วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

เบเนดิตโต นักบุญดำ แห่ง ปาแลร์โม


นักบุญเบเนดิตโต ดำ
San Benedetto il Moro
ฉลองวันที่ : 4 เมษายน , 3 เมษายน (คณะฟรานซิสกัน)
องค์อุปถัมภ์ : พันธกิจในแอฟริกา , ปาแลร์โม , ซิซิลี , ชาวแอฟริกันอเมริกัน , คนผิวดำ , ซาน ฟาเตลโล

ในสมัยที่การค้าทาสกำลังรุ่งโรจน์ ผู้ร่ำรวยต่างมีทาสผิวดำอยู่เป็นสมบัติส่วนตนมากมาย ไม่ว่าจะชายหรือหญิง ในท้องตลาดที่เป็นแหล่งขายอันมีนั่งร้านไม้ที่ใช้ประมูลทาสตั้งอยู่ เมื่อมีเรือขนทาสมาถึงก็จะมีการนำบรรดาชาวแอฟริกาผู้อับโชคมาที่นั่งร้านนี้เพื่อทำการประมูลเยี่ยงหมูหมาจากผู้มีสตางค์ทั้งหลายที่ต้องการแรงงาน โดยจะแยกประมูลไปทีละคน ซึ่งทำให้ครอบครัวของทาสบางรายถูกแยกไปคนละทิศคนละทาง จึงไม่แปลกที่จะได้ยินเสียงกรี๊ดร้อนของมารดาผิวดำดังมาเสมอ



คริสโตโฟโร (Cristoforo) และ ดิอันนา (Diana) คือ ทาสที่ถูกพาจากเอธิโอเปียมายังซิซิลี พวกเขาทั้งสองเป็นหนึ่งในสมบัติของตระกูลมานาสเซรี (Manasseri) ภายหลังพวกเขาก็ได้แต่งงานกัน แต่ก็ต้องวิตกกับการคิดว่าควรจะมีลูกดีไหม เพราะประการว่าพวกเขาไม่ปรารถนาให้กำเนิดลูกที่ต้องกลายมาเป็นทาสเยี่ยงพวกเขา แต่เดชะบุญเจ้านายของท่านเมื่อทราบความ ก็ให้สัญญาว่าถ้าพวกเขาให้กำเนิดลูกคนแรกเมื่อไรก็ตาม พวกเขาก็จะได้กลายเป็นไท

วันเวลาผันไปในที่สุดทั้งสองก็ให้กำเนิดทารกชายผู้มีผิวดำดังราตรีเช่นพวกเขาในประมาณปี ค..1524  ใน ซาน ฟราเตลโล (San Fratello) แคว้นซิซิลี ประเทศอิตาลี เด็กชายผู้เกิดมาเพื่อปลดปล่อยบิดามารดาได้นามว่า เบเนดิตโต นับจากนั้นมาครอบครัวท่านก็ทยอยต้อนรับสมาชิกใหม่เรื่อยๆ มาร์โกน้องชาย และ บัลดาสซารา และ ฟราเดลลา ตามลำดับ



บ้านคือโรงเรียนของท่าน(เหตุนี้ท่านจึงอ่านหนังสือไม่ได้เลยซักตัว) บิดามารดาคือคุณครูที่สอนท่าน พวกเขาเป็นคนใจศรัทธาและมีเมตตาธรรม ทำให้วิญญาณน้อยๆของท่านถูกประดับไปด้วยคุณธรรม ดวงใจถูกเผาไหม้ไปด้วยความรักพระเจ้าและแม่พระอย่างมากที่สุด เมื่ออายุพอได้แล้ว ท่านก็เริ่มไปร่วมมิสซาและรับศีลมหาสนิทบ่อยครั้ง ฟังคำแนะนำจากคุณพ่อเจ้าวัดที่สอนให้ท่านรักพระเจ้าและทำดีต่อผู้อื่น และแม้จะมีวัยที่เยาว์นักท่านก็ได้อุทิศตนต่อพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน รำพึงถึงความรักของพระบุตรของพระเจ้า พลีกรรมด้วยการอดอาหารและเฆี่ยนตีตัวเอง

ด้านหน้าที่ท่านได้รับหน้าที่ให้ดูแลฝูงสัตว์ของบิดาตั้งแต่เล็ก ถึงงานค่อนข้างจะหนักท่านก็ไม่ละเลยการสวดภาวนาและการรำพึง ท่านจึงได้ฉายานามว่า นักบุญดำ และชีวิตช่วงนี้ท่านก็ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก เพราะท่านถูกแกล้งบ่อยๆ เยาะเย้ยบ้างให้ท่านมาเล่นตามเกมของพวกเขาแต่ทุกครั้งท่านก็จะอดทนไม่โต้ตอบกับให้เสียความสันโดษของท่าน



จนกาลเวลาล่วงผ่านจากเด็กน้อยผิวดุจราตรีกาล ก็เจริญวัยเป็นหนุ่มวัย 18 ปี ที่สามารถจะตอบสนองความต้องการของท่านเองและของคนยากจนได้ และก็สืบเนื่องจากครอบครัวเริ่มมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น ท่านจึงได้ซื้อวัวมาคู่หนึ่ง และหลังจากนั้นท่านก็ได้ดำเนินชีวิต เช่นเด็กหนุ่มผู้ขยันและศรัทธาต่อไปเรื่อยๆกระทั้งวันหนึ่งในวัย 21 ปี ชีวิตของท่านจึงมาถึงจุดพลิกผัน

จิโรลาโม ลานซา (Girolamo Lanza) เป็นนักพรตผู้สละทรัพย์สมบัติและภรรยา เพื่อเดินตามรอยเท้านักบุญฟรานซิส แห่ง อัสซีซี ในอารามซานตา โดเมนิกา วันหนึ่งเขาได้เดินทางผ่านซาน ฟราเตลโล และได้พบท่านกำลังถูกเย้ยหยันจากเรื่องสีผิวของท่านอยู่ที่ท้องทุ่ง เขาได้หยุดพินิจใบหน้าของท่านพร้อมกับค้นพบวิญญาณที่เลิศ เขาจึงเดินเข้าไปแล้วกล่าวว่า  เธอทั้งหลายหัวเราะนิโกรผู้ยากจนคนนี้ แต่รู้ไหมอีกไม่นานดอกเธอทั้งหลายจะได้เสียงพูดคุยถึงกิติศักย์ของเขา


ไม่กี่วันจากนั้นเขาก็ไปเยี่ยมท่านที่กระท่อม คุณมาทำอะไรที่นี่หรือครับ ท่านถามขึ้นด้วยความสงสัย จงขายวัวของเธอและมาเข้าอารามของฉันเถิด จิโรลาโมกล่าวแถลงไขข้อสงสัยของท่าน ซึ่งมันทำให้ดวงใจท่านเปี่ยมสุข ท่านทำตาม เพราะท่านเชื่อว่าท่านได้ยินเสียงของพระเยซูเจ้าตรัสผ่านปากของฤษีผู้นี้ ท่านจึงขายวัวของท่านและนำเงินที่ได้ไปแจกจ่ายแก่ยากไร้ จากนั้นจึงติดตามภารดาจิโรลาโมไปพร้อมคำอนุญาตของบิดามารดาที่เศร้าใจ

นับจากนั้นมาชีวิตในถานะนักพรตวัยยี่สิบเอ็ดก็เริ่มต้น  ในฐานะ นักบุญดำตามบทบัญญัติของนักบุญฟรานซิสที่ต้องถือตามเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 3 ทรงให้อารามที่ท่านอยู่ให้เป็นหนึ่งในคณะภารดาน้อย แต่มิได้ขึ้นตรงต่อคณะใด ซึ่งมีการพลีกรรมพื้นฐานหลักๆคือถือศีลอดสัปดาห์ละสามครั้ง ใช้ชีวิตสันโดษและภาวนา แต่ท่านทำมากกว่านั้น กล่าวคือท่านทั้งสวมเสื้อที่ทำจากใบปาล์ม กินถั่วเป็นอาหารกับน้ำ ขนมปังบ้าง สมุนไพรอีกวันละครั้งบ้าง เฆี่ยนตีร่างกายด้วยแส้ นอนบนพื้นเปล่าๆเป็นเวลาสั้นๆ ภาวนา ไตรตรอง ทั้งกลางวันและกลางคืนอีกด้วย 


และเพียงไม่นานกลิ่นหอมแห่งความดีก็เล็ดลอดกำแพงอารามออกไป จนนำผู้คนมากมายหลั่งไหลกันมาที่อารามเพื่อขอคำภาวนาจากท่าน จนทำให้ท่านและบรรดาฤษีไม่สามารถหาความสงบได้เลย ภารดาจิโรลาโม ลานซา จึงตัดสินใจย้ายไปพาพี่น้องในอารามไปยังปลาเตเนลลา (Platanella) แต่ไม่นานก็มีผู้คนแห่มาหาท่านอีก จึงได้มีการย้ายไปมานกูซา (Mancusa) เป็นระยะเวลาแปดปี แต่หลังจากอัศจรรย์ที่ท่านได้ก่อ พวกท่านก็ตัดสินใจย้ายไปที่ภูเขาเปลเลกริโน (monte pellegrino) สถานที่พำนักภาวนาของนักบุญโรซาเลีย ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งปาแลร์โม

บนภูเขานั้นพวกท่านได้ก่อสร้างที่พำนักเพื่อภาวนาด้วยความช่วยเหลือจากอุปราชแห่งซิซิลี พร้อมทั้งวัดและถังเก็บน้ำ ซึ่งระยะเวลาที่ท่านเดินทางมาที่นี้ ท่านยังมีโอกาสใช้เวลาราวหนึ่งปีแปดเดือนในการไปแสวงบุญที่สักการสถานแม่พระแห่งดัยนา ที่ เมืองมาริเนว (Marineo) ก่อนกลับมาที่เปลเลกริโนและอาศัยอยู่ที่นั่นตราบจนสิ้นชีวิต


กระทั้งต่อมาภารดาจิโรลาโมผู้ก่อตั้งอารามก็ถึงแก่กรรมลง บรรดาฤษีในอารามทั้งหลายก็เห็นว่าต้องมีอธิการคนใหม่ ซึ่งพวกเขาต่างเห็นพ้องกันว่าท่านเหมาะสมที่สุดแล้ว ซึ่งแม้ท่านจะพยายามปฏิเสธโดยยกข้ออ้างว่าท่านเป็นเพียงคนบาปและยังไม่รู้หนังสืออีก กระนั้นท้ายสุดท่านก็ต้อมยอมจำนงต่อบรรดาภารดาทั้งหลาย และขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นอธิการคนที่ 2 นานถึง 17 ปีด้วยกัน

ซึ่งในระหว่างสมัยที่ท่านปกครองอารามนั่นเอง สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ ก็ทรงยกเลิกคำสั่งของสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 3 ดังนั้นพระคาร์ดินัล โรดอลโฟ เดล คาร์ปิโอ ผู้ดูแลคณะภารดาน้อย จึงมีจดหมายสั่งให้บรรดาฤษีทั้งหลายเข้าประจำสังกัดคณะฟรานซิสกัน , คณะภารดาน้อยและคณะกาปูชิน คณะใดคณะหนึ่งเสีย ฤษีทั้งหมดรวมถึงท่านเมื่อได้ทราบเรื่องแล้วก็พากันน้อมรับด้วยความนบนอบ



เวลานั้นในใจท่าน ท่านคิดว่าจะไปสังกัดในคณะกาปูชิน แต่หลังจากการภาวนาต่อแม่พระเป็นเวลานาน ณ วัดเพื่อความแน่ใจ ท่านก็ตัดสินใจเข้าสังกัดเป็นภารดาคณะภารดาน้อยในอารามซานตา มารีอา ดิ เจซู (Santa Maria di Gesù)  และเมื่อได้เข้าสังกัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณพ่ออธิการก็ได้ส่งตัวท่านไปยังอารามซานตาอันนา ดิ จูเลียนา ท่านอยู่ที่นั่นเป็นระยะเวลาสามปี ท่านจึงถูกส่งกลับมาที่อารามซานตา มารีอา และอาศัยอยู่ที่นี่จนสิ้นอายุขัยในฐานะภารดาผู้ปรุงอาหารประจำอาราม พร้อมได้ก่ออัศจรรย์ไว้ให้เป็นเล่าขานดังนี้

อัศจรรย์แห่งปลาตัวเขื่องยามครั้งหนึ่งเมื่อเหมันต์ฤดูพัดผ่านมา พร้อมหิมะมากมาย จนทำให้อารามต้องงดการออกไปขอรับบริจาค ทำให้อาหารที่มีอยู่มีแต่ลดลงเรื่อยๆ แต่เมื่อทราบบดังนี้ท่านก็ยังคงสงบและดำเนินชีวิตเช่นปกติทั่วไป แต่ก่อนนอนวันหนึ่งท่านและผู้ช่วยได้ช่วยกันใส่น้ำลงไปในภาชนะใบใหญ่ไว้ในห้องครัวพร้อมมอบความวางใจในพระเจ้า จากนั้นตลอดคืนท่านจึงสวดภาวนาตลอด จนรุ่งสางท่านกับผู้ช่วยจึงเข้าไปในครัวเช่นเคย และก็พบกับปลาจำนวนมากพอที่จะเลี้ยงคนในอารามในภาชนะที่เตรียมไว้เมื่อคืนนี้อย่างน่าอัศจรรย์



อัศจรรย์วันคริสต์มาส’ ด้วยเหตุท่านชอบตกอยู่ในห้วงแห่งการภาวนาอยู่บ่อยๆ ก็ทำให้ท่านมักลืมไปว่าท่านต้องไปเตรียมอาหารเที่ยงสำหรับทุกคนในอาราม มีวันหนึ่งตรงกับคริสมาสต์พอดี จะพิเศษหน่อยก็ตรงที่วันนี้มีพระอัครสังฆราชแห่งปาแลร์โมได้มามาประกอบพิธีฉลองคริสต์มาสในวัดของอารามและได้ร่วมอยู่ร่วมรับประทานอาหารพร้อมด้วย คราวนี้ก็เช่นกันท่านสวดภาวนาจนลืมเวลา แต่พอท่านรู้ตัวแล้ว ท่านก็คงเป็นเหมือนเดิมคือไม่สูญเสียความวางใจในพระเจ้าและบอกภารดาที่มาตามว่าพวกเขายังสามารถใช้ห้องอาหารได้อยู่เช่นเดิม หลังจากนั้นเมื่อภารดาผู้ยกอาหารไปรับอาหารจากท่าน เขาก็ได้แลเห็นอาหารได้ถูกจัดเตรียมไว้อย่างสวยงามในครัวโดยชายหนุ่มชุดขาวสองคนที่เขาไม่รู้ว่าคือใครกัน

ท่านเป็นที่ขานนามว่า ทูตสวรรค์ที่มีเนื้อหนัง ท่านเฆี่ยนตีตัวเอง สวมเสื้อผ้ากระสอบ นอนบนพื้นเปล่า อดอาหาร กินเพียงขนมปังกับน้ำ ทำงานหนักร่วมกับคนงานผู้ต่ำต้อย  ห้องของท่านมีเพียงเตียงฟาง ไม้กางเขน ภาพแม่พระ กะ นักบุญที่ท่านศรัทธาเป็นพิเศษ เพียงเท่านั้นจริงๆ ส่วนยามภาวนาท่านก็ได้ตัดขาดออกจากโลกภายนอกเป็นระยะเวลานาน ท่านไม่เคยจูบมือสตรีอันเป็นการแสดงการทักทายทั่วไป แต่ท่านจะจูบที่ตรงแขนเสื้อคลุมของพวกหล่อนแทน แม้แต่พินิจใบหน้า ท่านกล่าวว่า เพื่อรักษาไว้ซึ่งลิลลี่แห่งพรหมจรรย์ ต้องหลีกเลี่ยงทุกโอกาสที่ล่อแหลมทั้งสิ้น



เสียงระฆัง เป็นสัญญาณที่ใช้เตือนบรรดาภารดาทั้งหลายในอารามถึงเวลาทำอะไร ท่านเคารพในเสียงนี้มาก เพราะท่านเชื่อว่าเสียงของอธิการคือพระสุรเสียงของพระเจ้านั่นเอง ดั่งเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่เล่าต่อๆกันมาหลายชั่วอายุคนว่า ครั้งหนึ่งในวัด พระมารดาของพระเจ้าได้ทรงประจักษ์มาหาท่านและยื่นพระบุตรของพระนางแก่ท่าน ท่านรับพระกุมารน้อยพลางสนทนากับพระองค์ด้วยความสุข กระทั้งเสียงระฆังดังขึ้น ท่านจึงตื่นจากการเข้าฌาน ท่านจึงเชิญให้แม่พระทรงรับพระกุมารไป ก่อนรีบวิ่งไปทำงาน แรกพระกุมารก็กลับไปอยู่ในอ้อมแขนของพระมารดาอยู่หรอกนะ แต่จู่ๆพระกุมารก็กลับเรียกท่านอีกครั้งให้กลับมา มันทำให้ท่านตระหนักได้ว่าพระกุมารทรงยังไม่ยอมกลับไปอยู่ที่ตำแหน่งเดิม เพราะพระองค์ทรงอยู่ในท่าที่ราวกับถูกโยนกลับไป จนราวจะตกแหล่ไม่แหล่ ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังสามารถเห็นพระกุมารกับแม่พระองค์นี้ได้อยู่

คนดำผู้ปลอบประโลมใจคนทุกข์ยาก ท่านมีคำให้กำลังใจพวกเขาเสมอไม่ว่าจะรวยจนก็ตาม ท่านก็มีคำปลอบประโลมให้เสมอ ท่านรู้ถึงสภาพวิญญาณพวกเขาโดยที่พวกเขาไม่ต้องพูด  ดั่งเรื่องของจูวานนา ดิ จูวานนิ (Giovanna Di Giovanni) หญิงม่ายผู้มีบุตรชายเพียงคนเดียวที่อยู่ห่างไกลจากซิซิลีนัก เธอคิดถึงเขามากๆ เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปปรึกษากับท่านถึงที่อารามในวันเสาร์และเมื่อได้พบท่าน ท่านก็ได้กล่าวกับหญิงหม้ายผู้น่าสงสารคนนั้นว่า คุณมาที่นี่เพื่อทราบข่าวของบุตรชายคุณ จงไปในสันติสุขของพระเจ้าเถิดเพราะคุณจะได้รับข่าวดีเร็วๆนี้ ทันทีคุณจะได้เห็นเอง เธอเชื่อและกลับบ้านไป ไม่ช้าในวันจันทร์ก็ได้ข่าวลูกชายของเธอ และที่สุดวิเศษสุดๆคือในวัดถัดไปบุตรชายของเธอก็ได้กลับมาบ้านด้วยความปลอดภัย



คงจะไม่เป็นอะไรมั้งที่เราจะต่อเรื่องเล่าแนวนี้อีกซักเรื่องหนึ่ง คงไม่เป็นไร มาฟังเรื่องของดอนนา ปียตรา อาเลซี (Donna Pietra Alesi) เธอได้ให้การไว้ในระหว่างการพิจารณาท่าเป็นบุญราศี ดังนี้ เธอสมรสแล้วสองครั้ง โดยสามีคนแรกของเธอชื่อนายเซซาเร รูซโซ (Cesare Russo) เขาเป็นคนเจ้าชู้ประตูผีสุดๆ มันจึงเป็นฝันร้ายสำหรับดอนนายิ่งนักเธอรู้สึกเจ็บปวดมาก ที่สุดเธอจึงตัดสินใจไปให้พวกแม่มดทำเสน่ห์ให้สามีของเธอกลับมารักมาหลงเธอคนเดียว แม่มดคนนั้นได้มอบผงบางอย่างแก่เธอพร้อมกำชับว่าให้นำผงนี้ไปผสมน้ำหรือสปาเกตตีให้สามีของเธอกิน ครั้งแรกเธอตั้งใจจะทำตามนั้น แต่จู่ๆจิตสำนึกของเธอก็สั่งให้เธอไม่สามารถทำมันลงไปได้จริงๆ

จนวันหนึ่งเธอจึงตัดสินใจไปยังอารามของท่านตามกิตติศักดิ์ที่ลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน เพื่อรับคำปลอบประโลมดวงใจที่บอบช้ำนี้  แต่ก็ต้องช็อกเมื่อโดนท่านตวาดว่า ไป ไป จงปิดประตูนรกเสียและกลับมาที่นี่ มันทำให้เธอถึงกับสงสัยมาก เธอไม่เข้าใจความหมายของท่าน เธอจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับมารดาและก็ได้รับคำตอบว่าผงนั่นแหละ เธอจึงเขวี้ยงผงนั่นทิ้งและรีบเดินไปหาท่าน ที่ยิ้มอย่างร่าเริงรอท่าอยู่แล้ว จนเธอมาถึงท่านก็ได้กล่าวกับเธอว่า ตอนนี้คุณได้โยนเจ้าปีศาจที่ครอบครองเขาออกไปแล้ว จงกลับบ้านไปอย่างมีความสุข ที่นั่นคุณจะได้พบสามีของคุณรอคุณอยู่และคุณจะมีชีวิตในอนาคตกับเขาอย่างมีความสุข นับจากนั้นชีวิตสมรสของดอนนาก็เต็มไปด้วยความสุขมาตลอดดังคำทำนายทุกอย่าง 



แต่ก็ใช่ว่าตลอดชีวิตที่เหลือท่านจะทำหน้าที่ปรุงอาหารเพียงอย่างเดียว เพราะเวลาหนึ่งท่านก็ได้กลายเป็นอธิการของอารามกุสโตส (Custos) ตั้งแต่ปี ค..1578 ซึ่งท่านต้องน้อมรับตำแหน่งนี้ด้วยความนบนอบซึ่งท่านยึดถือไวัเป็นอาภรณ์ประดับกาย และดำรงตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลาอีกสามปี และเวลาหนึ่งท่านก็ต้องไปที่อากรีเจนโต ซึ่งที่นั่นท่านต้องคอยหลบๆซ่อนๆจากบรรดาฝูงชนที่แหแหนมาหาท่าน บางครั้งท่านก็ต้องเดินในเวลากลางคืนอีกด้วย

นอกนี้ขณะท่านดำเนินชีวิตภาวนาอย่างเข้มข้น ท่านก็มิได้ลืมบรรดาคนยากไร้ จนท่านเป็นเสมือนหนึ่ง บิดาดำของผู้ยากไร้ ท่านแนะภารดาผู้เปิดประตูว่าไม่ควรปฏิเสธการให้ทานกับขอทานที่มาขอ มีวันหนึ่งมีชายผู้หนึ่งได้มอบขนมปังที่มากพอแก่ภารดาในอาราม แต่ผู้ยากไร้ที่แวะมาขอท่าน กลับต้องกลับไปด้วยมือเปล่า ท่านเห็นดังนั้นท่านจึงพาพวกเขากลับมาที่วัดและให้เปิดประตู  มันเป็นเรื่องน้อยนิดนักที่ก้อนขนมปังจะเพียงพอสำหรับพี่น้อง จงให้ทานแก่ผู้ต้องการเทอญและพระญาณสอดส่องของพระเจ้าจะจัดการเอง ภารดาเฝ้าประตูจึงทำเช่นนั้น และในเวลาอาหารเมื่อเปิดตู้ดูอีกครั้ง ก็ต้องพบกับขนมปังมากมายกว่าครั้งก่อน เป็นไปตามที่ท่านบอกเป็นนัยๆ  นอกจากนั้นท่านยังเป็นนักขับคนแรกที่ออกไปเยี่ยมคนป่วยอยู่เสมอ


หลังจากนั้นใน ปี ..1583 ท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นนวกจารย์ แต่ท่านรีบปฏิเสธโดยยกข้ออ้างที่ว่าท่านเป็นภารดาผู้ไม่รู้หนังสือซักตัวและที่สำคัญเป็นคนบาป แต่ข้อโต้ของท่านไร้ผลจนแล้วจนรอดท่านก็น้อมรับหน้าที่ด้วยศีลบนแห่งความนบนอบที่ท่านยึดมั่น  ช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นช่วงเวลาที่วิเศษสุดๆไปเลยละ มันเต็มไปด้วยความอ่อนโยนและความรัก ใครๆที่เคยสัมผัสต่างมิอยากจะจากช่วงเวลานั้นไปได้ จนทำให้ต้องมีการต่อเติมอารามเพิ่มเติมให้มีชั้นสองพร้อมปีก คำสอนของท่านแม้แต่ภารดาที่ปากแข็งก็ยังทำตามด้วยความเชื่อมั่น ท่านให้คำแนะนำดีๆในเรื่องการอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างฉลาดและระมัดระวังแก่เหล่านวกะที่เครียด ท่านไม่เคยถือตัวเลย เช่นครั้งที่ท่านลงโทษนวกะคนหนึ่งและมาทราบภายหลังว่าเขาบริสุทธิ์ ท่านก็รีบไปคุกเข่าต่อหน้านวกะผู้นั้นพลางขอให้เขาอภัยให้ท่าน คนโง่ ผู้นี้

การตีความพระคัมภีร์ฉบับท่านทำด้วยจิตใจ และอธิบายมันออกมาด้วยจิตใจเช่นกัน คุณพ่อวินเซนโซ มากิส (Vincenzo Magis) แห่งคณะโดมินิกัน ผู้จบสูง ก็คือหนึ่งในผู้ที่ได้ประสบกับพรสวรรค์นี้ของท่าน คุณพ่อได้ให้การในการสอบสวนว่า วันหนึ่ง ผมไม่มีความสุขที่ไม่สามารถจะอธิบายขั้นตอนพระวรสารได้ ผมจึงไปอารามซานตา มารีอา ดิ เจซู เพื่อปรึกษากับเบเนดิตโต และขณะที่ผมกำลังถามข้ารับใช้พระเจ้า เบเนดิตโตแทนที่จะกล่าวคำอำลา เขาแทบจะอ่านความคิดของผมเขาพูดว่า คุณพ่อครับ ไม่ต้องอารมณ์เสียไปครับ ถ้าคุณพ่อไม่เข้าใจขั้นตอนของพระวรสาร เพราะผมจะอธิบายให้เองครับ คุณพ่อวินเซนซาจึงตัดสินใจนั่งลงและฟังคำอธิบายที่ชัดเจน เปี่ยมไปด้วยความเชื่อที่ลึกซึ่งจนยากจะหาได้ในนักปราชญ์ที่ดีของพระวรสารจากท่านผู้ต่ำต้อย


พระเยซูเจ้าเคยตรัสว่า เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า คนที่วางใจในเราจะทำกิจการที่เราทำนั้นด้วย และเขาจะทำกิจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก เพราะว่าเราจะไปหาพระบิดาของเรา (ยอห์น 14 : 12)  นักบวชผิวดำผู้เชื่อมั่นในพระเจ้ารักษาผู้คนมากมายที่ต่างทุกข์ทนผ่านสำคัญมหากางเขน การสัมผัสหรือการเจิมด้วยน้ำมันจากพระแท่นศีลมหาสนิท , แม่พระ จนได้ทำให้คนตาบอดได้มองเห็น รักษาโรคร้าย หรือกระทั้งให้ชีวิตแก่คนตาย หากจะกล่าวก็คงจะมีมากมายอัศจรรย์จึงขอยกให้ผู้อ่านได้รับฟังกันสามสี่อัศจรรย์ นั่นก็คือ อัศจรรย์การรักษาลูกน้อยของอีเลียวนอรา สตรีที่มีอาการท้องบวม คนตาบอด การช่วยหญิงท้องที่ประสบอุบัติเหตุ และการรักษาภรรยาของท่านอุปราช

นางอีเลียวนอรา เป็นภรรยาของอันเจโร เฟรโร เธอเดินทางมาอารามท่าน และขณะที่เธอกลับบ้านในตอนเย็น รถม้าก็เกิดพลิก จนอันเดร (Andrea) บุตรวัยห้าเดือนของเธอตกไปอยู่ใต้ท้องรถ หัวใจคนเป็นแม่แตกสลาย เมื่อไม่สามารถยื้อชีวิตบุตรชายได้ เสียงร้องแห่งความเจ็บปวดดังไปทั่ว ขณะที่พวกท่านวิ่งมา เมื่อได้ยินเสียงคร่ำครวญแล้ว ท่านก็ได้อุ้มทารกคนนั้นขึ้น ใช้มือแตะที่หน้าผากเขา พลางสวดภาวนา ก่อนส่งเด็กคืน ป้อนอาหารลูกเธอเสียนะ ท่านกล่าว แต่ คุณพ่อค่ะคนตายไปแล้วจะกินอะไรได้ นางอีเลียวนอรากล่าวอย่างฉงน จงอย่าไม่เชื่อ เอาเขาไปที่เต้านม ท่านกล่าวเสริม และด้วยความเชื่อมั่นเธอทำตามพลันอัศจรรย์ก็บังเกิด เด็กน้อยลืมตาขึ้นและเริ่มดูดนมมารดาของเขาอย่างมีความสุข



ฮื่อๆ เหตุไฉนชีวิตลูกถึงอาภัพเช่นนี้ พระมารดาเจ้าข้าโปรดรักษาลูกด้วย เสียงร่ำไห้ด้วยความทุกข์ใจดังแว่วไปทั่วทั้งวัด มันเป็นเสียงของสตรีนางหนึ่งที่มีอาการท้องบวมผิดปกติที่กำลังร่ำไห้หน้าแท่นของแม่พระ พอดีเป็นเวลาประจวบกับที่ท่านผ่านมาพอดี ท่านจึงเข้าไปปลอบเธอและทำสำคัญมหากางเขนและบอกเธอว่าเธอได้รับการรักษาแล้ว 

อีกคราหนึ่งขณะที่ท่านอยู่ที่ประตูอารามกับเกรกอริโอ ดา ลิกาตา (Gregorio da Licata) ก็ได้มีชายตาบอดคนหนึ่งเดินมาพร้อมไม้เท้ากับสุนัขนำทางของเขา แล้วตรงมาหาท่าน ซึ่งเมื่อมาถึงเขาก็ขอให้ท่านอ้อนวอนพระหรรษทานสำหรับเขา ไม่รอช้าท่านจึงก้มลงภาวนาตามปกติพร้อมทำสำคัญมหากางเขนแก่เขาเช่นที่ทำทั่วไป ทันทีความมืดมนในดวงตาเขาก็มลายสิ้นไป เขามิอาจจะหยุดกลั้นดีใจของเขาได้ อัศจรรย์ อัศจรรย์ เรียกให้บรรดาคนในคณะวิ่งฮือกันออกมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? อย่างไร? เมื่อไร? แต่ไม่ทันท่านดอก เพราะด้วยความเร็วท่านก็รีบโกยขึ้นไปหลบอยู่ที่วัดของคณะบนภูเขาเรียบร้อยแล้ว และเมื่อมีคนถามว่าท่านหนีทำไม ท่านก็ตอบไปว่าคนตาบอดได้รับการรักษาโดยแม่พระไม่ท่าน ดังนั้นท่านจึงไม่ต้องการให้ใครไม่สรรเสริญท่านมากกว่าสรรเสริญแม่พระ


ส่วนอีกอัศจรรย์ที่ลืมไม่ได้ก็คือการช่วยชีวิตบุตรของนางลูเดรเซีย เพราะในวันนั้นถ้าใครได้เห็นเหตุการณ์คงมีไม่ทางเชื่อแน่ว่านางลูเกรเซีย ดิ การ์โล (Lucrezia Di Carlo) จะคลอดบุตรสาวที่แข็งแรงอกมาได้ ทั้งๆที่วันนั้นขณะเธออุ้มท้อง เธอได้ประสบอุบัติเหตุถูกล้อรถม้าทับท้องของเจ้าหล่อนซะขนาดนั้น แน่นอนใครๆก็ต้องต่างคิดว่าเธอต้องแท้งลูกเป็นแน่ๆ แต่ผ่านสำคัญและคำภาวนาของท่านที่ถูกตามมาโดยหญิงคนหนึ่ง เธอก็ได้รับการรักษาให้ปลอดภัยและได้ให้ทุกคนประจักษ์ในวันนี้

และอัศจรรย์ประการสุดท้ายที่จะยกมาก็คือ อัศจรรย์ต่ออุปราชแห่งซิซิลี ซึ่งเล่าดันว่ากาลหนึ่งที่ภรรยาของมาร์กานโตนิโอ โกโลนนา (Marcantonio Colonna) อุปราชแห่งซิซิลี เกิดล้มป่วยหนักจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อ เขาก็ได้รับสั่งให้คนไปเชิญท่านมาที่วังของอุปราช เขาต้อนรับท่านอย่างดีเมื่อมาถึงพร้อมอ้อนวอนให้รักษาภรรยาของเขาด้วย ท่านจึงขอให้เขามีกำลังใจเถิด เพราะภรรยาของเขาจะได้รับการรักษาแน่นอน กระทั้งเมื่อท่านจะลากลับอาราม ภรรยาของอุปราชก็พลันหายจากโรคร้ายในทันที 

แต่แม้พระเป็นเจ้าจะทรงกระทำอัศจรรย์ผ่านท่านมากเท่าใด ท่านก็ไม่อาจหนีความเป็นอนิจจังไปได้  นั่นคืออยู่ๆในเดือนกุมภาพันธ์ ค..1589 ท่านในวัยหกสิบกว่าปี ก็ล้มป่วยลง หลังจากนั้นนับวันร่างกายท่านก็ยิ่งทรุดลง ทรุดลงเรื่อยๆ ท่านมีอาการเหนื่อยอ่อน แต่ท่านก็ยังคงยกทุกอย่างแด่พระเยซูเจ้า ท่านปฏิเสธการใช้ยาหรืออาหารพิเศษใดๆ นอกจากมันจะเป็นคำสั่งของท่านอธิการเพราะท่านคือข้ารับใช้พระเจ้าผู้นบนอบ แม้ในวันที่แพทย์สั่งให้ท่านรับประทานไข่ ท่านก็กล่าวกับภารดาที่นำไข่มาให้ท่านว่า ไข่เหล่านี้ไม่จำเป็นดอก แต่เพียงก็เพราะความนบนอบเท่านั้นเอง

ที่สุดจึงมีการตัดสินใจโปรดศีลเสบียงท่าน เวลาถัดมาที่ท่านกำลังจะได้รับศีลมหาสนิท ท่านที่ป่วยอยู่ก็ลุกขึ้นแล้วใช้เชือกทำเป็นบ่วงรัดคอสัญลักษณ์ของการสำนึกผิด ท่านตระหนักดีว่าท่านเป็นเพียงคนบาปผู้น่าสงสาร ท่านสะอื้นตลอดเวลาเพื่อวอนขอการอภัยบาปอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อเสร็จพิธีแล้วภารดาทุกคนก็ต่างแยกย้ายกันไปเพื่อร่ำไห้กับภาพที่เขาได้เห็น โอ้ท่านภารดาดำจะจากเราไปจริงๆหรือนี่ พวกเขาคงคิดเช่นนี้ คงเหลือแต่ภารดากูลเยลโม ที่เตรียมจะจุดเทียนเพราะเชื่อว่าท่านกำลังจะจากไปแล้ว แต่ท่านยั้งเขาว่า บราเดอร์ครับ อย่าพึ่งจุด เดี๋ยวเมื่อมันใกล้เข้ามาผผมจะบอกเองครับ



หลังจากนั้นในภารดาเปาโลและภารดากูลเยลโมเป็นผู้เฝ้าท่านอยู่นั้น กระทั้งท่านที่ล้มหมอนนอนเสื่ออยู่ก็พูดขึ้นว่า โปรดไปเอาเก้าอี้มาให้แก่สตรีผู้ศักดิ์เหล่านี้ที่มาเยี่ยมผมด้วยเถอะครับ มันทำให้เขาฉงนมากว่าไหนละสตรี เขาจึงถามท่านกลับไปว่า พวกเธออยู่ที่ไหนกันละครับ ท่านก็ตอบกลับไปพลัน อ้าว ไม่เห็นนักบุญอุร์สุลาและเพื่อนพรหมจารีของเธอดอกหรือ ท่านเก็บงำความรู้สึกปิติต่อไป กระทั้งผ่านไปอีกไม่กี่ชั่วโมง ท่านก็ได้หันไปหาภารดากูลเยลโมและพูดกับเขา บราเดอร์ครับ ถึงเวลาแล้ว แสงเทียนครับ เมื่อฟังแล้วเขาก็จัดให้มือท่านไขว้กันอยู่ที่อกแบบกางเขน หลังจากนั้นท่านจึงเรียกชื่อพระเยซูเจ้า แม่พระและนักบุญฟรานซิส ด้วยดวงตาที่มองไปยังสวรรค์ พร้อมใบหน้าที่สดใส ท่านเปล่งวาจาสุดท้ายว่า ในพระหัตถ์ของพระองค์ ลูกขอฝากวิญญาณของลูกไว้ด้วยเทอญ สิ้นเสียงท่านก็ได้คืนวิญญาณของท่านสู่พระเจ้าอย่างสงบ ด้วยวัย 65 ปี ในวันที่ 4 เมษายน ค..1589

ตามตำนานยังกล่าวเสริมอีกว่า ก่อนที่วิญญาณท่านจะขึ้นไปรับเกียรติในสวรรค์ ท่านได้ไปหาและปลอบหลานสาวที่รักของท่าน ที่บวชเป็นซิสเตอร์ชื่อเบเนเดตตา นาสตาซิ (Suor Benedetta Nastasi) ที่อาศัยอยู่ในบ้านที่จันโดเมนิโก รูเบียโน  ขณะที่เธอกำลังอยู่ในห้องนอน ในลักษณะเป็นนกพิราบขาวโดยท่านได้กล่าวกับเธอว่า อย่าสงสัยอะไรเลยเบเนเดตตา ทันทีเธอรับรู้ว่านั่นคือเสียงของลุงของเธอ เธอจึงถามท่านว่า คุณลุงจะไปไหนค่ะ ท่านก็ตอบว่า บนท้องฟ้าจ๊ะ



ท่านจากไปสู่สวรรค์เช่นนักบุญ ดังคำพูดของนักบุญเปลาโลที่ว่า ผมได้ต่อสู้อย่างสมศักดิ์ศรี ได้วิ่งถึงเส้นชัยแล้ว และผมยังคงรักษาความเชื่อไว้ได้ ตอนนี้รางวัลแห่งชัยชนะนั้นกำลังรอผมอยู่ คือการที่พระเจ้ายอมรับผม องค์เจ้าชีวิตผู้พิพากษาที่ซื่อสัตย์จะมอบรางวัลนี้ให้กับผมในวันนั้น และไม่ได้ให้กับผมคนเดียวเท่านั้น แต่ยังให้กับทุกคนที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยพระองค์กลับมา (2 ทิโมธี 4: 7-8)  การจากไปของท่านคือความเศร้าของปาแลร์โม และคือความยินดีเมื่อท่านได้ถูกบันทึกนามในสารบบนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 7 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1807  ร่างของท่านยังคงอยู่ที่ปาแลร์โมในวัดของอารามซานตา มารีอา ในสภาพไม่เน่าเปลื่อยตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นพยานถึงเรื่องราวมากมายอัศจรรย์ต่างๆ ผ่านการวิงวอนของท่าน


ในบางตอนของพระธรรม 1 ซามูเอล บทที่ 16 ข้อที่ 7 กล่าวไว้ว่า มนุษย์ดูที่รูปร่างภายนอกแต่พระเจ้าทอดพระเนตรจิตใจ แม้ท่านจะเกิดมาผิวดำแต่เกิดท่านก็ไม่เคยคิดว่ามันคือปมด้อยจนพลอยทำให้จิตใจท่านตกลงสู่ห้วงนรกไปตามที่คนมอง กลับกันท่านกลับยกจิตใจของท่านขึ้นใกล้พระเจ้ามากขึ้นๆ ทีละเล็กละน้อยผ่านคำภาวนาเล็กๆน้อยๆเพราะท่านตระหนักดีว่าพระเจ้าทรงมองที่จิตใจ ดังนั้นวาระสุดท้ายของท่านจึงได้กลับไปหาพระบิดาเจ้า บางทีในสวรรค์ท่านอาจพูดกับเราที่ท้อว่า อย่าท้อที่จะติดตามพระนะ ถ้าท้อเพราะคำคนก็ขอให้เราเพียงระลึกว่ารพระเจ้าทรงมองคนที่หัวใจ ไม่ใช่ที่ร่างกาย ภาษา วัฒนธรรม การศึกษา ดูอย่างผมซิ





ข้าแต่ท่านนักบุญเบเนดิตโต ดำ ช่วยวิงวอนเทอญ

ข้อมูลอ้างอิง

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...