บุญราศีนูนซิโอ
ซูลปริซิโอ
Bl. Nunzio
Sulprizio
ฉลองในวันที่ : 5 พฤษภาคม
ชีวิตของข้ารับใช้พระเจ้านูนซิโอ
ซูลปริซิโอ เริ่มขึ้นบนพื้นที่ลาดของภูเขาปิกกา สูงประมาณ 540 เมตรจากระดับน้ำทะเลอันเป็นที่ตั้งหมู่บ้านเปซโกซานโซเนสโก หมู่บ้านโบราณของจังหวัดเปสการา แคว้นอาบรุซโซ ประเทศอิตาลี เมื่อสองสามีภรรยาข้าวใหม่ปลามันอย่างโดเมนิโก ซูลปริซิโอ ช่างทำรองเท้า กับโดเมนิกา โรซา ลูชานิ ช่างปั่นด้าย ให้กำเนิดทารกเพศชายในวันอาทิตย์ที่สองของเทศกาลปัสกา
ซึ่งเวลานั้นตรงกับวันที่ 13 เมษายน ค.ศ.1817 และได้นำสมาชิกใหม่ของชุมชนไปรับศีลล้างบาปตามธรรมเนียมในวันเดียวกันที่วัดนักบุญยอห์น บัปติส (นูนซิโอ มาจากคำว่า
นูนติโอ แปลว่า การประกาศ หรือเอาให้ง่าย คือ การแจ้งสาส์นนั่นเอง - ชื่อนี้ตั้งตามคุณปู่ของท่าน)
หลังจากนั้นมาชีวิตของท่านก็ไม่ปรากฏจะผิดแปลกไปจากเด็กคนอื่นๆ
ท่านจำเริญขึ้นในพระหรรษทานของพระเจ้าเป็นที่ชอบทั้งเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า
และต่อหน้าบิดามารดาของท่าน จนเมื่อมีวัยล่วงได้ 3 ปี บิดามารดาจึงได้พาท่านไปพบพระคุณเจ้าฟรังเชสโก
ติเบรี พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลซุลโมนา
ที่เดินทางมาอภิบาลสัตบุรุษที่หมู่บ้านใกล้ๆ ชื่อ โปโปลี
เพื่อรับการโปรดศีลกำลังในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ.1820 วันนั้นเป็นวันหนึ่งที่ท่านมีความสุขยิ่ง
โดยไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่า การเสด็จมาของพระจิตเจ้าครั้งนี้จะเป็นการเตรียมวิญญาณของท่านให้พร้อมสำหรับกางเขนอันหนักหน่วงในเบื้องหน้า
เดือนกรกฎาคม
ปีเดียวกัน
สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อจู่ๆบิดาของท่านมาด่วนสิ้นใจลงด้วยวัยเพียง 26 ปี
ทิ้งให้มารดาของท่านต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกๆทั้งสองคน
นั่นคือท่านและน้องสาวชื่อ โดเมนิกา ซึ่งไม่นานก็ตามบิดาของเธอไปเมืองฟ้า เพียงสามเดือนให้หลัง
สถานการณ์ในเวลานั้นคงคะเนได้ว่า ชีวิตของท่านคงต้องตกอยู่ในสภาพที่ลำบากพอสมควร
เพราะอีกสองปีให้หลัง นางโรซา มารดาของท่านก็ตัดสินใจแต่งงานใหม่กับนายจาโกโม เด ฟาบีส เพื่อหาทางจุนเจือครอบครัว แล้วย้ายไปอยู่กับเขาที่หมู่บ้านโกรวารา นี่เหมือนจะเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งที่ดูจะทำให้ชีวิตของท่านกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง
แต่อนิจจาการก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ ด้วยนายจาโกโมหาได้มีใจสมัครรักเอ็นดูท่าน
ตรงข้ามเขากลับปฏิบัติต่อท่านอย่างเข้มงวดและหยาบคาย เขาพร้อมเสมอที่จะตีท่านด้วยมือเสมอไม่ว่าเรื่องที่ท่านทำผิดจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆน้อยๆ
นี่เองที่ทำให้ท่านยิ่งสนิทกับมารดาและคุณยายของท่านมากขึ้น และทำให้ท่านกลายเป็นเด็กขี้อายไม่กล้าทำอะไร
ท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้
เมื่อพินิจดูให้ดี ชีวิตท่านก็ไม่ได้จัดว่าเลวร้ายซะเดียว เพราะที่บ้านหลังใหม่ ท่านก็ได้เข้าโรงเรียนอนุบาลชื่อ
‘สวนเด็ก’ ของคุณพ่อเด ฟาบีส พระสงฆ์ประจำหมู่บ้าน
ซึ่งมีทั้งพระสงฆ์และคุณครูที่ดี ที่พร้อมกันสอนไม่เพียงให้ท่านอ่านเขียนออก
แต่สอนให้ท่านรู้จักพระเยซู บุตรของพระเจ้าผู้ทรงสร้างสรรพสิ่ง
และผู้ทรงพลีพระชนม์บนกางเขนไถ่มนุษย์ จนทำให้ดวงใจน้อยๆของท่านมีความร้อนรนที่จะหมั่นสวดภาวนา
และเลียนแบบพระองค์กับบรรดานักบุญทั้งหลายยิ่งขึ้น
ไม่ถึงสองปีหลังแต่งงานใหม่
