นักบุญโกล้ด เดอ ลา โกลอมบีแอร์
St. Claude de la Colombière
วันฉลอง: 15 กุมภาพันธ์
องค์อุปถัมภ์: ความศรัทธาพิเศษต่อดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า
“ท่านผู้นี้คือผู้ที่เราส่งมาช่วยเธอ” เสียงที่คุ้นเคยดังขึ้นในภายในหัวใจน้อย ๆ ของมาร์การิตา ภคินีคณะพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธวัย 27 ปี ผู้กำลังเต็มไปด้วยความสับสนจากพระหรรษทานพิเศษที่พระเจ้าทรงประทานแก่โลกโดยผ่านทางเธอ เมื่อเธอได้พบหน้าพระสงฆ์หนุ่มวัย 33 ปี ซึ่งมีรูปหน้ายาวแหลมได้รูป มีหน้าผากกว้าง และดวงตาเฉียบคม ซึ่งพึ่งได้รับตำแหน่งคุณพ่ออธิการคณะเยซูอิต ในหมู่บ้านปาเรย์ เลอ โมเนียล จ. โซเนลัวร์ แคว้นบูร์กอญ-ฟร็องช์-กงเต ทางตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส และได้เดินทางเทศน์ที่อารามซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน เพราะนอกจากจะได้รับตำแหน่งในคณะของตน คุณพ่อคนนี้ยังได้รับมอบหมายให้เป็นจิตตาธิการคนใหม่ของอาราม ซึ่งในเวลาต่อมาผ่านซี่กรงอารามที่กั้นระหว่างเธอและพระสงฆ์หนุ่ม คุณแม่อธิการโซแมส ก็ได้แนะนำทั้งสองให้รู้จักกัน “นี่คือคุณพ่อโกล้ด เดอ ลา โกลอมบีแอร์ และนี่คือซิสเตอร์มาร์การิตาค่ะคุณพ่อ” นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของสายสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ระหว่างชายและหญิงผู้ถวายตน ผู้ได้กลายมาเป็นผู้นำพระหรรษทานพระเจ้าประการสำคัญมาสู่โลก และทำให้คริสตังได้เฉลิมฉลองวันฉลองสำคัญในสัปดาห์ต่อจากการสมโภชพระคริสตวรกาย
แต่ก่อนจะถึงวันนั้นขอย้อนไปถึงเรื่องราวของตัวละครเอกของเราในวันนี้เสียก่อน นั่นคือ ‘คุณพ่อโกล้ด เดอ ลา โกลอมบีแอร์’ พระสงฆ์หนุ่มผู้เป็นตัวละครเอกของเรื่องราวสำคัญของเราในวันนี้ ซึ่งคงต้องย้อนไปประมาณสี่ปีก่อนที่สหายของท่านจะเกิดที่เมืองเวโคเวอรส์ จ. โซเนลัวร์ เมื่อนางมาร์เกอริต กวงดาต ภรรยาของทนายรับรองเอกสาร (Notary Public) ผู้มั่งคั่งและมีชื่อเสียงอย่างนายเบอร์ตรองด์ เดอ ลา โกลอมบีแอร์ ได้ให้กำเนิดบุตรคนที่สามจากหกคน ที่หมู่บ้านแซ็งต์ ซีมโฟรีง โดซอง เมืองลียง จ. โรน แคว้นโอแวร์ญ-โรนาลป์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1641 บุตรผู้เกิดมาเป็นชายและได้รับนามว่า ‘โกล้ด’ นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องเล่าของเราในวันนี้ เรื่องเล่าของชายผู้กลายมาเป็นบุคคลสำคัญในการประกาศความรักขององค์พระเจ้าให้แก่มวลมนุษย์ร่วมกับภคินีหญิงธรรมดา ๆ ผู้หนึ่งซึ่งเกิดตามหลังมาใน ค.ศ. 1647
หลังโกล้ดลืมตาดูโลกแล้ว เราไม่ทราบรายละเอียดมากเท่าใดเกี่ยวกับชีวิตของท่านเลย แต่จากการที่ในเวลาต่อมาบุตรธิดารวมหกคนซึ่งมีชีวิตรอดจนโตเป็นผู้ใหญ่เพียงห้าคนของนายเบอร์ตรองด์และนางมาร์เกอริต มีบุตรชายสามในสี่คนต่างได้บวชเป็นพระสงฆ์ (คนหนึ่งได้ไปเป็นธรรมทูตที่ประเทศแคนาดา) รวมถึงหนึ่งคนที่เป็นฆราวาสก็ดำเนินชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ธิดาเพียงคนเดียวก็ได้ถวายตนเป็นภคินีคณะพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ เราก็อาจพอจะจินตนาการได้ว่าในวัยเยาว์ท่านคงได้รับการอบรมจากบิดามารดาให้เติบโตมาในบรรยากาศของครอบครัวคริสตชนใจศรัทธาครอบครัวหนึ่ง เราทราบต่อมาว่าในเวลาต่อมาหลังท่านเกิด นายเบอร์ตรองด์ก็ได้พาครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมืองเวียนา จ. อีแซร์ แคว้นโอแวร์ญ-โรนาลป์ซึ่งอยู่ลงไปทางตอนใต้ของหมู่บ้านแซ็งต์ ซีมโฟรีง โดซองไม่ไกลมาก เป็นผลให้ท่านได้เริ่มเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาที่นั่น ก่อนในเวลาต่อมาท่านจึงย้ายกลับมาเรียนที่โรงเรียนแม่พระผู้ทรงช่วยเหลือ เมืองลียง ของคณะเยซูอิตเพื่อศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา และโรงเรียนพระตรีเอกภาพ ในเมืองเดียวกัน จนจบการศึกษาในด้านวาทศาสตร์และปรัชญา ณ ที่แห่งนั้น
“ข้าแต่พระเจ้า ความคิดของพระองค์ช่างลึกซึ้งนี่กระไร” (สดุดี 139 : 17) เมื่อท่านจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา พระเจ้าก็ทรงกระทำพระราชกิจอันน่ามหัศจรรย์ดังถ้อยคำในหนังสือสดุดีข้างต้น ผ่านการที่พระองค์ทรงชักนำให้โกล้ดในวัย 17 ปี ซึ่งในเวลานั้นมีอุปนิสัยติดครอบครัวและเพื่อนฝูง ชอบเสพงานศิลปะและงานวรรณกรรม รวมถึงชอบชีวิตทางสังคมตัดสินใจสมัครเข้านวกสถานคณะเยซูอิต ที่เมืองอาวีญงในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1658 ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านจะบันทึกว่าท่าน “ไม่ชอบชีวิตที่เลือกนี้อย่างมาก” แต่อย่างไรก็ตามสองปีต่อมา ใน ค.ศ. 1660 ท่านก็ได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยของคณะในเมืองเดียวกัน และได้เข้าพิธีปฏิญาณตนครั้งแรก ก่อนจะสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาปรัชญาในเวลาต่อมา พร้อมรับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาหลักไวยกรณ์ภาษาและวรรณกรรมที่วิทยาลัยเดียวกัน พระสงฆ์ที่ดูแลท่านในนวกสถานอธิบายถึงท่านไว้ว่า “โกล้ด ลา โกลอมบีแอร์มีพระหรรษทานในตัวเองมาก เขาเป็นคนมีสำนึกถึงสิ่งดีที่หาได้ยาก เป็นคนละเอียดรอบคอบจนน่าประหลาดใจ เป็นคนมีประสบการณ์มาก เขาเป็นคนเรียนเก่ง เป็นคนนิสัยใจคอเปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยน พลังกายของเขาล้นเหลือ เขาถูกสร้างมาเพื่อทำได้ทุกอย่าง”
ระหว่างที่สอนอยู่ที่วิทยาลัยของคณะนั้นเอง ท่านก็ได้แสดงพรสวรรค์ในการเป็นนักเทศน์ที่หาตัวจับได้ยากออกมา เมื่อทางอารามคณะพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธในเมืองอาวีญงได้จัดงานฉลองการแต่งตั้งบุญราศีฟรังซิส เดอ ซาลส์ ผู้ร่วมก่อตั้งคณะเป็นนักบุญใน ค.ศ. 1665 อย่างยิ่งใหญ่ ท่านในเวลานั้นยังไม่ได้บวชเป็นพระสงฆ์ก็ได้รับเชิญให้ขึ้นเทศน์ในโอกาสฉลองดังกล่าว ดังนั้นท่านจึงได้เลือกข้อพระคัมภีร์ที่ว่า“ของหวานมาจากผู้แข็งแรง” (ผู้วินิจฉัย 14:14) ซึ่งมาจากปริศนาของแซมซัน มาใช้เป็นแกนหลักของบทเทศน์ที่มีใจความสรรเสริญพระสังฆราชผู้ศักดิ์สิทธิ์ และผลที่ได้คือในวันนั้นบทเทศน์ของท่านมีความไพเราะมาก และอาจจจะด้วยบทเทศน์นี้ด้วยหรือไม่ก็ไม่มีบันทึกไว้อย่างชัดเจน ในปีต่อมา คือ ค.ศ. 1666 คุณพ่ออธิการคณะเยซูอิตเมืองอาวิญงจึงได้ตัดสินใจส่งท่านไปศึกษาต่อด้านเทวศาสตร์ที่วิทยาลัยเคลร์มองต์ กรุงปารีส ซึ่งด้วยท่านเป็นคนไหวพริบดี รวมถึงมีความสุขุมรอบคอบ คุณพ่ออธิการคณะเมืองปารีสจึงได้ให้ท่านรับหน้าที่สอนพิเศษทายาทสองคนของนายฌ็อง บัปติสต์ โกลแบรต์ รัฐมนตรีการคลังของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
แต่ในเวลาต่อมาเนื่องจากท่านการใช้ประโยคขบขันหนึ่งในงานเขียนของท่านที่บนโต๊ะเรียนพิเศษ ก็ทำให้นายโกลแบรต์ไม่พอใจในตัวท่านและได้ขอให้ผู้ใหญ่ในคณะปลดท่านออกจากหน้าที่ดังกล่าว รวมถึงให้ท่านกลับอาวีญงไป แต่ทางคณะก็ไม่ได้ปฏิบัติเช่นนั้น เพราะท่านยังคงพำนักเพื่อศึกษาต่ออยู่ในกรุงปารีส และได้มีโอกาศศึกษาแนวคิดฝั่งตรงข้ามกับคณะของท่าน คือ แนวคิดของพวกเยนเซน (Jansenism) กลุ่มคริสตังที่เชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับความรอดและพระหรรษทานในการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติบางข้อ แม้พวกเขาจะพยายามเพียงไหน รวมถึงปฏิเสธการมีอยู่ของพระเมตตาพระเจ้า พระประสงค์ที่จะให้มนุษย์ทุกคนได้รับความรอด และอิสระของมนุษย์ในการเลือกชีวิตของตนเอง กลุ่มคริสตังนี้ก่อตัวขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 และมีศูนย์กลางสำคัญคือประเทศฝรั่งเศส โดยมีพื้นฐานสำคัญมาจากงานเขียนของพระคุณเจ้ากอร์เนลิอุส เยนเซน พระสังฆราชแห่งอีเปอร์ (ค.ศ. 1585 – ค.ศ. 1638) ซึ่งพยายามตีความแนวคิดเรื่องพระหรรษทานของนักบุญออกัสติน ก่อนที่ท่านจะได้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1669 ขณะอายุได้ 27 ปี
เมื่อได้รับการบวชแล้ว ท่านจึงได้รับมอบหมายให้กลับมาเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนของคณะที่ในเมืองลียงซึ่งท่านเป็นศิษย์เก่า ก่อนในเวลาต่อมาท่านจะได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมกับกลุ่มนักเทศน์ของคณะที่เมืองอาวีญงตั้งแต่ ค.ศ. 1673 เป็นต้นมา รวมถึงยังรับหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้ศรัทธาต่อแม่พระในพื้นใกล้เคียงไปพร้อมกัน และในฐานะนักเทศน์ของคณะเราทราบว่าท่านได้แสดงบทเทศนาที่ไม่เพียงงดงามด้วยภาษา แต่ยังเปี่ยมไปด้วยหลักคำสอนที่ถูกต้อง บทเทศน์ของท่านจับใจผู้ได้ฟัง สร้างสันติและความวางใจในพระเจ้าให้เกิดแก่ผู้ได้ยิน เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงภายในวิญญาณ และเมื่อเปรียบเทียบท่านกับนักเทศน์คนอื่น ๆ ในวันและเวลาเดียวกัน บทเทศน์ของท่านก็มีความสดใหม่อยู่เสมอกว่าของนักเทศน์คนอื่น ๆ นอกจากนี้เรายังทราบอีกว่าท่านเทศน์ด้วยความร้อนรน และได้ใช้พื้นที่ธรรมมาสน์ต่อสู้กับแนวคิดพวกเยนเซนที่ท่านศึกษามาอย่างแข็งขัน
เมื่อมีอายุได้ 33 ปี ใน ค.ศ. 1674 ผู้ใหญ่ในคณะเยซูอิตก็ได้ให้ท่าน ‘เข้าเงียบใหญ่ครั้งที่ 3’ (Tertianship) ที่เมซ็อง แซงต์ โฌเซฟ เมืองลียง เพื่อเตรียมปฏิญาณตนตลอดชีวิตตามธรรมนูญของคณะเยซูอิต ในช่วงเวลานี้จากบันทึกที่ท่านเขียนได้แสดงให้เห็นว่า ท่านตระหนักถึงความอ่อนแอในธรรมชาติมนุษย์ของท่านเป็นอย่างดี ท่านเขียนในวันที่เจ็ดในการเข้าเงียบสามสิบวันนั้นว่า “ในเช้าวันที่เจ็ด ผมพบว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับความแคลงใจเมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายในชีวิตที่ผมมุ่งจะทำในวันหน้า ผมพบว่ามันช่างสิ้นหวังและยากลำบาก ชีวิตแบบอื่นช่างดูง่ายสำหรับผมในการบรรลุถึงวิถีทางของนักบุญ ชีวิตที่เคร่งคัดยิ่งขึ้น ชีวิตที่สันโดษ ชีวิตที่ซ่อนเร้น ชีวิตที่แยกขาดจากการติดต่อโลกภายนอกทั้งหมด ช่างดูหอมหวานกว่าที่ผมเป็นอยู่ปรากฏขึ้นเบื้องหน้าผม ยิ่งผมหวาดกลัวความธรรมดาของธรรมชาติ เช่น การถูกจองจำ การเจ็บออด ๆ แอด ๆ ความตายอย่างเดียวดายเท่าใด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยิ่งปรากฏต่อหน้าผมเหมือนการต่อสู้อันเป็นนิรันดร์กับความเย้ายวนใจของการเจนโลก การรักตัวเอง และการสิ้นใจในชีวิตท่ามกลางโลก เมื่อผมคิดถึงเรื่องนี้ทั้งหมด มันช่างดูเหมือนชีวิตสำหรับผมช่างยืดยาวเสียเหลือเกิน และความตายก็มาไม่เร็วพอ ผมเข้าใจคำพูดของนักบุญออกัสตินที่ว่า ‘เขาอยู่อย่างอดทน และตายด้วยความยินดี’ แล้ว”
ที่สุดท่านท่านพบว่าท่านไม่สามารถทำสิ่งใดได้เลยเพื่อบรรลุความครบครัน หากปราศจากความช่วยเหลือของพระเจ้า ดังที่ท่านเขียนในภายหลังการเข้าเงียบว่า “อาศัยพระเมตตาของพระเจ้าผมรู้สึกถูกชักนำให้สวดภาวนา ผมได้ทูลต่อพระเจ้า พร้อมด้วยดวงพระหฤทัย อาศัยคำเสนอวิงวอนของแม่พระ ให้พระองค์ทรงประทานให้ผมมีความรักอย่างยิ่งยวดต่อการฝึกปฏิบัติอันศักดิ์สิทธิ์นี้นับวันให้ยิ่งมากขึ้น จนถึงยามผมจะสิ้นใจ นี่แหละคือวิธีการเดียวที่ชำระเราให้บริสุทธิ์ เป็นหนทางเดียวที่จะนำเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า รวมถึงเป็นช่องทางเดียวซึ่งพระเจ้าจะทรงนำพระองค์มาสนิทสัมพันธ์กับเรา เพื่อพระองค์จะกระทำทุกสิ่งร่วมกับเราเพื่อพระเกียรติมงคลของพระองค์ เราจำต้องสวดภาวนาเพื่อบรรลุคุณธรรมของบรรดาอัครสาวก เราจำต้องสวดภาวนาเพื่อรับใช้คนรอบข้าง เราจำต้องสวดภาวนาเพื่อป้องกันไม่ให้คุณธรรมนี้หายไปในระหว่างที่เราใช้มันในการรับใช้พระองค์ นี่คือคำแนะนำ หรือมากกว่านั้นคือข้อบัญญัติ: จงสวดภาวนาอยู่เสมอ สิ่งนี้ช่างดูจะเป็นสุขและไม่มีทางจะเป็นไปไม่ได้สำหรับผม มันช่วยประกันได้ว่าการปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ จะมีพระเจ้าทรงประทับอยู่ด้วย ผมหวังที่จะปฏิบัติได้เช่นนั้นอาศัยความช่วยเหลือขององค์พระผู้เป็นเจ้า เราต้องการพระเจ้าเสมอ ดังนั้นเราต้องสวดภาวอยู่เสมอ ยิ่งเราสวดมากเท่าใดพระเจ้าก็ทรงพอพระทัยมากเท่านั้น และเราก็ยิ่งได้รับมากเท่านั้นเช่นกัน ผมไม่วิงวอนขอความบรมสุขในการภาวนาซึ่งพระเจ้าทรงประทานแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ประทานให้ เพราะผมไม่คู่ควรกับสิ่งนั้น ผมไม่มีกำลังพอจะแบกรับพวกมันไว้ได้ พระหรรษทานพิเศษไม่เหมาะกับผม การประทานพระหรรษทานเหล่านั้นให้ผมก็เหมือนการสร้างเคหาบนพื้นทราย เป็นเพียงการเทเหล้าที่มีค่าลงในถังซึ่งมีรอยรั่วจนบรรจุอะไรไม่ได้ ผมจึงทูลขอพระเจ้าแต่เพียงวิธีการภาวนาที่หนักแน่นและเรียบง่าย ซึ่งพอจะสามารถถวายพระเกียรติแด่พระองค์และไม่ทำให้ผมลำพองตน ดังนั้นความแห้งแล้งและความอ้างว้างพร้อมด้วยพระหรรษทานของพระองค์จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับผม ด้วยประการฉะนี้แล จากนั้นผมจะพยายามทำกิจการดี และด้วยความพึงใจ ผมได้พยายามเอาชนะน้ำใจที่ชั่วช้าของผม ผมพยายามที่จะเชื่อมั่นในพระเจ้า ฯลฯ” และในเวลาต่อมาท่านยังได้เขียนอีกว่า “เหนือสิ่งอื่นใด ผมน้อมรับการชำระโดยวิถีทางที่พระเจ้าทรงพอพระทัย โดยปราศจากความบรมสุขที่สัมผัสได้ทั้งสิ้น หากพระองค์ทรงมีพระประสงค์เช่นนั้น ก็โดยการทดลองภายใน โดยการต่อสู้กับกิเลสตัณหาของผมตลอดเวลา”
เมื่อท่านพบว่าตัวท่านนั้นไม่มีอะไรเลยเป็นเพียงวัตถุธาตุที่ว่างเปล่า ท่านจึงตัดสินใจว่าจะปฏิญาณตนว่าจะถือความครบครัน นอกเหนือจากการยึดถือระเบียบและธรรมนูญของคณะอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยท่านได้เขียนไว้ตอนหนึ่งระหว่างเตรียมปฏิญาณนั้นว่า “แต่ผมได้ตัดสินใจแล้วที่จะเฝ้ารอในสันติจนกว่าพระองค์จะทรงพอพระทัยที่จะทำอัศจรรย์นี้ เพราะผมเชื่อว่ามีเพียงพระองค์เท่านั้นที่สามารถทำสิ่งนี้ได้ ‘ใครจะดึงสิ่งสะอาดออกมาจากสิ่งที่มีมลทินได้ นอกจากพระองค์เล่า’” (เทียบ โยบ 14 : 4) ท่านยังเขียนอีกว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ลูกเชื่อว่านี่เป็นเวลาที่ลูกจะมีชีวิตอยู่ในพระองค์ และเพียงเพื่อพระองค์ ณ อายุเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อลูก” และในเวลาต่อมาเมื่อท่านได้เข้าเงียบระหว่างอยู่ในประเทศอังกฤษในอีกไม่กี่ปีต่อมา ท่านได้เขียนถึงการปฏิญาณตนครั้งนี้ว่า “เป็นพระหรรษทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ลูกเคยได้รับมา” เราอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นการเตรียมวิญญาณครั้งสำคัญของท่านสำหรับพันธกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่าน พันธกิจที่ท่านจะร่วมกับเพื่อนต่างเพศของท่าน ซึ่งจะยังประโยชน์ถึงกาลสมัยปัจจุบันและต่อไปตราบจนสิ้นพิภพ เพราะการที่ท่านตระหนักในความว่างเปล่าของตนเอง พระเจ้าจึงเติมพระหรรษทานให้ท่านจนล้นเอ่อพอจะแจกจ่ายไปให้โลกทุกกาลสมัย
เมื่อเสร็จสิ้นการเข้าเงียบใหญ่ครั้งที่ 3 ในปลาย ค.ศ. 1674 คุณพ่อฟร๊องซัวส์ ลา เชซ คุณพ่ออธิการเขตที่ท่านพำนักจึงได้อนุญาตให้ท่านเข้าพิธีปฏิญาณตนตลอดชีพได้ ท่านจึงได้เข้าพิธีดังกล่าวในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1675 และเพียงสองเดือนให้หลังท่านก็ได้รับมอบหมายให้ไปดำรงตำแหน่งคุณพ่อธิการบ้านของคณะที่หมู่บ้านปาเรย์ เลอ โมเนียล บ้านคณะขนาดเล็กและห่างไกลที่มีสมาชิกในบ้านประมาณ 4 – 5 คน ดูเหมือนว่าการตัดสินใจเช่นนี้ของผู้ใหญ่ในคณะจะมาจากความสามารถในการสอนและการเทศน์ของท่าน และสุขภาพที่ไม่สู้จะแข็งแรงของท่านประกอบกัน ผู้ใหญ่จึงได้ตัดสินใจส่งท่านมากปกครองบ้านหลังนี้ เพราะภาระงานที่นี่ไม่หนักมากเกินไปสำหรับท่านที่จะใช้ความสามารถที่มีในงานอภิบาลของคณะ รวมถึงอาจมาจากประเด็นของภาพนิมิตของภคินีรูปหนึ่งภายในเมือง ที่จำเป็นต้องมีผู้วินิจฉัยที่มีความสามารถในการชี้ขาดไปจัดการให้ชัดเจน จากหลักฐานที่เหลืออยู่เราพอทราบว่าเมื่อท่านประมาประจำอยู่ที่นี่แล้ว ท่านได้ให้ความสนใจในการทำงานอภิบาลในโรงเรียนขนาดเล็กของคณะ ท่านได้ก่อตั้งกลุ่มศรัทธาสำหรับผู้ชายที่อุทิศถวายแด่พระนางมารีย์ เทศนาสั่งสอนความเชื่อคริสตัง รวมถึงมีส่วนในการก่อตั้งโรงพยาบาลภายในเมือง นอกจากนี้ท่านยังรับเป็นคุณพ่อวิญญาณารักษ์และพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่แก้บาปให้สถานที่และบุคคลต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือที่อารามคณะพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน
ที่อารามหลังนี้ท่านได้พบกับนักบุญมาร์การิตา มารีอา อาลาก๊อก ที่อายุอ่อนกว่าท่านประมาณ 6 ปี และในเวลานั้นกำลังประสบกับความทุกข์ ความสิ้นหวัง และความกังวลใจเป็นอันมากจากการไขแสดงเรื่องพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ซึ่งคุณแม่อธิการอารามและพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่ฟังแก้บาปองค์ก่อนต่างมองว่า นิมิตที่เธอได้รับเป็นกิจการของผีปีศาจ แต่ในทันทีที่ท่านมีโอกาสได้ฟังนักบุญมาร์การิตาแก้บาป ท่านก็เข้าใจและมองเห็นพระหรรษทานที่พระเจ้าทรงกระทำผ่านตัวภคินีผู้ต่ำต้อยผู้นี้ ท่านฟังเธออย่างเข้าใจและได้มอบความบรรเทาใจให้กับเธอ บอกกับเธอว่าท่านมีความยินดีมากที่ได้ทราบว่าท่านนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เธอนั้นสละตนเอง นักบุญมาร์ริตาบันทึกการฟังแก้บาปครั้งแรกกับท่านเอาไว้ว่า “ในทันที โดยไม่ทำร้ายดิฉัน ท่านค้นพบความดีและเลวในหัวใจของดิฉัน ซึ่งมันปลอบประโลมดิฉันเป็นอันมาก และท่านเตือนดิฉันให้อย่ากลัวหนทางของพระเจ้าตราบเท่าที่ดิฉันยังคงนบนอบต่อคุณแม่อธิการและรักษาการถวายตัวของดิฉันทั้งครบแด่พระเจ้า เพื่อว่าพระเจ้าจะทรงปฏิบัติต่อดิฉันตามที่ทรงพอพระทัย คุณพ่อโกล้ดยังได้ชี้ชวนให้ดิฉันยินดีในของประทานจากพระเจ้าและน้อมรับมันไว้ด้วยความเชื่อและความถ่อมใจ”
นี่เองทำให้กำแพงความกลัวที่ปิดกั้นตัวเองของนักบุญมาร์การิตาได้ทะลายลง เพราะแม้ในหนแรกองค์พระเยซูเจ้าจะทรงตรัสภายในหัวใจเธอในเสี้ยววินาทีแรกที่ได้พบท่านว่า “ท่านผู้นี้คือผู้ที่เราส่งมาช่วยเธอ” และเคยตรัสกับเธอก่อนหน้าว่า “เราจะส่งผู้รับใช้ที่สัตย์ซื่อและเพื่อนที่สมบูรณ์แบบที่จะสอนให้เธอรู้จักเราและมอบทุกสิ่งไว้กับเราโดยไม่ขัดขืนอีกต่อไปมา” แต่ด้วยความอ่อนแอตามประสามนุษย์ นักบุญมาร์การิตาจึงไม่กล้าที่จะเล่าทุกอย่างให้ท่านฟังทั้งหมด ฉะนั้นเองมิตรภาพของชายและหญิงต่างวัยที่มีลูกกรงเหล็กกั้นกลางแบ่งแยกพื้นที่โลกธรรมดาและโลกของเขตพรตจึงได้เริ่มขึ้น ทั้งสองต่างได้คอยส่งเสริมวิญญาณของกันและกันให้ได้รับความบรรเทาใจในการดำเนินชีวิตตามน้ำพระทัยพระเจ้า และต่างยอมรับในความศักดิ์สิทธิ์ของกันและกัน อีกทั้งร่วมกันทำตามพระทัยของพระเยซูเจ้าที่จะทรงเผยแสดงดวงพระหฤทัยของพระองค์ให้เป็นที่แพร่ไปด้วยความร้อนรน และด้วยความสามารถของแต่ละคน
เราอาจกล่าวได้ว่าในขณะที่ท่านได้มอบความบรรเทาใจในการทำตามน้ำพระทัยของพระเยซูเจ้าให้เธอ ด้วยการยืนยันว่านี่เป็นผลงานของพระเยซูเจ้า เธอเองก็ได้มอบหนทางการบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์และความบรรเทาใจให้กับท่าน คือ การวางใจในพระหฤทัยเปี่ยมรักและเมตตาของพระเยซูเจ้าโดยไม่มีข้อแม้ ครั้งหนึ่งท่านเขียนเล่าว่า “แต่ก่อนผมมักจมอยู่ในการล่อลวง ซึ่งทำลายความกล้าของผมไปสิ้น และทำให้ผมเกือบจะหมดความหวังที่จะช่วยวิญญาณของตัวเองให้รอดในขณะที่มัวคิดถึงวิญญาณของผู้อื่น มันหนักหน่วงยิ่งจนหากผมเป็นอิสระได้ผมจะไม่แปลกใจที่ผมจะใช้ชีวิตแต่ละวันในความสันโดษ … การทดลองเช่นนี้อ่อนกำลังลงผ่านคำพูดของ น.น. (นามแฝงที่ท่านใช้เรียกนักบุญมาร์การิตา) ในวันหนึ่ง เธอเล่าให้ผมฟังว่าวันหนึ่งเมื่อเธอกำลังเสนอคำวิงวอนต่อพระเจ้าให้ผมอยู่นั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทำให้เธอเข้าใจว่าวิญญาณของผมเป็นรักของพระองค์ และพระองค์จะทรงคอยดูแลมันไว้เป็นพิเศษ ผมจึงตอบเธอไปว่า ‘โถ น.น. สิ่งนี้ช่างต่างกับที่พ่อคิดเหลือเกิน องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงรักสิ่งไร้ประโยชน์ ผู้วัน ๆ มีเป้าหมายเพียงทำให้มนุษย์พอใจและเอาชนะความคิดของพวกเขาเช่นพ่อได้อย่างไร’ เธอก็ตอบกลับว่า ‘นี่คุณพ่อคะ ที่ว่ามานี้ไม่ใช่ตัวคุณพ่อจริง ๆ ดอกค่ะ’ เป็นความจริงที่ว่าอาศัยเพียงคำรับรองเดียวนี้ได้มอบสันติให้กับผม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็กังวลน้อยลงกับเรื่องการล่อลวงเช่นนี้ และพวกมันเองก็อ่อนกำลังลงและเกิดขึ้นน้อยลงไปด้วย”
พระองค์จึงทรงประสงค์ให้พวกเราทั้งสอง
เป็นเหมือนพี่ชายและน้องสาว
เหตุการณ์ที่เป็นไปดังนี้นอกจากพระหรรษทานของพระเจ้าที่ขับเคลื่อนให้ทุกอย่างเป็นไป ก็อาจเป็นเพราะวิญญาณทั้งสองดวงต่างละม้ายคล้ายกัน คือ ต่างเป็นวิญญาณที่ไร้เดียงสาเหมือนเด็ก ๆ ทั้งสองจึงเข้าใจกันและกัน ไม่เพียงเท่านั้นนี่ยังอาจมาจากความเข้าใจในวิญญาณของท่านถึงพระเมตตารักของพระเจ้า รวมถึงความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัยที่ได้รับการเตรียมไว้อย่างดีทั้งในการต่อสู้กับพวกเยนเซนและการเข้าเงียบใหญ่ครั้งที่ 3 ก่อนมาพบกับเธอ ท่านเคยเขียนไว้ก่อนที่จะมาพบกับเธอว่า “โอ้ ดวงพระหทัยทั้งสอง ช่างสมควรแล้วที่เข้าครองทั้งหัวใจของบรรดาเทวาและมนุษย์ทั้งมวล แต่นี้พระองค์ทั้งสองคือธรรมนูญที่กำกับความประพฤติของลูก และในทุกโอกาสลูกจะพยายามแสวงหาการดลใจของพระองค์ทั้งสอง ลูกปรารถนาให้ดวงใจของลูกได้รับการขับเคลื่อนไปโดยองค์พระเยซูเจ้าและแม่พระ กล่าวคือขอให้ดวงหทัยของทั้งสองพระองค์เป็นสมบัติอยู่ภายในตัวลูก เพื่อว่าทั้งสองพระองค์จะได้ทรงไขแสดงพระประสงค์ของพระองค์ให้กับลูกได้ และเพื่อว่าดวงใจของลูกเองจะไม่หวั่นไหว แต่ติดตามแรงดลใจที่ได้รับจากทั้งสองพระองค์ไป” สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจันหนึ่งที่ทำให้ท่านเชื่อมั่นในพระหรรษทานพระเจ้าที่ทรงกระทำต่อวิญญาณของนักบุญมาร์การิตา ในแบบที่แตกต่างไปจากคนอื่น ๆ อีกด้วย
ด้วยความเชื่อเช่นนี้ท่านจึงได้สั่งให้นักบุญมาร์การิตาเริ่มบันทึกพระหรรษทานต่าง ๆ ที่ได้รับ รวมถึงได้ให้ความมั่นใจคุณแม่อธิการอารามถึงความจริงแท้ของภาพนิมิตนี้ และในเวลาเดียวกันท่านก็ได้เริ่มส่งเสริมความศรัทธาพิเศษต่อดวงพระหฤทัยออกไป เพราะท่านมองเห็นว่าพระหรรษทานที่ผ่านมาทางนักบุญมาร์การิตานี้เอง คือ อาวุธที่ยิ่งใหญ่ที่ใช้ต่อสู้กับแนวคิดเยนเซน เช่นเดียวกับที่นักบุญโดมินิกมองว่าสายประคำเป็นอาวุธสำคัญที่ใช้ต่อกรกับพวกนอกรีตในยุคของท่านนักบุญ ดังนั้นเหตุการณ์จึงเป็นไปดังที่พระเยซูเจ้าได้ทรงเผยแสดงให้นักบุญมาร์การิตาได้เห็นในมิสซาแรกของท่านที่วัดน้อยของอาราม ซึ่งเธอได้เขียนเล่าไว้ว่า “เมื่อดิฉันเข้ามารับศีลมหาสนิท องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงแสดงให้ดิฉันเห็นดวงพระหฤทัยของพระองค์ที่มีลักษณะเหมือนเตาที่ลุกร้อนไปด้วยเปลวไฟ และหัวใจอีกสองดวงที่ได้ลอยไปยังที่นั่นเพื่อรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวและสลายหายไป พระองค์ตรัสกับดิฉันว่า ‘นี่คือความรักอันบริสุทธิ์ของเราที่ได้รวมเอาหัวใจทั้งสามดวงไว้ด้วยกันตลอดเวลา’ หลังจากนั้นพระองค์จึงทรงไขแสดงให้ดิฉันเข้าใจว่าการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ เป็นไปเพื่อพระเกียรติมงคลของดวงพระหฤทัยของพระองค์เอง ที่พระองค์ทรงประสงค์ให้ดิฉันได้เปิดเผยขุมทรัพย์นี้แก่คุณพ่อ เพื่อคุณพ่อจะประจักษ์แจ้ง และได้ประกาศถึงคุณค่าของมัน และด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงทรงประสงค์ให้พวกเราทั้งสองเป็นเหมือนพี่ชายและน้องสาว เพื่อคอยแบ่งปันสินทรัพย์ทางวิญญาณแก่กันและกัน”
พระราชวังเซนต์เจมส์ในศตวรรษที่ 17
แม้พระเจ้าจะประสงค์ให้ท่านและนักบุญมาร์การิตาร่วมกันเผยแพร่ความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัยของพระองค์ให้แพร่ไป พระองค์มิได้ให้ท่านประจำอยู่ปาเรย์ เลอ โมเนียลไปตลอดชีวิต เพราะพระองค์ทรงมีแผนการเพื่องานชิ้นนี้ในรูปแบบที่น่าอัศจรรย์ไปกว่านั้น กล่าวคือเมื่อท่านประจำอยู่ที่ปาเรย์ เลอ โมเนียลได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1676 คุณพ่อลา เชซ ซึ่งเวลานั้นทำหน้าที่เป็นผู้ฟังแก้บาปให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ได้แนะนำให้ส่งท่านไปรับตำแหน่งจิตตาภิบาลส่วนตัวของเจ้าหญิงมารีอา เบอาตริเช เดสเต ดัชเชสแห่งยอร์ก ผู้สืบสกุลจากมาจากดยุคแห่งโมเดนา ในประเทศอิตาลีปัจจุบัน เจ้าหญิงพระองค์นี้มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และได้อภิเษกสมรสเจ้าชายเจมส์ ดยุคแห่งยอร์ก ซึ่งนับถือคริสต์ศาสนานิกายแองกลิกัน และเป็นพระเชษฐาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 กษัตริย์อังกฤษในเวลานั้น (ภายหลังได้กลับใจมาเป็นคริสตังเหมือนภรรยา และได้ขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษพระนามว่า ‘พระเจ้าเจมส์ที่ 2) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผู้ใหญ่ในคณะจึงได้มีคำสั่งให้ท่านย้ายไปรับตำแหน่งดังกล่าวที่ประเทศอังฤษ ดังนั้นเองท่านจึงจำต้องเดินทางจากมิตรรักของท่าน และคอยให้คำแนะนำเธออยู่เรื่อย ๆ ผ่านจดหมายแทน
ท่านมาถึงประเทศอังกฤษในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1676 และได้พำนักอยู่ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ ในกรุงลอนดอน โดยรับหน้าที่ประกอบพิธีมิสซาในทุกวันอาทิตย์และวันฉลองสำคัญที่ภายในวัดน้อยในพระราชวังแห่งนั้น จากข้อมูลที่ได้มีการรวบรวมมาทำให้ทราบว่า ณ ที่แห่งนี้แม้ท่านจะต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางความหรูหราของราชสำนัก และท่ามกลางคนต่างนิกาย ท่านได้เจริญชีวิตอย่างร้อนรนเช่นเมื่อครั้งอยู่ประเทศฝรั่งเศส ท่านเทศน์สอนไม่เพียงด้วยคำพูด ตัวอักษร แต่ด้วยชีวิต ท่านนอนบนฟูกที่ปูบนไม้กระดาน สละเงินส่วนเกินที่ได้รับมาให้บรรดาคนป่วย คนยากไร้ และคริสตังใหม่ที่ขัดสน รวมถึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันอยู่แต่ภายในเขตพระราชวัง แทนการออกเที่ยวท่องไปตามสถานที่ต่าง ๆ ภายในกรุงลอนดอน และหากท่านจะออกไปก็เพียงเพื่อไปเยี่ยมคนเจ็บไข้และผู้คนที่ท่านปรารถนาจะฉุดช่วย นอกจากนี้ท่านยังเป็นทุกข์ใจที่ได้เห็นความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทในประเทศอังกฤษนั้นเสื่อมถอยลงเป็นอันมาก ดังที่ท่านเขียนว่า “ลูกรู้สึกเห็นใจบรรดาคนตาบอดเหล่านี้ที่ไม่ยินดีจะเชื่อในข้อธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่และไม่อาจอธิบายนี้อย่างจับใจ ลูกยินดีที่จะหลั่งเลือดเพื่อนำพวกเขามายังความจริงที่ลูกเชื่อและยอมรับ ลูกมีความยินดีที่ได้แสดงคารวกิจต่อพระกายแท้ของพระองค์ในรูปของปังและเหล้าองุ่นวันละหลาย ๆ ครั้ง ในแผ่นดินที่กังขาถึงการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระองค์ในศีลประเสริฐนี้”
นักบุญจอห์น วอลล์
แม้จะต้องจากดินแดนบ้านเกิดมาอยู่ท่ามกลางคนต่างชาติต่างนิกาย ท่านก็ใช้โอกาสเหล่านี้เผยแพร่ความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัยผ่านทั้งการเทศน์ในมิสซาและการพูดคุยส่วนตัวกับบรรดาผู้ที่ท่านรับผิดชอบดูแลวิญญาณด้วยความร้อนรน ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังได้ตีพิมพ์แผ่นพับว่าด้วยความศรัทธาต่อพระหฤทัยออกแจกจ่ายอีกด้วย นักบุญจอห์น วอลล์ พระสงฆ์คณะภารดาน้อยฟรังซิสกันชาวอังกฤษและมรณสักขี ซึ่งมีโอกาสได้พบท่านก่อนตนเองจะได้ถวายตนเป็นมรณสักขีในคืนวันหนึ่งได้เล่าถึงท่านว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับเขา ข้าพเจ้าก็คิดว่าตนได้พบกับท่านนักบุญยอห์น อัครสาวก ผู้กลับมายังโลกเพื่อจุดประกายไฟหางดวงพระหฤทัยให้ลุกขึ้นอีกครั้ง” และไม่เพียงเท่านั้นท่านยังอุทิศเวลาเพื่อสอนสั่งบรรดาผู้คนต้องการคืนดีกับพระศาสนจักรคาทอลิกที่พวกเขาได้ละทิ้งไปอย่างร้อนรน แม้ท่านทราบดีว่าการทำเช่นนี้ไม่เป็นเรื่องปลอดภัยเท่าไรนักในเกาะอังกฤษ แต่ท่านก็มีความยินดีที่ได้เห็นการกลับใจนี้ ท่านเขียนในหนึ่งปีต่อมาว่า “ผมสามารถเขียนหนังสือเรื่องพระเมตตาของพระเจ้าที่ผมได้เห็นทรงกระทำนับแต่วันผมมาถึงที่นี่” เราพบว่าในระหว่างการสอบสวนเรื่องราวของท่านเพื่อขอแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศีได้มีการบันทึกว่า มีผู้คนจำนวนมากที่ท่านได้ทำให้กลับใจในระหว่างอยู่ประเทศอังกฤษ
ด้วยการเจริญชีวิตอย่างร้อนรนและเคร่งคัด โดยเฉพาะการเลือกที่จะไม่จุดไฟในเตาผิงในวันที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว ทำให้ในไม่ช้าท่านก็เริ่มป่วยออด ๆ แอด ๆ และเริ่มมีอาการไอเป็นเลือด แต่ท่านก็ยังคงปฏิบัติตนเช่นเดิม จนเป็นเหตุให้ท่านต้องเดินทางกลับไปประเทศฝรั่งเศส แต่ในระหว่างที่รอเดินทางกลับอยู่นั้นก็ปรากฏมีข่าวลือว่า พระสันตะปาปาอิโนเซนต์ที่ 9 ได้ทรงให้พระสงฆ์เยซูอิตและชาวคริสตังในเกาะอังกฤษวางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แล้วยกเอาดยุคแห่งยอร์ก ซึ่งเป็นคริสตังขึ้นเป็นกษัตริย์เพื่อทำลายนิกายแองกลิกันที่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ได้ทรงตั้งขึ้น และฟื้นฟูพระศาสนจักรคาทอลิกขึ้นที่อังกฤษอีกครั้ง หรือที่เรียกกันว่า ‘แผนโปปิช’ (Popish Plot, ค.ศ. 1678 - ค.ศ. 1681) ขึ้นทั่วเกาะอังฤษจากฝีมือของนักบวชแองกลิกันชื่อ ทิตัส โอตส์ จนนำไปสู่ความหวาดระแวงคริสตังครั้งใหญ่ในเกาะอังกฤษ รวมถึงการจับกุมและสังหารคริสตังจำนวนหนึ่ง
ในท่ามกลางความหวาดระแวงนั้นเอง ท่านก็ถูกชายชาวฝรั่งเศสที่พึงกลับใจกับท่านชื่อ โอลิเวอร์ ดูฟีเก็ต กล่าวหาว่าท่านมีส่วนในแผนการณ์นี้ ด้วยการกล่าวร้ายกษัตริย์และรัฐสภาอังกฤษ ดังนั้นในระหว่างคืนวันที่ 13 - 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1678 ท่านจึงถูกจับกุมตัวและนำไปไต่สวน และแม้จะไม่พบความผิดตามที่กล่าวหา ท่านก็ถูกนำตัวไปจำคุกในศาลอาญาต่อราชบัลลังก์ (King's Bench) ซึ่งมีสภาพที่น่าสังเวชจนเป็นผลให้อาการป่วยของท่านทรุดทรงตามลำดับ แต่แม้จะเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ท่านไม่ได้สูญเสียความเชื่อ ท่านยังคงสวดภาวนาขอพละกำลังและยังวิงวอนให้บรรดาผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับท่าน รวมถึงให้อภัยพวกเขาดุจเดียวกับที่พระอาจารย์เจ้าทรงกระทำบนไม้กางเขน สมดังที่ท่านเคยเขียนข้อตั้งใจไว้ในการเข้าเงียบใหญ่ครั้งที่ 3 ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกร้องเครื่องถวายบูชาของผม และนั่นก็คือการปลงใจของผมที่จะไม่กระทำสิ่งใดหากใม่ใช่น้ำพระทัยของพระองค์ ผมจึงต้องพร้อมเสมอที่จะตายและถวายเครื่องบูชาในความตาย ด้วยความร้อนรนและความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่จะปฏิบัติทุกสิ่งเพื่อช่วยเหลือวิญญาณทั้งหลาย ไม่ก็พร้อมที่จะอาศัยอยู่ในความเงียบ ความอ่อนแอและความเจ็บไข้ ไม่เป็นภาระแก่ที่ใดที่ผมไป”
เรายังอาจเข้าใจความสงบนิ่งของท่านในการเผชิญกางเขนนี้ได้จากตอนหนึ่งในบันทึกการเข้าเงียบใน ค.ศ. 1677 ที่ท่านปฏิบัติในอังกฤษว่า “ในวันที่แปดดูเหมือนผมจะพบขุมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่แล้ว เหลือเพียงผมจะสามารถหาประโยชน์จากมันได้หรือไม่ นั่นคือความมั่นใจในพระเจ้าอย่างแน่วแน่ ซึ่งมีรากฐานคือความดีอันไม่มีขอบเขตของพระองค์ และประสบการณ์ที่พระองค์ไม่เคยทำให้พวกเราขาดแคลนสิ่งใดเลยซึ่งผมได้พบมา มากไปกว่านั้นผมพบว่าในความทรงจำซึ่งผมประสบเมื่อต้องจากฝรั่งเศสมา พระองค์ได้ทรงสัญญาว่าจะทรงเป็นกำลังของผมเท่ากับที่ผมวางใจในพระองค์ ดังนั้นผมจึงตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะผมจะไม่จำกัดความวางใจของผมและแผ่ขยายมันไปสู่ทุกสิ่ง ดูเหมือนว่าผมควรยิ่งที่จะใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นเกราะกำบังผมไว้ โดยวิถีทางผมจะสามารถสะกัดกั้นอุบายทุกประการของศัตรูของผม ข้าแต่พระเจ้า พระองค์จะเป็นกำลังของลูก พระองค์จะเป็นผู้นำทาง ผู้ชี้แนะ ที่ปรึกษา ความอดนทน ความรู้ สันติ ความยุติธรรม และความรอบคอบของลูก ลูกจะวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ในยามถูกประจญ ยามแห้งแล้ง ยามถูกต่อต้าน ยามเหนื่อยล้า และยามหวาดกลัวของลูก หรือยามอื่น ๆ ดังนั้นลูกจึงไม่ขลาดกลัวทั้งสิ่งลวงตาหรือกลอุบายของผีปีศาจ ความอ่อนแอ ความเลินเล่อ หรือแม้แต่ความไม่ไว้วางใจของลูกอีกต่อไป เพราะพระองค์จะทรงเป็นกำลังในกางเขนทั้งหลายของลูก พระองค์เองทรงสัญญาว่าจะทรงเป็นเช่นนั้นเท่ากับที่ลูกวางใจในพระองค์ และก็ช่างเป็นเรื่องมหัศจรรย์ โอ้พระเจ้าของลูก ที่ในเวลาเดียวกันกับที่พระองค์ทรงกำหนดเงื่อนไขนี้ พระองค์ก็ดูเหมือนจะทรงประทานความวางใจมากพอที่ลูกจะเติมมันให้เต็ม ข้าแต่พระสวามีเจ้าที่รักของลูก ขอพระองค์จงเป็นที่รักและสรรเสริญโดยสรรพทรงสร้างตลอดกลาลเทอญ โอ้อนิจาเอ๋ย หากพระองค์ไม่เป็นกำลังของลูกแล้ว ลูกจะเป็นเช่นไรต่อไป แต่เพราะพระองค์ทรงเป็นถึงยามนี้ ดังที่พระองค์ทรงให้ความั่นใจกับลูก มีอะไรอีกเล่าที่ลูกยังไมได้ทำเพื่อพระเกียรติมงคลของพระองค์ ‘ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้ในพระองค์ผู้ประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้า’ พระองค์ทรงสถิตอยู่ทุกส่วนของลูก และลูกก็ดำรงอยู่ในพระองค์ แต่นั้นมาไม่ว่าผมจะพบตัวเองตกในภยันตรายใด ๆ หรือบรรดาศัตรูจะลุกขึ้นต่อต้านผม ผมก็มีแรงหนุนอยู่กับผมเสมอ ความคิดเช่นนี้เพียงประการเดียวทำให้การทดลองทั้งหลายของผมกระเจิงไป โดยเฉพาะการทดลองเนื้อหนังตามธรรมชาติ ซึ่งบางคราวก็หนักหน่วงยิ่งนัก และแม้ว่าในตัวของผมเองการคิดเช่นนี้ ก็ทำให้ผมหวาดหวั่นต่อความพยามยามของตนเอง และสั่นสะท้านด้วยความว่างเปล่าโดยสมบูรณ์ที่พระเจ้าทรงพอพระทัยจะวางไว้กับผม”
ความเข้าใจเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่ามาจากพระวาจากที่พระเยซูเจ้าที่ตรัสฝากมายังนักบุญมาร์การิตา ซึ่งท่านได้รำพึงและเขียนไว้ในการบันทึกการเข้าเงียบครั้งเดียวกันนั้นว่า “จงไปพูดกับผู้รับใช้ของเรา น. (ท่าน) และบอกเขาในนามของเราว่า จงทำให้ความศรัทธาพิเศษนี้แพร่ไปและนำความยินดีมายังดวงหฤทัยของเราเถิด จงอย่าท้อถอยต่อความยากลำบากที่เขาจะต้องเผชิญ กระนั้นเขาจะไม่ขาดเหลือสิ่งใด แต่เขาจงรู้ไว้ว่าเขาต้องไม่วางใจในตัวเองโดยสมบูรณ์แล้ววางใจในตัวเรา” นอกจากนี้จากข้อความตอนหนึ่งในจดหมายที่ท่านเขียนขึ้นในกรุงลอนดอน ใน ค.ศ. 1678 ก็ได้แสดงให้เห็นความเข้าใจในวิญญาณของท่าน ที่ทำให้ท่านสามารถเผชิญกางเขนจำนวนมากมายได้ด้วยใจสงบนิ่ง ดังนี้ “ความลับของสันติที่แท้จริง: ก็คือการไม่สาละวนกับสถานะในปัจจุบันกาล และทิ้งอดีตกาลและอนาคตกาลทั้งหมดไว้ในพระเมตตาของพระเจ้า”
ท่านถูกจำคุกในศาลอาญาต่อราชบัลลังก์ได้สามสัปดาห์ ท่านก็ถูกตัดสินให้ถูกเนรเทศกลับไปประเทศฝรั่งเศสแทนการประหารชีวิต อาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และสถานภาพในราชสำนักอังกฤษของท่าน ท่านจึงได้เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1678 ด้วยความเศร้าเสียใจที่ตนเองไม่ได้ถวายตนเป็นมรณสักขีเช่นเดียวกับบรรดามิตรสหายจำนวนหนึ่ง พร้อมสุขภาพที่ไม่สู้จะแข็งแรงดีจากความเป็นอยู่ในคุก ดังนั้นเมื่อกลับมาถึงประเทศฝรั่งเศสท่านจึงได้พักรักษาตัวอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะมีโอกาสได้แวะไปเยี่ยมนักบุญมาร์การิตาที่อารามของเธอ และได้รับตำแหน่งเป็นจิตตาภิบาลที่นวกสถานของคณะเยซูอิต ในเมืองลียง เพราะเป็นงานที่ไม่หนักเกินไปสำหรับสุขภาพของท่าน
ในเวลานี้แม้ท่านจะป่วยออด ๆ แอด ๆ ท่านก็ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้านั้นแพร่ไปผ่านการเป็นจิตตาภิบาลอบรมนวกะของคณะ และการพูดคุยกับผู้คน ดังที่ครั้งหนึ่งท่านเขียนถึงน้องสาวของท่าน ที่บวชเป็นภคินีในคณะเดี่ยวกันกับสหายหญิงของท่านและเป็นคุณแม่อธิการอาราม ใน ค.ศ. 1679 ว่า “พี่ขอแนะนำให้น้องไปรับศีลมหาสนิทในวันถัดมาหลังวันสมโภชพระคริสตวรกาย (ในอดีตฉลองกันในวันพฤหัสบดี - ผู้เรียบเรียง) เพื่อชดเชยความไม่เคารพทั้งหมดที่แสดงต่อองคืพระเยซูเจ้า ในยามที่พระองค์ทรงเผยพระองค์บนพระแท่นบูชาในโลกคริสตังตลอดอัฐมวารนี้ การปฏิบัติเช่นนี้พี่ได้รับการแนะนำมาจากบุคคลหนึ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ ผู้ที่ได้รับรองกับพี่เช่นกันว่าบุคคลใดที่มอบถวายเครื่องหมายแห่งความรักนี้แด่องค์พระผู้เป็นเจ้าก็จะได้รับผลเป็นอันมาก ขอน้องพยายามชักชวนบรรดามิตรสหายปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วยความอ่อนโยนเถิด พี่หวังว่าอารามหลายแห่งจะริเริ่มคารวะกิจพิเศษนี้ในปีนี้เพื่อให้มันดำเนินต่อไปจนนิรันดร์”
เมื่ออาการของท่านไม่สู้ดีขึ้น ผู้ใหญ่ในคณะจึงได้ส่งท่านมาพักรักษาตัวที่ปาเรย์ เลอ โมเนียล ตามคำแนะนำของแพทย์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1891 ที่นั่นอาการของท่านยังคงทรุดลงตามลำดับ แต่กระนั้นท่านไม่ได้มองว่าอาการป่วยนี้เป็นการลงโทษของพระเจ้าตรงข้ามกลับ “เป็นหนึ่งในพระเมตตาอันแสนยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าได้ทรงแสดงแก่พ่อ” ดังที่ท่านเขียนในจดหมายฉบับสุดท้ายของท่านถึงนักบุญมาร์การิตาว่าอาการป่วยของท่าน เพราะท่านทราบดีว่าสิ่งเหล่านี้ได้ชำระท่านให้บริสุทธิ์ ตามที่ท่านเคยเขียนไว้ว่า “พระเจ้าทรงกระทำเช่นนี้กับวิญญาณที่มอบถวายตนเองแด่พระองค์ด้วยพระทัยเอื้ออารีเป็นหนักหนา พระองค์ทรงรับการถวายบูชาของพวกเขา แต่พระองค์ก็ทรงพรากความบรรเทาใจด้วยพระทัยอารีไปจากพวกเขา เหมือนที่พระองค์กระทำกับพระบุตรของพระองค์ในสวนเกทเสมนี เพราะพระองค์ประสงค์ให้พวกเขา ‘ขจัด’ ตัวตนโดยสมบูรณ์ หมดจด เพื่อว่าพระเกียรติมงคลของพระองค์จะกำจายในตัวพวกเขาอย่างหมดจด” ท่านจึงยังคงมอบความวางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า และยังคงติดต่อกับนักบุญมาร์การิตา เพื่อแบ่งปันความบรรเทาใจแก่กันและกัน รวมถึงการดำเนินงานต่อไปสำหรับการเผยแพร่ความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า
จนล่วงถึงช่วงต้น ค.ศ. 1892 อาการของท่านก็ทรุดหนักลงมาก ท่านจึงจะย้ายไปพักรักษาตัวอยู่กับน้องชายของท่าน ซึ่งทำงานอภิบาลในตำแหน่งอัครสังฆานุกรอยู่ที่เมืองเวียนา เวลานั้นเมื่อนักบุญมาร์การิตาทราบเรื่อง วันหนึ่งเมื่อเธอได้มีโอกาสพบท่าน เธอก็ได้ยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งที่ในนั้นมีข้อความเขียนด้วยหมึกสีดำ ที่ทำให้แผนที่วางไว้ทั้งหมดจึงเป็นอันยกเลิกว่า “พระเยซูเจ้าทรงแจ้งว่า ทรงประสงค์ให้คุณพ่อสละชีวิตที่หมู่บ้านนี้” ด้วยความนบนอบต่อน้ำพระทัยเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ท่านจึงยังคงพำนักอยู่ที่ปาเรย์ เลอ โมเนียลต่อไป และเพียงไม่กี่วันต่อมาในเย็นของวันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1682 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรตปีนั้น ท่านก็มีอาการไอเป็นเลือดอย่างหนัก และถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบด้วยอายุ 41 ปี รุ่งเช้าเมื่อนักบุญมาร์การิตาทราบข่าวการเสียชีวิตของสหายที่รักของเธอ เธอก็ได้ขอให้ทุกคนร่วมสวดภาวนาให้ท่าน แต่เพียงไม่นานเธอก็กล่าวว่าเดี๋ยวนี้เราภาวนาขอท่านช่วยได้แล้ว เพราะท่านได้รับบำเหน็จในสวรรค์แล้ว เธอเขียนอธิบายว่า “ความศรัทธาพิเศษต่อดวงพระหฤทัยนี้… ได้ทำให้คุณพ่อได้รับพระสิริรุ่งโรจน์กว่ากิจการใดที่คุณพ่อจะทำได้ตลอดชีวิต”
สองปีต่อมาจากท่านเสียชีวิต งานเขียนของท่านทั้งบันทึกและบทเทศน์ก็ได้รับการรวบรวมและตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ ‘หนังสือเข้าเงียบฝ่ายจิตของคุณพ่อโกล้ด เดอ ลา โกลอมบีแอร์’ โดยได้รับการสนับสนุนการตีพิมพ์จากดัชเชสแห่งยอร์ก งานเขียนชิ้นนี้ซึ่งได้กล่าวถึงการประจักษ์ของพระหฤทัยต่อ ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์คนหนึ่ง’ (นั่นคือมิตรต่างเพศของท่าน ผู้ยกย่องท่านเป็นนักบุญเช่นกัน) ได้กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความศรัทธาพิเศษต่อดวงพระหฤทัยที่ได้รับการไขแสดงผ่านนักบุญมาร์เกอริตเป็นที่ยอมรับและแพร่หลายมากขึ้น และอาศัยความสัมพันธ์ที่ท่านได้สร้างกับจากดัชเชสแห่งยอร์ก พระนางยังได้กลายมาเป็นผู้แรกที่ได้ร้องขอให้สันตะสำนักรับรองวันฉลองพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า และไม่เพียงเท่านั้นหนึ่งในนวกะที่ท่านดูแลเพียงระยะสั้น ๆ ยังกลายมาเป็นพระสงฆ์เยซูอิตที่มีร้อนรนในการเผบแพร่ความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัยที่มีชื่อเสียงนั่นคือ คุณพ่อโฌเซฟ เดอ กัลลิฟเฟ็ต จึงอาจกล่าวได้ว่าภายหลังการสิ้นใจของท่าน ท่านได้ทำประโยชน์ให้กับการเผยแพร่ความศรัทธาต่อดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเป็นอันมาก จนนักเขียนประวัติของท่านบางคนกล่าวว่ามากเสียกว่าตอนท่านมีชีวิตอยู่เสียด้วยซ้ำ
หกปีต่อมาหลังมรณกรรมอันเรียบง่ายของท่าน ในวันฉลองพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ ที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1688 นักบุญมาร์การิตาก็ได้เห็นภาพนิมิตรองค์พระเยซูเจ้าพร้อมดวงพระหฤทัยที่ลำแสงพวยพุ่งออกมา ด้านหนึ่งมีพระนางมารีย์ประทับอยู่ ส่วนอีกด้านมีนักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ และมิตรสหายผู้จากไปของเธออยู่ รายล้อมไปด้วยบรรดาธิดาในคณะพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ ในนิมิตนั้นแม่พระได้ตรัสกับบรรดาธิดาทั้งหลายว่า “นี่คือสมบัติอันมีค่า ซึ่งสำแดงเป็นพิเศษเพราะความรักอันอ่อนโยนที่พระบุตรของแม่มีต่อคณะของพวกลูก แม่ปรารถนาให้พวกลูกรับหน้าที่เป็นผู้รักษาสมบัตินี้ ซึ่งคือดวงตะวันแห่งความยุติธรรมที่ได้ก่อตัวขึ้นบนเนื้อดินอันนิรมลของดวงหทัยของแม่ ก่อนจะทรงซ่อนพระองค์อยู่ที่นั่นถึงเก้าเดือน แล้วจึงทรงสำแดงพระองค์แก่มนุษย์ผู้ซึ่งไม่รู้คุณค่า จึงพากันดูหมิ่นพระองค์ เพราะพวกเขาเห็นว่าพระองค์ทรงปกคลุมด้วยดินเช่นเดียวกับเขา” (คือ มนุษย์ เพราะมนุษย์ถูกสร้างจากผงคุลีดิน) เมื่อพระนางมารีย์ทรงตรัสอธิบายธรรมล้ำลึกแห่งการรับเอากายเช่นนี้แล้ว พระนางจึงหันไปตรัสกับท่านว่า “สำหรับลูก ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระบุตรของแม่ ลูกเองก็มีส่วนสำคัญในสมบัติชิ้นนี้ เพราะในเวลาเดียวกันการมอบสมบัตินี้ให้บรรดาธิดาในคณะพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลิซาเบธ ก็เพื่อให้สมบัตินี้ได้เป็นที่รู้จักและแพร่ไปยังผู้คนทั้งหลาย สมบัตินี้ก็ถูกสงวนไว้ให้บรรดาคุณพ่อทั้งหลายในคณะของลูกเพื่อให้ได้แลเห็นและรู้ถึงคุณประโยชน์แลคุณค่าของมัน เพื่อพวกเขาทั้งหลายจะได้รับประโยชน์ที่จะได้รับด้วยความยำเกรงและสำนึกพระคุณเพราะมหาอานิสงค์นี้เช่นกัน”
แม้นักบุญมาร์การิตาจะยกย่องท่านเป็นนักบุญและบุคลลผู้สามารถนำวิญญาณทั้งหลายมาหาพระเจ้าและมายังหนทางแห่งข่าวดีที่เปี่ยมด้วยความรักและความเมตตา ซึ่งพระคริสตเจ้าได้ทรงเผยแก่มนุษยชาติ แต่ด้วยชีวิตของเธอที่น่าพิศวง กอปรกับชีวิตของท่านที่เรียบง่าย และแทบไม่ได้มีอะไรโดดเด่นกว่าพระสงฆ์เยซูอิตรูปอื่น ๆ ในภายนอก ท่านจึงถูกจดจำเพียงในฐานะพระสงฆ์ที่ดี แต่ไม่ถึงขั้นที่จะเป็นนักบุญ ต้องใช้เวลาภายหลังการสถาปนานักบุญมาร์การิตาเป็นบุญราศี ใน ค.ศ. 1864 ซึ่งมีการตีพิมพ์หนังสือที่รวบรวมงานเขียนจำนวนมากมายของท่านออกมาเป็นหนังสือ ‘ผลงานของคุณพ่อโกล้ด เดอ ลา โกลอมบีแอร์’ เป็นครั้งที่ 2 ที่กรุงปารีส (ก่อนหน้าที่ตีพิมพ์ครั้งแรกที่อาวิญงใน ค.ศ. 1832) ถึงได้เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการเปิดกระบวนขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ ใน ค.ศ. 1880 กระทั่งภายหลังการสถาปนานักบุญมาร์การิตา ท่านจึงได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศีโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 ในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1929 และใช้เวลาอีก 63 ปี หรือ 300 กว่าปีหลังมรณกรรมของท่าน พระสันตปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงได้ทรงสถาปนาเป็นนักบุญคู่กับมิตรของท่านนักบุญมาร์การิตา ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1992 ภายหลังมีอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนของท่านที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1990
พิธีสถาปนาบุญราศีโกล้ดเป็นนักบุญ
41 ปีในการเดินทางบนโลกของนักบุญโกล้ด เดอ ลา โกลอมบีแอร์ ท่านไม่ได้ทำสิ่งอัศจรรย์ใดแบบเราคุ้นเคยในชีวประวัติของนักบุญทั้งหลาย ท่านไม่เคยรักษาใครให้หายป่วยหรือฟื้นคืนชีพให้คนตาย ท่านไม่เคยเข้าฌาน มีภาพนิมิต หรือลอยขึ้นเวลาสวดภาวนา หรือแม้แต่ออกไปเผยแพร่ศาสนาอย่างกล้าหาญในท่ามกลางคนต่างศาสนา แล้วถวายชีวิตเป็นมรณสักขี แต่อัศจรรย์ที่ท่านทำคือการที่ท่านค้นพบหนทางในการบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ในแบบเดียวกับที่อีกหลายร้อยปีต่อมานักบุญเทเรซาน้อยจะได้อธิบายให้เราฟังอย่างเรียบง่าย คือ การมอบชีวิตทั้งหมดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไว้ในพระเจ้า ในดวงพระหฤทัยที่เผยออก ในพระเมตตารักของพระองค์ นี่เองทำให้วิญญาณของท่านพบความ ‘ว่างเปล่า’ แท้จริงของวิญญาณ และเมื่อพบว่าแท้จริงสิ่งสร้างที่ประกอบขึ้นมาเป็นมนุษย์นั้นไม่มีสิ่งใด ความว่างเปล่านี้เองทำให้วิญญาณของท่าน ‘มีพื้นที่พอ’ ที่จะพระเจ้าสามารถเติมเต็มพระหรรษทานให้วิญญาณของท่านได้อย่างเต็มล้น จนท่านได้กลายกลายเป็นภาชนะดินเผาที่เปี่ยมไปด้วยพระหรรษทานของพระเจ้า (เทียบ 2 โครินธ์ 4 : 7) และเครื่องมือของพระองค์ในหนทางที่น่าพิศวง นั่นคือการประกาศถึงพระหฤทัยของพระองค์ในฐานะ ‘ธรรมทูตแห่งพระหฤทัย’
ท่านนักบุญโกล้ดไม่ได้กำลังสอนเราแค่เพียงเท่านี้ ชีวิตของท่านยังกำลังสอนเราถึงความอัศจรรย์ของพระเจ้าอีกประการ คือ การที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีความเฉพาะแตกต่างกันไป หรือกล่าวโดยง่ายว่า พระองค์ทรงสร้างเรานั้นหลากหลาย เพื่อว่า “สิ่งหนึ่งส่งเสริมความดีของอีกสิ่งหนึ่ง” (บุตรสิลา 42 : 25) ชีวิตของนักบุญโกล้ดในฐานะ ‘สหายของมาร์การิตา’ ได้ชวนให้เรารำพึงตามข้อพระวาจานี้ กล่าวคือตัวอย่างของท่านนักบุญโกล้ดและนักบุญมาร์การิตา ที่ต่างคอยแบ่งปันพระพรที่ตนได้รับมาแก่กันและกัน เพื่อประโยชน์แก่วิญญาณของแต่ละคน และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ได้เป็นแบบฉบับของการที่มนุษย์ใช้ความแตกต่างของตนเอง เพื่อส่งเสริมเพื่อนมนุษย์อีกคนในทางแห่งสวรรค์ตามอย่างข้อเขียนของบุตรสิลา ดังนั้นชีวิตของท่านได้สอนเราว่าเมื่อ “สิ่งหนึ่งส่งเสริมความดีของอีกสิ่งหนึ่ง” เราแต่ละคนจึงต่างมีส่วนในการส่งเสริมกันและกันในทางสู่สวรรค์ เราพบพระคริสตเจ้าได้ในเพื่อนมนุษย์ฉันใด เราเองก็เป็นพระคริสตเจ้าให้เพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ ได้พบพระองค์เช่นกัน เหมือนท่านนักบุญโกล้ดและนักบุญมาร์การิตา สุดท้ายนี้ขอให้ใจของเราทุกคนละม้ายคล้ายดั่งพระหฤทัย เพื่อว่าเราจะพบความว่างเปล่าในวิญญาณที่พร้อมจะรับพระหรรษทานสำหรับชีวิต ค้นพบพระองค์ในเพื่อนมนุษย์ และเป็นภาพสะท้อนของพระองค์เพื่อส่งเสริมเพื่อนมนุษย์ไปสู่ความรอดในที่สุด อาแมน
รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
แก้ไขปรับปรุง, วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2023
วันก่อนฉลองพระหฤทัยพระเยซูเจ้า
และวันก่อนครบรอบ 10 ปีการเผยแพร่บทความครั้งแรก (16 มิถุนายน ค.ศ. 2013)
“พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ทรงเมตตาเทอญ”
“ข้าแต่ท่านนักบุญโกล้ด เดอ ลา โกลอมบีแอร์ ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือชีวประวัตินักบุญมาร์การิตา มารีอา กับ การประจักษ์ของพระหฤทัย . เขียนโดยอักแญส รีชอม .แปลโดย กอบกิจ ครุวรรณ .สำนักพิมพ์แม่พระยุคใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2 . ภาพที่ 96-99 , 105 ,113
หนังสือชีวประวัตินักบุญมาร์การิตา มารีอา กับ การประจักษ์ของพระหฤทัย . เขียนโดย ฌัง ลาดาม . แปลโดย ปอล ซาเวียร์ . สำนักพิมพ์แม่พระยุคใหม่ . พิมพ์ครั้งที่ 2. หน้าที่ 30 , 41
https://en.wikipedia.org/wiki/Claude_La_Colombi%C3%A8re
https://fr.wikipedia.org/wiki/Claude_La_Colombi%C3%A8re
http://www.vatican.va/news_services/liturgy/saints/ns_lit_doc_19920531_la-colombiere_en.html
https://laportelatine.org/spiritualite/vies-de-saints/bienheureux-claude-de-la-colombiere
https://www.piercedhearts.org/theology_heart/life_saints/claude_colombiere.htm
https://catholicstand.com/why-i-love-st-claude-de-la-colombiere/
https://www.jesuites.com/saint-claude-la-colombiere/
https://www.catholicireland.net/saintoftheday/st-claude-de-la-colombiere-1641-82/
https://www.saintjosephduweb.com/Saint-Claude-la-Colombiere-apotre-du-Sacre-Coeur-1641-1682-fete-le-15-fevrier_a431.html
https://sacrecoeur-paray.org/saint-claude-la-colombiere/
http://voiemystique.free.fr/theologie_du_coeur_de_jesus_18.htm
https://site-catholique.fr/index.php?post/Priere-de-Saint-Claude-la-Colombiere-a-Dieu
หนังสือชีวประวัตินักบุญมาร์การิตา มารีอา กับ การประจักษ์ของพระหฤทัย . เขียนโดยอักแญส รีชอม .แปลโดย กอบกิจ ครุวรรณ .สำนักพิมพ์แม่พระยุคใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2 . ภาพที่ 96-99 , 105 ,113
หนังสือชีวประวัตินักบุญมาร์การิตา มารีอา กับ การประจักษ์ของพระหฤทัย . เขียนโดย ฌัง ลาดาม . แปลโดย ปอล ซาเวียร์ . สำนักพิมพ์แม่พระยุคใหม่ . พิมพ์ครั้งที่ 2. หน้าที่ 30 , 41
https://en.wikipedia.org/wiki/Claude_La_Colombi%C3%A8re
https://fr.wikipedia.org/wiki/Claude_La_Colombi%C3%A8re
http://www.vatican.va/news_services/liturgy/saints/ns_lit_doc_19920531_la-colombiere_en.html
https://laportelatine.org/spiritualite/vies-de-saints/bienheureux-claude-de-la-colombiere
https://www.piercedhearts.org/theology_heart/life_saints/claude_colombiere.htm
https://catholicstand.com/why-i-love-st-claude-de-la-colombiere/
https://www.jesuites.com/saint-claude-la-colombiere/
https://www.catholicireland.net/saintoftheday/st-claude-de-la-colombiere-1641-82/
https://www.saintjosephduweb.com/Saint-Claude-la-Colombiere-apotre-du-Sacre-Coeur-1641-1682-fete-le-15-fevrier_a431.html
https://sacrecoeur-paray.org/saint-claude-la-colombiere/
http://voiemystique.free.fr/theologie_du_coeur_de_jesus_18.htm
https://site-catholique.fr/index.php?post/Priere-de-Saint-Claude-la-Colombiere-a-Dieu