บุญราศีมารีอา
เตเรซา ฟาสเช
Bl. Maria
Teresa Fasce
ฉลองในวันที่ : 18 มกราคม
หากกล่าวถึงกาสชา
เราก็ต้องนึกถึงนักบุญริตา ทำนองเดียวกันหากกล่าวถึงนักบุญริตา
ก็ต้องนึกถึงกาสชา
ที่นี่เป็นเมืองแห่งการแสวงบุญมายังมหาวิหารน้อยนักบุญริตา แห่ง กาสชา
เพื่อเคารพร่างอันไม่เน่าเปื่อยของท่านนักบุญในโลงแก้วอันสวยงาม แม้จะต้องเผชิญกับทางอันคดเคี้ยวเพื่อมุ่งสู่เมืองกาสชาที่ตั้งอยู่ในหุบเขาของแคว้นอุมเบรีย
ก็ไม่ทำให้ความศรัทธาต่อนักบุญองค์นี้ลดน้อยลงไป
วันนี้เราจะกล่าวถึงนักบุญองค์นี้หรือ คำตอบคือ “ไม่”
แต่อยากจะกล่าวถึงซิสเตอร์ท่านหนึ่งผู้ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างที่นี่ขึ้นมา
ผู้ได้พักกายอยู่ในโลงแก้วสีทองบนเสารูปก้อนเมฆ ในห้องใต้ดินของมหาวิหารน้อยนี้
ใกล้ๆร่างของนักบุญที่รัก
หากเดินถอยหลังมาหน่อยเราก็จะพบกับอักษรเขียนภาษาอิตาลีอยู่เหนือโลงว่า “เบอาตา มารีอา เตเรซา ฟาสเช ” หรือ “บุญราศีมารีอา
เตเรซา ฟาสเช”
มารีอา จูวันนา
ฟาสเช เกิดเมื่อวันที่ 27
ธันวาคม ค.ศ.1881 ในเมืองเล็กๆชื่อ โตร์รียา ไม่ไกลเท่าใดจากเจนัว
ประเทศอิตาลี เป็นธิดาของเอวเยนีโอ ฟาสเช กับภรรยาคนที่สองชื่อ เตเรซา วาเลนเต โดยครอบครัวฝั่งบิดาท่านนั่นเป็นหนึ่งในครอบครัวสูงศักดิ์ในระดับชนชั้นกลางของเจนัว
ท่านได้รับศีลล้างบาปด้วยนามว่า “มารีอา”
แต่ท่านก็มักถูกเรียกว่า “มารีเอตตา”
เสมอ และน่าเศร้าเพียงแปดปีให้หลังจากเกิดท่านมารดาท่านก็สิ้นใจ
ดังนั้นพี่สาวคนโตของท่านชื่อ
ลุยเจีย จึงมารับหน้าที่ดูแลท่านและน้องๆ แทนมารดาที่จากไป แต่แม้นจะมีมารดาดูแลเพียงสั้นๆแต่ท่านก็เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพบนสถานที่ที่คุณค่าของความเชื่อได้รับการปลูกฝัง
ขณะเดียวกันก็ได้รับการศึกษาของเด็กหญิงตามที่สมัยนั้นจะทำได้ ซึ่งทั้งที่โรงเรียนประถมและมัธยมท่านก็สามารถทำได้อย่างดี
เราอาจอยากรู้ว่ามารีเอตตาเป็นคนอย่างไร ท่านเป็นคนร่าเริงสดใส แต่ก็อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้หลักใหญ่เช่นกัน
และที่เจนัว
ท่านก็มีโอกาสได้รับใช้คณะออกัสติเนี่ยนในเขตวัดแม่พระแห่งการปลอบโยน
ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญอย่างยิ่งในการเจริญเติบโตด้านชีวิตฝ่ายจิตของสาวน้อยอย่างท่าน
ผู้คอยช่วยงายเขตวัดด้วงแรงกายของตน ทั้งงานสอนคำสอน
งานร้องเพลงและงานช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ และเป็นที่นั่นที่ท่านได้พบคุณพ่อวิญญาณของท่าน
คุณพ่อมารีโอโน เฟรรีเอลโล ผู้จะมีบทบาทสำคัญต่อกระแสเรียกของท่านอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้
และก็เป็นที่นี่ที่ท่านได้เรียนรู้ที่จะรักจิตตารมณ์ของนักบุญออกัสติน
ผู้ศักดิ์สิทธิ์
24 พฤษภาคม ค.ศ.1900 ช่างนับเป็นความยินดียิ่งของคณะออกัสติเนี่ยนทั่วโลก
ด้วยในวันนี้กุหลาบงามผู้เร้นกายในหุบเขาของอุมเบรียได้รับเกียรติอันสูงส่งจากพระศาสนจักรยกให้เธอประดับไว้บนพระแท่นบูชาในฐานะนักบุญ
โดยองค์สันตะบิดรเลโอที่ 13 ทางคณะจึงได้โอกาสเผยแพร่ประวัติของนักบุญใหม่ผู้นี้ผ่านการบรรยาย
การฉลองตามพิธีกรรม และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้นาม “ริตา แห่ง กาสชา”
เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป และเช่นเดียวกันที่เมืองเจนัว
ก็ได้มีการเผยแพร่ความศรัทธาต่อนักบุญองค์นี้กัน
โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าความศรัทธาต่อนักบุญองค์นี้ภายหน้าจะแพร่ไปทั่วโลกอาศัยเด็กสาววัย
19 ที่ฟังประวัติกุหลาบแห่งกาสชาด้วยความสนใจและหลงใหลต่อชีวิตอันน่าพิศวงของกุหลาบดอกนี้
เวลานี้ด้วยประวัติของกุหลาบดอกนี้แห่งกาสชา ได้สร้างความประทับใจอย่างยิ่งลงในดวงใจของท่าน
จนทำให้ตัดสินใจที่จะดำเนินตามความฝันที่ซ่อนเร้นในดวงใจของท่านมาตลอด คือ
การเป็นนักบวช เวลานี้กระแสเรียกช่างชัดเจนมาก ใช่แล้ว ท่านต้องการเป็นซิสเตอร์
ซิสเตอร์ออกัสติเนี่ยนในอารามกาสชา ที่เดียวกับกุหลาบแห่งกาสชาได้เคยอาศัยและสิ้นใจ
แต่เมื่อท่านเผยถึงความปรารถนานี้ต่อครอบครัว
บรรดาพี่น้องฝ่ายชายของท่านก็ต่างแสดงปฏิกิริยา “ลบมากๆ” แต่ก็ไม่อาจหยุดท่านได้
ส่วนพี่สาวท่านก็ไม่ได้ขัดขวางอะไร
แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมท่านต้องการไปอยู่ที่ไกลปืนเที่ยงขนาดนั้นด้วย
ทางครอบครัวท่านต้องการให้ท่านเข้าอารามออกัสติเนี่ยนที่ซาโวนา เพราะเวลานี้ครอบครัวท่านย้ายไปอยู่ที่ปีอัซซา
โกลอมโบ ทำให้อารามนี้ใกล้บ้านมากกว่าอารามที่กาสชา ซึ่งห่างบ้านท่านไปราว 500 กิโลเมตรได้
แต่ระยะทางไม่อาจขัดขวางความปรารถนาท่านได้ ท่านยืนกรานเช่นเดิมต้องอารามที่กาสชาเท่านั้น
จนท้ายสุดครอบครัวท่านก็ยอมเปิดไฟเขียวให้ท่านได้ทำตามใจฝันได้
โดยเร็ววันคุณพ่อวิญญาณของท่านเขียนจดหมายไปยังอารามที่กาสชา
และเมื่อได้จดหมายตอบกลับมาจากอธิการของอาราม คุณแม่จูเซปปีนา กัตตาเรลลี
คำตอบที่ได้กลับเป็นไฟแดง เพราะคุณแม่อธิการคิดว่าหญิงสาวในเมืองอย่างท่านคงคุ้นเคยกับเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ
ที่ไม่มีในอารามกลางเขาอย่างนี่และคงจะอยู่ที่นี่ไม่ได้แน่ๆ แต่เช่นเดียวกับนักบุญที่ท่านรัก แค่นี้ทำอะไรสาวมั่นอย่างท่านไม่ได้
ท่านยังคงเฝ้าขอซ้ำแล้วซ้ำอีก
กระทั้งมิถุนายน ค.ศ.1906 อารามก็เปิดไฟเขียวอันสุดท้ายให้ท่านในที่สุด
ท่านเป็นผู้สมัครเณรีอยู่หกเดือน
ในคืนวันสมโภชพระคริสตสมภพ ปีนั้น
ท่านจึงได้เสื้อศักดิ์สิทธิ์ของคณะและในคืนวันคริสตสมภพปีถัดมา ท่านจึงได้ปฏิญาณตนถือศีลบนสามประการ พรหมจรรย์
ความนบนอบ ความยากจน พร้อมได้รับนามใหม่ว่า “เตเรซา
เอเลตตา” ยามนี้ท่านคิดว่าท่านได้โผบินออกจากโลกไปพบยังสวรรค์แล้ว
แต่ในเวลาไม่ช้าท่านก็ค้นพบความจริงในอารามแห่งนี้ โอ้ อนิจจา กาสชา ไม่ได้เป็นดั่งภาพฝันของท่าน
อารามตกอยู่ในวิกฤตตั้งแต่การมาถึงของเจ็ดพี่น้องจากมาเชราตาที่ทำให้เกิดวิกฤตระหว่างพี่น้อง
ไม่เพียงเท่านั้นจิตตารมณ์ของคณะก็อยู่ใกล้ปากเหวเต็มที
ทั้งมีการออกจากห้องรับแขกด้วยหละหลวม
ไม่พอยังมีแต่เสียงหัวเราะมากกว่าความเงียบ การรำพึง และความร้อนรน
สถานการณ์เช่นนี้สำหรับซิสเตอร์ผู้ไม่เคยประนีประนอมหรือยอมรับวิถีแบบนี้อย่างท่านแล้วทรมานเป็นที่สุด
ความผิดหวังและข้อสงสัยเออล้นถาโถมใส่ตัวจนมิดหัวท่าน ท่านลังเลในกระแสเรียกนี้
และต้องการจะทดสอบทางเลือกในชีวิตของท่านเอาเสียใหม่
เหตุฉะนี้ท่านจึงขออธิการออกมาทบทวนเรื่องต่างๆในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1910 ก่อนจะกลับไปในเดือนพฤษภาคม ปีถัดมา พร้อมการยืนยันถึงความมั่นใจในกระแสเรียกการเป็นซิสเตอร์ออกัสติเนี่ยน
ใกล้กับกุหลาบแห่งกาสชาที่ท่านรัก และได้เข้าพิธีปฏิญาณตนตลอดชีพในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1912
ทันทีท่านตระหนักถึงการสืบต่อจิตตารมณ์ของอารามเป็นหน้าที่ของท่านและไม่มีวันที่ท่านจะถอย
ท่านเขียนจดหมายถึงสองฉบับถึงคุณแม่อธิการให้ยุติสถานการณ์ภายในอารามโดยไม่ต้องลังเลใจ
หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1914 ท่านก็ได้รับตำแหน่งเป็นรองนวกจารย์ของอาราม ก่อนในปี ค.ศ.1917 ท่านจะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทน ณ ที่นี่
และที่สุดด้วยคะแนะเสียงเป็นเอกฉันท์จากซิสเตอร์ในอาราม ในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1920
ท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นคุณแม่อธิการของอารามและดำรงตำแหน่งนี้จนสิ้นชีวิต
ซึ่งในฐานะนี้ ท่านก็ได้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าท่านเกิดมาเพื่อเป็นมารดาผู้แสนดีแก่ทุกคนโดยแท้
การปกครองของท่านมีความโดดเด่นผ่านความรอบคอบ ปัญญา
ความแน่นอนและความอ่อนหวาน ท่านมีความเข้าใจจิตใจอย่างหนักแน่นและมีปรีชาญาณซึ่งทำให้ท่านสามารถจะอ่านใจหลายๆคนได้
นอกจากนี้เนื่องจากประสบการณ์ในช่วงแรกในอารามของท่าน
ทำให้ท่านปรารถนาให้ซิสเตอร์ทุกคนในอารามมีอาศัยอยู่ในการรำพึงภาวนาหรือการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ
เพื่อในอารามกลับสู่วิถีทางเดิม วิถีทางแห่งความสันโดษอย่างแท้จริง ท่านยืนยันว่าพระเยซูเจ้ามิได้รัก
“ตุ๊กตา”
แต่พระองค์ทรงปรารถนาเจ้าสาวผู้ร้อนรนและอุตสาหะ
ท่านเป็นคนมีอำนาจเพราะทักษะมารดาของท่าน แต่กระนั้นท่านก็ไม่เคยเผด็จการ
ท่านเข้มงวดเพียงการปฏิบัติตามกฎของคณะและการพิถีพิถันในการนำมันมาประยุกต์ใช้ อันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในเวลานั้น
ด้วยความอ่อนโยนและสุภาพเสมอ
อีกหนึ่งความตั้งใจหลังจากรับตำแหน่งอธิการของท่านอีกสิ่งคือการทำให้กุหลาบแห่งกาสชาเป็นที่รู้จัก
และเพื่อการนี้
ท่านก็เข้าใจดีว่าต้องมีสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสมเพื่อรองรับจำนวนผู้แสวงบุญที่จะหลั่งไหลมายังที่นี่
ดังนั้นขั้นแรกจำต้องสร้างสิ่งพิมพ์สำหรับที่นี่ที่จะแจ้งเรื่องราวต่างๆของสักการสถานและนักบุญขึ้นมา
ทำให้วันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ.1923 นิตรสาร “เดลเล อาปี อัลเล โรเซ” หรือ “จากผึ้งสู่กุหลาบ” จึงถูกตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก
เวลาเดียวกันท่านก็ได้สร้างพระแท่นที่ถวายแด่กุหลาบแห่งกาสชาขึ้นในวัดเล็กๆที่ร่างไม่เน่าเปื่อยของนักบุญริตาถูกรักษาไว้แต่เดิมมา
เพื่อนำเสนอความศรัทธาต่อนักบุญองค์นี้และผลที่ได้ก็ประสพความสำเร็จตามที่คาด
ดังนั้นท่านจึงพยายามจะดำเนินงานขั้นต่อไปอันคือการสร้างวัดใหม่ที่จะถวายเกียรติแด่นักบุญริตา สถานที่ที่ผู้แสวงบุญมายังที่นี่จะได้รับการต้อนรับให้เข้ามาหากุหลาบแห่งกาสชา
เพื่อวิงวอนหรือโมทนาคุณสำหรับพระหรรษทานต่างๆที่ตนได้รับอาศัยนักบุญองค์นี้
ท่านตัดสินใจเปิดแคมเปญนี้ในปี
ค.ศ.1925
แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำเช่นนี้โดยเร็ววัน
แต่กระนั้นมันก็ไม่อาจหยุดท่านที่จะทำตามฝันนี้ได้ ท่านดำเนินงานนี้อย่างรอบคอบและหนักแน่นตลอดสิบสองปีแห่งการรอคอย
กระทั้งศิลาฤทธิ์ก้อนแรกก็ได้ถูกวางขึ้น แต่การก่อสร้างก็มิได้เดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ตรงกันข้ามมันกลับดำเนินไปอย่างช้าๆ
ไม่พอยังถูกขัดจังหวะด้วยสงคราม แต่ที่สุดแล้วงานก็กลับมาเดินต่ออีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิ
ปี ค.ศ.1946 กระทั้งแล้วเสร็จและได้รับการเสกในวันที่ 18 พฤษภาคม ปีถัดมา หลังสี่เดือนของมรณกรรมของท่าน
นอกจากงานสร้างสักการสถานใหม่แล้ว
ในปี ค.ศ.1938 จากที่มีมารดาที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกสาวได้นำมาลูกของเธอมาฝากอารามแล้ว
ท่านก็ตัดสินใจสร้างบ้านสำหรับเด็กหญิงกำพร้าขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “รังผึ้งของนักบุญริตา” และได้อ้าแขนของมันรับเด็กสาวจำนวนมากที่มารดาไม่สามารถเลี้ยงดูแล้วนำมาฝากไว้กับซิสเตอร์
โดยมีท่านคอยติดตามพวกเขาด้วยความรัก ขณะเดียวก็คอยดูแลการพัฒนาทางทั้งทางร่างกายและจิตใจของพวกเขา
ท่านยังมักไปเล่นกับพวกเขาและกลายเป็นเหมือนเด็กเล็กๆในท่ามกลางพวกเขาอีกด้วย และในปัจจุบันที่นี่ยังเปิดรับเด็กสาวที่ครอบครัวยากไร้เพิ่มอีก
ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังเปลี่ยนรูปแบบของเมืองกาสชาไปสู่ความเจริญ
ท่านได้เปิดลา กาซา เดล เปลเลกรีโน(ปัจจุบันคือโฮเตล
เดลเล โรเซ)ขึ้น แล้วยังได้ก่อตั้งเซมีนารีโอ ดี ซานตา
อาโกสตีโน(ปัจจุบันคือบ้านเข้าเงียบสำหรับกลุ่มต่างๆ) รวมไปถึงบ้านสำหรับพระสงฆ์ฟังแก้บาป โรงพยาบาล
และการขยายถนนไปยังสักการสถานใหม่
เราอาจคิดว่าท่านเป็นคนที่มีสุขภาพดี
แต่เปล่าเลยตลอดสามสิบปีในชีวิตออกัสติเนี่ยน ท่านต้องรับทุกขเวทนาอย่างยิ่งจากมะเร็งที่เต้านมขวาที่สร้างความเจ็บปวดอย่างมหาศาล
จนทำให้ท่านต้องเข้ารับการผ่าตัดถึงสองครั้ง แต่ท่านไม่ได้เรียกมันว่าความทุกข์
ท่านกลับเรียกมันว่า “สมบัติของท่าน” เพราะมันคือของขวัญอันยิ่งใหญ่ที่เจ้าบ่าวในสวรรค์มอบให้ท่าน และดูเหมือนว่าพระองค์จะไม่ได้มอบเพียงเท่านี้เพราะนอกจากอาการนี้แล้ว
ท่านยังมีปัญหาหัวใจ หอบหืด เบาหวาน และปัญหาการไหลเวียนโลหิตที่ทำให้เกิดอาการแดงที่เท้าของท่าน
ซึ่งด้วยโรคเหล่านี้ทำให้ท่านมีน้ำหนักมาก
แม้ท่านจะเป็นคนสูง แต่ท่านก็ป่วยเป็นโรคอ้วน ทำให้เดินไม่สะดวก ดังนั้นซิสเตอร์จึงช่วยกันทำเก้าอี้ไว้แบกท่านแทน
แต่อย่างนั้นก็เถอะ ท่านก็ไม่เคยปล่อยความเจ็บป่วยก่อความวุ่นวายให้คนอื่น
ท่านไม่เคยบ่นและไม่เคยต้องการคุยเรื่องมันกับคนอื่นด้วย
สภาพร่างกายเปราะบางของท่านในไม่ช้าก็ทำให้ท่านล้มป่วยลง
กัลวาลีโอของท่านช่างยาวนาน แต่ที่สุดในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1947 ในวัย 64 ปี ท่านก็ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบ
ร่างของท่านถูกฝังยังห้องใต้ดินของมหาวิหารใหม่ที่ท่านไม่มีโอกาสได้เห็นมันแล้วเสร็จ
ใกล้ๆนักบุญที่ท่านรัก และถูกพบว่าไม่เน่าเปื่อย
เมื่อมีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศี และที่สุดในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.1997 ห้าสิบปีหลังจากมรณกรรม
สมเด็จพระสันตะปาปาก็บันทึกนามท่านในสารบบบุญราศี ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร
วาติกัน และในวันนี้หากมีโอกาสแสวงบุญไปยังประเทศอิตาลี
ก็ขอแนะนำให้แวะไปยังเมืองกาสชา เพื่อเยี่ยมชมสักถานของนักบุญริตาแลละท่าน
โดยอาจพักที่นั่นก็ได้
“ผู้ใดจับคันไถแล้วเหลียวดูข้างหลัง
ผู้นั้นก็ไม่เหมาะสมกับอาณาจักรของพระเจ้า” (ลูกา 9:62) คันไถสำหรับคริสตชนคืออะไร? ซึ่งคำตอบสำหรับถามนี้ของผม ก็คือคันไถสำหรับเราคือ
“กระแสเรียก” ที่พระเจ้าทรงประทานมาให้เราแตกต่างกันไป
บ้างก็มีกระแสเรียกรับใช้ บ้างก็มีกระแสเรียกสวดภาวนา
บ้างก็มีกระแสเรียกกรแพร่ธรรม แต่ก็เหมือนกันตรงเวลาทำก็ต้องทำแบบสุดๆ โดยไม่พะวงหน้าพะวงหลัง
และเหมือนตรงที่จุดหมาย เพราะ จุดหมายของเราก็คือสวรรค์ ให้เราดูแบบฉบับคุณแม่มารีอา
ที่เมื่อทราบกระแสเรียกของท่าน ท่านก็เร่งทำมันอย่างชนิดที่เรียกว่าทุ่มสุดตัว โดยไม่กลัวอะไร
เพราะท่านตระหนักดีว่างานนี้มาจากพระ ดังนั้นพระจะทรงดูแลงานนี้เอง
ท่านมีเพียงทำต่อไปอย่าท้อ ซึ่งเช่นกันเมื่อเรารู้กระแสเรียกของเราแล้ว
เราก็ต้องรีบทำมัน อย่ามัวแต่รอเวลา หากมีโอกาสเราก็ควรทำ ไม่ใช่ทำได้แต่ไม่ทำ
พลางบอกเดี๋ยวพระจะทรงจัดการเอง ซึ้งการวางใจเป็นสิ่งที่ถูกก็จริง แต่ถ้าไม่ลงมือทำอะไรเลยแล้วมามัวแต่รอพระมาทำให้
มันจะเกิดผลอะไรไหม? ดังนั้นขอให้พวกเราก้าวไปตามกระแสเรียกด้วยความใจเสมอเถิด
“ข้าแต่ท่านบุญราศีมารีอา เตเรซา ฟาสเช
ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.santaritadacascia.org/approfondimenti/approfondimenti-beatamadre.php
http://it.wikipedia.org/wiki/Maria_Teresa_Fasce