ในปี ค.ศ.1823 นางโดเมนิกาก็ตามสามีและลูกสาวของนางไปเมืองฟ้าอีกคน ทิ้งให้ท่านในวัยล่วงได้ 6 ปี เป็นกำพร้าบิดามารดาโดยสมบูรณ์ ดังนั้นเองเมื่อบิดาเลี้ยงก็ไม่ได้ใยดีอะไรท่านอยู่แล้ว
ท่านจึงถูกส่งไปอยู่กับนางอันนา
โรซารีอา เดล โรซโซ คุณยายของท่านให้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูท่านต่อ นางอันนานี้แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือหนังหา
แต่นางก็เป็นสตรีที่ศรัทธาและใจดีมีเมตตา
นี่เองจึงทำให้ชีวิตของท่านจึงกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง จนเหมือนว่านีจะคือจุดสิ้นสุดสำหรับกางเขนสำหรับชีวิตในวัยเด็กของท่าน
พยานที่จดจำช่วงเวลานั้นได้เล่าว่า
ทุกวันสองยายหลานจะไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการไปวัด การสวดภาวนา
หรือการทำงานบ้าน และขณะอยู่ในการอุปการะของคุณยาย ท่านก็ได้เข้าโรงเรียนสำหรับเด็กผู้ยากไร้ที่ตั้งโดยคุณพ่อฟานตาชชิ ปัจจัยสองประการนี้ได้หล่อหลอมให้ท่านยิ่งจำเริญขึ้นทั้งในด้านปัญญาและศีลธรรม
เป็น ด.ช.นูนซิโอ ผู้มีใจใสซื่อ รักที่จะช่วยมิสซาและไปวัดเพื่อเฝ้าศีลอยู่บ่อยๆ
เกลียดและชิงชังในบาปต่างๆที่จะทำให้พระเจ้าทรงคัดเคืองพระทัย
และมีความปรารถนาที่จะเลียนแบบพระคริสตเจ้าให้ได้
ท่านอยู่กับคุณยายได้สามปี
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อในปี ค.ศ.1826 นางอันนาสิ้นใจลง ท่านที่กลายเป็นกำพร้าอีกครั้งจึงถูกส่งไปอยู่ในความดูแลของนายโดเมนิโก
ลูชานี หรือนายมิงโก ช่างตีเหล็ก ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของท่าน ถ้าจะให้อธิบายถึงเขา
ก็คงต้องอธิบายว่า ลุงมิงโกผู้นี้คือด้านตรงข้ามของท่าน เขาเป็นชายหยาบกระด้าง
โมโหร้าย ขี้เหล้า และชอบใช้ความรุนแรง ผิดกับท่านที่เป็นเด็กน่ารัก รักสันโดษ และว่านอนสอนง่าย
นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับกางเขนใหญ่สำหรับชีวิตของท่าน และคือบททดสอบสำคัญที่จะพิสูจน์
‘ใจ’ ของท่านในฐานะผู้ติดตามพระคริสตเจ้า
ทันทีที่รับท่านมาอุปการะ
นายมิงโกก็รีบให้ท่านลาออกจากโรงเรียน และเปลี่ยนให้ท่านมาเป็น ‘ลูกมือ’ ในโรงตีเหล็กของเขา
ที่นั่นเขาไม่ได้มองว่าเขากับท่านคือลุงกับหลาน แต่คือนายจ้างกับลูกจ้าง (ในเวลานั้นนายจ้างต่างๆนิยมรับเด็กกำพร้าหรือเด็กที่ยากไร้มาทำงานแลกข้าวและที่พัก) ดังนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่ที่เขาจะอบรมท่านให้เติบโตเป็นคริสตชนที่ดี
หรือมีการศึกษา เพราะหน้าที่ของเขาคือการคอยควบคุมท่านให้ทำงานในโรงตีเหล็กของเขาให้สมกับที่เขาให้ที่พักและข้าว
ทุกวันเขาใช้ให้ท่านทำงานหนักกว่าอายุเป็นเวลามากกว่าสิบสองชั่วโมงต่อวันอยู่ในโรงตีเหล็ก
บ้างก็ใช้ให้ทำงานตั้งแต่ค่ำไปจนถึงค่ำอีกวัน
หนักเข้าหน่อยถ้าวันไหนมีของต้องไปรับหรือไปส่งที่ข้างนอก เขาจะก็ใช้ให้ท่านไปเอาหรือไปส่งโดยไม่แยแส
ว่าที่หมายนั้นจะใกล้ไกลแค่ไหน และสภาพอากาศในเวลานั้นจะเป็นเช่นไรและเมื่อท่านทำอะไรที่ไม่สบอารมณ์เข้าเขาก็จะสบถด่าว่าท่านบ้าง เอาค้อน
เอาแท่งเหล็กฟาดท่านบ้าง ปล่อยให้ท่านอดข้าวบ้าง หรือบางทีก็ถึงขั้นกับกระชากท่านนอนลง
แล้วลงมือเฆี่ยนตีท่านไร้ความปราณี
“…บางครั้งลุงของเขาก็ดุด่าเขาเสียเป็นการใหญ่
เพราะเขาออกไปเล่นกับเพื่อนๆ…”
เพื่อนบ้านบางคนเป็นพยาน นี่ไม่เพียงแสดงถึงสภาพชีวิตในเวลานั้นของท่าน
แต่ยังสะท้อนภาพของความเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ที่มีความปรารถนาตามวัยของท่านอีกด้วย
(เพื่อนของท่านเล่าว่าท่านเป็นคนเข้ากับคนอื่นง่ายและใจกว้าง)
“เขาชอบแวะมาหลบ … เมื่อเขาถูกลุงของเขาทุบตี … แล้วฉันก็จะชี้ไปที่น้ำพุให้ไปล้างเนื้อล้างตัว”
