นักบุญมานูเอล กอนซาเลซ กราเซีย
St. Manuel González García
วันฉลอง : 4 มกราคม
“โอ้ ศีลมหาสนิท โปรดเป็นชีวิตแก่ลูกเถิด…” แต่ละปีเมื่อเวียนมาถึงวันอาทิตย์ที่สองหลังเทศกาลปัสกา หรือวันอาทิตย์สมโภชพระตรีเอกภาพ บทเพลงโอ้ศีลมหาสนิทก็จะถูกขับอย่างสง่าตามวัดคาทอลิกทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นการเทิดเกียรติพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเสด็จลงมาแฝงองค์ในเพศปัง สละซึ่งสภาพแห่งพระเจ้าและสภาพแห่งมนุษย์ มาอยู่ในสภาพของโภชนาทิพย์ประเสริฐต้อยต่ำกว่ามนุษย์ ดังถ้อยคำในบทเพลงโอ้เจ้าพระคุณ บทเพลงแห่ศีลเก่าแก่ของประเทศไทยที่ประพันธ์โดยพระคุณเจ้ายาโกเบ แจง เกิดสว่างที่ว่า “พอพระทัยใช่แต่มรณาไถ่ข้าพระบาท ยังสมัครมาพำนักประทับอยู่ในหมู่ข้าพเจ้าทั้งหลายอีกเล่า” แต่ขณะที่บรรดาคริสตังไทยจำนวนหนึ่งกำลังร่วมสอดประสานดวงใจเป็นหนึ่งเดียวกับคริสตังทั่วโลกที่ร่วมฉลองสมโภชพระคริสตวรกายอย่างสง่านั้น ในมุมต่าง ๆ ของโลกปัจจุบันของเรา การทุรจารศีล การทอดทิ้งศีลมหาสนิท การไม่ตระหนักถึงคุณค่าแห่งศีลมหาสนิทยังคงมีอยู่ ทั้งจากคนต่างศาสนา และคริสตังผู้รับศีลประเสริฐนี้
ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าแท้ ที่คุณค่าของทิพยะโภชนา ซึ่ง “คือปังที่ลงมาจากสวรรค์ ไม่เหมือนปังที่บรรพบุรุษได้กินแล้วยังตาย ผู้ที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป” (ยอห์น 6 : 58) นี้ถูกหลงลืมไปในโลกเดี๋ยวนี้ เรื่องน่าเศร้าเช่นนี้ไม่ได้เกิดเพียงในยุคของเรา แต่เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้วเหตุการณ์อันน่าเศร้านี้ก็ได้เคยเกิดขึ้น และได้สัมผัสจิตใจของสงฆ์หนุ่มชาวสเปนรูปหนึ่ง ซึ่งพึ่งได้รับมอบหมายให้เดินทางไปที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองปาโลมาเรส เดล รีโอ จนพระสงฆ์หนุ่มผู้นั้นตัดสินใจลุกขึ้นมาประกาศถึงคุณค่าแห่งทิพยะโภชนานี้อย่างร้อนรนตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ นี่คือเรื่องราวจริงของสงฆ์ผู้มีนามว่า ‘คุณพ่อมานูเอล กอนซาเลส กราเซีย’
บิดามารดาของนักบุญมานูเอล
คุณพ่อมานูเอล ผู้เป็นตัวละครเอกของเรื่องราวของเราในวันนี้เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1877 ที่เมืองเซบียา จ. เซบียา ประเทศสเปน ท่านเป็นลูกคนที่สี่จากห้าคนของนายมาร์ติน กอนซาเลซ ลารา ช่างไม้ กับนางอันโตเนีย การ์เซีย สองสามีภรรยาคริสตังใจศรัทธาที่มีพื้นเพเดิมเป็นคนเมืองอันเตเกลา จ. มาลากา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเซบียา ซึ่งได้ตัดสินใจย้ายมาเปิดร้านทำตู้ไม้และงานไม้เมื่อประมาณ ค.ศ. 1875 ที่บริเวณเลขที่ 22 ถนนบีดรีโอ ตำบลซาน บาร์โตโลเม เมืองเซบียา ทั้งสองได้อบรม ด.ช. มานูเอล ด้วยความเชื่อและความเรียบง่ายตามประสาชาวบ้านฐานะปานกลาง และเมื่อเห็นว่า ด.ช. มานูเอล ถึงวัยเข้าเรียนทั้งสองก็ได้ส่งเสียให้เข้าเรียนที่โรงเรียนซานมิเกล เมืองเซบียา ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง ด.ช. มานูเอล ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเยาวชนนักขับร้องลา กีรัลดาประจำวัด และในเวลาต่อมาเมื่อ ด.ช. มานูเอล อายุได้ 10 ปีก็ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในเซเซส (Los Seises) หรือกลุ่มนักขับเด็กชายที่ประจำ ณ อาสนวิหารเซบียา ที่จะทำหน้าที่ร้องและเต้นในวันฉลองพระคริสตวรกายและวันฉลองแม่พระผู้ปฏิสนธินิรมล ด้วยชุดลูกผู้มีฐานะโบราณพร้อมหมวกประดับขนนก และอาศัยภาระหน้าที่นี้เอง ที่มีส่วนสำคัญในการหลอมรวมความรักต่อศีลมหาสนิทและแม่พระให้เป็นหนึ่งเดียวกันและติดตรึงแน่นในหัวใจของ ด.ช. มานูเอล
วันเวลาผ่านไปจากเดือนเป็นปีจากหนึ่งปีเป็นหลาย ๆ ปี โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ พระเจ้าก็ทรงค่อย ๆ เผยแสดงกระแสเรียกภายในใจของท่าน อาศัยการดำเนินชีวิตคริสตังที่ดีของสองสามีภรรยา ที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไรและแบบฉบับที่ดีของพระสงฆ์ ผู้แทนองค์พระคริสตเจ้า สิ่งสองประการนี้ได้ค่อย ๆ หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งกระแสเรียกการเป็นนักบวชลงไปในหัวใจดวงน้อย ๆ ของท่าน และบำรุงเมล็ดนั้นจนล่วงถึงวันที่เมล็ดนั้นแตกหน่อแทงใบอ่อนออกมา ในเวลาเดียวกันกับที่รากแห่งเมล็ดนั้นก็หยั่งลึกลง ๆ ไปเรื่อย ๆ บัดนี้หัวใจดวงน้อยของ ด.ช. มานูเอล ก็ตระหนักได้ว่าความฝันของตนไม่ใช่การเป็นช่างไม้เหมือนบิดา หรือทำงานรับเงินเดือนในโลก แต่คือการเป็นพระสงฆ์ผู้แทนของพระคริสตเจ้าในโลกนี้ต่างหาก...
ดังนั้นโดยไม่ต้องมีใครมาบอก เมื่อถึงวัยพอเข้าบ้านเณรได้ ท่านจึงบอกกับบิดามารดาในทันทีว่าท่านอยากเป็นพระสงฆ์ จนยังความประหลาดใจแก่บิดามารดาของท่าน ที่แลเห็นวิธีการอันน่าพิศวงของพระเจ้าต่อบุตรชายของพวกเขาเป็นยิ่งนัก และแน่นอนด้วยความยินดีที่พระเจ้าได้ทรงประทานพระหรรษทานให้หนึ่งบุตรธิดาของพวกเขาได้เป็นของพระองค์ ทั้งสองจึงไม่รีรอที่จะตอบรับการเรียกร้องจากพระเจ้าครั้งนี้ โดยการได้ยกถวายบุตรชายคนนี้แด่พระองค์ ทำให้ในวัย 12 ปี ท่านก็ได้เข้าบ้านเณรเมืองเซบียา แต่ไม่วายเนื่องจากปัญหาการเงินของครอบครัวที่ไม่สู้ดีเท่าไรในเวลานั้น ท่านจึงต้องทำงานเป็นคนงานของบ้านเณรควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถเรียนต่อตามความฝันไว้ได้ ซึ่งการที่ต้องรับภาระเช่นนี้ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อเรื่องการเรียนเพื่อเตรียมเป็นพระสงฆ์ เพราะตลอดหลายปีที่ท่านอยู่ที่บ้านเณรแห่งนี้ ท่านจัดอยู่ในกลุ่มหัวกะทิเลยทีเดียวเชียว
“หากผมเกิดได้สักพันครั้ง ผมก็จะเป็นพระสงฆ์ทั้งพันครั้ง” ภายหลังจากจบปริญญาด้านเทวววิทยาและกฏหมายพระศาสนจักรแล้ว ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1901 ขณะอายุได้ 24 ปี ท่านก็ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์จากมือพระคุณเจ้าพระคาร์ดินัล มาร์เซโล สปิโนรา สังฆราชผู้ศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดน้อยในสำนักพระสังฆราชเซบียา ก่อนในวันที่ 29 กันยายน ท่านจึงได้ประกอบพิธีมิสซาแรกที่วัดพระตรีเอกภาพ และช่วงแรกของพิธีมิสซานั้นเอง ท่านก็ถวายตนไว้ในการเสนอวิงวอนของแม่พระองค์อุปถัมภ์ โดยที่ท่านไม่รู้เลยว่า ในไม่ช้าพระเป็นเจ้ากำลังจะทรงวางแอกสำคัญไว้ตลอดชีวิตของท่าน…
วัดที่ปาโลมาเรส เดล รีโอ
ใน ค.ศ. 1902 พระคุณเจ้าสปิโนราก็ส่งท่านไปเทศน์ที่ปาโลมาเรส เดล รีโอ แต่ทันทีที่ก้าวมาถึงเมือง แทนที่ท่านจะพบวัดที่สะอาดสะอ้านและการต้อนรับจากชาวบ้าน ตรงกันข้ามท่านกับพบวัดที่ถูกทิ้งร้างจากผู้คน พระแท่นที่ถูกคลุมด้วยผ้าปูพระแท่นขาด ๆ ขยะและความว่างเปล่า แต่นี่ก็ยังไม่รันทดใจเท่าสถานที่เก็บพระอาจารย์เจ้าผู้ทรงลงมาแฝงองค์ในเพศปังกลับเต็มไปด้วยหยากไย่ ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นไว้ว่า “ข้าพเจ้าเดินตรงไปหน้าตู้ศีล…และ ณ ตู้ศีล ข้าแต่พระเจ้า ต้องอาศัยความพยามด้วยความเชื่อและความกล้าของข้าพเจ้าที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่หันกลับไปบ้านของข้าพเจ้า แต่กระนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ได้หนีไปไหน นอกไปเสียจากคุกเข่าของข้าพเจ้าลง … ด้วยความเชื่อข้าพเจ้าแลเห็นพระเยซูเจ้าผู้ทรงเงียบขรึม ทุกข์ยาก และประเสริฐทอดพระเนตรมาที่ข้าพเจ้า… ทรงตรัสกับข้าพเจ้าหลายอย่างและข้าพเจ้าก็ได้วอนขอพระองค์ ขอจงมองดู พระองค์ ผู้สะท้อนความโศกเศร้าทั้งหมดจากพระวรสาร… สายพระเนตรของพระเยซูคริสตเจ้าในตู้ศีลเหล่านี้เป็นสายพระเนตรที่เสียดแทงวิญญาณและไม่มีทางจะลบเลือนไปได้ นั่นกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ข้าพเจ้าได้เห็น ได้เข้าใจ และได้สัมผัสถึงพันธกิจสงฆ์ของข้าพเจ้า”
ภาพเหตุการณ์ในวันนั้นที่ปาโลมาเรส เดล รีโอ ทำให้ท่านทวีความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทมากยิ่งขึ้น และมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วที่จะนำคริสตังให้มีความศรัทธาอย่างร้อนรนในศีลมหาสนิท โดยท่านได้เริ่มจากกลุ่มคนที่ท่านมีโอกาสใกล้ชิดมากที่สุด นั่นก็คือกลุ่มคนชรา เพราะในช่วงแรก ๆ ที่ท่านได้บวชเป็นพระสงฆ์ใหม่ ท่านได้รับหน้าที่ให้เป็นจิตตาภิบาลให้กับสถานพยาบาลของคณะภคินีน้อยของผู้น่าสงสาร ซึ่งมีพันธกิจในการดูแลผู้ชราภาพ ในเมืองเซบียา โดยท่านจัดให้การปฏิบัติกิจศรัทธาต่อศีลมหาสนิท ในลักษณะคล้าย ๆ กลุ่มกิจศรัทธาพิเศษต่อศีลมหาสนิทขึ้น
วัดนักบุญเปโตร อูเอลบาในปัจจุบัน
แต่แผนการของพระเจ้าสำหรับท่านในกระตุ้นความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนชราในสถานพยาบาลเมืองเซบียา ดังนั้นในเวลาต่อมาเมื่อท่านรับตำแหน่งเป็นจิตตาภิบาลที่สถานพยาบาลแห่งนั้นได้ 3 ปี ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1905 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคุณพ่อเจ้าวัด วัดนักบุญเปโตร อูเอลบา ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.อูเอลบา ห่างจากเมืองเซบียาไปทางตะวันตกประมาณ 90 กิโลเมตร ซึ่งท่านก็เดินทางมารับหน้าที่นี้ในอีกแปดวันต่อมา นั่นก็คือในวันที่ 9 มีนาคม และแน่นอนเรื่องนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะขณะนั้นอูเอลบาซึ่งมีประชากรราวหนึ่งหมื่นคนกำลังตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างไปจากตำบลอาร์ส ประเทศฝรั่งเศสของท่านนักบุญยอห์น มารี เวียนเนย์ในตอนแรก กล่าวคือผู้คนมากมายต่างไม่สนใจศาสนา ซ้ำร้ายยังไปหลงเชื่อคำยุแยงของบรรดานายช่างเทคนิคและวิศวกรชาวอังกฤษที่เข้ามาสำรวจเหมืองรีโอ ตินโต ให้เกียจชังพระศาสนจักรคาทอลิก
ปัญหาแรก ๆ ที่ท่านพบที่วัดแห่งนี้ คือ เมื่อท่านตื่นจะไปวัดเช้า ท่านก็พบว่าวัดยังไม่เปิด ท่านจึงจำต้องรอจนคนจัดวัดมาค่อย ๆ ยุรยาตรตัวเองมาเปิดวัดตอนแปดโมงเช้า ท่านจึงได้เริ่มถามผู้ถือกุญแจนั้นว่าใยเขาจึงมาเปิดวัดช้าเช่นนี้ ฝั่งคนจัดวัดที่ปฏิบัติอย่างนี้มาด้วยความเคยชิน ก็ไม่ได้สะอึกสำนึกแต่ประการใด ซ้ำยังสวนท่านกลับไปว่า “มือใหม่อย่างท่านจะไปรู้อะไร เขายังไม่ตื่นกันเลย แล้ววัดจะเปิดทำไมแต่เช้า” ฝ่ายท่านจึงบอกกับคนจัดวัดคนนั้นว่า แต่นี้ไปท่านจะเป็นคนเปิดวัดเอง เขาไม่ต้องมาทำแล้ว ซึ่งทำให้แต่นั้นมาในเวลาตีห้าของทุกวัน ท่านจะรีบลุกมาไขกุญแจวัด เพื่อเข้าไปและรีบตรงไปที่ตู้ศีลเพื่อสวดภาวนาอย่างร้อนรนดุจเดียวกับนักบุญยอห์น มารี เวียนเนย์ ได้ปฏิบัติ ณ เบื้องหน้าตู้ศีลของวัดตำบลอาร์สเมื่อหลายร้อนปีมาแล้ว เพราะท่านทราบดีในทันทีที่เห็นสภาพเขตวัดที่ท่านรับผิดชอบ ว่าสิ่งแรกที่จะช่วยให้ผู้คนทั้งหลายที่ได้หลงหายไปกลับใจ ก็คือการสวดภาวนา หลังจากนั้นท่านจึงจะมานั่งอยู่ในที่แก้บาป เพื่อรอผู้ต้องการคืนดีกับพระเจ้าไปจนถึงเวลาสิบโมงเสมอ
นักบุญมานูเอลในวัยหนุ่ม
ครั้งหนึ่งเบื้องหน้าตู้ศีลในวัดอูเอลบา ท่านเคยทูลถามพระเยซูเจ้าผู้ประทับในตู้ศีลว่า “ลูกจะเริ่มที่ไหนดี ข้าแต่พระหฤทัยพระเยซูเจ้า” บัดดลเองก็มีนิมิตตอบท่านว่า “จำต้องชนะใจสตรีทั้งสามสี่คนที่ยังมาวัดอยู่” ซึ่งก็เป็นจริงเพราะเวลานั้นทุกเช้าวัดอูเอลบาจะเพียงสตรีสามคนมาร่วมมิสซา แต่พวกเธอไม่มีใครมารับศีลหรือแก้บาป เช่นนั้นเองสิ่งแรกที่ท่านลงมือทำนอกเหนือจากการสวดภาวนา จึงเป็นการช่วยเหลือวิญญาณที่ยังมาวัดอยู่ ด้วยการจัดตารางมิสซา ตารางแก้บาป ตั้งใจเตรียม ตั้งใจเทศน์ และใช้โอกาสมหาพรตจัดให้มีการฟื้นฟูจิตใจขึ้น จนทีละนิดผู้คนก็เริ่มมาวัดมากขึ้น ท่านจึงเริ่มดำเนินการขั้นต่อไป นั่นคือการออกตามหาบรรดาแกะที่หายไปให้กลับมาในคอกนี้ดังเดิม
ท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มผู้ป่วยภายในเขตวัด โดยท่านอาศัยเวลาในช่วงบ่ายออกไปเยี่ยมบรรดาผู้ป่วยตามบ้าน อันเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว กล่าวคือหากผู้ป่วยที่ไปหาเป็นคริสตังที่ดี ท่านก็จะได้อภิบาลตามหลักพระศาสนจักร ให้พวกเขาได้รับความบรรเทาใจ และหากผู้ป่วยไม่ได้เป็นคริสตังที่ดี ท่านก็จะใช้โอกาสนี้นำพวกเขากลับมายังพระศาสจักร แต่กระนั้นไม่ว่าจะกรณีไหนท่านก็จะให้ทั้งกำลังใจและความช่วยเหลือแก่พวกเขาด้วยความรัก ดังที่มีบันทึกเล่าว่า “เขาเป็นความบรรเทาใจ (แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับแปลตรงๆคือเก้าอี้มีพนักพิงของผู้ป่วยผู้เขียนคิดว่าน่าสื่อถื่อถึงสิ่งที่ทำให้ผ่อนคลาย) ที่ดีของผู้ป่วย และเป็นคำแนะนำเปี่ยมเมตตาและอ่อนหวานที่ดีเลิศให้กับผู้ที่เขาเป็นห่วง”
อีกหนึ่งสิ่งที่ท่านมุ่งในงานอภิบาลของท่าน คือ บรรดาเด็ก ๆ ในเขตวัด เพราะท่านเห็นว่าวิญญาณของเด็ก ๆ จำนวนมากต้องเสียไปเพราะผู้ใหญ่ได้คอยปลูกฝังความคิดร้าย ๆ แก่เด็ก ๆ ท่านจึงตัดสินใจทำตนเป็นเช่นบิดาในอุปมาลูกล้างผลาญ คือ ออกไปตามหาลูกแกะที่พลัดหลงด้วยความรัก ไม่ใช่ด้วยความโกธร ท่านลืมทุกสิ่งที่เคยได้รับชาวเมืองไม่ว่าจะเป็นคำด่า ท่าทีรังเกียจ หรือก้อนหินจากพวกเด็ก ๆ เองเสีย (แรก ๆ ที่ท่านมาอยู่ไม่มีใครยอมทำหน้าตาดี ๆ ใส่ท่าน หรือแม้จะเดินสวนกันก็ไม่ยอมแม้แต่จะกล่าวทักทายท่าน บางครั้งถึงขั้นไม่ยอมเดินผ่านท่าน นอกจากนี้ยังมีเด็ก ๆ บางคนใช้หินขว้างใส่ท่านอีกด้วย) เหมือนที่พระคุณเจ้าสปิโนลาเคยให้ข้อคิดไว้นั่นคือ โยนมันออกไปแล้วไม่สนเหมือนเวลาเราโยนก้อนหิน และเลือกที่จะยิ้มอยู่เสมอ ทำให้ที่สุดกำแพงน้ำแข็งในใจของเด็ก ๆ ก็เริ่มละลาย พวกเขาค่อย ๆ เข้ามาหาท่าน ท่านจึงคว้าโอกาสนี้สอนเรื่องราวของพระคริสตเจ้าให้เขาได้รู้ ทำให้ทุกวันหลังจากเยี่ยมบรรดาผู้ป่วยแล้ว ท่านก็ใช้เวลาไปกับการพูดคุยกับบรรดาเด็ก ๆ เล่นบ้าง หัวเราะบ้างตามสมควร ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้เองก็เป็นสะดุดแก่คนหลาย ๆ คน ที่เอาแต่ยึดติดว่าพระสงฆ์ต้องวางตัวให้สมศักดิ์ศรี ต้องรักษาระยะห่างกับสัตบุรุษ ท่านจึงถูกติจากคนใกล้ชิด แต่ท่านก็หาได้สนใจไม่ และครั้งหนึ่งเมื่อถูกติเรื่องนี้ ท่านก็ตอบกลับผู้นั้นอย่างมีอารมณ์ขันว่า “แต่ คุณสุภาพบุรุษครับ กฎหมายพระศาสจักรได้ระบุด้วยหรือครับว่าพระสงฆ์ต้องทำหน้าเป็นผู้พิพากษา”
ไม่เพียงปัญหาฝ่ายจิตที่ท่านพบในบรรดาเด็กๆ เพราะท่านก็ได้เล็งเห็นว่าเด็ก ๆ หลายคนยังขาดโอกาสในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ท่านจึงได้ร่วมกับทนายที่ผันตัวมาเป็นครูเพราะเด็กยากไร้ชื่อ มานูเอล ซิวโรส เปิดโรงเรียนพระหฤทัยพระเยซูเจ้าขึ้นใน ค.ศ. 1908 (ปัจจุบันโรงเรียนเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียงพระหฤทัยพระเยซูเจ้าวิทยาลัย ในสังกัดสังฆมณฑล) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นมนุษย์และสร้างวัฒนธรรมอันดีงามให้แก่เด็กและเยาวชนของอูเอลบา
นายมานูเอล ซิวโรส และโรงเรียนพระหฤทัยพระเยซูเจ้า อูเอลบา
ท่านเพียรสอนคำสอนเด็ก ๆ พยายามปลูกฝังให้บรรดาเยาวชนในความดูแลของท่านรักพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท แม้ว่าจะถูกเด็กเหลือขอบางคนขัดบ้างเวลาท่านสอนเรื่องเหล่านี้ ท่านก็ไม่เคยถือโทษโกธรเป็นอารมณ์ จนทีละนิดท่านก็สามารถเปลี่ยนเด็กเหลือขอให้กลายเป็นทูตสวรรค์ตัวน้อยของพระเจ้า ผู้ทรงประทับในศีลมหาสนิท ซึ่งเรื่องนี้ท่านเป็นผู้ยืนยันด้วยตัวเอง โดยท่านได้เล่าว่า บ่ายวันหนึ่งท่านเห็นเด็ก ๆ พากันเข้า ๆ ออก ๆ ระหว่างวัดและโรงเรียน ดู ๆ ไปก็เหมือนพวกเขากำลังเล่นสนุก ท่านจึงตัดสินใจเข้าไปถามว่าทำอะไรอยู่ เด็ก ๆ ก็ตอบว่า “พวกเรากำลังไปเยี่ยมดวงหทัยของพระเยซูเจ้านิด ๆ หน่อย ๆ ตลอดทั้งคืนค่ะ”
อีกครั้งหนึ่งขณะท่านกำลังเดินอยู่ตรงระเบียง ท่านก็พบเด็กนักเรียนสองคนเดินเข้ามาหาท่านด้วยอาการกล้า ๆ กลัว ๆ ท่านจึงถามทั้งสองว่า “นั่นพวกเธอเอาอะไรมาด้วยในอากาศแบบนี้” หนึ่งในนั้นจึงตอบท่านว่า “คุณพ่อพอจะอนุญาตให้พวกเราอยู่หน้าตู้ศีลตลอดทั้งคืนได้ไหมครับ” ท่านที่ได้ฟังเช่นนั้นก็อุทานออกมาว่า “เด็กน้อย ทั้งคืนเลยหรอ” เด็กน้อยจึงตอบซ้ำ “ใช่ครับ คุณพ่อ พวกเราขออนุญาตคุณแม่เรียบร้อยแล้ว และพวกเราก็มีขนมปังและชีสเอาไว้กินก่อนเที่ยงครับ เดี๋ยวคุณครูฟูลาโนกะคุณครูซูตาโนก็จะตามมาตอนเก้าโมงครับ” ท่านเล่าสรุปเรื่องนี้ว่า “ไม่มีทางเลือกใดนอกเสียจากจะอนุญาต พวกเขาจึงได้อยู่ตื่นเฝ้าหน้าตู้ศีลของโรงเรียนตลอดทั้งคืน พร้อมกับคุณครูบางคนของพวกเขา ฉะนี้เองเด็กข้างถนนจึงได้กลายเป็นทูตสวรรค์ที่รักของศีลมหาสนิท”
นิตยสารเอล กรานีโต เด อาเรนาของนักบุญมานูเอล
ไม่เพียงแต่บรรดาเด็กเยาวชนและผู้ป่วยเท่านั้นที่ท่านเป็นห่วงในงานอภิบาล เพราะนอกเหนือจากสัตบุรุษสองกลุ่มนี้ ท่านยังให้ความสนใจทำงานอภิบาลบรรดาผู้ยากไร้ และกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้มีหน้ามีตาอะไรในสังคม ท่านคอยนำอาหารไปให้กับบรรดาลูก ๆ คนเหมืองโดยตลอด และในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. 1913 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่จนคนงานเหมือนต้องหยุดงาน ท่านก็ยิ่งทำกิจเมตตาเหล่านี้เพิ่มทวียิ่งขึ้นไปอีก ท่านทั้งมีคำสั่งให้โรงเรียนแจกคูปองอาหารให้กับเด็ก ๆ ที่ไม่มีข้าวกินที่บ้าน และเดินทางออกไปช่วยผู้หิวโหยอย่างกล้าหาญดุจเดียวกับอัศวินขี้ม้าขาว เราอาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่มุ่งอภิบาลสัตบุรุษทุกรูปแบบโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง วัตรปฏิบัติหนึ่งที่ช่วยยืนยันความจริงในเรื่องนี้ คือ ทุกครั้งที่ท่านเดินไปทางไปที่ใด ท่านมักจะหยุดพูดคุยกับผู้คนท่านพบตลอดเส้นทางที่จะไปอยู่เสมอ
นอกจากนี้แล้วในระหว่างเป็นคุณเจ้าวัดอูเอลบา ใน ค.ศ. 1907 ก่อนการเปิดโรงเรียนพระหฤทัยฯ ท่านยังได้ออกนิตยสารชื่อ ‘เอล กรานีโต เด อาเรนา’ (ก้อนแกรนิตของเม็ดทราย) เพื่อ ‘ฟื้นฟูทุกสิ่งในพระคริสตเจ้า’ และเพื่อส่งเสริมความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท ท่านเขียนลงในนิตยสารฉบับวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1916 ว่า “…เอล กรานีโต เด อาเรนาเกิดขึ้นด้วยความปรารถนาดีจำนวนมากในท่ามกลางการต่อสู้ โดยมุ่งหวังจะเอาชนะความรักของมนุษย์ทุกคน เพราะมีผู้คนมาหาพระองค์ รักพระองค์ ปรารถนาพระองค์น้อยเหลือเกิน ดังนั้นพวกลูกจึงจำต้องสูดกลิ่นแห่งการต่อสู้และความร้อนรนเพื่อได้มาซึ่งการยอมจำนน ณ เบื้องหน้าตู้ศีลอันเป็นที่รักยิ่ง ไม่เพียงแค่ของคนหนึ่งคน แต่โลกทั้งใบ…” และในเวลาต่อมาท่านยังได้เขียนหนังสือเล่มแรกชื่อว่า ‘ใครคือสงฆ์ในวันนี้’ (ค.ศ. 1910) อันกลายเป็นมาตรฐานของพระสงฆ์สเปนนับแต่นั้นเป็นต้นมา
งานของพระเจ้าสำหรับท่านยังหมดลงเพียงเท่านี้หรือ ขอตอบเลยว่าไม่ใช่เลย เพราะจากแรงบันดาลใจ ณ ตู้ศีลอันอ้างว่างไร้การเหลียวแลที่ท่านพบที่เมืองปาโลมาเรส เดล รีโอนั้นไม่เพียงเรียกร้องให้ท่าน รับภารกิจในการกระตุ้นความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทในเขตวัดที่ท่านดูแล แต่เป็นทั่วทั้งโลก ดังที่ท่านเขียนไว้ในนิตยสารเอล กรานีโต เด อาเรนาฉบับวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1916 ว่า ท่านปรารถนาจะทำให้บทเพลงตานตูม แอร์โกดังขึ้นด้วยความเชื่อและความรัก จากทั้งในภาษาสเปนและภาษาอื่น ๆ ความว่า “ขอพระเจ้าทรงอวยพระพรทั้งมัน (นิตยสารที่ท่านตั้ง) อีกความคิดทั้งหลาย คำพูด การเขียนและการให้กำลังใจ พร้อมทั้งสิ่งเหล่านี้อันได้แก่กระดาษ บรรดากิจการ เด็ก ๆ คนชรา ชาย หญิงและทุกสิ่งรอบตัวและมีผลต่อข้าพเจ้า เพื่อจะได้ก่อเกิดการขับบทเพลงตานตูม แอร์โก ซากราเมนตูมแห่งความเชื่อ แห่งการรับรู้ แห่งความรักต่อดวงหทัยของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทด้วยน้ำเสียงที่เหมือนหรือแตกต่างกัน และด้วยภาษาของตน” ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การก่อตั้งนิตยสารเอล กรานีโต คือ โหมโรงแรกของงานชิ้นใหญ่ที่กำลังจะเริ่มขึ้นภายใต้ความตั้งใจนี้ งานชิ้นใหญ่ที่เริ่มต้นด้วยวิธีการอันแสนเรียบง่าย ในวันอันแสนธรรมดาของวัดอูเอลบา วันนั้นเมื่อมีกิจกรรมฟื้นฟูจิตใจประจำเดือนของกลุ่มสตรีประจำวัด ซึ่งคราวนั้นตรงกับวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1910 ณ เบื้องหน้าผู้เข้าร่วมการฟื้นฟู ท่านก็เผยความปรารถนาลึก ๆ ในใจของท่านว่า “พ่อขอ ขอความห่วงใยต่อกิจการเมตตาต่อบรรดาเด็ก ๆ ผู้ด้อยโอกาสและผู้ถูกทอดทิ้ง ขอความใส่ใจและขอความร่วมมือของลูกจำนวนมากให้กับผู้ยากไร้ที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุด: ศีลมหาสนิท พ่อขอความรักเป็นทานให้พระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท… เพื่อดวงหทัยนิรมลของพระนางมารีย์ผู้นิรมลและเพื่อความรักจากดวงหทัยที่ได้รับแต่ความเจ็บช้ำ พ่อขอให้ลูกเป็นมารีอัสของตู้ศีลที่ถูกทอดทิ้งละเลย”
ขอคัดจังหวะประวัติท่านด้วยการอธิบายคำว่า ‘มารีอัส’ (Marias) ซึ่งอยู่ในคำพูดของท่านสักนิดก่อน คงจะไม่เป็นการเสียเวลาเท่าไรและช่วยให้เราเข้าใจความหมายที่ท่านจะสื่อ คำว่า มารีอัส นี้เป็นภาษาสเปนหมายถึงสตรีใจศรัทธาที่มีใช้ชื่อว่า มารีย์ และปรากฏในพระวรสาร แบ่งได้ 3 พวก คือ พวกพระคูหา คือ กลุ่มสตรีที่เข้าไปยังพระคูหาในเช้าวันอาทิตย์ตามพระวรสารของนักบุญมาระโก อันประกอบด้วยมารีย์ ชาวมักดาลา, มารีย์ มารดาของยากอบองค์เล็กและโยเสท และมารีย์ ซึ่งพระวรสารเรียกนางสะโลเม พวกกัลวารีโอ คือ กลุ่มสตรีที่ยินอยู่เชิงไม้กางเขนตามพระวรสารนักบุญยอห์น ประกอบด้วยแม่พระ, มารีย์ ชาวมักดาลา และมารีย์ ภรรยาของเคลโอปัส และ พวกธิดาของนักบุญอันนา คือ กลุ่มสตรีที่เป็นลูกสาวของนักบุญอันนาตามที่ปรากฏขึ้นมาในกลางศตวรรษที่ 9 จากความเชื่อที่ว่านักบุญอันนาได้แต่งงานถึงสามครั้ง และแต่ละครั้งก็ให้กำเนิดธิดาพร้อมตั้งชื่อว่ามารีย์ทุกคน ซึ่งเรื่องนี้สภาสังคายเตรนได้ปฏิเสธ กลุ่มนี้ประประกอบด้วยแม่พระ มารีย์ ภรรยาของเคลโอปัส และมารีย์ ซึ่งพระวรสารเรียกนางสะโลเม ซึ่งในบริบทของการพูดของท่านนี้ ผู้เรียบเรียงคิดว่าท่านน่าจะสื่อถึงกลุ่มกัลวารีโอ เพราะท่านน่าจะสื่อถึงการไม่ละเลยพระเยซูเจ้าไว้เพียงคนเดียวในตู้ศีล โดยใช้บริบทของการตรึงกางเขน ซึ่งเราจะได้เห็นข้อมูลที่สนับสนุนแนวคิดนี้ต่อไป
กลุ่มต่าง ๆ ในสหภาพเอวการิสติกา เรปาราโดรา
หลังจากนำเสนอข้อมูลเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยไปแล้ว เราก็กลับมาที่เรื่องราวของเราต่อ เช่นนั้นเอง อาศัยความเรียบง่ายไร้พิธีรีตองใด ๆ เหมือนชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ ณ นาร์ซาแร็ตของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ และความปรารถนาของพระสงฆ์ธรรมดา ๆ ที่อยากสอนให้คนทั้งโลกรักและเคารพในศีลมหาสนิท พันธกิจ ‘โอบรา ปารา รอส ซากรารีโอส-กัลวารีโอส’ (แปลโดยคาดคะเนว่า งานแห่งตู้ศีล) จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อสนองต่อการชดเชยความรักแด่ความรักอันเหลือประมาณของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท ที่มนุษย์หลายคนได้เมินเฉย และหลงลืมอาศัยการไปเฝ้าศีลเป็นประจำ ตามแบบฉบับของพระแม่มารีย์ผู้ปฏิสนธินิรล นักบุญยอห์น อัครสาวก และกลุ่มมารีอัสที่ยังคงอยู่แทบเชิงกางเขนร่วมกับพระเยซูเจ้าไม่ไปไหน ตลอดเวลาแห่งพระทรมาน ก่อนในเวลาต่อมาพันธกิจดังกล่าวจะค่อย ๆ พัฒนามาเป็นสหภาพเอวการิสติกา เรปาราโดรา (แปลโดยคาดคะเนว่า สหภาพเพื่อการชดเชยต่อศีลมหาสนิท) ซึ่งเริ่มจากกลุ่มฆราวาสสองกลุ่มคือ คณะมารีอัสแห่งตู้ศีล (ภายหลังนักบุญโฆเซ มารีอา รูบีโอ สงฆ์เยซูอิตชาวสเปน ได้ร่างระเบียบแบบแผนคณะให้มีหลักมีเกณฑ์มากขึ้น) และคณะผู้ติดตามนักบุญยอห์น ที่ค่อย ๆ แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศสเปนเองและประเทศอเมริกาผ่านนิตยสารที่ท่านตั้งขึ้น จนจำต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์สันตบิดร
ดังนั้นในปีเดียวกันกับที่ท่านได้ตั้งคณะฆัวนิโตส เดล ซากรารีโ (แปลโดยคะเนว่า ยอห์นน้อยของตู้ศีล) ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะลา เรปาราซีโอน อินฟันติล เอวการิสติกา สำหรับเด็ก (แปลโดยคาดคะเนว่า คณะเด็กน้อยผู้ชดเชยบาปต่อศีลมหาสนิท บางครั้งในสหภาพจะเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มเพื่อนพระเยซูเจ้า) คือใน ค.ศ.1912 ท่านจึงได้เดินทางไปกรุงโรม และได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ปีนั้น และโดยในการเข้าเฝ้าคราวนั้น ท่านได้รับการแนะนำจากผู้ใหญ่ต่อพระสันตะปาปาว่าเป็น ‘อัครสาวกของศีลมหาสนิท’ และฝั่งนักบุญปีโอที่ 10 เองก็ทรงสนพระทัยกิจการที่ท่านกระทำอยู่ ทั้งทรงอวยพรงานของท่านอีกด้วย
หลังจากการเข้าเฝ้าองค์สันตะบิดรเพื่อรายงานการดำเนินงานของพันธกิจที่ท่านได้ริเริ่มขึ้น ท่านก็กลับมาประจำที่วัดอูเอลบาต่อไปจนถึงวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1915 หลังรับตำแหน่งคุณพ่อเจ้าวัดและหัวหน้าเขตอูเอลบาซึ่งท่านได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวหลังมาประจำได้ไม่กี่เดือน (พระสงฆ์ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเขตปกครอง มีหน้าที่ในการสอดส่องความเรียบร้อยต่าง ๆ ของวัดในเขตการดูแล) มาเป็นระยะเวลาถึงสิบปี อันเป็นสิบปีแห่งการเปลี่ยนแปลงในอูเอลบา สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ก็ทรงแต่งตั้งท่านเป็นพระสังฆราชเกียรติคุณแห่งโอลิมโป และให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยพระสังฆราชสังฆมณฑลมาลากา ตามคำร้องขอของพระคุณเจ้าฆวน มูโญซ พระสังฆราชแห่งมาลากาในขณะนั้น ท่านจึงจำต้องอำลาอูเอลบา และเข้าพิธีรับอภิเษกเป็นพระสังฆราชในวันที่ 16 มกราคม ปีถัดมาที่อาสนวิหารเมืองเซบียา แม้ในเวลานั้นจะมีความพยายามทัดทานการแต่งตั้งครั้งนี้จากพระสมณทูตวาติกันแห่งกรุงมาดริด ที่เพ่งเล็งท่านในวัย 38 ปี อย่างมาก สืบเนื่องจากท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงมากในสเปนในเวลานั้น ท่านบันทึกในภายหลังว่า “ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะเป็นพระสังฆราชของที่ใด นอกจากของตู้ศีลที่ถูกทิ้งร้าง ข้าพเจ้าจะต้องเป็นสังฆราชผู้กลัดกลุ้มถึงสองปัญหานั่นคือตู้ศีลและสัตบุรุษ ตู้ศีลเพราะผู้คนได้หลีกหนีไปจากมัน และสัตบุรุษเพราะพวกเขาไม่ได้ให้เวลากับตู้ศีลที่จะรู้จัก ที่จะรักและที่จะแวะเวียนมาหา”
ภายหลังจากรับตำแหน่งแล้ว ท่านจึงย้ายไปอยู่ที่สำนักมิสซังเมืองมาลากา และหนึ่งปีต่อมาใน ค.ศ. 1917 ท่านจึงได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้ดูแลงานประกาศข่าวดีในสังฆมณฑล และหนึ่งปีต่อมาท่านก็ได้ตัดสินใจก่อตั้งอีกสาขาของสหภาพเอวการิสติกา เรปาราโดราสำหรับพระสงฆ์ คือ คณะธรรมทูตสังฆมณฑลเอวการิสติกอส ต่อจากนั้นเมื่อตำแหน่งพระสังฆราชแห่งมาลากาว่างลง ท่านที่ขณะนั้นมีอายุได้ 43 ปี ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชสืบต่อจากพระคุณเจ้าฆวน มูโญซ และได้เข้าพิธีอภิเษกเป็นพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑลในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1920 โดยในโอกาสรับหน้าที่ใหม่นี้ ท่านก็ได้จัดให้มีการเลี้ยงอาหารบรรดาเด็ก ๆ ที่ยากไร้ที่ลานบ้านเณร โดยท่านก็ได้ลงมือร่วมกับบรรดาพระสงฆ์และบรรดาเณรช่วยกันจัดแจงเสิร์ฟอาหารให้กับเด็ก ๆ อย่างไม่ถือตัว ซึ่งมีถึงสามพันคน
ในฐานะสังฆราชผู้มีอำนาจสูงสุดในสังฆมณฑล งานในมาลากาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก ในการอภิบาลฝูงแกะจำนวนมากขึ้นนี้ท่านต้องเผชิญกับการถูกวิจารณ์และการถูกต่อต้านจากกลุ่มสงฆ์บางองค์ ที่กล่าวหาท่านอย่างร้ายกาจ เพียงเพราะกลัวจะเสียอภิสิทธิ์ที่ตนเคยมี แม้ว่าช่วงหนึ่งท่านจะล้มป่วยลง ฝ่ายตรงข้ามก็ยังคงไม่ยอมลดลาวาศอกให้ท่านกับยังคงเป็นปฏิปักษ์ต่อท่านอย่างเปิดเผย จนถึงจุดหนึ่งท่านก็จำต้องเขียนรายงานเรื่องทั้งหมดไปยังพระสมณทูตว่า “อุบายและความเป็นจริงของมาลากาทำให้ชีวิตของข้าพเจ้ามีรสขมมาก การแทงข้างหลังทำให้ข้าพเจ้าต้องเจ็บปวดเป็นอันมาก กำลังใจแต่ประการเดียวในใจของข้าพเจ้า คือ การระลึกว่าดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าจะทรงยอมรับเครื่องบูชาแห่งสุขภาพ สันติ เกียรติและชีวิตของข้าพเจ้าไว้…”
แม้จะเผชิญอุปสรรคในการอภิบาลสัตบุรุษอีกครั้งในตำแหน่งใหม่ ท่านก็ไม่ได้ท้อถอยในการทำงานในงานเหล่านี้ เพราะท่านมีความเชื่อมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างล้นพ้น ท่านจึงไม่ท้อแท้ และไก้เริ่มทำเช่นเมื่อครั้งยังเป็นคุณพ่อเจ้าวัดอูเอลบา นั่นคือท่านเริ่มออกเยี่ยมไปทุก ๆเขตวัดเพื่อมองหาปัญหาต่าง ๆ ของบรรดาลูกแกะที่ท่านดูแล และเพื่อเผยแพร่ความศรัทธาเป็นพิเศษต่อศีลมหาสนิทตามแบบคณะที่ท่านได้ตั้งขึ้นแก่บรรดาลูกแกะ จนที่สุดท่านก็ได้พบว่า สิ่งที่จำต้องทำโดยเร่งด่วนหาใช่ปัญหาตามเขตวัด แต่คือปัญหาที่ใกล้ตัวอย่างปัญหาที่พบที่บ้านเณรของสังฆมณฑล แหล่งบ่มเพาะผู้เลี้ยงแกะที่ดีและผู้แทนของพระคริสตเจ้าในโลก
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายคนอาจสงสัยว่าบ้านเณรสังฆมณฑลมาลากาในเวลานั้นเป็นอย่างไร ตามคำอธิบายของท่าน ท่านได้อธิบายสภาพของบ้านเณรมาลากาไว้ว่า “…ห้องพักมีขนาดแคบยกพื้นสูง บริเวณลานมีลักษณะร่มครึ้ม ผนังและพื้นมีสภาพชื้นอยู่เสมอและไม่เคยโดนแสงอาทิตย์ตรง ๆ ห้องเรียนก็โดนแสงเต็ม ๆ ในช่วงกลางวัน… มีเสียงดังอึกทึกจากค้อนซึ่งมาจากการสกัดหินและการทำรองเท้า ที่ตั้งอยู่ย่านเดียวกันกับอาคารหลักอยู่ตลอด ซ้ำยังมีเสียงดนตรีจากนักเล่นปีอานีลโลทั้งหลาย (บางครั้งเรียกโอรกานิลโล มีลักษณะเป็นกล่องดนตรี มีทั้งแบบที่สามารถสะพายแบกไว้ที่หลังได้ และแบบที่มีขนาดใหญ่จนต้องมีล้อไว้เหมือนร้านรถเข็น) ตามท้องถนน ซึ่งมีเนื้อเพลงไม่พ้นเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ระหว่างนักดนตรีและนักเต้นขาจร ช่างน่าเศร้าเสียจริง” แน่นอนสภาพที่ท่านบรรยายนี้ อาจไม่น่าแปลกใจสำหรับเรา ๆ แต่สำหรับบรรดาเณรที่ต้องเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์น่ะสิ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อทั้งการเรียน และอาจส่งผลโดยตรงต่อกระแสเรียกด้วย
ท่านเขียนต่อว่า “นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ข้าพเจ้าบ้าพอจะยกระดับสิ่งนี้ ให้เป็นไปตามฝันของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่า ‘บ้านเณรของข้าพเจ้า’” เช่นนั้นเองด้วยความเชื่อและวางใจในพระเจ้า รวมถึงเล็งเห็นความจำเป็นอันเร่งด่วนและความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ท่านจึงได้ตัดสินใจจะสร้างบ้านเณรสังฆมณฑลมาลากาใหม่ เพื่อให้บ้านเณรหลังนี้สมเป็น ‘บ้านเณรของข้าพเจ้า’ตามฝันของท่าน โดยได้มีการจัดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1920 ภายใต้ชื่อ ‘สามเณรราลัยพระหฤทัยศีลมหาสนิทพระเยซูเจ้า’ (โกราโซน เอวการิสตีโก เด เฆซุส) ที่บนภูเขาใกล้เมืองมาลากา บ้านเณรแห่งนี้ท่านได้เลือกใช้สถาปัตยกรรมแบบอัลดาลูซา เพื่อให้อาคารสามารถรับลมและแสงอาทิตย์ได้อย่างพอดีสอดคล้องกับภูมิประเทศและภูมิอากาศของแคว้นอัลดาลูเซีย และได้ประดับกระเบื้องรวมถึงงานศิลปกรรมจำนวนมากให้เหมาะสมกับการเป็นสถานที่ฝึกอบรมอนาคตพระสงฆ์ ท่านเขียนไว้ว่า “ตั้งแต่ก้อนดินแรกที่ประตูไปจนถึงยอดของศรลมต่างมีงานศิลปะที่จะสอนทุกคนให้ได้รู้และได้รักพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท” ดังนั้นท่านจึงมิได้เพียงแต่สร้างบ้านเณรที่ตอบสนองเรื่องฝ่ายกายและเรื่องฝ่ายจิต แต่ยังสร้างบ้านเณรที่สอดแทรกหลักของศีลมหาสนิทไว้อีกด้วย
นอกจากการแก้ไขปัญหาเรื่องบ้านเณรของสังฆมณฑล ท่านยังมุ่งให้ความสนใจในการจัดการสอนคำสอนในเขตวัด เป้าหมายในการอภิบาลของท่านมีทั้งการจัดการปัญหาทั้งฝ่ายร่ายกายและฝ่ายจิตของสังฆมณฑล ดังนั้นท่านจึงพยายามแสวงหาปัญหาเหล่านี้และลงมือแก้ไขด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดสมัยปกครอง ท่านสอนบรรดาพระสงฆ์ในสังฆมณฑล ด้วยคำสอนเดียวกันกับที่ท่านสอนบรรดาสมาชิกในสหภาพที่ท่านก่อตั้ง คือ ให้มุ่งสู่ความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการ ‘กลายเป็นแผ่นปังร่วมกับแผ่นปังที่ได้ถวาย’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘ให้และให้ทุกสิ่งแด่พระเจ้าและเป็นที่รักของเพื่อนบ้านอย่างสม่ำเสมอไม่แปรผัน’
ส่วนในด้านงานสหภาพเอวการิสติกา เรปาราโดรา เมื่อท่านดำรงตำแหน่งเป็นพระสังฆราชแห่งมาลากาแล้ว ท่านก็ได้ร่วมกับน้องสาวของท่านเอง คือ มารีอา อันโตเนีย กอนซาเลซ การ์เซีย ก่อตั้งคณะนักบวชหญิง ชื่อ คณะภคินีมารีอัสชาวนาร์ซาแร็ต ขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1921 เพื่ออุทิศตนต่อสู้กับการละเลยตู้ศีล และประกาศข่าวดีถึงเรื่องศีลมหาสนิท (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น คณะธรรมทูตเอวการิสติกัสแห่งนาร์ซาแร็ต) โดยในระยะแรกคณะดังกล่าวยังไม่มีการปฏิญาณตนถือศีลบนสามประการเช่นนักบวชหญิง ดังนั้นในแง่หนึ่งคณะจึงมีลักษณะเป็นคณะนักบวชกึ่งฆราวาส แต่ภายหลังท่านสิ้นใจไปแล้ว คณะจึงได้ปรับรูปแบบให้สมาชิกต้องถือศีลบนสามประการของพระศาสนจักร คณะจึงได้ถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
อนิจจา แม้จะมีแผนงานมากมายแค่ไหนเพื่อช่วยเหลือวิญญาณจำนวนมาก ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไปเมื่อประเทศสเปนถูกปกครองด้วยรัฐบาลที่เป็นปฏิปักษ์กับพระศาสนจักร อันนับเป็นการเปิดฉากการเบียดเบียนพระศาสจักรครั้งใหญ่ในแผ่นดินสเปน ที่จะมีคริสตังจำนวนมากทั้งพระสงฆ์ ภารดา ภคินี ฆราวาส ต้องสละชีวิตเพื่อประกาศความเชื่อไม่ว่าส่วนไหนของสเปน จนแผ่นดินแห่งนี้ถูกชโลมไปด้วยโลหิตของชาวสเปนจำนวนมาก และปัจจุบันกระบวนการขอแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้เป็นนักบุญก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ที่มาลากาซึ่งท่านพำนักอยู่ก็เป็นอีกที่ที่เกิดการเบียดเบียน กล่าวคือในค่ำคืนวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1931 ฝูงชนที่สนับสนุนรัฐบาลสเปนอันนำโดยนักการเมืองของรัฐบาลก็ได้พากันบุกไปเผาสำนักพระสังฆราชแห่งมาลากา วัดและอารามในเมืองจำนวนหลายแห่ง
ท่านที่เห็นสถานการณ์เป็นเช่นนั้นจึงได้พาคนในสำนักไปหลบในห้องใต้ดิน และขณะทุกคนกำลังหวาดกลัวต่อภัยที่ถาโถมเข้ามา ท่านกลับดำรงอยู่ในสันติและประกาศให้ทุกคนคุกเข่า ท่านจะโปรดบาปให้ ทุกคนจึงคุกเข่าลง ท่านจึงสวดเป็นภาษาละตินแปลได้ว่า “พ่อขอยกบาปของลูก” จากนั้นทุกคนจึงร่วมกันสวดภาวนาด้วยกันอย่างหวาดวิตก ในเวลานั้นท่านชักชวนทุกคนให้เตรียมตัวเป็นมรณสักขีว่า “ขอให้พวกเรายกถวายชีวิตของเราเพื่อพระศาสนจักร และเพื่อรัชสมัยของดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าทั้งในสเปนและสังฆมณฑลทั้งหลายเทอญ” พยานบางคนจำได้ว่า ท่านได้สวดว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดทรงยกโทษและยกโทษให้กับประชากรของพระองค์ ทั้งขอโปรดทรงพระเมตตาลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป และโปรดรับเครื่องถวายแห่งชีวิตของลูกทั้งหลายเพื่อรัชสมัยของพระองค์ในสเปน เป็นพิเศษในสังฆมณฑลนี้ ข้าแต่พระแม่ผู้ปฏิสนธินิรมล โปรดพิทักษ์วิญญาณของลูกไว้ภายใต้เสื้อคลุมของพระแม่ด้วยเทอญ” จากนั้นท่านจึงกล่าวเสริมว่า “ให้เราสวดสายประคำกันเถิด” แล้วท่านจึงนั่งลงสวดสายประคำพร้อมกับทุกคนท่ามกลางสันติ และความเชื่อ
นับเป็นโชคดีที่ท่านและผู้พักในสำนักมิสซังซึ่งหลบอยู่ในห้องใต้ดินสำนัก สามารถหนีออกมาจากอาคารที่ไฟกำลังลุกไหม้ได้ทันจากประตูหลังอาคาร ทุกคนจึงรอดชีวิตจากการวางเพลิงในครั้งนี้ แต่เพียงไม่นานหลังหลบหนีออกมาได้ ท่านก็ถูกจับตัวโดยกลุ่มผู้ต่อต้านพระศาสนา ซึ่งท่านก็เผชิญหน้ากับพวกเขาเหล่านั้นอย่ากล้าหาญดุจดั่งพระเยซูเจ้า ท่านกล่าวกับพวกเขาว่า “พ่ออยู่นี่แล้ว เจ้าขุนมูลนายของคุณขอยอมแพ้” ชาวบ้านจึงจับตัวท่าน แล้วบังคับให้เดินไปตามท้องถนนอันมืดมิดพร้อมบ่วงเชือกที่คอ เพื่อนำตัวไปขังไว้ที่บ้านพักพระสงฆ์ จนรุ่งเช้าแทนที่พวกเขาจะตัดสินประหารชีวิตท่าน พวกฝ่ายต่อต้านพระศาสนาก็ได้ขับไล่ท่านออกจากเมืองมาลากาที่ท่านรัก ท่านจึงจำต้องลีภัยไปซ่อนตัวในกระท่อมของเพื่อนที่เมืองรอนดา ก่อนในวันที่ 13 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ท่านก็ตัดสินใจออกเดินทางไปยังยิบรอลตา (เขตปกครองของประเทศอังกฤษแต่อยู่ติดกับประเทศสเปน จึงปลอดภัยจากรัฐบาล) โดยไปได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระคุณเจ้าริชาร์ด ฟิท์ซเจรอลด์ พระสังฆราชท้องถิ่น
“ข้าพเจ้าอภัยให้ดั่งพระอาจารย์เจ้า ผู้ทรงถูกตรึงไว้บนไม้กางเขนและพร้อมที่จะตายเพื่อพวกเขา ผู้ซึ่งตรึงพวกเราไว้บนกางเขน” คำกล่าวในข้างต้นปรากฏในจดหมายที่ท่านเขียนระหว่างพักอยู่ที่ยิบรอลตา แสดงถึงเจตจำนงค์อันแน่วแน่ของท่านที่พร้อมจะรับเกียรติแห่งมรณสักขีในทุกเวลา ท่านพำนักอยู่ที่ยิบรอลตาได้เจ็ดเดือน พอถึงวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1931 ท่านก็ตัดสินใจลอบกลับเข้ามาที่เมืองรอนดา ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสังฆมณฑลมาลากาอีกครั้ง และพำนักอยู่ที่นั่นจนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1932 หลังจากนั้นท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปยังกรุงมาดริด ท่านได้แวะไปหาพระสมณทูตและแจ้งกับพระคุณเจ้าว่าท่านเต็มใจที่จะกลับไปรอนดาเสมอ แม้ว่าจะรู้ดีว่าไปก็มีแต่ตายแน่นอน พระสมณทูตจึงสั่งให้ท่านอยู่ในมาดริด เป็นผลให้ท่านต้องปกครองสังฆมณฑลจากมาดริดนับแต่นั้น
แม้จะพำนักที่กรุงมาดริด ชีวิตของท่านก็ไม่ได้สะดวกสบายเท่าไรนัก ท่านต้องดำเนินชีวิตโดยอาศัยแค่ทานบริจาค และต้องอดทนต่อคำครหานานา แต่สิ้งเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ไฟแห่งความรักต่อศีลมหาสนิทของท่านมอดดับลงไปไม่ เพราะระหว่างการเบียดเบียนนี้เองใน ค.ศ. 1932 ท่านก็ได้ตั้งคณะธรรมทูตสนับสนุนชาวนาร์ซาแร็ตขึ้น (ปัจจุบันคือคณะฆราวาสแพร่ธรรมเอวการิสตีกัสแห่งนาร์ซาแร็ต เป็นคณะนักบวชกึ่งฆราวาสที่ทำงานร่วมกับคณะธรรมทูตเอวการิสติกัสแห่งนาร์ซาแร็ต) นอกจากนี้ในระหว่างช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ท่านยังได้ประพันธ์หนังสือ และนำวิญญาณในคณะที่ตั้งอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย
จวบจนวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1935 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ก็ทรงแต่งตั้งท่านในวัย 58 ปี และปกครองสังฆมณฑลมาลากามาเป็นเวลา 15 ปี เป็นพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑลปาเลนเซีย ซึ่งทันทีท่านที่ท่านทราบว่าตนต้องรับแอกใหม่อีกครั้ง ท่านก็ถึงกับอุทานขึ้นว่า “พ่อปรารถนาจะร้องไห้ด้วยความสุขหลังพ่อร้องไห้ด้วยความขมขื่นมาหลายปี” และ “ใจของพ่อปวดร้าวไปด้วยความรักจำนวนมากมาย” และเพื่อดำเนินงานอภิบาลใหม่นี้ ท่านจึงได้ย้ายมาพำนักและปกครองสังฆมณฑลปาเลนเซีย จากที่อารามซาน อิสิโอโร เด ดุยญาส ของคณะทราปปิสท์ (อารามเดียวกับที่นักบุญราฟาเอล อาร์ไนซ บารอนอยู่) ที่อยู่ในเมืองปาเลนเซีย ซึ่งเวลาสมัยที่ท่านปกครองสังฆมณฑลปาเลนเซีย ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่เกิดสงครามกลางเมืองสเปน (ค.ศ. 1936 - ค.ศ. 1939) พอดี
“ข้าพเจ้าถวายตัวเองแผ่นปังน้อย ๆ เปี่ยมรอยยิ้มและข้าพเจ้าปรารถนาจะเป็นผู้แทนของดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าในปาเลนเซีย” แม้ในเวลานั้นสงครามกลางเมืองสเปนจะได้เริ่มขึ้น ท่านก็ยังคงมีจิตใจที่มุ่งมั่นในการอภิบาลตามหน้าที่ที่รับมอบหมาย และพร้อมเสมอที่จะถวายตัวเป็นมรณสักขี หากพระเจ้าทรงประทานโอกาสนั้นมาให้ ท่านยังคงทำงานด้วยความคล่องแคล่ว และเปี่ยมไปด้วยพระหรรษทานตามแบบชาวอัลดาลูเซีย ท่านมอบเวลาให้กับการอภิบาลฝูงแกะน้อย ๆ ให้เดินตามมรรคาด้วยความกล้าหาญ ท่านส่งต่อความรักที่ท่านมีต่อศีลมหาสนิท แนะนำวิธีสวดภาวนา อบรมครูคำสอน และนำบรรดาสงฆ์ใต้ปกครองด้วยปรีชาญาณ ท่านกล่าวว่า “ความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของข้าพเจ้า คือ การลงไปที่ถนนเพื่อทำความดีกับลูก ๆ ของข้าพเจ้าในปาเลนเซียจนตาย”
ในช่วงชีวิตสุดท้ายของท่าน ท่านเริ่มมีอาการป่วยออด ๆ แอด ๆ บ้าง แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ทำให้ท่านเปลี่ยนการดำเนินชีวิตอย่างกล้าหาญของท่านไป ท่านยังคงมีรอยยิ้มที่เป็นเอกลักษณ์ มีความเป็นมิตร มีความอบอุ่น และยังคงมอบถวายทุกอย่างแด่พระเจ้าโดยสมบูรณ์ ในช่วงเวลานี้ท่านยังได้ตั้งก่อตั้งคณะฆูเบนตุด เอวการิสติกา เรปาราโดรา ใน ค.ศ. 1939 สำหรับเยาวชน (แปลโดยคะเนว่า คณะเยาวชนผู้ชดเชยบาปต่อศีลมหาสนิท) อันเป็นสาขาสุดท้ายของสหภาพที่ท่านได้ก่อตั้งขึ้น และยังได้ก่อตั้งนิตยสารเรเนสำหรับเด็ก ๆ ขึ้นอีกด้วย ซึ่งในปีเดียวกันกับที่ท่านขยายงานเพื่อกระตุ้นความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท อันเป็นพันธกิจที่ท่านยึดมั่นตลอดชีวิต ตั้งแต่ได้รับแรงบันดาลใจ ณ เบื้องหน้าตู้ศีลที่ได้รับการทิ้งร้าง วาระสุดท้ายของท่านก็ใกล้เข้ามาเต็มที
ข้าวของเครื่องของนักบุญมานูเอล
ใน ค.ศ. 1939 ขณะท่านไปแสวงบุญที่เมืองซาราโกซา ท่านก็เกิดล้มป่วยหนัก จนจำต้องถูกส่งตัวไปรับการรักษาโดยด่วนที่กรุงมาดริด และเหมือนตัวท่านเองก็ทราบดีว่า เวลาสุดท้ายของท่านนั้นใกล้เข้ามาเต็มที ดังนั้นเมื่อผ่านหน้าตู้ศีลในวัดน้อย จากบทเปลหามท่านจึงทูลพระองค์ว่า “ถ้าพระองค์ประสงค์ให้ลูกได้กลับมา ก็โปรดอวยพรลูกด้วย แต่แม้นพระองค์ไม่ประสงค์ให้ลูกได้กลับมา ก็ขอโปรดทรงอวยพรลูกด้วย” และเมื่อถึงวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1940 ท่านที่ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่กรุงมาดริดและปกครองสังฆมณฑลปาเลนเซียมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบด้วยอายุ 62 ปี ณ คลินิกที่ท่านเข้ารับการรักษา ร่างของท่านได้รับการฝังในอาสนวิหาร เมืองปาเลนเซีย พร้อมด้วยข้อความจารึกตามความปรารถนาท่านว่า “ข้าพเจ้าขอให้ฝังร่างไว้ข้างตู้ศีล เพื่อว่าภายหลังจากข้าพเจ้าได้จากไปแล้ว กระดูกของข้าพเจ้าจะได้เป็นเสมือนหนึ่งลิ้นและปากกาของข้าพเจ้าขณะข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ ที่จะประกาศกับบรรดาผู้ที่กำลังผ่านไปว่า ‘ที่นั่นมีพระเยซูเจ้า ทรงอยู่ตรงนั้น อย่าทิ้งพระองค์ไว้แต่ลำพังเลย’”
ท่านจากไปโดยได้ทิ้งงานเขียนที่ถ่ายเรื่องเล่าความรักศรัทธาในศีลมหาสนิท คำภาวนา แนวทางของครูคำสอน และข้อชี้แนะสำหรับบรรดาพระสงฆ์ ซึ่งสะท้อนความคล่องแคล่วและความงามตามอย่างชาวอัลดาลูเซีย ในเวลาเดียวกันก็สะท้อนพระหรรษทานของชายผู้ได้รับเจิม งานเขียนเหล่านี้ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน อาทิเช่น การละทิ้งศีลมหาสนิทโดยพร้อมกัน, คำภาวนาต่อตู้ศีลที่ปรากฏในคำภาวนาของพระวรสาร, ศิลปะในการเป็นอัครสาวก, พระหรรษทานของการศึกษา, ศิลปะและพิธีกรรม เป็นต้น
พิธีสถาปนาบุญราศีมานูเอลขึ้นเป็นนักบุญ
กระบวนการของท่านถูกเริ่มขึ้นในฐานะธรรมสักขี แม้เมื่อมีการเข้าสู่ชั้นพิจารณาจะมีการถกเถียงกันว่ากรณีของท่านจัดอยู่ในกลุ่มมรณสักขีหรือเปล่า เพราะท่านได้รับบาดเจ็บจากการเบียดเบียนสเปนในครั้งนั้น จนเป็นที่ชัดเจนว่าจริง ๆ แล้วท่านเป็น ‘พระสังฆราชมรณสักขี’ ผู้เป็น ‘นายชุมพาบาลผู้ซื่อสัตย์’ ที่ไม่ยอมทิ้งผู้แกะของตน และเช่นเดียวกันก็พร้อมที่จะตายเพื่อพวกเขา แต่ก็สรุปชัดไม่ได้ กระนั้นก็เกิดอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนของท่านขึ้น ทำให้ในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2001 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงบันทึกนามท่านในสารบบบุญราศีอย่างสง่า ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร พร้อมข้ารับใช้พระเจ้าอีกสี่ท่าน และในวันเดียวกันพระองค์ได้ทรงกล่าวยกย่องท่านในบทเทศน์ว่า “บุญราศีมานูเอล กอนซาเลซเป็นรูปแบบของความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท อันนับเป็นแบบฉบับที่จะยังถูกพูดถึงในพระศาสนจักรทุกวันนี้” และเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 2016 เมื่อเกิดอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนผ่านท่านเป็นครั้งที่ 2 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส จึงได้ทรงสถาปนาท่านเป็นนักบุญ ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร
ศีลมหาสนิท คือ โภชนาทิพย์จากสวรรค์ ศีลมหาสนิท คือ เครื่องประกันถึงความรอดของวิญญาณที่รับด้วยความศรัทธา ศีลมหาสนิท คือ ธารน้ำทิพย์ที่หล่อเลี้ยงวิญญาณที่ร้อนรนและคือหยาดน้ำแห่งชีวิตแก่วิญญาณที่เหี่ยวเฉา ศีลมหาสนิท คือ เครื่องหมายที่แจ่มชัดถึงความรัก ความเมตตาอันสุดประมาณของพระเจ้า ศีลมหาสนิท คือ การชิดสนิทกับพระเป็นเจ้า และศีลมหาสนิท คือ สมบัติฝ่ายจิตอย่างแท้จริง “เพราะขนมปังของพระเจ้า คือ ขนมปังซึ่งลงมาจากสวรรค์ และประทานชีวิตให้แก่โลก” (ยอห์น 6 : 33) หากแม้นแต่เพียงเราสละเวลาแม้สักนิดเตรียมจิตใจของเราก่อนมิสซา ตรวจดูว่าเรามีบาปหนักอะไรหรือเปล่าและสวดภาวนานิดหน่อย และอยู่เบื้องหน้าพระองค์หน้าตู้ศีลหลังมิสซาอีกสักหน่อย ค่อย ๆ คิดรำพึงถึงสิ่งต่าง ๆ แล้วเล่าให้พระองค์ฟังเหมือนเพื่อนสนิท เราก็จะได้ค้นพบอะไรมากมายจนเกินกว่าจะพรรณนาด้วยคำพูดใด ๆ ได้ แน่นอนว่าต้องไม่ใช่แค่ในวันสมโภชพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ต้องเป็นทุกวันที่เรามีโอกาส เพราะชีวิตเรามันสั้นนักจะตายวันตายรุ่งเมื่อไรก็ไม่รู้ ดังนั้นเอง เมื่อวันนี้เรายังมีลมหายใจอยู่ ก็ขอให้เร่งตักตวงพระหรรษทานจากขุมสมบัตินี้ไปใช้ให้กับทุก ๆ คนรอบข้าง ๆ เรา นี่แหละคือสิ่งที่ชีวิตของพระสังฆราชผู้มอบ ‘ชีพนี้เพื่อพระผู้เร้นกาย’ ในเพศปังได้เรียกร้องขอเราให้ปฏิบัติ มาเถิด มาหาพระองค์ด้วยความรักในศีลมหาสนิทกัน พระองค์เร้นกายรอเราอยู่ ณ ที่นั่นแล้วพร้อมพระหรรษทานมากมายให้ตักตวง โอ้ประชาชาติทั้งหลายเอ๋ย จะมีพระอื่นใดอยู่ใกล้ชิดมนุษย์เท่ากับพระเจ้าของเรา อัลเลลูยา.
รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
แก้ไขปรับปรุง, วันเสาร์ก่อนสมโภชพระคริสตวรกาย
ที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2023
“ข้าแต่ท่านนักบุญมานูเอล กอนซาเลซ กราเซีย ช่วยวิงวอนเทอญ”
http://www.vatican.va/news_services/liturgy/saints/ns_lit_doc_20010429_gonzalez-garcia_it.html
http://www.uner.org/mes.html
http://infocatolica.com/blog/elolivo.php/1003050740-centenario-de-las-marias-de-l
http://uner.org/nuevaweb/publicaciones/publicaciones_elgranito.html
http://www.diocesismalaga.es/
http://www.anunciando-jmsalaverri.org/2011/05/16-beato-manuel-gonzalez-el-obispo-del.html
https://es.zenit.org/articles/beato-manuel-gonzalez-garcia-2/
http://www.religionenlibertad.com/martirio-y-destierro-del-bto-manuel-gonzalez-y-6-26863.htm
http://www.igw-resch-verlag.at/santibeati/vol6/gonzalez.html
https://es.wikipedia.org/wiki/Manuel_González_García
https://en.wikipedia.org/wiki/Manuel_González_García_(bishop)
https://it.wikipedia.org/wiki/Manuel_González_García
http://es.catholic.net/op/articulos/23111/cat/46/d-manuel-gonzalez-garcia.html
http://www.aggancio.it/2013/03/beato-manuel-gonzalez-garcia-1877-1940/
http://www.colegiodiocesano.net/?page_id=26
http://beatomanuel.weebly.com/
http://www.seminariomalaga.es/seminario-mayor/historia/
http://www.biblia.work/diccionarios/gonzalez-garcia-manuel/
http://www.preguntasantoral.es/2012/01/beato-manuel-gonzalez/
http://uner.org/nuevaweb/manuelgonzalez/index_manuelgonzalez.html
http://www.ciberia.es/~jmarti/BEATOMANUELGONZALEZGARCIA.htm
https://anecdotasycatequesis.wordpress.com/2010/01/04/un-enamorado-de-la-eucaristia-beato-manuel-gonzalez-garcia-2/