วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

“บทกวีที่นั่งร้าน” มรณะสักขีแห่งกมเปียน


บุญราศีมรณสักขี แห่ง กมเปียน
Bl. Martyrs of Compiègne
ฉลองในวันที่ : 17 กรกฎาคม

เลาดาเต โดมินัม โอมเนส เซนเทส” (ประชาชนทุกชาติจงสรรเสริญพระเจ้าเสียงภคินีตัวน้อยดังขึ้นท่ามกลางความเงียบของฝูงชนมากมายที่มาดูการประหาร ขณะที่เธอกำลังค่อยๆก้าวเท้าของเธอขึ้นไปบนกิโยติน ด้วยความกล้าหาญเกินวัยของเด็กสาววัย 17 ทั่วไป หลังจากที่ชื่อของเธอถูกประกาศขึ้นก่อนหน้านี้ และเธอได้คุกเข่ารับพร พร้อมคำอนุญาตตายจากคุณแม่อธิการ ผู้ยื้นรูปปั้นแม่พระอุ้มพระกุมารดินเหนียวสีแดงเล็กๆในมือของท่านให้เธอจูบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่เธอกำลังวางคอน้อยของเธอลงบนกิโยติน บรรดาภคินีที่เหลือก็พร้อมใจกันร่วมขับทำนองสวรรค์ร่วมกับเธอ เลาดาเต เออุม โอมเนส โปปูลี …”(ประชากรทั้งมวลจงสรรเสริญพระองค์..) เสียงของบรรเซิสเตอร์เปล่งออก ก่อนที่เสียงใสๆนั้นจะจบลงเมื่อใบมีดจากกิโยตินได้มอบการพักผ่อนในสวรรค์นิรันดร์ให้กลับเธอแล้ว น้องน้อยสุดของอาราม “คอนสแตนซ์



ก่อนหน้านั้นเกือบร้อยปีประมาณช่วงปลายศตวรรษที่ 17 คืนหนึ่งขณะซิสเตอร์เอลิซาเบธ บัพติสต์ สมาชิกในอารามเมืองกมเปียน อารามคาร์แมลที่มอบถวายแด่แม่พระรับสาส์น ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี ค..1641 กำลังนิทราอยู่นั้น เธอก็พลันฝันเห็นซิสเตอร์ทุกคนในอารามของเธออยู่ในสิริรุ่งโรจน์ของสวรรค์ ทุกคนสวมอาภรณ์สีขาวยาว และถือใบปาล์ม เวลานั้นความฝันดูเหมือนจะเป็นแค่ความคิด เพราะไม่มีเค้าลางอะไรเลยที่จะทำให้เกิดการเบียดเบียน แต่มันก็อยู่ในความทรงจำของอารามเสมอ กระทั้งเกือบร้อยปีต่อมา

2 พฤศจิกายน ค..1789 ก็ได้มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินของนักบวช เพื่อแก้ปัญหาทางด้านการเงินของประเทศ ตามผลการประชุมของสภาฐานันดร ค..1789 ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงเรียกขึ้น แต่นักบวชยังคงได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในอารามของพวกเขาต่อไป หลังจากนั้นในวันที่ 12 กรกฎาคม ปีถัดมาสมัชชาแห่งชาติของคณะปฏิวัติก็ได้ดำเนินนโยบายตามพระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์ ซึ่งมีนัยยะกลายๆคือการยกเลิกคณะนักบวชและอนุญาตให้พระสงฆ์นักบวชสามารถทิ้งคำปฏิญาณตนออกมาใช้ชีวิตเป็นฆราวาสได้



ดังนั้นในวันที่ 15 สิงหาคม สมาชิกคณะกรรมการประชาสงเคราะห์ประจำเมืองกมเปียน จึงได้เดินทางมาถามความสมัครใจซิสเตอร์ในอารามคาร์แมลประจำเมือง ซึ่งขณะนั้นมีซิสเตอร์อยู่ทั้งสิ้นยี่สิบเอ็ดท่าน ซึ่งทุกคนก็ในอารามก็ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ หลังจากนั้นในวันที่ 29 ตุลาคม สภารัฐธรรมนูญออกประกาศงดการปฏิญาณในอารามต่างๆเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้ซิสเตอร์คอนสแตนซ์ซึ่งขณะนั้นเป็นนวกะอยู่ไม่สามารถเข้าพิธีปฏิญาณตนครั้งแรกได้

เรื่องนี้สร้างความทุกข์ใจให้คุณแม่เทแรสมาก คุณแม่เขียนถึงอดีตโปสตุลันต์ของท่านว่า ซิสเตอร์คอนสแตนซ์ยังคงอยู่กับพวกเราที่นี่ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ครอบครัวของเธอไม่สนับสนุนเพราะตอนนี้พวกเขาไม่ต้องการแม้จดหมายหรือฟังเธอพูดอีกต่อไปแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอนุญาตการนี้ก็เพื่อรับประกันความซื่อสัตย์ของเธอ และเธอก็ถือว่ามันจะเป็นความสุขแก่ตัวเธอเอง หากพวกเขาปล่อยเธอให้อยู่ในสันติในเวลานี้ เธอหวังว่าพระเจ้าผู้แสนดีจะทรงสัมผัสหัวใจของพวกเขา และพวกเขาจะได้มองความอุสาหะของเธอด้วยไร้ซึ่งความเศร้าโศก


และสืบเนื่องจากพระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์บังคับให้พระสงฆ์ต้องปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อสาธารณรัฐใหม่นี้ ซึ่งจะมีผลทำให้รัฐบาลสามารถเขามาควบคุมพระศาสนจักรในฝรั่งเศส อันเป็นการลดทอนอำนาจของพระสันตะปาปาลง ดังนั้นในวันที่ 10 มีนาคม ค..1791 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 6 จึงประกาศห้ามพระสงฆ์ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ จึงเกิดความแตกแยกขึ้นในหมู่พระสงฆ์ เกิดเป็นพระสงฆ์สองกลุ่มคือ กลุ่มปฏิญาณตน กับ กลุ่มไม่ปฏิญาณตน

หลังจากนั้นสองอาทิตย์หลังเทศกาลมหาพรต ปี ค..1792 กิโยตินก็ถูกนำมาติดตั้งที่กรุงปารีส และกลายเป็นประเด็นที่พูดถึงกันไปทั่วด้วยความหวาดกลัว ไม่เว้นแม้แต่ในอารามเมืองกมเปียน หลังจากนั้นในเดือนกันยายนก็มีการประหารชีวิตผู้คนมากกว่า  1400 คนด้วยข้อหา ศัตรูของสาธารณรัฐซึ่งในนั้นกว่าร้อยคนคือพระสงฆ์กลุ่มไม่ปฏิญาณตน



ขณะเดียวกันที่อารามเมืองกมเปียน บรรดาซิสเตอร์ก็สัมผัสได้ว่า พวกท่านจะต้องสิ้นใจด้วยคมแห่งกิโยตินเป็นแน่ ตลอดช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนปีนั้นคุณแม่เทแรสได้เสนอให้สมาชิกในอารามถวายชีวิตแด่พระเป็นเจ้าด้วยการเป็นยัญบูชาเพื่อที่ว่า สันติของพระเจ้าซึ่งพระคริสตเจ้าได้ประทานแก่โลกจะคืนสู่พระศาสนจักรและสาธารณรัฐอีกครั้ง ซิสเตอร์ทุกคนต่างร่วมกันถวายตนเช่นนี้ เว้นแต่ซิสเตอร์อาวุสโสทั้งสองคือ ซิสเตอร์ชาร์ลอตต์ กับซิสเตอร์มารี

สองภคินีชราตัวสั่นเทา ด้วยความหวาดกลัวต่อความตายฉบับมรณสักขี ทั้งคู่จึงตัดสินใจออกจากอาราม แต่ก่อนจะสิ้นแสงสุดท้ายของวันนั่นเอง ทั้งคู่ก็กลับไปหมอบราบต่อหน้าคุณแม่เทแรส ด้วยน้ำตาทั้งคู่วอนขอการอภัยสำหรับความอ่อนแอชั่วขณะต่อท่าน ทำให้นับแต่นั้นทุกๆวันซิสเตอร์ในอารามเมืองกมเปียนจะรื้อฟื้นคำปฏิญาณนี้เสมอ ไปจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตของพวกเขาแต่ละคน


15 สิงหาคม สภากงว็องซียงแห่งชาติ (คณะการปกครองประเทศฝรั่งเศสในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส) ก็มีประกาศให้อดีตนักบวชที่ได้รับเงินบำนาญของรัฐต้องเข้าสาบานลีแบร์เต เอการิเต ซึ่งมีเป้าหมายให้คือ สัตย์ซื่อต่อประเทศชาติและธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาพหรือพลีชีวิตเพื่อปกป้องมันไว้ เรื่องกลายเป็นข้อขัดแย้งมาก เพราะนักบวชบางกลุ่มก็คือว่ากระทำเช่นนี้ขัดต่อคำปฏิญาณของพวกเขา พวกค้านชนิดตายเป็นตายเลยทีเดียว

หลังจากนั้นอีกสามวัน คือในวันที่ 18 สิงหาคม ก็มีคำสั่งให้ทุกคณะออกจากอาราม โดยมีเส้นตายคือวันที่ 1 ตุลาคม เพื่อรัฐจะได้นำอาคารเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ ทำให้ในวันที่ 14 กันยายน ซึ่งตรงกับวันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน ซิสเตอร์ในอารามคาร์แมลเมืองกมเปียนจำนวน 19 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ถูกบังคับให้จำต้องถอดชุดนักบวชแล้วแบ่งกันสีกลุ่มออกไปอยู่กับครอบครัวต่างๆในเมือง ในบ้านที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกันแทบแซงต์ อ็องตวน

ระหว่างพักอยู่นอกอารามนั้นเมื่อได้อนุญาตจากคุณจิตตาภิบาล  ซิสเตอร์ในอารามก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าที่รัฐคือเข้าพิธีสาบานลีแบร์เต เอการิเต แต่ทั้งหมดไม่ได้เข้าพิธีสาบานตามพระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์ ในวันที่ 19 กันยายน ทำให้ซิสเตอร์ทุกคนรวมทั้งฆราวาสทั้งสองได้เงินบำนาญ เว้นแต่ซิสเตอร์คอนสแตนซ์ เพราะเจ้าพนักงานพิจารณาว่าเธอไม่ใช่นักบวชเต็มตัว

และแม้อารามจะถูกสั่งปิดไปแล้ว แต่จิตตารมณ์แห่งคาร์แมลกมเปียนยังคงอยู่ พวกซิสเตอร์ยังคงเจริญชีวิตตามพระวินัยของคณะเช่นเดิม โดยถูกหล่อเลี้ยงด้วยคำปฏิญาณต่อพระเจ้าและความรักของคุณแม่เทแรส มีเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นที่บรรดาซิสเตอร์จะโอกาสมาร่วมมิสซาอย่างลับๆที่วัดนักบุญอันตน กมเปียน โดยต้องลอบเข้ามาทางประตูหลังทางตะวันออกของวัด นอกนี้ซิสเตอร์ก็ยังคงมีการไปมาหาสู่กันเสมอ

วันเวลาพ้นผ่านล้วงมาได้สองปีเหตุการณ์ก็ดูจะยิ่งเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ฤดูใบไม้ร่วงปี ค..1793 การเบียดเบียนพระศาสนจักรก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น มีการเริ่มถอนรากถอนโคนศาสนาคริสต์ ทำให้การปฏิบัติศาสนกิจยิ่งกลายเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก ความหวาดกลัวแผดไปทั่วฝรั่งเศส สภาพในเวลานั้นเป็นช่วงที่ฝรั่งเศสตกอยู่ในสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว อธิบายง่ายๆคือเพียงแค่คุณพูดอะไรสบประมาทการปฏิวัติ คุณก็จะถูกพาขึ้นกิโยติน หากคุณเกียจใครก็เพียงไปบอกคณะปฏิวัติว่าคนคนนี้เป็นกบฏ ไม่นานคนที่คุณเกียจก็ถูกกุดหัวอย่างรวดเร็ว ช่วงนั้นใบมีดของกิโยตินไม่เคยว่างเว้นจากเลือดสดๆของมนุษย์เลยสักคน ในเดือนพฤษภาคม ปีต่อมาเมืองกมเปียนก็ตกเป็นเมืองต้องสงสัยว่ามีการซ่อมสุมกำลังของพวกคลั่งศาสนา

10 มิถุนายน ค..1794 คณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยของสาธารณชนก็ได้ออกกฎหมายปราบปรามฉบับใหม่ขึ้น กฎหมายนี้ได้กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่เมืองกมเปียนพยายามจะกวาดล้างกบฏเหล่านี้ให้สิ้นซาก พวกเขามีผู้ต้องสงสัยหลักก็คือกลุ่มซิสเตอร์คาร์เมไลท์ ดังนั้นเมื่อได้หมายค้นลงวันที่ 21 มิถุนายน ในเช้าวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ได้บุกเข้าตรวจค้นบ้านทั้งสี่หลังที่ซิสเตอร์คาร์แมลพักอยู่ และได้ยึดเอกสารของพวกท่านทั้งหมดที่พบในบ้านไป


หลังจากนั้นพวกเขาก็กลับมาค้นอีกในวันรุ่งขึ้น คราวนี้พวกเขาได้ภาพของกษัตริย์ สำเนาพระประสงค์ของพระองค์ จดหมายจากคุณพ่อจิตตราธิการผู้เป็นหนึ่งในพระสงฆ์ไม่ปฏิญาณและถูกเนรเทศออกนอกประเทศ และสายจำพวกพระหฤทัย ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นเครื่องหมายของพวกต่อต้านสาธารณรัฐ ดังนั้นด้วยหลักฐานเพียงเท่านี้ ในวันที่  23 มิถุนายน ซิสเตอร์และฆราวาสประจำอารามรวมสิบสี่คนก็ถูกจับและถูกนำตัวมาขังในห้องข้างๆกับกลุ่มซิสเตอร์เบเนดิ๊กตินชาวอังกฤษที่ถูกจับมาจากเมืองกมไบร์ ที่เมซง เดอ เรกลูซีอง อันเป็นอดีตอารามของคณะแม่พระเสด็จเยี่ยม

รุ่งขึ้น ณ เบื้องหน้านายกเทศมณตรีประจำเมือง คณะซิสเตอร์คาร์แมลทุกคนก็พร้อมใจกัน ยกเลิกคำสาบานลีแบร์เต เอการิเต ที่เคยได้ทำไว้ อันเป็นการประกาศก้องว่าบัดนี้พวกท่านพร้อมรับความตายเพื่อพระคริสตเจ้าแล้ว ทำให้นับแต่นั้นคณะซิสเตอร์ก็ถูกขังอยู่ ณ ที่นั่น เพื่อรอคอยการตัดสินใจจากคณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยของสาธารณชน


การจำคุกนี้กินระยะเวลาถึงสามสัปดาห์ เราอาจพูดได้ว่ามันเป็นสามสัปดาห์ที่เลวร้ายจริงๆ อาหารที่มีเป็นอาหารชั้นเลวสุดจะกลืน แม้จะป่วยปางตายแค่ไหนก็ไม่มีอาหารพิเศษใดๆทั้งสิ้น ส่วนที่นอนน่ะหรือ ไม่ต้องพูดถึงที่นี่มีเพียงฟางบางๆปูรองพื้นเท่านั้น การสนทนาระหว่างผู้ต้องขังข้ามห้องเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ก็มีสองครั้งที่คุณแม่แมรี่ ไบลด์ จากคณะเบเนดิกตินได้พูดคุยกับซิสเตอร์จากอารามคาร์แมลกลุ่มนี้ นอกนี้เสื้อผ้าชุดใหม่ก็เป็นเรื่องต้องห้าม พวกท่านได้รับอนุญาตเพียงแค่ได้ซักมันเมื่อมันสกปรกเท่านั้น ซึ่งกว่าจะหาวันซักกันได้ พวกท่านก็ไม่มีโอกาสได้ซักมันให้เสร็จ

10.00 . ของวันที่ 12 กรกฎาคม คำสั่ง ให้ส่งพวกท่านไปยังกงซีแยร์เฌอรี ในกรุงปารีส ก็มาถึงเมืองกงเปียน วันนั้นคือวันที่ซิสเตอร์ตกลงกันซักผ้าพอดี คุณแม่เทแรสจึงแย้งเรื่องนี้ เพราะ ชุดพลเรือนของพวกท่านพึ่งเอาลงไปแช่ ท่านจึงขออนุญาตหาชุดใหม่ให้ทุกคนก่อนไป แต่ก็ถูกปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นพวกท่านจึงจำต้องแต่งชุดซับในสีขาวของนักบวช เพราะเป็นเสื้อผ้าแห้งเพียงชุดเดียวที่พวกท่านมีอยู่



พวกท่านก็ถูกพาขึ้นเกวียนสองคันที่มุ่งสู่กรุงปารีส ด้วยมือที่ถูกมัดให้ไพล่หลัง ภายหลังจากมื้ออาหารอันแสนจะขาดแคลน และการร่ำบรรดาซิสเตอร์เบเนดิ๊กตินแล้ว ระหว่างทางมีสตรีจำนวนมากมามุงดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น เสียงเยาะเย้ยถากถางดังขึ้นจากบรรดาสตรีที่พวกท่านเคยช่วยเหลือ ว่า พวกเขาทำได้ดีที่ทำลายตัวพวกเขาเอง พวกเขามีปากที่ไร้ประโยชน์ บราโวบราโว! พร้อมคำตราหน้าว่า “ไอ้พวกทรยศ

เมื่อขบวนคาราวานมาถึงในเวลาประมาณบ่ายสามโมงของอีกวัน บรรดาภคินีก็ต่างถูกสั่งให้ลงจากรถทั้งๆที่ถูกมัดไพล่หลัง ทีละคนจนกระทั้งถึงคราวของภคินีชาร์ลอตต์ผู้แก่ชรา เธอไม่สามารถลงจากรถได้โดยไม่มีไม้เท้าคู่กายของเธอและความช่วยเหลือจากคนอื่น แต่ฉับพลันด้วยความโกธรของทหารผู้ดูแลรีบกระโดขึ้นไปบนรถ และจับร่างของภคินีชราภาพโยนลงมาจากรถอย่างไม่ไยดี ร่างของภคินีชรากระทบกับแผ่นหินดัง บั๊ก


ร่างชรานิ่งไป ด้วยความกลัวตาย แต่ผิดคาดเขากลับกระชากร่างของภคินีผู้ชราภาพให้เงยหน้าที่ตอนนี้อาบไปด้วยเลือดขึ้น และในทันทีเธอกล่าวกับเขาว่า เชื่อดิฉันเถอะค่ะ ดิฉันไม่โกธรคุณเลย แต่ในทางตรงกันข้าม ดิฉันกลับขอบคุณสำหรับการที่ไม่ได้ฆ่าดิฉันเพราะถ้าดิฉันตายในมือของคุณ ดิฉันจะได้รับสิ่งที่จำเป็นของความสุขและสิริโรจนาของการเป็นมรณสักขีเสียมากกว่า

และระหว่างรอการพิจารณาคดีอยู่นั้นเอง พวกท่านก็ได้ใช้เวลาไปกับการสวดภาวนาและการปฏิบัติกิจการเมตตา พวกท่านพยายามเสาะแสวงหาบรรดาผู้ป่วยท่ามกลางหมู่นักโทษเพื่อพยาบาลเขาจนถึงดึกดื่น เดนิส บล็อต เป็นพยานว่า คุณสามารถได้ยินพวกเธอสวดทำวัตรตอนตีสองเสมอ  และเมื่อถึงวันฉลองแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล ซิสเตอร์จูลี หลุยส์ ก็ได้ร้อยเรียงบทเพลงขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมนี้ โดยใช้เค้าโครงของเพลงลามาร์แซแยซหรือเพลงแห่งเมืองมาร์แซย์ เป็นทำนอง


จงให้ใจของเราเปรมปรีดิ์เถิด
เพราะวันแห่งพระสิริได้มาถึงแล้ว
เราจงห่างไกลความอ่อนแอทั้งปวง
ดาบเปื้อนเลือดจะได้เงื้อมขึ้น(ซ้ำ)
จงเตรียมตัวให้พร้อมไปสู่ชัยชนะ
เราจะตายภายใต้ธงของพระเจ้า
ที่ใครก็ตามที่เดิมตามจะพบชัย
จงวิ่งไป แล้วบินสู่พระสิริรุ่งโรจน์
จงฟื้นความร้อนรนในตัวเรา
ให้ร่างกายเราเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า
ให้เราขึ้นไป ให้เราขึ้นไป
ไปบนนั่งร้าน และพระเจ้าจะทรงมีชัย

รุ่งขึ้นหลังฉลองแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล คือวันที่ 17 กรกฎาคม ค..1794 เวลา 9.00 . พวกท่านก็ถูกนำตัวขึ้นศาลของคณะปฏิวัติ ณ เบื้องหน้าสามผู้พิพากษาและอ็องตวน ฟูกี แต็งวิลล์ อัยการแห่งคณะปฏิวัติผู้โด่งดัง ผู้ไม่ยอมโอยอ่อนต่อใครที่เป็นปรปักษ์ทั้งสิ้ง กระทั้งทุกอย่างเรียบร้อยแล้วอ็องตวน ก็ลุกขึ้นอ่านข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้



ด้วยอดีตนักบวชคาร์เมไลท์เลอดัว , ตูเรท์  , บราร์ด , ดูฟูร์ และคนอื่นๆ แม้จะถูกแยกกันด้วยที่ตั้งของบ้านแต่ละคน ก็ได้ลอบพบกันเพื่อต่อต้านการปฏิวัติ และได้ลอบซ่อมสุมพวกตัวเองและคนอื่นๆที่มาร่วมกับพวกเธอ ผ่านการรื้อฟื้นจิตตารมณ์นางชีขึ้นอีกครั้ง เพื่อสมคบกันก่อกบฏต่อสาธารณรัฐ จดหมายจำนวนมากที่พบอยู่ในความครอบครองของพวกเขาพิสูจน์ว่าพวกเขายังไม่ได้หยุดวางแผนต่อต้านสาธารณรัฐ
ภาพเหมือนของกาเป็ต(พระเจ้าหลุยส์ที่ 16) พระประสงค์ของเขา หัวใจ อันเป็นสัญญาณเรียกชุมนุมของพวกกบฏว็องดีแอง ความคลั่งอันไร้สาระ พร้อมด้วยจดหมายของบรรดาพระสงฆ์ที่หลบหนีออกนอกประเทศลงปี ค..1793 อันเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเธอยังคงติดต่อกับพวกศัตรูภายนอกของประเทศฝรั่งเศส ของเหล่านี้เป็นเครื่องหมายว่าพวกเธอได้คบคิดต่อต้านด้วยตัวของพวกเธอเอง พวกเธอได้ดำเนินชีวิตภายใต้การนบนอบต่ออธิการ และในกรณีของคติและกฎ จดหมายและข้อเขียนของพวกเธอคือหลักฐานมัดตัวพวกเธอ พวกเธอเป็นมากกว่าหมู่คณะ นั่นคือชุมนุมของพวกกบฏ ซึ่งมีความหวังอันโฉดชั่วว่าจะได้เห็นชาวฝรั่งเศสกลับไปเป็นทาสของระบอบทรราชและบรรดาพระสงฆ์กระหายเลือด ผู้น่าซื่อใจคด

ฝ่ายซิสเตอร์ก็ฟังข้อกล่าวหาอย่างเงียบๆ แต่ด้วยความฉงนกับคำว่า ความคลั่งอันไร้สาระ ของซิสเตอร์มารี อ็องเรียตต์ เธอจึงถามอ็องตัวว่าคำนี้หมายความว่าอะไร อ็องตัวจึงตอบซิสเตอร์วัย 34 ปี ว่า ฉันหมายความถึงการผูกมัดกับความเชื่ออันไร้สาระของพวกเธอ ก็การปฏิบัติศาสนกิจโง่ๆของพวกเธอไงละ ฝ่ายซิสเตอร์อ็องเรียตต์เมื่อทราบความดังนั้น เธอก็รีบหันหน้ากลับไปทางซิสเตอร์คนอื่น คุณแม่และซิสเตอร์ที่รักทุกคน ขอให้เราชื่นชนยินดีในองค์พระเจ้าสำหรับการนนี้เถิด เรากำจะตายด้วยสาเหตุจากคณะอันศักดิ์สิทธิ์ จากความเชื่อ จากความนบนอบต่อพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกของพวกเรา ซิสเตอร์อ็องเรีตต์กล่าว

หลังจากนั้นคุณแม่เทแรส ก็ได้แก้ต่างต่อบรรดาผู้พิพากษาว่า จดหมายที่พวกเราได้รับนั้นมาจากคุณพ่อจิตตาธิดาของอารามผู้ถูกเนรเทศออกไปตามกฎหมายของพวกท่าน จดหมายเหล่านี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการคำแนะนำฝ่ายจิต หากจดหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นความผิดทางอาญา ก็ควรจะพิจารณาแค่ตัวดิฉัน ไม่ใช่ทั้งอารามเพราะธรรมนูญของเราห้ามภคินีติดต่อกับใคร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิการ แม้ผู้นั้นจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดก็ตาม ดังนั้นหากพวกท่านต้องการผู้รับผิด เธอผู้นั้นก็ต้องเป็นดิฉันคนเดียวที่พวกท่านต้องประหาร บรรดาซิสเตอร์ของดิฉันเป็นผู้บริสุทธิ์

พวกหล่อนสมรู้ร่วมคิดกับแกไงละ ประธานศาลสวนขึ้นแทบจะทันควัน และหลังจากนั้นฝ่ายซิสเตอร์ก็ถูกตัดสินว่าเป็น ศัตรูของประชาชน อันมีโทษคือการโดนประหารชีวิตด้วยกิโยติน ซึ่งซิสเตอร์ทุกคนก็น้อมรับโทษทัณฑ์ด้วยสันติและความสุข ยกเว้นเทแรสที่เป็นลมล้มฟุบลง จากอาการเครียด ความอ่อนเพลีย การพักผ่อนไม่เพียงพอและการขาดการบำรุง คุณแม่อธิการจึงรีบขอน้ำแก้วหนึ่งจากตำรวจเพื่อให้เทแรสดื่ม จนกระทั้งเธอฟื้นคืนสติขึ้นมา เธอก็รีบขอโทษสำหรับความอ่อนแอของเธอและให้ความมั่นใจว่าเธอจะไปพร้อมทุกคน


หลังจากนั้นทั้งหมดก็ร่วมกันรับประทานอาหารเป็นครั้งสุดท้าย นั่นคือช็อกโกแลตร้อนที่คุณแม่แซ็งต์หลุยส์ได้รับอนุญาตจากคุณแม่อธิการให้เอาขนเฟอร์ไปแลกมา จนถึงเวลาเย็นขณะทั้งหมดกำลังทำวัตร ทั้งหมดก็ถูกเรียกตัว ซิสเตอร์จึงล่ำลาบรรดานักโทษคนอื่นๆ หนึ่งในนั้นมีคริสตังใจศรัทธาคนหนึ่งชื่อบล็อต เขาร้องไห้เมื่อซิสเตอร์กล่าวอำลา บล็อตที่รักเธอร้องไห้ทำไม ทำไมไม่ยินดีที่ได้เห็นพวกเราในเวลาสุดท้ายของการทดลองละ จงฝากพวกเราแด่พระเจ้าผู้แสนดีและแม่พระเพื่อว่าพระองค์จะทรงช่วยพวกเราในเวลาสุดท้าย พวกเราจะสวดให้เธอในสวรรค์นะ

ขบวนเกวียนค่อยๆเคลื่อนออกไปยังบริเวณที่เรียกกันว่า บาร์รีแอร์ ดู โทรน อันเป็นที่ตั้งของกิโยติน ซึ่งได้ดื่มเลือดของผู้คนมาเป็นคนจำนวนมาก กลุ่มของซิสเตอร์แต่งการด้วยเสื้อคลุมสีขาวของคณะ ทุกคนต่างถูกมัดมือไพ่หลัง ระหว่างทางพระสงฆ์ผู้ปลอมตัวพวกปฏิวัติก็ได้โปรดบาปให้กับกลุ่มซิสเตอร์ ตลอดการเดินทางที่ใช้เวลานานพอควร เสียงสวดภาวนาและเสียงขับเพลงภาษาละตินไม่ได้หยุด ทั้งเพลงมีเซเรเร เมอี เดอี (พระเจ้าข้า โปรดเมตตาลูกเถิด) และซัลเว เรจีนา(วันทาพระราชินี)



กระทั้งมาถึงที่หมาย ซิสเตอร์คอนสแตนซ์ก็ล้มตัวลงเบื้องหน้าอธิการที่รัก เพื่อวอนขอการอภัยจากท่านที่เธอไม่อาจสวดทำวัตรจบได้ คุณแม่เทแรสจึงปลอบใจเธอว่า จงเข้มแข็งเถิด ลูกที่รัก ลูกจะไปสวดต่อจนจบในสวรรค์ วันนั้นมีผู้ถูกประหารทั้งสิ้น 24 คน แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าเป็นใครบ้าง

ณ เชิงนั่งร้านคุณแม่เทแรซได้ขอให้ประหารท่านเป็นคนสุดท้าย เพื่อว่าท่านจะได้เป็นผู้ส่งและเป็นกำลังใจให้ทุกๆคนในการทดลองครั้งสุดท้ายนี้ ทั้งนี้ท่านยังขอเวลาสักครู่เพื่อเตรียมใจ คำขอเหล่านี้ได้รับอนุญาต ซิสเตอร์ทุกคนจึงได้ร่วมันขับบทเพลงเวนี เชรอาโต สปิริตุส (เชิญเสด็จมาข้าแต่พระจิตเจ้า) หลังจากนั้นจึงเป็นการรื้อฟื้นคำปฏิญาณ และเมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็มีซิสเตอร์คนหนึ่งที่ไม่มีใครทราบแน่ตะโกนขึ้นว่า ข้าแต่พระเจ้าของลูก ลูกมีความสุขเหลือเกินหากยัญบูชาของลูกบรรเทาพระพิโรธของพระองค์ และลดจำนวนของผู้ตกเป็นเหยื่อลง

 

เสียงเรียกชื่อก่อนถวายตนดังขึ้นเริ่มจากคอนสแตนซ์ ระหว่างนั้นซิสเตอร์ทุกคนก็ต่างขับเพลงต่อจากคอนสแตนซ์ เพลงแห่งองค์ความจริงของพวกท่าน จนเมื่อมาถึงซิสเตอร์มารีย์ ขณะผู้ช่วยเพชฌฆาตช่วยพยุงเธอขึ้นไปบนกิโยติน ซิสเตอร์ก็ได้พูดกับเขาว่า เพื่อนของฉัน ฉันยกโทษให้คุณหมดหัวใจของฉัน เช่นเดียวกันฉันก็ปรารถนาการอภัยจากพระเจ้า หลังจากนั้นเสียงเพลงที่เคยดังก็ค่อยๆเบาลง ทีละนิด ทีละนิด จนเหลือแต่เสียงของคุณแม่เทแรส

พลเมืองมารี มัดเลน คลูดิน เลอดัว สิ้นเสียงประกาศ คุณแม่เทแรซก็ก้าวขึ้นไปยังกิโยติน เมื่อจบเพลงท่านหันไปให้อภัยเพชฌฆาต ฉับ!” ใบมีดของกิโยตินสับลงที่คอปลิดชีวิตของคุณแม่ขระสวดภาวนาอย่างสงบไป ทั่วอาณาบริเวณเต็มไปด้วยความเงียบ ทีละเล็กละน้อยผู้คนก็ค่อยๆแยกย้ายกันกลับไปทำหน้าที่ของตน พร้อมกับความสงสัยในใจว่า ใครเล่าจะอ้างได้ว่าความโหดเหี้ยมเช่นนี้คือการรู้แจ้ง เมื่อมันอาบไปด้วยโลหิตของบรรดาสตรีสิบสี่นางผู้ไร้ซึ่งความผิดและน่ารัก


บางคนที่ออกมา ให้ข้อสังเกตว่า ด้วยความเชื่อ หากพวกเธอไม่ได้ตรงไปสวรรค์แล้ว ก็คงไม่มีใครอยู่บนนั้นแน่ ในวันนั้นอัศจรรย์ประการแรกคือหน่อแห่งกระแสเรียก และการกลับใจของผู้คน หลังจากนั้นก็เกิดอัศจรรย์การรักษาอีกจำนวนมากผ่านการเสนอวิงวอนของข้ารับใช้พระเจ้าแห่งกมเปียน ในปี ค..1896 ก็มีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งข้ารับใช้พระเจ้าแห่งกมเปียนเป็นนักบุญ กระทั้งในวันที่ 27 พฤษภาคม ค..1906 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 10 ก็ทรงบันทึกนามของบรรดาข้ารับใช้พระเจ้าไว้ในสารบบบุญราศี


หลังจากนั้นในปี ค..1931 คริสตังยืนชื่อ แกร์ทูร์ด ฟอน ลี ฟอร์ท ชาวเยอรมัน ได้ตีพิมพ์นวนิยายขนาดสั้นที่ได้รับบแรงบันดาลใจมาจากวีรกรรมของบรรดาข้ารับใช้พระเจ้า จากข้อเขียนของซิสเตอร์มารีแห่งมังสาตาร สมาชิกคนเดียวของอารามเมืองกงเปียนที่รอดชีวิต ด้วยชื่อ ดี เล็ตซ์เตอร์ อัม ชาฟ็อตต์ หรือ คนสุดท้าย ณ นั่งร้าน ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนคริสตังชาวฝรั่งเศสมือสมัครเล่นชื่อ จอร์จ แบร์นานอส  เขาจึงได้แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาในชื่อ ท่วงทำนองที่นั่งร้าน และได้ตีพิมพ์ในปี ค..1933


และต่อไปนี้จะไปเป็นรายชื่อมรณสักขีแห่งคอมเปียน์ ทั้งหมด 16 องค์

แบ่งเป็นภคินีขั้นสอง 10 ท่าน คือ

1.
คุณแม่อธิการเทแรส แห่ง นักบุญออกัสติน นามเดิมก่อนถวายตนคือ มัดเลน คลูดิน เลอดัว ท่านเกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค..1752 ณ กรุงปารีส  ท่านเป็นผู้มีความรักผ่านพระเจ้า ขณะที่การปฏิวัติเริ่มท่านรับตำแหน่งเป็นคุณแม่อธิการของอารามเป็นครั้งที่สอง ท่านคอยเป็นกำลังใจให้ซิสเตอร์ทุกคนเสมอตลอดการทดลองขณะเสียชีวิตมีอายุประมาณ 41 ปี 

2.คุณแม่รองอธิการแซงต์หลุยส์ นามเดิมก่อนถวายตัวคือ มารี อันน์ ฟร็องซัวส์ บรีดู ท่านเกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค..1751 ในแบลฟอร์ ท่านเป็นคนเงียบๆและอ่อนโยน นอกจากนั้นท่านยังเป็นคนความจำดี ขณะเสียชีวิตท่านมีอายุประมาณ 41 ปี

3.อดีตอธิการ คุณแม่อ็องรีเอ็ตต์ แห่ง พระเยซูเจ้า นามเดิมก่อนถวายตนคือ มารี ฟร็องซัวส์ เดอ คอยส์ซี 18 มิถุนายน ค..1745 ในปารีส เป็นผู้ดูแลนวกะ ท่านเสียชีวิตขณะที่อายุประมาณ 49 ปี

4.ภคิณีมารีย์ แห่ง พระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขน นามเดิมก่อนถวายตนคือ มารี อันน์ เปียดกูร์คชต ท่านเกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค..1715 ในปารีส ท่านมีอายุอ่อนกว่าภคิณีชาร์ลอทเพียงไม่กี่เดือน แต่ในอารามท่านอาวุโสกว่าเธอเพราะเข้าอารามก่อน หน้าที่ของท่านคือการทำงานในห้องซาคริสเตีย ซึ่งท่านทำเป็นระยะหลายปี และเมื่อถูกถามว่าจะออกจากอารามไหม ท่านก็ประกาศว่า “ตลอดห้าสิบหกปีดิฉันอยู่ในอารามคาร์แมล ดังนั้นดิฉันจึงปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นต่อไปเพื่อถวายแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า และเมื่อกล่าวถึงผู้ข่มเหงท่านได้กล่าวว่า เราจะโกรธพวกเขาได้อย่างไร เมื่อพวกเขาเปิดประตูสวรรค์สำหรับเรา?” ขณะเสียชีวิตท่ามีอายุประมาณ 78 ปี

5.อดีตรองอธิการ ภคินีชาร์ลอตต์ แห่ง การกลับคืนพระชนม์ชีพ นามเดิมก่อนถวายตัวคือ อันน์ มารี มัดเลน ตูเรต์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค..1715 ที่ มุย ท่านเป็นสมาชิกที่อาวุโสทางอายุมากที่สุดของคณะ เป็นคนที่มีชีวิตชีวาและชอบเล่นลูกบอลตอนเด็กๆ ท่านเข้าอารามหลังจากเหตุการณ์อันน่าเศร้า”  ท่านทำหน้าเป็นผู้พยาบาลผู้ป่วยในอาราม กระทั้งท่านกระดูกสันหลังท่านเกิดผิดปกติ จนทำให้ท่านต้องทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต ขณะถูกประหารท่านมีอายุได้ราวๆ 88 ปี

6.ภคินีอูเฟรซี แห่ง การปฏิสนธินิรมล นามเดิมก่อนถวายตนคือ มารี โคล้ด ซีเปรียน บราร์ด ท่านเกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค..1736  ที่ บูร์ท ท่านเป็น “นักปราชญ์” และ “คนสร้างความสนุกในการหย่อนใจ” ท่านยอมรับว่าบางครั้งท่านเต็มไปด้วยความไม่พอใจคุณแม่อธิการ ท่านจึงพยายามอย่างมาก และในที่สุดท่านก็ามารถเอาชนะความคิดเชิงลบนี้ได้ และเมื่อถูกถามว่าจะออกจากอารามไหม ท่านก็ประกาศว่า “ดิฉันเป็นนักบวชก็ด้วยความประสงค์ของตัวดิฉันเอง ดิฉันจึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะสวมเสื้อศักดิ์สิทธิ์นี้ แม้ดิฉันจะต้องซื้อความสุขนี้ด้วยเลือดของดิฉันเองก็ตาม” ขณะที่ท่านเสียชีวิตท่านมีอายุได้ประมาณ 58 ปี

7.ภคินีเทเรซา แห่ง ดวงหทัยของพระนางมารีย์ นามเดิมก่อนถวาตนคือ มารี อานีสเซต ท่านเกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค..1742 ในไรมส์ ท่านเป็นคนที่กอปรด้วยสติปัญญาความรอบคอบและความฉลาด ท่านทำหน้าเป็นเหรัญญิกของอาราม ท่านเสียชีวิตขณะอายุ 52 ปี

8.ภคินีจูลี หลุยส์ แห่ง พระเยซูเจ้า นามเดิมก่อนเข้าอารามคือ โรส เครอเทียน เดอ นูวิลล์ เกิดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค..1741 ที่ แอเวรอ เข้าอารามภายหลังหลังสามีตาย ในระหว่างการเบียดเบียนใจของท่านปรารถนาที่จะหนีไปเพราะท่านกลัวตาย แต่กระนั้นท่านก็เลือกจะอยู่กับบรรดาซิสเตอร์ที่เหลือในอาราม ขณะสิ้นใจท่านมีอายุ 53 ปี

9.ภคินีเทเรซา แห่ง นักบุญอิกนาซิโอ นามเดิมก่อนถวายตนคือ มารี กาเบรียล เทรอเซล เกิดเมื่อวันที่ 4เมษายน ค..1743 ที่ คอมเปียน์  ท่านเป็น “ขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่” ในอารามเป็นชื่อที่เหมาะกับท่านอย่างไม่ต้องสงสัยเลย มีคราวหนึ่งคนเคยถามท่านว่าทำไมท่านไม่เคยพกหนังสือทำรำพึงเลย ท่านตอบก็ตอบไปว่าพระเจ้าผู้แสนดีได้ทรงพบดิฉัน ดังนั้นการไม่รู้จึงไม่มี แต่กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงสามารถสั่งดิฉันได้ ” ขณะเสียชีวิตท่านมีอายุประมาณ 51 ปี

10.ภคินีมารี อ็องเรียตต์ แห่ง พระญาณสอดส่อง นามเดิมก่อนถวายตนคือ มารี อ็องเน็ต เปลอราส เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค..1760 ที่กาฌาร์ค ท่านทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลในอารามและเป็นภคินีที่อายุน้อยที่สุดกลุ่มของภคินีขั้นสองและงดงามที่สุด อดีตท่านเคยเข้าคณะภคิณีเมตตาธรรม และคณะภคินีเมตตาธรรมแห่งเนอแวร์ แต่สุดท้ายท่านก็เลือกที่จะหาความสงบในคาร์แมล ท่านเสียชีวิตขณะที่มีอายุได้ 34 ปี

ภคินีแผนกสงเคราะห์
3 ท่าน(ใช้ผ้าคลุมหน้าสีขาว) คือ

11.ภคินีแซงต์ มาร์ธ นามเดิมก่อนถวายตัวคือ มารี ดูฟูร์ เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค..1741 ที่ บองเนส ท่ามกลางหมู่คณะท่านคอยกระตุ้นทุกคนด้วยฤทธิ์กุศล ขณะเสียชีวิตมีอายุประมาณ 52 ปี

12.ภคินีมารี แห่ง พระจิตเจ้า นามเดิมก่อนถวายตนคือ อองเจลีเก รูซเซล เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมค..1742  ที่เมืองซอมม์ ตลดชีวิตของท่าน ท่านป่วยเป็นโรคประหลาดที่มีอาการปวดไปทั่วร่างกาย แต่กระนั้นท่านก็น้อมรับมันและอดทนต่อมันอย่างกล้าหาญตลอดชีวิต ขณะเสียชีวิตมีอายุประมาณ 51 ปี

13.ภคินีแซงต์ ฟร็องซัวส์ ซาเวียร์ นามเดิมก่อนถวายตนคือ เอลิซาเบธ จูเลียตต์ เวโรโลต เกิดเมื่อวันที่13 มกราคม ค..1764 ที่ ลินแย ท่านเป็นคนตรงไปตรงมา มีชีวิตชีวาและเปี่ยมไปด้วยความดีงาม เมื่อถูกถามว่าจะออกจากอารามไหม ท่านประกาศว่า  เจ้าสาวที่ดีต้องปรารถนาจะอยู่กับเจ้าบ่าวของเธอ ดิฉันจึงไม่ปรารถนาทิ้งเจ้าบ่าวของดิฉันไป” ขณะเสียชีวิตท่านมีอายุ 30 ปี

นวกะ
1 คน คือ

14.ภคินีคอนสแตนซ์ แห่ง พระเยซูเจ้า  นามเดิมก่อนถวายตัวคือ มารี เยเนเวียฟ มึนนี เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมค..1765 ที่แซงต์ เดอนิส เพราะสถานการณ์บังคับให้ท่านต้องเป็นนวกะถึง 7 ปี บิดามารดาของท่านพยายามให้ท่านกลับบ้านจนถึงขนาดส่งตำรวจมาเพื่อการนี้ ซึ่งท่านก็ได้ยืนยันคำตอบไปว่า คุณสุภาพบุรุษ ดิฉันขอขอบคุณพ่อแม่ของดิฉัน แม้ท่านทั้งสองเป็นห่วงดิฉัน แต่หากจะให้ดิฉันออกจากความรักนี้ ไม่มีทางเป็นไปได้หรอกค่ะ นอกเสียจากความตายเท่านั้นที่จะพรากดิฉันไปจากคุณแม่และซิสเตอร์ทุกคน ท่านเป็นคนแรกที่จบชีวิตเยี่ยมมรณสักขีของกลุ่มด้วยอายุ 17 ปี

ฆราวาสขั้นสามประจำอาราม 
2 คน คือ

15.นางสาวอันน์ คัธริน ซอยรอน เกิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค..1742  ที่ คอมเปียน์ ในเวลาที่เกิดการเบียดเบียนท่านได้ร้องไห้ฟูมฟายขอคุณแม่อธิการได้โปรดให้ท่านและน้องสาวได้อยู่กับพวกซิสเตอร์ ขณะเสียชีวิตท่านมีอายุ 52 ปี

16.นางสาวเทแรส ซอยรอน เกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค..1748 ที่ คอมเปียน์ ท่านเป็นคนสวยที่หาตัวจับได้ยาก ทั้งมีบุคลิกที่มีเสน่ห์ เจ้าหญิงมารี หลุยส์ แห่ง ซาวอยจึงปรารนาให้ท่านติดตามพระนางเข้าไปรับใช้ในราชสำนัก แต่ท่านตอบปฏิเสธไปว่า “เรียนมาดามคะ แม้พระราชินีของท่านจะเอามงกุฎแห่งฝรั่งเศสมาให้ฉัน ฉันก็ยังชอบที่จะอยู่ที่บ้านหลังนี้ บ้านที่พระเจ้าผู้แสนดีทรงนำฉันมา และฉันก็ได้ค้นพบความหมายของความรอดซึ่งฉันจะไม่มีทางพบในพระราชวังของพระราชินีของท่านค่ะ” ขณะเสียชีวิตท่านมีอายุได้ 46 ปี

เรื่องนี้สอนอะไรเรานะหรือ เรื่องนี่สอนให้เรารู้จักที่จะกล้าเป็นทหารของพระคริสต์  กล้าที่จะเป็นมรณะสักขีในชีวิตประจำวัน ด้วยการรับแบกกางเขนโดยไม่ขัดข้องและเต็มใจแค่นั้นเอง แค่นี้เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปตายเพื่อยืนยันความเชื่อแบบพวกท่าน และยังสอนให้เรา ให้รู้จักให้อภัยแก่ผู้อื่นแบบบรรดาภคินีทั้งหลาย ที่ให้อภัยเพชฌฆาตที่ฆ่าพวกท่าน




"มรณสักขีคอมเปียน์ เป็นเเบบอย่างในการดำเนินชีวิตเรา บรรดาภคินีคณะคาเเมลไลท์ในฝรั่งเศสยุคช่วงปฏิวัติ ท่านดำเนินชีวิตอย่างเเรงกล้าในการดำเนินความรักในพระคริสตเจ้าเเละการเจริญชีวิตเเบบจิตตารมย์ของคณะคาเเมลไลท์ บรรดามรณสักขีเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานถึงความรักของพระคริสตเจ้า เเม้ท่านจะถูกประหารด้วยเครื่องกิโยตินเเต่ท่านก็ยังร้องเพลงสรรเสริญพระองค์ผู้ทรงความดี พระเยซูเจ้าได้ทรงเสด็จขึ้นสู่สวรรค์เพื่อเตรียมบ้านให้เราในสวรรค์ ขอให้เรามีไฟรักในพระคริสตเจ้าอย่างมั่นคงเเละเป็นประจักษ์พยานถึงองค์พระคริสตเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงไถ่เราด้วยไม้กางเขน "
Louis-Marie Tact



ข้าแต่ท่านบุญราศีมรณะสักขีกมเปียน ช่วยวิงวอนเทอญ
ข้อมูลอ้างอิง

คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โต...