นางโดเมนิกา มันชีนี ที่บ้านอยู่ไม่ไกลร้านของนายมิงโกเล่า
ส่วนคนงานคนอื่นๆในโรงงานตีเหล็กเอง
แทนที่จะมีใจสงสารในชะตาชีวิตของท่าน
ตรงข้ามเมื่อพวกเขารู้ว่าท่านอ่อนไหวกับเรื่องที่เกี่ยวกับพระ
พวกเขาก็สุมหัวกันพูดจาดูหมิ่นศาสนาต่อหน้าท่าน
เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสนุกที่ได้เห็น ท่านที่เป็นเพียงเด็กชายตัวเล็กๆ
ทำได้แต่เพียงเอามือปิดหูแล้ววิ่งหนีไปให้พ้นๆ
บางคนอาจคิดว่านายมิงโกนี้อาจให้ค่าตอบแทนที่สมกับงานที่เขาใช้ท่านทำ
แต่ผิดถนัดเพราะตลอดเวลาที่ท่านทำงานให้นายมิงโก ท่านไม่เคยได้รับค่าตอบแทนใดที่สมเหตุสมผลเลย
ไม่ว่าจะเป็นอาหารชั้นเลวที่ไม่พอจะชดเชยกำลังที่เสียไป(ครอบครัวของลุงของท่านเป็นครอบครัวใหญ่
บางคราวอาหารจึงไม่พอกิน จนท่านต้องออกไปเที่ยวขอจากบ้านอื่น) หรือแม้แต่เสื้อผ้าเอง เขาก็บังคับให้ท่านสวมชุดตัวเดิมซ้ำๆ
ไม่ว่าสภาพอากาศไหน สิ่งเหล่านี้นับเป็นทุกขเวทนายิ่งสำหรับเด็กอย่างท่าน
แต่ถึงจะพบกับความทุกข์เช่นนี้
มันก็ไม่ทำให้ท่านล้มลงหรือเลิกที่จะติดตามพระคริสตเจ้าด้วยการเป็นคริสตชนที่ดีพร้อมทั้งในวัดและนอกวัด
ทุกวันเมื่อทำงานอย่างหนัก ท่านระลึกเสมอว่าท่านมีสหายคือพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน
พร้อมสวดภาวนาและยกถวายทุกสิ่งร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์เพื่อ
‘ชดเชยบาปผิดของโลก
, เพื่อปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้า’ และ ‘เพื่อสมจะได้รับสวรรค์’ และเมื่อถึงวันอาทิตย์
ท่านก็จะไปร่วมมิสซาด้วยความศรัทธา
เพราะผ่านมิสซาได้พบการปลอบประโลมหัวใจที่บอบช้ำ แม้จะไม่มีใครไปส่งท่านก็ตามที
ท่านตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ จนล่วงเข้าฤดูหนาวคราวหนึ่ง
นายมิงโกก็ใช้ให้ท่านไปขนเหล็กเส้นที่เตรียมไว้จากกระท่อมบนไหล่เขาร็อกกา ตายาตา ซึ่งตั้งอยู่ไกลออกไปพอสมควร ท่านจึงเร่งออกเดินทางไปเอามันตั้งแต่เช้า
แต่พอถึงขากลับจะด้วยเพราะอากาศที่หนาวเย็น หรือเพราะน้ำหนักเหล็กที่ขนมา
ท่านก็เกิดพลาดล้มลงกับพื้นจนเกิดเป็นแผลที่เท้า เวลานั้นท่านคิดว่ามันคงเป็นแค่แผลหกล้มทั่วไป
ท่านจึงแค่ล้างแผลเสียนิดหน่อยที่แหล่งน้ำใกล้ๆ แล้วเร่งเดินทางกลับมาที่ร้าน
แต่พอล่วงเข้าสู่เวลาเย็น เมื่อเสร็จงานทุกอย่าง ก็ปรากฏว่าท่านมีอาการไข้ขึ้นสูงชนิดหัวแทบจะระเบิดออกมา ส่วนขาที่เป็นแผลก็มีอาการบวมอย่างหนัก ท่านจึงรีบเข้านอนในทันทีโดยมิได้บอกอะไรกับลุงของท่าน
เช้าวันต่อมาแทนที่อาการจะทุเลาลง
อาการของท่านก็ยิ่งทวีหนักขึ้น จนลุกจากเตียงไม่ไหว แต่แทนที่นายมิงโกจะให้ท่านพักให้หายขาดเสียก่อน
ตรงข้ามเขากลับไปประกาศกับท่านอย่างไม่ใยดีว่า “ถ้าแกไม่ทำงาน แกก็ไม่ต้องกินข้าว” เป็นผลให้ท่านที่อ่อนล้าเพราะพิษไข้ผสมอาการขาบวม จึงจำต้องลุกขึ้นทำงานหนักต่อ
และเหมือนเคราะห์ซ้ำอีกครั้ง เพราะในวันหนึ่งระหว่างทำงานอยู่หน้าเตา ถ่านร้อนๆก็มาตกใส่เท้าที่บวมเป่งของท่าน จนทวีความทุกขเวทนาให้ท่านเป็นทวีคูณอีก
แต่ท่านก็ไม่อาจปริปากบ่นและจำต้องก้มหน้าทำงานต่อไป
และที่สุดผลจากการทำงานหนักและขาดสุขลักษณะที่ดีในหลายๆด้าน ก็ทำให้ในไม่ช้าเพียงบาดแผลธรรมดาที่เท้าซ้าย
ก็ลุกลามเป็นแผลที่มีการเน่าจากการติดเชื้อ ตามแบบโรคเนื้อตายเน่า ที่ไม่เพียงส่งกลิ่นเหม็น
แต่ยังทำให้เวลาท่านจะเดินเหินไปไหนเริ่มเป็นเรื่องลำบาก จนที่สุดท่านก็ต้องหาไม้ค้ำยันมาช่วย
แต่ก็เข้าอีหรอบเดิม คือแทนที่นายมิงโกจะให้ท่านพักหรือพาไปพบแพทย์ ตรงข้ามเขากลับเปลี่ยนงานให้ท่านจากคอยตีเหล็กมาเป็นคอยเคิมลมคุมไฟที่เตาเสีย
และบางครั้งเมื่อเห็นว่าทำงานไม่คุ้ม
เขาก็จะไล่ให้ท่านออกไปเที่ยวขอขนมปังจากเพื่อนบ้านมาประทังชีวิตอย่างไม่แยแส ซึ่งก็ใช่ว่าทุกครั้งจะมีคนเมตตาให้ขนมปังท่านสักชิ้น
ไม่พอเพราะอาการเดินกระโผลกกระเผลกของท่าน
ก็ทำให้ท่านถูกเด็กชายรุ่นราวคราวเดียวกันรังแกเมื่อพบเห็น และมากกว่านั้นเมื่อท่านไปล้างแผลที่น้ำพุประจำหมู่บ้าน
เพราะแผลที่เริ่มเน่าต้องหมั่นทำความสะอาด ท่านก็ถูกบรรดาสตรีที่พากันมาซักผ้าที่นี่ ใช้หินขว้างใส่เพื่อไล่ท่านประหนึ่งท่านเป็นสุนัขขี้เรื้อน
เพียงเพราะพวกนางทั้งหลายกลัวว่าท่านจะทำให้น้ำสกปรก จนท่านต้องหนีขึ้นไปบนภูเขาสูงขึ้นไป
และได้พบกับลำธารเล็กๆ ตรงบริเวณที่เรียกกันว่า ริปาร๊อสซา แต่ไม่วายเมื่อท่านพบสถานที่แห่งใหม่ที่ท่านจะใช้ล้างแผล และใช้สวดสายประคำยกจิตใจขึ้นหาแม่พระ แต่ไม่ช้าท่านก็ถูกชาวบ้านมาไล่อีก ด้วยเหตุผลเดิม ดังนั้นเองชะตาชีวิตในเวลานี้จึงเหมือนเป็นช่วงที่ตกต่ำที่สุดของชีวิตท่าน
เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เหมือนทุกทิศทางสำหรับท่านจะมืดมิดไปหมด แล้วในเวลาเช่นนี้ท่านทำเช่นไร…
“ความทุกข์ทรมานเป็นเรื่องเล็กน้อย
ตราบเท่าที่มันจะช่วยให้ผมได้รับความรอด และรักพระเจ้าครับ” นี่แหละคือคำตอบของท่าน เพราะตลอดช่วงเวลานี้
ท่านไม่เคยปริปากบ่นต่อความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาเหมือนที่ทำดังเดิม
ท่านน้อมรับทุกสิ่งด้วยความหวังในความรอดที่จะได้รับในโลกหน้า เช่นเมื่อท่านถูกบังคับออกไปขออาหารจากเพื่อนบ้านประทังชีวิต
ท่านก็มิได้ถือโกธร ตรงข้ามท่านกลับยิ้มรับ สวดภาวนาและให้อภัยนายมิงโกจากใจ เพราะท่านเชื่อว่า
“หากพระเจ้าทรงปรารถนาสิ่งใด พระประสงค์ของพระองค์จะสำเร็จไป” เมื่อรำพึงถงึช่วงเวลานี้ของท่าน
บางทีเราอาจสงสัยว่าท่านไปเอาพลังในการที่จะรับทนเรื่องเหล่านี้มาจากไหน
คำตอบง่ายๆ ก็คือพลังของท่านมาจากการยกจิตใจขึ้นไปหาพระเป็นเจ้า ผ่านทั้งการสวดภาวนา
และการแวะเวียนเข้ามาเฝ้าศีลที่วัด ตามโอกาสจะเอื้ออำนวยนั่นเอง
อาการของท่านหนักขึ้นมากเป็นลำดับ
จนถึงที่สุดนายมิงโกก็เล็งเห็นว่าท่านทำงานไม่ได้แล้ว
เขาจึงตัดสินใจส่งท่านไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนักบุญซัลวาตอเร ที่อาควิลา
ซึ่งตลอดเวลาที่พำนักอยู่ที่นั่น แม้จะมีอาการป่วยเป็นทุนเดิม ท่านก็ไม่ได้นอนอยู่เฉยๆให้สมกับที่ได้พ้นจากโรงงานตีเหล็กนั้น
ตรงกันข้ามท่านกลับใช้เวลานี้ปฏิบัติกิจเมตตากับบรรดาผู้ป่วยรอบข้าง
และใช้เวลานี้ในการทวีชีวิตฝ่ายจิตให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก ท่านพำนักรักษาตัวอยู่ที่นี่เป็นเวลาสามเดือน
คือระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
ในปี ค.ศ.1831 แต่สุดท้ายก็ไร้ผล
ทางโรงพยาบาลจึงไล่ให้ท่านกลับบ้านไปเพื่อจะได้มีที่เตียงว่างรับผู้ป่วยคนอื่นๆต่อ
ดังนั้นเองท่านจึงจำต้องกลับมายังโรงเหล็กของนายมิงโกอีกครั้ง
ฝั่งนายมิงโกที่จำต้องรับท่านกลับมาอย่างเสียไม่ได้
เมื่อเห็นว่าพึ่งสิ่งที่ตาเห็นไม่ได้ เขาจึงบังคับให้ท่านวอนขออัศจรรย์ให้ท่านหาย
และบังคับให้ท่านทำงานต่อให้สมกับที่เขาให้ที่พักพิงและอาหาร ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ยังความทุกข์กายทุกข์ใจให้ท่าน
แต่ท่านก็ปริปากบ่น ทั้งพยายามทำตนให้เป็นที่พอใจของนายมิงโกเหมือนที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่ก่อนจะล้มป่วย
ด้วยความหวังเดียวว่าอาศัยการปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้ท่านสามารถบรรลุถึงความตั้งใจหนึ่งของท่านได้
นั่นคือ “ผมอยากเป็นนักบุญ นักบุญที่ยิ่งใหญ่ในเวลาสั้นๆครับ”
ขณะที่ดูคล้ายชีวิตของท่านคงมิวายมิพ้นไปจากโรงงานตีเหล็กของนายมิงโกเป็นแน่
จู่ๆในปี ค.ศ.1832
พี่ชายบิดาของท่านชื่อ ฟรังเชสโก
ซูลปริซิโอ ซึ่งรับราชการทหารอยู่ที่เมืองเนเปิลส์ ที่ได้รับข่าวของท่านจากเปซโกซานโซเนสโก
ก็ตัดสินใจกลับขึ้นมาขอรับท่านไปอุปการะต่อ ฝั่งนายมิงโกเมื่อทราบก็รีบยกท่านให้เขาทันที
เพราะสำหรับเขา ในตอนนี้ท่านเป็นคนไร้ประโยชน์และเป็นคนพิการ
ดังนั้นเองหลังจากหกปีในแห่งความทุกข์ ที่สุดท่านจึงได้หลุดพ้นจากนายมิงโก และได้ออกเดินทางติดตามคุณลุงฟรังเชสโก
ที่สะเทือนใจต่อชะตากรรมของท่านกลับมายังเมืองเนเปิลส์ (มีข้อมูลแหล่งหนึ่งเล่าว่า ระหว่างทางพวกของท่านถูกกลุ่มโจรดักปล้น
แต่พอกลุ่มโจรนั้นได้แลเห็นท่านสวดภาวนาอย่างร้อนรน พวกเขาก็เปลี่ยนใจปล่อยให้พวกท่านเดินทางต่อไปโดยมิทำอันตรายอันใด)
เมื่อมาถึงเนเปิลส์นายฟรังเชสโกที่แลเห็นสภาพของท่าน
ก็เล็งเห็นว่าควรส่งท่านเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน และพร้อมกันนั้นเขาได้แนะนำท่าน
ให้รู้จักกับพันเอกเฟลีเช
โวกินเยร์ นายทหารชั้นผู้ใหญ่
ชายผู้นี้เป็นคนใจศรัทธาและชอบปฏิบัติกิจเมตตา จนได้รับสมญานามว่า ‘บิดาของคนยากไร้’ ซึ่งเมื่อพันเอกเฟลีเชได้ทราบถึงเรื่องราวที่ท่านต้องพบและได้พบท่าน
เขาก็อดสงสารท่านมิได้ และได้ตัดสินใจอาสารับอุปการะท่านต่อ ทำให้ไม่ช้าในวันที่ 20 มิถุนายน ปีเดียวกัน ในวัย 15 ปี ท่านจึงถูกส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลซางตามารีอา
เดล โปโปโล สำหรับโรคที่รักษาไม่ได้ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
แต่มันก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะเวลานี้อาการเน่าได้ลุกลาม ไปจนถึงขั้นทำร้ายกระดูกของท่าน
แต่ท่านก็ไม่เคยคร่ำครวญหวนไห้ ต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ตรงข้ามท่านยังคงน้อมรับสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วยความกล้าหาญ
เพราะท่านเชื่อว่านี่คือน้ำพระทัยจากพระเจ้า และยังคงมุ่งหวังที่จะบรรลุถึงสวรรค์
ชีวิตในเวลานี้ของท่านทำให้เรานึกถึงข้อพระคัมภีร์ที่ว่า “ประกาศกย่อมไม่ถูกเหยียดหยามนอกจากในถิ่นกำเนิด
ท่ามกลางวงศ์ญาติ และ ในบ้านของตน”(มาระโก 6:4) เพราะเพียงไม่นานหลังจากที่ท่านมาที่โรงพยาบาลแห่งนี้
คนหลายคนก็เริ่มสัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ไม่ว่าจะเป็นพันเอกเฟลีเชที่ตระหนักได้ว่าเขากำลังได้รู้จักกับ
‘ทูตสวรรค์’ หรือบรรดาแพทย์และผู้ป่วยก็ตระหนักว่าพวกเขากำลังพบกับ ‘นักบุญอลอยซิอุส กอนซากา’ อยู่เบื้องหน้าของพวกเขา
และนอกจากผู้คนจะเริ่มสัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านแล้ว
ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ท่านยังมีโอกาสได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก โดยเหตุแห่งการได้รับศีลครั้งนี้มีอยู่ว่า
วันหนึ่งมีคุณพ่อท่านหนึ่งได้มาเยี่ยมท่าน และได้เริ่มสนทนากับท่านว่า
“เธอต้องทนทุกข์ทรมานมากใช่ไหม”
“ใช่ครับ ผมทำตามน้ำพระทัยของพระครับ” ท่านตอบ
“แล้วเธอต้องการอะไรไหม” คุรพ่อถามต่อ
“ผมอยากจะสารภาพบาปและรับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทครั้งแรกครับ” ท่านตอบขึ้นด้วยใจปรารถนาในทันที
“เธอยังไม่ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกดอกหรือ” คุณพ่อถามกลับอย่างฉงนสนเท่ห์ ตามประสบการณ์ของท่าน
“ไม่มีดอกครับ ในตำบลของผมเราต้องรออายุ 15 ปีก่อนครับ” ท่านตอบ
“มันเป็นธุระของบิดามารดาของเธอไม่ใช่หรือ” คุณพ่อถามต่อ
“พวกเขาตายไปแล้วครับ” ท่านตอบ
“แล้วความคิดของเธอมาจากไหนกัน” คุณพ่อยังไม่หายสงสัย จงึตัดสินใจถามคำถามสุดท้าย
“พระญาณสอดส่องของพระเจ้าครับ” ท่านตอบตามจริง
“ใช่ครับ ผมทำตามน้ำพระทัยของพระครับ” ท่านตอบ
“แล้วเธอต้องการอะไรไหม” คุรพ่อถามต่อ
“ผมอยากจะสารภาพบาปและรับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทครั้งแรกครับ” ท่านตอบขึ้นด้วยใจปรารถนาในทันที
“เธอยังไม่ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกดอกหรือ” คุณพ่อถามกลับอย่างฉงนสนเท่ห์ ตามประสบการณ์ของท่าน
“ไม่มีดอกครับ ในตำบลของผมเราต้องรออายุ 15 ปีก่อนครับ” ท่านตอบ
“มันเป็นธุระของบิดามารดาของเธอไม่ใช่หรือ” คุณพ่อถามต่อ
“พวกเขาตายไปแล้วครับ” ท่านตอบ
“แล้วความคิดของเธอมาจากไหนกัน” คุณพ่อยังไม่หายสงสัย จงึตัดสินใจถามคำถามสุดท้าย
“พระญาณสอดส่องของพระเจ้าครับ” ท่านตอบตามจริง
ดังนั้นพระสงฆ์ท่านนั้นจึงรีบเตรียมพิธีศีลมหาสนิทครั้งแรกให้ท่านอย่างรีบเร่ง
และที่สุดท่านจึงได้รับพระเยซูคริสตเจ้าเข้ามาประทับในกายของท่านสมปรารถนา
คุณพ่อวิญญาณของท่านอธิบายว่า “ตั้งแต่วันนั้นมาพระหรรษทานของพระเจ้าก็เริ่มทำงานในตัวของเขาด้วยวิถีแสนธรรมดา
ในวิถีทางฤทธิ์กุศลแห่งฤทธิ์กุศล ให้ผู้คนรอบข้างได้สัมผัสกับความรักของพระเจ้าและพระเยซูคริสตเจ้า”
“ข้าพเจ้าจะบ่นว่าการทดลองที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้ข้าพเจ้าได้เช่นไร
เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นความกล้าหาญแสนหาญกล้าที่นูนซิโอใช่รับมือกับความเจ็บปวด ข้าพเจ้าจะช้าเชือนในการแบ่งปันความมั่งคั่งของข้าพเจ้ากับบรรดาคนทุกข์ยากได้เช่นไร
เมื่อเขาผู้ไม่มีอะไรเลย บอกปฏิเสธของที่จะมอบให้เขาและมอบให้กับคนอื่น โดยเพียงเอ่ยง่ายๆว่า
‘อะไรกันมันไม่มากเกินไป สำหรับผู้ที่เป็นของพระเจ้าจะได้รับหรือครับ’”
พันเอกเฟลิเชกล่าวในเวลาต่อมา
แม้จะต้องเดินเหินไปไหนมาไหนด้วยไม้ค้ำยันในระยะแรก
ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นไม้เท้าในเวลาต่อมา ท่านก็ได้ดำเนินชีวิตเป็นประจักษ์พยานในพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริงในหมู่คนรอบข้างไม่ว่าจะในโรงพยาบาลซางตามารีอา
เดล โปโปโล หรือสถานบำบัดที่น้ำพุร้อนกาซามิกโชลาที่พลเอกเฟลิเชส่งท่านไปรักษาบ้างเป็นครั้งคราว
ไม่ว่าจะเป็นผ่านการสวดภาวนา ที่ท่านหมั่นปฏิบัติอย่างร้อนรน ทั่งที่เตียงนอน
ซึ่งมีพยานหลายคนที่นอนอยู่ใกล้ๆท่าน เห็นว่าท่านชอบใช้เวลาตอนกลางคืนสวดภาวนาอยู่ที่ข้างเตียง และที่วัดต่อหน้าตู้ศีล ไม้กางเขน รูปแม่พระมหาทุกข์
ผู้ที่ท่านมักทูลวอนต่อพระนางบ่อยๆว่า “ข้าแต่พระแม่มารีย์ โปรดให้ลูกทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าด้วยเทอญ”
หรือผ่านการปฏิกิจการเมตตากับผู้คนรอบข้าง
ท่านก็สามารถปฏิบัติได้อย่างไม่มีอุปสรรค กิจการเหล่านั้นประกอบด้วยการคอยสอนคำสอนให้กับเด็กๆในโรงพยาบาล
และการคอยแวะเวียนไปเยี่ยมผู้ป่วยคนอื่น ในกิจการแรกท่านสอนให้พวกเขารู้จักพระคริสต์
พร้อมเตรียมพวกเขาให้พร้อมจะไปแก้บาปและรับศีลมหาสนิทเป็นครั้งแรก และเตรียมพวกเขาให้พร้อมจะเติบโตขึ้นในมรรคาแห่งกางเขนเพื่อบรรลุถึงสวรรค์ในบั้นปลาย
ส่วนในกิจการหลังท่านคอยไปให้กำลังใจ ไปคอยปลอบโยนพวกเขาด้วยท่าทางที่อ่อนโยนและสดใส
ท่านเคยแนะนำคนป่วยคนหนึ่งว่า “ยึดองค์พระผู้เป็นเจ้าไว้นะครับ เพราะสิ่งดีทั้งหลายล้วนมาจากพระองค์
แล้วก็รับทรมานต่างๆเพื่อความรักของพระเจ้าและด้วยความสุขนะครับ”
ท่านพักอยู่ที่โรงพยาบาลซานตามารีอา
เดล โปโปโล ได้สองปี ในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1834 พันเอกเฟลิเชก็ตัดสินใจพาท่านไปพักรักษาตัวที่ปราสาทชื่อ มัสกิโอ
อันจุยโน ปราสาทเก่าตั้งแต่ยุคกลางในเมืองเนเปิลส์ที่เปลี่ยนมาเป็นค่ายทหาร
เพื่อหวังว่าท่านจะได้รับการดูแลที่ดีขึ้นและจะยังผลให้อาการท่านดีขึ้น
เพราะกล่าวตามตรง ตัวเขานั้นรักท่านเหมือนลูกชายคนหนึ่งของเขา เขาเรียกท่านตั้งแต่แรกๆว่า
“เด็กน้อยของพ่อ” “ลูกพ่อ”
ส่วนท่านเองก็เคารพเขาเหมือนเป็นบิดาอีกคน
ท่านเรียกเขาว่า “คุณพ่อของผม”
ที่พักแห่งใหม่ทำให้ท่านต้องประหลาดใจไม่น้อยกับการดูแลที่ดูจะเป็นพิเศษ
และแตกต่างจากที่โรงพยาบาล ซึ่งก็ยังผลดีต่อท่านพอสมควร
เพราะอาการของท่านมีท่าทีจะดีขึ้นเป็นลำดับ เวลานี้ท่านเริ่มมีความคิดที่จะเข้าบ้านเณรเพื่อบวชเป็นนักบวช
พันเอกเฟลิเชจึงจัดหาครูมาสอนภาษาละตินให้ท่าน แต่ก็จัดว่าเป็นที่ยากลำบากพอสมควร
เพราะอาการป่วยของท่านยังคงเป็นอุปสรรค์ นอกนี้ขณะพักที่นี่ ท่านยังได้ร่าง ‘กฎของชีวิต’ ที่มีลักษณะเหมือนบรรดาธรรมนูญของบรรดาผู้ถวายตัว
และได้ขออนุญาตคุณพ่อวิญญาณารักษ์ให้สามารถปฏิบัติได้ กฎนั้นมีว่า ตอนเช้าสวดภาวนา
รำพึงและร่วมมิสซา ระหว่างวันศึกษาหาความรู้กับครูที่ดี ตอนเย็นสวดสายประคำ
ชีวิตของท่านในเวลานี้ฉายแสงแห่งความศักดิ์ออกมาเป็นวงกว้าง
ชนิดที่ยังไม่ทันท่านจะหายขาด ก็มีคณะนักบวชถึงสองคณะที่มาชักชวนท่านเข้าเป็นสมาชิก
คณะที่ว่าได้แก่คณะธรรมทูตแห่งดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าและพระแม่มารีย์ คุณพ่อกาเอตาโน เอร์ริโก ผู้ก่อตั้งคณะที่ปัจจุบันได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ ถึงขั้นเอ่ยปากบอกไว้ว่า
“นี่แหละ คือนักบุญเยาวชน และพ่อก็สนใจให้เขาเป็นคนแรกที่จะเข้าคณะของผมเพื่อเป็นนักบุญ
ไม่สำคัญว่าจะป่วยหรือไม่ก็ตาม” ส่วนอีกคณะก็คือคณะฤาษีอัลกันตารินี
หรือคณะภารดาน้อยไม่สวมรองเท้า(คณะฤาษีฟรังซิสกันที่ปฏิรูปขึ้นโดยนักบุญเปโดร
แห่ง อัลกันตารา ชาวสเปน ในสมัยเดียวกันกับท่านนักบุญเทเรซา แห่ง อาวิลา) ของภารดาฟิลิปโป ภารดาที่ชอบแวะมาหาท่าน แต่แผนการณ์ของพระเจ้านั้นยากจะเข้าใจได้…
ฤดูใบไม้ร่วง
ค.ศ.1835
อาการของท่านก็ทรุดลง จนต้องรีบนำส่งกลับไปที่โรงพยาบาล แพทย์ที่รักษาต่างลงความเห็นให้ตัดขาข้างที่เน่าออกเสีย
เพราะพบว่าท่านเป็นมะเร็งที่กระดูก แต่ผลที่ได้ออกมาก็ไม่สู้จะดีนัก เพราะท่านยังคงมีอาการปวดอยู่
แต่ท่านก็ไม่ได้บ่นว่าพระเจ้าต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้
ตรงข้ามท่านน้อมรับต่อทุกสิ่งเบื้องหน้า เช่นเดียวกับที่ท่านมิได้ตอบโต้
เมื่อคนใช้ที่พันเอกเฟลิเชส่งมาดูแลท่านจะละเลยท่านเพราะความอิจฉาริษยาในตัวท่าน หรือเมื่อถูกบรรดานายทหารชั้นผู้น้อยบางคนของพันเอกเฟลิเช
ล้อเลียนและดูถูก ท่านก็ตอบโต้พวกเขาด้วยรอยยิ้ม
ล่วงถึงเดือนมีนาคม
ปีถัดมา ท่านก็มีอาการไข้ขึ้นสูงและหัวใจเต้นแรง
ความทุกข์ทรมานถาโถมเข้าใส่ท่านอีกครั้ง แต่ก็เช่นทุกครั้งคือท่านยังคงไม่หวั่น
ท่านน้อมรับความทุกข์ที่เกิดขึ้น และได้ยกถวายทุกสิ่งเพื่อพระศาสนจักร เพื่อนักบวช
เพื่อการกลับใจ (มีบางข้อมูลเล่าว่าช่วงเวลานี้ท่านเริ่มได้เข้าฌานบ่อยๆ)
“พระเยซูเจ้าทรงรับทรมานมากมายเพื่อเรา และเพื่อประโยชน์ของพระองค์
พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมชีวิตนิรันดร์ไว้รอเราแล้ว หากเรายอมรับทรมานสักระยะ
เราก็จะได้เพลิดเพลินในสวรรค์” , “พระเยซูทรงรับทรมานมากมายเพื่อลูก
เหตุใดกันลูกไม่สามารถรับทรมานของพระองค์กัน?” , “ผมอยากจะตายเพื่อให้คนบาปแม้แต่คนหนึ่งคนกลับใจ”
นี่คือคำพูดของท่านรวบรวมจากบรรดาพยานที่มาเยี่ยมท่านในเวลานั้น
ถึงเดือนพฤษภาคม
ความหวังในการรักษาสำหรับท่านก็กลายเป็นศูนย์อย่างแท้จริง
เวลานี้มีแต่สวรรค์เท่านั้นที่จะยื้อชีวิตท่านได้ 5 พฤษภาคม บนเตียงนอนที่ท่านนอน แล้วชอบมองภาพแม่พระบนผนัง ท่านขอไม้กางเขนสักอันมาถือไว้
และได้ขอรับศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิท ก่อนรับสิ่งที่ท่านขอด้วยอากัปกิริยาเช่นนักบุญ
ในวันนั้นท่านปลอบบิดาคนที่สองของท่านว่า “ยิ้มไว้นะครับ จากสวรรค์ลูกคนนี้จะคอยช่วยเหลือคุณพ่อเสมอ” และในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง ท่านก็ร้องขึ้นมาอย่างมีความสุขว่า “แม่พระ แม่พระ ดูสิพระนางช่างสวยเหลือเกิน”
สิ้นเสียงไม่มีการรักษาใดๆเกิดขึ้นกับร่างกายของท่านจากสวรรค์
คงมีแต่วิญญาณของท่านที่ลอยหลุดตามพระนางมารีย์ไปยังสวรรค์ด้วยท่าทีสงบ
ท่านจากไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยเพียง 19 ปี จบชีวิตของเด็กชายผู้มีชีวิตแสนอาภัพในโลกนี้
พร้อมๆกับการเริ่มต้นเรื่องราวอัศจรรย์ของนักบุญองค์ใหม่ ที่จะถูกประดับไว้บนพระแท่นขึ้น
อัศจรรย์นั้นเริ่มตั้งวินาทีนั้น กล่าวคือทันทีที่ท่านสิ้นใจ ห้องที่ท่านจากไปก็อบอวลไปด้วยกลิ่นของดอกกุหลาบ ส่วนร่างกายที่เสื่อมโทรมเพราะโรคร้าย
ก็กลับเป็นร่างที่งดงามเกินบรรยาย และอ่อนนุ่มนานตลอด 5 วันที่เปิดให้ผู้คนมาเคารพศพของท่าน
หลุมฝังศพของท่านกลายเป็นที่แสวงบุญของบรรดาผู้คนมากมายทีได้รับรู้เรื่องราวของท่าน
เริ่มจากในหมู่คริสตชนชาวเนเปิลส์ก็ค่อยๆ ขยายไปจนถึงเปซโกซานโซเนสโกที่ท่านจากมา
และกระบวนการพิจาณาขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญก็ถูกเปิด ในปี ค.ศ.1859 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ก็ลงพระนามยกให้ท่านขึ้นเป็นคารวียะ ระหว่างรออัศจรรย์
สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 ก็ทรงเสนอให้ท่านเป็นแบบอย่างของบรรดากรรมกร และที่สุดหลังเกิดอัศจรรย์การรักษาหนองในหูของนายโดนาโต
โรมาโน กับอัศจรรย์การรักษามารีอา ดิ เลาโร ที่ป่วยเป็นเนื้องอกที่เชิงกรานขวา สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ก็ทรงอนุมัติให้มีการแต่งท่านเป็นบุญราศี แต่มิทันได้ประกอบพิธี
พระองค์สิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน
ดังนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ผู้สืบตำแหน่งต่อ จึงได้ทรงเป็นผู้ประกอบพิธีสถาปนาคารวียะนูนซิโอ
ขึ้นเป็นบุญราศีในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1963 ท่ามกลางผู้นำศาสนาอื่นและพระสังฆราชทั้งหลายระหว่างการประชุมสังคายนาวาติกันครั้งที่
2 ในวันนั้นพระองค์ทรงตรัสกับที่บรรดาสักขีพยานว่า
“…นูนซิโอ ซุลปริซิโอกำลังบอกกับพวกเธอ บรรดาเยาวชนทั้งหลาย
ว่าด้วยวัยไล่เลี่ยกับพวกเธอ เขาก็สามารถเข้าใจและบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ได้…”
ในพระวรสารบอกเรา
“ท่านทั้งหลายเป็นมิตรสหายของเรา ถ้าท่านทําตามที่เราสั่งท่าน” (ยอห์น 15:14) บุญราศีนูนซิโอ ซูลปริซิโอ แม้จะถูกทำร้ายทั้งทางใจและทางกาย
ท่านก็ไม่เคยลืมเลยว่าท่านมีมิตรสหายที่ดีคือพระเยซูเจ้า ท่านรู้ว่าวิธีที่จะสนิทกับพระองค์คือการปฏิบัติตามพระองค์คือรับแบกกางเขนด้วยใจนบนอบ
จะเห็นถึงความสนิทของท่านได้จากการที่ท่านมีมิสซาเป็นยาทุกอาทิตย์ มีคำภาวนา
มีสายประคำ ท่านจึงเป็นต้นแบบที่ดีอีกอันของเยาวชน และในท่ามกลางกระแสของโลกการประจบเริ่มมีมากมาย
พระเยซูเจ้ายังทรงเคียงข้างเราอยู่เสมอทุกคนรู้ดี ในทางกางเขนนี้
พระองค์ทรงเป็นเพื่อนสนิท พี่ชาย และทุกสิ่งของเรา พระองค์ทรงโอบเราให้ชิดใกล้พระหฤทัยของพระองค์
ให้เราได้อบอุ่นจากการฝ่าพายุแห่งความมืดด้วยไฟแห่งความรักของพระองค์
“ข้าแต่ท่านบุญราศีนูนซิโอ ซูลปริซิโอ
ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง