บุญราศีมารีอา
แห่ง ดวงพระหฤทัย
Bl. Maria do
Divino Coração
ฉลองในวันที่ : 8
มิถุนายน
องค์อุปถัมภ์ : พระสงฆ์ และผู้ศรัทธาต่อดวงพระหฤทัย
หากกล่าวถึงความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัย
ก็นับว่าเป็นอีกสิ่งที่อยู่คู่ชีวิตคริสตชนไทยมาอย่างยาวนาน
แทบไม่มีคริสตชนคนไหนที่ไม่รู้จักพระหฤทัยและนักบุญมาร์การิตา แต่ก็น้อยยิ่งนักที่จะรู้ว่าในวันที่
11 มิถุนายน ค.ศ.1899 สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ก็ทรงออกพระสมณสาสน์ “ถวายมวลมนุษยชาติแด่ดวงพระหฤทัย”
และน้อยลงไปอีกที่จะมีคนรู้ว่าผู้มีส่วนในการออกสมณสาส์นนี้หาใช่นักบุญมาร์การิตา
หาใช้พระคาร์ดินัลองค์ไหน หรือพระสังฆราชองค์ใด หรือพระสงฆ์
แต่กลับเป็นเพียงซิสเตอร์คนหนึ่ง
ณ
เมืองมึนเตอร์ ประเทศเยอรมัน “ดรอสเต ซู
วิสเชอริง” เป็นหนึ่งในตระกูลขุนนางเก่าแก่
ที่มีชื่อเสียงของแคว้นนี้ ตระกูลนี้ไม่เพียงแต่รวยด้วยเงินทอง แต่ยังรวยด้วยความเชื่อ
ณ ประตูของปราสาทของพวกเขามีคำขวัญจารึกไว้ว่า “ในพระองค์ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเฝ้ารอพระองค์
ข้าพเจ้าจะไม่กระวนกระวายต่อสิ่งใด” นี่แหละคือสภาพของครอบครัวที่พระเจ้าได้ทรงเลือกไว้ให้เป็นที่กำเนิดของธรรมทูตของพระองค์
ธรรมทูตที่จะทำพันธกิจที่ยิ่งใหญ่เพื่อโลกใบนี้
“มารีอา”
หรือนามเต็ม มารีอา อันนา โยฮันนา ฟรันซิสกา เทเรซีอา อันโตนีอา ฮูเบอร์ตา ดอสเต
ซู วิสเชอริง เกิดมาพร้อมพี่ชายฝาแฝดชื่อ มัซ เมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1863 ณ พระราชวังเอิร์บดรอนเทนโฮฟ บนถนนหมายเลข 38 ในเมืองมึนเตอร์ บิดามารดาของท่านคือคลีเมนส์
ไฮเด็นไรช์ ฟรานซ์ ฮูแบร์ตุส อิวเซบิอุส มารีอา ท่านเคาท์แห่งตระกูลดรอสเต ซู
วิสเชอริง กับท่านหญิงเฮเลเนอ เคลเมนตีเนอ มารีอา อันนา ซีบีลเล ฮูเบอร์ตา
อันโตนีอา เคาส์เตสแห่งกาเลน
และสืบเนื่องมาจากในวัยแรกคลอด
ธิดาน้อยมีสุขภาพไม่แข็งแรง บิดามารดาจึงจัดให้ท่านได้รับศีลล้างบาปทันทีที่เกิด เพื่อจะได้ไม่ตายในบาปกำเนิด
แต่ก็ผิดคาด เพราะแทนที่บุตรีน้อยจะก้าวเข้าใกล้ประตูแห่งความตาย
ท่านกลับมีชีวิตรอด แถมไม่พอยังเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กหญิงที่ร่าเริง และซนอย่างกะลิง
แทนที่น่าจะเป็นเด็กขี้โรค ซึ่งหากจะเล่าว่าซนขนาดไหน ก็เล่าได้เลยว่าภายใต้ร่มเงาที่ทอดตัวของปราสาทที่ขึ้นชื่อว่าสวยที่สุดในมึนเตอร์อย่าง
ปราสาทดาร์เฟลด ที่ครอบครัวอาศัยอยู่ ท่านล้วนเคยวิ่งไปทั่วไม่ว่าจะซอกไหน และยิ่งพบจุดใดที่เปียกแฉะ
ท่านก็ต้องไม่พลาดกระโดดลงไปไม่ว่าจะเป็นที่สนามหรือที่พุ่มไม้ ชนิดที่ว่าทุกระเบียบนิ้วของเสื้อผ้าท่านแทบจะเต็มไปด้วยโคลน
นอกจากนั้นท่านยังชอบไปขี่ม้า เล่นสเก็ตน้ำแข็ง และชอบเป็นคนแรกเสมอที่จะเล่นกับพี่ๆน้องๆทั้งเจ็ด
ส่วนเรื่องการศึกษานั้น
ท่านและมัซได้รับการศึกษาเป็นครั้งแรกที่บ้าน โดยที่บิดาได้จ้างครูมาสอน ซึ่งในระหว่างนั้นในวันที่
25
เมษายน ค.ศ.1875
ท่านและพี่ชายก็ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก
พร้อมความคาดหวังว่าท่านจะได้พบกระแสเรียก แต่ก็เปล่าเลย ท่านไม่พบอะไร ท่านบันทึกวันนั้นอย่างผิดหวังว่า
“หนูเฝ้ารอวันนั้นวันแห่งพระหรรษทานของการเรียกเป็นนักบวช
แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย…” แต่พระคริสตเจ้าก็ไม่ปล่อยให้เจ้าสาวของพระองค์ต้องรอนาน
เพราะเพียงไม่นานเมื่อท่านได้รับศีลกำลงในวันที่ 8 กรกฎาคม ปีเดียวกัน
สิ่งที่ท่านหวังก็เป็นจริง ท่านได้พบกระแสเรียก “หนูจะเป็นนักบวช”
และเช่นกันนับจากวันนั้นมา
ท่านก็ได้รับความช่วยเหลือฝ่ายจิต ที่นำท่านไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า
ทั้งจากการสนทนาภายใน และการไขแสดงจำนวนมากผ่านศีลมหาสนิท
ท่านก็ได้เข้าใจว่าความทุกข์ยากนี้แหละคือกระแสเรียกของท่าน ดังนั้นท่านจึงปรารถนาที่จะเป็นยัญบูชาเพื่อความต้องการของพระศาสนจักร
ความรอดของวิญญาณ และชดเชยบาปผิดของบรรดาพระสงฆ์
และนั่นก็คือสิ่งที่ในภายหลังพระองค์ได้ตรัสกับท่าน
ว่าท่านรับทุกข์มากมายเพื่อพระองค์ เพื่อชดเชนบาปผิดของผู้อื่น
โดยเฉพาะเพื่อพระสงฆ์ที่ละทิ้งกระแสเรียก
ท่านอธิบายความศรัทธาเป็นพิเศษต่อดวงพระหฤทัยว่าเป็นหนึ่งเดียวกับความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท
เอาไว้ว่า “ฉันไม่เคยแยกความศรัทธาเป็นพิเศษต่อดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า
ออกจากความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท และฉันก็ไม่มีทางอธิบายวิธีการและความมากเพียงใดที่ดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าได้ถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์แก่ฉันในศีลมหาสนิทได้”
ท่านศึกษาอยู่ที่บ้านกระทั้งในเดือนเมษายน
ปี ค.ศ.1879 ท่านก็ได้เข้าโรงเรียนกินนอนของคณะซิสเตอร์พระหฤทัย
ที่เมืองรินบร๊วก ซึ้งแม้จะห่างจากคนในครอบครัว ความร่าเริงของท่านก็ไม่ได้ลดไม่ไปไหน
เพื่อนๆของท่านที่โรงเรียนเล่าว่า “ในสนามเด็กเล่นไม่มีใครวิ่งเร็วกว่าเธอ
ไม่มีใครโยนลูกบอลได้สูงเท่าเธอ แต่เมื่อเสียงระฆังหมดเวลาพักดังขึ้น ก็จะสงบและเงียบ
ทั้งหมดนี้ก็คือมารีอา”
จนวัยล่วงได้ 18 ปีที่โรงเรียนนั่นเอง ในวันพระคริสตสมภพปี ค.ศ.1883 ท่านก็ได้ปฏิญาณตนจะถือพรหมจรรย์ อันหมายถึงว่า
บัดนี้ท่านได้เลือกพระคริสตเจ้าเป็นเจ้าบ่าวแต่เพียงผู้เดียว
ฝ่ายพระองค์ก็ทรงรับรอบคำปฏิญาณไว้ด้วยการประทานกางเขนแก่ท่าน นั่นก็คือโรคปอดบวมที่ทำให้ท่านต้องกลับไปพักหลังรักษาตัวที่ปราสาท
นอกจากนี้ในวันหนึ่งในปีเดียวกัน ขณะท่านอยู่ในวัดน้อยของปราสาท
พระองค์ก็ได้ทรงตรัสกับท่านในภายในว่า “ลูกจะเป็นศรีภรรยาของดวงหทัยเรา” ซึ่งนับเป็นการยืนยันว่าบัดนี้ท่านเป็นเจ้าสาวของพระคริสตเจ้าแล้ว
และเพื่อไล่ตามความฝันนับแต่วันรับศีลกำลัง
ในวันที่ 5 สิงหาคม ปีนั้น ซึ่งเป็นวันฉลองชีวิตคู่ 25 ของบิดามานดา ท่านก็ตัดสินใจเผยความปรารถนาจะเป็นนักบวชแก่ทั้งสอง
แต่เนื่องจากร่างกายของท่านไม่แข็งแรงดี ท่านจึงต้องรอไปก่อน
ดังนั้นระหว่างที่รออยู่ที่ปราสาทของครอบครัว ท่านจึงอุทิศเวลาเพื่อฝึกฤทธิ์กุศลแห่งความเมตตาต่อคนยากไร้
โดยท่านได้เปลี่ยนตัวของท่านให้เป็นดั่งมารดาของพวกเขา
กระทั้งในปี ค.ศ.1888 เมื่อท่านมีการเข้าเยี่ยมโรงพยาบาลดาร์เฟลด พร้อมมานดา ท่านก็ได้พบกับเด็กหญิงคนหนึ่งที่จะทำให้ท่านกลายเป็นขี้ปากชาวบ้านได้
แต่ท่านก็หาได้กลัวไม่ตรงกันข้าม ท่านกลับเลือกที่จะยื้นมือออกไปหาเธอคนนั้น อันนับเป็นครั้งแรกที่ท่านได้สัมผัสกับพระพรพิเศษของ
“คณะภคินีศรีชุมพาบาล” ที่ได้กล่าวไว้ว่า “บุคคลเดียวมีค่ามากกว่าโลกทั้งโลก” และหลังจากนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม ปีนั้นเอง ขณะรอแก้บาปในวัด
พระเยซูเจ้าก็ทรงตรัสปลดท่านจากการรอคอย ด้วยการตรัสกับท่านในภายในว่า “ลูกจะต้องเข้าอารามคณะภคินีศรีชุมพาบาล”
เหตุฉะนี้ในวันที่
21 พฤศจิกายน
ปีนั้นเอง ด้วยวัย 25 ปี ท่านจึงได้สมัครเข้าอารามของคณะภคินีศรีชุมพาบาล
ในเมืองมึนเตอร์ และได้รับชุดคณะในวันที่ 10 มกราคม
ค.ศ.1889 ด้วยนามว่า “ภคินีมารีอา แห่ง ดวงพระหฤทัย” ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเองที่ลิซิเออร์
ประเทศฝรั่งเศส มารี
ฟร็องซวซ เตแรซ มาร์แต็ง ก็ได้รับชุดคณะของคณะคาร์เมไลท์ พร้อมนามใหม่ว่า
ภคินีเทเรซา แห่ง พระกุมารเยซูและพระพักตร์ศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นท่านจึงได้เข้าพิธีปฏิญาณตนในวันที่
29 มกราคม
ค.ศ.1891
ในฐานะ “ซิสเตอร์” นับตั้งแต่ปี
ค.ศ.1891 ท่านก็ได้รับมอบหมายงานในการดูแลบรรดาเยาวชนหญิงที่ถูกส่งมาที่คอนแวนต์เพื่อเข้ารับการฟื้นฟู
และรักษาตัว ซึ่งท่านก็ทำมันด้วยความรักอย่างร้อนรนต่อบรรดาเยาวชน “คนยากจนที่สุด คนที่ขัดสนที่สุด
คนที่ถูกทอดทิ้งมาที่สุดก็คือบรรดาเด็กๆที่ดิฉันรัก” และแม้จะมีเชื้อสายเจ้าขุนมูลนาย
ท่านก็ไม่เคยโอ้อวดจน ตรงข้ามท่านกลับถ่อมตัวของท่านลง พลางพร่ำบอกคนอื่นว่าตัวนั้นมิใช่ลูกแท้ๆของตระกูล
จนกลายเป็นตัวตลกของซิสเตอร์คนอื่น ที่เวลาทำอะไรล้มไม่เป็นท่า
ก็จะถูกซิสเตอร์คนอื่นๆฉวยโอกาส “ตบหน้าท่านผู้หญิงเสียหน่อย”
ท่านเจริญชีวิตตามฤทธิ์กุศลสามประการอย่างดีพร้อม
แม้จะต้องทุกข์ยากทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิตจนเวลาผ่านมาได้ 5 ปี ด้วยความนบนอบต่ออธิการิณีที่มึนเตอร์
ในปี ค.ศ.1894 ท่านในวัย 31
ปี ก็ได้ถูกส่งตัวไปเป็นผู้ช่วยอธิการิณีในอารามของคณะที่เมืองลิสบอน
ประเทศโปรตุเกส ท่านประจำอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสองเดือนคือระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ในวันที่ 17 พฤษภาคม
ค.ศ.1894 ท่านก็ได้รับตำแหน่งให้ไปเป็นคุณแม่อธิการิณีที่อารามของคณะ
เมืองปอร์โต อารามที่ตกอยู่สภาพทรุดโทรมอย่างหนัก
ท่านเขียนอธิบายถึงสถานการณ์หลังจากมาถึงได้ไม่นานว่า
“พวกเราอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก
บ้านอยู่ในสภาพปรักหักพัง เพราะถูกเผาจากเจ้าหนี้ที่ต้องการหยุดพวกเรา ดิฉันเห็น
และรู้สึกได้ว่าพระเป็นเจ้าทรงสถิตอยูกับดิฉัน และกระทำให้ความกล้าหาญดิฉันเติบโต
มากขึ้นมากขึ้นในทุกวัน แม้บางครั้งมันจะยากเกินทนไหวก็ตามที … พวกเราพึ่งแพ็คของที่เหลือได้ห้าหกกล่อง และมีอาหารพอสำหรับคนประมาณ
120 คน … ดิฉันรู้สึกว่าคนโปรตุเกส ไม่ค่อยสนใจอาการป่วยมากเท่าไร
ดังนั้นพวกเขาจึงเฉยและถ่อมตน” กระนั้นก็ตาม
ท่านก็ไม่ได้ย่อท้อตรงข้ามอาศัยความอดทน และความวางใจในดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า
ไม่นานท่านก็ทำให้จากซากปรักหักพัง ก็กลายเป็นสถานที่ที่พระเจ้าอวยพระพรในที่สุด
แต่เพียงสามปีถัดมาหลังรับตำแหน่งคือในวันที่
21 พฤษภาคม ค.ศ.1896 ท่านก็เกิดพลัดตกจากเตียง
จนทำให้มีอาการปวดที่กระดูกสันหลัง ที่พัฒนากลายมาเป็นอาการอัมพาต บังคับให้ท่านต้องนอนอยู่แต่บนเตียง
แต่ขณะท่านน้อมรับกางเขนนี้เอง พระเป็นเจ้าก็ได้ทรงเริ่มพันธกิจที่สำคัญต่อท่าน
ด้วยการชิดสนิทวิญญาณของท่านไว้แนบดวงหฤทัยของพระองค์
ทุกๆวันพระองค์ทรงตรัสกับท่านภายในจิตใจ ปลอบประโลมท่านว่าความทุกข์ของท่านเป็นไปเพื่อเห็นแก่ความดีของวิญญาณทั้งหลาย
และเมื่อถึงวันหนึ่งก็ทรงเผยพันธกิจของท่าน นั่นก็คือการให้ท่านรายงานต่อสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่
13 ว่าพระองค์ทรงปรารถนาให้มีการยกถวายมวลมนุษยชาติต่อดวงพระหฤทัยของพระองค์
เหตุฉะนี้ ท่านจึงไม่รีรอที่จะนำเรื่องนี้ไปแจ้งแก่คุณจิตตราภิบาลของอารามให้ทราบ
ด้วยปรารถนาที่จะทำความปรารถนาของพระเยซูเจ้าให้สำเร็จไปโดยเร็ว แต่เมื่อคุณพ่อจิตตราภิบาลทราบเรื่อง
คุณพ่อก็มิได้เห็นด้วยทั้งคัดค้านท่านว่า “องค์สันตะบิดรทรงมีที่ปรึกษาของพระองค์อยู่แล้ว…” ท่านจึงได้แต่นบนอบและเก็บเรื่องนี้ไว้เงียบๆ พลางเฝ้าสวดภาวนาอย่างร้อนรนให้อุปสรรคต่อพระประสงค์นี้ผ่านพ้นไป
กระทั้งได้รับการย้ำจากพระเยซูเจ้าถึงสองครั้ง ที่สุดในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1898 จิตตาภิบาลประจำคอนแวนต์ของท่าน
ก็ได้ตัดสินใจเขียนจดหมายถึงสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13
เพื่อแจ้งให้พระองค์ทราบถึงความปรารถนาของพระเยซูเจ้า ที่ทรงได้เผยแสดงแก่ท่าน
แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่
13 ไม่ทรงปักใจเชื่อในทันที พระองค์จึงไม่ทรงปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระคริสตเจ้า
แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ ในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.1899 ท่านก็ตัดสินใจเขียนจดหมายเป็นฉบับที่สองถึงพระองค์ โดยได้ย้ำคำขอเดิม ไปพร้อมคำขอให้มีการทำศุกร์แรกเพื่อถวายเกียรติแด่ดวงพระหฤทัย
และการประชวรของพระองค์ และย้ำว่าพระองค์จะทรงพระชนม์อยู่เพื่อถวายมนุษยชาติแด่ดวงพระหฤทัย
“เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา องค์สันตะบิดาทรงทุกข์ทนจากพระอาการประชวร
ขอให้พระชนมายุยืนยาว ขอโปรดทรงเติมเต็มดวงใจลูกๆของพระองค์ด้วยความสนพระทัย องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปลอบใจลูกอย่างอ่อนหวาน(โดยเผยให้ทราบ)ว่าพระองค์(พระสันตะปาปา) จะมีพระชนม์ยืนยาว
เพื่อจะเป็นผู้ถวายมนุษยชาติแด่ดวงพระหฤทัยของพระองค์ […] ในวันสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเผยแสดงให้ลูกทราบอาศัยวิธีการส่งเสริมความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัยใหม่นี้
พระองค์จะทรงส่องสว่างโลกทั้งใบด้วยแสงใหม่ […]
ลูกดูเหมือนจะได้แลเห็นแสง(ในภายใน)
พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ดวงอาทิตย์อันแสนน่ารักนี้ ทอแสงลงมายังแผ่นดินโลก
เริ่มจากแคบๆ และจึงค่อยขยายขึ้นเรื่อยๆ จนสว่างไปทั่วทั้งโลก ลูกได้รับรู้ถึงความปรารถนาอันร้อนรนที่พระองค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นดวงพระทัยอันน่ารักของพระองค์
ได้รับการสรรเสริญและเป็นที่รู้จักมากขึ้นและมากขึ้น
และเห็นการเผยแพร่ของขวัญและพรพรของพระองค์ต่อโลกทั้งใบไปในต่างแดน
และยังทรงตรัสอีกว่า ‘อาศัยความสว่างของแสงนี้ ประชากรและชนชาติทั้งหลายจะสว่างไสว
และพวกเขาจะได้รับความอบอุ่นจากความรุกร้อนของมัน’ […] อนึ่งอาจจะเป็นเรื่องประหลาดที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงขอการถวายของมนุษย์ชาตินี้
และสาระของพระองค์เองไม่ได้จำกัดแต่พระศาสนจักรคาทอลิก
แต่ความปรารถนาของพระองค์ก็คือการได้ปกครอง การถูกรักและถูกสรรเสริญ และได้เผาไหม้ดวงใจทั้งหมดด้วยความรักและความเมตตาของพระองค์
ดังนั้นจึงเป็นพระประสงค์ของพระองค์ให้สันตบิดายกถวายดวงใจทุกดวงที่เป็นของพระองค์แล้วอาศัยศีลล้างบาปเพื่อส่งเสริมการกลับใจของพวกเขาสู่พระศาสนจักรเที่ยงแท้
และดวงใจของผู้ที่ยังไม่ได้ชีวิตฝ่ายจิตอาศัยศีลล้างบาป
ผู้คนเหล่านี้ที่พระองค์ได้มอบชีวิตและโลหิต
ผู้ที่จะได้รับนามว่าบุตรธิดาของพระศาสนจักรแด่พระองค์
เพื่อเร่งรัดอาศัยให้เกิดชีวิตฝ่ายจิตของเขา”
จดหมายฉบับที่สองของท่าน
15 มกราคม ค.ศ.1899
ทางฝั่งสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ
ที่ 13 เองนักเทววิทยาที่ใกล้ชิดก็ได้พระองค์ก็ได้กล่าวว่าเรื่องนี้มีผลกระทบทางพระอารมณ์ของพระองค์มาก
แม้ว่าเรื่องนี้จะมีปัญหาทางเทววิทยาถึงการยกถวายบุคคลที่ไม่ใช่คริสตชนก็ตามที
พระองค์ก็ทรงมีรับสั่งให้ทำการสอบสวนเรื่องนี้บนพื้นฐานตามการไขแสดงของท่าน
และตามธรรมประเพณีของพระศาสนจักร จนในปีเดียวกันนั้นเองพระองค์ก็ทรงออกสมณสาสน์อันนูม
ซากรูม หรือปีศักดิ์สิทธิ์ โดยมีกำหนดการณ์ถวายมวลมนุษยชาติแด่ดวงพระหฤทัยในวันที่
11 มิถุนายน ปีนั้น นับเป็นเวลาได้ราวเดือนหนึ่งหลังจากท่านเขียนจดหมายฉบับที่สอง
ความปรารถนาอีกสิ่งของท่านก็คือการสร้างวัดในพื้นที่คณะทำงานอยู่
แต่ก็ติดปัญหาที่ว่าท่านไม่ทราบว่าวัดหลังนี้จะถวายแด่ใครดี
ท่านจึงเฝ้าสวดภาวนา และถามไถ่ความคิดเห็นของคนอื่นๆ อยู่ตลอด
แต่ก็ยังไม่ตัดสินใจเสียที จนถึงวันศุกร์แรกของเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1897 ท่านจึงตัดสินทูลขอความสว่างจากพระองค์ และทันทีภายหลังรับศีลแล้ว
พระองค์ก็ทรงตรัสแก่ท่านว่า “เราปรารถนาวัดที่ยกถวายแด่ดวงพระหฤทัยของเรา
ลูกต้องสร้างสถานที่แห่งการชดเชยบาปที่นี่ จากส่วนหนึ่งของเรา เราจะทำให้มันเป็นสถานที่แห่งพระหรรษทาน
เราจะประทานพระหรรษทานมากมายมาแก่ทุกคนที่อาศัย ณ บ้านหลังนี้(อาราม) ไม่ว่าจะผู้อยู่ในขณะนี้ อยู่ในอนาคต
และแม้แต่คนที่มีความสัมพันธ์กับที่นี่ด้วย” ก่อนจะทรงรับสั่งเพิ่มว่า เหนือสิ่งอื่นใด ทรงปรารถนาให้วัดหลังนี้
เป็นสถานที่แห่งการชดเชยบาปผิดต่อการทุรจารศีลศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อรับพระหรรษทานจากบรรดาพระสงฆ์
ฉะนั้นการสร้างวัดหลังนี้จึงเป็นความกังวลสุดท้ายในชีวิตของท่าน
แม้ว่าในเวลานี้ท่านจะล้มป่วยหนัก จนแทบจะจับดินสอ
เพื่อตรวจงานเรื่องนี้ไม่ไหวก็ตาม ท่านก็ไม่ท้อ แต่น่าเศร้าที่ท่านไม่อาจได้อยู่บนโลกเพื่อมองสองสิ่งนี้
เพราะขณะโลกกำลังเตรียมใจสำหรับพิธีถวายครั้งนี้ ในวันศุกร์สมโภชพระหฤทัย
ที่ปีนั้นตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ.1899 ภายหลังจากช่วงเช้าได้รับสำเนาพระสมณสาส์นนี้
เป็นของขวัญปลอบใจจากสมเด็จพระสันตะปาปา ณ เวลาบ่ายสามโมง ท่านผู้เปี่ยมไปด้วยความสุข ก็คืนวิญญาณไปหาพระเป็นเจ้าอย่างสงบ
ด้วยอายุ 35 ปี เพียงสามวันก่อนวันถวาย
ที่พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13
ตรัสว่าคือ “กิจการอันยิ่งใหญ่ของหน้าที่สังฆราชของข้าพเจ้า”
วัดที่ท่านฝันถูกสร้างขึ้นในอีก
58 ปีถัดมา
การอ่านบทภาวนาถวายมนุษยชาติต่อพระหฤทัยถูกรื้อฟื้นทุกๆปี
ตามคำสั่งของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 10 ส่วนร่างของท่านนั้นเมื่อถูกขุดขึ้นมา
แล้วทำการย้ายไปยังวัดที่ท่านฝันถึงก็ปรากฏว่าไม่เน่าเปื่อย และที่สุดในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1975 บุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ก็ทรงได้บันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศี นับเป็นอีกก้าวสู่การเป็นนักบุญองค์ต่อไป
ของคณะ
“จงเลียนแบบจากเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน” (มธ 11:29) คือข้อพระวรสารอีกข้อจำกัดความถึงกระแสเรียกของเราคริสตชน
กระแสเรียกที่จะเป็น “ศรีภรรยาของดวงพระหฤทัย” ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่จำกัดแต่ตัวท่าน แต่รวมไปถึงทุกคน แล้วการเป็นภรรยาที่ดีหรือศรีภรรยาคืออะไรละ มันก็คือการที่เราภักดีและปฏิบัติตามสามีอย่างดีที่สุด ดังนั้นการเป็นศรีภรรยาของดวงพระหฤทัยจึงหมายถึงการที่เราภักดีและเลียนแบบดวงหฤทัยของพระเยซูเจ้า ที่รัก อ่อนโยน แสนถ่อมตนแก่ทุกๆคน และนบนอบต่อน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าเสมอ ไม่ว่ายามไหน เพื่อเราในจะได้นำวิญญาณแม้นเพียงสักดวงหนึ่งให้ได้สัมผัสกับดวงพระหฤทัยของพระองค์ ผ่านกิจการของเราในฐานะ “ศรีภรรยาของดวงพระหฤทัย”
“รู้เถิด ลูกสาวของเรา
อาศัยความเมตตาของดวงหทัยของเรา เราปรารถนาหลั่งเทพระหรรษทานผ่านหัวใจของลูกมากกว่าของคนอื่น
นี้แหละคือเหตุผลที่ผู้คนมากมายจะมาหาลูกด้วยความมั่นใจ
ไม่ใช่ด้วยคุณลักษณะของลูกที่ดึงดูดพวกเขา แต่เป็นเราเอง
จะไม่มีแม้คนบาปที่ใจแข็งที่สุด จะหนีไปจากการแสดงตัวของลูกโดยไม่ได้รับอะไร
ไม่ว่าจะเป็นหนทางหรือสิ่งใด การปลอบประโลม ความบรรเทาใจหรือพระหรรษทานพิเศษ”
“ข้าแต่ท่านบุญราศีมารีอา แห่ง ดวงพระหฤทัย ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง