วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2567

คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนแรก

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก
Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago
วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โตริโก)

พระศาสนจักรคาทอลิกได้เริ่มลงหลักปักฐานในแผ่นดินที่มีนามว่า ‘ปวยร์โตริโก’ อย่างเป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ. 1508 เมื่อฆวน ปอนเซ เด เลออน กองกิสตาดอร์ (conquistador) หรือทหารและนักสำรวจชาวสเปนได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงบนแผ่นดินใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะฮิสปันโลยา (ปัจจุบันคือประเทศเฮติและประเทศโดมินิกัน) ที่เขาเป็นข้าหลวง และถูกขนานนามโดยโคลัมบัสผู้ค้นพบเกาะแห่งนี้ก่อนหน้านี้ว่า ‘ซาน ฆวน’ เพื่อเป็นเกียรติแก่นักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง โดยกษัตริย์เฟร์ดินานด์ที่ 2 แห่งอรากอน เพราะการมาถึงของเด เลออนยังดินแดนแห่งนี้ไม่เพียงนำกองทหารนักสำรวจ รวมถึงสถานภาพอาณานิคมสเปนเข้ามา แต่ยังได้นำคณะบาทหลวงเข้ามาตั้งอาณานิคมบนแผ่นดินนี้ด้วย นี่เองเป็นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศคริสต์ศาสนากับชาวตาอิโน ชนพื้นเมืองในดินแดนซาน ฆวน จนนำไปสู่การกลับใจของชาวตาอิโนและการตั้งสังฆมณฑลคาปาร์ราขึ้นเป็นสังฆมณฑลแรก ใน ค.ศ. 1511

410 ปีต่อมาหลังการมาถึงของคริสต์ศาสนาในปวยร์โตริโก เด็กชายผู้หนึ่งจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในพระศาสนจักรแห่งนี้ และได้กลายมาเป็นเกียรติภูมิแห่งปวยร์โตริโก ในฐานะบุคคลที่พระศาสนจักรได้ยกไว้บนพระแท่นบูชาในท่ามกลางบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เป็นดังศักดิ์ศรีของปวยร์โตริโกเช่นเดียวกับท่านนักบุญโรซา ชาวลิมา เป็นศักดิ์ศรีของชาวเปรู แม้ในวันนี้กระบวนการขอแต่งตั้งนักบุญ ซึ่งเป็นผลอันรุ่งโรจน์ของพระศาสนจักรแห่งนี้จะยังคงค้างอยู่ในขั้นของการเป็น ‘บุญราศี’ แต่พระศาสนจักรปวยร์โตริโกก็ยังคงมีความหวังที่ผลผลิตแห่งหยาดเหงื่อแรงกายของบรรดาธรรมทูตที่สั่งสมมากกว่าสี่ร้อยปีผู้นี้จะได้กลายเป็น ‘นักบุญ’ องค์แรกของปวยร์โตริโก และเป็นนักบุญอีกองค์ในพื้นที่โลกใหม่ร่วมกับบรรดาพรรณพฤกษาจำนวนหนึ่งที่งอกเงยบนแผ่นดินนี้ ซึ่งพระศาสนจักรได้ยกไว้ในฐานะนักบุญ ไม่ว่าจะเป็นนักบุญคาเทรี เทคาควิทาจากสหรัฐอเมริกา นักบุญเทเรซา แห่ง แอนดีสจากชิลี นักบุญมาร์ติน เด ปอร์เรสและนักบุญโรซา แห่ง ลิมาจากเปรู นักบุญมารีอานา แห่ง พระเยซูเจ้าจากเอกวาดอร์ เป็นต้น

วัดพระนามกรเยซู คากูอัส ปัจจุบันเป็นอาสนวิหาร

410 ปีหลังการมาถึงของพระสงฆ์คาทอลิกกลุ่มแรก ในวันธรรมดาไม่ได้พิเศษอะไรที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ครอบครัวคริสตังใจศรัทธาซึ่งเกิดจากสองสามีภรรยาผู้มาจากครอบครัวคริสตังขนาดใหญ่ทั้งสองฝั่งของนายมานูเอล เบาดิลีโอ โรดริเกซ และนางเอร์มีเนีย ซันติอาโก เอสเตรัส ซึ่งเปิดร้านค้าเล็ก ๆ อยู่ในเมืองคากูอัส ประเทศปวยร์โตริโก ได้ต้อนรับบุตรคนที่สองจากห้าคนของครอบครัว บุตรชายคนนี้เมื่อแรกเกิดไม่ได้มีเครื่องหมายพิเศษประการใดจากสวรรค์ ที่แสดงว่าในวันข้างหน้าบุตรผู้ที่ทั้งสองให้กำเนิดนี้จะกลายมาเป็น ‘ศักดิ์ศรีของปวยร์โตริโก’ อย่างเรื่องราวของนักบุญหลาย ๆ องค์ที่หลายคนอาจคุ้นเคย แต่โดยหนทางแห่งสวรรค์พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมสภาพแวดล้อมแห่งความเชื่อ คือ หน่วยย่อยที่สุดอย่าง ‘ครอบครัว’ ไว้หล่อหลอมเด็กชายผู้นี้ให้เติบโตขึ้นไม่เพียงแต่ทางด้านร่างกาย แต่ยังด้านวิญญาณ

เมื่อทารกมีอายุได้ประมาณห้าเดือน สองสามีภรรยาจึงได้นำสมาชิกใหม่ของครอบครัวไปรับศีลล้างบาปที่วัดพระนามกรพระเยซู เมืองคากูอัส และตั้งนามว่า ‘การ์โลส มานูเอล’ ในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 ทั้งสองเฝ้าเลี้ยงดูบุตรชายผู้นี้จนมีอายุได้ประมาณ 6 ปี ครอบครัวเล็ก ๆ นี้ก็ต้องประสบกับสถานการณ์ยากลำบากครั้งใหญ่ เมื่อไฟได้ลุกไหม้บ้านและร้านของครอบครัวจนไม่เหลือซาก เป็นเหตุให้นายมานูเอลและนางเอร์มีเนียจำต้องย้ายไปอยู่ที่บ้านพ่อแม่ของนางเอร์มีเนีย นี่เองทำให้ ด.ช. การ์โลส มานูเอล ได้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมแห่งความเชื่อมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมีคุณยายอเลฮานดรินา เอสเตรัส เป็นแบบอย่างคริสตังใจศรัทธาร่วมกับบิดามารดาของท่าน คุณยายผู้นี้ไม่เพียงเป็นตัวอย่างในด้านความเชื่อ แต่เธอยังคอยสนับสนุนหลาน ๆ ของเธอให้ติดตามน้ำพระทัยของพระเจ้าตามกระแสเรียกของตัวเอง สภาพแวดล้อมเช่นนี้เมื่อกอปรกับแบบฉบับของนายมานูเอล ผู้มีความหวัง มองโลกในแง่ดี และความเชื่อเสมอแม้ในวันที่เขาต้องสูญเสียทุกสิ่งไปกับกองเพลิง และนางเอร์มีเนีย ผู้มีนิสัยเจียมเนื้อเจียมตัวเพราะตนต้องจากบ้านมาอยู่กับบ้านของสามีในช่วงแรก ในเวลาเดียวกันก็เป็นคริสตังผู้พบความสุขสันติผ่านความเชื่อ ผู้หล่อเลี้ยงชีวิตประจำวันด้วยศีลมหาสนิท คือ สภาพแวดล้อมสำคัญเอื้อให้วิญญาณดวงน้อย ๆ ของท่านเติบโตขึ้นในความเชื่อไปพร้อม ๆ กับร่างกาย

บุญราศีการ์โลสขณะเรียนที่โรงเรียนคาทอลิกนอเทร์ ดาม

สถานที่ต่อมาที่มีผลต่อการหล่อหลอมวิญญาณของท่านให้เติบโตขึ้นต่อจากครอบครัว คือ ‘โรงเรียน’ จากประวัติของท่านเราทราบว่า ในปีเดียวกันกับที่ครอบครัวของท่านประสบกับเหตุวิปโยคครั้งใหญ่ ท่านได้ถูกส่งเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนคาทอลิกนอเทร์ ดาม ซึ่งอยู่ติดกับวัดพระนามกรพระเยซู เมืองคากูอัส ที่นี่ภายใต้การบริหารของคณะภคินีโรงเรียนแห่งนอเทร์ ดาม พร้อมทั้งพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ ผู้ได้เชิญนักบวชหญิงคณะดังกล่าวมาเปิดโรงเรียนในเขตวัดได้มีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนความเข็มแข็งให้กับความเชื่อของท่าน พร้อมกับความรู้วิชาทางโลก และดูเหมือนว่าภายใต้การดูแลของคณะนักบวชหญิงกลุ่มนี้คงจะมีอิทธิพลตราตรึงในหัวใจของท่านไม่น้อย เพราะตลอดชีวิต ท่านยังคงมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคณะนักบวชหญิงนี้ตลอด ท่านศึกษาอยู่ที่นี่จนถึงชั้น ม. 2 ใน ค.ศ. 1932 ท่านจึงจบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ด้วยคะแนนเป็นที่หนึ่งในรุ่น พร้อมได้รับรางวัลด้านคำสอน และย้ายไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโกติเอร์ เบนิเตซ ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลในเมืองคากูอัส

นอกจากหน่วยย่อยอย่างครอบครัวและโรงเรียนแล้ว หน่วยสำคัญอีกประการที่มีส่วนในการหล่อหลอมวิญญาณของท่าน และดูจะเป็นหน่วยสำคัญที่มีส่วนในการก่อร่างสร้าง ‘กระแสเรียก’ สำหรับชีวิตในวันข้างหน้าของท่าน หน่วยนั้นก็คือ ‘วัด’ เมื่อท่านได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกที่วัดดูเหมือนว่านี่จะเป็นจุดสำคัญที่ได้ทวีความเชื่อและความรักที่ท่านมีต่อพระเจ้าให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ท่านเริ่มอาสาเป็นเด็กช่วยมิสซาอย่างร้อนรนอยู่บ่อยครั้ง การขันอาสาเช่นนี้ทำให้ท่านได้มีโอกาสใกล้ชิดพิธีกรรม ซึ่งเป็นมรดกที่สืบทอดมาอย่างยาวนานในพระศาสนจักร ที่ละเล็กละน้อยอาศัยความใกล้ชิดนี้ ดูเหมือนว่านี่จะเป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้ท่านพบกระแสเรียกในชีวิตภายหน้าของท่าน เป็นไปได้ว่าประสบการณ์ภายในวัดในฐานะผู้ช่วยพิธีกรรมธรรมดา ๆ นี้ได้ค่อย ๆ หล่อหลอมให้ท่านพบประสบการณ์ทางความเชื่อ ซึ่งทีละเล็กละน้อยนำไปสู่ความปรารถนาที่จะแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ออกไปให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ นี่อาจเป็นพื้นฐานที่ทำให้ความคิดที่จะเป็นพระสงฆ์และนักบวชค่อย ๆ เป็นรูปร่างขึ้นในความคิดของท่าน แต่ในขณะความคิดดังกล่าวกำลังสุกงอมตามวัย ความคิดดังกล่าวก็ต้องเปลี่ยนไป ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนคาทอลิกนอเทร์ ดาม ไปสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโกติเอร์ เบนิเตซ


บ่ายวันหนึ่งสุนัขป่าของเพื่อนบ้านได้หลุดเข้ามาทำร้ายหลานชายวัยหนึ่งปีของท่าน มันได้กัดเข้าที่หลังคอหลานชายของท่านจนได้รับบาดเจ็บ ท่านในวัยได้ 13 ปีที่เห็นเหตุการณ์จึงได้ปรี่เข้าไปปกป้องหลานชายอย่างกล้าหาญ ผลปรากฏว่าหลังจากการต่อสู้ดังกล่าว ท่านจึงเริ่มมีอาการลำไส้ใหญ่เป็นแผลบวม เป็นผลให้ท่านที่พึ่งเริ่มเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำต้องพักการเรียนอยู่ระยะหนึ่ง เพราะอาการป่วยดังกล่าวสร้างความเจ็บปวดให้ท่านเป็นอันมาก และแม้ในเวลาต่อมาอาการดังกล่าวจะทุเลาลงจนทำให้ท่านสามารถกลับมาเรียนได้ แต่สุขภาพของท่านก็ไม่ได้กลับมาเต็มร้อยดังเดิม อาการของโรคดังกล่าวยังคงแสดงผลเป็นระยะ ๆ เป็นผลให้ความฝันที่จะเป็นพระสงฆ์หรือนักบวชต้องมีอันพับไป ดังนั้นเมื่ออาการของท่านดีขึ้นท่านกลับมาศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโกติเอร์ เบนิเตซ กระทั่งถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ท่านจึงย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนแม่พระนิจจานุเคราะห์ เมืองซานฮวน นี่จึงเป็นโอกาสที่ท่านได้กลับมารับการศึกษาภายใต้คณะภคินีโรงเรียนแห่งนอเทร์ ดาม และพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่อีกครั้ง ใน ค.ศ 1934 แต่แล้วเพียงสามปีที่ท่านย้ายมาเรียน ปัญหาด้านสุขภาพจากระบบย่อยอาหารที่ไม่แข็งแรงก็ทำให้ท่านไม่สามารถศึกษาต่อที่โรงเรียนแห่งนี้จนจบชั้นมัธยมศึกษาต่อปลายได้ และจำต้องกลับมาเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเดิมที่เมืองคากูอัส จนจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาใน ค.ศ. 1939 ในสายการเรียนเลขานุการบริษัท ด้วยคะแนนเกียรตินิยม

ด้วยการอบรมจากหน่วยต่าง ๆ ในสังคมคริสตังทำให้ท่านเติบโตมาเป็นชายหนุ่มขี้อายที่เรียนรู้ที่จะรักผู้อื่นเหมือนพี่น้อง มีความสุขุม ความเพียร ความมุมานะ และความอดทนโดยเฉพาะต่อความทุกข์ยาก ท่านเรียนรู้ที่จะหล่อเลี้ยงวิญญาณด้วยการเจริญชีวิตชิดสนิทกับพระเจ้า ผ่านการภาวนาการรำพึง การรับศีลศักดิ์สิทธิ์ การไตร่ตรองพระวาจาของพระเจ้า การสวดทำวัตร การฝึกจิตเข้าเงียบ การสวดสายประคำ การตื่นเฝ้า การอ่านหนังสือฝ่ายจิต การทำพลีกรรม การอดอาหาร และการทรมานตนเอง ซึ่งทำให้วิญญาณของท่านเข็มแข็งยิ่งเสียกว่าร่างกายที่เจ็บออด ๆ แอด ๆ นอกจากนี้ท่านยังเป็นชายหนุ่มที่รักในธรรมชาติ ตั้งแต่ยังเยาว์วัยท่านชอบใช้เวลาวันหยุดในช่วงฤดูร้อนในชนบทของปวยร์โตริโก บางคราวท่านกับพี่น้องก็ชอบพากันไปแม่น้ำหรือทะเลแบบไปเช้าเย็นกลับ และในวัยเป็นผู้ใหญ่ท่านก็มักจัดทริปเดินป่าง่าย ๆ ในชนบทกับครอบครัว เป็นการออกทริปแบบไม่รีบเร่งเพื่อชื่นชมสิ่งสร้างของพระเจ้า นี่เองคือบุคคลที่พระเจ้าได้ทรงเตรียมไว้เป็น ‘ศักดิ์ศรีแห่งปวยร์โตริโก’ ชายหนุ่มธรรมดา ๆ ที่มีความเชื่อซึ่งต่อมาได้เริ่มงานเป็นเสมียนตามห้างร้านและองค์กรต่าง ๆ


ระหว่างกลับมาเรียนต่อที่เมืองคากูอัสนี้เอง ท่านได้เริ่มทำงานพาร์ทไทม์เป็นเสมียนหรือพนักงานนั่งโต๊ะที่ท่าเรืออูมาเกา และเมื่อท่านสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมอย่างสมบูรณ์ขณะอายุประมาณ 20 ปี ท่านจึงได้เข้าทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานเกษตร เมืองคากูอัส ท่านทำงานอยู่ที่นี่จนถึง ค.ศ. 1942 ท่านจึงย้ายมาทำงานที่ส่วนของร้านสหกรณ์กูราโบ ซึ่งจำหน่ายสินค้าให้กับบุคลากรภายในสถานีตำรวจ ก่อนที่ใน ค.ศ. 1946 ด้วยวัยประมาณ 25 ปี ท่านจึงได้ลาออกจากงานดังกล่าว เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยปวยร์โตริโก เมืองริโอเปียดรัส ที่นั่นแม้ท่านจะผลการเรียนที่ดีในปีแรกและมีใจรักการเรียนมากเพียงไหน อาการป่วยเรื้อรังของท่านก็ทำให้ท่านจำต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยในระหว่างการเรียนปีสอง ท่านจึงเบนชีวิตกลับมามุ่งมั่นในการทำงานเป็นเสมียนเหมือนเดิม โดยเริ่มจากการเป็นเสมียนที่บริษัทปวยร์โตริโกภาคีน้ำตาลตะวันออก ที่เมืองเซยบา ใน ค.ศ. 1948 ท่านทำงานอยู่ที่นี่จนถึง ค.ศ. 1951 หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1952 ท่านจึงย้ายมาทำงานที่สถานีทดลองเกษตรของมหาวิทยาลัยปวยร์โตริโก เมืองริโอเปียดรัส และทำงานอยู่ที่นั่นถึง ค.ศ. 1960

กระนั้นก็ตามแม้ชีวิตของท่านจะต้องเบนเข็นออกจากการศึกษาในระบบมาสู่การทำงานอย่างเต็มรูปแบบในบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ท่านก็ยังคงมีใจใฝ่ขวนขวายความรู้จากการอ่านหนังสือประเภทต่าง ๆ ท่านอ่านหนังสือหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับศิลปะ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา เทววิทยา พิธีกรรม พระคัมภีร์ ชีวิตฝ่ายจิต ประวัติศาสตร์พระศาสนจักร ชีวประวัตินักบุญ พระสมณสาส์นพระสันตะปาปา (ท่านทราบตลอดว่าในช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่พระสันตะปาปาทรงออกพระสมณสาส์นใดบ้าง) วรรณกรรมอังกฤษและสเปน เรื่อยไปจนถึงงานประเภทสังคมศาสตร์ รวมถึงฝึกอ่านภาษาอื่น ๆ นอกจากภาษาสเปน ได้แก่ ภาษาละติน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ท่านมีห้องสมุดเล็ก ๆ ส่วนตัวที่รวบรวมองค์ความรู้อันมีค่าเหล่านี้ไว้หล่อเลี้ยงชีวิต และไม่เคยหวงห้ามมิให้ใครมาใช้หนังสือเหล่านี้ ตรงกันข้ามท่านพร้อมจะให้หยิบยืมเรื่อยไปถึงยกหนังสือบางเล่มให้กับผู้ต้องการอย่างไม่คิดอะไร คุณพ่อโฮเซ โมเดสโต น้องชายของท่านนิยามถึงท่านตอนหนึ่งว่า ท่านเป็นสารานุกรมเดินได้และอัครสาวกของการอ่านหนังสือโดยประจักษ์แจ้ง ดังนั้นโลกทัศน์ของท่านจึงกว้างไกลและได้เห็นว่าในพระศาสนจักรกำลังมีกระแสของการเคลื่อนไหวหนึ่ง นี่เองทำให้ท่านเข้าใจกระแสเรียกในฐานะ ‘ฆราวาส’ ของท่านอย่างแจ่มชัดขึ้น

พระสมณสาส์นคนกลางของพระเจ้า (Mediator Dei) 
ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12

ในบริบททางประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกก่อนการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 จะพบว่าตั้งแต่ศวตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาได้เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญในเรื่องพิธีกรรม (Liturgical Movement) ที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่มุ่งสนับสนุนให้สัตบุรุษไม่เพียงเป็น ‘ผู้ร่วม’ แต่เป็น ‘ผู้ร่วมทำ’ ในพิธีกรรมไปพร้อมกับบรรดาพระสงฆ์ หรืออาจกล่าวได้อีกว่า กระแสของความเคลื่อนไหวนี้มุ่งสนับสนุนให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมในพิธีกรรมของพระศาสนจักรอย่างกระตือรือร้น และมุ่งสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับบรรดาสัตบุรุษและนักบวชถึงหน้าที่ของตนในพิธีกรรม ซึ่งความพยายามเช่นนี้เกิดจากความต้องการปรับปรุงจารีตพิธีกรรมในเวลานั้นให้สอดคล้องกับธรรมประเพณีในยุคแรก และความเป็นคริสตชนสมัยใหม่ ผ่านการย้อนกลับไปศึกษาพระคัมภีร์ ข้อเขียนบรรดาปิตาจารย์ งานโบราคดีคริสตศาสนา งานวรรณกรรมและข้อเขียนเรื่องพิธีกรรมของคริสตศาสนาในยุคแรก และนำมาปรับปรุงให้เหมาะกับโลกในเวลานั้น โดยเริ่มจากบริเวณฝรั่งเศส เบลเยียม และเยอรมันในศตวรรษที่ 19 ก่อนที่ในศตวรรษต่อมา กระแสดังกล่าวจึงแพร่ขยายไปยังฮอลแลนด์ อิตาลี อังกฤษ และอเมริกา

โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 20 จะพบว่าส่วนของสันตะสำนักเองก็มีความเคลื่อนไหวดังกล่าว ดังปรากฏการสอนของพระศาสนจักร (Magisterium) ที่สอดคล้องไปกระแสดังกล่าว ตัวอย่างเช่น พระสมณลขิตอัตตาณัติเพลงศักดิ์สิทธิ์ (Motu Proprio Tra le sollecitudini) ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ที่ออกในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1903 พระสมณสาส์นคนกลางของพระเจ้า (Mediator Dei) ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ที่ชี้ให้คริสตชนต้องให้ความสำคัญกับพิธีกรรมและความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในพิธีกรรมเหล่านี้ ที่ออกในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 การอนุญาตให้มีการใช้ภาษาท้องถิ่นในบางส่วนของพิธีมิสซาที่เริ่มมีในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 เรื่อยมาถึงสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 การปรับปรุงรูปแบบพิธีกรรมตรีวารปัสกาในทศวรรษ 1950 ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 รวมถึงการอนุญาตให้สัตบุรุษสามารถอ่านบทพระวรสารในภาษาท้องถิ่นของตนขณะที่การอ่านบทพระวรสารในภาษาละตินอย่างเงียบ ๆ และการใช้ภาษาถิ่นในการอภิบาลในบางกรณี (ยกเว้นพิธีมิสซา) รวมถึงในเพลงศักดิ์สิทธิ์ได้ในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12

พระสมณลขิตอัตตาณัติเพลงศักดิ์สิทธิ์
ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10

แต่หนึ่งในคำสอนพระศาสนจักรในช่วงเวลาเหล่านี้ที่มีความสำคัญต่อกระแสความเคลื่อนไหวมากที่สุด คือ การออกพระสมณลขิตอัตตาณัติเพลงศักดิ์สิทธิ์ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ซึ่งในบริบทที่เอกสารชุดนี้เผยแพร่ออกมา สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ทรงปรารถนาฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพระเจ้าเพื่อโต้ตอบกับความเป็นสมัยใหม่และความเป็นฆราวาสนิยมในต้นศวตรรษที่ 20 โดยทรงพุ่งความสนพระทัยไปยังพิธีกรรม จึงทรงมีความพยายามจัดการพิธีกรรมให้เหมาะสม ดังนั้นพระสมณลขิตอัตตาณัตินี้จึงกล่าวถึงการจัดเตรียมวัดให้เป็นสถานที่เหมาะสมในมิติของความศักดิ์สิทธิ์สมศักดิ์ศรีสำหรับการเป็นแหล่งที่มาของจิตวิญญาณคริสตชนแท้ สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ได้ทรงอธิบายว่าวัดเป็นสถานที่ที่บรรดาสัตบุรุษมาชุมนุมกันด้วยเหตุผลเดียว คือ การได้รับจิตวิญญาณการเป็นคริสตชน จากแหล่งสำคัญและขาดไม่ได้มากที่สุด “ซึ่งคือการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นทั้งในธรรมล้ำลึกอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งและในคำภาวนาอันเป็นสาธารณะและศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร” แม้ในบริบทของเอกสารชุดนี้ พระองค์ดูจะทรงมุ่งไปที่การใช้เพลงในพิธีที่เสนอให้สัตบุรุษไม่เพียงเป็นผู้ร้องเพลงในมิสซา แต่เป็นผู้ร้องเพลงร่วมในมิสซา แต่ถ้อยคำและข้อเรียกร้องดังกล่าวนั่นคือ ‘การมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น’ (active participation) ได้กลายมาเป็นหัวใจสำคัญของกระแสความเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรม ที่ได้ขยายขอบเขตของการอธิบายการมีส่วนร่วมนี้ไปเกินกว่าขอบเขตของบทเพลงศักดิ์สิทธิ์

ภายใต้บริบทเช่นนี้เองด้วยอิทธิพลจากคำสอนของพระศาสนจักร (Magisterium) และงานเขียนที่ถูกผลิตขึ้นภายใต้กระแสดังกล่าวจำนวนมากที่ได้ผ่านตาของท่าน เมื่อผสานกับประสบการณ์ระหว่างท่านกับพระเจ้าที่ท่านได้รับผ่านการเป็นเด็กช่วยมิสซา และความปรารถนาจะรับใช้พระองค์ ท่านจึงสามารถตกผลึกความคิดถึง ‘กระแสเรียก’ ในชีวิตของท่าน ที่อยู่ในกระแสของความเคลื่อนไหวนี้ แต่หากจะกล่าวว่าอาศัยกระแสความเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรมอย่างเดียวที่มีผลทำให้ท่านลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งก็คงจะไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะแท้จริงหน่วยเล็กที่สุดอย่างครอบครัวได้เป็นสถานที่แรกที่บ่มเพาะประสบการณ์ด้านพิธีกรรมให้ท่าน เพราะในครอบครัวของท่านให้ความสำคัญกับวันพิเศษของคนในครอบครัวและวันสำคัญตามปฏิทินพิธีกรรม ในวาระเหล่านั้นครอบครัวของท่านจะประดับประดาบ้านด้วยของตกแต่งตามวาระ จะมีบทภาวนาพิเศษในมื้ออาหาร มีบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ มีรูปภาพ มีนพวาร หรือแม้แต่วิธีแต่งกายที่แสดงถึงความพิเศษกว่าปกติ ดังนั้นตั้งแต่เล็ก ๆ ท่านจึงให้ความสำคัญกับพิธีกรรมมาอยู่ก่อนแล้ว ดังที่ตั้งแต่ก่อนจะเป็นวัยรุ่น ท่านไม่เพียงเอาใจใส่สุขภาพกายและสุขภาพจิตของพี่น้อง แต่ยังคอยเอาใจใส่สุขภาพวิญญาณของพวกเขาด้วยการคอยกระตุ้นให้พี่น้องของท่านมีความร้อนรนในการปฏิบัติตามวันเวลาของพิธีกรรม ท่านสอนให้พวกเขารู้จักที่จะดำเนินชีวิตตามวันเวลาของพิธีกรรม เพราะนี่คือการได้พบกับพระเยซูเจ้าและธรรมล้ำลึกแห่งความรอด ให้หมั่นสวดทำวัตร ไปมิสซาเพื่อเจริญชีวิตในศีลมหาสนิท และตระหนักรักในธรรมล้ำลึกแห่งปัสกา ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นในกระแสเรียกของท่าน คือ การเชื่อมระหว่างประสบการณ์ส่วนตัวและสถานการณ์ของพระศาสนจักร

บุญราศีการ์โลสขณะเป็นเด็กช่วยมิสซาถือไม้กางเขน

เราอาจกล่าวได้ว่าท่านตระหนักถึง ‘ความเป็นปัจจุบัน’ ของคริสต์ศาสนา ในความหมายถึงการสืบเนื่องภารกิจต่อมาจากการเสด็จมาครั้งแรกของพระคริสตเจ้า ซึ่งมิได้มีจุดจบที่การเสด็จสู่สวรรค์เมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา แต่คือการเสด็จกลับมาครั้งที่ 2 ในอนาคต ดังนั้นท่านจึงนิยามคริสต์ศาสนาว่าเป็น ‘กิจการ’ ที่ยังคงดำเนินไปใน ตามที่ท่านเขียนว่า “คริสต์ศาสนาไม่ใช่เพียงการสั่งสมหลักคำสอนและหลักศีลธรรม แต่เป็นกิจการ ไม่ใช่ในอดีต แต่เป็นในปัจจุบันขณะ เป็นกิจการที่รื้อฟื้นอดีตและสร้างความหวังในอนาคต เป็นกิจการที่แสนยิ่งใหญ่และใหญ่ยิ่งซึ่งรวมมนุษย์เข้าไว้กับพระเจ้าโดยมีพระคริสตเจ้าเป็นคนกลาง กิจการนั้นเริ่มด้วยการเสด็จมาครั้งแรกของพระคริสตเจ้าและจะสิ้นสุดลงด้วยการเสด็จมาครั้งสุดท้ายของพระองค์หรือปารูเซีย”

ดังนั้นเมื่อคริสต์ศาสนามีภาวะเป็นปัจจุบัน คริสตชนผู้นับถือศาสนาคริสต์จำต้องมีส่วนร่วม และสิ่งที่ทำให้คริสตชนมีส่วนร่วมนั่นก็คือ ‘พิธีกรรม’ ดังที่ท่านเขียนว่า “พระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นมนุษย์แท้และพระเจ้าแท้ ทรงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมอันสูงส่ง พระองค์ทรงเป็นมหาสมณะของมนุษยชาติ ได้ทรงถวายเครื่องบูชาของพระองค์เองบนไม้กางเขน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพระองค์ แต่เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ แต่นี่เป็นงานที่ต้องการการรวมใจและความร่วมมือของประชากร…” ในหนังสือความเชื่อและชีวิต: พิธีกรรม พื้นฐานชีวิตคริสตัง ท่านเขียนว่า “คำว่าพิธีกรรมจึงมีความหมายเป็นสองเท่า ความหมายหลักคือพันธกิจในการไถ่กู้ที่กระทำโดยองค์พระผู้เป็นเจ้าตามลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์ และเวลานี้ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในศีลบวชหรือธรรมล้ำลึกในมิสซา ศีลศักดิ์สิทธิ์ และการสวดทำวัตร บัดนี้กิจการของพระคริสตเจ้าก็เป็นกิจการของพวกเราเช่นเดียวกัน เพราะพวกเรา ซึ่งเป็นสมาชิกในพระวรกายอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ก็เป็นร่วมกระทำสิ่งเหล่านี้กับพระองค์” และ “ธรรมล้ำลึกเป็นกิจการอันศักดิ์สิทธิ์และจารีตพิธีกรรมถูกทำให้เป็นจริงผ่านพิธีกรรม เป็นความจริงแห่งความรอด ชุมชนที่ปฏิบัติตามจารีตภายใต้พิธีกรรมนี้ ก็ได้กลายเป็นผู้มีส่วนในกิจการความรอด และรอดพ้นโดยความรอด … พระศาสนจักรไม่อาจจะธำรงอยู่ได้โดยปราศจากธรรมล้ำลึกแห่งจารีตพิธีกรรม … พิธีกรรมแห่งธรรมล้ำลึกเป็นศูนย์กลางที่ยืนยันได้และเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับคริสตศาสนา”

ภาพกระจกสีรูปพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
ที่ตำแหน่งอ่างล้างบาปเดิม วัดพระนามกรเยซู

นอกจากนี้ด้วยมุมมองต่อความหมายของการเป็นคริสตชนของท่าน ว่าศักดิ์ศรีของความเป็นบุตรของพระเจ้าเกิดขึ้นผ่านพระหรรษทานที่มนุษย์ได้รับเมื่อรับศีลล้างบาป ดังนั้นคริสตชนจึงไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากพระหรรษทาน ดังที่ท่านเขียนถึงเพื่อนชื่อ มาโนลิน ว่า “สิ่งที่ทำให้ใครคนหนึ่งเป็นคริสตชนไม่มีอะไรนอกเหนือสายสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานให้อย่างเสรีผ่านทางพระหรรษทานที่ได้รับในศีลล้างบาป คริสตชนคือผู้ที่ได้ต่อกิ่งเข้ากับพระคริสตเจ้าโดยทางพระหรรษทานเท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดใหม่อีกครั้งเพื่อเป็นสิ่งสร้างใหม่ และนี่ความรู้สึกที่แท้จริง แม้ว่าจะดูน่าพิศวง นี่ไม่ใช่การเปรียบเทียบ การกวี หรือจิตวิทยา จงทำมากกว่าเพียง ‘เคารพยำเกรงพระคริสตเจ้าและแก้ไขความประพฤติของตนตามคำสอนอันดีและแบบฉบับขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา’ ‘ไม่มีใครเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า ถ้าเขาไม่เกิดจากน้ำและพระจิตเจ้า’ ‘สิ่งใดที่เกิดจากเนื้อหนังย่อมเป็นเนื้อหนัง สิ่งใดที่เกิดจากพระจิตเจ้า ย่อมเป็นจิต’ (ยอห์น 3 : 5 - 6) ”

กระนั้นก็ตามความเป็นคริสตชนไม่เพียงเกิดขึ้นจากพระหรรษทานที่พระเจ้าทรงให้เปล่าผ่านทางศีลล้างบาปเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นจากการที่บุคคลผู้การรับศีลล้างบาปตอบรับพระหรรษทาน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คริสตชนจะต้องตอบรับพระหรรษทาน และโดยการตอบรับนี้เองพระหรรษทานจึงเข้าไปทำงานที่ภายในวิญญาณ และทำให้วิญญาณสามารถจำลองแบบคริสตเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ ดังที่ท่านอธิบายว่า “จริงอยู่ที่คริสตชนต้องเคารพยำเกรงพระคริสตเจ้าและแก้ไขความประพฤติของตนตามคำสอนและแบบฉบับของพระองค์ แต่คริสตชนล้วนเกิดขึ้นจากธรรมชาติและมีความสำคัญผ่านชีวิตใหม่ที่ได้รับจากศีลล้างบาป แน่ทีเดียวว่าสิ่งนี้มิได้เกิดขึ้นเองหรือมีกลไก คุณจำเป็นต้องร่วมมือกับพระหรรษทาน ไร้พระหรรษทานก็ไม่มีสิ่งใด ดังที่นักบุญเปาโลบอกกับพวกเราว่า พระหรรษทานเป็นผู้ให้ความปรารถนาและความสามารถที่จะทำงาน พระหรรษทานไม่ได้พรากอิสระ เพื่อที่เราจะสามารถปฏิเสธไม่รับได้ และดังนี้เองจึงสมควรที่เราจะตอบรับ เราจำต้องใช้ความเพียรพยายาม แต่เป็นในทำนองของการร่วมมือ และความเพียรเช่นนี้ได้รับการดูแลโดยพระหรรษทาน การจำลองแบบและการยำเกรงพระคริสตเจ้าโดยไร้ซึ่งพระหรรษทานไม่ทำให้เราเป็นคริสตชน จำต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในโดยพระหรรษทาน ซึ่งคือการเปลี่ยนผ่านและการบรรลุถึงการเป็นคริสตชน ไม่ใช่ทางจิตวิทยาโดยความพยายามของเรา แต่ในทางภววิทยาโดยพระหรรษทาน เป็นการกระทำของพระคริสตเจ้าในตัวเรา แน่นอนสิ่งนี้ต้องอาศัยความนบนอบ ความร่วมมือ และความเพียรพยายามส่วนตัวของเรา แต่ทั้งหมดทั้งมวลหากไร้ซึ่งพระหรรษทาน มันก็ไม่มีค่าอันใด”


ดังนั้นอาศัยพระหรรษทานเท่านั้นที่จะทำให้บุคคลหนึ่งเป็น ‘ผู้ที่ได้ต่อกิ่งเข้ากับพระคริสตเจ้า’ ท่านอธิบายเพิ่มว่า “ชีวิตคริสตังไม่ได้ประกอบขึ้นจากการเลียนแบบภายนอกและทำงานหนักตามอย่างพระคริสตเจ้า … (คริสตัง) คือ การแทรกชีวิตของพระเข้าไปในตัวของเรา … การเป็นคริสตังคือการเป็นพระคริสตเจ้าอีกองค์ คือการสวมพระคริสตเจ้า นี่หมายความว่าพระคริสตเจ้าทรงพระชนม์ชีพและดำรงอยู่ในตัวของพวกเราอย่างแท้จริงผ่านทางพระหรรษทาน คำสอนเรื่องพระหรรษทานคือสะสารเดียวและแก่นแท้ของชีวิตฝ่ายจิต หากไม่มีของประทานจากสวรรค์ชิ้นนี้ เราก็ไม่มีส่วนกับพระคริสตเจ้า” และ “โดยทั่วไปผู้คนมักคิดว่าคริสตชนคือบุคคลที่เคารพยำเกรงพระคริสตเจ้าและแก้ไขความประพฤติของตนให้สอดคล้องกับคำสอนและพระแบบฉบับขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา หลายต่อหลายครั้งผู้คนมักคิดว่าชีวิตคริสตังคือการดำเนินชีวิตอย่างกระตือรือร้นในครอบครัว สังคม และศาสนาคริสตัง สิ่งนี้ช่างอยู่ไกลจากความจริงแท้ยิ่ง (…) ชีวิตคริสตังไม่ได้เพียงประกอบขึ้นจากจากการเลียนแบบภายนอกและทำงานหนักตามอย่างพระคริสตเจ้า หรือการปฏิบัติศาสนกิจที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน คริสตศาสนาตามความเห็นของท่านฟูลตัน ชีน คือ ชีววิญญาณ (biología espiritual) คือการแทรกชีวิตของพระเข้าไปในตัวของเรา ‘เรามา เพื่อให้แกะมีชีวิต และมีชีวิตอย่างสมบูรณ์’ (ยอห์น 10 : 10) ” จากข้ออธิบายเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า นิยามความหมายของการต่อกิ่งที่ท่านชี้ให้มาโนลินเห็น ไม่ใช่เรื่องภายนอกแต่เป็นเรื่องภายใน ที่ก้าวพ้นไปกว่าความสามารถของวิญญาณ จึงจำเป็นยิ่งที่วิญญาณจะต้องรับพระหรรษทานเพื่อบรรลุถึงสิ่งนี้ แล้วที่ใดเล่าที่จะเป็นแหล่งพระหรรษทาน คำตอบนั้นก็คือ ‘พิธีกรรม’ ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 อธิบายว่านี่คือ ‘แหล่งสำคัญและขาดไม่ได้ของจิตวิญญาณคริสตชน’

หรืออาจกล่าวได้อย่างสั้น ๆ ว่าท่านตระหนักว่าโลกต้องการ ‘นักบุญ’ มากกว่า ‘อัครสาวก’ คือต้องการคริสตชนที่สามารถบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เพียงเป็นผู้เผยแพร่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้คริสตชนสามารถบรรลุเช่นนั้นได้ จึงคือการดำเนินชีวิตติดสนิทกับพระ และเมื่อพระคริสตเจ้าทรงเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ตามที่ท่านเขียนถึงพระสงฆ์องค์ใหม่ของคากูอัส การดำเนินชีวิตติดตามพิธีกรรม ‘อย่างมีส่วนร่วมด้วยความกระตือรือร้น’ จึงทำให้คริสตชนสามารถบรรลุได้ถึงความเป็นนักบุญ เพราะนี่คือการตอบรับให้ชีวิตของพระคริสตเจ้าแทรกซึมเข้ามาในชีวิตของมนุษย์ และทำให้ชีวิตนั้นเกิดความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งนำไปสู่การบรรลุถึงเมืองสวรรค์ที่พระคริสตเจ้าได้ทรงขึ้นไปเตรียมที่ไว้ให้ ดังพระวาจาที่ว่า “ในบ้านพระบิดาของเรา มีที่พำนักมากมาย ถ้าไม่มี เราคงบอกท่านแล้ว เรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน” (ยอห์น 14 : 2)


ไม่เพียงเท่านั้นท่านมองว่าปัญหาที่คริสตชนในปัจจุบันกำลังเผชิญในท่ามกลางกระแสฆราวาสนิยม คือ การที่คริสตชนไม่เข้าใจพิธีกรรมและไม่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมอย่างแท้จริง ทำให้พิธีกรรมไม่สามารถหล่อเลี้ยงวิญญาณได้ ท่านเขียนว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมและชีวิตฝ่ายจิตไม่เคยเกิดขึ้นในพระศาสนจักรยุคโบราณ ในเวลานั้นพิธีกรรมเป็นสิ่งรวมชีวิตภาวนาทั้งหมดของพระศาสนจักรและของคริสตชนทุกคนไว้ด้วยกัน สำหรับคริสตชนในเวลานั้นพิธีกรรมไม่ได้เป็นเพียงโรงเรียนของคำภาวนา แต่ยังเป็นคำภาวนาของพวกเขาด้วย แต่ละคนต่างมีส่วนร่วมในคำภาวนาของที่ชุมนุมและเปลี่ยนคำภาวนานั้นเป็นของคำภาวนาของตนเอง” ซึ่งหากมองไปไกลกว่านั้น คือ การไม่เข้าใจแก่นแท้ของจิตตารมณ์การเป็นคริสตชน ดังที่ท่านเขียนว่า “พระสันตะปาปาหลายพระองค์ได้ทรงตรัสไว้แล้วและพวกเราก็มีก็มีความประสงค์เพียงทำให้คำสอน บรรทัดฐาน และความประสงค์ของพระองค์ท่านทั้งหลาย ซึ่งเชื่อมั่นว่าการเป็นคริสตชนในโลกสมัยใหม่ไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยวิธีอื่นใด นอกจากการฟื้นฟูจิตตารมณ์แท้ของการเป็นคริสตชนอย่างเอาจริงทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคม ในระดับชีวิตส่วนตัวและชีวิตสาธารณะ ในองค์กรต่าง ๆ ในโรงเรียน ในห้องทำงาน ในท้องถนน และแม้แต่ในพระศาสนจักรเอง เป็นจริง ”

ดังนั้นท่านจึงต้องการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับทุกคนว่า พิธีกรรมที่ถูกสืบทอดกันมาอย่างยาวนานในพระศาสนจักรคือ ‘ธรรมล้ำลึกแห่งความรอด’ ดังที่ท่านเขียนว่า “ธรรมล้ำลึกคือแก่นแท้ของพิธีกรรมคาทอลิกทั้งหมด ดังนั้นเพื่อที่จะเข้าใจและซึ้งซาบไปกับพิธีกรรม จึงจำต้องเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่ามันคืออะไร (ธรรมล้ำลึก) นี่คือกุญแจสำคัญในการจะเข้าใจพิธีกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างมากจากการแสดงนาฏกรรมหรือจินตนาการที่สมจริงและเป็นรูปธรรม” และ “ไม่เพียงพอที่จะให้บรรดาผู้ศรัทธาได้รับอนุญาตให้ร่วมตอบรับ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอนพวกเขาเพื่อให้พวกเขาได้เข้าใจ เห็นคุณค่า และรับรู้วิธีการมีส่วนร่วมภายนอก ผ่านทั้งการสวดภาวนา ร้องเพลง กริยาและตำแหน่ง นี่คือการแสดงออกถึงสายสัมพันธ์ของพวกเขาและการมีส่วนร่วมในระดับบุคคลในธรรมล้ำลึกอันศักดิ์สิทธิ์” ฉะนั้นเมื่อคริสตชนสามารถเข้าใจความหมายแท้จริงนี้ การเฉลิมฉลองพิธีกรรมจึงไม่เพียงสง่างาม แต่ยังหล่อเลี้ยงวิญญาณของคริสตชน นี่เองจึงเป็นการฟื้นฟูจิตตตารมณ์แท้ของการเป็นคริสตชน ซึ่งทำให้พระศาสนจักรสามารถผ่านความท้าทายของโลกสมัยใหม่ต่อไปได้


นอกจากนี้ท่านยังมองเห็นอีกว่าการฟื้นฟูนี้ไม่เพียงเป็นการกลับไปสู่แก่นแท้ของพระศาสนจักร เพื่อทำให้พระศาสนจักรก้าวต่อไปในกระแสความเป็นสมัยใหม่และฆราวาสนิยม แต่ยังคือเครื่องมือในการฟื้นฟูโลกให้สวยงามในพระหรรษทานของพระเจ้าและฉกฉวยวิญญาณจากอุ้งมือของซาตาน ดังที่ท่านได้อธิบายว่า “มิสซาจะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราและโลก นั่นคือมิสซาที่เรารู้จัก เราเข้าใจ เรามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น (ทั้งภายในและภายนอก)” และ “คริสตชนสามารถฟื้นฟูโลกได้ แต่มีเงื่อนไขคือพวกเขาจำต้องฟื้นฟูตัวเองและฟื้นฟูความเป็นคริสตชน และพวกเขาจะไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกต้องหากพวกเขาไม่หันมาพึ่ง ‘แหล่งสำคัญและขาดไม่ได้ของจิตวิญญาณคริสตชน’ ซึ่งก็คือพิธีกรรม” ดังนั้นท่านจึงมีปรารถนาที่ทำให้ผู้คนในปวยร์โตริโกกลับมาทบทวนประเด็นเรื่องพิธีกรรม เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความเป็นคริสตชนให้ผลิบาน ผู้มีส่วนร่วมในภารกิจการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้วัดทุกเขตวัดในปวยร์โตริโก สัตบุรษและพระสงฆ์ต่างร่วมกันเฉลิมฉลองพิธีกรรมอย่างเต็มที่และแข็งขัน ด้วยสำนึกในศักดิ์สงฆ์ที่ทุกคนได้รับผ่านศีลล้างบาป

ด้วยการตระหนักรู้เช่นนี้เอง ท่านจึงได้เริ่มใช้คำสอนของพระศาสนจักรและงานเขียนภายใต้กระแสความเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรม ตัวอย่างเช่นงานเขียนของคุณพ่อโรมาโน กัวร์ดินี (Romano Guardini) พระสงฆ์ชาวอิตาลีซึ่งทำงานอภิบาลในประเทศเยอรมัน ผู้เขียนหนังสือจิตตารมณ์ของพิธีกรรม (Vom Geist der Liturgie) ซึ่งเป็นผลงานที่มีอิทธิพลต่อกระแสความเคลื่อนไหวเรื่องพิธีกรรมในประเทศเยอรมัน และในการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 จนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของความเคลื่อนไหวนี้ในประเทศเยอรมัน งานเขียนของคุณพ่อปีอุส ปารสช์ (Pius Parsch) พระสงฆ์ชาวเช็ก ผู้เป็นหนึ่งในผู้นำในกระแสพิธีกรรมในศวตรรษนี้ ผ่านการตีพิมพ์หนังสือว่าด้วยพิธีกรรมจำนวนหลายเล่มเป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งบางส่วนก็ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนการทำ ‘มิสซาของสัตบุรุษ’ (volksliturgischen) หรือมิสซาที่ทำบนพระแท่นที่ตั้งแยกออกมาและหันหน้าหาสัตบุรุษ งานเขียนของคุณพ่อหลุยส์ โบเยร์ (Louis Bouyer) อดีตพระสงฆ์นิกายลูเธอร์ลันชาวฝรั่งเศส ผู้เขียนหนังสือว่าด้วยพิธีกรรม ซึ่งมีผลงานโดดเด่น คือ การล่มสลายของคริสตัง (The Decomposition of Catholicism – ค.ศ. 1969) ซึ่งชี้ให้เห็นปัญหาของพิธีกรรมและคำสอนบางประการของพระศาสนจักรในเวลานั้น งานเขียนพระคาร์ดินัลฌอง ดาเนียลู (Jean Daniélou) พระสงฆ์เยซูอิตชาวฝรั่งเศสผู้เป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของพระศาสนจักร คุณพ่อฌาคส์ เลอแคลร์ก (Jacques Leclercq) พระสงฆ์และนักเทววิทยาชาวเบลเยี่ยม งานเขียนคุณพ่อโยเซฟ อันเดรอัส ยุงมันน์ (Josef Andreas Jungmann) พระสงฆ์เยซูอิตชาวออสเตรีย ผู้สนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นของสัตบุรุษในพิธีกรรม ผ่านการกลับไปทบทวนพัฒนาการของพิธีมิสซา และตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือพิธีมิสซาจารีตโรมัน: ต้นกำเนิดและพัฒนาการ (The Mass of the Roman Rite: Its Origins and Development - ค.ศ. 1948) และงานเขียนของคุณพ่อกิปรีอาโน วากัจจินี (Cipriano Vagaggini) พระสงฆ์คณะกามัลโดเลเซชาวอิตาลี ผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรม เข้ามาช่วยให้ท่านสามารถนำพาเป้าหมายที่ท่านตั้งไว้ให้เป็นจริงได้อย่างถูกต้องและมีหลักการ


เมื่อตระหนักได้ถึงพันธกิจในชีวิตฆราวาสของพระศาสนจักร อาศัยโลกทัศน์ที่กว้างไกลกว่าเพียงประเทศที่ท่านอยู่และประสบการณ์ชีวิตฝ่ายจิตซึ่งเป็นมรดกที่บรรดาธรรมทูตได้หว่านเมล็ดพันธุ์ไหว้กว่าสี่ร้อยปี ท่านจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งกระแสความเคลื่อนไหวด้านพิธีกรรมในพระศาสนจักรในประเทศบ้านเกิดของท่าน ติดตามเรื่องราวของฆราวาสผู้แรกจากปวยร์โตริโกที่ได้เป็นบุญราศีองค์แรกของประเทศ ไปพร้อม ๆ กับความหมายแห่งปัสกาที่สะท้อนผ่านชีวิตธรรมดา ๆ ของเสมียนตัวเล็ก ที่ได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์พระศาสนจักรปวยร์โตริโก ผู้มีคำพูดติดปากว่า“พวกเรามีชีวิตอยู่เพื่อคืนนั้น” ได้ในบทความ คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ (คลิกที่นี่) 

“ข้าแต่ท่านบุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก 
ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
https://www.blackcatholicmessenger.com/carlos-manuel-rodriguez-feast-2022/
https://www.pmariamm.org/beatocarlos.html
https://www.stignatiusmobile.org/saint-of-the-month-blessed-carlos-manuel-rodriguez/
https://www.vatican.va/news_services/liturgy/saints/ns_lit_doc_20010429_rodriguez-santiago_en.html
https://es.zenit.org/2020/07/12/beato-carlos-manuel-rodriguez-santiago-13-de-julio-5/
https://es.eucharisticrevival.org/post/carlos-manuel-cecilio-a-eucharistic-life
http://www.savior.org/saints/santiago.htm
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Carlos_Manuel_Rodr%C3%ADguez_Santiago

คือปัสกาของ 'การ์โลส มานูเอล' ตอนจบ

บุญราศีการ์โลส มานูเอล เซซิลิโอ โรดริเกซ ซันติอาโก Bl. Carlos Manuel Cecilio Rodríguez Santiago วันฉลอง: 13 กรกฎาคม และ 4 พฤษภาคม (ในปวยร์โต...