บุญราศีมารีอา กันดีดา แห่ง ศีลมหาสนิท
Bl. Maria Candida dell'Eucaristia
วันฉลอง: 14 มิถุนายน
“เราเป็นปังแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิว และผู้ที่เชื่อในเราจะไม่กระหายอีก”
(ยอห์น 6 : 35)
บ่ายวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2007 พระสงฆ์จากคณะบุตรธิดาของพระเจ้าซึ่งจะทำมิสซาที่อารามนักบุญเทเรซา แห่ง พระเยซูเจ้า เมืองรากูซา ประเทศอิตาลี แทนคุณพ่อจิตตาธิการคณะคาร์เมไลท์ในวันรุ่งขึ้น ได้เดินทางมายังอารามและได้แจ้งว่าคุณพ่อจะอยู่ทำมิสซาจนถึงวันที่ 16 มกราคม เพราะตรงกับวันเกิดของ ‘คุณแม่มารีอา กันดีดา แห่ง ศีลมหาสนิท’ พอดี คุณพ่อและคุณแม่อธิการจึงได้ช่วยกันตรวจดูว่ามีแผ่นศีลที่เสกแล้วจำนวนมากน้อยเท่าใด และเมื่อพบว่าในผอบศีลมีแผ่นศีลอยู่ประมาณ 20 แผ่น คุณแม่อธิการจึงได้เตรียมแผ่นศีลเพิ่มอีกเพียง 4 แผ่นไว้บนจานรองศีล โดยอาศัยการคาดคะเนจากจำนวนผู้ร่วมมิสซาประจำวันที่ไม่ได้มีมากเท่าไร แต่แล้วเมื่อถึงเวลามิสซาในวันรุ่งขึ้น คุณแม่ก็พบว่ามีสัตบุรุษมาร่วมพิธีมิสซาจำนวนมากกว่าปกติ เนื่องจากมีสมาชิกคณะบุตรธิดาของพระเจ้าได้มาร่วมมิสซาโดยมิได้แจ้งไว้ก่อน แต่ครั้นจะไปเพิ่มจำนวนแผ่นศีลก่อนไม่ทันการเสียแล้ว
ในสถานการณ์ที่คับขันเช่นนี้ คุณแม่อธิการและมาเซอร์ที่ดูแลห้องหลังวัดที่หมดหนทางจะเพิ่มจำนวนแผ่นศีลให้พอดี ทั้งสองจึงนึกถึงบุคคลเดียวกับที่คุณพ่อประสงค์จะอยู่ทำมิสซาระลึกถึงวันเกิดในวันรุ่งขึ้น นั่นคือ ‘คุณแม่มารีอา กันดีดา’ และได้ตัดสินใจวิงวอนต่อพระเจ้าอาศัยคำเสนอวิงวอนของคุณแม่ให้สัตบุรุษที่มาร่วมมิสซาในวันนี้ทุกคนสามารถได้รับศีลมหาสนิทได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ในทำนองเดียวกับนักพรตทั้งสองได้ปฏิบัติ เมื่อผู้ช่วยพิธีกรรมวัย 57 ปีในวันนั้นเปิดผอบศีลในตู้ศีลดูและพบว่าแผ่นศีลที่เสกไว้มีไม่เพียงพอกับจำนวนสัตบุรุษในพิธี เขาที่ไม่รู้จะแก้ปัญหาเบื้องหน้าด้วยวิธีใด จึงเลือกที่จะวิงวอนต่อพระเจ้าอาศัยคำเสนอวิงวอนของคุณแม่มารีอา กันดีดาเช่นกัน และแล้วท่ามกลางความหวังของทั้งสาม เมื่อพระสงฆ์ผู้ทำพิธีเริ่มแจกศีลที่มีอยู่ไม่เกิน 30 แผ่นในผอบไปแจก อัศจรรย์ก็ได้บังเกิดขึ้น เมื่อสัตบุรุษที่มีอยู่มากกว่า 40 คนในวันนั้นได้รับศีลมหาสนิทโดยทั่วหน้า และไม่พอเมื่อตรวจดูผอบศีลหลังจากนั้นยังปรากฏว่าผอบศีลเหลือแผ่นศีลอยู่ประมาณ 50 แผ่น ดุจอัศจรรย์เมื่อครั้งพระเยซูเจ้าทรงทวีขนมปังและปลาเลี้ยงคนถึงห้าพันคนอย่างไม่ผิดเพี้ยน
ใครคือ ‘คุณแม่มารีอา กันดีดา แห่ง ศีลมหาสนิท’ ที่คุณพ่อองค์นั้นประสงค์จะทำมิสซาในวันโอกาสวันเกิดของคุณแม่ แล้วทำไมเมื่อเกิดเหตุการณ์ศีลมหาสนิทไม่พอในอารามคาร์แมลเมืองรากูซา คุณแม่อธิการ มาเซอร์ที่ดูแลห้องหลังวัด และผู้ช่วยพิธีกรรมในวันนั้นจึงพร้อมใจกันหันหน้าไปขอความช่วยเหลือจากคุณแม่โดยไม่ลังเล การจะไขข้อข้องสำหรับคำถามข้างต้นนี้จึงพาให้วันนี้เราต้องย้อนเวลาไปเมื่อ 123 ปี ก่อนเหตุการณ์อัศจรรย์นี้จะเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ที่เมืองรากูซาที่เหตุการณ์อันน่าพิศวงนี้ได้เกิดขึ้น แต่เป็นที่เมืองกาตันซาโร ซึ่งห่างจากเมืองแห่งนี้ไปหลายร้อยกิโลเมตร ที่เวลานั้นมีสองสามีภรรยาชาวเมืองปาแลร์โมผู้มีใจศรัทธานามว่า ‘เปียโตร บาร์บา’ และ ‘โยวันนี ฟลอเซนา’ ได้ย้ายมาพักอาศัยที่เมืองแห่งนี้ชั่วคราว จากหน้าที่การงานของนายเปียโตร นี่แหละเป็นที่ที่เรื่องราวของเราได้เริ่มต้นขึ้น
‘มารีอา บาร์บา’ เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1884 ที่เมืองกาตันซาโร แคว้นคาลาเบรีย ทางตอนใต้บริเวณส่วนหัวรองเท้าประเทศอิตาลี ท่านเป็นบุตรีคนที่สิบจากสิบสองคน ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัยไปห้าคนของครอบครัวชนชั้นกลางจากเมืองปาแลร์โม บิดาของท่าน คือ นายเปียโตร บาร์บา เป็นทั้งผู้พิพากษาสูงสุด คณะที่ปรึกษาศาลฎีกา และประธานศาลอุธรณ์ มารดาของท่าน คือ นางโยวันนี ฟลอเซนา เป็นแม่บ้านซึ่งรับหน้าที่ดูแลลูก ๆ นางเป็นหญิงผู้เปี่ยมด้วยคุณสมบัติที่มนุษย์ที่ดีพึงมี ท่านได้รับศีลล้างบาปสามวันหลังจากที่ท่านเกิดด้วยนามว่า ‘มารีอา’ และได้รับการเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่จากบิดามารดา ด้วยความคาดหวังอย่างชาวเกาะซิซิลีในปลายศตวรรษที่ 19 ว่า เมื่อท่านมีอายุถึงพอจะออกเรือน ท่านจะเป็นหญิงสาวที่เพียบพร้อมสำหรับการเป็นทั้งภรรยาและแม่ให้กับชายสักคน ฉะนั้นเองครอบครัวจึงเป็นสถานที่แรกที่ท่านได้รับการอบรมบ่มเพาะสิ่งต่าง ๆ
บิดามารดาของท่านเลี้ยงดูท่านอยู่ที่เมืองกาตันซาโรกระทั่งท่านมีอายุได้ 2 ปี ทั้งสองจึงพาครอบครัวย้ายกลับมาอยู่ที่เมืองปาแลร์โม บนเกาะซิซิลีเป็นการถาวร ท่านจึงได้ติดตามครอบครัวกลับมายังถิ่นเกิดของบิดามารดาและอาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้ หลังจากนั้นจากวันเป็นเดือนจากเดือนเป็นปี ท่านจึงเจริญวัยขึ้นเป็นเด็กหญิงมีอุปนิสัยร่าเริงแจ่มใส จิตใจเข้มแข็ง ซุกซน และมีใจโน้มเอียงไปในทางศาสนา จนมีอายุได้ 7 ปี บิดามารดาจึงส่งท่านเข้าไปรับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนมารีอา อัล ยูซีโน อาจกล่าวได้เป็นช่วงเวลาเหล่านี้เอง ที่โดยหนพิศวงพระเจ้าได้ทรงเรียก ด.ญ. มารีอาด้วยสิ่งที่ท่านเรียกในเวลาต่อมาว่า ‘กระแสเรียกในศีลมหาสนิท’ กล่าวคือในช่วงเวลาเหล่านี้ เมื่อท่านยังมีวัยไม่ถึงเกณฑ์จะได้รับศีลมหาสนิท ท่านก็มีความปรารถนาที่จะรับศีลมหาสนิท โดยเมื่อมารดาของท่านกลับจากไปร่วมมิสซา ท่านจะรีบตรงดิ่งไปหานางที่ประตู แล้วเขย่งเท้าน้อย ๆ ขึ้นพร้อมพูดว่า “หนูก็ต้องการพระองค์เหมือนกันนะคะ” ฝั่งมารดาของท่านที่เห็นท่านทำเช่นนี้ ก็จะก้มตัวลงเป่าลมเบา ๆ ที่ริมฝีปากของท่าน ท่านเมื่อได้รับการปฏิบัติดังนี้ก็จะรีบผละจากมารดาของท่านไป แล้วใช้สองมือน้อย ๆ ไขว้ประสานไว้ที่อกด้วยความยินดีและความเชื่อ พร้อมกับกระโดดโลดเต้นไปมา และพูดซ้ำไปซ้ำมาว่า “หนูได้รับพระเจ้าเหมือนกันแล้ว หนูได้รับพระเจ้าเหมือนกันแล้ว”
เมื่ออายุได้ 10 ปี ด.ญ. มารีอา จึงได้รับอนุญาตให้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก ในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1894 วันนั้นนอกจากการรับศีลมหาสนิทจะกลายมาเป็นยอดแห่งความยินดีของท่านไปตลอดชีวิต วิญญาณของท่านยังสัมผัสได้ถึงประสบการณ์ที่ท่านนิยามว่าเป็น ‘แรงบีบของความรัก’ (stretta amorosa) อยู่ชั่วขณะ ท่านเขียนเล่าว่า “ความรักขององค์พระเยซู ความอ่อนโยนที่พระองค์ทรงมีต่อดิฉันทำให้ดิฉันถึงกับหลั่งน้ำตาแห่งความสุขล้ำและความรักโดยพร้อมกัน” ประสบการณ์เช่นนี้ทำให้ท่านในวัยสิบปีตระหนักได้ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงแสดงพระองค์ในศีลมหาสนิท ไม่เพียงเชื้อเชิญให้ท่านชิดสนิทกับพระองค์โดยการรับพระองค์เป็นอาหารหล่อเลี้ยงวิญญาณ เหมือนที่ท่านได้ปฏิบัติก่อนจะได้รับอนุญาตให้รับศีลมหาสนิท แต่ยังทรงเชื้อเชิญให้ท่านยกระดับวิญญาณของตนจากสภาพที่เป็นอยู่ขึ้นไปอีก เพื่อบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ ผ่านการมอบความรักทั้งหมดที่ท่านมีให้พระองค์
แต่เพียงหนึ่งปีต่อมา เมื่ออายุได้ 11 ปี ท่านก็เริ่มรู้สึกสับสนและวุ่นวายกับชีวิต จนทำให้ท่านเริ่มดำเนินชีวิตอย่างไร้แก่นสารและมีความนึกคิดเป็นของตนเองมากขึ้น ท่านจึงค่อย ๆ ถอยห่างจากความปรารถนาในชีวิตแบบนักบวชมาสู่ชีวิตแบบสาวสังคมแทน ยิ่งเมื่อท่านอายุ 14 ปี ที่บิดามารดาตัดสินใจให้ท่านออกจากโรงเรียน เมื่อเรียนได้ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แม้ท่านจะมีผลการเรียนที่ดีมาโดยตลอด เนื่องจากทั้งสองเห็นว่าความรู้แต่เพียงเท่านี้ ก็เพียงพอแล้วสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง ชีวิตของท่านยิ่งเบี่ยงออกจากชีวิตนักบวชมากยิ่งขึ้น ตามความปรารถนาของครอบครัวที่มุ่งเตรียมท่านให้พร้อมสำหรับการแต่งงานมีเหย้ามีเรือนกับชายที่เหมาะสม หลังจากวันนั้นท่านได้รับอนุญาตเพียงให้เรียนเปียโน เพื่อเตรียมพร้อมคุณสมบัติอีกหนึ่งประการสำหรับการเป็นสาวสังคมในสมัยนั้น และตามความคิดของบิดามารดาท่านถือว่าการเรียนเพิ่มเติมเท่านี้เพียงพอแล้วสำหรับวัยของท่าน และยังเป็นโอกาสที่ท่านจะไม่ต้องออกไปไหนมาไหนบ่อย ๆ
ท่านยอมปฏิบัติตามสิ่งเหล่านี้โดยไม่ได้ต่อต้าน ด้วยความรักที่มีต่อบิดามารดาเพียงประการเดียว ท่านยอมที่จะมีชีวิตในแบบที่ทั้งสองคาดหวัง แม้สิ่งนี้ดูจะเป็นสิ่งขัดแย้งกับสิ่งที่พระเยซูเจ้าได้ทรงเรียกท่านให้ทำ เมื่อครั้งท่านรับศีลมหาสนิทครั้งแรกก็ตาม จนที่สุดในวัย 15 ปี ท่านก็กลายเป็นสิ่งที่บิดามารดาคาดหวัง คือ เป็นหญิงสาวที่ดำเนินชีวิตตามกระแสโลก ซึ่งวัน ๆ หนึ่งสนใจแต่เรื่องการแต่งตัวและการทำผม เพื่อร่วมทั้งงานเต้นรำ การชมละคร และการพบปะชนชั้นสูง แม้ในระยะแรกด้วยนิสัยชอบเก็บเนื้อเก็บตัวของท่านจะทำให้ท่านขวยอายอยู่บ้างที่ต้องใช้ชีวิตแบบนี้ โดยมีนางโยวันนี มารดาคอยกำกับดูแลให้ในเวลาเดียวกันกับที่ท่านกลายเป็นสาวสังคม ท่านยังคงดำเนินอยู่ในมรรคาของการเป็นคริสตชนฆราวาสที่ดี ทั้งด้วยการพาท่านรำพึงภาวนาประจำวัน และคอยช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าตนเองอยู่เสมอ ซึ่งท่านก็ยินดีที่จะปฏิบัติตาม จึงอาจกล่าวได้ว่าในเวลาที่ชีวิตของท่านดูจะแยกจากพระเจ้าไปในโลก ชีวิตของท่านก็มิได้ตัดขาดจากพระองค์โดยสมบูรณ์ ดังนั้นเององค์พระเจ้า ผู้ทรงเชื้อเชิญให้ท่านเป็นเจ้าสาวของพระองค์ จึงมีช่องทางทำสิ่งพิศวงให้เกิดขึ้นกับชีวิตของท่าน
บุญราศีมารีอา กันดีดา ในวัย 15 ปี
ก่อนจะตัดสินใจเป็นนักบวช
ในเวลาที่ชีวิตของท่านออกห่างจากชีวิตนักบวชเรื่อย ๆ พระเยซูเจ้าผู้ทรงเตรียมหนทางให้ท่านเป็นเจ้าสาวของพระองค์ในฐานะนักบวชก็ทรงสัมผัสจิตใจของท่าน ผ่านพระรูปพระหฤทัยของพระองค์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1899 สิ่งนี้ทำให้ท่าน 15 ปี กลับมาทบทวนชีวิตที่เป็นอยู่และจะเป็นไป ว่าแท้จริง สิ่งใดคือสิ่งที่ท่านปรารถนา การดำเนินชีวิตในฐานะฆราวาสหรือนักบวช สิ่งใดคือความปรารถนาของครอบครัว สิ่งใดคือความปรารถนาแท้ของท่าน ท่านอธิบายว่าเหตุการณ์นี้ คือ ‘การกลับใจใหม่’ ของท่าน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในมโนทัศน์ของท่านเช่นนี้ยิ่งแจ่มชัดมากขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม ปีเดียวกัน เมื่อท่านได้มีโอกาสร่วมพิธีรับเครื่องแบบคณะนักบวชคณะหนึ่งของญาติ ท่านก็ยิ่งตระหนักได้ว่าพระเจ้ามิได้ทรงเรียกท่านเพื่อเป็นฆราวาส แต่ทรงเรียกท่านเพื่อเป็นนักบวชเป็นเจ้าสาวของพระองค์ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในโลก ท่านเขียนเล่าว่า “องค์พระเยซูทรงชนะหัวใจของดิฉันในเช้าวันต่อมา เมื่อดิฉันตื่นขึ้นมามีบางอย่างที่ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรเกิดขึ้นกับดิฉัน … เมื่อสิ่งที่เคยดูน่ากลัวเมื่อตะก่อน (ชุดนักบวช) ได้ปรากฏเป็นสิ่งที่วิเศษยิ่งแก่ดิฉัน”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในวิญญาณของท่านนี้สวนทางกลับความคาดหวังที่ครอบครัวท่านตั้งไว้โดยสิ้นเชิง นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นความยากลำบากครั้งสำคัญในชีวิตของท่าน แต่โดยหนทางสวรรค์องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเรียกท่าน ก็ทรงเป็นผู้คอยชี้นำวิญญาณของท่านให้เติบโตและก้าวข้ามความยากลำบากไปได้ ดุจเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงเรียกและนำบรรดาชาวยิวให้ออกจากแผ่นดินอิยิปต์ เพื่อมุ่งสู่ดินแดนพันธสัญญา ทำให้ในความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงภายในวิญญาณที่ท่านต้องเผชิญ จากความขัดแย้งระหว่างความคาดหวังของครอบครัวและความปรารถนาของท่านอย่างสิ้นเชิง วิญญาณของท่านจึงไม่โดดเดี่ยว แต่ค่อย ๆ เติบโตและกลายเป็นของพระองค์มากยิ่งขึ้น และเมื่อท่านในวัยประมาณ 18 ปี หรือใน ค.ศ. 1902 ท่านค้นพบว่า พระเยซูเจ้าทรงสถิตอยู่ในตู้ศีลอย่างแท้จริง ผ่านเหตุการณ์ที่หญิงนางหนึ่งได้รั้งท่านที่เตรียมจะกลับเพราะมามิสซาไม่ทันว่า “ทำไมเธอไม่เข้าไปห้องหลังวัดอย่างน้อยเพื่อเยี่ยมพระเยซูเจ้าเสียละ” ท่านก็ยิ่งค้นพบกำลังในการที่จะตัดสละสิ่งต่าง ๆ ที่เหนี่ยวรั้งกระแสเรียกการเป็นนักบวชของท่านอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกับกำลังและความกล้าที่จะมอบตัวเองไว้ให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงชำระให้เหมาะสมกับพระองค์ผ่านความทุกข์ยากฝ่ายกายต่าง ๆ การตระหนักถึงความจริงข้อนี้ ยังทำให้ท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะพยายามหาเวลาไปรับศีลมหาสนิทและเฝ้าศีลให้ได้ทุกวันอีกด้วย
บุญราศีมารีอา กันดีดา ในวัย 26 ปี
ภายหลังการกลับใจท่านชอบสวมเสื้อผ้าที่เรียบง่าย
อาศัยแรงผลักดันจากภายในจากตระหนักรู้เช่นนี้ ทำให้ในวัย 18 ปี เมื่อท่านได้มีโอกาสไปเข้าเงียบที่โรงเรียนเดิมของท่าน ท่านได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะทำตามสิ่งที่หัวใจท่านปรารถนา โดยไม่สนว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่บิดา มารดา และพี่ชายของท่านไม่ประสงค์ โดยการตัดสินใจปฏิญาณตนถือพรหมจรรย์ชั่วคราว และได้รื้อฟื้นคำปฏิญาณตนนี้ทุก ๆ สามเดือนตามที่คุณพ่อวิญญาณของท่านในเวลานั้นอนุญาต เพื่อตอกย้ำเจตจำนงค์ว่า ท่านได้เลือกพระคริสตเจ้าเป็นเจ้าบ่าวแต่เพียงองค์เดียว และตราบสิ้นพิภพก็ไม่ขอมีชายอื่นอีก การปฏิบัติเช่นนี้ยิ่งทำให้วิญญาณของท่านมุ่งหาแต่การติดตามพระองค์ในฐานะนักบวชมากยิ่งขึ้น และยังรุนเร้าให้วิญญาณของท่านมีความปรารถนาที่จะรับศีลมหาสนิทและไปเฝ้าศีลบ่อยยิ่งขึ้นตามไปด้วย จนนำไปสู่ความกังวลใจให้ครอบครัวของท่านที่ต่างคาดหวังให้ท่านได้เป็นฝั่งเป็นฝากับชายสักคน ยิ่งภายหลังการเสียชีวิตลงของนายเปียโตร บาร์บา ในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1904 สถานการณ์ของครอบครัวต่อทิศทางความเปลี่ยนแปลงในเรื่องอนาคตของท่านก็ไม่ได้ดูจะมีทิศทางที่ดีขึ้น
เมื่อครอบครัวท่านตระหนักว่าความปรารถนาในการเป็นนักบวช ซึ่งสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับความปรารถนาที่จะเห็นท่านเป็นภรรยาและแม่ของพวกเขาในตัวท่านนั้นแรงกล้ามากยิ่งขึ้น พวกเขาจึงได้พยายามทำให้เลิกล้มความตั้งใจนี้ไป โดยพวกเขาคิดว่าความคิดเช่นนี้ของท่านเป็นเพียงความร้อนรนชั่วครั้งชั่วคราว ดังนั้นหากกันท่านออกจากชีวิตใกล้ชิดวัดก็คงจะทำให้ท่านเปลี่ยนความคิดได้ ดังนั้นพวกเขาจึงห้ามมิให้ท่านไปวัดตามอำเภอใจ ไม่เพียงเท่านั้นนางโยวันนี มารดาของท่านที่แม้จะเป็นคริสตังใจศรัทธามากคนหนึ่ง ก็ถึงกับเอ่ยปากขอให้ท่านอย่าพึ่งเข้าอารามไหน จนกว่านางจะเสียชีวิต เพราะนางทำใจไม่ได้ที่จะต้องพรากจากท่านไป (แต่กระนั้นนางก็อนุญาตให้ท่านได้เยี่ยมอารามคณะพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลิซาเบธและคณะภคินีแห่งพระนางมารีย์ผู้ร่วมชดเชยได้ในบางโอกาส) ส่วนนายคริสโตโฟโร พี่ชายของท่านที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนบิดาผู้จากไปยิ่งแล้วใหญ่ เขาไม่ได้มองเห็นวิญญาณที่งดงามและลอยสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ของน้องสาว ตรงข้ามเขากลับมองเห็นแต่หญิงสาวธรรมดา ๆ ที่มีความคิดไม่เข้าท่าเสียเสียเลย ซึ่งตัวเขามีหน้าที่ต้องดูแลเธอให้อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง และไม่เพียงแต่ต้องรับมือกับความทุกข์ที่ต้องเก็บงำความปรารถนาของตัวเองไปอย่างไม่มีจุดหมายจากการต่อต้านของครอบครัว ช่วงเวลาเดียวกันนี้เองวิญญาณของท่านยังต้องเผชิญกับภาวะหมดไฟ ซึ่งเกิดขึ้นจาก ‘ภาวะเจ็บป่วยในมโนธรรม’ (malattia degli scrupoli) หรือความสับสนภายในวิญญาณที่สร้างความทุกข์ทั้งแก่วิญาณ จิตใจ และร่างกาย ตั้งแต่ ค.ศ. 1905 เป็นต้นมาอีกด้วย
ที่ครอบครัวท่านไปมิสซาทุกวันอาทิตย์
และเป็นสถานที่ที่ท่านพบกับคุณพ่ออันโตนีโอ มาเตรา
วันเวลาล่วงมาถึง ค.ศ. 1908 ท่านในวัย 24 ปี ที่ยังคงถูกครอบครัวกีดกันไม่ให้เป็นนักบวช จึงได้ขอให้คุณพ่ออันโตนีโอ มาเตรา พระสงฆ์คณะฟรังซิสกันจากอารามเมืองปาแลร์โมเป็นคุณพ่อวิญญาณของท่าน และภายใต้การชี้นำของคุณพ่อ ท่านจึงได้เริ่มร่าง ‘คำสารภาพบาปทั้งหลาย’ (General Confession) ซึ่งเป็นการไตร่ตรองมโนธรรมถึงบาปผิดต่าง ๆ ที่เคยทำมาตลอดชีวิต เพื่อเตรียมแก้บาปเหล่านั้นทั้งหมด ที่นิยมทำในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านของชีวิตครั้งสำคัญ เช่น ก่อนการปฏิญญาณตนเป็นนักบวช ก่อนการบวชเป็นพระสงฆ์ และก่อนจบการฝึกจิตตามแนวทางของนักบุญอิกญาซีโอ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1910 เรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 1918 ก่อนที่ในวันที่ 20 มีนาคม ปีเดียวกับที่ท่านเริ่มร่างคำสารภาพบาปทั้งหลาย ท่านจะตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะฟรังซิสกันขั้นที่ 3 ที่เป็นทางเลือกสำหรับฆราวาสที่ต้องการดำเนินชีวิตอย่างนักบวชกึ่งฆราวาส (ท่านได้เข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นสมาชิกของคณะในวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1916)
แม้จะทราบดีว่าสิ่งที่ท่านประสงค์เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความประสงค์ของครอบครัว ตลอดเวลานับตั้งแต่ท่านตระหนักถึงความต้องการของท่านได้ ท่านก็เฝ้าหาจังหวะที่จะได้เป็นนักบวชอยู่ตลอดอย่างไม่ย่อท้อ แต่เมื่อด้วยเหตุการณ์ที่ครอบครัวท่านเผชิญเริ่มตั้งแต่ความเจ็บป่วยของนายเปียโตร บิดาที่กินระยะเวลายาวนานก่อนจะจบลงด้วยการสูญเสียผู้นำของครอบครัวไป ก่อนจะตามมาด้วยการเสียชีวิตของเปาโล น้องชายวัย 21 ปีของท่านใน ค.ศ. 1909 ท่านจึงไม่มีโอกาสที่จะได้ทำตามสิ่งที่ท่านปรารถนา เพราะท่านมองว่าในสถานการณ์เช่นนี้ท่านยังไม่ควรที่จะละทิ้งครอบครัวไป ดังนั้นท่านจึงเลือกที่จะเก็บงำและน้อมรับเรื่องนี้ด้วยความอดทนและความเชื่อ เพราะเหตุผลที่แสนเรียบง่ายคือความรักที่มีต่อครอบครัว แม้การทำเช่นนี้จะทำให้ภายในวิญญาณของท่านระทมทุกข์อย่างแสนสาหัสก็ตาม แต่โดยอาศัยความศรัทธาที่ท่านมีต่อศีลมหาสนิท ซึ่งทำให้ท่านตระหนักรู้ถึงธรรมล้ำลึกแห่งการประทับอยู่ในศีลมหาสนิทของพระเจ้าในโลก ที่เน้นย้ำถึงความรักอันไม่มีสิ้นสุดและพระสัญญาของพระเจ้าต่อมนุษย์ ตามที่ท่านค้นพบเมื่อท่านอายุได้ 18 ปี ท่านจึงยังคงรู้สึกได้ถึงแรงสนับสนุนดุจลมใต้ปีกที่พยุงท่านให้ก้าวต่อไปในทางแห่งความฝัน ด้วยความหวังและความมุ่งมั่นต่อไป “ความอ้างว้างที่แสนจะน่ากลัวปรากฏเป็นเรื่องง่าย อ่อนโยน ไม่น่าแยแสสำหรับดิฉัน เมื่อทุกสิ่งเป็นไปเพื่อความรักของพระองค์และพร้อมพระองค์ ทุกสิ่งช่างเป็นเรื่องง่ายดายเมื่ออยู่ใต้พระอานุภาพ และขึ้นอยู่กับว่าพระองค์จะทรงปลดเปลื้องหัวใจของชาวเรา รวมถึงความปรารถนาของชาวเราเวลาไหน ซึ่งพระองค์ก็ทรงสามารถทำเช่นนั้นในทันที” ท่านเขียนในเวลาต่อมา
บุญราศีมารีอา กันดีดา ถ่ายภาพกับครอบครัว
เมื่อคราวไปแสวงบุญที่กรุงโรม ใน ค.ศ. 1910
ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1910 ท่านได้มีโอกาสติดตามครอบครัวไปแสวงบุญที่กรุงโรม และได้มีโอกาสร่วมเข้าเฝ้านักบุญสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 10 ท่านจึงใช้โอกาสนี้ติดต่อกับอารามคณะภคินีแห่งพระนางมารีย์ผู้ร่วมชดเชย (Sœurs de Marie Reparatrice) ซึ่งมีจิตตารมณ์สำคัญ คือ การทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผ่านงานสังคมสงเคราะห์ควบคู่ไปกับการแสดงคารวะกิจต่อศีลมหาสนิท เพื่อชดเชยการต่อต้านความเชื่อคริสตังในโลก (ดังนั้นที่วัดของอารามที่กรุงโรมจึงมีการตั้งศีลตลอดเวลาและมีชื่อเสียงในเรื่องนี้) เพื่อหาลู่ทางในการสมัครเข้าคณะ แต่มารดาของท่านก็รู้ทัน นางจึงขัดขวางมิให้ท่านได้ทำตามประสงค์ได้ ดังนั้นท่านจึงจำต้องกลับมายังปาแลร์โมและรอเวลาต่อไป จนเวลาผ่านไปอีกสองปี คือ ใน ค.ศ. 1912 ท่านที่ไม่ละความพยายามในการติดตามความฝันของท่านจึงติดต่อกับอารามคณะคาร์เมไลท์ในเมืองปาแลร์โม และมีโอกาสได้อ่าน ‘บันทึกวิญญาณของภคินีเทเรซา แห่ง พระกุมารเยซู’ อัตชีวประวัติของภคินีคาร์เมไลท์ชาวฝรั่งเศสผู้ค้นพบทางสายน้อย ที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินเรื่องแต่งตั้งเป็นนักบุญในเวลานั้น ท่านจึงค้นพบความบรรเทาใหม่ในท่ามกลางความยากลำบากที่ต้องเผชิญ ในเวลาเดียวกันผ่านผลงานชิ้นน้อย ๆ นี้ ท่านก็ค่อย ๆ พบแนวทางที่พระเจ้าได้ทรงเตรียมไว้ให้ท่านนั้นแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น
ในวัย 28 ปี เนื่องจากธรรมเนียมในเวลานั้นในท้องถิ่นที่ท่านอยู่จะมีการโปรดศีลกำลังก่อนพิธีแต่งงานไม่นาน หรือโปรดในวันรับศีลสมรสเลย ทำให้ท่านยังมิได้รับศีลกำลังตราบถึงเวลานี้ ดังนั้นเมื่อสบโอกาสที่คุณพ่อโบวา อุปสังฆราชแห่งปาแลร์โมจะเดินทางมาโปรดศีลกำลังให้บุตรชายของนางลุยซา พี่สาวของท่านที่ป่วยหนักที่บ้านของนางลุยซา ท่านจึงได้ติดต่อขอให้คุณพ่อได้ช่วยโปรดศีลกำลังอย่างลับ ๆ ให้ท่านไปพร้อมกัน ดังนั้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1912 ท่านจึงได้รับการโปรดศีลกำลังอย่างลับ ๆ ภายในบ้านของนางลุยซา หลังจากในปีต่อมาท่านจึงล้มป่วยลงจากภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงและอาการตรอมใจ แต่เมื่ออาการต่าง ๆ ทุเลาลง ท่านก็พบว่าภาวะเจ็บป่วยในมโนธรรมที่ท่านเผชิญมาหลายปีก็ได้หายไปเช่นเดียวกัน คุณพ่ออันโตนีโอ มาเตรี จึงอนุญาตให้ท่านปฏิญาณตนถือพรหมจรรย์ตลอดชีวิตได้ หลังจากนั้นสถานการณ์ของครอบครัวบาร์บาต่อกระแสเรียกของท่านยังคงเป็นไปในเชิงลบจนท่านอายุย่างเข้าเลขสาม ความหวังในการจะได้เข้าอารามก็ปรากฏขึ้น เมื่อนางโยวันนา มารดาของท่านได้ถึงแก่กรรมลงในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1914
ด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อมารดาของท่านสิ้นใจลง ท่านในวัย 30 ปี ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าถึงเวลาอันสมควรแล้วที่ท่านจะได้ทำตามสิ่งที่ท่านตั้งใจมาอย่างยาวนานอย่างการถวายตัวเป็นนักบวช ท่านจึงเริ่มไตร่ตรองอย่างจริงจังว่ากระแสเรียกของท่านมีอยู่ที่คณะใดในสามคณะ ได้แก่คณะพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลิซาเบธ คณะภคินีแห่งพระนางมารีย์ผู้ร่วมชดเชย และคณะคาร์เมไลท์ ที่สุดในวันที่ 22 มิถุนายน ปีเดียวกัน ท่านจึงตัดสินใจที่จะหนีออกจากบ้านเพื่อไปสมัครเข้าคณะภคินีแห่งพระนางมารีย์ผู้ร่วมชดเชยที่กรุงโรม แต่ไม่วายท่านก็ไม่สามารถจะทำตามความตั้งใจนี้ได้ ท่านจึงจำต้องอยู่กับการต่อต้านกระแสเรียกนักบวชของครอบครัว ซึ่งยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นภายหลังมารดาของท่านเสียชีวิต และนายคริสโตโฟโรขึ้นมาเป็นผู้นำครอบครัวอย่างเต็มตัวต่อไป ในสถานการณ์เช่นนี้ความทุกข์ครั้งใหญ่ที่ท่านต้องเผชิญนอกเหนือจากการไม่สามารถเป็นนักบวชได้ คือการขาดจากการรับศีลมหาสนิทอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ เนื่องจากพี่ชายของท่านได้ลงดาบไม่ยอมให้ท่านไปไหนมาไหนตามลำพัง ท่านไม่อยากมีปัญหากับพี่ชาย จึงไม่ออกไปไหนมาไหนบ่อย ๆ เป็นผลให้ท่านแทบจะไม่ได้รับศีลมหาสนิทเลยตั้งแต่นั้นมา ท่านนิยามเหตุการณ์นี้ว่าเป็น ‘กางเขนที่ทั้งใหญ่และสาหัสสากรรจ์’
วันเดือนเคลื่อนคล้อยไปท่านน้อมรับกางเขนที่พระเจ้าได้ทรงมอบให้ท่านด้วยความเชื่อและความไว้ใจจนล่วงผ่านไปอีกห้าปี ในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1919 ท่านพร้อมด้วยพี่สาวสองคน คือ ลุยซา และ อันโตเนียตตา จึงได้เข้าพบพระคุณเจ้าอเลสซานโดร ลูอัลดี พระอัครสังฆราชอัครสังฆมณฑลปาแลร์โม เพื่อขอคำแนะนำเรื่องกระแสเรียกของท่าน พระคุณเจ้าที่ทราบว่าอารามคาร์แมลที่เมืองปาแลร์โมไม่มีที่พอรับสมาชิกใหม่ จึงได้แนะนำให้ท่านเข้าอารามนักบุญเทเรซา แห่ง พระเยซูเจ้า เมืองรากูซา จ. รากูซา ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากของเกาะซิซิลีกับเมืองปาแลร์โมแทน ท่านที่แต่เดิมลังเลอยู่บ้างว่าควรจะสมัครเข้าคณะไหนระหว่างคณะพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลิซาเบธและคณะคาร์เมไลท์ จึงตัดสินใจเขียนจดหมายไปยังอารามหลังนี้ ‘ที่ยากไร้มาก แต่ก็เคร่งคัดยิ่ง’ ในทันที และเมื่อได้รับคำตอบจากทางอารามว่ามีที่ว่างในอารามให้ท่านสมัครได้ ในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1919 ภายหลังฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อความฝันมานานถึง 20 ปีเต็ม ในวัย 35 ปี ท่านจึงได้เดินทางไปเข้าอารามคณะคาร์เมไลท์ เมืองรากูซาพร้อมด้วยซิสเตอร์สองคนจากคณะธิดาแห่งเมตตาธรรม ที่ท่านได้ขอให้เดินทางไปเป็นเพื่อนแทนคนในครอบครัว เนื่องจากบรรดาพี่ ๆ ของท่านต่างไม่พอใจที่ไม่อาจจะไม่ฉุดรั้งหรือขัดขวางท่านไว้ได้อีกต่อไป ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่หันหลังออกจากบ้านเพื่อก้าวเข้าไปสู่ประตูที่กั้นระหว่างโลกสองใบ ท่านจึงก้าวเข้าสู่เขตพรตโดยไร้เงาของพี่ ๆ มายืนส่งตัวเหมือนผู้สมัครคนอื่น ๆ และนับแต่นั้นมา ไม่ว่าจะวันธรรมดาหรือแม้แต่วันสำคัญอย่างวันที่ท่านรับเครื่องแบบคณะ พวกเขาก็ไม่เคยมาพบท่านอีกเลย เรื่องนี้ยังความทุกข์ใจให้ท่านอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้ฉุดรั้งไม่ให้ท่านทำสิ่งที่ปรารถนามาโดยตลอด
ชีวิตใหม่ในฐานะโปสตุลันต์ที่รอคอยมาแสนนาน เนื่องจากสุขภาพที่ไม่สู้จะแข็งแรงของท่าน และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามระเบียบของคณะ รวมถึงการใช้ชีวิตท่ามกลางหมู่คณะ ท่านพบว่ามันเป็นทดสอบอีกครั้งหนึ่งที่ท่านต้องผ่านไปให้ได้ และท่านจะต้องเอาชนะตัวเองในหลายแง่มุม แต่ท่านก็ไม่เคยย่อท้อหรือยอมแพ้ต่อสิ่งเหล่านี้ กระทั่งใกล้วันที่ผู้ใหญ่กำหนดให้ท่านเข้ารับเครื่องแบบคณะเพื่อเริ่มการเป็นโนวิส เมื่อท่านมีโอกาสได้เข้าเงียบเพื่อเตรียมตัว ท่านได้ทูลขอนามใหม่จากพระเจ้า เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ได้ทรงอภัยความผิดทั้งมวลตั้งแต่วัยเยาว์ของท่านแล้วอย่างแท้จริง และในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1920 เมื่อท่านได้เข้าพิธีรับเครื่องแบบคณะ พร้อมนามใหม่ในอารามว่า ‘ภคินีมารีอา กันดิดา แห่ง ศีลมหาสนิท’ ท่านจึงเชื่ออย่างสุดหัวใจว่านี่คือเครื่องหมายว่าพระเยซูเจ้าผู้ทรงสถิตในเพศปังได้ทรงแสดงให้ท่านทราบตามความปรารถนาของท่าน และนี่คือแนวทางสำหรับการดำเนินชีวิตในฐานะนักบวชคณะคาร์เมไลท์ที่ท่านจะต้องดำเนินไปเพราะท่านตระหนักดีว่ากำแพงเขตพรตที่กำหนดขอบเขตอย่างชัดเจน ไม่ใช่ ‘สถานที่หลบภัย’ ที่จะใช้หลีกเร้นกายจากปัญหาชีวิต หากแต่เป็น ‘สถานที่แห่งการรับใช้’ โลกและพระศาสนจักรด้วยคำภาวนาและพลีกรรม
ภายใต้จิตตารมณ์ที่วางไว้โดยบรรดาฤษีแห่งภูเขาคาร์แมล และนักบุญเทเรซา แห่ง พระเยซูเจ้า ปิยมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ท่านได้ค่อย ๆ พัฒนาสิ่งที่ท่านเรียกว่า ‘กระแสเรียกในศีลมหาสนิท’ (vocazione per l’Eucaristia) คือการที่วิญญาณได้รับการเชื้อเชิญให้รับองค์พระผู้เป็นเจ้าเข้าไปในวิญญาณผ่านศีลมหาสนิท แล้วตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระองค์กับวิญญาณผ่านศีลมหาสนิท และกลายเป็นศีลมหาสนิทในโลก ในทำนองเดียวกับประสบการณ์ในวัยเยาว์ของท่าน เมื่อท่านยังไม่ได้รับอนุญาตให้รับศีลมหาสนิท ที่ท่านเฝ้ารอมารดากลับจากวัดเพื่อขอรับพระเยซูเจ้าผ่านลมหายใจของนาง และเริงรื่นเมื่อได้รับสิ่งนั้นเพราะพระองค์ทรงประทับอยู่กับตัวท่านแล้ว ท่านตระหนักว่าเมื่อวิญญาณสนิทสัมพันธ์กับศีลมหาสนิท วิญญาณไม่เพียงได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยชีวิตนิรันดร์ หากแต่ยังได้รับผลอื่น ๆ เพราะศีลมหาสนิทเป็นทั้งโรงเรียนสำหรับชีวิตคริสตชน เป็นพลังที่ขับเคลื่อนชีวิตคริสตชน และเป็นพื้นที่ที่วิญญาณได้มีประสบการณ์กับพระเจ้าในโลก นี่เองทำให้ท่านพูดออกมาได้ว่า “จงนำทุกสิ่งแม้แต่ผิวหนังไปจากดิฉัน แต่โปรดทิ้งพระเยซูเจ้าไว้” และ “หลาย ๆ ครั้งเป็นพิเศษในยามเย็น เมื่อคิดถึงความยิ่งใหญ่ ความรุ่งเรืองในแผ่นดิน แล้วหันไปมองตู้ศีล ดิฉันอุทานออกมาว่า ‘ทุกสิ่งช่างว่างเปล่า ไม่มีสมบัติใดจะยิ่งใหญ่และเลิศรสไปกว่าสิ่งที่ลูกมี และทุกสิ่งอยู่ที่นั่น’”
ในมิติของการเป็นโรงเรียนสำหรับชีวิตคริสตชน ท่านมองว่ารูปแบบของชีวิตคริสตชนสามประการ คือ ความเชื่อศรัทธา ความหวัง และความเมตตารักได้ปรากฏในศีลมหาสนิทอย่างครบถ้วน ดังนี้
1. ความเชื่อศรัทธา: “ข้าแต่ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่รักของลูก ลูกเห็นพระองค์ ลูกเชื่อพระองค์ … โอ้ ความเชื่อศรัทธาแสนศักดิ์สิทธิ์ การรำพึงถึงองค์พระสวามีเจ้าผู้เป็นที่รักในศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วยความเชื่อศรัทธาอย่างแรงกล้า คือ การเจริญชีวิตอยู่กับพระองค์ผู้ทรงเสด็จมาชาวเราในทุกวัน”2. ความหวัง: “ข้าแต่ศีลมหาสนิทของลูก ข้าแต่องค์ความหวังที่รัก ความหวังของพวกลูกทั้งหมดอยู่ในพระองค์ … ตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็กน้อยความหวังของลูกในศีลมหาสนิทก็กล้าแกร่งแต่นั้นแล้ว”3. ความเมตตารัก: “พระเยซูเจ้าข้า ลูกรักพระองค์มากเหลือเกิน ในใจของลูกมีความรักมากมายให้พระองค์ โอ้ องค์ความรักอันศักดิ์สิทธิ์ … ความรักของพระเจ้าซึ่งได้จัดเตรียมปัง ซึ่งได้กลายมาเป็นนักโทษเพื่อลูกไว้สำหรับวิญญาณช่างยิ่งใหญ่เหลือประมาณ”
ในทำนองเดียวท่านยังมองเห็นอีก รูปแบบของชีวิตนักบวชภายใต้ศีลบนสามประการก็ปรากฏเป็นรูปธรรมอยู่ในศีลมหาสนิทเช่นเดียวกัน ดังนี้
1. ศีลบนแห่งความนบนอบ: “เราจะไม่ร้องเพลงสรรเสริญความนบนอบในศีลศักดิ์สิทธิ์นี้หรือ ความนบนอบขององค์พระเยซูเจ้า ชาวนาซาเรธกับความนบนอบของพระองค์ในศีลมหาสนิทตลอดสองพันปีแตกต่างกันตรงไหนเล่า”2. ศีลบนแห่งความยากจน: “หลังจากพระองค์ทรงสอนดิฉันถึงความนบนอบมากมาย พระองค์จึงทรงตรัสสอนดิฉันถึงความยากจน โอ้ ปังศักดิ์สิทธิ์ ใครเล่าจะไร้อาภรณ์และยากไร้ไปกว่าพระองค์… พระองค์ทรงไม่มีสิ่งใด พระองค์ไม่ทรงเรียกร้องสิ่งใด … โอ้ พระเยซูเจ้า โปรดบันดาลให้วิญญาณนักบวชทั้งหลายดำรงอยู่ในความปรารถนาที่จะหลีกลี้ตนและดำรงอยู่ในความยากจนด้วยใจจริงเถิด”3. ศีลบนแห่งความบริสุทธิ์: “หากพระองค์ทรงใช้วิธีการตรัสกับดิฉันถึงความนบนอบและความยากจน เพียงพระองค์เหลือบพระเนตรมอง พระองค์ก็ทรงอธิบายความบริสุทธิ์ให้ดิฉันได้เข้าใจ พระสวามีเจ้าข้า หากเคหาของพระองค์คือวิญญาณที่บริสุทธิ์ วิญญาณที่สัมพันธ์กับพระองค์จะมิเป็นอย่างนั้นหรือ แต่นี้ไปลูกจึงตั้งใจว่า ลูกจะชิดสนิทกับพระองค์ผ่านความบริสุทธิ์และความรัก”
ดังนั้นในมุมมองเช่นนี้ การชิดสนิทกับศีลมหาสนิทจึงให้มากกว่าเพียงการหล่อเลี้ยงวิญญาณ แต่ยังให้พระแบบฉบับของพระเยซูเจ้าแก่วิญญาณได้เรียนรู้และปฏิบัติตาม อันเป็นทางบรรลุสู่ความครบครัน ความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คริสตชนได้รับการเรียกให้ปฏิบัติตามวิถีทางของตน
ส่วนมิติของการเป็นพลังที่ขับเคลื่อนชีวิตคริสตชน ท่านชี้ให้เห็นว่า ศีลมหาสนิทเป็นต้นธารแห่งความสุขในโลก ดังที่ท่านเขียนว่า “พระองค์เท่านั้นที่ทรงทำให้ดลูกมีความสุขได้ บัดนี้ลูกรู้แล้วว่าความสุขและรอยยิ้มของลูกอยู่ที่ใด ข้าแต่ผู้ทรงเป็นต้นธารแห่งความสุข ข้าแต่ผู้ทรงเป็นสรวงสวรรค์ ลูกปรารถนาจะชี้ให้โลกทั้งได้เห็นพระองค์ ลูกปรารถนาอย่างสุดหัวใจที่จะได้เจริญชีวิตอยู่แทบพระบาทของพระองค์ ได้มองเห็นพระองค์ทรงพำนักในศีลมหาสนิท” และ “การรับศีลมหาสนิทเป็นความกระหายหา ความปรารถนา ความยินดีในหัวใจของดิฉัน สำหรับดิฉันแล้วไม่มีความยินดีในโลกจะเท่ากับการได้รับศีลมหาสนิท … แม้การได้รับศีลมหาสนิททุกวัน (ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย) ก็ยังไม่พอสำหรับดิฉัน” ด้วยมุมมองเช่นนี้ท่านจึงมีความฝันที่จะได้รับศีลมหาสนิทในช่วงบ่ายด้วย
และในมิติของการเป็นพื้นที่ที่วิญญาณได้มีประสบการณ์กับพระเจ้าในโลก ท่านมองเห็นว่าประสบการณ์ที่วิญญาณได้สัมผัสกับพระเจ้าในศีลมหาสนิทเป็นผลดีต่อวิญญาณ ดังที่ท่านได้ชี้ให้เห็นให้เห็นในข้อเขียนหนึ่งว่า การรับศีลมหาสนิทอย่างดีเป็น “การเป็นหนึ่งเดียวกันที่แสนยิ่งใหญ่ระหว่างองค์พระเยซูและวิญญาณซึ่งได้รับพระองค์ … อาศัยการที่วิญญาณโอบสนิทชิดกับองค์พระเยซู วิญญาณจึงเกิดความกระหายหาและความปรารถนาที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ดังนั้นผลอันยิ่งใหญ่แท้จริงของการรับศีลมหาสนิทอย่างดีจึงคือความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า ศีลมหาสนิทจึงสร้างความสนิทสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น” และข้อเขียนอีกตอนที่ท่านพยายามอธิบายว่า อาศัยการรับศีลมหาสนิท วิญญาณยังพบพลังในการทำความดีเพื่อต่อสู้กับความชั่วแบบที่นักบุญเปาโลได้สอนไว้ในจดหมายถึงชาวโรม ดังที่ท่านเขียนว่า “เมื่อรับศีลมหาสนิทอย่างสม่ำเสมอจะทำลาย จะแปรเปลี่ยนความปรารถนาที่สวนทางกับความรักเมตตา แล้วจะดึงพลังในการทำความดีเพื่อต่อกรกับความชั่ว และเพื่อดำรงไว้ซึ่งความดี ความดีแต่เพียงเท่านั้น” รวมถึงข้อเขียนอีกตอนที่ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมจากประสบการณ์ส่วนตัวของท่านว่า ศีลมหาสนิทจะเป็นแรงบันดาลใจให้วิญญาณทำความดี ผ่านการที่วิญญาณสำนึกถึงการที่พระเยซูเจ้าทรงมอบพระองค์เองเพื่อมนุษย์อยู่เสมอในศีลมหาสนิทว่า “เมื่อรับศีลมหาสนิทหัวใจดิฉันถูกชักนำให้ไหวสะเทือนถึงการสละพระองค์เองขององค์พระเยซูเจ้าให้กับมนุษย์ทุกคนทั้งครบ โดยมิเคยหยุดหย่อนนั้นมากมายเพียงใด และความคิดเช่นนี้ก็ผุดขึ้นในวิญญาณของดิฉัน ความปรารถนาที่จะมอบตัวเอง มอบตัวเองเพื่อทุกคนเช่นเดียวกัน ด้วยทุกสิ่งที่มี โดยไม่หยุดพัก ไม่มีข้อแม้”
ดังนั้นด้วยการตระหนักว่าศีลมหาสนิทเป็นมากกว่าเพียงอาหารแห่งวิญญาณ ท่านจึงปรารถนาให้วิญญาณทุกดวงได้สัมผัสพระองค์ในศีลมหาสนิท สิ่งนี้เมื่อผสานเข้ากับความเข้าใจที่ว่า “การภาวนาเป็นวิธีการสูงสุดของบรรดาอัครสาวก สิ่งนี้เป็นวิธีการเดียวที่เข้าถึงทุกสรรพสิ่งและทุกคน เป็นเพียงวิธีการเดียวเท่านั้นที่สามารถชักนำพระหรรษทานมาได้อย่างแน่นอน เพราะพระเยซูเจ้าทรงสัตย์ซื่อในพระสัญญาต่อผู้สวดภาวนา” นี่เองทำให้ไม่ลังเลที่จะวอนขอให้พระองค์ได้โปรดทรงประทับในตู้ศีลต่อไป ดังที่ท่านเขียนว่า “สวรรค์ก็ไม่มีสิ่งนี้ สมบัติที่อยู่ที่นี่ นั่นคือองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นความจริงแท้เป็นความแท้จริงว่าพระเจ้าคือทุกสิ่งของดิฉัน ดิฉันจึงได้ทูลขอให้องค์พระเยซูทรงประทับ ณ ตู้ศีลทั้งหมดบนโลกตราบสิ้นพิภพ” ส่วนตัวท่านก็ปรารถนาให้หัวใจของท่านเป็น ‘ตะเกียงสัญญาณ’ ยืนยันถึงการประทับอยู่ของพระองค์ในตู้นั้นทั่วหุนแห่งในโลก “ที่ใดที่พระเยซูเจ้าในรูปแผ่นปังทรงประทับอยู่ ดิฉันก็จะอยู่ที่แห่งนั้นด้วย” ไม่เพียงเท่านั้นภายใต้กระแสเรียกที่ขับเคลื่อนด้วยประสบการณ์ในศีลมหาสนิท ท่านที่ตระหนักถึงพันธกิจในการเป็น ‘อัครสาวกของศีลมหาสนิท’ ยังปรารถนาจะเป็น ‘รัศมีศีล’ ที่คอยบอกถึงคุณค่าอันมิรูประมาณของศีลมหาสนิทให้ทุกคนได้รับรู้ รวมถึงจุดประกายความสำนึกรู้เช่นนี้ผ่านคำภาวนาที่ล่องลอยและไม่อาจถูกเขตพรตทางโลกจำกัดได้ ท่านจึงวอนขอ “วิญญาณที่รับศีลมหาสนิทเพื่อความรักและด้วยความรัก เพื่อว่าพวกเขาจะได้ทำทุกอย่างตามกำลังความสามารถเพื่อโมทนาคุณพระองค์ในเวลามากที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้” และวิงวอนต่อพระเยซูเจ้าแทนเพื่อนมนุษย์อีกว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ขอให้มนุษย์ทุกคนได้สัมผัสถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรับศีลมหาสนิทอย่างดีเถิด”
นอกจากนี้ประสบการณ์ภายในระหว่างท่านและศีลมหาสนิทยังรุนเร้าให้ท่านกระโจนตัวเองลงไปในไฟแห่งความรัก เพื่อทั้งชำระตัวเองให้ศักดิ์สิทธิ์และเป็นยัญบูชาชดเชยความผิดของเพื่อนมนุษย์ ที่ได้กระทำสิ่งล่วงละเมิดความรักที่พระองค์ทรงมีต่อพวกเขา โดยเฉพาะในศีลมหาสนิท ดังนั้นนับตั้งแต่วันแรกที่ท่านได้เข้าสู่เงื้อมเขาคาร์แมล ท่านจึงได้ถวายตนอย่างเงียบ ๆ เพื่อความตั้งใจทั้งสองประการ ตามที่ท่านเขียนเล่าว่า “เมื่อดิฉันมาถึงที่นี่และหมอบกราบลงเบื้องหน้ารัศมีศีล ดิฉันรู้สึกถึงความปรารถนาที่จะสละตนกองไฟแห่งยัญบูชา และดิฉันได้ถวายตัวเป็นยัญบูชาในความเงียบเพื่อพระองค์” และหลังจากนั้นในทุก ๆ พิธีมิสซา ท่านจึงรื้อฟื้นการถวายตัวเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมา รวมถึงไม่มีความลังเลที่กระตุ้นให้คนรอบข้างทำสิ่งที่ล่วงละเมิดต่อความรักของพระเจ้า โดยเฉพาะในศีลมหาสนิท ไม่เว้นแม้แต่บรรดาพระสงฆ์ ดังที่ท่านได้เขียนเตือนไว้ว่า “จงดูแลพระเยซูเจ้าในศีลศักดิ์สิทธิ์ของดิฉันให้ดี”
ท่านเขียนตอนหนึ่งว่า “แม้ยามพระองค์จะทรงเร้นพระองค์จากดิฉัน แม้ยามความอ่อนแอและความฟุ้งซ่านจะมากวนใจดิฉัน หรือแม้ยามร่างกายจะเจ็บปวดแสนสาหัส หรือยามที่ดิฉันตกอยู่ในท้วงแห่งความทุกข์กายทุกข์ใจก็ตาม ดิฉันก็จะไม่ยอม ไม่ทำ และไม่ปรารถนาทิ้งพระองค์ไว้แต่ลำพัง ไม่ว่าดิฉันจะมีหรือไม่เวลาก็ตาม หรือจำต้องปฏิบัติตามธรรมนูญที่วางไว้ พระเยซูเจ้าข้า ลูกจะทิ้งพระเยซูเจ้าของลูกไปได้อย่างไร พระองค์ทรงอยู่ที่นี่ก็เพื่อลูกทั้งหลายรวมถึงตัวลูกด้วย แม้ลูกจะต้องอยู่อย่างไร้ค่า ถูกเมินเฉย ลูกก็จะอยู่กับพระองค์ในที่ที่พระองค์ประทับอยู่ ที่ที่พระองค์ทอดพระเนตรมาเห็นลูกได้” การตระหนักถึงคุณค่าของศีลมหาสนิท โดยเฉพาะคุณค่าที่ว่าเป็นองค์พระเยซูเจ้าผู้แสนดีเองที่ประทับอยู่ภายใต้เพศปัง ยังทำให้มีความปรารถนาที่อยู่เป็นเพื่อนกับพระองค์เท่าที่จะสามารถทำได้ ท่านยอมรับว่า “การมีชีวิตอยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์เป็นความเพ้อฝันสำหรับวิญญาณของดิฉัน” ท่านจึงชอบใช้เวลาอยู่กับศีลมหาสนิท โดยเฉพาะในคืนวันพฤหัสบดี ท่านจะเฝ้าศีลตั้งแต่เวลาห้าทุ่มไปจนถึงเที่ยงคืน และโดยผ่านประสบการณ์ที่ท่านพบจากศีลมหาสนิท ความปรารถนาเช่นนี้ของท่านจึงขยายออกไปมากกว่าเพียงการปรารถนาจะอยู่เป็นเพื่อนองค์พระเยซูเจ้าในอาราม แต่เป็นการอยู่ในทุกหนแห่งที่ทรงประทับอยู่ในรูปของศีลมหาสนิท เพื่อคอยเฝ้าถวายความรัก คำสรรเสริญ คำบรรเทาพระทัยให้กับพระองค์ไปตราบสิ้นพิภพ ดังที่ท่านเขียนไว้ว่า “นี่คือสัญญาที่ลูกให้ไว้กับองค์พระเยซู คือ ในวัดคาทอลิกทั่วโลก ที่ใดมีตู้ศีล ที่ใดมีพระองค์ทรงประทับอยู่ในศีลมหาสนิท หัวใจของลูกก็จะอยู่ ณ แห่งนั้นกับพระองค์ เพื่อทูนถวายความรัก คำสรรเสริญ การชดเชยความผิด ตราบจนสิ้นพิภพ” จึงอาจกล่าวได้ว่ากระแสเรียกในศีลมหาสนิทเรียกร้องให้ท่านทั้งชิดสนิทและเลียนแบบพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท และในเวลาเดียวกันก็กระตุ้นให้ท่านมีความปรารถนาที่จะชักนำผู้คนให้ได้สัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับท่าน พร้อม ๆ กับความปรารถนาที่จะชดเชยความผิดที่ผู้คนมากมายได้ละเลยความสำคัญของศีลมหาสนิท
และผ่านความรักที่ท่านมีต่อองค์พระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท ท่านจึงรักพระมารดาของพระองค์เช่นกัน เพราะ “ลูกคงไม่ได้มีพระองค์หากพระนางมารีย์ไม่ทรงยอมรับการเป็นพระมารดาของพระองค์ พระวจนาถต์ผู้ทรงรับเอากาย” ท่านไม่เพียงสำนึกความจริงข้อนี้ที่แม่พระได้กระทำ แต่ท่านยังมองอีกว่าแม่พระคือรูปแบบ ‘หญิงผู้ดำรงอยู่ในศีลมหาสนิทตลอดชีวิต’ (donna eucaristica in tutta la vita) และ ‘แสงแรกของศีลมหาสนิท’ ผู้ทรงอุ้มพระบุตรเจ้าไว้ในครรภ์ และทรงให้กำเนิดพระบุตรนั้นในหัวใจของบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลาย ท่านเขียนในหนังสือศีลมหาสนิทว่า “ดิฉันปรารถนาจะเป็นอย่างพระนางมารีย์ เป็นพระนางมารีย์เพื่อพระเยซูเจ้า คือโอบรับสถานภาพมารดาของพระองค์ เมื่อดิฉันรับศีลมหาสนิท พระนางมารีย์ก็ทรงอยู่กับดิฉัน ดิฉันปรารถนาจะรับพระองค์จากพระหัตถ์ของพระนาง ปรารถนาให้ดวงพระหทัยของพระนางสถิตในดวงใจของดิฉัน คือพยายามจะเลียนแบบความอ่อนโยนของพระนางมารีย์ในการโอบอุ้มองค์พระเยซูเจ้าไว้ ดิฉันปรารถนาจะปกป้องพระองค์จากความเย็นเฉยและการถูกละเลยทั้งมวล ปรารถนาจะซ่อนพระองค์ไว้ในตัวดิฉัน แล้วกอดพระวรกายอันน่ารัก ซึ่งเป็นมังสาอันมิมีมลทินและมีพลามัยดีของพระองค์ไว้แน่น ๆ ดิฉันไม่สามารถจแยกพระนางมารีย์จากพระเยซูเจ้าได้ ลูกขอวันทาพระวรกายพระคริสตเจ้า ซึ่งบังเกิดแต่พระนางมารีย์พรหมจารี ลูกขอวันทาพระนางมารีย์ แสงแรกของศีลมหาสนิท” ดังนั้นท่านจึงอยากบอกทุกคนในโลกว่า “ความรักต่อแม่พระทำให้เธอรักพระเยซู” เพราะผ่านพระนางโลกจึงได้รับศีลมหาสนิท และชีวิตของพระนางคือชีวิตของผู้ติดตามพระเยซู การรักพระนางจึงไม่ได้ยกพระนางให้สูงกว่าพระเจ้า แต่ยิ่งทำให้ความรักต่อพระเจ้าเพิ่มพูน
ในเวลาเดียวกันกับที่ท่านค่อย ๆ พัฒนากระแสเรียกในศีลมหาสนิท ในฐานะนวกะของคณะคาร์เมไลท์ ท่านก็มุ่งมั่นที่จะมอบถวายทุกสิ่งแด่พระเจ้าและบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ด้วยความสัตย์ซื่อ รอยยิ้ม และความกล้าหาญ ดังที่ท่านเขียนว่า “ดิฉันปรารถนาจะยกถวายยอดแห่งความบริสุทธิ์ ยอดแห่งความรัก ยอดแห่งความครบครันในฐานะนักบวชของดิฉันแด่พระเจ้า” และ “ลูกปรารถนาจะเป็นนักบุญ แต่ลูกก็ทราบดีถึงความอ่อนแอของลูก ลูกจึงทูลขอพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าของลูก ขอพระองค์โปรดทรงเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของลูกด้วยเทอญ” ท่านเป็นนวกะที่โดดเด่นในเรื่องความรักเมตตาและความเป็นมิตร ท่านพยายามเป็นความบรรเทาใจให้ทุกคนรอบตัว และคอยกระตุ้นให้ทุกคนได้เลียนแบบตัวอย่างของท่าน ในเวลาเดียวกันท่านก็เอาจริงเอาจังกับการฝึกตนเองในการทำพลีกรรมและการปฏิบัติตามธรรมนูญของคณะทุกข้อ อันเป็นสองสิ่งที่ท่านรักเช่นกัน ดังนั้นในเวลาหย่อนใจที่บรรดามาเซอร์ในอารามได้รับอนุญาตให้พูดคุยกันได้ ท่านจึงแสดงอุปนิสัยของท่านที่เป็นคนร่าเริงแจ่มใสมีความสุขให้กับทุกคนได้สัมผัส และเมื่อระฆังสัญญาณสิ้นสุดเวลาหย่อนใจดังขึ้น ท่านก็แสดงให้พวกเขาเห็นถึงความตั้งใจของท่านในการรู้จักควบคุมตนเองและการอยู่ในความเงียบโดยสมบูรณ์ได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ นอกจากนี้ด้วยความถ่อมเนื้อถ่อมใจ ท่านจึงเคยขอเป็นเพียงภคินีฆราวาหรือชีสงเคราะห์ ที่ทำหน้าที่ต่ำต้อยภายในอาราม แต่คุณแม่อธิการก็ได้ปฏิเสธ เพราะดูเหมือนว่าคุณแม่ได้มองเห็นความล้ำค่าของวิญญาณดวงนี้ที่เป็นประโยชน์ในหน้าที่อื่น ๆ มากกว่า
ท่านเป็นนวกะได้ 1 ปี ท่านจึงได้เข้าพิธีปฏิญาณตนครั้งแรก ในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1921 ภายหลังจากพิธีนี้ ท่านได้รับมอบหมายให้ทำหน้าต่าง ๆ ในอาราม ซึ่งท่านก็สามารถทำงานเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นคนรับแขกที่ตู้หมุน คนเปิดประตู คนดูแลห้องหลังวัด ผู้ช่วยแม่ครัว จนบรรดามาเซอร์ในอารามขนานนามท่านว่า ‘เซอร์สารพัดประโยชน์’ (suora turabuchi แปลอย่างตรงตัวว่า เซอร์ผู้สามารถถูกเรียกมาทำงานแทนคนอื่นได้) และด้วยความล้ำค่าของวิญญาณท่าน คุณแม่เอวันเยลิสตา แห่ง นักบุญลูกา นวกจารย์คนที่สองของท่านที่มองเห็นถึงข้อเท็จจริงนี้ จึงได้สั่งให้ท่านเขียนบันทึกเกี่ยวกับกระแสเรียกของท่านและการสมัครเข้าคณะคาร์เมไลท์ ซึ่งกลายมาเป็นต้นฉบับของหนังสือ ‘ขึ้นไปข้างบน: ก้าวแรก’ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1922 เป็นต้นมา หลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกันที่ท่านได้รับคำสั่งให้เขียนบันทึก ครอบครัวของท่านก็ได้พยายามขอให้ท่านย้ายมายังอารามคาร์แมลที่เมืองปาแลร์โม ซึ่งพวกเขาอาศัยอยู่ แต่ท่านก็ได้ปฏิเสธและเลือกที่จะพำนักอยู่ที่อารามเมืองรากูซานี้ต่อไป
สองปีต่อมาท่านจึงได้เข้าพิธีปฏิญาณตนตลอดชีวิตในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1924 ขณะอายุได้ 40 ปี และเพียงหกเดือนต่อมาในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน สมาชิกในอารามที่ต่างประจักษ์แจ้งถึงความมั่งคั่งในวิญญาณของท่าน ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์และปัญญาจากหัวใจของท่าน ไม่ใช่ปัญญาในมันสมองจากการศึกษาหาความรู้ชั้นสูง จึงเลือกท่านให้ดำรงตำแหน่งเป็นคุณแม่อธิการพร้อม ๆ กับดำรงตำแหน่งเป็นนวกจารย์ในเวลาเดียวกัน ซึ่งในระหว่างการดำรงตำแหน่งในวาระนี้เอง คุณพ่อยอร์โย ลา เปร์ลา คุณพ่อวิญญาณของท่านได้สั่งให้ท่านเขียนบันทึกเล่าถึงชีวิตในฐานะสมาชิกคณะคาร์เมไลท์ของท่าน ท่านจึงได้เริ่มเขียนบันทึกดังกล่าวในวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1926 บันทึกนี้ถูกตีพิมพ์ในเวลาต่อมาในชื่อ ‘ลำนำเพลงบนภูเขา’ หลังจากนั้นเมื่อสิ้นวาระการเป็นคุณแม่อธิการอีกสามปีต่อมา บรรดามาเซอร์ในอารามก็เลือกท่านดำรงตำแหน่งเป็นคุณแม่อธิการอีกครั้ง ท่านจึงได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นวาระที่สองอีกสามปี ในช่วงรอยต่อของการดำรงตำแหน่งวาระนี้เอง ใน ค.ศ. 1927 ท่านได้ปฏิญาณตนจะบรรลุความครบครันตามอย่างนักบุญเทเรซา ปิยะมารดา และในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ท่านยังได้เขียนคำถวายตนเองเป็นยัญบูชาด้วยเลือดของท่านอีกด้วย
เมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่งครั้งที่สองลง ท่านก็ได้รับตำแหน่งเป็นคนดูแลห้องหลังวัดและนวกจารย์ของอารามระหว่าง ค.ศ. 1930 - ค.ศ. 1933 ในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งทั้งสองนี้ ในวันสมโภชพระคริสตวรกาย ค.ศ. 1933 ซึ่งเป็นปีศักดิ์สิทธิ์แห่งการไถ่กู้ คุณแม่มารีอา เทเรซา แห่ง พระเยซูเจ้า คุณแม่อธิการในเวลานั้นจึงได้สั่งให้ท่านเขียนบทรำพึงเกี่ยวกับพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าขึ้น ท่านจึงได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับคุณพ่อวิญญาณและได้เริ่มลงมือเขียนข้อรำพึงไตร่ตรองที่ท่านมีต่อศีลมหาสนิทจากประสบการณ์ของส่วนตัวผสานกับหลักเทววิทยาที่ว่าด้วยประสบการณ์ในทำนองเดียวกันซึ่งท่านสั่งสมมาตลอดชีวิต จนทำให้ได้ ‘ผลงานชิ้นเอก’ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘รัตนแท้แห่งจิตตารมณ์ศีลมหาสนิท’ ในอีกสองปีต่อมา ผลงานชิ้นนี้ถูกตั้งชื่อในทีแรกว่า ‘รำพึงถึงศีลมหาสนิท’ (แปลอย่างตรงตัวว่า สนทนากับศีลมหาสนิท) และถูกตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1979 ในชื่อสั้น ๆ ว่า ‘ศีลมหาสนิท’ และในระหว่างที่ท่านเริ่มลงมือเขียนผลงานทางวิญญาณที่สำคัญชิ้นนี้ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1933 ท่านยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นคุณแม่อธิการิณีเป็นวาระที่สาม และหลังจากนั้นท่านก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ตลอดจนถึง ค.ศ. 1947 รวมเป็นหกวาระ
ในระหว่างการดำตำแหน่งคุณแม่อธิการเป็นเวลา 18 ปี (6 วาระ) และในฐานะนวกจารย์สองครั้ง ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นให้มาเซอร์ทุกคนในอารามมีความร้อนรนในการบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะบรรดาสมาชิกใหม่ ท่านมักสอนทุกคนว่า “มีโอกาสเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่พวกเธอจะบรรลุถึงความครบครัน ภารกิจนี้มีเวลาแค่ชีวิตนี้ชีวิตเดียวเท่านั้น … ฉะนั้นเธอจงอย่าเสียเวลา” และมักทิ้งโน๊ตเขียนข้อแนะนำ ข้อเตือนใจให้พวกเธอ ตัวอย่างเช่น “จงพูดดีกับเพื่อนบ้านของเราหรือไม่ก็ไม่พูดไปเลย” ครั้งหนึ่งในช่วงการดำรงตำแหน่งวาระแรก เมื่อท่านพบว่ามาเซอร์หลายคนปฏิบัติตามธรรมนูญของคณะอย่างหละหลวม ท่านจึงเป็นทุกข์ยิ่งจนถึงกับเคยกล่าวกับพวกเธอคนหนึ่งว่า “ลูกแม่ ไฉนเลยเธอจึงดูหมิ่นพระเจ้าเช่นนี้ เธอไม่รู้หรือว่ามนุษยชาติต้องการเธอ ไฉนเธอจึงปล่อยตัวให้ออกนอกลู่นอกทางเช่นนี้เล่า” ดังนั้นในระยะแรกของการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากความเข้มงวดกวดขันของท่านให้การให้สมาชิกปฏิบัติตามธรรมนูญของคณะ ทำให้ท่านมีปัญหากับบรรดาญาติของมาเซอร์ในประเด็นเรื่องการเข้าเยี่ยมและการใช้ผ้าคลุมปิดบังใบหน้าระหว่างสนทนากับคนนอกอาราม จนมีการร้องเรียนเรื่องของท่านไปยังคุณพ่อมหาอธิการกูจลิเอลโม แห่ง นักบุญอัลเบิร์ต คุณพ่อจึงได้ขอให้ท่านลดหย่อนความเคร่งคัดในบางเรื่องลง ท่านจึงนบนอบเชื่อฟังเนื่องจากท่านเชื่อว่านี่คือน้ำพระทัยของพระเจ้า แม้ท่านจะรู้สึกลำบากใจที่จะปฏิบัติตามนี้ก็ตาม ดังนั้นในการปกครองอารามระยะแรก ๆ มาเซอร์ส่วนใหญ่ในอารามรากูซาจึงไม่ค่อยเชื่อสิ่งที่ท่านแนะนำเสียเท่าไร แต่ทีละนิดพวกเธอก็เปลี่ยนความคิดและเชื่อถือท่านในที่สุด
บุญราศีมารีอา กันดีดา (คนที่สองจากแถวกลาง) และบรรดาภคินี
ในอารามคาร์แมล เมืองรากูซา
เวลาเดียวกันกับที่ท่านคอยกำกับดูพวกเธอให้ยึดถือธรรมนูญของคณะอย่างดี ท่านก็แสดงให้พวกเธอเห็นถึงความอ่อนโยนและความน่ารักที่เป็นคุณลักษณะของท่าน ท่านมีความรักและความเมตตาให้พวกเธอทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และมีมากเป็นพิเศษสำหรับพวกเธอบางคนที่อยู่ในสภาพอ่อนแอและป่วยไข้ ท่านทำทุกสิ่งด้วยความเฉลียวฉลาดและความรอบคอบ วิญญาณและจิตใจของท่านสูงส่ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ท่านเย่อหยิ่ง ตรงข้ามท่านเป็นตัวอย่างการแสดงออกถึงความถ่อมใจ แม้ในเรื่องที่นำความลำบากมาสู่จิตใจของท่านอย่างการปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมของมาเซอร์บางคน นอกจากนี้ท่านยังแสดงตัวอย่างให้พวกเธอเห็นถึงการปฏิบัติตามธรรมนูญอย่างเคร่งคัด จนท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ธรรมนูญเดินได้’ รวมถึงแสดงให้เห็นถึงแบบฉบับของผู้มอบความไว้วางใจของตนเองทั้งหมดไว้ในองค์พระเยซูเจ้า และแบบฉบับของผู้ที่ค้นพบวิธีที่จะรับมือกับความทุกข์ด้วยความสุขจากการที่ท่านมีสุขภาพไม่แข็งแรงดี จึงต้องล้มเจ็บออด ๆ แอด ๆ ให้พวกเธอได้มองเห็น บรรดามาเซอร์ที่มีโอกาสได้มีชีวิตร่วมกับท่านเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า พวกเธอได้มองเห็นจิตวิญญาณที่เรียบง่ายและสดใสในตัวของท่านทอประกายออกมาจากทั้งคำพูดและการกระทำ โดยเฉพาะในยามที่ท่านเจ็บออด ๆ แอด ๆ ด้วยวิถีทางเช่นนี้เองทำให้ท่านค่อย ๆ สามารถนำหมู่คณะแห่งรากูซาให้สามารถเจริญชีวิตอย่างเคร่งคัดตามจิตตารมณ์ของนักบุญเทเรซา ปิยะมารดาได้ตลอดการดำรงตำแหน่งของท่าน
นอกจากปกครองหมู่คณะแห่งรากูซา เมื่อท่านเล็งเห็นว่าการขยายตัวเมืองรากูซามาโอบล้อมอารามที่ตั้งอยู่ในย่านกอร์โซ อิตาลีอาทำให้สภาพแวดล้อมของอารามหลังนี้ไม่เอื้อต่อการเจริญชีวิตนักพรต ท่านจึงตัดสินใจสร้างอารามหลังใหม่ขึ้นที่บริเวณที่ดินห่างจากอารามหลังเดิมไปทางทิศเหนือประมาณหนึ่งกิโลเมตร ตรงบริเวณที่เรียกกันว่า ปีอัซซา กัปปุชชินี อารามหลังนี้ใช้เวลาสร้างทั้งสิ้นประมาณหกปี ใน ค.ศ. 1937 ท่านจึงนำบรรดามาเซอร์ในอารามรากูซาย้ายไปยังอารามหลังใหม่ที่ยังคงใช้ชื่อเดิม และไม่เพียงแต่พัฒนาดูแลอารามเมืองรากูซา ตลอดวาระการดำรงตำแหน่งคุณแม่อธิการ ท่านยังได้ปฏิบัติตามแบบฉบับของนักบุญเทเรซา ปิยะมารดา ที่แผ่นดินสเปนในศตวรรษที่ 16 คือ การมีบทบาทสำคัญในการขยายพันธกิจของคณะคาร์เมไลท์ในเกาะซิซิลีที่ท่านอยู่ กล่าวคือท่านมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอารามคณะคาร์เมไลท์หญิงถึงสามแห่งในเกาะซิซิลี ได้แก่อารามพระวิสุทธิวงศ์ เมืองเกียรามอนเต กุลฟี ใน ค.ศ. 1925 อารามนักบุญมาระโก เมืองเอนนา ใน ค.ศ. 1931 และอารามแม่พระฟาติมา เมืองวิซซินี ใน ค.ศ. 1932 ซึ่งทำให้มาเซอร์หลายคนในอารามที่คุ้นเคยต้องจากท่านไป เพื่อไปตั้งอารามเหล่านี้ นอกจากนี้ท่านยังมีส่วนในการนำคณะคาร์เมไลท์ชายกลับมายังเกาะซิซิลี ภายหลังจากสาขาดังกล่าวถูกเนรเทศไปจากเกาะซิซิลีในศตวรรษที่ 19 ทั้งด้วยคำภาวนาและความช่วยเหลือที่ทำได้ และเมื่อคุณพ่อคณะคาร์เมไลท์ได้เดินทางมาเปิดอารามชายที่เมืองรากูซา เป็นอารามชายหลังแรกของเกาะซิซิลีในวันที 28 กันยายน ค.ศ. 1946 ท่านก็ได้ให้สมาชิกชายที่เดินทางมาตั้งอารามในเวลานั้นพำนักที่อารามหญิงเป็นระยะเวลาหกเดือน เพื่อรอการจัดเตรียมอารามใหม่ให้แล้วเสร็จอีกด้วย
ใน ค.ศ. 1947 ท่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นคุณแม่อธิการอารามเป็นวาระที่เจ็ด แต่เนื่องจากคุณพ่อมหาอธิการคนใหม่ คุณพ่อซิลเวรีโอ แห่ง นักบุญเทเรซา ไม่ประสงค์ให้มีการดำรงตำแหน่งเป็นอธิการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ท่านไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นคุณแม่อธิการเป็นวาระที่เจ็ด และได้กลับมาใช้ชีวิตนักพรตที่นบนอบต่อคุณแม่อธิการคนใหม่ หลังจากห่างหายไปจากชีวิตเช่นนี้มานานหลายปี ซึ่งในโอกาสเช่นนี้เอง คุณแม่มารีอา อิเนส แห่ง พระเยซูเจ้า คุณแม่อธิการคนใหม่ก็ไม่ได้ปล่อยให้ท่านทำเพียงหน้าที่ต่าง ๆ ในอาราม เพราะคุณแม่ได้สั่งให้ท่านเขียนบทพินิจสะท้อนย้อนคิดให้บรรดาพี่น้องสตรีผู้เจริญชีวิตในจิตตารมณ์แห่งคาร์เมไลท์ในปีเดียวกันกับที่ท่านว่างเว้นจากภาระงาน ท่านจึงได้ลงมือเขียนผลงานชิ้นสุดท้ายที่ถูกตีพิมพ์ในชื่อ ‘คาร์เมไลท์ผู้ครบครัน’ จนแล้วเสร็จ และนอกจากนี้ด้วยความไว้วางใจจากอธิการอารามหลายแห่ง แม้ท่านจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นคุณแม่อธิการแล้ว ท่านก็ยังได้รับมอบหมายให้ช่วยก่อตั้งอารามคณะที่ซีรากูซา แต่เนื่องจากปัญหาสุขภาพของท่าน ทำให้ท่านไม่อาจทำงานชิ้นนี้สำเร็จลงได้ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่
สองปีต่อมาหลังจากว่างเว้นจากหน้าที่คุณแม่อธิการอาราม ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1949 ท่านก็ถูกวินิจฉัยพบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ หลังจากนั้นอาการของท่านก็ทรุดลงตามลำดับ ท่านต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากอาการของโรคร้ายที่เป็นอย่างแสนสาหัส แต่ท่านก็ดำรงอยู่ในความเชื่ออย่างมั่นคง ท่านไม่เคยถอดใจแล้วต่อว่าพระเจ้าว่าทำไมพระองค์ถึงทรงปล่อยให้ท่านเผชิญกับโรคร้ายเช่นนี้ ตรงกันข้ามท่านรับมือความเจ็บปวดทรมานที่ได้จากโรคนี้ด้วยความอดทน โดยได้ยกถวายตัวเองเป็นยัญบูชาแห่งความรักผ่านความทุกข์ยากที่ประสบ ไม่ใช่ด้วยความสิ้นหวังหรือโศกเศร้าว่าตนทำอะไรไม่ได้ แต่ด้วยความสุขความยินดี ที่ตนเองได้มอบถวายสมบัติชิ้นสุดท้ายคือร่างกายให้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนจักรและวิญญาณที่น่าสงสารทั้งหลายตามอย่างจิตตารมณ์ชาวคาร์เมไลท์ ท่านยังเชิญชวนให้บรรดาพี่น้องร่วมอารามร่วมโมทนาคุณพระเยซูเจ้า ที่ทรงอนุญาตให้ท่านได้มีโอกาสถวายตนเป็นดังมรณสักขีด้วยความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายที่เผชิญ ท่านได้นิยามว่าสิ่งนี้เป็น ‘อ้อมพระหัตถ์ที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาอันไม่รู้สิ้นสุด’ ซึ่งแท้จริงท่านนั้นช่างไม่คู่ควร แต่เพราะพระเมตตาที่ทรงมีท่านถึงได้รับโอกาสนี้ ท่านจึงไม่อายที่จะกล่าวออกมาว่า “เป็นบุญเหลือเกิน เป็นความสุขเหลือเกิน” ที่ท่านได้มีโอกาสประสบกับความเจ็บไข้ครั้งนี้
เมื่ออาการยิ่งทรุดหนักขึ้น ท่านไม่ลังเลที่จะประกาศด้วยความสงบว่า “ฉันไม่เสียใจเลยที่ได้มอบถวายตนเองทั้งครบแด่พระเยซูเจ้า” และเมื่อถึงวันอาทิตย์สมโภชพระตรีเอกภาพที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1949 ภายหลังจากได้รับศีลเจิมคนไข้และได้ร้องข้อความช่วยเหลือจากแม่พระ ผู้เป็นแสงแรกแห่งศีลมหาสนิท พระเป็นเจ้าผู้ทรงถ่อมพระองค์ลงในรูปของศีลมหาสนิท จึงได้ทรงรับวิญญาณของข้ารับใช้ที่สัตย์ซื่อของพระองค์ไปรับบรมสุขยังเมืองสวรรค์ด้วยอาการสงบ นับเป็นการปิดฉากชีวิตของหญิงสาวผู้สละทิ้งทุกอย่างเพื่อติดตามพระคริสตเจ้าตลอดเวลา 65 ปี บนโลกลงอย่างงดงามและอย่างศักดิ์สิทธิ์ และแม้ในทันทีที่ท่านจากไปจะไม่มีเครื่องหมายอัศจรรย์ใดปรากฏขึ้นอย่างเรื่องเล่าของบรรดานักบุญองค์อื่น ๆ แต่เพียงไม่ถึงวัน พระเจ้าก็ทรงประทานเครื่องหมายรับรองคุณงามความดีของท่านว่าเป็นที่พอพระทัยของพระองค์ เมื่อในคืนระหว่างวันที่ 12 – 13 มิถุนายนนั้นเอง พระองค์ได้ทรงรักษาอาการโรคผิวหนักอักเสบร้ายแรงที่บริเวณเท้าขวา ที่แพทย์ได้ลงความเห็นว่าไม่มีทางรักษาให้หายขาดของภคินีมารีอา มาร์เกอริตา แห่ง ศีลศักดิ์สิทธิ์ มาเซอร์ที่ทำหน้าเป็นพยาบาลดูแลท่านให้หายขาด ภายหลังจากที่เธอได้ตัดสินใจวอนขออัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่าน หมายอัศจรรย์นี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกถึง 18 ปี จนถึงวันที่มาเซอร์มารีอา มาร์เกอริตาเสียชีวิตลงโดยโรคอื่นใน ค.ศ. 1967
ไม่เพียงแต่บรรดาสมาชิกในอารามที่เชื่อว่าบัดนี้พวกเธอได้มีนักบุญในสวรรค์เพิ่มขึ้นมาอีกองค์เป็นของพวกเขา บรรดาสัตบุรุษเมืองรากูซาเองก็ต่างเชื่อเช่นนั้น ดังนั้นในวันที่ 14 มิถุนายน ปีเดียวกัน จึงมีสัตบุรุษชาวเมืองรากูซามาร่วมพิธีปลงศพและร่วมแห่ร่างของท่านไปฝังยังหลุมเดียวกับคุณพ่อยอร์โย ลา เปร์ลา คุณพ่อวิญญาณของท่าน ซึ่งได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ ที่สุสานเมืองรากูซาอยู่เป็นจำนวนมาก และด้วยความเชื่อเช่นนี้เอง จึงทำให้เพียง 7 ปีต่อมาใน ค.ศ. 1956 สังฆมณฑลรากูซาจึงตัดสินใจเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ โดยได้ยื่นอัศจรรย์ที่เกิดกับภคินีมารีอา มาร์เกอริตา แห่ง ศีลศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศีตามหลังไป ซึ่งเมื่อสมณะกระทรวงว่าด้วยการแต่งตั้งนักบุญตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า ท่านเป็นตัวอย่างผู้คุณธรรมขั้นวีรยะ ซึ่งได้ทำอัศจรรย์ภายหลังจากเสียชีวิตที่ยืนยันได้ ในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 2004 นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงทรงบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศี ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร โดยได้ทรงยกย่องให้ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์เหนือธรรมชาติ (Mystic) กับศีลมหาสนิทดังความตอนหนึ่งจากบทเทศน์ในพิธีวันนั้นว่า“ท่านเป็นรหัสยิกแห่งศีลมหาสนิทอย่างแท้จริง ผู้ทำให้สิ่งนี้กลายมาเป็นศูนย์กลางเดียวที่รวมท่านไว้เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ตลอดทั้งชีวิต ... เพราะท่านตกหลุมรักองค์พระเยซูในศีลมหาสนิท ท่านจึงรู้สึกถึงแรงปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเป็นอัครสาวกแห่งศีลมหาสนิทอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย”
พิธีสถาปนาบุญราศีมารีอา กันดีดา
นี่แหละคือเรื่องราวของคุณแม่มารีอา กันดีดา ผู้ที่คุณแม่อธิการอารามเมืองรากูซา มาเซอร์ผู้ดูแลห้องหลังวัด และผู้ช่วยพิธีกรรมวัย 57 ปีมอบความวางใจให้เป็นผู้อ้อนวอนพระเจ้าเพื่อแก้ไขปัญหาศีลมหาสนิทที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ จนนำไปสู่เหตุการณ์อัศจรรย์การทวีแผ่นปังในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 2007 ที่อารามเมืองรากูซา แต่การจะจบเรื่องราวของเราในวันนี้ลงโดยไม่มีบทสะท้อนสั้น ๆ จากแง่มุมในชีวิตของคุณแม่มารีอา กันดีดา ก็เห็นทีจะเป็นการผิดธรรมเนียมของบล็อคนี้ไป แล้วอะไรคือบทสะท้อนจากชีวิตของบุญราศีมารีอา กันดีดาในวันนี้ที่เราควรไตร่ตรองด้วยกัน คำตอบนั้นอยู่ในพระวาจาที่ยกขึ้นมาในตอนต้นก่อนจะนำเรื่องว่า “เราเป็นปังแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิว และผู้ที่เชื่อในเราจะไม่กระหายอีก” (ยอห์น 6 : 35) ประจักษ์พยานของท่านบุญราศีในวันนี้ คือ การค้นพบความหมายของพระวาจาข้างต้นอย่างแท้จริง ท่านค้นพบว่าศีลมหาสนิท เป็น ‘ปังทรงชีวิต’ เป็นองค์พระคริสตเจ้าโดยแท้ผ่านประสบการณ์ชีวิต คุณแม่จึง ‘ไม่หิว’ คือ ขวนขวายหาสิ่งใดอีก โดยเฉพาะแนวทางในการบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ เพราะคุณแม่ได้พบทุกมิติที่เป็นคำตอบของชีวิต โดยเฉพาะชีวิตคริสตชนในศีลมหาสนิท ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความหวัง และความเชื่อ หรือศีลบนสามประการของนักบวชเอง คุณแม่ก็ได้ค้นพบเช่นกันในศีลมหาสนิทนี้ ฉะนั้นชีวิตของท่านจึงเป็น ‘สักขี’ ที่ยืนยันด้วยชีวิตทั้งชีวิตถึงพระวาจาข้อนี้
ชีวิตของบุญราศีมารีอา กันดีดา จึงเชื้อเชิญเราทุกคนให้ตระหนักในสิ่งเดียวกับที่ท่านตระหนัก คือ ศีลมหาสนิทคือพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นทุกสิ่งเพื่อทุกคน ที่ได้สละทิ้งเพศของพระเจ้า ลงมารับเพศปัง ดังนั้นเราจึงไม่ต้องขวนขวายหาขุมทรัพย์ใดอีก เราสามารถค้นพบทุกสิ่งที่เราต้องการได้ในศีลมหาสนิท ไม่ว่าจะเป็นความบรรเทาใจ แบบฉบับ หรือแม้แต่กระแสเรียก ขอเพียงแค่เราหยุดพักภาระไว้ก่อน และเข้ามาหาพระองค์ เพื่ออยู่เงียบ ๆ เพื่อเล่าทุกสิ่ง ทุกคนก็จะสามารถพบกับทุกสิ่งที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องที่วัด แต่ทุก ๆ ที่ ที่มีโอกาส เราก็สามารถยกจิตใจของเราคล้ายหนึ่งว่าเราได้อยู่เบื้องหน้าพระองค์ในศีลมหาสนิทได้เช่นกัน ดังนั้นในท้ายที่สุดนี้ขอให้วันนี้ชีวิตของบุญราศีมารีอา กันดีดา ได้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เราทุกคนได้เข้ามาใกล้ศีลมหาสนิทมากยิ่งขึ้น เพื่อพบประสบการณ์ที่ช่วยให้เราค้นพบความหมายตามพระวาจา “ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิว และผู้ที่เชื่อในเราจะไม่กระหายอีก” อย่างที่ท่านได้ค้นพบได้ในที่สุด อาแมน.
รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
เผยแพร่ครั้งแรก, 7 มิถุนายน ค.ศ. 2015
แก้ไขปรับปรุง, 2 มิถุนายน ค.ศ. 2024
ในวันอาทิตย์สมโภชพระคริสต์วรกาย
“ข้าแต่ท่านบุญราศีมารีอา กันดีดา แห่ง ศีลมหาสนิท
ช่วยวิงวอนเทอญ”
รายการอ้างอิงhttp://www.vatican.va/news_services/liturgy/saints/ns_lit_doc_20040321_candida_en.html
http://www.carmelitanescalze-concenedo.it/files/spiritualita/M.MariaCandida.pdf
http://www.carmelosicilia.it/beata_maria_candida_dell.htm
http://www.igw-resch-verlag.at/santibeati/vol6/barba.html
http://ocds-carmelite.blogspot.com/2008/12/blessed-maria-candida-of-eucharist.html
https://www.mariacandidadelleucaristia.it/biografia/
https://www.carmelodisicilia.it/madre-candida/moltiplicazione-del-pane-eucaristico/
https://www.mariacandidadelleucaristia.it/la-vita-2/
https://ocdsna-scalzisuipassiditeresa.blogspot.com/p/bmaria-candida-delleucaristia.html
https://www.santiebeati.it/dettaglio/91538
https://www.santuariocarmineragusa.it/beata-maria-candida-delleucaristia/ http://en.wikipedia.org/wiki/Maria_Candida_of_the_Eucharist