วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2566

หมดชีวิตด้วยเชื่อและไว้ใจ 'ปีโอ กัมปีเดลลี'

บุญราศีปีโอ กัมปีเดลลี

Bl. Pío Campidelli

วันฉลอง: 2 พฤศจิกายน


กลางทุ่งหญ้าเขียวขจีอันห่างไกล ในเขตชนบทของจังหวัดริมินี ในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นที่รู้จักว่า เตรบบีโอ ดิ ปอจโจ เบร์นี ที่นี่เป็นพื้นที่ราบเหมาะแก่การทำการเกษตรซึ่งโอบล้อมด้วยเนินเขา 3 ลูกอันเป็นที่ตั้งของชุมชน 3 แห่ง คือ หมู่บ้านเบร์นีอยู่ทางเหนือ หมู่บ้านตอร์รีอานาอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ และหมู่บ้านเวรุคคิโออยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ณ บ้านหลังหนึ่งซึ่งมีโรงสีอยู่ติดกันและตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ที่นี่เป็นบ้านของสองสามีภรรยา คือ นายยูเซปเป กัมปีเดลลีและนางฟีโลเมนา เบลปานี ทั้งสองเป็นเกษตรกรธรรมดา ๆ ผู้ไม่มีอะไรขาดแคลน แต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมาก ทั้งสองขยันขันแข็งในการลงแรงทำงานในแต่ละวันในท้องทุ่ง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของพวกเขา และมีความเชื่อศรัทธาในพระเจ้าอย่างมั่นคง ดังนั้นครอบครัวของทั้งสองจึงมีแต่สันติและได้รับการอวยพระพร ความจริงยูเซปเปมีที่ดินติดแม่น้ำมาเรคเคียที่อยู่ห่างออกไป แต่ที่เขาเลือกจะมาอาศัยอยู่ที่เตรบบีโอเนื่องจากที่นี่มีโรงสีตั้งอยู่ติดกับตัวบ้าน ดังนั้นนอกจากครอบครัวกัมปีเดลลี บางครั้งจึงมีชาวบ้านคนอื่น ๆ แวะเวียนเอาผลผลิตข้าวมาสี พวกเขามักมาด้วยพร้อมคำสบถสาบานซึ่งทำลายความสงบของที่นี่

นายยูเซปเปและนางฟีโลเมนาสมรสกับมาในเกือบแปดปี พวกเขามีบุตรธิดาด้วยกันมาแล้วสามคน แต่เสียชีวิตไปหนึ่งคนตั้งแต่อายุได้ขวบครึ่ง ในช่วงรอยต่อระหว่างปีที่เจ็ดและแปดนั้นเอง นางฟีโลเมนาก็ได้ตั้งครรภ์สมาชิกคนที่ 4 ของครอบครัว และในเวลาต่อมาในเวลาสิบนาฬิกาของวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1868 นางฟีโลเมนาก็ได้ให้กำเนิดทารกเพศชาย ทั้งนายยูเซปเปและนางฟีโลเมนาก็ต่างโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับของขวัญของพระเจ้าชิ้นนี้ ทั้งสองรีบจัดแจงให้ทารกน้อยรับศีลล้างบาปเสียในวันเดียวกันนั้น ด้วยนามของนักบุญหลุยส์ กอนซากา ที่ออกในภาษาอิตาลีว่า ‘ลุยจี’ ประหนึ่งเป็นคำทำนายว่าชีวิตในเบื้องหน้าของหนูน้อย จะมีชีวิตไม่ต่างอะไรจากท่านนักบุญผู้มีชีวิตในโลกเพียงระยะสั้น ๆ ในฐานะ ‘เณร’ แห่งคณะเยซูอิตช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 16 แต่ทุกคนในบ้านไม่นิยมเรียกหนูน้อยนี้ด้วยชื่อเสียเท่าไร พวกเขามักเรียกหนูน้อยด้วยชื่อลำลองว่า ‘ยียีโน’ หลังจากนั้นสองสามีภรรยาก็มีสมาชิกเพิ่มอีก 2 คน หนูน้อยยียีโนจึงเป็นลูกคนที่ 4 จาก 6 คนของครอบครัว


เมื่อหนูน้อยยียีโนอายุได้ 5 ปี ครอบครัวก็ได้พาไปรับศีลกำลังตามธรรมเนียมในสมัยนั้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1873 ที่วัดประจำหมู่บ้านตอร์รีอานา แต่เพียงหนึ่งปีให้หลังเหตุการณ์ดังกล่าว คือ ในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1874 นายยูเซปเปก็ป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่และเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน นางฟีโลเมนาจึงได้กลายมาเป็นเสาหลักของครอบครัวกัมปีเดลลี นางได้พยายามเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้งห้าด้วยความอ่อนโยนของมารดาและความเข้มแข็งของบิดา นางขยันทำงานในไร่ของครอบครัวมากขึ้นเช่นเดียวกับที่ทวีการสวดภาวนาต่อพระเจ้า ผู้มอบพลังในการแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นให้กับนาง และเนื่องจากสถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ นายมิเคเล หรือที่คนในบ้านเรียกกันว่า คุณอาแบร์ตอลโด ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องชายของนายยูเซปเปและอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเดียวกันกับพี่ชาย จึงได้เริ่มให้ท่านมาช่วยงานในไร่เพื่อแบ่งเบาภาระงานในครอบครัว ซึ่งท่านก็เชื่อฟังและได้เริ่มช่วยงานคุณน้าอย่างแข็งขัน แต่เนื่องจากสุภาพที่ไม่สู้จะแข็งแรงของท่าน ทำให้ไม่นานเมื่อต้องออกแดดนาน ๆ ผนวกกับทำงานหนัก ท่านก็ล้มป่วยลง มีอาการอ่อนเพลีย ไข้ขึ้นสูง และมีใบหน้าบวม

นางฟีโลเมนาที่เห็นท่านล้มป่วยลงเช่นนี้ ก็เข้าใจทันทีว่าท่านไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานประเภทนี้ ดังนั้นนางจึงได้ส่งท่านเข้าไปเรียนกับพระสงฆ์หนุ่มชื่อ คุณพ่ออังเยโล แบร์ตอซซี ตั้งแต่ ค.ศ. 1875 เป็นต้นมา ทำให้ท่านได้มีโอกาสเรียนภาษาละตินเบื้องต้น โดยทุกวันนางฟีโลเมนาจะคอยพาท่านไปส่งให้คุณพ่อแบร์ตอซซีตั้งแต่เช้าตรู่ ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงสัปดาห์ระลึกถึงผู้วายชนม์ เพื่อร่วมมิสซาประจำวันและเข้าเรียน ซึ่งท่านเองก็มีความสุขที่ได้ตื่นไปเรียน เพราะมันทำให้ท่านได้ใกล้ชิดกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้สถิตอยู่ในวัดในรูปศีลมหาสนิท และในไม่ช้าท่านก็ตระหนักได้ว่า ท่านไม่อยากจะเก็บคำสอนที่ท่านได้เรียนรู้ไว้ได้คนเดียว ท่านจึงหาระฆังมาผูกกับต้นไม้แถวบ้าน แล้วเริ่มใช้มันเรียกเพื่อน ๆ ให้มาฟังสิ่งที่ท่านได้เรียนมาจากคุณพ่อแบร์ตอซซี ซึ่งเพื่อนของท่านหลายคนก็ชอบที่จะมาล้อมวงฟังท่านเล่าเรื่องราวเหล่านี้

ท่านเรียนอยู่กับคุณพ่อแบร์ตอซซีอยู่จนอายุพอเข้าโรงเรียนประถมศึกษา นางฟีโลเมนาก็ส่งเสียให้ท่านได้เรียนต่อที่โรงเรียนประชาบาลในท้องถิ่น นางมารีอา อมาตีที่เป็นครูประจำโรงเรียนในเวลานั้นเล่าถึงท่านว่าเป็นเด็ก “เอาใจใส่ มีสัมมาคารวะ ว่านอนสอนง่าย ดิฉันยังจำได้ดีถึงรูปร่างบ้าน ๆ บอบบาง ขาวซีด เขาไม่เคยเปิดโอกาสให้ดิฉันได้ดุเขาเลย เอาเข้าจริงดิฉันต้องชมเขาเสียด้วยซ้ำ คุณสามารถเห็นเทวดาได้บนใบหน้าของเขา” และในช่วงวัยของการเล่าเรียนนี้เอ เมื่อท่านมีอายุได้ 10 ปี ท่านจึงได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก ในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1878 ไม่ปรากฏว่าท่านรู้สึกเช่นไรในวันดังกล่าว แต่จากการที่ดวงใจน้อย ๆ ของท่านเริงรื่นเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดพระเจ้า ก็คงคาดเดาได้ไม่ยากว่าการที่ท่านจะสามารถรับพระเจ้ามาไว้แนบหัวใจผ่านแผ่นปังในแต่ละมิสซา จะเป็นความยินดีแก่วิญญาณที่ใสซื่อดวงนี้เพียงใด

อาจกล่าวได้ว่ายิ่งโตขึ้นเท่าไร วิญญาณของยียีโนก็โน้มเอียงไปหาสิ่งของในสวรรค์มากขึ้น ดังที่แม่ทูนหัวของท่านเล่าว่า “ดูเหมือนเขาเกิดมาเพื่อสวรรค์” ท่านรักที่จะสวดภาวนาเป็นเวลานานกว่าเด็กวัยเดียวกัน เวลาส่วนใหญ่ของท่าน ถ้าไม่อยู่ที่วัดก็อยู่ที่หิ้งพระของที่บ้าน นางเอมิลีอา พี่สาวของท่านเล่าว่า “เขาสวดเป็นพิเศษเพื่อคุณพ่อของพวกเรา เพื่อคนที่สิ้นใจและเพื่อคนในครอบครัว” และรังเกียจบาปซึ่งทำให้วิญญาณเสียความบริสุทธิ์ ท่านเคยบอกคุณแม่ของท่านว่า “แม่ครับ ผมขอให้พระเจ้าทรงได้รับการถวายพระพร เพราะพวกคนพาลต่างดูหมิ่นพระองค์” ท่านสั่นสะท้านทุกครั้งเมื่อได้ยินคำสบถสาบาน และได้แสวงหาวิธีการที่จะช่วยไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ทั้งผ่านการสวดภาวนาและกิจการเล็ก ๆ นั่นคือการเก็บเอาก้อนหินที่อยู่ตรงถนนหน้าโรงสีที่บ้านออก เพื่อว่าชาวนาที่เอาข้าวมาสีที่โรงงานจะได้ไม่มีเหตุผลให้สถบสาบานถึงพระเจ้า


นอกจากนี้ในทุกวันอาทิตย์ เมื่อถูกเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันชวนไปเล่นก่อนเริ่มมิสซา ท่านก็จะบอกกับพวกเขาอย่างสุภาพว่าท่านจะมาเล่นด้วยหลังมิสซา และรีบตรงไปที่วัดเพื่อเดินรูปสิบสี่ภาคก่อนมิสซาอุทิศให้บิดาผู้จากไป มีครั้งหนึ่งเพื่อนของท่านเคยแหย่ท่าทางการเดินที่สงบเสงี่ยมเจียมตัวของท่านว่า “ยียีโน นี่นายกลายเป็นคนหลังค่อมไปแล้วนะ” ซึ่งท่านก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร เพียงแต่ส่งยิ้มให้เพื่อนคนนั้นเป็นคำตอบ นายอัตติลิโอ พี่ชายของท่านเป็นพยานว่า “เพื่อไปวัดทุกวัน เขาต้องเดินถึงห้ากิโลเมตรไปตามถนน แม้ด้วยรองเท้าที่กัดเขาก็ตาม” และด้วยนิสัยที่แตกต่างนี้ ชาวบ้านบางคนก็เคยเอ่ยกับนางฟีโลเมนา มารดาของท่านว่า “เป็นเรื่องเจ็บปวดที่ต้องสูญเสียสามีไป แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงตอบแทนเธอด้วยลูกชายคนนี้นะ” และนางฟีโลเมนาก็สังเกตเห็นความแตกต่างในตัวของบุตรชายคนนี้โดยตลอด ทั้งตระหนักได้ว่าวิญญาณของท่านนั้นลอยสูงขึ้นเกินกว่านางจะตามทัน นางจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษาพี่ชายของนางที่เป็นพระสงฆ์ คือ คุณพ่อฟิลิปโป จนได้คำตอบร่วมกันว่า เป็นพระเจ้าที่ทรงทำงานอยู่ภายในดวงใจน้อย ๆ นี้ ของเด็กชายผู้ตอบสนองต่อพระองค์ด้วยความมหัศจรรย์

สองปีให้หลังจากท่านรับศีลมหาสนิทครั้งแรก ก็มีพระสงฆ์จากคณะพระมหาทรมานแห่งพระเยซูคริสตเจ้า ก่อตั้งโดยนักบุญเปาโล แห่ง ไม้กางเขนในประเทศอิตาลี เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่และได้รับมอบจากพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลริมินีให้ดูแลสักการสถานพระนางมารีย์แห่งกาซาเล ซึ่งในเวลาต่อมานักบวชคณะดังกล่าวก็ได้เดินทางมาเทศน์สอนที่หมู่บ้านปอจโจ เบร์นีและตอร์รีอานาในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1880 ท่านที่เวลานั้นมีอายุได้ 12 ปีจึงได้มีโอกาสติดตามมารดาไปฟังนักบวชคณะดังกล่าวเทศน์ในพื้นที่ และบัดดลท่านก็ได้ยินเสียงหนึ่งดังขึ้นในใจของท่านว่า “เราต้องการให้ลูกเป็นนักบวชคณะพระมหาทรมาน” ท่านตระหนักได้ว่าพระเป็นเจ้าทรงเรียกให้ท่านสมัครเข้าเป็น ‘พระสงฆ์’ ในคณะนักบวชนี้ ดังนั้นท่านจึงไม่รีรอที่จะตรงไปบอกพระสงฆ์ ที่มีตำแหน่งเป็นคุณพ่ออธิการถึงความปรารถนาจะสมัครเข้าคณะของท่าน แต่เมื่อคุณพ่ออธิการทราบก็ขอให้ท่านรอไปก่อนจนกว่าจะอายุ 14 ปี ซึ่งนอกจากปัญหาเรื่องอายุแล้ว เอาเข้าจริงทางคุณพ่ออธิการก็ค่อนข้างเป็นกังวลเรื่องสุขภาพที่ไม่สู้จะแข็งแรงของท่าน

ดังนั้นในโอกาสอื่น ๆ ที่ท่านเทียวไปยังอารามของคณะพระมหาทรมาน ที่สักการสถานพระนางมารีย์แห่งกาซาเล ซึ่งห่างจากบ้านของท่านไปราวสิบกิโลเมตร คุณพ่ออธิการรวมถึงนักบวชคนอื่นก็ได้แนะนำให้ท่านไปเข้าบ้านเณรของพระสงฆ์พื้นเมืองจะดีกว่า แต่แม้จะถูกแนะนำเช่นนี้ ท่านก็ตระหนักได้ว่า ‘ที่ใด’ ที่ท่านมีกระแสเรียกการถวายตนทั้งครบในฐานะ ‘พระสงฆ์’ ของพระเจ้า ท่านเคยตอบไปว่า “พระสงฆ์ ถูกแล้วครับ แต่ไม่ใช่พื้นเมืองครับ พระสงฆ์พื้นเมืองซึ่งอยู่ในโลกมีความรับผิดชอบและอันตรายอยู่มาก แตกต่างจากบรรดานักพรตที่ได้ใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่ในอารามตลอดเวลา และมีวิธีมากมายที่จะได้รับความรอดครับ” และไม่เพียงแต่นักบวชคณะพระมหาทรมานที่เกลี้ยกล่อมท่านเช่นนั้น นางฟีโลเมนา มารดาของท่านที่ทราบความตั้งใจของบุตรชายในการเป็นพระสงฆ์ ก็เคยเกลี้ยมกล่อมให้ท่านเข้าบ้านเณรเป็นพระสงฆ์พื้นเมืองเหมืองคุณลุงของท่าน คือ คุณพ่อฟิลิปโป ที่ออกปากจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่บ้านเณรให้ แต่ท่านก็ได้ปฏิเสธ นางเทเรซาน้องสาวของท่านเล่าว่า “เขาอยากจะเป็นนักพรตมากว่าพระสงฆ์พื้นเมือง เพราะบรรดาพระสงฆ์พื้นเมืองมีภาระและอันตรายอยู่มากมาย ในขณะที่นักพรตนั้นแยกตนจากโลก พวกเขาจึงไปสวรรค์ได้ง่ายกว่า เขายังบอกว่าเขาชอบนักพรตที่แต่งชุดสีดำแต่มีหัวใจสีขาว ไม่ใช่พวกที่ใส่ชุดสีน้ำตาล”

ท่านรอเวลาอยู่อีก 2 ปีด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ จนท่านมีอายุได้ 14 ปี ท่านก็ได้รับอนุญาตให้สมัครเข้าคณะพระมหาทรมาน ดังนั้นในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1882 ซึ่งเป็นกำหนดวันส่งตัวท่าน ทุกคนในครอบครัวกัมปีเดลลีจึงพากันอำลาและส่งตัวท่านเข้าอารามที่อยู่ข้างสักการสถานพระนางมารีย์แห่งกาซาเลด้วยความเศร้าสร้อย นางเทเรซาเล่าในภายหลังว่า “พวกเราทุกคนร้องไห้พร้อมกับคุณแม่ มีเพียงพี่เท่านั้นที่ยังร่าเริง พี่เขาหัวเราะและบอกกับพวกเราว่า ‘อย่าร้องไห้เพราะพี่เลย เพราะพี่มีความสุขมาก’” ในวันนั้นท่านโบกมืออำลาเตรบบีโอ ดิ ปอจโจ เบร์นี ที่ท่านเติบโตมา ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องบวชเป็นพระสงฆ์ ได้ไปเป็นธรรมฑูตคณะพระมหาทรมานผู้ร้อนรน และเป็นนักบุญ โดยไม่เคยหันหลังกลับไปยังที่แห่งนั้นอีกเลย

หลังจากนั้นอีกยี่สิบห้าวัน คือในวันที่ 27 พฤษภาคม ท่านจึงได้รับเครื่องแบบคณะสีดำตัวยาว ประดับด้วยตรารูปหัวใจสีขาวมีกางเขนปักอยู่ที่ยอด จารึกข้อความภายในว่า ‘ขอให้พระมหาทรมานของพระเยซูสถิตในใจของลูกทั้งหลายเสมอ’ ที่อกซ้าย และได้รับนามใหม่ว่า ‘บราเดอร์ปีโอ แห่ง นักบุญหลุยส์ กอนซากา’ สมดังความปรารถนาของท่าน ก่อนที่ในวันที่ 20 มกราคมปีต่อมา ท่านจะเดินทางไปเข้ารับการอบรมนวกะที่บ้านคณะ ในซานเตวติซิโอ ดิ ซอรีอาโน อัล ซิมิโน จังหวัดวิแตร์โบ ท่านรับการอบรมอยู่ที่นี่เป็นเวลาหกเดือน ในวันที่ 24 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ท่านจึงเดินทางกลับมาบ้านคณะที่กาซาเล เพื่อศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา วิชาเทววิทยาและปรัชญา เพื่อเตรียมบวชเป็นพระสงฆ์ต่อไปในอนาคต และเมื่อท่านมีอายุได้ 16 ปี ครบตามเกณฑ์ของคณะ ท่านจึงได้เข้าพิธีปฏิญาณตนครั้งแรก ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1884

ชีวิตในฐานะเณรของท่าน บรรดาผู้ที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับท่านต่างเห็นตรงกันว่าท่าน “เป็นคนถ่อมตน นบนอบต่อคำสั่งของคุณพ่ออธิการ แม้แต่ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเถรตรง สำรวมกาย ช่างจดจำ” นวกจารย์ของท่านเคยกล่าวถึงท่านไว้ในเวลาต่อมาว่า “นวกะคณะพระมหาทรมานหมดลงแล้วหรือ ที่นี่ไม่มีนวกะต่อไปแล้ว ปีโอเป็นนวกะที่แท้จริง เขาแสนดี ถ่อมตน นบนอบ หมั่นตักตวงผลการภาวนา ถ้าพวกเธอไม่เอาอย่างปีโอ พวกเธอก็ไม่ใช่นวกะที่แท้จริง” ในขณะที่คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่านเล่าว่า ท่านเป็นคนร่าเริงสดใส แต่รู้จักสงบโดยธรรมชาติและโดยการบังคับตน ส่วนบรรดาสัตบุรุษที่แวะเวียนมาที่สักการสถานพระนางมารีย์แห่งกาซาเลอยู่บ่อย ๆ ก็ต่างลงความเห็นว่าท่านเป็น ‘นักบุญน้อยแห่งกาซาเล’ เราอาจกล่าวโดยสรุปเพิ่มเติมได้ว่า ในฐานะสมาชิกคณะพระมหาทรมาน ท่านได้เจริญชีวิตเป็นแบบอย่างที่ดีของพี่น้อง ท่านมีความศรัทธาร้อนรนต่อศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน และพระนางมารีย์ ท่านยังสวดภาวนาเพื่อผู้อื่น หนึ่งในนั้นคือคุณอาแบร์ตอลโด ที่ถึงแม้จะเป็นคุณอาที่น่ารักของหลาน ๆ แต่ก็รักการสังสรรค์ และชอบสถบสาบานอยู่บ่อยครั้ง (ท่านยินดีไม่น้อย เมื่อทราบในเวลาต่อมาคุณอาได้เลิกนิสัยเช่นนี้แล้ว)

เป้าหมายในการเป็นพระสงฆ์ของท่านใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ เมื่อท่านได้เข้ารับพิธีโกนและศีลบวชน้อยอันเป็นขั้นก่อนเป็นอนุสงฆ์ สังฆานุกร และพระสงฆ์ตามลำดับ ณ อาสนวิหารประจำเมืองริมินี ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1887 ทุกคนต่างยินดีและมีความคาดหวังว่าในไม่ช้า คณะพระมหาทรมานจะได้มีพระสงฆ์เพิ่มอีกหนึ่งองค์ เป็นผลแรกของพันธกิจในโรมัญญา แต่ในขณะที่ท่านกำลังเตรียมตัวอย่างขยันแข็งเพื่อจะได้รับอนุญาตให้บวชเป็นอนุสงฆ์นั้น เมื่อเวลาล่วงถึงฤดูหนาวในปีถัดมา ท่านก็ล้มป่วยลงและได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อวัณโรค เป็นผลให้สุขภาพท่านที่ไม่ได้แข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งทรุดลงเรื่อย ๆ จนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่เตียงนอน ในสถานการณ์เช่นนี้ ท่านไม่ได้ต่อว่าตำหนิสิ่งใด ตรงข้ามท่านน้อมรับน้ำพระทัยของพระเจ้า ด้วยใจกล้าหาญและมอบความวางใจไว้ในองค์พระเยซูเจ้า และแม่พระดังที่ทำมาโดยตลอด

เมื่อข่าวอาการป่วยของท่านไปถึงเตรบบีโอ ญาติของท่านคนหนึ่งก็ได้เดินทางมาเยี่ยมท่าน และได้แนะนำให้ท่านกลับไปอยู่กับครอบครัวเพื่อพักรักษาตัว โดยสัญญาว่าถ้าท่านยอมปฏิบัติตาม ท่านก็จะได้รับมรดกเพิ่ม แต่ท่านก็รีบปฏิเสธอย่างเด็ดเดี่ยวว่า “ไม่มีทางครับ แม้แต่เอาทองคำทั้งโลกมาให้ก็ตาม” นับวันที่อาการของท่านมีแต่จะทรุดลงทรุดลง กลิ่นหอมของความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของท่านก็ยิ่งขจรขจายในยังผู้คนที่ได้พบเจอท่านมากขึ้น และเมื่อต้องนอนซมอยู่แต่กับเตียงนอนเป็นหลัก ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ท่านก็ไม่ได้ปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อน ตรงกันข้ามท่านได้ใช้เวลาเหล่านั้นไปการรำพึงภาวนาถึงพระเป็นเจ้าเป็นเวลาหลายต่อหลายชั่วโมง ไม่ก็ร้องเพลงถึงแม่พระด้วยเสียงแผ่วเบา ครั้งหนึ่งท่านเคยอุทานออกมาว่า “โอ้ ปัญญาอันไร้ขอบเขตของพระเจ้า โอ้ ความดีไม่รู้สิ้นสุด โอ้ พระเมตตาอันยิ่งใหญ่ ไม่รู้สิ้นสุดของพระเจ้า โอ้ พระกรุณาอันมิรู้ประมาณ ถูกแล้ว พระเจ้านั้นทรงพระกรุณา ลูกจะยกถวายสิ่งใดเพื่อตอบสนองพระกรุณานี้ได้เล่า”


ท่านตระหนักดีว่าการป่วยครั้งนี้เป็นกางเขนสุดท้ายที่ท่านจะได้รับบนโลกนี้ ท่านจึงแจ้งกับทุกคนที่คอยช่วยเหลือท่านตลอดมาว่าท่านจะคอยสวดภาวนาให้พวกเขาอยู่ในสวรรค์ ครั้งหนึ่งเมื่อนางฟีโลเมนามาเยี่ยมท่าน ในห้วงเวลาที่การเดินทางของท่านใกล้จะจบลงเต็มที ท่านก็ได้ปลอบโยนมารดาว่า “กล้าหาญไว้นะครับแม่ พวกเราจะได้พบกันใหม่ในสวรรค์” นอกจากนี้ในอีกวาระหนึ่ง ด้วยการตระหนักดีถึงเวลาที่ใกล้เข้ามา ท่านจึงได้มอบสิ่งสุดท้ายที่ท่านมี เพื่อยังประโยชน์ให้แก่พระศาสนจักรอย่างถึงที่สุด ดุจเป็นการชดเชยที่ท่านมิอาจจะได้เป็นพระสงฆ์และธรรมทูตผู้ร้อนรน คือ ชีวิตของท่านเป็นดุจแผ่นปังบนพระแท่นบูชา “ลูกถวายชีวิตของลูกเพื่อพระศาสนจักร เพื่อองค์พระสันตะปาปา เพื่อคณะของลูก เพื่อการกลับใจของคนบาป และเพื่อแผ่นดินโรมัญญาที่รักของลูก”

ล่วงถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1889 อันเป็นวันที่ท่านได้แจ้งกับมารดา คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ รวมถึงคนอื่น ๆ ว่าท่านจะจากไป ในยามกลางดึกของวันนั้นขณะทุกคนในอารามต่างพากันล้อมวงสวดภาวนาให้ท่านที่มีอาการตรีฑูต ชั่วขณะหนึ่งท่านที่จวนจะสิ้นใจก็อุทานขึ้นมาว่า “ดูนั่น แม่พระเสด็จมาแล้ว” พร้อมจ้องมองไปที่กำแพงที่ว่างเปล่า แล้วท่านจึงหลับตาลงสิ้นใจไปพร้อมรอยยิ้มในเวลา 22.30 น. ด้วยอายุเพียง 21 ปี 6 เดือน 4 วัน รุ่งขึ้นข่าวการจากไปของ ‘ภารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์’ และ ‘นักบุญน้อยแห่งกาซาเล’ ก็กระจายไปทั่วในหมู่สัตบุรุษรอบอาราม ทำให้ในวันฝังร่างของท่าน นอกจากสมาชิกในคณะและครอบครัวที่ต่างเศร้าโศกต่อการจากไปอย่างกระทันหันของท่าน ยังมีชาวบ้านที่ต่างมาร่วมพิธีฝังร่างของนักบุญองค์ใหม่ ที่สุสานของหมู่บ้านซาน วีโต


ไม่นานหลังจากการสูญเสียอนาคตพระสงฆ์คณะพระมหาทรมานชาวโรมัญญาคนแรกไป ด้วยชื่อเสียงที่เกิดจากวัตรปฏิบัติตลอดชีวิตสั้น ๆ ของท่าน ก็บันดาลให้สถานที่พำนักสุดท้ายกลายเป็นที่แสวงบุญของชาวบ้านใกล้เคียง จนที่สุดจึงนำไปสู่การเปิดกระบวนการแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ เป็นผลให้มีการเคลื่อนย้ายร่างของท่านจากสุสานหมู่บ้านซาน วีโต มายังพระแท่นภายในสักการสถานพระนางมารีย์แห่งกาซาเล ผู้ซึ่งท่านมอบถวายตัวไว้อย่างศรัทธา ใน ค.ศ. 1923 และภายหลังจากเกิดอัศจรรย์การหายจากโรคไขข้ออักเสบจากเชื้อวัณโรคของซิสเตอร์มารีอา โฟสกี อาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน จึงเป็นผลให้ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1985 ในโอกาสปีเยาวชนสากล สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงได้สถาปนาท่านขึ้นเป็นบุญราศี พร้อมคารีวียะสตรีอีก 2 ท่าน โดยในวันนั้นพระองค์ทรงยกย่องท่าน ‘เป็นเกลือดองแผ่นดิน’ สำหรับผู้คนรอบข้างที่รู้จัก

และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา จดหมายข่าวจากคุณพ่อมหาธิการคณะพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า ก็ได้ระบุว่าทางศาลสอบสวนอัศจรรย์อัครสังฆมณฑลเรอาเล ในประเทศอิตาลี ได้ปิดกระบวนการสืบสวนอัศจรรย์ครั้งที่ 2 ผ่านการเสนอวิงวอนของบุญราศีปีโอ และได้จัดส่งเอกสารการสอบสวนทั้งหมดไปยังสมณะกระทรวงว่าด้วยประกาศแต่งตั้งนักบุญ เพื่อให้ทางสมณะกระทรวงพิจารณาสอบสวนอีกครั้ง และหากไม่พบเหตุขัดข้องใดในการอัศจรรย์ครั้งนี้ ในไม่ช้าเราก็คงจะได้เห็นการสถาปนาบุญราศีปีโอขึ้นเป็นนักบุญในเร็ววัน 


พระเยซูเจ้าทรงอุปมาพระองค์เป็นนายชุมพาบาลที่ได้ทรงเรียกแกะของพระองค์ให้ออกไปจากคอก ดังที่ท่านนักบุญยอห์นได้บันทึกพระดำรัสตอนหนึ่งว่า “เมื่อเขาพาแกะออกไปหมดแล้ว เขาจะเดินนำหน้า และแกะก็ตามไปเพราะจำเสียงของเขาได้” (ยอห์น 10 : 4) พระวาจาอุปมาในข้อนี้ชวนให้เราเทียบเคียงได้ว่า เมื่อพระเยซูทรงไถ่เราด้วยการสิ้นพระชนม์ และทรงเป็นผลแรกของการกลับคืนชีพจากความตาย พระองค์ได้ปลดปล่อยเรามนุษย์จากพันธนาการของบาป พระองค์ได้ทรงนำหน้าเราไปยังสวรรค์เพื่อเตรียมที่ไว้คอยท่าเราในวันเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นเรามนุษย์ผู้เป็นแกะของพระองค์ และได้ถูกปลดปล่อยออกจากคอกแห่งบาป จึงมีหน้าที่ติดตามเสียงของพระองค์ไปจนบรรลุถึงสวรรค์ ท่านบุญราศีปีโอก็ปฏิบัติดังนั้น เพราะท่านสำนึกได้ว่าตนได้รับผลแห่งการไถ่กู้จากพระคริสตเจ้า ท่านจึงเงี่ยหูสดับฟังเสียงของพระองค์ และพบว่านอกจากการเป็นคริสตชนที่ดี พระองค์ได้ทรงเรียกให้ท่านได้เป็นพระสงฆ์ในคณะพระมหาทรมาน ‘ด้วยเชื่อและไว้ใจ’ ท่านจึงไม่ลังเลที่จะติดตามกระแสเรียกนั้นอย่างดีที่สุด แม้ในท้ายที่สุดท่านจะไม่สามารถบรรลุตามตั้งใจ เพราะพระเจ้าได้ทรงโปรดยกท่านไปรับบำเหน็จในขณะที่ท่านกำลังเตรียมตัวเพื่อเป็นอนุสงฆ์ก็ตาม แต่ก็ ‘ด้วยเชื่อและไว้ใจ’ หมดชีวิต ท่านไม่ได้ต่อว่าพระองค์ ท่านยังคงเงี่ยหูฟังเสียงเรียกนั้นในยามที่เจ็บป่วย และมอบทุกสิ่งให้เป็นไปตามน้ำพระทัย จนถึงกับมอบชีวิตพลีเป็นยัญบูชาเพื่อคนอื่นอย่างไม่หวงแหน 

วันนี้ที่พระศาสนจักรกำหนดให้เป็นวันภาวนาเพื่อกระแสเรียกสากล ขอให้ชีวิตท่านบุญราศีปีโอรุนเร้าเราในการติดตามเสียงเรียกของพระชุมพาบาลผู้แสนดี ‘ด้วยเชื่อและไว้ใจ’ ด้วยสถานภาพต่าง ๆ ทั้งฆราวาสและนักบวช ในทุกช่วงเวลาของชีวิต เป็นพิเศษสถานภาพของนักบวช โดยเฉพาะพระสงฆ์ ขอให้เราวิงวอนต่อพระเจ้าอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่านบุญราศีปีโอ ให้คริสตชนทั้งหลายสามารถ ‘จำเสียง’ ของชุมพาบาลได้ตลอดการเดินทางในโลกนี้ โดยเฉพาะเยาวชนชายผู้ตระหนักได้ถึงเสียงเรียกการเป็นพระสงฆ์ ทั้งที่ยังลังเลใจอยู่ในโลกและที่ตัดสินใจเข้าบ้านเณรไปแล้ว ขอพระเจ้าได้โปรดนำทางพวกเขาให้บรรลุศักดิ์สงฆ์ของพระองค์ พรั่งพร้อมด้วยความศักดิ์สิทธิ์ดุจท่านบุญราศีปีโอ ขอพระองค์โปรดปกป้องดวงวิญญาณเหล่านี้ดุจพระเกียรติมงคลของพระองค์ เพราะพวกเขาเหล่านี้เองจะมีส่วนในการประกาศพระเมตตาของพระองค์ให้โลกได้รับรู้อาศัยการเทศน์สอน การรับใช้ การโปรดศีลอภัยและศีลมหาสนิท แล้ววิญญาณจำนวนมากก็จะได้ติดตามพระองค์จนถึงสวรรค์ ดังที่พระองค์ตรัสกับท่านนักบุญโฟสตินาว่า ใจของพระองค์ “ทนทุกข์อย่างขมขื่นที่ต้องเห็นวิญญาณพินาศไปด้วยบาป” อาแมน

รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู

วันภาวนาเพื่อกระแสเรียกสากล ที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2023


“ข้าแต่ท่านบุญราศีปีโอ กัมปีเดลลี ช่วยวิงวอนเทอญ” 


รายการอ้างอิง

https://www.sangabrielebari.it/wp-content/uploads/santita-piocampidelli.pdf
https://www.passiochristi.org/blessed-pio-campidelli/
https://www.santiebeati.it/dettaglio/90635
https://www.causesanti.va/it/santi-e-beati/pio-di-san-luigi.html
https://www.vatican.va/content/john-paul-ii/it/homilies/1985/documents/hf_jp-ii_hom_19851117_tre-beatificazioni.html
http://www.madonnadicasale.it/b-pio-campidelli.html





วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2566

ข้อคิดจากนักบุญราฟาเอล อาร์ไนซ์ บารอน

ข้อคิดของนักบุญราฟาเอล อาร์ไนซ์ บารอน 

นักบุญราฟาเอล อาร์ไนซ์ บารอน เป็นภารดาคณะทราปปิสต์ชาวสเปน ผู้มีชีวิตในช่วงเวลาสั้น ๆ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่เป็นชีวิตธรรมดา แต่แสนพิเศษ เพราะท่านได้เผยให้เห็นคุณค่าของไม้กางเขน ผ่านทั้งข้อเขียนและการเจริญชีวิต โดยเฉพาะในช่วง 4 ปีสุดท้ายของชีวิต เมื่อท่านพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน และทำให้ท่านไม่ได้บวชเป็นนักพรต โดยบทความนี้จะแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ คือ ประสบการณ์ภายในเรื่อง: ผมจะเปลี่ยนสวรรค์ให้เป็นตลาดผักของท่าน และคำพูดของท่านในข้อเขียนอื่น ๆ บทความนี้เป็นส่วนขยายจากชีวประวัติของท่าน ในชื่อ “ราฟาเอล อาร์ไนซ” ธรรมดาแต่แสนพิเศษ ที่ทางเพจเคยลงไว้เมื่อนานแล้ว และได้ตัดสินใจชำระใหม่ในปีนี้ เพราะมองเห็นประโยชน์ของการนำข้อคิดของท่าน ที่ส่วนหนึ่งเคยอยู่ในชีวประวัติแยกออกมา เพื่อให้เราสามารถรำพึงไปพร้อมกับท่าน

1. ประสบการณ์ภายในเรื่อง:ผมจะเปลี่ยนสวรรค์ให้เป็นตลาดผัก


เวลาบ่ายสามโมงในวันที่มีฝนในเดือนธันวาคม เมื่อถึงเวลาทำงาน เนื่องจากเป็นวันเสาร์และมีอากาศที่หนาวมาก พวกเราจึงไม่ได้ออกไปทำงานที่ข้างนอก พวกเราพากันทำงานอยู่ในห้องซึ่งถั่วเลนทิลถูกล้าง มันฝรั่งถูกปลอก กระหล่ำปลีถูกสับ ฯลฯ พวกเราเรียกมันว่า ‘ห้องทดลอง’ ที่นี่มีโต๊ะตัวยาวพร้อมม้านั่ง และหน้าต่างที่มีไม้กางเขนแขวนอยู่ด้านบน ช่างเป็นวันที่หม่นหมองเสียจริง มีเมฆดำทะมึน มีลมพัดมาเป็นระยะ ๆ หยดน้ำจำนวหนึ่งค่อย ๆ โลมเลียกระจก และเหนือสิ่งอื่นใดคืออากาศที่หนาวเย็น อากาศหนาวตามฤดูกาลและภูมิประเทศ

ความจริง คือ นอกจากความเย็นที่ผมรู้สึกจากมือและเท้าที่เย็ยเฉียบ ส่วนใหญ่ผมมองเห็นสิ่งเหล่าภายในจินตนาการของผม เพราะผมแทบจะไม่ได้มองไปที่หน้าต่างเลย บ่ายวันนั้นทุกอย่างดูมืดครึ้มและทุกอย่างก็ช่างดูเศร้าสำหรับผม ผมรู้สึกได้ถึงความหนักใจอยู่เงียบ ๆ และก็ดูเหมือนว่าเจ้าปีศาจตัวน้อยบางตนต้องการหลอกล่อผมด้วยสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘ความทรงจำ’ เพื่อทดสอบความอดทนและการรอคอย

ผมมีมืดอยู่ในมือ และเบื้องหน้าผมก็คือ ตระกร้าที่มีแครอทสีขาวขนาดมหึมา ซึ่งจริง ๆ แล้วคือหัวผักกาดขาด ผมไม่เคยเห็นมันอันใหญ่และเย็นได้ขนาดนี้ ผมจะจัดการกับมันอย่างไรได้บ้าง ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องลงมือปอกเปลือกมัน เวลาค่อย ๆ ผ่านไปและมีดของผมก็ค่อย ๆ เคลื่อนผ่านระหว่างเปลือกและเนื้อของหัวผักกาด ซึ่งผมก็สามารถทำมันออกไม่ได้สวย

เจ้าปีศาจยังคงทำสงครามกับผม ทำไมผมต้องออกจากบ้านและมาปอกสิ่งที่น่ารังเกียจเหล่านี้ท่ามกลางความหนาวเย็นที่แสนจะขมขื่น ช่างเป็นเรื่องที่ไร้สาระเสียจริงที่ต้องมานั่งปอกหัวผักกาดอย่างเอาจริงเอาจังตามที่ได้รับมอบหมาย เจ้าปีศาจตัวเล็กและเฉลียวฉลาดซ่อนอยู่ในตัวของผม และทำให้ผมคิดถึงบ้าน คิดถึงคุณพ่อคุณแม่และน้อง ๆ และคิดถึงอิสระที่ผมได้ละทิ้งไว้ข้างหลัง เพื่อคุมขังตัวเองอยู่ที่นี่พร้อมถั่วเลนทิล มันฝรั่ง กระหล่ำปลี และหัวผักกาด

ช่างเป็นวันที่หม่นหมองเสียจริง ผมไม่ได้มองไปที่หน้าต่าง แต่ผมก็เดาได้ว่าภายนอกน่าจะเศร้าเพียงไหน มือของผมแดง แดงเหมือนเจ้าปีศาจ เท้าของผมชา แล้ววิญญาณของผมเล่า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า บางทีวิญญาณของลูกก็ทุกข์อยู่บ้าง แต่ไม่จะอย่างไร ลูกได้ลี้ภัยอยู่ในความเงียบ

ผมปล่อยเวลาไปกับความคิดทั้งหลายทั้งแหล่ หัวผักกาดและความหนาวเย็น ทันใดดุจสายลมพัด แสงอันทรงพลังก็สาดส่องเข้ามาในวิญญาณของผม ลำแสงของพระเจ้า ในเสี้ยววินาทีนั้นเอง มีเสียงถามผมว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ ผมกำลังทำอะไรอยู่ โอ้พระแม่มารีย์ นี่เป็นคำถาม ปอกหัวผักกาด ปอกหัวผักกาดงั้นหรือ ปอกไปทำไม และใจของผมก็ลิงโลดและตอบกลับโดยไม่ต้องคิดว่า ลูกกำลังปอกหัวผักกาดเพื่อความรัก เพื่อความรักของพระเยซูคริสตเจ้า

ผมไม่อาจบรรยายได้ว่าผมสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างถ่องแท้อย่างไร แต่ที่ภายใน ลึกลงไปในวิญญาณของผม สันติที่ยิ่งใหญ่ได้เข้ามาแทนที่ความปั่นป่วนที่ผมเคยรู้สึกมาก่อน ผมพูดได้เพียงว่ามนุษย์คนหนึ่งสามารถเปลี่ยนสิ่งที่เล็กน้อยที่สุดในโลก ให้เป็นกิจการแห่งรักต่อพระเจ้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการลืมตาหรือหลับตา ถ้าทำเพื่อพระนามของพระองค์แล้ว ก็สามารถนำเราไปสวรรค์ได้ การปอกหัวผักกาดด้วยความรักต่อพระเจ้าก็มีให้ผลมากเท่า ๆ กับการพิชิตอเมริกา การคิดว่าอาศัยพระเมตตาของพระองค์ลูกผมช่างเป็นคนโชคดีเสียจริง ที่ได้ทำบางสิ่งเพื่อพระองค์เติมเต็มวิญญาณของผมด้วยความยินดี ในแบบที่ว่าถ้าผมปล่อยตัวไปตามแรงนั้น ผมก็คงเริ่มโยนเจ้าหัวผักกาดไปทางซ้ายทีขวาที เพื่อให้เจ้ารากใต้พิภพผู้น่าสงสารได้ร่วมส่วนในความยินดีในหัวใจของผม ผมคงจะเริ่มโยนจักกลิ้งด้วยหัวผักกาด มีด และผ้ากันเปื้อน

ผมหัวเราะจนน้ำตาไหล (แม้มันอาจไหลเพราะความหนาวเย็น) ที่เจ้าปีศาจตัวน้อยทั้งหลาย ตกใจต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผม และพากันไปซ่อนตัวอยู่ตาวมกระสอบถั่วลูกไก่และตระกร้ากระหล่ำปลีที่วางอยู่บริเวณนั้น

ผมจะคร่ำครวญถึงสิ่งใดได้บ้าง จะเสียใจไปใยเมื่อนี่เป็นเหตุแห่งความยินดี วิญญาณจะสามารถปรารถนาสิ่งใดมากไปกว่าการยอมรับความทุกข์ยากเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อพระเจ้าผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขน พวกเราไม่มีอะไรเลย ไม่มีค่าอันใด พวกเราตกอยู่ในการทดลองเล็ก ๆ น้อย ๆ และโบยบินขึ้นมาด้วยความสบายใจอาศัยการสัมผัสกับความรักของพระเจ้าเพียงเล็กน้อย

เมื่อผมเริ่มลงมือทำงาน เมฆแห่งความโศกเศร้าได้ปกคลุมท้องฟ้า วิญญาณของผมทุกข์ทรมานเมื่อมองเห็นมันอยู่บนไม้กางเขน ทุกอย่างถ่วงรั้งวิญญาณของผมให้ล่วงลงไม่ว่าจะเป็นกฏเกณฑ์ งาน ความเงียบ การขาดแสงในวันที่หม่นมัว ความเศร้า และความหนาวเย็น สายลมที่พัดผ่านบานหน้าต่าง ฝน โคลน การสิ้นแสงสุริยา โลกนั้นอยู่ห่างไกลมาก ไกลเหลือเกิน ในขณะที่ผมปอกหัวผักกาดโดยไม่ได้ระลึกถึงพระเจ้าของผม แต่ทุกสิ่งก็ล่วงไป ไม่เว้นแม้แต่การทดลอง เมื่อเวลาล่วงไปและสันติได้เข้ามา ที่นั่นก็มีแสงสว่าง บัดนี้ผมไม่สนแล้วว่าวันคืนจะเหน็บหนาว มีเมฆมาก มีลมพัด หรือไม่มีแสงอาทิตย์ ทุกสิ่งที่ผมปรารถนาคือการปอกหัวผักกาดของผม ด้วยสันติ ความสุข ความอิ่มใจ พลางมองไปที่องค์พระมารดา และถวายพระพรแด่พระเจ้า

มันสำคัญอย่างไรนะหรือ เวลาของความทุกข์โศก ความทุกข์ยากชั่วขณะ ผมกล่าวได้เลยว่าไม่มีความเจ็บปวดใดที่ปราศจากการชดเชยทั้งชีวิตนี้และชีวิตหน้า และเอาเข้าจริงแล้วเพื่อบรรลุถึงสวรรค์ พวกเราจึงถูกขอให้น้อมรับมันเพียงเล็กน้อย ที่นี่ในอารามมันอาจจะดูง่ายกว่าในโลก แต่มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับชีวิตที่นี่หรือชีวิตแบบอื่น ในโลกพวกเราก็มีหนทางเดียวกันในยกถวายบางสิ่งแด่พระเจ้า แต่สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกได้ชักนำและทำให้พวกเราเสียโอกาสเหล่านั้นไปเป็นจำนวนมาก มนุษย์ก็เหมือนกันในที่นี่ พวกเขามีความสามารถในการอดทนและรักเหมือน ๆ กัน ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหน คุณสามารถค้นพบไม้กางเขน

ขอให้เราใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ขอให้เรารักกางเขนที่ได้รับพรซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งมาในทางของเรานี้เถิด ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม จงยึดสิ่งเล็กสิ่งน้อยในชีวิตประจำวัน ชีวิตธรรมดา ๆ การเป็นนักบุญไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นเพียงการทำสิ่งเล็ก ๆ ให้ยิ่งใหญ่. ในโลกที่โอกาสเหล่านี้เสียไป แต่ก็เป็นเพราะโลกที่ทำให้ใจของมนุษย์นั้นว้าวุ่น ก็จะเป็นการดีที่จะรักพระเจ้าผ่านการพูดคุย เช่นเดียวกับที่อารามทำในความเงียบ สิ่งที่สำคัญคือการทำบางสิ่งเพื่อพระองค์ ด้วยการระลึกถึงพระองค์ จะสถานภาพใด สถานที่ใด และอาชีพใดก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ พระเจ้าสามารถชำระผมได้ ไม่ว่าจะเป็นตอนผมปอกหัวผักกาดหรือปกครองจักรวรรดิ

ช่างน่าเสียดายเสียนี่กระไร ที่โลกนี้เต็มไปด้วยความฟุ้งซ่าน เพราะผมมองว่ามนุษย์ไม่ได้แย่อย่างแท้จริง และพวกเราก็ต่างทนทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าจะทนทุกข์อย่างไร หากเพียงแต่พวกเขามองข้ามความประเดี๋ยวประด๋าว ชั้นความสุขจอมปลอมซึ่งโลกได้ซ่อนน้ำตาไว้ในมัน ความเมินเฉยต่อพระเจ้า หากเพียงแต่พวกเขายกสายตาขึ้นยังเบื้องบน พวกเขาก็จะได้พบเจอประสบการณ์เดียวกับที่นักพรตที่ถือเจ้าหัวผักกาด หยดน้ำตามากมายจะเหือดแห้ง ภาระมากมายจะผ่อนเบาลง และกางเขนจำนวนมากจะอ่อนละมุน และจากนั้นพวกเขาก็จะสามารถถวายทุกสิ่งแด่พระคริสตเจ้าได้

เมื่อเสร็จงาน ผมคุกเข่าลงในการภาวนาเข้าส่วนกับพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงไม้กางเขน ผมนำตระกร้าที่มีหัวผักกาดที่ถูกปอกแล้วอย่างงดงาม และล้างจนสะอาดไว้ที่ตรงนั้น ผมไม่มีสิ่งใดจะทูลถวายพระองค์อีก แต่พระเจ้าก็ทรงรับทุกสิ่งที่ถวายด้วยหัวใจทั้งดวง ไม่ว่าจะเป็นหัวผักกาดหรืออาณาจักร

ในโอกาสต่อไปเมื่อผมได้ปอกผัก ไม่ว่าจะเป็นผักชนิดไหนก็ตาม แม้ว่าพวกมันจะเย็นเฉียบเพียงใด ผมจะทูลต่อพระนางมารีย์ไม่ให้ทรงอนุญาตให้เจ้าพวกปีศาจตัวน้อยมาเฉียดใกล้เพื่อทดลองผม ผมจะทูลให้พระนางทรงส่งบรรดาทูตสวรรค์จากสวรรค์มาแทน หลังจากนั้นเมื่อผมเริ่มปอกเปลือก บรรดาทูตสวรรค์ก็จะนำผลงานจากมือของผมไป และวางแครอทสีแดงไว้แทบพระบาทของพระนางและองค์พระเยซู พวกเขาจะวางทั้งหัวผักกาดสีขาว หัวมันฝรั่ง หัวหอม กระหล่ำปลี และผักกาดหอมเช่นเดียวกัน

หากผมมีโอกาสได้อยู่ในอารามนาน ๆ ผมจะเปลี่ยนสวรรค์ให้เป็นตลาดผัก และเมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกผมและตรัสกับผมว่า “ผักถูกปอกพอแล้ว วางมีดและผ้ากันเปื้อนของลูก และมาร่วมยินดีในสิ่งที่ลูกทำไว้เถิด” และเมื่อผมได้อยู่ในสวรรค์ และได้เห็นว่าพระเจ้าพร้อมทั้งบรรดานักบุญทั้งหลายอยู่ท่ามกลางกองผักเหล่านั้น ข้าแต่องค์พระเยซูเจ้า ลูกไม่อาจจะช่วยพระองค์และคณะได้ ลูกจะทำได้แต่หัวเราะออกมา

ท่านเขียนประสบการณ์นี้ในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1936 เมื่อท่านอายุได้ 25 ปี

2. ข้อเขียนของท่านจากบันทึกส่วนตัว และจดหมาย


2.1 เป็นเป็นเรื่องยากที่อธิบายว่าทำไมคนคนหนึ่งถึงรักความทุกข์ทรมาน แต่ผมก็เชื่อว่าสามารถอธิบายได้ว่า เป็นเพราะนี่ไม่ใช่ความทุกข์ทรมานในตัวของตัวเอง แต่เป็นความทุกข์ทรมานในองค์พระคริสตเจ้า และผู้ใดก็ตามที่รักพระคริสตเจ้า ก็ย่อมรักไม้กางเขนของพระองค์

2.2 หาก ณ เวลาหนึ่งพระเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ในวิญญาณ ก็เป็นเพราะเราไม่ต้องการให้พระองค์อยู่ที่นั่น เรามัวสาละวันแต่สิ่งที่ต้องทำ ความว้าวุ่น ความสนใจ ความปรารถนาที่ไม่มีแก่นสาร ความคิดทระนงตน เรามีเรื่องทางโลกมากมายอยู่ในตัวเรา เป็นเหตุให้พระเจ้าทรงถอยห่างไปโดยพระองค์เอง ดังนั้นทั้งหมดที่เราต้องทำ คือ ต้องการพระองค์

2.3 ทุกวันผมมีความสุขในการละทิ้งทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์โดยสมบูรณ์ ผมเห็นน้ำพระทัยของพระองค์แม้ในสิ่งที่เล็กน้อยที่สุดและสิ่งเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น ในทุกครั้งที่ผมพบตัวอย่างของการรับใช้ได้ทำให้ผมเข้าใจถึงพระเมตตาที่พระองค์มีต่อผมมากยิ่งขึ้น ผมรักการออกแบบของพระองค์ด้วยทั้งชีวิตของผม และนั่นก็เพียงพอแล้ว

2.4 เมื่อมีพระเยซูเจ้าอยู่เคียงข้างไม่มีอะไรยากสำหรับผม และผมได้แลเห็นว่าหนทางสู่ความศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องง่าย ไม่ก็ดูเหมือนว่าผมถูกสร้างขึ้นมาด้วยการกำจัดสิ่งต่าง ๆ แทนที่จะด้วยการควบรวม ค่อย ๆ คลี่คลายไปสู่ความเรียบง่ายแทนที่จะเป็นความสลับซับซ้อนด้วยสิ่งใหม่ เพื่อวัดว่าเราได้แยกตัวออกจากความรักที่ยุ่งเหยิงทั้งต่อสรรพสิ่งและต่อตัวของเราเอง สำหรับผมคือก็คือการที่เราได้เริ่มเข้าใกล้และเข้าใกล้องค์ความรักเพียงหนึ่งเดียว องค์ความปรารถนาเดียว ผู้ปรารถนาชีวิตนี้ และมุ่งสู่ความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริง ซึ่งก็คือองค์พระเจ้า

2.5 หากเราเป็นหนึ่งเดียวในความรักต่อน้ำพระทัยของพระองค์แล้วไซร้ เราก็ไม่ปรารถนาสิ่งใดที่พระองค์ไม่ทรงประสงค์ ทุกสิ่งที่พระองค์ประสงค์จากเราจะเป็นความพอใจของเรา

2.6 ความปรารถนาถึงสวรรค์ หรือกล่าวได้อีก ว่าคือความปรารถนาในหัวใจของมนุษย์ หรืออื่น ๆ อย่างง่าย ๆ คือ การทนทุกข์ทรมานและไม้กางเขน

 

ภาพเขียนฝีมือของนักบุญราฟาเอล

2.7 พระเจ้าทรงประทับในหัวใจที่สันโดษ ในความเงียบแห่งการภาวนา ในการสมัครใจสละตนรับความเจ็บปวด ในความว่างเปล่าของโลกและสิ่งสร้าง พระเจ้าประทับอยู่ในไม้กางเขน และตราบใดก็ตามที่เรายังไม่รักไม้กางเขน พวกเราก็จะไม่เห็นพระองค์ หรือสัมผัสได้ถึงพระองค์ หากเพียงโลกและมนุษย์ได้รู้ถึงสิ่งเหล่านี้ แต่พวกเขาจะไม่มีทางได้รู้

2.8 ไม่มีความสุขใดของมนุษย์ผู้แลเห็นได้จะมากไปกว่าน้ำพระทัยของพระเจ้า

2.9 หลายครั้งผมคิดว่าการปลอบประโลมใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การไม่มีอะไรเลย ผมใคร่ครวญถึงสิ่งนี้และมีประสบการณ์เช่นนี้ (…) บางเวลาผมสัมผัสได้ถึงความรักต่อพระเจ้าในหัวใจของผม ผมโหยหาพระองค์ ดูถูกโลกและตัวเอง บางคราวผมรู้สึกโล่งใจอย่างประหลาดเมื่อพบตัวเองอยู่ลำพังและถูกทิ้งไว้ในพระหัตถ์ของพระเจ้า อยู่ในความสันโดษร่วมกับพระองค์ หากคนที่ไม่เคยได้สัมผัสมันก็ไม่อาจจะเข้าใจได้ และผมก็ไม่ทราบว่าจะอธิบายถึงมันได้อย่างไร แต่ผมทราบแน่นอนว่านี่ความบรรเทาใจเมื่อประสบกับความทุกข์ยากแต่เพียงหนึ่งเดียว และในความทุกข์เพียงลำพัง และในพระเจ้าคือความสุขอย่างจริงแท้

2.10 ผมไม่มีความปรารถนาใดมากไปกว่าการจะได้ทุกข์ทรมาน ความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่ของผมคือการมีชีวิตอยู่และจากโลกนี้ไปโดยไม่ใยดีต่อมนุษย์และโลก ผมปรารถนาอย่างยิ่งยวดต่อทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ ผมไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกไปจากพระองค์ พระองค์คือความปรารถนาและความไม่ปรารถนา ผมไม่รู้จะอธิบายตัวเองได้อย่างไร มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงเข้าใจผมได้

2.11 ทุกสิ่งกำลังเปลี่ยนไปในวิญญาณของผม อะไรที่เคยทำให้ผมเป็นทุกข์ บัดนี้ผมกลับรู้สึกเฉยชากับมัน และในทางกลับกันผมกำลังค้นหาที่พำนักลี้ภัยที่ซ่อนอยู่ในหัวใจของผม และตอนนี้ผมก็พบมันแล้ว (…) สิ่งที่เคยทำให้ผมรู้สึกขายหน้า ตอนนี้แทบจะทำให้ผมหัวเราะ ผมไม่สนใจสถานะโอเบล์ตของผมอีกต่อไป (…) ผมพบว่าเวลาสุด้ทายคือสถานที่ที่ดีที่สุด ผมดีใจที่ผมไม่ได้เป็นสิ่งใดและไม่มีอะไร ผมดีใจที่ความเจ็บป่วยได้ทำให้ผมต้องทุกข์ทรมานทั้งกายและทางใจ

2.12 เพียงความเงียบเท่านั้นที่ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไป ไม่ใช่ความเงียบในคำพูดหรือกิจการ ไม่ใช่เลย เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากเหลือเกิน มันคือความเงียบที่มนุษย์ต่างปรารถนามาก มากที่สุด จนเขาไม่รู้ว่าจะต้องพูดสิ่งใด จะคิดอะไร ปรารถนาอันใด หรือทพสิ่งใด มีแต่เพียงพระเจ้าเท่านั้น ในความเงียบยิ่งนั้น พระทรงรอแล้วรอเล่า พระเจ้าช่างแสนดีเหลือเกิน

ภาพเขียนฝีมือของนักบุญราฟาเอล

รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
เรียบเรียง, 29 เมษายน 2023

“ข้าแต่ท่านนักบุญราฟาเอล อาร์ไนซ บารอน ช่วยวิงวอนเทอญ”




วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2566

'มาร์กิต' เพื่อพระแค่หนึ่งเดียว


นักบุญมาร์กิต แห่ง ฮังการี
St. Margaret of Hungary
(Árpád-házi Szent Margit)
วันฉลอง : 18 มกราคม

เจ้าหญิงมาร์กิต หรือมาร์การิตา ทรงเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าเบลาที่ 4 กษัตริย์แห่งฮังการีและโครเอเชีย กับพระนางมารีอา ลาสคารินา (ท่านจึงมีศักดิ์เป็นพระขนิษฐาหรือน้องสาวของนักบุญคินกา) ซึ่งในเวลาก่อนที่พระราชมารดาของท่านจะมีพระประสูติกาลท่านนั้น ใน ค.ศ. 1241 กองทัพมองโกลหรือพวกตาตาโรฟก็ได้กรีฑาทัพบุกเข้าตีอาณาจักรฮังการี พระเจ้าเบลาจึงได้นำทัพเข้าต่อตีอย่างดุเดือด ณ สนามรบที่ โมฮี แต่ก็มีอันต้องพ่ายศึกจนแทบเอาชีวิตไม่รอดกลับมา

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของพระราชวงศ์ พระองค์จึงได้ทรงพาพระชายาที่กำลังทรงครรภ์พร้อมพระโอรสพระธิดา เสด็จลี้ภัยไปทางตอนเหนือของอาณาจักร เพื่อมาประทับอยู่ที่ป้อมคลิส ในประเทศโครเอเชียปัจจุบัน และด้วยความสิ้นหวังที่จะต่อกรด้วยกำลังทหารในบังคับ พระเจ้าเบลาที่ 4 และพระนางมารีอาจึงได้หันพระพักตรเข้าหาองค์พระผู้เป็นเจ้า แล้วถวายสัตย์สาบานว่า หากแม้นทั้งสองพระองค์ได้พระหน่อองค์นี้เป็น ราชธิดา’ และอาณาจักรฮังการีได้เป็นไทแล้วไซร้จากพวกมองโกล ทั้งสองพระองค์ก็จะยกถวายให้พระธิดาองค์นี้เป็นนักบวชรับใช้พระเจ้าภายในภาคหน้าสืบไปตราบสิ้นชีวิต

พระเจ้าเบลาที่ 4 และพระนางมารีอา ลาสคารินา

ไม่นานหลังทั้งสองพระองค์ถวายคำปฏิญาณ พระนางเจ้ามารีอาก็ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาน้อย ในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1242 ขณะทรงประทับลี้ภัย ณ ป้อมคลิส และเช่นเดียวกันสืบเนื่องจากข่านหรือผู้นำของพวกมองโกลมาสิ้นใจลงอย่างกะทันหัน ณ ปัจจุบันทันด่วน จึงมีการยกเลิกการกรีฑาทัพที่ยึดฮังการี เพื่อกลับมาเลือกผู้นำคนต่อไปของเผ่าเสียก่อน ส่งผลให้พระเจ้าเบลาที่ 4 สบโอกาสเสด็จนำไพร่พลฮังการีกลับมาบูรณะสร้างบ้านแปงเมืองฮังการีที่เสียหายจากพวกมองโกล เหตุการณ์นี้ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า “ผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรฮังการีที่สอง”

และเมื่อเหตุการณ์เป็นไปตามคำขอเช่นนี้แล้ว พระเจ้าเบลาที่ 4 และพระนางเจ้ามารีอา เมื่อทรงเลี้ยงพระธิดาน้อยจนมีพระชันษาได้ 3 พระชันษาครึ่งแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็ได้ทรงส่งพระธิดาให้ไปอยู่กับซิสเตอร์คณะโดมินิกันที่เมืองเวสซ์เปร์มตามคำสัญญา ณ ที่นั่นเป็นระยะเวลาถึงเจ็ดปีที่พระธิดาน้อยได้รับการอบรมสั่งสองภายใต้การดูแลของบุญราศีเฮเลน แห่ง เวสซ์เปร์ม ซึ่งนับเป็นช่วงเวลานั้นเองที่พระธิดาน้อยได้พบรักกับชายคนหนึ่งบนไม้กางเขน ทำให้หลายครั้งเมื่อพระราชมารดาและพระเชษฐามาเยี่ยมท่าน ท่านก็มักมีอาการเศร้าเสมอ เพราะท่านตระหนักดีว่าราชวงศ์นี่เอง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุถึงชีวิตนักบวช ซึ่งคือชีวิตแห่งการเป็นเจ้าสาวของชายบนไม้กางเขนของท่าน


ด้วยพระชันษา 4 ปีท่านจึงได้เรียนรู้วิธีอ่านเขียน และเมื่อพระชันษาได้ 5 ปี ท่านจึงขอสวมเครื่องแบบของคณะโดมินิกันแบบบรรดานักบวชในอาราม พร้อมขอฝึกปฏิบัติตนตามที่ธรรมนูญของคณะได้บัญญัติไว้เหมือนนักบวช และนอกจากนี้ ท่านยังมีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันที่อยู่ภายในอาราม (ในยุคสมัยหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าอารามนักพรตได้กลายเป็นกึ่ง ๆ พื้นที่ทิ้งบุตรสาว ที่ครอบครัวไม่สามารถจัดการดูแลได้) กล่าวคือท่านไม่พอใจที่จะถูกทุกคนเรียกว่า “พระราชธิดา” เพราะท่านมีบิดาเพียงหนึ่งเดียวก็คือ พระเจ้า และแทนที่ท่านจะใช้เวลาไปเล่นกับเด็ก ๆ คนอื่น ตรงกันข้ามท่านกลับมักใช้เวลาว่างของท่านไปกับการสวดภาวนาอยู่ในวัด ทั้งยังคอยเรียกเพื่อน ๆ ให้มาร่วมสวดกับท่าน ชนิดที่เราอาจกล่าวได้เลยว่า ‘การสวดภาวนา’ คือ การละเล่นของท่านได้เลยทีเดียว

เวลาล่วงมาได้สามปี เมื่อท่านเจริญวัยได้ชันษาได้ 7 ปี พระเจ้าเบลาที่ 4 พระราชบิดาของท่านก็ทรงเหมือนจะหลงลืมคำมั่นที่เคยไว้กับพระเป็นเจ้าไปเสีย เพราะพระองค์ทรงรับหมั้นของโบเลสเลาส์ที่ 6 ดยุกแห่งโปแลนด์ที่มาสู่ขอท่าน แต่แทนที่จะคล้อยตามพระประสงค์ของพระราชบิดาอย่างเด็กหญิงทั่วไป ท่านก็ลั่นวาจาประกาศอย่างหนักแน่นว่า “ลูกต้องการจะรับใช้พระเยซูเจ้า ถ้าจะให้ลูกเข้าพิธีวิวาห์ ก็ขอทรงตัดจมูกลูกเสียเถอะ” นี่จึงนับเป็นบททดสอบแรกที่พระเป็นเจ้าทรงส่งมายังเจ้าสาวน้อยของพระองค์ เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าบัดนี้เจ้าสาวผู้นี้ได้เป็นอิสระจากพันธะใด ๆ ของโลกนี้เรียบร้อยแล้ว


ดังนั้นเมื่อท่านได้เลือกพระคริสตเจ้าเป็นเจ้าบ่าวแต่เพียงคนเดียวของท่านแล้ว ท่านจึงปรารถนาจะเข้าพิธีปฏิญาณตนเหมือนซิสเตอร์คนอื่น ๆ เพื่อถือศีลบนทั้งสามประการได้แก่ พรหมจรรย์ ความยากจน และความนบนอบ แต่ท่านก็ถูกปฏิเสธด้วยเหตุว่าท่านยังเด็กเกินไป ฝั่งท่านจึงทำได้แต่ร้องไห้ออกมา กระนั้นที่สุดในวันหนึ่งท่านก็ตัดสินใจสวมชุดคณะ แล้วเข้าไปในวัดพร้อมเพื่อน ๆ ก่อนท่านจะมาอยู่เบื้องหน้าพระแท่นบูชา และเริ่มขับบทเพลงเวนี เกรอาตอร์ สปิริตุสหรือเพลงเชิญเสด็จพระจิตเจ้า จากนั้นท่านก็เลียนแบบพิธีปฏิญาณตนของบรรดาซิสเตอร์ และแต่นั้นมาท่านก็สวมชุดคณะดอมินิกันมาโดยตลอด

ท่านอยู่ที่อารามเมืองเวสซ์เปร์มได้เจ็ดปี ใน ค.ศ. 1252 พระราชบิดา และพระราชมารดาของท่านก็สร้างอารามโดมินิกันหลังใหม่แล้วเสร็จ ทั้งสองจึงพาพระธิดาน้อยพร้อมบรรดาซิสเตอร์จำนวนสิบแปดท่านและโปสตุลันต์ทั้งหมดย้ายมายังอารามใหม่ ที่ตั้งเด่นอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำดานูบ ในเมืองบูดาเปสต์ ชื่อ เกาะกระต่าย เพื่อให้พระธิดาได้มาประทับอยู่ใกล้ ๆ (ปัจจุบันอารามนี้คงเหลือแต่ซากปรักหักพัง และนามของเกาะก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเกาะมาร์กิต ตามนามของท่านเรียบร้อยแล้ว) ท่านประทับอยู่ที่นั่น กระทั่งมีชันษาได้ 12 ปี ท่านจึงได้เข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นนักบวชของคณะโดมินิกัน

พระเจ้าออทโทคาร์ที่ 2 แห่งโบฮีเมีย

แต่นั้นมาชีวิตในอารามของท่านก็ดูจะราบรื่น และเป็นไปตามความประสงค์ของท่าน แต่การณ์ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะอีกครั้งที่พระเจ้าทรงทดสอบเจ้าสาวน้อยของพระองค์ เพื่อให้โลกได้เป็นที่ประจักษ์ว่าบัดนี้ข้าบริการน้อยผู้นี้ได้เป็นอิสระ และได้มอบตนทั้งครบเพื่อรับใช้พระเจ้าโดยไร้ซึ่งบ่วงพันธการแห่งความรักใด ๆ อาศัยการมาสู่ขอของพระเจ้าออทโทคาร์ที่ 2 แห่งโบฮีเมีย ซึ่งในกาลคราวนั้น แม้ท่านจะถูกพระราชมารดาและพระราชบิดาเกลี้ยกล่อมเท่าไร ๆ โดยยกว่าทั้งสองพระองค์พร้อมเสมอที่จะไปพาท่านไปโรม เพื่อจัดการกับปัญหาคำปฏิญาณตน และยังยกผลประโยชน์ทางการเมืองที่ประเทศจะได้รับ แต่ไม่ว่าทั้งสองเกลี้ยกล่อมเท่าไร ๆ ก็ไม่อาจเปลี่ยนความคิดของพระราชธิดาน้อยได้ ท่านยังคงหนักแน่นในคำตอบเดิม คือ การเลือกเป็นเจ้าสาวของพระคริสต์

กระนั้นก็ตาม แม้ท่านจะหนักแน่นในการปฏิเสธการสยุมพรครั้งนี้ แต่ผ่านการจัดการของพระราชบิดา ที่สุดพระเจ้าออทโทคาร์ก็ทรงได้พบกับท่าน ซึ่งเมื่อจบการพบกันครั้งนี้แล้ว พระเจ้าออทโทคาร์ก็ถึงกับออกปากชมถึงความงามของท่าน แม้ว่าในขณะนั้นท่านจะยังคงสวมชุดนักบวชอยู่ตาม ซึ่งตรงข้ามกับฝ่ายท่าน เพราะแม้จะได้พบพระเจ้าออทโทคาร์แล้ว ท่านก็ยังหนักแน่นในคำเดิม คราวหนึ่งท่านถึงกับบอกกับซิสเตอร์ในอารามว่าท่านยอมตัดริมฝีปากและตัดจมูกเสียดีกว่าต้องออกจากอาราม เช่นนั้นเองอาศัยการหนักแน่นนี้ ก็ทำให้ที่สุดพระราชบิดาท่าน ก็จำต้องล้มเลิกพระทัยจะจับท่านแต่งงานไปในที่สุด

ภาพเขียนอารามบนเกาะกระต่ายในศตวรรษที่ 16

หลังจากเล่าถึงเหตุการณ์แสดงน้ำใจเด็ดเดี่ยวของท่าน ในการจะถือพรหมจรรย์ อันเป็นศีลบนประการหนึ่งของนักบวช ในลำดับต่อไปก็จะขอกล่าวถึงวัตรปฏิบัติอันน่าศรัทธาในอารามของท่าน โดยเริ่มจากการศีลบนความยากจน ที่เราอาจกล่าวได้ว่า ท่านนั้นได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างของนักบวชผู้ตัดสละทุกอย่างอันเป็นของโลกโดยแท้ ทุกคราที่พระราชบิดาและพระราชมารดาส่งฉลองพระองค์ตามสมัยนิยมมาให้ถึงอาราม เพื่อให้ธิดาน้อยได้ใช้สอย ท่านในฐานะธิดาน้อยของทั้งสองก็จะยกให้อารามนำไปขาย แล้วเอาเงินมาช่วยคนยากคนจนเสียทุกครั้งไป โดยมิได้หวงแหนหรือใยดีว่าเป็นของสูงค่ามีราคา หรือของพระราชทานจากพระราชบิดามารดา 

แต่การสละทรัพย์อันน่ายกย่องของท่านนี้ ก็ยังไม่เท่าเศษเสี้ยววัตรปฏิบัติในการพลีกรรมใช้โทษบาปที่เข้มงวดตลอดชีวิตของท่าน ท่านเริ่มทรมานตนตั้งแต่มีพระชันษาได้เพียง 5 ปี โดยเริ่มจากการอดอาหารในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่ในปีต่อมาเมื่อคุณแม่โอลิมเปียนวกจารย์ได้อนุญาตให้ท่านสวมเข็มขัดตะขอเหล็กได้ โดยมีข้อแม้ว่าให้ใส่ได้เฉพาะระหว่างวันและห้ามสวมกับเนื้อโดยตรง ท่านก็เริ่มสวมใส่เข็มขัดตะขอเหล็กเพื่อทรมานตนในเวลากลางวัน ตำนานเล่ากันว่า ขณะซิสเตอร์ทุกคนกำลังหลับ ท่านจะเอาตัวเข็มขัดตะขอเหล็กมาวางแทนบริเวณที่เป็นเข็มขัดหนังเม่นที่ใช้รัดสะเอว ส่วนตรงแขนอันบอบบางท่านก็จะรัดด้วยเชือกจากหางม้า จนเป็นรอยแผลจาการกดทับ



นอกจากนี้ท่านยังได้ซ่อนตะปูตัวเล็ก ๆ ไว้ในรองเท้า ซึ่งยามท่านใส่จะไม่มีใครสังเกตเห็น เพราะเป็นตรงฝ่าเท้าของท่านพอดี และไม่เพียงเท่านั้น ทุกวันศุกร์ท่านยังใช้เวลาไปกับการร่ำไห้ขณะใคร่ครวญถึงพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า ซิสเตอร์ผู้รับหน้าที่ดูแลห้องซาคริสเตีย (ห้องหลังพระแท่น) ซึ่งมีชีวิตเป็นพยานถึงจริยาวัตรอันน่ายกย่องของท่าน ยังจดจำได้ดีถึงเสียงปรบมือและคำชักชวนของท่าน ให้ออกจากห้องภาวนาไปเฝ้าศีลร่วมกันแทนการนอนหลับพักผ่อน ภายหลังจากทำวัตรดึกเสร็จอยู่เสมอ เช่นเดียวกับซิสเตอร์รูปอื่น ๆ ที่ยังจำแม่นว่าทุกครั้งในช่วงท้ายของมหาพรต ท่านจะต้องมีอาการเหน็ดเหนื่อยจากการอดอาหารและอดนอนอยู่มิได้ขาด

และเมื่อถึงวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ ที่พระเยซูเจ้าทรงได้ล้างเท้าบรรดาศิษย์ก่อนจะทรงตั้งศีลมหาสนิทขึ้น ท่านได้เลียนแบบพระองค์ ด้วยการอ้างสิทธิ์ในการเป็นธิดาของผู้สร้างอารามในการล้างเท้าให้ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่บรรดาคนในอารามทั้งหมด เพราะท่านนั้นใฝ่หาการรับใช้ ความขายหน้า และความอับอายต่อหน้าผู้คน อันจะเป็นเครื่องปราบพยศชั่วของความจองหองและการถือตนมากจนเกินไป จนกลายเป็นความลุ่มหลงมัวเมา ด้วยเหตุเดียวกันนี้เองจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่จะพบว่าท่านอาสาไปทำงานในห้องครัวของอาราม ที่จะต้องเจออะไรน่าสะอิดสะเอียนแน่นอน เพื่อช่วยงานปรุงอาหาร งานล้างหม้อไหตะไหลป๊าก และงานล้างปลา ซึ่งยิ่งในหน้าหนาวที่อากาศเย็นสุดขั้ว ก็ทำให้มือของท่านแตกจนมีเลือดออกเลยทีเดียว

 

วัตรปฏิบัติในการพลีกรรมของท่านยังไม่หมดแต่เพียงที่บรรยายมาข้างต้น เพราะบรรดาซิสเตอร์ร่วมอารามหลายคนยังจำได้อีกว่าหลายต่อหลายครั้ง พวกเธอบางคนก็พบท่านนอนบนเสื่อเก่า ๆ ที่ท่านใช้ปูคุกเข่าสวดข้างเตียง แทนที่จะนอนบนเตียง ส่วนในเวลารับประทานอาหารกลางวัน บางครั้งแทนที่ท่านจะรับอาหาร ท่านก็จะคลี่ผ้าคลุมศีรษะที่พับไว้มาคลุมใบหน้า แล้วใช้เวลานั้นรำพึงถึงพระเจ้า แม้บางครั้งเมื่อท่านได้รับหน้าที่เสิร์ฟอาหารให้บรรดาซิสเตอร์ เมื่อเสิร์ฟอาหารเสร็จท่านก็จะละจากห้องอาหารไปสวดภาวนาที่ห้องภาวนาไม่ก็วัดน้อยแต่เพียงลำพัง กระทั่งช่วงท้ายของเวลารับประทานอาหารท่านจึงจะกลับมา

ส่วนในเรื่องเครื่องนุ่งห่ม นอกจากสวมชุดนักบวชเหมือนสมาชิกรูปอื่น ๆ ท่านยังได้เลือกใช้ผ้าพันศีรษะแบบหยาบซึ่งสงวนไว้สำหรับคนใช้และไม่เหมาะกับนักบวชมาพันศีรษะ จนถูกคุณแม่อธิการตำหนิ แต่ท่านก็ขอให้ท่านได้ทำเช่นนี้ต่อไปในพระนามของพระคริสตเจ้า นอกจากนี้เครื่องแบบของท่านยังมีแต่รอยปะซ้ำแล้วซ้ำอีก มีบันทึกอีกว่า ท่านไม่ค่อยสนใจสุขอนามัยของตัวท่านเท่าไร ท่านไม่ได้อาบน้ำถึงสิบเจ็ดปี (อาจจะเป็นไปตามธรรมเนียมของชาวยุโรปในสมัยนั้นที่ไม่นิยมอาบน้ำ เพราะเชื่อว่าการอาบน้ำทำให้เสียชีวิตเร็ว) ซึ่งดู ๆ ไปก็พวกฤษีผู้เจริญชีวิตอยู่ในอารามกลางทะเลทราย จนครั้งหนึ่งคุณแม่โอลิมเปียถึงขั้นต้องขอให้ท่านยอมโกนผมทิ้ง เพราะท่านมีเหามาทำรัง และอีกคราหนึ่งซิสเตอร์คนหนึ่งก็แนะให้ท่านเปลี่ยนชุดคณะที่มีแมลงเจาะเสีย ท่านก็ตอบทันทีว่า “ซิสเตอร์ที่รัก ปล่อยมันไปและอย่าได้สนมันเลยค่ะ ฉันต้องการให้เจ้าหนอนพวกนี้ลงโทษตัวของฉันค่ะ” การดำเนินชีวิตอย่างยากจนนี้จะไม่ได้ส่งผลอะไรกับท่าน แต่มันก็ส่งผลให้เกิดความไม่สบายใจในหมู่ซิสเตอร์บางคนที่รักความสะอาด และแก่พระราชบิดาพระราชมารดาของท่านอยู่พอสมควร


ทุกวันท่านจะสวดบทสดุดีประจำวัน และหากวันนั้นเป็นวันฉลองของพระเยซูเจ้าหรือแม่พระ ท่านก็จะรับประทานเพียงขนมปังและน้ำตามที่ได้รับอนุญาตจากคุณพ่อมาร์เซลโล (ท่านได้ขอคุณพ่อไว้สามข้อคือ 1.ขอให้ท่านได้มีโอกาสรับใช้คนอื่น 2.ขอสวมเข็มขัดตะขอเหล็ก และ 3.ขอรับเพียงขนมปังและน้ำในวันฉลองพระเยซูเจ้าและแม่พระ) และถ้าเป็นวันก่อนวันฉลองพระคริสตสมภพ ท่านก็จะเพิ่มการนอนราบหน้าพระแท่นเพื่อสวดข้าแต่พระบิดาหนึ่งพันจบ แต่หากเป็นวันสมโภชพระจิตเจ้า ท่านก็จะเปลี่ยนเป็นร้องเพลงเชิญเสด็จพระจิตเจ้าหนึ่งพันจบ ส่วนถ้าเป็นวันฉลองแม่พระบังเกิด แม่พระรับสาส์น และแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ท่านก็จะสวดบทวันทามารีย์หนึ่งพันจบ แต่ภายหลังเมื่อท่านล้มป่วยลงกิจการสวดเหล่านี้ก็ถูกทำแทนโดยบรรดาซิสเตอร์ในอาราม

แน่นอนการปฏิบัติที่เคร่งครัดเหล่านี้ก็ทำให้ท่านถูกตำหนิบ่อย ๆ จากซิคุณแม่โอลิมเปีย เช่นครั้งหนึ่งซิสเตอร์ได้พบท่านนอนเหมือนคนสิ้นใจอยู่หน้าพระแท่น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ท่านมักจะกราบลงระหว่างสวดอยู่เสมอ แต่ด้วยความกลัวว่าการปฏิบัติเช่นบ่อย ๆ จะบั่นทอนชีวิตของท่านให้สั้นลง เมื่อท่านฟื้นคืนสติแล้ว คุณแม่โอลิมเปียจึงกล่าวอย่างไม่พอใจกับท่านว่า “ทำไมซิสเตอร์ถึงชอบเอาหน้าและจมูกไปจรดพื้นดินประหนึ่งหมู พระเจ้าทรงอยู่ที่พื้นดินงั้นหรือ ซิสเตอร์ไม่เห็นหรือว่ามันทำลายสุขภาพของตัวซิสเตอร์เอง” ในประวัติของท่านไม่ได้ให้รายละเอียดต่อว่าท่านตอบคุณแม่โอลิมเปียไปอย่างไร บางทีก็อาจเลี่ยงไม่ตอบ ไม่ก็อธิบายให้เห็นถึงความตั้งใจที่ร้อนรนในการพลีกรรมของท่านก็เป็นไปได้

มีครั้งหนึ่งพระราชบิดาทรงเห็นว่าท่านพลีกรรมอย่างหนักหน่วง จึงตรัสถามท่านอย่างเป็นห่วงว่า “ลูกทำไปเพื่ออะไร ลูกคิดอะไรของลูกอยู่ ลูกจะเก็บเรื่องคนอื่นมาทรมานใจไปทำไม” ฝั่งท่านที่เมื่อฝั่งคำถามเช่นนี้ ก็ค่อย ๆ ถอนหายใจเหือกใหญ่ประหนึ่งระอากลับคำถาม ก่อนค่อย ๆ ตอบกลับว่า “พระศาสนจักร มารดาได้เรียกร้องให้คริสตชนใช้เวลาอันมีค่าในการเป็นนักบุญและรับทุกข์ยากจำนวนมาก แล้วท่านพ่อมาตรัสกับลูกว่า เพื่ออะไรหรือ เธอไม่ได้พึ่งให้กำเนิดลูกและท่านพ่อผ่านน้ำไม่ใช่หรือ ลูกไม่ใช่หนึ่งในธิดาของเธอหรือ แน่นอนลูกเป็น” (เป็นแปลโดยคะเนจริงๆ เพราะเหมือนจะเป็นศัพท์โบราณ ผู้เขียนจึงพยายามแปลให้ตรงบริบทมากที่สุด) แต่จุดประสงค์มากกว่านั้นของการพลีกรรมเช่นนี้ของท่าน ก็อาจเป็นไปเพื่อใช้โทษบาปแทนครอบครัวและแทนประเทศชาติของท่านก็ได้

“เธอเป็นคนดี เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และผู้เทศนาผ่านกิจการของเธอ ซึ่งต่ำต้อยเสียยิ่งกว่าบรรดาสาวใช้” ซิสเตอร์ในอารามกล่าวถึงท่าน เพราะไม่เพียงแต่ทำพลีกรรมทรมานกายจำนวนมากมาย ท่านยังคอยทำทุกหนทางเพื่อนำความบรรเทาใจไปยังบรรดาคนยากไร้และคนป่วย ดังที่ได้อธิบายไปแล้วบ้างก่อนหน้านี้ ท่านรักที่จะเป็นคนจน ท่านชอบใส่เสื้อเก่า ๆ บางครั้งท่านก็จะซ่อมเสื้อผ้าคนยากไร้ที่เก่าด้วยผ้าจากเสื้อคลุมของท่าน และทุก ๆ ครั้งหากท่านตื่นขึ้นมากลางดึก แล้วได้ยินเสียงครวญคราง ท่านก็จะรีบลุกไปหาต้นตอของเสียงนั้นเพื่อไต่ถาม และช่วยผู้นั้นให้พบความบรรเทา นอกจากนี้หากมีคนป่วยคนใดสิ้นใจลง ท่านก็จะไม่เพียงแต่ร่วมพิธีของเขาจนถึงเวลาฝัง แต่ท่านจะยังสวดภาวนาและร้องไห้ให้เขาจำนวนมาก ประดุจว่าผู้วายชนม์นั่นคือพี่น้องของท่านเองเสมอ


หากเกิดมีซิสเตอร์คนใดในอารามเกิดล้มป่วยขึ้นมา ท่านที่ทราบเรื่องก็จะรีบกุลีกุจอไปช่วยดูแลซิสเตอร์คนนั้นอย่างวิริยะ ท่านทั้งทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจพยาบาลให้ผู้ป่วยรายนั้น โดยไม่เคยแสดงท่าทีออกมาว่าโกธรหรือรังเกียจที่ต้องทำงานต่ำต้อยและใช้เวลามากเช่นนี้ แม้บางเวลาท่านจะถูกคุณแม่อธิการและคุณพ่อวิญญาณแนะว่าท่านไม่ควรจะทำเช่นนั้น เพราะจะเป็นการสร้างความกังวลพระทัยให้กับพระราชบิดาและพระราชมารดา ท่านก็ยังคงปฏิบัติเช่นเดิม เพราะท่านมีแรงขับภายใน อันแสดงชัดในคำพูดที่ท่านกล่าวอ้อนวอนต่อทั้งสอง นั่นคือ “โปรดให้ลูกได้ทำเช่นนั้นในพระนามพระเยซูเจ้าเถิดเจ้าค่ะ”

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังถือพรตตามธรรมนูญเหมือนซิสเตอร์คนอื่น ๆอย่างเคร่งครัด ท่านมันจะดึงข้อคิดจากชีวประวัตินักบุญซึ่งท่านได้ฟัง และด้วยความที่ท่านทั้งรักทั้งปรารถนาศีลมหาสนิท จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่ท่านจะชอบไปภาวนาหน้าพระแท่นไม้กางเขน เพราะ ณ ที่นั่นพระคริสตเจ้าผู้ทรงแฝงองค์ในเพศปังได้ประทับอยู่ในตู้ศีล ทั้งนี้แล้วในระหว่างมิสซาและรับศีล ท่านมักอดไม่ได้ที่จะถอนหายใจออกมายาว ๆ หรือกลั้นน้ำตาไว้ได้ ยามเมื่อท่านใคร่ครวญแผ่นปังอันบริสุทธิ์ ที่เปลี่ยจากสาลีเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า


ท่านประทับอยู่ในอารามบนเกาะกระต่ายได้สิบสองปี ท่านและซิสเตอร์ในอารามก็มีอันต้องประสบความยากลำบากครั้งใหญ่ เมื่อรอยร้าวฉานระหว่างบิดาและบุตรชายถึงจุดที่ไม่อาจจะกลับมาเชื่อได้อีก นั่นคือความเข้าใจผิดกันระหว่างพระราชบิดาของท่านเองกับพระเชษฐาสเตเฟน ผู้น้อยเนื้อต่ำใจว่าพระราชบิดาทรงไม่รักตน และคงจะตัดตนออกจากการเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ดังนั้นก่อนจะเป็นเช่นนั้นเจ้าชายสตีเฟนจึงได้ทรงเกณฑ์ไพร่พลที่ทรงซ่อมสุม แล้วยกมาบุกฮังการีใน ค.ศ. 1264 จนก่อเกิดเป็นสงครามกลางเมือง ที่กินระยะเวลายาวนานถึงสองปี

เหตุการณ์นี้ยังความโทรมมนัสเป็นอันมากแก่ตัวท่าน เพราะท่านได้แลเห็นสงครามอันเกิดแต่เพียงคำว่า ศักดิ์ศรีและความโลภ ซึ่งทำลายครอบครัวที่ท่านรักลามไปถึงวัด อาราม และประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย ท่านจึงทวีการพลีกรรมของท่านให้ยิ่ง ๆ ขึ้นกว่าปกติ เพื่อสองสิ่ง นั่นคือสันติภาพและความเท่าเทียมที่หายไปจะกลับคือสู่ดินแดนของท่าน ท่านทั้งสวมเข็มขัดขนเม่น ทวีการเฆี่ยนตีตน และพลีกรรมเช่นที่กล่าวมาในย่อหน้าต้น ๆ นอกนี้ท่านยังพยายามสลัดตัวเองจากอคติ การเหมาด่า และการทำร้ายคนอื่นอันเป็นสิ่งไร้แก่นสารอีกด้วย

นอกจากความทุกข์ใจที่ต้องเผชิญแล้ว ผลของสงครามก็ยังความทุกข์กายไม่น้อยสำหรับท่านและสมาชิกในอาราม เพราะไม่นานหลังสงครามกลางเมืองปะทุขึ้น ท่านและซิสเตอร์คนอื่น ๆ ก็ถูกขับไล่ออกจากอาราม ให้ต้องระหกระเหิรไปพำนักในอารามซิสเตอร์คณะเทเรเซียน และมีคำสั่งลงมา (ผู้แปลไม่แน่ใจว่าจากฝั่งไหน) ให้ตัดความช่วยเหลือแก่อารามในทุก ๆ ด้าน เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้น ในเวลาต่อมา คือ ค.ศ. 1265 เมื่อคุณพ่อมาร์เซลโล ผู้แทนคณะโดมินิกันจำต้องกลับไปยังเมืองมงเปอลีเย คุณพ่อก็ได้มีคำสั่งให้ซิสเตอร์จำนวนยี่สิบรูปร่วมกันพลีกรรมด้วยการรับประทานเพียงขนมปังและน้ำ ทันทีที่ท่านทราบเรื่อง ท่านจึงรีบไปคุกเข่าวิงวอนต่อหน้าคุณพ่อ ว่าขอโปรดให้ท่านได้พลีกรรมเพื่อประชาชน อย่าได้ยกเว้นท่านเสียเพียงเพราะท่านมีเลือดขัดติยาอยู่ในกาย

ท่านเจริญชีวิตร้อนรนในการสวดภาวนาและพลีกรรมใช้โทษบาปมาเกือบสองปีเพื่อประชาชนของท่าน จนที่สุดแล้วใน ค.ศ. 1266 ณ บนเกาะกระต่ายนั่นเอง ทั้งพระเจ้าเบลาที่ 4 พระราชบิดาและเจ้าชายสเตเฟน พระเชษฐาก็ได้คืนดีกัน ท่านและซิสเตอร์จึงได้หวนคืนมาสู่อารามบนเกาะกระต่ายอีกครั้ง และได้ประทับอยู่ที่นั่นตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ก่อนจะถึงวันนั้นก็เป็นอีกครั้งที่พระเป็นเจ้าทรงทดสอบความตั้งใจของเจ้าสาวตัวน้อยของพระองค์ ด้วยการวิวาห์อีกครั้ง คราวนี้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1268 โดยชายหนุ่มผู้นั้นก็คือ พระเจ้าการ์โลที่ 1 แห่งเนเปิลส์ และเช่นเดียวกันกับคราวพระเจ้าออทโทคาร์ที่ 2 คือพระเบลาพระราชบิดาทรงเกลี้ยกล่อมท่านว่า พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 4 หากทรงทราบว่าท่านจะยอมเข้าพิธีวิวาห์ พระองค์จะทรงถือให้คำปฏิญาณตนของท่านเป็นโมฆะ แต่ทันทีท่านก็ตอบคุณแม่โอลิมเปีย ในทันทีว่า “แม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจะทรงสั่งให้ลูกเข้าพิธีวิวาห์ลูกก็จะไม่ยอมโง่ทำลายพรหมจารรย์ของลูกหรอก”

นักบุญเอลิซาเบธ แห่ง ฮังการี, นักบุญมาร์กิต แห่ง ฮังการี และเฮนรี่ แห่ง ฮังการี กลุ่มนักบุญราชตระกูลอาร์ปัด

ตามผู้เขียนชีวประวัติของท่านคนหนึ่งได้บันทึกว่า ที่อารามใหม่ท่านเริ่มรำพึงบ่อยขึ้นและเริ่มได้สนทนากับนักบุญสเตเฟน แห่ง ฮังการี (ปฐมกษัตริย์คริสตชนองค์แรก ผู้มีส่วนในการเติบโตของพระศาสนจักรในฮังการี ) นักบุญเอเมรีโก แห่ง ฮังการี (พระโอรสแต่เพียงองค์เดียวของนักบุญสเตเฟน แต่อนิจจายังไม่ทันได้ครองราชย์ ก็มาสิ้นเพราะอุบัติเหตุระหว่างล่าสัตว์เสียก่อน ) นักบุญลาดิสเลาส์ แห่ง ฮังการี (อดีตบูรพกษัตริย์ของฮังการี ผู้มีใจศรัทธาร้อนรนต่อพระคริสตเจ้าและทำทุกสิ่งเพื่อพระเจ้าและประชาชน) นักบุญเอลิซาเบธ แห่ง ฮังการี ผู้มีศักดิ์เป็นอาของท่าน

นอกจากนี้ในบางเวลาพระเป็นเจ้าก็ทรงประทานพระพรแห่งการหยั่งรู้อนาคตให้กับท่าน ซึ่งหนึ่งในพยานในเรื่องนี้มิใช่ใครไหนอื่น ก็คือพระราชบิดาท่านเอง ที่คราวหนึ่งต้องรบทัพจับศึกกับดยุกเฟรเดอริก ที่ 2 แห่ง ออสเตรีย ท่านก็ได้พูดทำนายว่าพระราชบิดาจะทรงมีชัยชนะ และพระเจ้าเบลาที่ 4 ก็ทรงมีชัยจริง ๆ และพระเป็นเจ้ายังทรงแสดงเครื่องหมายความศักดิ์สิทธิ์อื่นของท่านให้เป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาซิสเตอร์ในอาราม ดั่งเช่นทั้งสามเรื่องที่ได้ยกมาต่อไปนี้


เรื่องที่หนึ่ง มีตำนานเล่ากันว่าคราวหนึ่งท่านได้ใช้สาวใช้ชื่อ อักเนส ให้ไปหาเสื้อผ้าจากอาคารใกล้ ๆ เอามาให้อาราม แต่ด้วยในคืนนั้นเป็นคืนเดือนมืด ขณะเจ้าหล่อนกำลังเดินตัดลานหลังอาราม จึงเกิดพลัดตกลงไปในบ่อน้ำติดห้องครัว เสียงร้องลั่นของหล่อนเรียกให้คุณแม่อธิการอารามคณะในเวลานนั้น คือ คุณแม่โอลิมเปียต้องรีบวิ่งจ้ำไปตามต้นเสียงเพื่อรีบช่วยเหลือ ส่วนท่านเองก็รีบวิ่งไปตามพระสงฆ์มาช่วย เพราะพวกท่านไม่มีแรงพอจะช่วยกันดึงนางอักเนสขึ้นมาจากบ่อน้ำได้ ก่อนเธอจะขาดใจตาย

แต่อนิจจา มันก็ไม่ทันการณ์ เพราะนางได้ขาดใจลงไปเสียแล้ว ดังนั้นเองท่านจึงถูกตำหนิจากทุกคนว่าต้นเหตุให้นางอักเนสตาย ฝั่งท่านที่โดยกล่าวโทษเช่นนี้ จึงเริ่มสวดภาวนาขอความช่วยเหลือไปยังพระเจ้า สักครู่หนึ่งร่างของนางอักแนสที่ดูซีดเซียวก็ค่อย ๆ ลอยขึ้นมา แม้จะอยู่ในสภาพแขนขาบิดงอเพราะการตกไปอย่างแรง กระทั่งร่างของนางพ้นจากบ่อแล้ว ท่านก็เริ่มสวดอีกครั้ง คราวนี้กระดูกต่าง ๆ ที่เคยหักงอก็กลับมาอยู่ในสภาพเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และนางอักเนสที่เหมือนสิ้นใจไปแล้ว ก็กลับมาชีวิตอีกครั้งหนึ่ง


เรื่องที่สอง เล่าอีกว่าคืนหนึ่งท่านได้ออกไปสวดภาวนาอยู่ที่ลานของอาราม และขณะที่ท่านกำลังอยู่สวดภาวนาอย่างร้อนรนนั้นเอง ฉับพลันบนท้องฟ้ายามรัตติกาลก็ปรากฏดวงสุริยาโผล่ขึ้นมาอยู่ข้างดวงจันทร์อย่างน่าอัศจรรย์ และเรื่องที่สาม คราวหนึ่งท่านและซิสเตอร์อักแนส แบร์กีตัดสินใจจะทำอาหารจากชีสเลี้ยงซิสเตอร์ทุกคน ท่านก็สามารถยกกระทะที่ตั้งอยู่บนไฟร้อน ๆ ออกมาได้โดยที่มือของท่านไม่เป็นอะไรเลย ซึ่งเรื่องนี้ซิสเตอร์แบร์กาก็ได้ยืนยันว่าเมื่อเธอขอดูมือท่านแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามือของท่านมีแผลอันใดไม่

แต่แม้ท่านจะเป็นที่โปรดปรานของพระเป็นเจ้า ดังที่พระองค์ได้ทรงไขแสดงอัศจรรย์ให้เป็นเครื่องหมายรับรอง พระเป็นเจ้าก็มิได้ทรงบันดาลมให้ท่านมีสุขภาพดีหรือมีอายุที่ยืนนาน ผลของวัตรปฏิบัติอันเข้มงวดของท่าน ก็ส่งผลให้ท่านในวัยยี่สิบปลาย ๆ แทบจะไม่เหลือเค้าความงามที่เคยมี ท่านกลายเป็นคนพิการเพราะการพลีกรรมและการอดอาหารอย่างยิ่งยวด และใน ค.ศ. 1269 ขณะท่านในวัยประมาณ 27 ปี กำลังสวดภาวนาอยู่ข้างเตียงซิสเตอร์รูปหนึ่ง ที่กำลังเข้าใกล้ประตูแห่งความตายเต็มที ท่านก็ได้รับการไขแสดงบางอย่างและได้พูดทำนายออกมาว่า “หลังจากซิสเตอร์สิ้นใจไปเป็นคนแรกแล้ว ก็จะเป็นตัวฉันต่อไป” และไม่นานก็เป็นดั่งที่ท่านกล่าวทำนายไว้ เพราะในเวลาต่อมา ท่านก็มีอาหารไข้ขึ้นสูงชนิดต้องล้มหมอนนอนเสื่อ ซึ่งท่านก็เหมือนจะทราบดีว่านี่คือวาระสุดท้ายแล้ว ดังนั้นก่อนจะถึงวันสำคัญนั้น ท่านจึงได้มอบกล่องที่บรรจุเข็มขัดตะขอเหล็กและแส้ที่ท่านใช้ให้แก่คุณแม่อธิการ


ลุถึงวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1270 ภายหลังป่วยด้วยอาการไข้มาสิบสองวันและเจริญชีวิตภายใต้กฎฎส่วนตัวที่ว่า ‘รักพระเจ้า ดูถูกตัวเอง ไม่เกลียดและไม่ตัดสินผู้อื่น’ เจ้าหญิงแห่งฮังการี พระราชธิดาในพระเจ้าเบลาที่ 4 ก็ได้สิ้นใจโดยสงบด้วยพระชันษาเพียง 28 ปี พระราชพิธีปลงพระศพถูกจัดขึ้น ณ อารามบนเกาะกระต่าย โดยมีพระคุณเจ้าเฟร์เดริก พระอัครสังฆราแห่งเอสซ์เตอร์กอมเป็นประธาน หลังจากนั้นร่างของหน่อเนื้อนฤนาถ จึงได้รับการฝังในวัดน้อยของอารามท่ามกลางกลิ่นหอมอบอวลของดอกกุหลาบที่พรั่งพรูกันออกมาจากศพของท่าน

และในทันทีที่ท่านสิ้นใจไปได้ไม่นาน ก็มีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านขึ้นเป็นนักบุญขึ้น โดยมีผู้ร้องขอคือพระเชษฐาของท่านที่ได้ขึ้นเถลิงราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดาในปีเดียวกันกับที่ท่านสิ้นใจ แต่ก็ต้องติดปัญหาต่าง ๆ จนเรื่องยืดยาวนานหลายร้อยปี แม้ว่าในเวลานั้นจะมีอัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่านถึงเจ็ดสิบสี่กรณี มีทั้งที่หายป่วยและฟื้นจากความตายก็ตาม ท่านก็ยังคงไม่ได้รับการประกาศเป็นนักบุญอย่างเป็นทางการ 


กระนั้นก็ตามแม้จะไม่มีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการจากพระศาสนจักร ความศรัทธาของท่านก็ถูกนำไปยังอิตาลีพร้อมพระนางมารีอา แห่ง ฮังการี ผู้มีศักดิ์เป็นหลานสาวของท่านและได้สมรสกับอนาคตกษัตริย์ของเมืองเนเปิลส์ ท่านถูกนับรวมเป็นหนึ่งในนักบุญจากราชวงศ์อาร์ปัด (ราชวงศ์ของท่าน) ดังปรากฏภาพของท่านร่วมกับนักบุญเอลิซาเบธ แห่ง ฮังการีที่มหาวิหารนักบุญฟรานซิส เมืองอัสซีซีอายุประมาณศตวรรษที่ 14 และมีความเชื่อกันที่อิตาลีว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ ทำให้งานจิตรกรรมจำนวนหนึ่งแสดงภาพรอยแผลศักดิ์สิทธิ์บนร่างกายของท่าน 

แต่ที่สุดหลังมรณกรรมของท่านกว่า 500 ปี ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 6 ก็ได้ทรงบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศี และในรัชสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 พระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัยสถาปนาท่านขึ้นเป็นนักบุญในกรณีพิเศษนั่นคือไม่ต้องมีอัศจรรย์ครั้งที่สองมาประกอบ ในวันฉลองนักบุญเอลิซาเบธ แห่ง ฮังการี นั่นคือในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1943 โดยท่อนหนึ่งในการประกาศดังกล่าว พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ทรงรับสั่งว่า “สืบเนื่องจากท่านเป็นเคารพสืบมาแต่อดีต คุณงามความดีและอัศจรรย์ของท่านเป็นที่ประจักษ์มาตั้งแต่หนหลัง โดยไม่มีข้อกังขาโดยบรรดานักประวัติศาสตร์  ดังนั้นแม้จะไม่เป็นไปตามขั้นตอนการสถาปนานักบุญและจารีตตามปกติ ข้าพเจ้าจึงเห็นควรที่จะสถาปนาท่านขึ้นเป็นนักบุญอาศัยการตัดสินใจของข้าพเจ้าเอง และมีคำสั่งให้บันทึกนามของท่านในสารบบนักบุญนับแต่นี้เป็นต้นไป”


นักบุญเปโตรได้อธิบายว่า การดำเนินชีวิตในโลกนี้เป็นการดำเนินชีวิตใน อยู่ต่างแดน สำหรับผู้ที่เรียกพระเจ้าว่าเป็นบิดา (เทียบ 1 เปโตร 1:17) ขอให้ชีวิตนักบุญมาร์กิตกระตุ้นผู้อ่านได้ใคร่ครวญถึงการดำเนินชีวิตในโลกในฐานะ ต่างแดนที่เราเพียงผ่านมาชั่วคราว ก่อนมุ่งสู่สวรรค์ ขอให้เราได้เลียนแบบท่านในการใช้เวลาในโลกนี้ อันเป็นสิ่งชั่วคราว ด้วยการดำเนินชีวิตตามเสียงของพระเจ้าภายในตัวเองอย่างดีที่สุดในแต่ละวัน เพราะเราไม่รู้ว่าความชั่วคราวของเราจะยาวนานหรือสั้นเพียงใด เพราะท่านรู้ว่าท่านได้รับการไถ่กู้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตไร้ค่าที่สืบมาจากบรรพบุรุษ มิใช่ด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายได้เช่นเงินหรือทอง แต่ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสตเจ้า ดังเลือดของลูกแกะไร้มลทินหรือจุดด่างพร้อย (1 เปโตร 1:18-19) ท่านนักบุญมาร์กิตตระหนักได้ดังนี้ และท่านเชื่อว่าการพลีกรรมทรมานตนอย่างหนักหน่วง รวมถึงการรักรับใช้ผู้อื่นด้วยการปฏิบัติและการสวดภาวนา เป็นการใช้เวลาชั่วคราวที่ดีที่สุดสำหรับท่าน ดังนั้นท่านจึงปฏิบัติเช่นนั้น ในท้ายที่สุดนี้การเลียนแบบฉบับของท่านที่ดีที่สุด จึงไม่ใช่การทรมานตนอย่างบ้าคลั่ง แต่คือการเข้าใจถึงความเป็นชั่วคราวและแสวงหาน้ำพระทัยพระเจ้าต่อชีวิตของเราแต่ละคน ซึ่งหมุนเวียนอยู่รอบแก่นกลางเดียว คือ รักพระเจ้าและรักเพื่อนรอบข้างเหมือนรักตนเอง แต่รักอย่างไร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องหาคำตอบและแนวทางของตนเอง เพื่อจะได้อยู่เพื่อพระแค่หนึ่งเดียวเช่นท่าน อาแมน

รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู


“ข้าแต่ท่านนักบุญมาร์กิต แห่ง ฮังการี ช่วยวิงวอนเทอญ”

คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โต...