วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566

คือรัก ศรัทธา และวางใจ 'ยานนา' ตอนแรก

นักบุญยานนา เบเร็ตตา โมลลา
St. Gianna Beretta Molla
องค์อุปถัมภ์: มารดา, แพทย์, เด็กที่ยังไม่เกิด
วันฉลอง: 28 เมษายน

บทความในวันนี้เป็นอีกครั้งที่ผู้เขียนได้ย้อนกลับไปดูบทความเก่า ๆ ที่เคยเรียบเรียงไว้เมื่อนานมาแล้ว เพื่อค่อย ๆ ทะยอยปรับปรุงบทความเก่า ๆ ไปพร้อม ๆ กับนำเสนอบทความใหม่ ๆ ในบทความที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอนักบุญผู้มีชีวิตอยู่เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว คือ นักบุญมาร์เกอริตา แห่ง กิตตา ดิ กัสติลโล ในการนำเสนอบทความใหม่ ผู้เขียนจึงอยากสลับกับมาที่นักบุญซึ่งมีชีวิตอยู่ไม่ไกลจากปัจจุบันสมัยของเราบ้าง เมื่อคิดอยู่นานผู้เขียนจึงตัดสินใจเลือกเรื่องของนักบุญยานนา ที่ผู้เขียนมีความชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และเคยเผยแพร่เป็นบทความในชื่อ “ดิฉันชอบที่จะตายดีกว่าทำบาป “จันนา เบเร็ตตา โมลลา”” เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 มาเกลาคำเพิ่มเติมรายละเอียดเสียใหม่ จนได้เป็นบทความขนาดยาว ผู้เขียนจึดได้ตัดสินใจเขียนขึ้นเป็นบทความใหม่ รวมถึงปรับการเรียกนามท่านเป็น ‘ยานนา’ แทน ‘จันน่า’ และขอลบบทความชิ้นเดิมไป - รูทราย เทเรซีโอของพระเยซู
 
บางครั้งเรื่องราวของนักบุญองค์หนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยเหตุอัศจรรย์ ความน่าพิศวง หรือเครื่องหมายประหลาดเสมอไป เรื่องราวที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้เริ่มขึ้นอย่างธรรมดา ในวันฉลองนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศอิตาลีอย่างท่านนักบุญฟรังเชสโก ชาวอัสซีซี ผู้ตั้งคณะฟรังซิสกันและผู้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์อันเลื่องชื่อ เมื่อเด็กหญิงคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นบ้านในชนบทเมืองมาเจนตา จังหวัดมิลาน แคว้นลอมบาร์เดีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอิตาลี ซึ่งครอบครัวคริสตังขนาดใหญ่ของนายอัลแบร์โต เบเร็ตตา และนางมารีอา เด มิเกลี สองสามีภรรยาผู้เป็นสมาชิกคณะฟรังซิสกันขั้นสาม และอาศัยอยู่ที่ตัวเมืองมิลาน ได้เดินทางมาพำนักที่บ้านบิดามารดาของนายอัลแบร์โต ในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1922 เด็กหญิงผู้พึ่งจะตาลืมดูโลกนี้และเป็นนางเอกของเรื่องราวของเราในวันนี้เป็นลูกคนที่สิบจากบรรดาลูกทั้งสิบสามคนของสองสามีภรรยา และคล้อยหลังเจ็ดวันที่ลืมตาดูโลก เด็กหญิงก็ได้รับศีลล้างบาปที่มหาวิหารซาน มาร์ติโน ด้วยชื่อ ‘โยวันนา ฟรังเชสกา’ และตามความนิยมเรียกเด็กหญิงที่ชื่อโยวันนาว่า ‘ยานนา’ ชื่อนี้จึงกลายมาเป็นชื่อของเด็กหญิงผู้นี้ไป

ครอบครัวเบเร็ตตา

บิดาของท่าน นายอัลแบร์โต พื้นเพเดิมเป็นคนเมืองมาเจนตามาแต่กำเนิด เขาเป็นคริสตังใจศรัทธา ขยันขันแข็ง และร่าเริงแจ่มใส ทุกวันเขาจะตื่นแต่เช้าเพื่อไปรับศีลมหาสนิท ก่อนจะเริ่มออกไปทำงานเป็นลูกจ้างหาเลี้ยงครอบครัวในพระนามของพระเจ้าที่โรงงานฝ้าย ในเมืองมิลาน ครั้งหนึ่งเพื่อให้บรรดาบุตรธิดาได้มีการศึกษาดี เขายอมที่จะลดค่าใช้จ่ายส่วนของตัวเอง อาทิ ค่าบุหรี่ เพื่อให้มีเงินเพิ่มขึ้นในการส่งเสียบุตรธิดาทั้งหมด ส่วนมารดาของท่าน นางมารีอา เด มิเกลี พื้นเพเดิมเป็นคนเมืองมิลาน เธอเป็นคริสตังใจศรัทธา มีใจลุกร้อนไปด้วยความรัก ถ่อมตน แต่ก็เข้มแข็ง หนักแน่น เด็ดเดี่ยวในเวลาเดียวกัน ทุกเช้านางจะเร่งตื่นมาปลุกให้ลูก ๆ ของนางไปมิสซาพร้อมกัน และคอยดูแลเอาใจใส่ลูก ๆ ทุกคน คอยแก้ไขความประพฤติ และสอนให้พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขาผิดอย่างไร รวมถึงสอนให้รู้จักมัธยัสถ์ รู้จักใช้ชีวิตเรียบง่าย และมีความสุข แม้ในครอบครัวเบเร็ตตาจะไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงินก็ตาม มากกว่านั้นนางยังขวยขวายไปเรียนภาษาละตินและกรีกเพิ่มเติมเพื่อช่วยเรื่องการเรียนของบุตรธิดาได้มากขึ้น รวมถึงมักตัดเย็บเสื้อผ้าให้ลูก ๆ ของนางเองแทนการซื้อหา เพื่อจะได้มีเงินเก็บส่งให้บรรดาธรรมทูตที่เดินทางไปแพร่ธรรม

สองสามีภรรยาเชื่อว่าการให้การเลี้ยงดูบุตรธิดาให้เติบโตในทางที่ควร คือสามารถประกอบสัมมาอาชีพที่สนใจ ในขณะเดียวกันก็เป็นคริสตังที่ดีและใช้ความรู้ความสามารถของตนรับใช้ผู้คนรอบข้าง เป็นการพันธกิจจากพระเจ้าสำหรับพวกเขา ทุกเช้าสองสามีภรรยาจะปลุกและพาลูก ๆ ทุกคนไปร่วมมิสซาแต่เช้าตรู่ ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำกิจวัตรต่าง ๆ และเมื่อจบวันทั้งสองจะพาทุกคนร่วมกันสวดสายประคำที่ภายในบ้าน แล้วจึงรื้อฟื้นการถวายครอบครัวดาดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ตามด้วยบทภาวนาอื่น ๆ ตามสมควร หลังจากนั้นทั้งสองจะนำลูก ๆ ใช้เวลาหย่อนใจร่วมกัน บางครั้งก็ด้วยการดีดเปียโนและร้องเพลง แต่บางครั้งก็ด้วยการนั่งพูดคุยถึงเรื่องระหว่างวันที่แต่ละคนพบมา ซิสเตอร์วีร์ยีเนีย น้องสาวของท่านเล่าถึงบรรยากาศในครอบครัวนี้ว่า “ไม่เคยมีคำพูดที่รุนแรงและคำสบถมาทำลายสันติในครอบครัว ไม่เคยมีการตำหนิจากคุณแม่โดยที่คุณพ่อไม่สนับสนุนเช่นเดียวกันในทางตรงกันข้าม พวกท่านเห็นตรงกันเสมอ พวกท่านรักลูกมาก ๆ และมุ่งหวังให้ลูก ๆ ทุกคนมีเสียงและรูปที่สมบูรณ์แบบ บรรยากาศของบ้านจึงเต็มไปด้วยความสุขและสันติ แต่ก็ไม่ละเลยการทำโทษและการชี้ให้เห็นความผิดบกพร่องที่จำเป็น” นอกจากนี้สองสามีภรรยายังปลูกฝังให้ลูก ๆ รู้จะสละน้ำใจตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เด็ก ๆ บ้านเบเร็ตตาจึงถูกสอนให้พอใจในสิ่งเล็ก ๆ ไม่หลงไหลในความฟุ่มเฟือย และรู้จักอดออมเพื่อจะช่วยเหลือผู้อื่น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าท่านเติบโตมาในบรรยากาศของคริสตังที่ดีเลยทีเดียว และในบรรยากาศเช่นนี้พระเจ้าก็ทรงอวยพระพรให้สมาชิกจำนวน 3 คนได้ถวายตนเป็นนักบวชในเวลาต่อมา 

นักบุญยานนาในวันรับศีลมหาสนิทครั้งแรก

เมื่อท่านอายุได้ 3 ปี ครอบครัวเบเร็ตตาก็ได้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปสามคนจากโรคไข้หวัดสเปน รวมถึงอมาเลีย ลูกสาวคนโตจากบรรดาลูกเพียงแปดคนที่มีชีวิตรอดเริ่มป่วยด้วยโรควัณโรค ทำให้ใน ค.ศ. 1925 บิดามารดาของท่านตัดสินใจย้ายจากบ้านที่ปีอัซซา ริโซร์ยิเมนโต ซอย 10 เมืองมิลานไปยังบ้านที่บอร์โก กานาเล ซอย 1 เมืองแบร์กาโม ซึ่งมีอากาศที่ดีขึ้นแทน เป็นผลให้ทุกเช้านายอัลแบร์โตหลังจากร่วมมิสซาเช้าจะต้องนั่งรถไฟเข้ามาทำงานที่โรงงานฝ้ายที่เมืองมิลาน จึงทำให้ภาระการดูแลบุตรธิดาทั้งแปดตกอยู่กับนางมารีอา ซึ่งนางก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีเยี่ยม ที่แบร์กาโมแห่งนี้ หลังจากย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังใหม่ได้สองปี ท่านในวัย 5 ขวบครึ่งก็ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกที่วัดนักบุญกราตา เมืองแบร์กาโม ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1928 และตั้งแต่นั้นมาท่านก็ไม่เคยขาดการไปร่วมมิสซาและรับศีลมหาสนิทในทุกเช้าเพื่อหล่อเลี้ยงวิญญาณ ไม่ว่าวันนั้นจะมีสภาพอากาสเป็นแบบไหนหรือภาระเรื่องเรียนเป็นเช่นไรไปตลอดชีวิต หลังจากนั้นเมื่อท่านอายุได้ 6 ปี ท่านจึงได้รับศีลกำลังในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1930 ที่อาสนวิหารแบร์กาโม

ในบรรยากาศของครอบครัวคริสตังที่ดี ท่านเติบโตขึ้นมาในความสุขสันติ ท่านยินดีสละน้ำใจตนเองเพื่อช่วยเหลือพี่และน้องของท่านโดยไม่เฉไฉ ท่านรักทุกสิ่งที่สวยงาม ดนตรี ภาพวาด และการปีนเขา ไม่มีความทุกข์โศกใด เมื่ออายุถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 บิดามารดาก็ได้ส่งท่านเข้าเรียนที่โรงเรียนในย่านกอลโล อาแปร์โต ในเมืองแบร์กาโม ก่อนจะย้ายท่านมาเรียนที่โรงเรียนของคณะภคินีแห่งพระปรีชาญาณในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 หลังจากนั้นท่านแลวีร์ยีเนีย น้องสาวจึงถูกย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนักบุญก๊อตตาร์โดของคณะภคินีกันนอสเซียน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของท่านจนจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา และเมื่อจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาแล้ว ท่านจึงได้สอบเข้าเรียนที่ต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเปาโล สการ์ปี แต่ก็ติดปัญหาเรื่องคะแนนในรายวิชาพละศึกษาไม่ค่อยดีจึงทำให้ท่านเข้าเรียนช้ากว่าเพื่อนไปสองถึงสามเดือน และแม้จะผ่านวิชานี้มาได้ การเรียนระดับชั้นมัธยมทั้งสี่ปีของท่านก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากท่านเรียนไม่ค่อยเก่ง มีครั้งหนึ่งตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ท่านต้องอยู่บ้านคนเดียวในขณะที่ทุกคนในครอบครัวออกไปเที่ยวพักผ่อน เพราะท่านต้องอ่านหนังสือเพื่อสอบแก้ในวิชาภาษาอิตาลีและภาษาละติน


ผู้เขียนชีวประวัติของท่านคนหนึ่งได้อธิบายว่า ความเฉลียดฉลาดของท่านมาจากความวิริยะของตัวท่านเอง ท่านมีวันที่แสนเศร้าในเรื่องการเรียน แต่ท่านก็สามารถเอาชนะและผ่านมันมาด้วยความอุตสาหะ ท่านทุ่มเทให้กับการขวนขวายหาความรู้จากการศึกษาเสมอ เพราะท่านมีทัศนะว่าความขยันหมั่นเพียรเป็นสิ่งพระเจ้าทรงประสงค์จากตัวท่าน การบ้านจึงเป็นสิ่งที่เสริมสร้างทักษะให้ท่าน แต่กระนั้นสิ่งที่สำคัญสำหรับท่านที่สุดก็ไม่ใช่มัน ตรงข้ามกลับคือองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ซึ่งที่วางพระองค์ไว้เป็นอันดับแรกในความนึกคิดเสมอ เพื่อนร่วมโรงเรียนของท่านคนหนึ่งเล่าว่า “ยานนามีศรัทธามาก ชนิดที่ว่าทุกคนที่ได้พบเธอ เพียงไม่นานก็จะรู้สึกถูกเรียกให้เข้ามายังพระศาสนจักร และรู้สึกว่าชีวิตที่เหลือของเรานั้นปรารถนาจะมีศรัทธาที่ลึกซึ้ง” ส่วนคุณครูคนหนึ่งของท่านเป็นพยานว่า “เธอเป็นเด็กน่ารักที่รู้วิธีที่จะกระตุ้นความเอ็นดูและความรักจากผู้คนที่เข้าใกล้เธอด้วยบุคคลิกที่เรียบง่ายและอ่อนหวานของเธอ ความว่องไวที่ละเมียดของวิญญาณที่ใสซื่อและเถรตรงของเธอรู้วิธีที่จะดึงความรักและความเอ็นดูจากผู้คนที่เข้าใกล้เธอมาหาเธอ ใบหน้าของเธอยิ้มแย้มอยู่เสมอ แม้บางคราวมีความเศร้าเจืออยู่บ้าง ฉันพยายามมองเข้าไปในดวงตาที่ลุ่มลึกและอ่อนโยนเพื่อมองหาความคิดที่รบกวนจิตใจของเธออยู่ชั่วขณะ แต่ฉันก็ไม่เคยเห็นเธอบ่นว่าอย่างรำคาญ หรือเหนื่อยล้า หรือเม้มปาก … ความสำเร็จในภาระงานที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่สังคมเป็นภาระอันศักดิ์สิทธิ์ของเธอ”

เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 14 ปี ท่านก็ประสบกับรสชาติความทุกข์ใหญ่ครั้งแรกในชีวิต เมื่ออมาเลีย พี่สาวของท่านที่ป่วยด้วยวัณโรคมาอย่างยาวนานได้สิ้นใจลงในวัยเพียง 26 ปี ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1937 แต่ในท่ามกลางความทุกข์ครั้งใหญ่ของครอบครัว การสูญเสียพี่สาวที่ท่านรักไปอย่างไม่มีวันหวนกลับในปีดังกล่าว วิญญาณของท่านซึ่งถูกหล่อเลี้ยงมาในวิถีคริสตังใจศรัทธาก็ได้เติบโตขึ้นไปอีกขั้น วีร์ยีเนีย น้องสาวของท่านได้เล่าถึงช่วงเวลาที่ท่านขยับเข้าไปใกล้สวรรค์มากขึ้นนี้ว่า “ทุกเช้าเธอใช้เวลาในการรำพึงภาวนา การปฏิบัติเช่นนี้กลายเป็นจุดแข็งของเธอ ส่วนตอนบ่าย เธอจะแวะไปที่วัดเพื่อเฝ้าศีล เธอพกสายประคำไว้ในกระเป๋าเสมอและสวดวันทามารีย์ทุกครั้งเท่าทำได้” นอกจากนี้วีร์ยีเนียซึ่งท่านสนิทด้วยปรับทุกข์ถึงเรื่องต่าง ยังให้รายละเอียดอีกว่าอาศัยความทุกข์นี้ ท่านยังได้เรียนรู้ที่จะเข้มแข็งเพื่อให้คู่ควรกับการเป็นน้องสาวของพี่สาวที่แสนดีคนนี้ และพยายามปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดีที่เธอได้มอบให้ไว้ด้วยความคิดถึงอยู่เสมอ


ภายหลังการสูญเสียธิดาคนโต นายอัลแบร์โตก็ตัดสินใจพาครอบครัวย้ายจากเมืองแบร์กาโมมาอยู่ที่ควินโต อัล มาเร เมืองเจนัว เพื่อให้สะดวกต่อการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของลูก ๆ ที่ถึงวันจะเข้ามหาวิทยาลัยแล้วของเขา ท่านจึงย้ายมาเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนของคณะภคินีแห่งนักบุญโดโรธี ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหลังใหม่ พร้อมกับน้องสาวเพียงคนเดียวในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1938 ที่โรงเรียนแห่งใหม่นี้ท่านและน้องสาวเริ่มแต่ละวันด้วยมิสซาที่วัดใกล้บ้าน และต่างคอยช่วยเหลือกันในการเรียนเพื่อให้ได้ผลการเรียนที่ดีอย่างขยันขันแข็ง และก็เป็นโรงเรียนแห่งนี้เองที่ได้ช่วยให้วิญญาณของท่านได้เติบโตขึ้นไปอีกขั้น เนื่องจากทั้งท่านและน้องสาวได้มีโอกาสเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจตามแบบฝึกหัดฝ่ายจิตตามแนวทางของนักบุญอิกญาซีโอ ภายใต้การดูแลของคุณพ่อมิเกเล อเวดาโน พระสงฆ์คณะเยซูอิตซึ่งทางโรงเรียนได้เชิญมาเทศน์ในระหว่างวันที่ 16 – 18 มีนาคม ค.ศ. 1938 เพราะอาศัยการเข้าเงียบครั้งนี้ วิญญาณของท่านยิ่งลุ่มลึกขึ้น ท่านตระหนักถึงความจำเป็นของพระหรรษทานและการสวดภาวนา ความน่ากลัวของบาป การจำลองแบบพระคริสต์ และการพลีกรรม รวมถึงกระแสเรียกในการเป็นอัครสาวกผ่านกิจการเมตตา ท่านได้เขียนข้อตั้งใจในชีวิตต่อจากนี้ไปของท่านว่า
“1. ทำทุกสิ่งเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า … รับใช้พระองค์ ลูกจะไม่ไปชมภาพยนต์ โดยไม่ได้ตรวจดูว่าภาพยนตร์เรื่องนั้น มีความเหมาะสมและไม่อื้อฉาวหรือผิดศีลธรรม
2. ลูกชอบที่จะตายดีกว่าทำบาป
3. จะสวด «วันทามารีย์» ทุก ๆ วัน เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานให้ลูกได้สิ้นใจในศีลและพระพร
4. ลูกปรารถนาจะขยาดกลัวบาปหนักดุจมันคืออสรพิษ และลูกขอย้ำว่าลูกยอมตายเป็นพัน ๆ ครั้ง ดีกว่าจะทำสิ่งที่ขัดเคืองพระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้า
5. ลูกปรารถนาวิงวอนองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ทรงช่วยตัวลูกไม่ให้ตกสู่นรก รวมถึงช่วยให้ลูกหลีกพ้นจากสิ่งที่เป็นอันตรายต่อวิญญาณของลูก
6. ลูกวิงวอนต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าให้พระองค์ทรงช่วยให้ลูกเข้าใจในพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์
7. ลูกตั้งใจจะเชื่อฟัง M.M. และตั้งใจเรียนแม้ในสิ่งที่ลูกรู้สึกไม่ชอบ เพื่อความรักขององค์พระเยซูเจ้า
8. ตั้งแต่นี้ไปลูกมีความตั้งใจจะไปคุกเข่าสวดที่วัดในตอนเช้า เช่นเดียวกับลูกทำที่ปลายเตียงในห้องในตอนเย็น
9. หนทางที่ต่ำต้อยคือทางลัดสู่การบรรลุความศักดิ์สิทธิ์ ลูกจึงวิงวอนต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดนำลูกไปสวรรค์”

นอกจากนี้การย้ายมายังควินโต อัล มาเร ยังทำให้ท่านได้มีโอกาสพบคุณพ่อมารีโอ ริเก็ตตี ผู้มีชื่อเสียงด้านพิธีกรรมและได้กลายมาเป็นคุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่าน เพราะคุณพ่อรับหน้าที่ดูแลพื้นที่ที่ท่านอาศัย คุณพ่อริเก็ตตีผู้นี้ ไม่เพียงมอบหมายให้ท่านดูแลกลุ่มกิจการคริสตัง (Catholic Action) ซึ่งท่านเป็นสมาชิกกลุ่มนี้มาตั้งแต่อายุ 12 ปีเช่นเดียวกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ในฝั่งเด็กเล็กประจำเขตวัด แต่คุณพ่อยังได้ส่งเสริมให้ท่านมีความรักในพิธีกรรม ซึ่งกลายมาเป็นแหล่งชีวิตฝ่ายจิตในชีวิตประจำวันของท่านตลอดชีวิต เราทราบว่าเมื่อพำนักอยู่เจนัวนี้ ท่านได้ซื้อหนังสือคู่มือมิสซาประจำวัน ฉบับผู้ศรัทธาแห่งการอนตีและได้อ่านมันเป็นประจำ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการย้ายมาเจนัวในครั้งนี้มีผลสำคัญต่อการเติบโตของวิญญาณของท่านอย่างยิ่ง การเติบโตขึ้นในหนทางภายนี้เองมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมให้ท่านตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ เลียนแบบองค์พระเยซูเจ้าด้วยความเชื่อและไว้วางใจในพระญาณสอดส่องเสมอ ตราบถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต เมื่อท่านต้องเลือกระหว่างสองสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังที่ท่านเขียนในบันทึกว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ลูกขอสัญญาว่าจะน้อมรับทุกสิ่งพระองค์ทรงอนุญาตให้เกิดขึ้นกับตัวลูก ขอเพียงทรงเผยให้ลูกรู้ว่านี้คือน้ำพระทัยของพระองค์”


เมื่อเริ่มเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้ไม่นาน บิดามารดาก็ขอให้ท่านพักการเรียนเป็นเวลาหนึ่งปีเนื่องจากสุขภาพที่ไม่สู้จะแข็งแรงของท่าน ท่านก็นบนอบเชื่อฟังและใช้โอกาสหนึ่งปีนั้นเรียนรู้ชีวิตคริสตังที่ลึกซึ้งขึ้นจากแบบอย่างของบิดามารดา จนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1939 ท่านจึงได้กลับไปเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ที่โรงเรียนเดิม กระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 ผลของการทิ้งระเบิดอยู่เนือง ๆ ในเมืองเจนัวภายใต้ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ทำให้ครอบครัวเบเร็ตโตตัดสินใจอพยพไปยังอาศัยที่บ้านของบิดามารดานางมารีอา ที่ซานวิยิลีโอ เมืองแบร์กาโมเพื่อความปลอดภัย เพราะผลของการทิ้งระเบิดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนางมารีอา ที่มีอาการของโรคหัวใจเป็นทุนเดิม แต่เพียงหนึ่งเดือนต่อมา ท่านก็จำต้องเดินทางกลับมาที่เจนัวเพื่อศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1942 อันเป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่ครอบครัวเบเร็ตตาต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งใหญ่

ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้เอง นายอัลแบร์โต บิดาของท่านก็ถูกตรวจพบว่ามีอาการของโรคโลหิตจางชนิดรุนแรง และเริ่มมีอาการทรุดลงเรื่อย ๆ นางมารีอาที่เวลานั้นต้องเผชิญทั้งอาการป่วยของสามี และการที่ลูก ๆ แต่ละคนต้องอยู่กันคนละที่เพราะผลของสงครามและการศึกษาของแต่ละคน ก็ได้พยายามประสานครอบครัวที่ต้องเผชิญวิกฤตครั้งใหม่นี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยความกล้าหาญและคำภาวนาอย่างร้อนรน จนที่สุดใน 28 เมษายน ค.ศ. 1942 ขณะนายอัลแบร์โต ผู้เป็นสามีล้มป่วยอยู่อีกห้อง นางก็ล้มป่วยลงอีกรายด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง โชคยังดีที่แฟร์นันโด บุตรชายคนโตของครอบครัวอยู่ในช่วงปลดระวางจากกองทัพพอดี เขาจึงสามารถเข้าดูแลนางได้อย่างทันท่วงที แต่นางก็ปฏิเสธและให้บุตรชายไปดูอาการของบิดา จนรุ่งขึ้นนางมารีอาก็เสียชีวิตลงอย่างกระทันหันด้วยอาการหัวใจวาย และเพียงสี่เดือนต่อมาในวันที่ 1 กันยายน นายอัลแบร์โตก็ได้เสียชีวิตลงตามภรรยาของเขาไปท่ามกลางลูก ๆ ทั้งเจ็ดที่ได้เดินทางมายังแบร์กาโม ในเวลานั้นบุตรธิดาของเขาสี่คนทำงานแล้ว ในขณะที่สามคนกำลังอยู่ในระหว่างเรียนต่อ ทั้งหมดจึงตัดสินใจกลับอยู่ที่บ้านของคุณปู่คุณย่าที่เมืองมาเจนตาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน


เมื่อกลับมาอยู่เมืองมาเจนตา ท่านก็ได้ตัดสินใจเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์ ด้วยความหวังว่าจะได้ใช้ความรู้ในด้านนี้ในการแพร่ธรรมที่ประเทศบราซิล จากที่ทราบมาจากพระสงฆ์คณะคณะภราดาน้อยกาปูชินว่าคณะกำลังดำเนินพันธกิจอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วยความยากลำบาก โดยระหว่างรอความมั่นใจในกระแสเรียกดังกล่าว ท่านจึงได้เลือกเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเมืองมิลาน ในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน แม้ในเวลานั้นเมืองมิลานจะเป็นเป้าสำคัญในการทิ้งระเบิดในระหว่างสงคราม ท่านก็ไม่ได้ย่อท้อในการติดตามความฝันในการเป็นแพทย์เพื่อรับใช้พระเจ้า แม้บ่อยครั้งชั้นเรียนของท่านจะต้องยกไปเพราะการทิ้งระเบิดหนัก ท่านก็เพียรทนในทางที่เลือกเดินด้วยความเชื่อในพระเจ้าอย่างสุดหัวใจ จากชีวประวัติของท่านเราพบว่า เมื่อท่านรู้สึกเหนื่อยล้าและไปต่อไม่ไหวท่านจะเลือกเดินเข้าวัด ที่อาศัยการรำพึงภาวนาสั้น ๆ และสนทนากับองค์พระเยซูในศีลมหาสนิท ท่านได้พบกำลังวังชาในการลุกขึ้นเดินผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ในช่วงเวลานี้เรายังทราบอีกว่า ท่านต้องเผชิญกับการต่อสู้ภายในจากข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย คือ ความหัวรั้นของท่าน เพราะท่านชอบที่จะลงมือทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ แม้ในเวลาที่ท่านควรจะต้องปล่อยวางจากเรื่องเหล่านั้น และไม่เพียงแต่มุมานะในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ในช่วงเวลาเหล่านี้ท่านยังได้แสวงหาโอกาสในการรับใช้เพื่อนพี่น้องในท่ามกลางความน่าประหวั่นพรั่นพรึง และหากไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ท่านก็จะทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมายมาอย่างสุดกำลัง

ท่านใช้เวลาว่างจากการเรียนที่มิลานในการช่วยงานกลุ่มกิจการคริสตัง ซึ่งท่านได้นำกลุ่มจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถ ท่านทั้งวางแผนการประชุม การเข้าเงียบ และกิจกรรมทัศนศึกษาสำหรับเยาวชนหญิงเพื่อช่วยเด็กหญิงคริสตังเติบโตในด้านชีวิตฝ่ายจิตมากยิ่งขึ้น ตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มที่เน้นการส่งเสริมชีวิตจิตของฆราวาส แม้ในเวลาดังกล่างผลของสงครามที่ดำเนินอยู่จะทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างยากลำบาก ท่านก็ยังมุ่งมั่นในการดำเนินกิจการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือวิญญาณทุกดวงให้บรรลุความครบครันเสมอ ท่านเคยกล่าวว่า “จงอย่ากลัวที่จะปกป้องเกียรติมงคลขององค์พระเจ้า ปกป้องพระศาสนจักร พระสันตะปาปาและบรรดาพระสงฆ์ นี่คือเวลาที่เราต้องสู้ เราต้องไม่นิ่งเฉยเมื่อเผชิญกับการรณรงค์ต่อต้านพระศาสนาและศีลธรรม เราสมาชิกกิจการคริสตังต้องเป็นผู้แรกที่ลุกขึ้นปกป้องรากฐานอันมั่นคงและธรรมประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ของคริสตังในบ้านเกิดเมืองนอนของเรา เธอยินดีจะสละชีวิตเพื่อพระคริสต์ราชาหรือไม่ เธอคือผู้ที่ ‘ปฏิเสธ’ ต่อสิ่งที่ตาเห็น ต่อความเย้ายวนของอาหาร เธอคือผู้แสวงหาการงานรอบบ้านหรือการสวดภาวนาอยู่ชั่วขณะอย่างยากเย็น…”



บางคราวท่านนำเด็กหญิงบางส่วนไปเยี่ยมคนเจ็บคนป่วยตามบ้านหลังต่าง ๆ นำอาหารและยาที่จำเป็นไปให้พวกเขา รวมถึงช่วยกันทำความสะอาดที่พักให้เขาร่วมกับท่าน บรรดาเยาวชนหญิงต่างชื่นชมและยกย่องในตัวของท่านจากตัวอย่างของการสละน้ำใจตนเองและการสวดภาวนาที่พวกเธอได้พบเห็น หลาย ๆ ครั้งพวกเธอจึงมักมาขอคำแนะนำจากท่าน ผู้จะตั้งใจฟังพวกเธอ พูดเพียงเล็กน้อย และตอบด้วยถ้อยคำที่ลุ่มลึก ก่อนจะได้นำคำแนะนำที่ได้ไปปฏิบัติอย่างกระตือรือร้น นอกจากนี้เพื่อช่วยให้บรรดาเยาวชนหญิงบรรลุถึงความรักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง ท่านยังได้แนะนำ ‘แบบแผนฝ่ายจิต’ ของท่านให้พวกเธอนำไปปฏิบัติ คือ “สวดภาวนาเช้าค่ำไม่ใช่บนเตียงแต่บนหัวหัวเข่าของเธอ ร่วมมิสซา รับศีลมหาสนิท รำพึงภาวนาอย่างน้อย 10 นาที ไปเฝ้าศีล สวดสายประคำ เพราะปราศจากความช่วยเหลือของพระแม่ ก็ไม่มีมนุษย์คนใดเข้าสวรรค์ได้” นอกจากเป็นสมาชิกกลุ่มกิจการคริสตัง ท่านยังเป็นสมาชิกกลุ่มสตรีวินเซนต์ เดอ ปอล ซึ่งมีพันธกิจหลักในการช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ยากไร้ รวมถึงช่วยงานที่เขตวัดนักบุญมาร์ตีโน เมืองมาเจนตา พร้อมกับซีตา พี่สาวของท่านและวีร์ยีเนีย ผู้เป็นน้องสาว และได้เป็นอาสาสมัครช่วยเรื่องการศึกษาของเยาวชนร่วมกับภคินีคณะกันนอสเซียน ในเวลาเดียวกันอีกด้วย ผู้เขียนชีวประวัติของท่านสำนวนหนึ่งได้พรรณนาถึงวัตรปฏิบัติอันร้อนรนของท่านในเวลานี้ว่า ผู้คนที่มีโอกาสได้ร่วมงานหรือได้รับการรับใช้จากท่านต่างได้พบ ‘ความเชื่อ’ อีกครั้งผ่านแบบฉบับของท่าน

คล้อยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ท่านก็ได้ย้ายมาเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยปาเวียพร้อมกับวีร์ยีเนีย น้องสาวของท่าน ท่านยังคงตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียนเช่นเดียวกันกับการปฏิบัติงานเมตตาธรรมในกลุ่มต่าง ๆ กระทั่งท่านจบการศึกษาด้วยผลคะแนนระดับเกียรตินิยมในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1949 ด้วยปริญญาแพทยศาสตร์และศัลยศาสตร์ ท่านจึงเดินทางกลับมาที่เมืองมาเจนตา และหลังจากนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1950 ท่านในวัย 27 ปีจึงได้หุ้นกับคุณหมอแฟร์ดินันโด พี่ชายของท่านเปิดคลินิกที่เมืองเมเซโร ไม่ไกลจากเมืองมาเจนตา ซึ่งด้วยชื่อเสียงของครอบครัวเบเร็ตตาก็ทำให้ผู้คนที่รู้จักมักคุ้นต่างเลือกมาใช้บริการที่คลินิกแห่งนี้ด้วยความไว้วางใจอยู่ตลอด และในระหว่างเริ่มดำเนินธุรกิจใหม่นี้ ด้วยความสนใจด้านการดูแลเด็ก ๆ และมารดา ท่านจึงเริ่มเรียนต่อเฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยมิลาน จนได้รับประกาศนียบัตรด้านดังกล่าวในวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1952 ท่านจึงกลายมาเป็นกุมารแพทย์อย่างเต็มตัว

คลินิกของนักบุญยานนาที่เมืองเมเซโร

“หมอคริสตังเป็นสิ่งจำเป็น” คือข้อความที่ท่านเขียนไว้และสรุปให้เห็นความเป็นหมอแบบของท่าน ท่านมีทัศนะว่าอาชีพหมอไม่ใช่เพียง ‘งานเลี้ยงตัว’ แต่คือ ‘พันธกิจ’ ดังนั้นท่านจึงมองว่านี่คือการรับใช้เพื่อนมนุษย์อย่างหนึ่ง ในเวลาต่อมาท่านได้เขียนเรื่องนี้ลงในใบสั่งยา โดยตั้งชื่อหัวข้อไว้ว่า ‘ความงามของพันธกิจเรา’ ความว่า “ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มนุษย์ทุกคนในสังคมต่างทำงานเพื่อรับใช้มนุษยชาติ หมอมีโอกาสที่พระสงฆ์ไม่มี เพราะพันธกิจของเราไม่ได้จบเมื่อยาไม่ได้ผล ยังมีวิญญาณที่ต้องนำไปหาพระเจ้า พระเยซูเจ้าตรัสว่า ‘ผู้ใดมาเยี่ยมผู้ป่วยไข้ก็ได้ช่วยเราไว้’ นี่คือพันธกิจของศักดิ์สงฆ์ พระสงฆ์สามารถสัมผัสองค์พระเยซูเจ้าได้ฉันใด พวกเราบรรดาหมอ ๆ ก็สามารถสัมผัสพระองค์ได้ในร่างกายของผู้ป่วย ทั้งที่ยากจน อ่อน แก่ และเด็ก พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์เองอยู่ท่ามกลางเรา บรรดาหมอจำนวนมากจึงได้อุทิศตนเพื่อพระองค์ หากท่านทั้งหลายสามารถปฏิบัติพันธกิจนี้ได้อย่างดีแล้ว เมื่อท่านทั้งหลายเสร็จสิ้นพันธกิจของท่านในโลก ท่านก็จะได้ยินดีในชีวิตในสวรรค์เพราะ ‘เมื่อเราป่วยไข้ ท่านก็ได้รักษาจนเราหายขาด’”

ท่านเคยเขียนแบบแผนของแพทย์ 4 ประการไว้อีกว่า “1. ทำหน้าที่ของเราให้ดี หมั่นศึกษาศาสตร์ของเราให้เจนจัด วันนี้คือเวลาของการแสวงหาผู้ขัดสน 2. จงสัตย์ซื่อ จงเป็นหมอแห่งความเชื่อ 3. ดูแลด้วยความรัก ระลึกว่าผู้อื่นเป็นเหมือนพี่น้อง มีความละเอียดอ่อน 4. อย่าลืมวิญญาณของผู้ป่วย เราผู้มีความเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง ต้องคอยเอาใจใส่อย่าปล่อยให้วิญญาณต้องเสียไป เพราะนี่จะเป็นการทรยศต่อวิชาชีพ จงระวังการใช้แต่คำพูด แทนที่จะทำดี” ที่คลินิกเมืองเมเซโร ท่านใช้เวลารับฟังผู้ป่วยที่แวะเวียนเข้ามายังคลินิกด้วยความอดทนและเมตตา คราวใดเมื่อท่านทราบว่าอาการเจ็บป่วยที่พวกเขาพบเจอมาจากการดำเนินชีวิตไม่อยู่ในครรลองครองธรรม ท่านจะรู้สึกเศร้าสลดต่อสิ่งที่ได้รับรู้ และไม่ลังเลใจที่จะแนะนำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยความเชื่อ ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อประเทศอิตาลีเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ท่านก็ยินดีที่ผู้ป่วยจะจ่ายค่ารักษาด้วยไข่ไก่หรือไก่ ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังให้เงินพวกเขาไปเป็นค่าอาหารและค่ายาอีกด้วย

อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในคลินิกของนักบุญยานนา

นอกจากนี้ในฐานะกุมารแพทย์ที่มีความปรารถนาไม่เพียงช่วยเหลือผู้หญิงทางด้านฝ่ายกาย แต่ยังรวมถึงฝ่ายวิญญาณ ท่านได้แสดงให้บรรดาหญิงที่มาพบท่านพบว่าท่านเป็น ‘พี่สาว/น้องสาว’ ของพวกเธอ ท่านสนิทกับผู้หญิงกลุ่มนี้มากและคอยช่วยเหลือให้พวกเธอสามารถผ่านวิกฤตต่าง ๆ ทั้งความสงสัย ความกังวลใจ ความยากลำบาก และการล่อลวงของผีปีศาจมาได้ ท่านให้เวลาในการพูดคุยกับพวกเธอเพื่อแนะถึงวิธีที่ดีที่สุดในการเลี้ยงบุตรธิดา รวมไปถึงคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ท่านคอยกระตุ้นให้พวกเธอมีใจกล้าหาญในการมีส่วนร่วมในการเนรมิตสร้างของพระเจ้าและยืนเคียงข้างพวกเธอ เพราะท่านเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าทุกชีวิตเป็นของขวัญซึ่งส่งตรงมาจากพระหัตถ์ของพระเจ้า ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งมีลูกเกิดมาพิการ ท่านก็ได้รับฟังเขาด้วยความเข้าใจ และได้ช่วยปลอบโยนเขา รวมถึงสนับสนุนให้เขาทำตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อรักษาชีวิตเด็กคนนี้ไว้ หรืออีกคราวหนึ่งมีหญิงวัยทำงานสูงอายุเกิดตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจและกลัวคำครหาของชาวบ้านจึงได้มาปรึกษาท่านถึงความทุกข์ใจดังกล่าว ท่านก็ได้ถามเธอกลับไปว่า “นี่ไม่เรื่องน่ายินดีและน่าภาคภูมิใจหรือ ในเรื่องแบบนี้เราไม่เห็นจำเป็นต้องไปสนเลยว่าใครจะพูดอะไร” นอกจากนี้ท่านเคยเขียนถึงกรณีที่มารดาของเด็กอยู่ในอันตรายว่า “แพทย์ไม่พึงแทรกแซง สิทธิของทารกนั้นเท่ากับสิทธิในชีวิตของมารดา แพทย์ไม่พึงเป็นผู้ตัดสินใจเอง มันเป็นบาปที่ฆ่าทารกในครรภ์”

แม้ชีวิตจะมีภาระงานที่วุ่นวายมากขึ้น ท่านก็ยังคงหาเวลาว่างไปช่วยงานเมตตาธรรม ทั้งกลุ่มกิจการคริสตังที่ท่านยังคงเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งในปีเดียวกับที่ท่านได้รับปริญญาเฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์ ท่านก็ได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มและเป็นผู้แทนเขต นางการ์ลา มารีอา เลโอนี เพื่อนของท่านที่รับตำแหน่งประธานกลุ่มต่อจากท่านในเวลาต่อมาเล่าว่า “เธอเป็นคนมีความน่าเชื่อถือ เตรียมพร้อม แต่ไม่เคยวางมาดนั่งโต๊ะ เธออยู่เหนือพวกเรา แต่เธอก็เป็นเหมือนพวกเรา” นอกจากนี้ท่านยังเป็นอาสาสมัครแพทย์ในท้องถิ่นและองค์กรต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น กุมารแพทย์ในค่ายฤดูร้อนประจำปี อาสาสมัครประจำสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชน สมาชิกสมาคมแพทย์คาทอลิก สมาชิกองค์กรความร่วมมือทางการแพทย์นานาชาติแห่งแม่พระเมืองลูร์ด เป็นต้น


เรามักจินตนาการว่านักบุญต้องมีวัตรปฏิบัติที่ ‘เหนือธรรมชาติ’ แต่ท่านก็ได้แสดงให้เห็นแบบฉบับของนักบุญที่ใช้ชีวิตธรรมดาเหมือนคนทั่วไป ดังที่เพื่อนของท่านอธิบายถึงตัวท่านว่า “เธออยู่เหนือพวกเรา แต่เธอก็เป็นเหมือนพวกเรา” เพราะนอกจากทำงานและทำกิจการเมตตาธรรมด้วยความอุสาหะและอุทิศตนแล้ว ในมุมหนึ่งของชีวิตท่านยังใช้เวลาว่างบางคราวของท่านไปกับกีฬาที่ท่านชื่นชอบอย่างการเล่นสกีและการปีนเขา ซึ่งท่านรู้สึกว่าไม่มีที่ใดที่ท่านจะรู้สึกใกล้ชิดพระเจ้าได้เท่ายอดเขาลูกใหญ่ที่ปกคลุมด้วยหิมะ นอกจากนี้ท่านยังเป็นหมอที่มีรสนิยมดีอีกคนหนึ่ง ท่านสนุกกับการเลือกเสื้อผ้าตามแฟชั่นให้เหมาะสมเรียบร้อย สนุกกับการไปฟังคอนเสิร์ตดนตรี ดูละครเวที หรือชมละครโอเปราสักเรื่องที่โรงละครลาสกาลา ในเมืองมิลาน รวมถึงการทำกิจกรรมนันทนาการประเภทต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การวาดภาพทั้งภาพของแม่พระและทิวทัศน์

“ทุกสรรพสิ่งล้วนมีจุดจบและเป็นไปตามกฏเกณฑ์ ทุกสรรพสิ่งล้วนก้าวไปจนถึงจุดจบที่ถูกลิขิตไว้แต่ล่วงหน้า องค์พระเจ้าทรงขีดทางไว้ให้เราแต่ละคน คือกระแสเรียกและชีวิตแห่งพระหรรษทานที่ดำเนินควบคู่ไปกับชีวิตฝ่ายเนื้อหนังของเรา วันนั้นจะมาถึงวันที่เราจะรับรู้ถึงคนรอบข้างเรา และเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นเราจะกลายเป็นคนใหม่ เวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์และโศกสลดในช่วงเวลาที่เรากำลังก้าวผ่านจากเด็กน้อยเป็นวัยรุ่น ปัญหาเรื่องอนาคตของเราเกิดขึ้นในยามนี้ แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้เมื่ออายุ 15 ปี แต่อย่างน้อยที่สุด เราต้องสามารถนำตัวเราเองไปตามทางที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกเราไป เพราะทั้งความสุขในโลกและในนิรันดรภาพของเราต่างขึ้นอยู่กับการทำตามกระแสเรียกของเราให้ดี แล้วกระแสเรียกคืออะไร มันก็คือของขวัญจากพระเจ้าและส่งมาจากพระเจ้า ดังนั้นเองมันจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะทำทุกอย่างเพื่อเรียนรู้น้ำพระทัยของพระเจ้า เราต้องเดินไปตามหนทางนั้น ไม่ใช่ด้วยการทุบประตูเข้าไปโต้ง ๆ แต่เมื่อพระเจ้าทรงประสงค์และตามอย่างที่พระองค์ทรงประสงค์”

พี่น้องตระกูลเบเร็ตตาทั้งเจ็ดในวันมิสซาแรกของคุณพ่อยูเซปเป 

ด้วยความคิดเช่นนี้เองทำให้ท่านเฝ้าใคร่ครวญถึงกระแสเรียกที่พระเจ้าทรงเรียกร้องให้ท่านทำอยู่ตลอดเวลา และดังที่เล่าไปแล้วว่าท่านตัดสินใจเลือกเรียนเป็นหมอเพื่อหวังจะได้ใช้ความรู้ดังกล่าวไปเป็นมิชชันนารีที่ประเทศบราซิล ความคิดเช่นนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในใจของท่านตลอดเวลา แม้ท่านจะได้มีคลีนิคเป็นของตนเองแล้วก็ตาม ท่านยังคงเฝ้าคิดถึงการเดินทางไปเป็นธรรมทูตที่ประเทศบราซิลอยู่เสมอ ยิ่งท่านได้รับจดหมายจากเอนริโก พี่ชายของท่าน ผู้ในเวลานั้นได้ถวายตนเป็นพระสงฆ์ในคณะภราดาน้อยกาปูชินด้วยนามคุณพ่ออัลแบร์โต ภายหลังเขาจบการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ และได้เดินทางไปแพร่ธรรมที่เมืองกราจาอู ประเทศบราซิลตามที่ตั้งใจตั้งแต่ ค.ศ. 1949 เป็นต้นมา บรรยายถึงความยากลำบากในการทำงานแต่ลำพัง ก็ยิ่งทำให้ท่านมีความปรารถนาจะเดินทางไปเป็นฆราวาสธรรมทูตร่วมกับคุณพ่อมากขึ้น เพื่อจะได้ใช้ความรู้ทางการแพทย์ที่ตนได้ตั้งใจร่ำเรียนมาตลอดหลายปีช่วยเหลือคุณพ่อในโรงพยาบาลที่คุณพ่อได้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1950

แต่ไม่ว่าท่านจะพยายามจะติดตามกระแสเรียกนี้อย่างไร ท่านก็ติดปัญหาอยู่หลายประการทั้งการอนุญาตที่จำเป็นในการไปทำพันธกิจดังกล่าวมีความล่าช้า ตัวท่านไม่สามารถหาแพทย์มาประจำแทนที่คลีนิคได้ และคุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่านก็ได้ขอให้ท่านชะลอความคิดนี้ไว้ ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังมีสุขภาพที่ไม่สู้จะแข็งแรงพอจะทนกับสภาพอากาศของประเทศบราซิลได้ ซึ่งท่านก็ตระหนักถึงข้อจำกัดประการนี้ของตนเองดี แต่ท่านก็ยังเชื่ออยู่ตลอดว่าพระเจ้าทรงเรียกให้ท่านเป็นฆราวาสแพร่ธรรมที่บราซิล ดังนั้น ท่านจึงเป็นทุกข์กับเรื่องนี้มากนับตั้งแต่จบการศึกษามา เพราะท่านสงสัยว่าท่านควรจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร ท่านทั้งเฝ้าสวดภาวนาต่อพระเจ้า ขอคำภาวนาจากคนอื่น และขอคำแนะนำอยู่ซ้ำ ๆ จากคนรอบข้างว่าท่านควรจะไปเป็นธรรมทูตดีหรือไม่ เพราะท่านเชื่อว่าพระเจ้าทรงเรียกให้ท่านทำสิ่งนี้และท่านก็ปรารถนายิ่งที่จะติดตามเสียงเรียกของพระองค์อย่างดี

ภาพนักบุญยานนาและคุณพ่ออัลแบร์โต 
(สวมเครื่องแบบภารดาน้อยกาปูชิน)

จนที่สุดเมื่อท่านได้มีโอกาสเดินทางไปแสวงบุญที่เมืองลูร์ด ประเทศฝรั่งเศส และได้สวดภาวนาทูลขอความสว่างอีกครั้งเป็นเวลายาวนาน ว่าท่านควรจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า พระองค์ก็ทรงไขแสดงให้ท่านเข้าใจภายในวิญญาณของท่าน ว่าพระองค์มิได้ประสงค์ให้ท่านเป็นมิชชันนารีในต่างประเทศ แต่ประสงค์ให้ท่านสร้างครอบครัวผ่านการแต่งงาน ท่านจึงเกิดสันติภายในใจอีกครั้งและได้เข้าใจทางที่ท่านต้องเดินต่อไป ครั้งหนึ่งท่านได้อธิบายให้ผู้คนที่สงสัยว่าทำไมท่านถึงละทิ้งความคิดเรื่องการไปเป็นธรรมทูตที่ประเทศบราซิลไปอย่างน่าสนใจว่า “หนทางทั้งหมดขององค์พระผู้เป็นเจ้าล้วนสวยงาน เพราะจุดสิ้นสุดของมันมีเพียงหนึ่งเดียว และมันก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย นั่นคือเพื่อช่วยวิญญาณของเราให้รอดและนำวิญญาณดวงอื่น ๆ ไปสู่สวรรค์ เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า” คำตอบของท่านนี้สะท้อนให้เห็นความเข้าใจของท่านว่าคุณค่าของกระแสเรียกไม่ว่ารูปแบบใด ล้วนมีคุณค่าเสมอกันหากเป็นทางที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ และไม่นานหลังจากสลัดความคิดเรื่องการเป็นธรรมทูตออกไปได้ พระเจ้าก็ทรงส่ง ‘ชายคนหนึ่ง’ มาให้ท่าน

เมื่อค้นพบกระแสเรียกใหม่แล้ว อาศัยความช่วยเหลือของพระนางมารีย์เมืองลูร์ด เรื่องราวระหว่างท่านและชาย ผู้มีความศรัทธาต่อพระนางมารีย์ผู้แนะนำ และวิงวอนให้พระนางทรงส่งใครสักคนมาให้เขา แล้วจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ตามที่วัดซึ่งสร้างถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์ในนามดังกล่าวในเมืองเมเซโรที่เขาคุ้นเคย มีองค์ประธานของวัดเหนือพระแท่น เป็นพระรูปแม่พระเมืองลูร์ดมาตั้งแต่แรกจะเป็นไปอย่างไรต่อไป  ติดตามชีวิตก้าวต่อไปของท่านและชายผู้สมควรจะได้รับการยกย่องในฐานะนักบุญไม่ต่างกันได้ในบทความ “คือรัก ศรัทธา และวางใจ ‘ยานนา’” ตอนจบ (คลิกที่นี่ได้เลย)

“ข้าแต่ท่านนักบุญยานนา เบเร็ตตา โมลลา ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
http://it.wikipedia.org/wiki/Gianna_Beretta_Molla
http://en.wikipedia.org/wiki/Gianna_Beretta_Molla
http://www.vatican.va/news_services/liturgy/saints/ns_lit_doc_20040516_beretta-molla_en.html
https://saintgianna.org/main.htm
https://www.giannaberettamolla.org/giaprofilo.htm
https://www.stgiannaphysicians.org/our_patron
http://www.fmboschetto.it/Lonate_Pozzolo/Beretta.htm
https://www.ncregister.com/features/5-things-st-gianna-and-her-husband-teach-us-about-dating-marriage-and-love
https://aleteia.org/2018/08/01/this-holy-priest-is-known-as-the-padre-pio-of-brazil/
https://plus.catholicmatch.com/articles/st-gianna-told-her-future-boyfriend-i-love-you-first
https://www.archbalt.org/saints-daughter-hopes-to-follow-her-mothers-example-of-loving-life/
https://aleteia.org/2020/05/15/st-giannas-son-she-is-not-only-a-saint-because-of-her-heroic-deed/

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน ผู้ใหญ่ในคณะคนแรก ๆ ที่ท่านแสวงหา...