วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

'พระคุณเจ้ามานูเอล' ชีพนี้เพื่อพระผู้เร้นกาย

นักบุญมานูเอล กอนซาเลซ กราเซีย
St. Manuel González García
วันฉลอง : 4 มกราคม

“โอ้ ศีลมหาสนิท โปรดเป็นชีวิตแก่ลูกเถิด…” แต่ละปีเมื่อเวียนมาถึงวันอาทิตย์ที่สองหลังเทศกาลปัสกา หรือวันอาทิตย์สมโภชพระตรีเอกภาพ บทเพลงโอ้ศีลมหาสนิทก็จะถูกขับอย่างสง่าตามวัดคาทอลิกทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นการเทิดเกียรติพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเสด็จลงมาแฝงองค์ในเพศปัง สละซึ่งสภาพแห่งพระเจ้าและสภาพแห่งมนุษย์ มาอยู่ในสภาพของโภชนาทิพย์ประเสริฐต้อยต่ำกว่ามนุษย์ ดังถ้อยคำในบทเพลงโอ้เจ้าพระคุณ บทเพลงแห่ศีลเก่าแก่ของประเทศไทยที่ประพันธ์โดยพระคุณเจ้ายาโกเบ แจง เกิดสว่างที่ว่า “พอพระทัยใช่แต่มรณาไถ่ข้าพระบาท ยังสมัครมาพำนักประทับอยู่ในหมู่ข้าพเจ้าทั้งหลายอีกเล่า” แต่ขณะที่บรรดาคริสตังไทยจำนวนหนึ่งกำลังร่วมสอดประสานดวงใจเป็นหนึ่งเดียวกับคริสตังทั่วโลกที่ร่วมฉลองสมโภชพระคริสตวรกายอย่างสง่านั้น ในมุมต่าง ๆ ของโลกปัจจุบันของเรา การทุรจารศีล การทอดทิ้งศีลมหาสนิท การไม่ตระหนักถึงคุณค่าแห่งศีลมหาสนิทยังคงมีอยู่ ทั้งจากคนต่างศาสนา และคริสตังผู้รับศีลประเสริฐนี้

ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าแท้ ที่คุณค่าของทิพยะโภชนา ซึ่ง “คือปังที่ลงมาจากสวรรค์ ไม่เหมือนปังที่บรรพบุรุษได้กินแล้วยังตาย ผู้ที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป” (ยอห์น 6 : 58) นี้ถูกหลงลืมไปในโลกเดี๋ยวนี้ เรื่องน่าเศร้าเช่นนี้ไม่ได้เกิดเพียงในยุคของเรา แต่เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้วเหตุการณ์อันน่าเศร้านี้ก็ได้เคยเกิดขึ้น และได้สัมผัสจิตใจของสงฆ์หนุ่มชาวสเปนรูปหนึ่ง ซึ่งพึ่งได้รับมอบหมายให้เดินทางไปที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองปาโลมาเรส เดล รีโอ จนพระสงฆ์หนุ่มผู้นั้นตัดสินใจลุกขึ้นมาประกาศถึงคุณค่าแห่งทิพยะโภชนานี้อย่างร้อนรนตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ นี่คือเรื่องราวจริงของสงฆ์ผู้มีนามว่า ‘คุณพ่อมานูเอล กอนซาเลส กราเซีย’

บิดามารดาของนักบุญมานูเอล

คุณพ่อมานูเอล ผู้เป็นตัวละครเอกของเรื่องราวของเราในวันนี้เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1877 ที่เมืองเซบียา จ. เซบียา ประเทศสเปน ท่านเป็นลูกคนที่สี่จากห้าคนของนายมาร์ติน กอนซาเลซ ลารา ช่างไม้ กับนางอันโตเนีย การ์เซีย สองสามีภรรยาคริสตังใจศรัทธาที่มีพื้นเพเดิมเป็นคนเมืองอันเตเกลา จ. มาลากา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเซบียา ซึ่งได้ตัดสินใจย้ายมาเปิดร้านทำตู้ไม้และงานไม้เมื่อประมาณ ค.ศ. 1875 ที่บริเวณเลขที่ 22 ถนนบีดรีโอ ตำบลซาน บาร์โตโลเม เมืองเซบียา ทั้งสองได้อบรม ด.ช. มานูเอล ด้วยความเชื่อและความเรียบง่ายตามประสาชาวบ้านฐานะปานกลาง และเมื่อเห็นว่า ด.ช. มานูเอล ถึงวัยเข้าเรียนทั้งสองก็ได้ส่งเสียให้เข้าเรียนที่โรงเรียนซานมิเกล เมืองเซบียา ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง ด.ช. มานูเอล ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเยาวชนนักขับร้องลา กีรัลดาประจำวัด และในเวลาต่อมาเมื่อ ด.ช. มานูเอล อายุได้ 10 ปีก็ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในเซเซส (Los Seises) หรือกลุ่มนักขับเด็กชายที่ประจำ ณ อาสนวิหารเซบียา ที่จะทำหน้าที่ร้องและเต้นในวันฉลองพระคริสตวรกายและวันฉลองแม่พระผู้ปฏิสนธินิรมล ด้วยชุดลูกผู้มีฐานะโบราณพร้อมหมวกประดับขนนก และอาศัยภาระหน้าที่นี้เอง ที่มีส่วนสำคัญในการหลอมรวมความรักต่อศีลมหาสนิทและแม่พระให้เป็นหนึ่งเดียวกันและติดตรึงแน่นในหัวใจของ ด.ช. มานูเอล

วันเวลาผ่านไปจากเดือนเป็นปีจากหนึ่งปีเป็นหลาย ๆ ปี โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ พระเจ้าก็ทรงค่อย ๆ เผยแสดงกระแสเรียกภายในใจของท่าน อาศัยการดำเนินชีวิตคริสตังที่ดีของสองสามีภรรยา ที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไรและแบบฉบับที่ดีของพระสงฆ์ ผู้แทนองค์พระคริสตเจ้า สิ่งสองประการนี้ได้ค่อย ๆ หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งกระแสเรียกการเป็นนักบวชลงไปในหัวใจดวงน้อย ๆ ของท่าน และบำรุงเมล็ดนั้นจนล่วงถึงวันที่เมล็ดนั้นแตกหน่อแทงใบอ่อนออกมา ในเวลาเดียวกันกับที่รากแห่งเมล็ดนั้นก็หยั่งลึกลง ๆ ไปเรื่อย ๆ บัดนี้หัวใจดวงน้อยของ ด.ช. มานูเอล ก็ตระหนักได้ว่าความฝันของตนไม่ใช่การเป็นช่างไม้เหมือนบิดา หรือทำงานรับเงินเดือนในโลก แต่คือการเป็นพระสงฆ์ผู้แทนของพระคริสตเจ้าในโลกนี้ต่างหาก...


ดังนั้นโดยไม่ต้องมีใครมาบอก เมื่อถึงวัยพอเข้าบ้านเณรได้ ท่านจึงบอกกับบิดามารดาในทันทีว่าท่านอยากเป็นพระสงฆ์ จนยังความประหลาดใจแก่บิดามารดาของท่าน ที่แลเห็นวิธีการอันน่าพิศวงของพระเจ้าต่อบุตรชายของพวกเขาเป็นยิ่งนัก และแน่นอนด้วยความยินดีที่พระเจ้าได้ทรงประทานพระหรรษทานให้หนึ่งบุตรธิดาของพวกเขาได้เป็นของพระองค์ ทั้งสองจึงไม่รีรอที่จะตอบรับการเรียกร้องจากพระเจ้าครั้งนี้ โดยการได้ยกถวายบุตรชายคนนี้แด่พระองค์ ทำให้ในวัย 12 ปี ท่านก็ได้เข้าบ้านเณรเมืองเซบียา แต่ไม่วายเนื่องจากปัญหาการเงินของครอบครัวที่ไม่สู้ดีเท่าไรในเวลานั้น ท่านจึงต้องทำงานเป็นคนงานของบ้านเณรควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถเรียนต่อตามความฝันไว้ได้ ซึ่งการที่ต้องรับภาระเช่นนี้ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อเรื่องการเรียนเพื่อเตรียมเป็นพระสงฆ์ เพราะตลอดหลายปีที่ท่านอยู่ที่บ้านเณรแห่งนี้ ท่านจัดอยู่ในกลุ่มหัวกะทิเลยทีเดียวเชียว

“หากผมเกิดได้สักพันครั้ง ผมก็จะเป็นพระสงฆ์ทั้งพันครั้ง” ภายหลังจากจบปริญญาด้านเทวววิทยาและกฏหมายพระศาสนจักรแล้ว ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1901 ขณะอายุได้ 24 ปี ท่านก็ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์จากมือพระคุณเจ้าพระคาร์ดินัล มาร์เซโล สปิโนรา สังฆราชผู้ศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดน้อยในสำนักพระสังฆราชเซบียา ก่อนในวันที่ 29 กันยายน ท่านจึงได้ประกอบพิธีมิสซาแรกที่วัดพระตรีเอกภาพ และช่วงแรกของพิธีมิสซานั้นเอง ท่านก็ถวายตนไว้ในการเสนอวิงวอนของแม่พระองค์อุปถัมภ์ โดยที่ท่านไม่รู้เลยว่า ในไม่ช้าพระเป็นเจ้ากำลังจะทรงวางแอกสำคัญไว้ตลอดชีวิตของท่าน…

วัดที่ปาโลมาเรส เดล รีโอ

ใน ค.ศ. 1902 พระคุณเจ้าสปิโนราก็ส่งท่านไปเทศน์ที่ปาโลมาเรส เดล รีโอ แต่ทันทีที่ก้าวมาถึงเมือง แทนที่ท่านจะพบวัดที่สะอาดสะอ้านและการต้อนรับจากชาวบ้าน ตรงกันข้ามท่านกับพบวัดที่ถูกทิ้งร้างจากผู้คน พระแท่นที่ถูกคลุมด้วยผ้าปูพระแท่นขาด ๆ ขยะและความว่างเปล่า แต่นี่ก็ยังไม่รันทดใจเท่าสถานที่เก็บพระอาจารย์เจ้าผู้ทรงลงมาแฝงองค์ในเพศปังกลับเต็มไปด้วยหยากไย่ ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นไว้ว่า “ข้าพเจ้าเดินตรงไปหน้าตู้ศีล…และ ณ ตู้ศีล ข้าแต่พระเจ้า ต้องอาศัยความพยามด้วยความเชื่อและความกล้าของข้าพเจ้าที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่หันกลับไปบ้านของข้าพเจ้า แต่กระนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ได้หนีไปไหน นอกไปเสียจากคุกเข่าของข้าพเจ้าลง … ด้วยความเชื่อข้าพเจ้าแลเห็นพระเยซูเจ้าผู้ทรงเงียบขรึม ทุกข์ยาก และประเสริฐทอดพระเนตรมาที่ข้าพเจ้า… ทรงตรัสกับข้าพเจ้าหลายอย่างและข้าพเจ้าก็ได้วอนขอพระองค์ ขอจงมองดู พระองค์ ผู้สะท้อนความโศกเศร้าทั้งหมดจากพระวรสาร… สายพระเนตรของพระเยซูคริสตเจ้าในตู้ศีลเหล่านี้เป็นสายพระเนตรที่เสียดแทงวิญญาณและไม่มีทางจะลบเลือนไปได้ นั่นกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ข้าพเจ้าได้เห็น ได้เข้าใจ และได้สัมผัสถึงพันธกิจสงฆ์ของข้าพเจ้า”

ภาพเหตุการณ์ในวันนั้นที่ปาโลมาเรส เดล รีโอ ทำให้ท่านทวีความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทมากยิ่งขึ้น และมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วที่จะนำคริสตังให้มีความศรัทธาอย่างร้อนรนในศีลมหาสนิท  โดยท่านได้เริ่มจากกลุ่มคนที่ท่านมีโอกาสใกล้ชิดมากที่สุด นั่นก็คือกลุ่มคนชรา เพราะในช่วงแรก ๆ ที่ท่านได้บวชเป็นพระสงฆ์ใหม่ ท่านได้รับหน้าที่ให้เป็นจิตตาภิบาลให้กับสถานพยาบาลของคณะภคินีน้อยของผู้น่าสงสาร ซึ่งมีพันธกิจในการดูแลผู้ชราภาพ ในเมืองเซบียา โดยท่านจัดให้การปฏิบัติกิจศรัทธาต่อศีลมหาสนิท ในลักษณะคล้าย ๆ กลุ่มกิจศรัทธาพิเศษต่อศีลมหาสนิทขึ้น

วัดนักบุญเปโตร อูเอลบาในปัจจุบัน

แต่แผนการของพระเจ้าสำหรับท่านในกระตุ้นความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนชราในสถานพยาบาลเมืองเซบียา ดังนั้นในเวลาต่อมาเมื่อท่านรับตำแหน่งเป็นจิตตาภิบาลที่สถานพยาบาลแห่งนั้นได้ 3 ปี ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1905 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคุณพ่อเจ้าวัด วัดนักบุญเปโตร อูเอลบา ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.อูเอลบา ห่างจากเมืองเซบียาไปทางตะวันตกประมาณ 90 กิโลเมตร ซึ่งท่านก็เดินทางมารับหน้าที่นี้ในอีกแปดวันต่อมา นั่นก็คือในวันที่ 9 มีนาคม และแน่นอนเรื่องนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะขณะนั้นอูเอลบาซึ่งมีประชากรราวหนึ่งหมื่นคนกำลังตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างไปจากตำบลอาร์ส ประเทศฝรั่งเศสของท่านนักบุญยอห์น มารี เวียนเนย์ในตอนแรก กล่าวคือผู้คนมากมายต่างไม่สนใจศาสนา ซ้ำร้ายยังไปหลงเชื่อคำยุแยงของบรรดานายช่างเทคนิคและวิศวกรชาวอังกฤษที่เข้ามาสำรวจเหมืองรีโอ ตินโต ให้เกียจชังพระศาสนจักรคาทอลิก

ปัญหาแรก ๆ ที่ท่านพบที่วัดแห่งนี้ คือ เมื่อท่านตื่นจะไปวัดเช้า ท่านก็พบว่าวัดยังไม่เปิด ท่านจึงจำต้องรอจนคนจัดวัดมาค่อย ๆ ยุรยาตรตัวเองมาเปิดวัดตอนแปดโมงเช้า ท่านจึงได้เริ่มถามผู้ถือกุญแจนั้นว่าใยเขาจึงมาเปิดวัดช้าเช่นนี้ ฝั่งคนจัดวัดที่ปฏิบัติอย่างนี้มาด้วยความเคยชิน ก็ไม่ได้สะอึกสำนึกแต่ประการใด ซ้ำยังสวนท่านกลับไปว่า “มือใหม่อย่างท่านจะไปรู้อะไร เขายังไม่ตื่นกันเลย แล้ววัดจะเปิดทำไมแต่เช้า” ฝ่ายท่านจึงบอกกับคนจัดวัดคนนั้นว่า แต่นี้ไปท่านจะเป็นคนเปิดวัดเอง เขาไม่ต้องมาทำแล้ว ซึ่งทำให้แต่นั้นมาในเวลาตีห้าของทุกวัน ท่านจะรีบลุกมาไขกุญแจวัด เพื่อเข้าไปและรีบตรงไปที่ตู้ศีลเพื่อสวดภาวนาอย่างร้อนรนดุจเดียวกับนักบุญยอห์น มารี เวียนเนย์ ได้ปฏิบัติ ณ เบื้องหน้าตู้ศีลของวัดตำบลอาร์สเมื่อหลายร้อนปีมาแล้ว เพราะท่านทราบดีในทันทีที่เห็นสภาพเขตวัดที่ท่านรับผิดชอบ ว่าสิ่งแรกที่จะช่วยให้ผู้คนทั้งหลายที่ได้หลงหายไปกลับใจ ก็คือการสวดภาวนา หลังจากนั้นท่านจึงจะมานั่งอยู่ในที่แก้บาป เพื่อรอผู้ต้องการคืนดีกับพระเจ้าไปจนถึงเวลาสิบโมงเสมอ

นักบุญมานูเอลในวัยหนุ่ม

ครั้งหนึ่งเบื้องหน้าตู้ศีลในวัดอูเอลบา ท่านเคยทูลถามพระเยซูเจ้าผู้ประทับในตู้ศีลว่า “ลูกจะเริ่มที่ไหนดี ข้าแต่พระหฤทัยพระเยซูเจ้า” บัดดลเองก็มีนิมิตตอบท่านว่า “จำต้องชนะใจสตรีทั้งสามสี่คนที่ยังมาวัดอยู่” ซึ่งก็เป็นจริงเพราะเวลานั้นทุกเช้าวัดอูเอลบาจะเพียงสตรีสามคนมาร่วมมิสซา แต่พวกเธอไม่มีใครมารับศีลหรือแก้บาป เช่นนั้นเองสิ่งแรกที่ท่านลงมือทำนอกเหนือจากการสวดภาวนา จึงเป็นการช่วยเหลือวิญญาณที่ยังมาวัดอยู่ ด้วยการจัดตารางมิสซา ตารางแก้บาป ตั้งใจเตรียม ตั้งใจเทศน์ และใช้โอกาสมหาพรตจัดให้มีการฟื้นฟูจิตใจขึ้น จนทีละนิดผู้คนก็เริ่มมาวัดมากขึ้น ท่านจึงเริ่มดำเนินการขั้นต่อไป นั่นคือการออกตามหาบรรดาแกะที่หายไปให้กลับมาในคอกนี้ดังเดิม

ท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มผู้ป่วยภายในเขตวัด โดยท่านอาศัยเวลาในช่วงบ่ายออกไปเยี่ยมบรรดาผู้ป่วยตามบ้าน อันเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว กล่าวคือหากผู้ป่วยที่ไปหาเป็นคริสตังที่ดี ท่านก็จะได้อภิบาลตามหลักพระศาสนจักร ให้พวกเขาได้รับความบรรเทาใจ และหากผู้ป่วยไม่ได้เป็นคริสตังที่ดี ท่านก็จะใช้โอกาสนี้นำพวกเขากลับมายังพระศาสจักร แต่กระนั้นไม่ว่าจะกรณีไหนท่านก็จะให้ทั้งกำลังใจและความช่วยเหลือแก่พวกเขาด้วยความรัก ดังที่มีบันทึกเล่าว่า “เขาเป็นความบรรเทาใจ (แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับแปลตรงๆคือเก้าอี้มีพนักพิงของผู้ป่วยผู้เขียนคิดว่าน่าสื่อถื่อถึงสิ่งที่ทำให้ผ่อนคลาย) ที่ดีของผู้ป่วย และเป็นคำแนะนำเปี่ยมเมตตาและอ่อนหวานที่ดีเลิศให้กับผู้ที่เขาเป็นห่วง”


อีกหนึ่งสิ่งที่ท่านมุ่งในงานอภิบาลของท่าน คือ บรรดาเด็ก ๆ ในเขตวัด เพราะท่านเห็นว่าวิญญาณของเด็ก ๆ จำนวนมากต้องเสียไปเพราะผู้ใหญ่ได้คอยปลูกฝังความคิดร้าย ๆ แก่เด็ก ๆ ท่านจึงตัดสินใจทำตนเป็นเช่นบิดาในอุปมาลูกล้างผลาญ คือ ออกไปตามหาลูกแกะที่พลัดหลงด้วยความรัก ไม่ใช่ด้วยความโกธร ท่านลืมทุกสิ่งที่เคยได้รับชาวเมืองไม่ว่าจะเป็นคำด่า ท่าทีรังเกียจ หรือก้อนหินจากพวกเด็ก ๆ เองเสีย (แรก ๆ ที่ท่านมาอยู่ไม่มีใครยอมทำหน้าตาดี ๆ ใส่ท่าน หรือแม้จะเดินสวนกันก็ไม่ยอมแม้แต่จะกล่าวทักทายท่าน บางครั้งถึงขั้นไม่ยอมเดินผ่านท่าน นอกจากนี้ยังมีเด็ก ๆ บางคนใช้หินขว้างใส่ท่านอีกด้วย) เหมือนที่พระคุณเจ้าสปิโนลาเคยให้ข้อคิดไว้นั่นคือ โยนมันออกไปแล้วไม่สนเหมือนเวลาเราโยนก้อนหิน และเลือกที่จะยิ้มอยู่เสมอ ทำให้ที่สุดกำแพงน้ำแข็งในใจของเด็ก ๆ ก็เริ่มละลาย พวกเขาค่อย ๆ เข้ามาหาท่าน ท่านจึงคว้าโอกาสนี้สอนเรื่องราวของพระคริสตเจ้าให้เขาได้รู้ ทำให้ทุกวันหลังจากเยี่ยมบรรดาผู้ป่วยแล้ว ท่านก็ใช้เวลาไปกับการพูดคุยกับบรรดาเด็ก ๆ เล่นบ้าง หัวเราะบ้างตามสมควร ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้เองก็เป็นสะดุดแก่คนหลาย ๆ คน ที่เอาแต่ยึดติดว่าพระสงฆ์ต้องวางตัวให้สมศักดิ์ศรี ต้องรักษาระยะห่างกับสัตบุรุษ ท่านจึงถูกติจากคนใกล้ชิด แต่ท่านก็หาได้สนใจไม่ และครั้งหนึ่งเมื่อถูกติเรื่องนี้ ท่านก็ตอบกลับผู้นั้นอย่างมีอารมณ์ขันว่า “แต่ คุณสุภาพบุรุษครับ กฎหมายพระศาสจักรได้ระบุด้วยหรือครับว่าพระสงฆ์ต้องทำหน้าเป็นผู้พิพากษา”

ไม่เพียงปัญหาฝ่ายจิตที่ท่านพบในบรรดาเด็กๆ เพราะท่านก็ได้เล็งเห็นว่าเด็ก ๆ หลายคนยังขาดโอกาสในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ท่านจึงได้ร่วมกับทนายที่ผันตัวมาเป็นครูเพราะเด็กยากไร้ชื่อ มานูเอล ซิวโรส เปิดโรงเรียนพระหฤทัยพระเยซูเจ้าขึ้นใน ค.ศ. 1908 (ปัจจุบันโรงเรียนเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียงพระหฤทัยพระเยซูเจ้าวิทยาลัย ในสังกัดสังฆมณฑล) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นมนุษย์และสร้างวัฒนธรรมอันดีงามให้แก่เด็กและเยาวชนของอูเอลบา

นายมานูเอล ซิวโรส และโรงเรียนพระหฤทัยพระเยซูเจ้า อูเอลบา

ท่านเพียรสอนคำสอนเด็ก ๆ พยายามปลูกฝังให้บรรดาเยาวชนในความดูแลของท่านรักพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท แม้ว่าจะถูกเด็กเหลือขอบางคนขัดบ้างเวลาท่านสอนเรื่องเหล่านี้ ท่านก็ไม่เคยถือโทษโกธรเป็นอารมณ์ จนทีละนิดท่านก็สามารถเปลี่ยนเด็กเหลือขอให้กลายเป็นทูตสวรรค์ตัวน้อยของพระเจ้า ผู้ทรงประทับในศีลมหาสนิท ซึ่งเรื่องนี้ท่านเป็นผู้ยืนยันด้วยตัวเอง โดยท่านได้เล่าว่า บ่ายวันหนึ่งท่านเห็นเด็ก ๆ พากันเข้า ๆ ออก ๆ ระหว่างวัดและโรงเรียน ดู ๆ ไปก็เหมือนพวกเขากำลังเล่นสนุก ท่านจึงตัดสินใจเข้าไปถามว่าทำอะไรอยู่ เด็ก ๆ ก็ตอบว่า “พวกเรากำลังไปเยี่ยมดวงหทัยของพระเยซูเจ้านิด ๆ หน่อย ๆ ตลอดทั้งคืนค่ะ”

อีกครั้งหนึ่งขณะท่านกำลังเดินอยู่ตรงระเบียง ท่านก็พบเด็กนักเรียนสองคนเดินเข้ามาหาท่านด้วยอาการกล้า ๆ กลัว ๆ ท่านจึงถามทั้งสองว่า “นั่นพวกเธอเอาอะไรมาด้วยในอากาศแบบนี้” หนึ่งในนั้นจึงตอบท่านว่า “คุณพ่อพอจะอนุญาตให้พวกเราอยู่หน้าตู้ศีลตลอดทั้งคืนได้ไหมครับ” ท่านที่ได้ฟังเช่นนั้นก็อุทานออกมาว่า “เด็กน้อย ทั้งคืนเลยหรอ” เด็กน้อยจึงตอบซ้ำ “ใช่ครับ คุณพ่อ พวกเราขออนุญาตคุณแม่เรียบร้อยแล้ว และพวกเราก็มีขนมปังและชีสเอาไว้กินก่อนเที่ยงครับ เดี๋ยวคุณครูฟูลาโนกะคุณครูซูตาโนก็จะตามมาตอนเก้าโมงครับ” ท่านเล่าสรุปเรื่องนี้ว่า “ไม่มีทางเลือกใดนอกเสียจากจะอนุญาต พวกเขาจึงได้อยู่ตื่นเฝ้าหน้าตู้ศีลของโรงเรียนตลอดทั้งคืน พร้อมกับคุณครูบางคนของพวกเขา ฉะนี้เองเด็กข้างถนนจึงได้กลายเป็นทูตสวรรค์ที่รักของศีลมหาสนิท”

นิตยสารเอล กรานีโต เด อาเรนาของนักบุญมานูเอล

ไม่เพียงแต่บรรดาเด็กเยาวชนและผู้ป่วยเท่านั้นที่ท่านเป็นห่วงในงานอภิบาล เพราะนอกเหนือจากสัตบุรุษสองกลุ่มนี้ ท่านยังให้ความสนใจทำงานอภิบาลบรรดาผู้ยากไร้ และกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้มีหน้ามีตาอะไรในสังคม ท่านคอยนำอาหารไปให้กับบรรดาลูก ๆ คนเหมืองโดยตลอด และในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. 1913 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่จนคนงานเหมือนต้องหยุดงาน ท่านก็ยิ่งทำกิจเมตตาเหล่านี้เพิ่มทวียิ่งขึ้นไปอีก ท่านทั้งมีคำสั่งให้โรงเรียนแจกคูปองอาหารให้กับเด็ก ๆ ที่ไม่มีข้าวกินที่บ้าน และเดินทางออกไปช่วยผู้หิวโหยอย่างกล้าหาญดุจเดียวกับอัศวินขี้ม้าขาว เราอาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่มุ่งอภิบาลสัตบุรุษทุกรูปแบบโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง วัตรปฏิบัติหนึ่งที่ช่วยยืนยันความจริงในเรื่องนี้ คือ ทุกครั้งที่ท่านเดินไปทางไปที่ใด ท่านมักจะหยุดพูดคุยกับผู้คนท่านพบตลอดเส้นทางที่จะไปอยู่เสมอ

นอกจากนี้แล้วในระหว่างเป็นคุณเจ้าวัดอูเอลบา ใน ค.ศ. 1907 ก่อนการเปิดโรงเรียนพระหฤทัยฯ ท่านยังได้ออกนิตยสารชื่อ ‘เอล กรานีโต เด อาเรนา’ (ก้อนแกรนิตของเม็ดทราย) เพื่อ ‘ฟื้นฟูทุกสิ่งในพระคริสตเจ้า’ และเพื่อส่งเสริมความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท ท่านเขียนลงในนิตยสารฉบับวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1916 ว่า “…เอล กรานีโต เด อาเรนาเกิดขึ้นด้วยความปรารถนาดีจำนวนมากในท่ามกลางการต่อสู้ โดยมุ่งหวังจะเอาชนะความรักของมนุษย์ทุกคน เพราะมีผู้คนมาหาพระองค์ รักพระองค์ ปรารถนาพระองค์น้อยเหลือเกิน ดังนั้นพวกลูกจึงจำต้องสูดกลิ่นแห่งการต่อสู้และความร้อนรนเพื่อได้มาซึ่งการยอมจำนน ณ เบื้องหน้าตู้ศีลอันเป็นที่รักยิ่ง ไม่เพียงแค่ของคนหนึ่งคน แต่โลกทั้งใบ…” และในเวลาต่อมาท่านยังได้เขียนหนังสือเล่มแรกชื่อว่า ‘ใครคือสงฆ์ในวันนี้’ (ค.ศ. 1910) อันกลายเป็นมาตรฐานของพระสงฆ์สเปนนับแต่นั้นเป็นต้นมา

มารีอัส หรือ มารีย์ทั้งสาม

งานของพระเจ้าสำหรับท่านยังหมดลงเพียงเท่านี้หรือ ขอตอบเลยว่าไม่ใช่เลย เพราะจากแรงบันดาลใจ ณ ตู้ศีลอันอ้างว่างไร้การเหลียวแลที่ท่านพบที่เมืองปาโลมาเรส เดล รีโอนั้นไม่เพียงเรียกร้องให้ท่าน รับภารกิจในการกระตุ้นความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทในเขตวัดที่ท่านดูแล แต่เป็นทั่วทั้งโลก ดังที่ท่านเขียนไว้ในนิตยสารเอล กรานีโต เด อาเรนาฉบับวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1916 ว่า ท่านปรารถนาจะทำให้บทเพลงตานตูม แอร์โกดังขึ้นด้วยความเชื่อและความรัก จากทั้งในภาษาสเปนและภาษาอื่น ๆ ความว่า  “ขอพระเจ้าทรงอวยพระพรทั้งมัน (นิตยสารที่ท่านตั้ง) อีกความคิดทั้งหลาย คำพูด การเขียนและการให้กำลังใจ พร้อมทั้งสิ่งเหล่านี้อันได้แก่กระดาษ บรรดากิจการ เด็ก ๆ คนชรา ชาย หญิงและทุกสิ่งรอบตัวและมีผลต่อข้าพเจ้า เพื่อจะได้ก่อเกิดการขับบทเพลงตานตูม แอร์โก ซากราเมนตูมแห่งความเชื่อ แห่งการรับรู้ แห่งความรักต่อดวงหทัยของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทด้วยน้ำเสียงที่เหมือนหรือแตกต่างกัน และด้วยภาษาของตน” ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การก่อตั้งนิตยสารเอล กรานีโต คือ โหมโรงแรกของงานชิ้นใหญ่ที่กำลังจะเริ่มขึ้นภายใต้ความตั้งใจนี้ งานชิ้นใหญ่ที่เริ่มต้นด้วยวิธีการอันแสนเรียบง่าย ในวันอันแสนธรรมดาของวัดอูเอลบา วันนั้นเมื่อมีกิจกรรมฟื้นฟูจิตใจประจำเดือนของกลุ่มสตรีประจำวัด ซึ่งคราวนั้นตรงกับวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1910 ณ เบื้องหน้าผู้เข้าร่วมการฟื้นฟู ท่านก็เผยความปรารถนาลึก ๆ ในใจของท่านว่า “พ่อขอ ขอความห่วงใยต่อกิจการเมตตาต่อบรรดาเด็ก ๆ ผู้ด้อยโอกาสและผู้ถูกทอดทิ้ง ขอความใส่ใจและขอความร่วมมือของลูกจำนวนมากให้กับผู้ยากไร้ที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุด: ศีลมหาสนิท พ่อขอความรักเป็นทานให้พระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท… เพื่อดวงหทัยนิรมลของพระนางมารีย์ผู้นิรมลและเพื่อความรักจากดวงหทัยที่ได้รับแต่ความเจ็บช้ำ พ่อขอให้ลูกเป็นมารีอัสของตู้ศีลที่ถูกทอดทิ้งละเลย”

ขอคัดจังหวะประวัติท่านด้วยการอธิบายคำว่า ‘มารีอัส’ (Marias) ซึ่งอยู่ในคำพูดของท่านสักนิดก่อน คงจะไม่เป็นการเสียเวลาเท่าไรและช่วยให้เราเข้าใจความหมายที่ท่านจะสื่อ คำว่า มารีอัส นี้เป็นภาษาสเปนหมายถึงสตรีใจศรัทธาที่มีใช้ชื่อว่า มารีย์ และปรากฏในพระวรสาร แบ่งได้ 3 พวก คือ พวกพระคูหา คือ กลุ่มสตรีที่เข้าไปยังพระคูหาในเช้าวันอาทิตย์ตามพระวรสารของนักบุญมาระโก อันประกอบด้วยมารีย์ ชาวมักดาลา, มารีย์ มารดาของยากอบองค์เล็กและโยเสท และมารีย์ ซึ่งพระวรสารเรียกนางสะโลเม พวกกัลวารีโอ คือ กลุ่มสตรีที่ยินอยู่เชิงไม้กางเขนตามพระวรสารนักบุญยอห์น ประกอบด้วยแม่พระ, มารีย์ ชาวมักดาลา และมารีย์ ภรรยาของเคลโอปัส และ พวกธิดาของนักบุญอันนา คือ กลุ่มสตรีที่เป็นลูกสาวของนักบุญอันนาตามที่ปรากฏขึ้นมาในกลางศตวรรษที่ 9 จากความเชื่อที่ว่านักบุญอันนาได้แต่งงานถึงสามครั้ง และแต่ละครั้งก็ให้กำเนิดธิดาพร้อมตั้งชื่อว่ามารีย์ทุกคน ซึ่งเรื่องนี้สภาสังคายเตรนได้ปฏิเสธ กลุ่มนี้ประประกอบด้วยแม่พระ มารีย์ ภรรยาของเคลโอปัส และมารีย์ ซึ่งพระวรสารเรียกนางสะโลเม ซึ่งในบริบทของการพูดของท่านนี้ ผู้เรียบเรียงคิดว่าท่านน่าจะสื่อถึงกลุ่มกัลวารีโอ เพราะท่านน่าจะสื่อถึงการไม่ละเลยพระเยซูเจ้าไว้เพียงคนเดียวในตู้ศีล โดยใช้บริบทของการตรึงกางเขน ซึ่งเราจะได้เห็นข้อมูลที่สนับสนุนแนวคิดนี้ต่อไป


กลุ่มต่าง ๆ ในสหภาพเอวการิสติกา เรปาราโดรา

หลังจากนำเสนอข้อมูลเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยไปแล้ว เราก็กลับมาที่เรื่องราวของเราต่อ เช่นนั้นเอง อาศัยความเรียบง่ายไร้พิธีรีตองใด ๆ เหมือนชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ ณ นาร์ซาแร็ตของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ และความปรารถนาของพระสงฆ์ธรรมดา ๆ ที่อยากสอนให้คนทั้งโลกรักและเคารพในศีลมหาสนิท พันธกิจ ‘โอบรา ปารา รอส ซากรารีโอส-กัลวารีโอส’ (แปลโดยคาดคะเนว่า งานแห่งตู้ศีล) จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อสนองต่อการชดเชยความรักแด่ความรักอันเหลือประมาณของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท ที่มนุษย์หลายคนได้เมินเฉย และหลงลืมอาศัยการไปเฝ้าศีลเป็นประจำ ตามแบบฉบับของพระแม่มารีย์ผู้ปฏิสนธินิรล นักบุญยอห์น อัครสาวก และกลุ่มมารีอัสที่ยังคงอยู่แทบเชิงกางเขนร่วมกับพระเยซูเจ้าไม่ไปไหน ตลอดเวลาแห่งพระทรมาน ก่อนในเวลาต่อมาพันธกิจดังกล่าวจะค่อย ๆ  พัฒนามาเป็นสหภาพเอวการิสติกา เรปาราโดรา (แปลโดยคาดคะเนว่า สหภาพเพื่อการชดเชยต่อศีลมหาสนิท) ซึ่งเริ่มจากกลุ่มฆราวาสสองกลุ่มคือ คณะมารีอัสแห่งตู้ศีล (ภายหลังนักบุญโฆเซ มารีอา รูบีโอ สงฆ์เยซูอิตชาวสเปน ได้ร่างระเบียบแบบแผนคณะให้มีหลักมีเกณฑ์มากขึ้น) และคณะผู้ติดตามนักบุญยอห์น ที่ค่อย ๆ แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศสเปนเองและประเทศอเมริกาผ่านนิตยสารที่ท่านตั้งขึ้น จนจำต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์สันตบิดร

ดังนั้นในปีเดียวกันกับที่ท่านได้ตั้งคณะฆัวนิโตส เดล ซากรารีโ (แปลโดยคะเนว่า ยอห์นน้อยของตู้ศีล) ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะลา เรปาราซีโอน อินฟันติล เอวการิสติกา สำหรับเด็ก (แปลโดยคาดคะเนว่า คณะเด็กน้อยผู้ชดเชยบาปต่อศีลมหาสนิท บางครั้งในสหภาพจะเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มเพื่อนพระเยซูเจ้า) คือใน ค.ศ.1912 ท่านจึงได้เดินทางไปกรุงโรม และได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ปีนั้น และโดยในการเข้าเฝ้าคราวนั้น ท่านได้รับการแนะนำจากผู้ใหญ่ต่อพระสันตะปาปาว่าเป็น ‘อัครสาวกของศีลมหาสนิท’ และฝั่งนักบุญปีโอที่ 10 เองก็ทรงสนพระทัยกิจการที่ท่านกระทำอยู่ ทั้งทรงอวยพรงานของท่านอีกด้วย


หลังจากการเข้าเฝ้าองค์สันตะบิดรเพื่อรายงานการดำเนินงานของพันธกิจที่ท่านได้ริเริ่มขึ้น ท่านก็กลับมาประจำที่วัดอูเอลบาต่อไปจนถึงวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1915 หลังรับตำแหน่งคุณพ่อเจ้าวัดและหัวหน้าเขตอูเอลบาซึ่งท่านได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวหลังมาประจำได้ไม่กี่เดือน (พระสงฆ์ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเขตปกครอง มีหน้าที่ในการสอดส่องความเรียบร้อยต่าง ๆ ของวัดในเขตการดูแล) มาเป็นระยะเวลาถึงสิบปี อันเป็นสิบปีแห่งการเปลี่ยนแปลงในอูเอลบา สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ก็ทรงแต่งตั้งท่านเป็นพระสังฆราชเกียรติคุณแห่งโอลิมโป และให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยพระสังฆราชสังฆมณฑลมาลากา ตามคำร้องขอของพระคุณเจ้าฆวน มูโญซ พระสังฆราชแห่งมาลากาในขณะนั้น ท่านจึงจำต้องอำลาอูเอลบา และเข้าพิธีรับอภิเษกเป็นพระสังฆราชในวันที่ 16 มกราคม ปีถัดมาที่อาสนวิหารเมืองเซบียา แม้ในเวลานั้นจะมีความพยายามทัดทานการแต่งตั้งครั้งนี้จากพระสมณทูตวาติกันแห่งกรุงมาดริด ที่เพ่งเล็งท่านในวัย 38 ปี อย่างมาก สืบเนื่องจากท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงมากในสเปนในเวลานั้น ท่านบันทึกในภายหลังว่า “ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะเป็นพระสังฆราชของที่ใด นอกจากของตู้ศีลที่ถูกทิ้งร้าง ข้าพเจ้าจะต้องเป็นสังฆราชผู้กลัดกลุ้มถึงสองปัญหานั่นคือตู้ศีลและสัตบุรุษ ตู้ศีลเพราะผู้คนได้หลีกหนีไปจากมัน และสัตบุรุษเพราะพวกเขาไม่ได้ให้เวลากับตู้ศีลที่จะรู้จัก ที่จะรักและที่จะแวะเวียนมาหา”

ภายหลังจากรับตำแหน่งแล้ว ท่านจึงย้ายไปอยู่ที่สำนักมิสซังเมืองมาลากา และหนึ่งปีต่อมาใน ค.ศ. 1917 ท่านจึงได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้ดูแลงานประกาศข่าวดีในสังฆมณฑล และหนึ่งปีต่อมาท่านก็ได้ตัดสินใจก่อตั้งอีกสาขาของสหภาพเอวการิสติกา เรปาราโดราสำหรับพระสงฆ์ คือ คณะธรรมทูตสังฆมณฑลเอวการิสติกอส ต่อจากนั้นเมื่อตำแหน่งพระสังฆราชแห่งมาลากาว่างลง ท่านที่ขณะนั้นมีอายุได้ 43 ปี ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชสืบต่อจากพระคุณเจ้าฆวน มูโญซ และได้เข้าพิธีอภิเษกเป็นพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑลในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1920 โดยในโอกาสรับหน้าที่ใหม่นี้ ท่านก็ได้จัดให้มีการเลี้ยงอาหารบรรดาเด็ก ๆ ที่ยากไร้ที่ลานบ้านเณร โดยท่านก็ได้ลงมือร่วมกับบรรดาพระสงฆ์และบรรดาเณรช่วยกันจัดแจงเสิร์ฟอาหารให้กับเด็ก ๆ อย่างไม่ถือตัว ซึ่งมีถึงสามพันคน


ในฐานะสังฆราชผู้มีอำนาจสูงสุดในสังฆมณฑล งานในมาลากาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก ในการอภิบาลฝูงแกะจำนวนมากขึ้นนี้ท่านต้องเผชิญกับการถูกวิจารณ์และการถูกต่อต้านจากกลุ่มสงฆ์บางองค์ ที่กล่าวหาท่านอย่างร้ายกาจ เพียงเพราะกลัวจะเสียอภิสิทธิ์ที่ตนเคยมี แม้ว่าช่วงหนึ่งท่านจะล้มป่วยลง ฝ่ายตรงข้ามก็ยังคงไม่ยอมลดลาวาศอกให้ท่านกับยังคงเป็นปฏิปักษ์ต่อท่านอย่างเปิดเผย จนถึงจุดหนึ่งท่านก็จำต้องเขียนรายงานเรื่องทั้งหมดไปยังพระสมณทูตว่า “อุบายและความเป็นจริงของมาลากาทำให้ชีวิตของข้าพเจ้ามีรสขมมาก การแทงข้างหลังทำให้ข้าพเจ้าต้องเจ็บปวดเป็นอันมาก กำลังใจแต่ประการเดียวในใจของข้าพเจ้า คือ การระลึกว่าดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าจะทรงยอมรับเครื่องบูชาแห่งสุขภาพ สันติ เกียรติและชีวิตของข้าพเจ้าไว้…”

แม้จะเผชิญอุปสรรคในการอภิบาลสัตบุรุษอีกครั้งในตำแหน่งใหม่ ท่านก็ไม่ได้ท้อถอยในการทำงานในงานเหล่านี้ เพราะท่านมีความเชื่อมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างล้นพ้น ท่านจึงไม่ท้อแท้ และไก้เริ่มทำเช่นเมื่อครั้งยังเป็นคุณพ่อเจ้าวัดอูเอลบา นั่นคือท่านเริ่มออกเยี่ยมไปทุก ๆเขตวัดเพื่อมองหาปัญหาต่าง ๆ ของบรรดาลูกแกะที่ท่านดูแล และเพื่อเผยแพร่ความศรัทธาเป็นพิเศษต่อศีลมหาสนิทตามแบบคณะที่ท่านได้ตั้งขึ้นแก่บรรดาลูกแกะ จนที่สุดท่านก็ได้พบว่า สิ่งที่จำต้องทำโดยเร่งด่วนหาใช่ปัญหาตามเขตวัด แต่คือปัญหาที่ใกล้ตัวอย่างปัญหาที่พบที่บ้านเณรของสังฆมณฑล แหล่งบ่มเพาะผู้เลี้ยงแกะที่ดีและผู้แทนของพระคริสตเจ้าในโลก


เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายคนอาจสงสัยว่าบ้านเณรสังฆมณฑลมาลากาในเวลานั้นเป็นอย่างไร ตามคำอธิบายของท่าน ท่านได้อธิบายสภาพของบ้านเณรมาลากาไว้ว่า “…ห้องพักมีขนาดแคบยกพื้นสูง บริเวณลานมีลักษณะร่มครึ้ม ผนังและพื้นมีสภาพชื้นอยู่เสมอและไม่เคยโดนแสงอาทิตย์ตรง ๆ ห้องเรียนก็โดนแสงเต็ม ๆ ในช่วงกลางวัน… มีเสียงดังอึกทึกจากค้อนซึ่งมาจากการสกัดหินและการทำรองเท้า ที่ตั้งอยู่ย่านเดียวกันกับอาคารหลักอยู่ตลอด ซ้ำยังมีเสียงดนตรีจากนักเล่นปีอานีลโลทั้งหลาย (บางครั้งเรียกโอรกานิลโล มีลักษณะเป็นกล่องดนตรี มีทั้งแบบที่สามารถสะพายแบกไว้ที่หลังได้ และแบบที่มีขนาดใหญ่จนต้องมีล้อไว้เหมือนร้านรถเข็น) ตามท้องถนน ซึ่งมีเนื้อเพลงไม่พ้นเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ระหว่างนักดนตรีและนักเต้นขาจร ช่างน่าเศร้าเสียจริง” แน่นอนสภาพที่ท่านบรรยายนี้ อาจไม่น่าแปลกใจสำหรับเรา ๆ แต่สำหรับบรรดาเณรที่ต้องเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์น่ะสิ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อทั้งการเรียน และอาจส่งผลโดยตรงต่อกระแสเรียกด้วย

ท่านเขียนต่อว่า “นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ข้าพเจ้าบ้าพอจะยกระดับสิ่งนี้ ให้เป็นไปตามฝันของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่า ‘บ้านเณรของข้าพเจ้า’” เช่นนั้นเองด้วยความเชื่อและวางใจในพระเจ้า รวมถึงเล็งเห็นความจำเป็นอันเร่งด่วนและความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ท่านจึงได้ตัดสินใจจะสร้างบ้านเณรสังฆมณฑลมาลากาใหม่ เพื่อให้บ้านเณรหลังนี้สมเป็น ‘บ้านเณรของข้าพเจ้า’ตามฝันของท่าน โดยได้มีการจัดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1920 ภายใต้ชื่อ ‘สามเณรราลัยพระหฤทัยศีลมหาสนิทพระเยซูเจ้า’ (โกราโซน เอวการิสตีโก เด เฆซุส) ที่บนภูเขาใกล้เมืองมาลากา บ้านเณรแห่งนี้ท่านได้เลือกใช้สถาปัตยกรรมแบบอัลดาลูซา เพื่อให้อาคารสามารถรับลมและแสงอาทิตย์ได้อย่างพอดีสอดคล้องกับภูมิประเทศและภูมิอากาศของแคว้นอัลดาลูเซีย และได้ประดับกระเบื้องรวมถึงงานศิลปกรรมจำนวนมากให้เหมาะสมกับการเป็นสถานที่ฝึกอบรมอนาคตพระสงฆ์ ท่านเขียนไว้ว่า “ตั้งแต่ก้อนดินแรกที่ประตูไปจนถึงยอดของศรลมต่างมีงานศิลปะที่จะสอนทุกคนให้ได้รู้และได้รักพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท” ดังนั้นท่านจึงมิได้เพียงแต่สร้างบ้านเณรที่ตอบสนองเรื่องฝ่ายกายและเรื่องฝ่ายจิต แต่ยังสร้างบ้านเณรที่สอดแทรกหลักของศีลมหาสนิทไว้อีกด้วย


นอกจากการแก้ไขปัญหาเรื่องบ้านเณรของสังฆมณฑล ท่านยังมุ่งให้ความสนใจในการจัดการสอนคำสอนในเขตวัด เป้าหมายในการอภิบาลของท่านมีทั้งการจัดการปัญหาทั้งฝ่ายร่ายกายและฝ่ายจิตของสังฆมณฑล ดังนั้นท่านจึงพยายามแสวงหาปัญหาเหล่านี้และลงมือแก้ไขด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดสมัยปกครอง ท่านสอนบรรดาพระสงฆ์ในสังฆมณฑล ด้วยคำสอนเดียวกันกับที่ท่านสอนบรรดาสมาชิกในสหภาพที่ท่านก่อตั้ง คือ ให้มุ่งสู่ความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการ ‘กลายเป็นแผ่นปังร่วมกับแผ่นปังที่ได้ถวาย’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘ให้และให้ทุกสิ่งแด่พระเจ้าและเป็นที่รักของเพื่อนบ้านอย่างสม่ำเสมอไม่แปรผัน’

ส่วนในด้านงานสหภาพเอวการิสติกา เรปาราโดรา เมื่อท่านดำรงตำแหน่งเป็นพระสังฆราชแห่งมาลากาแล้ว ท่านก็ได้ร่วมกับน้องสาวของท่านเอง คือ มารีอา อันโตเนีย กอนซาเลซ การ์เซีย ก่อตั้งคณะนักบวชหญิง ชื่อ คณะภคินีมารีอัสชาวนาร์ซาแร็ต ขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1921 เพื่ออุทิศตนต่อสู้กับการละเลยตู้ศีล และประกาศข่าวดีถึงเรื่องศีลมหาสนิท (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น คณะธรรมทูตเอวการิสติกัสแห่งนาร์ซาแร็ต) โดยในระยะแรกคณะดังกล่าวยังไม่มีการปฏิญาณตนถือศีลบนสามประการเช่นนักบวชหญิง ดังนั้นในแง่หนึ่งคณะจึงมีลักษณะเป็นคณะนักบวชกึ่งฆราวาส แต่ภายหลังท่านสิ้นใจไปแล้ว คณะจึงได้ปรับรูปแบบให้สมาชิกต้องถือศีลบนสามประการของพระศาสนจักร คณะจึงได้ถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพการเบียดเบียนศาสนาในระหว่างสงครามกลางเมืองสเปน

อนิจจา แม้จะมีแผนงานมากมายแค่ไหนเพื่อช่วยเหลือวิญญาณจำนวนมาก ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไปเมื่อประเทศสเปนถูกปกครองด้วยรัฐบาลที่เป็นปฏิปักษ์กับพระศาสนจักร อันนับเป็นการเปิดฉากการเบียดเบียนพระศาสจักรครั้งใหญ่ในแผ่นดินสเปน ที่จะมีคริสตังจำนวนมากทั้งพระสงฆ์ ภารดา ภคินี ฆราวาส ต้องสละชีวิตเพื่อประกาศความเชื่อไม่ว่าส่วนไหนของสเปน จนแผ่นดินแห่งนี้ถูกชโลมไปด้วยโลหิตของชาวสเปนจำนวนมาก และปัจจุบันกระบวนการขอแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้เป็นนักบุญก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ที่มาลากาซึ่งท่านพำนักอยู่ก็เป็นอีกที่ที่เกิดการเบียดเบียน กล่าวคือในค่ำคืนวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1931 ฝูงชนที่สนับสนุนรัฐบาลสเปนอันนำโดยนักการเมืองของรัฐบาลก็ได้พากันบุกไปเผาสำนักพระสังฆราชแห่งมาลากา วัดและอารามในเมืองจำนวนหลายแห่ง

ท่านที่เห็นสถานการณ์เป็นเช่นนั้นจึงได้พาคนในสำนักไปหลบในห้องใต้ดิน และขณะทุกคนกำลังหวาดกลัวต่อภัยที่ถาโถมเข้ามา ท่านกลับดำรงอยู่ในสันติและประกาศให้ทุกคนคุกเข่า ท่านจะโปรดบาปให้ ทุกคนจึงคุกเข่าลง ท่านจึงสวดเป็นภาษาละตินแปลได้ว่า “พ่อขอยกบาปของลูก” จากนั้นทุกคนจึงร่วมกันสวดภาวนาด้วยกันอย่างหวาดวิตก ในเวลานั้นท่านชักชวนทุกคนให้เตรียมตัวเป็นมรณสักขีว่า “ขอให้พวกเรายกถวายชีวิตของเราเพื่อพระศาสนจักร และเพื่อรัชสมัยของดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าทั้งในสเปนและสังฆมณฑลทั้งหลายเทอญ” พยานบางคนจำได้ว่า ท่านได้สวดว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดทรงยกโทษและยกโทษให้กับประชากรของพระองค์ ทั้งขอโปรดทรงพระเมตตาลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป และโปรดรับเครื่องถวายแห่งชีวิตของลูกทั้งหลายเพื่อรัชสมัยของพระองค์ในสเปน เป็นพิเศษในสังฆมณฑลนี้ ข้าแต่พระแม่ผู้ปฏิสนธินิรมล โปรดพิทักษ์วิญญาณของลูกไว้ภายใต้เสื้อคลุมของพระแม่ด้วยเทอญ” จากนั้นท่านจึงกล่าวเสริมว่า “ให้เราสวดสายประคำกันเถิด” แล้วท่านจึงนั่งลงสวดสายประคำพร้อมกับทุกคนท่ามกลางสันติ และความเชื่อ


นับเป็นโชคดีที่ท่านและผู้พักในสำนักมิสซังซึ่งหลบอยู่ในห้องใต้ดินสำนัก สามารถหนีออกมาจากอาคารที่ไฟกำลังลุกไหม้ได้ทันจากประตูหลังอาคาร ทุกคนจึงรอดชีวิตจากการวางเพลิงในครั้งนี้ แต่เพียงไม่นานหลังหลบหนีออกมาได้ ท่านก็ถูกจับตัวโดยกลุ่มผู้ต่อต้านพระศาสนา ซึ่งท่านก็เผชิญหน้ากับพวกเขาเหล่านั้นอย่ากล้าหาญดุจดั่งพระเยซูเจ้า ท่านกล่าวกับพวกเขาว่า “พ่ออยู่นี่แล้ว เจ้าขุนมูลนายของคุณขอยอมแพ้” ชาวบ้านจึงจับตัวท่าน แล้วบังคับให้เดินไปตามท้องถนนอันมืดมิดพร้อมบ่วงเชือกที่คอ เพื่อนำตัวไปขังไว้ที่บ้านพักพระสงฆ์ จนรุ่งเช้าแทนที่พวกเขาจะตัดสินประหารชีวิตท่าน  พวกฝ่ายต่อต้านพระศาสนาก็ได้ขับไล่ท่านออกจากเมืองมาลากาที่ท่านรัก ท่านจึงจำต้องลีภัยไปซ่อนตัวในกระท่อมของเพื่อนที่เมืองรอนดา ก่อนในวันที่ 13 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ท่านก็ตัดสินใจออกเดินทางไปยังยิบรอลตา (เขตปกครองของประเทศอังกฤษแต่อยู่ติดกับประเทศสเปน จึงปลอดภัยจากรัฐบาล) โดยไปได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระคุณเจ้าริชาร์ด ฟิท์ซเจรอลด์ พระสังฆราชท้องถิ่น

“ข้าพเจ้าอภัยให้ดั่งพระอาจารย์เจ้า ผู้ทรงถูกตรึงไว้บนไม้กางเขนและพร้อมที่จะตายเพื่อพวกเขา ผู้ซึ่งตรึงพวกเราไว้บนกางเขน” คำกล่าวในข้างต้นปรากฏในจดหมายที่ท่านเขียนระหว่างพักอยู่ที่ยิบรอลตา แสดงถึงเจตจำนงค์อันแน่วแน่ของท่านที่พร้อมจะรับเกียรติแห่งมรณสักขีในทุกเวลา ท่านพำนักอยู่ที่ยิบรอลตาได้เจ็ดเดือน พอถึงวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1931 ท่านก็ตัดสินใจลอบกลับเข้ามาที่เมืองรอนดา ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสังฆมณฑลมาลากาอีกครั้ง และพำนักอยู่ที่นั่นจนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1932 หลังจากนั้นท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปยังกรุงมาดริด ท่านได้แวะไปหาพระสมณทูตและแจ้งกับพระคุณเจ้าว่าท่านเต็มใจที่จะกลับไปรอนดาเสมอ แม้ว่าจะรู้ดีว่าไปก็มีแต่ตายแน่นอน พระสมณทูตจึงสั่งให้ท่านอยู่ในมาดริด เป็นผลให้ท่านต้องปกครองสังฆมณฑลจากมาดริดนับแต่นั้น


แม้จะพำนักที่กรุงมาดริด ชีวิตของท่านก็ไม่ได้สะดวกสบายเท่าไรนัก ท่านต้องดำเนินชีวิตโดยอาศัยแค่ทานบริจาค และต้องอดทนต่อคำครหานานา แต่สิ้งเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ไฟแห่งความรักต่อศีลมหาสนิทของท่านมอดดับลงไปไม่ เพราะระหว่างการเบียดเบียนนี้เองใน  ค.ศ. 1932 ท่านก็ได้ตั้งคณะธรรมทูตสนับสนุนชาวนาร์ซาแร็ตขึ้น (ปัจจุบันคือคณะฆราวาสแพร่ธรรมเอวการิสตีกัสแห่งนาร์ซาแร็ต เป็นคณะนักบวชกึ่งฆราวาสที่ทำงานร่วมกับคณะธรรมทูตเอวการิสติกัสแห่งนาร์ซาแร็ต) นอกจากนี้ในระหว่างช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ท่านยังได้ประพันธ์หนังสือ และนำวิญญาณในคณะที่ตั้งอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย

จวบจนวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1935 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ก็ทรงแต่งตั้งท่านในวัย 58 ปี และปกครองสังฆมณฑลมาลากามาเป็นเวลา 15 ปี เป็นพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑลปาเลนเซีย ซึ่งทันทีท่านที่ท่านทราบว่าตนต้องรับแอกใหม่อีกครั้ง ท่านก็ถึงกับอุทานขึ้นว่า “พ่อปรารถนาจะร้องไห้ด้วยความสุขหลังพ่อร้องไห้ด้วยความขมขื่นมาหลายปี” และ “ใจของพ่อปวดร้าวไปด้วยความรักจำนวนมากมาย” และเพื่อดำเนินงานอภิบาลใหม่นี้ ท่านจึงได้ย้ายมาพำนักและปกครองสังฆมณฑลปาเลนเซีย จากที่อารามซาน อิสิโอโร เด ดุยญาส ของคณะทราปปิสท์ (อารามเดียวกับที่นักบุญราฟาเอล อาร์ไนซ บารอนอยู่) ที่อยู่ในเมืองปาเลนเซีย ซึ่งเวลาสมัยที่ท่านปกครองสังฆมณฑลปาเลนเซีย ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่เกิดสงครามกลางเมืองสเปน (ค.ศ. 1936 - ค.ศ. 1939) พอดี


“ข้าพเจ้าถวายตัวเองแผ่นปังน้อย ๆ เปี่ยมรอยยิ้มและข้าพเจ้าปรารถนาจะเป็นผู้แทนของดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าในปาเลนเซีย”  แม้ในเวลานั้นสงครามกลางเมืองสเปนจะได้เริ่มขึ้น ท่านก็ยังคงมีจิตใจที่มุ่งมั่นในการอภิบาลตามหน้าที่ที่รับมอบหมาย และพร้อมเสมอที่จะถวายตัวเป็นมรณสักขี หากพระเจ้าทรงประทานโอกาสนั้นมาให้ ท่านยังคงทำงานด้วยความคล่องแคล่ว และเปี่ยมไปด้วยพระหรรษทานตามแบบชาวอัลดาลูเซีย ท่านมอบเวลาให้กับการอภิบาลฝูงแกะน้อย ๆ ให้เดินตามมรรคาด้วยความกล้าหาญ ท่านส่งต่อความรักที่ท่านมีต่อศีลมหาสนิท แนะนำวิธีสวดภาวนา อบรมครูคำสอน และนำบรรดาสงฆ์ใต้ปกครองด้วยปรีชาญาณ ท่านกล่าวว่า “ความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของข้าพเจ้า คือ การลงไปที่ถนนเพื่อทำความดีกับลูก ๆ ของข้าพเจ้าในปาเลนเซียจนตาย

ในช่วงชีวิตสุดท้ายของท่าน ท่านเริ่มมีอาการป่วยออด ๆ แอด ๆ บ้าง แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ทำให้ท่านเปลี่ยนการดำเนินชีวิตอย่างกล้าหาญของท่านไป ท่านยังคงมีรอยยิ้มที่เป็นเอกลักษณ์ มีความเป็นมิตร มีความอบอุ่น และยังคงมอบถวายทุกอย่างแด่พระเจ้าโดยสมบูรณ์ ในช่วงเวลานี้ท่านยังได้ตั้งก่อตั้งคณะฆูเบนตุด เอวการิสติกา เรปาราโดรา ใน ค.ศ. 1939 สำหรับเยาวชน (แปลโดยคะเนว่า คณะเยาวชนผู้ชดเชยบาปต่อศีลมหาสนิท) อันเป็นสาขาสุดท้ายของสหภาพที่ท่านได้ก่อตั้งขึ้น และยังได้ก่อตั้งนิตยสารเรเนสำหรับเด็ก ๆ ขึ้นอีกด้วย ซึ่งในปีเดียวกันกับที่ท่านขยายงานเพื่อกระตุ้นความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท อันเป็นพันธกิจที่ท่านยึดมั่นตลอดชีวิต ตั้งแต่ได้รับแรงบันดาลใจ ณ เบื้องหน้าตู้ศีลที่ได้รับการทิ้งร้าง วาระสุดท้ายของท่านก็ใกล้เข้ามาเต็มที

ข้าวของเครื่องของนักบุญมานูเอล

ใน ค.ศ. 1939 ขณะท่านไปแสวงบุญที่เมืองซาราโกซา ท่านก็เกิดล้มป่วยหนัก จนจำต้องถูกส่งตัวไปรับการรักษาโดยด่วนที่กรุงมาดริด และเหมือนตัวท่านเองก็ทราบดีว่า เวลาสุดท้ายของท่านนั้นใกล้เข้ามาเต็มที ดังนั้นเมื่อผ่านหน้าตู้ศีลในวัดน้อย จากบทเปลหามท่านจึงทูลพระองค์ว่า “ถ้าพระองค์ประสงค์ให้ลูกได้กลับมา ก็โปรดอวยพรลูกด้วย แต่แม้นพระองค์ไม่ประสงค์ให้ลูกได้กลับมา ก็ขอโปรดทรงอวยพรลูกด้วย” และเมื่อถึงวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1940 ท่านที่ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่กรุงมาดริดและปกครองสังฆมณฑลปาเลนเซียมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบด้วยอายุ 62 ปี ณ คลินิกที่ท่านเข้ารับการรักษา ร่างของท่านได้รับการฝังในอาสนวิหาร เมืองปาเลนเซีย พร้อมด้วยข้อความจารึกตามความปรารถนาท่านว่า “ข้าพเจ้าขอให้ฝังร่างไว้ข้างตู้ศีล เพื่อว่าภายหลังจากข้าพเจ้าได้จากไปแล้ว กระดูกของข้าพเจ้าจะได้เป็นเสมือนหนึ่งลิ้นและปากกาของข้าพเจ้าขณะข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ ที่จะประกาศกับบรรดาผู้ที่กำลังผ่านไปว่า ‘ที่นั่นมีพระเยซูเจ้า ทรงอยู่ตรงนั้น อย่าทิ้งพระองค์ไว้แต่ลำพังเลย’”

ท่านจากไปโดยได้ทิ้งงานเขียนที่ถ่ายเรื่องเล่าความรักศรัทธาในศีลมหาสนิท คำภาวนา แนวทางของครูคำสอน และข้อชี้แนะสำหรับบรรดาพระสงฆ์ ซึ่งสะท้อนความคล่องแคล่วและความงามตามอย่างชาวอัลดาลูเซีย ในเวลาเดียวกันก็สะท้อนพระหรรษทานของชายผู้ได้รับเจิม งานเขียนเหล่านี้ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน อาทิเช่น การละทิ้งศีลมหาสนิทโดยพร้อมกัน, คำภาวนาต่อตู้ศีลที่ปรากฏในคำภาวนาของพระวรสาร, ศิลปะในการเป็นอัครสาวก, พระหรรษทานของการศึกษา, ศิลปะและพิธีกรรม เป็นต้น

พิธีสถาปนาบุญราศีมานูเอลขึ้นเป็นนักบุญ

กระบวนการของท่านถูกเริ่มขึ้นในฐานะธรรมสักขี แม้เมื่อมีการเข้าสู่ชั้นพิจารณาจะมีการถกเถียงกันว่ากรณีของท่านจัดอยู่ในกลุ่มมรณสักขีหรือเปล่า เพราะท่านได้รับบาดเจ็บจากการเบียดเบียนสเปนในครั้งนั้น จนเป็นที่ชัดเจนว่าจริง ๆ แล้วท่านเป็น ‘พระสังฆราชมรณสักขี’ ผู้เป็น ‘นายชุมพาบาลผู้ซื่อสัตย์’ ที่ไม่ยอมทิ้งผู้แกะของตน และเช่นเดียวกันก็พร้อมที่จะตายเพื่อพวกเขา แต่ก็สรุปชัดไม่ได้ กระนั้นก็เกิดอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนของท่านขึ้น ทำให้ในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2001 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงบันทึกนามท่านในสารบบบุญราศีอย่างสง่า ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร พร้อมข้ารับใช้พระเจ้าอีกสี่ท่าน และในวันเดียวกันพระองค์ได้ทรงกล่าวยกย่องท่านในบทเทศน์ว่า “บุญราศีมานูเอล กอนซาเลซเป็นรูปแบบของความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท อันนับเป็นแบบฉบับที่จะยังถูกพูดถึงในพระศาสนจักรทุกวันนี้” และเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 2016 เมื่อเกิดอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนผ่านท่านเป็นครั้งที่ 2 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส จึงได้ทรงสถาปนาท่านเป็นนักบุญ ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร

ศีลมหาสนิท คือ โภชนาทิพย์จากสวรรค์ ศีลมหาสนิท คือ เครื่องประกันถึงความรอดของวิญญาณที่รับด้วยความศรัทธา ศีลมหาสนิท คือ ธารน้ำทิพย์ที่หล่อเลี้ยงวิญญาณที่ร้อนรนและคือหยาดน้ำแห่งชีวิตแก่วิญญาณที่เหี่ยวเฉา ศีลมหาสนิท คือ เครื่องหมายที่แจ่มชัดถึงความรัก ความเมตตาอันสุดประมาณของพระเจ้า ศีลมหาสนิท คือ การชิดสนิทกับพระเป็นเจ้า และศีลมหาสนิท คือ สมบัติฝ่ายจิตอย่างแท้จริง “เพราะขนมปังของพระเจ้า คือ ขนมปังซึ่งลงมาจากสวรรค์ และประทานชีวิตให้แก่โลก” (ยอห์น 6 : 33) หากแม้นแต่เพียงเราสละเวลาแม้สักนิดเตรียมจิตใจของเราก่อนมิสซา ตรวจดูว่าเรามีบาปหนักอะไรหรือเปล่าและสวดภาวนานิดหน่อย และอยู่เบื้องหน้าพระองค์หน้าตู้ศีลหลังมิสซาอีกสักหน่อย ค่อย ๆ คิดรำพึงถึงสิ่งต่าง ๆ แล้วเล่าให้พระองค์ฟังเหมือนเพื่อนสนิท เราก็จะได้ค้นพบอะไรมากมายจนเกินกว่าจะพรรณนาด้วยคำพูดใด ๆ ได้ แน่นอนว่าต้องไม่ใช่แค่ในวันสมโภชพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ต้องเป็นทุกวันที่เรามีโอกาส เพราะชีวิตเรามันสั้นนักจะตายวันตายรุ่งเมื่อไรก็ไม่รู้ ดังนั้นเอง เมื่อวันนี้เรายังมีลมหายใจอยู่ ก็ขอให้เร่งตักตวงพระหรรษทานจากขุมสมบัตินี้ไปใช้ให้กับทุก ๆ คนรอบข้าง ๆ เรา นี่แหละคือสิ่งที่ชีวิตของพระสังฆราชผู้มอบ ‘ชีพนี้เพื่อพระผู้เร้นกาย’ ในเพศปังได้เรียกร้องขอเราให้ปฏิบัติ มาเถิด มาหาพระองค์ด้วยความรักในศีลมหาสนิทกัน พระองค์เร้นกายรอเราอยู่ ณ ที่นั่นแล้วพร้อมพระหรรษทานมากมายให้ตักตวง โอ้ประชาชาติทั้งหลายเอ๋ย จะมีพระอื่นใดอยู่ใกล้ชิดมนุษย์เท่ากับพระเจ้าของเรา อัลเลลูยา.
รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
แก้ไขปรับปรุง, วันเสาร์ก่อนสมโภชพระคริสตวรกาย 
ที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2023

“ข้าแต่ท่านนักบุญมานูเอล กอนซาเลซ กราเซีย ช่วยวิงวอนเทอญ”

ข้อมูลอ้างอิง
http://www.vatican.va/news_services/liturgy/saints/ns_lit_doc_20010429_gonzalez-garcia_it.html
http://www.uner.org/mes.html
http://infocatolica.com/blog/elolivo.php/1003050740-centenario-de-las-marias-de-l
http://uner.org/nuevaweb/publicaciones/publicaciones_elgranito.html
http://www.diocesismalaga.es/
http://www.anunciando-jmsalaverri.org/2011/05/16-beato-manuel-gonzalez-el-obispo-del.html
https://es.zenit.org/articles/beato-manuel-gonzalez-garcia-2/
http://www.religionenlibertad.com/martirio-y-destierro-del-bto-manuel-gonzalez-y-6-26863.htm
http://www.igw-resch-verlag.at/santibeati/vol6/gonzalez.html
https://es.wikipedia.org/wiki/Manuel_González_García
https://en.wikipedia.org/wiki/Manuel_González_García_(bishop)
https://it.wikipedia.org/wiki/Manuel_González_García
http://es.catholic.net/op/articulos/23111/cat/46/d-manuel-gonzalez-garcia.html
http://www.aggancio.it/2013/03/beato-manuel-gonzalez-garcia-1877-1940/
http://www.colegiodiocesano.net/?page_id=26
http://beatomanuel.weebly.com/
http://www.seminariomalaga.es/seminario-mayor/historia/
http://www.biblia.work/diccionarios/gonzalez-garcia-manuel/
http://www.preguntasantoral.es/2012/01/beato-manuel-gonzalez/
http://uner.org/nuevaweb/manuelgonzalez/index_manuelgonzalez.html
http://www.ciberia.es/~jmarti/BEATOMANUELGONZALEZGARCIA.htm
https://anecdotasycatequesis.wordpress.com/2010/01/04/un-enamorado-de-la-eucaristia-beato-manuel-gonzalez-garcia-2/



วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"เอวเซเบีย" มือมุ่งรับใช้...ใจมุ่งสวรรค์


บุญราศีเอวเซเบีย ปาโลมีโน เยเนส
Bl. Eusebia Palomino Yenes
ฉลองในวันที่ : 9 กุมภาพันธ์

ที่หมู่บ้านกันตัลปิโน หมู่บ้านเล็กๆในจังหวัดซาลามังกา ประเทศสเปน ใครๆ ก็ต่างรู้ดีว่าครอบครัวปาโลมีโนนั้นยากจนแค่ไหน ครอบครัวนี้มีนายอากุสติน ปาโลมีโน ชายผู้แสนดีและอ่อนโยน แต่ขี้โรคเป็นหัวหน้า และมีนางฆวนนา เยเนส เป็นช้างเท้าหลัง รายได้หลักๆของครอบครัวนั้นมาจากการทำงานรับจ้างอย่างหนักของทั้งสอง โดยนายปาโลมีโน ปกติจะรับจ้างทำงานฟาร์ม ส่วนนางเยเนสนั้นบางเวลา นางก็จะออกไปรับจ้างทำงานในทุ่งนาด้วย แต่กระนั้นก็เถอะครอบครัวของสามีภรรยานี้ก็ร่ำรวยไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธาต่อพระเจ้า

ซิสเตอร์เอวเซเบียเกิดในครอบครัวนี้เอง ในวันที่ 15 ธันวาคม ค..1899 และได้รับการเลี้ยงดูตามแบบฉบับคริสตชนที่ดีมาท่ามกลางความยากจนของครอบครัวนี้ในฐานะลูกคนที่สามจากสี่คน ซึ่งเมื่อท่านนึกย้อนไปถึงวันวานนั้น ท่านได้เล่าไว้ว่า หลายต่อหลายครั้ง ขณะที่คุณแม่ทำข้าวเย็นหรือซ่อมเสื้อผ้า คุณพ่อก็จะสวมกอดเราด้วยมือที่สีเข้มเพราะการทำงานกลางแดดและหยาบกร้านเพราะการขุด และหยิบหนังสือคำสอนเล่มเล็กๆที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าอัศจรรย์ เรื่องยิ่งใหญ่ สันติและความรักมากมายออกมา ซึ่งในเรื่องนี้ท่านยังเล่าอีกครั้งว่า “…เหมือนทั้งสามได้เรียนรู้จากริมฝีปากแห่งคำสอนที่งดงามและมีเสน่ห์ของคุณพ่อ


เป็นเรื่องปกติที่เมืองลมหนาวของเหมันตฤดูมาถึงหมู่บ้าน งานรับจ้างก็จะยิ่งน้อยลง จนกระทั้งที่สุดก็ไม่มีเลยสำหรับครอบครัวปาโลมีโน ดังนั้นหนทางเดียวที่จะหาขนมปัง มาประทังชีวิตของครอบครัวได้ก็มีเพียงแต่การ ขอทานดังนั้นเมื่อท่านมีอายุได้สักหกขวบ ท่านจึงมีโอกาสได้ติดสอยห้อยตามบิดาของท่านออกไปขอทานตามหมู่บ้านใกล้ๆในหลายๆโอกาส ซึ่งการขอทานเช่นนี้เป็นเรื่องที่บิดาของท่านอับอายมากๆ แต่ท่านกลับตรงข้ามกับบิดาโดยสิ้นเชิง เพราะท่านนั้นเพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์ต่างๆตลอดเส้นทาง บางทีท่านก็เดินไปกระโดดไปอย่างมีความสุข ซึ่งก็ทำให้บิดาของท่านมีความสุขขึ้นมาได้บ้าง และเมื่อมาถึงที่หมาย ท่านก็จะตระเวนไปตามบ้านต่างๆ พลางยิ้มอย่างไร้เดียงสาพร้อมกล่าวประโยคที่ไม่เข้าใจว่า ขนมปังสักก้อน เพื่อความรักของพระเจ้า

ในวัยเยาว์สิ่งที่ท่านชอบมากสุดก็คือการเล่น ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนนิสัยนี้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ดั่งที่ท่านเขียนถึงบิดามารดาจากบัลเบร์เดว่า คุณพ่อคุณแม่ที่รัก ลูกยังคงเป็นเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนไปไหน ลูกมีความสุขและขี้เล่น ขณะเดียวกันก็พร้อมเสมอที่จะทำงานและแม้แต่ปีนต้นไม้ก็ด้วย ท่านเข้าโรงเรียนรัฐสำหรับเด็กหญิงในหมู่บ้านเมื่ออายุได้หกปี  แต่ก็จำต้องออกเมื่ออายุได้ 7 ปี เพื่อมาช่วยที่บ้านทำงาน อย่างไม่สามารถปฏิเสธได้


วันหนึ่งจู่ๆท่านก็ได้ยินเสียงที่ท่านคุ้นเคยสนทนากันว่า พระเจ้าทรงทดสอบด้วยโรคภัยและการขาดแคลนสิ่งจำเป็น , หญิงเอ๋ย หากพระเจ้าทรงประสงค์ให้รับทุกข์ยาก ก็จงถวายทุกสิ่งแด่พระเจ้า และอย่ากังวล แล้วชื่นชมยินดีในสวรรค์เถิด นับตั้งแต่อายุได้ 8 ปีเรื่อยมาจนถึง 12 ปี ทุกๆฤดูร้อนท่านก็จะออกไปรับจ้างเป็นแม่บ้านในหมู่บ้าน ตั้งแต่ยังเล็กและพร้อมความคิดถึงความตาย ความสุขของดิฉันก็คือเวลาที่ดิฉันได้คิดว่าดิฉันกำลังจะตาย โดยไร้ซึ่งความเป็นเจ้าของของสิ่งใด และแม้เพียงสิ่งเล็กๆน้อยๆดิฉันก็ได้มามากเกินพอแล้ว ดิฉันพรั่งพร้อมไปแล้วทุกอย่าง ไม่มีอะไรบนโลกนี้จะแยกความสุขในสวรรค์ในหัวใจของดิฉันที่ดิฉันได้พบไปได้หรอก

ภายหลังจากลาออกมาทำงานช่วยเหลือครอบครัวแล้ว เมื่อท่านมีอายุได้ 8 ปี ก็ถึงวัยเหมาะพอดีที่จะได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก ดังนั้นจึงมีการจัดวันให้ท่านได้เข้าพิธีนี้พร้อมกับเด็กหญิงวัยเดียวกันคนอื่นๆ ซึ่งในตอนเช้าวันนั้นเอง ปีศาจก็ได้มาผจญท่านด้วยเรื่องชุดที่เทียบอะไรไม่ได้กับเด็กคนอื่น ดิฉันรู้สึกว่ามีเสียงเสียงหนึ่งพูดกับดิฉันว่า ช่างโง่เขลาเสียจริง ช่างโง่เขลาเสียจริง ขณะที่เพื่อนๆคนอื่นของเธอได้แต่งชุดงามๆ เธอกลับเป็นขอทานเนื้อตัวมอมแมม และหากเธอไม่อิจฉาก็เพราะเธอมันโง่สิ้นดี แต่หลังจากนั้นเอง ก็ปรากฏเสียงอันอ่อนหวานอีกเสียงหนึ่งบอกท่านว่า อย่ากลัวไปเลย บัดนี้จงประดับประดาและเพิ่มพูนไปด้วยจิตตารมณ์แห่งคุณธรรมตลอดเวลา และพระเยซูเจ้าจะทรงอวยพระพรหนู หนูจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่

และอาศัย การเผชิญหน้า ครั้งแรกกับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทนี้เอง ท่านก็รู้สึกว่าภายในว่า ท่านนั้นถูกเรียกที่จะเป็นของพระคริสตเจ้าทั้งครบ ดังนั้นท่านจึงมอบถวายตนเองแด่พระองค์ดุจเดียวกับ อับบาฮัมได้ถวายอิสอัคเป็นพลีบูชา

ท่านช่วยงานครอบครัวอยู่ที่หมู่บ้านได้ราวสี่ปีหลังจากรับศีลมหาสนิทครั้งแรก ในวัย 13 ปี ท่านก็ได้ติดตามพี่โดโลเรส พี่สาวคนโตของท่านไปยังเมืองซาลามังกา และได้เริ่มทำงานเป็นพี่เลี้ยง ตามด้วยเป็นแม่บ้านในโรงพยาบาลซาน ราฟาเอล โรงพยาบาลสำหรับบรรดาผู้ยากไร้และคนชราที่ถูกทอดทิ้ง ในเมืองคริสตชนอันอุดมไปด้วยอารามคณะต่างๆ ซึ่งทีละนิด มันก็ค่อยๆเผยถึงกระแสเรียกการเป็นนักบวชในชีวิตของท่านให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น



ลูกจะเป็นธิดาของแม่ เสียงหนึ่งดังขึ้นในส่วนลึกของวิญญาณของท่าน ขณะพระรูปแม่พระองค์อุปถัมภ์กำลังถูกแห่ผ่านไปในวันฉลอง หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันถัดมา ขณะท่านไปยังน้ำพุซาน ฆูเลียนา เพื่อตักน้ำ ประจวบเหมาะท่านก็พบกับเด็กสาววัยเดียวกับท่าน ชวนท่านไปเข้าวัดน้อยประจำโรงเรียนพระจิตเจ้าของคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์(...) ในวันอาทิตย์ที่จะถึง ดังนั้นด้วยวิธีการอันน่าแปลกประหลาดเด็กสาวจนๆจากกันตัลปีโนจึงได้รู้จักกับคณะธ...

และยิ่งเมื่อท่านได้เข้าไปในวัดนั้นเป็นครั้งแรกเพื่อทักทายพระเจ้า ท่านก็รับรู้ได้ถึงการเรียกร้องจากพระมารดาองค์อุปถัมภ์ให้ท่านอยู่กับพระนาง ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้น ท่านได้เล่าย้อนในภายหลังว่า “…ดิฉันคุกเข่าลงแทบพระบาทของพระนาง หลังจากนั้นดิฉันก็รู้สึกมีเสียงในตัวดิฉันบอกกับดิฉันว่า เป็นที่นี่ที่แม่อยากให้ลูกอยู่’” หลังจากนั้นมาทุกๆบ่ายวันอาทิตย์ท่านก็จะแวะมาเข้าวัดที่นี่เสมอ แต่ท่านก็ไม่เคยพบเด็กสาวคนนั้นอีกเลย “…ดิฉันไม่ทราบหลังจากนั้นว่าเธอไปไหนหรือเอาจริงๆก็คือดิฉันไม่เคยพบเธออีกเลย ชะลอยเด็กสาวผู้นั้นจะเป็นทูตสวรรค์หรือไม่ ก็ไม่มีใครรู้


ส่วนท่านนั้นพอดีอธิการโรงเรียนเห็นท่าทีโอเคจึงขอท่านว่า พวกเราจำเป็นต้องหญิงสาวซักคนหนึ่งเช่นเธอที่จะช่วยพวกเราในการทำงานบ้านต่างๆ เธอสนใจไหม ทันทีท่านจึงตอบตกลง และนับแต่นั้นในเดือนกันยายน ท่านในวัย 17 ปีก็เริ่มมาอยู่และช่วยงานโรงเรียนของธ... ทั้งงานขนฟืน งานปรุงอาหาร งานทำความสะอาด งานซักล้าง และงานติดต่อธุระในที่ไกลๆพร้อมๆกับพวกครูและนักเรียนของโรงเรียน

ในหน้าที่เหล่านั้น ท่านเป็นคนที่ พร้อมยื่นมือ เข้าช่วยทำงานต่างๆ และทำทุกสิ่งด้วยความสนุกสนานและเงียบง่ายให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกๆคนรอบๆตัวของท่าน แต่บรรดานักเรียนต่างรู้ดีว่าภายในรอยยิ้มอันเป็นนิสัยของท่านและหนทางแห่งความเรียง่าย ท่านนั้นมี ความลึกล้ำซ่อนเร้นอยู่ และพวกเธอต่างได้พบ ข้อแก้ตัว จำนวนมากมายอยู่กับท่าน ขณะเดียวกันก็ได้รับคำปรึกษาและความบรรเทาใจจากปากคู่นั้น และร่างเล็กนั้นเช่นกัน


แต่ในรอยยิ้มนั้นขณะทำงานไปใจท่านก็เฝ้าใฝ่ฝันถึงการได้เข้าคณะเป็นซิสเตอร์ธ... ถ้าฉันทำงานตามหน้าที่อย่างแข็งขัน เพื่อความรักของแม่พระ และวันหนึ่งฉันก็จะได้เป็นธิดาของพระนางในคณะนี้ ท่านคิด แต่ใครจะไปรับคนจนๆเรียนมาน้อยละ สิ่งนี้แหละที่ทำให้ท่านไม่กล้าปริปากบอกกับซิสเตอร์ในโรงเรียนถึงความฝันนี้ และเก็บซ่อนมัน พลางใช่มันเป็นไฟที่หล่อเลี้ยงให้คำภาวนาและกิจการทวีมากขึ้น ตลอด 5 ปีที่ทำงาน จนถึงเวลาท่านอายุได้ 22 ปี การมาของคนคนหนึ่งก็จะเปลี่ยนความฝันท่านให้เป็นความจริง

พ่อขอเวลาพูดกับเธอสักหน่อยจะได้ไหม  คุณพ่อโฆเซ บิเนลลี ผู้ตรวจการณ์คณะซาเลเซียนที่ได้เดินทางมาเยี่ยงคณะที่เมืองซาลามังกา ถามท่าน ได้ค่ะ ท่านตอบ เธออยากจะเป็นธ...ใช่ไหม อย่างไม่มีปี่ขลุ่ยเมื่อท่านมาหาคุณพ่อแล้ว คุณพ่อก็กล่าวขึ้น ใช่ค่ะ คุณผู้ตรวจการณ์ ท่านตอบอย่าประหลาดใจ คุณพ่อโฆเซจึงได้ล้วงเอาหนังสือออกมาจากระเป๋าก่อนจะวางมือบนศีรษะของท่าน ก่อนท่องบทสวดภาษาละตินบางอย่าง แล้วจึงอวยพรท่าน พลางบอกว่า ตอนนี้เธอเป็นของแม่พระโดยสมบูรณ์ พระนางจะให้คำแนะนำและช่วยเธอเอง พ่อจะสวดภาวนาให้เธอ


คำกล่าวนี้สร้างความยินดีในดวงใจที่อัดอั้นของท่านยิ่งนัก และมากยิ่งขึ้นเมื่อคุณพ่อได้ไปบอกกับคุณแม่อธิการว่าไม่ต้องกังวลในเรื่องใดทั้งสิ้น และให้รับท่านเข้าคณะอาศัยอำนาจในนามของมหาธิการิณีของคณะ เหตุฉะนั้นเองโดยได้รับการยกเว้นซึ่งเงินสินสอด ในวันที่ 5 สิงหาคม ค..1922 ด้วยอายุ 22 ปี ท่านจึงได้เข้านวกสถานที่ซารียา ในเมืองบาร์เซโลนา และได้เข้าพิธีปฏิญาณตนในอีกสองปีถัดมา และถูกส่งไปยังบัลเบร์เด  

ให้เราเป็นนักบุญกัน อย่างอื่นคือเรื่องเหลวไหล ท่านกล่าวคำอำลาเพื่อนนวกะที่ดีที่สุดของท่าน ที่ได้ใช่ชีวิตร่วมกันตลอดสองปี ทั้งชีวิตสวดภาวนา ชีวิตทำงานและชีวิตเรียน และมุ่งขึ้นรถไฟมุ่งตรงมาเมืองบัลเบร์เด เมืองเล็กๆบา ซึ่งขณะนั้นมีประชากรราว 9,000 คน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสเปน ใกล้ชายแดนโปรตุเกส ในพื้นที่ทำเหมืองแร่ของจังหวัดอูเอลบา และมาถึงยังสถานีรถไฟเมืองบัลเบร์เด เดล กามีโน ที่มีบรรดาเด็กๆชาวบัลเบร์เดในโรงเรียนมารอต้อนรับ ในวันที่ 24 สิงหาคม ค..1924  แต่แทนที่เมื่อท่านเหยียบก้าวแรกท่านจะได้รับความอบอุ่นจากเด็กๆ ตรงข้ามสิ่งแรกที่ท่านได้รับคือการดูถูกดูแคลนอย่างเปิดเผยจากทั้งบรรดาเด็กๆและบรรดาซิสเตอร์ที่ผิดหวังกับซิสเตอร์ใหม่คนนี้ เพราะ รูปร่างที่ เล็ก ซีดเซียวและน่าเกลียด พร้อมด้วยมือที่ใหญ่เกินไป ยิ่งบวกกับชื่อโง่ๆของเธออีก


แต่กระนั้นท่านก็ไม่ได้รู้แย่อันใด ตรงข้ามท่านกลับรู้สึกว่าท่านเป็น พระราชินี ที่ได้อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ของพระเยซูเจ้าผู้เป็นกษัตริย์ตลอดเวลา ฉันมีความสุขที่จะอยู่ในบ้านของพระเจ้าในทุกวันของชีวิตของฉัน ท่านกล่าว ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่เช้าวันถัดมา ท่านจะเริ่มวันด้วยการ พับแขนเสื้อของท่าน และเริ่มลุยงามต่างๆที่ได้รับมอบหมายอันได้แก่ งานครัว งานซักรีด งานรับแขกที่ประตู งานสวน และงานดูแลเด็กในวัด กระทั้งทีละนิดกลิ่นหอมแห่งความศักดิ์สิทธิ์ และจิตวิญญาณแห่งซาเลเซียนก็ค่อยๆสำแดงออกมาผ่านตัวท่าน

เด็กๆเริ่มถูก ดึงดูด ด้วยเรื่องราวของบรรดานักบุญ บรรดาธรรมทูต ความศรัทธาต่อแม่พระ และเกร็ดชีวประวัติของคุณพ่อยอห์น บอสโก ที่ท่านเล่าด้วยความทรงจำที่แม่นยำของท่าน และด้วยพระพรในการเล่าเรื่องได้อย่างน่าฟัง ท่านมักใช้โอกาสทุกโอกาสและทุกสถานที่ โดยเฉพาะวัดน้อย เพื่อสอนเรื่องคุณธรรมคริสตชน โดยเฉพาะการดำรงอยู่ในสันติและการดำรงอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าแก่เด็กๆเสมอ นอกนี้ท่านยังมักบอกเด็กๆให้หมั่นแก้บาปรับศีลบ่อยๆ ซึ่งสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ต่างสะท้อนให้เห็นความรักของพระเจ้า และความปรารถนาที่จะมอบความรักยังคนอื่นๆ


หลังจากนั้นที่สุดบรรดาผู้ที่ดูถูกดูแคลนท่านในวันแรกก็ค้นพบว่า ภายใต้ร่างอันน้อยนิดนี้ได้ซ่อนบางสิ่งที่แสนพิเศษเอาไว้ บัดนี้กลิ่นแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของท่านได้ตลบฟุ้งไปทั่วอาราม และค่อยๆแพร่ไปยังภายนอก เริ่มจากบรรดาผู้ปกครองของบรรดาเด็กๆ ก่อนตามมาด้วยชาวเมืองคนอื่นๆ เยาวชน เณร และแม้แต่พระสงฆ์เอง ก็ต่างเดินตามมายังต้นกลิ่นนี้ และได้ขอให้ท่าน ซิสเตอร์จนๆ ผู้ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องทางเทววิทยา แต่เต็มล้นไปด้วยปัญญาของพระเจ้าในหัวใจ เป็น ที่ปรึกษาฝ่ายจิต ให้แก่พวกเขา ซึ่งท่านก็น้อมรับงานนี้ด้วยใจอารี ไม่มีแบ่งแยกเวลาสำหรับใคร แต่มีเวลาสำหรับทุกๆคน

ทำไมทุกคนจึงต่างหลั่งไหลมาหาท่าน ส่วนอาจเป็นเพราะกิจการของท่าน แต่อีกส่วนก็คงมาจากอัศจรรย์มากมายที่ได้เกิดขึ้นในชีวิตอันแสนสั้นนี้ ซึ่งผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างมาไม่กี่เรื่อง ซึ่งก็มากพอที่จะตอบย้ำความจริงที่ชาวเมืองบัลเบร์เดรู้กัน คือ ซิสเตอร์เอวเซเบียเป็นนักบุญ


จดหมายสามฉบับ หนึ่งในนักเรียนชื่อ โฆเซฟา ประจำมีพี่ชายถูกเกณฑ์ไปประจำอยู่สนามรบที่ประเทศโมร็อกโก และขาดกับติดต่อกับครอบครัวเป็นระยะเวลานาน มารดาของเธอจึงเป็นทุกข์มาก พอดีท่านมาเห็นมาสวดในวัดตมคำแนะนำของลูกสาว ท่านจึงปลอบใจคุณแม่ท่านนั้นว่า อย่าร้องไปเลยนะคะ ลูกของคุณป้าปลอดภัยดีและมีน้ำหนักเพิ่มตั้งห้ากิโล เขาทำงานเป็นคนรับโทรศัพท์และได้เขียนจดหมายมาสามฉบับซึ่งคุณป้ายังไม่ได้รับ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะเพียงสองวันถัดมาคือในวันพุธศักดิ์สิทธิ์(ท่านกล่าวในวันจันทร์ศักดิ์สิทธิ์) บุรุษไปรษณีก็นำจดหมายสามฉบับที่เนื้อความตามท่านบอกมาส่งคุณแม่คนนั้นจริงๆ

สวนของอารามเป็นที่ปลูกพืชที่ต้องการน้ำ ดังนั้นเด็กๆจึงมีหน้าที่ช่วยกันไปตักน้ำจากบ่อน้ำสาธารณะมารด แต่มาช่วงหนึ่งน้ำในบ่อน้ำนั้นก็แห้งพอดี ท่านผู้มองโลดในแง่ดี จึงไปขอคุณแม่อธิการ คุณแม่การ์เมล เพื่อจะได้จ้างคนมาขุดบ่อน้ำ เวลานั้นก็ประจวบเหมาะพอดีคือมีชายคนหนึ่งแวะมาที่โรงเรียน และเห็นด้วยกับความคิดนี้ ซึ่งแม้เขาจะสงสัยก็ตามว่าจะมีตาน้ำตรงนี้ได้ไง เขาก็ลงมือลงจอบขุดตามที่ตนทำได้ในทันทีจนได้หลุมลึกพอดู ซึ่งขณะชายผู้นั้นกำลังขุดหลุมอยู่นั้น ท่านก็นั่งล้างผักสำหรับใช้ทำอาหารมือกลางวันอยู่บนม้านั่งไม่ไกลจากนั้นเท่าไร โดยมีลูกมือคือเด็กหญิงๆเกรโกเรียนั่งอยู่ข้างๆ


ตัดกลับมาที่ชายผู้นั้น เมื่อเขาขุดไปเรื่อยๆ เขาก็ขุดไปโดนหินแตกพอดี ซึ่งทันทีที่หินนั้นแตกก็พลันปรากฏสายน้ำพวยพุ่งออกมาอย่างแรง จนถึงชนิดกับชายผู้ใจดีคนนั้นต้องร้องตะโกนขอความช่วยเหลือ เพราะไม่งั้นเขาคงต้องจมน้ำตายแน่ ด้วยระดับน้ำเพิ่มสูงเร็วมาก ฝ่ายท่านที่นั่งอยู่ใกล้ๆเมื่อได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือดังออกมา ท่านก็รีบยกวิญญาณของท่านขึ้นหาพระเจ้าพลางโมทนาคุณพระเจ้า ก่อนจะโยนไม้กางเขนของท่านลงไป พร้อมตะโกนว่า จับมันไว้ ชายผู้นั้นจึงรับคว้ากางเขนไว้และทันทีน้ำก็หยุดไหล เขาจึงฟาดเคราะห์รอดตายมาได้อย่างฉิวเฉียด(ผู้เขียนพยายามขอรูปภาพบ่อน้ำมา แต่เพื่อนชาวสเปนหาไม่ได้เหมือนกัน จึงเป็นไปได้ว่าบ่อน้ำนี้อาจถมไปแล้วก็ได้)

หลังจากนั้นเขาจึงคืนกางเขนให้ท่าน ฝ่ายเด็กหญิงเกรโกเรียที่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงขอท่านจูบไม้กางเขนนั้นด้วยความชื่นชม ทันทีท่านก็ตอบเธอว่า ได้สิจ๊ะ สำหรับเธอ นี่เป็นของขวัญ ที่รอเธออยู่แล้ว เก็บมันไว้ดีๆละ เพราะวันหนึ่งเธอจะได้ใช้มัน  เกรโกเรียจึงรับไม้กางเขนนั้นมา และเก็บรักษาอย่างดีกระทั้งเธอได้ออกเหย้าออกเรือนไปอยู่ที่เมืองซันติอาโก เด กอมโปสเตลา วันหนึ่งสามีของเธอจู่ๆก็พลัดตกบันได จนทำให้กระดูกสันหลังร้าว เธอจึงเอากางเขนที่ท่านให้มาไปแตะที่หลังของสามีและเริ่มสวดภาวนา แทบทันทีทันใดในเช้าวันรุ่งขึ้น  นายอันโตนีโอ สามีของเธอก็สามารถลุกออกจากเตียงและเดินเหินได้สะดวก จนเป็นที่แปลกใจแก่คุณหมอเจ้าของไข้


อีกครั้งที่สวนของโรงเรียน วันหนึ่งท่านปรารถนาจะปลูกต้นลิลลี่ ท่านจึงบอกโฆเซฟาว่า เธอพอจะหาหัวลิลลี่มาให้ซิสเตอร์ซักหน่อยจะได้ไหม เด็กหญิงโฆเซฟาจึงออกไปหาหัวลิลลี่มาให้ท่านในตอนบ่าย และได้ลงมือช่วยท่านปลูกในทันที กระทั้งเช้าวันถัดมา เมื่อท่านพบโฆเซฟาท่านก็รีบไปเล่าให้โฆเซฟาฟังว่า ซิสเตอร์รอแทบตายแหน่ะ เมื่อคืนซิสเตอร์ฝันเห็นพระกุมารเยซูทรงรดน้ำต้นลิลลี่ของพวกเรา และตรัสกับซิสเตอร์ว่าพวกมันโตแล้ว ซิสเตอร์เลยอยากจะไปดูมันสักหน่อย แต่ซิสเตอร์พึ่งนึกออกว่าควรรอเธอก่อน ป๊ะ พวกเราไปสวนกันเถอะ  ดังนั้นโฆเซฟาจึงตามท่านไปยังหัวลิลลี่นั้น และพบว่า มันเหลือเชื่อจริงๆ ที่ลิลลี่ทุกหัวงอก เธอกล่าวย้อนถึงอัศจรรย์ครั้งนั้น

คำภาวนาและสายฝน ครั้งหนึ่งครอบครัวผู้ให้การอุปการะโรงเรียน กำลังสร้างบ้านในสถานที่ที่เรียกกันว่า ลอส ปีนอส เด บัลเบรเด ซึ่งขณะที่กำลังก่อผนังหลักอยู่นั้นเอง เมฆฝนก้อนใหญ่ก็ปรากฏขึ้น ครอบครัวนั้นจึงไปหาท่านและขอให้ช่วยสวดเพื่อให้ฝนไม่ตก งานจะได้ดำเนินต่อไปได้ ท่านจึงกล่าวตอบว่า สวนต้องการน้ำ แต่ซิสเตอร์ก็จะสวดให้นะ แต่ดูเหมือนจะไร้ผลเพราะปรากฏว่าคืนนั้นก็มีฝนตกหนักมาก ดังนั้นในเช้าวันรุ่งขึ้นครอบครัวนั้นจึงกลับไปยังที่ก่อสร้างด้วยความสิ้นหวัง แต่ปรากฏว่า ผืนดินแห้งสนิท ส่วนผนังก็ตั้งอยู่ดีและไม่ได้เอียงเข้าหาบ้านสักนิด สมาชิกครอบครัวนั้นเล่าด้วยปากของตัวเองถึงการอัศจรรย์นี้


หลายๆครั้งในเวลาทำอาหารเย็น ของบางสิ่งก็มักขาด ถ้าไม่น้ำมัน ก็ถั่วชิกพี(ในสเปนเป็นเหมือนข้าวเลยทีเดียว) หรือไข่ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ท่านก็จะรีบไปที่วัดน้อยเพื่อสวดภาวนา และเพียงไม่นานของเหล่านั้นก็จะมาถึงยังประตูอารามโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง มีครั้งหนึ่งขณะอยู่ในครัว ท่านบอกเด็กหญิงคนหนึ่งว่า ช่วยไปที่เล้าและเก็บไข่มาทีสิจ๊ะ เพราะท่านจะทำไข่เจียว เธอจึงรีบไปทำตามและกลับมาบอกท่านว่า เธอได้ค้นทุกซอทุกมุมแล้ว แต่ก็ไม่มีไข่เหลือเลย ท่านจึงบอกเธอว่า ก็แน่ละสิก็เธอไม่ได้ดูดีๆนิ  ก่อนจะเดินกลับไปที่เล้าไก่ ซิสเตอร์เอวเซเบียจะไปไหนคะ นักเรียนคนนั้นถาม ซิสเตอร์จะไปเอาไข่สิ ผ่านไปสักพักท่านจึงกลับมาพร้อมตะกร้าที่เต็มไปด้วยไข่ซึ่งพอทำไข่เจียวให้เด็กๆได้ถึงสิบสี่คน และเหมือนกับทุกครั้งคือไม่มีใครรู้ว่าของเหล่านั้นมาจากไหน

นอกนี้ท่านยังคอยช่วยยกถังน้ำมันและคอยตรวจดูว่าน้ำมันหมดหรือยัง แต่ก็ไม่มีสักครั้งที่น้ำมันในถังนั้นจะไม่เพียงพอต่อความจำเป็นอารามจนกว่านายโฆเซ มารีอา โมยา จะเอาถังน้ำมันใหม่มาส่งในปลายเดือน ซึ่งหลายๆครั้งไปบรรดาซิสเตอร์ก็ไม่สามารถเปิดฝาถังได้ด้วยประแจได้ แต่เพียงซิสเตอร์ใช้สองนิ้วใหญ่ๆนั้น ทันทีฝาก็สามารถหลุดได้โดยง่าย และท่านก็จะยื่นคืนให้นายโมยา ผู้เล่าในภายหลังว่า ผมไม่รู้หรอกว่านักบุญเป็นอย่างไร พวกเขาต่างบอกว่าซิสเตอร์เป็นคนเก็บตัว บอบบาง และอ่อนแอ ขนาดชายสองคนยังทำงานนั้นไม่ได้เลยและเธอก็ทำได้ ผมคิดงั้น ใช่แล้ว ใช่แล้ว เธอเป็นนักบุญแน่นอน


และหากจะกล่าวถึงอัตชีวประวัติในชีวิตอันแสนสั้นของท่านแล้ว ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะไม่กล่าวถึงความศรัทธาพิเศษของท่านต่อรอยแผลศักดิ์สิทธิ์   ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอบคุณความฝันอันแสนลึกลับในวัยเด็กของท่าน ที่กระตุ้นให้ท่านมีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ ตามแบบที่พระเยซูเจ้าทรงไขแสดงแก่ซิสเตอร์มาร์ธา มารี ชัมบ็อง ภคินีคณะแม่พระเสด็จเยี่ยมชาวฝรั่งเศสที่เมืองชัมเบอรี ผ่านการสวดสายประคำรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ การเดินรูป และการเฝ้าศีลมหาสนิท ซึ่งท่านมักใช้เวลากับกิจการหลังนี้อย่างยาวนาน สนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าที่ท่านเรียกว่า นักโทษแห่งความรัก

ท่านจึงชอบพูดเรื่องราวความรักของพระเยซูเจ้าต่อมนุษย์ทุกคนที่พระองค์ได้ทรงไถ่ไว้ เพราะท่านร้อนรนในการที่จะประกาศถึงความศรัทธานี้ ท่านอ่านหนังสือเกี่ยวกับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ทุกวัน และดึงข้อความเหล่านั้นบวกกับการสวดสายประคำมาใช้ในการให้คำปรึกษาแก่ทุกๆคน ไม่เพียงแต่ทางคำพูด แต่ทางอักษรด้วย


นอกนี้ท่านยังเป็น อัครสาวกแห่งความเมตตารัก ตามแบบเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงเผยแก่นักบุญโฟสตินา ที่ได้รับการเผยแพร่ในประเทศสเปนโดยคุณพ่อฆวน อารินเตโร พระสงฆ์โดมินิกันจากข้อเขียนที่เขียนขึ้นตามการคำสั่งของพระเจ้าของภคินีคณะแม่พระเสด็จเยี่ยมชาวฝรั่งเศสชื่อ มารี เทเรซา เดอซ็องเดส ที่ใช้นามแฝงในเผยการไขแสดงว่า  ซูลามิติส ป. ม. หรือมือน้อย(ซิสเตอร์มารีมีชีวิตร่วมสมัยกับนักบุญโฟสตินา และได้รับการยกย่องให้เป็นอัครสาวกของพระเมตตารัก งานเขียนของซิสเตอร์เขียนขึ้นก่อนการประจักษ์พระเมตตา)


และไม่เพียงแต่ร้อนรนในการเผยความศรัทธาพิเศษต่อรอยแผลศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ท่านยังร้อนรนในการเผยแพร่การเรียกตนว่า ผู้รับใช้แม่พระ ตามแบบฉบับที่ท่านได้ค้นพบในหนังสือ ความศรัทธาแท้จริงต่อพระนางพรหมจารี ที่นิพนธ์โดยนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต โดยท่านไม่เพียงพุ่งเป้าไปยังบรรดาเด็กหญิง แต่ยังรวมถึงบรรดาเด็กสาว บรรดามารดา บรรดาเณร และบรรดาสงฆ์ด้วย ดั่งคำให้การในขณะรวบเรื่องของท่านเพื่อประกอบการเป็นบุญราศีว่า อาจไม่มีพระสงฆ์องค์ใดในสเปนยังไมได้รับจดหมายจากซิสเตอร์เอวเซเบียเกี่ยวกับการเป็นผู้รับใช้ของแม่พระ


บุญราศีคุณแม่การ์เมล โมเรโน เบนิเตซ อธิการของโรงเรียน คือผู้แรกที่ได้บันทึกความรู้สึกนึกคิดของท่าน ตามความคิดเห็นของคุณแม่ ซึ่งก็ทำให้เราได้ทราบว่า สิ่งที่ฉีกหัวใจดวงน้อยๆของท่านเป็นชิ้นๆ นั่นคือ บาป คุณแม่ได้บันทึกว่า มนุษย์คนใดกันเล่าจะลุกขึ้นต่อสู้กับพระเจ้าและองค์พระผู้เป็นเจ้าของเธอได้ ช่างน้อยเสียงยิ่งกว่าอะตอม น้อยยิ่งกว่าส่วนน้อยๆของเม็ดทราย มีความกล้าที่จะก้าวไปพร้อมพระเจ้าของเธอ ผู้เธอทราบดีว่าสักวันจะได้อยู่เฉพาะพักตร์และอาจถูกส่งไปยังนรกด้วยก็ได้ ดังนั้นท่านจึงไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะพร่ำบอกทุกคนให้แก้บาปอย่างดี เช่นเดียวกันกับการไม่ต่อว่าพระเจ้าต่างๆนานาถึงพระราชกิจของพระองค์ เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้หลีกเลี่ยงบาปผิดต่อความศักดิ์สิทธิ์และการสาปแช่งนิรันดร์กาล

กลับมาที่ชีวิตในอารามของท่าน หลังมาอยู่ที่บัลเบร์เดได้ 5 ปี ในช่วงต้นปี ค..1930 ความตึงเครียดและการเบียดเบียนพระศาสนจักรในประเทศสเปนก็เริ่มขึ้น ท่านที่เห็นสถานการณ์ประเทศเป็นเช่นนั้นก็ไม่รีรอที่จะถวายตนเป็น ยัญบูชาเพื่อความรอดของประเทศสเปน และเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ด้วยความพร้อม ไร้ซึ่งข้อกังขาใด และทางฝ่ายพระเจ้าเอง พระองค์ก็ทรงรับเอาเครื่องบูชาน้อยๆนี้ ในเดือนสิงหาคม ปี ..1932


อาการหอบหืดที่เป็นโรคประจำท่านมานาน จู่ๆก็กำเริบอย่างหนัก ก็ตามมาด้วยโรคต่างๆ และเวลานั้นเองพระเป็นเจ้าก็ทรงไขแสดงถึงอนาคตของสเปนที่เจิงนองไปด้วยเลือด โฆเซฟาได้เล่าว่า ท่านได้บอกกับเธอว่า จะมีสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่มากๆและเลือดผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมายจะหลั่งรินเพราะสเปนไมได้ดำรงอยู่ในสันติด้วยตัวของมันเอง นิมิตนี้ยิ่งทวีความทุกข์ใจในใจท่านเป็นยิ่งเสียกว่าความเจ็บปวดจากโรคร้ายเสียอีก

นับตั้งแต่ปี ค..1934 เป็นต้นมา ท่านก็มีโรคแทรกซ้อนมากมาย จนล้มป่วยลง แพทย์หลายคนไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นเพราะโรคอะไร แขนขาของท่านจึงกลายเป็นบิดพลิกไปคล้ายก้อนด้าย แต่กระนั้นทุกคนที่ไปเยี่ยมท่านกลับหาได้พบความสังเวชใจไม่ ตรงข้ามพวกเขากับได้พบแสงแห่งความศักดิ์สิทธิ์ได้ฉายแสงออกมา แม้โรคร้ายจะรุมเร้า ท่านก็สามารถค้นพบหนทางอันนุ่มนวลที่จะแสดงความความยินดี สันติ และการปฏิบัติต่อผู้คนรอบข้างด้วยความเคารพและความรู้คุณค่าต่อการเอาใจใส่ของพวกเขาออกมาให้เป็นที่ประจักษ์


จงสวดภาวนามากๆให้กาตาโลเนีย ท่านกล่าวขัดจังหวะขึ้นขณะซิสเตอร์บางคนกำลังร่วมสวดกับท่าน ในสภาพน่าซีดเผือก ในวันที่ 4 ตุลาคม ค..1934 หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการลุกฮือของผู้ใช้แรงงานในอัสตูเรียสและการปฏิวัติของชาวคาตาลันในบาร์เซโลนา นอกนี้จากบางส่วนในนิมิตอนาคตสเปนจำนวนหนึ่ง ท่านยังเห็นคุณแม่อธิการที่รักของท่าน คุณแม่การ์เมลถูกยิงตายพร้อมด้วยซิสเตอร์อีกคน  ซึ่งเมื่อท่านแจ้งเรื่องนี้แก่คุณแม่ คุณแม่ก็มิได้แปลกใจอะไร เพราะ คุณแม่นั้นได้ถวายตนเป็นยัญบูชาแด่พระเจ้าไว้แล้ว

ครั้งหนึ่งในความฝันพระเป็นเจ้าได้ไขแสดงให้ท่านได้เห็นพิธีปลงศพและที่พำนักสุดท้ายของท่าน และเวลานั้นก็ใกล้มาถึงเต็มทีแล้ว มันดูเหมือนจะเป็นในวันที่ 26 มกราคม ค..1935 เพราะในเช้าวันนั้นท่านก็มีอาการตรีทูต ซิสเตอร์ทุกคนจึงถูกเรียกมาอยู่รวมกันรอบๆเตียงของท่าน ปากของท่านบิดงอด้วยความเจ็บปวด ก่อนท่านจะหลั่งหยดน้ำตาใสๆแล้วจึงสิ้นใจลง แต่ เพียงไม่นานท่านก็ฟื้นคืนสติขึ้นมา และเล่าให้ทุกคนฟังว่าท่านได้เห็นสวนที่งดงามเสียจนหาคำบรรยายใดๆมาอธิบายไม่ได้ รวมไปถึงนักบุญดอมินิก ซาวีโอ ทูตสวรรค์จำนวนมาก และบรรดาซิสเตอร์ที่สิ้นใจไปด้วย


แต่ที่สุดแล้วภายหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ในเวลา 0.30 . ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างวันที่ 9 – 10 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกันนั้นเอง ด้วยวัย 35 ปี ท่านก็ได้จากไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์อย่างสงบ ภายหลังจากถวายตัวมาได้เพียง 11 ปี ยังความทุกข์ใหญ่มาสู่ชาวเมืองบัลเบร์เดเป็นยิ่งนัก ร่างที่ดูเหมือนคนหลับไปของท่านถูกจัดวางไว้ท่ามกลางมวลดอกไม้นานาพันธุ์ และตลอดสองวันที่มีการตั้งร่างของท่านไว้ ก็ต่างมีชาวเมืองบัลเบร์เดผลัดกันมาคารวะมิได้ขาด ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นักบุญได้จากไปแล้ว

ค่าใช้จ่ายต่างๆในพิธีปลงศพท่านถูกออกโดยภาครัฐ หนังสือพิมพ์รีพับลิกันในขณะนั้นได้ลงข่าวประกาศซ้องเช่นชาวเมืองว่า นักบุญได้จากไปแล้ว  ส่วนร่างของท่านถูกฝังท่ามกลางเสียงระฆังแห่งความยินดีในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ และเพียงไม่นานจากนั้นท่านก็ได้ทำตามคำสัญญาของท่านต่อบรรดาซิสเตอร์คือ ฉันจะจากไป แต่ฉันจะกลับมา  พร้อมกันนั้นคำทำนายของท่านก็เป็นจริง นั่นคือเกิดสงครามกลางเมืองสเปน และคุณแม่การ์เมลก็ถูกฆ่าตายพร้อมซิสเตอร์อัมปาโร การ์โบเนลล์ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย


และแม้จะผ่านเรื่องเลวร้ายมาเท่า กลิ่นหอมแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของท่านก็มิได้จางหายไป ตรงกันข้ามมันกลับยิ่งส่งกลิ่นหอมมากขึ้น  จนไม่น่าแปลกใจอะไรที่ในปี ค..1982 ทางสังฆมณฑลอูเอลบา ก็ทำพิธีเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ จนที่สุดแล้วในวันที่ 25 เมษายน ค..2004 พร้อมด้วยข้ารับใช้พระเจ้าซาเลเซียนอีกสองคน หลังมีอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงประกอบพิธีบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศีอย่างสมเกียรติ ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครวาติกัน


มนุษย์มองแต่รูปร่างภายนอก แต่พระยาห์เวห์ทรงมองจิตใจ(1ซามูเอล 16:7) ลองคิดย้อนดูไปถึงวันแรกที่ท่านเดินทางมาถึงเมืองบัลเบร์เด สิ่งแรกที่ท่านได้พบคืออะไร การต้อนรับอย่างอบอุ่นงั้นหรือ แน่นอนว่ามันไม่ใช่เลย เพราะอย่างที่เราอ่านมา สิ่งแรกที่ท่านได้รับจากบรรดาเด็กๆและเพื่อนในอารามก็คือการดูถูกเหยียดหยาม  ซึ่งหากมองๆไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรไปจากเราๆเท่าไรนัก เพราะในบางเวลาเราก็ต้องไปทำงานในกลุ่มที่แตกต่างจากเราไป(ไม่เว้นแม้แต่ในงานของพระ) และบางครั้งเราอาจไม่ได้รับการต้อนรับอย่างดีในทีแรก ซึ่งทำให้เราอาจท้ออาจหมดไฟ อันเป็นเรื่องปกติที่เราไม่อาจหนีไปได้ตามประสามนุษย์ แต่ เมื่อเราเจอเหตุการณ์เช่นนั้น เราก็ไม่ควรจะทำให้คำครหาเหล่านั้นกลายเป็นจริง



ขอให้เราพยายามเลียนแบบบุญราศีเอวเซเบีย กล่าวคือไม่ใส่ใจกับมัน และค้นหาความสุขที่ว่า แม้ในการดูถูกเหล่านั้นเราก็ยังมีพระเจ้าอยู่เคียงข้างเราเสมอ ด้วยพระองค์ทรงมองเราที่ข้างใน  ดังนั้นของพวกเราจงอย่ามัวเอาเวลาไปสนแต่คำครหาติฉินนินทาเหล่านั้น แต่ขอให้เราเอาเวลาที่เสียไปกับความหดหู่นั้นไปสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้แก่คนที่เคยดูถูกเราและทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายอย่างดี เพื่อลบคำครหานั้น เพื่อสร้างมิตรภาพ และเพื่อสร้างสันติอันเป็นสิ่งที่โลกของเรากำลังต้องการมากที่สุดในเวลานี้ ขออย่าใช้คำรุนแรงตอบโต้คำครหาอีกเลย แต่ขอใช้การกระทำดีตอบโต้เถิด อย่าให้พระเจ้ามองเราในแง่ลบเช่นเดียวกับที่ใครบางคนมองเราเลย


ข้าแต่ท่านบุญราศีเอวเซเบีย ปาโลมีโน เยเนส ช่วยวิงวอนเทอญ

ข้อมูลอ้างอิง

คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โต...