บุญราศียอห์น
ยู จุง ชอล และ บุญราศีลุทการ์ดา ยี ซุน อี
Bl.John Yu Jung-Cheol
and Lutgarda Yi Sun-i
เร่ เข้ามาท่านทั้งหลายที่สนใจ มานั่งใกล้ข้ามีเรื่องจะเล่า
เป็นเรื่องราวชายหญิงไม่ได้เศร้า ไม่ต้องเอาผ้ามารอซับน้ำตา
แต่ขอย้ำว่าเรื่องนี้จริงแท้แน่ ไม่ได้แม้นเติมแต่งหรือเพิ่มหนา
ครรลองเดิมเดินมาแต่ไรมา ข้าก็พาสู่ท่านอย่างนั้นเอย
เรื่องราวเริ่มขึ้นที่ในหมู่บ้านชื่อ
โกนัม ในเมืองจอนจู หรือในปัจจุบันคือนัมจี-รี มณฑลวันยู จังหวัดช็อลลาเหนือ
ประเทศเกาหลีใต้ ในราวปี ค.ศ.1779 เมื่อภรรยาของออกัสติน ยู ฮาง
ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนแรกแก่ตระกูลอันมั่งคั่งและมีชื่อเสียงของเขา สมาชิกใหม่ผู้นี้ได้รับนามว่า
“ยู
จุง ชอล” หรือจะเรียกว่า
“จง
ซ็อก”
ก็ได้
โดยเรื่องราวของการเป็นคริสตชนของครอบครัวของยูนั้นเริ่มมาจากการที่บิดาของยูได้ไปเรียนคำสอนกับฟรานซิส
เซเวียร์ ควอน อี ซิน และได้ตัดสินรับศีลล้างบาปเป็นคริสตชน
ในเวลาที่ศาสนาคริสต์กำลังเข้ามายังเกาหลีไม่นาน ซึ่งนับแต่นั้นมาบิดาของยู
ก็ได้อุทิศตัวเพื่อการประกาศพระวรสารทั้งแก่คนในครอบครัวของเขาเองและแก่มิตรสหายของเขา
จนบ้านของเขากลายเป็นศูนย์กลางของคริสตชนคาทอลิกในภูมิภาคช็อลลาเลยทีเดียว
คงพอจินตนาการออกถึงสภาพแวดล้อมที่ยูเติบโตขึ้นมาและได้รับศีลล้างบาปพร้อมนาม
“ยอห์น” แล้วซินะ สภาพแวดล้อมแบบคริสตชนโดยแท้ ขณะเดียวกันยูก็ได้รับการศึกษาภายใต้การดูแลของสตานิลาอุส
ฮาน จ็อง เฮอุม ซึ่งได้เล่าถึงเด็กชายยูว่า “ยอห์น ยู เป็นคนที่จริงใจและตรงไปตรงมาในการอุทิศตนของเขา
และเขายังมีความเชื่อที่เข้มแข็งและร้อนรนในกิจการเมตตา
แม้เขาจะยังเด็กเขาก็ปฏิบัติหน้าตนเช่นผู้ใหญ่ที่สุภาพและรอบคอบในการซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของเขา
ต่อชีวิตเที่ยงธรรม และต่อการรังเกียจความไร้สาระทั้งหลายของโลก”
ตัดกลับไปที่ครอบครัวขุนนางเปี่ยมชื่อเสียงของยี
ยุน ฮา ในปี ค.ศ.1782
สามปีหลังจากยูเกิด ภรรยาของยี ยุน ฮา
ก็ได้ให้กำเนิดทารกเพศหญิงเป็นลุกคนสุดท้องของครอบครัว พร้อมตั้งนามทารกผู้นั้นว่า
“ยี
ซุน อี”
หรือ “ยู
ฮี” สองปีหลังจากเกิดบิดาของยี ซุน
ก็ได้รับศีลล้างบาปตามนามนักบุญมัทธิว ก็จะตามมาด้วยมารดาของยี ซุน
ที่ได้เรียนคำสอนและตัดสินใจรับศีลล้างบาปเช่นเดียวกับสามี หลังจากนั้นมามารดาของยี
ซุน ก็กลายมาเป็นครูคำสอนคนแรกของยี ซุน ลูกคนสาวคนเล็ก ซึ่งภายมีศาสนนามหลังรับศีลล้างบาปว่า
“ลุทการ์ดา”
กระทั้งมีวัยได้ประมาณ
11 ปี
บิดาของลุทการ์ดาก็ได้มาสิ้นใจไป ทิ้งให้มารดาและลุทกาดาพร้อมพี่ชายทั้งสองไว้ ลุทการ์ดาจึงอยู่กับมารดาขณะเดียวกันก็ได้อุทิศตัวเองเพื่อฝึกเป็นครูคำสอนและช่วยวิญาณทั้งหลาย
จนวัยล่วงได้ประมาณ 13 ปี ในปี ค.ศ.1795 ลุทการ์ดาก็ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกจากคุณพ่อยากอบ
โจว เหวิน โหม่ ซึ่งก่อนจะถึงวันจริงนั้นลุทการ์ดาก็ได้เตรียมตัวอย่างดี สวดภาวนาและเรียนคำสอนเป็นระยะสี่วัน
หลังจากนั้นมาลุทการ์ดาก็ได้เจริญชีวิตในการสวดภาวนา
ในความรักต่อศีลมหาสนิท ในคุณธรรมอย่างร้อนรน
เธอตัดสินใจเลือกพระคริสตเจ้าเป็นเจ้าบ่าวแต่เพียงคนเดียวผ่านการปฏิญาณตนถือพรหมจรรย์
แต่กระนั้น ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำเช่นนี้เพราะสังคมในสมัยนั้น
การที่ผู้หญิงจะอยู่คนเดียวเป็นเรื่องยากมากๆ แม้จะเป็นอย่างนี้ลุทการ์ดาก็ไม่ลังเลใจที่จะเปิดเผยเรื่องนี้แก่มารดาเมื่อเธออายุได้
15 ปีแล้ว
และก็ต้องประหลาดใจเมื่อมารดาเห็นด้วยและได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับคุณพ่อยากอบ โจว
เหวิน โหม่ อีกด้วย
ทำให้คุณพ่อนึกได้ว่าในปีเดียวกันกับที่ลุทการ์ดาได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกนั้น
คือในประมาณปี ค.ศ.1795 ยอห์น ยู ในวัย 16 ปี
ก็ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกจากมือของคุณพ่อเช่นกัน ในเวลาที่คุณพ่อเดินทางไปเยี่ยมเขตวัดที่โกนัม
และหลังจากนั้นยูได้เปิดใจต่อหน้าคุณพ่อและบอกว่า “ผมต้องการเจริญชีวิตเป็นพรหมจรรย์ครับ” เมื่อนึกได้เช่นนั้นคุณพ่อยากอบ
จึงไม่รีรอที่จะส่งจดหมายไปหายู พร้อมได้จัดให้ทั้งยอห์น ยู และ ลุทการ์ดา ยี
เข้าพิธีสมรสกันในที่สุด
ร่วมยินดีปรีดากันเถิดหนา
เหตุละว่าลูกท่านยีได้ออกเรือน
กับชายหนุ่มสมคู่ดั่งดาวเดือน
คงมิเคลื่อนแคล้วกันเป็นแน่นอน
มาละพี่ร่วมกันอวยพรเขา ให้มิเศร้ามีแต่สุขอดิศร
ให้ครองคู่นานยิ่งสมใจปอง
ลูกว่านอนสอนง่ายทุกคนเอย
เดือนตุลาคม ค.ศ.1797
ทั้งสองก็ได้จูงมือกันเข้าประตูวิวาห์ ก่อนที่ลุทการ์ดาจะติดตามสามีซึ่งก็คือยอห์น
ยูไปยังบ้านเกิดของเขา และได้ปฏิญาณตนรักษาพรหมจรรย์ต่อหน้าบิดามารดาของยู
ในเดือนกันยายน ปีถัดมา พร้อมสัญญาจะดำเนินชีวิตในฐานะพี่ชายและน้องสาว
มิใช่ในฐานะสามีและภรรยา
แน่นอนว่าชายหญิงที่ไม่ใช่พี่น้องกันมาอยู่บ้านหลังเดียวกันก็ต้องเกิดความต้องการบ้าง
ฉันใดฉันนั้นทั้งสองก็ต้องพบกับปัญหานี้ แต่ทุกๆครั้งทั้งสองก็ก้าวผ่านมันไปได้ด้วยการ
“รำพึงและภาวนา” คราใดที่ยูอยากจะฝ่าฝืนข้อปฏิญาณนั้น ลุทการ์ดาก็จะช่วยเขาด้วยรำพึงภาวนา
เช่นเดียวกันกับยู เขาก็เอาชนะการล่อใจนี้ด้วยการรำพึงภาวนาเช่นเดียวกัน และด้วยวิธีการนี้เองทั้งสองจึงมีชีวิตอยู่ร่วมกันโดยมิได้ละเมิดคำปฏิญาณซักครั้ง
จวบจน ณ วันที่สัญญาอีกอันที่ทั้งสองให้ไว้คือจะตายเช่นเดียวกับมรณสักขี
ทั้งสองดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขกระทั้งปี
ค.ศ.1801 เมื่อพระอัยยิกาคิม
พระราชมารดาในพระเจ้าซุนโจ ผู้สำเร็จราชการแทนในขณะนั้นเพราะพระเจ้าซุนโจ
ยังทรงพระเยาว์ ได้ออกพระราชกำหนดห้ามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ โดยกล่าวหาคริสตชนว่าเป็นคนที่
“ไม่มีกษัตริย์ให้จงรักภักดี
ไม่มีบิดาให้คำนับ” เหตุคริสต์ศาสนาห้ามบูชาสิ่งอื่นใดนอกจากพระเจ้า
และโทษของการไม่บูชาบรรพบุรุษในโชซอนนั้นรุนแรง จึงส่งผลให้เกิดเบียดเบียนคริสตชน
ซึ่งตามประวัติศาสตร์เรียกว่า “การสังหารหมู่ชาวคริสต์ปีชินยู” ขึ้น
และที่หมู่บ้านโกนัม เจ้าหน้าที่ก็ได้บุกเข้ามาและได้จับกุมบิดาของยู ก่อนพาตัวไปยังโซล
เช่นเดียวกันกับบิดายูก็ถูกจับ แต่ถูกส่งไปขังยังเมืองจอนจู
ในฤดูใบไม้ผลิปีนั้นเอง ซึ่งตลอดระหว่างถูกจำคุกนั้น ยู มุน ซ็อก
น้องชายของยูก็ทำหน้าที่เป็นผู้คอยส่งอาหารให้พี่ ผู้ต้องทนสวมชุดสำหรับฤดูหนาว
แม้จะเป็นกลางหน้าร้อนเพราะในเวลานั้นการจัดหาเสื้อผ้าให้นักโทษถือเป็นเรื่องต้องห้าม
ทั้งกลางวันและกลางคืนยูถูจับใส่ขื่อคาไว้ ได้รับความทรมานมากมาย
แต่กระนั้นหัวใจของยูก็ยังคงหนักแน่นในพระเจ้าไม่เปลี่ยนแปลง
ลุถึงกลางเดือนกันยายน
คนในครอบครัวรวมทั้งลุทการ์ดาก็ถูกจับและถูกส่งมายังเมืองจอนจู ท่ามกลางความเครียดลุทกาดากล่าวปลอบโยนครอบครัวว่า“เราทุกคนจะไปสวรรค์ด้วยกัน” และเมื่อถูกจำคุกลูทกาดาก็ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงพี่สาวของเธอ
ซึ่งแสดงถึงความรู้สึกว่า
“พวกเราทั้งห้าเป็นหนึ่งเดียวกันในความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวของพวกเราที่จะมอบถวายชีวิตทั้งครบแด่พระเจ้าแม้นจะต้องเป็นมรณสักขีก็ตามที
อาศัยการเปิดใจกับคนอื่นก็ทำให้พวกเราได้ทราบว่าพวกเราทั้งหมดล้วนมีความปรารถนาอันร้อนแรงที่จะตายเพื่อพระเช่นเดียวกัน…. และเช่นนั้น ความเสียใจและความวิตกกังวลของพวกเราก็ได้มลายหายไปสิ้น
แต่ละวัน พวกเราหล่อเลี้ยงด้วยพระหรรษทาน ความรัก
และความยินดีในพระเจ้าที่เติบโตในหัวใจของพวกเรา จนดูราวกับว่าความกังวลใจไม่มีเหลือแล้วในหัวใจของพวกเรา”
ประมาณยี่สิบวันหลังถูกจับพร้อมครอบครัว
ยู มุน ซ็อก น้องชายของยู ก็ถูกนำตัวมาขังไว้ในห้องเดียวกับยู
และถูกตัดสินให้แขวนคอจนจบชีวิตลงในฐานะมรณสักขีในวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ.1801 ซึ่งในเวลาสิ้นใจนั้นยูมีอายุรวม 22 ปี พร้อมกันนั้นยุได้ทิ้งจดหมายถึงลุทการ์ดาไว้ในเสื้อว่า
“พี่ขอสั่งเสีย ให้กำลังใจ และปลอบประโลมน้องสาวของพี่
ให้เราไปพบกันในสวรรค์”
กลับมาที่ลุทการ์ดาที่ยังคงถูกจองจำอยู่
ทางเมืองจอนจูก็ได้มีการขอความเห็นในการตัดสินคดีของลุทการ์ดาและญาติไปยังราชสำนัก
ทางราชสำนักจึงได้ส่งคณะปกครองอย่างเป็นทางการมายังจอนจูเพื่อดูแลคดีนี้ในทันที ผลสุดท้ายปรากฏว่าลุทการ์ดาถูกสั่งเนรเทศไปยังฮัมกีอง
โด แต่อย่างไรก็ตามในนามของครอบครัว ลุทการ์ดาก็ได้วิงวอนเจ้าหน้าขอให้ลงโทษตามกฎหมาย
แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ
แต่เพียงไม่นานหลังจากพวกเขาออกจากดินแดนเนรเทศ
เจ้าหน้าที่ก็สามารถตามจับพวกเขากลับมาได้
เวลานั้นลุทการ์ดาไม่อาจะทนเก็บความยินดีไว้แต่ภายในได้อีกต่อไป “ในที่สุด ฉันก็จะได้ตายแบบมรณสักขีแล้ว” ลุทการ์ดากล่าวด้วยยินดี เธอถูกพาไปอยู่ต่อหน้าผู้ว่าการจังหวัดอีกครั้งและถูกตัดสินประหารชีวิตดั่งความปรารถนา
แต่ก่อนจะถึงเวลานั้นลุทการ์ดาก็ต้องถูกเฆี่ยนตีอย่างทารุณและถูกจับขังคุกไว้ อย่างไรก็ตามแม้จะถูกตีเช่นนั้นเธอก็ไม่รู้สึกอันใด
และบาดแผลนั่นก็หายขาดภายสี่ห้าวันถัดมา
31 มกราคม
ค.ศ.1802 หลังจากได้รับการอนุมัติจากราชสำนักแล้ว
ลุทการ์ดาและญาติๆ ก็ถูกพาไปยังจุดที่มีชื่อว่า ซุปยองจี
และถูกตัดศีรษะจบชีวิตตามความปรารถนาคือการเป็นมรณสักขีอย่างสง่าด้วยวัย 20 ปี พร้อมญาติๆ นับเป็นเวลากว่า 200 ปี ถัดมาหลังมรณกรรมของทั้งสอง ที่สุดแล้ว
ยอห์น ยู และ ลุทการ์ดา ยี ก็ได้รับการบันทึกนามในสารบบบุญราศีของพระศาสนจักรพร้อมเพื่อนมรณสักขีอีก
122 คน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ในวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา
“เนื่องจากพระคริสตเจ้าทรงรับทรมานในพระวรกายมาเเล้ว
ท่านทั้งหลายจึงต้องมีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับพระองค์เป็นประดุจอาวุธ”(1
ปต 4:6) ความนึกคิดเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าเป็นอย่างไร? ความนึกคิดแบบพระเยซูเจ้าก็คือ “รัก” รักอะไรบ้างละ
ก็รักพระเจ้าสุดจิตสุดใจและเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองไงละ
รักสองสิ่งนี้แหละคือความนึกคิดแบบพระเยซูเจ้า แล้วทำไมต้องเปรียบเป็นอาวุธ ก็เพราะการรักพระเจ้าทำให้เราหักห้ามใจที่จะทำบาปผิดต่อพระ
และการรักเพื่อนพี่น้องก็ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปีศาจไม่ต้องการที่สุด
มันปรารถนาให้คนทำบาปและเข่นฆ่ากัน ดังนั้นหากเราคิดเช่นนี้ปีศาจก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้
เพราะ มันไม่สามารต่อกรกับพระเจ้าได้ แต่เราก็อย่าประมาท เราต้องหมั่นสวดภาวนาเสมอ
ยิ่งสวดมากก็ยิ่งช่วยให้เรามีชัยชนะเหนือปีศาจและมีฉายาลักษณ์แบบเดียวกับพระเยซูเจ้าทั้งภายในและภายนอกมากขึ้น
บุญราศีสององค์นี้เป็นอีกหนึ่งต้นแบบของต่อสู้การประจบด้วยความรักต่อพระและพี่น้องด้วยการสวดภาวนา
การรำพึง ท่านทั้งสองเป็นแบบอย่างการเจริญชีวิตฆราวาสที่ดี
ที่ควรเลียนแบบอีกหนึ่งคู่ที่ได้ฝากไว้บนพื้นโลกให้เราได้ศึกษาและเลียนแบบต่อไป
“ข้าแต่ท่านบุญราศียอห์น ยู จุง ชอล และ
บุญราศีลุทการ์ดา ยี ซุน อี พร้อมเพื่อนมรณสักขี
ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง