วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567

'เกียรา' พุน้ำทิพย์ของพระเจ้า ตอนจบ


นักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก
St. Chiara da Montefalco
ฉลองในวันที่: 17 สิงหาคม
องค์อุปถัมภ์: เมืองมอนเตฟัลโก

กลับมาที่เหตุการณ์ในระหว่างพระเจ้าทรงเตรียมท่านให้พร้อมใช้ เมื่อท่านขึ้นเป็นคุณแม่อธิการิณีอารามไม้กางเขน พระเจ้าก็ทรงทำชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านขจรออกไปนอกรั้วของอาราม จนชักนำผู้คนมากมายให้เดินทางมายังอารามแห่งนี้เพื่อสนทนากับท่านในห้องรับแขกของอาราม และก็เป็นที่นั่นเอง ที่ท่านได้ใช้ประสบการณ์ที่ท่านได้เรียนรู้ผ่านห้องเรียนแห่งนิมิต และพระหรรษทานพิเศษในการรักษาไม่เพียงร่างกาย แต่วิญญาณให้บรรดานักจาริทั้งหลาย ความสามารถล่วงรู้จิตใจของผู้มาหาไปถึงสถานภาพของวิญญาณที่อยู่เบื้องหน้า ทั้งยังสามารถทำนายถึงอนาคต และความอธิบายข้อพระคัมภีร์และหลักเทววิทยาได้อย่างน่าพิศวง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพระหรรษทานพิเศษของพระเจ้าและความใฝ่รู้ของท่านที่จะอ่านหนังสืออรรถาธิบายของท่านมาใช้เป็นทางนำพระพรจากพระเจ้ามาสู่มนุษย์ผู้แสวงหาคำตอบของชีวิต

ดังนั้นตลอด 17 ปีห้องรับแขกอารามไม้กางเขนจึงต้อนรับผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งคนธรรมดาสามัญเรื่อยไปจนถึงบรรดาผู้มีชื่อเสียงในเวลานั้นทั้งวงการเมืองและวงศาสนา โดยเฉพาะในแวดวงศาสนามีหลักฐานปรากฏว่าสองพระคาร์ดินัลจากสกุลโกโลนนา คือ พระคุณเจ้ายาโกโมและพระคุณเจ้าเปียโตร (มีศักดิ์เป็นหลานพระคุณเจ้ายาโกโม) และพระคาร์ดินิลนาโปเลโอเน ออร์ซินี ต่างให้ความเคารพท่าน โดยเฉพาะท่านหลังนี้มีการติดต่อกับท่านทางจดหมายอยู่ตลอด และด้วยความเคารพเช่นนี้ทำให้บางครั้งท่านจึงได้รับของขวัญจากบุคคลเหล่านี้ ซึ่งท่านก็ไม่ได้ยึดติดแต่ได้นำของเหล่านั้นไปมอบให้คนยากไร้ต่อ ซิสเตอร์มารีนาเป็นพยานว่ามีผู้คนมากมายได้แวะเวียนมาที่อารามเพื่อพบท่านในตอนเย็นหลังการสวดทำวัตรค่ำ และก่อนการสวดทำวัตรสาย เพราะระหว่างช่วงเวลานี้ท่านจะถือความเงียบ โดยท่านจะไม่ตอบอะไรนอกจากคำว่า ‘ขอสรรเสริญพระเจ้า’ หรือคำพูดที่ไม่นำไปสู่การสนทนาอันจะเป็นการล่วงละเมิดธรรมเนียมการถือเงียบในหมู่นักพรต ซิสเตอร์มารีนายืนยันว่าท่านถือวัตรเช่นนี้อย่างเคร่งคัด เธอกล่าวว่าท่านไม่ค่อยได้สนทนากับใครแม้แต่กับญาติ ๆ ของท่าน


แต่นอกเหนือเวลาเหล่านี้ ด้วยความรู้สึกลุกร้อนภายใน ที่อาจสะท้อนได้ผ่านคำกล่าวหนึ่งของที่ว่า “โอ้ ความสนิทสัมพันธ์แห่งชีวิตนิรันดร์ ฉันปรารถนายิ่งนักที่จะเชิญชวนคนทั้งโลกมางานวิวาห์นี้เสียจริง” ท่านได้ใช้วาจาอันไพเราะอ่อนหวาน จูงใจคน เลือกใช้คำที่เหมาะสมกับผู้ฟังให้เข้าได้ แม้แต่คนที่เขลาที่สุด รวมถึงพระพรที่จะทำให้ผู้ฟังไม่เบื่อและไม่รู้สึกไม่สบอารมณ์ที่จะฟังท่านพูด เพื่อจุดไฟแห่งความร้อนรนในวิญญาณที่ท่านได้สนทนาด้วย และท่านก็สามารทำได้เช่นนั้น แม้กับวิญญาณที่ด้านชาที่สุด คำพูดธรรมดา ๆ ของท่านเป็นเหมือนน้ำทิพย์จากสวรรค์ที่ไหลเอ่อจากท่านไปสู่หัวใจของผู้ฟัง จนทำให้ใจนั้นรู้สึกอิ่มเอิบ ซึ่งไม่ใช่ความอิ่มเอิบตามประสาโลก แต่เป็นความอิ่มเอิบในวิญญาณที่ทำให้วิญญาณหิวกระหายที่จะได้ลิ้มรสสวรรค์

ดังนั้นคำพูดของท่านในมิติหนึ่งจึงจุดไฟแห่งความร้อนรนที่ภายในใจของผู้ฟัง ซึ่งไฟนี้ไม่ได้มาจากไหนแต่เป็นไฟที่ลุกอยู่ภายในใจของท่าน ซึ่งได้รับการเติมเชื้อไฟอยู่เสมอด้วยการรำพึงภาวนาถึงธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้า และเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ จึงอาจกล่าวได้ว่าถ้อยคำที่ออกจากปากของท่านไปสู่คนรอบข้างไม่ได้มาจากท่าน หากแต่มาจากแหล่งธารแห่งชีวิต คือ องค์พระเยซูเจ้าในพระคัมภีร์ ดั่งข้อเขียนในชีวประวัติของท่านของคุณพ่อเบเคงเยอร์ เดอ แซงตาฟฟริคที่ว่า “ถ้อยคำของเธอแท้จริงดูเหมือนจะเป็นวาจาอันเป็นนิรันดร์ วาจาอันทรงชีวิต วาจาอันแหลมคมเจาะตรง สอดคล้องไปกับพระคัมภีร์ มาจากพุน้ำอันทรงชีวิตที่ไหลไปยังพุน้ำอันเป็นนิรันดร์ ด้วยความลุกร้อนจากพระวาจาของพระเจ้า เธอได้จุดประกายผู้อื่นและตัวเธอเองก็ได้สุกสว่างขึ้นด้วยความร้อนแรงภายในวิญญาณ” เช่นนั้นเองท่านจึงถูกนิยามว่าเป็น ‘นางชีผู้ลุกร้อน’


เมื่อมองผ่านเข้าไปสู่วิญญาณของท่าน เราพบว่าท่านตระหนักเสมอว่าตัวเองไม่ใช่คนดีมีความสามารถอันใด แต่เป็นพระหรรษทานของพระเจ้าที่มีทำงานผ่านท่าน ดังนั้นเมื่อมีซิสเตอร์ท่านหนึ่งเอ่ยชื่นชมท่าน ท่านจึงไม่ลังเลที่จะตอบกลับมาว่า “เธอพูดอะไรน่ะ เธอยังรู้จักฉันไม่ดีพอ นี่คือสิ่งที่ฉันตระหนักรู้ถึงตนเองนะ ฉันเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดในหมู่สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ตัวฉันยังคงทำบาปผิดและมัวเมาหากพระองค์ไม่ทรงปกป้องฉันไว้ ฉันได้เนรคุณต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างมากเพื่อประโยชน์ส่วนตัว” อีกคราวหนึ่งท่านรำพึงภาวนาในห้องพัก ท่านตระหนักว่าตัวท่านช่างเต็มไปด้วยข้อบกพร่องและความอกตัญญูไม่รู้คุณพระ ทั้งเป็นคนที่มีข้อบกพร่องและเลวร้าย ท่านจึงเต็มไปด้วยความเป็นทุกข์ความขมขื่นใจเมื่อเดินออกจากห้องไปวัดน้อยเพื่อร่วมมิสซา แต่ในระหว่างมิสซานั้นเอง ท่านก็ได้มองเห็นพระเจ้าอยู่ในภายในตัวของท่าน และตัวของท่านก็อยู่ในพระเจ้าเหมือนภาพในกระจก ท่านได้มองเห็นว่าท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่สามารถอธิบายได้ นิมิตนี้ยิ่งทำให้ท่านยิ่งสำนึกตนอีกว่า ตัวท่านนั้นไม่มีสิ่งใดเลยเมื่อเทียบความเป็นนิรันดร์อันศักดิ์สิทธิ์แท้ อาจอุปมาได้ว่าเป็นเหมือนแอ่งกลางมหาสาคร จมอยู่ในห้วงกระแสสินธ์และเต็มไปด้วยกระแสนั้น

ท่านมองว่า “ชีวิตของวิญญาณคือความรักของพระเจ้า จากความรักนี้วิญญาณได้ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและได้พำนักอยู่กับพระองค์ และนั่นแหละคือสายสัมพันธ์ของพระเจ้ากับวิญญาณและของวิญญาณที่มีกับพระเจ้า ดังนั้นเมื่อพระเจ้าทรงประสงค์สิ่งใดวิญญาณก็ประสงค์สิ่งนั้น และสิ่งใดที่วิญญาณประสงค์ พระเจ้าเองก็ทรงประสงค์เช่นกัน” และตระหนักได้ว่า “ไม่น่าแปลกใจเลยที่วิญญาณดวงหนึ่งจะยอมตายเป็นพันครั้งแทนที่จะต้องแยกจากพระเจ้า แท้จริงแล้วความตายก็ดี ความทุกข์ยากก็ดี และความยากลำบากก็ดีช่างหอมหวานเสียนี่กระไรสำหรับเธอ” ดังนั้นท่านจึงแสวงหาพระเจ้า และปรารถนาให้ทุกคนแสวงหาพระเพื่อทุกคนจะพบความสุขแท้ที่มีในความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า ท่านจึงไม่เพียงปฏิบัติตนเป็นนักพรตผู้เคร่งคัด แต่ยังคอยชักชวนให้ผู้คนรอบข้างทั้งในและนอกอารามให้มาหาพระเจ้า ติดตามพระองค์ต่อไป ผ่านการสนทนากับพวกเขา รวมถึงผ่านการสวดภาวนา พลีกรรม และอาจรวมถึงการสร้างวัดในเวลาต่อมาด้วย

วัดไม้กางเขนที่ท่านสร้าง

ผ่านชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านที่แพร่ขยายไปเป็นผลให้อารามไม้กางเขนเติบโตขึ้นตามลำดับ ดังปรากฏหลักฐานว่า ค.ศ. 1305 อารามมีสมาชิกที่นักบวชถวายตัวถึงยี่สิบคนไม่นับรวมนวกะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้านั้นมีการเพิ่มจำนวนของสมาชิกอารามมาโดยตลอด จึงน่าจะเป็นมูลเหตุให้ใน ค.ศ. 1299 ท่านจึงได้ซื้อที่ดินและบ้านเพิ่มเพื่อขยายอาราม นอกจากนี้ใน ค.ศ. 1303 ท่านยังได้ลงมือทำสิ่งที่ท่านตั้งใจมาอย่างยาวนานนั่นคือการสร้างวัดที่อุทิศแด่ไม้กางเขน เพื่อให้บรรดาซิสเตอร์ในอารามและชาวเมืองได้สัมผัสกับความรักของพระ อันเป็นสิ่งที่ท่านมองว่าทำให้วิญญาณมนุษย์สามารถรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้าได้ ศิลารากของวัดหลังนี้ได้รับการอวยพรจากพระคุณเจ้านิโกลา อัลแบร์ติ คณะโดมินิกัน ผู้เป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ของสโปเลโต และมีคุณพ่อบอร์โดเน พระสงฆ์หัวหน้าเขตมอนเตฟัลโก เป็นผู้ประกอบพิธีวางในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1303

ชื่อเสียงของท่านยังชักนำให้ท่านได้พบกับภารดาเบนติเวนกา แห่ง กุบบีโอ ภารดาฟรังซิสกันผู้ได้รับการยกย่องจากผู้คนในเวลานั้นว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณที่ชื่อว่า ‘วิญญาณแห่งเสรี’ ซึ่งได้นำผู้ติดตามเดินทางมายังมอนเตฟัลโกและใช้อารามคณะฟรังซิสกันในเมืองเป็นที่พัก สำหรับการประกาศเชิญชวนชาวเมืองให้มาร่วมในขบวนการนี้ และดูเหมือนว่าด้วยชื่อเสียงของท่าน ภารดาเบนติเวนกาจึงได้พุ่งเป้าที่จะชวนให้ท่านมาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนี้ ดังนั้นเขาจึงส่งภารดาที่ติดตามเขามาพบท่าน ก่อนจะมาตามมาด้วยตัวเขาอยู่เป็นระยะ ๆ ในระหว่าง ค.ศ. 1306 – 1307 เพื่อหวังจะเปลี่ยนจิตใจท่านให้คล้อยตามแนวทางของเขา อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสถานภาพของขบวนการของเขา แต่เขาก็ไม่ล่วงรู้เลยว่าในขณะที่ทุกคนไม่ได้สงสัยต่อความถูกต้องถึงสิ่งที่เขาสอน พระเป็นเจ้าได้ทรงไขแสดงให้ทราบว่าขบวนการนี้ไม่ใช่เชื้อแป้งดีอย่างที่คนเข้าใจ หากแต่เป็นเชื้อแป้งของฟาริสีที่จะบ่อนเซาะพระศาสนจักรที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น


คืนหนึ่งพระเจ้าทรงบันดาลให้ท่านเห็นนิมิตมีเมฆดำทะมึนปรากฏขึ้นเหนือมหาสมุทร ในก้อนเมฆนั้นปรากฏร่างชายผู้หนึ่งถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน รายล้อมด้วยบรรดานักบวชและฆราวาสกลุ่มใหญ่ ซึ่งต่างพากันเชิดชูไม้กางเขนนั้นอย่างศรัทธา และเข้าใจผิดคิดว่าร่างนั้นคือองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เป็นผลให้ฝูงชนที่รายล้อมอยู่นั้นต่างเต็มไปด้วยความวุ่นวายอยู่ภายในใจจากกางเขนนั้น ในนิมิตนั้นท่านจำใบหน้าของบุคคลที่อยู่ใกล้กางเขนและใต้เมฆดำนั้นได้จำนวนมาก และค่อย ๆ มองเห็นว่าชายที่อยู่บนกางเขนนั้น คือ ภารดาเบนติเวนกา ดังนั้นเมื่อเห็นนิมิตเป็นไปดังนี้ ท่านจึงมุ่งจะแก้ไขความหลงผิดนี้ในทันที โดยท่านเริ่มจากการสวดภาวนาและทำพลีกรรมอย่างร้อนรนด้วยความมุ่งหวังจะสามารถใช้สิ่งเหล่านี้ประกอบกับคำพูดของท่านชักนำหัวใจที่หลงมัวเมาของพวกเขา ให้กลับมาหาความสว่างที่แท้ มาหาไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์แท้จริงแต่เพียงหนึ่งเดียว

ดังนั้นในช่วงแรกเมื่อภารดาเบนติเวนกาส่งภารดาที่ร่วมอุดมการณ์มาพบท่าน ก่อนจะตามมาด้วยตัวเขาเอง ท่านจึงพยายามชี้ให้เห็นความผิดพลาดของความเชื่อของเขา และพยายามนำเขากลับมาสู่ความจริงด้วยความอ่อนหวานและความอ่อนโยนดังที่ท่านปฏิบัติกับทุกคนที่มาพบท่านที่ห้องโถงของอาราม โดยไม่ได้ดำเนินการอื่นใด ท่านชี้ให้เห็นว่าแนวคิดที่ภารดาเบนติเวนกาสอน คือ มนุษย์สามารถทำสิ่งที่ตนเองปรารถนาได้ทุกสิ่ง นรกไม่มีอยู่จริง วิญญาณจะหมดความปรารถนาได้ตั้งแต่ในชีวิตนี้ รวมถึงความปรารถนาทุกสิ่งล้วนมาจากพระเจ้าไม่เว้นแต่การเสพกาม นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องท่านโต้ว่า มนุษย์ทำสิ่งที่ตนปรารถนาได้หากสิ่งนั้นเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นมนุษย์ต้องบรรลุถึงการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าอาศัยความรักของพระ ในขณะที่นรกก็ไม่มีสำหรับคนดี


ท่านยังชี้ให้พวกเขาเห็นอีกว่า ไม่มีทางวิญญาณจะสูญสิ้นความปรารถนา แต่เป็นความปรารถนาในสิ่งของสวรรค์ ท่านอธิบายอีกว่าอิสระที่พระเจ้าทรงมอบให้วิญญาณ ไม่ได้มีความหมายว่าวิญญาณจะทำทุกสิ่งได้ดังใจหวังโดยไม่มีผิดถูก ดังนั้นเมื่ออิสระถูกใช้เพื่อทำบาป ความเป็นเสรีของวิญญาณย่อมค่อย ๆ เสื่อมถอยลง เพราะวิญญาณนั้นได้ค่อย ๆ ถูกทำให้กลายเป็นทาสของปีศาจ ดังความตอนหนึ่งที่ท่านตอบโต้ว่า “วิญญาณไม่เคยสูญสิ้นความปรารถนาในชีวิตนี้ วิญญาณที่สัตย์ซื่อไม่อาจหยุดอยู่นิ่งได้ในชีวิตนี้และไม่อาจไม่เจริญขึ้นในพระหรรษทานที่พระได้ทรงประทานหรือทรงเติมไว้ เพื่อว่าวิญญาณจะไม่ปรารถนาสิ่งที่ใหญ่และสูงไปกว่านี้ รวมถึงจะมีไม่กระหายหา ไม่แสวงหา และไม่พบกับสิ่งนั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่วิญญาณจะเจริญขึ้นในด้านคุณธรรมในคุณธรรม หรือหากแม้นไม่เป็นดังนั้นก็จะต่ำต้อยลง เพราะความรักของพระไม่อาจไม่เกิดผล หากวิญญาณได้รับอิสระในการทำบาป นี่ไม่ใช่อิสระแต่เป็นการจำนนและตกเป็นทาสของผีปีศาจ ผ่านการทำบาปมนุษย์กลายเป็นทาสผีปีศาจและออกห่างจากน้ำพระทัยของพระเจ้า เหตุว่าวิญญาณที่ขัดขืนน้ำพระทัยของพระเจ้าก็ได้ทำบาป และโดยการทำบาปวิญญาณจึงตกอยู่ใต้อำนาจจิตชั่วร้าย”

แม้ท่านจะพยายามชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของคำสอนเช่นนี้ แต่จนแล้วจนรอดภารดาเบนติเวนกาก็ยังคงไม่เปลี่ยนความเชื่อของตน จนล่วงถึงคืนหนึ่งพระเยซูเจ้าจึงทรงประจักษ์มาตำหนิท่านที่ไม่ยอมลงมือจัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด จนทำให้วิญญาณจำนวนมากจะต้องหลุดลอยออกไปจากความรอด จึงทำให้ท่านตัดสินใจลงมือทำบางสิ่งที่ทำให้เชื้อแป้งร้ายที่กำลังแทรกซึมอยู่ในพระศาสนจักรได้รับการกำจัดทิ้งโดยผู้ใหญ่ฝ่ายศาสนา ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1307 ท่านได้ลงมือแจ้งความไม่ชอบมาพากลของขบวนการเคลื่อนไหวนี้ไปยังศาลศาสนา แต่ฝั่งศาลศาสนาพิจารณาว่าคำเทศนาของภารดาผู้นี้ไม่มีเรื่องใดที่ขัดหลักศาสนารวมถึงไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าขบวนการเคลื่อนไหวนี้นอกรีต เมื่อฝั่งศาลศาสนาปัดคำร้องของท่านลงเช่นนี้ ท่านที่ไม่ยอมลดละในการต่อสู้กับเชื้อแป้งร้าย จึงตัดสินใจส่งเรื่องนี้ไปหาพระคาร์ดินิลนาโปเลโอเน ออร์ซินี ซึ่งรับตำแหน่งเป็นพระสมณฑูตประจำพื้นที่ในเวลานั้นโดยตรง และมีความสนิทสนมกับท่านเป็นพิเศษ ซึ่งก็ได้ผลดังที่ท่านตั้งใจไว้เพราะเมื่อพระคุณเจ้าออร์ซินีทราบเรื่อง พระคุณเจ้าจึงให้มีการไต่สวนเรื่องดังกล่าว เป็นผลให้ช่วงฤดูใบไม้ผลิเรื่อยมาถึงฤดูร้อนปีเดียวกัน บรรดาสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหววิญญาณแห่งเสรีต่างถูกจับกุมและสอบสวน จนนำไปสู่การตัดสินใจจำคุกภารดาเบนติเวนกาและผู้ติดตามคนสนิทตลอดชีวิต เป็นอันปิดฉากความเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณนี้ไปด้วยฝีมือของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่เกือบทั้งชีวิตอยู่ในรั้วของอารามนักพรตได้อย่างราบคาบ


ในขณะปกครองอารามและชี้นำวิญญาณผู้คนด้วยความร้อนรน เนื่องจากการวัตรปฏิบัติอันเคร่งคัดตลอดชีวิตของท่าน ทำให้เมื่อล่วงถึงต้นศวตวรรษใหม่เป็นต้นมา ท่านจึงเริ่มมีอาการป่วยเป็นลำดับแต่ก็ไม่ได้หนักมาก จากข้อมูลพอทำให้สันนิษฐานได้ว่าในช่วงประมาณสองสามปีก่อน ค.ศ. 1308 อาการป่วยของท่านน่าจะเริ่มหนักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะปรากฏว่าในช่วงเวลาดังกล่าวน้องชายของท่านที่บวชเป็นภารดาฟรังซิสกันได้มารับท่านไปพบแพทย์รักษาโรคที่รักษาไม่หาย แต่ก็ไร้ผลท่านยังมีอาการป่วยกระเซาะกระแซะตามเดิม และเมื่อล่วงถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1308 อาการป่วยของท่านก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นผลให้ท่านล้มหมอนนอนเสื่อไม่สามารถลุกไปไหนมาไหนได้สะดวก บรรดาซิสเตอร์จึงได้พากันตามแพทย์หลายคนเข้ามาตรวจอาการของท่าน แต่จนแล้วจนรอดอาการของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์ลงความเห็นว่าร่างกายของท่านมีภาวะอ่อนแอเฉย ๆ มิได้เป็นอันตรายใดถึงแก่ชีวิต ในช่วงเวลาเช่นนี้ท่านเริ่มเข้าสู่สภาวะฌานอยู่บ่อย ๆ และมักพูดออกมาเป็นครั้งคราว ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งซิสเตอร์และแพทย์ที่มาเฝ้าดูอาการต่างไม่เข้าใจมากนัก บางคราวท่านก็ร้องเพลงออกมาด้วยความยินดี

เนื่องจากสภาพร่างกายของท่านที่ไม่สู้ดี แพทย์จึงได้แนะนำให้บรรดาซิสเตอร์ทำเตียงพับเคลื่อนที่ไว้สำหรับพาท่านไปส่วนต่าง ๆ ของอาราม หลายครั้งเมื่อบรรดาซิสเตอร์ค่อยประคองท่านมานอนที่เตียงนี้ ท่านจะกล่าวเสมอด้วยสีหน้ายินดีว่า “เธอจะได้คืนเตียงนี้ในไม่ช้า เพราะฉันจะอยู่ที่นี่อีกไม่นานแล้ว” มีคราวหนึ่งท่านอยู่ภาวะเข้าฌานและได้อุทานออกมาในทำนองประหลาดใจกับจำนวนผู้คนในสถานที่แห่งหนึ่ง ซิสเตอร์คนหนึ่งที่อยู่ใกล้จึงถามท่านว่า “เกียรา เธอกลัวไหม” ท่านก็ตอบกลับมาว่า “ฉันไม่มีความกลัวเลย เพราะฉันได้แบกไม้กางเขนของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงบนกางเขนไว้ในหัวใจ” ซิสเตอร์โยวันนาจึงได้ใช้มือทำเครื่องหมายกางเขนที่ท่าน ท่านก็พูดขึ้นว่า “ซิสเตอร์ ใยเธอมาทำเครื่องหมายนี้ให้ฉัน ฉันไม่ได้ต้องการกางเขนภายนอก เพราะฉันมีไม้กางเขนของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงบนกางเขนสลักอยู่ในหัวใจของฉันแล้ว” ท่านมักพูดเช่นนี้อยู่อีกหลายโอกาส ซึ่งไม่มีใครเข้าใจความหมายอย่างแท้จริง จนถึงวันที่ท่านมรณกรรมลงอย่างสงบ


ล่วงถึงวันที่ 10 สิงหาคมหรือวันฉลองนักบุญลอเรนซ์ มรณสักขี ท่านที่นอนป่วยขยับตัวไม่ได้มาหลายวันก็มีสีหน้าแจ่มใสเปี่ยมไปด้วยความสุขและเริ่มขยับแขนขาขึ้น ท่านกล่าวออกมาว่า “ช่วยบอกแม่พระให้ต้อนรับวิญญาณของฉันด้วยเถิด” กล่าวเช่นนี้แล้วท่านจึงหันไปหาบรรดาซิสเตอร์ที่เฝ้าพร้อมพูดว่า “ขอให้เราจงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าและร้องเพลงเต เดอุม เลาดามุส (บทขอบพระคุณ) กันเถิด เหตุว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงปรารถนาจะพาฉันกลับไปกับพระองค์ เมืองสวรรค์ก็ดี ชาวสวรรค์ทั้งหลายก็ดีต่างกำลังเตรียมต้อนรับฉัน และฉันก็ปรารถนายิ่งที่จะเชิญคนทั้งโลกมาร่วมในงานวิวาห์นี้” แล้วท่านจึงหันไปอุทานว่า “โอ้ ความสนิทสัมพันธ์ในชีวิตนิรันดร์” คล้ายกับท่านกำลังสนทนากับบรรดานักบุญที่ลงมาจากสวรรค์พร้อมองค์พระเยซูเจ้าในเวลานี้ แล้วท่านจึงหันกลับมาพูดกับซิสเตอร์ที่เฝ้าท่านว่า “ฉันอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว พวกเธอกำลังทำอะไรกันอยู่ ดูนั่นสิ เมืองสวรรค์กำลังเตรียมต้อนรับฉันแล้ว เพราะพระองค์ทรงประสงค์ตัวฉัน ทั้งนักบุญฟรังซิส และบรรดานักบุญก็ต่างพร้อมใจมารับฉันแล้ว เพราะพระเยซูคริสตเจ้าทรงประสงค์ตัวฉัน”

วันเดียวกันนอกจากพระเจ้าจะทรงเผยแสดงให้ท่านเห็นว่า วันเวลาที่ท่านจะได้เข้าสู่พิธีวิวาห์ในสวรรค์นั้นใกล้เข้ามาเต็มที พระองค์ยังทรงแสดงพระยุติธรรมของพระองค์ ซึ่งเราทราบจากคำกล่าวของท่านกับซิสเตอร์ที่เฝ้าท่านว่า “ฉันเห็นพระยุติธรรมของพระในทุกสรรพสิ่ง และเห็นว่าสารพัดสิ่งทรงสร้างนั้นล้วนดี ฉันไม่เห็นสิ่งใดเลวเลยยกเว้นสิ่งเดียวเท่านั้น” ซิสเตอร์ผู้หนึ่งที่ได้ยินท่านกล่าวเช่นนี้จึงถามท่านว่า “เกียรา ฉันเป็นคนเลวหรือไม่” ท่านไม่ตอบอะไรเพียงแต่กล่าวต่อว่า “ฉันเห็นว่าสารพัดสิ่งนั้นล้วนดี และไม่มีสิ่งใดเลวยกเว้นบาป” วันนั้นเนื่องจากการขยับตัวในระหว่างนิมิต ซิสเตอร์โยวันนาจึงได้เตรียมขี้ผึ้งมาทาบรรเทาอาการเจ็บให้ท่าน แต่ท่านก็ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รู้สึกอะไร ก่อนที่ท่านจะได้เห็นปีศาจมาปรากฏข้างเตียงท่าน ท่านจึงได้ออกปากไล่มันไปด้วยความเชื่ออย่างแน่วแน่ ว่าท่านไม่ประสงค์สิ่งใดจากมัน เพราะท่านรู้ดีว่าประสงค์ตัวท่าน ผู้เป็นดั่งตะเกียงส่องแสงสว่าง ซึ่งทำให้แผนการณ์ของมันต้องล้มเหลวมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา มันจึงประสงค์ช่วงชิงวิญญาณท่านไปเป็นของมันแม้ในวาระสุดท้ายของท่านในโลก

มรณกรรมของนักบุญเกียรา

ห้าวันต่อมาในวันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ท่านได้เรียกบรรดาซิสเตอร์ในอารามไม้กางเขนทั้งหมดมาพบเพื่อให้โอวาทและปลอบประโลมพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย ท่านกล่าวเตือนบรรดาซิสเตอร์ตอนหนึ่งว่า “ธิดาและพี่สาวที่รักของฉัน ฉันขอยกถวายวิญญาณของพวกท่านและของฉันด้วยแด่พระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงไม้กางเขน ฉันมอบถวายเหล่านี้ทั้งหมดไว้ในพระหัตถ์ของพระด้วยความห่วงใยที่ฉันมีให้พวกท่านทั้งหลาย จงถ่อมตน นบนอบ อดทน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความรักเมตตา และดำเนินชีวิตในวิถีทางที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะได้รับการสรรเสริญในตัวของท่านทั้งหลาย และความดีที่พระเจ้าทรงได้เสกสรรไว้แก่วิญญาณของพวกท่านจะไม่เลือนหายไป” และเมื่อท่านได้กล่าวให้โอวาทอย่างร้อนรนเป็นเวลาสักพักใหญ่แล้ว ท่านจึงได้รับศีลเจิมผู้ป่วยตามที่ท่านร้องขอ รุ่งขึ้นอาการของท่านยังทรงตัว วันนี้ท่านเฝ้ารำพันออกมาเป็นระยะว่า “ปล่อยฉันไปเถิด” แพทย์ที่มาเยี่ยมท่านผู้หนึ่งจึงถามท่านว่า “ซิสเตอร์เกียรา ซิสเตอร์จะไปไหน” ท่านก็ตอบกลับมาสั้น ๆ ว่า “ไปหาองค์พระผู้เป็นเจ้าของฉัน”

คล้อยถึงเช้าวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม ท่านได้เรียกให้ซิสเตอร์ในอารามทุกคนมาพบท่านอีกครั้ง และขอให้พาท่านขึ้นเตียงพับเคลื่อนที่ไปยังวัดของอาราม เมื่อถึงที่หมายด้วยใบหน้าที่แช่มชื่นยินดี ท่านกล่าวกับซิสเตอร์ทุกคนว่า “บัดนี้ฉันไม่มีอะไรจะพูดกับพวกท่านอีกต่อไปแล้ว พวกท่านอยู่กับพระเป็นเจ้าแล้วและฉันก็จะไปหาพระองค์” แล้วท่านจึงลุกนั่งขึ้นบนเตียง ถอนหายใจออกเบา ๆ ช้อนดวงตาขึ้นไปยังเบื้องบน และก็เป็นเวลานั้นเองที่ท่านในวัย 40 ปี ได้ถวายคืนวิญญาณไปหาพระเป็นเจ้าอย่างสงบ โดยไม่มีสัญญาณของความเจ็บปวดใด ๆ และในเวลาที่ลมหายใจสุดท้ายของท่านหมดลง อัศจรรย์ประการแรกปรากฏขึ้นในทันที เมื่อร่างของท่านยังคงนิ่งอยู่อย่างนั้นตั้งแต่ช่วงแปดโมงเช้าไปจนถึงประมาณบ่ายสองโมง ผิวยังคงระเรื่อชมพู ศีรษะตั้งตรง ดูคล้ายกับบุคคลที่กำลังจมดิ่งในภาวะฌาน แพทย์หลายคนที่ได้ถูกตามมาทดสอบ ต่างฉงนสนเท่ห์เมื่อพบว่าท่านได้ถึงมรณกรรมไปแล้ว

ก้อนหินสามก้อนที่พบในถุงน้ำดีของท่านนักบุญ

พวกซิสเตอร์ในอารามเฝ้าสังเกตุเหตุอัศจรรย์นี้อย่างพิศวง จนเห็นว่าร่างท่านเริ่มซีดลง พวกเธอจึงมั่นใจว่าท่านได้จากพวกเธอไปแล้วจริง ๆ และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของอัศจรรย์อีกประการ เมื่อพวกซิสเตอร์ลงความเห็นว่าจะรักษาสภาพร่างของท่านให้ไม่เน่าเปลื่อย โดยมีผู้ลงมือทำ คือ ซิสเตอร์มีอายุภายในอารามจำนวนเจ็ดคน คือ ซิสเตอร์ฟรังเชสกา ซิสเตอร์มารีนา ซิสเตอร์อิลลูมินาตา ซิสเตอร์เอเลนา ซิสเตอร์กาเตรีนา และซิสเตอร์มาร์เกอริตา ทั้งเจ็ดได้ลงมือใช้มืดเล่มใหญ่ผ่าตามแนวสันหลังของท่าน แต่ปรากฏว่าซิสเตอร์สองคนหลังเมื่อเห็นซิสเตอร์ผู้หนึ่งปฏิบัติเช่นนั้นก็เกิดความกลัวขึ้นมาจึงได้ผละจากปฏิบัติการครั้งนี้ไป คงเหลือแต่ซิสเตอร์อีกห้าคนที่ช่วยกันค่อย ๆ นำเครื่องในของท่านออกมา แล้วจึงนำเสื้อชั้นในมารัดร่างท่านให้เรียบร้อย ในการผ่าตัดครั้งนั้นเมื่อมีการผ่าถุงน้ำดีท่านออก นอกจากจะไม่พบของเหลวภายใน พวกซิสเตอร์ยังพบหินสามก้อนที่มีขนาดเท่า ๆ กันมีสีเข้มที่ภายใน คุณพ่อเบเคงเยอร์ เดอ แซงตาฟฟริคซึ่งได้เดินทางมาตรวจสอบเรื่องนี้ในเวลาต่อมาได้เสนอว่านี่คือ เครื่องหมายถึงพระตรีเอกภาพ

ภายหลังจากการค้นพบหินทั้งสามก้อนในคืนวันเสาร์ ในเย็นวันต่อมาพวกซิสเตอร์ก็ได้พบอัศจรรย์อีกประการที่ภายในร่างของท่าน เมื่อมีการผ่าหัวใจของท่านออกเพื่อเตรียมรักษาสภาพ พวกเธอก็ได้พบกับภาพ ‘ไม้กางเขนและแส้เฆี่ยนตัว’ อยู่ในหัวใจของท่าน ทำให้ทุกคนที่เคยได้ยินท่านกล่าวเสมอว่า “ฉันมีไม้กางเขนของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงบนกางเขนสลักอยู่ในหัวใจของฉันแล้ว” จึงเข้าใจความหมายของคำพูดนี้ในทันที ข่าวการพบเครื่องหมายอัศจรรย์ในหัวใจของท่านนี้ถูกแจ้งแก่น้องชายของท่านและคุณหมอซีโมเน แห่ง สโปเลโต ซึ่งคอยมารักษาท่าน และไม่นานข่าวอัศจรรย์นี้ก็แพร่ไปทั่วเมือง เป็นเหตุให้ในวันจันทร์ ภารดาเปียโตร แห่ง ซาโลโมเนต้องรีบควบม้าไปแจ้งข่าวกับพระสังฆราชแห่งสโปเลโตถึงเรื่องดังกล่าว แต่เนื่องจากในเวลานั้นพระสังฆราชแห่งสโปเลโตไม่อยู่ คุณพ่อเบเคงเยอร์ เดอ แซงตาฟฟริค อุปสังฆราชด้านชีวิตฝ่ายจิต (vicario in spiritualibus) ประจำสังฆมณฑลสโปเลโต พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสจึงเป็นผู้รับเรื่อง และได้เดินทางมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวในวันอังคาร พร้อมความตั้งใจที่จะมายับยั้งเรื่องเหลวไหลดังกล่าว เนื่องจากคุณพ่อทราบเพียงว่า พวกซิสเตอร์อารามไม้กางเขน ได้นำหัวใจของซิสเตอร์เกียราออกมาและบอกกับทุกคนว่าเธอเป็นนักบุญ

ตำแหน่งเครื่องหมายพระมหาทรมานในหัวใจของนักบุญเกียรา

เมื่อมาถึงมอนเตฟัลโกแล้ว คุณพ่อเบเคงเยอร์ได้ลงมือตรวจสอบเรื่องราวชีวิตของท่านเบื้องต้น พร้อมกับได้ทำการตรวจสอบหัวใจของท่านพร้อมกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ คุณพ่อได้บันทึกว่า “อันที่จริงแล้วภายในหัวใจของหญิงพรหมจารีผู้นี้ ด้านหนึ่งปรากฏเส้นประสาทเป็นรูปไม้กางเขน ตะปูสามดอก ฟองน้ำ และไม้อ้อ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปเสา แส้ห้าเส้น และมงกุฏ” และได้คำยืนยันจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญว่าสิ่งที่พบในหัวใจและถุงน้ำดีของท่านไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เหตุอัศจรรย์เบื้องหน้านี้เองเมื่อรวมเข้ากับข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของท่านจึงทำให้คุณพ่อเบเคงเยอร์มีความคิดเปลี่ยนไปในทันที คุณพ่อได้เริ่มลงมือสืบประวัติของท่าน ก่อนจะเดินทางกลับมายังสโปเลโตพร้อมเอกสารปึกหนึ่งด้วยความเชื่อว่าสังฆมณฑลที่ท่านประจำอยู่นี้ได้สูญเสียนักบุญไปแล้วอีกองค์ แต่เมื่อคุณพ่อเดินทางมาถึงสโปเลโต คุณพ่อก็ถูกเพื่อนพระสงฆ์ด้วยกันปรามถึงเรื่องที่คุณพ่อเชื่อ เป็นผลให้คุณพ่อกลัดกลุ้มเป็นอย่างหนัก ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นผลงานของปีศาจที่พยายามจะขัดขวางไม่ให้เรื่องของท่านเป็นที่รู้จัก ด้วยความเกลียดชังของมันที่มีต่อตัวท่าน มันที่เห็นว่าเล่นงานท่านไม่ได้ จึงได้พุ่งเป้ามายังคุณพ่อเบเคงเยอร์ ผู้จะกลายมาเป็นตัวละครสำคัญของเรื่องราวของท่าน

หากผู้อ่านอ่านถึงตรงนี้ก็คงพอจะเดาได้แล้วว่า เจ้าของร่างที่อยู่ในห้วงของความสับสนในตอนต้นของเรื่องราวในวันนี้คือใคร ร่างนั้นไม่ใช่ใครอื่นแต่คือ ร่างของคุณพ่อเบเคงเยอร์ที่กำลังเตรียมจะโยนเอกสารสอบเรื่องราวของท่านทิ้งลงกองไฟเพื่อให้ทุกอย่างจบลง แต่ในเสี้ยวนาทีที่คุณพ่อได้สวดภาวนาจากก้นบึ้งของหัวใจที่สับสนนั้นเอง ร่างหนึ่งก็ได้ปรากฏมาหาคุณพ่อ ร่างนั้นสวมอาภรณ์สีขาว ประด้วยแถบสีม่วงที่แขนเสื้อ มีเสื้อชั้นนอกตัวยาวเป็นทรงคล้ายดัลมาติกามีลายกลมทำจากผ้าไหมเนื้อดี ร่างนั้นไม่ได้เอื้อนเอ่ยสิ่งใด แต่นำความบรรเทาใจเป็นอันมากมาสุดหัวใจของคุณพ่อเบเคงเยอร์ เพราะคุณพ่อทราบในทันทีที่ภายในว่าร่างเบื้องหน้านี้คือ เกียราแห่งมอนเตฟัลโก ทำให้นับตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา คุณพ่อไม่ได้กังขาเลยว่าท่านเป็นนักบุญและตระหนักว่าตนเองมีหน้าที่จะต้องทำหน้าที่รวบรวมเรื่องราวของท่านเพื่อการนี้ ดังนั้นภายหลังได้รับอนุญาตจากพระคุณเจ้เปียโตร เปาโล ตรินชี ใน ค.ศ. 1309 คุณพ่อจึงได้เริ่มลงมือสอบสวนชีวประวัติของท่านโดยละเอียดเพื่อประกอบการสถาปนาท่านเป็นนักบุญ (ภายหลังคุณพ่อได้ตีพิมพ์เอกสารสำคัญ คือ ชีวิตของนักบุญเกียรา แห่ง ไม้กางเขน ใน ค.ศ. 1315) และได้เดินทางไปเมืองอาวิญง ที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประทับในเวลานั้นเพื่อทูลเรื่องนี้กับสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5

กางเขนและแส้ที่พบในหัวใจของนักบุญเกียรา

การดำเนินการสอบพยานถึง ‘ชีวิต ฤทธิ์กุศล อัศจรรย์ และการไขแสดง’ ของท่านดำเนินมาถึง ค.ศ. 1315 เอกสารการสอบสวนเรื่องราวของท่านจึงถูกทรงไปยังเมืองอาวิญง เพื่อให้สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 22 ทรงพิจารณาเรื่องการประกาศท่านเป็นบุญราศี เวลานั้นมีเสียงจากบรรดาผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองฝ่ายศาสนาและคริสตชนในแคว้นอุมเบรียจำนวนมากที่เรียกร้องให้มีการสถาปนาท่านเป็นนักบุญโดยเร็วไว ดังนั้นสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 22 จึงได้ทรงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องราวของท่านประกอบด้วยพระสังฆราชแห่งเปรูจา พระสังฆราชแห่งโอร์วิเอโต และผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองสโปเลโตให้ดำเนินการดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1317 โดยทรงประกาศเพิ่มเติมในวันที่ 22 มีนาคม ปีต่อมาว่าไม่ให้ผู้ดำเนินการทั้งสามเรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนเมื่อต้องเดินทางมาสอบสวนเรื่องราวของท่าน เนื่องจากสถานภาพทางการเงินของอารามไม้กางเขนที่ไม่สู้ดี กระบวนการดังกล่าวแล้วเสร็จลงใน ค.ศ. 1319 โดยมีพยานที่ให้การครั้งนี้ถึง 470 คน และเอกสารชุดนี้ที่ปรากฏอัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่านถึง 300 รายการได้ถูกส่งไปยังอาวิญง เพื่อตรวจสอบอีกครั้งโดยพระคาร์ดินัลสามองค์ที่พระสันตะปาปาทรงแต่งขึ้นเพื่อการนี้ นักประวัติศาสตร์ในชั้นหลังชี้ว่าการดำเนินกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญนี้เป็นการดำเนินกระบวนการอย่างเป็นระบบครั้งแรก ๆ ของพระศาสนจักร

แต่แล้วในขณะที่ความหวังของผู้คนจำนวนมากที่ตั้งตารอการแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญจะเป็นจริง ก็ดูเหมือนว่าปีศาจที่พยายามขัดขวางการทำให้โลกรู้จักท่าน อันจะเป็นทางหนึ่งที่มันจะต้องสูญเสียวิญญาณไปจึงได้เริ่มแผนการณ์ใหม่ของมัน เพราะในขณะที่ถึงขั้นสุดท้ายของการพิจารณาเรื่องท่านนั้น เมื่อเอกสารต่าง ๆ พร้อมสรรพมีการสรุปความเห็นของพระคาร์ดินัลทั้งสามและคัดเลือกอัศจรรย์จำนวน 35 รายการเพื่อประกอบการบันทึกนามท่านเป็นบุญราศีในประมาณ ค.ศ. 1330 กระบวนการทั้งหมดก็ถูกพักไปภายหลังการสิ้นใจของสองในสามพระคาร์ดินัลที่ตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมื่อมองในบริบทโดยรอบ มีประวัติของท่านบางสำนวนชี้ว่าการพับกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญลงไป ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 22 ซึ่งทรงไม่พอพระทัยเท่าไรที่ท่านมีสายสัมพันธ์กับตระกูลโกโลนนา ซึ่งมีอำนาจในพระศาสนจักรอิตาลี และความเป็นชาวอิตาลีของท่าน (ในเวลานั้นพระสันตะปาปาเป็นชาวฝรั่งเศส) ในขณะที่ประวัติบางสำนวนชี้ว่ามาจากการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปายอห์นที่ 22

พระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7

กระบวนการของท่านถูกเพิกเฉยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งในประเด็นที่ว่า ท่านควรจะเป็นนักบุญในสังกัดคณะนักบวชใด แม้ใน ค.ศ. 1497 คณะออกัสตินได้ร้องขอให้มีการพิจารณาแต่งตั้งเรื่องราวของท่านอีกครั้ง ภายหลังจากสิ้นสุดความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในอารามไม้กางเขนระหว่างคณะฟรังซิสกันและคณะออกัสติน ซึ่งนำไปสู่การแยกอารามเป็นสองแห่งเนื่องจากความไม่ชัดเจนของอาศรมแห่งแรกที่โยวันนาพี่สาวของท่านได้ตั้งขึ้น ที่ปะทุขึ้นในศวตรรษที่ 15 แต่สันตะสำนักก็เพิกเฉยต่อคำขอนี้ ซึ่งมูลเหตุก็อาจจะมาจากความขัดแย้งข้างต้น จำต้องรอเวลาอีกกว่าสามร้อยปี ทางสันตะสำนักในสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 พระองค์จึงได้ทรงบันทึกนามท่านในสารบบบุญราศีในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1737 โดยอาศัยการรับรองคารวะกิจ (cultus confirmation) ที่มีต่อท่าน ตามแนวทางของกฤษฎีกาชื่อ ‘กาเอเลสติส เยรูซาเลม ซีเวส’ (Caelestis Hierusalem Cives) ซึ่งมีใจความห้ามแสดงคารวะกิจต่อนักบุญในที่สาธารณะ เว้นเสียคารวะกิจนั้นจะได้รับอนุญาตโดยสมณะกระทรวงว่าด้วยจารีต (Congregation of Rites) และพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นได้รับการแสดงคารวะกิจโดยสาธณชนมาอย่างน้อย 100 ปี ก่อนจะมีการประกาศกฤษฎีกาฉบับนี้

หลังจากนั้นกระบวนการของท่านก็ถูกเพิกเฉยอีกครั้ง จนผ่านมาอีกศตวรรษ ใน ค.ศ. 1846 กระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญจึงได้รับการปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่งจากดำริของนักบุญพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 แต่ไม่วายเนื่องด้วยปัญหาด้านขั้นตอนบางประการ กระบวนการพิจารณาคราวนี้ก็ต้องพับไปอีกรอบ แต่ที่สุดเมื่อวันเวลาล่วงมาได้ 573 ปี หลังมรณกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และเหตุการณ์อัศจรรย์ ณ อารามไม้กางเขน กระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญก็มาถึงบทสรุป เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้ทรงประกาศให้บุญราศีเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก ขึ้นเป็นนักบุญในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1881 เป็นผลให้นามของนักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก เป็นที่รู้จักตราบถึงทุกวันนี้ และในวันนี้นอกจากก้อนหินสามก้อนที่พบในถุงน้ำดี ไม้กางเขน และแส้ที่พบในหัวใจของท่านจะยังคงอยู่เป็นประจักษ์พยานถึงเรื่องราวอันน่ามหัศจรรย์ที่อารามไม้กางเขน เมืองมอนเตฟัลโก ในสวนของอารามแห่งนี้ ต้นเลี่ยนที่มีถิ่นกำเนิดในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งนักเดินทางปริศนา (พระเยซูเจ้า) ได้ทิ้งกิ่งของมันไว้ให้ท่านและท่านก็ได้ลงมือปลูก ก็ยังคงยืนต้นออกดอกผล และทุกวันนี้พวกซิสเตอร์ในอารามก็ยังพากันเก็บผลแห้งของต้นไม้อัศจรรย์นี้ นำมาทำสายประคำสำหรับจำหน่ายให้บรรดานักจาริกเหมือนในอดีต

ต้นเลี่ยนของนักบุญเกียราในปัจจุบัน

การจะกล่าวสรุปชีวิตของท่านนักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก ผู้มีชีวิตอยู่เมื่อเกือบแปดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา อาจสรุปได้ด้วยท่อนหนึ่งของบทเพลงสี่บทซึ่งถูกเรียกว่า ‘เพลงของผู้รับใช้พระยาห์เวห์’ อันเปี่ยมไปด้วยความหวังของประกาศกอิสยาห์ที่ว่า “ทรงทำให้ข้าพเจ้าเป็นเสมือนลูกศรแหลมคม และทรงซ่อนข้าพเจ้าไว้ในแล่งเก็บลูกศรของพระองค์” (อิสยาห์ 49 : 2) ชีวิตของนักบุญเกียรา คือ การเรียกร้องเราคริสตชนทุกคน ในทุกสถานภาพให้ตระหนักว่า เรานี้เป็นเครื่องมือที่พระทรงจัดเตรียม เป็นทางแห่งพระพรเพื่อคนรอบข้าง ดุจเดียวกับที่ทรงใช้กษัตริย์ไซรัสเพื่อปูทางให้ประวัติศาสตร์ความรอดของพระองค์ (เทียบ อิสยาห์ 46 : 11, 48 : 15) ชีวิตสี่สิบปีของท่านบนโลกแสดงให้เราเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า พระเจ้าทรงเตรียมเราแต่ละคนให้เป็นเครื่องมือของพระองค์ด้วยหนทางอันน่าพิศวง ในความหมายที่ว่าหนทางนี้เกินความเข้าใจตามประสามนุษย์จะนึกถึง (ดังนั้นมันไม่จำเป็นต้องเป็นภาพนิมิต เครื่องหมายเหนือธรรมชาติ แต่อาจเป็นประสบการณ์ในชีวิตก็ได้) ตั้งแต่เราอยู่ในครรภ์ของมารดา เพื่อนำมนุษย์คนอื่น ๆ ที่ยังไม่อยู่ในหนทางแห่งความรอดมาสู่ความรอด

และเพราะพระเจ้าทรงให้อิสระกับมนุษย์ พระองค์จึงไม่ทรงบังคับเรา แต่ทรงเชื้อเชิญให้เราตอบสนองต่อเสียงเรียกของพระองค์และวางใจในแผนการของพระเจ้า ด้วยวิธีการเช่นนี้เอง ผ่านชีวิตของท่านนักบุญเกียรา เราจึงได้มองเห็นข้อเท็จจริงอีกประการว่า เมื่อมนุษย์ตอบสนองเสียงเรียกของพระเจ้าในการติดตามและเป็นเครื่องมือของพระองค์ด้วยความวางใจว่าความรักพระเจ้าต่อมนุษย์ไม่เคยไม่ดี มนุษย์สามารถก้าวข้ามขอบเขตที่ตัวเองคิดว่าตัวเองสามารถทำได้ และได้กลายเป็นเครื่องมือของพระองค์ได้อย่างไร นั่นคือประวัติของท่านได้แสดงให้เราเห็นว่าเมื่อท่านตอบสนองเสียงเรียกของพระ ในการสละชีวิตทางโลกเข้าเป็นนักพรต ท่านที่เป็นเพียงผู้หญิงธรรมดา ๆ อาศัยอยู่ในขอบเขตที่จำกัดของอารามสามารถช่วยวิญญาณที่หลงผิดให้กับเข้ามาหาพระองค์ไม่เพียงด้วยคำภาวนา และพลีกรรม แต่ด้วยการพูดคุยและการมีชีวิตเป็นประจักษ์พยานตลอดชีวิตของท่าน และเมื่อท่านสิ้นใจลงชีวิตของท่านได้กลายเป็นแบบฉบับให้คริสตชนในเวลาต่อ ๆ มาได้ศึกษาและไตร่ตรอง ตัวอย่างเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่เรายังพบตัวอย่างเช่นนี้จากบุคคลในคัมพระคัมภีร์อย่างแม่พระและนักบุญยอแซฟเช่นกัน


ดังนั้นในท้ายนี้ขอให้ชีวิตในวันนี้ของท่านนักบุญเกียราหนุนหนำใจเราทุกคน ในการติดตามและเป็นเครื่องมือนำพระพรของพระลงมาสู่โลก ขอให้เมื่อเราตอบสนองเสียงเรียกของพระ ให้เรามีความเชื่อ ความอดทน และความกล้าหาญในการสู้ทนกับการลับคมวิญญาณของพระเจ้าดุจเดียวกับที่ท่านมีตลอดคืนมืดของวิญญาณที่ยาวนานนับสิบปี เพื่อว่าเราจะเป็นลูกศรที่แหลมคงซึ่งพระจะทรงใช้เพื่อนำความรอดไปยังผู้คนเช่นเดียวกับที่ทรงใช้ท่านนักบุญเกียรา ขอให้เราได้กลายเป็น ‘พุน้ำทิพย์ของพระเจ้า’ เช่นเดียวกับท่าน ผ่านการทิ้งตัวลงในความรักของพระเจ้า แล้ววางใจให้พระองค์ทรงกระทำกิจการภายในตัวของเรา ให้พระเจ้าทรงเติมเต็มวิญญาณของเราจนเอ่อล้นไปยังวิญญาณอื่น ๆ ที่กระหายหาพระองค์  และขอให้หัวใจพร้อมวิญญาณของเราเป็นที่มั่นคง ซึ่งพระเยซูเจ้าจะทรงสามารถตั้งไม้กางเขนหรือความรักของพระองค์ไว้เช่นเดียวกับที่ทรงกระทำกับท่าน เพื่อว่าความรักความเมตตาจะหล่อเลี้ยงตัวเรา และลินไหลออกมาไปสู่คนอื่น ๆ อาแมน
รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
18 มีนาคม ค.ศ. 2024

“ข้าแต่ท่านนักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
https://it.m.wikipedia.org/wiki/Berengario_di_Saint-Affrique
https://en.wikipedia.org/wiki/Clare_of_Montefalcohttps://www.acistampa.com/story/6662/montefalco-tanti-giovani-per-santa-chiara-della-croce-6662
https://www.agostinianemontefalco.it/chiara/index.php/2-non-categorizzato/1-vita-di-s-chiara
https://www.treccani.it/enciclopedia/chiara-da-montefalco-santa_%28Dizionario-Biografico%29/?_x_tr_hist=true
https://www.treccani.it/enciclopedia/bentivenga-da-gubbio_%28Dizionario-Biografico%29/?_x_tr_hist=true
http://www.cassiciaco.it/navigazione/monachesimo/agiografia/santi/chiara.html
https://www.interris.it/la-voce-degli-ultimi/passione-nozze-mistiche-santa-chiara-della-croce/
http://www.keytoumbria.com/Montefalco/St_Clare_of_Montefalco.html

'เกียรา' พุน้ำทิพย์ของพระเจ้า ตอนแรก

นักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก
St. Chiara da Montefalco
ฉลองในวันที่: 17 สิงหาคม
องค์อุปถัมภ์: เมืองมอนเตฟัลโก

“ทรงทำให้ข้าพเจ้าเป็นเสมือนลูกศรแหลมคม และทรงซ่อนข้าพเจ้าไว้ในแล่งเก็บลูกศรของพระองค์”
(อิสยาห์ 49 : 2)

ยามดึกสงัดในเมืองสโปเลโต จังหวัดเปรูจา แคว้นอุมเบรีย ภาคกลางของประเทศอิตาลี ชายผู้หนึ่งกำลังจมอยู่ในห้วงของความสับสนถึงสิ่งที่เขาได้ประสบมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านที่เมืองใกล้เคียง คำถามมากมายประเดประดังเขามาภายในวิญญาณของเขา จนทำให้ใจของเขารู้สึกหน่วงหนักไปหมด ‘นี่เป็นกิจการของผีปีศาจหรือพระเจ้ากันแน่’ คำถามเช่นนี้ทำให้ใจของเขาหนักอึ้งไปหมด เขายืนทอดสายตามองไปยังเอกสารปึกหนึ่งที่เขาได้ร่างขึ้นจากเรื่องราวที่เขาได้ยินและเห็นมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่สุดในเสี้ยวนาทีก่อนเขาจะตัดสินใจโยนเอกสารปึกนั้นใส่กองไฟเพื่อจบเรื่องราวทุกอย่างลง เขาก็ได้ยกจิตใจที่ปวดร้าวอย่างถึงที่สุดจากการต้องตัดสินใจบางอย่างกับเอกสารเบื้องหน้าขึ้นหาพระเจ้า พระผู้ทรงบันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไป ทูลพระองค์ว่า “ข้าแต่องค์ผู้ทรงเป็นเจ้าของลูก ลูกวิงวอนพระองค์โปรดแสดงน้ำพระทัยของพระองค์ให้ลูกแจ้งใจด้วยเถิด เพื่อว่าลูกจะได้รู้ว่าต้องทำอย่างไรกับเรื่องของเกียรา ผู้ที่ตัวลูกเองก็ไม่เคยพบและรู้จักว่านางนั้นเป็นใคร ลูกสรรพพร้อมจะไม่แยแสทั้งนักบุญเปโตรและเปาโล หรือนักบุญองค์อื่น ๆ แม้ท่านเหล่านั้นจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้บรรลุถึงชีวิตนิรันดร์ เว้นเสียแต่ลูกจะได้ทราบว่านั่นคือการได้ทำตามสิ่งที่พระองค์ทรงพอพระทัย”

ใครคือ ‘เกียรา’ ที่เป็นสาเหตุของความกังวลใจของชายผู้หนึ่งในเมืองสโปเลโตในค่ำคืนนี้ การจะไขคำตอบดังกล่าวก็จำต้องย้อนไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไปยังเมืองอีกแห่งในจังหวัดเปรูจา ซึ่งตั้งอยู่ขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อยจากเมืองสโปเลโตนามว่า ‘มอนเตฟัลโก’ ณ เมืองแห่งนี้มีเศรษฐีสองสามีภรรยาคู่หนึ่งนามว่า ‘ดามีอาโน’ และ ‘ยาโกปา’ ทั้งสองมีบุตรธิดาน่ารักทั้งสิ้นสี่คนเป็นหญิงสามคนและชายหนึ่งคน ‘เกียรา’ เจ้าของเรื่องราวของพวกเราในวันนี้เป็นธิดาคนที่สองของครอบครัวนี้ เราไม่ทราบวันเดือนปีเกิดที่แน่ชัดของท่าน เพียงแต่ทราบว่าท่านเกิดประมาณ ค.ศ. 1268 ที่เมืองแห่งนี้ ท่านมีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ โยวันนา และมีน้องสาวและน้องชายอย่างละหนึ่งคน คือ เตโอโดรูชชีอา (เสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก) และฟรังเชสโก (เกิดหลังจากท่านประมาณสี่ปี)


จากประวัติของท่านที่เข้าถึงได้ เราไม่พบรายละเอียดมากเท่าใดเกี่ยวกับชีวิตภายในครอบครัวนี้ แต่ก็คงคะเนได้ว่าทั้งดามีอาโนและยาโกปาก็คงจะเป็นสองสามีใจศรัทธาคู่หนึ่ง เพราะปรากฏว่าในเวลาต่อมาเมื่อธิดาของทั้งสองปรารถนาจะใช้ชีวิตเป็นนักพรต ทั้งสองก็มิได้ขัดข้องรวมถึงดามีอาโนเองก็เป็นคนสร้างอาศรมให้ธิดาของเขาได้ใช้พำนักเพื่อการนี้ด้วย ไม่เพียงเท่านั้นบุตรชายเพียงคนเดียวของบ้านนี้ในเวลาต่อมาก็ได้ถวายตัวเป็นนักบวชคณะฟรังซิสกัน ดังนั้นจึงอาจพอคะเนได้ว่า ชีวิตในวัยเยาว์ของหนูน้อยเกียราก็น่าจะได้รับการเลี้ยงดูอยู่ท่ามกลางความศรัทธาในคริสต์ศาสนาและความสะดวกสบายครบครันไม่น้อย และก็ดูเหมือนว่าตั้งแต่วัยยังไม่ประสาโลกนี้เอง พระเจ้าก็ทรงแสดงเครื่องหมายพิเศษกับท่าน ไม่ใช่เพื่อทำให้ท่านพิเศษกว่าคนอื่น แต่เพื่อเตรียมท่านให้เป็น ‘เครื่องมือ’ อีกชิ้นที่จะนำพระพรของพระองค์ไปยังโลก ไม่เพียงแต่ในเวลาที่ท่านมีชีวิต แต่ยังรวมถึงเวลาในยุคต่อ ๆ มาทั้งในฐานะ ‘ต้นแบบ’ ‘ผู้ช่วยเหลือ’ และ ‘แรงบันดาลใจ’

เล่ากันว่าในช่วงวัยไร้เดียงสานี้เองระหว่างหนูน้อยเกียราสวดภาวนา มีหลายต่อหลายครั้งพระมารดาพระเจ้าพร้อมพระกุมารเยซู ผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับหนูน้อยและทรงอยู่ใต้เสื้อคลุมของพระมารดาที่รักของพระองค์ได้เสด็จมาหาหนูน้อย ในนิมิตอันน่าพิศวงนี้องค์พระกุมารได้แสดงความเสน่ห์หาในตัวหนูน้อย พระองค์ทรงขยับพระวรกายเข้ามาใกล้หนูน้อยโดยมีพระมารดาทรงคอยช่วยเหลือ แล้วทรงจับมือของหนูน้อยขึ้นมา พลันในเวลานั้นความบรรเทาใจพิเศษที่ไม่เหมือนที่ใดก็แล่นตรงเข้าสู่หัวใจดวงน้อย ๆ ของเจ้าสาวผู้ได้รับเลือกสรร ฟากท่านเองที่เห็นพระองค์ทรงแสดงความสนิทเสน่ห์หาเช่นนี้ด้วยความคิดประสาเด็ก ๆ ก็ปรารถนาจะพาพระกุมารน้อยมาเล่นสนุกด้วยกัน แต่ทันใดพระกุมารก็รีบกลับไปสู่อ้อมอกพระมารดาที่รักแล้วจากไป เหลือทิ้งไว้แต่เพียงความปรารถนาอันลุกร้อนภายในใจอย่างลับ ๆ ในตัวเจ้าสาวตัวน้อยของพระองค์ ดั่งความปรารถนาของหญิงคู่รักต่อชายอันเป็นที่รักในบทเพลงของซาโลมอน

วัดนักบุญอิลลูมินาตา เมืองมอนเตฟัลโกในปัจจุบัน

ความปรารถนาเช่นนี้ทำให้หนูน้อยเริ่มแสวงหาหนทางที่จะติดตามพระคริสตเจ้าที่เหมาะสมกับตัวเอง ดั่งหญิงคู่รักในบทเพลงซาโลมอนที่กล่าวกับชายคู่รักว่า “หวานใจของดิฉันเอ๋ย จงบอกดิฉันซิว่า เธอต้อนฝูงสัตว์ไปเลี้ยงอยู่ที่ไหน เวลาเที่ยงวันเธอให้ฝูงสัตว์นอนพักที่ใด ดิฉันจะได้ไม่ต้องเป็นเหมือนหญิงเร่ร่อน เที่ยวตามหาฝูงสัตว์ของบรรดาเพื่อนของเธอ” (เพลงซาโลมอน 1 : 7) และดูเหมือนว่าท่านจะเข้าใจว่า ‘ความเงียบสงัด’ จะทำให้ท่านได้พบว่าพระองค์ทรงต้อนฝูงแกะของพระองค์ไปอยู่ใด ดังนั้นท่านในวัย 4 ปี จึงเริ่มชอบหลีกเร้นจากผู้คนเข้าไปขังตัวเองไว้ในสถานที่อันสงัดพ้นจากสายตาผู้คนในบ้าน เพื่อสวดภาวนาใช้เวลาอยู่กับพระเจ้าเพียงลำพังอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อพบว่าภายในบ้านนั้นท่านไม่อาจปฏิบัติได้เช่นนั้นเป็นเวลานานมากพอ ท่านจึงได้ออกแสวงหาที่สงัดแห่งใหม่ จนมาได้สถานที่ที่เรียกว่า ‘กัสเตลลาเร’ วัดที่อุทิศถวายให้นักบุญยอห์น ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านของท่านมากนัก ที่นั่นท่านพบความสงัดที่ท่านจะสามารถใช้เวลาอันเนิ่นนานไปในคำภาวนา โดยไม่มีใครมารบกวนและไม่มีใครนึกถึงสถานที่นี้ แม้แต่บิดามารดาของท่านเองก็ตาม

ความเข้าใจเช่นนี้หากไม่เกิดขึ้นโดยหนทางอันน่าฉงนงงงวยด้วยมหิทธิฤทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงมีนามว่า องค์ปัญญานิรันดร ชะลอยก็คงเกิดขึ้นมาผ่านตัวอย่างของ ‘โยวันนา’ พี่สาวของท่านผู้มีอายุห่างจากท่านถึงสิบหกปี เหตุว่าในเวลาไล่เลี่ยกันคือใน ค.ศ. 1271 โยวันนาที่มีอายุได้ยี่สิบปีบริบูรณ์ก็ได้ขอบิดามารดาใช้ชีวิตเป็นนักพรตถือศีลบนสามประการ คือ พรหมจรรย์ นบนอบ และความยากจน ถือความเงียบ และถืออดอาหารตามที่พระศาสนจักรกำหนด ร่วมกับเพื่อนของตนชื่อ อันเดรโอลา ดามีอาโนผู้เป็นบิดาจึงได้สร้างอาศรมให้ทั้งสองได้เจริญชีวิตตามประสงค์ พร้อมวัดหลังหนึ่งที่อุทิศถวายให้นักบุญอิลลูมินาตา (พรหมจารีย์และมรณสักขีในศตวรรษที่ 4 ผู้ได้หนีการเบียดเบียนคริสตชนจากเมืองราเวนนาเข้ามาใช้ชีวิตเป็นนักพรตหญิงในแคว้นอุมเบรียก่อนจะถูกประหารชีวิตโดยเจ้าเมืองมัสสา มาร์ตานา และเป็นที่เคารพในแคว้นอุมเบรียมาอย่างยาวนาน) ที่บริเวณชานเมืองมอนเตฟัลโก โดยตามหลักฐานร่วมสมัยไม่ปรากฏว่าอาศรมแห่งนี้ถือระเบียบตามคณะนักบวชไหน ประวัติของท่านบางสำนวนได้ระบุว่าโยวันนาได้ถือปฏิบัติตามแนวทางของนักบุญฟรังซิส แห่ง อัสซีซีในรูปแบบของสมาชิกขั้นที่ 3 ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการจากสันตะสำนัก รวมถึงเป็นคณะนักบวชที่มีอิทธิพลอย่างมากในแคว้นอุมเบรีย ดังนั้นที่นี่จึงมีสถานภาพเป็น ‘อารามนักพรตอย่างไม่เป็นทางการ’ ซึ่งเป็นรู้จักกันเพียงว่า ‘อาศรมนักบุญเลโอนาร์โด’ (ความไม่ชัดเจนนี้เองทำให้ในอีกสามศตวรรษต่อมานำไปสู่การแยกอารามเป็นอารามคณะออกัสตินและคณะกลาริส)

บุญราศีโยวันนาและนักบุญเกียราในวัยเยาว์

แม้ไม่อาจระบุได้อย่างแน่ชัดว่าอาศรมที่โยวันนาได้เริ่มต้นขึ้นนั้นดำเนินไปตามวิถีทางของคณะนักบวชไหน การใช้ชีวิตอย่างนักพรตผู้ได้สละชีวิตฝ่ายโลกและมอบชีวิตทั้งหมดเพื่อการรำพึงภาวนาเป็น ‘เกลือดองแผ่นดิน’ ภายในพื้นที่ที่จำกัดในท่ามกลางกระแสธารของโลกที่เคลื่อนไป ซึ่งพี่สาวของท่านได้เลือกพร้อมเพื่อนนั้นก็ทำให้อนาคตของท่านแจ่มชัดขึ้น ในเวลานั้นด้วยอายุไม่ถึงห้าขวบท่านมีโอกาสได้มาลองใช้ชีวิตภายในอาศรมแห่งนี้เป็นบางครั้งบางคราว ประสบการณ์สั้น ๆ เหล่านี้ได้ทำให้ท่านพบหนทางที่จะตามหาหวานใจที่รักของท่านได้แจ่มชัดขึ้น ท่านตั้งใจฟังวิถีทางของพวกเธอด้วยความปรารถนา และนำมาปฏิบัติอย่างร้อนรนด้วยความปรารถนาที่จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่แบบพวกเธอในสักวันหนึ่ง และพระเจ้าก็ทรงจัดเตรียมหนทางนั้นไว้ให้เจ้าสาวของพระองค์ เพราะเพียงไม่นานอาศรมของพี่สาวท่านก็ได้รับการรับรองจากสังฆมณฑลใน ค.ศ. 1274 ซึ่งทำให้สามารถเปิดรับสตรีคนอื่น ๆ ที่สมัครใจมาใช้ชีวิตเช่นเดียวกันได้ เป็นผลให้ท่านในวัย 6 ปี จึงได้ขออนุญาตบิดามารดาสมัครเข้าไปใช้ชีวิตในอาศรมร่วมกับพี่สาว ฝั่งบิดามารดาของท่านก็มิได้ขัดข้อง ทั้งสองยินดียกถวายธิดาคนสุดท้ายของพวกเขาให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า ดังนั้นท่านจึงได้เข้ามาเป็นนักพรตในอาศรมนักบุญเลโอนาร์โดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อได้เข้ามาเจริญชีวิตภายในอาศรม ท่านค่อย ๆ เรียนรู้ชีวิตนักพรตจากพี่สาวของท่าน ผู้ที่เราอาจกล่าวได้เธอเป็นครูชีวิตฝ่ายจิตคนสำคัญสำหรับท่าน ท่านร้อนรนที่จะเลียนแบบวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ภายในอาศรมของเธอ ทั้งในการถือความเงียบในช่วงเวลาที่กำหนด การควบคุมตนเอง การสวดภาวนาอย่างร้อนรน และการประกอบกิจการดีต่าง ๆ มีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่งท่านเผลอละเมิดช่วงเวลาถือเงียบ ท่านก็ได้ไปยืนสวดบทข้าแต่พระบิดาหนึ่งร้อยจบในอ่างน้ำเย็นพร้อมชูมือขึ้น อีกคราวเมื่อมารดาและน้องชายของท่านมาถามเรื่องอาการป่วยของโยวันนา ในเวลาถือเงียบท่านก็ไม่ยอมปริปากพูดอะไรกับทั้งสอง นอกจากนี้ท่านยังนบนอบต่อพี่สาวของท่านที่ตำแหน่งเป็นคุณแม่อธิการของอารามไม่เป็นทางการหลังนี้โดยสมบูรณ์ ท่านถือปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของเธอดุจเดียวกับคำสั่งนี้มาจากพระเจ้าโดยตรงอย่างไม่มีข้อกังขา ฝั่งโยวันนาเองก็ดูแลท่านอย่างใกล้ชิด เธอมักให้ท่านอยู่ใกล้ ๆ เสมอเวลาสวดภาวนา รวมถึงคอยสอดส่องวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ของน้องสาวคนนี้ให้เหมาะสมกับวัยและสุขภาพด้วยความห่วงใย เพราะดูเหมือนว่าน้องคนนี้จะมีวัตรปฏิบัติบางประการที่น่าเป็นห่วง

ภาพจิตรกรรมนักบุญเกียรา บุญราศีโยวันนา นักบุญแคเทอรีนแห่งอเล็กซานเดรีย และนักบุญอิลลูมินาตา
ภายในวัดนักบุญอิลลูมินาตา เมืองมอนเตฟัลโก

ดูเหมือนว่านอกจากเรียนรู้ชีวิตนักพรต ภายในอาศรมนักบุญเลโอนาร์โด เกียราน้อยที่แต่ก่อนปรารถนาเพียงเล่นสนุกกับองค์พระเยซูเจ้า ผู้เสด็จมาเยี่ยมเยือนด้วยวัยไล่เลี่ยกันพร้อมพระมารดา บัดนี้กลับเอ่อร้นไปด้วยปรารถนาจะร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์พระเยซูเจ้า เป็นเวลานี้ที่ความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษยชาติ โดยเฉพาะในยามทรงน้อมพระองค์รับทุกขเวทนานานาประการจนถึงแก่ความมรณาบนไม้กางเขน ไม่ต่างจากนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ได้กระตุ้นให้ท่านปรารถนาจะใช้ชีวิตทุก ๆ นาทีบนโลกเพื่อร่วมส่วนกับพระองค์ เราอาจกล่าวได้ว่า ท่านได้ค้นพบเช่นเดียวกับที่หญิงคู่รักในบทเพลงของซาโลมอนค้นพบในคู่รักของเธอว่า “ต้นแอ๊ปเปิ้ลอยู่ในหมู่ไม้ป่าฉันใด ที่รักของดิฉันก็อยู่ในหมู่ชายหนุ่มฉันนั้น ดิฉันปรารถนาจะนั่งใต้ร่มเงาของเขา ผลของเขาช่างมีรสหวานสำหรับดิฉัน” (เพลงซาโลมอน 2 : 3) ดังนั้นนอกเหนือจากการสวดภาวนา ท่านยังทำพลีกรรมอย่างร้อนรนและหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นการอดอาหาร การเฆี่ยนตีตัวเอง และการสวมเข็มขัดตะขอ

การทำพลีกรรมที่ร้อนรนของท่านสร้างความเป็นห่วงแก่โยวันนาเป็นอันมาก เพราะการที่ท่านทำพลีกรรมอย่างเคร่งคัดมากพร้อม ๆ กับการถือระเบียบของอาศรมอย่างเถรตรงส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของท่าน เธอจึงพยายามปรามให้ท่านทำพลีกรรมแต่พอเหมาะกับวัยของท่าน โดยใช้อำนาจในฐานะ ‘คุณแม่อธิการ’ เข้ามาช่วย ซึ่งทำให้ท่านลำบากใจอยู่ไม่น้อย เพราะใจหนึ่งท่านก็ปรารถนาจะใช้ชีวิตในโลกนี้พลีกรรมร่วมกับองค์พระเยซูเจ้าด้วยความรัก แต่อีกใจหนึ่งท่านก็ปรารถนาจะนบนอบตามคำสั่งของคุณแม่อธิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในศีลบนสามประการของผู้ถวายตน ความคิดเช่นนี้ทำให้ครั้งหนึ่งท่านถึงกับเป็นร้องไห้ออกมาด้วยความเป็นทุกข์ โดยเรื่องมีอยู่ว่าวันนี้ในระหว่างมื้ออาหารที่อาศรม โยวันนาที่เห็นท่านที่ยังเป็นเด็กน้อยไม่ยอมรับเนื้อสัตว์ เธอจึงได้ตัดสินใจบังคับให้ท่านรับเนื้อชิ้นเล็ก ๆ ที่เธอมอบให้ไปทาน แต่ท่านก็ปฏิเสธและได้โยนเนื้อนั้นทิ้งไป จนในเวลาต่อมาเมื่อท่านรำพึงได้ว่าการปฏิบัติเช่นนี้ ท่านได้ไม่นบนอบต่อคำสั่ง ท่านจึงเป็นทุกข์มากจนเริ่มร้องไห้ออกมาอย่างขมขื่น


ภายใต้ความคิดที่แบ่งออกเป็นสองฟาก ท่านเป็นทุกข์มากที่ไม่อาจจะทำพลีกรรมได้อย่างใจหวัง เพราะไม่เพียงแต่พี่สาวของท่านที่รู้ทันท่าน พวกบรรดาเพื่อน ๆ ในอาศรมของท่านก็ต่างรู้ทันท่านเช่นกัน ดังนั้นท่านจึงใคร่ครวญถึงทางออกของปัญหานี้ และที่สุดท่านก็พบท่านออกที่ดีที่สุดนั่นคือ ท่านคอยเปลี่ยนวิธีการทรมานตนเองอยู่บ่อย ๆ ไม่ให้มีแบบแผนเดิมให้คนอื่นจับได้ รวมถึงเสาะแสวงหาช่วงเวลาที่จะทำให้คนไม่รู้ว่าท่านกำลังทรมานตน นอกจากนี้ท่านยังแอบเอาเสื้อคลุมของเพื่อนในอารามคนหนึ่งมาสวมระหว่างทรมานตน เพื่อว่าเมื่อพี่สาวของท่านมาพบท่านในระหว่างทรมานตน จะได้จำเสียงเฆี่ยนตัวและเสื้อคลุมไม่ได้ 

และถึงแม้โยวันนาจะดูแลท่านเป็นพิเศษเช่นนี้ เธอก็ไม่ได้ลำเอียงที่จะเข้มงวดกับท่านในมิติความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่อธิการและผู้อยู่ในอารามเช่นที่เธอปฏิบัติกับคนอื่น ๆ เพราะในขณะที่เธอคอยสอดส่องว่าท่านปฏิบัติสิ่งใดจนเกิดตัวไป เธอก็คอยสอดส่องว่าท่านมีข้อบกพร่องตรงไหนที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างกวดขัน เช่นคราวหนึ่งท่านเผลอลืมเสื้อคลุมของตัวเองไว้ เธอก็ทำโทษท่านด้วยการให้งดรับศีลมหาสนิทอยู่ระยะหนึ่ง นอกจากนี้เธอยังแสดงให้เห็นว่า เธอไม่ได้ให้ความสำคัญกับท่านเกินกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ ในอาศรม จนดูเหมือนให้ท้ายท่านมากกว่าคนอื่น ดังตัวอย่างที่เห็นได้ คือ เมื่อเธอได้ยินเสียงท่านต่อสู้กับปีศาจที่มารังควาน หรือเผชิญกับการทดลองอันหนักหน่วง เธอก็เลือกจะนิ่งเงียบและเพียงมอบหมายให้ท่านสวดให้ผู้อื่นเพิ่ม

ภาพจิตรกรรมนักบุญเกียราและบุญราศีโยวันนาจับชายผ้าคลุมแม่พระในรูปแบบพระมารดาแห่งความเมตตา
เหนือประตูวัดนักบุญอิลลูมินาตา เมืองมอนเตฟัลโก

วันเวลาล่วงผ่านไปจากเด็กหญิงตัวน้อยที่เดินเข้ามาอารามด้วยความปรารถนาจะติดตามเจ้าบ่าวที่รักในสวรรค์ ท่านก็ค่อย ๆ เติบใหญ่เป็นหญิงสาวผู้มีหน้าตาสะสวย เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา มีจิตเป็นสมาธิ ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง มีจิตใจแน่วแน่ว่าตนยินดีจะรับทุกข์เวทนาจากนรกตลอดชีวิตบนโลกเสียดีกว่าสูญเสียพรหมจรรย์ที่รักษาไป ยินดีจะทำทุกสิ่งที่ได้รับมอบหมายด้วยความถ่อมใจ นบนอบต่อคำสั่งโดยไม่มีข้อกังขาหรือการบ่นอุบอิบ และปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความเอาใจใส่และความตั้งจิตตั้งใจ ในเวลาเดียวกันก็เห็นอกเห็นใจคนรอบข้าง คอยสอดส่องสายตามองหาผู้คนรอบข้างที่ต้องการความช่วยเหลือ ลงมือช่วยเหลือพวกเขาให้หน้าที่นั้นสำเร็จไป โดยที่ไม่ละเลยที่จะทำหน้าที่ของตนเองให้ลุล่วงไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องพัก ห้องครัว และห้องพยาบาล และแม้ในเวลาที่ล้มเจ็บลงและไม่มีกำลังพอจะทำงานหนักได้ ท่านก็ยังแสวงหาการช่วยเหลือเพื่อน ๆ นักพรตผ่านคำพูดแนะนำและคำพูดที่น่ารัก ครั้งหนึ่งพี่สาวของท่านได้สั่งให้เพื่อนร่วมอาศรมชื่อ อันดริโอลา ต้องทำพลีกรรมชดเชยข้อบกพร่องและบาปของเธอเพิ่ม เพราะเธอเป็นคนมีอารมณ์ร้อน และเพื่อไม่ให้เธอต้องบ่นอุบอิบรวมถึงมีแรงใจที่จะปฏิบัติด้วยความตั้งใจ โยวันนาจึงได้ให้ท่านที่ไม่ได้ทำผิดอะไรปฏิบัติร่วมกับเธอไปด้วย ท่านที่ทราบก็นบนอบและได้ทำกิจพลีกรรมพิเศษเพื่อการนี้ไปพร้อมกับอันดริโอลา

พร้อม ๆ กับการเติบโตของเกียรา อาศรมนักบุญเลโอนาร์โดก็เจริญขึ้นเป็นลำดับ ใน ค.ศ. 1278 เพื่อนของท่านชื่อ มารีนา ก็ได้สมัครเข้ามาสมทบในอาศรม ก่อนจะตามมาด้วยเพื่อน ๆ คนอื่น คือ ตอมมาซา เปาลา อิลลูมินาตา และอักเนส ส่งผลให้อาศรมเริ่มมีความคับแคบ โยวันนาจึงได้ปรึกษากับเพื่อนของเธอในเรื่องนี้ ที่สุดเพื่อรองรับจำนวนกระแสเรียกที่จะเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ โยวันนาจึงได้ตัดสินใจสร้างอาศรมแห่งใหม่ขึ้นบนเนินเขาซาน กาเตรีนา เดล บอตตัชโช และเช่นเดียวกับการก่อสร้างอาศรมหลังแรก ดามีอาโนผู้เป็นบิดาได้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนี้อย่างแข็งขัน แต่ขณะที่อาศรมหลังใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีแบบแผนแบบอารามนักพรตยังไม่แล้วเสร็จดี บิดาของท่านก็มาด่วนเสียชีวิตลงไปเสียก่อน ทำให้อาศรมที่เคยได้รับการสนับสนุนทุนจากบิดาของท่านประสบปัญหาในการดำเนินต่อไปของอาศรม แต่สมาชิกทุกคนก็ต่างพร้อมใจที่จะอยู่ร่วมกันต่อไปในจิตตารมณ์ของการสวดภาวนาและการรับบริจาค ทำให้อาศรมยังสามารถประคองตัวเองต่อไปได้

ภาพจิตกรรมนักบุญเอลิซาเบธ แห่ง ฮังการี และนักบุญเกียรา
ในอารามคณะฟรังซิสกัน เมืองมอนเตฟัลโก แสดงถึงความเชื่อ
ว่าอาศรมนักบุญเลโอนาร์โดเป็นอารามคณะฟรังซิสกันขั้น 3

วิกฤติต่อมาที่อาศรมเผชิญ คือ ความกันดารอาหารครั้งใหญ่ในพื้นที่ ใน ค.ศ. 1283 ในภาวะเช่นนี้สมาชิกในอาศรมจำต้องออกมารับบริจาคอาหารจากผู้คนภายนอก ท่านในวัย 15 ปี ก็ได้มีโอกาสออกมารับบริจาคพร้อมกับเพื่อนในอาศรมถึงแปดครั้ง ก่อนที่ในเวลาต่อมาพี่สาวของท่านจะสั่งไม่ให้ท่านออกไปทำเช่นนั้นอีก ซึ่งท่านก็นบนอบ แม้ท่านจะชอบงานนี้เพราะเป็นโอกาสที่ท่านได้แสดงความถ่อมใจ ดังนั้นท่านจึงไม่ได้ออกไปจากอาศรมอีกเลยตราบสิ้นชีวิต (เข้าใจว่าเหตุที่โยวันนามีคำสั่งเช่นนี้ อาจเป็นเพราะท่านมักอยู่ในภาวะฌานบ่อย ๆ รวมถึงอาจมีที่มาจากหน้าตาที่สะสวยของท่านด้วย) นอกจากวิกฤติการขาดผู้สนับสนุนหลักและวิกฤติเรื่องอาหาร ดูเหมือนว่าในทศวรรษ 1280 เดียวกัน อาศรมยังต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกับอาศรม นั่นคือการตั้งเป็นอารามนักพรตหญิงอย่างเป็นทางการ ภายใต้การสังกัดคณะนักบวชใดนักบวชหนึ่งในพระศาสนจักรอย่างถูกต้อง

ปัญหาใหญ่ที่เกริ่นนำมาข้างต้นนั้น คือ การบีบคั้นของอารามนักบวชเก่าแก่ภายในเมืองทั้งสามแห่ง คือ อารามคณะฟรังซิสกัน อารามคณะออกัสติน และอารามคณะเบเนดิกติน ที่พยายามให้อาศรมแห่งนี้ล้มเลิกไปเสียเพื่อลดจำนวนอารามที่อาศัยอยู่ด้วยการบริจาคทานภายในเมืองมอนเตฟัลโกลง ภายใต้ภาวะเช่นนี้โยวันนาในฐานะผู้นำกลุ่มสตรีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่สุดเพื่อให้กลุ่มสตรียังคงสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างถูกต้องและมั่นคง ใน ค.ศ. 1290 เธอจึงได้ขอให้พระคุณเจ้าเยราร์โด ปีโกลอตตี แห่งคณะนักบุญโดมินิก พระสังฆราชแห่งสโปเลโตซึ่งดูแลมอนเตฟัลโกในเวลานั้นช่วยอนุญาตให้อาศรมแห่งนี้กลายเป็นอารามนักพรตที่ถูกต้องตามกฏหมายของพระศาสนจักร เป็นผลให้ในวันที่ 10 มิถุนายน ปีเดียวกัน พระคุณเจ้าปีโกลอตตีจึงมีจดหมายประกาศให้อาศรมนักบุญเลโอนาร์โดถือพระวินัยและสังกัดกับคณะออกัสติน ทำให้แต่นั้นชุมนุมของสตรีบนเนินเขาซาน กาเตรีนา เดล บอตตัชโช จึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคณะออกัสตินในนาม ‘อารามแห่งไม้กางเขนและนักบุญกาเตรีนา แห่ง อเล็กซานเดรีย’ และมีคุณแม่อธิการิณีคนแรกอย่างเป็นทางการ คือ โยวันนา ผู้นำอาศรมตั้งแต่แรกตั้ง

อารามไม้กางเขนในปัจจุบัน

ในเวลาที่ทุกอย่างดูจะเข้าที่เข้าทางนี้เอง วันหนึ่งพระเยซูเจ้าก็ได้ประจักษ์มาหาท่านในรูปลักษณ์ของชายหนุ่มรูปงามสวมมงกุฏดอกไม้ พระองค์ทรงถอดมงกุฏนั้นจากพระเศียรของพระองค์และสวมที่ศีรษะของท่าน เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงรับท่านในวัย 23 ปี เป็นคู่ชีวิตของพระองค์ นิมิตนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนอกเสียจากการรับรองความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณอันใสซื่อของท่านกับพระเจ้า แต่แท้จริงนิมิตนี้เป็นการเตรียมท่านให้พร้อมขึ้นไปอีกขั้นสำหรับ ‘หน้าที่’ ใหม่ ที่ท่านไม่คิดไม่ฝัน ว่าตนเองในฐานะภคินีธรรมดา ๆ อายุเพียงยี่สิบต้น ๆ จะต้องแบกรับ หน้าที่ใหม่นี้เกิดขึ้นเมื่อพี่สาวเพียงคนเดียวของท่าน ซึ่งรับหน้าที่คุณแม่อธิการอารามมาได้ปีเดียว เกิดล้มเจ็บลงและเสียชีวิตอย่างสงบในปลาย ค.ศ. 1291 เหตุการณ์นี้ยังความทุกข์ใจให้ท่านเป็นอันมาก แม้ท่านจะได้รับการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเหตุวิปโยคนี้โดยพระเยซูเจ้าก็ตาม แต่ท่านก็ไม่อาจหักห้ามความรู้สึกตามประสามนุษย์ที่เกิดจากความผูกพันระหว่างพี่น้อง ที่ไม่เพียงร่วมสายเลือดกัน แต่ยังร่วมในอุดมการณ์เดียวกัน คือ การติดตามพระเยซูเจ้าในฐานะเจ้าบ่าวแต่เพียงหนึ่งเดียว

แม้ก่อนหน้านี่ท่านจะต้องเผชิญกับการสูญเสียบิดา ก่อนจะตามมาด้วยมารดาที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของอาศรมภายหลังการจากไปของสามี ท่านก็ไม่เคยหลั่งน้ำตาเสียใจ แต่ในเหตุการณ์สูญเสียพี่สาวเพียงคนเดียวครั้งนี้ ท่านร้องไห้อยู่สามวันและเฝ้าคิดตลอดว่า วิญญาณของพี่สาวคนนี้จะไปอยู่ ณ แห่งหนไหน จะเป็นสวรรค์หรือไฟชำระ จนล่วงเข้าเช้าวันที่สามของการจากลาในแดนเนรเทศ ท่านก็เห็นนิมิตปรากฏมีคบเพลิงขนาดเท่าคานขนาดใหญ่ปรากฏขึ้นเหนือศีรษะของท่าน คบเพลิงนี้สว่างไสวด้วยแสงสว่างใสจากเปลวเพลิงที่ลุกอยู่ และไขวิญญาณของท่านให้ทราบว่า บัดนี้วิญญาณของโยวันนาได้บรรลุถึงเมืองสวรรค์แล้ว คำตอบที่ปรากฏขึ้นนี้ยังความสุขให้ท่านเป็นล้นพ้น จนหากท่านสามารถนำวิญญาณพี่สาวของท่านกลับมาในโลกนี้ได้ท่านก็จะไม่ทำ และในเวลาเดียวกันนั้นเองผ่านนิมิตนี้ ท่านยังได้รับพระพรในการหยั่งรู้สภาพวิญญาณคน การแยกแยะความดีและความชั่ว รวมถึงยังได้พบกับวิญญาณของโยวันนา ซึ่งได้ตอบคำถามของท่านที่ว่า “พี่โยวันาพี่ยังไม่ตายหรือ” ด้วยคำตอบว่า “นี่ไม่ใช่ความตาย แต่เป็นทางผ่านไปสู่ชีวิตของพี่จ๊ะ”

ภาพจิตรกรรมรูปนักบุญออกัสตินและนักบุญเกียรา

เมื่อคุณแม่อธิการคนแรกเสียชีวิตลง บรรดาซิสเตอร์ในอารามจึงได้มีการเลือกตั้งคุณแม่อธิการคนใหม่ โดยมีอุปสังฆราชเดินทางมาเป็นประธานในการเลือกตั้ง แต่ก่อนหน้านั้นท่านที่ทราบว่าพวกซิสเตอร์จะพากันเลือกท่านขึ้นเป็นคุณแม่อธิการสืบต่อจากพี่สาวโดยเอกฉันท์ ก็ได้ขอให้บรรดาซิสเตอร์ทั้งหลายได้โปรดให้ท่านทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ภายในอาราม เพราะท่านรู้สึกว่าตนไม่ได้มีความสามารถพอที่จะรับตำแหน่งนี้ได้ แต่ซิสเตอร์ทุกคนก็ต่างยืนกรานให้ท่านน้อมรับตำแหน่งนี้ รวมถึงพวกเธอและฟรังเชสโก น้องชายของท่านที่บัดนี้เข้าเป็นภารดาคณะฟรังซิสกันก็ต่างช่วยกันไม่แจ้งต่อพระสังฆราชถึงความประสงค์ที่จะไม่ดำรงตำแหน่งนี้ของท่าน ทำให้ที่สุดเมื่อถึงวันเลือกตั้ง เมื่อผลออกมาว่าทุกคนในอารามได้เลือกท่านเป็นคุณแม่อธิการ ท่านจึงจำต้องยอมรับหน้าที่นี้ด้วยความนบนอบ แม้ภายในใจจะเต็มไปด้วยความกังวลว่าตนจะสามารถนำอารามหลังนี้ไปให้ตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร แต่ด้วยความวางใจในพระเจ้า ท่านจึงก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเองและเริ่มทำหน้าที่คุณแม่อธิการคนที่สองในทันที

ในฐานะคุณแม่อธิการอารามไม้กางเขน ท่านได้เป็นทั้งมารดา ครูและผู้คอยสอดส่องวิญญาณของบรรดาซิสเตอร์ภายในอารามด้วยความอุตสาหะ ความทุ่มเท ความอ่อนหวาน และความหนักแน่น ท่านได้วางระเบียบการใช้ชีวิตร่วมกันภายในอารามให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นกว่าสมัยก่อน ท่านยังกำหนดให้ทุกคนมีหน้าที่ทำงานอย่างชัดเจน แต่ในเวลาเดียวกันก็ให้อิสระกับสมาชิกที่ปรารถนาจะใช้เวลาในการสวดภาวนามากขึ้นเช่นเดียวกัน ซิสเตอร์โยวันนา ลูกพี่ลูกน้องและเลขาณุการฝ่ายวิญญาณของท่านเล่าว่า “เกียราเอาใจใส่ดูแลบรรดาซิสเตอร์อย่างเข้มข้น เธอคอยแก้ไข ชี้สอน ดูแล เอาใจใส่ต่อความต้องการของพวกเขาอย่างถี่ถ้วน ตรวจดูเหตุการณ์และการกระทำของพวกเขาโดยไม่สนใจตัวเธอเองและละเลยการพักผ่อน …” นอกจากนี้ในสมัยช่วงต้นการปกครองของท่านนี้เอง ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1292 พระคุณเจ้าปีโกลอตตีก็ได้อนุญาตตามคำร้องขอของโยวันนา ผู้วายชนม์ว่าไม่ให้มีการสร้างวัด วัดน้อย อาราม หรืออารามนักพรตในระยะห่างจากอาราม 25 เปรติกา (75 เมตรโดยประมาณ) อีกด้วย


เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงคิดว่าเวลานี้ชีวิตของท่านคงไม่มีอะไรพิเศษมากกว่านี้ แต่แท้จริงพระเจ้ามิได้ทรงเตรียมท่านเพียงเพื่อเป็น ‘เกลือดองแผ่นดิน’ ที่ดำเนินชีวิตซ่อนเร้นภายในอารามนักพรตต่อสู้กับกระแสของโลก แต่พระองค์ทรงปรารถนาใช้ท่านเป็น ‘ทางแห่งพระพร’ สำหรับมนุษย์ที่พระองค์ทรงรัก ไม่เพียงแต่ผู้อยู่รายล้อมท่านในรั้วอาราม แต่ยังรวมไปถึงผู้คนนอกรั้วอารามจำนวนมาก พระองค์จึงได้ทรงบันดาลให้มีเหตุอันน่าพิศวงเกิดกับท่านหลายต่อหลายครั้งในชีวิต เพื่อเตรียมท่านให้เป็นเครื่องมือที่พร้อมใช้ ในการชักนำผู้คนจำนวนมากนับตั้งแต่เวลาที่ท่านอยู่ ให้เข้ามาตักตวงน้ำทิพย์อันทรงชีวิต ซึ่งหลั่งไหลออกจากพุน้ำอันใสราวแก้วผลึกและบริสุทธิ์หรือตัวของท่าน ผู้ซึ่งพระเจ้าทรงค่อย ๆ แปรสภาพวิญญาณธรรมดาดวงหนึ่งให้กลายเป็นดั่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนจะมาได้มาพบความสว่าง ผ่านการที่ท่านตอบรับเสียงเรียกของพระองค์ ก้าวข้ามความกลัวต่อความไม่รู้ตามประสามนุษย์ และวางตัวเองไว้ในการทรงนำของพระเจ้าผู้มีไม่มีขอบเขต

คำอุปมาอุปไมยเช่นนี้ไม่ได้กล่าวขึ้นอย่างเลื่อนลอย แต่มีประจักษ์พยานคือนิมิตในคราวหนึ่งของท่านที่มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งประมาณสัปดาห์ก่อนวันฉลองพระคริสตสมภพปีหนึ่ง ท่านก็มีอาการเข้าฌานอยู่เป็นระยะ ๆ ในช่วงเวลานี้เองท่านได้เห็นพระบุตรพระเจ้าทรงลงมาบังเกิดในโลกแทบจะตลอดเวลา จนล่วงถึงเที่ยงคืนของวันประสูติอาการเข้าฌานของท่านก็ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ในสภาพวิญญาณเช่นนั้นท่านเห็นว่าเมื่อพระบุตรทรงบังเกิดมาแล้ว ก็ปรากฏถนนกว้างเท่าบ้านหลังโต สุกสว่างใสดุจดวงอาทิตย์ ทอดยาวจากพระเจ้าเข้ามาหาตัวท่านโดยไม่มีสิ่งใดกั้นขวาง ลำแสงอันน่าพิศวงนี้ทำให้ท่านต้องลุกยืนขึ้นและสัมผัสได้ถึงการเจิมฝ่ายในวิญญาณ ในนิมิตท่านพบว่าท่านกำลังยืนอยู่ท่ามกลางแสงสว่างของดวงอาทิตย์ แวดล้อมไปด้วยหมู่ทูตสวรรค์และนักบุญ ซึ่งท่านเห็นว่าต่างลอยลงมาจากองค์พระบิดาเจ้ามาหาท่าน และขึ้นจากท่านไปหาพระบิดาเจ้า พวกเขาต่างร้องเพลงด้วยความชื่นชมยินดีต่อพระกุมารผู้ทรงบังเกิด ท่านจึงได้เริ่มร้องเพลงตามพวกเขาอย่างเบา ๆ และโดยการเปิดเผยภายใน ท่านเข้าใจว่าบรรดานักบุญต่างได้ยินเพลงของท่านและเสียงร้องของท่านก็ดังก้องไปทุกหนทุกแห่ง ในเวลาเดียวกันนั้นเองภคินีหลายคนได้ยินเสียงท่านร้องเพลง แต่ไม่มีใครฟังออกว่าท่านร้องออกมาว่าอะไร



การเจิมเช่นนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นแต่เพียงครั้งเดียว แต่ในหนึ่งปีภายหลังการจากไปของโยวันนาพระเจ้าก็ทรงเจิมท่านท่ามกลางพยานในอาราม ดุจเป็นหมายสำคัญว่าพระองค์มิทรงประสงค์ให้ท่านเป็นเพียงผู้ปกครองอารามหลังนี้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ทรงประสงค์มากกว่านั้น ในคราวนั้นขณะท่านกำลังอยู่กับซิสเตอร์ในอารามที่บริเวณโถงทางเดินรอบสวนหย่อมของอาราม ท่านกำลังชักชวนให้ซิสเตอร์ทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะมุ่งสู่ความครบครัน ก็ปรากฏเสาสีแดงราวกับไฟ สุกสว่าง มีขนาดใหญ่เท่ามนุษย์แต่ไม่มีโครงร่างเป็นรูปร่างใดแน่ชัดลอยมาอยู่เบื้องหน้าของท่าน เสานี้ลอยขึ้นเหนือท่านเล็กน้อยแล้วจึงอันตรธานหายไป ทิ้งไว้แต่เพียงวิญญาณของท่านที่ได้รับการเจิม และความฉงนสนเท่ห์ของซิสเตอร์ที่อยู่ในที่นั้น เพราะในขณะที่ซิสเตอร์ที่อยู่กับท่านที่โถงทางเดินต่างเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้ พวกซิสเตอร์ที่อยู่ในอาคารก็เห็นเพียงแสงสว่างที่ปรากฏขึ้นมาเท่านั้น

และในทำนองเดียวกันการยืนยันว่าพระเจ้าทรงใช้ท่านเป็นทางนำพระพรของพระองค์มาสู่โลกก็ไม่เพียงเกิดขึ้นครั้งเดียว เพราะเมื่อท่านสิ้นใจลงอย่างสงบ องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงประทานเครื่องหมายยืนยันถึงพันธกิจนี้ทรงมอบไว้ให้เจ้าสาวของพระองค์ ผ่านความฝันของชายคนหนึ่งชื่อ อันโตนีโอ เดล ฟู บีอาโย หรือที่รู้จักกันว่า โรมาโนเน ชาวเมืองมอนเตฟัลโกผู้ป่วยด้วยโรคร้ายมาได้ประมาณสี่สิบปีแล้ว และก่อนหน้านี้เมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับอัศจรรย์ของท่านภายหลังการมรณกรรมได้สบประมาทเรื่องนี้ รวมถึงสวนกระกระแสฝูงชนที่ต่างมุ่งไปยังอารามไม้กางเขนเพื่อไปดูเหตุอัศจรรย์ ด้วยการมุ่งไปยังร้านขายเนื้อเพื่อซื้อเนื้อสัตว์ ก่อนพระเจ้าจะทรงทำงานในหัวใจของเขาระหว่างทาง ทำให้เขาสำนึกผิดและกลับใจที่ตนได้สบประมาทพระเจ้าและท่าน จึงตัดสินใจเดินทางไปชมอัศจรรย์นี้ที่อารามพร้อมชาวเมืองคนอื่น ๆ ก่อนที่คืนถัดมาเขาจะฝันเห็นอารามไม้กางเขน มีพุน้ำรสอร่อยและสวยงาม มีฝูงชนจำนวนมากเดินทางมายังที่นั่นเพราะความงามของพุน้ำนี้ และต่างพากันดื่มลิ้มชิมน้ำจากพุน้ำนี้กันถ้วนหน้า


“ทรงทำให้ข้าพเจ้าเป็นเสมือนลูกศรแหลมคม” (อิสยาห์ 49 : 2) ดูเหมือนว่าเพื่อเตรียมท่านให้พร้อมสำหรับพันธกิจอีกประการนี้เอง นอกจากการเจิมดุจเดียวกับที่ทรงเจิมผู้รับใช้ของพระองค์ในหนหลัง พระเจ้าทรงลับวิญญาณของท่านให้แหลมคมจนกลายเป็นลูกศรที่พร้อมใช้ในแล่งของพระองค์ ซึ่งพระองค์จะทรงยิงไปในเวลาใดก็ได้ โดยทรงอนุญาตให้วิญญาณของท่านได้ประสบกับ ‘คืนมืดของวิญญาณ’ หรือประสบการณ์ที่วิญญาณดูเหมือนจะถูกแยกจากพระเจ้า ที่กินระยะยาวนานถึง 11 ปี (ค.ศ. 1288 - ค.ศ. 1299) หรือนับตั้งแต่ที่ท่านยังเป็นสมาชิกธรรมดา ๆ ในอาศรมนักบุญเลโอนาร์โดเรื่อยมาจนถึงเวลาที่ท่านกลายเป็นคุณแม่อธิการิณีอารามไม้กางเขนในช่วงสิบปีแรก

โดยบทเรียนครั้งสำคัญนี้เริ่มในวันธรรมดา ๆ วันหนึ่ง เมื่อท่านกำลังนั่งสนทนากับเพื่อนร่วมอาศรมในประเด็นเกี่ยวกับพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้าอยู่ภายในห้อง ท่านก็ได้เล่าสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแก่ท่านและเสริมให้เพื่อนผู้นั้นฟังว่า “สิ่งใดที่เธอวอนขอด้วยความรัก พระย่อมทรงประทานให้ในทันที และฉันเองก็มีประสบการณ์นี้อยู่บ่อย ๆ” ฝั่งคู่สนทนาก็ตอบกลับท่านว่า “ฉันรู้ดีว่าฉันไม่ใช่คนที่พระจะทรงตอบสนองความประสงค์ของฉัน” คำตอบที่ดูจะแสดงให้เห็นความน้อยเนื้อต่ำใจเช่นนี้ ทำให้ท่านที่มักคิดว่าสิ่งที่ท่านประสบภายในวิญญาณเป็นเรื่องปกติทั่วไปต้องหยุดครุ่นคิด ด้วยคำถามซื่อ ๆ ในทำนองว่า ไฉนหนอสิ่งที่องค์พระเจ้าทรงทำกับตัวท่าน พระองค์ไม่ทรงทำกับคนอื่น ความคิดเช่นนี้เริ่มก่อมวลความทุกข์ขึ้นในภายในหัวใจของท่าน


เป็นเวลานั้นเองที่วิญญาณของท่านได้เข้าสู่คืนมืดอันแสนยาวนาน ในยามค่ำคืนอันยากเย็นของวิญญาณนี้เอง ท่านพบว่าภาพนิมิตต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งลดความถี่ลง ท่านยังพบอีกว่าสันติภายในที่เคยมีอยู่ได้จางหายไป ปรากฏมีแต่การต่อสู้และความสับสนสงสัยอยู่ภายในแทน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางสภาพวิญญาณเช่นนี้ ท่านต้องเผชิญกับความทุกข์เป็นอันมาก แต่กระนั้นก็ตามท่านก็ไม่ได้แสดงออกไปให้ใครเห็น สิ่งไม่กี่สิ่งที่ท่านลงมือทำได้ในเวลาเช่นนี้ นอกจากการใช้ชีวิตประจำวันและรับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งต่อมาคือการเป็นคุณแม่อธิการิณี มีเพียงการเชื่อ การวางใจในพระเจ้า การอดทนด้วยความรัก และความร้อนรนที่จะติดตามองค์พระคริสตเจ้าอย่างแน่วแน่ ในทำนองเดียวกับโยบผู้ประสบกับการทดลองอันยาวนาน เราอาจเข้าใจความเชื่อของท่านเช่นนี้ผ่านคำกล่าวของท่านที่ว่า “ฉันวางใจและมั่นใจในพระคริสตเยซู ว่าพระหรรษทานของพระองค์จะปกป้องตัวฉันจากพวกหัวขโมยและผู้ร้าย ให้พวกมันไม่สามารถทำร้ายตัวฉันและพี่น้องของฉันได้”

เราอาจกล่าวได้ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้นิมิตในรัตติกาลของวิญญาณนี้เพื่อสอนท่านอย่างแท้จริง อาศัยนิมิตต่าง ๆ ท่านได้เรียนรู้จักโลกกว้างไปกว่าขอบเขตของอาราม ดังนั้นแม้ท่านจะดูเหมือนตัดสินใจหันหลังให้โลกตั้งแต่ 6 ปี รั้วของอารามก็ไม่ได้กีดกันให้ท่านเป็นคนอ่อนต่อโลก แต่เป็นภายในขอบเขตอันจำกัดนี้เองภาพนิมิตได้กลายมาเป็น ‘โรงเรียนแห่งชีวิต’ สำหรับท่าน ซึ่งทำให้ท่านเข้าใจโลกกว้างอย่างถ่องแท้ เช่นคืนหนึ่งในช่วงเวลานี้ ท่านได้พบว่าตัวท่านกลายเป็นเป้าของบุคคลสองคนที่ต่างมุ่งจะยิงท่านด้วยหน้าไม้ ผู้หนึ่งหมายจะยิงความชั่วช้าใส่ท่าน ในขณะที่อีกผู้หนึ่งหมายจะยิ่งความดีคุณธรรมใส่ท่าน ในสถานการณ์การปะทะกันระหว่างขั้วอำนาจเช่นนี้ ท่านรู้สึกประหวั่นใจเป็นยิ่งนัก จนต้องเบือนหน้าหนีจากฝั่งที่จะยิ่งความชั่วช้าใส่ แต่ในเวลานั้นเองพระเจ้าก็ทรงไขแสดงให้ท่านเข้าใจว่า มนุษย์ไม่อาจหนีพ้นจากการเผชิญหน้ากันระหว่างความดีและความชั่วได้ เพราะหากมนุษย์ไม่มองเห็นว่าอะไรคือความชั่ว และผินหน้ามาเผชิญกับความขัดแย้งของจิตใจเช่นนี้ มนุษย์ก็ไม่อาจบรรลุถึงความสว่างโดยสมบูรณ์ หรือสถานะที่วิญญาณกลับมาสู่สภาพอันพิสุทธิ์ใสดังเดิม


อีกคราวหนึ่งในช่วงพระคริสตสมภพ ค.ศ. 1293 ท่านล้มป่วยลงและเผชิญกับความมืดภายในวิญญาณในระดับวิกฤต ความคิดเรื่องสภาพอันน่าสมเพศของวิญญาณและความอกตัญญูต่อพระวนเวียนอยู่ภายในความคิดของท่าน สร้างความทุกข์ใจให้ท่านเป็นอันมากเพราะท่านคิดว่าเพราะสภาพเช่นนี้เอง ท่านจึงไม่รู้สึกถึงการประทับอยู่ของพระในหัวใจ ท่านเป็นทุกข์อยู่เช่นนี้จนถึงวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ ค.ศ. 1294 ท่านจึงได้สารภาพกับบรรดาซิสเตอร์ภายในอารามทั้งหมดถึงความบกพร่องของตน ก่อนเข้าสู่ภาวะฌานเป็นเวลานานประมาณสองถึงสามสัปดาห์ ซึ่งในระหว่างนั้นเพื่อรักษาชีวิตของท่านต่อไป เนื่องจากท่านไม่สามารถรับอาหารใด ๆ ได้ พวกซิสเตอร์จึงคอยเอาน้ำตาลละลายน้ำมาป้อนท่านเป็นระยะ และในภาวะที่วิญญาณของท่านดูเหมือนจะหลุดลอยไปจากโลกนี้เอง ท่านได้ไปเห็นนรกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานอย่างสิ้นหวัง เห็นสวรรค์ที่เต็มไปด้วยความชื่นชมยินดีของบรรดานักบุญ และได้เห็นความศักดิ์สิทธิ์โดยบริบูรณ์ของพระ รวมถึงความจริงเที่ยงแท้ที่วิญญาณจะต้องมีชีวิตอยู่ในพระเจ้า ก่อนท่านจะพบว่าตัวเองได้ไปอยู่หน้าบัลลังก์แห่งการพิพากษาของพระ และกลับสู่โลกเป็นปกติในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน พร้อมปณิธาณอันแน่วแน่ว่าแต่นี้ไปท่านจะไม่คิด ไม่ทำ และไม่พูดในสิ่งที่ขัดกับความจริงที่ท่านได้มองเห็นในนิมิตนี้อีก ท่านเผยเรื่องนี้ในเวลาต่อมากับซิสเตอร์บิอาโย แห่ง สโปเลโต ว่า “โดยพระหรรษทานของพระ ฉันจึงยังคงรักษาความซื่อสัตย์นี้ไว้ได้”

ปีเดียวกันกับที่ท่านได้เห็นนรกและสวรรค์ ซึ่งประวัติบางสำนวนของท่านอธิบายว่าเป็นจุดชี้ขาดวิญญาณของท่าน ยังเกิดเหตุการณ์พิศวงซึ่งเป็นเรื่องเล่าสำคัญในชีวิตของท่านอีกประการ และปรากฏหลักฐานเป็นจิตรกรรมปูนเปียกภายในวัดน้อยของอารามแห่งนี้นับตั้งแต่ ค.ศ. 1333 นั่นคือการที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งไม้กางเขนในหัวใจของท่าน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันหนึ่งขณะท่านกำลังสวดภาวนา องค์พระเยซูเจ้าก็ประจักษ์มาหาท่าน ในรูปลักษณ์นักพเนจรหนุ่มผู้งดงามแต่ก็น่าสังเวชสงสารในเวลาเดียวกัน พระองค์ทรงอาภรณ์สีขาว มีไม้กางเขนที่ทรงถูกตรึงอยู่บนพระอังสา พระพักตร์เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้าจากน้ำหนักของกางเขน พระวรกายก็เหนื่อยอ่อนเสียเต็มประดา ท่านเห็นเช่นนั้นท่านจึงรีบคุกเข่าลงหมายจะหยุดพระองค์พร้อมทูลพระองค์ในทำนองเดียวกับนักบุญเปโตรว่า “พระสวามีเจ้าข้า พระองค์กำลังจะเสด็จไปที่ใดเล่า”


พระเยซูเจ้าจึงตรัสตอบท่านว่า “เรากำลังเที่ยวมองหาสถานที่มั่นคงที่เราจะตั้งไม้กางเขนนี้อย่างมั่นคงไปทั่วโลก แต่เราก็ไม่พบเลย” ท่านที่ทราบความปรารถนาของพระองค์เช่นนี้จึงยื่นมือของท่านออกไป เป็นเครื่องหมายว่าพระเจ้าข้าเป็นลูกนี้เองที่จะช่วยพระองค์ พระเยซูเจ้าจึงตรัสบอกท่านว่า “เกียรา เราได้พบที่ตั้งกางเขนของเราที่นี่แล้ว เราได้พบคนที่เราจะตั้งไม้กางเขนของเราในที่สุด ถ้าลูกปรารถนาจะเป็นธิดารักของเรา ลูกต้องตายบนไม้กางเขน” เมื่อภาพนิมิตนี้จบลง ท่านมีความเชื่ออย่างหมดหัวใจว่าพระจะทรงทำกิจการอันน่าอัศจรรย์ในอารามแห่งนี้ และอีกเจ็ดปีต่อมาท่านได้เล่าเรื่องนี้ให้ซิสเตอร์โยวันนา ลูกพี่ลูกน้องฟังว่าเมื่อนิมิตนี้จบลง ร่างกายของท่านก็ปราฏความเจ็บปวดแล่นไปทั่วร่าง ด้วยไม้กางเขนที่องค์พระเยซูเจ้าทรงประทับไว้ในตัวของท่าน ตั้งแต่นั้นท่านรู้สึกได้เสมอว่ามีกางเขนตราสลักอยู่ภายในหัวใจของท่าน

ภายใต้ข้อจำกัดของอารามนักพรตเช่นนี้ พระเป็นเจ้าทรงเตรียมท่านไว้เพื่อกิจการใดต่อไปอีก ไฉนทรงต้องลับวิญญาณของท่านให้แหลมคมด้วยนิมิตและประสบการณ์คืนมืดแห่งวิญญาณที่ยาวนานนับสิบปี พันธกิจอีกประการที่พระเป็นเจ้าทรงเจิมท่านไว้ ดุจซามูเอลได้เจิมเด็กชายดาวิดให้เป็นผู้นำประชากรของพระองค์และเป็นต้นตระกูลที่พระองค์จะทรงนำพระพรลงมาจะเป็นอย่างไรต่อไป และในท้ายที่สุดเรื่องราวของท่านจะมาบรรจบกับเรื่องราวของชายผู้หนึ่งในเมืองสโปเลโตได้อย่างไร ติดตามเรื่องราวของนักบุญผู้เรืองนามแห่งเมืองมอนเตฟัลโกต่อใน  “‘เกียรา’ พุน้ำทิพย์ของพระเจ้า ตอนจบ” (คลิ้กที่ลิ้งค์นี้)

“ข้าแต่ท่านนักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
https://it.m.wikipedia.org/wiki/Berengario_di_Saint-Affrique
https://en.wikipedia.org/wiki/Clare_of_Montefalcohttps://www.acistampa.com/story/6662/montefalco-tanti-giovani-per-santa-chiara-della-croce-6662
https://www.agostinianemontefalco.it/chiara/index.php/2-non-categorizzato/1-vita-di-s-chiara
https://www.treccani.it/enciclopedia/chiara-da-montefalco-santa_%28Dizionario-Biografico%29/?_x_tr_hist=true
https://www.treccani.it/enciclopedia/bentivenga-da-gubbio_%28Dizionario-Biografico%29/?_x_tr_hist=true
http://www.cassiciaco.it/navigazione/monachesimo/agiografia/santi/chiara.html
https://www.interris.it/la-voce-degli-ultimi/passione-nozze-mistiche-santa-chiara-della-croce/
http://www.keytoumbria.com/Montefalco/St_Clare_of_Montefalco.html

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...