บุญราศีอีวาน เมร์ซ
Bl. Ivan
Merz
ฉลองในวันที่ : 10
พฤษภาคม
องค์อุปถัมภ์ : เยาวชนโครเอเชีย , วันเยาวชนโลก
“ลูกจะไม่ถวายชีวิตของลูกเพื่ออีเกิลคริสตังโครเอเชียหรือ” คุณพ่อบาเนค เอ่ยถามชายผู้หนึ่งซึ่งทอดกายนอนอย่างรู้ตัว
แต่ไม่อาจพูดอะไรออกมมาได้จากอาการป่วย ชายผู้ที่คุณพ่อดูแลวิญญาณ ชายผู้ซึ่งซิสเตอร์ที่ดูแลยกย่องว่าเป็นเหมือนนักบุญ
ภายหลังจากโปรดศีลเจิมให้แล้ว พลันนัยน์ตาของชายนั้นก็เบิกโตและสุกปลั่งขึ้น
และใช้ศีรษะเป็นเครื่องหมายแทนคำตอบ
อีวาน เมร์ซ
เกิดในเมืองบันจาลูคา
สาธารณรัฐเซิร์ปสกา ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ในขณะที่ยังเป็นดินแดนของอาณาจักรออสเตรียฮังการี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1896 เป็นบุตรชายของอิวานโนว คริสตังนอนผู้ห่างวัด กับสตรีชาวยิว
ท่านได้รับศีลล้างบาปในปีถัดมาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์
และเจริญวัยขึ้นมาท่ามกลางความรักจากทั้งบิดามารดาและความสุข ในสภาพแวดล้อมของแนวความคิดของเสรีนิยม
ท่านได้รับการศึกษาในระดับชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนในเมือง
ท่านมิได้มีพื้นฐานของคริสตชนเลย
กระทั้งได้พบ ดร.ลูบอมีร์ มาราโควิซ
คริสตังธรรมดาๆผู้เป็นแบบอย่าง ในช่วงท้ายๆของการเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา
ซึ่งทำให้ท่านได้ค้นพบความมั่งคั่งของความเชื่อคริสตชน “คริสตังธรรมดาๆได้ช่วยผมเพื่อชีวิตนิรันดร์” ท่านเขียนเกี่ยวกับเขา เมื่อท่านโตขึ้นเป็นหนุ่ม
ท่านก็เป็นเช่นเด็กชายทั่วไป ท่านเรียนเปียโน ไวโอลีน อ่านวรรณกรรม
ท่านสามารถวาดรูปหรือเล่นกีฬาต่างๆ อาทิ เทนนิส จักรยาน ยิมนาสติก หมากรุก
สเก็ตน้ำแข็ง โบว์ลิ้ง ขนาบไปกับการพัฒนาตัวเองให้ใกล้ชิดพระเจ้ายิ่งขึ้น นอกนี้ท่านยังได้เริ่มเขียนบันทึกขึ้นตามคำแนะนำของ
ดร.มาราโควิซ ถึงเรื่องราวก่อนถึงวัย 17 ปี
และเขียนไปตลอดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ครอบครัวท่านมีความหวังจะให้ท่านเป็นเจ้าหน้าที่ทหารเหมือนบิดา
ดังนั้นหลังจากจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาในช่วงต้นของฤดูใบไม้ร่วง ปี
ค.ศ.1914 ท่านจึงจำต้องสมัครเข้าโรงเรียนนายร้อยวีนาร์ นอยสตาดต์
ทั้งๆที่ไม่มีใจฝักใฝ่ในด้านนี้เลย ซึ่งจากบันทึกในช่วงนี้แสดงให้เห็นว่าโลกแห่งความเชื่อของท่าน
กำลังถูกล้อมด้วยความผิดศีลธรรมจำนวนมาก จึงไม่แปลกอะไรที่ท่านจะอยู่ที่นั่นได้เพียงสามเดือนท่านจึงออก
และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในต้นปี ค.ศ.1915
ที่นั่นท่านได้มีโอกาสเข้าชมละคร
โอเปรา และได้อ่านหนังสือมากมาย
และที่นั่นเช่นกันในบันทึกของท่านได้บอกเล่าเรื่องราวในตอนนี้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเดินทางภายในและการค้นหาที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของท่าน
ทั้งทุกข์จากปัญหารัก ความทรงจำเรื่องเกรตีรักแรกของท่านยังคงหลอกหลอนจิตใจท่านมิขาด(ท่านจูบเธอครั้งแรกที่งานเต้นรำขณะท่านอายุ 16 ปี แต่เพียงไม่นานเธอก็มาด่วนจากไป) บวกกับปัญหาเรื่องกระแสเรียกอีก
แต่อย่างไรก็ตามท่านแม้จะมีข้อสงสัยมากมายท่านก็ยังคงเปี่ยมด้วยความเชื่ออยู่
ท่านมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณธรรมของตัวท่านเองมากกว่า
แต่เพียงไม่นานหลังจากมาอยู่ที่เวียนนา
ในฤดูร้อนปีเดียวกันท่านก็ถูกเรียกตัวไปรับราชการทหาร
ท่านจึงเดินทางกลับไปอยู่บ้านกลับครอบครัวเพื่อรอเวลา เวลานั้นเองท่านได้ใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือวรรณกรรมต่างๆ
และปัญหาต่างๆที่รุมเร้าภายในของท่าน ก็ค่อยๆคลี่คลายลง และเช่นกันเป็นเวลานี้เองที่ท่านถูกกระตุ้นให้มีชีวิตฝ่ายจิตที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
จนลุถึงวันฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมลที่ 8 ธันวาคม
ปีนั้นเอง ท่านก็ได้ปฏิญาณตนถือพรหมจรรย์ และจะยังคงรื้อฟื้นคำปฏิญาณนี้ส่วนตัวเสมอ
ตลอดสงคราม
จนเมื่อได้รับการบรรจุเป็นทหารแล้ว
ในช่วงต้นปี ค.ศ.1916 ท่านก็ถูกส่งไปประจำการที่แนวหน้าที่ประเทศอิตาลีและคงประจำอยู่ที่นั่นจนสงครามโลกครั้งที่
1 จบลง และทีละนิดเสียงระเบิด ความตาย ความหดหู่
ความสิ้นหวัง และสิ่งต่างๆจากสงครามค่อยๆหล่อหลอมทางเดินในชีวิตแก่ท่าน คือ
ให้ฝากชีวิตภายหน้าไว้กับพระเจ้า และมุ่งที่จะเป็นคริสตชนที่ “ลูกขอโมทนาพระคุณพระเจ้าที่โปรดให้ลูกได้มีโอกาสร่วมรบในสงคราม
เพราะสงครามได้สอนลูกในหลายสิ่งที่ไม่เคยรู้
ลูกปรารถนาจะมีชีวิตเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง
และปรับชีวิตให้ถูกต้องตามที่ลูกได้รู้มา” ท่านเขียนขึ้นถึงบิดาในช่วงท้ายของสงคราม
“ต้องไม่ลืมพระเจ้า
ต้องปรารถนาจะเป็นหนึ่งเดี่ยวกับพระองค์เสมอ
แต่ละวันเริ่มด้วยการรำพึงและการสวดภาวนา อาจเบื้องหน้าศีลมหาสนิทหรือระหว่างมิสซา
ส่วนระหว่างวัน สิ่งที่จะทำก็คือ ตรวจสอบข้อบกพร่องหนึ่ง
และสวดขอพระหรรษทานเพื่อให้มีกำลังพอชนะความอ่อนแอทั้งหมด มันจะเป็นเรื่องน่ากลัวมาก
หากสงครามไม่มีความหมายอะไรกับผม … ผมต้องเริ่มเจริญชีวิตฟื้นฟูภายใต้จิตตารมณ์ความเข้าใจเกี่ยวกับพระศาสจักรคาทอลิกใหม่
องค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่สามารถช่วยผมได้
มนุษย์ไม่อาจทำอะไรด้วยตัวเองได้” – จากบันทึกของท่านระหว่างสงครามลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1918
ในปี ค.ศ.1919 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง
ท่านก็กลับมาเรียนต่อที่คณะปรัชญา ในกรุงเวียนนา ท่านจึงมีโอกาสได้อุทิศตัวให้กับการศึกษางานวรรณกรรมโรมแมนติกและวรรณกรรมเยอรมัน
และเวลาเดียวกันท่านก็เริ่มมีความสนใจเรื่องพิธีกรรมต่างๆของพระศาสนจักร
ภายหลังได้เข้าเงียบ นอกจากนี้ท่านยังเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม “ชาวโครเอเชีย”
อันเป็นกลุ่มนิสิตคาทอลิกชาวโครเอเชียในเวียนนา
ที่รวมตัวกันเพื่อเตรียมความพร้อมตัวเองในการดำเนินกิจการแพร่ธรรมในประเทศต่อไป “พื้นฐานชีวิตของพวกเราคือการเกิดใหม่ในพระคริสตเจ้า
ที่เหลือทุกสิ่ง พวกเราไม่อาจกระทำได้ด้วยตัวเราเอง” ท่านพูดในการประชุมกลุ่มครั้งหนึ่ง
ท่านศึกษาอยู่ในกรุงเวียนนาได้ปีหนึ่ง
ในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ.1920 ถึง ค.ศ.1922 ผ่านคุณพ่อมิโรสาวา
วานีนา พระสงฆ์เยซูอิต ท่านพร้อมเพื่อนอีกสองคนก็ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อที่กรุงปารีส
ในประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นจึงมีโอกาสได้ศึกษาต่อด้านวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ และสถาบันคาทอลิก ซึ่งระหว่างศึกษานั้น
ท่านในฐานะสมาชิกกลุ่มวินเซนต์ เดอ ปอล
ก็ได้คอยช่วยเหลือครอบครัวผู้ยากไร้ในแถบชานเมืองกรุงปารีส
จนท่านมีชื่อเสียงในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขา
เวลานี้บันทึกของท่านไม่ค่อยจะมีอะไรมาก
คงมีแต่เรื่องราวที่ท่านประทับใจ นอกนี้ท่านยังมักแวะไปที่วัดน้อยของอารามเบเนดิกตินที่มงซิเออร์
อันเป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณของปารีส เพราะเป็นสถานที่ที่ปัญญาชนชาวปารีสนิยมมา
บ้างก็มาพูดคุย อยู่บ่อยครั้ง และเช่นกันเป็นในปารีสนี้เอง
กระแสเรียกการเป็นนักบวชในใจของท่านก็ยิ่งลุกร้อนมากขึ้น
เช่นเดียวกับความไม่พอใจของบิดามารดาต่อความฝันนี้
มารดาของท่านปรารถนาจะให้ท่านมีชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป
แต่ท่านก็ตอบจดหมายมารดาด้วยการอธิบายและแสดงมุมมองของท่าน
โดยมีนัยยะแอบแฝงคือการปลุกเร้าให้บิดามารดาของท่านเจริญชีวิตฝ่ายจิตอย่างลึกซึ้ง
ท่านเตือนทั้งคู่ว่า ชีวิตนั้นแสนสั้น และเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตนิรันดร์
ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวสำหรับโลกหน้าให้ดียิ่งๆขึ้นไป
ท่านยังได้เขียนวลีที่มีชื่อเสียงอีกหนึ่งของท่านว่า “คุณแม่ควรจะรู้ไว้ว่าชีวิตมหาลัยในกรุงเวียนนา
ชีวิตในสงคราม ชีวิตการศึกษา และชีวิตที่ลูร์ดทำให้ลูกเชื่ออย่างหมดใจในความจริงของศาสนาคาทอลิก
และนี่แหละคือเหตุผลที่ทั้งชีวิตของลูกหมุนอยู่รอบพระคริสตเจ้า”
และในจดหมายฉบับที่สองถึงมารดาท่านยังเขียนอีกว่า “ความเชื่อคาทอลิกคือกระแสเรียกของลูก
และมันก็จะต้องเป็นของทุกๆคนโดยไร้ซึ่งข้อยกเว้นใดๆด้วย”
ภายหลังจากได้ปริญญาจากคณะปรัชญาที่ปารีสแล้ว
ในฤดูร้อนปี ค.ศ.1922
ท่านก็เดินทางกลับไปบ้านของครอบครัวที่พากันย้ายมาอยู่ซาเกร็บ
จนฤดูผันเปลี่ยนทั่วผืนป่า แม้แต่ตามต้นไม้บนถนนก็ต่างเปลี่ยนสีเป็นสีส้มเหลือง
เพื่อเตรียมรับความหนาวเหน็บของเหมันต์ ปีเดียวกัน ท่านก็ได้งานเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส
และภาษาเยอรมัน ที่โรงเรียนอัครสังฆราชเตรียมอุดม ซาเกร็บ
โดยอาศัยอยู่กับบิดามารดา ที่บ้านของครอบครัวซึ่งอยู่ในตึกสตาร์เชวีเชโวก
ใกล้ๆสถานที่รถไฟหลักของซาเกร็บ
ซึ่งในฐานะครู
ท่านก็ปฏิบัติตนเป็นแบบที่ดีทั้งในการอุทิศตนเพื่อนักเรียน
และในการรับผิดชอบต่อหน้าที่ครู ทั้งนี้ระหว่างทำงานถัดจากนั้นในปีถัดมา
ท่านก็ได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยซาเกร็บ จากวิทยานิพนธ์หัวข้อ “อิทธิพลของพิธีกรรมต่อนักเขียนชาวฝรั่งเศส” ซึ่งระหว่างนั้นเมื่อว่างจากภาระงานนี้ ท่านก็ใช้เวลาไปกับการศึกษาปรัชญชา
เทววิทยา และเอกสารการปกครองของพระศาสนจักร
‘อีเกิลคริสตังโครเอเชีย’ ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องนี้ คงต้องขอย้อนกลับไปขณะที่เรียนอยู่ที่กรุงเวียนนาและกรุงปารีสอยู่นั้น
ท่านก็ได้เข้าร่วมกับ ‘กลุ่มเคลื่อนไหวคาทอลิก’
อันเป็นกลุ่มเยาวชนคาทอลิกที่ก่อตั้งขึ้นในต้อนต้นศตวรรษที่ 20 โดยพระคุณเจ้าอันตุม มัฮนิค พระสังฆราชประจำสังฆมณฑเคริชคา
ของประเทศโครเอเชีย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านลักทธิเสรีนิยมที่กำลังขยายตัวเข้ามาในภูมิภาค
การเบียดเบียนศาสนา และค่านิยมผิดๆในชีวิตประจำวันของผู้คน
ซึ่งท่านยังคอยช่วยงานนี้อยู่เรื่อยๆ กระทั้งท่านย้ายมาทำงานที่ซาเกร็บ
ท่านก็ยิ่งร่วมงานกับกลุ่มอย่างแข็งขัน
และสืบเนื่องจากความสนใจและความกังวลถึงอนาคตของเยาวชน ในปี ค.ศ.1923 ท่านจึงร่วมกับอิโว โปรตูลิปัก ตั้งกลุ่ม “อีเกิลคริสตังโครเอเชีย” ขึ้นมาภายใต้พื้นฐานของกลุ่มกิจการคาทอลิก
โดยมีอิโวเป็นประธานคนแรก และท่านเป็นเลขา ซึ่งในส่วนตัวสำหรับท่านแล้วกลุ่มนี้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์คือการเลียนแบบชีวิตของกลุ่มอัครสาวกชั้นแนวหน้าที่มีเป้าหมายคือความศักดิ์สิทธิ์
และมุ่งปรังปรุงทุกสิ่งในพระคริสตเยซู ท่านเคยกล่าวว่า “เยาวชนทั้งหลายจนถามให้มากๆ
เพราะพวกเขาสามารถเสียสละได้มาก และเป็นได้ยิ่งถามให้มากพวกเขาก็จะยิ่งรู้มากขึ้น”
ขอบเขตของกลุ่มนี้สำหรับท่านยังคลอบคลุมถึงเรื่องพิธีกรรมแบบท้องถิ่น
ตามแบบแนวคิดของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ซึ่งมีในภายหลังท่านสิ้นใจไปแล้ว
ดังนั้นหัวข้อต่อไปของชีวิตเล็กของท่านก็คือ พิธีกรรม พิธีกรรมสำหรับท่านคืออะไร พิธีกรรม
คือ‘กิจกรรมยามว่าง’ อันศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ของท่าน พิธีกรรมคือสถานที่ที่ทำให้ท่านได้พบกับพระเจ้าและมีประสบการณ์ของพระองค์
ไม่เพียงเท่านั้นพิธีกรรมสำหรับท่านยังคือสุดยอดแห่งความสำเร็จทางศิลปะ
คือการผสานรวมกันของศิลปะทุกแขนง ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ตามจริงว่า
พิธีกรรมสำหรับท่านแล้ว ก็คือ “ศิลปะและชีวิตของท่าน”
ในหน้าหนึ่งของสมุดบันทึก
ท่านได้เขียนว่า “การรับศีลคือบ่อเกิดแห่งชีวิต”
ซึ่งแสดงชัดถึงความศรัทธาพิเศษต่อศีลมหาสนิทของท่าน
ท่านไม่เคยสงสัยในเรื่องการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท
และนับวันความรักในศีลมหาสนิทของท่านก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ที่ ซาเกร็บ
กิจวัตรประจำวันของท่านก็คือการไปร่วมมิสซาและรับศีล นอกนี้ศีลมหาสนิทยังเป็นแรงบันดาใจในการแพร่ธรรมของท่าน
“พระองค์ทรงตรัสกับข้าพเจ้าอย่างความร้อนรนเพื่อให้ข้าพเจ้าศักดิ์สิทธิ์
ผ่านศีลมหาสนิท”
ท่านกล่าวปิดท้ายการแบ่งปันในงานชุมนุมเยาวชนระดับชาติที่มารีโบรู ในปี ค.ศ.1920
ชีวิตแห่งการพลีกรรม
ท่านพยายามควบคุมความปรารถนาและสัญชาตญาณของท่าน
พยายามหลีกหนีโอกาสแห่งบาปอย่างจริงจัง
และหลายๆครั้งท่านก็มักสละน้ำใจตนเองเมื่อได้รับอนุญาตให้รับประทานอาหารได้
โดยระหว่างท่านศึกษาอยู่ที่ปารีสนั้น ท่านก็ได้เขียน ‘กฎของชีวิต’
ขึ้น อันเป็นการตัดสินใจเจริญชีวิตฝ่ายจิตและนักพรตอย่างจริงจัง ซึ่งการเจริญชีวิตคล้ายนักพรตนี้
เริ่มตั้งแต่ช่วงสงคราม และยิ่งทวีขึ้นเรื่อยๆในระหว่างศึกษา
โดยเฉพาะเมื่อท่านย้ายมาอยู่ซาเกร็บ ท่านก็เจริญชีวิตใช้โทษบาปแบบจริงจังยิ่งขึ้น
“เป็นเรื่องยากที่จะโกหก อดอาหารวันศุกร์
อะไรที่เหลือใช้ก็นำไปมอบแด่คนยากไร้ สวดภาวนาอย่างน้อยวันละครั้ง
เข้าไปในสถานการณ์ที่น่าอึดอัด การได้รับความอัปยศต่อหน้าคนอื่นคือความสุข
ไม่ย่อท้อต่อหนทางเพียงด้านเดียว มีชีวิตติดต่อกับผู้คนน้อยที่สุด” บางส่วนจากฎของชีวิตที่ท่านเขียนที่ปารีส
นอกจากนี้แม่พระ
ยังเป็นอีกสิ่งที่มีบทบทมากในชีวิตของท่าน ทุกวันท่านเฝ้าสวดขอพระนางผู้ทรงเป็นสตรีในอุดมคติของท่าน
ให้ช่วยปกป้อง ช่วยเหลือ และพิทักษ์ท่านไว้จากการทำบาป
เพื่อคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของวิญญาณท่านเสมอ เพราะ ท่านเลือกพระเยซูเจ้า
พระบุตรของพระนางเป็น “คู่หมั้น”
เพียงหนึ่งเดียวของท่าน
นับแต่วันที่ท่านได้ปฏิญาณถือพรหมจรรย์เบื้องหน้าพระนางในปี ค.ศ.1915
“ความรักต่อพระศาสนจักรปรากฏในทุกคำพูดของเขา” อีกสิ่งที่เราลืมไม่ได้เลย
หากจะกล่าวถึงลักษณะของท่านก็คือ ความรักและความภักดีต่อพระศาสนจักร ท่านเข้าใจดีไม่เพียงความหมายอันแท้จริงของคำว่า ‘พระสันตะปาปา’ ในพระศาสนจักร
แต่ยังเป็นความหมายของพระสันตะปาปาในหมู่คริสตชน
และพระสันตะปาปาสำหรับชาวโครเอเชีย ท่านกล่าวในการเข้าเฝ้าสมเด็ตพระสันตะปาปาพร้อมบรรดาสมาชิกกลุ่มว่า
“พวกเราจะต้องก้าวไปพร้อมองค์สันตะปาปาอย่างสัตย์ซื่อ
ศีลมหาสนิทและองค์สันตะปาปาจะต้องเป็นราก ต้นธาร และหลัก
ชนชาติของพวกเราต้องการศีลมหาสนิทและองค์สันตะปาปา”
เพื่อเป็นการย้ำถึงความจริงในข้อนี้
จึงขอยกคำตอบของท่าน ที่ตอบข้อสงสัยที่ว่าทำไมท่านรักพระศาสนจักร เอาไว้ว่า “ทำไมผมถึงรักพระศาสนจักรคาทอลิกและพระสันตะปาปาน่ะหรือ
ก็เพราะว่าในพระศาสนจักรผมสามารถเห็นภาพพระผู้ช่วยให้รอด พระเจ้าแท้มนุษย์แท้ องค์พระเยซูคริสตเจ้าด้วยความสมบูรณ์แบบทั้งหมดของพระองค์อย่างเด่นชัด
และในรูปของพระสันตะปาปาผมก็สามารถเห็นพระเจ้าและองค์พระผู้เป็นเจ้าของผม”
และแน่นอนท่านคือมนุษย์เหมือนๆเรา
ณ ช่วงเวลาหนึ่งท่านก็ย่อมถูกคนเข้าใจผิด ย่อมต้องเจอเรื่องหินผ่านเข้ามาในชีวิต
แต่สิ่งที่ทำให้ท่านโดดเด่นออกมาจากเราๆคือการเลือกจะอดทนและเงียบ
ซึ่งมีต้นธารมาจากความสนิทสัมพันธ์ของท่านกับพระในการสวดภาวนา
คนที่รู้จักท่านต่างอธิบายคล้ายๆกันว่าความคิดและหัวใจของท่าน ‘ฝังแน่นอยู่ในความเหนือธรรมชาติ’
ท่านเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ช่วยวิญญาณได้ดีที่สุดก็คือความทุกข์ยาก ดังนั้นท่านจึงยกมอบมันแด่พระ
เพื่อการนี้ และเพื่อกิจการของท่านจะลุล่วงไปด้วยดี
ในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต
สุขภาพของท่านก็เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ ในปี ค.ศ.1927 ท่านเริ่มมีอาการปอดอักเสบและเสมหะ จนกระทั้งล้มป่วยลงด้วยอาการโพลงขากรรไกรอักเสบ
ท่านจึงถูกส่งเข้าผ่าตัดที่คลินิกหูจมูกและลำคอ บนถนนดราสโกวิเชวา ในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1928 แต่อนิจจาการผ่าตัดครั้งนั้นล้มเหลว เพราเลือดของท่านไหลไม่หยุด
และอาการของท่านก็ยิ่งทรุดลงด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
จนใกล้ประตูแห่งความตายเต็มที
ท่านได้รับศีลเจิมในวันที่
6 พฤษภาคม พร้อมกันนั้นได้ถวายชีวิตที่เหลือของท่านเพื่อกลุ่มอีเกิลคริสตังโครเอเชีย
บัดนี้ปัญญาชนผู้น่าเคารพผู้ให้คำแนะนำแก่บรรดาเยาวชนและผู้ใหญ่ด้วยกันถึงเรื่องของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรผ่านงานเขียนและการจัดงานชุมนุม
ไม่อาจจะเอ่ยเสียงใดออกมาได้อีก ริมฝีปากที่เคยสอนทุกคนให้รักและนบนอบต่อผู้แทนพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรปิดเงียบ
9 พฤษภาคม ท่านได้รับโทรเลขอวยพรจากสมเด็จพระสันตะปาปา
และหลังจากในวันรุ่งขึ้นนั่นคือเช้าวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม ท่ามกลางบิดาและเพื่อนๆ ท่านก็ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบด้วยวัย 31 ปี นับเป็นการจบการเดินทางภายใต้คำขวัญของกลุ่มที่ท่านตั้งว่า
‘เสียสละ ศีลมหาสนิท แพร่ธรรม’ อย่างงดงามแบบที่คริสตชนอย่างเราๆต่างใฝ่ฝัน
หลังจากนั้นได้มีการค้นพบกระดาษที่ท่านเขียนก่อนเข้ารับการผ่าตัดเก็บไว้ที่ลิ้นชักโต๊ะเป็นภาษาละตินว่า
“เขาได้สิ้นใจในสันติแห่งความเชื่อคริสตัง
ชีวิตของข้าพเจ้าเป็นของพระคริสตเจ้าและการตายก็เป็นกำไร ข้าพเจ้าหวังในพระเมตตาและการไม่แบ่งแยกโดยสมบูรณ์จากการครองของดวงหทัยศักดิ์สิทธิ์ จงมีความสุขในความยินดีและสันติเถิด ด้วยวิญญาณของข้าพเจ้าได้บรรลุถึงเป้าหมายนั่นคือองค์พระเป็นเจ้า
ตามที่ถูกสร้างขึ้นแล้ว”
ร่างของท่านถูกฝังในสุสานมิโรโกยู
ภายหลังมีพิธีปลงศพที่มีผู้ร่วมงานราวห้าพันคนได้
ก่อนจะถูกขุดและย้ายไปยังอาสนวิหารพระหฤทัย ซาเกร็บ ที่ท่านเป็นสัตบุรุษเมื่อครั้งมีชีวิต
ในปี ค.ศ.1977 เมื่อมีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ
และที่สุดความฝันของชาวบอสเนียก็เป็นจริง ภายหลังจากมีอัศจรรย์
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงสถาปนาท่านเป็นบุญราศี
ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.2003 ณ ปรัมพิธีชั่วคราวในเมืองบันยาลูกา ประเทศบอสเนีย
พระองค์ทรงยกย่องว่าท่านเป็น “ฆราวาสผู้โดดเด่นในการเป็นประจักษ์พยานถึงข่าวดี”
“ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็นก็เป็นสุข”(ยอห์น 20:29)
ความเชื่อเป็นพระพรอย่างหนึ่งในชีวิตที่มีขึ้นและมีลงได้
หากขาดกิจการควบคู่ ความเชื่อไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะมีโอกาสได้ แม้คนคนนั้นจะได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเชื่อมากที่สุดในโลกและมีความรู้เรื่องราวเหล่านั้นอย่างทะลุปรุโปร่ง
ดังนั้นเราในฐานะคริสตชนและผู้กำลังจะเป็นคริสตชนจึงไม่ควรชื่นชมยินดีหรอกหรือ
ที่เราสามารถเชื่อในพระเจ้า ผู้ที่เราไม่เคยเห็นด้วยตา หรือสัมผัสด้วยมือ ได้แต่ได้ยินๆต่อๆมา
เราไม่ควรภูมิใจหรือว่าเราได้เชื่อพระผู้ทรงกลับคืนชีพขึ้นมา ลองตอบคำถามเหล่านี้ในใจเราดู
กลับมามองที่ชีวิตของบุญราศีอีวาน
ชีวิตของบุญราศีอีวานเป็นแบบฉบับที่งดงามของคริสตชนที่ภูมิใจที่ได้เชื่อแม้ไม่เห็น
ความเชื่อของท่านไม่ได้งดงามเพียงเพราะเป็นพระพร
แต่งดงามด้วยการปฏิบัติกิจการเพื่อเพิ่มพูนความเชื่อ ขอให้เราพยายามเลียนแบบบุญราศีอีวานด้วยการดำเนินชีวิตความเชื่อคริสตชนอย่างดีเลิศ
กล่าวคือ หมั่นรำพึงภาวนา อ่านพระคัมภีร์ ไปมิสซา รับศีลศักดิ์สิทธิ์บ่อยๆ และพยายามประกาศข่าวดี
ไม่เพียงแค่คำพูด แต่ด้วยชีวิตทั้งหมดของเรา เพื่อว่าวันหนึ่งสันติภาพจะได้บังเกิดขึ้นในโลกของเรา สุดท้ายนี้อยากให้เราลองคิดกันว่าหากเปรียบพระศาสนจักรเป็นพระกายแล้ว
เราผู้มีความเชื่อจะเป็นอะไรและเพื่ออะไร
“ข้าแต่ท่านบุญราศีอีวาน เมร์ซ ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง