย์ดาวิด บททำวัตรถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์ และเดินรูปสิบสี่ภาค ซึ่งท่านได้เรียนรู้ด้วยหนทางอันมหัศจรรย์ของพระเจ้าอีกด้วย

ไม่เพียงแต่ดำเนินฝ่ายจิตอย่างเข้มข้น เพราะท่านตระหนักดีกว่าประสบความทุกข์นั้นเป็นเช่นไร ท่านจึงอุทิศตัวช่วยเหลือผู้คนรอบข้างเหมือนดังที่ท่านทำมาตั้งแต่สมัยเริ่มเป็นชีวิตขอทาน เมื่อท่านทราบว่ามีคนป่วยที่ยากไร้อยู่ที่ใด ท่านก็จะเร่งนำยาไปให้พวกเขา หรือหากคนใดใกล้สิ้นใจท่านก็จะสอนให้พวกเขาปล่อยวางและมีความกล้าหาญในการเผชิญกับความตาย ท่านยังขอให้คนที่ปฏิเสธการกลับใจให้กลับใจ นักเขียวชีวประวัติของท่านรายหนึ่งพรรณนาว่า “เมื่อท่านสวดขอสิ่งนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่คนบาปผู้มีใจแข็งกระด้างจะไม่ยอมเปลี่ยงแปลงชีวิตของพวกเขา” นอกจากนี้หาเวลาไปเยี่ยมบรรดานักโทษในคุก รวมถึงคอยปลอบประโลมใจผู้ที่มีความทุกข์ที่เดินเข้ามาท่านอีกด้วย จนเป็นที่ประหลาดใจของชาวเมืองกิตตา ดิ กัสเตลโลที่พบเห็น ภาพของมันเตลลาเตที่ค่อย ๆ เดินกระเผลกไปพร้อมไม้เท้าคลำทาง เนื่องจากความมืดมิดของดวงตาเพื่อไปเยี่ยมบรรดาคนเจ็บป่วยและคนใกล้จะสิ้นใจ พวกเขาต่างเฝ้ามองท่านอย่างงุนงงที่เห็นบุคคลที่มีชีวิตทุพพลภาพหนึ่ง กลับมีแต่ความกังวลใจต่อความทุกข์ผู้อื่นมากกว่าตนเอง ซึ่งทีละนิดจากความสังเวชต่อภาพที่เห็น ชาวเมืองก็ต่างพบว่าพวกเขามีนักบุญอยู่ในเมืองของพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย


ในช่วงเวลาที่ท่านพำนักอยู่ที่บ้านของนายโอฟเฟรนดุชโช และนายมาเชร์ตีท่านยังได้แสดงอัศจรรย์ออกมาสองเหตุการณ์ที่ได้มีการบันทึกไว้ เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นที่บ้านของนายโอฟเฟรนดุชโช คราวนั้นบุตรชายเพียงคนเดียวของเขาถูกจับกุมในข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการโค่นล้มคณะผู้ปกครองเมืองกิตตา ดิ กัสเตลโล ซึ่งมีโทษตั้งแต่การจ่ายค่าปรับไปจนถึงการถูกนำตัวมาเฆี่ยนประจานไปตามท้องถนน และการประหารชีวิต ท่านก็ได้แจ้งกับนางเบอาตรีเช ผู้เป็นมารดาว่าบุตรชายของนางจะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องเสียค่าปรับหรือรับโทษใด ๆ และผลก็ปรากฏว่าไม่นานบุตรชายของนางก็ได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ได้รับอันตรายหรือจ่ายค่าปรับแต่อย่างใด ส่วนเหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นเมื่อท่านย้ายมาพำนักที่บ้านของนายมาเชร์ตี ที่บ้านหลังนี้ท่านสนิทกับลูกสาวเพียงคนเดียวของเขาชื่อ ฟรังเชสกา ท่านมักเล่าให้เธอฟังถึงความว่างเปล่าของโลกและความสวยงามของการรับใช้ให้เธอฟังเสมอ จนทำให้ฟรังเชสกาปรารถนาจะบวชเป็นมันเตลลาเตเหมือนกับท่าน แต่บิดามารดาของเธอก็มิได้ยินยอมเพราะพวกเขาปรารถาให้เธอได้ออกเรือนไปมากกว่า วันหนึ่งท่านจึงได้บอกกับนางอิสกีนาว่า ในไม่ช้านางและธิดาจะได้สวมมันเตลลาตา และเพียงไม่กี่เดือนต่อมานายมาเชร์ตีก็ล้มป่วยลงอย่างกระทันหันและเสียชีวิตลง นางอิสกีนาที่เสียใจก็บังเกิดดวงตาเห็นธรรมและได้ตัดสินใจสมัครเข้าอารามไปตามคำทำนายของท่านในที่สุด

ภายหลังของการเสียชีวิตของนายมาเชร์ตี ท่านจึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านของนายเวตูรีโน พ่อค้าผู้มีภรรยาคือนางเกรโกรีอา หรือ กรียาและลูกน้อยสองคน ซึ่งแม้ท่านจะมองไม่เห็นแต่ท่านก็สัมผัสได้ว่าบ้านหลังนี้มีความโอ่อ่าหรูหรา ท่านจึงขอเพียงห้องใต้หลังคาของบ้านซึ่งมีลักษณะเหมือนตู้เสื้อผ้าขนาดเล็กเป็นที่พักเพราะท่านปรารถนาจะใช้ชีวิตอย่างยากไร้ในการติดตามองค์พระเยซูเจ้า ฝ่ายนายเวตูรีโนที่ให้ภรรยาเตรียมห้องนอนอย่างดีไว้ให้ท่านก็ประหลาดใจ แต่ท้ายที่สุดเขาก็จำต้องยอมตามที่ท่านประสงค์เพราะเข้าใจดีว่าที่ปรารถนาเพราะเหตุใด และเพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจดีของครอบครัวนี้ ท่านไม่เพียงคอยดูแลลูก ๆ ทั้งสองของนายเวตูรีโนให้เติบโตเป็นคริสตังที่ดี แต่ท่านยังคอยช่วยทวนบทเรียนให้ทั้งสองคนเวลากลับจากโรงเรียน และอธิบายแก้ไขในสิ่งที่พวกเขาเข้าใจผิดทั้งในวิชาตรรกศาสตร์ ดาราศาสตร์ ไวยากรณ์ภาษาละติน และดนตรีโดยที่ท่านไม่เคยได้รับการสอนจากที่ไหน เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจให้คนในครอบครัวที่ท่านพำนักอยู่ไม่น้อยทีเดียว


เมื่อพำนักอยู่ที่บ้านหลังนี้ท่านยังได้ทำอัศจรรย์อีกหลายครั้ง ครั้งหนึ่งบุตรสาวของหลานสาวนางกรียา ซึ่งเป็นลูกทูนหัวของท่านล้มป่วยหนักและใกล้จะสิ้นใจเต็มที ท่านที่รักเด็กน้อยคนนี้มากจึงเฝ้าสวดภาวนาอยู่หน้าประตูบ้านของเธอเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อวอนขอให้พระเจ้าทรงโปรดเมตตารักษาเธอ กระทั่งระฆังตีบอกเวลาเที่ยงคืน ก็ปรากฏว่าเด็กหญิงได้หายจากอาการป่วยและได้แจ้งว่าตนเองนั้นหายจากอาการทุกอย่าง ด้วยผลแห่งการภาวนาของแม่ทูนหัวของตนเอง อีกครั้งหนึ่งมีภคินีในคณะเดียวกันกับท่านชื่อ เวนตูเรลลา ป่วยเป็นโรคเนื้องอกจนดวงตาใกล้จะบอดสนิท แพทย์ที่เก่งที่สุดในเวลานั้นแจ้งว่าเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถรักษาเธอได้ไหม และได้เสนอวิธีรักษาราคาแพงที่เธอไม่สามารถจ่ายไหว ด้วยความทุกข์ใจเธอจึงรีบตรงมาหาท่านเพื่อแสวงหาความบรรเทาใจ ท่านเมื่อทราบเรื่องทั้งหมดก็ได้ปลอบเธอว่า “พระเจ้าทรงมอบของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้ซิสเตอร์ เป็นของขวัญที่ดีเลิศเลยนะคะ มันเป็นโอกาสให้ซิสเตอร์ได้ชิดสนิทกับพระองค์มากขึ้น เพื่อนรัก จงน้อมรับมันไว้เถิดค่ะ น้อมรับมันไว้” ฝั่งซิสเตอร์เวนตูเรลลาก็สวนทางกลับว่า “น้อมรับการตาบอดงั้นหรือ ไม่มีทางดอก” ฝั่งท่านเมื่อได้ยินเช่นนั้นก็ไม่ได้ต่อว่าอะไรเธอและได้ถามว่าเธอปรารถนาให้ท่านใช้มือปิดตาเธอไหม และทันทีที่มือของท่านสัมผัสกับดวงตาของซิสเตอร์เวนตูเรลลา อาการเนื้องอกของเธอก็หายไป เธอกลับมามองเห็นได้อย่างชัดเจนอย่างน่ามหัศจรรย์

คราวหนึ่งในฤดูหนาวเมื่อครอบครัวนายเวตูรีโนออกมาทำธุระข้างนอกบ้าน ก็ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านของครอบครัวโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้ว่ากองดับเพลิงประจำเมืองจะรีบรุดเข้าไปดับไฟแต่ก็ยังไม่อาจคุมไฟให้สงบลงได้ นางกรียาที่นึกได้ว่าวันนี้ท่านยังไม่ออกไปทำงานเมตตาที่ไหน แต่ยังคงสวดภาวนาอยู่ที่ห้องใต้หลังคา นางจึงพยายามฝ่าฝูงชนเข้าไปในตัวบ้านเพื่อเรียกท่านให้ลงมาจากห้องใต้บันได กระนั้นนางก็ถูกรั้งไม่ให้ทำเช่นนั้น นางจึงตะโกนเรียกท่านจากด้านนอกบ้าน ฝั่งท่านที่ได้ยินดังนั้นก็ออกมาที่หน้าต่างบานหนึ่ง และได้แจ้งกับนางกรียาว่า “กรียาอย่ากลัวไปเลย จงวางใจในพระเจ้า” แล้วท่านก็หยิบมันเตลลาตาของท่านโยนเข้าไปในกองไฟ พลันเพลิงที่ไม่มีท่าทีจะสงบก็ดับลงในพริบตา


วันหนึ่งท่านและนางกรียาที่ได้รับอนุญาตจากสามีให้เดินทางไปเยี่ยมนักโทษในคุกร่วมกับท่าน ได้พบกับชายชื่อ อลอนโซจากเมืองซานมารีโอ เขาเป็นนักโทษเพราะพี่ชายของเขาซึ่งต้องข้อหาเป็นกบฏได้แหกคุกหนีไปได้ แม้เขาจะยืนยันว่าตนเองไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ทางสภาเมืองก็ได้ตัดสินจำคุกและทรมานเขาเพื่อให้ยอมรับสารภาพ ผลของการจำคุกเป็นระยะเวลานานส่งผลให้ฐานะของครอบครัวของเขาที่มีเพียงภรรยาและลูกชายอายุยังน้อยชื่อ อันโตนีโอ ตกอยู่ในสภาพแรงแค้นอย่างถึงที่สุด เป็นผลให้ในเวลาต่อมาเด็กชายอันโตนีโอก็เสียชีวิตลงเพราะความอดอยาก ข่าวนี้สร้างความทุกข์ใจเป็นอันมากให้กับนายอลอนโซ เขาเริ่มดูหมิ่นพระยุติธรรมและพระเมตตาของพระเจ้า และพยายามฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้งอย่างสิ้นหวัง ในวันนั้นขณะนางกรียาคุกเข่าทำแผลให้นักโทษคนหนึ่ง บรรดานักโทษในห้องขังก็เห็นท่านที่แยกไปยืนสวดภาวนาค่อย ๆ ลอยขึ้นสูงจากพื้นประมาณครึ่งเมตรและลอยเคว้งอยู่อย่างนั้นสักพักหนึ่ง มือของท่านประสานในท่าสวดภาวนา ในขณะที่ศีรษะเงยขึ้นเหมือนเห็นบางสิ่งบนเพดาน ชั่วระยะหนึ่งท่านจึงลอยกลับลงมา ทันทีเมื่อถึงพื้นใบหน้าที่พิกลพิการของท่าน ก็กลับเรืองแสงและงดงามขึ้นอย่างน่าประหลาด เหตุอัศจรรย์นี้อยู่ในสายตาของนายอลอนโซและได้เปลี่ยนจิตใจที่สิ้นหวังของเขา เขาบอกกับท่านว่า “มาร์เกอริตาน้อย ช่วยสวดให้ผมด้วย”

ในช่วงปีท้าย ๆ ของชีวิตท่านได้เผยให้คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่านทราบว่า ทุกครั้งที่ท่านร่วมมิสซา ท่านได้เห็นองค์พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดบนพระแท่นอยู่เสมอ ด้วยความสงสัยคุณพ่อจึงถามท่านกลับว่า “จะเป็นได้อย่างไรเมื่อลูกนั้นตาบอด” ท่านจึงเผยความลับถึงพระพรอีกประการที่พระเจ้าทรงประทานให้ท่านตลอดมาว่า “ตั้งแต่ภาคถวายเรื่อยไปจนการรับศีลมหาสนิทลูกไม่เห็นแม้แต่พระสงฆ์หรือไม้กางเขนหรือมิสซาหรือสิ่งใด ลูกเห็นแต่เพียงองค์พระเยซูเจ้าเท่านั้น” คุณพ่อที่ไม่สิ้นสงสัยจึงถามท่านต่อว่า “แล้วองค์พระผู้เป็นเจ้ามีลักษณะเช่นไรเมื่อลูกเห็นในระหว่างมิสซา” ท่านก็ตอบกลับเพียงว่า “โอ้ คุณพ่อคะ คุณพ่อปรารถนาให้ลูกอธิบายถึงความรักอันไร้ขอบเขตหรือคะ” อัศจรรย์ในชีวิตของท่านยังมีอีกมาก มีรายงานว่าท่านเข้าสู่สภาวะฌานหลายครั้งในระหว่างมิสซาและลอยขึ้นในระหว่างสวดภาวนาอยู่บ่อยครั้งอีกด้วย

เสื้อของนักบุญมาร์เกอริตาที่ถูกนำกลับไปยังบ้านเกิดของท่าน

ท่านเจริญชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ จนมีวัยล่วงได้ 33 ปี นักเขียนชีวประวัติของท่านคนหนึ่งได้อธิบายว่า เมื่อท่านมีอายุเท่านี้วิญญาณของท่านก็ผุดผ่องเกินกว่าร่างกายของมนุษย์จะรับไหว ทำให้ท่านล้มป่วยหนัก ท่านที่รู้ว่าถึงเวลาที่ท่านจะจากไปรับบำเหน็จในสวรรค์ดี จึงได้ขอให้ตามพระสงฆ์มาโปรดศีลเจิมให้ท่าน และเมื่อท่านได้รับศีลเจิม ท่านโมทนาคุณพระเจ้าและจากไปอย่างสงบ ในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1320 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่สองของเทศกาลปัสกา ช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่ท่านได้จากโลกนี้ไปภายใต้ปราสาทเหมือนตอนที่ท่านลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก แต่ครั้งนี้ต่างออกไปเพราะท่านไม่ได้ถูก ‘ทำให้ลืม’ โดยผู้คนที่รายล้อม แต่กลับถูก ‘จดจำ’ โดยผู้คนจำนวนมากที่ได้ต่างเห็นพ้องกันว่าท่านเป็นนักบุญไม่ว่าจะมีการประกาศรับรองหรือไม่จากทางสันตะสำนัก

“อย่างฝังเธอในอาราม ฝังเธอในวัด เธอเป็นนักบุญ ฝังเธอในวัด” เมื่อมีพิธีปลงศพชาวเมืองที่ต่างทราบข่าวการจากไปของท่านต่างมาร่วมพิธีกันจนล้นวัด และต่างพากันประท้วงไม่ให้ทางคณะโดมินิกันนำร่างของท่านไปฝังยังสุสานของอารามตามธรรมเนียม จนเกิดเป็นการความวุ่นวายภายในวัดระหว่างคณะที่ประสงค์จะนำร่างท่านไปฝังในอาราม กับสัตบุรุษที่ต่างต้องการให้นำร่างท่านฝังไว้ที่วัดพระเมตตาธรรมถึงขั้นจะลงไม้ลงมือกัน แต่ในระหว่างที่ตกลงกันไม่ได้เสียที สามีภรรยาคู่หนึ่งก็ได้นำบุตรสาวที่พิการของพวกเขาฝ่าฝูงชนเข้ามาวางข้างร่างของท่าน เด็กหญิงผู้นี้ไม่เพียงเกิดมามีกระดูกสันหลังคดงอจนเดินไม่ได้แต่กำเนิด แต่ยังเป็นใบ้อีกด้วย พวกเขาต่างคุกเข่าสวดภาวนาวอนขออัศจรรย์ ทุกฝ่ายที่กำลังโต้เถียงกันก็พร้อมใจกันร่วมภาวนาไปกับทั้งสอง ทันใดนั้นเองพระเจ้าก็ทรงส่งเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อระงับข้อพิพาทครั้งนี้ เมื่อร่างไร้วิญญาณของท่านได้ยกแขนซ้ายขึ้นมาสัมผัสกับร่างของเด็กหญิงผู้น่าสงสาร และทันใดเด็กหญิงก็ลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองได้ และเปล่งเสียงออกมาว่า “หนูหายแล้ว หนูหายแล้ว หนูหายแล้วเพราะท่านมาร์เกอริตา”


เหตุอัศจรรย์ครั้งนี้ทำให้ทางคณะโดมินิกันตัดสินฝังร่างของท่านไว้ในวัดโดยได้ส่งร่างของทำไปทำการรักษาศพตามกรรมวิธีในยุคนั้นเพื่อรอการเตรียมที่บรรจุร่างของท่าน ด้วยการผ่านำหัวใจและลำไส้ออกมา ก่อนที่จะบรรจุร่างของท่านภายในวัด หลังจากนั้นเป็นต้นมาหลุมศพของท่านก็กลายเป็นสถานที่แสวงบุญของผู้คนทั้งใกล้ไกลที่ต่างได้ยินเรื่องราวของท่าน และอัศจรรย์จำนวนมากก็ได้เกิดขึ้นผ่านคำเสนอวิงวอนของท่านอยู่ตลอดเวลา ที่มีบันทึกการไต่สวนอย่างเป็นทางการก็มีถึง 9 รายการ มีทั้งการรักษาโรคที่รักษาไม่หายและการทำให้คนตายฟื้นคืนชีวิต แต่ก็ไม่ได้มีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญอย่างเป็นทางการ จากทั้งปัญหาของสงคราม โรคระบาด และการเพิกเฉยของผู้มีอำนาจ จนเวลาล่วงไปกว่าสองร้อยปีในศตวรรษที่ 16 จึงมีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านอย่างเป็นทางการ โดยพระสังฆราชผู้มีอำนาจปกครองเมืองกิตตา ดิ กัสติลโลในเวลานั้นได้ตั้งคณะแพทย์ นักบวช และฆราวาสที่มีชื่อเสียงให้ตรวจสอบหัวใจที่ถูกนำออกมาจากร่างของท่านตั้งแต่ก่อนฝัง 

ผลปรากฏว่าหัวใจของท่านยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แม้กาลเวลาจะล่วงมากกว่าสองร้อยปี และเมื่อทำการผ่าพิสูจน์ก็พบว่าภายในมีวัตถุทรงกลมคล้ายไข่มุกอยู่ถึง 3 เม็ด เม็ดแรกมีรูปทารกนอนอยู่ในรางหญ้ามีสัตว์สองตัวขนาบข้าง เม็ดที่สองมีรูปสตรีสวมมงกุฏ และเม็ดที่สามมีรูปชายชรา หญิงสวมชุดคณะโดมินิกันกำลังคุกเข่า และนกพิราบ การค้นพบวัตถุทรงกลมคล้ายไข่มุกภายในหัวใจของท่านนี้ ชวนให้นึกถึงความศรัทธาของท่านที่มีต่อการรับเอากายและการบังเกิดขององค์พระเยซูเจ้า พระนางมารีย์ และนักบุญยอแซฟ รวมถึงถ้อยคำปริศนาที่ท่านเคยเอ่ยว่า “โอ้ ถ้าเธอได้รู้ว่าอะไรอยู่ในหัวใจของฉัน เธอจะต้องแปลกใจ”


หลังจากนั้นร่างของท่านจึงถูกขุดขึ้นมาตรวจสอบในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1558 และพบว่าแม้เสื้อผ้ารวมถึงโลงของท่านจะผุพังไปตามกาลเวลา ร่างของท่านยังคงไม่ได้เน่าสลายไป มีการตรวจสอบพบว่าท่านมีความสูงที่ผิดปกติคือเพียง 120 ซม. ขาขวาของท่านสั้นกว่าขาซ้ายอยู่ 4 ซม. จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่านเดินกระเผลก เมื่อมีการตรวจสอบร่างของท่าน รวมถึงรวบรวมชีวประวัติและการอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาศัยคำเสนอวิงวอนตลอดสองร้อยปีที่ผ่านมาของท่านเรียบร้อยแล้ว จึงมีการส่งเอกสารทุกอย่างไปยังสมณะกระทรวงว่าด้วยจารีต ที่เวลานั้นยังรับหน้าที่ดูแลเรื่องการแต่งตั้งนักบุญให้รับรองคำตัดสินของสังฆมณฑลว่าท่านสมควรเป็นบุญราศี เนื่องจากก่อน ค.ศ. 1634 อำนาจในการประกาศบุคคลหนึ่งเป็นบุญราศีเป็นของพระสังฆราชท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งในเวลาต่อมาในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1609 สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 5 ก็ทรงรับรองการตัดสินใจดังกล่าวโดยอนุญาตให้คณะโดมินิกันในภูมิภาคเปรูยาสามารถทำมิสซาและสวดทำวัตรระลึกถึงท่านได้ (Concession of Mass and Office) จึงทำให้ท่านมีสถานภาพเป็น ‘บุญราศี’ ในพระศาสนจักรอย่างเป็นทางการโดยอัตโนมัติ

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 10 ได้ทรงประกาศให้คณะโดมินิกันทั่วโลกสามารถทำมิสซาและทำวัตรระลึกถึงท่านได้ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1675 หลังจากนั้นอีกกว่าสามร้อยปีเมื่อพระศาสนจักรเล็งเห็นว่าชื่อเสียงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของท่านไปแผ่ไปทั่วโลก จึงเห็นสมควรที่จะให้รับรองความศักดิ์สิทธิ์ของท่านในฐานะ ‘นักบุญ’ จึงได้มีการดำเนินการตรวจสอบด้านประวัติศาสตร์อีกครั้งโดยสมณะกระทรวงว่าด้วยการสถาปนานักบุญใน ค.ศ. 2020 เป็นต้นมา และภายหลังจากการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2021 สมเด็จพระสันปาปาฟรานซิสจึงได้ทรงสถาปนาท่านเป็นนักบุญ ในกรณีพิเศษนั่นคือไม่ต้องมีอัศจรรย์ครั้งที่สองมาประกอบรวมถึงไม่มีการจัดพิธี เป็นการสถาปนาแบบเทียบเท่า (Equipollent Canonizations) ซึ่งทำให้ท่านมีสถานะนักบุญโดยอัตโนมัติ ในทำนองเดียวกับคราวบันทึกนามท่านในสารบบบุญราศี


พระเจ้าทรงมอบชีวิตของนักบุญมาร์เกอริตาเพื่อสอนมนุษย์ให้มีความหวังเสมอในการทรงนำของพระองค์ และทรงเชื้อเชิญให้เรานำเอาแบบฉบับนี้ไปเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจ เพราะพระองค์ได้ทรงเผยแสดงไว้ก่อนจะทรงจากบรรดาอัครสาวกเพื่อไปเตรียมที่ในสวรรค์ให้พวกเขาว่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้ในโลก แต่เพราะพระองค์ทรงชนะโลกแล้ว จึงไม่มีสิ่งใดต้องกังวลใจ (เทียบ ยอห์น 16: 33) และก่อนหน้านั้นหลายร้อยปี ประกาศกนาฮูม ชาวเมืองเอลโขช ก็ได้สรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเผยแสดงนิมิตกรุงนีนะเวห์ว่า “เตด พระเจ้าทรงพระทัยดี ทรงเป็นป้อมปราการเข้มแข็ง ในยามทุกข์ยาก โยด พระองค์ทรงรู้จักผู้วางใจในพระองค์ แม้เมื่อน้ำไหลบ่ามาท่วม” (นาฮูม 1: 7-8) ดังนั้นมนุษย์ในโลกและความทุกข์จึงเป็นของคู่กัน แต่มนุษย์ผู้ต้องเผชิญความทุกข์นั้นก็ไม่ได้สิ้นหวังสิ้นหนทางในการรับมือกับความทุกข์เหล่านี้ ในขณะที่วาจาเผยให้เห็นคุณค่าของความทุกข์ที่นำไปสู่การร่วมส่วนในชัยชนะเหนือโลกกับองค์พระเยซูเจ้า คำสรรเสริญของท่านประกาศกนาฮูมได้เผยให้เห็นว่าในความทุกข์ยากเหล่านั้น องค์พระเจ้าทรงเป็นที่พักพิงหลบภัยสำหรับมนุษย์  พระองค์จะไม่ทรงเบือนพระพักตรหนีมนุษย์ผู้วอนขอพระเมตตา แม้ในเวลาที่เขาตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ที่สุดและดูจะสิ้นหวังในโลก เพียงขอให้เขาวางใจเข้าพำนักในพระองค์ 

นักบุญมาร์เกอริตาได้ตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ดี ท่านทราบถึงคุณค่าของความทุกข์ได้มีส่วนในการชำระท่านให้มีส่วนร่วมในชัยชนะของพระเยซูเจ้าอย่างเหมาะสม และท่านก็ตระหนักดีว่าไม่ว่าเวลาไหน แม้ในเวลาที่ถูกบิดามารดาทอดทิ้งให้เป็นขอทาน หรือถูกเพื่อนมนุษย์ปฏิเสธ เมื่อท่านเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องตามมโนธรรมจากพระจิต พระเจ้าไม่เคยปฏิเสธและพร้อมจะเป็นที่พักพิงให้ท่านผ่านความยากลำบากต่าง ๆ ไป ท่านจึงวางใจและมอบตนเองทั้งครบไว้ในการทรงนำ นี่เองจึงทำให้ท่านไม่สูญเสียความสุข ความหวัง และความเชื่อในการดำเนินชีวิตคริสตังที่ดีตลอดชีวิตที่แสนยากลำบาก ดังนั้นในท้ายนี้ขอให้เรามีใจกล้าหาญ ตระหนักถึงคุณค่าของความทุกข์ยาก และมอบความวางใจเข้าพักพิงในพระเจ้า ผู้ทรงมีชัยเหนือโลก เป็นป้อมปราการที่เข้มแข็ง และทรงจดจำเราได้เสมอเช่นเดียวกับที่ท่านนักบุญมาร์เกอริตาได้ทำด้วยเถิด อาแมน
รูทราย เทเรซีโอของพระเยซู
19 พฤษภาคม ค.ศ. 2023


“ข้าแต่ท่านนักบุญมาร์เกอริตา แห่ง กิตตา ดิ กัสเตลโล ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
http://www.causesanti.va/it/santi-e-beati/margherita-di-citta-di-castello.html
http://conoscendo.altervista.org/primo-articolo/?doing_wp_cron=1642416331.0312769412994384765625
https://www.op.org/st-margaret-of-citta-di-castello/biography-of-st-margaret-of-citta-di-castello/
http://prieststuff.blogspot.com/2011/02/blessed-margaret-of-castello-patroness.html
https://catholicism.org/blessed-margaret-castello.html
https://www.afcmmedia.org/Mystical-04.html
https://www.beatamargheritadellametola.it/
http://www.santiebeati.it/dettaglio/90763
https://messaggerosantantonio.it/content/margherita-da-citta-di-castello-finalmente-santa
https://en.wikipedia.org/wiki/Margaret_of_Castello

'มาร์เกอริตา' มุกงามของพระ ตอนแรก

นักบุญมาร์เกอริตา แห่ง กิตตา ดิ กัสเตลโล
St. Margherita da Città di Castello
วันฉลอง: 13 เมษายน
องค์อุปถัมภ์: คนตาบอดและคนพิการในสังฆมณฑลกิตตา ดิ กัสเตลโล
และอัครสังฆมณฑลอูร์บีโน อูร์บานีอา ซานตาอังเยโล อิน วาโด

“ทุกวันใหม่มีพระสัญญา ทุกเวลามีความหวัง ทุกยามเช้ามีแสงสว่าง ตลอดการเดินทางมีความช่วยเหลือเกื้อกูล … เมื่อเราวางใจในพระภูบาล มอบวิญญาณในหัตถ์พระองค์” ให้เราเริ่มต้นชีวประวัติของข้ารับพระเจ้าองค์นี้ ด้วยบทเพลงพระสัญญา โดย อ.ประจงกิจ ที่กล่าวถึงการมี ‘ความหวัง’ เสมอในการดำรงชีวิตเสียก่อน แม้บทเพลงนี้จะถูกแต่งหลังจากเรื่องราวของเราอย่างยาวนานหลายร้อยปีและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด กระนั้นเนื้อหาของบทเพลงนี้ก็เหมาะสมกับเรื่องราวต่อจากนี้ไป เพราะนี่คือเรื่องราวของชีวิตหนึ่งในโลก ที่ไม่เคยสูญเสีย ‘ความหวังในพระเจ้า’ ตลอดการดำเนินชีวิต จนก่อเกิดเป็นชีวิตอันมหัศจรรย์ที่ถูกเล่าขานมาตลอดหลายร้อยปีด้วยความศรัทธาและชื่นชม ทั้งบัดนี้พระศาสนจักรเองในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ยังได้ยกย่องไว้ในฐานะ ‘แบบอย่าง’ บนพระแท่นบูชาอย่างเป็นทางการ

การจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์นี้ คงต้องย้อนไปในสมัยที่อิตาลี ยังไม่ได้รวมกันเป็นประเทศทรงรองเท้าบูธอย่างทุกวันนี้ และยังมีนครรัฐหนึ่งเรืองอำนาจอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศ ในนาม ‘รัฐสันตะปาปา’ ณ ปราสาทหินตระหง่าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นป้อมปราการให้กับเมืองซังตาเยโล อิน วาโด เมืองหลวงของแคว้นมัสซา ตราบีรีอา แคว้นโบราณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 – 15 ซึ่งเติบโตขึ้นภายใต้การวางรากฐานขอบเขตอำนาจของรัฐสันตะปาปา บนเนินเขาแห่งหนึ่งในหุบเขาเมเตาโร นามว่า ‘ปราสาทเมโตลา’ (ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวอยู่ไม่ไกลจากเมืองเมร์กาเตลโล ซุล เมเตาโร จ. เปซาโร เอ อูร์บีโน แคว้นมาร์เก ตอนกลางฟากตะวันออกของประเทศอิตาลี) ในคราวนั้นปราสาทหลังนี้มีผู้ปกครองชื่อ ‘นายปาริซีโอ’ เป็นผู้มั่งมีและเจ้าที่ดินในบริเวณนี้ เขาได้แต่งงานกับธิดาจากตระกูลขุนนางในเมืองเมร์กาเตลโล ซุล เมเตาโรนามว่า ‘นางเอมิลีอา’ ทั้งสองสามีภรรยายังไม่เคยมีบุตรด้วยกัน และเวลานั้นนางเอมิลีอาก็กำลังตั้งครรภ์ ทั้งสองจึงต่างวาดฝันว่าทารกในครรภ์ที่กำลังจะลืมตาดูโลกในเร็ววันในฐานะ ‘บุตรคนหัวปี’ นั้นจะเป็นทารกเพศ ‘ชาย’ เพื่อจะได้กลายเป็นผู้รับมรดกปราสาทหลังนี้ต่อไปในภายหน้า นายปาริซีโอถึงขั้นคิดว่า หากวันใดบุตรคนนี้กำเนิดขึ้นมา ตนก็จะจัดงานเลี้ยงฉลองใหญ่ถึง 2 งานรับขวัญบุตร งานแรกสำหรับบรรดาเหล่าทหารสังกัดปราสาท ส่วนงานที่สองสำหรับบรรดาสหายของเขา


ท่ามกลางความหวังและภาพฝันของสองสามีภรรยาผู้มั่งคั่ง ที่สุดในวันหนึ่งใน ค.ศ. 1287 นางเอมิลีอาจึงได้ให้กำเนิดทารกที่ทั้งสองเฝ้ารอ แต่อนิจจา ทารกนั้นกลับเป็นทารกเพศ ‘หญิง’ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังเกิดมามีสภาพร่างกายพิกลพิการ คือ มีขนาดตัวที่เล็กกว่าปกติ มีอาการหลังค่อม และมีความยาวขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย (อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาจึงพบเพิ่มว่าเด็กน้อยนั้นตาบอดสนิท) คงไม่ต้องอธิบายว่าสองสามีภรรยาจะใจสลายเพียงใด เมื่อเห็นภาพดังนี้ ทั้งสองไม่อาจทำใจยอมรับสภาพของธิดาคนนี้ได้ และอับอายที่จะเลี้ยงดูธิดานี้อย่างเปิดเผย ทั้งสองจึงตัดสินใจเลือกที่จะแจ้งกับทุกคนที่ต่างเฝ้ารอข่าวดีว่า สมาชิกใหม่ของครอบครัวนั้นเกิดมาไม่แข็งแรงและได้สิ้นใจไปตั้งแต่แรกคลอด เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เป็นมลทินมัวหมองแก่ตัวพวกเขา ก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยงทารกผู้มีรูปร่างพิกลพิการและอัปลักษณ์ไว้อย่างลับ ๆ ดังนั้นในวันที่ชีวิตผู้เป็นเจ้าของเรื่องของเราเกิดมา จึงไร้ซึ่งความยินดีของบิดามารดา ไร้ซึ่งเสียงระฆังดังแจ้งข่าวแห่งความยินดี ไร้ซึ่งของขวัญมารับขวัญให้สำราญใจ และไร้ซึ่งข่าวถึงการมีตัวตนในฐานะทายาทของครอบครัวนี้

“แม้บิดามารดาจะทอดทิ้งข้าพเจ้า พระยาห์เวห์ก็ทรงรับข้าพเจ้าไว้” (สดุดี 27: 10) ไม่นานหลังจากนั้น นางเอมิลีอาจึงได้ใช้ให้สาวใช้นางหนึ่งที่นางไว้ใจว่าจะเก็บความลับนี้อยู่ นำธิดาน้อยลงไปรับศีลล้างบาปอย่างลับ ๆ ที่วัดนักบุญเปโตร เมืองเมร์กาเตลโล ด้วยนาม ‘มาร์เกอริตา’ ซึ่งแปลว่า ‘ไข่มุก’ แต่บ้างก็ว่านางนั้นไม่ได้ใยดีอันใด แต่เป็นสาวใช้เองที่มีจิตเมตตาสงสาร จึงได้นำธิดาน้อยไปรับศีลล้างบาป พร้อมตั้งนามอันไพเราะนี้ให้ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใด ภายหลังที่ท่านได้รับศีลล้างบาป ท่านได้ถูกเลี้ยงดูอย่างลับ ๆ ภายในปราสาทเมโตลา กระทั่งเริ่มพูดได้ พระสงฆ์ประจำปราสาทจึงได้เริ่มสอนท่านถึงเรื่องราวของพระเจ้า พร้อมทั้งสอนให้ท่านรู้จักสวดภาวนา (การที่ท่านถูกเลี้ยงดูภายในปราสาทเช่นนี้ ทำให้มีผู้เขียนชีวประวัติของท่านบางรายได้แย้งว่า แท้จริงบิดามารดาของท่านก็ไม่ได้เป็นคนใจไม้ไส้ระกำขนาดนั้น เพราะในยุคเดียวกันหากพวกเขาไม่ปรารถนาจะเลี้ยงท่านไว้ ก็เพียงแค่นำท่านไปให้ชาวนาที่อยู่ไกลออกไปหรือใครสักคนเลี้ยงพร้อมด้วยเงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าปิดปากก็ได้)

หอคอยแห่งเมโตลา สิ่งก่อสร้างเดี่ยวที่หลงเหลือของปราสาทเมโตลา

ไม่ว่านายปาริซีโอและนางเอมิลีอาจะคิดเช่นไรต่อบุตรสาวคนนี้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นห่วงต่อชีวิตของธิดาน้อยที่อาภัพหรือรังเกียจเดียดฉันท์ด้วยอับอายต่อความพิกลพิการ ท่านก็ได้เติบโตขึ้นมาในปราสาทเมโตลาโดยได้รับการอบรมจากพระสงฆ์ประจำปราสาทโดยตลอด ทุกวันท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ในส่วนลับของปราสาท สนทนากับพระสงฆ์ท่านนั้นถึงความน่าฉงนในความอัศจรรย์ของพระเจ้า ความรักของพระองค์ และเหตุผลที่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมา ฝั่งพระสงฆ์ท่านนั้นก็คอยตอบคำถามอันแสนใสซื่อนี้โดยตลอด และได้เล็งเห็นถึงความเฉลียวฉลาดเกินวัยในตัวเด็กน้อยคนนี้ คุณพ่อจึงได้นำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งแก่สองสามีภรรยา แต่ทั้งสองก็ยังคงเฉยชา และยังคงรังเกียจที่จะเลี้ยงดูท่านในฐานะธิดาอย่างเปิดเผย

จนท่านมีวัยล่วงได้ 6 ปี ก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น เมื่อวันหนึ่งขณะที่มีแขกเดินทางมาเยี่ยมสองสามีภรรยา สาวใช้ที่ดูแลท่านลืมเตือนท่านไม่ให้ออกไปไหน ท่านจึงเดินออกไป จนได้พบและพูดคุยกับแขกผู้นั้นโดยบังเอิญ แต่ยังไม่ทันที่แขกผู้นั้นจะได้ถามว่าท่านเป็นลูกเต้าเหล่าใครด้วยความเอ็นดู หญิงชาวนาคนหนึ่งที่อาศัยในที่ดินของนายปาริซีโอก็ได้เข้ามาไล่ท่านให้ไปจากบริเวณนั้น จึงทำให้ความลับของบิดามารดาท่านยังคงเป็นความลับต่อไป แต่เหตุการณ์นี้ก็สร้างความไม่สบายใจไม่น้อยให้กับนายปาริซีโอและนางเอมิลีอา ทั้งสองเริ่มกลับมาคิดอีกครั้งว่าธิดาน้อยผู้นี้จะนำความอับอายมาให้พวกเขาและตระกูลอีกเพียงใดหากทั้งสองยังเลี้ยงดูท่านไว้ใต้ชายคาปราสาทหลังเดียวกัน 

วัดที่ท่านถูกนำมาเลี้ยงอย่างลับ ๆ ตั้งแต่อายุ 6 ปี

ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่เลี้ยงท่านไว้ในส่วนไหนของปราสาทได้อีกต่อไป และเลือกวัดหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่บนที่ดินของพวกเขากลางป่า ห่างจากปราสาทของพวกเขาไปประมาณ 400 เมตร เป็นสถานที่กลบฝังความลับนี้ไว้ พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจให้ใครฆ่าท่านหรือเอาท่านไปปล่อยไว้ในป่าเหมือนนิทานทั่วไปที่เราอาจคุ้นเคย แต่ได้ให้ข้ารับใช้สร้างห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งไว้ข้างวัดหลังดังกล่าว โดยออกแบบให้ห้องมีเพียงช่องหน้าต่างสองช่องเล็ก ๆ ช่องหนึ่งไว้ใช้ส่งข้าวปลาอาหารและของที่จำเป็นให้ท่าน ส่วนอีกช่องไว้ใช้ส่งศีลมหาสนิท ไว้ใช้เลี้ยงดูท่านให้ห่างไกลจากสายคนภายนอก เพื่อให้ความลับเรื่องการมีอยู่ของท่านยังคงเป็นความลับต่อไป

ในวันที่ท่านถูกพาไปยังห้องดังกล่าว ที่มีสภาพไม่ต่างอะไรจาก ‘ห้องขัง’ ของนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ท่านไม่ได้หวาดกลัวต่อชีวิตในเบื้องหน้า โกธรเคืองบิดามารดาที่ตัดสินใจเช่นนี้ หรือน้อยใจในความอาภัพของชีวิตแล้วตัดพ้อต่อพระเจ้าผู้ทรงสร้างท่านขึ้นมา ตรงกันข้ามโดยหนทางอันน่ามหัศจรรย์ พระเจ้าได้ทรงประทานพระหรรษทานที่จำเป็นสำหรับท่านในการน้อมรับกางเขนชิ้นนี้ ท่านน้อมรับชีวิตในห้องแห่งนี้ด้วยความเต็มใจ และเข้าใจว่านี่เป็นพระหรรษทานพระเจ้าทรงมอบให้ท่าน โดยวางเทียบสิ่งที่ท่านพบกับประสบการณ์ขององค์พระเยซูเจ้า ดังที่ท่านได้บอกกับพระสงฆ์ที่เลี้ยงดูท่านในวันที่ย้ายเข้ามาบ้านหลังใหม่นี้ว่า “แม้แต่องค์พระเยซูเจ้าเองก็ยังถูกประชากรของพระองค์ปฏิเสธ และพระเจ้าเองทรงอนุญาตให้หนูถูกปฏิบัติเช่นเดียวกัน ก็เพื่อให้หนูสามารถติดตามพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้นค่ะ” และดูเหมือนว่าการได้มีชีวิตเช่นนี้จะส่งผลเป็นเช่นนั้นจริง


อาศัยความเงียบสงบและเสียงของธรรมชาติ ดูเหมือนว่าพระเจ้าได้ทรงสัมผัสจิตใจท่านมากขึ้นเรื่อย ๆ จนค่อย ๆ ทำให้ท่านปรารถนาที่จะมอบตนเองทั้งครบแด่พระองค์ ดุจเดียวกับบรรดาเจ้าสาวทั้งหลายของพระองค์ในพระศาสนจักร ดังนั้นในวัย 7 ปี ท่านจึงตัดสินใจปฏิญาณตนจะถือพรหมจรรย์ และถือพรตอดอาหารตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเทศกาลปัสกาเหมือนบรรดานักพรตปฏิบัติ แต่เมื่อปฏิบัติเช่นนี้เรื่อย ๆ ท่านก็รู้สึกว่าการทำพลีกรรมเช่นนี้ยังไม่เพียงพอ ท่านจึงเปลี่ยนไปเป็นถือพรตอดอาการตลอดทั้งปี โดยท่านจะถือพรตอดอาหารเป็นเวลาสี่วันต่อสัปดาห์และทุกวันศุกร์ ท่านจะรับประทานเพียงขนมปังและน้ำเพื่อประทังชีวิต ชีวประวัติของท่านสำนวนเดียวกันกับที่ให้ข้อมูลเรื่องวัตรปฏิบัติในวัยเยาว์ของท่านยังได้ระบุอีกว่า นอกจากถือวัตรปฏิบัติเช่นนี้เมื่อท่านยังอายุไม่ถึง 7 ปีดี ท่านยังได้หาเข็มขัดหนามมาสวมรอบเอวเพื่อทรมานตนอย่างลับ ๆ อีกด้วย

ในช่วงชีวิตนี้นอกเหนือจากประสบการณ์ระหว่างท่านกับพระเจ้าอันลึกลับ คำสอนของพระสงฆ์ที่ดูแลท่านยังได้คอยเติมเต็มกำลังใจของท่านในการใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นอย่างมาก คุณพ่อองค์นั้นได้สอนให้ท่านตระหนักได้ถึงความไม่เที่ยงแท้ของร่างกาย คุณพ่อได้อธิบายให้ท่านเข้าใจว่า ไม่ว่าร่างกายของท่านจะเป็นแบบไหน สักวันหนึ่งมันก็ต้องกลับกลายเป็นเพียงผงคุลีดิน คงมีเพียงแต่เพียงวิญญาณที่ยังดำรงอยู่ต่อไป วิญญาณนี้เองเป็นสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระองค์ ดังนั้นท่านต้องหมั่นระลึกเสมอว่า บิดาของท่านแท้จริงคือองค์พระเจ้า ผู้ทรงรักท่านและปรารถนาให้ท่านตอบสนองต่อความรักของพระองค์ด้วยการรักพระองค์ อันจะนำไปสู่ความสุขแท้และความครบครัน และในช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและความทุกข์ยากนี้ มนุษย์ต้องพัฒนาความรักต่อพระเจ้าให้มากขึ้น เหตุฉะนี้การมองเห็น การเป็นคนปกติ หรือการเป็นที่รักเอ็นดูของมนุษย์จึงไม่จำเป็นเท่าวิญญาณที่งดงาม คำสอนเช่นนี้ส่องสว่างภายในวิญญาณของท่าน และทำให้หัวใจของท่านเต็มไปด้วยความยินดีในการใช้ชีวิตในห้องเล็ก ๆ รวมถึงสามารถที่จะรักบิดามารดาผู้นาน ๆ ทีถึงจะมาเยี่ยมท่าน ด้วยการค้นพบว่าทั้งสองคือตัวแทนของพระเจ้าในโลกนี้

เมืองเมร์กาเตลโล

9 ปี ผ่านไปในห้องข้างวัด ที่ท่านได้เติบโตขึ้นในความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าเหมือนบรรดานักพรตหญิงผู้ขังตนในห้องข้างวัด (Anchoress) พระเจ้าก็ทรงทดสอบความรักของข้ารับใช้ของพระองค์อีกครั้ง เมื่อผู้นำแคว้นมอนเตเฟลโต ซึ่งเป็นศัตรูกับนายปาริซีโอก็ได้กรีฑาทัพเข้าตีแคว้นมัสซา ตราบีรีอา นายปาริซีโอที่เป็นห่วงความปลอดภัยของภรรยาและความลับของตระกูลที่เก็บซ่อนไว้มานานนับสิบห้าปีจะแตก จึงได้ให้นางเอมิลีอานำท่านออกจากห้องข้างวัดที่ขังท่านมาตลอดเก้าปี โดยเอาผ้าคลุมหน้าสีเข้มคลุมหน้าท่านไว้แล้วจึงเร่งพาหนีไปหลบภัยที่ปราสาทของตนในเมืองเมร์กาเตลโล ในขณะเขาและกองทหารที่เหลือจะคอยยันข้าศึกไว้ให้สามารถเข้ามาได้อยู่ที่ปราสาทเมโตลา 

เมื่อมาถึงปราสาทแห่งหนึ่งในเมืองเมร์กาเตลโล นางเอมิลีอาก็มิได้จัดให้ท่านที่พึ่งถูกพาออกมาจากห้องข้างวัดครั้งแรกในรอบหลายปีไว้ที่ชั้นบนของปราสาทที่นางพัก ตรงกันข้ามนางได้จัดให้ท่านอยู่ที่ห้องใต้ดินห้องหนึ่งของปราสาท ที่มีสภาพไม่ต่างอะไรจากห้องนิรภัย ในห้องแห่งนั้นนอกจากที่นอนยอดฟางหนึ่งอันและม้านั่งสภาพโกโรโกโสหนึ่งตัว ไม่มีเครื่องเรือนอื่นใดอีก ไม่เพียงเท่านั้นนางยังได้ตั้งกฏใหม่ คือ เมื่ออยู่ที่นี่ท่านจะได้รับอาหารเพียงวันละสองครั้งและห้ามท่านเรียกใครไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ ก็ตาม ในสภาพความเป็นอยู่ที่น่าเวทนายิ่งขึ้นนี้ไม่ได้สร้างความทุกข์ใจให้ท่าน เท่ากับการที่ในสภาพความเป็นอยู่ใหม่นี้ ท่านได้ถูกตัดขาดจากพิธีมิสซา ศีลอภัยบาป ศีลมหาสนิท และพระสงฆ์ผู้คอยหนุนนำวิญญาณของท่านเช่นที่ห้องเดิมที่ท่านจากมา แต่กระนั้นก็ตามท่านยังคงน้อมรับความทุกข์ยากที่เผชิญด้วยน้ำใจกล้าหาญและศรัทธา ยามนี้มีเพียงพระหรรษทานของพระเจ้าเท่านั้นที่หนุนนำหัวใจดวงน้อย ๆ ของท่านให้น้อมรับกางเขนนี้ให้ผ่านพ้นไป

วัดนักบุญฟรังเชสโก เมืองกิตตา ดิ กัสติลโล

วันเวลาล่วงผ่านไปได้ราว 2 ปี คณะนักจาริกจำนวนห้าคนก็ได้เดินทางผ่านเมืองเมร์กาเตลโล ทั้งห้าได้แจ้งให้ชาวเมืองทราบถึงเหตุการณ์บ้านเมืองต่าง ๆ ภายในรัฐสันตะปาปาและได้เล่าถึงเหตุอัศจรรย์จำนวนมากที่เกิดขึ้นที่หลุมศพของภารดายาโกโม ภารดาคณะฟรังซิสกันขั้นสาม ซึ่งพึ่งสิ้นใจไปได้ไม่นานที่วัดนักบุญฟรังเชสโก เมืองกิตตา ดิ กัสติลโล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเมร์กาเตลโล (ปัจจุบันเมืองกัสติลโล อยู่ใน จ. เปรูยา แคว้นอุมเบรีย) ข่าวอย่างหลังอันน่าเหลือเชื่อนี้ไปถึงหูของนางเอมิลีอา และเมื่อสามีของนางเดินทางกลับมาภายหลังกองทัพแคว้นมอนเตเฟลโตล่าถอยไป เพราะเกรงว่าจะถูกชาวเปรูยาเข้ารบด้วยในอีกไม่กี่วันถัดมา นางจึงได้เล่าเรื่องนี้ให้สามีฟัง พร้อมทั้งได้เสนอให้พาท่านไปยังหลุมศพของภารดาท่านนั้นเพื่อวอนขออัศจรรย์ ทีแรกนายปาริซีโอก็ไม่ได้ปักใจเชื่อเรื่องที่ภรรยาเล่าในทันที แต่เมื่อคิดไปคิดมาว่าพวกเขาเองไม่มีอะไรจะต้องเสียอีก เขาก็บอกให้นางรีบจัดแจงตระเตรียมสิ่งต่าง ๆ เพื่อออกเดินทางในวันรุ่งขึ้น เขายังบอกกับนางเอมิลีอาอีกว่า “เอมิลีอา การแสวงบุญครั้งนี้จะแก้ไขปัญหาของพวกเรา”

รุ่งขึ้นเมื่อทุกอย่างถูกตระเตรียมพร้อมสรรพสำหรับการเดินทาง นายปาริซีโอ นางเอมิลีอา และท่านที่ถูกซ่อนเร้นใบหน้าอยู่ภายใต้ผ้าคลุมศีรษะผืนหนาเหมือนคราวที่ถูกพามา จึงได้ออกเดินทางข้ามเทือกเขาอัปเปนนินีที่ทอดยาวตั้งแต่ตอนเหนืองมาถึงตอนใต้ของอิตาลีเพื่อมุ่งไปยังเมืองกิตตา ดิ กัสติลโลพร้อมด้วยทหารอารักขา 12 นาย การเดินทางครั้งนี้ใช้เวลาไม่นาน และเมื่อทั้งสามเดินทางมาถึงที่หมาย นายปาริซีโอได้เลือกพักในโรงแรงที่ดีที่สุด บริเวณชั้นนอกของเมืองใกล้ประตู และในขณะที่ปล่อยให้ภรรยาและธิดาพักผ่อนในโรงแรม เขาก็ใช้โอกาสนั้นออกตระเวนไปทั่วเมือง เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องวัดนักบุญฟรังเชสโกและเรื่องภารดายาโกโมว่าเป็นเรื่องจริงเท็จเพียงไหน และแม้จะหัวเสียอยู่บ้างที่ทราบว่าภารดายาโกโมเสียชีวิตไปแล้ว เขาก็ได้กลับมาแจ้งกับท่านว่า “พรุ่งนี้แม่ของเจ้าและพ่อจะพาเจ้าไปที่วัดนักบุญฟรังเชสโก พวกเราจะไปแก้บาปและรับศีลก่อนที่จะมาสวดขอให้เจ้าหายดี พ่อต้องการให้เจ้าสวดขอให้เจ้าหายป่วยโดยสมบูรณ์อย่างสุดจิตสุดใจตั้งแต่คืนนี้ไปจนถึงพรุ่งนี้เช้า” ท่านเองก็รับปากบิดาของท่านว่า “แน่นอนค่ะ ท่านพ่อ สุดจิตสุดใจ”

พระแท่นในวัดนักบุญฟรังเชสโกที่เชื่อว่าสร้างโดยบุญราศียาโกโม 
เป็นร่องรอยเพียงไม่กี่อย่างของวัดหลังเก่า ภายหลังการบูรณะวัดในศตวรรษที่ 16

เมื่อเวลาล่วงถึงเช้าวันของถัดมา ทั้งสองจึงพาท่านเดินทางมาร่วมมิสซาที่วัดนักบุญฟรังเชสโก และได้พาท่านมาอยู่ต่อหน้าหลุมศพของภารดายาโกโม พร้อมได้กำชับให้ท่านสวดภาวนาวอนขออัศจรรย์ให้หายจากอาการพิกลพิการที่มีมาแต่กำเนิด และเมื่อเห็นท่านปฏิบัติดังนั้น นายปาริซีโอและนางเอมิลีอาที่ไม่ได้เป็นคริสตังใจศรัทธาอยู่แล้วเป็นทุนเดิมจึงได้ปล่อยท่านไว้ตามลำพังโดยไม่ได้ไปรีบศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิทตามที่บอกกับท่าน นายปาริซีโอคิดกระหยิ่มในใจจากข้อมูลที่เขาได้สอบถามมาและได้อธิบายให้ภรรยาฟังว่า อย่างไรเสียพระเจ้าก็จะต้องทรงรับฟังคำภาวนาของท่าน เพราะขนาดคนไม่มีหัวนอนปลายเท้ายังได้รับอัศจรรย์จากพระเจ้าอาศัยคำเสนอวิงวอนของภารดาผู้นี้ แล้วนี่ธิดาของเขาเป็นถึงทายาทของผู้ดีมีตระกูล มีบรรดาศักดิ์ พระเจ้าจะไม่ทรงสดับฟังเป็นพิเศษเชียวหรือ เพียงแต่ต้องใช้เวลาเสียหน่อย ดังนั้นเขาและภรรยาจึงได้ออกไปเดินเที่ยวชมเมืองระหว่างรออัศจรรย์อย่างใจจดใจจ่ออีกครั้ง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ทั้งสองคิดไว้ เพราะในขณะที่ทั้งสองปรารถนาให้บุตรสาวสวดอ้อนวอนขออัศจรรย์เพียงอย่างเดียว แต่ด้วยวิญญาณที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาในการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ท่านจึงไม่เพียงขอวอนให้พระเจ้าทรงรักษาท่านให้หายเป็นปกติ แต่ยังได้ทูลขอให้ทุกสิ่งเป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์ เพื่อว่าท่านจะได้ใช้ชีวิตร่วมแบกกางเขนไปพร้อมกับพระองค์จนถึงช่วงเวลาสุดท้ายอย่างมีความสุข และดูเหมือนว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงปรารถนาให้ท่านน้อมรับกางเขนนี้ต่อไป เพื่อเป็นแบบฉบับแก่โลกในทุกกาลสมัย ดังนั้นจึงไม่เกิดอัศจรรย์ใด ๆ ขึ้นกับท่านเหมือนที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากที่เดินทางมาสวดภาวนายังสถานที่แห่งนี้

แผนที่เมืองกิตตา ดิ กัสติลโล เขียนในศตวรรษที่ 17

นายปาริซีโอและนางเอมิลีอาที่ต้องเผชิญกับความผิดหวังอีกครั้งเหมือนวันที่พวกเขาได้พบท่านครั้งแรกที่ปราสาทเมโตลา เมื่อทั้งสองกลับมาที่วัดนักบุญฟรังเชสโกและพบว่าธิดาในวัยแรกรุ่นยังคงพิกลพิการ และไม่อาจจะเป็นสง่าราศีให้กับตระกูล ซ้ำยังเป็นภาระต่อไปไม่รู้จบดังเดิม ดังนั้นทั้งสองจึงได้ตัดสินใจ ‘ทิ้ง’ ท่านไว้ที่นี่ตลอดไป และได้หันหลังเดินทางจากท่านกลับไปยังโรงแรมเพื่อเก็บข้าวของต่าง ๆ ก่อนที่จะเร่งออกเดินทางมุ่งสู่เมืองเมร์กาเตลโล โดยไม่เคยบอกกับท่านหรือกลับมารับท่านอีกเลย นี่เองจึงเป็นไปดังคำที่นายปาริซีโอบอกกับภรรยาก่อนออกเดินทาง ว่าการเดินทางครั้งนี้จะจบปัญหาของพวกเขาลง  (นักเขียนชีวประวัติของท่านในยุคใหม่ได้แก้ต่างในเรื่องนี้ว่า บางทีทั้งสองอาจไม่ได้ตั้งใจทิ้งท่านไว้ เพียงแต่ทั้งสองอาจเพียงมุ่งฝากท่านไว้ที่อารามสักแห่งในเมือง แล้วค่อยมารับกลับเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นจากการมีสงครามเป็นระยะ ๆ เพียงแต่ในท้ายที่สุดทั้งสองอาจเสียชีวิตลงก่อนที่จะได้ทำเช่นนั้น)

เมื่อบิดามารดาท่านจากไปอย่างเงียบ ๆ ท่านยังคงเฝ้าสวดภาวนาตามคำสั่งของบิดาจนพลบค่ำ โดยไม่รู้ว่าบัดนี้ท่านได้ถูกทิ้งจากผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดามารดาไปเสียแล้ว ท่านจึงถูกคนดูแลวัดไล่ออกมาอยู่ด้านนอกเพื่อเขาจะได้ปิดวัด ท่านที่ไม่อาจจะไปไหนได้เพราะดวงตาที่มืดบอด จึงต้องอาศัยนอนอยู่ที่หน้าประตูวัดนักบุญฟรังเชสโก จนรุ่งสางเมื่อขอทานเจ้าถิ่นชื่อ ‘โรแบร์โต’ และ ‘เอเลนา’ เดินทางมาเพื่อประจำที่ขอทานของทั้งสอง พวกเขาก็ได้พบกับท่าน ทีแรกทั้งสองคิดว่าท่านเป็นขอทานต่างถิ่นที่จะมาแย่งที่ขอทานของพวกเขา จึงรีบตรงปรี่เข้าไปหมายจะเอาเรื่อง แต่เมื่อเห็นว่าเสื้อผ้าที่ท่านสวมไม่ใช่เสื้อผ้าของคนธรรมดา รวมถึงได้ฟังเรื่องราวของท่านทั้งสองก็ต่างเห็นอกเห็นใจ และเห็นช่องทางที่จะได้เงินจากการพาท่านไปส่งคืนได้ สองขอทานจึงได้ช่วยกันพาท่านเดินทางไปที่โรงแรงที่ท่านพักกับบิดามารดา ฝั่งเจ้าของโรงแรมก็ได้แจ้งให้ท่านทราบว่าบิดามารดาของท่านได้ออกเดินทางไปตั้งแต่เมื่อวาน และให้ท่านไปลองถามทหารยามที่ประตูเมืองอีกที ท่านจึงได้เดินทางไปยังประตูเมืองและได้ทราบว่าบิดามารดาของท่านได้เดินทางกลับไปแล้วอย่างที่เจ้าของโรงแรมแจ้งทุกประการ

เมืองกิตตา ดิ กัสติลโล

“พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ พระองค์จะไม่ทรงอนุญาตให้ท่านถูกผจญเกินกำลังของท่าน” (1 โครินธ์ 10:13) เมื่อได้ทราบเช่นนี้แล้ว ความโทรมนัสย์ไม่น้อยก็ถาโถมเข้ามายังดวงใจน้อย ๆ ของท่าน ท่านที่ไร้ที่พึ่งโดยสมบูรณ์ได้หันหน้าเข้าหาพระเจ้า ผู้เป็นบิดาแท้ของท่าน ทูลพระองค์ด้วยคำภาวนาซื่อ ๆ เพื่อวอนขอคำแนะนำในหนทางข้างหน้า และด้วยความไว้วางใจในการทรงนำของพระองค์ เหมือนเด็กเล็ก ๆ วางใจในบิดามารดาของตน ท่านจึงได้เริ่มชีวิตใหม่ที่ไร้เงาบิดามารดาอย่างกล้าหาญ ไม่เพียงเท่านั้นดังเช่นที่ผ่าน ๆ มาแม้จะได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมจากบุคคลที่ได้ชื่อว่าบิดามารดา ท่านก็ไม่ได้โกธรเคืองทั้งสองและยังคงเคารพรักทั้งสองเสมอ ทั้งรู้ดีว่าทั้งสองนั้นหลาดกลัวการมีอยู่ของท่านในฐานะทายาทเพียงใด ดังนั้นเมื่อต้องเริ่มชีวิตใหม่ที่เมืองกิตตา ดิ กัสติลโล ท่านจึงไม่เคยเอ่ยถึงชาติตระกูลของท่านให้ใครได้รับรู้อีกเลย

สองขอทานโรแบร์โตและเอเลนาเมื่อทราบว่าถูกบิดามารดาทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี ด้วยความสงสารจึงถามท่านว่า ท่านพอจะมีเงินติดตัว หรือมิตรสหาย หรือทำงานอะไรในเมืองแห่งนี้ได้บ้าง ท่านเองที่ชีวิตเกือบทั้งหมดถูกขังอยู่ภายในห้องเล็ก ๆ จึงตอบว่าท่านไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาถามถึงเลย ดังนั้นสองขอทานจึงได้สอนให้ท่านเริ่มเป็น ‘ขอทาน’ เพื่อว่านอกจากมีข้าวกินประทังชีวิต อย่างน้อยที่สุดหากเกิดอะไรไม่ดีขึ้นกับท่านที่ทุพพลภาพเป็นทุนเดิม บรรดาขอทานในเมืองจะได้คอยช่วยเหลือท่านได้ ทั้งสองแนะนำถนนเส้นต่าง ๆ ในตัวเมือง แหล่งน้ำที่ใช้ดื่มและอาบ รวมถึงบริเวณประตูเมืองที่ท่านสามารถหลบไปนอนได้ในตอนกลางคืน โดยที่จะไม่โดนทหารยามเข้าจับกุม นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มของชีวิตที่เป็นอิสระจากห้องขังเล็ก ๆ ของท่าน ในฐานะขอทานแห่งเมืองกิตตา ดิ กัสติลโล โดยมีสองขอทานและขอทานคนอื่น ๆ เป็นสหายคอยช่วยเหลือกันดุจครอบครัว


แม้ชีวิตดูจะพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือในแง่ของการใช้ชีวิตประจำวัน ท่านยังคงมีใจร่าเริง มีความเชื่อ และสันติอยู่ภายในตัวของท่านอยู่เสมอ เคล็ดลับที่ทำให้ท่านสามารถปฏิบัติเช่นนี้ได้ อาจพบได้ในเรื่องเล่าในฤดูหนาวแรกที่ท่านเริ่มเป็นขอทาน เวลานั้นนางเอเลนาที่เห็นว่าบริเวรประตูที่ท่านอาศัยหลับนอนไม่สามารถกันความหนาวเย็น ได้ขอพาท่านมาพักหลบหนาวที่คอกม้าของช่างไม้ชื่อเปียโตร ซึ่งเขาก็มีใจเมตตาให้เธอและท่านอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนั้นได้ตามสบาย ท่านที่เอ่ยขอบคุณทั้งสองในความกรุณา ได้แสดงความรู้สึกประหลาดใจไม่น้อยถึงวิถีทางอันน่ามหัศจรรย์ของพระเจ้าที่ทรงอนุญาตให้ท่านมีพักพิงเหมือนดังพระบุตรของพระองค์ให้กับนางเอเลนาฟัง จนนางเอเลนาถึงกับไปเป็นถึงความคิดของท่าน นอกจากนี้ท่านยังได้อธิบายให้นางฟังอีกว่า “เพื่อนรัก หากเธอได้ลองเพียงสัมผัสความรักพระเจ้าผู้ทรงกระหายที่จะรักแม้แต่คนจร เธอก็ได้พบสันติและความสุข” จากเหตุการณ์นี้ได้แสดงให้เห็นความลับที่ทำให้ท่านยังคงมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีความสุข สันติ และเปี่ยมไปด้วยความหวังเสมอ นั่นคือการตระหนักถึงความรักที่พระเจ้ามีต่อท่าน และการนำประสบการณ์ของตนเองเข้าทาบเทียบกับพระองค์ อันเป็นสิ่งที่ท่านปฏิบัติมาตลอดตั้งแต่ถูกพาไปเลี้ยงไว้ที่ห้องข้างวัด

อาจกล่าวได้ว่าในทัศนะของท่าน ท่านไม่ได้มองว่าความพิกลพิการที่ตนได้มาแต่กำเนิด รวมถึงเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นการลงโทษของพระเจ้า ตรงกันข้ามท่านเข้าใจดีว่าอาศัยความทุกข์ทรมานต่าง ๆ ได้ทำให้ ‘ความรักต่อพระเจ้า’ ในตัวของท่านบริสุทธิ์และลุ่มลึกมากขึ้น รวมถึงทำให้ท่านได้ใกล้ชิดกับองค์พระเยซูเจ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นทางนำไปสู่ความครบครันของวิญญาณ ดังนั้นท่านจึงไม่เคยบ่นว่าต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านประสบ ตรงกันข้ามท่านได้น้อมรับมันด้วยความเชื่ออย่างสุดหัวใจ และอาศัยประสบการณ์ความทุกข์ยากที่ท่านพบเจอ ไม่ได้ทำให้ท่านใช้มันเป็นข้ออ้างในการหาประโยชน์หรือกอบโกยโอกาสทางโลก ตรงกันข้ามประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ท่านเรียนรู้ที่จะเปิดหัวใจดวงน้อย ๆ ของท่านให้กับทุกคนที่เผชิญกับปัญหาอย่างไม่ปิดกั้น โดยเฉพาะคนที่ประสบปัญหาหนักกว่าท่าน เราอาจจินตนาการได้ว่าท่านค้นพบวิธีที่จะรัก ด้วยการค้นพบพระเจ้าในตัวเขาเหล่านั้นอย่างเดียวกับที่ท่านทำต่อบิดามารดา


ด้วยลักษณะที่ผิดแปลกไปจากขอทานคนอื่น ๆ ทำให้คนที่ไม่มีฐานะมากในเมืองหลายคน มักพาท่านมาพักที่บ้านของพวกเขาตามความสามารถของพวกเขาจะเอื้อด้วยความรักใคร่เอ็นดู และเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่บ้านทุกหลังซึ่งอ้าแขนต้อนรับท่านต่างได้พบ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ดังที่ผู้เขียนชีวประวัติของท่านรายหนึ่งได้พรรณนาว่า “มารีโอคนทำขนมปังและภรรยาของเขาไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากมีเรื่องทะเลาะกันมาทั้งชีวิต เดี๋ยวนี้พวกเขาต่างอยู่ด้วยกันด้วยความอดทน ส่วนเปียโตรช่างก่ออิฐและภรรยาผู้ต้องทนทุกข์จากเรื่องร้าย ๆ มาตลอด เดี๋ยวนี้พวกเขาก็อยู่ในสันติและมองโลกในแง่ดีขึ้น บางบ้านที่มีปัญหาระหองระแหงกับเพื่อนบ้าน เดี๋ยวนี้พวกเขาก็กลับมาเข้าใจกันดี บางบ้านห่างวัดห่างวา เดี๋ยวนี้ก็กลับมานั่งคิดจริงจังถึงความรอดนิรันดร์ของพวกเขา ส่วนครอบครัวที่ยากไร้ พวกเขาก็พบคุณค่าความหมายของชีวิตที่พวกเขาเป็นอยู่” ความเปลี่ยนแปลงอันน่ามหัศจรรย์ภายในบ้านที่ต้อนรับท่านนี้ เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่ามาจากชีวิตอันน่าพิศวงของท่านที่พวกเขาผู้อ้าแขนต้อนรับท่านได้ประจักษ์ด้วยตาเนื้อ หรือเป็นผลของคำภาวนาของท่านต่อพระเจ้าให้ทรงตอบแทนบรรดาครอบครัวที่มีใจเมตตาเหล่านี้กันแน่...

ชีวิตของท่านนักบุญมาร์เกอริตายังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ ในตอนต่อไปเมื่อมุกเม็ดงามได้รับการอ้าแขนต้อนรับให้เข้าเป็นนักพรต แต่ดูเหมือนว่าทางของท่านที่สูงกว่าทางของนักพรตคนอื่น ๆ กำลังจะสร้างปัญหาให้กับท่าน ชีวิตของท่านจะเป็นอย่างไรในอารามเมืองกิตตา ดิ กัสติลโล นี่จะเป็นกางเขนใหม่หรือกางเขนสุดท้ายของท่านกันแน่ มีความลำบากใดอีกบ้างที่มุกเม็ดงามนี้ต้องพบเจอก่อน ก่อนจะถึงวันนี้วันที่พระศาสนจักรสากลได้ยกย่องมุกเม็ดนี้ไว้ในฐานะอันศักดิ์สิทธิ์ ติดตามต่อใน 'มาร์เกอริตา' มุกงามของพระ ตอนจบ (คลิกที่ลิ้งค์ได้เลย)


“ข้าแต่ท่านนักบุญมาร์เกอริตา แห่ง กิตตา ดิ กัสเตลโล ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
http://www.causesanti.va/it/santi-e-beati/margherita-di-citta-di-castello.html
http://conoscendo.altervista.org/primo-articolo/?doing_wp_cron=1642416331.0312769412994384765625
https://www.op.org/st-margaret-of-citta-di-castello/biography-of-st-margaret-of-citta-di-castello/
http://prieststuff.blogspot.com/2011/02/blessed-margaret-of-castello-patroness.html
https://catholicism.org/blessed-margaret-castello.html
https://www.afcmmedia.org/Mystical-04.html
https://www.beatamargheritadellametola.it/
http://www.santiebeati.it/dettaglio/90763
https://messaggerosantantonio.it/content/margherita-da-citta-di-castello-finalmente-santa
https://en.wikipedia.org/wiki/Margaret_of_Castello

วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ภารกิจแห่งรักของ 'ซันดรา'

บุญราศีซันดรา ซาบัตตินี
Bl. Sandra Sabattini
วันฉลอง: 2 พฤษภาคม

ทุกวันนี้มีคริสตังที่ดีมีมากขึ้น ในขณะที่โลกนั้นต้องการนักบุญ” ถ้อยวลีดังกล่าว มาจากบันทึกตอนหนึ่งของอนาคตยุวนักบุญองค์ใหม่ ซึ่งในวันนี้พระศาสนจักรได้รับรองคุณธรรมขั้นคารวียะ และอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอน จึงได้ยกท่านไว้ให้มีฐานะ ‘บุญราศี’ อันเป็นลำดับขั้นสุดท้ายก่อนการบันทึกนามคริสตชน ผู้ดำเนินชีวิตอย่าง ‘ศักดิ์สิทธิ์’ สมควรเป็นแบบอย่างของคริสตชนทั้งหลาย ในสารบบนักบุญอย่างสง่า หากแม้นมีอัศจรรย์อีกครั้งเดียวอาศัยคำเสนอวิงวอน บุญราศีองค์นี้มีนามว่า ‘ซันดรา ซาบัตตินี’ เยาวชนหญิงวัย 22 ปี จากสังฆมณฑลริมินี ประเทศอิตาลี ผู้มีชีวิตแสนจะธรรมดาเหมือนกับพวกเรา แต่ก็ไม่ธรรมดาด้วยวิถีอันพิเศษจากตัวท่าน และมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับพวกเราในเวลานี้

บุญราศีซันดรา ซาบัตตินี เกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1961 ที่โรงพยาบาลประจำเมืองริกโชเน จ. ริมินี ในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา ทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอิตาลี เมื่อท่านเกิดไม่ได้มีปรากฏการณ์อัศจรรย์ใดเกิดขึ้นกับท่าน มารดาหรือบิดามารดาของท่านมิได้ฝัน หรือเห็นนิมิตทูตสวรรค์หรือเครื่องหมายใด ๆ หรือมีเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นในวันที่ท่านถือกำเนิด อย่างเช่นเรื่องราวของบรรดานักบุญมากมายในพระศาสนจักรที่เราเคยได้ยินมา ท่านเป็นเพียงบุตรคนแรกจากทั้งหมดสองคนของนายยูเซปเป ซาบัตตินี และนางอักเนเซ โบดินี สองสามีภรรยาใจศรัทธา ซึ่งอาศัยอยู่ที่วัดพระมารดาแห่งความรักอันงดงาม หมู่บ้านมิซาโน เซลลา เมืองมิซาโน อาดรีอาติโก ที่มีคุณพ่อยูเซปเป โบดินี พี่ชายของนางอักเนเซทำงานอภิบาลอยู่ และสืบเนื่องจากที่หมู่บ้านมิซาโน เซลลาไม่มีโรงพยาบาล ทั้งสองจึงได้มาคลอดท่านที่โรงพยาบาลเมืองริโชเน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกัน และได้นำท่านรับศีลล้างบาปในวันรุ่งขึ้นที่วัดน้อยประจำโรงพยาบาลนั้น ด้วยนามว่า ‘ซันดรา มารีอา อัสซุนตา’ ก่อนให้หลังยี่สิบวันทั้งสองจึงพาท่านไปประกอบพิธีเล็ก ๆ เพื่อขอพรจากพระ และรับการต้อนรับเป็นสมาชิกใหม่ของชุมชนที่วัดพระมารดาแห่งความรักอันงดงาม หมู่บ้านมิซาโน เซลลา


สี่ปีต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1965 คุณพ่อยูเซปเป โบดินี จึงได้รับการแต่งตั้งจากทางสังฆณฑลริมินีให้มาทำงานอภิบาลที่เขตวัดใหม่ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนบริเวณชายฝั่งเมืองริมินี จ. ริมินี ที่เรียกกันว่า ‘มารีนา เชนโตร’ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อว่า ‘วัดนักบุญยิโรลาโม’ คุณพ่อจึงได้ย้ายมาพักที่เขตวัดใหม่ โดยในทีแรกคุณพ่อมิได้ประสงค์ให้ครอบครัวน้องสาวติดตามมาด้วย เนื่องจากคุณพ่อทราบดีว่าในขณะนั้นวัดนักบุญยิโรลาโมยังไม่มีทั้งตัววัด หรือแม้แต่พระแท่นถาวรในการประกอบพิธี คุณพ่อจึงได้ย้ายมาประจำแต่ลำพัง กระทั่งเมื่อนายยูเซปเปและนางอักเนเซได้พาท่านในวัย 4 ปี เดินทางขึ้นมาเยี่ยมคุณพ่อที่นี่ และได้เห็นอากัปกิริยาที่ท่านรีบกระโดดไปให้คุณพ่อกอดด้วยท่าทีมีความสุข ทั้งสองจึงตัดสินใจย้ายครอบครัวติดตามคุณพ่อมายังวัดแห่งนี้ แม้จะมีความไม่สะดวกสบายอยู่บ้างก็ตาม ทำให้ท่านในวัย 4 ปี จึงได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่วัดนักบุญยิโรลาโม เมืองริมินี

เมื่อย้ายขึ้นมาอยู่ที่ริมินีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านเติบโตขึ้นเช่นเด็กหญิงรุ่นราวคราวเดียวกันทั่วไป ท่านได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ใกล้เคียงเริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาลเรื่อยไปจนถึงมัธยมศึกษาตามลำดับ ท่านเป็นเด็กหัวดี เรียนเก่ง ร่าเริง ชอบวาดรูป เล่นเปียโน และเป็นนักวิ่งระยะสั้นในทีมนักกรีฑาของโรงเรียน และแน่นอนไม่ได้มีเหตุการณ์อัศจรรย์ใดเกิดขึ้นในช่วงชีวิตวัยเยาว์ของท่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประจักษ์มาของพระกุมาร แม่พระ นักบุญ หรือปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติอื่น ๆ แต่ในท่ามกลางชีวิตที่ธรรมดาสามัญนั้นเอง ‘ความพิเศษ’ บางประการในวิญญาณดวงน้อย ๆ ของท่าน อันเป็นผลิตผลที่เกิดจากพื้นฐานครอบครัวคริสตชนที่ดี และบรรยากาศที่ใกล้ชิดกับวัดมาตั้งแต่เล็ก ๆ ก็ได้ฉายแววออกมาจากตัวของท่านให้คนรอบข้างได้เห็น นั่นคือ ‘สายสัมพันธ์’ ระหว่างท่านกับพระเป็นเจ้า ที่นับวันยิ่งร้อยรัดถักแน่นขึ้นตามวัยของท่าน


ท่านมีสายประคำไว้กับตัวเสมอ เป็นสายประคำเส้นเล็ก ที่มีประคำเม็ดใหญ่ 1 เม็ด และประคำเม็ดเล็กอีก 10 เม็ดรวมเป็น 1 ทศ คุณยายของท่านเล่าว่า ในตอนเย็นนางมักพบท่านผลอยหลับไปบนเตียงพร้อมด้วยลูกประคำในมือ ในขณะที่คนดูแลท่าน เมื่อท่านไปเข้าค่ายเมื่ออายุได้ 7 ปี ได้เป็นพยานว่า “ฉันมักเห็นเธอเดินเข้าไปที่วัดน้อยเพียงลำพัง โดยที่มีข้างหนึ่งถือตุ๊กตาไว้ ส่วนอีกข้างถือสายประคำ เธอจะคุกเข่าลงที่ม้านั่งตัวสุดท้ายและก้มศีรษะน้อย ๆ ของเธอลง เธอจะทำอย่างนั้นอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงจะออกมาและไปสมทบกับเพื่อน ๆ ด้วยท่าทีมีความสุข” นอกจากนี้ในสมัยท่านเรียนในระดับประถมศึกษา ยังมีพยานอีกจำนวนหนึ่งได้เคยเห็นท่านรำพึงอยู่หน้าตู้ศีลในตอนเช้าอีกด้วย พยานอีกรายให้การถึงเรื่องนี้ ก็คือคุณลุงของท่านที่ได้เล่าว่า “เธอจะตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อมานั่งรำพึงตามลำพัง บางครั้งในความมืด อยู่เบื้องหน้าศีลมหาสนิท ก่อนที่คนอื่น ๆ จะมาวัด ในวันขึ้นปีใหม่เธอจะมาอยู่เบื้องหน้าพระเยซูเจ้าด้วยความศรัทธา ตั้งเวลาตีหนึ่งถึงตีสอง เธอชอบที่จะนั่งสวดภาวนาอยู่ที่พื้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความนอบน้อมและยากจน”

เมื่อท่านมีอายุได้ 8 ปี ท่านจึงได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1970 หลังจากนั้นอีกสองปีท่านจึงได้ศีลกำลังในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1972 ซึ่งก่อนหน้าที่ท่านจะได้รับศีลกำลังเพียงไม่กี่เดือน ในวันที่ 24 มกราคม ปีเดียวกัน ท่านยังได้เริ่มเขียนบันทึก ที่ช่วยให้เราได้เห็นความคิด ประสบการณ์ และความงดงามภายในวิญญาณของท่าน ที่ถูกแฝงเร้นไว้ในชีวิตที่แสนจะธรรมดานี้ ท่านเริ่มบันทึกด้วยข้อความสั้น ๆ ว่า “ชีวิตที่ไร้พระเจ้าเป็นเพียงเวลาชั่วขณะ ที่ทั้งน่าเบื่อและสนุก ให้เราได้เล่นไประหว่างรอความตาย” ข้อความสั้น ๆ นี้สะท้อนให้เห็นว่า ท่านในวัยย่างจะสิบปีได้ตระหนักถึง ‘ความไม่แน่นอน’ ของชีวิตบนโลกที่ท่านนิยามว่า คือ ชีวิตที่ไร้พระเจ้า ได้เป็นอย่างดี และการตระหนักรู้เช่นนี้เองที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการที่ท่านจะดำเนินชีวิตติดตามพระคริสตเจ้าในทุก ๆ วัน ด้วยการเฝ้ารำพึงภาวนาต่อพระองค์ ดังที่ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “จงทิ้งตัวไว้ในการรำพึงภาวนา การนมัสการบูชา การคอยท่าให้พระองค์ทรงเผยแสดงว่าทรงประสงค์สิ่งใดจากเธอ” (8 ตุลาคม ค.ศ. 1978)

คุณพ่อเบนซี (กลาง) และบุญราศีซันดรา (ขวาสุด)

ในการรอคอยด้วยคำภาวนาและความเชื่อ ที่สุดวันหนึ่งท่านก็ค้นพบหนทางติดตามพระคริสตเจ้าผ่านการรับใช้ผู้คน วันหนึ่งคุณพ่อโบดินี คุณลุงของท่านก็ได้เชิญคุณพ่อโอเรสเต เบนซีมาที่วัดเพื่อแนะนำกลุ่มสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ซึ่งพึ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1971 คุณพ่อเบนซีผู้นี้เป็นคุณพ่อเจ้าวัดพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ ที่ย่านกร็อตตา รอสซา ย่านชานเมืองริมินีบริเวณส่วนที่ขยายตัวไปตามแนวถนนที่มุ่งสู่สาธารณรัฐซานมารีโน และด้วยความสนใจเยาวชน เป็นพิเศษเยาวชนที่ถูกทอดทิ้งด้วยปัญหาต่าง ๆ รวมถึงคนชายขอบสังคม คุณพ่อจึงได้ริเริ่มกลุ่มสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ซึ่งมีจิตตารมณ์หลักคือการเจริญชีวิตติดตามพระเยซูผู้ยากไร้ ผู้รับใช้และผู้รับความทุกข์ทรมาน อาศัยการแบ่งปันชีวิตกับผู้ต่ำต้อยโดยตรง ผ่านการอุทิศชีวิตในการดูแลพวกเขาเหล่านั้นเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ท่านในวัย 12 ปี ที่มีโอกาสได้พบคุณพ่อเบนซีในโอกาสดังกล่าวก็รู้สึกประทับใจในจิตตารมณ์กลุ่มของคุณพ่อ ท่านจึงตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าว

ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1974 หรือปีต่อมาหลังจากท่านพบคุณพ่อเบนซี ท่านก็มีโอกาสเดินทางไปร่วมเข้ากิจกรรมค่ายเยาวชนกับกลุ่มสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ที่จัดให้ผู้พิการที่บ้านมาดอนนา เดลเล เวตเต ซึ่งตั้งอยู่ท่ามใจกลางเทือกเขาโดโลไมท์ ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ในกิจกรรมดังกล่าวคุณพ่อเบนซีมุ่งมั่นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้พบกับพระเยซูเจ้า ด้วยประสบการณ์ที่เข้มข้นท่ามกลางธรรมชาติและการลงแรงดูแลผู้พิการในตลอดระยะเวลาช่วงหยุดยาวภาคฤดูร้อน ประสบการณ์เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ตราตรึงใจไม่น้อยสำหรับท่าน และช่วยทำให้ท่านเข้าใจกระแสเรียกในการรับใช้พระเจ้าสำหรับชีวิตท่านมากขึ้น เมื่อกลับถึงบ้านท่านได้บอกกับมารดาของท่านว่า “พวกเราทำงานตัวเป็นเกลียว แต่นั่นคือคนที่หนูไม่มีวันทอดทิ้งค่ะ” และนับแต่นั้นมาท่านก็ได้เริ่มใช้เวลาว่างจากภาระร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มด้วยความกระตือรือร้น ซึ่งนอกเหนือจากร่วมกิจกรรมของกลุ่ม ท่านยังได้เริ่มออกตามหาคนยากไร้ถึงที่บ้านและได้กระตุ้นให้คนในเขตวัดที่ท่านอยู่ ตระหนึกถึงความสำคัญในการเอาใจใส่คนพิการ ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อมีคนยากไร้มาขอความช่วยเหลือที่บ้านของท่าน ท่านไม่เคยพอใจแค่ช่วยเหลือพวกเขาพร้อมครอบครัว แต่ยังคอยวิ่งตามพวกเขาไป เพื่อนำเงินจำนวนหนึ่งที่ท่านอดออมไว้ไปให้เขาเพิ่ม



“เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต: พื้นฐานสำคัญคือการรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าในการเจริญชีวิต เมื่อมองดูผู้คนฉันไม่ได้เห็นเพียงเขาคนนั้น แต่มองเห็นพระคริสตเจ้า ฉันปรารถนานำความรอดซึ่งคือองค์พระคริสตเจ้าไปให้พวกเขา” ดังที่ท่านเขียนไว้ในบันทึกลงวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 เมื่อได้เป็นสมาชิกกลุ่มสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ท่านมุ่งมั่นที่จะส่งต่อความรักอันศักดิ์สิทธิ์ อันคือความรอด คือองค์พระเยซูเจ้าเองไปยังคนยากไร้ คนติดยา และผู้ถูกทอดทิ้งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ท่านรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ตรงกันข้ามได้นำความสุขมากให้วิญญาณของท่าน เช่นที่ท่านเขียนไว้หลังจากไปเพื่อร่วมกิจกรรมให้ผู้พิการ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งกลุ่มทำงานของคุณพ่อเบนซีว่า “วันนี้ วันอาทิตย์ ฉันไปที่กร๊อตตา รอสซา เพื่อร่วมกิจกรรมสำหรับผู้พิการ หลังจากได้ร่วมกิจกรรมฉันมีความสุข ความสงบ ฉันรู้สึกได้ภายในวิญญาณของฉันถึงความสันติที่ฉันใฝ่หา” (11 เมษายน ค.ศ. 1976) ในเวลาเดียวกันท่านก็เคารพเสรีภาพของคน ดังที่ท่านเขียนว่า “ฉันไม่สามารถบังคับให้คนอื่นคิดแบบเดียวกับฉันได้ แม้ฉันจะคิดว่ามันถูกแล้วก็ตาม ฉันสามารถบอกได้เพียงความสุขของฉันกับพวกเขา” (4 ตุลาคม ค.ศ. 1977) กระนั้นท่านก็ไม่ย่อท้อที่จะส่งต่อความสุขของท่านให้ทุกคน ในช่วงเวลานี้บางโอกาสท่านก็ได้ไปพักอยู่บ้านของกลุ่ม เพื่อทำงานร่วมกลุ่มอีกด้วย

นอกจากการได้พบหนทางในการตอบสนองต่อกระแสเรียกการรับใช้ผู้ต่ำต้อย การเข้าร่วมกลุ่มสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ก็ยังทำให้ท่านในวัย 17 ปีได้พบกับ ‘กุยโด รอสซี’ ชายหนุ่มหนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่อายุแก่กว่าท่าน 2 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1978 ซึ่งทำให้ท่านได้พบกระแสเรียกเพิ่มเติม คือ ‘การแต่งงาน’ เพราะท่านและเขาได้เริ่มสานสัมพันธ์กันอย่างจริงจังในปีต่อมาและได้ตกลงเป็นแฟนกัน กุยโดที่หลงเสน่ห์ความโอบอ้อมอารีและความศรัทธาของท่าน เล่าถึงเดตแรกของเขากับท่านในการสัมภาษณ์ให้กับโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า “เดตแรกของพวกเรา คุณคิดว่าเธอจะไปเดตครั้งแรกกับแฟนของเธอที่ไหนละครับ เป็นเธอนี่เอง ที่แม้จะมีท่าทีที่เคร่งขรึมอยู่มาก แต่ก็เต็มไปด้วยพลัง ที่พาผมไปป่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อมองดูภาพของหญิงชราที่ถูกลืมในสุสาน” ส่วนท่านเขียนถึงความรู้สึกที่ท่านมีต่อกุยโด ภายหลังจากคบกับเขาได้สี่ปีว่า “การหมั้นหมาย: คือบางสิ่งที่บริบูรณ์ด้วยกระแสเรียก สิ่งที่ฉันมีต่อผู้อื่นคือความพร้อมที่จะรับใช้และความรักคือสิ่งเดียวกับที่ฉันสัมผัสได้จากกุยโด สองสิ่งนี้สอดสลับกันไปมาอยู่ในระดับเดียวกัน แม้จะต่างกันไปบ้าง” (23 กรกฎาคม ค.ศ. 1983)

กุยโด รอสซี แฟนหนุ่มของบุญราศีซันดรา

เมื่อจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาจากสายการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยคะแนน 59 จาก 60 คะแนน ท่านเริ่มลังเลใจว่าท่านควรจะดำเนินชีวิตเช่นไรต่อไประหว่างการเดินทางไปเป็นธรรมทูตที่แอฟริกาในทันที หรือเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์สักที่ก่อน ท่านจึงได้นำความกังวลใจนี้ไปปรึกษาคุณพ่อวิญญาณของท่านและคุณพ่อเบนซี ซึ่งทั้งสองก็ต่างให้ความเห็นตรงกัน คือ ท่านเลือกที่จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเสียก่อน ดังนั้นใน ค.ศ. 1980 ท่านจึงตัดสินใจเลือกที่จะสมัครเข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโบโลญญา ด้วยความมุ่งหวังว่าท่านจะสามารถนำวิชาความรู้ในศาสตร์นี้ไปใช้การไปเป็นธรรมทูตที่แอฟริกาในอนาคต เป็นผลให้ท่านต้องแบ่งเวลาชีวิตให้ดียิ่งขึ้นทั้งสำหรับการเรียน ครอบครัว งานพิเศษ และคนยากไร้ ซึ่งท่านก็สามารถบริหารจัดการเวลาได้เป็นอย่างดี จึงทำให้แม้ท่านจะมีภาระงานอื่น ๆ มาก ท่านก็สามารถสอบได้คะแนนดีเสมอ

ในวัย 21 ปี ท่านเริ่มใช้เวลาในช่วงหยุดเรียนภาคฤดูร้อน ใน ค.ศ. 1982 เป็นต้นมาไปเป็นอาสาสมัครช่วยงานที่ชุมชนสำหรับบำบัดผู้ติดสารเสพติดที่อิเยอา มารีนา ชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาโดยคุณพ่อเบนซี ตามคำขอของฯพณฯ โยวันนี โลกาเตลลี พระสังฆราชแห่งริมินี ซึ่งเล็งเห็นปัญหาเรื่องการใช้สารเสพติดในกลุ่มเยาวชน และในเวลาต่อมาเมื่อชุมชนดังกล่าวย้ายที่ตั้งมายังหมู่บ้านตราริวี ไม่ไกลจากเมืองริมินี ท่านก็ได้ย้ายตามมาช่วยงานที่ชุมชนดังกล่าวในช่วงหยุดฤดูร้อนอย่างขยันขันแข็ง ท่านตระหนักได้ว่า “มีความพยายามของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่จะทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างเปล่าประโยชน์ โดยการล่อลวงพวกเขาด้วยเสรีภาพจอมปลอม ความจอมปลอมที่มาในนามความกินดีอยู่ดี ดังนั้นมนุษย์จึงจมลงในวังวนของสิ่งที่ย้อนแย้งกันในตัวมันเอง มนุษย์ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง พวกเขาต้องการพบเป้าหมายใหม่ ไม่ใช่การปฏิวัติที่นำไปสู่ความจริง แต่เป็นความจริงต่างหากที่นำไปสู่การปฏิวัติ” ดังนั้นท่านจึงอุทิศตนในการช่วยเหลือบรรดาเด็ก ๆ ที่ตกเป็นทาสของยาเสพติด


ที่ชุมชนเพื่อผู้ติดยานี้ ท่านอุทิศเวลาที่มีเพื่อพูดคุยกับบรรดาเด็ก ๆ และเยาวชน ด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้พวกเขาตระหนักได้ถึงหน้าที่ของพวกเขา ท่านรับฟังเรื่องราวชีวิตที่แสนจะยากลำบากและเจ็บปวดของพวกเขาด้วยความสงบนิ่งและความอดทน เพราะท่าน ‘ค้นพบ’ องค์พระเยซูเจ้าในพวกเขา ท่านเขียนเล่าถึงประสบการณ์นี้ว่า “เหล่าเด็กชายสร้างแรงกระตุ้นให้ลูกมาก พวกเขาขอให้ลูกเสมอต้นเสมอปลายในสิ่งที่ลูกทำ เอาจริงเอาจังในการที่จะเดินเข้าไปหาพวกเขา เพราะมันทำให้พวกเขาได้ลืมตามาพบพระองค์ ทำให้พวกเขาได้เข้าใจว่าสิ่งที่ลูกทำนี้จากสิ่งที่ยิ่งใหญ่และนั่นทำให้พวกเขามั่นใจ ลูกรู้สึกรักพวกเขาแต่ละคนอย่างที่สุด เพราะในช่วงเวลาเหล่านั้นลูกได้พบพระองค์ในพวกเขา ในความเรียบง่ายของยูลีอาโน ความต้องการความอ่อนโยนของกาซาเร ความต้องการความรักของมาริโอ การแสวงหาความถูกต้องของสเตฟาโน ความต้องการการรับฟังและความเข้าใจของเปียโร ความพยายามแรกที่จะแสวงหามิตรภาพแท้ของโยวันนี” (8 ตุลาคม ค.ศ. 1982)

อาจกล่าวได้ว่าเคล็ดลับในการดำเนินชีวิตและกิจการของท่าน คือ ‘ความรัก’ ท่านเขียนเตือนตนเองในบันทึกว่า “ซันดรา จงรักทุกสิ่งที่เธอทำ รักให้ลึกทุกนาทีที่เธอยังมีชีวิต ซึ่งเธอได้รับอนุญาตให้มี จงพยายามยินดีกับปัจจุบันขณะ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อจะได้ไม่พลาดโอกาสที่เข้ามา” (14 ตุลาคม ค.ศ. 1981) จากข้อความนี้แสดงให้เห็นชัดว่าความรัก ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นความรักที่ท่านมีต่อพระเจ้า ผู้ที่ท่านได้พบในผู้คน ดังที่ท่านได้โมทนาคุณพระเจ้าไว้ว่า “ขอขอบพระคุณองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะตั้งแต่ลูกมีชีวิตถึงเวลานี้ลูกได้รับแต่สิ่งที่สวยงาม ลูกมีทุกอย่าง แต่มากกว่านั้น ลูกขอขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงเปิดเผยพระองค์ให้ลูกรู้จัก ลูกจึงได้พบพระองค์” (12 พฤษภาคม ค.ศ. 1977) เป็นแกนกลางในการดำเนินชีวิต


ท่านตระหนักว่า “หากเป็นความรักแท้ จะทนได้อย่างไรที่หนึ่งในสามของมนุษย์ต้องตายไปเพราะความอดอยาก ในขณะที่ฉันยังรักษาชีวิตที่ปลอดภัยหรือมีกินมีใช้ต่อไปงั้นหรือ ถ้าทำดังนั้น ฉันก็เป็นคริสตังที่ดีแต่ไม่ใช่นักบุญ ทุกวันนี้มีคริสตังที่ดีมีมากขึ้น ในขณะที่โลกนั้นต้องการนักบุญ” สิ่งนี้เมื่อรวมเข้ากับการตระหนักรู้ของท่านถึงความไม่แน่นอนของชีวิต และความปรารถนาเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระเจ้า ทำให้ท่านมุ่งมั่นที่จะรับใช้ผู้คนในโอกาสต่าง ๆ ที่เข้ามาอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีใครนึกถึงที่ทวีปแอฟริกา ด้วยท่านเล็งเห็นว่าด้วยวิถีทางนี้ท่านได้พบและได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ความฝันที่จะได้ไปแอฟริกาของท่านใกล้จะเป็นจริงเรื่อย ๆ ใน ค.ศ. 1984 เมื่อท่านได้หมั้นกับกุยโด เพราะทั้งสองวางแผนกันว่าหลังจากที่ทั้งสองได้สมรสกัน ทั้งสองจะเดินทางไปเป็นธรรมทูตด้วยกันที่ทวีปแอฟริกา แต่พระเจ้าทรงมิได้ประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น

เวลา 9 นาฬิกาของวันที่ 29 เมษยายน ค.ศ. 1984 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ปัสกา ขณะท่านลงจากรถที่นั่งมากับกุยโดและเพื่อนอีกคนเพื่อร่วมประชุมกลุ่มสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ที่อิเยอา มารีนา ท่านและเพื่อนก็ถูกรถยนต์ที่แล่นมาจากอีกทางพุ่งเข้าชน ร่างของท่านที่โดนปะทะอย่างจังลอยไปที่กระโปรงหน้ารถก่อนจะร่วงลงพื้น คุณพ่อเบนซีที่ทราบเรื่องรีบเรียกรถพยาบาลและได้เปิดปากท่านไว้ เพื่อให้ท่านสามารถหายใจได้สะดวก ท่านถูกส่งตัวอย่างเร่งด่วนจากเมืองริมินีไปที่โรงพยาบาลเบลลาเรีย เมืองโบโลญญาเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน แต่ภายหลังโคม่าเป็นระยะเวลาสามวัน ท่านในวัย 22 ปี ก็ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบในวันที่ 2 พฤษภาคม โดยไม่มีคำพูดสุดท้ายใด ๆ แต่สองวันให้หลังก่อนอุบัติเหตุท่านได้เขียนในบันทึก ซึ่งกลายเป็นข้อความสุดท้ายของบันทึกว่า “ชีวิตนี้ซึ่งไม่ใช่ของลูก เติบโตขึ้นไปตามลำดับ ด้วยลมหายใจเข้าออกซึ่งก็ไม่ใช่ของลูก ถูกชุบชูด้วยวันอันแจ่มใส ซึ่งไม่ใช่ของลูกเช่นกัน ไม่มีอะไรในโลกนี้เป็นของเธอ ซันดรา จำไว้ จงดูแลของขวัญที่เธอได้รับนี้ ทำให้มันงดงามยิ่งขึ้น และเต็มเปี่ยมเมื่อเวลานั้นมาถึง” และสี่วันก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้นท่านได้เล่าให้มารดาฟังว่า ท่านฝันเห็นงานปลงศพและหลุมศพของท่านที่เต็มไปด้วยมวลหมู่ดอกไม้


ท่านจากไปโดยไม่ได้มีเครื่องหมายอัศจรรย์ดังเรื่องเล่าของนักบุญในอดีต ไม่มีกลิ่นหอมประหลาดลอยล่องจากร่างของท่าน ไม่มีเสียงระฆังปริศนาที่ดังกังวานเองยามท่านสิ้นลม หรือปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติใด ๆ นอกจากกลิ่นหอมของความศักดิ์สิทธิ์ที่แทรกซึมออกมาจากชีวิตสั้น ๆ ในโลกนี้ พิธีปลงศพของท่านถูกจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม ณ วัดนักบุญยิโรลาโม ในวันนั้นคุณพ่อเบนซีได้เทศน์ในตอนหนึ่งว่า “ซันดราได้ทำสิ่งที่พระเจ้าทรงส่งเธอมา โลกไม่แบ่งเป็นดีและชั่ว แต่แบ่งเป็นใครรักและไม่รัก และซันดรา พวกเราต่างรู้ รักมาก” วันเดียวกันมารดาของท่านได้เข้าใจบอกกับพี่ชายของเธอว่า “คุณพ่อคะ พวกเรามีนักบุญอยู่ในบ้านและพวกเราก็ไม่รู้ตัว ให้เราเอาอย่างและสวดให้เหมือนที่ซันดราทำเถอะค่ะ” ภายหลังพิธีปลงศพร่างของท่านถูกนำกลับไปฝังที่สุสานของวัดนักบุญอันเดอา หมู่บ้านมิซาโน เซลลาอย่างเรียบง่าย และเป็นสถานที่นี้เองที่พระเจ้าได้ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์

ภายหลังจากที่คุณพ่อเบนซีก็ได้เริ่มเผยแพร่ชีวประวัติของท่านจนนำไปสู่การเปิดกระบวนการของแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ ใน ค.ศ. 2006 จึงได้มีการขุดร่างของท่านในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2009 เพื่อเตรียมย้ายไปยังวัดนักบุญยิโรลาโม ตามขั้นตอนของการแต่งตั้งนักบุญ ในวันนั้นท่ามกลางสายฝนรายล้อมด้วยสักขีพยานอันมีครอบครัว เพื่อน เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ และคุณพ่อโบดินี คุณลุงของท่าน เมื่อเจ้าหน้าที่ขุดจนพบแผ่นไม้ ทุกคนต่างยินดีที่ใกล้พบร่างของท่าน แต่ทันทีที่เจ้าหน้านำแผ่นไม้ที่ถูกคาดว่าเป็นฝาโลงของท่านนั้นขึ้นมา กลับปรากฏเพียง ‘ความว่างเปล่า’ กล่าวคือไม่พบชิ้นส่วนร่างของท่าน และแม้จะทำการขุดอย่างละเอียดก็ไม่มีการค้นพบสิ่งใด นอกเหนือจากถุงพลาสติกหุ้มเท้าของโรงพยาบาลที่ท่านสวม แถบพลาสติกใสที่ใช้ผูกดอกไม้ซึ่งวางอยู่ในโลงศพก่อนฝัง และเศษไม้จากโลงศพ


เมื่อเหตุการณ์เป็นไปดังนี้ที่หลุมของท่านที่วัดนักบุญยิโรลาโม จึงมีเพียงเศษไม้ที่ค้นพบบรรจุอยู่ และภายหลังจากเกิดอัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่านใน ค.ศ. 2007 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจึงได้ทรงรับรองการบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศี และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 จึงทำให้พิธีสถาปนาอย่างเป็นทางการที่สังฆมณฑลริมินีถูกเลื่อนออกไปจากกำหนดการณ์เดิม คือ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2020 เป็นวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2021 โดยพิธีดังกล่าว นอกจากยูเซปเป บิดาของท่านในวัยชรา ยังมีกุยโด รอสซี อดีตคู่หมั้นของท่าน ซึ่งปัจจุบันได้บวชเป็นสังฆานุกรถาวร ทั้งได้สมรสและมีบุตรธิดาถึงสองคนได้เป็นผู้ทำหน้าที่อ่านพระคัมภีร์ในพิธีวันนั้น ที่จัดขึ้น ณ อาสนวิหารนักบุญโกลอมบา เมืองริมินี

“มิใช่ท่านทั้งหลายที่เลือกเรา แต่เราได้เลือกท่าน มอบภารกิจให้ท่านไปทำจนเกิดผล” (ยอห์น 15: 16) อาจกล่าวได้ว่าประสบการณ์การได้พบพระเจ้าผ่านการเป็นคริสตชน คำภาวนา และเพื่อนมนุษย์เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้บุญราศีซันดราตระหนักว่าพระเจ้าทรงเผยพระองค์ให้ท่านได้พบและรู้จัก ไม่ใช่เพียงเพื่อมอบผลแห่งการไถ่กู้ให้กับท่าน คือ สิทธิ์ในการเข้าสู่สวรรค์ แต่ยังทรงมอบหมายภารกิจสำคัญ คือ ‘ภารกิจแห่งรัก’ ดังที่พระวาจาในบทเดียวกันในข้อถัดไป พระเยซูเจ้าหลังได้ทรงเผยว่าเป็นเพราะทรงเลือกและมอบภารกิจให้บรรดาอัครสาวก พระองค์ได้ทรงสั่งกับบรรดาอัครสาวกว่า “ท่านทั้งหลายจงรักกัน” (ยอห์น 15: 17) ที่ท่านต้องทำให้สำเร็จในชีวิตที่ผ่านมาในโลกเพียงอยู่ชั่วขณะ บุญราศีซันดราจึงใช้ทุกวันที่มีโอกาสทำภารกิจนี้ ด้วยการพยายามส่งต่อความรักแท้จริงไปสู่โลกด้วยความมุมานะและความรัก เป็นพิเศษในการรับใช้คนด้อยโอกาส คนที่กำลังหลงผิดเพื่อให้พวกเขาได้พบองค์พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเผยพระองค์ให้มนุษย์ได้พบในหลากหลายสิ่ง เพื่อมอบความรอดของวิญญาณและพันธกิจแห่งรัก ขอให้แบบอย่างของบุญราศีซันดรา ช่วยให้เรามีแรงบันดาลใจในการตอบสนองเสียงเรียกในการทำภารกิจแห่งรักนี้ ขอให้เราเรียนรู้ที่จะรัก รักให้มากเหมือนท่าน รักด้วยหนทางแบบของเราเอง เพราะแม้พระเจ้าจะทรงมอบพันธกิจเดียวกัน แต่พระองค์ก็ทรงมอบเงินตะลันต์ไว้ให้เรามากน้อยแตกต่างกันไป และสุดแท้แต่เราจะจัดการให้ออกดอกออกผลในวันที่พระองค์ผู้ทรงเป็นนายจะกลับมาจากการเดินทาง อาแมน
รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
13 พฤษภาคม ค.ศ. 2023


“ข้าแต่ท่านบุญราศีซันดรา ซาบัตตินี ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
https://www.sandrasabattini.org
https://www.santiebeati.it/dettaglio/94078
https://www.catholicnewsagency.com/news/249391/this-new-blessed-spent-her-short-life-loving-the-poor-and-marginalized
https://thedeaconsbench.com/the-holy-fiance-sandra-sabattini-is-now-a-blessed-and-her-former-fiance-is-a-deacon/
https://www.archyworldys.com/the-testimony-of-the-groom-of-the-churchs-first-blessed-bride/
http://secretariat.synod.va/content/synod2018/it/giovani-testimoni/sandra-sabattini--la-fidanzata-morta-in-un-incidente-d-auto-dich.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Sandra_Sabattini

คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โต...