วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

"คุณพ่อฟาเลนตินุส" แสนชั่วโมงเพื่อพระเมตตา


บุญราศีฟาเลนตินุส ปากาย
Bl. Valentinus Paquay
ฉลองในวันที่ : 1 มกราคม

คุณพ่อฟาเลนตินุส ปากาย มีนามเดิมว่า ยอง ลูอิส ปากาย ท่านเป็นลูกคนที่ห้าจากบรรดาบุตรธิดาสิบเอ็ดคนนายเฮ็นดริก ปากาย กับ นางอันนา เนเฟอ สองสามีภรรยใจศรัทธา ที่ได้รับการปลูกฝังเรื่องความรักต่อทั้งพระและเพื่อนมนุษย์มาจากทั้งครอบครัวของทั้งสอง  ท่านเกิด ณ หมู่บ้านกูมาร์กท์ เมืองโตงเงอเริน ทางใต้ของมณฑลลิมเบิร์ก ในประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค..1828 ที่ครอบครัวท่านอาศัยทำอาชีพชาวนา

ชีวิตในวัยเยาว์ของท่าน อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของการสวดภาวนา การทำงาน และความมุมานะ อันเป็นหนึ่งในมรดกที่ทั้งครอบครัวปากายและครอบครัวเนเฟอได้สานต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ที่ท่านสูดอย่างเต็มปอดมาตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก และเมื่อจบชั้นประถมศึกษาแล้ว จากโรงเรียน ท่านก็ได้เข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา ใน โรงเรียนของคณะกาโนน เรกูลาร์ แห่ง นักบุญออกัสติน ในเมือง เพื่อศึกษาต่อด้านวรรณกรรม


จนท่านมีวัยได้ 17 ปี ในปี ค..1845 ท่านก็ได้เข้าบ้านเณรนักบุญทรอนด์ แต่ท่ามกลางความหวังของทั้งครอบครัวที่จะเห็นท่านได้เข้าบ้านเณรใหญ่ที่เมืองลีแยฌ ท่านก็ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ที่จะเลือกเดินทางใหม่ เพราะบัดนี้ท่านได้พบ กระแสเรียกแท้จริง ของท่านแล้ว ไม่ใช่การเป็นพระสงฆ์พื้นเมือง แต่มันคือการเป็นกุลบุตรของนักบุญฟรานซิส แห่ง อัสซีซีต่างหากละ ดังนั้นด้วยเหตุฉะนี้ภายหลังจากได้รับอนุญาตจากมารดา เพราะบิดาท่านสิ้นใจไปตั้งแต่ปี ค..1847แล้ว ในวันที่ 3 ตุลาคม ค..1849 ท่านก็เริ่มเป็นนวกะของคณะภารดาน้อย ที่ อารามเมืองติลท์ ด้วยนามใหม่ว่า ภารดาฟาเลนตินุส

ท่านได้เข้าพิธีปฏิญาณตนในวันที่ 4 ตุลาคม ก่อนจะถูกส่งไปเรียนต่อด้านเทววิทยา ใน เมืองเบ็กเค็นเฮ็ม และที่สุดท่านจึงได้รับศีลบรรพชาในวันที่ 10 มิถุนายน ค..1854 เมืองลีแยฌ หลังจากนั้นคุณพ่ออธิการจึงได้ส่งท่านไปยังเมืองฮัสเซลท์ ในฐานะผู้ดูแลและผู้แทนคณะ ซึ่งระหว่างนั้นในปี ค..1890 และ ค..1899 ท่านก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะแขวงของคณะ
    

และในฐานะเหล่านี้ งานแรกของท่านก็คือ การอุทิศตนทำงานแพร่ธรรมและเทศน์อย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ชนิดที่เรียกกันว่า นอน สต็อบ คำพูดของท่านไม่ใช่คำพูดสวยหรู แต่คือคำพูดง่ายๆ ที่โน้มน้าวใจทุกคนที่ได้ฟัง ที่ทำให้ท่านกลายเป็นที่นับหน้าถือตาของบรรดาสัตบุรุษ แต่อย่างไรก็ตาม ท่านก็ต้องหยุดงานเช่นนี้ลงในปี ค..1864 เมื่อท่านมีอาการไอเป็นเลือด

ฉะนั้นท่านจึงได้รับมอบหมายงานใหม่ที่ไม่ต้องใช้เสียงแทนในอาราม และนั่นก็คือจุดเริ่มต้น ของการอุทิศตนอย่างจริงจังต่อพันธกิจแห่ง การฟังแก้บาปของท่าน ที่ต้องอยู่ทั้งในที่แก้บาปและที่บ้านคนป่วยหรือใกล้ตายยามมีคนมาตาม ซึ่งในฐานะนี้ ท่านก็พร้อมเสมอที่จะปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือวิญญาณนี้อย่างแข็งขัน ไม่ว่าเวลาไหน ท่านพร้อมต้อนรับทุกๆคนด้วยความยินดีเสมอ จนมีหลายคนเปรียบว่าเป็นดั่งตำบลอาร์สที่มีนักบุญยอห์น มารี เวียนเนย์ อยู่ ซึ่งจากคำของพยาน หลายคนยืนยันว่าท่านได้รับพระพรหยั่งรู้มโนธรรม การทำนายและการเจาะใจ  หลายครั้งต่อหลายครั้งเมื่อมีผู้ฟังแก้บาปลืมสารภาพบาป ท่านก็จะสามารถเอ่ยบาปนั้นออกมาได้อย่างถูกต้อง


มีการกล่าวกันว่าเป็นเวลานับแสนชั่วโมง ที่ท่านนั่งรับฟังทุกคนอย่างเงียบๆด้วยความเรียบง่าย คอยปลอบประโลมใจพวกเขา ด้วยรักชนิดไม่มีกั๊ก ในห้องแก้บาปตั้งแต่ที่วัดพระนางมารีย์ วัดประจำเมืองฮัสเซลท์ ที่ท่านประจำในตู้แก้บาปซึ่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่ที่วัดนี้ ในที่เดิมของมันทางขวามือของตัววัด ท่านประจำอยู่ที่นี่ในช่วงระหว่างปี ค..1858-..1867 และที่อารามฟรังซิสกัน ที่ท่านย้ายไปตั้งแต่ ค..1867 จนเราอาจกล่าวได้เลยว่าท่านได้ทำให้แก้บาปของพวกเขาไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ของศีลอภัยบาป ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไร ที่พระสงฆ์คนนี้จะมีความหมายมากมายแก่ชาวฮัสเซลท์ทุกคน

ความศรัทธาพิเศษ ท่านมีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อศีลมหาสนิท ท่านถือเป็นอีกหนึ่งคนที่สนับสนุนการรับศีลบ่อยๆ นอกจากนั้นท่านยังมีความศรัทธาเป็นพิเศษต่ออีกสองสิ่งคือหนึ่งดวงพระหฤทัย ที่ท่านมักรำพึงถึงบ่อยๆ ทั้งยังเผยแพร่ความศรัทธานี้ให้กับกลุ่มคณะฟรังซิสกันขั้นสาม ซึ่งท่านเป็นจิตตาธิการให้ถึง 26 ปีอีกด้วย และสองคือความศรัทธาเป็นพิเศษต่อพระมารดาเจ้า ที่ท่านรู้จักดีมาตั้งแต่วัยเยาว์ ที่บรรดาสัตบุรุษ ณ บ้านเกิดของท่านเรียกขานว่า เหตุแห่งความยินดี


ซึ่งในฐานะฟรังซิสกัน ท่านก็ได้มอบความศรัทธาเป็นพิเศษต่อนาม “ผู้ปฏิสนธินิรมล” รหัสธรรมล้ำลึกที่ได้รับการประกาศในปีเดียวกับกับที่ท่านได้รับศีลอนุกรม ซึ่งความศรัทธานี้แรงกล้ามากถึงขนาดที่ว่า ในโอกาสครบรอบห้าสิบปีของการประกาศ แม้จะป่วยหนักแค่ไหนท่านก็ลุกมาถวายมิสซาในวันนั้นให้ได้ และนอกจากความศรัทธาเหล่านี้แล้ว สิ่งสุดท้ายที่ทุกวันของท่านขาดไม่ได้เลย นั่นก็คือการเดินรูป รำพึงถึงพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต แม้จะเป็นต้อกระจก และมีปัญญาเรื่องหัวใจในปีสุดท้ายของชีวิต ท่านก็ยังคงฟังแก้บาปอย่างไม่หยุดหย่อน กระทั้งสามสัปดาห์สุดท้ายบนโลกนี้ของท่าน ท่านจึงหยุดฟังแก้บาปและหยุดงานต่างๆ เพื่อพักรักษาตัวอยู่ที่ห้องโดยจะคอยมีพระสงฆ์มาส่งศีลให้ท่านทุกวันที่เตียง จนถึงวันที่ 1 มกราคม ค..1905 ท่านก็คืนวิญญาณไปหาพระเป็นเจ้าอย่างสงบด้วยวัย 77 ปี จากโรคมะเร็ง


ภายหลังพิธีปลงศพที่มีผู้คนมาร่วมอย่างคับคั่ง ร่างของท่านก็ถูกฝังที่สุสานเก่าประจำเมือง ซึ่งไม่นานก็แปรเปลี่ยนกลายเป็นสถานที่แสวงบุญของผู้เคารพใน คุณพ่อน้อยผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งฮัสเซลท์’ หลังจากนั้นในปี ค..1926 ก็ได้มีการย้ายร่างของท่านมายังบริเวณที่เรียกกันว่ามินเดอร์บรูเดอร์สตราทในเมืองฮัสเซลท์ ที่มีการสร้างวัดน้อยขึ้นเพื่ออุทิศแด่ท่านข้างๆวัดของคณะ และหลังจากมีอัศจรรย์ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค..2003 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศี

เราจะเป็นเหมือนน้ำค้างสำหรับอิสราเอล เขาจะผลิดอกเหมือนดอกลิลลี่ เขาจะหยั่งรากเหมือนต้นสนสีดาร์แห่งเลบานอน กิ่งก้านของเขาจะแผ่ขยาย เขาจะงดงามเหมือนต้นมะกอกเทศ และมีกลิ่นหอมเหมือนเลบานอน(โฮเชยา 14:6-7) นี่คือพระสัญญาของพระเจ้าต่อชนชาติอิสราเอลที่ขณะนั้นได้หลีกลี้ไปจากพระองค์ผู้ทรงเป็นต้นธารแห่งชีวิต พระสัญญาที่ได้บอกถึงผลแห่งการชิดสนิทกับพระเป็นเจ้า พระสัญญาซึ่งในเวลานี้ไม่จำกัดแม้แต่ต่อชนชาติอิสราเอล แต่เป็นพระสัญญาที่มอบแด่เราทุกๆคนที่ถูกบาปเข้าแทรกกลางระหว่างเรากับพระ จนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระค่อยๆหมางเมินไป ความสัมพันธ์ที่พระองค์ทรงเปรียบในรูปของสามีและภรรยา



คุณพ่อฟาเลนตินุสได้ตระหนักถึงผลแห่งการชิดสนิทกับพระเป็นอย่างดี ท่านจึงได้อุทิศตนอย่างร้อนรนในการนั่งฟังแก้บาปเป็นเวลานาน เพราะอาศัยการถ่อมใจไปแก้บาปช่องว่างระหว่างเรากับพระผู้ทรงเป็นน้ำค้างสำหรับแดนเนรเทศนี้ก็จะยิ่งแคบลง จนที่สุดก็จะหายไป ฉะนั้นเวลานี้ชีวิตของคุณพ่อจึงได้เรียกร้องให้เราหมั่นไปแก้บาปอย่างดีเพื่อที่ว่า อาศัยการคืนดีกับพระนี้ เราก็จะได้สัมผัสถึงความรักที่ลุกร้อนของพระ พระเมตตา และพละกำลังที่จะก้าวออกไปรักและให้การคืนดีกับผู้อื่นสมดังเจตนารมณ์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่มีต่อปีศักดิ์สิทธิ์นี้ ท้ายสุดนี้ขอให้ไฟแห่งรักที่เราได้สัมผัสจากศีลอภัยบาป ได้รุนเร้าเราทุกคนให้ไม่อาจอยู่เฉยๆได้ จนจำต้องนำความรักนี้ไปมอบแก่คนอื่นๆด้วยเทอญ อาแมน


ข้าแต่ท่านบุญราศีฟาเลนตินุส ปากาย ช่วยวิงวอนเทอญ


ข้อมูลอ้างอิง

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...