วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567

'เกียรา' พุน้ำทิพย์ของพระเจ้า ตอนแรก

นักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก
St. Chiara da Montefalco
ฉลองในวันที่: 17 สิงหาคม
องค์อุปถัมภ์: เมืองมอนเตฟัลโก

“ทรงทำให้ข้าพเจ้าเป็นเสมือนลูกศรแหลมคม และทรงซ่อนข้าพเจ้าไว้ในแล่งเก็บลูกศรของพระองค์”
(อิสยาห์ 49 : 2)

ยามดึกสงัดในเมืองสโปเลโต จังหวัดเปรูจา แคว้นอุมเบรีย ภาคกลางของประเทศอิตาลี ชายผู้หนึ่งกำลังจมอยู่ในห้วงของความสับสนถึงสิ่งที่เขาได้ประสบมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านที่เมืองใกล้เคียง คำถามมากมายประเดประดังเขามาภายในวิญญาณของเขา จนทำให้ใจของเขารู้สึกหน่วงหนักไปหมด ‘นี่เป็นกิจการของผีปีศาจหรือพระเจ้ากันแน่’ คำถามเช่นนี้ทำให้ใจของเขาหนักอึ้งไปหมด เขายืนทอดสายตามองไปยังเอกสารปึกหนึ่งที่เขาได้ร่างขึ้นจากเรื่องราวที่เขาได้ยินและเห็นมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่สุดในเสี้ยวนาทีก่อนเขาจะตัดสินใจโยนเอกสารปึกนั้นใส่กองไฟเพื่อจบเรื่องราวทุกอย่างลง เขาก็ได้ยกจิตใจที่ปวดร้าวอย่างถึงที่สุดจากการต้องตัดสินใจบางอย่างกับเอกสารเบื้องหน้าขึ้นหาพระเจ้า พระผู้ทรงบันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไป ทูลพระองค์ว่า “ข้าแต่องค์ผู้ทรงเป็นเจ้าของลูก ลูกวิงวอนพระองค์โปรดแสดงน้ำพระทัยของพระองค์ให้ลูกแจ้งใจด้วยเถิด เพื่อว่าลูกจะได้รู้ว่าต้องทำอย่างไรกับเรื่องของเกียรา ผู้ที่ตัวลูกเองก็ไม่เคยพบและรู้จักว่านางนั้นเป็นใคร ลูกสรรพพร้อมจะไม่แยแสทั้งนักบุญเปโตรและเปาโล หรือนักบุญองค์อื่น ๆ แม้ท่านเหล่านั้นจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้บรรลุถึงชีวิตนิรันดร์ เว้นเสียแต่ลูกจะได้ทราบว่านั่นคือการได้ทำตามสิ่งที่พระองค์ทรงพอพระทัย”

ใครคือ ‘เกียรา’ ที่เป็นสาเหตุของความกังวลใจของชายผู้หนึ่งในเมืองสโปเลโตในค่ำคืนนี้ การจะไขคำตอบดังกล่าวก็จำต้องย้อนไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไปยังเมืองอีกแห่งในจังหวัดเปรูจา ซึ่งตั้งอยู่ขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อยจากเมืองสโปเลโตนามว่า ‘มอนเตฟัลโก’ ณ เมืองแห่งนี้มีเศรษฐีสองสามีภรรยาคู่หนึ่งนามว่า ‘ดามีอาโน’ และ ‘ยาโกปา’ ทั้งสองมีบุตรธิดาน่ารักทั้งสิ้นสี่คนเป็นหญิงสามคนและชายหนึ่งคน ‘เกียรา’ เจ้าของเรื่องราวของพวกเราในวันนี้เป็นธิดาคนที่สองของครอบครัวนี้ เราไม่ทราบวันเดือนปีเกิดที่แน่ชัดของท่าน เพียงแต่ทราบว่าท่านเกิดประมาณ ค.ศ. 1268 ที่เมืองแห่งนี้ ท่านมีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ โยวันนา และมีน้องสาวและน้องชายอย่างละหนึ่งคน คือ เตโอโดรูชชีอา (เสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก) และฟรังเชสโก (เกิดหลังจากท่านประมาณสี่ปี)


จากประวัติของท่านที่เข้าถึงได้ เราไม่พบรายละเอียดมากเท่าใดเกี่ยวกับชีวิตภายในครอบครัวนี้ แต่ก็คงคะเนได้ว่าทั้งดามีอาโนและยาโกปาก็คงจะเป็นสองสามีใจศรัทธาคู่หนึ่ง เพราะปรากฏว่าในเวลาต่อมาเมื่อธิดาของทั้งสองปรารถนาจะใช้ชีวิตเป็นนักพรต ทั้งสองก็มิได้ขัดข้องรวมถึงดามีอาโนเองก็เป็นคนสร้างอาศรมให้ธิดาของเขาได้ใช้พำนักเพื่อการนี้ด้วย ไม่เพียงเท่านั้นบุตรชายเพียงคนเดียวของบ้านนี้ในเวลาต่อมาก็ได้ถวายตัวเป็นนักบวชคณะฟรังซิสกัน ดังนั้นจึงอาจพอคะเนได้ว่า ชีวิตในวัยเยาว์ของหนูน้อยเกียราก็น่าจะได้รับการเลี้ยงดูอยู่ท่ามกลางความศรัทธาในคริสต์ศาสนาและความสะดวกสบายครบครันไม่น้อย และก็ดูเหมือนว่าตั้งแต่วัยยังไม่ประสาโลกนี้เอง พระเจ้าก็ทรงแสดงเครื่องหมายพิเศษกับท่าน ไม่ใช่เพื่อทำให้ท่านพิเศษกว่าคนอื่น แต่เพื่อเตรียมท่านให้เป็น ‘เครื่องมือ’ อีกชิ้นที่จะนำพระพรของพระองค์ไปยังโลก ไม่เพียงแต่ในเวลาที่ท่านมีชีวิต แต่ยังรวมถึงเวลาในยุคต่อ ๆ มาทั้งในฐานะ ‘ต้นแบบ’ ‘ผู้ช่วยเหลือ’ และ ‘แรงบันดาลใจ’

เล่ากันว่าในช่วงวัยไร้เดียงสานี้เองระหว่างหนูน้อยเกียราสวดภาวนา มีหลายต่อหลายครั้งพระมารดาพระเจ้าพร้อมพระกุมารเยซู ผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับหนูน้อยและทรงอยู่ใต้เสื้อคลุมของพระมารดาที่รักของพระองค์ได้เสด็จมาหาหนูน้อย ในนิมิตอันน่าพิศวงนี้องค์พระกุมารได้แสดงความเสน่ห์หาในตัวหนูน้อย พระองค์ทรงขยับพระวรกายเข้ามาใกล้หนูน้อยโดยมีพระมารดาทรงคอยช่วยเหลือ แล้วทรงจับมือของหนูน้อยขึ้นมา พลันในเวลานั้นความบรรเทาใจพิเศษที่ไม่เหมือนที่ใดก็แล่นตรงเข้าสู่หัวใจดวงน้อย ๆ ของเจ้าสาวผู้ได้รับเลือกสรร ฟากท่านเองที่เห็นพระองค์ทรงแสดงความสนิทเสน่ห์หาเช่นนี้ด้วยความคิดประสาเด็ก ๆ ก็ปรารถนาจะพาพระกุมารน้อยมาเล่นสนุกด้วยกัน แต่ทันใดพระกุมารก็รีบกลับไปสู่อ้อมอกพระมารดาที่รักแล้วจากไป เหลือทิ้งไว้แต่เพียงความปรารถนาอันลุกร้อนภายในใจอย่างลับ ๆ ในตัวเจ้าสาวตัวน้อยของพระองค์ ดั่งความปรารถนาของหญิงคู่รักต่อชายอันเป็นที่รักในบทเพลงของซาโลมอน

วัดนักบุญอิลลูมินาตา เมืองมอนเตฟัลโกในปัจจุบัน

ความปรารถนาเช่นนี้ทำให้หนูน้อยเริ่มแสวงหาหนทางที่จะติดตามพระคริสตเจ้าที่เหมาะสมกับตัวเอง ดั่งหญิงคู่รักในบทเพลงซาโลมอนที่กล่าวกับชายคู่รักว่า “หวานใจของดิฉันเอ๋ย จงบอกดิฉันซิว่า เธอต้อนฝูงสัตว์ไปเลี้ยงอยู่ที่ไหน เวลาเที่ยงวันเธอให้ฝูงสัตว์นอนพักที่ใด ดิฉันจะได้ไม่ต้องเป็นเหมือนหญิงเร่ร่อน เที่ยวตามหาฝูงสัตว์ของบรรดาเพื่อนของเธอ” (เพลงซาโลมอน 1 : 7) และดูเหมือนว่าท่านจะเข้าใจว่า ‘ความเงียบสงัด’ จะทำให้ท่านได้พบว่าพระองค์ทรงต้อนฝูงแกะของพระองค์ไปอยู่ใด ดังนั้นท่านในวัย 4 ปี จึงเริ่มชอบหลีกเร้นจากผู้คนเข้าไปขังตัวเองไว้ในสถานที่อันสงัดพ้นจากสายตาผู้คนในบ้าน เพื่อสวดภาวนาใช้เวลาอยู่กับพระเจ้าเพียงลำพังอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อพบว่าภายในบ้านนั้นท่านไม่อาจปฏิบัติได้เช่นนั้นเป็นเวลานานมากพอ ท่านจึงได้ออกแสวงหาที่สงัดแห่งใหม่ จนมาได้สถานที่ที่เรียกว่า ‘กัสเตลลาเร’ วัดที่อุทิศถวายให้นักบุญยอห์น ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านของท่านมากนัก ที่นั่นท่านพบความสงัดที่ท่านจะสามารถใช้เวลาอันเนิ่นนานไปในคำภาวนา โดยไม่มีใครมารบกวนและไม่มีใครนึกถึงสถานที่นี้ แม้แต่บิดามารดาของท่านเองก็ตาม

ความเข้าใจเช่นนี้หากไม่เกิดขึ้นโดยหนทางอันน่าฉงนงงงวยด้วยมหิทธิฤทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงมีนามว่า องค์ปัญญานิรันดร ชะลอยก็คงเกิดขึ้นมาผ่านตัวอย่างของ ‘โยวันนา’ พี่สาวของท่านผู้มีอายุห่างจากท่านถึงสิบหกปี เหตุว่าในเวลาไล่เลี่ยกันคือใน ค.ศ. 1271 โยวันนาที่มีอายุได้ยี่สิบปีบริบูรณ์ก็ได้ขอบิดามารดาใช้ชีวิตเป็นนักพรตถือศีลบนสามประการ คือ พรหมจรรย์ นบนอบ และความยากจน ถือความเงียบ และถืออดอาหารตามที่พระศาสนจักรกำหนด ร่วมกับเพื่อนของตนชื่อ อันเดรโอลา ดามีอาโนผู้เป็นบิดาจึงได้สร้างอาศรมให้ทั้งสองได้เจริญชีวิตตามประสงค์ พร้อมวัดหลังหนึ่งที่อุทิศถวายให้นักบุญอิลลูมินาตา (พรหมจารีย์และมรณสักขีในศตวรรษที่ 4 ผู้ได้หนีการเบียดเบียนคริสตชนจากเมืองราเวนนาเข้ามาใช้ชีวิตเป็นนักพรตหญิงในแคว้นอุมเบรียก่อนจะถูกประหารชีวิตโดยเจ้าเมืองมัสสา มาร์ตานา และเป็นที่เคารพในแคว้นอุมเบรียมาอย่างยาวนาน) ที่บริเวณชานเมืองมอนเตฟัลโก โดยตามหลักฐานร่วมสมัยไม่ปรากฏว่าอาศรมแห่งนี้ถือระเบียบตามคณะนักบวชไหน ประวัติของท่านบางสำนวนได้ระบุว่าโยวันนาได้ถือปฏิบัติตามแนวทางของนักบุญฟรังซิส แห่ง อัสซีซีในรูปแบบของสมาชิกขั้นที่ 3 ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการจากสันตะสำนัก รวมถึงเป็นคณะนักบวชที่มีอิทธิพลอย่างมากในแคว้นอุมเบรีย ดังนั้นที่นี่จึงมีสถานภาพเป็น ‘อารามนักพรตอย่างไม่เป็นทางการ’ ซึ่งเป็นรู้จักกันเพียงว่า ‘อาศรมนักบุญเลโอนาร์โด’ (ความไม่ชัดเจนนี้เองทำให้ในอีกสามศตวรรษต่อมานำไปสู่การแยกอารามเป็นอารามคณะออกัสตินและคณะกลาริส)

บุญราศีโยวันนาและนักบุญเกียราในวัยเยาว์

แม้ไม่อาจระบุได้อย่างแน่ชัดว่าอาศรมที่โยวันนาได้เริ่มต้นขึ้นนั้นดำเนินไปตามวิถีทางของคณะนักบวชไหน การใช้ชีวิตอย่างนักพรตผู้ได้สละชีวิตฝ่ายโลกและมอบชีวิตทั้งหมดเพื่อการรำพึงภาวนาเป็น ‘เกลือดองแผ่นดิน’ ภายในพื้นที่ที่จำกัดในท่ามกลางกระแสธารของโลกที่เคลื่อนไป ซึ่งพี่สาวของท่านได้เลือกพร้อมเพื่อนนั้นก็ทำให้อนาคตของท่านแจ่มชัดขึ้น ในเวลานั้นด้วยอายุไม่ถึงห้าขวบท่านมีโอกาสได้มาลองใช้ชีวิตภายในอาศรมแห่งนี้เป็นบางครั้งบางคราว ประสบการณ์สั้น ๆ เหล่านี้ได้ทำให้ท่านพบหนทางที่จะตามหาหวานใจที่รักของท่านได้แจ่มชัดขึ้น ท่านตั้งใจฟังวิถีทางของพวกเธอด้วยความปรารถนา และนำมาปฏิบัติอย่างร้อนรนด้วยความปรารถนาที่จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่แบบพวกเธอในสักวันหนึ่ง และพระเจ้าก็ทรงจัดเตรียมหนทางนั้นไว้ให้เจ้าสาวของพระองค์ เพราะเพียงไม่นานอาศรมของพี่สาวท่านก็ได้รับการรับรองจากสังฆมณฑลใน ค.ศ. 1274 ซึ่งทำให้สามารถเปิดรับสตรีคนอื่น ๆ ที่สมัครใจมาใช้ชีวิตเช่นเดียวกันได้ เป็นผลให้ท่านในวัย 6 ปี จึงได้ขออนุญาตบิดามารดาสมัครเข้าไปใช้ชีวิตในอาศรมร่วมกับพี่สาว ฝั่งบิดามารดาของท่านก็มิได้ขัดข้อง ทั้งสองยินดียกถวายธิดาคนสุดท้ายของพวกเขาให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า ดังนั้นท่านจึงได้เข้ามาเป็นนักพรตในอาศรมนักบุญเลโอนาร์โดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อได้เข้ามาเจริญชีวิตภายในอาศรม ท่านค่อย ๆ เรียนรู้ชีวิตนักพรตจากพี่สาวของท่าน ผู้ที่เราอาจกล่าวได้เธอเป็นครูชีวิตฝ่ายจิตคนสำคัญสำหรับท่าน ท่านร้อนรนที่จะเลียนแบบวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ภายในอาศรมของเธอ ทั้งในการถือความเงียบในช่วงเวลาที่กำหนด การควบคุมตนเอง การสวดภาวนาอย่างร้อนรน และการประกอบกิจการดีต่าง ๆ มีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่งท่านเผลอละเมิดช่วงเวลาถือเงียบ ท่านก็ได้ไปยืนสวดบทข้าแต่พระบิดาหนึ่งร้อยจบในอ่างน้ำเย็นพร้อมชูมือขึ้น อีกคราวเมื่อมารดาและน้องชายของท่านมาถามเรื่องอาการป่วยของโยวันนา ในเวลาถือเงียบท่านก็ไม่ยอมปริปากพูดอะไรกับทั้งสอง นอกจากนี้ท่านยังนบนอบต่อพี่สาวของท่านที่ตำแหน่งเป็นคุณแม่อธิการของอารามไม่เป็นทางการหลังนี้โดยสมบูรณ์ ท่านถือปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของเธอดุจเดียวกับคำสั่งนี้มาจากพระเจ้าโดยตรงอย่างไม่มีข้อกังขา ฝั่งโยวันนาเองก็ดูแลท่านอย่างใกล้ชิด เธอมักให้ท่านอยู่ใกล้ ๆ เสมอเวลาสวดภาวนา รวมถึงคอยสอดส่องวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ของน้องสาวคนนี้ให้เหมาะสมกับวัยและสุขภาพด้วยความห่วงใย เพราะดูเหมือนว่าน้องคนนี้จะมีวัตรปฏิบัติบางประการที่น่าเป็นห่วง

ภาพจิตรกรรมนักบุญเกียรา บุญราศีโยวันนา นักบุญแคเทอรีนแห่งอเล็กซานเดรีย และนักบุญอิลลูมินาตา
ภายในวัดนักบุญอิลลูมินาตา เมืองมอนเตฟัลโก

ดูเหมือนว่านอกจากเรียนรู้ชีวิตนักพรต ภายในอาศรมนักบุญเลโอนาร์โด เกียราน้อยที่แต่ก่อนปรารถนาเพียงเล่นสนุกกับองค์พระเยซูเจ้า ผู้เสด็จมาเยี่ยมเยือนด้วยวัยไล่เลี่ยกันพร้อมพระมารดา บัดนี้กลับเอ่อร้นไปด้วยปรารถนาจะร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์พระเยซูเจ้า เป็นเวลานี้ที่ความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษยชาติ โดยเฉพาะในยามทรงน้อมพระองค์รับทุกขเวทนานานาประการจนถึงแก่ความมรณาบนไม้กางเขน ไม่ต่างจากนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ได้กระตุ้นให้ท่านปรารถนาจะใช้ชีวิตทุก ๆ นาทีบนโลกเพื่อร่วมส่วนกับพระองค์ เราอาจกล่าวได้ว่า ท่านได้ค้นพบเช่นเดียวกับที่หญิงคู่รักในบทเพลงของซาโลมอนค้นพบในคู่รักของเธอว่า “ต้นแอ๊ปเปิ้ลอยู่ในหมู่ไม้ป่าฉันใด ที่รักของดิฉันก็อยู่ในหมู่ชายหนุ่มฉันนั้น ดิฉันปรารถนาจะนั่งใต้ร่มเงาของเขา ผลของเขาช่างมีรสหวานสำหรับดิฉัน” (เพลงซาโลมอน 2 : 3) ดังนั้นนอกเหนือจากการสวดภาวนา ท่านยังทำพลีกรรมอย่างร้อนรนและหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นการอดอาหาร การเฆี่ยนตีตัวเอง และการสวมเข็มขัดตะขอ

การทำพลีกรรมที่ร้อนรนของท่านสร้างความเป็นห่วงแก่โยวันนาเป็นอันมาก เพราะการที่ท่านทำพลีกรรมอย่างเคร่งคัดมากพร้อม ๆ กับการถือระเบียบของอาศรมอย่างเถรตรงส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของท่าน เธอจึงพยายามปรามให้ท่านทำพลีกรรมแต่พอเหมาะกับวัยของท่าน โดยใช้อำนาจในฐานะ ‘คุณแม่อธิการ’ เข้ามาช่วย ซึ่งทำให้ท่านลำบากใจอยู่ไม่น้อย เพราะใจหนึ่งท่านก็ปรารถนาจะใช้ชีวิตในโลกนี้พลีกรรมร่วมกับองค์พระเยซูเจ้าด้วยความรัก แต่อีกใจหนึ่งท่านก็ปรารถนาจะนบนอบตามคำสั่งของคุณแม่อธิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในศีลบนสามประการของผู้ถวายตน ความคิดเช่นนี้ทำให้ครั้งหนึ่งท่านถึงกับเป็นร้องไห้ออกมาด้วยความเป็นทุกข์ โดยเรื่องมีอยู่ว่าวันนี้ในระหว่างมื้ออาหารที่อาศรม โยวันนาที่เห็นท่านที่ยังเป็นเด็กน้อยไม่ยอมรับเนื้อสัตว์ เธอจึงได้ตัดสินใจบังคับให้ท่านรับเนื้อชิ้นเล็ก ๆ ที่เธอมอบให้ไปทาน แต่ท่านก็ปฏิเสธและได้โยนเนื้อนั้นทิ้งไป จนในเวลาต่อมาเมื่อท่านรำพึงได้ว่าการปฏิบัติเช่นนี้ ท่านได้ไม่นบนอบต่อคำสั่ง ท่านจึงเป็นทุกข์มากจนเริ่มร้องไห้ออกมาอย่างขมขื่น


ภายใต้ความคิดที่แบ่งออกเป็นสองฟาก ท่านเป็นทุกข์มากที่ไม่อาจจะทำพลีกรรมได้อย่างใจหวัง เพราะไม่เพียงแต่พี่สาวของท่านที่รู้ทันท่าน พวกบรรดาเพื่อน ๆ ในอาศรมของท่านก็ต่างรู้ทันท่านเช่นกัน ดังนั้นท่านจึงใคร่ครวญถึงทางออกของปัญหานี้ และที่สุดท่านก็พบท่านออกที่ดีที่สุดนั่นคือ ท่านคอยเปลี่ยนวิธีการทรมานตนเองอยู่บ่อย ๆ ไม่ให้มีแบบแผนเดิมให้คนอื่นจับได้ รวมถึงเสาะแสวงหาช่วงเวลาที่จะทำให้คนไม่รู้ว่าท่านกำลังทรมานตน นอกจากนี้ท่านยังแอบเอาเสื้อคลุมของเพื่อนในอารามคนหนึ่งมาสวมระหว่างทรมานตน เพื่อว่าเมื่อพี่สาวของท่านมาพบท่านในระหว่างทรมานตน จะได้จำเสียงเฆี่ยนตัวและเสื้อคลุมไม่ได้ 

และถึงแม้โยวันนาจะดูแลท่านเป็นพิเศษเช่นนี้ เธอก็ไม่ได้ลำเอียงที่จะเข้มงวดกับท่านในมิติความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่อธิการและผู้อยู่ในอารามเช่นที่เธอปฏิบัติกับคนอื่น ๆ เพราะในขณะที่เธอคอยสอดส่องว่าท่านปฏิบัติสิ่งใดจนเกิดตัวไป เธอก็คอยสอดส่องว่าท่านมีข้อบกพร่องตรงไหนที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างกวดขัน เช่นคราวหนึ่งท่านเผลอลืมเสื้อคลุมของตัวเองไว้ เธอก็ทำโทษท่านด้วยการให้งดรับศีลมหาสนิทอยู่ระยะหนึ่ง นอกจากนี้เธอยังแสดงให้เห็นว่า เธอไม่ได้ให้ความสำคัญกับท่านเกินกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ ในอาศรม จนดูเหมือนให้ท้ายท่านมากกว่าคนอื่น ดังตัวอย่างที่เห็นได้ คือ เมื่อเธอได้ยินเสียงท่านต่อสู้กับปีศาจที่มารังควาน หรือเผชิญกับการทดลองอันหนักหน่วง เธอก็เลือกจะนิ่งเงียบและเพียงมอบหมายให้ท่านสวดให้ผู้อื่นเพิ่ม

ภาพจิตรกรรมนักบุญเกียราและบุญราศีโยวันนาจับชายผ้าคลุมแม่พระในรูปแบบพระมารดาแห่งความเมตตา
เหนือประตูวัดนักบุญอิลลูมินาตา เมืองมอนเตฟัลโก

วันเวลาล่วงผ่านไปจากเด็กหญิงตัวน้อยที่เดินเข้ามาอารามด้วยความปรารถนาจะติดตามเจ้าบ่าวที่รักในสวรรค์ ท่านก็ค่อย ๆ เติบใหญ่เป็นหญิงสาวผู้มีหน้าตาสะสวย เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา มีจิตเป็นสมาธิ ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง มีจิตใจแน่วแน่ว่าตนยินดีจะรับทุกข์เวทนาจากนรกตลอดชีวิตบนโลกเสียดีกว่าสูญเสียพรหมจรรย์ที่รักษาไป ยินดีจะทำทุกสิ่งที่ได้รับมอบหมายด้วยความถ่อมใจ นบนอบต่อคำสั่งโดยไม่มีข้อกังขาหรือการบ่นอุบอิบ และปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความเอาใจใส่และความตั้งจิตตั้งใจ ในเวลาเดียวกันก็เห็นอกเห็นใจคนรอบข้าง คอยสอดส่องสายตามองหาผู้คนรอบข้างที่ต้องการความช่วยเหลือ ลงมือช่วยเหลือพวกเขาให้หน้าที่นั้นสำเร็จไป โดยที่ไม่ละเลยที่จะทำหน้าที่ของตนเองให้ลุล่วงไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องพัก ห้องครัว และห้องพยาบาล และแม้ในเวลาที่ล้มเจ็บลงและไม่มีกำลังพอจะทำงานหนักได้ ท่านก็ยังแสวงหาการช่วยเหลือเพื่อน ๆ นักพรตผ่านคำพูดแนะนำและคำพูดที่น่ารัก ครั้งหนึ่งพี่สาวของท่านได้สั่งให้เพื่อนร่วมอาศรมชื่อ อันดริโอลา ต้องทำพลีกรรมชดเชยข้อบกพร่องและบาปของเธอเพิ่ม เพราะเธอเป็นคนมีอารมณ์ร้อน และเพื่อไม่ให้เธอต้องบ่นอุบอิบรวมถึงมีแรงใจที่จะปฏิบัติด้วยความตั้งใจ โยวันนาจึงได้ให้ท่านที่ไม่ได้ทำผิดอะไรปฏิบัติร่วมกับเธอไปด้วย ท่านที่ทราบก็นบนอบและได้ทำกิจพลีกรรมพิเศษเพื่อการนี้ไปพร้อมกับอันดริโอลา

พร้อม ๆ กับการเติบโตของเกียรา อาศรมนักบุญเลโอนาร์โดก็เจริญขึ้นเป็นลำดับ ใน ค.ศ. 1278 เพื่อนของท่านชื่อ มารีนา ก็ได้สมัครเข้ามาสมทบในอาศรม ก่อนจะตามมาด้วยเพื่อน ๆ คนอื่น คือ ตอมมาซา เปาลา อิลลูมินาตา และอักเนส ส่งผลให้อาศรมเริ่มมีความคับแคบ โยวันนาจึงได้ปรึกษากับเพื่อนของเธอในเรื่องนี้ ที่สุดเพื่อรองรับจำนวนกระแสเรียกที่จะเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ โยวันนาจึงได้ตัดสินใจสร้างอาศรมแห่งใหม่ขึ้นบนเนินเขาซาน กาเตรีนา เดล บอตตัชโช และเช่นเดียวกับการก่อสร้างอาศรมหลังแรก ดามีอาโนผู้เป็นบิดาได้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนี้อย่างแข็งขัน แต่ขณะที่อาศรมหลังใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีแบบแผนแบบอารามนักพรตยังไม่แล้วเสร็จดี บิดาของท่านก็มาด่วนเสียชีวิตลงไปเสียก่อน ทำให้อาศรมที่เคยได้รับการสนับสนุนทุนจากบิดาของท่านประสบปัญหาในการดำเนินต่อไปของอาศรม แต่สมาชิกทุกคนก็ต่างพร้อมใจที่จะอยู่ร่วมกันต่อไปในจิตตารมณ์ของการสวดภาวนาและการรับบริจาค ทำให้อาศรมยังสามารถประคองตัวเองต่อไปได้

ภาพจิตกรรมนักบุญเอลิซาเบธ แห่ง ฮังการี และนักบุญเกียรา
ในอารามคณะฟรังซิสกัน เมืองมอนเตฟัลโก แสดงถึงความเชื่อ
ว่าอาศรมนักบุญเลโอนาร์โดเป็นอารามคณะฟรังซิสกันขั้น 3

วิกฤติต่อมาที่อาศรมเผชิญ คือ ความกันดารอาหารครั้งใหญ่ในพื้นที่ ใน ค.ศ. 1283 ในภาวะเช่นนี้สมาชิกในอาศรมจำต้องออกมารับบริจาคอาหารจากผู้คนภายนอก ท่านในวัย 15 ปี ก็ได้มีโอกาสออกมารับบริจาคพร้อมกับเพื่อนในอาศรมถึงแปดครั้ง ก่อนที่ในเวลาต่อมาพี่สาวของท่านจะสั่งไม่ให้ท่านออกไปทำเช่นนั้นอีก ซึ่งท่านก็นบนอบ แม้ท่านจะชอบงานนี้เพราะเป็นโอกาสที่ท่านได้แสดงความถ่อมใจ ดังนั้นท่านจึงไม่ได้ออกไปจากอาศรมอีกเลยตราบสิ้นชีวิต (เข้าใจว่าเหตุที่โยวันนามีคำสั่งเช่นนี้ อาจเป็นเพราะท่านมักอยู่ในภาวะฌานบ่อย ๆ รวมถึงอาจมีที่มาจากหน้าตาที่สะสวยของท่านด้วย) นอกจากวิกฤติการขาดผู้สนับสนุนหลักและวิกฤติเรื่องอาหาร ดูเหมือนว่าในทศวรรษ 1280 เดียวกัน อาศรมยังต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกับอาศรม นั่นคือการตั้งเป็นอารามนักพรตหญิงอย่างเป็นทางการ ภายใต้การสังกัดคณะนักบวชใดนักบวชหนึ่งในพระศาสนจักรอย่างถูกต้อง

ปัญหาใหญ่ที่เกริ่นนำมาข้างต้นนั้น คือ การบีบคั้นของอารามนักบวชเก่าแก่ภายในเมืองทั้งสามแห่ง คือ อารามคณะฟรังซิสกัน อารามคณะออกัสติน และอารามคณะเบเนดิกติน ที่พยายามให้อาศรมแห่งนี้ล้มเลิกไปเสียเพื่อลดจำนวนอารามที่อาศัยอยู่ด้วยการบริจาคทานภายในเมืองมอนเตฟัลโกลง ภายใต้ภาวะเช่นนี้โยวันนาในฐานะผู้นำกลุ่มสตรีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่สุดเพื่อให้กลุ่มสตรียังคงสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างถูกต้องและมั่นคง ใน ค.ศ. 1290 เธอจึงได้ขอให้พระคุณเจ้าเยราร์โด ปีโกลอตตี แห่งคณะนักบุญโดมินิก พระสังฆราชแห่งสโปเลโตซึ่งดูแลมอนเตฟัลโกในเวลานั้นช่วยอนุญาตให้อาศรมแห่งนี้กลายเป็นอารามนักพรตที่ถูกต้องตามกฏหมายของพระศาสนจักร เป็นผลให้ในวันที่ 10 มิถุนายน ปีเดียวกัน พระคุณเจ้าปีโกลอตตีจึงมีจดหมายประกาศให้อาศรมนักบุญเลโอนาร์โดถือพระวินัยและสังกัดกับคณะออกัสติน ทำให้แต่นั้นชุมนุมของสตรีบนเนินเขาซาน กาเตรีนา เดล บอตตัชโช จึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคณะออกัสตินในนาม ‘อารามแห่งไม้กางเขนและนักบุญกาเตรีนา แห่ง อเล็กซานเดรีย’ และมีคุณแม่อธิการิณีคนแรกอย่างเป็นทางการ คือ โยวันนา ผู้นำอาศรมตั้งแต่แรกตั้ง

อารามไม้กางเขนในปัจจุบัน

ในเวลาที่ทุกอย่างดูจะเข้าที่เข้าทางนี้เอง วันหนึ่งพระเยซูเจ้าก็ได้ประจักษ์มาหาท่านในรูปลักษณ์ของชายหนุ่มรูปงามสวมมงกุฏดอกไม้ พระองค์ทรงถอดมงกุฏนั้นจากพระเศียรของพระองค์และสวมที่ศีรษะของท่าน เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงรับท่านในวัย 23 ปี เป็นคู่ชีวิตของพระองค์ นิมิตนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนอกเสียจากการรับรองความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณอันใสซื่อของท่านกับพระเจ้า แต่แท้จริงนิมิตนี้เป็นการเตรียมท่านให้พร้อมขึ้นไปอีกขั้นสำหรับ ‘หน้าที่’ ใหม่ ที่ท่านไม่คิดไม่ฝัน ว่าตนเองในฐานะภคินีธรรมดา ๆ อายุเพียงยี่สิบต้น ๆ จะต้องแบกรับ หน้าที่ใหม่นี้เกิดขึ้นเมื่อพี่สาวเพียงคนเดียวของท่าน ซึ่งรับหน้าที่คุณแม่อธิการอารามมาได้ปีเดียว เกิดล้มเจ็บลงและเสียชีวิตอย่างสงบในปลาย ค.ศ. 1291 เหตุการณ์นี้ยังความทุกข์ใจให้ท่านเป็นอันมาก แม้ท่านจะได้รับการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเหตุวิปโยคนี้โดยพระเยซูเจ้าก็ตาม แต่ท่านก็ไม่อาจหักห้ามความรู้สึกตามประสามนุษย์ที่เกิดจากความผูกพันระหว่างพี่น้อง ที่ไม่เพียงร่วมสายเลือดกัน แต่ยังร่วมในอุดมการณ์เดียวกัน คือ การติดตามพระเยซูเจ้าในฐานะเจ้าบ่าวแต่เพียงหนึ่งเดียว

แม้ก่อนหน้านี่ท่านจะต้องเผชิญกับการสูญเสียบิดา ก่อนจะตามมาด้วยมารดาที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของอาศรมภายหลังการจากไปของสามี ท่านก็ไม่เคยหลั่งน้ำตาเสียใจ แต่ในเหตุการณ์สูญเสียพี่สาวเพียงคนเดียวครั้งนี้ ท่านร้องไห้อยู่สามวันและเฝ้าคิดตลอดว่า วิญญาณของพี่สาวคนนี้จะไปอยู่ ณ แห่งหนไหน จะเป็นสวรรค์หรือไฟชำระ จนล่วงเข้าเช้าวันที่สามของการจากลาในแดนเนรเทศ ท่านก็เห็นนิมิตปรากฏมีคบเพลิงขนาดเท่าคานขนาดใหญ่ปรากฏขึ้นเหนือศีรษะของท่าน คบเพลิงนี้สว่างไสวด้วยแสงสว่างใสจากเปลวเพลิงที่ลุกอยู่ และไขวิญญาณของท่านให้ทราบว่า บัดนี้วิญญาณของโยวันนาได้บรรลุถึงเมืองสวรรค์แล้ว คำตอบที่ปรากฏขึ้นนี้ยังความสุขให้ท่านเป็นล้นพ้น จนหากท่านสามารถนำวิญญาณพี่สาวของท่านกลับมาในโลกนี้ได้ท่านก็จะไม่ทำ และในเวลาเดียวกันนั้นเองผ่านนิมิตนี้ ท่านยังได้รับพระพรในการหยั่งรู้สภาพวิญญาณคน การแยกแยะความดีและความชั่ว รวมถึงยังได้พบกับวิญญาณของโยวันนา ซึ่งได้ตอบคำถามของท่านที่ว่า “พี่โยวันาพี่ยังไม่ตายหรือ” ด้วยคำตอบว่า “นี่ไม่ใช่ความตาย แต่เป็นทางผ่านไปสู่ชีวิตของพี่จ๊ะ”

ภาพจิตรกรรมรูปนักบุญออกัสตินและนักบุญเกียรา

เมื่อคุณแม่อธิการคนแรกเสียชีวิตลง บรรดาซิสเตอร์ในอารามจึงได้มีการเลือกตั้งคุณแม่อธิการคนใหม่ โดยมีอุปสังฆราชเดินทางมาเป็นประธานในการเลือกตั้ง แต่ก่อนหน้านั้นท่านที่ทราบว่าพวกซิสเตอร์จะพากันเลือกท่านขึ้นเป็นคุณแม่อธิการสืบต่อจากพี่สาวโดยเอกฉันท์ ก็ได้ขอให้บรรดาซิสเตอร์ทั้งหลายได้โปรดให้ท่านทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ภายในอาราม เพราะท่านรู้สึกว่าตนไม่ได้มีความสามารถพอที่จะรับตำแหน่งนี้ได้ แต่ซิสเตอร์ทุกคนก็ต่างยืนกรานให้ท่านน้อมรับตำแหน่งนี้ รวมถึงพวกเธอและฟรังเชสโก น้องชายของท่านที่บัดนี้เข้าเป็นภารดาคณะฟรังซิสกันก็ต่างช่วยกันไม่แจ้งต่อพระสังฆราชถึงความประสงค์ที่จะไม่ดำรงตำแหน่งนี้ของท่าน ทำให้ที่สุดเมื่อถึงวันเลือกตั้ง เมื่อผลออกมาว่าทุกคนในอารามได้เลือกท่านเป็นคุณแม่อธิการ ท่านจึงจำต้องยอมรับหน้าที่นี้ด้วยความนบนอบ แม้ภายในใจจะเต็มไปด้วยความกังวลว่าตนจะสามารถนำอารามหลังนี้ไปให้ตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร แต่ด้วยความวางใจในพระเจ้า ท่านจึงก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเองและเริ่มทำหน้าที่คุณแม่อธิการคนที่สองในทันที

ในฐานะคุณแม่อธิการอารามไม้กางเขน ท่านได้เป็นทั้งมารดา ครูและผู้คอยสอดส่องวิญญาณของบรรดาซิสเตอร์ภายในอารามด้วยความอุตสาหะ ความทุ่มเท ความอ่อนหวาน และความหนักแน่น ท่านได้วางระเบียบการใช้ชีวิตร่วมกันภายในอารามให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นกว่าสมัยก่อน ท่านยังกำหนดให้ทุกคนมีหน้าที่ทำงานอย่างชัดเจน แต่ในเวลาเดียวกันก็ให้อิสระกับสมาชิกที่ปรารถนาจะใช้เวลาในการสวดภาวนามากขึ้นเช่นเดียวกัน ซิสเตอร์โยวันนา ลูกพี่ลูกน้องและเลขาณุการฝ่ายวิญญาณของท่านเล่าว่า “เกียราเอาใจใส่ดูแลบรรดาซิสเตอร์อย่างเข้มข้น เธอคอยแก้ไข ชี้สอน ดูแล เอาใจใส่ต่อความต้องการของพวกเขาอย่างถี่ถ้วน ตรวจดูเหตุการณ์และการกระทำของพวกเขาโดยไม่สนใจตัวเธอเองและละเลยการพักผ่อน …” นอกจากนี้ในสมัยช่วงต้นการปกครองของท่านนี้เอง ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1292 พระคุณเจ้าปีโกลอตตีก็ได้อนุญาตตามคำร้องขอของโยวันนา ผู้วายชนม์ว่าไม่ให้มีการสร้างวัด วัดน้อย อาราม หรืออารามนักพรตในระยะห่างจากอาราม 25 เปรติกา (75 เมตรโดยประมาณ) อีกด้วย


เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงคิดว่าเวลานี้ชีวิตของท่านคงไม่มีอะไรพิเศษมากกว่านี้ แต่แท้จริงพระเจ้ามิได้ทรงเตรียมท่านเพียงเพื่อเป็น ‘เกลือดองแผ่นดิน’ ที่ดำเนินชีวิตซ่อนเร้นภายในอารามนักพรตต่อสู้กับกระแสของโลก แต่พระองค์ทรงปรารถนาใช้ท่านเป็น ‘ทางแห่งพระพร’ สำหรับมนุษย์ที่พระองค์ทรงรัก ไม่เพียงแต่ผู้อยู่รายล้อมท่านในรั้วอาราม แต่ยังรวมไปถึงผู้คนนอกรั้วอารามจำนวนมาก พระองค์จึงได้ทรงบันดาลให้มีเหตุอันน่าพิศวงเกิดกับท่านหลายต่อหลายครั้งในชีวิต เพื่อเตรียมท่านให้เป็นเครื่องมือที่พร้อมใช้ ในการชักนำผู้คนจำนวนมากนับตั้งแต่เวลาที่ท่านอยู่ ให้เข้ามาตักตวงน้ำทิพย์อันทรงชีวิต ซึ่งหลั่งไหลออกจากพุน้ำอันใสราวแก้วผลึกและบริสุทธิ์หรือตัวของท่าน ผู้ซึ่งพระเจ้าทรงค่อย ๆ แปรสภาพวิญญาณธรรมดาดวงหนึ่งให้กลายเป็นดั่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนจะมาได้มาพบความสว่าง ผ่านการที่ท่านตอบรับเสียงเรียกของพระองค์ ก้าวข้ามความกลัวต่อความไม่รู้ตามประสามนุษย์ และวางตัวเองไว้ในการทรงนำของพระเจ้าผู้มีไม่มีขอบเขต

คำอุปมาอุปไมยเช่นนี้ไม่ได้กล่าวขึ้นอย่างเลื่อนลอย แต่มีประจักษ์พยานคือนิมิตในคราวหนึ่งของท่านที่มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งประมาณสัปดาห์ก่อนวันฉลองพระคริสตสมภพปีหนึ่ง ท่านก็มีอาการเข้าฌานอยู่เป็นระยะ ๆ ในช่วงเวลานี้เองท่านได้เห็นพระบุตรพระเจ้าทรงลงมาบังเกิดในโลกแทบจะตลอดเวลา จนล่วงถึงเที่ยงคืนของวันประสูติอาการเข้าฌานของท่านก็ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ในสภาพวิญญาณเช่นนั้นท่านเห็นว่าเมื่อพระบุตรทรงบังเกิดมาแล้ว ก็ปรากฏถนนกว้างเท่าบ้านหลังโต สุกสว่างใสดุจดวงอาทิตย์ ทอดยาวจากพระเจ้าเข้ามาหาตัวท่านโดยไม่มีสิ่งใดกั้นขวาง ลำแสงอันน่าพิศวงนี้ทำให้ท่านต้องลุกยืนขึ้นและสัมผัสได้ถึงการเจิมฝ่ายในวิญญาณ ในนิมิตท่านพบว่าท่านกำลังยืนอยู่ท่ามกลางแสงสว่างของดวงอาทิตย์ แวดล้อมไปด้วยหมู่ทูตสวรรค์และนักบุญ ซึ่งท่านเห็นว่าต่างลอยลงมาจากองค์พระบิดาเจ้ามาหาท่าน และขึ้นจากท่านไปหาพระบิดาเจ้า พวกเขาต่างร้องเพลงด้วยความชื่นชมยินดีต่อพระกุมารผู้ทรงบังเกิด ท่านจึงได้เริ่มร้องเพลงตามพวกเขาอย่างเบา ๆ และโดยการเปิดเผยภายใน ท่านเข้าใจว่าบรรดานักบุญต่างได้ยินเพลงของท่านและเสียงร้องของท่านก็ดังก้องไปทุกหนทุกแห่ง ในเวลาเดียวกันนั้นเองภคินีหลายคนได้ยินเสียงท่านร้องเพลง แต่ไม่มีใครฟังออกว่าท่านร้องออกมาว่าอะไร



การเจิมเช่นนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นแต่เพียงครั้งเดียว แต่ในหนึ่งปีภายหลังการจากไปของโยวันนาพระเจ้าก็ทรงเจิมท่านท่ามกลางพยานในอาราม ดุจเป็นหมายสำคัญว่าพระองค์มิทรงประสงค์ให้ท่านเป็นเพียงผู้ปกครองอารามหลังนี้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ทรงประสงค์มากกว่านั้น ในคราวนั้นขณะท่านกำลังอยู่กับซิสเตอร์ในอารามที่บริเวณโถงทางเดินรอบสวนหย่อมของอาราม ท่านกำลังชักชวนให้ซิสเตอร์ทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะมุ่งสู่ความครบครัน ก็ปรากฏเสาสีแดงราวกับไฟ สุกสว่าง มีขนาดใหญ่เท่ามนุษย์แต่ไม่มีโครงร่างเป็นรูปร่างใดแน่ชัดลอยมาอยู่เบื้องหน้าของท่าน เสานี้ลอยขึ้นเหนือท่านเล็กน้อยแล้วจึงอันตรธานหายไป ทิ้งไว้แต่เพียงวิญญาณของท่านที่ได้รับการเจิม และความฉงนสนเท่ห์ของซิสเตอร์ที่อยู่ในที่นั้น เพราะในขณะที่ซิสเตอร์ที่อยู่กับท่านที่โถงทางเดินต่างเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้ พวกซิสเตอร์ที่อยู่ในอาคารก็เห็นเพียงแสงสว่างที่ปรากฏขึ้นมาเท่านั้น

และในทำนองเดียวกันการยืนยันว่าพระเจ้าทรงใช้ท่านเป็นทางนำพระพรของพระองค์มาสู่โลกก็ไม่เพียงเกิดขึ้นครั้งเดียว เพราะเมื่อท่านสิ้นใจลงอย่างสงบ องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงประทานเครื่องหมายยืนยันถึงพันธกิจนี้ทรงมอบไว้ให้เจ้าสาวของพระองค์ ผ่านความฝันของชายคนหนึ่งชื่อ อันโตนีโอ เดล ฟู บีอาโย หรือที่รู้จักกันว่า โรมาโนเน ชาวเมืองมอนเตฟัลโกผู้ป่วยด้วยโรคร้ายมาได้ประมาณสี่สิบปีแล้ว และก่อนหน้านี้เมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับอัศจรรย์ของท่านภายหลังการมรณกรรมได้สบประมาทเรื่องนี้ รวมถึงสวนกระกระแสฝูงชนที่ต่างมุ่งไปยังอารามไม้กางเขนเพื่อไปดูเหตุอัศจรรย์ ด้วยการมุ่งไปยังร้านขายเนื้อเพื่อซื้อเนื้อสัตว์ ก่อนพระเจ้าจะทรงทำงานในหัวใจของเขาระหว่างทาง ทำให้เขาสำนึกผิดและกลับใจที่ตนได้สบประมาทพระเจ้าและท่าน จึงตัดสินใจเดินทางไปชมอัศจรรย์นี้ที่อารามพร้อมชาวเมืองคนอื่น ๆ ก่อนที่คืนถัดมาเขาจะฝันเห็นอารามไม้กางเขน มีพุน้ำรสอร่อยและสวยงาม มีฝูงชนจำนวนมากเดินทางมายังที่นั่นเพราะความงามของพุน้ำนี้ และต่างพากันดื่มลิ้มชิมน้ำจากพุน้ำนี้กันถ้วนหน้า


“ทรงทำให้ข้าพเจ้าเป็นเสมือนลูกศรแหลมคม” (อิสยาห์ 49 : 2) ดูเหมือนว่าเพื่อเตรียมท่านให้พร้อมสำหรับพันธกิจอีกประการนี้เอง นอกจากการเจิมดุจเดียวกับที่ทรงเจิมผู้รับใช้ของพระองค์ในหนหลัง พระเจ้าทรงลับวิญญาณของท่านให้แหลมคมจนกลายเป็นลูกศรที่พร้อมใช้ในแล่งของพระองค์ ซึ่งพระองค์จะทรงยิงไปในเวลาใดก็ได้ โดยทรงอนุญาตให้วิญญาณของท่านได้ประสบกับ ‘คืนมืดของวิญญาณ’ หรือประสบการณ์ที่วิญญาณดูเหมือนจะถูกแยกจากพระเจ้า ที่กินระยะยาวนานถึง 11 ปี (ค.ศ. 1288 - ค.ศ. 1299) หรือนับตั้งแต่ที่ท่านยังเป็นสมาชิกธรรมดา ๆ ในอาศรมนักบุญเลโอนาร์โดเรื่อยมาจนถึงเวลาที่ท่านกลายเป็นคุณแม่อธิการิณีอารามไม้กางเขนในช่วงสิบปีแรก

โดยบทเรียนครั้งสำคัญนี้เริ่มในวันธรรมดา ๆ วันหนึ่ง เมื่อท่านกำลังนั่งสนทนากับเพื่อนร่วมอาศรมในประเด็นเกี่ยวกับพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้าอยู่ภายในห้อง ท่านก็ได้เล่าสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแก่ท่านและเสริมให้เพื่อนผู้นั้นฟังว่า “สิ่งใดที่เธอวอนขอด้วยความรัก พระย่อมทรงประทานให้ในทันที และฉันเองก็มีประสบการณ์นี้อยู่บ่อย ๆ” ฝั่งคู่สนทนาก็ตอบกลับท่านว่า “ฉันรู้ดีว่าฉันไม่ใช่คนที่พระจะทรงตอบสนองความประสงค์ของฉัน” คำตอบที่ดูจะแสดงให้เห็นความน้อยเนื้อต่ำใจเช่นนี้ ทำให้ท่านที่มักคิดว่าสิ่งที่ท่านประสบภายในวิญญาณเป็นเรื่องปกติทั่วไปต้องหยุดครุ่นคิด ด้วยคำถามซื่อ ๆ ในทำนองว่า ไฉนหนอสิ่งที่องค์พระเจ้าทรงทำกับตัวท่าน พระองค์ไม่ทรงทำกับคนอื่น ความคิดเช่นนี้เริ่มก่อมวลความทุกข์ขึ้นในภายในหัวใจของท่าน


เป็นเวลานั้นเองที่วิญญาณของท่านได้เข้าสู่คืนมืดอันแสนยาวนาน ในยามค่ำคืนอันยากเย็นของวิญญาณนี้เอง ท่านพบว่าภาพนิมิตต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งลดความถี่ลง ท่านยังพบอีกว่าสันติภายในที่เคยมีอยู่ได้จางหายไป ปรากฏมีแต่การต่อสู้และความสับสนสงสัยอยู่ภายในแทน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางสภาพวิญญาณเช่นนี้ ท่านต้องเผชิญกับความทุกข์เป็นอันมาก แต่กระนั้นก็ตามท่านก็ไม่ได้แสดงออกไปให้ใครเห็น สิ่งไม่กี่สิ่งที่ท่านลงมือทำได้ในเวลาเช่นนี้ นอกจากการใช้ชีวิตประจำวันและรับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งต่อมาคือการเป็นคุณแม่อธิการิณี มีเพียงการเชื่อ การวางใจในพระเจ้า การอดทนด้วยความรัก และความร้อนรนที่จะติดตามองค์พระคริสตเจ้าอย่างแน่วแน่ ในทำนองเดียวกับโยบผู้ประสบกับการทดลองอันยาวนาน เราอาจเข้าใจความเชื่อของท่านเช่นนี้ผ่านคำกล่าวของท่านที่ว่า “ฉันวางใจและมั่นใจในพระคริสตเยซู ว่าพระหรรษทานของพระองค์จะปกป้องตัวฉันจากพวกหัวขโมยและผู้ร้าย ให้พวกมันไม่สามารถทำร้ายตัวฉันและพี่น้องของฉันได้”

เราอาจกล่าวได้ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้นิมิตในรัตติกาลของวิญญาณนี้เพื่อสอนท่านอย่างแท้จริง อาศัยนิมิตต่าง ๆ ท่านได้เรียนรู้จักโลกกว้างไปกว่าขอบเขตของอาราม ดังนั้นแม้ท่านจะดูเหมือนตัดสินใจหันหลังให้โลกตั้งแต่ 6 ปี รั้วของอารามก็ไม่ได้กีดกันให้ท่านเป็นคนอ่อนต่อโลก แต่เป็นภายในขอบเขตอันจำกัดนี้เองภาพนิมิตได้กลายมาเป็น ‘โรงเรียนแห่งชีวิต’ สำหรับท่าน ซึ่งทำให้ท่านเข้าใจโลกกว้างอย่างถ่องแท้ เช่นคืนหนึ่งในช่วงเวลานี้ ท่านได้พบว่าตัวท่านกลายเป็นเป้าของบุคคลสองคนที่ต่างมุ่งจะยิงท่านด้วยหน้าไม้ ผู้หนึ่งหมายจะยิงความชั่วช้าใส่ท่าน ในขณะที่อีกผู้หนึ่งหมายจะยิ่งความดีคุณธรรมใส่ท่าน ในสถานการณ์การปะทะกันระหว่างขั้วอำนาจเช่นนี้ ท่านรู้สึกประหวั่นใจเป็นยิ่งนัก จนต้องเบือนหน้าหนีจากฝั่งที่จะยิ่งความชั่วช้าใส่ แต่ในเวลานั้นเองพระเจ้าก็ทรงไขแสดงให้ท่านเข้าใจว่า มนุษย์ไม่อาจหนีพ้นจากการเผชิญหน้ากันระหว่างความดีและความชั่วได้ เพราะหากมนุษย์ไม่มองเห็นว่าอะไรคือความชั่ว และผินหน้ามาเผชิญกับความขัดแย้งของจิตใจเช่นนี้ มนุษย์ก็ไม่อาจบรรลุถึงความสว่างโดยสมบูรณ์ หรือสถานะที่วิญญาณกลับมาสู่สภาพอันพิสุทธิ์ใสดังเดิม


อีกคราวหนึ่งในช่วงพระคริสตสมภพ ค.ศ. 1293 ท่านล้มป่วยลงและเผชิญกับความมืดภายในวิญญาณในระดับวิกฤต ความคิดเรื่องสภาพอันน่าสมเพศของวิญญาณและความอกตัญญูต่อพระวนเวียนอยู่ภายในความคิดของท่าน สร้างความทุกข์ใจให้ท่านเป็นอันมากเพราะท่านคิดว่าเพราะสภาพเช่นนี้เอง ท่านจึงไม่รู้สึกถึงการประทับอยู่ของพระในหัวใจ ท่านเป็นทุกข์อยู่เช่นนี้จนถึงวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ ค.ศ. 1294 ท่านจึงได้สารภาพกับบรรดาซิสเตอร์ภายในอารามทั้งหมดถึงความบกพร่องของตน ก่อนเข้าสู่ภาวะฌานเป็นเวลานานประมาณสองถึงสามสัปดาห์ ซึ่งในระหว่างนั้นเพื่อรักษาชีวิตของท่านต่อไป เนื่องจากท่านไม่สามารถรับอาหารใด ๆ ได้ พวกซิสเตอร์จึงคอยเอาน้ำตาลละลายน้ำมาป้อนท่านเป็นระยะ และในภาวะที่วิญญาณของท่านดูเหมือนจะหลุดลอยไปจากโลกนี้เอง ท่านได้ไปเห็นนรกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานอย่างสิ้นหวัง เห็นสวรรค์ที่เต็มไปด้วยความชื่นชมยินดีของบรรดานักบุญ และได้เห็นความศักดิ์สิทธิ์โดยบริบูรณ์ของพระ รวมถึงความจริงเที่ยงแท้ที่วิญญาณจะต้องมีชีวิตอยู่ในพระเจ้า ก่อนท่านจะพบว่าตัวเองได้ไปอยู่หน้าบัลลังก์แห่งการพิพากษาของพระ และกลับสู่โลกเป็นปกติในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน พร้อมปณิธาณอันแน่วแน่ว่าแต่นี้ไปท่านจะไม่คิด ไม่ทำ และไม่พูดในสิ่งที่ขัดกับความจริงที่ท่านได้มองเห็นในนิมิตนี้อีก ท่านเผยเรื่องนี้ในเวลาต่อมากับซิสเตอร์บิอาโย แห่ง สโปเลโต ว่า “โดยพระหรรษทานของพระ ฉันจึงยังคงรักษาความซื่อสัตย์นี้ไว้ได้”

ปีเดียวกันกับที่ท่านได้เห็นนรกและสวรรค์ ซึ่งประวัติบางสำนวนของท่านอธิบายว่าเป็นจุดชี้ขาดวิญญาณของท่าน ยังเกิดเหตุการณ์พิศวงซึ่งเป็นเรื่องเล่าสำคัญในชีวิตของท่านอีกประการ และปรากฏหลักฐานเป็นจิตรกรรมปูนเปียกภายในวัดน้อยของอารามแห่งนี้นับตั้งแต่ ค.ศ. 1333 นั่นคือการที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งไม้กางเขนในหัวใจของท่าน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันหนึ่งขณะท่านกำลังสวดภาวนา องค์พระเยซูเจ้าก็ประจักษ์มาหาท่าน ในรูปลักษณ์นักพเนจรหนุ่มผู้งดงามแต่ก็น่าสังเวชสงสารในเวลาเดียวกัน พระองค์ทรงอาภรณ์สีขาว มีไม้กางเขนที่ทรงถูกตรึงอยู่บนพระอังสา พระพักตร์เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้าจากน้ำหนักของกางเขน พระวรกายก็เหนื่อยอ่อนเสียเต็มประดา ท่านเห็นเช่นนั้นท่านจึงรีบคุกเข่าลงหมายจะหยุดพระองค์พร้อมทูลพระองค์ในทำนองเดียวกับนักบุญเปโตรว่า “พระสวามีเจ้าข้า พระองค์กำลังจะเสด็จไปที่ใดเล่า”


พระเยซูเจ้าจึงตรัสตอบท่านว่า “เรากำลังเที่ยวมองหาสถานที่มั่นคงที่เราจะตั้งไม้กางเขนนี้อย่างมั่นคงไปทั่วโลก แต่เราก็ไม่พบเลย” ท่านที่ทราบความปรารถนาของพระองค์เช่นนี้จึงยื่นมือของท่านออกไป เป็นเครื่องหมายว่าพระเจ้าข้าเป็นลูกนี้เองที่จะช่วยพระองค์ พระเยซูเจ้าจึงตรัสบอกท่านว่า “เกียรา เราได้พบที่ตั้งกางเขนของเราที่นี่แล้ว เราได้พบคนที่เราจะตั้งไม้กางเขนของเราในที่สุด ถ้าลูกปรารถนาจะเป็นธิดารักของเรา ลูกต้องตายบนไม้กางเขน” เมื่อภาพนิมิตนี้จบลง ท่านมีความเชื่ออย่างหมดหัวใจว่าพระจะทรงทำกิจการอันน่าอัศจรรย์ในอารามแห่งนี้ และอีกเจ็ดปีต่อมาท่านได้เล่าเรื่องนี้ให้ซิสเตอร์โยวันนา ลูกพี่ลูกน้องฟังว่าเมื่อนิมิตนี้จบลง ร่างกายของท่านก็ปราฏความเจ็บปวดแล่นไปทั่วร่าง ด้วยไม้กางเขนที่องค์พระเยซูเจ้าทรงประทับไว้ในตัวของท่าน ตั้งแต่นั้นท่านรู้สึกได้เสมอว่ามีกางเขนตราสลักอยู่ภายในหัวใจของท่าน

ภายใต้ข้อจำกัดของอารามนักพรตเช่นนี้ พระเป็นเจ้าทรงเตรียมท่านไว้เพื่อกิจการใดต่อไปอีก ไฉนทรงต้องลับวิญญาณของท่านให้แหลมคมด้วยนิมิตและประสบการณ์คืนมืดแห่งวิญญาณที่ยาวนานนับสิบปี พันธกิจอีกประการที่พระเป็นเจ้าทรงเจิมท่านไว้ ดุจซามูเอลได้เจิมเด็กชายดาวิดให้เป็นผู้นำประชากรของพระองค์และเป็นต้นตระกูลที่พระองค์จะทรงนำพระพรลงมาจะเป็นอย่างไรต่อไป และในท้ายที่สุดเรื่องราวของท่านจะมาบรรจบกับเรื่องราวของชายผู้หนึ่งในเมืองสโปเลโตได้อย่างไร ติดตามเรื่องราวของนักบุญผู้เรืองนามแห่งเมืองมอนเตฟัลโกต่อใน  “‘เกียรา’ พุน้ำทิพย์ของพระเจ้า ตอนจบ” (คลิ้กที่ลิ้งค์นี้)

“ข้าแต่ท่านนักบุญเกียรา แห่ง มอนเตฟัลโก ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
https://it.m.wikipedia.org/wiki/Berengario_di_Saint-Affrique
https://en.wikipedia.org/wiki/Clare_of_Montefalcohttps://www.acistampa.com/story/6662/montefalco-tanti-giovani-per-santa-chiara-della-croce-6662
https://www.agostinianemontefalco.it/chiara/index.php/2-non-categorizzato/1-vita-di-s-chiara
https://www.treccani.it/enciclopedia/chiara-da-montefalco-santa_%28Dizionario-Biografico%29/?_x_tr_hist=true
https://www.treccani.it/enciclopedia/bentivenga-da-gubbio_%28Dizionario-Biografico%29/?_x_tr_hist=true
http://www.cassiciaco.it/navigazione/monachesimo/agiografia/santi/chiara.html
https://www.interris.it/la-voce-degli-ultimi/passione-nozze-mistiche-santa-chiara-della-croce/
http://www.keytoumbria.com/Montefalco/St_Clare_of_Montefalco.html

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน ผู้ใหญ่ในคณะคนแรก ๆ ที่ท่านแสวงหา...