วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

'มาร์เกอริตา' มุกงามของพระ ตอนแรก

นักบุญมาร์เกอริตา แห่ง กิตตา ดิ กัสเตลโล
St. Margherita da Città di Castello
วันฉลอง: 13 เมษายน
องค์อุปถัมภ์: คนตาบอดและคนพิการในสังฆมณฑลกิตตา ดิ กัสเตลโล
และอัครสังฆมณฑลอูร์บีโน อูร์บานีอา ซานตาอังเยโล อิน วาโด

“ทุกวันใหม่มีพระสัญญา ทุกเวลามีความหวัง ทุกยามเช้ามีแสงสว่าง ตลอดการเดินทางมีความช่วยเหลือเกื้อกูล … เมื่อเราวางใจในพระภูบาล มอบวิญญาณในหัตถ์พระองค์” ให้เราเริ่มต้นชีวประวัติของข้ารับพระเจ้าองค์นี้ ด้วยบทเพลงพระสัญญา โดย อ.ประจงกิจ ที่กล่าวถึงการมี ‘ความหวัง’ เสมอในการดำรงชีวิตเสียก่อน แม้บทเพลงนี้จะถูกแต่งหลังจากเรื่องราวของเราอย่างยาวนานหลายร้อยปีและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด กระนั้นเนื้อหาของบทเพลงนี้ก็เหมาะสมกับเรื่องราวต่อจากนี้ไป เพราะนี่คือเรื่องราวของชีวิตหนึ่งในโลก ที่ไม่เคยสูญเสีย ‘ความหวังในพระเจ้า’ ตลอดการดำเนินชีวิต จนก่อเกิดเป็นชีวิตอันมหัศจรรย์ที่ถูกเล่าขานมาตลอดหลายร้อยปีด้วยความศรัทธาและชื่นชม ทั้งบัดนี้พระศาสนจักรเองในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ยังได้ยกย่องไว้ในฐานะ ‘แบบอย่าง’ บนพระแท่นบูชาอย่างเป็นทางการ

การจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์นี้ คงต้องย้อนไปในสมัยที่อิตาลี ยังไม่ได้รวมกันเป็นประเทศทรงรองเท้าบูธอย่างทุกวันนี้ และยังมีนครรัฐหนึ่งเรืองอำนาจอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศ ในนาม ‘รัฐสันตะปาปา’ ณ ปราสาทหินตระหง่าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นป้อมปราการให้กับเมืองซังตาเยโล อิน วาโด เมืองหลวงของแคว้นมัสซา ตราบีรีอา แคว้นโบราณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 – 15 ซึ่งเติบโตขึ้นภายใต้การวางรากฐานขอบเขตอำนาจของรัฐสันตะปาปา บนเนินเขาแห่งหนึ่งในหุบเขาเมเตาโร นามว่า ‘ปราสาทเมโตลา’ (ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวอยู่ไม่ไกลจากเมืองเมร์กาเตลโล ซุล เมเตาโร จ. เปซาโร เอ อูร์บีโน แคว้นมาร์เก ตอนกลางฟากตะวันออกของประเทศอิตาลี) ในคราวนั้นปราสาทหลังนี้มีผู้ปกครองชื่อ ‘นายปาริซีโอ’ เป็นผู้มั่งมีและเจ้าที่ดินในบริเวณนี้ เขาได้แต่งงานกับธิดาจากตระกูลขุนนางในเมืองเมร์กาเตลโล ซุล เมเตาโรนามว่า ‘นางเอมิลีอา’ ทั้งสองสามีภรรยายังไม่เคยมีบุตรด้วยกัน และเวลานั้นนางเอมิลีอาก็กำลังตั้งครรภ์ ทั้งสองจึงต่างวาดฝันว่าทารกในครรภ์ที่กำลังจะลืมตาดูโลกในเร็ววันในฐานะ ‘บุตรคนหัวปี’ นั้นจะเป็นทารกเพศ ‘ชาย’ เพื่อจะได้กลายเป็นผู้รับมรดกปราสาทหลังนี้ต่อไปในภายหน้า นายปาริซีโอถึงขั้นคิดว่า หากวันใดบุตรคนนี้กำเนิดขึ้นมา ตนก็จะจัดงานเลี้ยงฉลองใหญ่ถึง 2 งานรับขวัญบุตร งานแรกสำหรับบรรดาเหล่าทหารสังกัดปราสาท ส่วนงานที่สองสำหรับบรรดาสหายของเขา


ท่ามกลางความหวังและภาพฝันของสองสามีภรรยาผู้มั่งคั่ง ที่สุดในวันหนึ่งใน ค.ศ. 1287 นางเอมิลีอาจึงได้ให้กำเนิดทารกที่ทั้งสองเฝ้ารอ แต่อนิจจา ทารกนั้นกลับเป็นทารกเพศ ‘หญิง’ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังเกิดมามีสภาพร่างกายพิกลพิการ คือ มีขนาดตัวที่เล็กกว่าปกติ มีอาการหลังค่อม และมีความยาวขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย (อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาจึงพบเพิ่มว่าเด็กน้อยนั้นตาบอดสนิท) คงไม่ต้องอธิบายว่าสองสามีภรรยาจะใจสลายเพียงใด เมื่อเห็นภาพดังนี้ ทั้งสองไม่อาจทำใจยอมรับสภาพของธิดาคนนี้ได้ และอับอายที่จะเลี้ยงดูธิดานี้อย่างเปิดเผย ทั้งสองจึงตัดสินใจเลือกที่จะแจ้งกับทุกคนที่ต่างเฝ้ารอข่าวดีว่า สมาชิกใหม่ของครอบครัวนั้นเกิดมาไม่แข็งแรงและได้สิ้นใจไปตั้งแต่แรกคลอด เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เป็นมลทินมัวหมองแก่ตัวพวกเขา ก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยงทารกผู้มีรูปร่างพิกลพิการและอัปลักษณ์ไว้อย่างลับ ๆ ดังนั้นในวันที่ชีวิตผู้เป็นเจ้าของเรื่องของเราเกิดมา จึงไร้ซึ่งความยินดีของบิดามารดา ไร้ซึ่งเสียงระฆังดังแจ้งข่าวแห่งความยินดี ไร้ซึ่งของขวัญมารับขวัญให้สำราญใจ และไร้ซึ่งข่าวถึงการมีตัวตนในฐานะทายาทของครอบครัวนี้

“แม้บิดามารดาจะทอดทิ้งข้าพเจ้า พระยาห์เวห์ก็ทรงรับข้าพเจ้าไว้” (สดุดี 27: 10) ไม่นานหลังจากนั้น นางเอมิลีอาจึงได้ใช้ให้สาวใช้นางหนึ่งที่นางไว้ใจว่าจะเก็บความลับนี้อยู่ นำธิดาน้อยลงไปรับศีลล้างบาปอย่างลับ ๆ ที่วัดนักบุญเปโตร เมืองเมร์กาเตลโล ด้วยนาม ‘มาร์เกอริตา’ ซึ่งแปลว่า ‘ไข่มุก’ แต่บ้างก็ว่านางนั้นไม่ได้ใยดีอันใด แต่เป็นสาวใช้เองที่มีจิตเมตตาสงสาร จึงได้นำธิดาน้อยไปรับศีลล้างบาป พร้อมตั้งนามอันไพเราะนี้ให้ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใด ภายหลังที่ท่านได้รับศีลล้างบาป ท่านได้ถูกเลี้ยงดูอย่างลับ ๆ ภายในปราสาทเมโตลา กระทั่งเริ่มพูดได้ พระสงฆ์ประจำปราสาทจึงได้เริ่มสอนท่านถึงเรื่องราวของพระเจ้า พร้อมทั้งสอนให้ท่านรู้จักสวดภาวนา (การที่ท่านถูกเลี้ยงดูภายในปราสาทเช่นนี้ ทำให้มีผู้เขียนชีวประวัติของท่านบางรายได้แย้งว่า แท้จริงบิดามารดาของท่านก็ไม่ได้เป็นคนใจไม้ไส้ระกำขนาดนั้น เพราะในยุคเดียวกันหากพวกเขาไม่ปรารถนาจะเลี้ยงท่านไว้ ก็เพียงแค่นำท่านไปให้ชาวนาที่อยู่ไกลออกไปหรือใครสักคนเลี้ยงพร้อมด้วยเงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าปิดปากก็ได้)

หอคอยแห่งเมโตลา สิ่งก่อสร้างเดี่ยวที่หลงเหลือของปราสาทเมโตลา

ไม่ว่านายปาริซีโอและนางเอมิลีอาจะคิดเช่นไรต่อบุตรสาวคนนี้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นห่วงต่อชีวิตของธิดาน้อยที่อาภัพหรือรังเกียจเดียดฉันท์ด้วยอับอายต่อความพิกลพิการ ท่านก็ได้เติบโตขึ้นมาในปราสาทเมโตลาโดยได้รับการอบรมจากพระสงฆ์ประจำปราสาทโดยตลอด ทุกวันท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ในส่วนลับของปราสาท สนทนากับพระสงฆ์ท่านนั้นถึงความน่าฉงนในความอัศจรรย์ของพระเจ้า ความรักของพระองค์ และเหตุผลที่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมา ฝั่งพระสงฆ์ท่านนั้นก็คอยตอบคำถามอันแสนใสซื่อนี้โดยตลอด และได้เล็งเห็นถึงความเฉลียวฉลาดเกินวัยในตัวเด็กน้อยคนนี้ คุณพ่อจึงได้นำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งแก่สองสามีภรรยา แต่ทั้งสองก็ยังคงเฉยชา และยังคงรังเกียจที่จะเลี้ยงดูท่านในฐานะธิดาอย่างเปิดเผย

จนท่านมีวัยล่วงได้ 6 ปี ก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น เมื่อวันหนึ่งขณะที่มีแขกเดินทางมาเยี่ยมสองสามีภรรยา สาวใช้ที่ดูแลท่านลืมเตือนท่านไม่ให้ออกไปไหน ท่านจึงเดินออกไป จนได้พบและพูดคุยกับแขกผู้นั้นโดยบังเอิญ แต่ยังไม่ทันที่แขกผู้นั้นจะได้ถามว่าท่านเป็นลูกเต้าเหล่าใครด้วยความเอ็นดู หญิงชาวนาคนหนึ่งที่อาศัยในที่ดินของนายปาริซีโอก็ได้เข้ามาไล่ท่านให้ไปจากบริเวณนั้น จึงทำให้ความลับของบิดามารดาท่านยังคงเป็นความลับต่อไป แต่เหตุการณ์นี้ก็สร้างความไม่สบายใจไม่น้อยให้กับนายปาริซีโอและนางเอมิลีอา ทั้งสองเริ่มกลับมาคิดอีกครั้งว่าธิดาน้อยผู้นี้จะนำความอับอายมาให้พวกเขาและตระกูลอีกเพียงใดหากทั้งสองยังเลี้ยงดูท่านไว้ใต้ชายคาปราสาทหลังเดียวกัน 

วัดที่ท่านถูกนำมาเลี้ยงอย่างลับ ๆ ตั้งแต่อายุ 6 ปี

ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่เลี้ยงท่านไว้ในส่วนไหนของปราสาทได้อีกต่อไป และเลือกวัดหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่บนที่ดินของพวกเขากลางป่า ห่างจากปราสาทของพวกเขาไปประมาณ 400 เมตร เป็นสถานที่กลบฝังความลับนี้ไว้ พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจให้ใครฆ่าท่านหรือเอาท่านไปปล่อยไว้ในป่าเหมือนนิทานทั่วไปที่เราอาจคุ้นเคย แต่ได้ให้ข้ารับใช้สร้างห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งไว้ข้างวัดหลังดังกล่าว โดยออกแบบให้ห้องมีเพียงช่องหน้าต่างสองช่องเล็ก ๆ ช่องหนึ่งไว้ใช้ส่งข้าวปลาอาหารและของที่จำเป็นให้ท่าน ส่วนอีกช่องไว้ใช้ส่งศีลมหาสนิท ไว้ใช้เลี้ยงดูท่านให้ห่างไกลจากสายคนภายนอก เพื่อให้ความลับเรื่องการมีอยู่ของท่านยังคงเป็นความลับต่อไป

ในวันที่ท่านถูกพาไปยังห้องดังกล่าว ที่มีสภาพไม่ต่างอะไรจาก ‘ห้องขัง’ ของนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ท่านไม่ได้หวาดกลัวต่อชีวิตในเบื้องหน้า โกธรเคืองบิดามารดาที่ตัดสินใจเช่นนี้ หรือน้อยใจในความอาภัพของชีวิตแล้วตัดพ้อต่อพระเจ้าผู้ทรงสร้างท่านขึ้นมา ตรงกันข้ามโดยหนทางอันน่ามหัศจรรย์ พระเจ้าได้ทรงประทานพระหรรษทานที่จำเป็นสำหรับท่านในการน้อมรับกางเขนชิ้นนี้ ท่านน้อมรับชีวิตในห้องแห่งนี้ด้วยความเต็มใจ และเข้าใจว่านี่เป็นพระหรรษทานพระเจ้าทรงมอบให้ท่าน โดยวางเทียบสิ่งที่ท่านพบกับประสบการณ์ขององค์พระเยซูเจ้า ดังที่ท่านได้บอกกับพระสงฆ์ที่เลี้ยงดูท่านในวันที่ย้ายเข้ามาบ้านหลังใหม่นี้ว่า “แม้แต่องค์พระเยซูเจ้าเองก็ยังถูกประชากรของพระองค์ปฏิเสธ และพระเจ้าเองทรงอนุญาตให้หนูถูกปฏิบัติเช่นเดียวกัน ก็เพื่อให้หนูสามารถติดตามพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้นค่ะ” และดูเหมือนว่าการได้มีชีวิตเช่นนี้จะส่งผลเป็นเช่นนั้นจริง


อาศัยความเงียบสงบและเสียงของธรรมชาติ ดูเหมือนว่าพระเจ้าได้ทรงสัมผัสจิตใจท่านมากขึ้นเรื่อย ๆ จนค่อย ๆ ทำให้ท่านปรารถนาที่จะมอบตนเองทั้งครบแด่พระองค์ ดุจเดียวกับบรรดาเจ้าสาวทั้งหลายของพระองค์ในพระศาสนจักร ดังนั้นในวัย 7 ปี ท่านจึงตัดสินใจปฏิญาณตนจะถือพรหมจรรย์ และถือพรตอดอาหารตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเทศกาลปัสกาเหมือนบรรดานักพรตปฏิบัติ แต่เมื่อปฏิบัติเช่นนี้เรื่อย ๆ ท่านก็รู้สึกว่าการทำพลีกรรมเช่นนี้ยังไม่เพียงพอ ท่านจึงเปลี่ยนไปเป็นถือพรตอดอาการตลอดทั้งปี โดยท่านจะถือพรตอดอาหารเป็นเวลาสี่วันต่อสัปดาห์และทุกวันศุกร์ ท่านจะรับประทานเพียงขนมปังและน้ำเพื่อประทังชีวิต ชีวประวัติของท่านสำนวนเดียวกันกับที่ให้ข้อมูลเรื่องวัตรปฏิบัติในวัยเยาว์ของท่านยังได้ระบุอีกว่า นอกจากถือวัตรปฏิบัติเช่นนี้เมื่อท่านยังอายุไม่ถึง 7 ปีดี ท่านยังได้หาเข็มขัดหนามมาสวมรอบเอวเพื่อทรมานตนอย่างลับ ๆ อีกด้วย

ในช่วงชีวิตนี้นอกเหนือจากประสบการณ์ระหว่างท่านกับพระเจ้าอันลึกลับ คำสอนของพระสงฆ์ที่ดูแลท่านยังได้คอยเติมเต็มกำลังใจของท่านในการใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นอย่างมาก คุณพ่อองค์นั้นได้สอนให้ท่านตระหนักได้ถึงความไม่เที่ยงแท้ของร่างกาย คุณพ่อได้อธิบายให้ท่านเข้าใจว่า ไม่ว่าร่างกายของท่านจะเป็นแบบไหน สักวันหนึ่งมันก็ต้องกลับกลายเป็นเพียงผงคุลีดิน คงมีเพียงแต่เพียงวิญญาณที่ยังดำรงอยู่ต่อไป วิญญาณนี้เองเป็นสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระองค์ ดังนั้นท่านต้องหมั่นระลึกเสมอว่า บิดาของท่านแท้จริงคือองค์พระเจ้า ผู้ทรงรักท่านและปรารถนาให้ท่านตอบสนองต่อความรักของพระองค์ด้วยการรักพระองค์ อันจะนำไปสู่ความสุขแท้และความครบครัน และในช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและความทุกข์ยากนี้ มนุษย์ต้องพัฒนาความรักต่อพระเจ้าให้มากขึ้น เหตุฉะนี้การมองเห็น การเป็นคนปกติ หรือการเป็นที่รักเอ็นดูของมนุษย์จึงไม่จำเป็นเท่าวิญญาณที่งดงาม คำสอนเช่นนี้ส่องสว่างภายในวิญญาณของท่าน และทำให้หัวใจของท่านเต็มไปด้วยความยินดีในการใช้ชีวิตในห้องเล็ก ๆ รวมถึงสามารถที่จะรักบิดามารดาผู้นาน ๆ ทีถึงจะมาเยี่ยมท่าน ด้วยการค้นพบว่าทั้งสองคือตัวแทนของพระเจ้าในโลกนี้

เมืองเมร์กาเตลโล

9 ปี ผ่านไปในห้องข้างวัด ที่ท่านได้เติบโตขึ้นในความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าเหมือนบรรดานักพรตหญิงผู้ขังตนในห้องข้างวัด (Anchoress) พระเจ้าก็ทรงทดสอบความรักของข้ารับใช้ของพระองค์อีกครั้ง เมื่อผู้นำแคว้นมอนเตเฟลโต ซึ่งเป็นศัตรูกับนายปาริซีโอก็ได้กรีฑาทัพเข้าตีแคว้นมัสซา ตราบีรีอา นายปาริซีโอที่เป็นห่วงความปลอดภัยของภรรยาและความลับของตระกูลที่เก็บซ่อนไว้มานานนับสิบห้าปีจะแตก จึงได้ให้นางเอมิลีอานำท่านออกจากห้องข้างวัดที่ขังท่านมาตลอดเก้าปี โดยเอาผ้าคลุมหน้าสีเข้มคลุมหน้าท่านไว้แล้วจึงเร่งพาหนีไปหลบภัยที่ปราสาทของตนในเมืองเมร์กาเตลโล ในขณะเขาและกองทหารที่เหลือจะคอยยันข้าศึกไว้ให้สามารถเข้ามาได้อยู่ที่ปราสาทเมโตลา 

เมื่อมาถึงปราสาทแห่งหนึ่งในเมืองเมร์กาเตลโล นางเอมิลีอาก็มิได้จัดให้ท่านที่พึ่งถูกพาออกมาจากห้องข้างวัดครั้งแรกในรอบหลายปีไว้ที่ชั้นบนของปราสาทที่นางพัก ตรงกันข้ามนางได้จัดให้ท่านอยู่ที่ห้องใต้ดินห้องหนึ่งของปราสาท ที่มีสภาพไม่ต่างอะไรจากห้องนิรภัย ในห้องแห่งนั้นนอกจากที่นอนยอดฟางหนึ่งอันและม้านั่งสภาพโกโรโกโสหนึ่งตัว ไม่มีเครื่องเรือนอื่นใดอีก ไม่เพียงเท่านั้นนางยังได้ตั้งกฏใหม่ คือ เมื่ออยู่ที่นี่ท่านจะได้รับอาหารเพียงวันละสองครั้งและห้ามท่านเรียกใครไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ ก็ตาม ในสภาพความเป็นอยู่ที่น่าเวทนายิ่งขึ้นนี้ไม่ได้สร้างความทุกข์ใจให้ท่าน เท่ากับการที่ในสภาพความเป็นอยู่ใหม่นี้ ท่านได้ถูกตัดขาดจากพิธีมิสซา ศีลอภัยบาป ศีลมหาสนิท และพระสงฆ์ผู้คอยหนุนนำวิญญาณของท่านเช่นที่ห้องเดิมที่ท่านจากมา แต่กระนั้นก็ตามท่านยังคงน้อมรับความทุกข์ยากที่เผชิญด้วยน้ำใจกล้าหาญและศรัทธา ยามนี้มีเพียงพระหรรษทานของพระเจ้าเท่านั้นที่หนุนนำหัวใจดวงน้อย ๆ ของท่านให้น้อมรับกางเขนนี้ให้ผ่านพ้นไป

