วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

"มารีอา เด ลา ปูริซิมา" บุพผาแห่งการรับใช้




นักบุญมารีอา เด ลา ปูริซิมา แห่ง ไม้กางเขน
St. María de la Purísima de la Cruz
ฉลองในวันที่ : 31 ตุลามคม

ความยินครั้งใหม่ของชาวภคินีเพื่อนกางเขนเริ่มขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ..1926 ในคฤหาสน์ของตระกูลบนถนนเกลาดีโอ โกเอลลา ถนนในย่านใจกลางเมืองเก่าของมาดริด ประเทศสเปน เมื่อเด็กหญิงมารีอา อิซาเบล ซัลวัต โรเมโร ได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นลูกคนที่สามจากแปดคนในครอบครัวชนชั้นสูงของนายรีการ์โด ซัลวัต อัลแบรต์ ชาวเมืองมาลากา(สเปน) กับนางมาร์การิตา โรเมโร เฟรเรร์ ชาวมาดริด

หนูน้อยได้รับศีลล้างบาปในเขตวัดแม่พระปฏิสนธินิรมล ที่ตั้งอยู่บนถนนโกยาของกรุงมาดริด และได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกจากโรงเรียนของคณะแม่พระแห่งโลเรโต หรือที่ชาวสเปนเรียกกันง่ายๆว่า คณะมาเดรส อิร์ลันเดซัส(แปล-คุณแม่ชาวไอร์แลนด์ เพราะคณะมาจากไอร์แลนด์) ที่ตั้งอยู่บนถนนเวลัซเกซ ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้จัดให้ท่านได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกเมื่อท่านอายุได้ 6 ขวบ



แต่ระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น ก็เกิดสงครามกลางเมืองสเปนขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค..1936 ท่านกับครอบครัวจึงจำต้องย้ายเมืองฟีกีรา ดา ฟอซ ในประเทศโปรตุเกส แต่ก็อยู่เพียงปีเดียวครอบครัวของท่านก็กลับมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองซาน เซบัสเตียนของประเทศสเปน กระทั้งสงครามยุติลงทั้งหมดจึงกลับไปยังมาดริด และใช้ชีวิตตามปกติ จวบจนจากเด็กหญิงตัวน้อยๆก็ค่อยๆค่อยเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นสาวน้อยวันแรกรุ่น ในท่ามกลางสังคมที่วัฒนธรรมและศาสนาเป็นสิ่งสำคัญมาก

ในวัยรุ่นท่านจัดเป็นคนที่มีสง่าราศี มีระดับ สวย เป็นกันเองและมีไหวพริบดี ซึ่งแม้ว่าท่านจะเป็นคนพูดน้อย ท่านก็พูดได้ถึงสี่ภาษา คือ สเปน อิตาลี อังกฤษและฝรั่งเศส และเช่นกัน แม้ท่านจะครองตนอย่างผู้ดีเช่นไร ท่านก็เปี่ยมไปด้วยจิตตารมณ์ของพระเจ้าอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ท่านยังเป็นคนที่น่าสนใจและมีเพื่อนในระดับเดียวกันที่ต่างรักท่านหลายคน ท่านไปทั้งงานสังสรรค์และไปมาหาสู่กับเพื่อนที่ครอบครัวท่านรู้จัก แต่ขณะเดียวกันภายในวิญญาณของท่าน กระแสเรียกของท่านก็ถูกบ่มเพาะอยู่ในอยู่ภายใน


และเพื่อไล่ตามกระแสเรียก ท่านและมาริการ์ อิบาเญซ(ภายหลังเข้าคณะแม่พระแห่งโลเรโต) เพื่อนของท่านก็พากันไปเยี่ยมตามอารามต่างๆ กระทั้งปี ค..1942 ท่านก็ได้ลองเข้าค่ายกระแสเรียกครั้งแรกกับคณะภคินีเพื่อนกางเขน ทันทีหลังจากนั้นท่านก็พบทันทีว่ากระแสเรียกของท่านก็คือการเป็นเพื่อนกางเขนที่ก่อตั้งโดยนักบุญอันเกลา แห่ง ไม้กางเขน แต่เมื่อบิดามารดาท่านทราบความตั้งใจนี้ ทั้งสองก็ทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางท่านจากการเป็นซิสเตอร์

ระหว่างนั้นในวันที่ 10 ธันวาคม ค..1943 ท่านก็ได้ถวายตนต่อพระนางมารีย์ และได้รับเหรียญแม่พระของคณะธิดามารีย์ของโรงเรียนของคณะมาเดรส อิร์ลันเดซัส ก่อนในวันที่ 21 กรกฎาคมปีถัดมา ท่านก็ได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งมาดริด เพื่อรับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และแม้จะถูกขัดขวางกระนั้นก็ตามในปีนั้น ในวันที่ 8 ธันวาคม ด้วยวัย 18 ปี ท่านก็ได้เข้าเป็นโปสตุลันต์ของคณะภคินีเพื่อนกางเขนในอารามของคณะที่เมืองเซบีญา



ท่านได้รับชุดคณะและนามใหม่ว่า ภคินีมารีอา เด ลา ปูริซิมา แห่ง ไม้กางเขน ในวันที่ 9 มิถุนายน ค..1945 ก่อนเข้าพิธีปฏิญาณตนครั้งแรกในวันที่ 27 มิถุนายน ค..1947 และปฏิญาณตนตลอดชีพในวันที่ 9 ธันวาคม ค..1952 ซึ่งในฐานะซิสเตอร์คณะภคินีเพื่อนกางเขนนี้ ท่านก็เป็นผู้ติดตามรอยเท้าของคุณแม่อันเกลาผู้ก่อตั้งคณะอย่างซื่อสัตย์ และผู้ปฏิบัติตามตามธรรมนูญของคณะได้อย่างครบถ้วนทุกระเบียบนิ้ว

ท่านดำรงตำแหน่งอธิการโรงเรียนในโลเปรา บายาโดลิด เอสเตปา และบิลยานูเอบา เดล ริโอ อี มีนัส ก่อนจะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนวกจารย์ในปี ค..1966 และเจ้าคณะแขวงในอีกสามปีถัดมา หลังจากนั้นในปี ค..1970 ท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาลำดับที่สามของมหาธิการิณีของคณะ กระทั้งเมื่อมหาธิการิณีคนเดิมหมดวาระ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค..1977 ท่านจึงได้รับเลือกให้เป็นมหาธิการิณีสืบต่อไป และได้รับเลือกอีกตลอด 22 ปีด้วยมติเป็นเอกฉันท์ (..1983, ..1989 และ ค..1995)



แต่ถามว่าเมื่อท่านรับตำแหน่งมหาธิการิณีของคณะ ท่านเปลี่ยนไปไหม คำตอบก็คือไม่ ท่านยังคงดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดและยากจน ในสิ่งเล็กน้อย เล็กน้อย ท่านสอนซิสเตอร์ที่จะเจริญชีวิตตามจิตตารมณ์ของคณะ พร้อมมอบตนเองแด่ทุกๆคนที่มีความต้องการ โดยเฉพาะบรรดาเด็กหญิงในโรงเรียน  นอกจากนี้ภายในหัวใจของท่านยังมีคนยากไร้และคนป่วยอยู่เป็นพิเศษ ในบิลยานูเอบา ท่านชอบแวะไปดูแลผู้ป่วยชราภาพทุกวันในตอนเช้า และแม้ท่านในขณะนั้นท่านจะดำรงตำแหน่งอธิการ ท่านก็ลงมือซักผ้า เตรียมอาหาร อาบน้ำให้พวกเขาเอง แถมยังชอบทำงานที่ยากๆและน่าเบื่อที่สุดเสมอ

และในฐานะมหาธิการิณีท่านก็ปกครองคณะด้วยความร้อนรนอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ตามจิตตารมณ์ของภคินีเพื่อนกางเขน ส่วนอุดมการณ์ของท่านก็คือการเจริญชีวิตตามพระพรพิเศษของคุณแม่อันเกลา ผู้ก่อตั้งคณะ และเจริญชีวิตอย่างเรียบง่าย ถ่อมตน และเปี่ยมไปด้วยความเชื่อ แล้วใครจะทำได้อย่างนี้ละ ไม่ต้องไปไกลที่ไหนอุดมการณ์เหล่านี้ปรากฏชัดในตัวท่าน ผู้ติดตามการทำงานอย่างสัตย์ซื่อ ผู้ที่ได้จุดประกายความปรารถนาที่จะเลียนแบบความรักของพระเจ้าและคณะอันศักดิ์สิทธิ์ให้ลุกโชนอยู่ในดวงใจของบรรดาธิดาทั้งหลาย



นอกจากนี้ระหว่างดำรงตำแหน่งมหาธิการิณีท่านยังได้มีโอกาสร่วมพิธีบันทึกนามคุณแม่อันเกลาเป็นบุญราศี ได้ต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 และได้เปิดบ้านของคณะในปัวร์ตอลลาโน , อูเอลวา เรจโจ การาเบรีย ประเทศอิตาลี ,กาดิซ , ลูโก , ลีนาเรส และที่อัลกาซาร์ เด ซาน ฆวน

ท่านดำรงตำแหน่งมหาธิการิณีได้ 22 ปี ท่านก็ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบในวันที่ 31 ตุลาคม ค..1998 ด้วยอายุ 72 ปี ลูกมีความยินดีเมื่อพวกเขาทั้งหลายกล่าวว่าไปบ้านขององค์พระผู้เป็นเจ้าเถิด คือคำพูดเดียวก่อนสิ้นใจที่ทุกคนได้ยิน แม้ว่าวันนั้นท่านจะทรมานมากแค่ไหน ท่านก็ไม่บ่น ท่านเพียงแต่เอ่ยวลีนั้นเท่านั้น ร่างของท่านถูกฝั่งไว้ในห้องใต้ดินของอาราม ที่เดียวกับที่เคยฝังคุณแม่อันเกลา และภายหลังจากเกิดอัศจรรย์ ในวันที่ 18 กันยายน ค..2010 ก็ได้มีพิธีบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศี โดยมีพระคาร์ดินัลอันเยโล อามาโต เป็นผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เป็นประธานในพิธี



และในโอกาสบันทึกนามท่านครั้งนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ก็ทรงเขียนในสาส์นโอกาสสถาปนาท่านเป็นบุญราศีว่า สว่างไปด้วยปรีชาญาณแห่งไม้กางเขน เธอได้อุทิศชีวิตของเธอเพื่อรับใช้คนยากไร้และคนป่วย และเพื่อการศึกษาตามแบบคริสต์ศาสนาแก่บรรดาเยาวชน และที่สุดหลังมีอัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่านอีกครั้ง ในวันที่ 18 ตุลาคม ค..2015 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ก็ทรงยกท่านไว้ ณ พระแท่นเคียงคู่นักบุญอังเกลาในฐานะนักบุญลำดับที่สองของคณะ

เพราะบุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น(มาระโก 10:45) จากพระวรสารข้อนี้พระเยซูเจ้าได้ทรงเรียกร้องให้คริสตชนเลือกที่จะเป็น ผู้รับใช้ มากกว่าเป็น ผู้ถูกรับใช้ คือการเรียกให้เราตัดสละน้ำใจของเราเอง ลดทิฐิของเรา เพื่อจะพุ่งทะยานไปสู่ความชิดสนิทกับพระเป็นเจ้าผ่านการรับใช้ เพราะประตูไปสวรรค์นั้นแคบเกินกว่าจะเอาทิฐิผ่านไปกันพร้อมได้  และหากเรารับใช้คนที่มองเห็นไม่ได้ แล้วเราจะไปรับใช้คนที่เรามองไม่เห็นได้อย่างไร คุณแม่มารีอา คือตัวอย่างอีกอันที่แจ่มชัดในเรื่องนี้ ท่านไม่ลังเลใจที่จะตรงไปรับใช้ผู้ป่วยหรือทำสิ่งที่ต่ำต้อย แม้ท่านจะได้รับเลือกให้เป็นมหาธิการิณีของคณะก็ตาม ให้เราวอนขอให้พวกเรามีใจรักรับใช้เช่นท่านเถิด


ข้าแต่ท่านนักบุญมารีอา เด ลา ปูริซิมา แห่ง ไม้กางเขน ช่วยวิงวอนเทอญ

***หมายเหตุคำว่า ลา ปูริซิมา แปลว่า การปฏิสนธินิรมล ผู้แปลไม่แน่ใจว่าเป็นสร้อยต่อศาสนนามหรือเปล่า หรือเป็นชื่อศาสนานามแบบมารี เดอ ลูร์ด แต่จะสังเกตว่ามีคำว่า เดอ ลา ครูซ ต่อท้ายผู้แปลจึงคิดว่า ศาสนนามของท่านน่าจะคือ มารีอา เด ลา ปูริซิมา เพราะถ้าตัว ลา ปูริซิมา เป็นสร้อย ก็ควรจะใช้ต่อว่า อี เด ลา ครูซ หรือ และไม้กางเขน แต่นี่ใช้เดอ ลา ครูซ ผู้แปลจึงคิดเช่นนั้น 

ข้อมูลอ้างอิง

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

"มารีอา ยูเซปปีนา" เจ้าสาวแห่งการตรึงกางเขน


บุญราศียูเซปปีนา แห่ง พระเยซูเจ้าถูกตรึงไม้กางเขน
Bl. Giuseppina di Gesù Crocifisso
ฉลองในวันที่ : 26 มิถุนายน

กอนเชตตา เป็นธิดาจาตระกูลขุนนางนาม มาร์ควิส กรีมัลดี เธอสมรสกับฟรังเชสโก กาตาเนีย ทั้งสองครองคู่กันอย่างมีความสุขกระทั้งในกำเนิดธิดาสองคนคืออันโตเนียตตา และมารีอา และขณะกอนเชตตากำลังตั้งความหวังจะมีลูกอีกซักคนนั้น พระเป็นเจ้าก็ทรงอนุญาตให้เธอได้ธิดาคนที่สาม ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค..1894 กอนเชตตาก็ให้กำเนิดทารกน้อยเพศหญิงหน้าตาน่ารักน่าชัง ในบ้านของครอบครัวที่เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี สี่วันหลังจากนั้นทารกจึงได้รับศีลล้างบาปด้วยนามว่า ยูเซปปีนา แต่คนในครอบครัวชอบเรียกสมาชิกน้อยที่ว่า ปีเนลลา

และนับเป็นโชคดีที่ปิเนลลามีมารดาและคุณยายเป็นคริสตชนใจศรัทธาเป็นดั่งแบบอย่างที่ดีแก่การเจริญชีวิตในฐานะคริสตชน ที่ทำให้ตั้งแต่เล็กๆท่านจึงได้รับการปลูกฝังความเชื่อ ความรัก การเจริญชีวิตในความถ่อมใจและร้อนรนมาอย่างดี  ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความรักในหัวใจดวงน้อยๆของท่านต่อพระเยซูเจ้า คือ เมื่อครั้งหนึ่งญาติของท่านได้ยื้นน้ำสกปรกให้ท่าน พร้อมกล่าวกับท่านว่า ถ้าเธอรักพระเยซูจริงๆ เธอต้องดื่มน้ำนี้ ไม่รีรออันใดท่านก็รับน้ำนั้นมาดื่มทันที โดยปราศจากคำถามใดๆทั้งสิ้น

   

นอกจากนี้หัวใจน้อยๆของท่านยังสั่น และละลายไปด้วยใบหน้าของคนยากไร้ ท่านสวดภาวนาอย่างร้อนรนและมีอุทิศตนต่อการฟังเทศน์ และเรายังอาจกล่าวได้อีกว่าความรักของแม่พระของท่านนั้นมีมากแต่เยาว์วัย ทุกๆคราที่มีปัญหา ท่านมีพระนางเป็นที่พึ่ง ดังนั้นท่านจึงไม่เคยท้อ  ตรงกันข้ามท่านจึงเลือกที่จะสวดบทสวดอันไพเราะของแม่พระนั่นก็คือ วันทามารีย์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตียงไม่ได้ท่านก็สวด เปิดประตูไม่ถึงท่านก็สวด  หรือมารดาท่านมอบงานที่ท่านไม่ค่อยเข้าใจนักท่านก็สวด และทุกครั้งท่านก็จะสามารถผ่านพ้นปัญหาเหล่านั้นไปได้

ท่านเติบโตมาถึงวัยเข้าเรียน ท่านก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนพานิชยาการเรจีนา มาร์เกริตา ซึ่งท่านก็ตั้งใจขยันหมั่นศึกษามาตลอด แต่เวลาเดียวกันกับที่พัฒนาตน ท่านก็ไม่หลงลืมการพัฒนาความศรัทธาเป็นพิเศษต่อแม่พระ ทุกๆเช้าก่อนเข้าเรียน ท่านต้องแวะไปหาแม่พระในวัดนักบุญเซเวรีโนและนักบุญโซสโซเสมอ ขณะเดียวกันทุกวันท่านก็ไม่ลืมสวดสายประคำ โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ท่านยังทำสิบสองเสาร์เพื่อเป็นเกียรติแด่แม่พระผู้ปฏิสนธินิรมลอีกด้วย



ท่านมีพี่สาวคนหนึ่งชื่อ อันโตเนียตตา เป็นภคินีคาร์เมไลท์ แต่เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพเธอจึงไม่อยู่อารามของคณะที่อาร์โก มิเรลลี แม้เธอจะมอบอุทิศตต่อพระเจ้าอย่างร้อนรน ดังนั้นมูลเหตุนี้ เธอพร้อมคุณพ่อโรมวลโดจึงได้ร่วมกันตั้งอารามซานตา มารีอา ไอ มอนตี ขึ้นในปี ค..1910 ดังนั้นในหลายๆโอกาสท่านก็มักแวะมาเยี่ยมพี่สาวของท่านที่บัดนี้มีนามใหม่ว่าซิสเตอร์เทเรซา แห่ง พระกุมารเยซู และบางครั้งท่านมาเข้าเงียบในอารามนี้ แม้จะเป็นเวลาเพียงไม่กี่วัน อารามก็เหมือนเรียกร้องท่านว่า จงละทิ้งทุกสิ่งและมาเป็นธิดาของแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล

แต่ทันทีท่านก็ยังไม่ได้ตัดสินใจแน่ เพราะเหนืออื่นใดคือท่านรักมารดามากจนยากที่จะทิ้งได้ ดังนั้นท่านจึงเริ่มจากการเป็นคาร์เมไลท์ขั้นสามก่อน ทีละนิดๆ แม่พระได้ค่อยชักนำท่านไปใกล้ภูเขาคาร์แมลเรื่อยๆ ในเดือนมีนาคม ค..1918 ท่านก็สัมผัสได้ถึงแรงผลักไปสู่อารามคาร์แมลบนภูเขานั้น ภายหลังจากการทำนพวารต่อนักบุญยอแซฟ ดังนั้นภายหลังจากจบการศึกษาและเอาชนะครอบครัวได้แล้ว ในวันที่ 10 เดือนเดียวกัน ปีนั้นเอง ท่านจึงเข้าอารามซานตา มารีอา ไอ มอนตี


กาลเวลาล่วงเลยผ่านไปภายใต้เงากำแพงของอาราม ยิ่งวันท่านก็ยิ่งมั่นใจในกระแสเรียกของท่านมากขึ้น ถูกแล้ว มันคือการเจริญชีวิตภายใต้ร่มเงาของนักบุญเทเรซา แต่มารดาละ ท่านยังคงอยู่ในอารามกระทั้งวันพระคริสตสมภพแรกในอารามสำหรับท่าน จู่ๆท่านก็ล้มป่วยลงอย่างกะทันหันและยิ่งมีอาการทรุดลงเรื่อยๆในวันถัดมา ดังนั้นเหตุฉะนี้แพทย์จึงได้เข้ามาตรวจอาการท่าน และได้ลงความเห็นว่าท่านป่วยเป็นโรคหลอดลมและเยื่อหุ้มปอดอักเสบ

เวลานี้อาการท่านยิ่งทรุดลงเรื่อย จนประหนึ่งว่าท่านคงจะสิ้นใจแน่นอนภายหลังจากรับศีลเจิม แต่โรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อพรากชีวิตท่าน แต่เกิดขึ้นเพื่อสำแดงถึง กิจการของพระเจ้า ดังนั้นท่านจึงรอดมาได้ แต่ก็กลายเป็นลุกจากเตียงไม่ได้ไปนับแต่นั้น ซึ่งแทนที่ท่านจะโกธรน้อยใจพระ ตรงกันข้ามท่านกลับน้อมรับมันด้วยความสงบเงียบ และยังคงเจริญชีวิตเช่นปกติ กล่าวคือ ณ บนเตียงท่านยังคงสวดภาวนา และขอทำงานที่พอทำได้ โดยไม่เคยลืมเมื่อทำไม่ได้ท่านจะสวดว่า ข้าแต่พระเยซูเจ้า ข้าแต่พระมารดา

หลายเดือนผ่านไป มารดาท่านก็เฝ้าโน้มน้าวท่านให้กลับมาบ้าน แต่ก็ไม่มีผลท่านยังคงเลือกที่อยู่ในอาราม ไม่เพียงเท่านั้น นับวันผ่านความทุกข์ยากท่านก็ยิ่งได้ค้นพบความรู้สึกที่ช่างละม้ายคล้าย ชายผู้ทุกข์ทน ผู้ปรากฏในหนังสืออิสยาห์บทที่ 53 ข้อ 3 และด้วยความรักที่ลุกร้อน ท่านก็ได้ทูลขอพระเยซูเจ้า ให้ท่านได้มีโอกาสมีส่วนในการตรึงกางเขนของพระองค์มากขึ้น

และพระองค์หาได้ปฏิเสธคำขอนี้ เพียงไม่นานท่านก็ล้มป่วยลงด้วยวัณโรคกระดูกสันหลัง จนกลายเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวได้แต่ดวงตา บัดนี้กระดูกของท่านหด เฉกเช่นเดียวกับผิวหนังของท่านที่เหี่ยวย่น การขยับตัวแม้เพียงน้อยนิดช่างเป็นเรื่องที่แสนทุกข์ทนยิ่งนัก แต่กระนั้นท่ามกลางทุกข์ ท่านก็ค้นพบวิธีที่จะร่วมกับพระแม่ ในการจำนนต่อพระเจ้าในทุกสิ่ง และในการร่วมขับเพลงสดุดีมักนีฟีกัตไปพร้อมพระแม่



คืนหนึ่งท่านก็ฝันเห็นนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ มาบีบที่แขนของท่าน เวลาเดียวกันท่านก็ได้ยินเสียงหนึ่งกล่าวว่า นักบุญฟรังซิสจะรักษาลูกจากโรคกระดูกสั้นหลัง เวลาไล่เลี่ยกันพระธาตุแขนของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ก็ถูกนำมายังเมืองเนเปิลส์ และได้จาริกมาเยือนอารามซานตา มารีอา ไอ มอนตี ในวันที่ 26  มิถุนายน ค..1922 แม้ไม่ได้ถูกนำขึ้นไปยังห้องของท่าน นักบุญฟรังซิสได้พอใจคำภาวนาของท่าน

เพียงไม่กี่นาทีกระดูกและหนังที่เคยหดก็ค่อยๆคลาย จนถึงจุหนึ่งท่านพอลุกขึ้นมานั่งคุย หลังจากนั้นท่านก็สามารถลุกเดินไปยังหน้าต่าง ก่อนมุ่งไปยังวัดน้อยของอาราม จนมาถึงหน้าพระแท่นท่านก็คุกเข่าลง สร้างความประหลาดใจแก่ทุกคนที่อยู่ในวัดน้อยนั้น ซึ่งมีคุณพ่อโดลินโด รูโอโตโล พร้อมสัตบุรุษอีกจำนวนหนึ่งเป็นพยาน  ทุกคนต่างร้องไห้ และต่างสรรเสริญพระเมตตาของพระเจ้า และด้วยคุณพ่อคาร์เมไลท์ท่านกลัวว่าท่านจะหนาว เขาจึงถอดผ้าคลุมสีขาวของคณะไปคลุมให้ท่าน นับแต่นั้นท่านก็กลายเป็นคาร์เมไลท์โดยสมบูรณ์

ในฐานะคาร์เมไลท์ ท่านปรารถนาจะใช้ชีวิตอย่างเงียบๆเรียบง่าย แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ดุจนักบุญเทเรซา คือ แทนที่หลังหายท่านจะได้ใช้ชีวิตปกติในความเงียบ กลับกลายเป็นว่ากลับมีผู้คนมากมายต่างแวะเวียนขึ้นมายังอาราม เพื่อมาหาพูดคุยกับท่าน และแน่นอนท่านก็ไม่ได้ไล่พวกเขากลับ ตรงข้ามท่านต้อนรับพวกเขาด้วยความอ่อนหวาน ผ่านดวงตากลมโตคู่ใหญ่และสดใสของท่าน พลางพุดคุยรับฟังเรื่องต่างๆเบื้องหน้าพระรูปพระมารดาแห่งคาร์แมล

ท่านคอยมอบคำแนะนำ ปลอบประโลม ที่เติมเต็มวิญญาณที่มาหาผ่านความช่วยเหลือของพระมารดา  ท่านยังมักเขียนรายชื่อของผู้ที่มาหาเอาไว้ใต้เสื้อคลุมของแม่พระเสมอ เพราะท่านมั่นใจในตัวของพระแม่ ไม่มีใครต้องผิดหวัง แม่พระไม่เคยทำให้ใครอับอายทั้งนี้ผ่านการปลอบประโลม การให้ความกระจ่าง คำปรึกษา การดูแลวิญญาณ และการช่วยสวดให้ทุกคนที่มาขอและทุกข์ยาก ซึ่งดึงดูดทุกคนไม่ว่าจะตั้งแต่ระดับพระคาร์ดินัลไปจนถึงคนยากไร้ หรือแม้กระทั้งคนบาปที่ใจกระด้างให้มาหาท่าน ก็ทำท่านให้ท่านเป็นที่รู้จักในนาม ชีผู้ศักดิ์สิทธิ์


ครั้งหนึ่งมีสตรีคนหนึ่งได้มาหาและพูดคุยกับท่านที่หน้าพระรูปแม่พระ พร้อมด้วยในใจที่มีแต่ความอาฆาตคนที่แทงสามีของเธอจนตาย และพกปืนที่เธอพกไวในกระเป๋าเพื่อไว้ใช้ฆ่าคนที่ฆ่าสามีเธอ แต่เพียงสักพักเธอก็ไม่อาจกลั้นน้ำตาจำนวนมากที่พรุ่งพรูออกมาได้ เธอร้องไห้สักพัก จนถึงจุดหนึ่งท่านก็เริ่มพูดกับเธอด้วยความอ่อนโยนดุจมารดา เมื่อเห็นเธอหยุกดร้อง ด้วยคำพูดที่ทะลุไปถึงวิญญาณ คำพูดที่ลุกร้อนร้อนไปด้วยไฟแห่งรัก คำพูดที่หมายจะปัดเป่าความเกลียดชัง เพื่อให้เธอได้พบการอภัยและสันติ ไม่นานสตรีม่ายนั้นก็ไม่เพียงแต่สามารถออกจากความอาฆาต แต่ยังสามารถออกจากตัวเอง จนได้พบกระแสเรียกการเป็นคาร์เมไลท์ในที่สุด

ท่านยังคงต้อนรับทุกๆคนไปตลอดชีวิต แม้ว่าในช่วงสุดท้ายท่านจะป่วยหนัก ท่านก็ยังออกมาพบทุกคนพร้อมด้วยรถเข็นคู่ใจเสมอ และนอกจากนี้ก็ปรากฏว่าท่านมีพระพรพิเศษเกิดกับท่านหลายๆครั้ง ทั้งพระพรในการหยั่งรู้อนาคตจิตใจ พระพรในการปลอบประโลม พระพรในการทำงานคนได้กลับใจ และพระพรในการเข้าฌานอีกด้วย

และแม้ท่านจะถวายตนเข้าอารามมาหลายปีแล้ว ท่านก็ยังไม่ได้เข้าพิธีปฏิญาณตนตลอดชีพเช่นเดียวกับซิสเตอร์คนอื่นๆ เพราะอารามยังไม่ได้รับอนุมัติการจากสันตะสำนักว่าเป็นอารามของคณะคาร์เมไลท์ไม่สวมรองเท้า แต่ที่สุดภายหลังจากสิบสี่ปีที่เข้าอารามมา ในปี ค..1932 สันตะสำนักก็ได้อนุมัติให้อารามเป็นของคณะคาร์เมไลท์ภายใต้นาม อารามนักบุญเทเรซาและนักบุญยอแซฟ ปอนตี รอสซี

ฉะนั้น ณ เบื้องหน้าพระแท่นมงกุฎหนามศักดิ์สิทธิ์ ใกล้ๆพระแท่นแม่พระ ในวันที่ 6 สิงหาคม ปีเดียวกัน ท่านก็ได้เข้าพิธีปฏิญาณตนตลอดชีพด้วยนาม ภคินีมารีอา ยูเซปปีนา แห่ง พระเยซูเจ้าถูกตรึงไม้กางเขน บัดนี้มีสิ่งใดกันเล่าที่ขาดไป วันนี้ท่านได้สมความปรารถนานับตั้งแต่วันรับชุดของท่าน นั่นคือการได้ถวายตนแด่พระองค์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขน เพื่อถูกตรึงไปพร้อมพระองค์ในฐานะ เจ้าสาวแห่งการตรึงกางเขน

ตรึงตัวไว้ในพระเจ้า ถวายทุกอย่างและเลือกเพียงเครื่องบูชาสำหรับตัวเองเท่านั้น ท่านพร้อมและปรารถนาที่จะ รับทรมานไปจนตาย  ด้วยว่า ความทุกข์คือส่วนที่เหลือของวิญญาณของดิฉัน  ซึ่งท่านตระหนักตลอดชีวิตว่า ดิฉันเป็นเจ้าสาวแห่งการตรึงกางเขน และดิฉันก็จะไม่มีทางลืมมัน ด้วยความรักท่านร้องทูลพระองค์ โอ้ พระเยซู โปรดให้ลูกซึมทราบในพระองค์ โปรดเถิด โปรดเปลี่ยนในตัวลูก เปลี่ยนไปในพระองค์และโปรดให้มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อพระองค์เทอญ

และเพื่อความรอดของวิญญาณทั้งหลาย ท่านเขียน ในทุกๆอะตอมของเม็ดฝุ่นลูกเขียนไว้ด้วยเลือดของลูกว่า : ข้าแต่พระเยซูเจ้า ลูกรักพระองค์ โปรดกอบกู้วิญญาณเทอญ  ทั้งนี้ท่านยังเฝ้าทูลต่อพระมารดา มารดาที่รักของท่าน อย่างไม่รู้จักเหน็ดจัดเหนื่อยว่า โปรดให้ลูกถูกตรึงไปพร้อมพระองค์ ตายไปพร้อมพระองค์ ฟื้นคืนชีพพร้อมพระองค์ คำกล่าวและข้อเขียนเหล่านี้ของท่านคงพอทำให้เราเข้าใจกระแสเรียกการเป็นเจ้าสาวแห่งการตรึงกางเขนของท่านมากยิ่งขึ้น


ท่านยังปรารถนาเจริญชีวิตในอาราม เฉกเช่นเดียวกับแม่พระในธรรมล้ำลึกแห่งการแจ้งสาส์น กล่าวคือ น้อมรับน้ำพระทัยของพระเจ้าและตริตรองถึงมันอยู่ภายใน(เทียบลูกา 2:19) พร้อมยึดมั่นในพระวาจาภายใต้การเป็นพรหมจรรย์ การถ่อมตนและการนบนอบ(เทียบลูกา 1:34-38) และเจริญชีวิตตามพันธกิจที่ได้ ภายใต้การนำของพระจิตเจ้า(เทียบลูกา 1:35) สำคัญที่สุดคือการมีพระเยซูเจ้าทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต

ดิฉันปรารถนาจะเฝ้ามองพระนางมารีย์ ปรารถนาจะมองตลอดไป ท่านไม่เพียงแต่ใคร่ครวญมองพระนางเท่านั้น แต่ท่านยังเป็นของพระนางและมีพระนาง ข้าแต่พระมารดามารีย์ ลูกขอถวายตัวลุกเองแด่พระแม่  ลูกปรารถนามีพระแม่ประทับอยู่ในดวงใจอันน่าสงสารของลูกตลอดไป  ทั้งนี้พระพรพิเศษที่มีนักบุญน้อยนักจะได้ นั่นก็คือ การสำแดงของพระแม่ ผู้เขียนอัตชีวประวัติของท่านเขียนว่า พระนางมารีย์ทรงดำรงอยู่ในซิสเตอร์มารีอา ยูเซปปีนา ทั้งในกิจการ ในความคิด ในเสน่ห์ของเธอ


การลอย เป็นอีกพระพรพิเศษที่ท่านได้รับ หลายๆครั้งท่านก็เข้าฌานลอยตัวต่อหน้าต่อตาซิสเตอร์ในอาราม ทั้งที่ห้องโถงบ้าง สวนของอารามบ้าง ซิสเตอร์ในอารามเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ลมซึ่งปรากฏการณ์ลมลึกลับนี้มักกินเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง  และบางครั้งลมนี้ก็พาท่านลอยไปตามทางเดินของอาราม ก่อนพาเข้าไปยังห้องสวดที่มีพระรูปแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล ถึงจุดนั้นท่านจะหยุดครู่หนึ่งเพื่อจูบเท้าของพระนาง ก่อนจะลอยต่อไป

ในปี ค..1934 พระคาร์ดินัลอเลสซีโอ อัสกาเลซี พระอัครสังฆราชแห่งเนเปิลส์ ก็ได้แต่งตั้งท่านเป็นรองอธิการของอาราม หลังจากนั้นอีก 11 ปี ท่านก็ได้แต่งตั้งเป็นผู้แทนของคณะที่นี่ และในปีเดียวกันในวันที่  29 กันยายน ท่านก็ได้รับเลือกเป็นคุณแม่อธิการของอาราม ซึ่งระหว่างที่ท่านยัดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการนั่นเองอัศจรรย์อีกอย่างของท่านก็ได้เกิดขึ้น


เนื่องจากอารามตั้งอยู่ใกล้สนามบินกาโปดิกิโน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจึงเกิดความหวาดกลัวไปทั่วทั้งอารามและเมือง จากลูกระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ท่าทกลางความหวาดกลัว ท่านก็ไม่ได้กลัวไม่ตรงข้ามท่านให้ความมั่นใจกับซิสเตอร์ทุกคนว่า แม่พระจะทรงปกป้องเรา อย่ากลัวเลย เมื่อมีระเบิดถูกทิ้งลงมาท่านจะเงยหน้าขึ้น อวยพรบรรดาซิสเตอร์ ก่อนจะพูดด้วยน้ำเสียงของมารดาอีกครั้งว่า แม่พระจะทรงปกป้องเรา อย่ากลัวเลย

จนวันหนึ่งอารามก็ตกเป็นเป้าหมายของการทิ้งระเบิด วันนั้นเป็นเวลาค่ำของวันที่ 2 ธันวาคม ค..1940 ไซเรนเริ่มแผดเสียงไปทั่วบริเวณ ทุกคนจึงปฏิบัติตามคำของท่านที่ได้บอกไว้แต่เย็นว่าเมื่อมีเสียงไซเรน ให้ทุกคนไปที่พระแท่น ซิสเตอร์ทุกคนพร้อมใจกันสวดบทมีเซเรเร(เมตตาข้าพเทอญ) ไม่นานก็บังเกิดเสียงอึกทึกสนั่นหวั่นไหวไปทั่วทั้งอาราม ซิสเตอร์ทุกคนรีบพากันวิ่งไปแทบเชิงพระแท่น โดยที่ไม่รู้เลยว่าภายนอกมีลูกระเบิดถึงเจ็ดลูกตกอยู่รอบอาราม  หนึ่งลูกในนั้นได้ทำลายเพียงผนังด้านหนังของวัดใหม่กับหน้าต่าง แต่กลับไม่อาจทำอันตรายชีวิตของซิสเตอร์ได้สักคนเดียว ซึ่งตรงกับคำของท่านคือ พระมาดราจะทรงปกป้องอารามนี้ไว้นั่นเอง


สุขภาพของท่านแย่ลงนับตั้งแต่ปี ค..1943 เป็นต้นมา ท่านเริ่มป่วยด้วยโรคต่างๆและเริ่มมีปัญหาทางด้านสายตา ท่านได้กล่าวถึงช่วงท้ายของการเนรเทศของท่านด้วยการเปรียบตัวท่านเป็นดั่งเช่นเปียโนว่า เจ้านายผู้ยิ่งใหญ่ประสงค์จะได้สดับความแข็งแรงของคีย์ทั้งหมด สตริงทุกสาย ด้วยความทุกข์อันน่ากลัว  และท่านเข้าใจดีว่าความทุกข์นี่เป็น ของขวัญอันงดงาม เพราะมันยิ่งทำให้ท่านใกล้ชิดพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนมากขึ้น

6 มีนาคม ค..1948 พระรูปแม่พระแห่งปอมเปอีหรือแม่พระแห่งสายประคำก็จาริกมายังเมืองเนเปิลส์ แต่การมาครั้งนี้พระนางไม่ได้มาเพื่อรักษาลูกสาวตัวน้อยของพระนาง แต่พระนางมาเพื่อมาส่งลูกสาวตัวน้อยไปหาพระบุตรที่รักในสวรรค์ เพราะในวันนั้นเองอาการของท่านก็แย่มากจากอาการโรคเส้นเลือดอุดตัน แต่ท่านไม่ได้สิ้นใจเพราะความนบนอบต่อคำสั่งของพระคาร์ดินัลอัสกาเลซีที่สั่งว่าให้รอพระคุณเจ้ากลับมาเสียก่อน

หลังจากนั้นไม่กี่วันท่านก็เผชิญกับวิกฤตฝ่ายจิต จนทำให้ท่านถึงกับครางว่า ช่างน่ากลัวเหลือเกิน ช่างน่ากลัวเหลือเกิน…” ซิสเตอร์คนหนึ่งจึงถามว่า คุณแม่คะ คุณแม่กลัวอะไรหรือคะ คุณแม่กำลังอยู่ในอ้อมแขนของพระแม่นะคะ ท่านก็ตอบเธอว่า ถูกแล้ว  ในวันเสาร์พระมหาทรมานที่ 13 มีนาคม ขณะเข้าตรีทูตบางเวลาท่านก็กระซิบเบาๆว่า แม่พระทรงเป็นความช่วยเหลือของลูก

ทรงอยู่ใกล้ๆนี่ใช่ไหมคะ ซิสเตอร์คนหนึ่งจึงเอ่ยถามท่าน แต่ท่านไม่ตอบท่านเพียงแต่กระซิบเบาๆว่า แล้วพบกันใหม่คะ  หลังจากนั้นไม่นานท่านก็กล่าวเสริมว่า แม่พระยังไม่ให้ลูกไป ข้าแต่พระมารดาของลูก โปรดวางใจลูกเถอะ..” ท่านน้อมรับกางเขนอันขื่นขมไว้อย่างดีเพื่อวิญญาณทั้งหลายโดยเฉพาะบรรดาพระสงฆ์ กระทั้งในบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พระคุณเจ้าอัสกาเลซีก็มาถึงอาราม พร้อมกล่าวกับท่านว่า หากพระเป็นเจ้าประสงค์ให้ลูกไปแล้ว ลูกเอ๋ย เราอนุญาตให้ลูกทำตามน้ำพระทัยของพระองค์



ดังนั้นในเวลา 19.10 . ของวันเดียวกัน ท่านในวัย 53 ปี ก็ได้คืนวิญญาณไปสู่พระเป็นเจ้าอย่างสงบภายใต้อ้อมแขนของพระมารดา ผู้ที่ท่านรัก ดิฉันรักแม่พระมากๆ รักพระนางเหมือนท่านนักบุญเบอร์นาร์ด นักบุญดอมินิก นักบุญอัลฟอนโซ ร่างของท่านถูกตั้งให้ประชาชนได้สัมผัสสิบสี่วัน โดยที่เป็นอัศจรรย์ที่ตลอดเวลานั้นร่างของท่านยังคงยืดหยุ่น

มรดกล้ำค่าที่ท่านได้ทิ้งไว้ก็คือหนังสือสองเล่มที่เขียนขึ้นตามคำสั่งของคุณพ่อวิญญาณของท่าน นั่นคือ หนังสืออัตชีวประวัติที่บันทึกเรื่องราวของท่านตั้งแต่เกิดถึงปี ค..1932 และบันทึกที่เขียนในระหว่างปี ค..1925 – ..1945 นอกจากนี้ก็เป็นจดหมายจำนวนมาก  และเมื่อมีอัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่าน ในวันที่ 1 มิถุนายน ค..2008 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ก็ทรงบันทึกนามท่านในสารบบบุญราศี นับเป็นบุญราศีคาร์เมไลท์ไม่สวมรองเท้าองค์ล่าสุด


ผู้ใดรับใช้เรา ผู้นั้นจงตามเรามา เราอยู่ที่ใด ผู้รับใช้ของเราก็จะอยู่ที่นั่นด้วย(ยอห์น 12:26) ข้อพระวรสารนี้เรียกร้องให้พวกเราในฐานะ ผู้ติดตามพระคริสต์ ติดตามพระองค์ไปทุกๆที่ไม่เว้นแม้แต่เนินกัลวารีโอ กล่าวคือให้เราน้อมรับความอับอายจากปฏิเสธโลก และรับแบกกางเขนพร้อมความทรมานที่ผู้ที่ไม่ได้ติดตามพระคริสต์ มองว่าเป็นเรื่องโง่ เพื่อสุดท้ายเมื่อเราน้อมรับน้ำพระทัยของพระจ
นถึงที่สุดแล้ว เราก็จะได้กลับคืนชีพขึ้นมาในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์และได้รับบำเหน็จในสวรรค์จากพระองค์ และนี่แหละคือข้อเรียกร้องจากชีวิตของบุพผาคาร์แมลผู้นี้ ผู้มีนามว่า มารีอา ยูเซปปีนา ผู้ได้สอนเราให้มีกระแสเรียกการเป็น เจ้าสาวของการตรึงกางเขน



ข้าแต่ท่านบุญราศียูเซปปีนา แห่ง พระเยซูเจ้าถูกตรึงไม้กางเขน ช่วยวิงวอนเทอญ



ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ At the door of the tent

คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โต...