วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

มุกงามของพระ 'มาร์เกอริตา' ตอนจบ

นักบุญมาร์เกอริตา แห่ง กิตตา ดิ กัสเตลโล
St. Margherita da Città di Castello
วันฉลอง: 13 เมษายน
องค์อุปถัมภ์: คนตาบอดและคนพิการในสังฆมณฑลกิตตา ดิ กัสเตลโล
และอัครสังฆมณฑลอูร์บีโน อูร์บานีอา ซานตาอังเยโล อิน วาโด

ไม่นานชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านก็แพร่ไปทั่วเมือง ใครที่ต่างได้สัมผัสกับท่านต่างพบว่าความเป็นนักบุญนั้นแฝงเร้นอยู่ในร่างกายอันน่าสังเวชโดยไม่มีการปรุงแต่ง เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ก่อเกิดจากวิญญาณดวงหนึ่งที่รักพระเจ้าโดยไม่มีข้อแม้ ไม่ว่าพระองค์จะสถิตอยู่ในรูปไหน รูปอันเป็นทิพย์ อาหาร หรือสิ่งสร้าง และได้แผ่ซ่านออกมาให้คนรอบข้างได้สัมผัสจากทุกอณูรูขุมขน เรื่องดังกล่าวทราบไปถึงอารามนักพรตหญิงไม่ทราบคณะแห่งหนึ่งในเมือง (ภายหลังได้กลายเป็นอารามคณะโดมินิกันภายหลังท่านเสียชีวิต และมีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นอารามคณะเบเนดิกติน) พวกเธอจึงได้เชิญชวนให้ท่านมาเข้าอารามของพวกเธอ ซึ่งในทีแรกก็ดูจะมีปัญหาอยู่บ้างจากการที่ไม่มีใครทราบที่มาที่ไปของท่าน รวมถึงท่านก็มิได้ยอมเปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าว แต่เมื่อคุณแม่อธิการอารามได้พิจารณาถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของท่านที่เป็นประจักษ์ภายในเมืองอย่างไม่ต้องสงสัยด้วยถี่ถ้วน และเห็นว่าชีวิตในอารามน่าจะเหมาสมกับท่าน คุณแม่จึงอนุญาตให้ท่านเข้ามาเป็นนักพรตภายในอารามได้ในทันที

เมื่อข่าวนี้ทราบไปถึงบรรดามิตรสหายของท่านในเมือง พวกเขาก็ต่างพร้อมใจกันมาส่งท่านเข้าอาราม ฝั่งบรรดานักพรตหญิงในอารามก็ต่างพากันยินดีที่จะได้รับท่านมาเป็นสมาชิก ส่วนท่านนั้นยิ่งยินดีกว่าใครที่ตนจะได้ถวายตนเป็นเจ้าสาวของพระคริสตเจ้าและได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือดวงวิญญาณผ่านคำภาวนาและการพลีกรรม ท่านตระหนักในใจว่าทุกคนที่เดินเข้ามาในอารามไม่ได้เป็นนักบุญอยู่แล้วพวกเธอถึงมาสมัครเข้าอาราม แต่เพราะพวกเธอปรารถนาจะเป็นนักบุญต่างหาก พวกเธอจึงได้สละทุกสิ่งและเลือกมาเจริญชีวิตในอาราม เพื่อจะได้เติบโตในความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าผ่านธรรมนูญที่เคร่งคัดในอาราม ดังนั้นเมื่อแรกเข้ามาท่านจึงตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเจริญชีวิตอย่างเคร่งคัดตามธรรมนูญของอารามเหมือนนักพรตคนอื่น ๆ ท่านนำความประหลาดใจไม่น้อยมายังบรรดานักพรตในอาราม ไม่ใช่เพียงเพราะการที่ท่านสามารถทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้เหมือนคนปกติไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาด จัดห้องหับต่าง ๆ ในอาราม ช่วยเตรียมกับข้าว จัดโต๊ะรับประทานอาหาร ล้างจาน และงานเมตาธรรมอื่น ๆ แต่ยังรวมถึงการดำเนินชีวิตที่เคร่งคัด


ระยะแรกการเจริญชีวิตตามธรรมนูญเดิมของอารามอย่างเคร่งคัดไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับบรรดาสมาชิกในอาราม เพราะพวกเธอเชื่อว่าไม่เกินสี่ถึงห้าสัปดาห์ท่านก็คงจะกลายเป็นเหมือนพวกเธอ แต่ปรากฏว่าแม้จะผ่านมาถึงเดือนที่สิบแล้วนับแต่วันที่พวกเธอต้อนรับท่านเข้ามา ท่านก็ยังคงเจริญชีวิตที่เคร่งคัดเหมือนเดิม แม้นวกจารย์อารามรวมถึงพวกเธอบางคนจะได้อธิบายให้ท่านฟังว่า เวลาได้เปลี่ยนไปแล้วธรรมนูญบางอย่างก็ต้องปรับเปลี่ยนไปโดยเน้นให้กิจการเมตตาธรรมนั้นมาก่อน โดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วยการถือความเงียบ แต่ท่านก็ไม่เข้าใจทำไมนักพรตไม่สามารถรักษาทั้งธรรมนูญเดิมและกิจการเมตตาธรรมให้ดำเนินไปพร้อมกันและยังคงปฏิบัติตัวเช่นเดิม เพราะท่านเศร้าใจยิ่งนักที่ในอารามที่ท่านรู้สึกขอบคุณสำหรับการต้อนรับกลับเต็มไปด้วยความหละหลวม ท่านจึงปรารถนาที่จะพาสมาชิกทุกคนให้กลับมาสู่รากเหง้าดังเดิม โดยตระหนักว่าหากการพูดนั้นไร้ผล แบบอย่างที่ดีก็จะพาพวกเธอกลับมา เช่นครั้งหนึ่งมีภรรยาของผู้มีอำนาจในเมืองในเสนอจะมอบกางเขนทำจากเงินให้ท่าน ท่านก็ได้ปฏิเสธไปเพราะสิ่งนี้ขัดกับศีลบนความยากจนที่ท่านปฏิญาณตน แม้มันจะสร้างความไม่พอใจให้กับหญิงผู้นั้นก็ตาม เป็นต้น

การปฏิบัติตัวของท่านดังนี้เป็นเหตุให้ในไม่ช้าบรรดาสมาชิกในอารามจึงเริ่มไม่พอใจในตัวท่านมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มเห็นว่าการที่ท่านอยู่ร่วมในอารามกับพวกเธอต่อไปไม่ใช่เรื่องที่ ‘น่าอภิรมณ์’ พวกเธอจึงได้รวมตัวกันไปฟ้องคุณแม่อธิการอารามถึงเรื่องนี้ คุณแม่จึงได้เรียกท่านมาพบและบอกกับท่านว่า “แม่รู้ว่าลูกทำไปด้วยประสงค์ดี แต่พฤติกรรมที่แปลกแยกของลูกกำลังทำลายความสงบของอาราม แม่จึงขอยืนยันให้ลูกปฏิบัติตามพี่น้องคนอื่น ๆ ในอาราม” ฝั่งท่านที่ได้ยินคำสั่งเช่นนี้ก็ตอบกลับคุณแม่ด้วยเสียงสั่นเทาว่า “คุณแม่ที่เคารพคะ ลูกได้คุยเรื่องนี้กับคุณพ่อจิตตาธิการหลายต่อหลายครั้ง และคุณพ่อก็ได้รับรองว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่พอพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้ามากค่ะ” คำขาดของคุณแม่อธิการในเรื่องวัตรปฏิบัติของท่าน นำความไม่สบายใจไม่น้อยมาสู่หัวใจของท่าน เพราะหากท่านเลือกปฏิเสธมโนธรรมที่บอกให้ท่านทำในสิ่งที่ถูกต้อง ท่านก็จะมีที่พักพิงต่อไปภายในอารามรวมถึงได้ไมตรีจากบรรดาพี่น้องในอารามคืนมา แต่หากท่านเลือกปฏิบัติตามมโนธรรม ท่านก็ต้องกลับไปขอทานข้างถนนดังเดิม


หลังจากครุ่นคิดอยู่ภายใน ท่านจึงเลือกที่จะปฏิบัติตามเสียงแห่งมโนธรรม ไม่ว่าในท้ายที่สุดการตัดสินใจครั้งนี้จะต้องแลกด้วยอะไร ท่านยังคงปฏิบัติตัวอย่างเคร่งคัดเหมือนดังเดิมในสันติดุจไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น เป็นผลให้ในไม่ช้าบรรดานักพรตที่เคยโอบรับท่านอยากอบอุ่น ได้กลับเป็นผู้ขับไล่ท่านออกไปจากอารามอย่างไม่ใยดี ซึ่งเมื่อท่านทราบเช่นนี้ความสับสนครั้งใหญ่ก็ได้ถาโถมเข้ามาในดวงวิญญาณของท่าน ภายในที่เคยเข้มเเข็งไม่ว่าจะเผชิญกับเรื่องใด ๆ ในชีวิตกลับเริ่มท้อแท้สิ้นหวัง ความรู้สึกถูกทอดทิ้งไม่เพียงจากเพื่อนมนุษย์ แต่ยังรวมถึงพระเจ้ากลืนกินวิญญาณที่เคยเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะคำภาวนานั้นดูช่างไร้ผล แต่ในเวลาที่ความสิ้นหวังกำลังกลืนกินวิญญาณของท่านอยู่นั่นเอง เมื่อท่านหยุดรำพึงถึงพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า ท่านก็ดูเหมือนจะได้ยินเสียงหนึ่งตรัสกับท่านว่า ‘มาร์เกอริตา ลูกจะทิ้งเราไปอีกคนงั้นหรือ’ พลันความสับสนต่าง ๆ ที่ภายในของท่านก็สงบลง ท่านจากอารามออกมาด้วยสันติและความพร้อมที่จะเผชิญทุกสิ่ง ที่องค์พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้ท่านด้วยพระญาณสอดส่องของพระองค์

ข่าวการออกจากอารามของท่านกลายเป็นข่าวใหญ่ในเมืองกิตตา ดิ กัสเตลโล พวกบรรดานักพรตในอารามที่ท่านจากมาได้พากันใส่ร้ายท่านต่าง ๆ นานาให้บรรดาชาวเมืองที่พบพวกเธอฟัง เพื่อทำให้พวกเธอมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำและปกปิดความจริงว่าชีวิตของพวกเธอในเหลวแหล่เพียงใด ในขณะที่ท่านมิได้ปริปากถึงเหตุผลที่ท่านถูกขับออกจากอารามให้ใครทราบเพื่อแก้ต่าง นี่เองเป็นเหตุให้ท่านตกเป็นขี้ปากของชาวบ้านชาวเมืองอยู่พักใหญ่ ๆ แม้หลายคนจะไม่เชื่อในข่าวลือดังกล่าวและพยายามเล่าถึงตัวตนที่แท้จริงของท่านแก้ข่าวนี้ไป แต่ชาวเมืองส่วนมากก็ดูจะเชื่อในเรื่องโกหกที่ลอยลอดออกมาจากอารามเสียมากกว่า ดังนั้นพวกเขาจึงต่างเยาะเย้ยและดูถูกดูแคลนท่าน ยามนี้เมื่อท่านเดินเหินไปทางใดของเมือง ไม่วายท่านจะต้องถูกพวกเด็ก ๆ ตามท้องถนนล้อเลียนว่า “นังคนแคระหลังค่อมคนนี้เป็นนักบุญ” นี่จึงนับเป็นกางเขนใหม่ที่ท่านต้องผ่านไป


ในระหว่างที่ต้องพบเจอคำครหานี้เอง ท่านก็ได้เริ่มไปมิสซาประจำวันที่วัดพระเมตตาธรรม ซึ่งดูแลโดยคณะโดมินิกัน ที่ก่อตั้งโดยนักบุญดอมินิกในช่วงต้นศควรรษที่ 13 และเป็นศูนย์กลางของนักบวชหญิง ‘มันเตลลาเต’ หรือนักบวชฆราวาสขั้นสามของคณะโดมินิกัน ที่รับสมัครหญิงหม้ายและหญิงสูงวัยที่ได้รับอนุญาตาจากสามีซึ่งปรารถนาจะดำเนินชีวิตเป็นนักบวช แต่มีเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถจะเข้าอยู่ในอารามเป็นนักบวชขั้นที่สองของคณะได้ พวกนักบวชหญิงประเภทนี้จะดำเนินชีวิตนักบวชที่เคร่งคัดทั้งที่บ้านและภายนอกบ้าน โดยจะสวมเครื่องแบบตัวยาวสีขาวของคณะ คาดด้วยเข็มขัดหนัง คลุมศีรษะด้วยผ้าสีขาว และมีผ้าคลุมสีดำคลุมตัวซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘มันเตลลาตา’ (Mantellata) จึงกลายมาเป็นชื่อของนักบวชกลุ่มนี้ ท่านเมื่อได้พบกับนักบวชประเภทดังกล่าวก็รู้สึกได้ถึงกระแสเรียกของท่านภายในคณะนักบวชนี้ ท่านจึงได้ขอสมัครเข้าเป็นนักบวชมันเตลลาเต และก็เป็นอีกครั้งที่ท่านต้องพบกับอุปสรรค์ เมื่อระเบียบของคณะได้กำหนดว่ามาชิกต้องเป็นหญิงหม้ายหรือหญิงที่มีครอบครัวแล้วเท่านั้น ซ้ำคณะก็ไม่เคยรับสมัครหญิงสาววัยรุ่นมาก่อน

แต่เมื่อบรรดาสหายของท่านได้ชี้ให้คุณพ่อเห็นถึงความพิการและความทุกข์ยากต่าง ๆ ที่ท่านประสบมา รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่คณะหากรับท่านมาเป็นสมาชิกก็ทำให้คุณพ่อลุยจิ พระสงฆ์ผู้ทำหน้าปกครองคณะโดมินิกันในเมืองกิตตา ดิ กัสเตลโลอนุญาตให้ท่านเข้าเป็นสมาชิกมันเตลลาเต ทำให้ท่านได้เข้าพิธีปฏิญาณตนในท่ามกลางความยินดีของบรรดามิตรสหาย และได้กลายเป็นมันเตลลาเตคนแรกที่เป็นเพียงหญิงวัยรุ่นซึ่งยังไม่เคยผ่านพิธีสมรสตามที่ปรากฏบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ภายหลังพิธีปฏิญาณตนครอบครัวที่พอมีกำลังในเมืองกิตตา ดิ กัสเตลโลจำนวนหนึ่งก็พากันเสนอตัวรับเป็นผู้ดูแลท่าน ซึ่งท่านก็ได้เลือกที่จะไปพำนักกับครอบครัวคหบดีของนายโอฟเฟรนดุชโชและนางเบอาตริเช ก่อนที่ในเวลาต่อมาท่านจะย้ายไปพำนักกับครอบครัวคหบดีของนายมาเชร์ตีและนางอิสกีนา


ในฐานะธิดาของนักบุญโดมินิก ท่านได้เจริญชีวิตติดตามจิตตารมณ์ของการสวดภาวนาและพลีกรรมอย่างเคร่งครัด ท่านทำพลีกรรมตามที่คณะกำหนด สวดบททำวัตรพร้อมสมาชิกคณะ ตื่นนอนตอนเที่ยงคืนเพื่อตื่นเฝ้า ถือพรตอดอาหารตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเทศกาลปัสกา นอนบนพื้นเปล่า และใช้อุปกรณ์ทรมานตน ทุกคืนเมื่อท่านได้ยินเสียงระฆังแจ้งเวลาเที่ยงคืน ท่านจะตื่นขึ้นมาเพื่อร่วมตื่นเฝ้ากับสมาชิกในคณะจนเสร็จภารกิจ ท่านก็จะใช้เวลาหลังจากนั้นในการรำพึงภาวนากับตัวเองต่อไป กระทั่งระฆังเช้าตีขึ้นราวตีสาม ท่านจึงจะออกจากที่พัก ค่อย ๆ คลำทางไปยังวัดพระเมตตาธรรมเพื่อแก้บาปและรับศีลมหาสนิทในมิสซาประจำวัน ซึ่งในบางคราวท่านก็ร่วมมากกว่าวันละหนึ่งมิสซา ท่านยังได้รับอนุญาตจากคุณพ่อวิญญาณณารักษ์ให้เฆี่ยนตีตัวเองได้สามครั้งต่อคืน ครั้งที่หนึ่งสำหรับความผิดบาปของท่าน ครั้งที่สองเพื่อความรอดของผู้อื่น และครั้งสุดท้ายเพื่อช่วยวิญญาณในไฟชำระ นอกเหนือจากนี้ทุกเช้าท่านยังสวดบทสดุดีทั้ง 150 บทของกษัตริย์ดาวิด บททำวัตรถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์ และเดินรูปสิบสี่ภาค ซึ่งท่านได้เรียนรู้ด้วยหนทางอันมหัศจรรย์ของพระเจ้าอีกด้วย

ไม่เพียงแต่ดำเนินฝ่ายจิตอย่างเข้มข้น เพราะท่านตระหนักดีกว่าประสบความทุกข์นั้นเป็นเช่นไร ท่านจึงอุทิศตัวช่วยเหลือผู้คนรอบข้างเหมือนดังที่ท่านทำมาตั้งแต่สมัยเริ่มเป็นชีวิตขอทาน เมื่อท่านทราบว่ามีคนป่วยที่ยากไร้อยู่ที่ใด ท่านก็จะเร่งนำยาไปให้พวกเขา หรือหากคนใดใกล้สิ้นใจท่านก็จะสอนให้พวกเขาปล่อยวางและมีความกล้าหาญในการเผชิญกับความตาย ท่านยังขอให้คนที่ปฏิเสธการกลับใจให้กลับใจ นักเขียวชีวประวัติของท่านรายหนึ่งพรรณนาว่า “เมื่อท่านสวดขอสิ่งนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่คนบาปผู้มีใจแข็งกระด้างจะไม่ยอมเปลี่ยงแปลงชีวิตของพวกเขา” นอกจากนี้หาเวลาไปเยี่ยมบรรดานักโทษในคุก รวมถึงคอยปลอบประโลมใจผู้ที่มีความทุกข์ที่เดินเข้ามาท่านอีกด้วย จนเป็นที่ประหลาดใจของชาวเมืองกิตตา ดิ กัสเตลโลที่พบเห็น ภาพของมันเตลลาเตที่ค่อย ๆ เดินกระเผลกไปพร้อมไม้เท้าคลำทาง เนื่องจากความมืดมิดของดวงตาเพื่อไปเยี่ยมบรรดาคนเจ็บป่วยและคนใกล้จะสิ้นใจ พวกเขาต่างเฝ้ามองท่านอย่างงุนงงที่เห็นบุคคลที่มีชีวิตทุพพลภาพหนึ่ง กลับมีแต่ความกังวลใจต่อความทุกข์ผู้อื่นมากกว่าตนเอง ซึ่งทีละนิดจากความสังเวชต่อภาพที่เห็น ชาวเมืองก็ต่างพบว่าพวกเขามีนักบุญอยู่ในเมืองของพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย


ในช่วงเวลาที่ท่านพำนักอยู่ที่บ้านของนายโอฟเฟรนดุชโช และนายมาเชร์ตีท่านยังได้แสดงอัศจรรย์ออกมาสองเหตุการณ์ที่ได้มีการบันทึกไว้ เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นที่บ้านของนายโอฟเฟรนดุชโช คราวนั้นบุตรชายเพียงคนเดียวของเขาถูกจับกุมในข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการโค่นล้มคณะผู้ปกครองเมืองกิตตา ดิ กัสเตลโล ซึ่งมีโทษตั้งแต่การจ่ายค่าปรับไปจนถึงการถูกนำตัวมาเฆี่ยนประจานไปตามท้องถนน และการประหารชีวิต ท่านก็ได้แจ้งกับนางเบอาตรีเช ผู้เป็นมารดาว่าบุตรชายของนางจะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องเสียค่าปรับหรือรับโทษใด ๆ และผลก็ปรากฏว่าไม่นานบุตรชายของนางก็ได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ได้รับอันตรายหรือจ่ายค่าปรับแต่อย่างใด ส่วนเหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นเมื่อท่านย้ายมาพำนักที่บ้านของนายมาเชร์ตี ที่บ้านหลังนี้ท่านสนิทกับลูกสาวเพียงคนเดียวของเขาชื่อ ฟรังเชสกา ท่านมักเล่าให้เธอฟังถึงความว่างเปล่าของโลกและความสวยงามของการรับใช้ให้เธอฟังเสมอ จนทำให้ฟรังเชสกาปรารถนาจะบวชเป็นมันเตลลาเตเหมือนกับท่าน แต่บิดามารดาของเธอก็มิได้ยินยอมเพราะพวกเขาปรารถาให้เธอได้ออกเรือนไปมากกว่า วันหนึ่งท่านจึงได้บอกกับนางอิสกีนาว่า ในไม่ช้านางและธิดาจะได้สวมมันเตลลาตา และเพียงไม่กี่เดือนต่อมานายมาเชร์ตีก็ล้มป่วยลงอย่างกระทันหันและเสียชีวิตลง นางอิสกีนาที่เสียใจก็บังเกิดดวงตาเห็นธรรมและได้ตัดสินใจสมัครเข้าอารามไปตามคำทำนายของท่านในที่สุด

ภายหลังของการเสียชีวิตของนายมาเชร์ตี ท่านจึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านของนายเวตูรีโน พ่อค้าผู้มีภรรยาคือนางเกรโกรีอา หรือ กรียาและลูกน้อยสองคน ซึ่งแม้ท่านจะมองไม่เห็นแต่ท่านก็สัมผัสได้ว่าบ้านหลังนี้มีความโอ่อ่าหรูหรา ท่านจึงขอเพียงห้องใต้หลังคาของบ้านซึ่งมีลักษณะเหมือนตู้เสื้อผ้าขนาดเล็กเป็นที่พักเพราะท่านปรารถนาจะใช้ชีวิตอย่างยากไร้ในการติดตามองค์พระเยซูเจ้า ฝ่ายนายเวตูรีโนที่ให้ภรรยาเตรียมห้องนอนอย่างดีไว้ให้ท่านก็ประหลาดใจ แต่ท้ายที่สุดเขาก็จำต้องยอมตามที่ท่านประสงค์เพราะเข้าใจดีว่าที่ปรารถนาเพราะเหตุใด และเพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจดีของครอบครัวนี้ ท่านไม่เพียงคอยดูแลลูก ๆ ทั้งสองของนายเวตูรีโนให้เติบโตเป็นคริสตังที่ดี แต่ท่านยังคอยช่วยทวนบทเรียนให้ทั้งสองคนเวลากลับจากโรงเรียน และอธิบายแก้ไขในสิ่งที่พวกเขาเข้าใจผิดทั้งในวิชาตรรกศาสตร์ ดาราศาสตร์ ไวยากรณ์ภาษาละติน และดนตรีโดยที่ท่านไม่เคยได้รับการสอนจากที่ไหน เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจให้คนในครอบครัวที่ท่านพำนักอยู่ไม่น้อยทีเดียว


เมื่อพำนักอยู่ที่บ้านหลังนี้ท่านยังได้ทำอัศจรรย์อีกหลายครั้ง ครั้งหนึ่งบุตรสาวของหลานสาวนางกรียา ซึ่งเป็นลูกทูนหัวของท่านล้มป่วยหนักและใกล้จะสิ้นใจเต็มที ท่านที่รักเด็กน้อยคนนี้มากจึงเฝ้าสวดภาวนาอยู่หน้าประตูบ้านของเธอเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อวอนขอให้พระเจ้าทรงโปรดเมตตารักษาเธอ กระทั่งระฆังตีบอกเวลาเที่ยงคืน ก็ปรากฏว่าเด็กหญิงได้หายจากอาการป่วยและได้แจ้งว่าตนเองนั้นหายจากอาการทุกอย่าง ด้วยผลแห่งการภาวนาของแม่ทูนหัวของตนเอง อีกครั้งหนึ่งมีภคินีในคณะเดียวกันกับท่านชื่อ เวนตูเรลลา ป่วยเป็นโรคเนื้องอกจนดวงตาใกล้จะบอดสนิท แพทย์ที่เก่งที่สุดในเวลานั้นแจ้งว่าเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถรักษาเธอได้ไหม และได้เสนอวิธีรักษาราคาแพงที่เธอไม่สามารถจ่ายไหว ด้วยความทุกข์ใจเธอจึงรีบตรงมาหาท่านเพื่อแสวงหาความบรรเทาใจ ท่านเมื่อทราบเรื่องทั้งหมดก็ได้ปลอบเธอว่า “พระเจ้าทรงมอบของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้ซิสเตอร์ เป็นของขวัญที่ดีเลิศเลยนะคะ มันเป็นโอกาสให้ซิสเตอร์ได้ชิดสนิทกับพระองค์มากขึ้น เพื่อนรัก จงน้อมรับมันไว้เถิดค่ะ น้อมรับมันไว้” ฝั่งซิสเตอร์เวนตูเรลลาก็สวนทางกลับว่า “น้อมรับการตาบอดงั้นหรือ ไม่มีทางดอก” ฝั่งท่านเมื่อได้ยินเช่นนั้นก็ไม่ได้ต่อว่าอะไรเธอและได้ถามว่าเธอปรารถนาให้ท่านใช้มือปิดตาเธอไหม และทันทีที่มือของท่านสัมผัสกับดวงตาของซิสเตอร์เวนตูเรลลา อาการเนื้องอกของเธอก็หายไป เธอกลับมามองเห็นได้อย่างชัดเจนอย่างน่ามหัศจรรย์

คราวหนึ่งในฤดูหนาวเมื่อครอบครัวนายเวตูรีโนออกมาทำธุระข้างนอกบ้าน ก็ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านของครอบครัวโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้ว่ากองดับเพลิงประจำเมืองจะรีบรุดเข้าไปดับไฟแต่ก็ยังไม่อาจคุมไฟให้สงบลงได้ นางกรียาที่นึกได้ว่าวันนี้ท่านยังไม่ออกไปทำงานเมตตาที่ไหน แต่ยังคงสวดภาวนาอยู่ที่ห้องใต้หลังคา นางจึงพยายามฝ่าฝูงชนเข้าไปในตัวบ้านเพื่อเรียกท่านให้ลงมาจากห้องใต้บันได กระนั้นนางก็ถูกรั้งไม่ให้ทำเช่นนั้น นางจึงตะโกนเรียกท่านจากด้านนอกบ้าน ฝั่งท่านที่ได้ยินดังนั้นก็ออกมาที่หน้าต่างบานหนึ่ง และได้แจ้งกับนางกรียาว่า “กรียาอย่ากลัวไปเลย จงวางใจในพระเจ้า” แล้วท่านก็หยิบมันเตลลาตาของท่านโยนเข้าไปในกองไฟ พลันเพลิงที่ไม่มีท่าทีจะสงบก็ดับลงในพริบตา


วันหนึ่งท่านและนางกรียาที่ได้รับอนุญาตจากสามีให้เดินทางไปเยี่ยมนักโทษในคุกร่วมกับท่าน ได้พบกับชายชื่อ อลอนโซจากเมืองซานมารีโอ เขาเป็นนักโทษเพราะพี่ชายของเขาซึ่งต้องข้อหาเป็นกบฏได้แหกคุกหนีไปได้ แม้เขาจะยืนยันว่าตนเองไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ทางสภาเมืองก็ได้ตัดสินจำคุกและทรมานเขาเพื่อให้ยอมรับสารภาพ ผลของการจำคุกเป็นระยะเวลานานส่งผลให้ฐานะของครอบครัวของเขาที่มีเพียงภรรยาและลูกชายอายุยังน้อยชื่อ อันโตนีโอ ตกอยู่ในสภาพแรงแค้นอย่างถึงที่สุด เป็นผลให้ในเวลาต่อมาเด็กชายอันโตนีโอก็เสียชีวิตลงเพราะความอดอยาก ข่าวนี้สร้างความทุกข์ใจเป็นอันมากให้กับนายอลอนโซ เขาเริ่มดูหมิ่นพระยุติธรรมและพระเมตตาของพระเจ้า และพยายามฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้งอย่างสิ้นหวัง ในวันนั้นขณะนางกรียาคุกเข่าทำแผลให้นักโทษคนหนึ่ง บรรดานักโทษในห้องขังก็เห็นท่านที่แยกไปยืนสวดภาวนาค่อย ๆ ลอยขึ้นสูงจากพื้นประมาณครึ่งเมตรและลอยเคว้งอยู่อย่างนั้นสักพักหนึ่ง มือของท่านประสานในท่าสวดภาวนา ในขณะที่ศีรษะเงยขึ้นเหมือนเห็นบางสิ่งบนเพดาน ชั่วระยะหนึ่งท่านจึงลอยกลับลงมา ทันทีเมื่อถึงพื้นใบหน้าที่พิกลพิการของท่าน ก็กลับเรืองแสงและงดงามขึ้นอย่างน่าประหลาด เหตุอัศจรรย์นี้อยู่ในสายตาของนายอลอนโซและได้เปลี่ยนจิตใจที่สิ้นหวังของเขา เขาบอกกับท่านว่า “มาร์เกอริตาน้อย ช่วยสวดให้ผมด้วย”

ในช่วงปีท้าย ๆ ของชีวิตท่านได้เผยให้คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่านทราบว่า ทุกครั้งที่ท่านร่วมมิสซา ท่านได้เห็นองค์พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดบนพระแท่นอยู่เสมอ ด้วยความสงสัยคุณพ่อจึงถามท่านกลับว่า “จะเป็นได้อย่างไรเมื่อลูกนั้นตาบอด” ท่านจึงเผยความลับถึงพระพรอีกประการที่พระเจ้าทรงประทานให้ท่านตลอดมาว่า “ตั้งแต่ภาคถวายเรื่อยไปจนการรับศีลมหาสนิทลูกไม่เห็นแม้แต่พระสงฆ์หรือไม้กางเขนหรือมิสซาหรือสิ่งใด ลูกเห็นแต่เพียงองค์พระเยซูเจ้าเท่านั้น” คุณพ่อที่ไม่สิ้นสงสัยจึงถามท่านต่อว่า “แล้วองค์พระผู้เป็นเจ้ามีลักษณะเช่นไรเมื่อลูกเห็นในระหว่างมิสซา” ท่านก็ตอบกลับเพียงว่า “โอ้ คุณพ่อคะ คุณพ่อปรารถนาให้ลูกอธิบายถึงความรักอันไร้ขอบเขตหรือคะ” อัศจรรย์ในชีวิตของท่านยังมีอีกมาก มีรายงานว่าท่านเข้าสู่สภาวะฌานหลายครั้งในระหว่างมิสซาและลอยขึ้นในระหว่างสวดภาวนาอยู่บ่อยครั้งอีกด้วย

เสื้อของนักบุญมาร์เกอริตาที่ถูกนำกลับไปยังบ้านเกิดของท่าน

ท่านเจริญชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ จนมีวัยล่วงได้ 33 ปี นักเขียนชีวประวัติของท่านคนหนึ่งได้อธิบายว่า เมื่อท่านมีอายุเท่านี้วิญญาณของท่านก็ผุดผ่องเกินกว่าร่างกายของมนุษย์จะรับไหว ทำให้ท่านล้มป่วยหนัก ท่านที่รู้ว่าถึงเวลาที่ท่านจะจากไปรับบำเหน็จในสวรรค์ดี จึงได้ขอให้ตามพระสงฆ์มาโปรดศีลเจิมให้ท่าน และเมื่อท่านได้รับศีลเจิม ท่านโมทนาคุณพระเจ้าและจากไปอย่างสงบ ในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1320 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่สองของเทศกาลปัสกา ช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่ท่านได้จากโลกนี้ไปภายใต้ปราสาทเหมือนตอนที่ท่านลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก แต่ครั้งนี้ต่างออกไปเพราะท่านไม่ได้ถูก ‘ทำให้ลืม’ โดยผู้คนที่รายล้อม แต่กลับถูก ‘จดจำ’ โดยผู้คนจำนวนมากที่ได้ต่างเห็นพ้องกันว่าท่านเป็นนักบุญไม่ว่าจะมีการประกาศรับรองหรือไม่จากทางสันตะสำนัก

“อย่างฝังเธอในอาราม ฝังเธอในวัด เธอเป็นนักบุญ ฝังเธอในวัด” เมื่อมีพิธีปลงศพชาวเมืองที่ต่างทราบข่าวการจากไปของท่านต่างมาร่วมพิธีกันจนล้นวัด และต่างพากันประท้วงไม่ให้ทางคณะโดมินิกันนำร่างของท่านไปฝังยังสุสานของอารามตามธรรมเนียม จนเกิดเป็นการความวุ่นวายภายในวัดระหว่างคณะที่ประสงค์จะนำร่างท่านไปฝังในอาราม กับสัตบุรุษที่ต่างต้องการให้นำร่างท่านฝังไว้ที่วัดพระเมตตาธรรมถึงขั้นจะลงไม้ลงมือกัน แต่ในระหว่างที่ตกลงกันไม่ได้เสียที สามีภรรยาคู่หนึ่งก็ได้นำบุตรสาวที่พิการของพวกเขาฝ่าฝูงชนเข้ามาวางข้างร่างของท่าน เด็กหญิงผู้นี้ไม่เพียงเกิดมามีกระดูกสันหลังคดงอจนเดินไม่ได้แต่กำเนิด แต่ยังเป็นใบ้อีกด้วย พวกเขาต่างคุกเข่าสวดภาวนาวอนขออัศจรรย์ ทุกฝ่ายที่กำลังโต้เถียงกันก็พร้อมใจกันร่วมภาวนาไปกับทั้งสอง ทันใดนั้นเองพระเจ้าก็ทรงส่งเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อระงับข้อพิพาทครั้งนี้ เมื่อร่างไร้วิญญาณของท่านได้ยกแขนซ้ายขึ้นมาสัมผัสกับร่างของเด็กหญิงผู้น่าสงสาร และทันใดเด็กหญิงก็ลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองได้ และเปล่งเสียงออกมาว่า “หนูหายแล้ว หนูหายแล้ว หนูหายแล้วเพราะท่านมาร์เกอริตา”


เหตุอัศจรรย์ครั้งนี้ทำให้ทางคณะโดมินิกันตัดสินฝังร่างของท่านไว้ในวัดโดยได้ส่งร่างของทำไปทำการรักษาศพตามกรรมวิธีในยุคนั้นเพื่อรอการเตรียมที่บรรจุร่างของท่าน ด้วยการผ่านำหัวใจและลำไส้ออกมา ก่อนที่จะบรรจุร่างของท่านภายในวัด หลังจากนั้นเป็นต้นมาหลุมศพของท่านก็กลายเป็นสถานที่แสวงบุญของผู้คนทั้งใกล้ไกลที่ต่างได้ยินเรื่องราวของท่าน และอัศจรรย์จำนวนมากก็ได้เกิดขึ้นผ่านคำเสนอวิงวอนของท่านอยู่ตลอดเวลา ที่มีบันทึกการไต่สวนอย่างเป็นทางการก็มีถึง 9 รายการ มีทั้งการรักษาโรคที่รักษาไม่หายและการทำให้คนตายฟื้นคืนชีวิต แต่ก็ไม่ได้มีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญอย่างเป็นทางการ จากทั้งปัญหาของสงคราม โรคระบาด และการเพิกเฉยของผู้มีอำนาจ จนเวลาล่วงไปกว่าสองร้อยปีในศตวรรษที่ 16 จึงมีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านอย่างเป็นทางการ โดยพระสังฆราชผู้มีอำนาจปกครองเมืองกิตตา ดิ กัสติลโลในเวลานั้นได้ตั้งคณะแพทย์ นักบวช และฆราวาสที่มีชื่อเสียงให้ตรวจสอบหัวใจที่ถูกนำออกมาจากร่างของท่านตั้งแต่ก่อนฝัง 

ผลปรากฏว่าหัวใจของท่านยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แม้กาลเวลาจะล่วงมากกว่าสองร้อยปี และเมื่อทำการผ่าพิสูจน์ก็พบว่าภายในมีวัตถุทรงกลมคล้ายไข่มุกอยู่ถึง 3 เม็ด เม็ดแรกมีรูปทารกนอนอยู่ในรางหญ้ามีสัตว์สองตัวขนาบข้าง เม็ดที่สองมีรูปสตรีสวมมงกุฏ และเม็ดที่สามมีรูปชายชรา หญิงสวมชุดคณะโดมินิกันกำลังคุกเข่า และนกพิราบ การค้นพบวัตถุทรงกลมคล้ายไข่มุกภายในหัวใจของท่านนี้ ชวนให้นึกถึงความศรัทธาของท่านที่มีต่อการรับเอากายและการบังเกิดขององค์พระเยซูเจ้า พระนางมารีย์ และนักบุญยอแซฟ รวมถึงถ้อยคำปริศนาที่ท่านเคยเอ่ยว่า “โอ้ ถ้าเธอได้รู้ว่าอะไรอยู่ในหัวใจของฉัน เธอจะต้องแปลกใจ”


หลังจากนั้นร่างของท่านจึงถูกขุดขึ้นมาตรวจสอบในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1558 และพบว่าแม้เสื้อผ้ารวมถึงโลงของท่านจะผุพังไปตามกาลเวลา ร่างของท่านยังคงไม่ได้เน่าสลายไป มีการตรวจสอบพบว่าท่านมีความสูงที่ผิดปกติคือเพียง 120 ซม. ขาขวาของท่านสั้นกว่าขาซ้ายอยู่ 4 ซม. จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่านเดินกระเผลก เมื่อมีการตรวจสอบร่างของท่าน รวมถึงรวบรวมชีวประวัติและการอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาศัยคำเสนอวิงวอนตลอดสองร้อยปีที่ผ่านมาของท่านเรียบร้อยแล้ว จึงมีการส่งเอกสารทุกอย่างไปยังสมณะกระทรวงว่าด้วยจารีต ที่เวลานั้นยังรับหน้าที่ดูแลเรื่องการแต่งตั้งนักบุญให้รับรองคำตัดสินของสังฆมณฑลว่าท่านสมควรเป็นบุญราศี เนื่องจากก่อน ค.ศ. 1634 อำนาจในการประกาศบุคคลหนึ่งเป็นบุญราศีเป็นของพระสังฆราชท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งในเวลาต่อมาในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1609 สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 5 ก็ทรงรับรองการตัดสินใจดังกล่าวโดยอนุญาตให้คณะโดมินิกันในภูมิภาคเปรูยาสามารถทำมิสซาและสวดทำวัตรระลึกถึงท่านได้ (Concession of Mass and Office) จึงทำให้ท่านมีสถานภาพเป็น ‘บุญราศี’ ในพระศาสนจักรอย่างเป็นทางการโดยอัตโนมัติ

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 10 ได้ทรงประกาศให้คณะโดมินิกันทั่วโลกสามารถทำมิสซาและทำวัตรระลึกถึงท่านได้ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1675 หลังจากนั้นอีกกว่าสามร้อยปีเมื่อพระศาสนจักรเล็งเห็นว่าชื่อเสียงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของท่านไปแผ่ไปทั่วโลก จึงเห็นสมควรที่จะให้รับรองความศักดิ์สิทธิ์ของท่านในฐานะ ‘นักบุญ’ จึงได้มีการดำเนินการตรวจสอบด้านประวัติศาสตร์อีกครั้งโดยสมณะกระทรวงว่าด้วยการสถาปนานักบุญใน ค.ศ. 2020 เป็นต้นมา และภายหลังจากการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2021 สมเด็จพระสันปาปาฟรานซิสจึงได้ทรงสถาปนาท่านเป็นนักบุญ ในกรณีพิเศษนั่นคือไม่ต้องมีอัศจรรย์ครั้งที่สองมาประกอบรวมถึงไม่มีการจัดพิธี เป็นการสถาปนาแบบเทียบเท่า (Equipollent Canonizations) ซึ่งทำให้ท่านมีสถานะนักบุญโดยอัตโนมัติ ในทำนองเดียวกับคราวบันทึกนามท่านในสารบบบุญราศี


พระเจ้าทรงมอบชีวิตของนักบุญมาร์เกอริตาเพื่อสอนมนุษย์ให้มีความหวังเสมอในการทรงนำของพระองค์ และทรงเชื้อเชิญให้เรานำเอาแบบฉบับนี้ไปเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจ เพราะพระองค์ได้ทรงเผยแสดงไว้ก่อนจะทรงจากบรรดาอัครสาวกเพื่อไปเตรียมที่ในสวรรค์ให้พวกเขาว่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้ในโลก แต่เพราะพระองค์ทรงชนะโลกแล้ว จึงไม่มีสิ่งใดต้องกังวลใจ (เทียบ ยอห์น 16: 33) และก่อนหน้านั้นหลายร้อยปี ประกาศกนาฮูม ชาวเมืองเอลโขช ก็ได้สรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเผยแสดงนิมิตกรุงนีนะเวห์ว่า “เตด พระเจ้าทรงพระทัยดี ทรงเป็นป้อมปราการเข้มแข็ง ในยามทุกข์ยาก โยด พระองค์ทรงรู้จักผู้วางใจในพระองค์ แม้เมื่อน้ำไหลบ่ามาท่วม” (นาฮูม 1: 7-8) ดังนั้นมนุษย์ในโลกและความทุกข์จึงเป็นของคู่กัน แต่มนุษย์ผู้ต้องเผชิญความทุกข์นั้นก็ไม่ได้สิ้นหวังสิ้นหนทางในการรับมือกับความทุกข์เหล่านี้ ในขณะที่วาจาเผยให้เห็นคุณค่าของความทุกข์ที่นำไปสู่การร่วมส่วนในชัยชนะเหนือโลกกับองค์พระเยซูเจ้า คำสรรเสริญของท่านประกาศกนาฮูมได้เผยให้เห็นว่าในความทุกข์ยากเหล่านั้น องค์พระเจ้าทรงเป็นที่พักพิงหลบภัยสำหรับมนุษย์  พระองค์จะไม่ทรงเบือนพระพักตรหนีมนุษย์ผู้วอนขอพระเมตตา แม้ในเวลาที่เขาตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ที่สุดและดูจะสิ้นหวังในโลก เพียงขอให้เขาวางใจเข้าพำนักในพระองค์ 

นักบุญมาร์เกอริตาได้ตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ดี ท่านทราบถึงคุณค่าของความทุกข์ได้มีส่วนในการชำระท่านให้มีส่วนร่วมในชัยชนะของพระเยซูเจ้าอย่างเหมาะสม และท่านก็ตระหนักดีว่าไม่ว่าเวลาไหน แม้ในเวลาที่ถูกบิดามารดาทอดทิ้งให้เป็นขอทาน หรือถูกเพื่อนมนุษย์ปฏิเสธ เมื่อท่านเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องตามมโนธรรมจากพระจิต พระเจ้าไม่เคยปฏิเสธและพร้อมจะเป็นที่พักพิงให้ท่านผ่านความยากลำบากต่าง ๆ ไป ท่านจึงวางใจและมอบตนเองทั้งครบไว้ในการทรงนำ นี่เองจึงทำให้ท่านไม่สูญเสียความสุข ความหวัง และความเชื่อในการดำเนินชีวิตคริสตังที่ดีตลอดชีวิตที่แสนยากลำบาก ดังนั้นในท้ายนี้ขอให้เรามีใจกล้าหาญ ตระหนักถึงคุณค่าของความทุกข์ยาก และมอบความวางใจเข้าพักพิงในพระเจ้า ผู้ทรงมีชัยเหนือโลก เป็นป้อมปราการที่เข้มแข็ง และทรงจดจำเราได้เสมอเช่นเดียวกับที่ท่านนักบุญมาร์เกอริตาได้ทำด้วยเถิด อาแมน
รูทราย เทเรซีโอของพระเยซู
19 พฤษภาคม ค.ศ. 2023


“ข้าแต่ท่านนักบุญมาร์เกอริตา แห่ง กิตตา ดิ กัสเตลโล ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
http://www.causesanti.va/it/santi-e-beati/margherita-di-citta-di-castello.html
http://conoscendo.altervista.org/primo-articolo/?doing_wp_cron=1642416331.0312769412994384765625
https://www.op.org/st-margaret-of-citta-di-castello/biography-of-st-margaret-of-citta-di-castello/
http://prieststuff.blogspot.com/2011/02/blessed-margaret-of-castello-patroness.html
https://catholicism.org/blessed-margaret-castello.html
https://www.afcmmedia.org/Mystical-04.html
https://www.beatamargheritadellametola.it/
http://www.santiebeati.it/dettaglio/90763
https://messaggerosantantonio.it/content/margherita-da-citta-di-castello-finalmente-santa
https://en.wikipedia.org/wiki/Margaret_of_Castello

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนแรก

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน ในโอกาสที่วันฉลองพระหฤทัยของพระเย...