วัดนักบุญฟรังเชสโก เมืองกิตตา ดิ กัสติลโล

วันเวลาล่วงผ่านไปได้ราว 2 ปี คณะนักจาริกจำนวนห้าคนก็ได้เดินทางผ่านเมืองเมร์กาเตลโล ทั้งห้าได้แจ้งให้ชาวเมืองทราบถึงเหตุการณ์บ้านเมืองต่าง ๆ ภายในรัฐสันตะปาปาและได้เล่าถึงเหตุอัศจรรย์จำนวนมากที่เกิดขึ้นที่หลุมศพของภารดายาโกโม ภารดาคณะฟรังซิสกันขั้นสาม ซึ่งพึ่งสิ้นใจไปได้ไม่นานที่วัดนักบุญฟรังเชสโก เมืองกิตตา ดิ กัสติลโล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเมร์กาเตลโล (ปัจจุบันเมืองกัสติลโล อยู่ใน จ. เปรูยา แคว้นอุมเบรีย) ข่าวอย่างหลังอันน่าเหลือเชื่อนี้ไปถึงหูของนางเอมิลีอา และเมื่อสามีของนางเดินทางกลับมาภายหลังกองทัพแคว้นมอนเตเฟลโตล่าถอยไป เพราะเกรงว่าจะถูกชาวเปรูยาเข้ารบด้วยในอีกไม่กี่วันถัดมา นางจึงได้เล่าเรื่องนี้ให้สามีฟัง พร้อมทั้งได้เสนอให้พาท่านไปยังหลุมศพของภารดาท่านนั้นเพื่อวอนขออัศจรรย์ ทีแรกนายปาริซีโอก็ไม่ได้ปักใจเชื่อเรื่องที่ภรรยาเล่าในทันที แต่เมื่อคิดไปคิดมาว่าพวกเขาเองไม่มีอะไรจะต้องเสียอีก เขาก็บอกให้นางรีบจัดแจงตระเตรียมสิ่งต่าง ๆ เพื่อออกเดินทางในวันรุ่งขึ้น เขายังบอกกับนางเอมิลีอาอีกว่า “เอมิลีอา การแสวงบุญครั้งนี้จะแก้ไขปัญหาของพวกเรา”

รุ่งขึ้นเมื่อทุกอย่างถูกตระเตรียมพร้อมสรรพสำหรับการเดินทาง นายปาริซีโอ นางเอมิลีอา และท่านที่ถูกซ่อนเร้นใบหน้าอยู่ภายใต้ผ้าคลุมศีรษะผืนหนาเหมือนคราวที่ถูกพามา จึงได้ออกเดินทางข้ามเทือกเขาอัปเปนนินีที่ทอดยาวตั้งแต่ตอนเหนืองมาถึงตอนใต้ของอิตาลีเพื่อมุ่งไปยังเมืองกิตตา ดิ กัสติลโลพร้อมด้วยทหารอารักขา 12 นาย การเดินทางครั้งนี้ใช้เวลาไม่นาน และเมื่อทั้งสามเดินทางมาถึงที่หมาย นายปาริซีโอได้เลือกพักในโรงแรงที่ดีที่สุด บริเวณชั้นนอกของเมืองใกล้ประตู และในขณะที่ปล่อยให้ภรรยาและธิดาพักผ่อนในโรงแรม เขาก็ใช้โอกาสนั้นออกตระเวนไปทั่วเมือง เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องวัดนักบุญฟรังเชสโกและเรื่องภารดายาโกโมว่าเป็นเรื่องจริงเท็จเพียงไหน และแม้จะหัวเสียอยู่บ้างที่ทราบว่าภารดายาโกโมเสียชีวิตไปแล้ว เขาก็ได้กลับมาแจ้งกับท่านว่า “พรุ่งนี้แม่ของเจ้าและพ่อจะพาเจ้าไปที่วัดนักบุญฟรังเชสโก พวกเราจะไปแก้บาปและรับศีลก่อนที่จะมาสวดขอให้เจ้าหายดี พ่อต้องการให้เจ้าสวดขอให้เจ้าหายป่วยโดยสมบูรณ์อย่างสุดจิตสุดใจตั้งแต่คืนนี้ไปจนถึงพรุ่งนี้เช้า” ท่านเองก็รับปากบิดาของท่านว่า “แน่นอนค่ะ ท่านพ่อ สุดจิตสุดใจ”

พระแท่นในวัดนักบุญฟรังเชสโกที่เชื่อว่าสร้างโดยบุญราศียาโกโม 
เป็นร่องรอยเพียงไม่กี่อย่างของวัดหลังเก่า ภายหลังการบูรณะวัดในศตวรรษที่ 16

เมื่อเวลาล่วงถึงเช้าวันของถัดมา ทั้งสองจึงพาท่านเดินทางมาร่วมมิสซาที่วัดนักบุญฟรังเชสโก และได้พาท่านมาอยู่ต่อหน้าหลุมศพของภารดายาโกโม พร้อมได้กำชับให้ท่านสวดภาวนาวอนขออัศจรรย์ให้หายจากอาการพิกลพิการที่มีมาแต่กำเนิด และเมื่อเห็นท่านปฏิบัติดังนั้น นายปาริซีโอและนางเอมิลีอาที่ไม่ได้เป็นคริสตังใจศรัทธาอยู่แล้วเป็นทุนเดิมจึงได้ปล่อยท่านไว้ตามลำพังโดยไม่ได้ไปรีบศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิทตามที่บอกกับท่าน นายปาริซีโอคิดกระหยิ่มในใจจากข้อมูลที่เขาได้สอบถามมาและได้อธิบายให้ภรรยาฟังว่า อย่างไรเสียพระเจ้าก็จะต้องทรงรับฟังคำภาวนาของท่าน เพราะขนาดคนไม่มีหัวนอนปลายเท้ายังได้รับอัศจรรย์จากพระเจ้าอาศัยคำเสนอวิงวอนของภารดาผู้นี้ แล้วนี่ธิดาของเขาเป็นถึงทายาทของผู้ดีมีตระกูล มีบรรดาศักดิ์ พระเจ้าจะไม่ทรงสดับฟังเป็นพิเศษเชียวหรือ เพียงแต่ต้องใช้เวลาเสียหน่อย ดังนั้นเขาและภรรยาจึงได้ออกไปเดินเที่ยวชมเมืองระหว่างรออัศจรรย์อย่างใจจดใจจ่ออีกครั้ง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ทั้งสองคิดไว้ เพราะในขณะที่ทั้งสองปรารถนาให้บุตรสาวสวดอ้อนวอนขออัศจรรย์เพียงอย่างเดียว แต่ด้วยวิญญาณที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาในการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ท่านจึงไม่เพียงขอวอนให้พระเจ้าทรงรักษาท่านให้หายเป็นปกติ แต่ยังได้ทูลขอให้ทุกสิ่งเป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์ เพื่อว่าท่านจะได้ใช้ชีวิตร่วมแบกกางเขนไปพร้อมกับพระองค์จนถึงช่วงเวลาสุดท้ายอย่างมีความสุข และดูเหมือนว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงปรารถนาให้ท่านน้อมรับกางเขนนี้ต่อไป เพื่อเป็นแบบฉบับแก่โลกในทุกกาลสมัย ดังนั้นจึงไม่เกิดอัศจรรย์ใด ๆ ขึ้นกับท่านเหมือนที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากที่เดินทางมาสวดภาวนายังสถานที่แห่งนี้

แผนที่เมืองกิตตา ดิ กัสติลโล เขียนในศตวรรษที่ 17

นายปาริซีโอและนางเอมิลีอาที่ต้องเผชิญกับความผิดหวังอีกครั้งเหมือนวันที่พวกเขาได้พบท่านครั้งแรกที่ปราสาทเมโตลา เมื่อทั้งสองกลับมาที่วัดนักบุญฟรังเชสโกและพบว่าธิดาในวัยแรกรุ่นยังคงพิกลพิการ และไม่อาจจะเป็นสง่าราศีให้กับตระกูล ซ้ำยังเป็นภาระต่อไปไม่รู้จบดังเดิม ดังนั้นทั้งสองจึงได้ตัดสินใจ ‘ทิ้ง’ ท่านไว้ที่นี่ตลอดไป และได้หันหลังเดินทางจากท่านกลับไปยังโรงแรมเพื่อเก็บข้าวของต่าง ๆ ก่อนที่จะเร่งออกเดินทางมุ่งสู่เมืองเมร์กาเตลโล โดยไม่เคยบอกกับท่านหรือกลับมารับท่านอีกเลย นี่เองจึงเป็นไปดังคำที่นายปาริซีโอบอกกับภรรยาก่อนออกเดินทาง ว่าการเดินทางครั้งนี้จะจบปัญหาของพวกเขาลง  (นักเขียนชีวประวัติของท่านในยุคใหม่ได้แก้ต่างในเรื่องนี้ว่า บางทีทั้งสองอาจไม่ได้ตั้งใจทิ้งท่านไว้ เพียงแต่ทั้งสองอาจเพียงมุ่งฝากท่านไว้ที่อารามสักแห่งในเมือง แล้วค่อยมารับกลับเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นจากการมีสงครามเป็นระยะ ๆ เพียงแต่ในท้ายที่สุดทั้งสองอาจเสียชีวิตลงก่อนที่จะได้ทำเช่นนั้น)

เมื่อบิดามารดาท่านจากไปอย่างเงียบ ๆ ท่านยังคงเฝ้าสวดภาวนาตามคำสั่งของบิดาจนพลบค่ำ โดยไม่รู้ว่าบัดนี้ท่านได้ถูกทิ้งจากผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดามารดาไปเสียแล้ว ท่านจึงถูกคนดูแลวัดไล่ออกมาอยู่ด้านนอกเพื่อเขาจะได้ปิดวัด ท่านที่ไม่อาจจะไปไหนได้เพราะดวงตาที่มืดบอด จึงต้องอาศัยนอนอยู่ที่หน้าประตูวัดนักบุญฟรังเชสโก จนรุ่งสางเมื่อขอทานเจ้าถิ่นชื่อ ‘โรแบร์โต’ และ ‘เอเลนา’ เดินทางมาเพื่อประจำที่ขอทานของทั้งสอง พวกเขาก็ได้พบกับท่าน ทีแรกทั้งสองคิดว่าท่านเป็นขอทานต่างถิ่นที่จะมาแย่งที่ขอทานของพวกเขา จึงรีบตรงปรี่เข้าไปหมายจะเอาเรื่อง แต่เมื่อเห็นว่าเสื้อผ้าที่ท่านสวมไม่ใช่เสื้อผ้าของคนธรรมดา รวมถึงได้ฟังเรื่องราวของท่านทั้งสองก็ต่างเห็นอกเห็นใจ และเห็นช่องทางที่จะได้เงินจากการพาท่านไปส่งคืนได้ สองขอทานจึงได้ช่วยกันพาท่านเดินทางไปที่โรงแรงที่ท่านพักกับบิดามารดา ฝั่งเจ้าของโรงแรมก็ได้แจ้งให้ท่านทราบว่าบิดามารดาของท่านได้ออกเดินทางไปตั้งแต่เมื่อวาน และให้ท่านไปลองถามทหารยามที่ประตูเมืองอีกที ท่านจึงได้เดินทางไปยังประตูเมืองและได้ทราบว่าบิดามารดาของท่านได้เดินทางกลับไปแล้วอย่างที่เจ้าของโรงแรมแจ้งทุกประการ

เมืองกิตตา ดิ กัสติลโล

“พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ พระองค์จะไม่ทรงอนุญาตให้ท่านถูกผจญเกินกำลังของท่าน” (1 โครินธ์ 10:13) เมื่อได้ทราบเช่นนี้แล้ว ความโทรมนัสย์ไม่น้อยก็ถาโถมเข้ามายังดวงใจน้อย ๆ ของท่าน ท่านที่ไร้ที่พึ่งโดยสมบูรณ์ได้หันหน้าเข้าหาพระเจ้า ผู้เป็นบิดาแท้ของท่าน ทูลพระองค์ด้วยคำภาวนาซื่อ ๆ เพื่อวอนขอคำแนะนำในหนทางข้างหน้า และด้วยความไว้วางใจในการทรงนำของพระองค์ เหมือนเด็กเล็ก ๆ วางใจในบิดามารดาของตน ท่านจึงได้เริ่มชีวิตใหม่ที่ไร้เงาบิดามารดาอย่างกล้าหาญ ไม่เพียงเท่านั้นดังเช่นที่ผ่าน ๆ มาแม้จะได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมจากบุคคลที่ได้ชื่อว่าบิดามารดา ท่านก็ไม่ได้โกธรเคืองทั้งสองและยังคงเคารพรักทั้งสองเสมอ ทั้งรู้ดีว่าทั้งสองนั้นหลาดกลัวการมีอยู่ของท่านในฐานะทายาทเพียงใด ดังนั้นเมื่อต้องเริ่มชีวิตใหม่ที่เมืองกิตตา ดิ กัสติลโล ท่านจึงไม่เคยเอ่ยถึงชาติตระกูลของท่านให้ใครได้รับรู้อีกเลย

สองขอทานโรแบร์โตและเอเลนาเมื่อทราบว่าถูกบิดามารดาทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี ด้วยความสงสารจึงถามท่านว่า ท่านพอจะมีเงินติดตัว หรือมิตรสหาย หรือทำงานอะไรในเมืองแห่งนี้ได้บ้าง ท่านเองที่ชีวิตเกือบทั้งหมดถูกขังอยู่ภายในห้องเล็ก ๆ จึงตอบว่าท่านไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาถามถึงเลย ดังนั้นสองขอทานจึงได้สอนให้ท่านเริ่มเป็น ‘ขอทาน’ เพื่อว่านอกจากมีข้าวกินประทังชีวิต อย่างน้อยที่สุดหากเกิดอะไรไม่ดีขึ้นกับท่านที่ทุพพลภาพเป็นทุนเดิม บรรดาขอทานในเมืองจะได้คอยช่วยเหลือท่านได้ ทั้งสองแนะนำถนนเส้นต่าง ๆ ในตัวเมือง แหล่งน้ำที่ใช้ดื่มและอาบ รวมถึงบริเวณประตูเมืองที่ท่านสามารถหลบไปนอนได้ในตอนกลางคืน โดยที่จะไม่โดนทหารยามเข้าจับกุม นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มของชีวิตที่เป็นอิสระจากห้องขังเล็ก ๆ ของท่าน ในฐานะขอทานแห่งเมืองกิตตา ดิ กัสติลโล โดยมีสองขอทานและขอทานคนอื่น ๆ เป็นสหายคอยช่วยเหลือกันดุจครอบครัว


แม้ชีวิตดูจะพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือในแง่ของการใช้ชีวิตประจำวัน ท่านยังคงมีใจร่าเริง มีความเชื่อ และสันติอยู่ภายในตัวของท่านอยู่เสมอ เคล็ดลับที่ทำให้ท่านสามารถปฏิบัติเช่นนี้ได้ อาจพบได้ในเรื่องเล่าในฤดูหนาวแรกที่ท่านเริ่มเป็นขอทาน เวลานั้นนางเอเลนาที่เห็นว่าบริเวรประตูที่ท่านอาศัยหลับนอนไม่สามารถกันความหนาวเย็น ได้ขอพาท่านมาพักหลบหนาวที่คอกม้าของช่างไม้ชื่อเปียโตร ซึ่งเขาก็มีใจเมตตาให้เธอและท่านอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนั้นได้ตามสบาย ท่านที่เอ่ยขอบคุณทั้งสองในความกรุณา ได้แสดงความรู้สึกประหลาดใจไม่น้อยถึงวิถีทางอันน่ามหัศจรรย์ของพระเจ้าที่ทรงอนุญาตให้ท่านมีพักพิงเหมือนดังพระบุตรของพระองค์ให้กับนางเอเลนาฟัง จนนางเอเลนาถึงกับไปเป็นถึงความคิดของท่าน นอกจากนี้ท่านยังได้อธิบายให้นางฟังอีกว่า “เพื่อนรัก หากเธอได้ลองเพียงสัมผัสความรักพระเจ้าผู้ทรงกระหายที่จะรักแม้แต่คนจร เธอก็ได้พบสันติและความสุข” จากเหตุการณ์นี้ได้แสดงให้เห็นความลับที่ทำให้ท่านยังคงมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีความสุข สันติ และเปี่ยมไปด้วยความหวังเสมอ นั่นคือการตระหนักถึงความรักที่พระเจ้ามีต่อท่าน และการนำประสบการณ์ของตนเองเข้าทาบเทียบกับพระองค์ อันเป็นสิ่งที่ท่านปฏิบัติมาตลอดตั้งแต่ถูกพาไปเลี้ยงไว้ที่ห้องข้างวัด

อาจกล่าวได้ว่าในทัศนะของท่าน ท่านไม่ได้มองว่าความพิกลพิการที่ตนได้มาแต่กำเนิด รวมถึงเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นการลงโทษของพระเจ้า ตรงกันข้ามท่านเข้าใจดีว่าอาศัยความทุกข์ทรมานต่าง ๆ ได้ทำให้ ‘ความรักต่อพระเจ้า’ ในตัวของท่านบริสุทธิ์และลุ่มลึกมากขึ้น รวมถึงทำให้ท่านได้ใกล้ชิดกับองค์พระเยซูเจ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นทางนำไปสู่ความครบครันของวิญญาณ ดังนั้นท่านจึงไม่เคยบ่นว่าต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านประสบ ตรงกันข้ามท่านได้น้อมรับมันด้วยความเชื่ออย่างสุดหัวใจ และอาศัยประสบการณ์ความทุกข์ยากที่ท่านพบเจอ ไม่ได้ทำให้ท่านใช้มันเป็นข้ออ้างในการหาประโยชน์หรือกอบโกยโอกาสทางโลก ตรงกันข้ามประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ท่านเรียนรู้ที่จะเปิดหัวใจดวงน้อย ๆ ของท่านให้กับทุกคนที่เผชิญกับปัญหาอย่างไม่ปิดกั้น โดยเฉพาะคนที่ประสบปัญหาหนักกว่าท่าน เราอาจจินตนาการได้ว่าท่านค้นพบวิธีที่จะรัก ด้วยการค้นพบพระเจ้าในตัวเขาเหล่านั้นอย่างเดียวกับที่ท่านทำต่อบิดามารดา


ด้วยลักษณะที่ผิดแปลกไปจากขอทานคนอื่น ๆ ทำให้คนที่ไม่มีฐานะมากในเมืองหลายคน มักพาท่านมาพักที่บ้านของพวกเขาตามความสามารถของพวกเขาจะเอื้อด้วยความรักใคร่เอ็นดู และเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่บ้านทุกหลังซึ่งอ้าแขนต้อนรับท่านต่างได้พบ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ดังที่ผู้เขียนชีวประวัติของท่านรายหนึ่งได้พรรณนาว่า “มารีโอคนทำขนมปังและภรรยาของเขาไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากมีเรื่องทะเลาะกันมาทั้งชีวิต เดี๋ยวนี้พวกเขาต่างอยู่ด้วยกันด้วยความอดทน ส่วนเปียโตรช่างก่ออิฐและภรรยาผู้ต้องทนทุกข์จากเรื่องร้าย ๆ มาตลอด เดี๋ยวนี้พวกเขาก็อยู่ในสันติและมองโลกในแง่ดีขึ้น บางบ้านที่มีปัญหาระหองระแหงกับเพื่อนบ้าน เดี๋ยวนี้พวกเขาก็กลับมาเข้าใจกันดี บางบ้านห่างวัดห่างวา เดี๋ยวนี้ก็กลับมานั่งคิดจริงจังถึงความรอดนิรันดร์ของพวกเขา ส่วนครอบครัวที่ยากไร้ พวกเขาก็พบคุณค่าความหมายของชีวิตที่พวกเขาเป็นอยู่” ความเปลี่ยนแปลงอันน่ามหัศจรรย์ภายในบ้านที่ต้อนรับท่านนี้ เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่ามาจากชีวิตอันน่าพิศวงของท่านที่พวกเขาผู้อ้าแขนต้อนรับท่านได้ประจักษ์ด้วยตาเนื้อ หรือเป็นผลของคำภาวนาของท่านต่อพระเจ้าให้ทรงตอบแทนบรรดาครอบครัวที่มีใจเมตตาเหล่านี้กันแน่...

ชีวิตของท่านนักบุญมาร์เกอริตายังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ ในตอนต่อไปเมื่อมุกเม็ดงามได้รับการอ้าแขนต้อนรับให้เข้าเป็นนักพรต แต่ดูเหมือนว่าทางของท่านที่สูงกว่าทางของนักพรตคนอื่น ๆ กำลังจะสร้างปัญหาให้กับท่าน ชีวิตของท่านจะเป็นอย่างไรในอารามเมืองกิตตา ดิ กัสติลโล นี่จะเป็นกางเขนใหม่หรือกางเขนสุดท้ายของท่านกันแน่ มีความลำบากใดอีกบ้างที่มุกเม็ดงามนี้ต้องพบเจอก่อน ก่อนจะถึงวันนี้วันที่พระศาสนจักรสากลได้ยกย่องมุกเม็ดนี้ไว้ในฐานะอันศักดิ์สิทธิ์ ติดตามต่อใน 'มาร์เกอริตา' มุกงามของพระ ตอนจบ (คลิกที่ลิ้งค์ได้เลย)


“ข้าแต่ท่านนักบุญมาร์เกอริตา แห่ง กิตตา ดิ กัสเตลโล ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
http://www.causesanti.va/it/santi-e-beati/margherita-di-citta-di-castello.html
http://conoscendo.altervista.org/primo-articolo/?doing_wp_cron=1642416331.0312769412994384765625
https://www.op.org/st-margaret-of-citta-di-castello/biography-of-st-margaret-of-citta-di-castello/
http://prieststuff.blogspot.com/2011/02/blessed-margaret-of-castello-patroness.html
https://catholicism.org/blessed-margaret-castello.html
https://www.afcmmedia.org/Mystical-04.html
https://www.beatamargheritadellametola.it/
http://www.santiebeati.it/dettaglio/90763
https://messaggerosantantonio.it/content/margherita-da-citta-di-castello-finalmente-santa
https://en.wikipedia.org/wiki/Margaret_of_Castello

คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โต...