บุญราศีอานา
แห่ง นักบุญบาร์โธโลมิวฺ
Bl. Ana de
San Bartolome
ฉลองในวันที่ : 7 มิถุนายน
ปี ค.ศ.2015 นับเป็นปีที่คาเมไลท์ทุกแห่งบนโลก ต่างพากันยินดีโมทนาคุณพระเจ้า
ในโอกาสที่พระองค์ทรงโปรดประทานให้เด็กหญิงเทเรซากำเนิดขึ้นเมื่อ 500 ปีที่แล้ว
เด็กหญิงผู้ที่เปลี่ยนคาร์เมไลท์ไปตลอด เด็กหญิงผู้ที่จะเปลี่ยนโลก
แน่นอนทุกคนย่อมรู้ชีวประวัติของนักบุญเทเรซาเป็นอย่างดี
แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าในบั้นปลายชีวิต
จะมีบุคคลคนหนึ่งที่ปรากฏในชีวิตช่วงสุดท้ายตลอด จนถึงวันสุดท้ายของนักบุญ
เธอผู้นั้นก็คือ “ซิสเตอร์อานา”
ซิสเตอร์อานา
มีนามเดิมโดยกำเนิดว่า อิลามาบา อานา การ์เซีย มันซานัส เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1549 เป็นลูกคนที่ 5 จากเจ็ดคน ของนายเฟรนันโด การ์เซีย กับนางมารีอา มันซานัส ครอบครัวคริสตชนใจศรัทธาเจ้าของฟาร์ม
ในหมู่บ้านอัลเมนดรัล เด ลา กาญาดา เมืองโตเลโด ประเทศสเปน ท่านได้รับศีลล้างบาปในวันเดียวกันกับที่เกิด
ทั้งนายเฟรนันโด
และนางมารีอา ต่างเป็นคริสตชนใจศรัทธาดั่งที่เกริ่นไว้
ทั้งสองพาลูกๆทุกคนไปมิสซาทุกวัน และสวดภาวนาร่วมกันเป็นประจำ
นอกจากนี้นายเฟรนันโดยังมีนิสัย มักนำเรื่องการดูแลชีวิตฝ่ายจิตของลูกๆของเขา
ไปปรึกษากับคุณพ่อวิญญาณของตน คนเดียวกันกับที่คอยสอนคำสอนให้เด็กๆเสมอ
นี้แหละเป็นสภาพคร่าวๆ ของชีวิตในครอบครัวที่ท่านถือกำเนิดขึ้น
ในวัยเยาว์ท่านได้รับการสอนให้อ่านภาษาสเปน
แต่ไม่รวมไปถึงการเขียน ดังนั้นคำภาวนาของท่านจึงเป็นไปอย่างธรรมชาติ
นอกจากนี้แม้จะมีอายุน้อยนัก ท่านก็ได้มอบรักหมดใจแด่พระเยซูเจ้า
ท่านปรารถนาจะให้พระองค์ทรงพอพระทัยในทุกสิ่งที่ท่านทำ
และมักรู้สึกได้ว่าพระองค์ทรงอยู่ใกล้ๆ ท่านยังชอบพูดคุยกับแม่พระ นักบุญยอแซฟ
และบรรดานักบุญทั้งหลาย ทุกๆวันท่านวอนขอให้พวกท่านเหล่านั้น
ช่วยท่านให้พ้นจากการเป็นทาสของบาป ซึ่งตามบันทึกได้บันทึกว่าแม้ท่านจะยังพูดไม่ค่อยได้
ท่านก็มีความกลัวต่อบาป และความทุกข์ หากต้องสูญเสียพระหรรษทานของพระไป
ชนิดเคยร้องไห้เพราะนี้ตอนอายุได้ห้าขวบ
ข้อมูลหนึ่งได้กล่าวอีกว่าพระสวามีเจ้า
ทรงปรากฏมาหาท่านครั้งแรกเมื่อท่านมีวัยได้เพียงสามปี ในลักษณะเป็นพระกุมาร
และดูเหมือนว่าทุกๆครั้งที่ทรงประจักษ์มาอีกในภายหลัง
จะทรงปรากฏองค์คล้ายดั่งเติบโตไปพร้อมๆกับท่าน ซึ่งทำให้ตลอดชีวิตของท่าน
ท่านได้ตระหนักเสมอถึงความศักดิ์สิทธิ์และความยิ่งใหญ่ของพระเป็นเจ้า
และแม้ชีวิตของท่านจะเป็นเช่นนี้ ท่านก็มีแง่มุมเช่นเด็กหญิงธรรมดาทั่วไป
ท่านมีความสุขกับการเล่นกับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ โดยเฉพาะกับลูกพี่ลูกน้องของท่านที่ชื่อ
ฟรังเชสกา การ์เซีย ที่ภายหลังก็ได้เข้าอารามคาร์แมลเช่นกัน
แต่เมื่อท่านมีวัยได้เก้าปี
มารดาของท่านก็มาด่วนสิ้นใจไปด้วยโรคระบาด ดังนั้นท่านจึงต้องกำพร้ามารดา
แต่ก็ดั่งเคราะห์ซ้ำกำซัดไม่นานเมื่อท่านอายุได้สิบปี
บิดาของท่านก็มาจากไปอีกคนด้วยโรคระบาดเช่นกัน ดังนั้นท่านจึงต้องอยู่กับพี่ชายและพี่สาวในบ้าน
โดยรับหน้าที่เป็นคนเลี้ยงแกะ ให้แกะของพี่ชายของท่านเอง ซึ่งท่านก็รับมันด้วยความเต็มใจและทำมันด้วยความเอาใจใส่
และก็มีหลายต่อหลายครั้งที่พระกุมารทรงประจักษ์มาเล่นกับท่าน
กาลเวลาล่วงผ่านไปจากเด็กน้อยวัยสิบปี
ก็กลายเป็นเด็กสาววัยยี่สิบเอ็ดปี ที่พี่ๆต่างเชียร์ให้ออกเหย่าออกเรือนเสีย
แต่ท่านก็ปฏิเสธ เพราะท่านมีกระแสเรียกการเป็นซิสเตอร์
ท่านกล่าวว่าท่านได้ถวายตัวเป็นข้ารับใช้ของพระองค์
และได้ความบริสุทธิ์แด่พระองค์ตลอดนิรันดร์แล้ว แต่ด้วยเหตุผลมากมายของบรรดาพี่ๆ
ท่านก็ยอมรับข้อเสนอหากท่านพบ “ชายที่ศักดิ์สิทธิ์มาก
ร่ำรวยมาก ดีมาก และช่วยให้ท่านรับใช้พระได้ดีขึ้น” ท่านก็จะแต่ง และทันทีมิตรสหายวัยเยาว์ของท่าน
ก็ตรัสที่ข้างหูท่านว่า “เรานี้แหละที่ลูกต้องการ
และลูกจะต้องแต่งงานกับเรา”
ก่อนหายไป
แต่นั้นมาใจท่านก็มุ่งไปยังการเป็นนักบวชเท่านั้น
และต้องเป็นที่อารามนักบุญยอแซฟ ของคุณแม่เทเรซาเท่านั้น แต่พี่ชายของท่านไม่ยอม จนทำให้ท่านถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ
ดังนั้นด้วยความเป็นห่วงพี่ชายจึงทำนพวารต่อนักบุญบาร์โธโลมิว อัครสาวก
กระทั้งในวันฉลองนักบุญบาร์โธโลมิวซึ่งคือ วันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1570 ขณะเข้าไปยังวัดน้อยที่สร้างถวายเกียรติแด่ท่านนักบุญ
จู่ๆท่านก็ได้รับการรักษาให้หายขาดอย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้นับจากนั้นท่านจึงยกนักบุญบาร์โธโลมิวเป็นองค์อุปถัมภ์ของท่าน
และมักสวดขอนักบุญองค์นี้อยู่บ่อยๆ
ที่สุดความฝันท่านสำฤทธิ์ผล
ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1570 ท่านก็ได้เข้าอารามคาร์แมลนักบุญยอแซฟ อาวิลา ดั่งใจปรารถนา
และกลายเป็นภคินีแผนกสงเคราะห์(สวมผ้าคลุมสีขาว)คนแรกของคณะปฏิรูปนี้ ด้วยนามใหม่ในวันรับชุดคณะว่า
“ภคินีอานา แห่ง นักบุญบาร์โธโลมิว” ซึ่งในฐานะนวกะใหมีนักบุญเทเรซาก็จำต้องสั่งให้ท่านเพลาๆการพลีกรรมและสวดลงหน่อย
เพราะกลัวท่านจะล้มป่วยหนัก นอกจากนี้นักบุญเทเรซายังได้ลองใจดูความถ่อมตนของท่าน
โดยแสร้งมองไม่เห็นความมหัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงกระทำในตัวธิดาคนโปรด
และส่งไปทำงานที่ต่ำต้อยอาทิ คนเปิดประตู คนปรุงอาหาร และพยาบาล
ท่านได้เข้าพิธีปฏิญาณตนในอีกสองปีถัดมา
ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1572 พร้อมรับหน้าที่เป็นพยาบาลคอยดูแลซิสเตอร์ที่ล้มป่วยและชราภาพในอาราม
ท่านมีโอกาสติดตามนักบุญเทเรซาครั้งแรกในปี ค.ศ.1574 เมื่อนักบุญเทเรซาเดินทางไปยังเมืองบายาโดลิด
และเมืองเมดินา เดล กัมโป แต่ก็มาล้มป่วยจนเดินทางมาได้ถึงสองปี
และเมื่อนักบุญเทเรซาตกบันได จนแขนซ้ายหักในวันพระคริสตสมภพ ปี ค.ศ.1577 แม้ท่านจะไม่เขียนได้เลย นักบุญเทเรซาก็ได้เลือกให้ท่านเป็น “เลขานุการของเธอ” และ “พยาบาลของเธอ”
ซึ่งตลอดช่วงห้าปีสุดท้ายของนักบุญเทเรซา
หลายต่อหลายครั้งนักบุญเทเรซาก็ต้องการความช่วยเหลือ ในการเขียนจดหมายโต้ตอบต่างๆ
เพราะมีหลายครั้งนักบุญเทเรซาก็เหนื่อยอ่อนหรือป่วยไข้เกินกว่าจะเขียนได้ด้วยตัวเอง
แต่ก็ยังมีกำลังพอจะพูดได้ ดังนั้นท่านจึงมารับหน้าที่นี้
แม้จะมีปัญหาคือท่านเขียนหนังสือไม่เป็น
นักบุญเทเรซาก็เลยเขียนให้ท่านสองบรรทัดและบอกว่าให้ท่านเรียนรู้ กระทั้งบ่ายวันหนึ่งท่านก็ลองพยายามนบนอบต่อคำสั่งของนักบุญเทเรซา
และก็เกิดอัศจรรย์ขึ้น เพราะจู่ๆท่านก็สามารถเขียนหนังสือได้ (อัศจรรย์นี้ถูกกล่าวถึงว่าเป็นอัศจรรย์ของนักบุญเทเรซา
ในระหว่างขั้นตอนเป็นบุญราศีของนักบุญเทเรซา)
ประการฉะนี้ท่านจึงรับหน้าที่เป็นผู้เขียนจดหมายตามคำสั่งของนักบุญเทเรซาตลอด
และกลายมาเป็นคู่หูที่แยกกันไม่ได้ แบบไปไหนไปด้วยกันตลอด
คือนักบุญเทเรซาไปเยี่ยมอารามที่ไหนท่านก็ไป โดยไม่ว่าจะเรื่องอาหาร เรื่องสุขภาพ
เรื่องการเขียน ท่านก็เป็นคนดูแลทั้งสิ้น นอกจากนี้ท่านยังดั่งคนสนิทและคนคอยสนับสนุนการตั้งอารามตามที่บิลลานูเอบา
เด ลา ฆารา , ปาเลนเซีย , โซเรียและบูร์โกสของนักบุญเทเรซาเสมอ จนเปรียบได้เหมือน “เงาของนักบุญเทเรซา” เลยทีเดียว
ความประสงค์อีกสิ่งของนักบุญเทเรซาก็คือให้ท่านได้เป็นซิสเตอร์สวมผ้าคลุมสีดำ
แต่ท่านขอเป็นซิสเตอร์แผนกสงเคราะห์ดั่งเดิม ด้วยท่านไม่รู้ลาตินอันเป็นสิ่งจำเป็น
ท่านบอกกับนักบุญเทเรซาว่าท่านชอบลงแรงทำงาน มากกว่านั่งบริหารนู่นบริหารนี่
ดังนั้นนักบุญเทเรซาจึงอนุญาตให้ท่านเป็นซิสเตอร์แผนกสงเคราะห์ต่อ แต่ก็ได้ทำนายไว้ว่าวันหนึ่งในอนาคตท่านจะได้รับผ้าคลุมหน้าสีดำ
ท่านจึงยังคงปฏิบัติหน้าที่ในแผนกสงเคราะห์ไปตลอด
ท่านติดตามนักบุญเทเรซา
จวบจนนักบุญเทเรซาสิ้นใจลงในอ้อมแขนของท่านเอง ในปี ค.ศ.1582
ที่อารามคาร์แมลเมืองอัลบา เด ตอร์เมส ท่านจึงเดินทางกลับไปยังอารามเมืองอาวิลลา
และได้มีโอกาสเดินทางไปตั้งอารามที่เมืองโอกาญา ก่อนในปี ค.ศ.1595 ก่อนในปี ค.ศ.1604 พร้อมคารวียะอันนา แห่ง พระเยซูเจ้า และซิสเตอร์อีกจำนวนหนึ่ง
ท่านก็ได้ออกเดินทางในเดือนตุลาคม มุ่งหน้าไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เพื่อตั้งอารามคณะ และ ณ อารามแห่งแรกของฝรั่งเศสใน ปารีส นั่นเอง ที่คำทำนายของนักบุญเทเรซาเป็นจริง
ด้วยท่านได้รับผ้าคลุมสีดำด้วยความนบนอบ เพื่อปูทางในการเป็นอธิการของท่าน
ในการตั้งอารามที่ปงตวซ ในเดือนมกราคม ค.ศ.1605
แต่เพียงแปดเดือนท่านปกครอง
ท่านก็ถูกเรียกตัวกลับมายังปารีส เพื่อรับตำแหน่งอธิการของอาราม ก่อนในเดือนพฤษภาคม
ค.ศ.1608
ท่านจะเดินทางไปตั้งอารามที่ทัวร์และดำรงตำแหน่งเป็นอธิการที่นั่นได้สามปี ท่านจึงประสบความทุกข์ครั้งใหญ่จากทั้งการยึดมั่นในพระพรพิเศษของคณะ
และการต่อต้านต่างๆจากบรรดาคุณแม่อธิการชาวฝรั่งเศส ที่ไม่ใช่คณะเดียวกัน ที่พยายามมีอิทธิพลเหนือคณะ
จนนับเป็นเวลาแห่งความทุกข์ยากที่ท่านเปรียบดั่งคืนมืดของนักบุญยอห์น แห่ง
ไม้กาเขนเลยทีเดียว
ที่สุดในปี ค.ศ.1611 ท่านจึงออกเดินทางจาฝรั่งเศส มุ่งหน้าไปยังตอนเหนือของประเทศเบลเยียม
และได้ก่อตั้งอารามคาร์แมลขึ้นที่เมืองแอนต์เวิร์ปในปีถัดมา
พร้อมตำแหน่งอธิการจวบจนสิ้นชีวิต ซึ่งแม้ท่านจะเจริญชีวิตอย่างสันโดษแค่ไหนในเวลานี้
ผู้คนมากมายก็ต่างพากันแวะเวียนเปลี่ยนหน้ากันมาขอคำแนะนำจากท่าน ตั้งแต่คนธรรมดาๆยันเจ้าขุนมูลนายต่างๆ หนึ่งในนั้นทำให้ท่านเป็นผู้มีอิทธิพลในสังคมเบลเยียมตอนเหนือนั่นคือเจ้าหญิงอิซาเบลลา
คลารา ยูเจเนียแห่งสเปน และกองทัพ เพราะท่านเป็นทั้งสหายและที่ปรึกษา
และถึงสองครั้งเมื่อกองทัพโปรเตสแตนต์บุกโจมตีเมืองแอนต์เวิร์ป
ผ่านคำภาวนาของท่าน ผู้รับรู้ได้ภายในว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงบังเกิดขึ้น
จึงได้รีบตื่นแต่เช้าไปสวดภาวนาอย่างร้อนรนที่ห้องภาวนา ก็ทำให้ในปี ค.ศ. 1622 และ ค.ศ.1624
เพราะฝ่ายศัตรูพิจารณาแล้วว่าไม่มีทหารในเมือง เมืองจึงรอดพ้นจากการโจมตี
ทำให้ชาวเมืองยิ่งเคารพท่านมากขึ้น
นอกจากนี้เมื่อข่าวการบันทึกนามนักบุญเทเรซาเป็นบุญราศี(24
เมษายน ค.ศ.1614)และนักบุญ(12
เมษายน ค.ศ.1622)มาถึงยังเมืองแอนต์เวิร์ป
ก็สร้างความยินเป็นยิ่งนักแก่ท่าน
เพราะท่านเชื่อเสมอว่านักบุญเทเรซาเป็นนักบุญตั้งแต่ยังไม่ตาย เราอาจกล่าวได้เลยว่าท่านผู้นี้แหละ
เด็กหญิงจากกาญาดา แม่ชีชราภาพหลังซี่กรงของแอนต์เวิร์ป
เป็นผู้นำความศรัทธาเป็นพิเศษต่อมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์(ชื่อเรียกนักบุญเทเรซาของชาวคาร์เมไลท์) มาสู่โลกของคาร์เมไลท์ และเป็นความจริงที่ว่าอารามที่นี่ก็สร้างถวายแด่นักบุญเทเรซาภายใต้ความศรัทธาเป็นพิเศษต่อนักบุญยอแซฟ
ดังนั้นเมื่อมีการสถาปนาบุญราศีเทเรซา อารามจึงเพิ่มชื่อเป็น “อารามนักบุญยอแซฟและนักบุญเทเรซา”
งานเขียน
ภายหลังจากนักบุญเทเรซาสิ้นใจลงแล้ว ท่านก็ได้ประพันธ์ไว้ทั้งเรื่องราวของนักบุญเทเรซาแบบเจาะลึกถึงวิญญาณตามที่ท่านได้สัมผัส
เรื่องราวการปฏิรูปคณะทั้งในประเทศสเปนและประเทศฝรั่งเศส
เรื่องการสืบทอดจิตตารมณ์ของนักบุญเทเรซา นอกจากนี้ยังมีอัตชีวประวัติของท่านเอง
ตำราฝ่ายจิต การรำพึง และจดหมายที่มีมากถึง 665 ฉบับที่ค้นพบ
ท่านเจริญชีวิตอย่างที่เป็นมาตลอด
คือ พยายามที่จะทำตามน้ำพระทัย ถ่อมตนแม้ในเวลาที่ยากลำบาก และเป็นแบบฉบับของคาร์เมไลท์
ข้อเขียนหนึ่งของท่านในหนังสือรำพึง ที่ท่านร้อยเรียงขึ้นมาในการรำพึงถึงพระมหาทรมานด้วยความรักเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้อ่าน
ได้บอกเล่าถึงความงดงามของความเงียบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวคาร์เมไลท์พยายามจะเลียนแบบ
แบบฉบับบความเงียบที่ท่านได้สรรเสริญในพระองค์ เอาไว้ว่า “สิ่งใดกันที่ความรักอันมิรู้สิ้นสุดแผดเผาในดวงหทัยของพระองค์
ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โดยไม่ต้องเปล่งแม้เพียงคำเดียวทรงตรัสกับพวกลูก
โดยไม่ต้องมีแม้นคำใดทรงกระทำกิจการน่าพิศวงซึ่งจะประสพผล –
ทรงสอนคุณธรรมผู้ขลาดเขลาและผู้มองไม่เห็น”
กระทั้งต้นปี
ค.ศ.1626 ท่านก็เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ
จนใกล้ประตูมรณาเต็มที เวลานี้ความปรารถนาของท่านคือการจากไปอย่างเงียบๆ
ไร้ซึ่งเสียงรบกวนใดๆของหมอหลวงส่วนพระองค์ ที่เจ้าหญิงจะรีบทรงส่งมาเมื่ออาการท่านทรุดหนักทุกครั้ง
หรือความกังวลของคนในราชสำนัก และก็ดูเหมือนพระองค์จะสดับความปรารถนานี้
4
มิถุนายน ท่านมีอาการกำเริบแต่ดูเหมือนไม่ร้ายแรงถึงตาย
ซึ่งผิดคาดเพราะเพียงไม่กี่วันถัดมา ท่านก็มีอาการแย่ลง และท่ามกลางความเงียบสงบ
ท่านขอพระธาตุของมารดาที่รักของท่าน นักบุญเทเรซา ก่อนในเย็นวันอาทิตย์สมโภชพระตรีเอกภาพ
ที่ 7 มิถุนายน
ค.ศ.1626 รายล้อมด้วยบรรดาซิสเตอร์ ด้วยอายุ 67 ปี ท่านก็ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบ
ในวันที่ถวายเป็นพิเศษต่อสิ่งที่ท่านศรัทธาเป็นพิเศษ “พระตรีเอกภาพ” สิ่งที่สนิทเป็นหนึ่งเดียวกับความรักและการภาวนาอย่างร้อนรน
สิ่งอีกสิ่งที่ชาวคาร์เมไลท์มุ่งเลียนแบบท่าน
ข่าวการจากไปของท่าน
ผู้เป็นที่รักของชาวเมือง ทำให้ทุกคนต่างพากันหลั่งไหลมายังอาราม
เพื่อมาแสดงความเคารพต่อนักบุญของพวกเขา หลังจากนั้นก็เกิดอัศจรรย์อีกมากมายที่ปูทางในการเปิดกระบวนการของท่าน
นับตั้งแต่วันที่ท่านสิ้นใจเลยทีเดียว แต่อัศจรรย์ที่สำคัญก็คือการหายจากอาการป่วยของพระนางมารี
เดอ เมดีซิส สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1633 โดยเพียงแค่พระนางได้บรรทมบนเสื้อคลุมของท่าน
และการรักษาซิสเตอร์ในอารามแอนต์เวิร์ป
ในปี ค.ศ.1731
“อานา อานา ลูกจะเป็นนักบุญ
ส่วนแม่จะมีชื่อเสียง” นี่เป็นคำกล่าวครั้งหนึ่งของนักบุญเทเรซา
แม้กระบวนการของท่านล่าช้ามาก เพราะ ปัญหาการเมือง ที่สุดในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1917 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 15 ก็ทรงบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศี
“แต่ผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้นั้น
จะไม่กระหายอีกเลย”(ยอห์น 4:14 ) บุญราศีอานา แม้จะต้องฝ่าฟันอุปสรรค ก็ได้เลือกพระคริสตเจ้าเป็นเจ้าบ่าวหนึ่งเดียว
ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะท่านตระหนักดีว่า พระคริสตเจ้าทรงเป็นน้ำทรงชีวิต
ที่ไม่มีวันจะเหือดแห้งไป เมื่อเทียบกับน้ำฝ่ายโลก ที่วันหนึ่งก็ต้องสูญสิ้นไปแล้ว
ท่านจึงตระหนักดีว่าจะมีประโยชน์อันใดเล่า ที่จะขุดบ่อเก็บน้ำละ
ทำไมไม่ไปหาต้นน้ำเสียเลย ดังนั้นท่านจึงไม่กลัวที่จะกระโดดโผเข้าหาพระองค์ เช่นคนตาบอดที่เมืองเยรีโค
ที่เมื่อได้ยินพระองค์ทรงตรัสเรียก ก็สลัดเสื้อคลุมทิ้ง แล้วกระโดดเข้าหาพระองค์ ชีวิตของท่านในการติดตามพระคริสต์
บอกเราว่า ให้เรากล้าที่จะไปหาพระองค์ สละทิ้งซึ้งบ่อฝ่ายโลก
แล้วพุ่งสู่ตาน้ำฝ่ายจิต นั่นก็คือพระคริสตเจ้า
“ข้าแต่ท่านบุญราศีอานา แห่ง นักบุญบาร์โธโลมิว
ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง