บุญราศีคัธริน
ฌาร์รีเยอ
Bl. Catherine
Jarrige
ฉลองในวันที่ : 4
กรกฎาคม
ท่ามกลางบรรดาป้ายจารึกสลักนามผู้วายชนม์มากมายในป่าศักดิ์สิทธิ์
หรือ สุสานของโมริยัค จะมีหลุมหนึ่งสลักว่า “กาติน็ง
เมอเน็ตต์” เป็นหลุมที่พิเศษกว่าหลุมอื่นๆ
กล่าวคือเหนือหลุมนี้ไม่เคยร้างลาดอกไม้นานาพันธุ์เช่นหลุมอื่นมามากกว่าร้อยห้าสิบปี
นับตั้งแต่ “คัธริน ฌาร์รีเยอ” จากชาวบ้านโมริยัคไปอย่างไม่มีวันกลับ
ดอกไม้เหล่านี้มาจากไหน ใครเล่าคือกาติน็ง เมอเน็ตต์ แล้วคัธริน ฌาร์รีเยอคือใครกัน
คำตอบหาได้จากบ้านหลังหนึ่งในดูมิส(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น
ชาลวิกยัค) หมู่บ้านในจังหวัดก็องตาล แคว้นโอแวร์ญ ของประเทศฝรั่งเศส
บ้านที่มีสภาพชั้นแรกเป็นห้องเดียวมีมุมเตาผิงตามแบบฝรั่งเศสเรียก ก็องตู
ซึ่งใช้ประกอบอาหาร ให้ความสว่างและความอบอุ่นแก่บ้าน
ส่วนชั้นบนเป็นห้องใต้หลังคาซึ่งยากต่อใช้ชีวิตนัก เจ้าของบ้านคือนายปีแอร์ ฌาร์รีเยอ
กับนางมารี เซอลาเยร์ สองสามีภรรยาที่ชีวิตอัตคัดนัก ดังนั้นทุกๆวันปีแอร์ซึ่งเป็นเกษตรกรต้องตื่นแต่เช้า
ออกไปทำหนัก เพื่อจะหาเงินมาจุนเจือครอบครัวของเขาที่ไม่ได้มีแต่งเพียงภรรยา
แต่ยังมีลูกๆอีกถึงหกคน
นี่แหละคือสภาพที่เด็กหญิงคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นในวันที่
4 ตุลาคม
ค.ศ.1754 เด็กหญิงผู้เป็นลูกคนสุดท้องจากบรรดาลูกชายสามคนและลูกหญิงสี่คนของปีแอร์กับมารี
เด็กหญิงผู้ที่เมื่อพระสงฆ์ถามว่าพวกเขาปรารถนาให้เด็กน้อยล้างบาปในชื่ออะไร
ทั้งสองก็ได้ตอบว่า ‘คัธริน’ ตามนามของนักบุญแคเธอรีน แห่ง ซีเอนา เด็กหญิงผู้มีชีวิตในวัยเยาว์ไม่ได้แต่งต่างไปจากเด็กชาวไร่จนๆคนหนึ่ง
ดั่งที่กล่าวไปแล้ว
ในวัยเยาว์ชีวิตของท่านก็เหมือนเด็กชาวไร่คนอื่นๆ ท่านสวมเสื้อผ้าง่ายๆเก่าๆ
มีชีวิตกลางแดด นิสัยซื่อๆ
องก์ความรู้ต่างๆทั้งการดำรงชีวิตและศาสนาก็ไม่ได้มาจากการเข้าเรียน
ที่สมัยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องบังคับอะไร
แต่ล้วนมากจากบิดามารดาที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น กระนั้นท่านก็พออ่านออกบ้าง
และแม้ครอบครัวจะอัตคัดแค่ไหน ความสุขก็ไม่ได้ตีค่าจากเงิน
ท่านมีความสุขทั้งที่บ้านที่ท่านเริ่มช่วยงานตั้งแต่อายุได้เพียงเก้าปี
และที่ทุ่งที่ท่านช่วยต้อนแพะต้อนแกะไปกินหญ้าพร้อมพี่และเพื่อนๆบ้านใกล้เรือนเคียง
ท่านเป็นเด็กร่าเริง
หุนหันพลันแล่น และซุกซนพอควร หลายๆครั้งระหว่างเล่นกับเพื่อนๆ
ท่านก็มักโกงเพื่อนด้วยกลวิธีของท่านเอง จึงไม่แปลกที่จะมีเรื่องทะเลาเบาะแว้งระหว่างท่านกับเพื่อน
และก็แน่นอนท่านก็ไม่เคยยอมเป็นฝ่ายแพ้เป็นอันขาด บางทีท่านก็ลักเปิดประตูทุ่งหญ้า
ไม่ก็ทำช่องตรงผนัง เพื่อให้เมื่อฝูงสัตว์ของฝ่ายตรงข้ามถูกต้อนมาเลี้ยง ก็จะมีบางตัวหลุดออกไปในบริเวณข้างเคียง
ท่านเล่าการเล่นแผลงๆของท่านแบบนี้ก็ทำให้หลายๆครั้ง
พวกท่านก็ต้องเสียน้ำตากันเลยทีเดียว
และสืบเนื่องจากฐานะทางการเงินของครอบครัวฌาร์รีเยอไม่ได้ดีอะไรนัก
ปีแอร์และมารีก็จำต้องแก้ปัญหาด้วยการส่งลูกๆไปทำงาน
ดังนั้นเมื่อท่านมีวัยได้ประมาณ 10 ปี ท่านก็ถูกส่งไปทำหน้าเป็นคนใช้ที่บ้านของเพื่อนบ้าน
ซึ่งที่นั่น ท่านก็สามารถทำงานนั้นได้อย่างดี จนกลายเป็นที่นิยมชมชอบของเจ้านาย ส่วนการรับศีลมหาสนิทครั้งแรกของท่านนั้นจัดขึ้นในช่วงท่านมีอายุประมาณ
12-13 ปี และท่านก็ได้เตรียมตัวเพื่อการนี้เป็นอย่างดี
กระทั้งหลังรับศีลแล้ว ชีวิตฝ่ายจิตของท่านก็ได้เติบโตขึ้น
ท่านเริ่มสวดภาวนาด้วยความร้อนรนและจริงใจ
22 ธันวาคม
ค.ศ.1767
ความทุกข์ครั้งใหญ่ก็มาถึงท่านและครอบครัวอีกครั้ง
เมื่อมารดาของท่านมาสิ้นใจลงขณะท่านมีอายุเพียง 13 ปี สองเดือน มันนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเด็กสาวอย่างท่าน
ที่มีชีวิตค้นแค้น ซ้ำยังต้องถูกพรากจากชีวิตครอบครัวตั้งแต่อายุเพียง 10 ปีเพื่อไปทำงาน แต่กระนั้นเหตุการณ์นี้ก็ไม่ได้ทำร้ายท่าน
ตรงข้ามมันกลับหล่อหลอมวิญญาณของท่านให้เข้มแข็งและกล้าหาญมากขึ้น
มีสุภาษิตฝรั่งเศสบทหนึ่งกล่าวว่า
“นักบุญที่มีความเศร้าก็คือนักบุญที่น่าเศร้า” แต่ท่านเป็นนักบุญที่มีความสุข
แม้จะผ่านเรื่องร้ายๆมาแค่ไหน ท่านก็ไม่เคยหมดความร่าเริงสดใส ความขี้เล่น
ท่านเรียนรู้ที่จะเต้นรำตั้งแต่เล็กๆ และก็ชอบในมันมากๆ ชนิดจัดมันเป็น “กิจกรรมยามว่าง” ของท่าน ท่านเล่าว่า “ฉันจะไปทุกที่การล้อมกองไฟ การเต้นรำ
การเต้นบาล มูเซตเตอ”
แต่ที่ท่านชอบที่สุดเห็นจะเป็นการเต้นแบบที่เรียกกันว่า
‘บูร์เร’ ท่านเคยกล่าวในภายหลังว่า “ฉันอยากให้คนไปแก้บาปบ่อยๆเท่ากับที่ฉันไปเต้นบูร์เร” และด้วยกิจกรรมยามว่างนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาในช่วงการเปิดกระบวนการของท่าน
ในช่วงปี ค.ศ.1911-ค.ศ.1930
เพราะความคิดที่ว่ามันไม่เหมาะที่นักบุญจะเต้นรำ พยานหลายคนต่างเน้นเรื่องนี้ซ้ำยังย้ำว่ามันไม่เหมาะสม
ตัดกลับมาที่ท่าน ท่านยังคงเป็นขาแดนซ์มาเรื่อยๆกระทั้งท่านตระหนักได้ว่าพระเจ้าทรงเรียกให้ท่านมารับใช้ผู้อื่น
ท่านก็ละทิ้งการเต้นที่ท่านรักในทันที
ขณะอายุ
20 ปี
ท่านก็ย้ายไปอยู่กับพี่ตัวเน็ตต์ที่โมริยัค
และเริ่มทำงานเป็นช่างถักลูกไม้ตามที่เคยเรียนมา ก่อนสมัครเป็นสมาชิกขั้นสามของคณะโดมินิกัน
ท่านจึงกลายเป็น ‘เมอเน็ตต์’ หรือสตรีผู้ถวายตนต่อพระ
แต่ไม่ได้เจริญชีวิตในอาราม ปกติแล้วเมอเน็ตต์จะมีพันธกิจคือการช่วยคนยากไร้ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต
และการร่วมกันสอนคำสอน ธรรมนูญของกลุ่มจะระบุเวลาสวดภาวนและเวลามามิสซา
ซึ่งในโมริยัคจะมีเมอเน็ตต์อยู่สี่กลุ่มคือ กลุ่มแม่พระ กลุ่มนักบุญฟรังซิส
กลุ่มนักบุญอักแนส และกลุ่มนักบุญโดมินิก
ซึ่งท่านก็เลือกเข้ากลุ่มนักบุญโดมินิก
และเริ่มอุทิศตนเพื่อคนยากไร้ คนป่วย ท่านใช้เวลาตลอดชีวิตที่เหลือของท่านส่วนใหญ่ไปกับการรับบริจาคจากบรรดาผู้ดีทั้งหลายในโมริยัค
ท่านจะเที่ยวเข้าไปตามบ้านต่างๆ พร้อมด้วยผ้ากันเปื้อนที่มีกระเป๋าหนังใบใหญ่สองใบ
และเปิดกระเป๋าออกด้วยรอยยิ้ม พร้อมกับพูดอย่างร่าเริง อาทิ “มาใส่เร็วสิคะ มาใส่เร็วสิคะ” ไม่ก็ “สวัสดีค่ะ คุณผู้หญิง
ฉันจะกลับมาอีกแล้ว โอ้ อย่าได้โกธรไปเลยนะคะ”
และแน่นอนว่าหลายครั้งคุณหญิงคุณนายเหล่านั้น
ก็ไม่ค่อยพอใจเท่าไรนัก แต่ท่านก็ไม่เคยหวั่น ท่านยังคงยิ้มและยังคงอยู่ที่นั่น
จนกว่าท่านจะได้รับบริจาค แม้บางครั้งเหล่าคุณหญิงเหล่านั้นจะปรี๊ดแตก
ท่านก็จะตะโกนบอกเหล่าคุณหญิงนั้น เช่น “โอ้คุณคะ คุณผู้หญิงผู้แสนดี
คุณผู้ชายที่แสนดี พวกท่านล้วนมีทุกอย่างที่ท่านต้องการแล้วไม่ว่าจะเป็นเงินทอง
ขนมปังขาว ไวน์ชั้นเลิศ และไฟอันแสนอบอุ่น
ท่านช่างคิดถึงบรรดาผู้ต้องสิ้นใจเพราะความหิวโหยและหนาวเย็นน้อยเสียจริง
ขอโปรดอย่าทำเช่นนั้นเลย … เชิญมาเถิด
มาบริจาคและให้ของทานแก่ฉันเถิด”
และเรื่องก็จะจบด้วยการที่ท่านจะได้รับของบริจาค ดังนั้นท่านจึงมีทั้งไส้กรอก
ขนมปัง ผลไม้ และเสื้อผ้าสำหรับบรรดาผู้ยากไร้และผู้ป่วยไข้ เพราะว่าแม้หัวใจที่แข็งที่สุดก็ยังต้องแพ้ต่อรอยยิ้มของกาติน็งส์ผู้นี้
ซึ่งในฐานะเพื่อนของคนยากจน
ท่านก็เจริญชีวิตอยู่ในความยากจนอย่างแท้จริง
แม้หลายต่อหลายครั้งท่านจะได้เสื้อผ้าหรือรองเท้าใหม่ๆมาใช้ แต่ไม่ช้าของเหล่านั้นก็จะถูกมอบแด่คนยากไร้
และไม่เพียงเครื่องใช้ อาหารเองท่านก็ยังสละให้คนยากไร้อีกด้วย
นอกนี้ระหว่างเดินบนถนนหากท่านพบเด็กกำพร้า
หรือเด็กน้อยผู้ยากไร้ ป่วย มอมแมม และสั่นเทาด้วยอากาศหนาว
ท่านก็จะรีบจูงมือเขากลับไปที่บ้านของท่านไม่ก็บ้านคนที่มีจิตใจเมตตาแถวๆนั้น
ก่อนจะหาอะไรมาทำให้ตัวพวกเขาอุ่น เวลาเดียวกันนำอาหารมาให้ พร้อมช่วยซ่อมแซมเสื้อผ้าของพวกเขา
จนถึงเวลากลับบางครั้งท่านก็อาจจะแถมขนมปัง ไม่ก็หมวกปีก หรือเสื้อ หรือหมวกแก็ป
หรือรองเท้าติดมือพวกเขาไปด้วย
ส่วนสำหรับคนป่วยแล้ว
ท่านก็เป็นทั้งพยาบาลและเพื่อนฝ่ายจิตของผู้ป่วย
เพราะในเวลาเดียวกันกับที่ท่านสนใจเรื่องการฟื้นตัวของร่างกาย ท่านก็สนใจการฟื้นฟูของจิตใจด้วย
ท่านมักแสวงหาบรรดาผู้ป่วยที่จวนจะสิ้นใจผู้ต่อต้านพระเจ้าหรือพระศาสนจักร ซึ่งเมื่อพบเหตุการณ์เช่นนี้ท่านก็จะรีบวิ่งไปยัง
และหากมีใครถามว่าท่านจะไปไหนท่านก็ตอบในเวลานั้นว่า “ฉันจะไปนำเพลงสวด” อันเป็นการสื่อคล้ายบอกว่า
ท่านนี้จะไปพูดคุยกับชายคนนั้น
หญิงคนนั้น เพื่อเปิดหัวใจของพวกเขาไปสู่ความเชื่อ
แม้กิจการของท่านล้วนเป็นกิจการที่เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
แต่กำลังของท่านในการทำสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ใช่มาจากคำเยินยอพวกนี้ แต่มันมาจากคำภาวนา
ที่เป็นประดุจตาน้ำพุทรงชีวิตของท่าน ท่านจะสวดไม่เพียงแต่ที่วัด หรือที่บ้าน แต่ยังสวดแม้กระทั้งบนถนน
เพราะทุกๆที่ล้วนเป็นที่ประทับของพระเจ้าได้ทั้งสิ้น พยานคนหนึ่งได้เล่าถึงท่านว่า
“บ่อยครั้งเมื่อฉันเห็นเธอมาหาฉัน พร้อมมือข้างหนึ่งยื้นออกไปขอรับบริจาค
ส่วนอีกข้างก็ซ่อนไว้ใต้ผ้ากั้นเปื้อนที่เธอเก็บสายประคำไว้”
“เสรีภาพจงเจริญ พวกขุนนางจงตาย ล้มระบบสงฆ์และระบบขุนนาง” เสียงตะโกนดังขึ้นในถนนของโมริยัค ประดุจมีดกรีดดวงใจของท่านให้เป็นชิ้นๆ เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศส(ค.ศ.1789 - ค.ศ.1799) ดำเนินมาถึงจุดที่คณะปฏิวัติได้เป็นปฏิปักษ์กับพระศาสนจักรอันมีสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นประมุข
เมื่อทางคณะปฏิวัติก็มีประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์อันบังคับให้พระสงฆ์ต้องปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อสาธารณรัฐใหม่นี้
ทำให้เกิดกลุ่มสงฆ์แตกออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มปฏิญาณตน กับ กลุ่มไม่ปฏิญาณตน
จึงเกิดการกวาดล้างกลุ่มสงฆ์ที่ไม่ปฏิญาณตนหรือกลุ่มที่ขึ้นตรงต่อกรุงโรมขึ้นอย่างดุเดือด
ฝั่งท่านเองก็สุดจะทำเป็นนิ่งกับธรรมนูญนี้ได้
ดังนั้นท่านจึงไม่ยอมร่วมพิธีใดๆทั้งสิ้นที่ประกอบโดยพระสงฆ์กลุ่มปฏิญาณตน
ท่านได้เลือกที่จะเป็นเช่นนักบุญแคทเทอรีน แห่ง ซีเอนา คือเป็นอัศวินแห่งความเชื่อ
ความรักต่อพระศาสนจักรและพระสงฆ์ ท่านไม่รีรอที่จะช่วยบรรดาสงฆ์ที่หลบหนีการกวาดล้างอย่างหาญกล้า
แม้จะรู้ดีว่าโทษของการทำเช่นนี้ คือ ความตาย ท่านก็ไม่กลัว
ยิ่งในช่วงระหว่างปี
ค.ศ.1790
ถึง ค.ศ.1799 ท่านก็ยิ่งลงมือช่วยพระสงฆ์เหล่านั้นอย่างจริงจัง
ด้วยการจัดหาที่พักและอาหารสำหรับพวกท่าน ชนิดไม่กลัวตาย โดยมีเพื่อนที่เป็นตำรวจจะคอยบอกก่อนเสมอว่าตำรวจจะไปค้นเมื่อใดเพื่อให้ท่านและพระสงฆ์ไหวตัวทัน
ท่านเสี่ยงกับทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการให้ที่พักแก่พระสงฆ์ถึงสองท่านตลอดเวลาถึง 18 เดือน หรือการเดินทางไปตามทางที่ยากลำบากเพื่อนำอาหาร
เสื้อผ้า และของที่จำเป็นสำหรับมิสซาไปให้
นอกนั้นในเวลากลางคืนท่านก็จะติดตามพระสงฆ์ไปตามบ้านต่างๆ
ที่จะประกอบพิธีต่างๆในแถวๆแซ็งต์ ฟลูร์ และโมริยัค
กระทั้งท่านถูกจับและถูกขังที่โรช
แต่ไม่นานท่านก็ถูกปล่อยเพราะขาดหลักฐาน หลังจากนั้นท่านก็ได้เดินตามคุณพ่อฟีลีโอล(หนึ่งในคุณพ่อที่ท่านช่วยเหลือ)ที่ถูกตัดสินประการชีวิตในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1793 อย่างกล้าหาญ และได้เก็บเลือกมรณสักขีของคุณพ่อ
ณ ที่เชิงนั่งร้าน เช่นเดียวกับคริสตชนยุคแรก หลังจากนั้นหนึ่งปีภายหลังถูกจับครั้งแรก
ในปี ค.ศ.1794
ท่านก็ถูกจับอีกครั้งที่โอรียักและถูกนำตัวขึ้นศาล
แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ท่านรอดมาได้ เพราะหลักฐานมัดตัวท่านไม่เพียงพอ แต่นับจากนั้นท่านก็ถูกดูถูกและเย้ยหยันมาตลอด
ยิ่งช่วงเดือนสิงหาคม
ค.ศ.1795
ถึงช่วงเดือนมกราคม ค.ศ.1796 ยิ่งเป็นช่วงที่ท่านลุยงานอย่างถึงที่สุด
เพราะช่วงนั้นท่านจัดให้มีพิธีรับศีลล้างบาปถึง 14 ครั้ง และพิธีสมรสอีก 13 ครั้ง โดยทุกครั้งท่านรับเป็นแม่ทูนหัว
และพยานให้แก่บ่าวสาว
เวลาผ่านไปสิบปีเวลาแห่งราตรีกาลก็เคลื่อนผ่านฝรั่งเศส
แสงเงินยวงแรกเริ่มสาดส่องทั่วปฐพี การรื้อฟื้นพระศาสนจักรจึงเริ่มขึ้น
ท่านก็มิได้หยุดอยู่เฉย
ตรงข้ามท่านร่วมกับพระสงฆ์สร้างโมริยัคให้เป็นแผ่นดินแห่งพระวรสาร
ภายใต้ความคุ้มครองของดวงพระหฤทัยอีกครั้ง ทำให้ ‘เมอเน็ตของผู้ยากไร้’ นี้ได้กลับกลายมาเป็น
‘เมอเน็ตผู้แสนดีของบรรดาพระสงฆ์’
นอกนั้นชีวิตที่เหลือ
ท่านก็อุทิศให้กับบรรดาผู้ด้อยโอกาสไม่ว่าจะเป็นการไปดูแลหรือช่วยฝังศพ รวมถึงบรรดานักโทษที่ท่านมักแวะไปเยี่ยมเยือน
และคนป่วยที่ท่านได้ทำงานเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลโมริยัคถึง 22 ปี จนวันเวลาล่วงผ่านมาได้ 36 ปี นับจากวันที่อรุณแสงฉาบทั่วฝรั่งเศส ภายหลังล้มป่วยเป็นเวลาถึงห้าวัน ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1836 ด้วยวัย 81 ปี เมอเน็ตผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็คืนวิญญาณไปหาพระเป็นเจ้าอย่างสงบ
ร่างของท่านถูกฝังในอาภรณ์ของคณะโดมินิกัน
ท่ามกลางความโศกเศร้าของชาวโมริยัคทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจนก็ต่างมาพร้อมกันที่สุสานเพื่อบอกลามารดาที่รักเป็นครั้งสุดท้าย
กาลเวลาค่อยๆล่วงผ่านไป แต่ความทรงจำเกี่ยวกับท่านก็ยังคงอยู่มิได้จืดจาง ตรงข้ามกับเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
จนถึงปี ค.ศ.1912
นายปีแอร์ กอร์มีร์
เจ้าหน้าที่ประจำสังฆมณฑลแซ็งต์ ฟลูร์ ก็ได้เริ่มดำเนินเรื่องท่านไปยังโรม และที่สุดในวันที่
24 พฤศจิกายน
ค.ศ.1996 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงยกคาระวียะคัธรินไว้ ในสารบบบุญราศีอย่างสง่า
ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครวาติกัน ที่ท่านภักดีไม่เปลี่ยนแปลง
“ลูกเอ๋ย วันนี้ จงไปทำงานในสวนองุ่นเถิด”(มธ. 21:28) อุปมาในข้อนี้พระเยซูเจ้าได้บอกเราว่ามีลูกสองคนที่ปฏิบัติต่างกันโดยสิ้นเชิง
คือ คนโตเมื่อฟังคำสั่งที่ยกมาวันนี้ กล่าวว่าไม่ แต่ก็ไปทำในภายหลัง
ส่วนคนเล็กเมื่อฟังคำสั่งนี้ กล่าวรับ แต่ก็ไม่ทำตาม ซึ่งสุดท้ายพระองค์ทรงตรัสจบอุปมานี้ว่าสองคนนี้ใครตามใจพ่อ
ซึ่งหากเรามองดีๆแล้วทั้งสองต่างมีข้อบกพร่องกันทั้งสิ้น คนแรกบกพร่องที่ตอบไม่
ส่วนคนที่สองบกพร่องเพราะไม่ยอมทำทั้งๆที่รับปากไว้ ผมจึงคิดว่าในหลายๆครั้ง
ที่ผ่านมาในชีวิตของเรา พระเป็นเจ้าได้ทรงเรียกเราให้ทำบางสิ่งบางอย่างตามฐานะคริสตชน
และเราก็มักเลือกเป็นลูกคนที่สองไม่ก็คนที่หนึ่ง
ผมจึงอยากเสนอตัวอย่างของลูกคนที่สามที่ไม่ปรากฏในพระคัมภีร์
แต่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการเป็นผู้ติดตามพระคริสเจ้า คือเป็นผู้ที่เมื่อบิดาเดินมาแล้วบอกว่า
“ลูกเอ๋ย วันนี้ จงไปทำงานในสวนองุ่นเถิด” ก็ตอบรับและไปทำงานที่บิดาสั่งในทันที ซึ่งแบบอย่างของลูกคนที่สามที่เด่นชัดที่สุดก็ไม่ต้องมองไปไหนไกล
ก็พวกท่านนักบุญต่างๆไงละ บุญราศีคัธรินก็คือหนึ่งในนั้น
เพราะเมื่อท่านทราบว่าพระเจ้าทรงเรียกท่านให้ไปทำงานในสวนองุ่นของพระองค์
ท่านก็ได้ละทิ้งสิ่งที่ท่านรัก นั่นคือ การเต้นบูร์เรและออกไปทำงานพระอย่างร้อนรน
ดังนั้นในวันนี้ที่ทุกคนได้อ่านเรื่องราวที่อาจจะยาวไปนิด
ผมก็ขอให้เรามาเป็นลูกคนที่สามเมื่อพระเรียกเราให้ทำงานตามฐานันดรกษัตริย์ ประกาศก
พระสงฆ์ที่เราได้มาในวันรับศีลล้างบาป ก็รีบปฏิบัติตามอย่างซื่อตรงด้วยกันเถอะ
เพื่อที่ว่าพระนางพระองค์จะเป็นที่สรรเสริญจากประชาชาติ อัลเลลูยา อัลเลลูยา
“ข้าแต่ท่านบุญราศีคัธริน ฌาร์รีเยอ
ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง