วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

'คุณพ่อเยอร์ซี' ภาชนะน้อยของพระ...วีรบุรุษของโปแลนด์


บุญราศีเยอร์ซี ปอเปียววูสซ์คอ
Bl. Jerzy Popiełuszko
วันฉลอง : 19 ตุลาคม
องค์อุปถัมภ์ : โซลิดาริตี


ในหน้าประวัติศาสตร์บนโลกใบเล็ก ๆ ของเราต่างมีการจารจารึกถึงเรื่องราวบรรดาวีรบุรุษและวีรสตรี ผู้ได้ทำลายขีดจำกัดของตนแล้วออกไปทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อคนอื่นอย่างอาจหาญไว้อย่างมากมายในทุกกาลสมัย แต่เรื่องราวบทต่อไปที่ทุกท่านกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ หาใช่เรื่องราวของวีรบุรุษในอุดมคติของใครหลายคนไม่ กล่าวคือวีรบุรุษผู้นี้ไม่ได้แข็งแรงเหมือนกษัตริย์เลโอไนดัสแห่งดินแดนสปาร์ตา ไม่ได้เชี่ยวชาญการศึกเช่นซุนวู ผู้เขียนตำราพิชัยสงครามอันลือลั่นของแผ่นดินจีน แต่ตรงกันข้ามวีรบุรุษผู้นี้กลับเป็นชายธรรมดาที่มีโรคประจำตัว และทำเป็นแต่มิสซา แถมตอนจบของวีรบุรุษผู้นี้ก็ไม่ได้งดงามเท่าไรนัก กระนั้นก็ตามชายผู้นี้ก็กลายเป็นวีรบุรุษในยุคร่วมสมัยของโปแลนด์

แม้เรื่องราวที่เรากำลังเล่าต่อไปจะเป็นเช่นนี้ เป็นเรื่องราวที่ไม่ได้โลดโผนโจนทะยาน หรือเป็นไปดั่งเรื่องของวีรบุรุษวีรสตรีในอุดมคติทั้งหลายที่ท่านเคยได้ยินมา แต่ท่านพร้อมจะฟังเรื่องราวของวีรบุรุษผู้นี้กันไหม… ถ้าหากท่านพร้อมแล้ว เราก็คงต้องเริ่มเรื่องราวของเราด้วยวลีติดปากสุดคลาสสิคที่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วในหมู่บ้านเกษตรกรรมยากไร้ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดปอดลาแช ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศโปแลนด์ ชื่อหมู่บ้านโอคอปี ในวันแห่งการฉลองมหากางเขนศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 1947 เด็กชายตัวน้อยก็ได้ลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก ยังความโล่งอกแก่ทั้งนายวลอดิสลาวา และนางมารีอันนา ปอเปียววูสซ์คอ เกษตรกรสองสามีภรรยาผู้อาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นยิ่งนัก


หมู่บ้านโอคอปีในปัจจุบัน

สองวันต่อมาหลังให้กำเนิดทารกน้อย ทั้งสองก็นำทารกชายผู้มีฐานะเป็นลูกคนที่สามจากห้าคนของครอบครัวไปรับศีลล้างบาปด้วยนาม ‘อัลฟ็องส์’ และเพียรเลี้ยงดูทารกน้อยด้วยความรักและความศรัทธาอย่างเอาใจใส่ พร้อมได้ถ่ายทอดสายเลือดของชาวโปลิสผู้รักชาติให้ซึมซาบเข้าไปในกายของเด็กน้อยให้สนิทแน่นไปพร้อมกับความศรัทธาในพระเป็นเจ้า โดยไม่ล่วงรู้ว่าสองสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในชีวิตอันน่ามหัศจรรย์ของลูกน้อยผู้นี้ในเบื้องหน้า กระทั่งทารกน้อยเติบใหญ่เป็นเด็กชายถึงวัยพอเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ทั้งสองก็ส่งเสียเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนประถมในตัวเมืองที่อยู่ห่างไปจากบ้านราวห้ากิโลเมตรได้

ทั้งบิดามารดาของท่านต่างยืนยันว่าท่านเป็นเด็กสุขภาพไม่สู้จะแข็งแรง แต่มีนิสัยน้ำใจที่เข้มแข็ง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่แต่เล็ก ๆ ท่านจึงจะเดินไปโรงเรียนคนเดียวทุกวัน และสืบเนื่องมาจากท่านจะแวะไปช่วยมิสซาที่วัดก่อน ทำให้ทุก ๆ วันท่านต้องออกจากบ้านตอนเวลาตีห้า เพื่อมีเวลาไปถึงวัดก่อนมิสซา ซึ่งแม้ว่าอากาศวันนั้นจะเป็นเช่นไร ก็ไม่อาจเหนี่ยวรั้งให้ท่านไม่ไปวัดได้ นอกจากนี้เมื่อเลิกเรียนแล้วก่อนจะกลับบ้าน ท่านก็ไม่วายแวะไปสวดสายประคำที่วัดก่อนจะกลับอยู่มิได้ขาด จนท่านถูกเพื่อน ๆ ล้อ และถูกครูที่โรงเรียนหาว่าท่านสวดมากเกินไป


ด.ช. เยอร์ซีพร้อมกับบิดามารดา

ท่านเป็นนักเรียนประถมแบบไหน คำตอบง่าย ๆ จากคำของบรรดาพยานก็คือ ท่านเป็นเพียงนักเรียนธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้เรียนดีอะไรนักหนา ผู้ชอบวิชาประวัติศาสตร์ วิชาภาษาโปแลนด์ และวิชาคำสอน และเป็นนักเรียนผู้เมื่อว่างเว้นจากการเรียนคราใด ก็จะช่วยบิดามารดาทำงานในฟาร์มเหมือนเด็กชนบทปกติ “…เขาทำเพียงพาวัวออกไปกินหญ้านอกหมู่บ้าน ซึ่งระหว่างทางเขาก็จะแวะคุยกับบรรดาคุณยายทั้งหลาย เขาเป็นคนธรรมดา ๆ ” มารดาของท่านเล่าถึงชีวิตการช่วยงานบ้านของท่านในวัยเยาว์ ซึ่งย้ำภาพของเด็กชายจากบ้านนาธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้โดดเด่นหรือพิเศษจากเด็กคนอื่น ๆ ในทำนองเรื่องเล่าตำนานทองคำของนักบุญหลายองค์ ที่เรามักคุ้นเคยกัน ที่มักชี้แสดงถึงความพิเศษของนักบุญองค์หนึ่ง ๆ ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ 

และแม้จะอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ของรัสเซีย ครอบครัวของท่านก็ยังคงเป็นคริสตชนที่เข้มแข็ง และร้อนรนในความเชื่อ พวกเขาสวดภาวนาทุกเช้าค่ำ และจัดให้มีการแสดงออกถึงความศรัทธาพิเศษทั้งในเดือนพฤษภาคมเดือนของแม่พระ เดือนมิถุนายนเดือนของพระหฤทัย และเดือนตุลาคมเดือนของแม่พระลูกประคำ รวมถึงตัวท่านเองก็เป็นเด็กที่มีใจศรัทธาอย่างชัดแจ้ง ดังเห็นได้จากการที่ท่านไปวัดทุกวัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกอะไรที่พอท่านอายุได้ 9 ปี ท่านจึงได้รับอนุญาตให้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกและศีลกำลังภายในปีเดียวกัน


คุณพ่อเยอร์ซีในวัยรุ่น

หลังจากจบชั้นประถมศึกษาใน ค.ศ. 1961 แล้ว ท่านก็เข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาในตัวเมืองเดียวกัน และเช่นเดียวกันกับในโรงเรียนประถม ที่นั่นท่านไม่ได้แตกต่างจากเพื่อนนักเรียนคนอื่น ๆ ท่านเป็นนักเรียนธรรมดา ๆ ที่เพื่อน ๆ ซึ่งได้สัมผัสยืนยันว่าเป็นคนเอาใจใส่และฉับไวในเรื่องที่เป็นเรื่องอันตราย แต่...โดยที่ไม่มีใครรู้ลึก  ๆ ภายใต้หน้ากากของนักเรียนธรรมดา ๆ วิญญาณของท่านได้ซ่อนเร้นความปรารถนาที่จะเป็นพระสงฆ์ไว้ลึก ๆ เพราะท่านกลัวการถูกล้อเลียนจากคนรอบข้าง 

จนวันเวลาล่วงไปเมื่อการสอบปลายภาคเรียนใน ค.ศ. 1965 ผ่านพ้นไปอย่างโล่งอก ท่านก็ตัดสินใจทำสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของท่าน นั่นคือการเดินตามกระแสเรียกภายในหัวใจของท่าน ดังนั้นในวัย 18 ปี ท่านจึงได้ขออนุญาตบิดามารดาเข้าบ้านเณร และเมื่อได้รับอนุญาตท่านจึงได้นั่งรถไฟสายใต้ลงไปยังกรุงวอร์ซอ เพื่อเข้าบ้านเณรอัครสังฆมณฑลวอร์ซอ และที่บ้านเณรนั้นก็เช่นเดียวกันกับที่โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา คือ ท่านก็เป็นเพียงเณรธรรมดา ๆ คนหนึ่ง แต่ในปีถัดมาหลังรับเสื้อหล่อได้ไม่นาน ท่านก็ถูกเรียกตัวไปรับราชการทหารในกองทัพ ท่านจึงจำต้องพักการเรียนในบ้านเณรเพื่อรับหน้าที่ดังกล่าว


สามเณรเยอร์ซีขณะรับราชการเป็นทหาร

เวลานั้นในฐานะเณรที่ถูกเรียกตัวไปรับราชการทหาร พวกเขาเหล่านั้นจะถูกส่งไปอยู่ ‘หน่วยพิเศษ’ ชื่อ กองพันทหารราบช่วยเหลือ (เจดับบลิว 4413) ซึ่งมีสถานปฏิบัติงานอยู่ที่ชายแดนของประเทศโปแลนด์ บริเวณที่เรียกกันว่า บาร์ตอสซีซาค ใกล้ ๆ ชายแดนของสหภาพโซเวียต แน่นอนการเรียกตัวเณรในบ้านเณรไปรับราชการเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะแท้จริงนี่คือฉากบังหน้าของการเบียดเบียนพระศาสนจักร โดยอาศัยโอกาสที่เณรเหล่านั้นห่างจากบ้านเณร ในการปลูกฝังให้เณรเหล่านั้นละทิ้งกระแสเรียก และหันมาเชื้อฟังสาธารณรัฐแทน เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลานี้ของบรรดาเณร ๆ ในสมัยนั้นคือเวลาแห่งการทดสอบกระแสเรียกโดยแท้ นอกนี้ไม่เพียงแต่เณรที่ถูกส่งมา ค่ายนี้ยังมีเยาวชนฆราวาสถูกส่งมาอีกด้วย

ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ชื่อของท่านจะถูกส่งมาประจำที่นี่เมื่อถูกเรียกตัวมารับราชการทหาร แต่ระบบที่ต้องการทำให้พระเจ้าตายไปนั้นมีผลต่อท่านไหม ? คำตอบคือเปล่าเลย เพราะที่นั่นท่านได้ริเริ่มการสวดภาวนาประจำวัน ท่านไม่ได้อยู่เฉย ๆ ให้ถูกข่มเหงจากศัตรูของพระศาสนจักร ตรงข้ามท่านได้ลุกขึ้นเป็นฝ่ายของพระคริสต์เจ้าอย่างแจ่มชัด ท่านกลายเป็นผู้คอยสนับสนุนบรรดาเพื่อนทหารให้ยังมั่นคงต่อพระคริสตเจ้าเสมอ และแน่นอนด้วยการประพฤติตนต่อต้านอย่างอาจหาญเช่นนี้ ทำให้ท่านถูกหัวเราะเยาะจากคนที่ไม่มีความเชื่อ ถูกลงโทษให้ออกกำลังกายนานกว่าคนอื่น บางครั้งก็ถูกให้ออกไปเก็บฟืนในวันที่หนาวสุดขั้ว และบางคราวก็ถูกให้ทำงานล้างห้องน้ำโดยต้องสวมหน้ากากป้องกันแก็สพิษไว้ตลอด


สามเณรเยอร์ซีในเครื่องแบบทหาร

“ลูกพบว่าเป็นเรื่องยากมาก ๆ พ่อไม่เคยทุบตีผมให้ต้องเจ็บ หรือทรมานเลย” ท่านเขียนเล่าประสบการณ์ในค่ายทหารถึงบิดา ข้อความสั้น ๆ นี้เพียงพอให้เห็นถึงความทุกข์ยากที่ท่านได้รับตลอดการรับราชการทหารที่เริ่มตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1966 จนถึง ค.ศ. 1967 แต่สิ่งเหล่านี้ก็หาได้สั่นคลอนหรือถอนรากความเชื่อของท่านไม่ ตรงกันข้ามมันกลับเป็นเหมือนปุ๋ยที่ทำให้ต้นไม้แห่งความเชื่อของท่านยิ่งเติบโตและหยั่งรากลึกลงไปมากยิ่งขึ้น แต่กระนั้นก็เถอะ ตลอดสองปีนั้นแม้ความเชื่อในวิญญาณจะเข้มแข็งขึ้น สุขภาพร่างกายของท่านก็กลับแย่ลงไปมาก ท่านมีปัญหาสุขภาพถึงสองจุดคือที่ต่อมไทรอยด์และที่หัวใจเพิ่มเข้ามา

หลังปลดประจำการทหารแล้ว ท่านก็กลับเข้าไปเรียนที่บ้านเณรต่อ กระทั่งในต้น ค.ศ. 1970 ท่านก็มีอันล้มป่วยหนักปางตาย แต่ก็บังเกิดอัศจรรย์คือท่านรอดมาได้อย่างฉิวเฉียด ท่านจึงกลับมาเรียนต่อได้ แต่ตลอดชีวิตที่เหลือท่านก็มีปัญหาด้านสุขภาพติดตัวไปเสมอ หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคมปีถัดมา ท่านก็ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจาก อัลฟ็องส์ เป็น ‘เยอร์ซี’ และที่สุดแล้วในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1972 ท่านในวัย 24 ปีก็ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์จากพระคุณเจ้าสเตฟาน วิสซินสกี ที่อาสนวิหารนักบุญยอห์น


คุณเยอร์ซีในพิธีบวช

มิสซาแรกพระสงฆ์ใหม่ของท่านถูกจัดขึ้น ณ วัดนักบุญบาร์โธโลมิว ยาโวซัน ในวันที่ 11 มิถุนายน ปีเดียวกัน โอกาสนั้นท่านยังได้ทำรูปการ์ดที่ระลึกเขียนข้อพระวาจาว่า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลูกา 4 : 18) แจกให้กับผู้มาร่วมพิธีในวันดังกล่าว หลังจากนั้นท่านจึงถูกส่งไปประจำที่วัดพระตรีเอกภาพ ซองบ์กาซ (ค.ศ. 1972 - ค.ศ. 1975) วัดพระมารดา ราชินีแห่งโปแลนด์ อานีแน (5 ตุลาคม ค.ศ. 1975 – ค.ศ. 1978) และวัดพระกุมารเยซู ย่านโซลิบอร์ซ (ค.ศ. 1978 – ค.ศ. 1979) ตามลำดับ

“พวกเราไม่มีทางเป็นพระที่สนใจแต่พิธีการ หรือยึดติดกับตำแหน่ง” คือคำขวัญที่ท่านและคุณพ่อบ๊กดัน ลีเนียฟสกี เพื่อนพระสงฆ์ยึดถือเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิต ท่านปรารถนาอย่างร้อนรนที่จะดูแลบรรดาสัตบุรุษตามหน้าที่ของนายชุมพาบาล ผู้สวมกาสุลาอันคือพระคริสตเจ้าไว้อย่างดีที่สุด แต่ในช่วงเวลาเหล่านี้ ที่ท่านถูกส่งไปอภิบาลสัตบุรุษนั้นจากคำพยานก็แสดงให้เห็นว่าท่านก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรจากพระสงฆ์องค์อื่น ๆ เหมือนเช่นชีวิตในช่วงที่ผ่านมา ทุกคนจดจำท่านได้ในฐานะพระสงฆ์ธรรมดา ๆ ผู้บางครั้งก็กลัวที่จะต้องขึ้นเทศน์ แต่กระนั้นก็ตามท่ามกลางความธรรมดานั้นเอง ในความทรงจำของลูกวัดของท่าน ท่านกลับเป็นที่รักจากลูกวัดที่ท่านไปประจำ เพราะท่านมีพระพรในการเข้าหาคนง่าย


คุณพ่อเยอร์ซีในการอภิบาลสัตบุรุษ

“ความเชื่อศรัทธาไม่อาจจำกัดอยู่แต่ในกิจศรัทธา การมาร่วมขบวนแห่ในวันนี้ยังไม่เพียงพอ การมามิสซาอาทิตย์ละครั้งก็ไม่เพียงพอ การรับศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี  หากความเชื่อศรัทธาของพวกเราไม่ก้าวพ้นธรณีประตูวัดออกไปและไม่มีชีวิตอยู่ร่วมกับเรา ในชีวิตประจำวัน ในครอบครัว ในสิ่งแวดล้อมตัวเรา มันก็เป็นเพียงความเชื่อศรัทธาที่ไร้การปฏิบัติ และความเชื่อศรัทธาเช่นนั้นก็ตายแล้วและไร้ความหมายใด ๆ ความเชื่อศรัทธาเช่นนี้เองทำให้ผู้ที่ไม่เชื่อมีข้อโต้แย้งต่อความไม่มีเหตุผลของความเชื่อศรัทธาของเราได้  ทั้งมองเป็นสิ่งไร้ประโยชน์สำหรับชีวิต” (บทเทศน์ของท่านในวันสมโภชพระคริสตกายา ที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1984) ท่านรักบรรดาสัตบุรุษ ท่านสนใจความเป็นอยู่ของพวกเขาและพร้อมรับฟังพวกเขาทุกคน สัตบุรุษทุกคนจึงรู้กันดีว่า ยามใดที่พวกเขาหมดหวังด้วยปัญหารุมเร้า พวกเขาก็สามารถมาหาท่านได้ และยิ่งเป็นคนป่วยแล้ว ท่านก็จะยิ่งช่วยเขาอย่างรวดเร็ว เช่นนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยที่จะเห็นภาพลูกวัดของท่านแวะเวียนมาเยี่ยมท่านบ้าง เชิญท่านไปบ้านบ้าง หรือเชิญไปเที่ยวก็มี และนอกนี้ท่านยังอุทิศเวลาส่วนมากของท่านไปกับงานสอนคำสอนซึ่งถือเป็นงานหลักของท่าน  และตลอดเวลาที่ท่านดูแลวัดต่าง ๆ ท่านก็ไม่เคยบังคับใครให้ต้องกลับใจมาหาพระเลย

แต่เมื่อท่านย้ายมาที่วัดพระกุมารเยซู ใน ค.ศ. 1987 ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ท่านก็ไม่สามารถจะจัดสอนคำสอนเด็กดั่งที่ท่านเคยทำตามปกติได้ กระนั้นระหว่างนั้นในช่วงปลาย ค.ศ. 1978 ท่านก็ได้รับหน้าที่ให้เป็นจิตตาภิบาลกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่พึ่งตั้งขึ้น ซึ่งทันทีท่านก็เริ่มด้วยการจัดให้มีพิธีมิสซาสำหรับบรรดาพยาบาลขึ้นทุก ๆ อาทิตย์ที่วัดน้อยเรส ซาครา มิแซร์ แต่ผลปรากฏว่าวันแรกกลับมีผู้มาร่วมมิสซาเพียงคนเดียว ดังนั้นในการประชุมวาระแรกของกลุ่มด้วยการกล่าวว่า “สิ่งหวังแล้ว”


วัดน้อยเรส ซาครา มิแซร์ ในปัจจุบัน

“ฉันจำได้ว่าท่านพูดกับฉันและเพื่อนร่วมงานว่า ‘สิ้นหวังแล้ว’ เพราะมิสซาเพื่อบรรดาพยาบาลที่วัดเรส ซาครา มิแซร์ มีคนมาร่วมเพียงคนเดียว เรื่องนี้ทำให้ท่านเจ็บมาก ๆ และพวกเราจึงตัดสินใจว่าจะช่วยท่าน” แอลิซเบียตตา มูราฟสกา สมาชิกพยาบาลรุ่นแรกเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้น และหลังวันนั้นมาพยาบาลทั้งสามคนจึงแวะไปหาท่านที่วัดพระกุมารเยซูเพื่อคุยเรื่องนี้ ซึ่งแทนที่ท่านจะพูดถึงความประสงค์ของท่านโดยไม่ฟังทั้งสาม ตรงกันข้ามท่านกลับเลือกที่จะฟังและถามทั้งสามเพียงว่า ท่านจะทำเช่นไรให้บรรดาบุคลากรแพทย์คนอื่น ๆ มาร่วมมิสซามากขึ้น

ไม่นานหลังจากนั้นด้วยความมานะที่สุดกลุ่มก็เริ่มมีสมาชิกมากถึงยี่สิบคน และมิสซาที่เคยโหวงเหวงก็กลับเต็มแน่นไปด้วยบรรดาพยาบาล ซึ่งท่านจะใช้โอกาสหลังพิธีมิสซานี้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับจริยธรรมของวิชาชีพแก่พวกเขา และไม่เพียงแต่มีมิสซาเท่านั้น ในฐานะจิตตาภิบาล ท่านยังจัดให้มีการเข้าเงียบและวันฟื้นฟูจิตใจในช่วงเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าและมหาพรต และกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับกลุ่มนักเรียนพยาบาลอีกด้วย นอกนี้ท่านยังทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปกป้องสิทธิ์ของทารกในครรภ์ และช่วยเหลือบรรดาสตรีที่ตั้งท้องแล้วมีปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม มูราฟสกาเล่าว่าครั้งหนึ่งท่านเคยขอให้เธอช่วยพยาบาลคนหนึ่งที่ท้องทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าพิธีสมรสให้ได้มีงานทำต่อ


แต่แล้วในเดือนมกราม ค.ศ. 1979 ท่านก็เกิดเป็นลมระหว่างมิสซาเข้าเงียบกลุ่ม จนต้องถูกหามตัวส่งโรงพยาบาลบรีเซสโก ก่อนจะถูกส่งต่อให้สถาบันโลหิตวิทยาโคชิมสเกจในเวลาไม่กี่วันต่อมา และได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคโลหิตจาง ดังนั้นท่านจึงต้องหยุดงานทุกอย่างของท่าน แล้วพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล กระนั้นท่านก็ยังคงคิดถึงคนอื่นมากกว่าตนอยู่ คุณหมอคริสตีนา โปเบียซินสกา แพทย์ร่วมเจ้าของไข้ของท่านเล่าว่า “ฉันยังจำได้ถึงพระสงฆ์องค์ที่สองที่เข้าพักในโรงพยาบาล เมื่อฉันเข้าไปในห้อง ก็ปรากฏว่าท่านได้ออกไปพร้อมนักศึกษาที่ท่านอภิบาล พวกเขาไปเอาใบปาล์มวันอาทิตย์ใบลานและนำมาแบ่งให้แก่ผู้ป่วย โดยมีคุณพ่อเยอร์ซีเป็นผู้ทำมิสซาที่ช่องทางเดิน”

หนึ่งเดือนให้หลังพักรักษาตัว พระคุณเจ้าวิสซินสกี ก็ตัดสินใจย้ายท่านให้ไปเป็นจิตตาภิบาลให้กลับกลุ่มนักศึกษาประจำวัดนักบุญอันนา วอร์ซอ ซึ่งกลุ่มสัตบุรุษส่วนใหญ่ที่ท่านดูแลจะเป็นพวกนักศึกษาแพทย์เป็นส่วนมาก และแม้จะเป็นเพียงระยะเวลาเพียงปีเดียว แต่มันก็พอสำหรับท่านที่จะผูกมิตรกับพวกนักศึกษา ดังนั้นเพียงไม่นานท่านจึงกลายมาเป็นทั้งเพื่อน ที่ปรึกษาที่ดีเชื่อถือได้ และยังกลายเป็นผู้ฟังแก้บาปที่สมบูรณ์แบบสำหรับบรรดานักศึกษาเหล่านั้น ท่านสอนให้พวกเขาเห็นใจต่อความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ที่เจ็บป่วย และสอนให้เคารพซึ่งกันและกัน


ความสัมพันธ์อันดีระหว่างท่านและบรรดานักศึกษาแพทย์เหล่านี้ก็ยังคงอยู่เสมอตลอดชีวิตของท่าน สังเกตได้จากการจัดทริปไปเที่ยวภูเขาของท่านและนักศึกษา ภายหลังท่านไม่ได้ทำงานเป็นจิตตาภิบาลแล้ว และจากการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ตลอดเวลาที่ท่านรับหน้าที่เป็นคุณพ่อเจ้าวัดนักบุญสตานิสลาวา โกสกี วอร์ซอ เช่น การมาช่วยงานกองพยาบาล ที่ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลในระหว่างการเสด็จเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ใน ค.ศ. 1983 (ก่อนหน้านั้นคือใน ค.ศ. 1979 ท่านก็ได้รับงานนี้เช่นเดียวกัน และก็ได้นำนักศึกษาเหล่านี้มาช่วย)

20 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 หลังอาการป่วยดีขึ้นแล้ว ท่านก็ถูกส่งมาประจำที่วัดนักบุญสตานิสลาวา โกสกี วอร์ซอ สถานที่นี้เองที่ท่านจะประจำไปอยู่จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต และเป็นสถานที่เดียวกันนี้เอง ที่เสียงแห่งการเรียกร้องอิสรภาพเพื่อโปแลนด์จะดังก้องขึ้น เสียงที่จะต่อกรกับอำนาจแห่งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ด้วยหนทางแห่งสันติ สันติตามทางแห่งนักบุญเปาโลที่ว่า “อย่าตอบแทนความชั่วด้วยความชั่ว” (โรม 12 : 17)


ในเวลานั้นด้วยไม่อาจทนต่อการกดขี่ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้อีกต่อไป จากการไม่สามารถจัดการกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศที่ไต่ระดับขึ้นมาถึงจุดสูงสุดในฤดูร้อน ค.ศ. 1980 จนประเทศโปแลนด์ต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวของขึ้นราคาสวนทางกับค่าแรง คนงานโรงหล่อเหล็กวอร์ซอจึงพร้อมใจกันหยุดงาน ในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1980 เพื่อชุมนุมกัน ซึ่งในการชุมนุมครั้งนี้พวกคนงานได้ร้องขอให้พระคุณเจ้าวินซินสกีส่งพระสงฆ์มาทำมิสซาให้ พระคุณเจ้าวินซินสกีจึงมอบหมายให้คุณพ่อวิญญาณของท่านให้ไปจัดการเรื่องนี้แทน ชะลอยเหตุการณ์นี้จะเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เพราะเมื่อคุณพ่อท่านนั้นซึ่งได้รับมอบหมายให้มาแจ้งเรื่องนี้กับคุณเยอร์เซโก เดินทางมาที่หน้าวัดนักบุญสตานิสลาวา แล้วตรงเข้าไปในห้องสักการภัณฑ์ ก็พบว่าคุณพ่อเยอร์เซโกติดมิสซาในวันนั้นพอดี

ขณะนั้นเองท่านก็เข้ามาในห้องสักการภัณฑ์พอดี ท่านที่ไม่ธุระอะไรจึงได้รับปากจะไปทำมิสซาให้ ดังนั้นในวันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1980 ท่านจึงเดินทางไปทำมิสซาที่โรงงานหลอมเหล็ก ท่ามกลางคนงานหลอมเหล็กจำนวนมาก เป็นเวลานั้นเองที่ท่านได้สัมผัสถึงบรรยากาศที่อบอุ่นและมีเอกลักษณ์ ทำให้จากตั้งแต่วินาทีแรกที่มาถึง จนถึงบนพระแท่นบูชาอันเรียบง่าย ท่านจึงได้ตัดสินใจอยู่คุยกับพวกคนงานเหล่านั้นจนถึงเวลาเย็น และหลังจากนั้นมาในสัปดาห์ถัดไปท่านก็แวะไปเยี่ยมพวกเขาอยู่อีกหลายครั้ง



เช่นกันพวกคนงานเหล่านั้นก็พาทั้งภรรยาและลูก ๆ แวะเวียนมาเยี่ยมท่านไม่ได้ขาด ซึ่งท่านก็ต้อนรับพวกเขา ไม่ใช่ด้วยคำพูดที่เลิศหรู แต่ด้วยคำพูดง่าย ๆ ตรงไปตรงมา แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่พิเศษที่ทีละนิดก็ค่อย ๆ ไขดาลล็อกในใจของคนงานหลายคน จนในเวลาอันรวดเร็วพวกกรรมกรชายเหล่านั้นก็ต่างมาขอแก้บาปจากท่านหลังจากห่างหายจากการแก้บาปมานาน บ้างก็มาขอให้อวยพรการสมรสของพวกเขา และบ้างก็ขอรับศีลล้างบาปจากท่าน

ท่านยังจัดให้มีพิธีมิสซาสำหรับพวกเขาทุก ๆ เวลาสิบโมงเช้าวันอาทิตย์ที่วัด และจัดให้มีโรงเรียนสำหรับคนงาน ซึ่งไม่เพียงจัดให้มีการสอนแต่คำสอน แต่ยังสอนเรื่องราวต่าง ๆ ได้แก่ ประวัติศาสต์ชาติ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ เทคนิคการต่อรอง เป็นต้น นอกนี้ในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1981 ท่านก็จัดให้มีพิธีมิสซาอวยพรธงโซลิดาริตี (สหภาพแรงงาน) แห่งงานโลหะวอร์ซอ โดยมี ฯพณฯ ซบิกเนียฟ คราเซฟสกี เป็นประธาน ตามอย่างขบวนการแรงงานในโปแลนด์ที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาในนาม ‘โซลิดาริตี’ ภายใต้การนำของเลค วาเลซา อดีตช่างไฟฟ้าซึ่งได้เป็นตัวแทนนำข้อเรียกร้องคนงานในโรงงานทั่วโปแลนด์จำนวน 600 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยการให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เป็นอิสระ สิทธิในการนัดหยุดงาน การปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองที่ถูกจับก่อนหน้า รวมถึงการพัฒนาสวัสดิการทางสังคม และเสรีภาพของสื่อและพระศาสนจักรคาทอลิก จนนำไปสู่การลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 1980 ในนามข้อตกลงแห่งกดันสก์ และการก่อตั้งสหภาพแรงงานแห่งชาติหรือโซลิดาริตีในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1980


การประชุมโซลิดาริตีีครั้งที่ 1 ใน ค.ศ. 1981

และก็เป็น ฯพณฯ ซบิกเนียฟ ที่ร่วมกับคนงานที่ท่านดูแลนำพระสมณสาส์นลาโบเร็ม เอ็ซแอร์เชนส์ อันว่าด้วยการทำงานของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ไปร่วมในการประชุมโซลิดารีตีแห่งชาติครั้งแรกที่กดันสก์ ในระหว่างวันที่ 5 - 10 กันยายน และ 26 กันยายน - 7  ตุลาคม (มูลเหตุที่การประชุมมีความยาวนานเนื่องจากมีการอภิปรายทิศทางขององค์กรจากหลายฝ่าย จึงทำให้การประชุมที่วางแผนไว้เพียงสามวันกลายเป็นห้าวัน และเก้าวันในที่สุด) ฝั่งท่านที่ไม่ได้ไปร่วมประชุม ก็จัดให้มีพิธีมิสซาเพื่อผู้ร่วมประชุมครั้งนี้ทุกวัน

ลุถึงวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1981 รัฐบาลที่นานวันเข้า อำนาจที่ครองไว้ก็จะมีแต่ยิ่งลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเห็นท่าไม่ดีแน่ก็ตัดสินใจใช้ไม้ตายเด็ดของรัฐบาลหมาจนตรอก คือ การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศโปแลนด์ เพื่อระงับการปฏิบัติกิจกรรมของกลุ่มโซลิดาริตี อันเป็นกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ส่งผลทำให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นโซลิดาริตีจำนวนมากถูกจับกุม บางส่วนก็ถูกคุกคามถึงชีวิต บ้างก็ถูกไล่ออกจากงาน เพื่อเป็นการบีบบังคับให้ละทิ้งอุดมการณ์ เพราะโซลิดารีตีส่วนมากคือชนชั้นกรรมกร ที่มีภาระต้องดูแลครอบครัว นอกเหนือจากการคุกคามเช่นนี้แล้ว ยังมีการทำร้ายร่างกายสมาชิกกลุ่มโซลิดาริตีบนท้องถนนอย่างโจ่งแจ้ง ก่อนจะทิ้งให้ตายอย่างน่าสังเวชอีกด้วย


คุณพ่อเยอร์ซีปลอบนางบาร์บารา ซาดอฟสกา
ซึ่งบุตรชายถูกฆ่าโดยรัฐบาล ใน ค.ศ. 1983

ฝ่ายท่านเมื่อเห็นเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ท่านก็ตัดสินใจลงมืออภิบาลบรรดาครอบครัวและคนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกนี้ โดยการจัดหาทั้งอาหารและยาให้พวกเขาในทันที ท่านได้เปลี่ยนห้องพักของท่านให้กลายมาเป็นโกดังเก็บของแจก แม้ว่าช่วงนั้นท่านก็จะโดนตามล่าจากตำรวจลับอยู่ก็ตาม ท่านไม่เหนื่อยหรือกลัวที่จะออกตามหาบรรดาผู้ยากไร้ ขัดสน เพื่อจะมอบทุกสิ่งที่ท่านมีแด่พวกเขา ไม่เว้นแม้แต่รองเท้าของท่าน ในเวลานั้นตัวท่านเองก็ได้สละทุกสิ่งอย่างแท้จริง ท่านไม่ได้แต่งชุดอะไรดีนัก ท่านสวมเพียงเสื้อผ้าเก่า ๆ ที่เป็นขุยเสียด้วยซ้ำ ผู้คนที่พานพบท่านช่วงเวลานี้ต่างจำได้ดีว่า ท่านไม่ได้มีท่าทียึดติดกับสิ่งของอะไรเลยแม้แต่นิด

นอกนี้ท่านยังมอบความช่วยเหลือฝ่ายจิตแก่บรรดาผู้ถูกจับกุม ท่านทั้งแวะไปเยี่ยมพวกเขา และนั่งอยู่กับครอบครัวของพวกเขาในห้องพิจารณาคดี เพื่อบอกกับพวกเขาว่าท่านไม่มีวันทิ้งพวกเขาไปไหน และในระหว่างนั่งฟังการตัดสินคดีครั้งหนึ่งนั่นเอง ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นในหัวของท่าน นั่นคือน่าจะมีการจัดให้มีพิธีมิสซาเพื่อประเทศชาติเป็นประจำทุกเดือน อันจะเป็นการเฉลิมฉลองเพื่อทั้งบรรดาผู้ถูกคุมขังอย่างอยุติธรรม และเพื่อครอบครัวที่ต้องพบความอยุติธรรมนี้ ทั้งเป็นสิ่งที่สองมือของพระสงฆ์ ผู้ได้รับสวมกาสุลา และหน้าที่ในการเป็นตัวแทนประชาสัตบุรุษรื้อฟื้นการพลีพระชนม์ชีพอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าบนพระแท่นในทุกวันทำได้ “บางครั้งอาจดูเหมือนว่าวิถีชีวิตของเราแต่ละวันเป็นเพียงเรื่องส่วนตัว และไม่มีความสำคัญต่อผู้อื่น อย่างไรก็ตามความคิดเช่นนี้เป็นเพียงสิ่งลวงตา เราไม่ใช่เกาะที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ใช่ดวงดาวที่อยู่ตามลำพัง เราต่างเดินไปบนทางของมนุษยชาติ เรากำลังเดินผ่านประวัติศาสตร์และวิถีของเราก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีของมนุษยชาติทั้งหมด”

มิสซาเพื่อประเทศชาติ ค.ศ. 1982

ฉะนั้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1982 มหาบูชาขอบพระคุณเพื่ออิสรภาพของประเทศจึงถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดนักบุญสตานิสลาวา โกสกี วอร์ซอ และได้รับการจัดเป็นประจำทุก ๆ วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ซึ่งทีละนิดก็ค่อย ๆ ดึงดูดฝูงชนจำนวนมากให้หลั่งไหลมาที่วัดเพื่อร่วมมิสซานี้ ทั้งจากภายในประเทศเองและภายนอกประเทศ จนมีผู้มาร่วมแต่ละครั้งตกอยู่ราว ๆ 15,000 – 20,000 คน นอกนี้ยังมีการออกอากาศบทเทศน์ในพิธีมิสซานี้ของท่านในวิทยุเสรียุโรป จนทำให้ท่านเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้น

เราอาจคิดว่าท่านคงเทศน์อย่างดุเดือดและมีเนื้อหารุนแรงเป็นแน่ แต่เปล่าเลยบทเทศน์ของท่านกลับเป็นบทเทศน์ที่เรียบง่าย ที่ร่ำวิงวอนขอพระเมตตา ให้กำลังใจ และกล่าวถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  อิสรภาพอันประกอบขึ้นจากความดี ความจริงและความรัก ทัศนคติของโซลิดาริตีที่มุ่งมั่นในการสร้างความดีร่วมกัน และสิทธิมนุษยชน ไร้ซึ่งการโยงเรื่องการเมือง แต่คือการสะท้อนปัญหาในยุคปัจจุบัน โดยใช้ภาษาง่าย ๆ แต่ตรงประเด็น ตามแบบที่ท่านได้เรียนมาจากพระคุณเจ้าวิสซินสกี และจากพระคุณเจ้าวอยติวา ซึ่งต่างลิบลับกับคำโปรยเปรยบนโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล


คุณพ่อเยอร์ซีในระหว่างมิสซาเพื่อประเทศชาติ

“พี่น้อง ท่านต้องมีชีวิตอยู่ในความจริงเพื่อดำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณอิสรภาพ ความเป็นทาสของเราเกิดจากการยอมจำนนของเราต่อกฎแห่งการโกหก เกิดจากความล้มเหลวของเราที่จะเปิดโปงเรื่องโกหกและความล้มเหลวของเราที่จะลุกขึ้นมาคัดค้านมัน ซึ่งแทนที่เราจะแก้ไขการโกหกเสีย เรากลับเก็บเงียบหรือหลอกตัวเองให้เชื่อว่านี่คือความจริง การพูดความจริงด้วยกล้าต่างห่างละ ที่เป็นหนทางหลักที่นำไปสู่อิสรภาพ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้นั้น เราก็จำต้องเอาชนะความกลัวให้ได้ ด้วยเป็นความกลัวนี้เองที่ทำให้เราต่อต้านมโนธรรมของเราเอง อันเป็นสิ่งที่เราใช้วัดความจริง” – ตัวอย่างบทเทศน์ของท่าน

“พวกเรามีงานที่ชัดเจนอยู่เบื้องหน้าแล้ว นั่นคือการเป็นพยานถึงข่าวดี” ท่านกลายมาเป็นปฏิปักษ์กับระบบเผด็จการของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ เพราะท่านไม่กลัวระบบนี้ ด้วยท่านทราบดีว่าระบบเผด็จการนั้นตั้งอยู่บนความหวาดกลัว และไม่พอท่านยังเปิดเผยให้เห็นถึงความเจ้าเล่ห์ของระบอบด้วยภาษาง่าย ๆ ของท่านดั่งที่กล่าวไปข้างต้น และสอนทุกคนให้เผชิญหน้ากับระบอบนี้ ด้วยวิธีที่ท่านก็ปฏิบัติอยู่เสมอ และมักย้ำในบทเทศน์ตลอดการประกาศกฎอัยการศึก นั่นคือ “จงสู้กับความชั่วด้วยความดี” (เทียบ โรม 12 : 21)



นอกจากต่อสู่กับความไม่ชอบธรรมแล้ว ผลของการจัดให้มีมิสซาเพื่อโปแลนด์ทุกเดือน ยังนำมาซึ่งการกลับใจของผู้คนนับไม่ถ้วน มีหลายคนที่เคยทิ้งวัดไปหลายสิบปีได้คืนดีกับพระศาสนจักรอีกครั้ง ผู้คนที่มาร่วมเมื่อกลับออกไป ก็กลับไปพร้อมสันติอย่างเงียบ ๆ ด้วยความพร้อมที่จะออกไปปฏิบัติต่อศัตรูของพวกเขาด้วยความรัก เหมือนเช่นที่ทำเป็นแบบอย่าง เช่นคราวหนึ่งในครั้งหน้าหนาวแรกที่มีการประกาศกฎอัยการศึกมาถึง แทนที่ท่านจะหลบหนาวอยู่ในบ้าน ตรงข้ามท่านกลับออกมาแจกกาแฟร้อน ๆ ให้บรรดาทหารตำรวจที่ยืนเวรอยู่ตามท้องถนนให้ได้คลายความหนาว และรับความอบอุ่นใจ

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1983 ท่านก็จัดให้มีการแสวงบุญสำหรับบรรดาคนชนชั้นแรงงานไปยังอารามยัสนา โกรา อันเป็นที่เก็บรักษาภาพแม่พระฉวีดำ ที่ชาวโปแลนด์ยกให้เป็นราชินีขึ้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากแรงงานทั่วประเทศที่ต่างได้เดินทางมาร่วมการแสวงบุญครั้งนี้อย่างล้นหลาม จนกลายมาเป็นประเพณีประจำปีของแรงงานทั่วประเทศโปแลนด์ ที่จะต้องพร้อมใจกันมาแสวงบุญยังที่นี่ทุก ๆ วันอาทิตย์ที่สามของเดือนกันยายน

คุณพ่อเยอร์ซีและ ฯ พณ ฯ ซบิกเนียฟ 
ในวันฉลองพระคริสตวรกายก่อน ค.ศ. 1984

แน่นอนว่าการทำเช่นนี้ของท่าน ทำให้นับวันท่านก็ยิ่งถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ จากกลุ่มคนของหน่วยความมั่นคงแห่งกิจการภายในประเทศ โดยท่านทั้งถูกสะกดรอย ถูกดักฟังโทรศัพท์ ถูกลอบบุกเข้าไปในห้องพักของท่านถึงสองครั้ง ถูกทำลายรถ ถูกบุคคลนิรนามโยนระเบิดเข้าไปในห้องพัก และถูกจัดฉากให้ตายด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ นอกนี้ทางรัฐบาลยังส่งจดหมายร้องเรียนเป็นจำนวนมากไปยังสำนักมิสซัง เพื่อกล่าวหาว่าการเทศน์ของท่านเป็น ‘การคุกคามผลประโยชน์ของสาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์’ และยังได้กล่าวหาท่านในภายหลังเพิ่มอีกว่าท่านได้ละเมิดขอบเขตของนักบวช

แต่การกระทำเช่นนั้นของฝั่งรัฐบาลก็เปล่าประโยชน์ เพราะท่านยังคงหนักแน่นต่อการยืนอยู่บนความจริงอย่างไม่ลดละ หน่วยความมั่นคงจึงเปลี่ยนแผนเป็นการสร้างหลักฐานปลอมขึ้นมา เพื่อนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการจับกุมท่านในเดือนกันยายน ค.ศ. 1983 ท่านจึงถูกตรวจสอบจากนางอันนา ยัคกอฟสกา อัยการแผ่นดิน และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เธอก็ได้ตั้งข้อหาท่านว่า ท่านละเมิดเสรีภาพมโนธรรมและศาสนาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับสาธารณรัฐประชาชน



ทำให้เดือนเดียวกันนั้นเอง ท่านจึงถูกเรียกตัวมาที่สำนักงานอัยการ และถูกกักตัวไว้เพื่อดำเนินคดีต่อไป ระหว่างนั้นท่านก็ถูกขังไว้กับผู้ร้ายที่ใจแข็งกระด้างที่สุด ท่านจึงมีโอกาสได้พูดคุยกับเขาตลอดคืน จนที่สุดพระเมตตาของพระเจ้าก็สาดส่องไปกระทบดวงใจของเขา เมื่อเขาตัดสินใจขอรับศีลอภัยบาปจากท่าน ดังนั้นในสถานที่ที่สิ้นหวัง ท่านจึงได้ช่วยวิญญาณดวงหนึ่งให้ได้รับความหวังไป ท่านถูกกักตัวอยู่ที่นั่นได้สองวัน ท่านก็ถูกปล่อยตัว อาศัยการแทรกแซงของพระคุณเจ้าโดบรอฟสกี แต่การแทรกแซงนี้ก็ไม่อาจจะช่วยให้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนปีถัดมาท่านรอดพ้นจากการสอบปากคำถึง 13 ครั้ง

ท่านยังถูกตั้งข้อหาซึ่งมีโทษจำคุกถึงสิบปี ซึ่งจะได้รับการพิจารณาคดีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1984 แต่เดชะบุญปีนั้นตรงกับสี่สิบปีของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศโปแลนด์ ท่านจึงได้รับการนิรโทษกรรมออกมา แต่เช่นกัน มันก็ไม่ได้หมายความว่าท่านจะรอดจากการตกเป็นจำเลยสำหรับโฆษณาชวนเชื่อ ที่เรียกบทเทศน์ของท่านว่า ‘สมัยประชุมของความเกียจชัง’ ซึ่งหนักเข้า หนักเข้า ท่านก็เหนื่อยที่จะต้องต่อสู่กับคำครหาอันไร้แก่นสารเหล่านี้ แต่ท่านก็ยังสู้ไม่ถอยเพื่อเอาชนะความลวงด้วยความจริง 



แน่นอนทุกคนรู้ดีว่าสถานการณ์ในเวลานี้ท่านตกอยู่ในอันตาย พวกคนงานหลอมเหล็กจึงพร้อมใจขอให้ส่งท่านออกนอกประเทศโปแลนด์ พระคาร์ดินัลเกล็มป์จึงสนับสนุนให้ท่านไปศึกษาต่อที่กรุงโรม แต่ท่านก็ปฏิเสธหัวชนฝา “ผมไม่สามารถทิ้งผู้คนเหล่านี้ ผมไม่สามารถทรยศพวกเขาได้” เพราะหากท่านสมัครใจทำเช่นั้น ก็ไม่ต่างจากการหนีจากหน้าที่ในพระศาสนจักรของท่าน “ผมก็อยู่ผ่านช่วงเวลาที่ลำบากมา และผมควรจะมาปล่อยในตอนนี้หรือ อะไรที่พระศาสนจักรจะเสนอให้พวกเขา – การลาออกของผม การทรยศของผมหรอครับ” คุณพ่อซซิสวาฟ โครล ยังจำได้ถึงน้ำตาของท่านเมื่อกล่าวเช่นนี้ คุณพ่อยังยืนยันว่าท่านทราบดีว่าชีวิตท่านตกอยู่ในอันตราย 

และด้วยการบากบั่นทำงานอย่างไม่จักเหน็ดจักเหนื่อยของท่านนี้เอง ก็ทำให้สุขภาพของท่านที่ไม่สู้จะแข็งแรงมาตั้งแต่เล็ก ๆ ยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ เพราะเวลานี้ท่านไม่สนใจแล้งว่าตัวเองจะเป็นตายร้ายดีเช่นไร ท่านสนใจแต่คนอื่น ๆ ที่ได้รับความทุกข์ยากจากความอยุติธรรมของรัฐบาล กระทั่งยอมขัดคำสั่งแพทย์ไม่ยอมเข้าพักในโรงพยาบาล ท่านยังคงเทศน์และจัดให้มีการไปแสวงบุญยังอารามยัสนา โกรา แม้จะถูกโทรศัพท์ปริศนาเตือนว่า “ถ้าคุณพ่อไปที่ยัสนา โกรา คุณพ่อจะถูกฆ่า” ก็ตามที


ท่านไปเอาความกล้าเช่นนี้มาจากไหน ในเมื่อท่านไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นเพียงพระสงฆ์ผู้ความปรารถนาเพียงการรับใช้พระเจ้าในฐานะนักบวช ท่านไม่ใช่นักพูดที่ทรงพลัง แต่เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเชื่อ คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ‘ศีลมหาสนิท’ ‘การภาวนา’ และ ‘การวางใจ’ เพราะท่านตระหนักดีว่าตัวท่านเองไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเพียง ‘ภาชนะอันอ่อนแอ’ ซึ่งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพระเมตตาของพระเจ้า ดังนั้นแม้ความตายจะรายล้อม ท่านก็ไม่กลัว ดั่งคำกล่าวครั้งหนึ่งของท่านกับบิดามารดาที่เดินทางมาเยี่ยมท่านในเดือนกันยายน ค.ศ. 1984 ที่ว่า “หากลูกถูกฆ่า ก็ขออย่าได้ร้องไห้ให้ลูกไปเลย” และคำกล่าวครั้งหนึ่งของท่านที่ว่า “พวกเรานั้นยิ่งใหญ่เกินไปกว่าที่จะยอมจำนนต่อการล่อลวงเพียงชั่วขณะ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน”  (ความยิ่งใหญ่ที่ท่านกล่าวถึงนี้ ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ในฝ่ายโลก แต่คือความยิ่งใหญ่มีต้นธารจากการได้เป็นบุตรของพระเจ้า) 

ดังที่กล่าวไปข้างต้นท่านตระหนักดีเสมอว่าความตายได้อยู่รายล้อมตัวท่าน ช่วงเวลานี้ท่านจึงเริ่มสวดภาวนาเพื่อวัตถุประสงค์อย่างลึกซึ้งมากขึ้น และไปแก้บาปบ่อย ๆ และแน่นอนมันก็ไม่ผิดดั่งที่คาดไว้ เริ่มจากในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1984 รถยนต์ที่ท่านขับก็ถูกวางแผนให้เกิดอุบัติเหตุด้วยการปาหินใส่กระจกรถ แต่เดชะบุญด้วยความสามารถทางการขับรถของท่าน ก็ทำให้ท่านรอดมาได้ ดังนั้นหน่วยความมั่นคงของประเทศ ที่แสร้งดำเนินในนามกลุ่มเคลื่อนไหวอิสระ จึงหันมาใช้แผนลักพาตัวท่านไปฆ่าปิดปากแทน ซึ่งสบโอกาสเหมาะในการปฏิบัติตามแผนก็คือวันที่ 19 ตุลาคม ปีเดียวกัน เพราะเป็นวันที่ท่านมีกำหนดเดินทางออกไปนอกกรุงวอร์ซอ เพื่อทำมิสซาเพื่อประเทศชาติ

   
มิสซาสุดท้ายของคุณพ่อเยอร์ซี

วันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1984 ท่านที่ไม่ได้ระแคะระคายว่าวันดังกล่าว จะถูกลักพาตัวได้เดินทางมาทำมิสซา และต่อด้วยนำสวดสายประคำในข้อธรรมล้ำลึกพระมหาทรมาน ที่วัดพี่น้องมรณสักขีชาวโปแลนด์ บิดกอชช์ ซึ่งอยู่ห่างกรุงวอร์ซอราว 161 ไมล์ วันนั้นแม้ท่านจะไม่ทราบถึงเหตุการณ์ในอีกไม่กี่ชั่วโมงเบื้องหน้าที่รอท่านอยู่ เมื่อมาถึงธรรมล้ำลึกสุดท้าย ท่านก็สวดว่า “เพื่อที่จะเอาชนะความชั่วร้ายด้วยความดี เพื่อดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ อนึ่งโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง … ให้เราภาวนาขอให้เราเป็นอิสระจากความกลัว การข่มขู่ และการเป็นที่หนึ่ง และที่สำคัญที่สุดจากความปรารถนาโต้กลับและความรุนแรง” ดุจดั่งท่านทราบถึงภัยบางประการที่กำลังรอท่านอยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าท่านจะทราบถึงภัยนั้นมากน้อยเพียงใด ในวันนั้นเมื่อเสร็จพิธีอะไรทุกอย่างแล้ว แม้จะถูกครอบครัวขอให้ท่านอย่าพึ่งกลับ ท่านก็ตัดสินใจให้คนขับรถพากลับกรุงวอร์ซอภายในเย็นวันเดียวกัน 

รถของท่านแล่นฝ่าความมืดของวันไปตามทางที่มุ่งสู่เมืองทอรูน จนมาใกล้หมู่บ้านโกรสก์ รถของท่านก็ถูกสั่งให้หยุดโดยรถตำรวจจราจร ซึ่งแท้จริงเป็นแล้วคือเจ้าที่กระทรวงมหาดไทยโปแลนด์ปลอมตัวมา เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบังคับให้คนขับรถของท่านส่งกุญแจให้เขา ก่อนจะบังคับเขาให้ไปนั่งอยู่เบาะหลังรถตำรวจพร้อมใส่กุญแจมือไว้ เวลาเดียวกันเจ้าหน้าที่ที่เหลืออีกสองคนก็ตรงเข้าไปกระชากท่านออกมาจากตัวรถ ก่อนจะประเคนหมัดใส่ท่านไม่ยั้งที่บริเวณศีรษะและปากของท่าน แล้วจึงจับท่านยัดลงไปที่ท้ายรถตำรวจ


อนุสรณ์สถานบริเวณที่ท่านถูกลักพาตัว

หลังจากนั้นเจ้าที่ทั้งสามก็ออกรถในทันที แต่ขณะนั้นเองคนขับรถของท่านก็เห็นสบโอกาสเหมาะตอนรถกำลังเร่งความเร็ว เขาจึงตัดสินใจเปิดประตูแล้วกระโดดออกไปนอกตัวรถ เพื่อออกไปขอความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่มีข่าวคราวการลักพาตัวของท่านออกมาในทันที กระทั่งตอนเย็นของวันถัดมา การลักพาตัวของท่านก็ถูกประโคมไปทั่วโปแลนด์ ผู้คนมากมายจึงเริ่มพากันมาที่วัดนักบุญสตานิสลาวา เพื่อร่วมกันสวดภาวนาเพื่อท่านอย่างร้อนใจ มีการจัดพิธีมิสซาเพื่อท่าน และมีการเตรียมความพร้อมทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือท่านอย่างทันท่วงทีอยู่ตลอด บัดนี้ทุกคนหวังสิ่งเดียวคือขอให้ท่านรอดชีวิตกลับมา

แต่มันไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะย้อนกลับไปในคืนเดียวกันหลังคนขับรถของท่านกระโดดออกมาจากรถ รถของเจ้าหน้าที่ทั้งสามก็ยังคงแล่นฝ่าความมืดต่อโดยมีท่านอยู่ท้ายรถ กระทั่งมาใกล้โรงแรงกอสมอส หนึ่งในเจ้าหน้าที่ก็รู้สึกได้ว่า ท่านเริ่มขยับตัวไปมา จึงบอกเรื่องนี้กับเพื่อนเจ้าหน้าที่อีกสองคน ทำให้ทั้งสามตัดสินใจหยุดรถและลงมาดู เผื่อว่าท่านจะร้องขอความช่วยเหลือ จนแผนการณ์ครั้งนี้ล้มเหลว และเพื่อจะได้มัดท่านไว้ ท่านจึงอาศัยโอกาสนี้กระโจนออกไปเพื่อวิ่งไปขอความช่วยเหลือ “ใครก็ได้ช่วยด้วย ไว้ชีวิตพ่อเถอะ” ท่านตะโกนสุดเสียง แต่ก็ไร้ผลเพราะวิ่งไปได้ไม่ไกลท่านก็ถูกตะครุบตัว และถูกประเคนหมัด ประเคนเข่าลงที่ใบหน้าและมืออย่างรุนแรงจนท่านสิ้นสติ


บริเวณที่เจ้าหน้าที่ทั้งสามโยนร่างของท่านทิ้งน้ำ

หลังจากนั้นมัจจุราชทั้งสามจึงจับท่านมัดและปิดปาก แล้วจับยัดใส่ท้ายรถดังเดิม ก่อนจะพากันขับรถพาท่านไปต่อจนถึงเขื่อนกั้นแม่น้ำวิสวา บริเวณเมืองโวซวาฟกู ท่านที่ถูกจับมัดในท่ามือไพล่หลังก็ถูกพาตัวลงมา เพื่อมัดเพิ่มโดยการมัดบ่วงรอบคอของท่านแล้วโยงไปที่มือที่ถูกมัดไว้ แล้วโยงไปผูกไว้กับเท้าทั้งสอง ซึ่งจะทำให้ท่านไม่สามารถเอาขาลงได้ จำต้องยกขางข้างไว้ เพราะหากท่านยืดขาเชือกที่เชื่อมไปถึงคอก็จะรัดคอของท่านในทันที

นอกนี้ทั้งสามยังให้การว่าพวกเขาได้เอาพลาสติกปิดจมูกของท่าน พร้อมผูกเท้าของท่านเข้าไว้กับหินหนัก 11 กิโลกรัม แล้วจึงจับท่านที่ไม่มีใครรู้ว่าบัดนั้นยังหายใจอยู่หรือไม่ โยนลงมาจากสันเขื่อนที่สูงหลายสิบเมตรในเวลาราวเที่ยงคืน จนเกิดเป็นเสียงดังตูมมมม แต่ก็ไม่มีใครรู้ได้แน่ว่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังคนขับรถท่านหลบหนีออกมาจะเป็นเช่นนี้หรือไม่ บางทีคำพูดเหล่านี้อาจเป็นเพียงการฉากหนึ่งที่ถูกแต่งขึ้นภายใต้คำโปรยเปรยของรัฐบาลหน้าซื่อใจคด โดยมีคนเสแสร้งทั้งสามคนคือ กเซกรอซ เปียวตรอวสกี , วัลเดมาร์ คเมียเลฟสกี และเลสเซก เปกาลา สมาชิกกลุ่มอิสระแด (ย่อมาจากคำว่า แดซินแตกราเซีย แปลว่า สลาย ในภาษาโปแลนด์) ซึ่งสังกัดกรมสี่ กระทรวงมหาดไทยโปแลนด์เป็นนักแสดงนำ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความหวาดกลัวแก่ผู้คน …ก็ไม่มีใครทราบได้ แต่ที่แน่ ๆ คือผลการลักพาตัวนั้น ก็ลงเอยด้วยการปิดฉากชีวิตของท่านในวัย 37 ปี ตามแบบฉบับของมรณสักขีลงอย่างสง่า 


บางส่วนของศพของท่านที่ถูกงมขึ้นมา

ภายหลังการหายตัวไปของท่าน ล่วงถึงวันที่ 21 ตุลาคม กระทรวงมหาดไทยโปแลนด์ ซึ่งกลุ่มแดสังกัดอยู่ จึงได้ตั้งชุดสืบสวนคดีการลักพาตัวของท่านขึ้นมา เป็นผลให้การสืบสวนคดีของท่านดำเนินไปภายใต้การควบคุมของรัฐบาลคอมมิวนิสต์  บรรดาประชาชนทั้งหลายที่เคารพรักในตัวท่านจึงได้แต่เฝ้าภาวนาด้วยความหวัง ด้วยคำภาวนาตามบทข้าแต่พระบิดาที่ได้รับการซ้ำในวลีว่า “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น” สามครั้ง และที่สุดผลแห่งคำภาวนาของผู้คนที่ต่างเฝ้ารอข่าวของท่านก็บังเกิดผล  เมื่อทางชุดสืบสวนกำมะลอได้ประกาศว่า ชุดดำน้ำได้พบร่างไร้วิญญาณของท่านในวันที่ 30 ตุลาคม หรือสิบเอ็ดวันหลังเกิดเหตุฆาตรกรรม ตามเบาะแสของหนึ่งฆาตกร ในสภาพที่แทบจำไม่ได้เลย นับเป็นฉากจบที่แสนเศร้าของบรรดาผู้รอคอยข่าวของท่านด้วยความหวัง และฉากจบที่น่าสังเวชสำหรับเรื่องราวของวีรบุรุษผู้หนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่จากที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า  “การรวมกันระหว่างชะตากรรมของเรากับชะตากรรมของพระคริสตเจ้าเกิดขึ้นในยามรับศีลล้างบาป นี่คือการรับเราเป็นบุตรธิดาของพระเจ้าในระดับที่เดียวกับที่พระองค์ทรงตรัสกับองค์พระคริสตเจ้าในแม่น้ำจอร์แดน”  ฉากจบนี้ช่างงดงาม เพราะท่านได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การติดตามพระคริสตเจ้า มีชีวิตเช่นพระองค์จนถึงวินาทีสุดท้ายบนโลกอย่างแท้จริง

“หน้าของที่ของสงฆ์คือการเทศน์สอนถึงความจริง และทนทุกข์ยากเพื่อความจริง แม้ว่ามันจะหมายถึงการเป็นมรณสักขีก็ตาม” ท่านเคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง และบัดนี้ท่านก็ได้ทำตามนั้นจริง ๆ  โลงของผู้มีชัย ซึ่งบรรจุร่างของท่านในชุดกาสุลาสีแดง เครื่องหมายแห่งการเฉลิมฉลองมรณสักขีและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ถูกนำมายังวัดนักบุญสตานิสลาวาในเย็นวันที่ 2 พฤศจิกายน ส่วนพิธีปลงศพของท่านก็ถูกจัดขึ้นในวันรุ่งขึ้น ท่ามกลางผู้คนนับหมื่นที่แห่แหนกันมาร่วมไว้อาลัยท่านกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน ซึ่งมีการคาดกันว่ามีคนมาร่วมงานท่านมากถึง 600,000 – 800,000 คน แน่นอนในจำนวนนี้รวมถึงตัวแทนโซลิดารีตีจากทั่วทุกที่ในโปแลนด์มาร่วมอีกด้วย


พิธีปลงศพคุณพ่อเยอร์ซี

ในตลอดพิธีไม่มีการกล่าวสุนทรพจน์ใด ๆ มีแต่ความเงียบจนกระทั่งร่างของถูกฝังในหลุมที่อยู่เตรียมไว้หน้าวัดนักบุญสตานิสลาวา และเพียงสองวันถัดมาก็มีการร้องขอให้สังฆมณฑลวอร์ซอเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญในทันที พร้อม ๆ กับที่หลุมศพของท่านได้กลายเป็นนสถานที่แสวงบุญ เช่นหลุมศพของบรรดานักบุญทั้งหลาย และอัศจรรย์จำนวนมากก็เกิดผ่านการเสนอวิงวอนของท่านอยู่เป็นระยะ ดังเป็นเครื่องหมายรับรองจากสวรรค์ว่า พระสงฆ์ผู้ทั้งชีวิตบนโลกเป็นไปอย่างธรรมดาสามัญ ได้บรรลุถึงสวรรค์ร่วมเกียรติมงคลเดียวกับบรรดานักบุญทั้งหลาย ที่มีชีวิตเหนือโลกมาตั้งแต่มีชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย มีข่าวหนึ่งยืนยันว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายคนหนึ่ง เพียงแค่ได้สัมผัสพระธาตุของท่านก็หายจากอาการป่วยในทันที

เหตุการณ์หลังจากวันอันวิปโยคนั้น มัจจุราชทั้งสามก็ถูกดำเนินคดี แต่ก็ไม่ได้ถูกตัดสินประหารชีวิต เพียงแต่จำคุกไว้ได้สิบกว่าปีก็ได้รับนิรโทษกรรม ส่วนบิดามารดาของท่านก็ไม่ได้ติดใจเอาความอะไร ทั้งสองยืนยันต่อหน้าฝูงชนว่า “ฉันขอให้อภัย ฉันขอให้อภัย” ซึ่งมารดาของท่านเองก็ย้ำในภายหลังว่าเธอได้ให้อภัยให้ทั้งสาม ทั้งยังวิงวอนให้พวกได้กลับใจ แม้ว่าลึก ๆ เธอจะเจ็บปวดแค่ไหน ครั้งหนึ่งพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสกับเธอว่า “คุณแม่ครับ คุณได้ให้บุตรชายผู้ยิ่งใหญ่แก่พวกเรา” เธอรีบทูลพระองค์ว่า “สันตะบิดร ลูกไม่ได้เป็นผู้ให้เขา แต่เป็นพระเจ้าต่างหากที่เป็นผู้ประทานเขาแก่โลกผ่านตัวลูก แล้วลูกก็มอบเขาแด่พระศาสนจักรและลูกก็ไม่สามารถนำเขากลับมาได้” สดับดังนั้นพระองค์รีบดึงตัวมารดาผู้ชราของท่านเข้ามากอดและมอบจูบแด่เธอ


พิธีสถาปนาบุญราศีเยอร์ซี

กาลเวลาพ้นผ่านมานับวันวีรกรรมของท่านก็ยิ่งโด่งดังขึ้น ทั้งในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศและพระศาสนจักร กล่าวคือใน ค.ศ. 2009 รัฐบาลโปแลนด์ก็ได้มอบเครื่องอิสรายศอินทรีขาว อันเป็นเครื่องยศสูงสุดของประเทศแก่ท่าน และปีถัดมาพระศาสนจักรก็ได้รับรองคุณธรรมและการเป็นมรณสักขีของท่าน ด้วยการประกาศให้ท่านเป็นบุญราศีอย่างสง่า โดยมีผู้แทนพระสันตะปาปาคือพระคุณเจ้าอังเยโล อมาโต เป็นประธานในปรำพิธีชั่วคราวหน้าวัดนักบุญสตานิสลาวา วอร์ซอ ในวันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 2010 โดยมีมารดาผู้พึ่งฉลองวันเกิดอายุ 100 ปี ร่วมเป็นสักขีพยาน และใน ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมาศาลสังฆมณฑลแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสก็ได้ทรงรายงานอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนของท่านไปยังสมณะกระทรวงว่าด้วยการแต่งตั้งเป็นนักบุญเพื่อให้ทางสมณะกระทรวงพิจารณาตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนรับรองให้เป็นอัศจรรย์ประกอบการบันทึกนามท่านไว้ในสารบบนักบุญต่อไป ซึ่งในขณะนี้เราหวังว่าในการตรวจสอบขั้นสุดท้ายผลจะออกมาในเชิงบวก และเราจะได้มีนักบุญองค์ใหม่จากยุคร่วมสมัยของเราเพิ่มอีกองค์

“ข้าพเจ้าอยู่คนเดียว ไม่มีผู้ใดช่วยเหลือข้าพเจ้านอกจากพระองค์เท่านั้น” (เอสเธอร์ 4: 17L) นี่คือหนึ่งในคำอธิษฐานของพระนางเอสเธอร์ก่อนจะเข้าเฝ้ากษัตริย์ เมื่อพระนางต้องรับภาระที่ยิ่งใหญ่นั่นคือการช่วยเหลือบรรดาชาวยิวที่กำลังถูกเบียดเบียนจากฮามาน ชวนให้เรานึกถึงว่า ในบางครั้งในช่วงชีวิตสั้น ๆ ของเรา พระเจ้าก็ทรงใช้เราให้ทำบางสิ่ง ที่เราคิดว่าเกินความสามารถ และให้เราทำแต่เพียงคนเดียวเหมือนที่พระนางเอสเธอร์ หรือบุคคลอื่น ๆ ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ได้รับ และแน่นอน ในนาทีแรกพวกท่านต่างต้องหวาดกลัวที่ต้องทำสิ่งเหล่านี้ แต่…ทำไมพวกท่านจึงสามารถฟันฝ่าความกลัวเรานี้ และกล่าวต่อพระเจ้าได้ว่าพวกท่านพร้อมแล้ว


หลุมศพของคุณพ่อเยอร์ซี

คำตอบก็อยู่ในคำอธิษฐานนี้ของพระนางเอสเธอร์นี้ นั่นคือพวกท่านตระหนักดีว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเหลือท่าน เพราะนี่คือกิจการของพระเจ้า ไม่ใช่กิจการของมนุษย์ หากเพียงแค่เพียงพวกท่าน ‘เริ่มจะทำไปพร้อมกับพระองค์’ ทุกสิ่งก็เป็นไปได้ เหมือนที่นักบุญเทเรซา แห่ง พระเยซูเจ้าเคยพูดไว้ว่า “เทเรซาคนเดียวกับเงินสักสามดูคัตไม่อาจทำอะไรได้ แต่เทเรซาพร้อมพระเจ้ากับเงินสักสามดูคัตสามารถทำได้ทุกสิ่ง” และท่านก็เคยกล่าวในทำเดียวกันว่า “จงอย่าพูดว่าโลกกำลังเสื่อมโทรมและน่าเศร้ามากกว่าเก่า แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้นก็ตาม แท้จริงพุที่มาแห่งความเศร้าของเรานั้นอยู่ในตัวเราไม่ใช่ที่ไหนอื่นไกล และแท้จริงพุที่มาแห่งความสุขต้องอยู่ในตัวเราเช่นกัน  ความยินดีแท้คือการที่พระสถิตอยู่กับเรา

ดังนั้นนี่แหละคือข้อสรุปของชีวิตของคุณพ่อเยอร์ซี นี่แหละคือคำตอบของความกล้าของท่านในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากท่าน นี่แหละคือสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องผ่านชีวิตของคุณพ่อ นั่นคือการให้เราคริสตชนกล้าที่จะตอบสนองต่อเสียงเรียกของพระเจ้า แล้วก้าวเดินทำสิ่งนั้นด้วยความวางใจในพระองค์ ทำพร้อมพระองค์ และเพื่อพระองค์ในเวลาปัจจุบัน โดยมีหลักสำคัญที่ว่า ‘เราต้องทำลายความกลัวอนาคตของเราเสียก่อน’ นั่นคือเราต้องกล้าที่จะก้าวออกจากเงาแห่งความสุขสบาย เงาที่เราเห็นว่าปลอดภัย เงาที่บังเราไว้จากหน้าที่เสียก่อน ท้ายนี้ให้เราหมั่นระลึกเสมอว่าหากสิ่งที่เป็นทางของพระแล้วไซร้ ก็อย่าได้กังวลใจไปเลย เพราะในพระเจ้าเรามีพระพรเพียงพอ ขอให้พระเจ้าเป็นพุแห่งความยินดีเสมอในวิญญาณของเรา ที่เป็นเสมือนภาชนะน้อยของพระ เพื่อตักตวงพระหรรษทานไปใช้ในหนทางแห่งน้ำพระทัยตราบสิ้นชีวิต อาแมน.
รูทราย, เทเรซีโอของพระเจ้า
เผยแพร่ครั้งแรก, 17 มีนาคม 2016
เพิ่มเติมแก้ไข, 12 กรกฎาคม 2023


“ข้าแต่ท่านบุญราศีเยอร์ซี ปอเปียววูสซ์คอ ช่วยวิงวอนเทอญ”

ข้อมูลอ้างอิง


วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

"พัค ฮี ชุน" นางในผู้ศักดิ์สิทธิ์


นักบุญลูเชีย พัค ฮี ชุน
St.  박희순 루치
ฉลองในวันที่ : 20 กันยายน

สายลมแห่งฤดูใบไม้ผลิพัดมาทำให้ชิมาหรือกระโปรงพันรอบตัวแบบเกาหลีพลิ้วไหวไปตามแรงลม เส้นผมสีดำขมับถูกเก็บเรียบไว้เป็นเปียสวย ซึ่งถูกรวบไว้ด้วยโบว์สีแดงสด ไม่ได้ปล่อยยาวเพื่อเป็นการบอกถึงฐานะแห่งกุงเนียว หรือ นางกำนัลในวัง ร่างนั้นมีด้วยท่วงทีเรียบร้อยสมดั่งที่ได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดี อีกทั้งคำพูดคำจาก็ไพเราะเสนาะหู แต่แม้จะดูๆไปแล้วจะเหมือนกับกุงเนียวคนอื่นๆ อันเป็นดั่งบุพผาชาติแห่งวังหลวงทั่วไป ใบหน้าอันคมคายของพัค ฮี ชุนนี้ก็โดดเด่นออกมา จนต้องพระเนตรแห่งองค์กษัตริย์หนุ่มผู้พานพบเจอเข้า

พัค ฮี ชุน มาจากตระกูลมั่งคั่งในเมืองฮันยาง ท่านเกิดราวปี ค..1801 มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ พัค กึน อา กี เกิดก่อนท่านประมาณห้าปี ตั้งแต่ยังเล็กๆท่านก็ถูกส่งเข้าวังเพื่อฝึกหัดเป็นกุงเนียว ซึ่งท่านก็ฉายแววความเฉลียวฉลาดและความสามารถต่างๆออกมา จนทำให้ได้รับเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่เพียงแต่ท่านจะเก่งชนิดสามารถพูดได้ถึงสองภาษาคือภาษาเกาหลีและภาษาจีน ด้านหน้าตา ท่านก็จัดว่าเป็นหญิงที่ใครๆพบก็ต่างเอ่ยปากว่างาม



แต่ก็ด้วยความงามนี้เองที่นำปัญหามาให้ท่าน เพราะเมื่อกษัตริย์หนุ่มนั่นคือพระเจ้าซุนโจ ทรงพบท่านในวัยประมาณสิบห้าเข้า ก็เกิดพอพระทัยในความงามของท่าน พระองค์จึงทรงพยายามเกลี้ยกล่อมท่านให้มาเป็นพระสนมของพระองค์ ซึ่งถือเป็นเกียรติเสียยิ่งกว่าการเป็นกุงเนียวที่ถือเป็นตำแหน่งที่ว่ามีหน้ามีตาทางสังคมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่กุงเนียวส่วนใหญ่จะพยายามทำให้กษัตริย์สนใจตน แต่ผิดกับท่าน เพราะขณะที่กุงเนียวคนอื่นต่างไขว่คว้าโอกาสนี้ ท่านที่ได้โอกาสนี้กลับเลือกปฏิเสธมัน

ทำไมท่านถึงทำเช่นนั้น คำตอบง่ายๆก็คือ ความภักดีต่อพระมเหสี สิ่งนี้แหละที่อยู่ในจิตสำนึกของท่าน ท่านจึงหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนคล้อยไปตามคำเย้ายวนของกษัตริย์ ซึ่งเรื่องความกล้าของท่านนี้เป็นเรื่องกระฉ่อนไปทั่ววังหลวงผ่านปากต่อปากของบรรดานางในทั้งหลาย และภายหลังเมื่อพระสังฆราชนักบุญลูร็อง โจเซฟ มารีอุส อัมแบรต์ได้ทราบเรื่องนี้ พระคุณเจ้าก็ได้กล่าวยกย่องท่านว่า นี่เป็นการกระทำอันกล้าหาญและซื่อตรง แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในแผ่นดินเกาหลี


หลังผ่านเหตุแห่งการทดลองมาแล้ว ชีวิตของท่านในฐานะกุงเนียวก็ผ่านไปเรื่อยๆภายหลังรั่วของวังหลวง ทีละนิดท่านเริ่มเบื่อกับชีวิตแบบนี้ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ประมาณสามสิบปี ช่วงเวลานั้นเองพระศาสนจักรคาทอลิกได้กลายมาเป็นแสงเทียนเล็กๆที่ถูกจุดขึ้นในความมืดแห่งความสบสน ท่านจึงเริ่มตามหาความหมายที่ขาดหายไปจากเรื่องราวของชายผู้ตายเพื่อไถ่บาปโลก เวลานี้ท่านปรารถนาจะศึกษาเกี่ยวกับศาสนาใหม่นี้อย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้เข้าใจและได้เชื่อ

แต่ช่างยากเหลือเกินที่จะทำเช่นนั้นในสภาพแวดล้อมของวังหลวง ที่เต็มไปด้วยความหรูหรา และความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ด้วยในเวลานั้นกุงเนียวที่เข้าพิธีสาบานตนทำงานแล้วจะไม่สามารถออกมาอยู่ข้างนอกวังหลวงได้อีกตลอดชีวิต เว้นเสียแต่มีเหตุอันร้ายแรงจริงๆ ซึ่งครั้นจะหนีออกไปเสียแต่ดื้อๆ ก็ยากที่จะรอดพ้นสายตาของบรรดาทหารยามที่อยู่รอบวังหลวงไปได้ แต่เมื่อท่านเลือกแล้วที่จะเดินตามทางของชายผู้นามว่า เยซูทางเดียวของท่านจึงคือการแกล้งป่วย


กระทั้งท่านได้รับอนุญาตให้ออกมาได้ แต่เมื่อผ่านด่านแรกมาได้ ท่านก็ต้องมาพบกับบิดาของท่านที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาใหม่นี้ เขาไม่ยอมให้ท่านกลับมาอยู่บ้าน ดังนั้นท่านจึงต้องไปพักอยู่กับหลานชายของท่านที่แต่งงานออกเหย้าออกเรือนไปแล้ว  ซึ่งที่บ้านของหลานนั้นแทนที่ท่านจะติดนิสัยใช้ชีวิตอู้ฟู่แบบในวัง  ตรงกันข้ามตลอดที่อยู่บ้านนั้นท่านกับเจริญชีวิตอย่างเรียบง่าย ปฏิเสธความหรูหราต่างๆ จนเป็นแบบอย่างแก่ทั้งตัวหลานของท่านเอง และตัวครอบครัวของเขา จนได้กลับใจมารับศีลล้างบาปตามท่าน

และเป็นช่วงเวลานี้เช่นกันที่พี่สาวของท่านได้มาอยู่กับท่าน และได้ตัดสินใจรับศีลล้างบาปด้วยชื่อ มารีอา ซึ่งแม้เราจะไม่รู้ถึงเหตุแน่ชัดถึงการกลับใจของเธอเท่าไรนัก แต่ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าส่วนหนึ่งต้องมาจากตัวของท่านเป็นแน่

ต่อมาด้วยการแก่งแย่งชิงดีของสองตระกูลอันคือตระกูลคิมและตระกูลโจก็ทำให้เกิดการเบียดเบียนคริสตชนขึ้นอีกครั้ง โดยการใช้ข้ออ้างเรื่องคริสตชนมาใช้ในการทำลายฝ่ายตรงข้าม ทำให้ในปี ค..1839 จึงมีการออกพระราชกำหนดกำจัดคริสตชนให้สิ้นซากในทุกมณฑล จึงส่งผลให้เกิดการเข่นฆ่าคริสตชนชาวเกาหลีและธรรมทูตชาวฝรั่งเศสไปหลายร้อยคน เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหน้าประวัติศาสตร์ว่า การสังหารหมู่คริสตชนปีคิลแฮ

ย้อนกลับมาที่ท่าน เมื่อเกิดการเบียดเบียนคริสตชนขึ้นเช่นนี้ ท่านพร้อมพี่สาวและหลานก็พยายามอยู่กันอย่างเงียบๆเพื่อไม่เป็นที่สงสัย แต่ขณะที่กำลังวางแผนว่าจะหลบจากการลงโทษจากทางการยังไงนั้นเอง ในวันที่ 15 เมษายน ค..1839 ทหารก็มาถึงบ้านของหลานท่าน ซึ่งแทนที่ท่านจะหลบหนี ตรงกันข้ามท่านกลับออกจากบ้านไปเชื้อเชิญบรรดาทหารเหล่านั้น เข้ามาทานอาหารและดื่มเหล้ากันก่อนในบ้านด้วยท่าทีสงบ จนเป็นที่แปลกใจแก่ทั้งคนในครอบครัวของท่านเอง และคริสตชนคนอื่นๆด้วย

แต่ท่ามกลางความแปลกใจนั้นเอง ท่านก็ได้ไขข้อข้องใจถึงเหตุที่ท่านทำเช่นนี้ว่า ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยไร้ซึ่งคำอนุญาตของพระเจ้า แต่นี้ไปคือพระประสงค์ของพระองค์ ขอให้เราน้อมรับด้วยความเต็มใจเถิด ฉะนั้นท่านพร้อมพี่สาวและคริสตชนคนอื่นๆจึงถูกจับจำคุก ซึ่งแม้พวกท่านจะรู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกท่าน พวกท่านก็กลับได้หากลัวไม่ ตรงข้ามพวกท่านกลับมีเริงร่าด้วยเหตุว่า บัดนี้ประตูสวรรค์ใกล้เข้ามาหาพวกท่านแล้ว

พวกท่านถูกพามาจนถึงหน่วยโพด็อกชางอันเป็นหน่วยงานของราชสำนักที่รับหน้าที่จับกุมและลงโทษอาชญากรในสมัยราชวงศ์โชซอนเปรียบไดก็คือกรมตำรวจในปัจจุบัน ที่นั่นท่านพร้อมพี่สาวถูกจับล่ามโซ่ไว้ที่เท้าขังไว้ในคุก และเพียงไม่นานข่าวเรื่องอดีตกงเนียวถูกจับก็แพร่สะพัดไปทั่ว ทางวัดหลวงจึงมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาลงมาว่า หากมีหลักฐานการต่อต้านของอดีตกงเนียวหรือกงเนียวในปัจจุบันคนใด พวกนางก็จะถูกจับในทันทีที่ราชสำนักได้รับแจ้ง ซึ่งด้วยความที่ท่านเคยเป็นอดีตกงเนียวนี้เอง ก็ยิ่งทำให้ถูกทรมานหนักมากเสียกว่าคนอื่นๆ


กงเนียวเป็นผู้มีการศึกษาดีกว่าสตรีคนอื่นๆ เจ้าเชื่อเรื่องศาสนาเท็จเทียมอันน่ารังเกียจนี้เข้าไปได้ยังไง หัวหน้าทหารหน่วยโพด็อกชางตะโกนใส่ท่าน
พวกข้าน้อยไม่เชื่อดอกว่านี่เป็นศาสนาเท็จเทียม องค์พระเจ้าทรงสร้างสรรค์ทุกสิ่งทั้งในสวรรค์และบนแผนดินโลก และทรงมอบลมหายใจแก่มนุษย์ ดังนั้นมันจะไม่สมควรหรือที่จะสรรเสริญและนมัสการพระเจ้า มันเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะรักพระเจ้า ท่านตอบ
จงละทิ้งศาสนาคาทอลิกเสียและบอกรายชื่อคนอื่นๆมาซะดีๆหัวหน้าทหารพยามเกลี้ยกล่อมท่าน
พระเจ้าทรงเป็นทั้งผู้สร้างและบิดาของข้าน้อย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้าน้อยก็ไม่อาจทิ้งพระองค์ไปไหนได้ เช่นเดียวกันพระองค์ทรงห้ามเราทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นข้าจึงไม่อาจบอกชื่อของคนอื่นๆได้ ท่านตอบ

เมื่อหัวหน้าหน่วยโพด็อกชางเห็นว่าท่านยังคงปากแข็งอยู่ เขาจึงตัดสินใจส่งท่านและพี่สาวไปดำเนินคดีต่อที่กรมฮังโจที่มีหน้าที่รับผิดชอบการติดสินคดีอาญาของอาณาจักร ณ ที่นั่นท่านถูกทรมานถึงสามครั้ง ด้วยการถูกโบยตีถึงรอบละสามสิบครั้ง จนทำให้ตลอดร่างของท่านเต็มไปด้วยบาดแผลและเลือดจำนวนมาก ชนิดเห็นกระดูกที่ขาของท่าน ซึ่งภายหลังเมื่อถูกตีหนักๆเข้าขาอีกข้างท่านก็หักตามไปด้วย แต่กระนั้นก็ตามถึงแม้จะโดนหนักถึงเพียงนี้ สิ่งที่ท่านทำมีเพียงการใช้ผมของท่านเช็ดบาดแผล พลางพูดว่า บัดนี้ลูกได้เข้าใจความเจ็บปวดน้อยๆของพระเยซูเจ้าและพระมารดามารีย์แล้ว


นอกนั้นท่านยังไม่ได้แสดงท่าทีเจ็ดปวดให้ใครเห็น และเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ว่าไม่ว่าท่านจะมีแผลเหวะหวะมากแค่ไหนตามร่างกาย ภายในไม่กี่วันต่อมาบาดแผลเรานั้นก็จะหายไปสิ้น ซึ่งประจักษ์พยานถึงเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่เพียงมีแต่ผู้ที่คุกขังอยู่กับท่าน แต่ยังมีทหารยามและผู้พิพากษาซึ่งได้บันทึกว่าเป็นเหตุการณ์นี้ไว้ว่าเป็นเรื่องเวทย์มนต์คาถาอีกด้วย

และแม้ชีวิตในคุกจะดูหมดหวังสำหรับหลายๆคน แต่ผิดถนัดกับท่าน เพราะในใจของท่านก็กลับเต็มไปด้วยความร้อนรนต่อพระเจ้า กล่าวคือตลอดเวลาที่ถูกจำคุกในศาลท่านได้แสดงตนออกมาเป็นอัครสาวกผู้ร้อนรนของพระเจ้าอย่างแท้จริง ท่านสอนบรรดานักโทษ ท่านปลอบประโลมผู้ทุกข์ใจ และจุดไฟแห่งความเชื่อในดวงใจของคริสตชนที่ตกอยู่ในความกังวลและความกังขาต่างๆอย่างอาจหาญ ใจของท่านไม่หวั่นไหวตรงข้ามกลับยกยอสรรเสริญโมทนาคุณพระเจ้าและแม่พระ จนที่สุดผู้พิพากษาก็หมดหนทางจะทำให้ท่านละทิ้งความเชื่อได้ ดังนั้นคำสั่งตัดสินประหารชีวิตจึงตกมาสู่ท่าน


ลูเชีย พัค ฮี ซุน พร้อมด้วยสหายยังคงดำเนินชีวิตอยู่ในทางที่ผิดของพวกเขาทั้งกลางวันและกลางคืน การกระทำพวกเขาชั่วร้ายและไม่มีความจริง คำพูดคำจาและความเงียบของพวกเขาคือเรื่องไสยศาสตร์และเวทย์มนต์ทั้งสิ้น ท่ามกลางความเงียบและภาษามือ(ผู้แปลคิดว่าน่าจะหมายถึงสำคัญมหากางเขน)พวกเขาไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการสาปแช่ง พวกเขาปฏิเสธที่จะกลับตัว ดังนั้นจึงสมควรยิ่งต่อการตาย รายงานจากการตัดสินคดีของท่าน

ทำให้บัดนี้สิ่งที่ท่านรอคอยก็ได้มาถึง ประตูสวรรค์สำหรับท่านใกล้แล้ว สิ่งที่นี้แหละที่ท่านเฝ้าเตรียมตัวรอคอยอย่างเงียบๆมาตลอด โอ้ การถูกจำคุกตลอดชีวิตสำหรับท่านช่างเป็นเรื่องยากเสียจริง บัดนี้ท่านกำลังจะได้ไปอยู่เคียงข้างชายผู้ที่ท่านรักและศรัทธาแล้ว และเพื่อห้บรรลุถึงจุดหมายโดยไววันหนึ่งท่านก็ได้บอกกับผู้ทรมานท่านว่า ฉันมีคำขอให้พี่ช่วยหน่อย เวลาพี่ตัดหัวฉันให้พี่มีสติ ตัดเสียให้เสร็จแต่หนึ่งครั้งเถิดหนา


เช่นเดียวกันกับท่าน ตัวพี่สาวของท่านเองก็ถูกทรมานและถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เนื่องด้วยในสมัยโชซอนมีกฎหมายว่าห้ามประหารคนครอบครัวเดียวกันในวันเดียวกัน ท่านและพี่สาวจึงถูกแยกวันประหาร ซึ่งคิวแรกตกเป็นของท่านก่อน เช่นนั้นเองในวันที่ 24 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ท่านจึงถูกนำตัวออกจากคุกเพื่อนำไปตัดศีรษะพร้อมนักโทษอีกแปดคน  ให้เราก้าวไปบนทางแห่งมรณสักขีเพื่อไปรับสิริโรจนาในสวรรค์ด้วยกันเถิด ท่านกล่าวอำลาบรรดานักโทษคนอื่นๆ

ไร้ซึ่งความหวาดกลัวใดๆ ตลอดทางสู่แดนประหาร อันคือบริเวณนอกประตูซุยมุน กรุงโซล
 ดวงหน้าของท่านเปล่งปลั่งด้วยสันติ คำภาวนามิได้แห้งเหือดไปจากริมฝีปากนั้น และเมื่อถึงแดนประหารดวงหน้านั้นแสดออกถึงความอ่อนโยนยามเพชฌฆาตเงื้อมดาบตัดศีรษะ อันเป็นการปิดฉากตำนานนางในผู้ศักดิ์สิทธิ์ลงอย่างสงบด้วยวัย 39 ปี เหลือทิ้งไว้แต่เกียรตินามและจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านเขียนจากคุก แต่โชคร้ายที่มรดกนั้นได้หายไป

สี่เดือนต่อมาพี่สาวของท่านก็ถูกตัดศีรษะจบชีวิตตามแบบฉบับมรณสักขีตามท่านไปในวันที่ 3 กันยายนด้วยอายุ 44 ปี และหลังจากนั้นอีก 86 ปีต่อมา คือในวันที่ 5 กรกฎาคม ค..1925 ท่านพร้อมพี่สาวก็ได้รับการประกาศยกย่องเป็นบุญราศีอย่างสง่า ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร โดยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 และในโอกาสสองร้อยปีพระศาสนจักรเกาหลี สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงบันทึกนามของท่านพร้อมพี่สาวและเพื่อนมรณสักขี 101 คนเป็นนักบุญ ในวันที่ 6 พฤษภาคม ค..1984 

เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเฆี่ยนตีสั่งสอนผู้ที่พระองค์รัก และทรงเฆี่ยนตีทุกคนที่ทรงรับไว้เป็นบุตร(ฮีบรู 12:16 เราจะเป็นนักบุญได้อย่างไร คำถามนี้คือคำถามที่เราในฐานะคริสตชนต้องเพียรถามตัวเองอยู่บ่อยๆ เพราะเราคริสตชนต้องเป็นนักบุญ ซึ่งคือการไปสวรรค์ให้ได้ในวันสุดท้ายของชีวิต แต่แล้วเราจะเป็นนักบุญได้อย่างไรละ คำถามคล้ายๆคงต้องตามมาเป็นแน่เมื่อขึ้นต้นเช่นนี้ และคำตอบมันก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงนั่นก็คือ การน้อมรับกางเขนในชีวิต’ เพราะอาศัยกางเขนนั่นคือความทุกข์ยากก็ทำให้วิญญาณของเราเติบโตขึ้น และผลิดอกให้พระทรงเด็ดไปในวันใดวันหนึ่ง แต่กว่าจะถึงจุดดนั้นได้ฉันใดฉันนั้นต้นไม้ก็จำต้องถูกลิบใบบ้าง ต้องทรงสภาพอากาศต่างๆบ้างจริงไหม และเช่นกันการตีสอนไม่ทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีหรือ แน่นอนเมื่อพูดเช่นนี้หลายๆคนก็อาจแย้งในใจว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะแบกกางเขน ที่จะรับความทุกข์ยาก และแน่นอนนการการคิดเช่นนี้นับเป็นการมองแบบผิวเผิน 


เราจำต้องมองแบบนักบุญมอง เช่นนักบุญลูเชีย พัค ที่มองความทุกข์ยากต่างๆคือน้ำพระทัยของพระ ท่านจึงสามารถผ่านทุกสิ่งมาได้ตลอดการเป็นคริสตชน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องงาน เรื่องทางบ้าน จนถึงเรื่องชีวิต แม้จะไม่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือฝ่ายจิต แต่ท่านได้บรรลุถึงรหัสธรรมแห่งกางเขนอย่างแท้จริง ดังนั้นขอให้เราลองพยายามค้นหาความหมายที่แท้จริงของกางเขนที่เราพบในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มจากการมองกางเขนด้วยสายตาของนักบุญ เพื่อที่ว่าเมื่อเราเข้าใจถึงความหมายของมัน เราก็จะพร้อมยิ้มและอ้าแขนรับกางเขนนั้นด้วยความยินดี ขอให้เรามองกางเขนเป็นเช่นนักบุญพัคเถิด ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยไร้ซึ่งคำอนุญาตของพระเจ้า แต่นี้ไปคือพระประสงค์ของพระองค์ ขอให้เราน้อมรับด้วยความเต็มใจเถิด



ข้าแต่ท่านนักบุญลูเชีย พัค ฮี ชุน และเพื่อนมรณสักขีชาวเกาหลี ช่วยวิงวอนเทอญ


ข้อมูลอ้างอิง
https://ko.wikipedia.org/wiki/박희순_루치아

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...