วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566

คือรัก ศรัทธา และวางใจ 'ยานนา' ตอนจบ

นักบุญยานนา เบเร็ตตา โมลลา
St. Gianna Beretta Molla
องค์อุปถัมภ์: มารดา, แพทย์, เด็กที่ยังไม่เกิด
วันฉลอง: 28 เมษายน

ที่ฝั่งตรงข้ามคลีนิคของท่านเป็นที่ตั้งบ้านของครอบครัวโมลลา บ้านหลังนี้มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ ‘เปียโตร’ เขาเป็นวิศวกรและหัวหน้างานฝ่ายเทคนิคที่โรงงานไม้ขีดไฟตราซาฟฟา ซึ่งตั้งอยู่ในย่านปอนเต นูโอโว ในเมืองมาเจนตา รวมถึงเป็นคริสตังใจศรัทธาที่ช่วยงานวัดและเป็นสมาชิกกลุ่มกิจการคริสตัง เปียโตรจึงมีโอกาสได้พบท่านอยู่บ่อยครั้งอย่างผิวเผิน และทีละนิดเขาก็เริ่มรู้สึกประทับใจในตัวท่าน จนตระหนักได้ว่าเขารู้สึกจะชอบท่านไปเสียแล้ว แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ไม่มีจังหวะจะได้สานสัมพันธ์หรือทำความรู้จักกับท่านอย่างจริงจังเสียที ซึ่งอาจเป็นเพราะนิสัยของเปียโตรที่เป็นคนขี้อายต่างจากท่าน กระทั่งวันหนึ่งพระเจ้าซึ่งประสงค์ให้สองหนุ่มสาวได้สานสัมพันธ์กัน ก็ได้ทรงชักนำทั้งสองให้มาเริ่มรู้จักกันอย่างจริงจัง เมื่อคุณพ่อลีโน การาวัจเลีย ซึ่งมีพื้นเพเดิมเป็นคนเมืองเมเซโรได้เชิญทั้งท่านและเปียโตร ที่เป็นคนบ้านเดียวกันมาร่วมมิสซาแรกของคุณพ่อในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1954 สองหนุ่มสาวจึงได้เริ่มสานสัมพันธ์กันอย่างจริงจัง

จากจุดเริ่มต้นวันนั้นทั้งท่านและเปียโตรจึงเริ่มไปหาสู่กันบ่อยมากขึ้น ทั้งสองต่าง ๆ ค่อยกลายมาเป็น ‘คนสำคัญ’ ของกันและกัน สองหนุ่มสาวต่างเล่าถึงความคาดหวังและความฝันของแต่ละคนให้กันฟัง ก่อนจะพบว่าต่างฝ่ายต่างมีความเหมือนกันในหลายเรื่อง ๆ และมีความสุขที่ได้อยู่กับอีกฝ่าย จนไม่กี่เดือนต่อมาเปียโตรก็รวบรวมความกล้าขอท่านคบเป็นแฟนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1955 ท่านเองรู้สึกไม่ต่างกันจึงได้ตอบตกลง รุ่งขึ้นท่านได้เขียนจดหมายฉบับแรกถึงเปียโตร ซึ่งในเวลาต่อมาเขาเล่าอย่างมีความสุขในสารคดีชีวประวัติของท่านชื่อ ‘Love is a Choice’ (2010) ว่าในจดหมายฉบับแรกที่ท่านเขียนถึงเขา ท่านถามเขาว่าเขาหวังอะไรจากท่าน เพื่อท่านจะได้ทำให้เขามีความสุข ฝั่งเปียโตรที่พบความตรงไปตรงมาเช่นนี้ก็คิดในใจว่า ผู้หญิงแบบนี้ที่เขาปรารถนาจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วย เขาจึงเขียนถามกลับไปเช่นกันว่า ท่านหวังอะไรจากเขา เพื่อเขาจะได้ทำให้ท่านมีความสุขเช่นเดียวกัน เรายังทราบอีกว่าในจดหมายฉบับดังกล่าวซึ่งลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ท่านขึ้นต้นว่า ‘เปียโตรที่รัก’ ท่านยังได้เขียนตอนท้ายจดหมายว่า “ตอนนี้ฉันมีเธอแล้ว ผู้ที่ฉันรักไปเสียแล้วและปรารถนาที่จะมอบชีวิตเพื่อสร้างครอบครัวคริสตังแท้ ขอจบแต่เพียงเท่านี้ก่อนนะ เปียโตรที่รัก ขออภัยที่ต้องถือวิสาสะเขียนด้วยความสนิทสนมเช่นนี้ แต่ฉันก็เป็นแบบนี้ แล้วพบกันใหม่”


หลังจากนั้นทั้งสองจึงได้ใช้เวลาต่อมาเพื่อเตรียมตัวสำหรับชีวิตใหม่ด้วยความสุขผ่านทั้งการพบปะและเขียนจดหมายอยู่เรื่อย ๆ แม้ว่าในบางเวลาด้วยภาระงานจะทำให้ทั้งคู่ต้องห่างกันบ้าง (ดูเหมือนว่าท่านจะรุกแรงกว่าเปียโตรเสียด้วย) เปียโตรเขียนในบันทึกของตนเองลงวันที่ 7 มีนาคม ปีนั้นว่า “ยิ่งผมได้รู้จักยานนา ผมก็ยิ่งมั่นใจว่าพระเจ้าไม่สามารถประทานของขวัญที่ยิ่งใหญ่ชิ้นใดได้มากกว่าความรักและมิตรภาพของเธอ” และท่านเองก็รู้สึกไม่ต่างไปจากเขา ดังเห็นได้จากตัวอย่างข้อความของจดหมายลงวันที่ 10 มิถุนายน ปีเดียวกัน ซึ่งท่านเขียนหลังพิธีหมั้นอย่างเป็นทางการว่า “ฉันรักเธอมาก เปียโตร และเธอก็อยู่กับฉันเสมอ เริ่มตั้งแต่เช้าในระหว่างพิธีมิสซา ณ เบื้องหน้าพระแท่น ฉันได้ยกถวายภาระงานของเธอ ความสุขของเธอ ความทุกข์ยากของเธอพร้อมกับของฉัน แล้วถวายอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดวันจนถึงเย็น” ท่านและเปียโตรได้จัดพิธีฉลองการหมั้นในวันจันทร์หลังอาทิตย์ปัสกาที่ 11 เมษายน ในปีเดียวกัน ที่วัดน้อยของภคินีคณะกันนอสเซียน เมืองมาเจนตา โดยมีคุณพ่อยูเซปเป พี่ชายอีกคนของท่านที่บวชเป็นพระสงฆ์เป็นประธานในพิธีมิสซาในวาระดังกล่าว

หลังจากนั้นอนาคตคู่บ่าวสาวก็ต่างสาละวนในการเตรียมงานแต่งงานที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งสองต่างช่วยกันเลือกของที่จะใช้ในงานแต่ง เครื่องเรือนสำหรับบ้านหลังใหม่ที่ย่านปอนเต นูโอโว ซึ่งเป็นสวัสดิการจากบริษัทของเปียโตร และวางแผนครอบครัวใหม่ที่ทั้งสองกำลังจะร่วมกันสร้างในอนาคต ช่วงเวลานี้เป็นอีกหนึ่งช่วงชีวิตที่ท่านมีความสุขจนอดยิ้มไม่ได้อยู่ตลอด ท่านโมทนาคุณและทูลขอต่อพระเจ้าให้ทรงอวยพรชีวิตก้าวต่อไปของท่านอยู่ตลอด ท่านเตรียมชุดแต่งงานของท่านด้วยวัสดุที่ดีที่สุดและสวยงามที่สุดเท่าที่จะหาได้ เพราะท่านปรารถนาจะนำมันมาตัดเป็นเสื้อกาสุลาให้บุตรชายสักคนที่ได้บวชเป็นพระสงฆ์ ดังที่ท่านเล่าให้วีร์ยีเนียฟังว่า “น้องรู้ไหม ที่พี่อยากเลือกวัสดุที่สวยที่สุด เพราะพี่อยากจะใช้มันตัดเป็นกาสุลาให้ลูกชายสักคนของพี่ใช้ในมิสซาแรกไงละ” และก่อนจะถึงวันพิธีสามวัน ท่านก็ได้ทำตรีวารเป็นสามวันเพื่อเตรียมจิตใจด้วยการไปมิสซาและรับศีลที่วัดแม่พระผู้แนะนำ ปอนเต นูโอโว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหลังใหม่ของท่าน โดยได้ยกถวายเปียโตร ชายผู้เป็นสามีในอนาคตไว้ในความดูแลของพระเจ้าด้วย

สองบ่าวสาวในงานเลี้ยงฉลองแต่งงาน

ในคืนก่อนพิธีจะเริ่ม เปียโตรได้มอบนาฬิกาเรือนทองและสร้อยไข่มุกให้ท่านพร้อมข้อความบอกรักว่า “ยานนา ขอให้ของเหล่านี้เป็นมงกุฏแทนความงามและคุณธรรมอันน่ามหัศจรรย์และสุกใสในวันแต่งงานของสองเรา ขอให้นาฬิกาเรือนนี้เป็นสัญลักษณ์ถึงช่วงเวลาแห่งรักและสันติในชีวิตของสองเรา และขอให้สร้อยมุกนี้เป็นเครื่องหมายถึงแสงสว่างอันงดงามแห่งรักของสองเรา ขอมอบทั้งสองสิ่งนี้ให้เธอ จากคุณแม่ของเธอและฉัน และจากเปียโตรของเธอ ด้วยรัก” และรุ่งขึ้นในวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1955 เปียโตรในวัย 43 ปี และท่านในวัย 33 ปี จึงได้จูงมือกันเข้าประตูวิวาห์ ณ มหาวิหารนักบุญมาร์ติโน เมืองมาเจนตา ซึ่งเป็นมหาวิหารหลังเดียวกันกับที่ท่านได้รับศีลล้างบาป โดยมีผู้ส่งตัวคือคุณหมอแฟร์ดินันโด พี่ชายของท่านเป็นผู้ส่งตัวเจ้าสาวซึ่งสวมชุดยาวสีขาวตัดจากผ้าซาติน ไปตามทางที่ประดับด้วยดอกคาร์เนชั่นสีชมพูและขาวเป็นหลัก และมีคุณพ่อยูเซปเป พี่ชายของท่านเป็นประธานในพิธีมิสซา

หลังพิธีแต่งงานเสร็จสิ้น สองสามีภรรยาใหม่ก็ได้ใช้เวลาไปดื่มน้ำผึงพระจันทร์ทั้งในกรุงโรม ทั่วอิตาลี และทั่วยุโรป เปียโตรได้เขียนเล่าในจดหมายส่งถึงคนรู้จัก ภายหลังพิธีแต่งงานไม่นานว่า “คุณธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของเธอ ความดีและความรักที่แสนอ่อนโยนของยานนา ความห่วงใยของเธอทั้งหมด ทำให้ผมเปี่ยมไปด้วยความสุขและสันติสมดังที่ผมทูลขอต่อองค์พระเยซูเจ้าในวันแต่งงาน พร้อมด้วยยานนาผมมั่นใจเราจะสามารถสร้างครอบครัวคริสตังแท้ ที่เธอรู้วิธีที่จะชักนำพระหรรษทานอันงดงามจากสวรรค์มาใช้ได้… พวกเราได้เริ่มเดินแล้วและจะก้าวต่อไปด้วยความมานะอดทนผ่านการสวดสายประคำประจำวัน ขอพระมารดาผู้สถิตในสวรรค์ทรงเฝ้าทอดพระเนตรมายังเราและประทานพระหรรษทานชุบชูใจจากเทวดาตัวน้อย ๆ ด้วยเถิด” (หมายถึงการมีบุตรธิดาที่มีความสุขและสุชภาพแข็งแรงที่ทั้งสองตั้งใจอยากจะมี) และภายหลังจากการเดินทางท่องเที่ยวด้วยความหวานชื่น สองสามีภรรยาจึงย้ายไปอยู่ในบ้านหลังใหม่ที่เตรียมไว้ที่ย่านปอนเต นูโอโว


ที่บ้านหลังใหม่สองสามีภรรยาต่างใช้ชีวิตด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้งคู่ต่างรู้ว่าแต่ละฝ่ายคือคนที่ตนเองเฝ้ารอ แต่ในเวลาเดียวกันทั้งสองก็ตระหนักว่าตนเองจะไม่คู่ควรกับอีกฝ่าย ทั้งสองจึงมอบถวายทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระเจ้า ในเวลาเดียวกันกับที่ตนเองพยายามอย่างสุดกำลังที่จะทำให้อีกฝ่ายมีความสุข ท่านเคยเขียนบอกกับเปียโตรว่า “เธอคือคนที่ฉันเฝ้าฝันถึง แต่ฉันก็มักถามกับตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่า ‘ฉันเหมาะสมกับเธอไหมนะ’ แต่แน่อยู่แล้ว ฉันเหมาะสมกับเธอ เพราะฉันปรารถนาอย่างยิ่งที่จะทำให้เธอมีความสุข แต่ฉันก็กลัวว่าจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เมื่อเป็นฉะนี้ ฉันจึงได้ทูลต่อพระเจ้าว่า ‘ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงทอดพระเนตรเห็นถึงความปรารถนาและความตั้งใจดีของลูก โปรดช่วยเสริมสิ่งที่ขาดตกไปด้วยเถิด’” ในขณะที่เปียโตรก็เคยเขียนบอกท่านว่า “ฉันรู้สึกอยู่เสมอว่าเธอคือคู่ชีวิตที่มีค่าที่ฉันเฝ้าหวัง และมารดาแบบที่ไม่มีใครเหมือนของบรรดาเด็ก ๆ ที่พระเจ้าจะทรงประทานให้กับสองเรา ฉันจึงสวดขอให้พระเจ้าทรงบันดาลให้ฉันควรคู่กับเธออยู่เสมอ” ทั้งสองยังตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของตนเอง และยินยอมที่จะให้อีกฝ่ายช่วยตักเตือนเพื่อให้ชีวิตคู่ของทั้งสองเป็นพระพร รวมถึงสนับสนุนซึ่งกันและกัน ดังที่ท่านเขียนถึงเปียโตรว่า “ยอดรักฉันขอเธอสักเรื่องได้ไหม แต่นี้ต่อไป เปียโตร ถ้าเธอเห็นฉันทำอะไรที่บกพร่อง ช่วยบอกที โอเคไหม ฉันจะรู้สึกขอบคุณเธอเสมอในทุกครั้งที่เธอทำเช่นนี้” ฝั่งเปียโตรก็ได้เขียนตอบตอนหนึ่งว่า “ฉันมั่นใจว่าไม่มีเหตุใดที่ฉันจะต้องช่วยแก้ไขให้เธอเลย สำหรับคำถามของเธอ ฉันขอตอบด้วยคำขอเดียวกันในส่วนของฉัน” เหตุฉะนี้ครอบครัวของท่านและเปียโตรจึงเปี่ยมไปด้วยความสุข

ท่านยังคงตื่นเช้าในแต่ละวันเพื่อไปร่วมมิสซาเช้าและสวดภาวนาที่วัดแม่พระผู้แนะนำ ปอนเต นูโอโว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหลังใหม่ของท่าน และปฏิบัติหน้าที่ของหมอ ภรรยา และสมาชิกกลุ่มกิจการคริสตังที่ดี นอกจากนี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1956 เป็นต้นมาท่านยังได้สละเวลาไปเป็นหัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษามารดาและหัวหน้าสถานรับเลี้ยงเด็กขององค์กรมารดาและบุตรแห่งชาติ (ONMI) และคอยไปเป็นอาสาสมัครแพทย์ตามโรงเรียนประถมศึกษาและสถานรับเลี้ยงเด็กของรัฐด้วยความขยันขันแข็งอีกด้วย แม้จะภาระความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นมาก ภาระเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ท่านสูญเสียสันติและความร่าเริงอย่างที่ท่านมีมาตลอด วิญญาณของท่านยังคงรู้วิธีที่จะแผ่รังสีแห่งความสุขไปยังผู้คนรอบข้างอยู่ตลอด ท่านยังคอยเขียนจดหมายถึงบรรดาพี่น้องเบเร็ตตาที่แยกย้ายกันไปอยู่คนละที่ และเป็นเพื่อนบ้านที่ดีให้บ้านข้างเคียง


ภายหลังแต่งงานท่านมีความปรารถนาที่จะเป็นมารดาที่มีลูกหลาย ๆ คน เช่นเดียวกันเปียโตรเองก็มีความปรารถนาที่จะบิดาของลูกเช่นกัน ดังที่เขาเขียนในจดหมายในช่วงระหว่างฮันนีมูน และเพียงให้หลังหนึ่งปีที่ทั้งสองอยู่กินกันมา พระเจ้าก็ทรงบันดาลให้ ‘เทวดาน้อย ๆ’ ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของครอบครัว เริ่มจาก ด.ช. ปีแอร์ลุยจี เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1956 ก่อนตามมาด้วย ด.ญ. มารีอา ซีตา (มารีโอลีนา) เกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1957 และ ด.ญ. เลารา เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 สมาชิกใหม่ของครอบครัวโมลลาทั้งสามคนต่างเกิดมาอย่างปลอดภัย ที่บ้านของครอบครัวในย่านปอนเต นูโอโว และต่างได้รับศีลล้างบาปในอีกไม่กี่วันหลังจากเกิด โดยคุณพ่อยูเซปเป ผู้มีศักดิ์เป็นคุณลุง นอกจากนี้ในทุกครั้งที่ท่านได้รับต้อนรับสมาชิกใหม่เข้ามา เพื่อโมทนาคุณพระเจ้าท่านยังได้นำเงินเก็บส่วนตัวจำนวนเท่าเงินเดือนของคนงานจำนวนหกเดือนไปบริจาคให้กับกิจการแพร่ธรรมอีกด้วย

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนเข้าพิธีวิวาห์ท่านเขียนถึงเปียโตรว่า “อาศัยความช่วยเหลือและคำอวยพรของพระเจ้า เราจะพยายามอย่างสุดกำลังในการสร้างครอบครัวใหม่ของเราให้เป็นห้องชั้นบนน้อย ๆ ที่องค์พระเยซูเจ้าจะทรงปกครองความรัก ความปรารถนา และกิจการทั้งมวลของเรา… อีกไม่กี่วันแล้วและฉันอดไม่ได้ที่จะรู้สึกสั่นสะท้านเมื่อนึกถึงเวลาที่ใกล้เข้ามาและเวลาที่จะได้รับ ‘ศีลแห่งความรัก’ สองเราจะกลายเป็นผู้ร่วมมือกับพระเจ้าในการเนรมิตสร้างของพระองค์ และดังนั้นเองเราจะสามารถยกถวายลูก ๆ แด่พระองค์ด้วยความรักให้รับใช้พระองค์ได้” และเปียโตรเองก็ปรารถนาเช่นเดียวกันดังที่เขาเขียนถึงท่านครั้งหนึ่งว่า “‘โปรดทรงทำให้ความรักของเราเติบโต หวานละมุน บริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้น โปรดบันดาลให้ลูกคู่ควรกับเธอ และขอให้ครอบครัวของพวกลูกได้รับพรจากสวรรค์ โปรดบันดาลให้พวกลูกและลูก ๆ นั้นศักดิ์สิทธิ์’ นี่คือคำภาวนาของฉันถึงพระเยซูเจ้าในทันที่ที่พระองค์เข้ามาประทับในดวงใจของฉัน ซึ่งในเวลาเดียวกันฉันก็มีความสุขเพราะการระลึกถึงของเธอในยามที่เธอทูลสิ่งต่าง ๆ กับองค์พระเยซูเจ้า” จากข้อความจากจดหมายของทั้งสองได้แสดงเห็นว่าทั้งสองต่างมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงดูบุตรธิดาของทั้งสองให้อยู่ในหนทางอันศักดิ์สิทธิ์ ภายใต้การช่วยเหลือคุ้มครองของพระเจ้า

 

ในส่วนของท่าน ท่านปรารถนาจะให้ลูก ๆ ทุกคนได้เติบโตขึ้นมาในบรรยากาศแบบที่บิดามารดาของท่านมอบให้ท่าน ท่านเขียนอธิบายภาพลักษณ์ของมารดาที่ท่านอยากจะเป็นว่า “เธอไม่เคยจินตนการว่าเธอจะตีลูก เราต้องสามารถที่จะสอนพวกเขาด้วยการจูงใจ และเหนือกว่าคำสอนไหน เราต้องสอนตั้งแต่แรกว่าทุกสิ่งล้วนเป็นของขวัญจากพระเจ้า ซึ่งสมควรจะได้รับการเคารพในฐานะของประทาน” ดังนั้นนอกจากเลี้ยงดูให้เติบโตฝ่ายกาย ท่านยังเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้งสามให้เติบโตในฝ่ายจิตตั้งแต่พวกเขายังเล็ก ๆ ท่านจะสวดภาวนาร่วมกับพวกเขาทุกเย็นและเล่าถึงความรักของพระเยซูเจ้าให้พวกเขาฟัง ในเวลาเดียวกันท่านก็จะชวนให้พวกเขาคิดทบทวนว่าแต่ละคนทำอะไรมาบ้างตลอดทั้งวัน และชวนคุยว่ามีเหตุการณ์ใดที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงขัดเคืองพระทัย รวมถึงเพราะเหตุผลอะไร

การเติบโตของครอบครัวอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 4 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลโดยตรงทั้งต่อท่านและเปียโตร ทั้งท่านและเขาต่างเผชิญกับความเครียดระลอกใหญ่จากทั้งภาระงานและหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นตามขนาดของครอบครัว โดยเฉพาะเปียโตรที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อนานวันเข้าเมื่อเขาต้องเผชิญทั้งภาระงานที่มากขึ้นตามตำแหน่งและความรับผิดชอบเรื่องครอบครัวที่ขยายขึ้นจากสองเป็นห้าก็ทำให้หลายครั้งเขาต้องหลบไปอยู่บนภูเขาตามลำพัง เพื่อหนีจากภาระความรับผิดชอบในแต่ละวัน ท่านเองในฐานะภรรยาก็เข้าใจชายผู้เป็นสามีดี และยอมที่จะให้เปียโตรได้ใช้เวลาอยู่คนเดียวตามที่เขาปรารถนา แม้ท่านจะเศร้าใจไม่น้อยในวันที่เปียโตรจะทำเช่นนั้น แต่ท่านก็ตั้งใจที่จะไม่รบกวนเขาด้วยเรื่องที่บ้านตลอดช่วงที่เขาไม่อยู่บ้านด้วยปัจจัยต่าง ๆ (ทั้งการไปพักผ่อนและการไปทำงานต่างถิ่น) ท่านยืนหยัดในการเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความเข้มแข็ง แต่เมื่อต้องเผชิญกับความเครียดจากการเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้งสามมากเข้า ในบางคราวท่านก็รู้สึกท้อและเหน็ดเหนื่อย ท่านก็ได้เขียนระบายความรู้สึกผ่านจดหมายไปถึงเขาใจความว่าท่านเฝ้ารอการกลับมาของเขาอย่างตื่นเต้นเสมอ ท่านคิดถึงอ้อมกอดที่แสนจะอบอุ่นของเขา และความเข้มแข็งรวมถึงแรงผลักดันเมื่อเขาอยู่ด้วย พร้อมถึงเล่าความเป็นไปของลูก ๆ ใน่ชวงที่เขาไม่อยู่ ผู้เขียนชีวประวัติของท่านคนหนึ่งได้อธิบายความรักของท่านต่อเปียโตรว่า ท่านไม่เพียงเชื่อว่าเปียโตรรักท่านอย่างอ่อนโยน แต่ยังเป็นผู้ที่เข้าใจตัวท่านและทำให้ท่านสมบูรณ์ในการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ความรักของท่านต่อเปียโตรจึงไม่เคยลดลง ตรงข้ามกลับเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ

บ้านของท่านที่ปอนเต นูโอโว 
ปัจจุบันถูกปล่อยร้างและกำลังเตรียมจะบูรณะอย่างเป็นทางการ

แม้จะต้องเผชิญกับความเครียดครั้งใหญ่เหล่านี้ นอกจากความรักต่อชายผู้เป็นสามีจะไม่ลดลงแล้ว ท่านยังสามารถจัดการกับความรับผิดชอบในหน้าที่ต่าง ๆ ของท่านได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะในฐานะภรรยา มารดา และคุณหมอ ท่านสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความร้อนรน จนหลายคนที่รู้จักท่านต่างอดประหลาดใจไม่ได้ที่เห็นท่านสามารถหาเวลาให้กับทุกสิ่งรวมถึงทุกคนในชีวิต เราอาจกล่าวได้ว่าชีวิตของท่านในช่วงเวลานี้ไม่มีเวลาไหนที่ท่านว่างเลย (และอาจเป็นเพราะแบบนี้ เมื่อท่านเห็นถนนโล่งท่านจึงไม่รีรอที่จะเหยียบคันเร่งรถเฟียต 500 คู่ใจ ตามที่ปีแอร์ลุยจี บุตรชายคนโตจำได้) และนอกจากจะจัดการภาระงานต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยมในบ้านแล้ว ท่านผู้เป็นแม่ครัวฝีมือฉมังก็ยังคงชอบชวนเพื่อนบ้าน มิตรสหาย และคนในครอบครัวทำกิจกรรมในวันหยุดสุดสัปดาห์ และบางคราวท่านกับสามีก็มองหาเวลาไปเติมความหวานด้วยการไปฟังคอนเสิร์ตดนตรี หรือชมละครโอเปราสักเรื่องที่ตัวเมืองมิลาน และในบางโอกาสหากท่านสามารถปลีกตัวจากภาระต่าง ๆ ได้ท่านก็จะติดตามเปียโตรไปทำธุระต่างเมืองร่วมกับเขา แต่ถ้าหากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ทั้งสองก็จะคอยติดต่อกันผ่านจดหมายเสมอ

วันเวลาล่วงผ่านมาถึง 6 ปี ที่ท่านและเปียโตรเริ่มสร้างครอบครัวคริสตังแท้ด้วยกันมา พระเจ้าก็ทรงนำความยินดีมาสู่ครอบครัวเล็ก ๆ นี้อีกครั้ง เมื่อท่านเริ่มตั้งครรภ์สมาชิกคนที่ 6 ของครอบครัว แต่ในท่ามกลางความยินดีอีกครั้งต่อการมาของเทวดาน้อย ๆ คนที่ 4 ของบ้านนั้น บททดสอบครั้งใหญ่ก็ได้มาถึงท่านและครอบครัวอีกครั้ง เมื่อถึงปลายเดือนที่สองของการตั้งครรภ์ซึ่งตรงกับเดือนกันยายน ค.ศ. 1961 ท่านก็ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าท่านที่มีอาการเจ็บท้องหนักมีเนื้องอกขนาดใหญ่อยู่ที่บริเวณมดลูก ซึ่งโดยปกติแล้วอาการดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ แต่ในกรณีของท่านเนื่องจากขนาดที่ใหญ่ของมันทำให้มีผลโดยตรงต่อเด็กทารกในครรภ์ กล่าวคืออาจกดทับมดลูกจนทำให้ท่านแท้ง หรืออาจทำให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ ไม่เพียงเท่านั้นด้วยขนาดของเนื้องอกยังอาจส่งผลให้ท่านคลอดก่อนกำหนด รวมถึงทำให้ท่านมีการปวดเพิ่มมากขึ้น และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอนาคต


แม้ท่านจะให้กำเนิดบุตรธิดามาสามคนอย่างปลอดภัย แต่เมื่อย้อนกลับไปที่การตั้งครรภ์ครั้งแรกของท่านจะพบว่าท่านมีภาวะแพ้ท้องรุนแรง ซึ่งทำให้ท่านอาเจียรมาก รวมถึงมีภาวะลำไส้ทำงานผิดปกติ และความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารซึ่งทำให้ท่านมีอาการปวดท้องอยู่เรื่อย ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่เพียงเท่านั้นการตั้งครรภ์ครั้งนี้ยังเกินกำหนดคลอดไปถึง 25 วัน และต้องใช้เวลากว่า 36 ชั่วโมงในการใช้คีมช่วยคลอด เนื่องจากขนาดตัวของเด็กที่มีขนาดใหญ่ หลังจากนั้นในการตั้งครรภ์ครั้งที่สองท่านก็ประสบภาวะเดียวกันกับครั้งแรก ท่านต้องเผชิญกับภาวะคลอดยากและกินเวลานานอีกครั้ง คราวนี้เกินกำหนดคลอดไปถึง 10 วัน และในการตั้งครรภ์ครั้งที่สาม ท่านก็ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากท่านมีอาการแบบเดียวกับครั้งก่อน ๆ รวมถึงมีอาการชักเกร็งเฉียบพลัน จนท่านเกรงว่าท่านจะแท้งลูกคนนี้ไป แต่อย่างไรก็ตามท่านก็สามารถให้กำเนิดธิดาคนที่สามออกมาได้ แต่ไม่วายท่านก็ต้องเผชิญภาวะคลอดยาก และการคลอดที่เกิดกำหนดเดิมไป 10 วัน ดังนั้นทุกครั้งที่ท่านตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรธิดาทั้งสามคน ท่านจึงต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานทางร่างกายเป็นอันมาก โดยเฉพาะในยามคลอด แต่ท่านก็ไม่เคยสูญเสียสันติ แม้ในเวลาที่ท่านคลอดที่ท่านต้องเผชิญอาการเจ็บจนท่านต้องใช้ผ้าเช็ดหน้ามากัดไว้ก็ตาม เพราะท่านยินดีที่จะร่วมส่วนในการเนรมิตสร้างของพระเจ้า และจากอาการข้างต้นก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้การตั้งครรภ์ครั้งที่ 4 ออกมามีผลเช่นนี้

กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบันเมื่อท่านได้รับการวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว แพทย์ก็ได้ยื่นแนวทางการรักษาให้ท่าน 3 แนวทางที่เป็นไปได้ในกรณีของท่าน แนวทางที่ 1 คือ การตัดมดลูกออกพร้อมเนื้องอก แนวทางนี้มีความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่ก็จำต้องสละชีวิตทารกในครรภ์ที่มีอายุสองเดือน รวมถึงโอกาสในการตั้งครรภ์ในอนาคตไป แนวทางที่ 2 คือ การผ่าตัดเอาเนื้องอกออกอย่างเดียวและยุติการตั้งครรภ์ แนวทางนี้จะช่วยให้ยังสามารถตั้งครรภ์ได้ต่อไปในอนาคต และแนวทางสุดท้าย แนวทางที่ 3 คือ การผ่าตัดเอาเพียงเนื้อออกและปล่อยให้มีการตั้งครรภ์ต่อไป แนวทางประการหลังนี้มีความเสี่ยงมากที่สุด ทั้งการแท้งโดยธรรมชาติจากการกระทบกระเทือนในระหว่างการผ่าตัด การเสียเลือดมากเนื่องจากมดลูกอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ รวมถึงการติดเชื้อในอนาคตในระหว่างการตั้งครรภ์ที่เหลือ ดังนั้นในเวลานี้ท่านจึงต้องเลือกอีกครั้งระหว่าง ‘ชีวิต’ ท่าน และ ‘ชีวิต’ ลูก


ที่สุดด้วยความวางใจในพระญาณสอดส่องพระเจ้าและการตระหนักถึงน้ำพระทัยของพระเจ้า ท่านเลือกแนวทางรักษาอย่างสุดท้าย แม้ตัวท่านที่เรียนโดยตรงในด้านนี้จะทราบดีว่าแนวทางดังกล่าวมีความเสี่ยงมากเพียงใด รวมถึงเพื่อนร่วมอาชีพบางคนของท่านจะแนะนำให้ท่านทำแท้งก็ตาม ดังนั้นท่านจึงได้เข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลซาน เยราร์โด เมืองมอนซา ในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1961 เพราะท่านตระหนักดีว่าทารกในครรภ์คนนี้มีสิทธิ์ที่จะได้มีชีวิตเช่นเดียวกับพี่ ๆ ของเขา ดังนั้นก่อนการผ่าตัดครั้งสำคัญจะมาถึง ท่านจึงได้เตรียมตัวเองด้วยการสวดภาวนามากขึ้น และมอบถวายทุกสิ่งที่ท่านเป็นกังวลไว้ในพระญาณสอดส่องของพระเจ้า รวมถึงได้ย้ำขอให้แพทย์ผู้ผ่าตัดรักษาชีวิตทารกในครรภ์ของท่านไว้ ท่านกล่าวว่า “ถูกแล้ว ฉันสวดมากในช่วงนี้ ฉันมอบตัวฉันเองไว้กับองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความเชื่อและความหวัง ฉันวางใจในพระเจ้า ถูกแล้ว ตอนนี้มันขึ้นอยู่กับฉันแล้วที่จะต้องทำหน้าที่ในฐานะแม่ของฉัน ฉันได้ถวายชีวิตของฉันแด่พระเป็นเจ้าอีกครั้ง ฉันพร้อมแล้วสำหรับทุกอย่าง เพื่อช่วยชีวิตลูกของฉัน”

ผลการผ่าตัดเป็นไปได้ด้วยดี ท่านพักพื้นอยู่ที่โรงพยาบาลซาน เยราร์โดเพียงไม่นาน ท่านก็ได้รับอนุญาตให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ และอีกเจ็ดเดือนต่อมาระหว่างตั้งครรภ์ ท่านก็สามารถกลับมาทำหน้าที่คุณหมอและมารดาได้ตามปกติ ท่านโมทนาคุณพระเจ้าที่ทรงช่วยท่านให้รอดพ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และทูลวอนพระองค์ให้ทารกที่จะเกิดมาคลอดง่ายและมีสุขภาพดี แต่… ยิ่งใกล้วันกำหนดคลอดเท่าไร ท่านก็เหมือนจะสัมผัสได้ว่า การคลอดครั้งนี้จะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกครั้ง และ ‘ปัญหา’ กำลังจะก่อตัวขึ้นอีกระลอก ครั้งหนึ่งท่านเคยบอกกับพี่ชายคนหนึ่งของท่านว่า “เรื่องหนักยังมาไม่ถึง ตอนนี้พี่ยังไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ แต่เมื่อถึงเวลานั้น มันจะเกิดขึ้นไม่กับเขาก็กับน้อง” อีกคราวหนึ่งท่านได้สั่งเสียกับเปียโตร ชายที่ท่านรักด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ถ้าเธอต้องเลือกระหว่างฉันกับลูก จงอย่าลังเลที่จะเลือกลูก ฉันต้องการแบบนั้น ช่วยเขาไว้นะ” พร้อมจ้องมองเขาด้วยความสายตาที่มุ่งมั่น เปี่ยมไปด้วยสันติ ซึ่งเปียโตร ‘จำได้ไม่มีวันลืม’ และเขาก็ยินยอมที่จะทำเช่นนั้น ด้วยใจเด็ดเดี่ยวไม่ต่างจากภรรยาที่รัก แม้ส่วนลึกของเขาจะเจ็บปวดเพียงไหน เหมือนที่เขาเคยให้สัญญาไว้ในจดหมายฉบับแรกว่า “ฉันอยากทำให้เธอมีความสุขและเข้าใจเธออย่างดี”

“ถ้าเธอต้องเลือกระหว่างฉันกับลูก จงอย่าลังเลที่จะเลือกลูก”

เมื่อถึงบ่ายวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1962 ก่อนจะออกเดินทางไปโรงพยาบาลซาน เยราร์โดเพื่อคลอด ท่านได้จูบลาลูก ๆ ทุกคนอยู่นาน ปีแอร์ลุยจีเล่าว่า “ผมยังจำได้ดีว่าท่านจูบพวกเราเป็นเวลานานก่อนที่ท่านจะไปโรงพยาบาลเพื่อทำการคลอด เหมือนท่านตระหนักดีว่านี่คือการบอกลาครั้งสุดท้าย” แต่กระนั้นปีแอร์ลุยจีก็อธิบายว่าในเวลานั้นท่านก็เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี เพราะก่อนหน้านั้นท่านยังได้เลือกเสื้อผ้าจากแคตตาล็อคจากปารีสเพื่อเตรียมสั่งมาใช้หลังออกจากโรงพยาบาล เรื่องในทำนองนี้ยังถูกเล่าโดยเลารา ที่เล่าว่า บิดาของเธอเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อพักฟื้นที่โรงพยาบาลท่านก็ยังพลิกอ่านนิตยสารแฟชั่น เพื่อมองหาชุดที่ท่านอยากใส่หลังออกจากโรงพยาบาลอยู่ นี่จึงคือเครื่องยืนยันในทัศนะของเลาราว่า “ท่านไม่ได้เลือกความตาย แต่ในเวลานั้นท่านเลือกชีวิตลูกน้อยของท่านต่างหาก”

เนื่องจากการภาวะร่างกายของท่านไม่เอื้อให้ผ่าคลอด เมื่อมาถึงโรงพยาบาลซาน เยราร์โด แพทย์จึงได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ท่านคลอดตามธรรมชาติ แต่แม้ถุงน้ำคร่ำของท่านจะแตกและเวลาจะล่วงตั้งแต่ช่วงบ่ายวันศุกร์ไปจนถึงสิบโมงเช้าของวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ท่านก็ยังไม่สามารถเบ่งเด็กออกมาได้ แพทย์ที่ทำคลอดให้ท่านจึงลงความเห็นให้ดมยาสลบท่านเพื่อทำการผ่าคลอดท่านเป็นการด่วน ผลปรากฏว่าการผ่าเป็นไปด้วยดี ทารกเป็นเพศหญิงมีร่างกายแข็งแรงดีในเวลา 11 นาฬิกาวันเดียวกัน แต่เพียงคล้อยหลังไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อาการของท่านกลับค่อย ๆ ทรุดลง ท่านเริ่มมีอาการไข้ขึ้นสูง ชีพจรเต้นเร็วและอ่อนบ้าง รวมถึงมีอาการอ่อนเพลีย และมีภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แพทย์จึงได้เร่งรักษาท่านเป็นการด่วนด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ท่านก็ได้ปฏิเสธที่จะรับยาแก้ปวดที่มีสารเสพติดเป็นส่วนประกอบ เปียโตรเล่าถึงช่วงเวลานั้นว่า “หลาย ๆ ครั้งผมยังหวนนึกถึงมัน เหมือนกับว่ามันกำลังเกิดขึ้นอยู่ ผมยังคงเห็นภาพยานนา ในเช้าวันอาทิตย์ปัสกา ค.ศ. 1962 ในแผนกสูตินารีเวชของโรงพยบาลมอนซา เธออุ้มลูกน้อยไว้ในอ้อมแขนด้วยความพยายามเป็นอย่างมาก เธอจูบเธอ (ลูกสาว) และมองที่เธอด้วยสายตาเศร้าสร้อยและปวดร้าว นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ให้ผมทราบว่าเธอนั้นรู้ตัวดีว่าในไม่ช้าเธอจะปล่อยให้เธอ (ลูกสาว) ต้องเป็นกำพร้า ตั้งแต่วันนั้นความเจ็บปวดก็อยู่กับเธอ (ลูกสาว) เธอขอให้แม่ของเธออยู่ใกล้ ๆ กับเธอและช่วยเธอเพราะเธอนั้นไม่อาจทำอะไรได้ นี่แหละคือความเจ็บปวดของเธอ”


เมื่อถึงวันจันทร์อาการของท่านก็ยิ่งทรุดลงเรื่อย ๆ เปียโตรพยายามที่จะอยู่ไม่ห่างจากท่านตลอด ดังนั้นเขาจึงได้มาขอค้างคืนที่โรงเรียนนักบุญยอแซฟ โรงเรียนเก่าของเขา ในเวลานี้นอกจากเปียโตรที่อยู่เฝ้าท่านแล้ว เวร์ยีเนีย น้องสาวของท่านซึ่งขณะนั้นได้ถวายตนในคณะภคินีกันนอสเซียนและได้เดินทางไปเป็นธรรมทูตที่อินเดีย เมื่อทราบข่าวการคลอดก็ได้เร่งเดินทางมาเฝ้าไข้ท่านอีกคน ซิสเตอร์วีร์ยีเนียได้เป็นพยานว่า “เธอแทบไม่ค่อยแสดงออกถึงความทุกข์ทรมานเลย เธอปฏิเสธยากล่อมประสาทชนิดต่าง ๆ เพื่อเธอจะได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและมีสติอยู่ทุกขณะ ซึ่งไม่เพียงเท่านั้นเธอปรารถนาจะยังอยู่ในความสนิทสัมพันธ์กับองค์พระเยซูเจ้า ผู้ที่เธอร้องทูลอยู่เรื่อย ๆ ว่า ‘พระองค์ย่อมทรงทราบดีว่าลูกนั้นได้รับความบรรเทาใจเช่นไรอาศัยการจูบกางเขนของพระองค์’” ซิสเตอร์ยังเป็นพยานอีกว่าในระหว่างเวลานี้ท่านสวดภาวนาสั้น ๆ อยู่เป็นระยะ ๆ ว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ลูกรักพระองค์” “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ลูกไหว้นมัสการพระองค์” “แม่พระช่วยลูกด้วย” “มารีย์” รวมถึงภาวนาอยู่เงียบ ๆ

พอถึงค่ำวันอังคารอาการของท่านก็แย่ลงหนักกว่าเก่า จนถึงเช้าวันพุธอาการต่าง ๆ ก็ทุเลาลงชั่วขณะก่อนจะทรุดหนักต่อ ในเวลาที่อาการท่านดีขึ้นนั้น ท่านได้เล่าให้เปียโตรฟังว่า “เปียโตร ฉันได้ข้ามไปอีกฟากหนึ่งแล้ว และถ้าฉันสามารถบอกเธอได้ว่าฉันเห็นอะไรก็คงดี สักวันหนึ่งฉันจะบอกเธอนะ แต่เพราะเรามีความสุขมากเพราะลูก ๆ ที่น่ามหัศจรรย์ของเรา รวมถึงสุขภาพที่ดีและพระพรเต็มล้น อาศัยพระหรรษทานจากสวรรค์ พวกเขาจึงส่งฉันกลับมาที่นี่เพื่อรับทรมานมากกว่านี้ เพราะมันไม่ถูกเสียเลยที่ไปเคาะประตูของพระเจ้าโดยปราศจากการทนทุกข์ทรมานมาก ๆ ” และขอให้พาท่านกลับบ้าน ฝั่งเปียโตรเองที่ทราบดีว่าเวลาสุดท้ายของท่านใกล้เข้ามาเต็มที ก็ปรารถนาที่จะให้ท่านได้สิ้นใจที่บ้านของทั้งสองเช่นกัน แต่เขาก็ไม่ได้ทำอย่างนั้นได้ในทันที และนอกจากเปียโตรที่ท่านเผยให้เห็นเหตุการณ์ประหลาดที่ดูเหมือนท่านจะได้ออกเดินทางไปสวรรค์แล้ว ซิสเตอร์วีร์ยีเนียยังเป็นคนที่ท่านได้พูดถึงเรื่องในทำเดียวกับเปียโตรว่า “ถ้าน้องได้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายที่แตกต่างกันไปถูกพิพากษาอย่างไรในวาระสุดท้าย หลายสิ่งที่เราต่างให้ความสำคัญในโลกนี้ก็กลายเป็นเพียงเรื่องไร้สาระไปเลย”

คุณพ่อยูเซปเป และคุณแม่เวร์ยีเนีย พี่ชายและน้องสาว
ของนักบุญยานนา ในวัยชรา

เมื่อถึงเช้าวันพฤหัสบดี ซิสเตอร์วีร์ยีเนียที่ดูแลท่านอย่างใกล้ชิดก็เห็นว่าอาการของท่านทรุดหนักยิ่งขึ้น เธอจึงได้ปรับทุกข์กับเปียโตรว่า “พี่เปียโตร น้องกลัวเหลือเกินว่าเธอกำลังจากจากไปโลกหน้าเพราะอาการปวด อาการปวดที่เธอกำลังเป็นอยู่” เราทราบว่าในช่วงระหว่างวันพฤหัสบดีถึงวันศุกร์อาการของท่านแย่ลงมาก แม้ท่านปรารถนาจะรับศีลมหาสนิทเหมือนเช่นปกติ ท่านก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากอาการอาเจียนอย่างควบคุมไม่ได้ กระนั้นท่านจึงขอให้นำเศษศีลเล็ก ๆ แตะที่ริมฝีปากของท่านก็ยังดี เรายังทราบว่าคุณหมอแฟร์นันโด พี่ชายของท่านได้รับความไว้วางใจจากท่านให้เป็นผู้แจ้งกับท่านเมื่อเวลาสุดท้ายของท่านใกล้เข้ามาถึง แต่คุณหมอแฟร์ดินันโดก็ทำใจทำเช่นนั้นไม่ได้ เขาจึงขอให้ซิสเตอร์วีร์ยีเนีย ผู้เป็นน้องสาวรับหน้าที่นี้แทน ซิสเตอร์วีร์ยีเนียจึงได้เป็นพยานว่า เมื่อซิสเตอร์ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ท่านทราบในเวลาที่เหมาะสมว่า “กล้าหาญไว้นะ พี่ยานนา คุณพ่อคุณแม่กำลังรอพี่อยู่ในสวรรค์ พี่มีความสุขไหมที่จะได้ไปที่นั่น” ท่านก็ได้หยักคิ้วแทนคำตอบ “ใครที่เห็นก็เข้าใจได้ว่าเธอยึดมั่นอย่างสมบูรณ์และด้วยความรักต่อน้ำพระทัยของพระเจ้า แม้จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดที่ต้องละจากลูก ๆ ที่รักซึ่งยังเล็กไป พี่ยานนาได้ปฏิบัติแบบเดียวกับองค์พระเยซูเจ้าของเธอ เธอได้มอบตัวเองให้กับพระบิดาเจ้า”

ในสารคดี ‘Love is a Choice’ (2010) เปียโตรเล่าถึงตอนหนึ่งในช่วงเวลาที่ท่านป่วยว่า “ยานนาบอกกับผม ด้วยน้ำเสียงสงบนิ่งเหมือนปกติ ‘เปียโตร ฉันอยู่ที่นั่นแล้ว ฉันอยู่ที่นั่นแล้ว เธอรู้ไหมฉันเห็นอะไร’ ผมจึงถามว่า ‘บอกฉันเร็ว ๆ สิ’ แต่เธอตอบกลับว่า ‘ไม่ ไม่ ฉันจะยังไม่บอกเธอตอนนี้’ เธอไม่เคยบอกผมเลย ‘แต่เธอจะได้เห็น’ เธอพูดต่อ ‘ที่นั่นเราจะมีแต่ความสบายใจมาก ๆ ความสุขมาก ๆ มาก ๆ ในความรัก และพระเจ้าทรงส่งฉันมายังที่นี่เพื่อรับทรมานอีกเพียงเล็กน้อย เพราะเราไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากความทุกข์ยาก” เช้ามืดวันเสาร์ที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1962 ซึ่งเป็นวันที่เจ็ดในอัฐมวารปัสกา ท่านได้ถูกพากลับมาที่บ้านของครอบครัวตามความประสงค์ และเมื่อถึงเวลา 8 นาฬิกา ภายหลังท่านอุทานอยู่ซ้ำ ๆ ว่า ‘ข้าแต่พระเยซูเจ้า ลูกรักพระองค์’ ท่านจึงได้คืนวิญญาณของท่านไปรับบำเหน็จในสวรรค์อย่างสงบด้วยอายุ 39 ปี โดยมีเปียโตรอยู่เคียงข้าง ในขณะที่ลูก ๆ ทั้งสี่หลับอยู่ที่ห้องข้าง ๆ กัน

พิธีปลงศพของนักบุญยานนา 

ร่างของท่านนอนสงบนิ่งรายล้อมด้วยแสงจากเทียน ใบหน้าเปี่ยมไปด้วยความสุข ไม่มีเค้าของความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญมากว่าหนึ่งสัปดาห์ และเมื่อข่าวการสิ้นใจของท่านถูกส่งต่อไป ทั้งญาติ ๆ และชาวเมืองก็ต่างเดินทางมาร่วมไว้อาลัยท่านเป็นครั้งสุดท้ายที่บ้านซึ่งท่านเสียชีวิต จำนวนผู้มาเคารพของท่านยิ่งทวีมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดทั้งสามวัน เพราะนอกจากความเสียใจที่สูญเสียท่านไปอย่างไม่มีวันกลับแล้ว พวกเขายังเชื่อว่าบัดนี้พวกเขาได้มีนักบุญองค์ใหม่ในสวรรค์ หลังจากนั้นในวันอาทิตย์เปียโตรและครอบครัวเบเร็ตตาและโมลลาจึงได้พร้อมใจกันนำทารกที่บัดนี้เป็นกำพร้าไปรับศีลล้างบาปที่วัดแม่พระผู้แนะนำ ปอนเต นูโอโว เหมือนพี่ ๆ ทั้งสามของเธอ เปียโตรตั้งชื่อธิดาคนนี้ว่า ‘ยานนา เอมมานูเอลา’ และในวันรุ่งขึ้นพวกเขาจึงประกอบพิธีปลงศพของท่านในวัดหลังเดียวกัน ซิสเตอร์วีร์ยีเนียเขียนเล่าให้คุณพ่ออัลแบร์โตฟังว่า “พิธีปลงศพนั้นงดงามมากกว่างานของเจ้าหญิงสักคนเสียอีก และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการกลับใจเข้าหาพระเจ้า สู่ชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์อย่างแข็งขัน ไม่เคยมีการแก้บาปในปัสกาไหนจะเท่าในช่วงเวลานี้ ผู้คนเหล่านี้ได้บอกกับคุณพ่อว่า พวกเขาจำเป็นต้องมาแก้บาปก่อนถึงจะมีความกล้ามองดูร่างของพี่ยานนา”

ร่างของท่านได้รับการฝังในส่วนสุสานที่เตรียมไว้ให้กับบรรดาพระสงฆ์ประจำเมืองเมเซโร เพราะทุกคนไม่ว่าจะสัตบุรุษก็ดีหรือพระสงฆ์ต่างเห็นว่า ร่างของท่านนั้นไม่ได้แตกต่างจากร่างของนักบุญองค์หนึ่ง จึงเป็นการสมควรที่จะฝังร่างของท่านไว้ ณ ตำแหน่งใต้พระแท่นซึ่งเตรียมไว้สำหรับพระสงฆ์ ซึ่งในภายหลังการเสียชีวิตของ ด.ญ. มารีโอลีนา ใน ค.ศ. 1964 ได้ระยะหนึ่งเปียโตรก็ได้สร้างอาคารสุสานของครอบครัวภายเขตสุสานเดียวกัน เขาจึงได้ย้ายร่างของท่านไปฝังในอาคารหลังนั้นแทน และภายหลังมรณกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของท่าน บุญราศีคุณพ่อโอลินโต มาเรลลา ซึ่งสนิทกับทั้งท่านและเปียโตร ร่วมถึงร่วมอยู่ในช่วงที่ท่านเข้าโรงพยาบาลจนถึงแก่มรณกรรม คุณพ่อเป็นผู้อวยพรท่านเป็นครั้งสุดท้ายและผู้ที่มีความเชื่อว่าท่านเป็นนักบุญอย่างไม่ต้องสงสัย จึงได้เริ่มเขียนและตีพิมพ์จุลสารเรื่องชีวิตของท่านเพื่อแจกจ่าย ซึ่งเปียโตรเมื่อทราบก็ขอให้คุณพ่ออย่าเผยแพร่เอกสารดังกล่าวไปเป็นวงกว้างเกินไป


กระนั้นตามเรื่องราวของท่านก็ทราบถึงพระคุณเจ้าโยวันนี บัตติสตา มอนตินี พระอัครสังฆราชแห่งมิลาน ซึ่งได้ร่วมในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณเพื่อเป็นเกียรติในการอุทิศตนในวิชาชีพแพทย์ของท่านโดยจังหวัดมิลานในปีเดียวกับที่ท่านเสียชีวิต พระคุณเจ้ารู้สึกประทับใจในเรื่องราวความเสียสละของท่านมาก และเมื่อพระคุณเจ้าได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ใน ค.ศ. 1963 พระองค์จึงได้มีความประสงค์ที่จะให้มีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ แต่ก็ต้องใช้เวลาถึงแปดปีหลังท่านสิ้นใจ พระคุณเจ้าโยวันนี โกลอมโบ ผู้สืบตำแหน่งอัครสังฆราชแห่งมิลานต่อจากนักบุญพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 จึงได้เดินทางไปพบเปียโตรในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1970 เพื่อขออนุญาตให้ทางสังฆมณฑลเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ เป็นอีกครั้งที่เปียโตรได้แสดงความกล้าหาญ เนื่องจากหนแรกเขาไม่ปรารถนาให้มีการทำเช่นนี้ เพราะเขาไม่อยากให้ชีวิตในครอบครัวถูกเปิดเผยสู่สาธารณะชน เพราะมันเป็นทั้งความสุขและความเจ็บปวดในเวลาเดียวกัน รวมถึงเขาเกรงว่าการเสียสละของท่านอาจเป็นทั้งที่ชื่นชมและสร้างความไม่สบายใจให้ใครหลาย ๆ คนได้ แต่เมื่อพระคุณเจ้าอธิบายถึงเหตุผลอันควร คือ นี่เป็นความประสงค์ขององค์พระสันตะปาปาและท่านจะเป็นแบบฉบับแก่คริสตังต่อไปในอนาคต รวมถึงเปียโตรก็ระลึกสิ่งที่ท่านทำมาตลอดชีวิต และความปรารถนาของท่านที่จะทำสิ่งดีเพื่อคนอื่น เปียโตรจึงได้ยินยอม โดยมีข้อแม้ว่าขอให้การไต่ส่วนชีวิตของท่านเป็นไปอย่างเร็วที่สุด เพื่อลูก ๆ ของเขาจะไม่อยู่ภาวะตึงเครียดเป็นเวลานาน

เพียง 7 ปีต่มาเครื่องหมายจากสวรรค์ อันเป็นการยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านก็ได้เกิดขึ้น เมื่อเกิดอัศจรรย์การรักษาชีวิตนางลูเซีย ซิลเวีย คิริโอ หญิงโปรแตสแตนต์ในประเทศบราซิล ซึ่งมีภาวะแทรกซ้อนหลังการคลอดทารก ที่สิ้นใจไปก่อนนางในทันทีหลังคลอดและจำเป็นต้องถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทางในเมืองเซา หลุยส์ที่อยู่ห่างออกไปกว่าหกร้อยกิโลเมตร เนื่องจากโรงพยาบาลที่เธอเข้าคลอดบุตรไม่มีเครื่องมือพอจะรักษาอาการเหล่านี้ได้ แต่จากระยะที่ไกลมากจึงเป็นไปได้ยากมากที่นางจะรอดไปจนถึงเมืองเซา หลุยส์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลที่พี่ชายของท่านเป็นผู้ก่อตั้ง ดังนั้นภคินีคนหนึ่งจึงได้ชักชวนพยาบาลอีกสองคนให้สวดขอต่อรูปข้ารับใช้พระเจ้าให้ช่วยนางลูเซีย และปรากฏว่าอาการป่วยของนางลูเซียก็ดีขึ้นในทันที ดังนั้นจึงได้มีการไต่สวนอัศจรรย์นี้อย่างถี่ถ้วน และเมื่อพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอัศจรรย์จากสวรรค์ ในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1994 ซึ่งอยู่ในระหว่างปีแห่งครอบครัว นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงได้บันทึกนามท่านในสารบบบุญราศีพร้อมข้ารับใช้พระเจ้าอีก 2 คน คือ บุญราศีอิสิดอร์ ชาวคองโก และบุญราศีเอลิซาเบตตา กาโนรี โมรา ชาวอิตาลี

เลารา ยานนา เอมานูเอลา และปีแอร์ลุยจี เชิญพระธาตุ
นักบุญยานนา ในวันสถาปนามารดของตนเองเป็นนักบุญ

หลังจากนั้นอีก 6 ปีก็ได้เกิดอัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่านอีกครั้งที่ประเทศบลาซิล คราวนี้เกิดขึ้นกับนางเอลิซาเบธ คอมปารินี อาร์โคลิโน ซึ่งมีอาการถุงน้ำคร่ำแตกในระหว่างตั้งครรภ์บุตรคนที่สี่ในสัปดาห์ที่ 16 และได้รับการวินิจฉัยว่าเด็กในครรภ์มีโอกาสรอดเป็นศูนย์ แต่ในขณะที่นางกำลังจะตัดสินใจทำแท้งตามคำแนะนำของแพทย์ พระคุณเจ้าดีโอเคเนส ดา ซิลวา มัตเธส พระสังฆราชแห่งฟรังกาก็ได้มาพบนางพอดี เนื่องจากพระคุณเจ้าเดินทางมาเยี่ยมเพื่อนที่โรงพยาบาล พระคุณเจ้าจึงได้แนะนำให้นางสวดขอบุญราศียานนา และเมื่อพระคุณเจ้ากลับมายังที่พักพระคุณเจ้าก็ได้สวดต่อท่านเช่นกัน ผลปรากฏว่าในเวลาต่อมาเมื่อมีการผ่าคลอดทารกก็สามารถรอดชีวิตมาได้ รวมถึงมีสุขภาพแข็งแรงดี ดังนั้นจึงได้มีการเปิดการไต่สวนอัศจรรย์ครั้งนี้ และเป็นผลให้ในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ได้ประกาศให้ท่านเป็นนักบุญ ท่ามกลางสักขีพยานอันประกอบด้วยครอบครัวอาร์โคลิโน ครอบครัวของท่าน และคนรู้จักท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ ในวันนั้นนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีสามีร่วมในพิธีสถาปนาภรรยาของตนเองเป็นนักบุญ (และอนาคตเขาเองก็จะได้รับเกียรติเช่นเดียวกัน) พร้อมด้วยลูก ๆ ทั้งสามคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้เชิญพระธาตุของท่านสู่ปรำพิธีอย่างสง่า

“ทุกสิ่งอยู่ตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ พระองค์ไม่ทรงสร้างสิ่งใดไว้ให้บกพร่อง” (บุตรสิลา 42 : 24) ในภาษาฮีบรูพระคัมภีร์ข้อนี้ได้ถูกเขียนว่า “ทุกสิ่งแตกต่างกัน ไม่มีสิ่งใดถูกสร้างโดยไร้ประโยชน์” ด้วยข้อเขียนนี้บุตรสิลาได้ย้ำเตือนเราว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง ‘มนุษย์’ แต่ละคนให้ ‘แตกต่างกัน’ ไป โดย ‘ไม่มี’ ข้อบกพร่องหรือไร้ประโยชน์เลย โดยเฉพาะในการบรรลุถึงสวรรค์ ดังนั้นอาจกล่าวได้เช่นกันว่าการเป็นนักบุญไม่ได้อยู่ที่เพียงเราเป็นใคร อยู่ในสถานภาพไหน ชายหรือหญิง ฆราวาสหรือนักบวช เด็กหรือผู้ใหญ่ แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเราทำอย่างไรเพื่อบรรลุถึงสวรรค์ในวิถีทางที่พระเจ้าประทานให้เหมาะสมกับตัวของเราที่มีความพิเศษ นักบุญยานนาคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของคำกล่าวที่ว่า ‘ใคร ๆ ก็เป็นนักบุญได้’ ท่านได้แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าในสถานภาพใด เพียงมนุษย์ตระหนักถึงวันเวลาของพระเจ้าในชีวิต (เทียบ สดุดี 90 : 12) และแสวงหาน้ำพระทัยพระเจ้าในชีวิตของตนเองผ่านการรำพึงภาวนา พรัอมด้วยสามสิ่ง ‘คือ รัก ศรัทธา และวางใจ’ ในพระเจ้า ซึ่งเป็นขุมพลังในตัวเอง (เทียบ สดุดี 84 : 5) มนุษย์ไม่ว่าจะในสถานภาพไหนสามารถบรรลุความศักดิ์สิทธิ์ได้ ดังเช่นท่านที่ไม่ได้เป็นนักบวชหรือก่อตั้งคณะหรือธรรมทูตในต่างแดน แต่เป็นเพียงคุณหมอ ภรรยา และแม่ที่ในประเทศบ้านเกิดก็สามารถบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ได้ ขอให้แบบฉบับของนักบุญยานนา ทำให้เราได้ค้นพบแบบฉบับความศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าได้มอบแก่เราแต่ละคนอย่างจำเพาะ เพื่อเราจะได้ติดตามแบบฉบันนั้นอย่างดีที่สุด และขอให้เราตระหนักได้อย่างที่ท่านสอนเราว่า “เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำทุกอย่างเพื่อเรียนรู้น้ำพระทัยของพระเจ้า เราต้องเดินไปตามหนทางนั้น ไม่ใช่ด้วยการทุบประตูเข้าไปโต้ง ๆ แต่เมื่อพระเจ้าทรงประสงค์และตามอย่างที่พระองค์ทรงประสงค์” อาแมน
รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
ศุกร์ต้นเดือนที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 2023


“ข้าแต่ท่านนักบุญยานนา เบเร็ตตา โมลลา ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
http://it.wikipedia.org/wiki/Gianna_Beretta_Molla
http://en.wikipedia.org/wiki/Gianna_Beretta_Molla
http://www.vatican.va/news_services/liturgy/saints/ns_lit_doc_20040516_beretta-molla_en.html
https://saintgianna.org/main.htm
https://www.giannaberettamolla.org/giaprofilo.htm
https://www.stgiannaphysicians.org/our_patron
http://www.fmboschetto.it/Lonate_Pozzolo/Beretta.htm
https://www.ncregister.com/features/5-things-st-gianna-and-her-husband-teach-us-about-dating-marriage-and-love
https://aleteia.org/2018/08/01/this-holy-priest-is-known-as-the-padre-pio-of-brazil/
https://plus.catholicmatch.com/articles/st-gianna-told-her-future-boyfriend-i-love-you-first
https://www.archbalt.org/saints-daughter-hopes-to-follow-her-mothers-example-of-loving-life/
https://aleteia.org/2020/05/15/st-giannas-son-she-is-not-only-a-saint-because-of-her-heroic-deed/

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...