วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567

'เกียรา' พุน้ำทิพย์ของพระเจ้า ตอนจบ


นักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก
St. Chiara da Montefalco
ฉลองในวันที่: 17 สิงหาคม
องค์อุปถัมภ์: เมืองมอนเตฟัลโก

กลับมาที่เหตุการณ์ในระหว่างพระเจ้าทรงเตรียมท่านให้พร้อมใช้ เมื่อท่านขึ้นเป็นคุณแม่อธิการิณีอารามไม้กางเขน พระเจ้าก็ทรงทำชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านขจรออกไปนอกรั้วของอาราม จนชักนำผู้คนมากมายให้เดินทางมายังอารามแห่งนี้เพื่อสนทนากับท่านในห้องรับแขกของอาราม และก็เป็นที่นั่นเอง ที่ท่านได้ใช้ประสบการณ์ที่ท่านได้เรียนรู้ผ่านห้องเรียนแห่งนิมิต และพระหรรษทานพิเศษในการรักษาไม่เพียงร่างกาย แต่วิญญาณให้บรรดานักจาริทั้งหลาย ความสามารถล่วงรู้จิตใจของผู้มาหาไปถึงสถานภาพของวิญญาณที่อยู่เบื้องหน้า ทั้งยังสามารถทำนายถึงอนาคต และความอธิบายข้อพระคัมภีร์และหลักเทววิทยาได้อย่างน่าพิศวง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพระหรรษทานพิเศษของพระเจ้าและความใฝ่รู้ของท่านที่จะอ่านหนังสืออรรถาธิบายของท่านมาใช้เป็นทางนำพระพรจากพระเจ้ามาสู่มนุษย์ผู้แสวงหาคำตอบของชีวิต

ดังนั้นตลอด 17 ปีห้องรับแขกอารามไม้กางเขนจึงต้อนรับผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งคนธรรมดาสามัญเรื่อยไปจนถึงบรรดาผู้มีชื่อเสียงในเวลานั้นทั้งวงการเมืองและวงศาสนา โดยเฉพาะในแวดวงศาสนามีหลักฐานปรากฏว่าสองพระคาร์ดินัลจากสกุลโกโลนนา คือ พระคุณเจ้ายาโกโมและพระคุณเจ้าเปียโตร (มีศักดิ์เป็นหลานพระคุณเจ้ายาโกโม) และพระคาร์ดินิลนาโปเลโอเน ออร์ซินี ต่างให้ความเคารพท่าน โดยเฉพาะท่านหลังนี้มีการติดต่อกับท่านทางจดหมายอยู่ตลอด และด้วยความเคารพเช่นนี้ทำให้บางครั้งท่านจึงได้รับของขวัญจากบุคคลเหล่านี้ ซึ่งท่านก็ไม่ได้ยึดติดแต่ได้นำของเหล่านั้นไปมอบให้คนยากไร้ต่อ ซิสเตอร์มารีนาเป็นพยานว่ามีผู้คนมากมายได้แวะเวียนมาที่อารามเพื่อพบท่านในตอนเย็นหลังการสวดทำวัตรค่ำ และก่อนการสวดทำวัตรสาย เพราะระหว่างช่วงเวลานี้ท่านจะถือความเงียบ โดยท่านจะไม่ตอบอะไรนอกจากคำว่า ‘ขอสรรเสริญพระเจ้า’ หรือคำพูดที่ไม่นำไปสู่การสนทนาอันจะเป็นการล่วงละเมิดธรรมเนียมการถือเงียบในหมู่นักพรต ซิสเตอร์มารีนายืนยันว่าท่านถือวัตรเช่นนี้อย่างเคร่งคัด เธอกล่าวว่าท่านไม่ค่อยได้สนทนากับใครแม้แต่กับญาติ ๆ ของท่าน


แต่นอกเหนือเวลาเหล่านี้ ด้วยความรู้สึกลุกร้อนภายใน ที่อาจสะท้อนได้ผ่านคำกล่าวหนึ่งของที่ว่า “โอ้ ความสนิทสัมพันธ์แห่งชีวิตนิรันดร์ ฉันปรารถนายิ่งนักที่จะเชิญชวนคนทั้งโลกมางานวิวาห์นี้เสียจริง” ท่านได้ใช้วาจาอันไพเราะอ่อนหวาน จูงใจคน เลือกใช้คำที่เหมาะสมกับผู้ฟังให้เข้าได้ แม้แต่คนที่เขลาที่สุด รวมถึงพระพรที่จะทำให้ผู้ฟังไม่เบื่อและไม่รู้สึกไม่สบอารมณ์ที่จะฟังท่านพูด เพื่อจุดไฟแห่งความร้อนรนในวิญญาณที่ท่านได้สนทนาด้วย และท่านก็สามารทำได้เช่นนั้น แม้กับวิญญาณที่ด้านชาที่สุด คำพูดธรรมดา ๆ ของท่านเป็นเหมือนน้ำทิพย์จากสวรรค์ที่ไหลเอ่อจากท่านไปสู่หัวใจของผู้ฟัง จนทำให้ใจนั้นรู้สึกอิ่มเอิบ ซึ่งไม่ใช่ความอิ่มเอิบตามประสาโลก แต่เป็นความอิ่มเอิบในวิญญาณที่ทำให้วิญญาณหิวกระหายที่จะได้ลิ้มรสสวรรค์

ดังนั้นคำพูดของท่านในมิติหนึ่งจึงจุดไฟแห่งความร้อนรนที่ภายในใจของผู้ฟัง ซึ่งไฟนี้ไม่ได้มาจากไหนแต่เป็นไฟที่ลุกอยู่ภายในใจของท่าน ซึ่งได้รับการเติมเชื้อไฟอยู่เสมอด้วยการรำพึงภาวนาถึงธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้า และเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ จึงอาจกล่าวได้ว่าถ้อยคำที่ออกจากปากของท่านไปสู่คนรอบข้างไม่ได้มาจากท่าน หากแต่มาจากแหล่งธารแห่งชีวิต คือ องค์พระเยซูเจ้าในพระคัมภีร์ ดั่งข้อเขียนในชีวประวัติของท่านของคุณพ่อเบเคงเยอร์ เดอ แซงตาฟฟริคที่ว่า “ถ้อยคำของเธอแท้จริงดูเหมือนจะเป็นวาจาอันเป็นนิรันดร์ วาจาอันทรงชีวิต วาจาอันแหลมคมเจาะตรง สอดคล้องไปกับพระคัมภีร์ มาจากพุน้ำอันทรงชีวิตที่ไหลไปยังพุน้ำอันเป็นนิรันดร์ ด้วยความลุกร้อนจากพระวาจาของพระเจ้า เธอได้จุดประกายผู้อื่นและตัวเธอเองก็ได้สุกสว่างขึ้นด้วยความร้อนแรงภายในวิญญาณ” เช่นนั้นเองท่านจึงถูกนิยามว่าเป็น ‘นางชีผู้ลุกร้อน’


