วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

'คาเทรี เทคาควิทา' ดอกลิลลี่แห่งโมฮอว์ค

นักบุญคาเทรี เทคาควิทา
St. Kateri Tekakwitha
องค์อุปถัมภ์ : นักนิเวศวิทยา, ระบบนิเวศ, นิเวศวิทยา, สิ่งแวดล้อม, นักสิ่งแวดล้อม, 
ผู้สูญเสียบุพการี, ผู้ถูกขับไล่, บรรดาผู้คนที่ถูกเยาะเย้ยเพราะความศรัทธาของตน
วันฉลอง : 14 กรกฎาคม (สหรัฐอเมริกา) และ 17 เมษายน (แคนนาดา)

สิ้นเสียงดำรัสประกาศบันทึกนามนักบุญใหม่ของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ท่ามกลางประชาชนนับพันที่มาเป็นสักขีพยานถึงเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม พระศาสนจักรก็ได้มีนักบุญใหม่ถึง 7 องค์จาก 4 ทวีป คือ ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ และทวีปเอเชีย เมื่อพิศมองรูปของบรรดานักบุญใหม่ที่ถูกแขวนอยู่หน้ามหาวิหารอันสง่างาม นอกเหนือจากภาพเยาวชนฆราวาสชายชาวฟิลิปปินส์ชื่อ ‘เปโดร คาลุงซอด’ ซึ่งได้ถวายตนเป็นมรณสักขีในศตวรรษที่ 17 ยังมีภาพฆราวาสหญิงอีก 2 สองคนที่ได้รับการสถาปนาในครั้งนี้ร่วมอยู่ด้วย ภาพที่เราสนใจในวันนี้อยู่ทางซ้ายมือสุดเมื่อมองไปยังตัวมหาวิหาร เป็นภาพเขียนสีของหญิงสาวผู้มีผมสีน้ำตาล สวมชุดสีขาว คลุมศีรษะด้วยผ้าสีน้ำเงิน ร่างนั้นโค้งศีรษะลง ดวงตาจ้องไปยังไม้กางเขนที่อยู่ในมือขวาของเธอ ในขณะที่มือซายวางอยู่ที่หน้าอก คล้ายดั่งกำลังรำพึงภาวนาว่า “ฉันไม่ใช่เจ้าของตัวเองอีกต่อไป ฉันยกถวายตัวเองทั้งครบให้องค์พระเยซูคริสตเจ้าไปหมดแล้ว” นี่คือภาพและถ้อยวลีของหญิงสาวชาวอินเดียนแดงที่มีชีวิตอยู่ในครึ่งหลังศตวรรษที่ 17 ซึ่งได้กลายมาเป็นฆราวาสพื้นเมืองคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ได้กลายเป็นนักบุญ ภายหลังเกิดอัศจรรย์การรักษาเด็กชายในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 2006 นามว่า ‘คาเทรี เทคาควิทา’ และนี่คือเจ้าของเรื่องราวของเราในวันนี้

หากจะเริ่มเรื่องราวของคาเทรี ก็จำต้องย้อนกลับก่อน ค.ศ. 1656 เมื่อการค้นพบ ‘โลกใหม่’ ได้ทำให้กลุ่มคนจากสองโลกได้มาพบกัน โลกใหม่ได้กลายเป็นเสมือนพื้นที่ใหม่ที่ชาวยุโรปต่างมุ่งเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งด้วยการแสวงหาทรัพยกรและการตั้งถิ่นฐาน เป็นผลให้บรรดา ‘ชนพื้นเมือง’ หลากเผ่าที่ถูกเรียกรวม ๆ ว่า ‘อินเดียนแดง’ ด้วยความไม่เข้าใจ ซึ่งอาศัยกระจายอยู่ในแผ่นดินใหม่ในส่วนของทวีปอเมริกาเหนือปัจจุบัน ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งภัยสงครามที่เพิ่มเติมขึ้นจากผู้มาเยือนใหม่ และโรคระบาดประหลาดที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกทั้งสอง จนทำให้ประชากรชนพื้นเมืองบางเผ่าลดน้อยลง เป็นผลให้ชนพื้นเมืองบางเผ่าจำต้องจับเอาคนจากเผ่าอื่น ๆ มาเป็นประชากรในเผ่าของตนเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในเผ่าที่ตัดสินใจจะทำเช่นนั้น คือ เผ่าอิโร-ควาส์ (Iroquois) ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอย่างหนาแน่นบริเวณทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ ที่หมู่บ้านออสเซอร์เนนอน หรือปัจจุบันคือหมู่บ้านออรีสวิลล์ เมืองเกลน เทศมณฑลมอนต์เมรี รัฐนิวยอร์ก ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชายแดนทางเหนือติดกับประเทศแคนาดา


คราวนั้นทหารเผ่าอิโรควาส์จากหมู่บ้านออสเซอร์เนนอนได้จับหญิงสาวคริสตังใหม่ผู้หนึ่งจากเผ่าอัลกอนควิน (Algonquin) อีกหนึ่งชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยกระจายตัวอยู่บริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ หรือเหนือขึ้นไปจากเผ่าอิโรควาส์ ผู้เดิมเล่ากันว่ามีนิวาสสถานเดิมอยู่ในเขตประเทศแคนาดา นามว่า ‘คาเฮนทา’ เข้ามายังหมู่บ้าน และจะด้วยต้องตาหัวหน้าเผ่าในเวลานั้นหรือถูกนำตัวมามอบให้หรืออย่างไรก็ไม่มีใครทราบได้ ในเวลาต่อคาเฮนทา หญิงสาวต่างเผ่าก็ได้อยู่กินกับ ‘เคนเนอร์รอนกวา’ หัวหน้าเผ่าอิโรควาส์จากตระกูลเต่า หนึ่งในห้าตระกูลสำคัญของเผ่าผู้ไม่ได้ถือศาสนาคริสต์ ทั้งสองครองรักกระทั่งมีพยานรักด้วยกันสองคนเป็นบุตรีและบุตรชาย บุตรีของครอบครัวนี้เอง คือ นางเอกของเราในวันนี้

เมื่อแรกลืมตาดูโลกในประมาณ ค.ศ. 1656 เคนเนอร์รอนกวาและคาเฮนทาไม่ได้ตั้งชื่อท่านว่า ‘คาเทรี’ มาแต่แรก แต่ทั้งสองได้ตั้งนามให้ท่านว่า ‘อิโอราโกด’ เป็นภาษาท้องถิ่นแปลว่า ‘แสงตะวัน’ และเข้าใจว่าทั้งสองได้อบรมเลี้ยงดูท่านตามวิถีของชนพื้นเมืองท้องถิ่น โดยไม่ได้ให้ท่านรับศีลล้างบาปเช่นเดียวกับมารดา จนท่านมีอายุได้ประมาณ 4 ปี ใน ค.ศ. 1660 โรคไข้ทรพิษก็ระบาดในหมู่บ้านของท่าน ครอบครัวของท่านในเวลานั้นที่มีสมาชิกสี่คน คือ เคนเนอร์รอนกวา คาเฮนทา ท่าน และน้องชายของท่านต่างติดโรคร้ายนี้ น่าเศร้าที่ในเวลาต่อมาก็ปราฏว่ามีท่านเพียงคนเดียวที่สามารถเอาชีวิตรอดมาได้ แต่ก็ไม่วายโรคร้ายนี้ก็ได้ฝากรอยแผลที่ใบหน้าและปัญหาเรื่องการมองเห็นไว้เป็นดั่งเครื่องย้ำเตือนถึงความสูญเสียครั้งนี้ให้กับท่านไปตลอดชีวิต และในสถานการณ์ที่ต้องการกลายมาเป็นกำพร้าอย่างกระทันหันเช่นนี้ ก็นับเป็นโชคดีที่ท่านได้รับการอุปการะเลี้ยงดูต่อจากน้องสาวของเคนเนอร์รอนกวา ซึ่งสามีได้ขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่าสืบต่อบิดาของท่าน สองสามีภรรยาต่างรักและเอ็นดูท่านเหมือนลูกแท้ ๆ ของพวกเขา และในเวลาต่อมาตามธรรมเนียมของเผ่าอิโรควาส์ที่จะตั้งชื่อบุตรธิดาอีกครั้งเมื่อโตขึ้นจากลักษณะที่เห็นได้ ทั้งสองจึงได้ตั้งนามใหม่ให้ท่านว่า ‘เทคาควิทา’ แปลว่า ‘หญิงผู้ควานหา’ ‘ผู้ชนสิ่งต่าง ๆ’ หรือ ‘ผู้คอยจัดสิ่งต่าง ๆ ให้เข้าที่’

บริเวณที่เป็นหมู่บ้านคอก์นาวากา ปัจจุบันคือบริเวณสักการสถานระดับชาตินักบุญคาเทรี 
ในเมืองฟอนดา รัฐนิวยอร์ก

วันเวลาล่วงมา 6 ปี ภายหลังการสูญเสียครั้งใหญ่ ท่านก็ต้องพบกับความทุกข์ยากอีกครั้ง เมื่อกองทัพฝรั่งเศสได้บุกเผาหมู่บ้านของท่าน เพื่อหวังบีบให้เผ่าของท่านยอมจำนนต่ออำนาจของฝรั่งเศสเพื่อประโยชน์ทางด้านการค้าขนสัตว์ ใน ค.ศ. 1666 ฝั่งคุณอาของท่านผู้เป็นหัวหน้าเผ่าพร้อมด้วยตระกูลทั้งห้าแห่งเผ่าอิโรควาส์จึงได้พาชาวบ้านอพยพจากตอนใต้ของแม่น้ำโมฮอว์คขึ้นไปทางตอนเหนือของแม่น้ำ และได้สร้างหมู่บ้านใหม่ชื่อ ‘คอก์นาวากา’ (ปัจจุบันอยู่ทางตะวันของเมืองฟอนดา รัฐนิวยอร์ก) เพื่อเป็นฐานที่มั่นใหม่ของชุมชน และที่สุดเมื่อไม่อาจต่อกรกับผู้มาใหม่ได้อีกต่อไป ชนพื้นเมืองบริเวณแม่น้ำโมฮอว์คทั้งห้าตระกูลที่ประสบความพ่ายแพ้จึงต้องทำสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกับฝรั่งเศส ซึ่งบีบให้พวกเขาจำต้องต้อนรับพระสงฆ์เยซูอิตเข้าไปประจำตามหมู่บ้านของพวกเขาที่มีเชลยชาวคริสต์อยู่ จึงทำให้มีการตั้งศูนย์มิชชั่นของคณะเยซูอิตขึ้นที่หมู่บ้านออรีสวิลล์ หรือบริเวณหมู่บ้านเดิมของท่านเพื่อดำเนินการเผยแพร่ศาสนา และมีการส่งพระสงฆ์เยซูอิต 3 องค์ คือ คุณพ่อฌาคส์ เฟร์แม็ง คุณพ่อฌาคส์ บรูยาส และคุณพ่อฌอง เปียร์ค็อง เข้าไปที่หมู้บ้านคอก์นาวากา ใน ค.ศ. 1667 นับเป็นจุดเริ่มสำคัญอีกครั้งสำหรับการประกาศคริสต์ศาสนาในเผ่าอิโรควาส์ ภายหลังจากที่มีความพยายามของธรรมทูตเยซูอิตที่ได้ถวายตนเป็นมรณสักขีใน ค.ศ. 1642 และ ค.ศ. 1646 ซึ่งได้เป็นหนึ่งในกลุ่มนักบุญมรณสักขีแห่งอเมริกาเหนือในเวลาต่อมา

บรรดาผู้มาเยือนใหม่ได้รับการต้อนรับให้พำนักอยู่ที่บ้านของคุณอาของท่าน แม้ความเป็นเจ้าเขาจะไม่คอยชอบ ‘พวกเสื้อคลุมดำ’ เหล่านี้เท่าไร สาเหตุมาจากชาวเผ่าที่กลับใจมาถือศาสนาคริสตัง มักพากันอพยพขึ้นไปอยู่กับพวกบาทหลวงเหล่านี้ที่ทางตอนเหนือใกล้ ๆ เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ทางตะวันออกของประเทศแคนาดา ชื่อหมู่บ้าน ‘คาห์นาวาเค’ (หมู่บ้านนี้เป็นชุมชนคริสตังสำหรับชนพื้นเมืองเรียกอีกชื่อว่า โซลท์ แซงต์ หลุยส์) เป็นผลให้จำนวนประชากรของเผ่าที่ลดลงอยู่แล้วจากปัญหาสงครามและโรคระบาดลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรเสียเขาก็ไม่อาจจะลงมือขับไล่หรือทำร้ายผู้มาเยือนเหล่านี้ได้ เนื่องจากพันธะในสนธิสัญญาสันติภาพ เป็นผลให้ท่านในวัย 11 ปี ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันจึงได้เริ่มเรียนรู้คริสตศาสนาที่มารดาผู้ล่วงลับได้ยึดถือจากการได้รับใช้บรรดาผู้มาเยือนใหม่ในฐานะ ‘เจ้าบ้าน’ แต่กระนั้นท่านก็ยังไม่กล้าพอที่จะบอกกับบรรดามิชชันนารีว่า ท่านนั้นปรารถนาเรียนคำสอนและรับศีลล้างบาป เนื่องจากท่านยังคงกลัวคุณอาของท่านจะทำโทษ ท่านจึงทำได้แต่เฝ้าฟังเรื่องราวของพระเจ้าผู้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มายังโลกเพื่อไถ่บาปของมนุษย์ด้วยความสนใจจากปากของพวกเขา ในเวลาเดียวกันก็คอยมองดูพวกเขาเหล่านั้นประกอบศาสนกิจ รวมถึงกิจการเมตตาต่าง ๆ ซึ่งค่อย ๆ หว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปในเผ่าของท่าน จนทำให้มีสมาชิกเผ่าเริ่มทะลอยกลับใจรวมถึงพี่สาวของท่าน บุตรีคุณอา ที่ยิ่งทวีความไม่พอใจต่อผู้มาเยือนใหม่ในใจของคุณอาของท่านมากยิ่งขึ้นไปอีก

ภาพเขียนชุมชนเผ่าอิโรควาส์ในศตวรรษที่ 17

ไม่มีใครจะล่วงรู้ได้ว่าการได้พบและสัมผัสกับเรื่องราวจากปากของผู้มาเยือนใหม่นับตั้งแต่เวลานี้หรือไม่ ที่ได้ทำให้ดวงใจน้อย ๆ ของท่านเริ่มรุ่มร้อนขึ้นด้วยความรักกับชายผู้หนึ่ง ที่ท่านไม่เคยพบเห็น เพียงแต่เคยได้ยินนามและเรื่องราวของเขาจากปากของบรรดาผู้มาเยือนใหม่ แต่หากเป็นเช่นนั้นจริงในระหว่างที่ความรักต่อชายผู้หนึ่งก่อตัวขึ้นภายในหัวใจของท่านอย่างช้า ๆ จนทำให้ท่านตระหนักว่าท่านจะมอบหัวใจดวงนี้ให้เพียงชายผู้นั้นเท่านั้น เราก็ทราบว่าท่านก็ได้เติบโตขึ้นการอบรมเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมาตามวิถีชนเผ่าอิโรควาส์เช่นเด็กสาว ‘ทั่วไป ๆ’ ในเผ่า ท่านคอยช่วยงานในเผ่าเท่าที่สามารถทำได้ บางวันท่านก็ไปช่วยน้าของท่านทำงานในไร่ข้าวโพด ไร่ถั่ว และไร่ฟักของครอบครัว บางวันท่านก็เข้าป่าไปหาสมุนไพรมาทำยาและสี บ้างก็หาฟืนมาหุงหาอาหาร ไม่ก็หาบน้ำจากลำธารเพื่อมาใช้ในครอบครัว นอกจากนี้ท่านยังมีฝีมือในการถักลูกปัด สานตระกร้า รวมถึงงานฝีมือเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่าง ๆ แม้สายตาของท่านจะไม่สู้จะดีเหมือนคนปกติก็ตาม คุณพ่อฌาคส์ เดอ ลัมเบร์วิลล์ ซึ่งได้รู้จักกับท่านก่อนจะรับศีลล้างบาปได้บันทึกว่าท่านเป็นเด็กหญิงที่มีนิสัยอ่อนโยน มีมารยาท และมีความประพฤติดี ท่านไม่ค่อยชอบสุงสิงกับใครและมักมีผ้าคลุมศีรษะเพื่อผิดบังรอยแผลที่ใบหน้าอยู่เสมอ

ตามวิถีของของชนเผ่าท้องถิ่น เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 13 ปี ครอบครัวของท่านก็ได้ให้ท่านหมั้นไว้กับชายหนุ่มคนหนึ่งในเผ่า แม้ท่านจะปฏิเสธที่จะแต่งงานก็ตาม ก่อนที่เมื่อท่านอายุได้ 17 ปี ใน ค.ศ. 1673 คุณน้าของท่านจึงได้พยายามจับท่านแต่งงาน คราวนี้ท่านได้หนีไปซ่อนตัวอยู่ในไร่และได้ยืนกรานที่จะไม่แต่งงานต่อไป เพราะในท่ามกลางความเรียบง่ายและการปิดซ่อน ท่านค่อย ๆ พัฒนาความเชื่อของท่านให้เติบโตมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ท่านมักหลบไปสวดภาวนาอยู่เงียบ ๆ ภายในป่าทูลเรื่องราวต่าง ๆ กับชายผู้เป็นที่รักของท่าน พร้อมเงี่ยหูสดับฟังพระสุรเสียงอันอ่อนหวานที่สอดประสานมากับเสียงของธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ท่านยิ่งมั่นใจว่าท่านไม่สามารถจะมีคู่ชีวิตอื่นใดได้นอกจากชายที่ชื่อ ‘เยซู’ ดั่งที่ท่านเผยให้คุณพ่อวิญญาณของท่านในภายหลังว่า “ลูกไม่สามารถครองคู่กับใครได้นอกจากองค์พระเยซูเจ้า ลูกไม่ชอบการแต่งงานที่สุด” ท่านจึงปฏิเสธที่จะแต่งงานอย่างหัวชนฝา คุณอาคุณน้าของท่านของท่านจึงได้ทำโทษให้ท่านต้องทำงานหนักและพากันเยาะเย้ยท่าน เพื่อหวังให้ท่านคิดได้ว่าการแต่งงานกับชายที่ครอบครัวได้เลือกไว้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เหตุว่าในสังคมชนเผ่าเป็นเรื่องผิดปกติที่ผู้หญิงจะไม่แต่งงาน เพราะนั่นเท่ากับการไม่มีผู้คอยออกล่าสัตว์เพื่อเลี้ยงดู รวมถึงการไม่มีลูก ซึ่งเท่ากับว่าจำนวนประชากรของเผ่าจะไม่เพิ่มขึ้น

ตาน้ำที่เชื่อว่าท่านได้ใช้น้ำจากตาน้ำนี้รับ
ศีลล้างบาป

วันเวลาล่วงผ่านมาถึงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1674 คุณพ่อฌาคส์ เดอ ลัมเบร์วิลล์ก็เดินทางมาเยี่ยมหมู่บ้านของท่าน วันนั้นท่านได้รับบาดเจ็บที่เท้าพอดี ท่านจึงไม่ได้ออกไปทำงานที่ไร่เหมือนคนอื่น ๆ ท่านจึงได้พบคุณพ่อเดอ ลัมเบร์วิลล์ และได้ด้วยความมั่นใจที่อยู่ภายใน ท่านในวัย 17 ปี จึงตัดสินใจแจ้งความประสงค์ที่จะเรียนคำสอนและรับศีลล้างบาปกับคุณพ่อ คุณพ่อจึงได้เริ่มสอนคำสอนให้ท่าน กระทั่งคุณพ่อเห็นว่าท่านมีความเชื่อแล้ว ในวันอาทิตย์ปัสกาที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1676 คุณพ่อจึงได้โปรดศีลล้างบาปให้ท่านด้วยนามว่า ‘คาเทรี’ จากนามของนักบุญแคทเธอรีนในภาษาพื้นถิ่นของท่าน (ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นนักบุญกาเตรีนา แห่ง เซียนนา ผู้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ชาวอิตาลี หรือนักบุญแคทเธอรีน แห่ง อเล็กซานเดรีย มรณสักขีผู้ลือนาม) และเพียงไม่นานกางเขนก็ได้มาเยือนชีวิตที่เรียบง่ายของท่าน ดังข้อความในพระคัมภีร์ที่ว่า “ทรงให้ท่านพบอุปสรรคเพื่อทดสอบดูว่าจิตใจของท่านเป็นอย่างไร จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์หรือไม่ … เพื่อจะสอนท่านว่า มนุษย์มิได้มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารเท่านั้น แต่มีชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (เฉลยธรรมบัญญัติ 8 : 2-3)

เมื่อท่านได้รับศีลล้างบาปแล้ว ท่านได้ตั้งใจที่จะถือปฏิบัติชีวิตคริสตังให้ดียิ่งขึ้น ท่านจึงปฏิเสธที่จะทำงานในวันอาทิตย์และวันฉลอง รวมถึงหาเวลาในการสวดภาวนามากยิ่งขึ้น เป็นผลให้จากที่ก่อนหน้านี้ท่านมีปัญหากับครอบครัวในเรื่องการแต่งงานอยู่แล้วเป็นทุนเดิม รวมถึงความไม่พอใจของครอบครัวต่อศาสนาใหม่ที่ทำให้คนในเผ่าจำนวนมากย้ายออกจากชุมชนจนกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของเผ่า ทำให้ท่านถูกครอบครัวและคนรอบข้างมองว่าท่านกำลังทอดทิ้งหน้าที่ของตน ซึ่งเกี่ยวโยงกับความอยู่รอดของเผ่า (ก่อนหน้าที่มีหญิงชาวเผ่าที่ดำรงตำแหน่งเป็นมาตาเผ่า (clan mother) หรือผู้นำหญิงในชนเผ่า ได้กลับใจและหนีไปอาศัยที่หมู่บ้านคาห์นาวาเครวมถึงบุตรสาวของคุณอาคุณน้าของท่านพร้อมสามีก็ได้หนีไปเช่นกัน) ดังนั้นพวกเขาจึงเริ่มเบียดเบียนท่านเพื่อหวังให้ท่านกลับมาถือความเชื่อเดิม พวกเขาทั้งเรียกท่านอย่างเสีย ๆ หาย ๆ แสดงท่าทีรังเกียจท่าน บังคับให้ท่านทำงานหนัก ไม่ยอมให้ท่านทานข้าวในวันอาทิตย์ที่ท่านไม่ทำงาน และตราหน้าว่าท่านเป็นคนทรยศต่อพงษ์พันธุ์ รวมถึงไม่ใช่ชาวเผ่าอิโรควาส์แท้ และเป็นพวกแม่มดหมอผี ญาติผู้หญิงคนหนึ่งของท่านถึงกับสร้างข่าวลือว่า ท่านได้เสียกับพี่น้องรวมถึงคุณอาของท่าน เพื่อหวังว่าท่านจะไม่สามารถย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านคาห์นาวาเคได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผิดหลักคริสต์ศาสนา นอกนี้ไม่เพียงแต่พวกผู้ใหญ่เท่านั้นที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับท่านด้วยการข่มขู่ต่าง ๆ นานา พวกเด็ก ๆ ในหมู่บ้านเองก็ต่างพากันเป็นปฏิปักษ์กับท่าน พวกเขาทั้งเยาะเย้ย ทั้งขว้างปาก้อนหินใส่ท่านเพราะเชื่อคำและเอาอย่างบรรดาผู้ใหญ่ในชุมชน


ในสภาวะถูกเบียดเบียนเช่นนี้จากคนรอบข้าง ท่านได้น้อมรับกางเขนนี้ด้วยความเชื่อ และมุ่งมั่นไม่ท้อถอยในการติดตามพระคริสตเจ้า ท่านยังคงมั่นคงในการตัดสินใจของท่านโดยตลอดไม่ว่าเรื่องไหน เพราะท่านตระหนักดีถึง ‘ศักดิ์ศรี’ อันยิ่งใหญ่ที่ท่านได้รับจากศีลล้างบาป และ ‘ความรัก’ ที่พระเจ้าทรงมีต่อมนุษย์โดยทรงให้คุณค่าของทุกสิ่งเสมอกัน ดังที่ท่านเผยให้คุณพ่อมิชชันนารีองค์หนึ่งฟังว่าสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท่านมักรำพึงถึงอยู่เสมอ กระทั่งวันเวลาล่วงไปได้หกเดือน การเบียดเบียนที่เกิดขึ้นกับท่านก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นจะเอาชีวิต (ครั้งหนึ่งชายคนหนึ่งได้ใช้ขวานข่มขู่ท่าน แต่ท่านสงบนิ่งจนทำให้เขาตกใจแล้วละจากท่านไปเอง) คุณพ่อเดอลัมเบร์วิลล์ที่เล็งเห็นว่าการให้ท่านอยู่ที่หมู่บ้านต่อไปจะเป็นอันตรายต่อท่าน จึงได้แนะนำให้ท่านเดินทางขึ้นเหนือไปยังหมู่บ้านคาห์นาวาเค ในเขตประเทศแคนาดาในปัจจุบัน ฝั่งท่านเมื่อใคร่ครวญดีแล้วว่า ตนไม่มีอะไรจะเสียในการติดตามพระคริสตเจ้า ผู้เป็นยอดแห่งดวงใจ เหมือนดังที่นักบุญเปาโลเขียนในจดหมายถึงชาวฟิลิปปีว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าการมีชีวิตอยู่ก็คือพระคริสตเจ้า และการตายก็เป็นกำไร” (ฟิลิปปี 1 : 21) จึงได้ตัดสินใจทิ้งหมู่บ้านของท่านเพื่อมุ่งติดตามพระคริสตเจ้าโดยสมบูรณ์ นับเป็นการตัดสินในครั้งสำคัญอีกครั้งในชีวิตของท่าน

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตัวต่อพระเจ้า ท่านออกเดินเท้าจากหมู่บ้านของท่าน ข้ามป่า ข้ามเขา ลัดเลาะหนองน้ำลำธารไปยังหมู่บ้านคาห์นาวาเค ซึ่งห่างขึ้นไปทางเหนือของหมู่บ้านท่านมากกว่า 200 ไมล์ (ประมาณ 322 กิโลเมตร) โดยมีพี่เขยและคริสตังใหม่อีกคนร่วมเดินทางไปด้วย มีบันทึกว่าเมื่อคุณอาของท่านทราบว่าท่านได้หลบหนีจากหมู่บ้านแล้ว เขาได้รีบหยิบปืนคาบศิลาบรรจุกระสุนแล้วไล่ตามท่านมา แต่เขาพบเพียงพี่เขยของท่านที่กำลังหาเสบียง เขาเพียงแค่หยุดและถามหาว่าท่านอยู่ที่ไหน บันทึกจบลงเพียงเท่านี้ เราทราบแต่เพียงว่าหลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้ออกติดตามท่านไปและทั้งสองก็ไม่เคยได้พบกันอีกเลย ดังนั้นท่านจึงสามารถเดินทางมาจนถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยในอีกหลายเดือนต่อมา ใน ค.ศ. 1677 และได้ไปอาศัยอยู่ร่วมกับพี่สาวต่างบิดามารดาและพี่เขยที่ได้เดินทางล่วงหน้ามาก่อน คุณพ่อเดอลัมเบร์วิลล์ได้เขียนตอนหนึ่งในจดหมายถึงพระสงฆ์เยซูอิตที่ดูแลหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “คุณพ่อจะทราบในไม่ช้าว่าผมได้ส่งสมบัติชิ้นใดไปให้ จงรักษามันไว้ให้ดี ขอให้มันอยู่ในมือของคุณพ่อ เพื่อพระเกียรติมงคลของพระเจ้าและความรอดของวิญญาณที่รักพระองค์อย่างเหลือล้นด้วยเถิด”


เมื่อท่านได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านคาห์นาวาเคแล้ว ท่านก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของพระคริสตเจ้าและวิถีชีวิตแบบคริสตังเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นจากทั้งคุณพ่อและคริสตังในชุมชน รวมถึงได้เจริญชีวิตด้วย ‘ความเมตตา ความวิริยะ ความบริสุทธิ์ และความอดทนอดกลั้น’ ตามที่คุณพ่อคุณพ่อโคล้ด โชเชอแตร์ พระสงฆ์เยซูอิตซึ่งดูแลหมู่บ้านของท่นได้บรรยายในชีวประวัติของท่านที่คุณพ่อเขียนเป็นที่ประจักษ์แก่คนรอบข้างในระยะเวลาไม่นาน จนในปีเดียวกับที่ท่านมาถึงเมื่อเข้าสู่วันสมโภชพระคริสสมภพแรกของท่านที่หมู่บ้านคาห์นาวาเค พระสงฆ์เยซูอิตที่ดูแลชุมชนจึงอนุญาตให้ท่านรับศีลมหาสนิทครั้งแรกในวันฉลองดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไวมากเมื่อเทียบกับกรณีของคริสตังใหม่คนอื่น ๆ แม้จะไม่มีคำบรรยายว่าท่านมีความรู้สึกเช่นไรในวันนั้น แต่จากความศรัทธาที่ท่านมีต่อศีลมหาสนิทเป็นที่ประจักษ์ เราก็คงพอจจะจินตนาการได้ว่าในวันดังกล่าวท่านจะมีความสุขเพียงใด ที่วันเดียวกับพระเจ้าแห่งสากลจักรวาลทรงเสด็จมาในโลกในฐานะ ‘มนุษย์’ ในวันนี้ชายที่ท่านรักก็ยอมเสด็จเข้ามาในกายของท่านในฐานะ ‘ปัง’

บรรยากาศของหมู่บ้านคาห์นาวาเคซึ่งมีวัดชื่อ ‘วัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์’ เป็นศูนย์กลาง มีมิสซาเช้าเป็นการเริ่มต้นวัน และมีการสวดทำวัตรเย็นและอวยพรศีลมหาสนิทเป็นการจบวันแต่ละวัน รวมถึงมีบรรดาคริสตังชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ร่วมกันเหมือนครอบครัว เอื้อให้ท่านสามารถเจริญชีวิตติดตามพระคริสตเจ้าได้อย่างเต็มที่ ผ่านทั้งการได้ซึมซับคำสอนรวมถึงวิถีปฏิบัติจากคนรอบข้าง และการอยู่ท่ามผู้มีความเชื่อแบบเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย จ ณ ที่คาห์นาวาเคแห่งนี้ แม้ท่านจะไม่รู้หนังสือและไม่สามารถเขียนหนังสือได้ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตคริสตังของท่าน ท่านได้ปฏิบัติตามคติพจน์ของท่านที่ว่า “ใครเล่าจะบอกฉันได้ว่า สิ่งใดเป็นที่พอพระทัยพระเจ้ามากที่สุดเพื่อฉันจะได้ลงมือทำ” กล่าวคือท่านได้พยายามแสวงหาน้ำพระทัยพระเจ้าในทุก ๆ วินาทีของชีวิตอย่างดีที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานี้ท่านได้เจริญชีวิตด้วยคุณธรรมที่น่ายกย่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการสวดภาวนา การพลีกรรม และการปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งมีเรื่องเล่าและรายละเอียดตกทอดถึงปัจจุบันให้เราได้เรียนรู้ดังนี้


เริ่มจากในด้านการสวดภาวนา เมื่อสามารถไปวัดได้อย่างไม่ต้องกังวลถึงการดูหมิ่นและอันตราย ท่านมักใช้เวลาสวดอยู่เบื้องหน้าตู้ศีลในวัดที่หนาวเย็นเป็นเวลานาน และเมื่อถึงฤดูล่าสัตว์ในช่วงฤดูหนาวที่ชาวบ้านจะพากันอพยพออกจากหมู่บ้านไปอีกที่ ท่านก็ได้สร้างวัดเล็ก ๆ สำหรับสวดภาวนาขึ้นในป่า โดยทำไม้กางเขนง่าย ๆ ด้วยตัวเองไว้ที่ในป่า แล้วปฏิบัติดังเช่นที่วัดประจำหมู่บ้าน คือ คุกเข่าสวดรำพึงเป็นเวลานาน ๆ แม้จะเป็นท่ามกลางกองหิมะก็ตาม ไม่เพียงเท่านั้นเพื่อเตือนตัวเองให้หมั่นสวดภาวนา ท่านจึงได้ประดิษฐ์ไม้กางเขนเอาไปไว้ตามที่ต่าง ๆ ในป่า เพื่อว่าเมื่อท่านเห็นมันระหว่างเข้าไปในป่า ท่านจะได้หยุดภาวนา นอกจากนี้ท่านยังสวมสายประคำติดตัวไว้เสมอ แม้ในยามออกไปช่วยงานต่าง ๆ รวมถึงนำมาสวดเมื่อมีโอกาส และนอกจากสวมสายประคำไว้ที่คอ ท่านยังสวมสร้อยกางเขนอันเล็กไว้กับตัวเสมอ และมักยกมันขึ้นมาจูบด้วยความขอบพระคุณสำหรับพระหรรษทานต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ เพื่อเตือนใจตนเองถึงความรักของพระเจ้าอีกด้วย

ส่วนในด้านการพลีกรรมเล่ากันว่าท่านเพียรพลีกรรมด้วยความร้อนรนด้วยกลวิธีต่าง ๆ ทั้งแบบชาวยุโรปและแบบชนพื้นเมือง (ซึ่งบางครั้งมีความรุนแรงกว่าการทรมานตนแบบยุโรปในช่วงเวลาเดียวกัน) เช่น การเฆี่ยนตีตัวเอง (ซึ่งมีบันทึกว่าท่านเฆ่ยนทีได้ถึงครั้งละร้อยถึงสองร้อยรอบ) การเอาผงขี้เถ้าใส่ในอาหารเพื่อให้อาหารมีรสชาติแย่ การเอาหนามมาวางที่เสื่อนอนเพื่อทรมานตนเองเวลานอน และหมอบกราบบนเสื่อนี้เมื่อท่านสวดขอให้บรรดาญาติพี่น้องของท่านกลับใจและวอนขออภัยโทษแทนพวกเขา และการนำถ่านร้อน ๆ มาวางบนผิวหนัง คุณพ่อปีแอร์ โคเลเนค ซึ่งรับผิดชอบดูแลชุมชนคาห์นาวาเคและเป็นคุณพ่อวิญญาณของท่านได้บันทึกถึงการทำพลีกรรมแบบชนท้องถิ่นทีท่านและชาวบ้านทำไว้ว่า “พวกเธอทำให้ร่างกายมีเลือดออกด้วยการใช้ทั้งเหล็ก ท่อนไม้ เถาหนาม ต้นพืชที่ทำให้คันเฆี่ยนตีตนเอง พวกเธออดอาหารอย่างเคร่งคัดโดยไม่ทานอะไรเลยตลอดทั้งวัน พวกผู้หญิงที่ถืออดอาหารเหล่านี้ยังคงทำงานหนักตลอดทั้งวัน – ในฤดูร้อนทำงานในไร่ ในฤดูหนาวทำงานตัดไม้ (…) พวกเธอยังเอาถ่านที่ลุกเป็นไฟมาวางไว้บนผิวหนัง ทำให้ไฟเผาผิวหนังของพวกเธอจนเป็นรู พวกเธอเดินด้วยเท้าเปล่าเป็นขบวนยาวท่ามกลางหิมะ พวกเธอยังต่างตัดผมของตัวเองเพื่อให้ตนเสียโฉม จะได้ไม่ถูกขอแต่งงาน” (นอกจากนี้ยังมีวิธีการโดดลงไปสวดสายประคำในแม่น้ำที่เต็มไปด้วยหิมะ และการนอนกลิ้งไปมาบนหิมะอีกด้วย) คุณพ่อยังบันทึกอีกว่า “แต่เธอไปไกลกว่านั้น และปรารถนาจะแบ่งเบาความเจ็บปวดของพระองค์ … เธอทรมานร่างกายของเธอด้วยนานาวิธีที่เธอจะคิดประดิษฐ์ได้ ทั้งโดยการทำงานหนัก การอดนอน การอดอาหาร ความเย็น ไฟ เหล็ก เข็มขัดหนาม แส้ซึ่งเธอใช้เฆี่ยนตีที่หัวไหล่ของเธอหลาย ๆ ครั้งต่อสัปดาห์”


ดังที่กล่าวไปแล้วว่าการทำพลีกรรมแบบชนพื้นเมืองมีความรุนแรงมากเกินความจำเป็นในทัศนะของบาทหลวงชาวตะวันตก คุณพ่อโคเลเนคจึงพยายามปรามคริสตังในหมู่บ้านคาฆ์นาวาเตที่ทรมานตนด้วยวิธีแบบท้องถิ่น และได้นำเอาอุปกรณ์ทรมานตนแบบตะวันตก เช่น แส้เฆี่ยนและเข็มขัดหนามเข้ามาให้ใช้แทน ในกรณีของท่านที่ปฏิบัติหนักยิ่งกว่าคนอื่น คุณพ่อก็ได้พยายามปรามไม่ให้ทำพลีกรรมในทำนองนี้ โดยยกเหตุผลเรื่องสุขภาพที่ไม่สู้จะดีของท่านมาประกอบ ฝั่งท่านก็ยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะปฏิบัติตนเช่นนี้ต่อไป ครั้งหนึ่งคุณพ่อได้แนะนำให้ท่านเพลาการพลีกรรมลงและแนะให้ท่านตามเพื่อน ๆ ไปพักผ่อนในฤดูล่าสัตว์ที่ในป่าเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ท่านก็ได้ตอบคุณพ่อกลับมาว่า “คุณพ่อคะ เป็นความจริงแท้ที่ร่างกายของลูกจะได้รับการฟื้นฟูในป่า แต่วิญญาณนั้นเล่าจะต้องอ่อนล้าลง และไม่อาจระงับความหิวกระหายได้ในที่นั่นค่ะ ตรงกันข้ามเลยกับในหมู่บ้านแม้ร่างกายของลูกจะต้องทุกข์ทรมาน แต่วิญญาณนั้นกลับชื่นชนยินดีที่ได้อยู่ใกล้กับองค์พระเยซูคริสตเจ้า ลูกพอใจที่จะเป็นเช่นนี้ ลูกยินดีจะทิ้งเรือนร่างอันน่าสังเวชที่มีแต่ความหิวกระหายและความทุกข์ทรมานนี้ เพื่อแลกกับวิญญาณของลูกจะได้รับการหล่อเลี้ยงรักษาไว้ค่ะ”

ในด้านการประกอบศาสนกิจ เราพบว่านอกจากการไปร่วมมิสซาและสวดภาวนา รวมถึงหมั่นไปรับศีลมหาสนิท และไปแก้บาปทุก ๆ 8 วันแล้ว (ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในสมัยก่อน) ท่านยังได้ปฏิบัติกิจการเมตตาอื่น ๆ ภายนอกวัดอย่างร้อนรน ท่านทั้งคอยช่วยสอนเด็ก ๆ ในชุมชนถึงเรื่องของพระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่ง รวมถึงหาเวลาไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกทุกข์ได้ยากและเจ็บป่วยในชุมชน และคอยมอบความรักให้กับทุกคนโดยไม่แบ่งแยกดังเห็นได้จากท่านใช้คำพูดที่ดีกับทุกคนเสมอ จนหลายคนก็ต่างเรียกท่านว่า ‘แม่นักบุญ’ หลายต่อหลายครั้งพวกชาวบ้านก็ชอบขอให้ท่านเล่าเรื่องราวของพระเยซูเจ้าและอัครสาวกของพระองค์ที่ท่านสามารถจดจำให้พวกเขาฟัง ด้วยคำขอซื่อ ๆ ว่า “คาเทรี เล่าเรื่องให้พวกเราฟังหน่อยสิ” ซึ่งท่านก็ยินดีจะเล่า เช่นเดียวกับบรรดาชาวบ้านที่ยินดีจะฟังเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์นี้จากท่านโดยไม่เกี่ยงเรื่องเวลา มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งบาทหลวงองค์หนึ่งได้ถามบรรดาชาวบ้านว่าทำไมชอบมาอยู่ใกล้ ๆ ท่านเวลามาวัด บรรดาชาวบ้านก็ต่างตอบว่าพวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับพระเจ้า ยามท่านกำลังสวดภาวนา เพราะในเวลานั้นใบหน้าของท่านได้กลับมีสิริโฉมที่งดงามและสงัดนิ่ง ดูคล้ายกับว่าท่านกำลังได้ชมพระพักตร์พระเจ้าอยู่


และด้วยความปรารถนาที่จะเป็นเจ้าสาวของชาย ผู้ที่ขโมยหัวใจของท่านไปนับตั้งแต่วันที่ท่านยังเป็นเพียงแกะนอกคอกโดยสมบูรณ์ ท่านจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าท่านจะอยู่โดยไม่แต่งงานและถือพรหมจรรย์ตราบสิ้นชีวิต ท่านจึงได้เอาเรื่องนี้ไปแจ้งกับคุณพ่อโคโลเนก คุณพ่อวิญญาณของท่านว่า “ลูกได้ตรองคิดถึงเรื่องนี้มานานพอแล้ว ทั้งลูกก็ได้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรมาเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน ลูกได้ถวายตัวลูกให้พระเยซู พระบุตรของพระแม่มารีย์แล้ว และพระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่ลูกเลือกเป็นสามี และมีพระองค์เท่านั้นที่จะรับลูกเป็นภรรยาได้” ฝั่งคุณพ่อเมื่อพิจารณาเห็นถึงน้ำใจที่หนักแน่นของท่าน จึงได้ให้ท่านทำพิธีปฏิญญาณตนจะถือพรหมจรรย์เช่นบรรดาเจ้าสาวของพระคริสตเจ้าในคณะนักบวชต่าง ๆ ไปตลอดชีวิต ท่านจึงได้ทำพิธีดังกล่าวในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1679 หรือวันฉลองพระคริสตเจ้าทรงรับเอากาย หลังจากนั้นท่านจึงได้เริ่มมีความคิดจะตั้งคณะนักบวชหญิงพื้นเมืองขึ้นที่ชุมชนร่วมกับเพื่อนใหม่ของท่าน คือ นางมารี เทแรซ เทไกอันกูเอนตา จากการได้เห็นคณะนักบวชหญิงในเมืองมอทรีออล แต่น่าเสียดายว่าเมื่อท่านได้เสนอเรื่องนี้ให้ทางมิชชันนารีคณะเยซูอิตทราบ โครงการของท่านก็ถูกปัดตก เนื่องจากปัญหาสุขภาพของท่าน และความคิดที่ว่าพวกท่านยังเยาว์วัยในชีวิตแห่งความเชื่อ

ล่วงมาได้หนึ่งปีภายหลังท่านได้เข้าปฏิญาณตนถือพรหมจรรย์ ซึ่งยังคงไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการจากพระสังฆราชที่ปกครองชุมชนของท่านในเวลานั้น ก็ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าจะทรงพอพระทัยจะรับท่านไปรับบำเหน็จในสวรรค์ในเวลานี้ เพราะเมื่อล่วงเข้าสู่ช่วงต้นปี ค.ศ. 1680 ท่านก็เริ่มล้มป่วยลงจนต้องนอนอยู่แต่ที่บ้าน และอาการมีแต่จะทรุดลงเรื่อย ๆ จนในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมท่านก็ไม่สามารถขยับตัวไปไหนมาไหนได้มาก เพราะการขยับตัวเพียงเล็กน้อยก็สร้างความเจ็บปวดให้ท่านเป็นหนักหนา แต่กระนั้นก็ตามแม้จะต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานทางร่างกายอย่างหนักเช่นนี้ ท่านได้ใช้เวลาเหล่านั้นสวดภาวนาต่อพระเจ้า และยังคงมีรอยยิ้มให้กับพระสงฆ์ที่แวะมาเยี่ยม แวะมาสอนคำสอนท่านทุกวัน ท่านเผยกับคุณพ่อโคล้ด โชเชอแตร์ ซึ่งพึ่งเดินทางเข้ามาช่วยงานคุณพ่อโคเลเนคในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1680 และคุณพ่อได้บันทึกว่า “เธอเอ่ยด้วยรอยยิ้มว่าเธอจะมีชีวิตอยู่และตายบนไม้กางเขน และเป็นคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระผู้ช่วยรอดของเธอไปตลอด”


ล่วงเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ อาการของท่านก็ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงเช้าวันอังคารศักดิ์สิทธิ์ท่านก็ได้แจ้งว่าท่านกำลังจะไปในไม่ช้าและมีความสุขกับเรื่องนี้ และตามประเพณีของชุมชนในเวลานั้นพระสงฆ์จะไม่โปรดศีลเจิมให้กับชาวบ้านที่ใกล้จะสิ้นใจที่บ้าน จำต้องพาคนป่วยมาที่วัดเพื่อโปรดศีลเจิมและส่งศีลให้ แต่เนื่องจากสภาพร่างกายของท่านที่ไม่สู้ดี คุณพ่อโคเลเนคและคุณพ่อโชเชอแตร์ พระสงฆ์เยซูอิตผู้รับหน้าที่ดูแลชุมชนจึงตัดสินใจนำศีลมหาสนิทมาโปรดศีลเจิมให้ท่านที่บ้านเพราะเห็นว่าเป็นการเหมาะสม ชาวบ้านที่ต่างทราบข่าวจึงพร้อมใจกันร่วมแห่ศีลมาพร้อมกับมาเฝ้าท่านเพื่อสักขีพยานในมรณกรรมของอันศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญที่มีลมหายใจของพวกเขา หลังพิธียังท่านไม่ได้จากไปในทันที อาการของท่านทรุดลงตามลำดับจนรุ่งเช้าของวันต่อมาท่านขอให้พระสงฆ์โปรดศีลเจิมให้ท่านอีกครั้ง และดูคล้ายว่าจะสิ้นใจเต็มที แต่เนื่องจากชาวบ้านบางส่วน รวมถึงมิตรสนิทของท่านจำต้องออกไปเก็บฟืนเพื่อมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พวกเขาก็ปรารถนาจะอยู่กับท่านจนถึงวินาทีสุดท้าย ท่านจึงสัญญาที่จะรอ และท่านก็ได้รักษาสัญญาสุดท้ายนี้ เพราะเมื่อถึงเวลาประมาณ 15.00 น. ในวันพุธศักดิ์สิทธิ์ที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1680 ภายหลังทุกคนกลับมาอยู่กับท่านแล้ว ท่านในวัยประมาณ 24 ปี จึงยกถวายวิญญาณคืนให้กับพระเป็นเจ้าอย่างสงบในอ้อมแขนของนางมารี เทแรซ พร้อมด้วยคำพูดที่แสนจะเรียบง่าย แต่น่ารักว่า “พระเยซูเจ้าข้า ลูกรักพระองค์”

สิบห้านาทีต่อมา ‘เครื่องหมายสวรรค์’ แรกก็ได้ปรากฏต่อหน้าประจักษ์พยานทั้งหลาย เป็นเครื่องหมายรับรองความศักดิ์สิทธิ์หมดจดของท่าน เมื่อบาดแผลบนใบหน้าของท่านที่เกิดจากโรคไข้ทรพิษในวัยเยาว์ได้ค่อย ๆ หายไป ใบหน้าของท่านที่เคยผอมตอบ รวมถึงเต็มไปด้วยริ้วรอยจากเรื่องร้าย ๆ ที่ได้เผชิญมาตลอดการเดินทางบนโลกของท่านก็กลับเต่งตึงมีสีระเรื่อเหมือนใบหน้าของเด็ก ๆ คุณพ่อโคเลเนคเขียนว่า “ทันใดนั้นใบหน้าซึ่งมีแต่รอยแผลเป็นและดำคล้ำก็เปลี่ยนไปในเวลาเพียงสิบห้านาทีหลังจากเธอสิ้นใจ มันกลับงดงามและขาวใสขึ้นจนข้าพเจ้าสังเกตได้ในทันที (เพราะข้าพเจ้าสวดภาวนาอยู่ข้างร่างของเธอ) และเริ่มร้องไห้ออกมา … ข้าพเจ้ายอมรับว่าความคิดแรกที่พุ่งเข้ามาในหัวของข้าพเจ้า คือ แคทเธอรีนในเวลานั้นน่าจะเข้าสู่สวรรค์แล้ว เครื่องหมายที่สะท้อนปรากฏในร่างอันบริสุทธิ์ของเธอ คือ ลำแสงเล็ก ๆ แห่งความรุ่งโรจน์ที่ปรากฏในวิญญาณของเธอ” บรรดาประจักษ์พยานที่ได้แลเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวต่างเชื่ออย่างไม่มีข้อกังขาว่าท่านเป็นนักบุญ ข่าวว่า ‘นักบุญได้สิ้นใจลงแล้ว’ จึงค่อย ๆ แพร่ไปจากหมู่บ้านคาห์นาวาเค ก่อนจะแพร่ไปทั่วนิวฟรานซ์ (ประเทศแคนาดา) ไปไกลถึงราชสำนักฝรั่งเศส

สถานที่ฝังศพแรกของท่าน ปัจจุบันมีชื่อว่า แซ็งต์ คัธริน 

ในเบื้องต้นคุณพ่อโชเชอแตร์ประสงค์จะให้ฝังร่างของท่านในวัด เพราะคุณพ่อเชื่อมันแน่ว่าท่านเป็นนักบุญ แต่คุณพ่อโคเลเนคไม่เห็นด้วยเพราะที่ฝังในวัดสงวนไว้สำหรับชนชั้นสูงผิวขาว รวมถึงคุณพ่อก็ไม่แน่ใจว่าปรากฏการณ์อัศจรรย์ที่ท่านเห็นบนร่างของท่านเป็นเครื่องหมายสวรรค์ ดังนั้นเมื่อเสร็จพิธีปลงศพร่างของท่านจึงถูกนำไปฝังที่สุสานนอกวัดที่ปัจจุบัน เวลาต่อมาก็มีพยานถึง 3 คนรายงานถึงการประจักษ์มาของท่านอันเป็นเครื่องยืนยันถึงการเข้าสู่สวรรค์ของท่านอย่างไม่ต้องสงสัย เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นกับคุณพ่อโชเชอแตร์ คุณพ่อเล่าว่าในวันจันทร์หลังวันอาทิตย์ปัสกาปีนั้น ขณะคุณพ่อกำลังสวดภาวนาในเวลาตีสี่คุณพ่อได้เห็นท่านปรากฏมายืนอยู่ตรงหลุมศพของท่าน ในอิริยาบทเงยหน้าขึ้นไปยังสวรรค์คล้ายผู้ตกอยู่ในภวังค์เป็นเวลานานถึงสองชั่วโมง ที่ขวามือของท่านปรากฏภาพวัดที่พังระเนระนาด ในขณะที่ด้านซ้ายปรากฏภาพคริสตังสามคนถูกจับเผาทั้งเป็น (ปรากฏว่าใน ค.ศ. 1683 ได้มีพายุถล่มวัดของชุมชนจนพังลงมา และปรากฏว่ามีผู้รอดชีวิตอาศัยการภาวนาถึงท่าน ส่วนในเวลาสต่อมาก็ได้มีคริสตังใหม่ชาวพื้นเมืองได้ถวายชีวิตเป็นมรณสักขีด้วยการถูกมัดเผาทั้งเป็น ใน ค.ศ. 1690)

อีกสองวันต่อมาหลังคุณพ่อโชเชอแตร์ได้เห็นนิมิต นางอนาสตาเซีย เทโกนัทซีโอนโก ซึ่งคอยเป็นผู้สอนชีวิตฝ่ายจิตให้กับท่านเพิ่มเติมที่หมู่บ้าน และเป็นผู้ที่ท่านเคารพเหมือนแม่อีกคน ก็ได้เล่าว่าในเย็นวันนั้นขณะนางกำลังร้องไห้เสียใจต่อการจากไปของบุตรสาวฝ่ายจิตของนาง นางก็ได้ยินเสียงเรียกว่า “แม่คะ ตื่นและมาดูนี่ค่ะ” เมื่อนางเงยหน้าขึ้นก็แลเห็นท่านอยู่ที่ปลายฟูกของนางพร้อมถือไม้กางเขนที่สว่างดุจดวงอาทิตย์ ร่างของท่านท่อนล่างตั้งแต่ส่วนของเข็มขัดหายไปในแสงสว่าง ท่านบอกกับนางว่า “แม่คะ ดูไม้กางเขนนี่สิคะ ช่างงามเสียยิ่งกระไร โอ้ ลูกรักพระองค์อย่างไรบนโลกนี้ลูกก็รักพระองค์อย่างนั้นในสวรรค์ ลูกหวังว่าทุกคนจะรักพระองค์อย่างที่ลูกรัก” แล้วร่างของท่านก็อันตรธานหายไป บุคคลที่สามที่ท่านได้ประจักษ์มาหาคือ นางมารี เทแรซ เพื่อนสนิทของท่าน นางได้เล่าว่าคืนหนึ่งขณะนางกำลังหลับไหล นางก็ได้ยินเสียงคนเคาะผนัง และมีเสียงถามว่านางตื่นอยู่ไหม ก่อนที่เสียงเดียวกันนั้นจะบอกกับนางต่อว่า “ฉันมาเพื่อบอกลา ฉันกำลังจะไปสวรรค์” นางมารี เทแรซจึงรีบลุกออกไปดูข้างนอกบ้านปรากฏว่าก็ไม่พบใคร แต่นางได้ยินเสียงพึมพำเบา ๆ ว่า “ลาก่อน ลาก่อน ไปบอกคุณพ่อด้วยนะว่าฉันกำลังจะไปสวรรค์”


ภาพเขียนของคาเทรีภาพแรก เขียนภายหลังมรณกรรม (ซ้าย) 
และภาพพิมพ์ของคาเทรีในหนังสือประวัติศาสตร์อเมริกาเหนือ ตีพิมพ์ ค.ศ. 1753 (ขวา)

ภายหลังมรณกรรมของท่านทั้งคุณพ่อโคเลเนค (ที่ในเวลาต่อมาเชื่อว่าท่านเป็นนักบุญอย่างไม่มีข้อกังขา) และคุณพ่อโชเชอแตร์ก็ต่างได้เริ่มเขียนชีวประวัติของท่านออกเผยแพร่ นามของท่านจึงเป็นที่แพร่หลาย ในเวลาเดียวกันกับที่หลุมฝังศพของท่านซึ่งต่อมาได้ถูกจารึกว่า ‘คาเทรี เทคาควิทา บุพผางามเท่าที่เคยเบ่งบานมาท่ามกลางชนพื้นเมือง’ ก็ได้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญ รวมถึงได้เกิดอัศจรรย์มากมายทั้งจากการภาวนาขอให้ท่านช่วย จากพระธาตุของท่าน รวมไปถึงจากภาพที่คุณพ่อโชเชอแตร์ได้วาดขึ้นตามคำสั่งในนิมิตใน ค.ศ. 1681 และ ค.ศ. 1682 แต่ถึงแม้จะปรากฏเครื่องหมายจากสวรรค์เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ในส่วนของการดำเนินเรื่องขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญกลับเป็นไปอย่างล่าช้า แม้ภายหลังการเสียชีวิตของท่าน คุณพ่อโชเชอแตร์จะมีความกระตือรือร้นที่สุดที่จะดำเนินเรื่องขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ แต่เนื่องจากไม่มีผู้ใหญ่ฝ่ายพระศาสนจักรองค์ใดให้การสนับสนุนโครงการนี้ ทำให้ในท้ายที่สุดความพยายามตลอดชีวิตของคุณพ่อจึงไร้ผล แต่กระนั้นก็ตามในเวลาต่อมาคุณพ่อก็ได้สร้างวัดน้อยขึ้นที่ใกล้ ๆ หลุมศพของท่าน และในเวลาต่อมาเมื่อมีการสร้างวัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์หลังใหม่ ทางคณะเยซูอิตจึงได้มีการย้ายอัฐิของท่านเข้าไปไว้ในวัด

แม้กระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าและดูเหมือนจะได้รับการเมินเฉย นามของท่านในฐานะ ‘ดอกลิลลี่แห่งโมฮอว์ค’ ซึ่งสะท้อนตัวตนของท่านในฐานะ ‘พรหมจารย์ชนพื้นถิ่นจากลุ่มแม่น้ำโมฮอว์ค’ ก็เป็นที่แพร่หลายไปทั่วสาระทิศ และยืนยนผ่านกาลเวลามาอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งนับวันจะยิ่งขจรขจายไปเกินกว่าขอบเขตของหมู่บ้านคาห์นาวาเค ซึ่งต่างเชื่อว่าท่านคือนักบุญของพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย จวบจนวันเวลาผ่านมาถึง 200 ปี เมื่อมีการประชุมพระสังฆราชอเมริกาที่เมืองบัลติมอร์ครั้งที่ 3 ใน ค.ศ. 1885 บรรดาพระสังฆราชที่มาประชุมพร้อมกันในครั้งนั้น จึงได้มีความพยายามเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญร่วมกับมรณสักขีคณะเยซูอิตสององค์ ที่ได้ถวายชีวิตเป็นมรณสักขีที่หมู่บ้านที่ท่านเกิดก่อนท่านจะเกิด (ทั้งสองท่านได้ถูกรวมและสถาปนาเป็นคณะนักบุญมรณสักขีแห่งอเมริกาเหนือในเวลาต่อมา) เพื่อส่งเสริมการกลับใจในหมู่คนพื้นเมืองในอเมริกาผ่านคารวะกิจเช่นนี้ด้วยการพร้อมใจยื่นเรื่องไปทางสันตะสำนัก แต่จนแล้วจนรอดกระบวนการดังกล่าวก็ยังไม่ถูกเริ่มเสียที จึงได้มีความพยายามอีกครั้งโดยการร่วมลงนามของคริสตชนจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดาจำนวนทั้งสิ้น 906 รายชื่อในจดหมาย 27 ฉบับเพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณาเรื่องราวของท่านอย่างเป็นทางการ ทำให้ในที่สุดหลังผ่านไปกว่าสองศตวรรษหลังมรณกรรมศักดิ์สิทธิ์ของท่าน จึงได้มีการริเริ่มกระบวนการสอบสวนชีวประวัติของท่านเพื่อเสนอต่อสันตะสำนักอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1931 ซึ่งเป็นผลในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1943 เมื่อทางสันตะสำนักได้พิจารณาแล้วว่าท่านได้กอปรด้วยคุณธรรมขั้นวีรชน สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 จึงประกาศให้ท่านเป็น ‘ผู้น่าเคารพ’


ต่อมาสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงประกาศให้ท่านเป็นบุญราศีเป็นกรณีพิเศษ โดยการละเว้นการมีอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนมาประกอบเหมือนกรณีการสถาปนาบุญราศีที่สิ้นใจตามธรรมชาติทั่วไป ทำให้ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1980 หรือสามร้อยปีหลังมรณกรรมของท่าน ท่านจึงได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศี ณ มหาวิหารนักบุญเปโตรพร้อมกับบรรดาข้ารับใช้พระเจ้าจากโลกใหม่อีก 4 ท่าน ซึ่งต่างล้วนเป็นผู้มีภูมิลำเนาเดิมเป็นชาวยุโรปที่ได้เดินทางเข้ามาแพร่ธรรมในโลกใหม่แห่งนี้ จึงทำให้ท่านกลายมาเป็นชาวพื้นเมืองอเมริกาเหนือคนแรกที่ได้รับเกียรติดังกล่าว และภายหลังจากเกิดอัศจรรย์รักษาเด็กชายชาวอเมริกาใน ค.ศ. 2006 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 จึงได้ทรงบันทึกนามท่านในสารบบบุญราศีอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2012 ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร ท่านจึงเป็นชนพื้นเมืองจากทวีปอเมริกาคนที่ 2 ที่ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญต่อจากนักบุญฮวน ดิเอโก ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งกวาดาลูป และเป็นชาวพื้นเมืองจากทวีปอเมริกาเหนือคนแรกที่ได้รับเกียรติเช่นนี้บนพระแท่นบูชา โดยภาพที่ถูกเลือกมาแขวนครั้งนั้น คือ ภาพเขียนของท่านที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งเขียนขึ้นโดยคุณพ่อโชเชอแตร์ ตามคำสั่งภาษาละตินที่ว่า “จงระวังทำให้ถูกต้องตามที่เราได้แสดงให้ท่านเห็น” (กันดารวิถี 25 : 40)

อาจกล่าวได้ว่าคำภาษาละตินที่แปลว่า “จงระวังทำให้ถูกต้องตามที่เราได้แสดงให้ท่านเห็น” ซึ่งคุณพ่อโชเชอแตร์ได้ยินนั้น ไม่เพียงเป็นข้อความที่ส่งถึงคุณพ่อโดยตรง แต่ยังเป็นข้อความที่ส่งถึงเรามนุษย์ทุกคนทุกสมัยเป็นพิเศษกับบรรดาคริสตชนทั่วทุกมุมโลกไม่เพียงแต่ในโลกใหม่ นี่เป็นคำเชื้อเชิญให้เราได้เอาอย่างแบบฉบับความศักดิ์สิทธิ์ของท่านนักบุญคาเทรีในการเป็นแนวทางหนึ่งในการติดตามพระเจ้าในท่ามกลางกระแสสังคมที่สวนทางกับความเชื่อและความศรัทธาของเรา คำกล่าวของท่านนักบุญคาเทรีในอดีตที่ว่า “จงกล้าหาญไว้ แม้จะมีคำพูดของผู้ที่ไม่เชื่อ” และ “จงอย่ายอมแพ้ต่อความอับอาย” ยังคงเป็นคำชูจิตชูใจอยู่เสมอ ให้เราคริสตชนผู้อาศัยความเชื่อและการรับศีลล้างบาป จึงไม่ใช่ของโลกอีกต่อไป (เทียบ ยอห์น 17 : 16) แต่เป็นบุตรธิดาของพระเจ้า เป็นผู้ทราบดีว่าตนเป็นเพียงผู้เดินทางผ่านมายังโลกเพื่อไปยังสวรรค์ได้มีกำลังใจที่จะติดตามพระคริสตเจ้าต่อไป เช่นเดียวกับที่ท่านได้ใช้ชีวิตเป็นประจักษ์พยานเมื่อหลายศวตรรษที่ผ่านมา ในสุดท้ายนี้เราอาจกล่าวได้ว่า เพราะท่านนักบุญคาเทรีตระหนักว่า ท่านได้รับกรรมสิทธิ์ความศักดิ์สิทธิ์ คือ การไม่เป็นของโลกและการเป็นลูกของพระ อาศัยการพลีพระชนม์ขององค์พระเยซูเจ้า ดั่งคำภาวนาของพระองค์ต่อพระบิดาว่า “ข้าพเจ้าถวายตนเป็นบูชาสำหรับเขา เพื่อเขาจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงด้วย” (ยอห์น 17 : 19) ท่านจึงพบความกล้าที่จะเผชิญกับความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง การถูกดูหมิ่นทำร้าย การต้องหันหลังให้บ้านเกิด รวมถึงการสละความต้องการฝ่ายเนื้อหนังเพื่อรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของวิญญาณ ซึ่งได้รับเจิมด้วยพระโลหิตของพระคริสตเจ้า จนก่อเกิดเป็นเรื่องราวอัศจรรย์ที่เราได้อ่านกันมานี้ อาแมน.
รูทราย, เทเรซีโอของพระเจ้า
เผยแพร่ครั้งแรก 23 กุมภาพันธ์ 2013
แก้ไขปรับปรุง 27 กรกฎาคม 2022


“ข้าแต่ท่านนักบุญคาเทรี เทคาควิทา ช่วยวิงวอนเทอญ


รายการอ้างอิง
http://histoiresainteducanada.ca/en/sainte-kateri-tekakwitha/
https://tvaraj.com/2014/07/12/the-story-of-kateri-tekakwitha-the-first-north-american-indian-saint-part-3/
https://www.americanindianmagazine.org/story/complexity-ecstasy-life-and-sainthood-st-kateri-tekakwitha
https://www.marypages.com/kateri-tekakwitha.html?lang=en
https://fr.m.wikisource.org/wiki/Catherine_Tekakwitha
https://www.kateri.org/our-patron-saint/
https://www.newmanministry.com/saints/saint-kateri-tekakwitha
https://mycatholic.life/saints/saints-of-the-liturgical-year/july-14-saint-kateri-tekakwitha-virgin-usa-memorial/
https://www.franciscanmedia.org/saint-of-the-day/saint-kateri-tekakwitha/
https://www.katerishrine.org/st-kateri
https://mycatholic.life/saints/saints-of-the-liturgical-year/july-14-saint-kateri-tekakwitha-virgin-usa-memorial/
https://www.ourladyofmartyrsshrine.org/st-kateri-tekakwitha
https://www.ncregister.com/blog/10-amazing-things-you-need-to-know-about-st-kateri-tekakwitha
https://www.simplycatholic.com/st-kateri-tekakwitha/

http://www.pgazkoenyau.com/content/view/78/5/
http://conservation.catholic.org/kateri.htm
http://en.wikipedia.org/wiki/Kateri_Tekakwitha

คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โต...