เมื่อมองผ่านเข้าไปสู่วิญญาณของท่าน เราพบว่าท่านตระหนักเสมอว่าตัวเองไม่ใช่คนดีมีความสามารถอันใด แต่เป็นพระหรรษทานของพระเจ้าที่มีทำงานผ่านท่าน ดังนั้นเมื่อมีซิสเตอร์ท่านหนึ่งเอ่ยชื่นชมท่าน ท่านจึงไม่ลังเลที่จะตอบกลับมาว่า “เธอพูดอะไรน่ะ เธอยังรู้จักฉันไม่ดีพอ นี่คือสิ่งที่ฉันตระหนักรู้ถึงตนเองนะ ฉันเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดในหมู่สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ตัวฉันยังคงทำบาปผิดและมัวเมาหากพระองค์ไม่ทรงปกป้องฉันไว้ ฉันได้เนรคุณต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างมากเพื่อประโยชน์ส่วนตัว” อีกคราวหนึ่งท่านรำพึงภาวนาในห้องพัก ท่านตระหนักว่าตัวท่านช่างเต็มไปด้วยข้อบกพร่องและความอกตัญญูไม่รู้คุณพระ ทั้งเป็นคนที่มีข้อบกพร่องและเลวร้าย ท่านจึงเต็มไปด้วยความเป็นทุกข์ความขมขื่นใจเมื่อเดินออกจากห้องไปวัดน้อยเพื่อร่วมมิสซา แต่ในระหว่างมิสซานั้นเอง ท่านก็ได้มองเห็นพระเจ้าอยู่ในภายในตัวของท่าน และตัวของท่านก็อยู่ในพระเจ้าเหมือนภาพในกระจก ท่านได้มองเห็นว่าท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่สามารถอธิบายได้ นิมิตนี้ยิ่งทำให้ท่านยิ่งสำนึกตนอีกว่า ตัวท่านนั้นไม่มีสิ่งใดเลยเมื่อเทียบความเป็นนิรันดร์อันศักดิ์สิทธิ์แท้ อาจอุปมาได้ว่าเป็นเหมือนแอ่งกลางมหาสาคร จมอยู่ในห้วงกระแสสินธ์และเต็มไปด้วยกระแสนั้น

ท่านมองว่า “ชีวิตของวิญญาณคือความรักของพระเจ้า จากความรักนี้วิญญาณได้ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและได้พำนักอยู่กับพระองค์ และนั่นแหละคือสายสัมพันธ์ของพระเจ้ากับวิญญาณและของวิญญาณที่มีกับพระเจ้า ดังนั้นเมื่อพระเจ้าทรงประสงค์สิ่งใดวิญญาณก็ประสงค์สิ่งนั้น และสิ่งใดที่วิญญาณประสงค์ พระเจ้าเองก็ทรงประสงค์เช่นกัน” และตระหนักได้ว่า “ไม่น่าแปลกใจเลยที่วิญญาณดวงหนึ่งจะยอมตายเป็นพันครั้งแทนที่จะต้องแยกจากพระเจ้า แท้จริงแล้วความตายก็ดี ความทุกข์ยากก็ดี และความยากลำบากก็ดีช่างหอมหวานเสียนี่กระไรสำหรับเธอ” ดังนั้นท่านจึงแสวงหาพระเจ้า และปรารถนาให้ทุกคนแสวงหาพระเพื่อทุกคนจะพบความสุขแท้ที่มีในความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า ท่านจึงไม่เพียงปฏิบัติตนเป็นนักพรตผู้เคร่งคัด แต่ยังคอยชักชวนให้ผู้คนรอบข้างทั้งในและนอกอารามให้มาหาพระเจ้า ติดตามพระองค์ต่อไป ผ่านการสนทนากับพวกเขา รวมถึงผ่านการสวดภาวนา พลีกรรม และอาจรวมถึงการสร้างวัดในเวลาต่อมาด้วย

วัดไม้กางเขนที่ท่านสร้าง

ผ่านชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านที่แพร่ขยายไปเป็นผลให้อารามไม้กางเขนเติบโตขึ้นตามลำดับ ดังปรากฏหลักฐานว่า ค.ศ. 1305 อารามมีสมาชิกที่นักบวชถวายตัวถึงยี่สิบคนไม่นับรวมนวกะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้านั้นมีการเพิ่มจำนวนของสมาชิกอารามมาโดยตลอด จึงน่าจะเป็นมูลเหตุให้ใน ค.ศ. 1299 ท่านจึงได้ซื้อที่ดินและบ้านเพิ่มเพื่อขยายอาราม นอกจากนี้ใน ค.ศ. 1303 ท่านยังได้ลงมือทำสิ่งที่ท่านตั้งใจมาอย่างยาวนานนั่นคือการสร้างวัดที่อุทิศแด่ไม้กางเขน เพื่อให้บรรดาซิสเตอร์ในอารามและชาวเมืองได้สัมผัสกับความรักของพระ อันเป็นสิ่งที่ท่านมองว่าทำให้วิญญาณมนุษย์สามารถรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้าได้ ศิลารากของวัดหลังนี้ได้รับการอวยพรจากพระคุณเจ้านิโกลา อัลแบร์ติ คณะโดมินิกัน ผู้เป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ของสโปเลโต และมีคุณพ่อบอร์โดเน พระสงฆ์หัวหน้าเขตมอนเตฟัลโก เป็นผู้ประกอบพิธีวางในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1303

ชื่อเสียงของท่านยังชักนำให้ท่านได้พบกับภารดาเบนติเวนกา แห่ง กุบบีโอ ภารดาฟรังซิสกันผู้ได้รับการยกย่องจากผู้คนในเวลานั้นว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณที่ชื่อว่า ‘วิญญาณแห่งเสรี’ ซึ่งได้นำผู้ติดตามเดินทางมายังมอนเตฟัลโกและใช้อารามคณะฟรังซิสกันในเมืองเป็นที่พัก สำหรับการประกาศเชิญชวนชาวเมืองให้มาร่วมในขบวนการนี้ และดูเหมือนว่าด้วยชื่อเสียงของท่าน ภารดาเบนติเวนกาจึงได้พุ่งเป้าที่จะชวนให้ท่านมาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนี้ ดังนั้นเขาจึงส่งภารดาที่ติดตามเขามาพบท่าน ก่อนจะมาตามมาด้วยตัวเขาอยู่เป็นระยะ ๆ ในระหว่าง ค.ศ. 1306 – 1307 เพื่อหวังจะเปลี่ยนจิตใจท่านให้คล้อยตามแนวทางของเขา อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสถานภาพของขบวนการของเขา แต่เขาก็ไม่ล่วงรู้เลยว่าในขณะที่ทุกคนไม่ได้สงสัยต่อความถูกต้องถึงสิ่งที่เขาสอน พระเป็นเจ้าได้ทรงไขแสดงให้ทราบว่าขบวนการนี้ไม่ใช่เชื้อแป้งดีอย่างที่คนเข้าใจ หากแต่เป็นเชื้อแป้งของฟาริสีที่จะบ่อนเซาะพระศาสนจักรที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น


คืนหนึ่งพระเจ้าทรงบันดาลให้ท่านเห็นนิมิตมีเมฆดำทะมึนปรากฏขึ้นเหนือมหาสมุทร ในก้อนเมฆนั้นปรากฏร่างชายผู้หนึ่งถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน รายล้อมด้วยบรรดานักบวชและฆราวาสกลุ่มใหญ่ ซึ่งต่างพากันเชิดชูไม้กางเขนนั้นอย่างศรัทธา และเข้าใจผิดคิดว่าร่างนั้นคือองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เป็นผลให้ฝูงชนที่รายล้อมอยู่นั้นต่างเต็มไปด้วยความวุ่นวายอยู่ภายในใจจากกางเขนนั้น ในนิมิตนั้นท่านจำใบหน้าของบุคคลที่อยู่ใกล้กางเขนและใต้เมฆดำนั้นได้จำนวนมาก และค่อย ๆ มองเห็นว่าชายที่อยู่บนกางเขนนั้น คือ ภารดาเบนติเวนกา ดังนั้นเมื่อเห็นนิมิตเป็นไปดังนี้ ท่านจึงมุ่งจะแก้ไขความหลงผิดนี้ในทันที โดยท่านเริ่มจากการสวดภาวนาและทำพลีกรรมอย่างร้อนรนด้วยความมุ่งหวังจะสามารถใช้สิ่งเหล่านี้ประกอบกับคำพูดของท่านชักนำหัวใจที่หลงมัวเมาของพวกเขา ให้กลับมาหาความสว่างที่แท้ มาหาไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์แท้จริงแต่เพียงหนึ่งเดียว

ดังนั้นในช่วงแรกเมื่อภารดาเบนติเวนกาส่งภารดาที่ร่วมอุดมการณ์มาพบท่าน ก่อนจะตามมาด้วยตัวเขาเอง ท่านจึงพยายามชี้ให้เห็นความผิดพลาดของความเชื่อของเขา และพยายามนำเขากลับมาสู่ความจริงด้วยความอ่อนหวานและความอ่อนโยนดังที่ท่านปฏิบัติกับทุกคนที่มาพบท่านที่ห้องโถงของอาราม โดยไม่ได้ดำเนินการอื่นใด ท่านชี้ให้เห็นว่าแนวคิดที่ภารดาเบนติเวนกาสอน คือ มนุษย์สามารถทำสิ่งที่ตนเองปรารถนาได้ทุกสิ่ง นรกไม่มีอยู่จริง วิญญาณจะหมดความปรารถนาได้ตั้งแต่ในชีวิตนี้ รวมถึงความปรารถนาทุกสิ่งล้วนมาจากพระเจ้าไม่เว้นแต่การเสพกาม นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องท่านโต้ว่า มนุษย์ทำสิ่งที่ตนปรารถนาได้หากสิ่งนั้นเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นมนุษย์ต้องบรรลุถึงการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าอาศัยความรักของพระ ในขณะที่นรกก็ไม่มีสำหรับคนดี


ท่านยังชี้ให้พวกเขาเห็นอีกว่า ไม่มีทางวิญญาณจะสูญสิ้นความปรารถนา แต่เป็นความปรารถนาในสิ่งของสวรรค์ ท่านอธิบายอีกว่าอิสระที่พระเจ้าทรงมอบให้วิญญาณ ไม่ได้มีความหมายว่าวิญญาณจะทำทุกสิ่งได้ดังใจหวังโดยไม่มีผิดถูก ดังนั้นเมื่ออิสระถูกใช้เพื่อทำบาป ความเป็นเสรีของวิญญาณย่อมค่อย ๆ เสื่อมถอยลง เพราะวิญญาณนั้นได้ค่อย ๆ ถูกทำให้กลายเป็นทาสของปีศาจ ดังความตอนหนึ่งที่ท่านตอบโต้ว่า “วิญญาณไม่เคยสูญสิ้นความปรารถนาในชีวิตนี้ วิญญาณที่สัตย์ซื่อไม่อาจหยุดอยู่นิ่งได้ในชีวิตนี้และไม่อาจไม่เจริญขึ้นในพระหรรษทานที่พระได้ทรงประทานหรือทรงเติมไว้ เพื่อว่าวิญญาณจะไม่ปรารถนาสิ่งที่ใหญ่และสูงไปกว่านี้ รวมถึงจะมีไม่กระหายหา ไม่แสวงหา และไม่พบกับสิ่งนั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่วิญญาณจะเจริญขึ้นในด้านคุณธรรมในคุณธรรม หรือหากแม้นไม่เป็นดังนั้นก็จะต่ำต้อยลง เพราะความรักของพระไม่อาจไม่เกิดผล หากวิญญาณได้รับอิสระในการทำบาป นี่ไม่ใช่อิสระแต่เป็นการจำนนและตกเป็นทาสของผีปีศาจ ผ่านการทำบาปมนุษย์กลายเป็นทาสผีปีศาจและออกห่างจากน้ำพระทัยของพระเจ้า เหตุว่าวิญญาณที่ขัดขืนน้ำพระทัยของพระเจ้าก็ได้ทำบาป และโดยการทำบาปวิญญาณจึงตกอยู่ใต้อำนาจจิตชั่วร้าย”

แม้ท่านจะพยายามชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของคำสอนเช่นนี้ แต่จนแล้วจนรอดภารดาเบนติเวนกาก็ยังคงไม่เปลี่ยนความเชื่อของตน จนล่วงถึงคืนหนึ่งพระเยซูเจ้าจึงทรงประจักษ์มาตำหนิท่านที่ไม่ยอมลงมือจัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด จนทำให้วิญญาณจำนวนมากจะต้องหลุดลอยออกไปจากความรอด จึงทำให้ท่านตัดสินใจลงมือทำบางสิ่งที่ทำให้เชื้อแป้งร้ายที่กำลังแทรกซึมอยู่ในพระศาสนจักรได้รับการกำจัดทิ้งโดยผู้ใหญ่ฝ่ายศาสนา ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1307 ท่านได้ลงมือแจ้งความไม่ชอบมาพากลของขบวนการเคลื่อนไหวนี้ไปยังศาลศาสนา แต่ฝั่งศาลศาสนาพิจารณาว่าคำเทศนาของภารดาผู้นี้ไม่มีเรื่องใดที่ขัดหลักศาสนารวมถึงไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าขบวนการเคลื่อนไหวนี้นอกรีต เมื่อฝั่งศาลศาสนาปัดคำร้องของท่านลงเช่นนี้ ท่านที่ไม่ยอมลดละในการต่อสู้กับเชื้อแป้งร้าย จึงตัดสินใจส่งเรื่องนี้ไปหาพระคาร์ดินิลนาโปเลโอเน ออร์ซินี ซึ่งรับตำแหน่งเป็นพระสมณฑูตประจำพื้นที่ในเวลานั้นโดยตรง และมีความสนิทสนมกับท่านเป็นพิเศษ ซึ่งก็ได้ผลดังที่ท่านตั้งใจไว้เพราะเมื่อพระคุณเจ้าออร์ซินีทราบเรื่อง พระคุณเจ้าจึงให้มีการไต่สวนเรื่องดังกล่าว เป็นผลให้ช่วงฤดูใบไม้ผลิเรื่อยมาถึงฤดูร้อนปีเดียวกัน บรรดาสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหววิญญาณแห่งเสรีต่างถูกจับกุมและสอบสวน จนนำไปสู่การตัดสินใจจำคุกภารดาเบนติเวนกาและผู้ติดตามคนสนิทตลอดชีวิต เป็นอันปิดฉากความเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณนี้ไปด้วยฝีมือของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่เกือบทั้งชีวิตอยู่ในรั้วของอารามนักพรตได้อย่างราบคาบ


ในขณะปกครองอารามและชี้นำวิญญาณผู้คนด้วยความร้อนรน เนื่องจากการวัตรปฏิบัติอันเคร่งคัดตลอดชีวิตของท่าน ทำให้เมื่อล่วงถึงต้นศวตวรรษใหม่เป็นต้นมา ท่านจึงเริ่มมีอาการป่วยเป็นลำดับแต่ก็ไม่ได้หนักมาก จากข้อมูลพอทำให้สันนิษฐานได้ว่าในช่วงประมาณสองสามปีก่อน ค.ศ. 1308 อาการป่วยของท่านน่าจะเริ่มหนักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะปรากฏว่าในช่วงเวลาดังกล่าวน้องชายของท่านที่บวชเป็นภารดาฟรังซิสกันได้มารับท่านไปพบแพทย์รักษาโรคที่รักษาไม่หาย แต่ก็ไร้ผลท่านยังมีอาการป่วยกระเซาะกระแซะตามเดิม และเมื่อล่วงถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1308 อาการป่วยของท่านก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นผลให้ท่านล้มหมอนนอนเสื่อไม่สามารถลุกไปไหนมาไหนได้สะดวก บรรดาซิสเตอร์จึงได้พากันตามแพทย์หลายคนเข้ามาตรวจอาการของท่าน แต่จนแล้วจนรอดอาการของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์ลงความเห็นว่าร่างกายของท่านมีภาวะอ่อนแอเฉย ๆ มิได้เป็นอันตรายใดถึงแก่ชีวิต ในช่วงเวลาเช่นนี้ท่านเริ่มเข้าสู่สภาวะฌานอยู่บ่อย ๆ และมักพูดออกมาเป็นครั้งคราว ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งซิสเตอร์และแพทย์ที่มาเฝ้าดูอาการต่างไม่เข้าใจมากนัก บางคราวท่านก็ร้องเพลงออกมาด้วยความยินดี

เนื่องจากสภาพร่างกายของท่านที่ไม่สู้ดี แพทย์จึงได้แนะนำให้บรรดาซิสเตอร์ทำเตียงพับเคลื่อนที่ไว้สำหรับพาท่านไปส่วนต่าง ๆ ของอาราม หลายครั้งเมื่อบรรดาซิสเตอร์ค่อยประคองท่านมานอนที่เตียงนี้ ท่านจะกล่าวเสมอด้วยสีหน้ายินดีว่า “เธอจะได้คืนเตียงนี้ในไม่ช้า เพราะฉันจะอยู่ที่นี่อีกไม่นานแล้ว” มีคราวหนึ่งท่านอยู่ภาวะเข้าฌานและได้อุทานออกมาในทำนองประหลาดใจกับจำนวนผู้คนในสถานที่แห่งหนึ่ง ซิสเตอร์คนหนึ่งที่อยู่ใกล้จึงถามท่านว่า “เกียรา เธอกลัวไหม” ท่านก็ตอบกลับมาว่า “ฉันไม่มีความกลัวเลย เพราะฉันได้แบกไม้กางเขนของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงบนกางเขนไว้ในหัวใจ” ซิสเตอร์โยวันนาจึงได้ใช้มือทำเครื่องหมายกางเขนที่ท่าน ท่านก็พูดขึ้นว่า “ซิสเตอร์ ใยเธอมาทำเครื่องหมายนี้ให้ฉัน ฉันไม่ได้ต้องการกางเขนภายนอก เพราะฉันมีไม้กางเขนของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงบนกางเขนสลักอยู่ในหัวใจของฉันแล้ว” ท่านมักพูดเช่นนี้อยู่อีกหลายโอกาส ซึ่งไม่มีใครเข้าใจความหมายอย่างแท้จริง จนถึงวันที่ท่านมรณกรรมลงอย่างสงบ


ล่วงถึงวันที่ 10 สิงหาคมหรือวันฉลองนักบุญลอเรนซ์ มรณสักขี ท่านที่นอนป่วยขยับตัวไม่ได้มาหลายวันก็มีสีหน้าแจ่มใสเปี่ยมไปด้วยความสุขและเริ่มขยับแขนขาขึ้น ท่านกล่าวออกมาว่า “ช่วยบอกแม่พระให้ต้อนรับวิญญาณของฉันด้วยเถิด” กล่าวเช่นนี้แล้วท่านจึงหันไปหาบรรดาซิสเตอร์ที่เฝ้าพร้อมพูดว่า “ขอให้เราจงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าและร้องเพลงเต เดอุม เลาดามุส (บทขอบพระคุณ) กันเถิด เหตุว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงปรารถนาจะพาฉันกลับไปกับพระองค์ เมืองสวรรค์ก็ดี ชาวสวรรค์ทั้งหลายก็ดีต่างกำลังเตรียมต้อนรับฉัน และฉันก็ปรารถนายิ่งที่จะเชิญคนทั้งโลกมาร่วมในงานวิวาห์นี้” แล้วท่านจึงหันไปอุทานว่า “โอ้ ความสนิทสัมพันธ์ในชีวิตนิรันดร์” คล้ายกับท่านกำลังสนทนากับบรรดานักบุญที่ลงมาจากสวรรค์พร้อมองค์พระเยซูเจ้าในเวลานี้ แล้วท่านจึงหันกลับมาพูดกับซิสเตอร์ที่เฝ้าท่านว่า “ฉันอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว พวกเธอกำลังทำอะไรกันอยู่ ดูนั่นสิ เมืองสวรรค์กำลังเตรียมต้อนรับฉันแล้ว เพราะพระองค์ทรงประสงค์ตัวฉัน ทั้งนักบุญฟรังซิส และบรรดานักบุญก็ต่างพร้อมใจมารับฉันแล้ว เพราะพระเยซูคริสตเจ้าทรงประสงค์ตัวฉัน”

วันเดียวกันนอกจากพระเจ้าจะทรงเผยแสดงให้ท่านเห็นว่า วันเวลาที่ท่านจะได้เข้าสู่พิธีวิวาห์ในสวรรค์นั้นใกล้เข้ามาเต็มที พระองค์ยังทรงแสดงพระยุติธรรมของพระองค์ ซึ่งเราทราบจากคำกล่าวของท่านกับซิสเตอร์ที่เฝ้าท่านว่า “ฉันเห็นพระยุติธรรมของพระในทุกสรรพสิ่ง และเห็นว่าสารพัดสิ่งทรงสร้างนั้นล้วนดี ฉันไม่เห็นสิ่งใดเลวเลยยกเว้นสิ่งเดียวเท่านั้น” ซิสเตอร์ผู้หนึ่งที่ได้ยินท่านกล่าวเช่นนี้จึงถามท่านว่า “เกียรา ฉันเป็นคนเลวหรือไม่” ท่านไม่ตอบอะไรเพียงแต่กล่าวต่อว่า “ฉันเห็นว่าสารพัดสิ่งนั้นล้วนดี และไม่มีสิ่งใดเลวยกเว้นบาป” วันนั้นเนื่องจากการขยับตัวในระหว่างนิมิต ซิสเตอร์โยวันนาจึงได้เตรียมขี้ผึ้งมาทาบรรเทาอาการเจ็บให้ท่าน แต่ท่านก็ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รู้สึกอะไร ก่อนที่ท่านจะได้เห็นปีศาจมาปรากฏข้างเตียงท่าน ท่านจึงได้ออกปากไล่มันไปด้วยความเชื่ออย่างแน่วแน่ ว่าท่านไม่ประสงค์สิ่งใดจากมัน เพราะท่านรู้ดีว่าประสงค์ตัวท่าน ผู้เป็นดั่งตะเกียงส่องแสงสว่าง ซึ่งทำให้แผนการณ์ของมันต้องล้มเหลวมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา มันจึงประสงค์ช่วงชิงวิญญาณท่านไปเป็นของมันแม้ในวาระสุดท้ายของท่านในโลก

มรณกรรมของนักบุญเกียรา

ห้าวันต่อมาในวันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ท่านได้เรียกบรรดาซิสเตอร์ในอารามไม้กางเขนทั้งหมดมาพบเพื่อให้โอวาทและปลอบประโลมพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย ท่านกล่าวเตือนบรรดาซิสเตอร์ตอนหนึ่งว่า “ธิดาและพี่สาวที่รักของฉัน ฉันขอยกถวายวิญญาณของพวกท่านและของฉันด้วยแด่พระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงไม้กางเขน ฉันมอบถวายเหล่านี้ทั้งหมดไว้ในพระหัตถ์ของพระด้วยความห่วงใยที่ฉันมีให้พวกท่านทั้งหลาย จงถ่อมตน นบนอบ อดทน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความรักเมตตา และดำเนินชีวิตในวิถีทางที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะได้รับการสรรเสริญในตัวของท่านทั้งหลาย และความดีที่พระเจ้าทรงได้เสกสรรไว้แก่วิญญาณของพวกท่านจะไม่เลือนหายไป” และเมื่อท่านได้กล่าวให้โอวาทอย่างร้อนรนเป็นเวลาสักพักใหญ่แล้ว ท่านจึงได้รับศีลเจิมผู้ป่วยตามที่ท่านร้องขอ รุ่งขึ้นอาการของท่านยังทรงตัว วันนี้ท่านเฝ้ารำพันออกมาเป็นระยะว่า “ปล่อยฉันไปเถิด” แพทย์ที่มาเยี่ยมท่านผู้หนึ่งจึงถามท่านว่า “ซิสเตอร์เกียรา ซิสเตอร์จะไปไหน” ท่านก็ตอบกลับมาสั้น ๆ ว่า “ไปหาองค์พระผู้เป็นเจ้าของฉัน”

คล้อยถึงเช้าวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม ท่านได้เรียกให้ซิสเตอร์ในอารามทุกคนมาพบท่านอีกครั้ง และขอให้พาท่านขึ้นเตียงพับเคลื่อนที่ไปยังวัดของอาราม เมื่อถึงที่หมายด้วยใบหน้าที่แช่มชื่นยินดี ท่านกล่าวกับซิสเตอร์ทุกคนว่า “บัดนี้ฉันไม่มีอะไรจะพูดกับพวกท่านอีกต่อไปแล้ว พวกท่านอยู่กับพระเป็นเจ้าแล้วและฉันก็จะไปหาพระองค์” แล้วท่านจึงลุกนั่งขึ้นบนเตียง ถอนหายใจออกเบา ๆ ช้อนดวงตาขึ้นไปยังเบื้องบน และก็เป็นเวลานั้นเองที่ท่านในวัย 40 ปี ได้ถวายคืนวิญญาณไปหาพระเป็นเจ้าอย่างสงบ โดยไม่มีสัญญาณของความเจ็บปวดใด ๆ และในเวลาที่ลมหายใจสุดท้ายของท่านหมดลง อัศจรรย์ประการแรกปรากฏขึ้นในทันที เมื่อร่างของท่านยังคงนิ่งอยู่อย่างนั้นตั้งแต่ช่วงแปดโมงเช้าไปจนถึงประมาณบ่ายสองโมง ผิวยังคงระเรื่อชมพู ศีรษะตั้งตรง ดูคล้ายกับบุคคลที่กำลังจมดิ่งในภาวะฌาน แพทย์หลายคนที่ได้ถูกตามมาทดสอบ ต่างฉงนสนเท่ห์เมื่อพบว่าท่านได้ถึงมรณกรรมไปแล้ว

ก้อนหินสามก้อนที่พบในถุงน้ำดีของท่านนักบุญ

พวกซิสเตอร์ในอารามเฝ้าสังเกตุเหตุอัศจรรย์นี้อย่างพิศวง จนเห็นว่าร่างท่านเริ่มซีดลง พวกเธอจึงมั่นใจว่าท่านได้จากพวกเธอไปแล้วจริง ๆ และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของอัศจรรย์อีกประการ เมื่อพวกซิสเตอร์ลงความเห็นว่าจะรักษาสภาพร่างของท่านให้ไม่เน่าเปลื่อย โดยมีผู้ลงมือทำ คือ ซิสเตอร์มีอายุภายในอารามจำนวนเจ็ดคน คือ ซิสเตอร์ฟรังเชสกา ซิสเตอร์มารีนา ซิสเตอร์อิลลูมินาตา ซิสเตอร์เอเลนา ซิสเตอร์กาเตรีนา และซิสเตอร์มาร์เกอริตา ทั้งเจ็ดได้ลงมือใช้มืดเล่มใหญ่ผ่าตามแนวสันหลังของท่าน แต่ปรากฏว่าซิสเตอร์สองคนหลังเมื่อเห็นซิสเตอร์ผู้หนึ่งปฏิบัติเช่นนั้นก็เกิดความกลัวขึ้นมาจึงได้ผละจากปฏิบัติการครั้งนี้ไป คงเหลือแต่ซิสเตอร์อีกห้าคนที่ช่วยกันค่อย ๆ นำเครื่องในของท่านออกมา แล้วจึงนำเสื้อชั้นในมารัดร่างท่านให้เรียบร้อย ในการผ่าตัดครั้งนั้นเมื่อมีการผ่าถุงน้ำดีท่านออก นอกจากจะไม่พบของเหลวภายใน พวกซิสเตอร์ยังพบหินสามก้อนที่มีขนาดเท่า ๆ กันมีสีเข้มที่ภายใน คุณพ่อเบเคงเยอร์ เดอ แซงตาฟฟริคซึ่งได้เดินทางมาตรวจสอบเรื่องนี้ในเวลาต่อมาได้เสนอว่านี่คือ เครื่องหมายถึงพระตรีเอกภาพ

ภายหลังจากการค้นพบหินทั้งสามก้อนในคืนวันเสาร์ ในเย็นวันต่อมาพวกซิสเตอร์ก็ได้พบอัศจรรย์อีกประการที่ภายในร่างของท่าน เมื่อมีการผ่าหัวใจของท่านออกเพื่อเตรียมรักษาสภาพ พวกเธอก็ได้พบกับภาพ ‘ไม้กางเขนและแส้เฆี่ยนตัว’ อยู่ในหัวใจของท่าน ทำให้ทุกคนที่เคยได้ยินท่านกล่าวเสมอว่า “ฉันมีไม้กางเขนของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงบนกางเขนสลักอยู่ในหัวใจของฉันแล้ว” จึงเข้าใจความหมายของคำพูดนี้ในทันที ข่าวการพบเครื่องหมายอัศจรรย์ในหัวใจของท่านนี้ถูกแจ้งแก่น้องชายของท่านและคุณหมอซีโมเน แห่ง สโปเลโต ซึ่งคอยมารักษาท่าน และไม่นานข่าวอัศจรรย์นี้ก็แพร่ไปทั่วเมือง เป็นเหตุให้ในวันจันทร์ ภารดาเปียโตร แห่ง ซาโลโมเนต้องรีบควบม้าไปแจ้งข่าวกับพระสังฆราชแห่งสโปเลโตถึงเรื่องดังกล่าว แต่เนื่องจากในเวลานั้นพระสังฆราชแห่งสโปเลโตไม่อยู่ คุณพ่อเบเคงเยอร์ เดอ แซงตาฟฟริค อุปสังฆราชด้านชีวิตฝ่ายจิต (vicario in spiritualibus) ประจำสังฆมณฑลสโปเลโต พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสจึงเป็นผู้รับเรื่อง และได้เดินทางมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวในวันอังคาร พร้อมความตั้งใจที่จะมายับยั้งเรื่องเหลวไหลดังกล่าว เนื่องจากคุณพ่อทราบเพียงว่า พวกซิสเตอร์อารามไม้กางเขน ได้นำหัวใจของซิสเตอร์เกียราออกมาและบอกกับทุกคนว่าเธอเป็นนักบุญ

ตำแหน่งเครื่องหมายพระมหาทรมานในหัวใจของนักบุญเกียรา

เมื่อมาถึงมอนเตฟัลโกแล้ว คุณพ่อเบเคงเยอร์ได้ลงมือตรวจสอบเรื่องราวชีวิตของท่านเบื้องต้น พร้อมกับได้ทำการตรวจสอบหัวใจของท่านพร้อมกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ คุณพ่อได้บันทึกว่า “อันที่จริงแล้วภายในหัวใจของหญิงพรหมจารีผู้นี้ ด้านหนึ่งปรากฏเส้นประสาทเป็นรูปไม้กางเขน ตะปูสามดอก ฟองน้ำ และไม้อ้อ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปเสา แส้ห้าเส้น และมงกุฏ” และได้คำยืนยันจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญว่าสิ่งที่พบในหัวใจและถุงน้ำดีของท่านไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เหตุอัศจรรย์เบื้องหน้านี้เองเมื่อรวมเข้ากับข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของท่านจึงทำให้คุณพ่อเบเคงเยอร์มีความคิดเปลี่ยนไปในทันที คุณพ่อได้เริ่มลงมือสืบประวัติของท่าน ก่อนจะเดินทางกลับมายังสโปเลโตพร้อมเอกสารปึกหนึ่งด้วยความเชื่อว่าสังฆมณฑลที่ท่านประจำอยู่นี้ได้สูญเสียนักบุญไปแล้วอีกองค์ แต่เมื่อคุณพ่อเดินทางมาถึงสโปเลโต คุณพ่อก็ถูกเพื่อนพระสงฆ์ด้วยกันปรามถึงเรื่องที่คุณพ่อเชื่อ เป็นผลให้คุณพ่อกลัดกลุ้มเป็นอย่างหนัก ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นผลงานของปีศาจที่พยายามจะขัดขวางไม่ให้เรื่องของท่านเป็นที่รู้จัก ด้วยความเกลียดชังของมันที่มีต่อตัวท่าน มันที่เห็นว่าเล่นงานท่านไม่ได้ จึงได้พุ่งเป้ามายังคุณพ่อเบเคงเยอร์ ผู้จะกลายมาเป็นตัวละครสำคัญของเรื่องราวของท่าน

หากผู้อ่านอ่านถึงตรงนี้ก็คงพอจะเดาได้แล้วว่า เจ้าของร่างที่อยู่ในห้วงของความสับสนในตอนต้นของเรื่องราวในวันนี้คือใคร ร่างนั้นไม่ใช่ใครอื่นแต่คือ ร่างของคุณพ่อเบเคงเยอร์ที่กำลังเตรียมจะโยนเอกสารสอบเรื่องราวของท่านทิ้งลงกองไฟเพื่อให้ทุกอย่างจบลง แต่ในเสี้ยวนาทีที่คุณพ่อได้สวดภาวนาจากก้นบึ้งของหัวใจที่สับสนนั้นเอง ร่างหนึ่งก็ได้ปรากฏมาหาคุณพ่อ ร่างนั้นสวมอาภรณ์สีขาว ประด้วยแถบสีม่วงที่แขนเสื้อ มีเสื้อชั้นนอกตัวยาวเป็นทรงคล้ายดัลมาติกามีลายกลมทำจากผ้าไหมเนื้อดี ร่างนั้นไม่ได้เอื้อนเอ่ยสิ่งใด แต่นำความบรรเทาใจเป็นอันมากมาสุดหัวใจของคุณพ่อเบเคงเยอร์ เพราะคุณพ่อทราบในทันทีที่ภายในว่าร่างเบื้องหน้านี้คือ เกียราแห่งมอนเตฟัลโก ทำให้นับตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา คุณพ่อไม่ได้กังขาเลยว่าท่านเป็นนักบุญและตระหนักว่าตนเองมีหน้าที่จะต้องทำหน้าที่รวบรวมเรื่องราวของท่านเพื่อการนี้ ดังนั้นภายหลังได้รับอนุญาตจากพระคุณเจ้เปียโตร เปาโล ตรินชี ใน ค.ศ. 1309 คุณพ่อจึงได้เริ่มลงมือสอบสวนชีวประวัติของท่านโดยละเอียดเพื่อประกอบการสถาปนาท่านเป็นนักบุญ (ภายหลังคุณพ่อได้ตีพิมพ์เอกสารสำคัญ คือ ชีวิตของนักบุญเกียรา แห่ง ไม้กางเขน ใน ค.ศ. 1315) และได้เดินทางไปเมืองอาวิญง ที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประทับในเวลานั้นเพื่อทูลเรื่องนี้กับสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5

กางเขนและแส้ที่พบในหัวใจของนักบุญเกียรา

การดำเนินการสอบพยานถึง ‘ชีวิต ฤทธิ์กุศล อัศจรรย์ และการไขแสดง’ ของท่านดำเนินมาถึง ค.ศ. 1315 เอกสารการสอบสวนเรื่องราวของท่านจึงถูกทรงไปยังเมืองอาวิญง เพื่อให้สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 22 ทรงพิจารณาเรื่องการประกาศท่านเป็นบุญราศี เวลานั้นมีเสียงจากบรรดาผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองฝ่ายศาสนาและคริสตชนในแคว้นอุมเบรียจำนวนมากที่เรียกร้องให้มีการสถาปนาท่านเป็นนักบุญโดยเร็วไว ดังนั้นสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 22 จึงได้ทรงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องราวของท่านประกอบด้วยพระสังฆราชแห่งเปรูจา พระสังฆราชแห่งโอร์วิเอโต และผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองสโปเลโตให้ดำเนินการดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1317 โดยทรงประกาศเพิ่มเติมในวันที่ 22 มีนาคม ปีต่อมาว่าไม่ให้ผู้ดำเนินการทั้งสามเรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนเมื่อต้องเดินทางมาสอบสวนเรื่องราวของท่าน เนื่องจากสถานภาพทางการเงินของอารามไม้กางเขนที่ไม่สู้ดี กระบวนการดังกล่าวแล้วเสร็จลงใน ค.ศ. 1319 โดยมีพยานที่ให้การครั้งนี้ถึง 470 คน และเอกสารชุดนี้ที่ปรากฏอัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่านถึง 300 รายการได้ถูกส่งไปยังอาวิญง เพื่อตรวจสอบอีกครั้งโดยพระคาร์ดินัลสามองค์ที่พระสันตะปาปาทรงแต่งขึ้นเพื่อการนี้ นักประวัติศาสตร์ในชั้นหลังชี้ว่าการดำเนินกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญนี้เป็นการดำเนินกระบวนการอย่างเป็นระบบครั้งแรก ๆ ของพระศาสนจักร

แต่แล้วในขณะที่ความหวังของผู้คนจำนวนมากที่ตั้งตารอการแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญจะเป็นจริง ก็ดูเหมือนว่าปีศาจที่พยายามขัดขวางการทำให้โลกรู้จักท่าน อันจะเป็นทางหนึ่งที่มันจะต้องสูญเสียวิญญาณไปจึงได้เริ่มแผนการณ์ใหม่ของมัน เพราะในขณะที่ถึงขั้นสุดท้ายของการพิจารณาเรื่องท่านนั้น เมื่อเอกสารต่าง ๆ พร้อมสรรพมีการสรุปความเห็นของพระคาร์ดินัลทั้งสามและคัดเลือกอัศจรรย์จำนวน 35 รายการเพื่อประกอบการบันทึกนามท่านเป็นบุญราศีในประมาณ ค.ศ. 1330 กระบวนการทั้งหมดก็ถูกพักไปภายหลังการสิ้นใจของสองในสามพระคาร์ดินัลที่ตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมื่อมองในบริบทโดยรอบ มีประวัติของท่านบางสำนวนชี้ว่าการพับกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญลงไป ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 22 ซึ่งทรงไม่พอพระทัยเท่าไรที่ท่านมีสายสัมพันธ์กับตระกูลโกโลนนา ซึ่งมีอำนาจในพระศาสนจักรอิตาลี และความเป็นชาวอิตาลีของท่าน (ในเวลานั้นพระสันตะปาปาเป็นชาวฝรั่งเศส) ในขณะที่ประวัติบางสำนวนชี้ว่ามาจากการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปายอห์นที่ 22

พระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7

กระบวนการของท่านถูกเพิกเฉยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งในประเด็นที่ว่า ท่านควรจะเป็นนักบุญในสังกัดคณะนักบวชใด แม้ใน ค.ศ. 1497 คณะออกัสตินได้ร้องขอให้มีการพิจารณาแต่งตั้งเรื่องราวของท่านอีกครั้ง ภายหลังจากสิ้นสุดความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในอารามไม้กางเขนระหว่างคณะฟรังซิสกันและคณะออกัสติน ซึ่งนำไปสู่การแยกอารามเป็นสองแห่งเนื่องจากความไม่ชัดเจนของอาศรมแห่งแรกที่โยวันนาพี่สาวของท่านได้ตั้งขึ้น ที่ปะทุขึ้นในศวตรรษที่ 15 แต่สันตะสำนักก็เพิกเฉยต่อคำขอนี้ ซึ่งมูลเหตุก็อาจจะมาจากความขัดแย้งข้างต้น จำต้องรอเวลาอีกกว่าสามร้อยปี ทางสันตะสำนักในสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 พระองค์จึงได้ทรงบันทึกนามท่านในสารบบบุญราศีในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1737 โดยอาศัยการรับรองคารวะกิจ (cultus confirmation) ที่มีต่อท่าน ตามแนวทางของกฤษฎีกาชื่อ ‘กาเอเลสติส เยรูซาเลม ซีเวส’ (Caelestis Hierusalem Cives) ซึ่งมีใจความห้ามแสดงคารวะกิจต่อนักบุญในที่สาธารณะ เว้นเสียคารวะกิจนั้นจะได้รับอนุญาตโดยสมณะกระทรวงว่าด้วยจารีต (Congregation of Rites) และพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นได้รับการแสดงคารวะกิจโดยสาธณชนมาอย่างน้อย 100 ปี ก่อนจะมีการประกาศกฤษฎีกาฉบับนี้

หลังจากนั้นกระบวนการของท่านก็ถูกเพิกเฉยอีกครั้ง จนผ่านมาอีกศตวรรษ ใน ค.ศ. 1846 กระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญจึงได้รับการปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่งจากดำริของนักบุญพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 แต่ไม่วายเนื่องด้วยปัญหาด้านขั้นตอนบางประการ กระบวนการพิจารณาคราวนี้ก็ต้องพับไปอีกรอบ แต่ที่สุดเมื่อวันเวลาล่วงมาได้ 573 ปี หลังมรณกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และเหตุการณ์อัศจรรย์ ณ อารามไม้กางเขน กระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญก็มาถึงบทสรุป เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้ทรงประกาศให้บุญราศีเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก ขึ้นเป็นนักบุญในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1881 เป็นผลให้นามของนักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก เป็นที่รู้จักตราบถึงทุกวันนี้ และในวันนี้นอกจากก้อนหินสามก้อนที่พบในถุงน้ำดี ไม้กางเขน และแส้ที่พบในหัวใจของท่านจะยังคงอยู่เป็นประจักษ์พยานถึงเรื่องราวอันน่ามหัศจรรย์ที่อารามไม้กางเขน เมืองมอนเตฟัลโก ในสวนของอารามแห่งนี้ ต้นเลี่ยนที่มีถิ่นกำเนิดในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งนักเดินทางปริศนา (พระเยซูเจ้า) ได้ทิ้งกิ่งของมันไว้ให้ท่านและท่านก็ได้ลงมือปลูก ก็ยังคงยืนต้นออกดอกผล และทุกวันนี้พวกซิสเตอร์ในอารามก็ยังพากันเก็บผลแห้งของต้นไม้อัศจรรย์นี้ นำมาทำสายประคำสำหรับจำหน่ายให้บรรดานักจาริกเหมือนในอดีต

ต้นเลี่ยนของนักบุญเกียราในปัจจุบัน

การจะกล่าวสรุปชีวิตของท่านนักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก ผู้มีชีวิตอยู่เมื่อเกือบแปดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา อาจสรุปได้ด้วยท่อนหนึ่งของบทเพลงสี่บทซึ่งถูกเรียกว่า ‘เพลงของผู้รับใช้พระยาห์เวห์’ อันเปี่ยมไปด้วยความหวังของประกาศกอิสยาห์ที่ว่า “ทรงทำให้ข้าพเจ้าเป็นเสมือนลูกศรแหลมคม และทรงซ่อนข้าพเจ้าไว้ในแล่งเก็บลูกศรของพระองค์” (อิสยาห์ 49 : 2) ชีวิตของนักบุญเกียรา คือ การเรียกร้องเราคริสตชนทุกคน ในทุกสถานภาพให้ตระหนักว่า เรานี้เป็นเครื่องมือที่พระทรงจัดเตรียม เป็นทางแห่งพระพรเพื่อคนรอบข้าง ดุจเดียวกับที่ทรงใช้กษัตริย์ไซรัสเพื่อปูทางให้ประวัติศาสตร์ความรอดของพระองค์ (เทียบ อิสยาห์ 46 : 11, 48 : 15) ชีวิตสี่สิบปีของท่านบนโลกแสดงให้เราเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า พระเจ้าทรงเตรียมเราแต่ละคนให้เป็นเครื่องมือของพระองค์ด้วยหนทางอันน่าพิศวง ในความหมายที่ว่าหนทางนี้เกินความเข้าใจตามประสามนุษย์จะนึกถึง (ดังนั้นมันไม่จำเป็นต้องเป็นภาพนิมิต เครื่องหมายเหนือธรรมชาติ แต่อาจเป็นประสบการณ์ในชีวิตก็ได้) ตั้งแต่เราอยู่ในครรภ์ของมารดา เพื่อนำมนุษย์คนอื่น ๆ ที่ยังไม่อยู่ในหนทางแห่งความรอดมาสู่ความรอด

และเพราะพระเจ้าทรงให้อิสระกับมนุษย์ พระองค์จึงไม่ทรงบังคับเรา แต่ทรงเชื้อเชิญให้เราตอบสนองต่อเสียงเรียกของพระองค์และวางใจในแผนการของพระเจ้า ด้วยวิธีการเช่นนี้เอง ผ่านชีวิตของท่านนักบุญเกียรา เราจึงได้มองเห็นข้อเท็จจริงอีกประการว่า เมื่อมนุษย์ตอบสนองเสียงเรียกของพระเจ้าในการติดตามและเป็นเครื่องมือของพระองค์ด้วยความวางใจว่าความรักพระเจ้าต่อมนุษย์ไม่เคยไม่ดี มนุษย์สามารถก้าวข้ามขอบเขตที่ตัวเองคิดว่าตัวเองสามารถทำได้ และได้กลายเป็นเครื่องมือของพระองค์ได้อย่างไร นั่นคือประวัติของท่านได้แสดงให้เราเห็นว่าเมื่อท่านตอบสนองเสียงเรียกของพระ ในการสละชีวิตทางโลกเข้าเป็นนักพรต ท่านที่เป็นเพียงผู้หญิงธรรมดา ๆ อาศัยอยู่ในขอบเขตที่จำกัดของอารามสามารถช่วยวิญญาณที่หลงผิดให้กับเข้ามาหาพระองค์ไม่เพียงด้วยคำภาวนา และพลีกรรม แต่ด้วยการพูดคุยและการมีชีวิตเป็นประจักษ์พยานตลอดชีวิตของท่าน และเมื่อท่านสิ้นใจลงชีวิตของท่านได้กลายเป็นแบบฉบับให้คริสตชนในเวลาต่อ ๆ มาได้ศึกษาและไตร่ตรอง ตัวอย่างเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่เรายังพบตัวอย่างเช่นนี้จากบุคคลในคัมพระคัมภีร์อย่างแม่พระและนักบุญยอแซฟเช่นกัน


ดังนั้นในท้ายนี้ขอให้ชีวิตในวันนี้ของท่านนักบุญเกียราหนุนหนำใจเราทุกคน ในการติดตามและเป็นเครื่องมือนำพระพรของพระลงมาสู่โลก ขอให้เมื่อเราตอบสนองเสียงเรียกของพระ ให้เรามีความเชื่อ ความอดทน และความกล้าหาญในการสู้ทนกับการลับคมวิญญาณของพระเจ้าดุจเดียวกับที่ท่านมีตลอดคืนมืดของวิญญาณที่ยาวนานนับสิบปี เพื่อว่าเราจะเป็นลูกศรที่แหลมคงซึ่งพระจะทรงใช้เพื่อนำความรอดไปยังผู้คนเช่นเดียวกับที่ทรงใช้ท่านนักบุญเกียรา ขอให้เราได้กลายเป็น ‘พุน้ำทิพย์ของพระเจ้า’ เช่นเดียวกับท่าน ผ่านการทิ้งตัวลงในความรักของพระเจ้า แล้ววางใจให้พระองค์ทรงกระทำกิจการภายในตัวของเรา ให้พระเจ้าทรงเติมเต็มวิญญาณของเราจนเอ่อล้นไปยังวิญญาณอื่น ๆ ที่กระหายหาพระองค์  และขอให้หัวใจพร้อมวิญญาณของเราเป็นที่มั่นคง ซึ่งพระเยซูเจ้าจะทรงสามารถตั้งไม้กางเขนหรือความรักของพระองค์ไว้เช่นเดียวกับที่ทรงกระทำกับท่าน เพื่อว่าความรักความเมตตาจะหล่อเลี้ยงตัวเรา และลินไหลออกมาไปสู่คนอื่น ๆ อาแมน
รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
18 มีนาคม ค.ศ. 2024

“ข้าแต่ท่านนักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
https://it.m.wikipedia.org/wiki/Berengario_di_Saint-Affrique
https://en.wikipedia.org/wiki/Clare_of_Montefalcohttps://www.acistampa.com/story/6662/montefalco-tanti-giovani-per-santa-chiara-della-croce-6662
https://www.agostinianemontefalco.it/chiara/index.php/2-non-categorizzato/1-vita-di-s-chiara
https://www.treccani.it/enciclopedia/chiara-da-montefalco-santa_%28Dizionario-Biografico%29/?_x_tr_hist=true
https://www.treccani.it/enciclopedia/bentivenga-da-gubbio_%28Dizionario-Biografico%29/?_x_tr_hist=true
http://www.cassiciaco.it/navigazione/monachesimo/agiografia/santi/chiara.html
https://www.interris.it/la-voce-degli-ultimi/passione-nozze-mistiche-santa-chiara-della-croce/
http://www.keytoumbria.com/Montefalco/St_Clare_of_Montefalco.html

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน ผู้ใหญ่ในคณะคนแรก ๆ ที่ท่านแสวงหา...