วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

'ราซัวมานาริโว' นักบุญหญิงแห่งมาดากัสการ์

บุญราศีวิกตัวร์ ราซัวมานาริโว
Bl. Victoire Rasoamanarivo
วันฉลอง: 22 สิงหาคม

‘มาดากัสการ์’ คือ นามของเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา คนไทยหลายคนอาจคุ้นชื่อเกาะมาดากัสการ์จากภาพยนตร์อนิเมชั่นคอมเมดี้ชื่อเดียวกันซึ่งออกฉายใน ค.ศ. 2005 มีเนื้่อเรื่องกล่าวถึงการผจญภัยของเหล่าสัตว์สี่ขาที่จับพลัดจับผลูมาถูกปล่อยอยู่บนเกาะมาดากัสการ์และต้องหาวิธีกลับไปยังสวนสัตว์ที่พวกเขาจากมา และมีเพลงติดหูอย่างไอไลฟ์ทูมูฟอิทมูฟอิท แต่วันนี้เรื่องราวของเราไม่ได้เกี่ยวกับการผจญภัยของเหล่าสัตว์สี่ขาบนเกาะแห่งนี้ ตรงข้ามเรื่องราวในวันนี้ของเราเป็นเรื่องราวของ ‘หญิงสูงศักดิ์’ นางหนึ่ง ผู้มีชีวิตอยู่บนเกาะแห่งนี้ในสมัยที่มาดากัสการ์ยังคงมีราชวงศ์ท้องถิ่นปกครอง ฉะนั้นก่อนอื่นใด ที่จะเริ่มต้นเล่าถึงเรื่องราวของหญิงสูงศักดิ์ผู้นี้ เราจะขอย้อนเวลาไปก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เพื่อทำความเข้าใจบริบทเวลาที่เรื่องราวของเราได้เริ่มต้นขึ้น

ในต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อพระเจ้าราดามา ที่ 1 ได้ขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรอิเมรีนาบนเกาะมาดากัสการ์สืบต่อจากพระเจ้าอันดรีอานัมโปอินิเมรินา พระราชบิดา ผู้ได้ทรงรวบรวมอาณาจักรอิเมรีนาที่แตกออกเป็นส่วน ๆ จากการแบ่งอาณาจักรออกเป็นสี่ส่วนของในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ของพระเจ้าอันดรีอามาซินาวาโลนาเพื่อประทานแก่พระโอรสทั้งสี่ พระองค์ทรงประสงค์จะทำให้พระราชอำนาจของพระองค์จะมั่นคงถาวร พระองค์จึงทรงทำสนธิสัญญายกเลิกการค้าทาสกับผู้ว่าการเกาะมอริเชียส ซึ่งเวลานั้นตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เพื่อแลกกับการสนับสนุนจากอังกฤษในเรื่องกำลังทหารและทุนทรัพย์ด้านต่าง ๆ ใน ค.ศ. 1817 เป็นผลให้พระองค์ได้รับการรับรองเป็นกษัตริย์แห่งมาดากัสการ์พระองค์แรกโดยชาติยุโรป และเวลาเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้มิชชันนารีจากสมาคมลอนดอนมิชชันนารี (London Missionary Society) จากศาสนาคริสต์นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์เดินทางเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเกาะมาดากัสการ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1818 เป็นต้นมา

พระเจ้าราดามา ที่ 1

การเข้ามาในระยะแรกของมิชชันนารีชาวอังกฤษได้นำวิทยาการแบบตะวันตกเข้ามาสู่เกาะมาดากัสการ์พร้อม ๆ กับการเผยแพร่คริสต์ศาสนา แต่เนื่องจากพระเจ้าราดามา ที่ 1 ทรงมีคำสั่งมิอนุญาตให้ชาวมาลากาซีใต้พระราชอำนาจถือตามศาสนาใหม่นี้ ทำให้เมื่อสิ้นสมัยของพระองค์ใน ค.ศ. 1828 คริสต์ศาสนาจึงยังมิหยั่งรากลงในแผ่นดินแห่งนี้เสียเท่าไร แต่สถานการณ์ก็มีทิศทางที่เปลี่ยนไปเมื่อพระนางเจ้ารานาวาโลนา พระชายาของพระองค์เสด็จขึ้นปกครองอาณาจักรมาดากัสการ์ พระนางได้ทรงค่อย ๆ ผ่อนปรนการควบคุมคริสต์ศาสนาลง ทำให้การเผยแพร่คริสต์ศาสนาบนเกาะมาดากัสการ์จึงรุดหน้าขึ้น โดยใน ค.ศ. 1831 หรือปีที่สามของรัชสมัย พระนางได้ทรงอนุญาตให้ชาวมาลากาซีสามารถนับถือคริสต์ศาสนาได้ ส่งผลให้คริสต์ศาสนานิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนั้น 

แต่แล้วด้วยการที่มีชนชั้นสูงหลายคนเริ่มเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนาจากประกาศของพระนาง ก็เริ่มทำให้พระนางเจ้ารานาวาโลนาไม่สบายพระทัย เนื่องจากพระนางมองว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังจะเป็นภัยต่อความมั่นคงในพระราชอำนาจของพระนางซึ่งผูกโยงกับศาสนาดั้งเดิม เพราะการที่เริ่มมีชนชั้นนำหันมานับถือคริสต์ศาสนาได้ทำให้ชาวบ้านอีกหลายคนเอาอย่าง นี่เองทำให้เพียงไม่นานหลังจากพระนางทรงประกาศให้เสรีในการนับถือคริสต์ศาสนา พระนางก็ทรงเปลี่ยนพระทัยกลับมาควบคุมการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเกาะมาดากัสการ์อีกครั้ง โดยในปีเดียวกันกับที่ทรงอนุญาตให้พลเมืองสามารถเปลี่ยนศาสนาได้ ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พระนางมีคำสั่งห้ามกลุ่มทหารและข้าราชการที่กำลังศึกษากับกลุ่มมิชชันนารีเปลี่ยนศาสนา และในเดือนธันวาคมพระนางก็ทรงขยายคำสั่งนี้ให้ครอบคุมไปถึงพลเมืองชาวมาลากาซีทุกคน

การสังหารราฟาราวาวี ราซาลามา มรณสักขีชาวมาลากาซีคนแรก
ในเหตุการณ์เบียดเบียนคริสต์ศาสนา
ในสมัยพระนางเจ้ารานาวาโลนาที่ 1

แม้ท่าทีของพระนางเจ้ารานาวาโลนาที่ 1 จะเปลี่ยนไปเป็นปรฏิปักษ์กับคริสต์ศาสนาอย่างชัดเจน การเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเกาะมาดากัสการ์ก็ยังคงดำเนินไปและยิ่งทำอย่างลับ ๆ มากขึ้น จนที่สุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1835 พระนางเจ้ารานาวาโลนาซึ่งยึดมั่นในศาสนาดั้งเดิม จึงทรงมีพระบัญชาห้ามการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเกาะมาดากัสการ์อย่างเด็ดขาด และอนุญาตเพียงการนำความรู้แบบตะวันตกที่จำเป็นมาใช้ได้เท่านั้น โดยมีข้อความในตอนหนึ่งว่า “ผู้ใดก็ตามที่ฝ่าฝืนธรรมนูญแห่งอาณาจักรของข้าจะต้องถูกประหารชีวิต ไม่ว่ามันผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม” เป็นผลให้มิชชันนารีชาวอังกฤษจำต้องทะยอยเดินทางออกจากเกาะมาดากัสการ์ และชาวมาลากาซีจำนวนมากที่กลับใจถูกทางการจับกุม ปรับสินไหม ริบทรัพย์สิน บังคับใช้แรงงานหนัก จำคุก เรื่อยไปจนถึงประหารชีวิต โดยเฉพาะใน ค.ศ. 1849 ปรากฏว่ามีคริสตชนชาวมาลากาซีถึง 1,900 คน ถูกปรับสินไหม จำคุก และถูกลงโทษจากการไม่ยอมละทิ้งคริสต์ศาสนา โดยในจำนวนนี้มี 18 รายได้ถูกสังหาร ว.อี. คัมมินส์ มิชชันนารีชาวอังกฤษที่เดินทางไปยังเกาะมาดากัสการ์ในเวลาต่อมาได้ประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ที่ประมาณ 60 – 80 คน แต่ก็ดูเหมือนว่าจำนวนของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะมากกว่านี้ การเบียดเบียนคริสตชนอย่างหนักโดยทางการตลอดรัชสมัยของพระนางเจ้ารานาวาโลนานี้เองยังทำให้คริสตชนชาวมาลากาซีจำนวนหนึ่งตัดสินใจหลบหนีออกจากเกาะไป เพื่อรักษาทั้งความเชื่อและชีวิต

ท่ามกลางหยาดเลือดของบรรดามรณสักขีที่ได้ถวายตนเป็นยัญบูชานี้เอง ใน ค.ศ. 1848 ณ นครอันตานานาริโว เมืองหลวงของอาณาจักรมาดากัสการ์ เด็กหญิงผู้หนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวชนชั้นสูงชาวมาลากาซีซึ่งมีอิทธิพลมากในเวลานั้น ด้วยฐานะบุตรีคนที่สี่จากบรรดาบุตรธิดาของครอบครัวทั้งเจ็ด ซึ่งมีหัวหน้าของครอบครัวเป็นชายที่เราไม่ทราบข้อมูลมากเท่าใด แต่พอสันนิษฐานได้ว่าเขาคงจะเป็นขุนนางคนหนึ่งในราชสำนักมาดากัสการ์ นามว่า ‘ราอีนันดรีอันติลาโว’ ผู้สมรสกับหญิงสาวผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของตนนามว่า ‘รัมบาฮิโนโร’ ธิดาของมหาเสนาบดีราอีนิฮาโร มหาเสนาบดีในช่วงยี่สิบแรกในรัชสมัยของพระนางรามาวาโลนา และญาติของพระนางเจ้ารานาวาโลนา ทารกหญิงผู้เกิดมาท่ามกลางความเกลียดชังคริสต์ศาสนาได้นามว่า ‘ราซัวมานาริโว’ และตามธรรมเนียมท้องถิ่นของชาวมาลากาซี ราอีนิมาฮาราโว เสนาบดีฝ่ายกลาโหม ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชายบิดาของท่านได้รับท่านเป็นบุตรบุญธรรม ดังนั้นด้วยปูมหลังเช่นนี้เอง ชีวิตในช่วงต้นของ ด.ญ. ราซัวมานาริโว จึงได้รับการอบรมให้เติบโตขึ้นตามขนบธรรมเนียมและความเชื่อพื้นเมืองของชาวมาลากาซีในฐานะ ‘ชนชั้นสูง’ อย่างไม่ต้องสงสัย และไม่มีวี่แววใดว่าคริสต์ศาสนาจะได้หยั่งรากแห่งความเชื่อลงในวิญญาณดวงนี้ได้ แต่... พระเจ้าทรงมีหนทางที่น่าอัศจรรย์เสมอ

พระนางเจ้ารานาวาโลนา ที่ 1

วันเวลาล่วงเลยถึง ค.ศ. 1861 เมื่อพระนางเจ้ารานาวาโลนา ที่ 1 สิ้นพระชนม์ในวันที่ 16 สิงหาคม พระโอรสของพระนางจึงได้ขึ้นปกครองเป็นพระเจ้าราดามา ที่ 2 กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงสายพระเนตรที่แตกต่างจากพระชนนีอย่างสิ้นเชิง พระองค์จึงได้ทรงพยายามปฏิรูปอาณาจักรของพระองค์สู่ความเป็นสมัยใหม่แทนการดำเนินนโยบายอนุรักษ์นิยมเหมือนพระชนนี โดยได้ทรงทำสนธิสัญญาร่วมกับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อประโยชน์ทางด้านการค้าการลงทุน และทรงยกเลิกคำสั่งการห้ามนับถือคริสต์ศาสนาที่พระชนนีทรงได้ออกไว้ เป็นผลให้ให้การเบียดเบียนคริสต์ศาสนาที่ดำเนินมากว่า 27 ปียุติลง บรรดามิชชันนารีคริสต์ศาสนาจึงได้เดินทางกลับเข้ามายังแผ่นดินมาดากัสการ์อีกครั้ง โดยคราวนี้ไม่ได้มีเพียงกลุ่มมิชชันนารีจากนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์เท่านั้นที่ได้เดินทางเข้ามาเพื่อสานต่องานที่พวกเขาได้เริ่มไว้ แต่ยังมีกลุ่มพระสงฆ์ธรรมฑูตคณะเยซูอิตชาวฝรั่งเศส ซึ่งนำคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเข้ามายังเกาะมาดากัสการ์ เพื่อเริ่มต้นพระศาสนจักรคาทอลิกในดินแดนแห่งนี้ในเวลาเดียวกันอีกด้วย นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของพระศาสนจักรคาทอลิกในแผ่นดินมาดากัสการ์ และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับชีวิตของ ด.ญ. ราซัวมานาริโว

ในเวลาไล่เลี่ยกับการเข้ามาของคณะเยซูอิต ในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1861 ภคินีจำนวน 4 ท่านจากคณะภคินีแห่งนักบุญยอแซฟแห่งกลูนีจากประเทศฝรั่งเศส คือ ภคินีอัลฟองส์ ลิโกรี เกอนิน ภคินีมัคเซลลีน คอบเบอ ภคินีกงซากา โมซ์ และภคินีอ็อคต็องส์ เปอติคูป จึงได้เดินทางถึงท่าเรือเมืองตามาตาเวซึ่งอยู่ห่างจากนครอันตานานาริโวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณสามร้อยกิโลเมตร ภคินีจำนวนสองคน คือ ภคินีเกอนินและภคินีคอบเบอได้ตัดสินใจหยุดพักที่เมืองแห่งนี้และได้เริ่มเปิดโรงเรียนขึ้น ในขณะที่ภคินีอีกสองคือ คือ ภคินีโมซ์และภคินีเปอติคูปได้ตัดสินใจออกเดินทางต่อพร้อมกับพระสงฆ์คณะเยซูอิต เพื่อเข้ามายังนครอันตานานาริโวที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงตอนกลางของเกาะเพื่อเริ่มงานแพร่ธรรมของพวกเธอ คณะแพร่ธรรมใช้เวลาอีกเกือบหนึ่งเดือนหลังการมาถึงแผ่นดินแห่งนี้ คณะจึงเดินทางมาถึงนครอันตานานาริโวในวันที่ 11 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน และด้วยความร้อนรนในการแพร่ธรรมกับชาวมาลากาซี ภคินีทั้งสองคนจึงได้เริ่มรวบรวมบรรดาเด็กหญิงชาวมาลากาซีภายในนครแห่งนี้ เพื่อมารับการอบรมให้เป็นกุลสตรีที่ดี จนทำให้ในปีต่อมาภคินีทั้งสองจึงสามารถเปิดโรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในนครอันตานานาริโวที่ย่านอันโดฮาโลได้สำเร็จ โดยมีกุลธิดาจากสกุลชนชั้นสูงชาวมาลากาซีเป็นหนึ่งในนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียน

พระเจ้าราดามา ที่ 2

ด้วยวัย 13 ปี ท่านและน้องสาวอีกคนได้เข้าเป็นนักเรียนชุดแรกในโรงเรียนของคณะภคินีแห่งนักบุญยอแซฟแห่งกลูนี และเพียงไม่นานท่านก็ฉายแววออกมาจากนักเรียนคนอื่น ๆ ด้วยความสุภาพและความศรัทธา เป็นช่วงเวลาเหล่านี้เองที่ความรักพระเจ้าได้เริ่มสัมผัสหัวใจอันใสซื่อของท่าน ผ่านประสบการณ์ที่ท่านพบในโรงเรียนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากคำสอนของซิสเตอร์และคุณพ่อ จากตัวอย่างของพวกเขา จากการได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบคริสตัง จากการได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนา และจากประสบการณ์ภายใน ทำให้ท่านเกิดความสะท้อนย้อนคิดถึงสิ่งที่ท่านเป็นอยู่ ซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่การตระหนักถึง ‘กระแสเรียกการเป็นคริสตชน’ ที่นับวันยิ่งทวีขึ้น เมื่อท่านยิ่งค้นพบความรักที่พระเจ้าทรงมีให้กับท่านทั้งในรูปของการทรงลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ แล้วรับทรมานจนสิ้นพระชนม์ ที่ทำให้ครั้งหนึ่งท่านถึงกับอุทานทั้งน้ำตาออกว่า “ลูกมิได้รับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ก่อนเลย เพราะลูกมิได้รู้จักพระเจ้า ลูกขอปฏิญาณว่าจะไม่ขอปฏิบัติพิธีกรรมอันมีแต่เดิมมาอีกต่อไป” เมื่อได้อ่านเรื่องราวของพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า และในรูปของการประทับอยู่ของพระองค์บนโลกอย่างเป็นปัจจุบันในรูปของศีลมหาสนิท ดังที่ท่านเล่าว่า “เมื่อลูกเดินเข้าไปในวัดพร้อมกินผลไม้ไปด้วย สายตาของลูกก็จับจ้องไปที่ตู้ศีล และเวลานั้นเองลูกก็ตระหนักดีว่ามีใครบางคนมองมาที่ลูก ลูกจึงบังเกิดละอายใจนัก จนต้องโยนผลไม้ทิ้งไปเสีย แล้วคุกเข่าลงและสวดภาวนา แต่นั้นมาลูกจึงบังเกิดความรักและความเคารพพระเยซูเจ้าในตู้ศีล”

เมื่อไม่อาจจะต้านทานความปรารถนาที่เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงความรักของพระเจ้าได้อีกต่อไป ท่านในวัยประมาณ 15 ปี จึงได้ขออนุญาตบิดามารดารับศีลล้างบาปเป็นคริสตัง โดยท่านได้บอกกับมารดาของท่านว่า “แม่จ๋า ลูกจะไม่เป็นเหมือนก่อนแล้ว ลูกคือบุตรตรีของพระเป็นเจ้าเพราะลูกจะได้รับศีลล้างบาป ลูกจะมีตราประทับแห่งพระจิตเจ้า นามของลูกคือ วิกตัวร์” ฝั่งบิดามารดาท่านก็ไม่ได้มีขัดข้องแต่ประการใด ดังนั้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1863 ท่านที่ได้ผ่านการเรียนคำสอนมาอย่างดี จึงได้รับศีลล้างบาปด้วยนามว่า ‘วิกตัวร์’ (วิกตอเรีย) พร้อมกับเยาวชนชาวมาลากาซีอีก 26 คน ที่วัดพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล อันโดฮาโล (ปัจจุบันเป็นอาสนวิหาร) โดยมีคุณแม่กงซากา โมซ์ เป็นแม่ทูนหัว และในวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1864 ท่านจึงได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกพร้อมกับคริสตังใหม่อีกประมาณยี่สิบคน 


เมื่อได้รับศีลล้างบาปเป็นคริสตังแล้ว ท่านได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอัครสาวกแห่งคำภาวนา และมีความปรารถนาที่จะถวายตนเป็น ‘เจ้าสาวของพระคริสตเจ้า’ ในคณะภคินีแห่งนักบุญยอแซฟแห่งกลูนีตามแบบฉบับที่ท่านได้เห็น แต่เมื่อท่านนำเรื่องนี้ไปปรึกษาทั้งซิสเตอร์ที่เคารพและคุณพ่อวิญญาณ ทั้งสองฝั่งก็ต่างไม่เห็นดีด้วยกับความคิดเช่นนี้ของท่าน โดยฝั่งซิสเตอร์จากคณะภคินีแห่งนักบุญยอแซฟฯ ได้ชี้ให้ท่านเห็นว่า การเข้ามาเป็นนักบวชของท่านจะทำให้ครอบครัวของท่านไม่พอใจ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับคริสตังชาวมาลากาซีคนอื่น ๆ ส่วนคุณพ่อโลรองต์ ไอล์ลาวด์ คณะเยซูอิต คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่าน ก็มีความเห็นว่าครอบครัวของท่านคงมิอนุญาตให้ท่านทำเช่นนี้แน่ รวมถึงคุณพ่อมองว่าท่านสมควรจะเจริญชีวิตเป็นฆราวาสที่อุทิศตนเพื่อการศาสนาจะดีกว่า เนื่องจากท่านสามารถใช้สถานภาพเช่นนี้ในการแพร่ธรรมกับครอบครัวและภายในราชสำนักได้ดีกว่าการเป็นนักบวช เนื่องจากสถานฆราวาสที่ท่านอยู่เป็นทั้งที่นับหน้าถือตาและมีหน้าที่ต้องเข้าไปเข้าไปถวายงานภายในเขตพระราชฐานทุกวัน ส่วนครอบครัวของท่านเองก็ไม่ได้เห็นดีกับความคิดของท่าน โดยเฉพาะมารดาของท่าน ดังที่คุณพ่อไอล์ลาวด์ได้คาดการณ์ไว้ ดังนั้นเมื่อทุกฝ่ายต่างไม่เห็นดีด้วยกับความคิดเช่นนี้ ท่านที่สุดปัญญาจะปรึกษาเรื่องนี้กับผู้ใดอีก จึงได้หันไปหาคำตอบจากสิ่งที่อยู่เหนือกว่าพวกเขาขึ้นไปอย่างองค์พระเจ้าผ่านคำภาวนา และเป็นในความสงบของวิญญาณนั้นเอง พระเจ้าทรงทำให้ท่านมั่นใจว่าทรงประสงค์ให้ท่านดำรงเป็น ‘ฆราวาส’ อยู่ในพระศาสนจักร ดังที่ท่านเล่าในภายหลังว่า “แต่พระญาณสอดส่องของพระเจ้าทรงตัดสินให้เป็นอย่างอื่น”

คล้อยหลังจากท่านรับศีลมหาสนิทครั้งแรกได้ไม่นาน เมื่อท่านทราบถึงน้ำพระทัยของพระเจ้าที่มีต่อชีวิตของท่านอย่างแน่นอนแล้ว ท่านจึงได้เข้าพิธีสมรสมกับ ‘ราดรีอากา’ บุตรชายคนโตของมหาเสนาบดีราอีนีลาอิอาริโวนีกับราซัวนาลีนา คุณลุงคุณป้าแท้ ๆ ของท่าน (มหาเสนาบดีราอีนีลาอิอาริโวนีเป็นพี่ชายมารดาของท่าน เวลานั้นเขายังดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีฝ่ายกลาโหม) ตามความประสงค์ของครอบครัวและตามประเพณีที่นิยมในกลุ่มชนชั้นสูงมาลากาซีในเวลานั้น พิธีแต่งงานของท่านและญาติผู้นี้ถูกจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1864 และตามความประสงค์ของท่านอันแน่วแน่ของท่าน เมื่อเสร็จจากพิธีตามความเชื่อดั้งเดิมแล้ว คู่บ่าวสาวพร้อมญาติจึงได้ตั้งขบวนแห่ไปยังวัดพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล อันโดฮาโล ในเวลาสี่ทุ่มของวันเดียวกัน เพื่อเข้าพิธีสมรสตามจารีตพระศาสนจักรโดยมีคุณพ่อมัคซ์ ฟีนาซ คณะเยซูอิต เป็นผู้ประกอบพิธีให้ และแม้จะเปลี่ยนสถานภาพจากเด็กสาวแรกรุ่นเป็น ‘ภรรยา’ ผู้เตรียมเป็นผู้ให้กำเนิดบุตร ท่านก็ไม่ได้ลาออกจากโรงเรียนในทันที ตรงกันข้ามเนื่องจากการมีข้าทาสบริวารคอยจัดการงานต่าง ๆ ภายในบ้าน ท่านจึงยังคงไปโรงเรียนทุกวัน จนได้รับศีลกำลังในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1864 จากพระคุณเจ้าหลุยส์ ฌวง พระสงฆ์คณะเยซูอิตที่เวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปกครองกึ่งมิสซังมาดากัสการ์ (Apostolic Prefecture of Madagascar)

ราดรีอากา สามีของบุญราศีวิกตัวร์

ในการเปลี่ยนผันจากสถานภาพของ ‘เด็กสาว’ สู่ ‘ภรรยา’ ท่านพบว่านี่เป็น ‘ส่วนแรก’ ของกางเขน ที่ท่านต้องแบกเพื่อติดตามพระคริสตเจ้า เพราะคู่ชีวิตของท่าน ราดรีอากา ไม่ใช่ชายหนุ่มที่สามารถนิยามว่าเป็น ‘สามีที่ดี’ ได้ ด้วยความเป็นลูกขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่มีแต่คนเกรงกลัว และตัวเขาก็มีตำแหน่งเป็นถึงขุนนางระดับ 15 ในกองทัพ เขาจึงเป็นชายหนุ่มเจ้าสำราญ ติดสุรา มีชีวิตสำมะเลเทเมา เป็นเสือผู้หญิง ผู้ไม่ค่อยสนใจชีวิตคู่ฉันท์สามีภรรยา เขายังชอบใช้ความรุนแรงกับบรรดาข้าทาสบริวาร เมื่อสบโอกาสที่ท่านไม่เห็น ซ้ำบางครั้งก็ยังใช้ความรุนแรงกับตัวท่านในเวลาที่เขาเมากลับมาบ้านอีกด้วย พฤติกรรมที่เหลวแหล่ห่างไกลจากความเป็นสามีที่ดีเช่นนี้สร้างความทุกข์ใจให้ท่านเป็นอันมาก แต่กระนั้นท่านก็มิได้ปริปากต่อว่าสามีผู้ไม่เอาไหน หรือบ่นว่าเรื่องนี้ให้ผู้ใดฟังด้วยความระอาใจ ตรงกันข้ามท่านเลือกที่จะอดทนต่อเรื่องนี้อย่างเงียบ ๆ และเลือกที่จะมอบความรักและความนับถือให้เขาอย่างที่ ‘ภรรยาที่ดี’ ปฏิบัติต่อสามี

เมื่อใดก็ตามที่สามีของท่าน ผู้ไม่ชอบอยู่ติดบ้านกลับมาบ้านพร้อมหญิงอื่น ท่านเลือกที่จะไม่ต่อว่าหรือแสดงพฤติกรรมใดที่แสดงถึงความไม่พอใจหรืออิจฉา แต่เลือกที่จะเร่งให้บรรดาคนรับใช้จัดเตรียมอาหารกลางวันบ้างอาหารค่ำบ้างให้พวกเขาได้ทานจนอิ่มหนำ เมื่อใดก็ตามสามีของท่านกลับมาพร้อมอาการเมามายและมีอารมณ์ฉุนเฉียว พร้อมที่จะสาดประเคนทั้งคำพูดและมือเท้าใส่ทั้งบรรดาคนรับใช้และตัวท่านให้ต้องเจ็บทั้งกายใจ ท่านเลือกที่เผชิญหน้ากับเขาโดยไม่หลบลี้ไปไหน ท่านเตรียมอาหารให้เขาทาน นำน้ำมาล้างเท้าเขา ช่วยเขาเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วพาเขาเข้านอน และเมื่อใดก็ตามที่สามีของท่านเป็นทุกข์ขึ้นมาเพราะความเหลวแหล่ของตนเอง ท่านก็ไม่ได้เลือกจะซ้ำเติมเขา ตรงกันข้ามท่านเลือกที่จะยืนเคียงข้างเขาปลอบโยนเขา พลางถามเขาอย่างอ่อนโยนว่า “ไฉนพี่ถึงทำเยี่ยงนี้เล่า พี่เป็นถึงท้าวพระยาในวังเทียวหนา” 

มหาเสนาบดีราอีนีลาอิอาริโวนี
คุณลุงและพ่อสามีของบุญราศีวิกตัวร์

นอกจากนี้ท่านยังแสวงหาโอกาสที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขาด้วยความรักและพระหรรษทานของพระเจ้าอยู่ตลอด ผ่านการพาเขาสวดภาวนาด้วยกันและช่วยสนับสนุนทุนทรัพย์ให้กับบรรดาธรรมทูต ซึ่งแม้จะเป็นการปฏิบัติอย่างของไปทีของเขา ตามประสาชายหนุ่มผู้ไม่สนใจอะไรพันธุ์นี้ ท่านก็ไม่ได้ติดใจ ด้วยท่านเชื่อว่าเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วในเวลานี้ มากไปกว่านั้นทุกวันท่านยังหมั่นสวดภาวนาให้เขากลับใจและได้ขอให้คนอื่นช่วยสวดเพื่อจุดประสงค์นี้ด้วย ดังนั้นเองเราอาจกล่าวได้ว่า ในฐานะภรรยาที่ต้องเผชิญกับสามีที่ไม่เอาไหน ท่านได้ทำในสิ่งเดียวกับสิ่งที่นักบุญเปาโลเขียนถึงชาวโรมในข้อเตือนใจเรื่องผู้ใดที่ทำไม่ดีกับเราว่า “อย่าให้ความชั่วเอาชนะท่าน จงชนะความชั่วด้วยความดี” (โรม 12 : 21)

ด้วยความประพฤติอันเหลวแหล่และอื้อฉาวของราดรีอากาที่ดูท่าไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง แม้จะมีเหย้ามีเรือนเป็นตัวเป็นตน บรรดาคนรู้จักของท่านตั้งแต่องค์ราชินี เรื่อยมาถึงครอบครัว และเพื่อน ๆ ของท่าน หรือแม้แต่บิดามารดาของราดรีอากาที่รักและเอ็นดูท่าน ก็ต่างขอให้ท่านหย่าร้างกับชายผู้นี้เสีย แต่ทุกครั้งไปเมื่อมีคนมากล่าวกับท่านในเรื่องนี้ ท่านจะปฏิเสธด้วยการตอบว่าให้ไปขออนุญาตเรื่องนี้กับสามีของท่านก่อน คำตอบเช่นนี้ไม่ได้เกิดจากท่านยึดมั่นในความรักเชิงชู้สาวกับเขา แต่เกิดจากท่านยึดมั่นในคำสัญญาที่บ่าวสาวได้ให้ต่อกันเบื้องหน้าพระเจ้าในพิธีแต่งงานอย่างเถรตรง ท่านเชื่อว่าสิ่งเดียวที่จะพรากท่านกับสามีของท่านมีเพียงความตายแต่เพียงเท่านั้น ดังที่ท่านเคยให้เหตุผลครั้งหนึ่งว่า “เธอมิทราบดอกหรือว่าการสมรสของชาวคริสตังมิสามารถเลิกราได้ ความตายเท่านั้นที่จะพรากเราจากกันได้” แม้เมื่อถึงปีที่สามของการครองคู่ พระนางเจ้าราโซเฮรินาซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปกครองประเทศ และมหาเสนาบดีราอีนีลาอิอาริโวนีจะเตรียมจัดแจงให้ท่านได้หย่าด้วยความสงสารท่าน ท่านก็ได้ขอร้องพ่อสามีให้ล้มเลิกความตั้งใจนี้ไปเสีย โดยย้ำเหตุผลเดียวกัน คือการแต่งงานในพระศาสนจักรคาทอลิกไม่สามารถล้มล้างได้ การตัดสินใจและการปฏิบัติตนเช่นนี้ของท่านเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว แต่… ก็เป็นในเชิงดูถูกดูแคลนไม่ใช่เชิงยกย่อง 

พระนางเจ้าราโซเฮรินา

นอกจากความทุกข์จากชีวิตคู่ที่ต้องเผชิญ ภายใต้บริบทความผันผวนทางการเมืองภายในอาณาจักรมาดากัสการ์ ท่านยังพบ ‘ส่วนที่สอง’ ของกางเขนที่ท่านต้องแบก เพื่อบรรลุถึงเมืองสวรรค์อย่างสมศักดิ์ศรี จำต้องอธิบายอย่างยืดยาวเสียหน่อยว่า ในช่วงเวลาก่อนท่านจะรับศีลล้างบาป ด้วยนโยบายการปฏิรูปอาณาจักรของพระเจ้าราดามาที่ 2 ที่แง่หนึ่งทรงเอื้อให้ชาวฝรั่งเศสเข้ามาสัมปทานที่ดิน ป่าไม้ และการสร้างสาธารณูปโภคภายใต้บริษัทลา กมปาญี เดอ มาดากัสการ์ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้สัญญายกเว้นลอมแบรต์ (the Lambert Charter) ได้สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาขุนนางทั้งหลาย จนที่สุดขุนนางฝ่ายกลาโหมในเวลานั้นพร้อมด้วยคณะก่อการปฏิวัติจึงได้บุกเข้าไปยังพระราชวังของพระเจ้าราดามา ที่ 2 ในเช้าวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1863 คณะก่อการได้บังคับให้พระเจ้าราดามา ที่ 2 และพระนางราโบโดออกมาที่ลานนอกพระตำหนัก และได้จัดการปลงพระชนม์พระเจ้าราดามาที่ 2 ด้วยการรัดพระศอจนสิ้นพระชนม์ ก่อนจะบีบให้พระนางราโบโด พระชายาของพระเจ้าราดามา ที่ 2 ยอมรับข้อเสนอของคณะปฏิวัติที่มุ่งจัดขอบเขตพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จของกษัตริย์ ให้การใช้พระราชอำนาจจำต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาขุนนางเสียก่อน ฝั่งพระนางราโบโดก็ได้ยอมรับข้อเสนอนี้ ทำให้ในวันรุ่งขึ้นคณะปฏิวัติจึงได้ประกาศว่าพระเจ้าราดามา ที่ 2 ทรงรัดพระเศียรตนเองจนสิ้นพระชนม์ และสถาปนาพระนางรางโบโดขึ้นเป็นพระนางเจ้าราโซเฮรินา

พระนางเจ้าราโซเฮรินาทรงปกครองอาณาจักรมาดากัสการ์ถึงวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1868 พระนางก็สิ้นพระชนม์ มหาเสนาบดีราอีนีลาอิอาริโวนีซึ่งได้เสกสมรสกับพระนางเจ้าราโซเฮรินาและมีอำนาจในราชสำนัก จึงได้ผลักดันให้พระญาติของพระนางเจ้าราโซเฮรินาและพระชายาอีกองค์ของพระเจ้าราดามา ที่ 2 คือ พระนางรานาวาโลนา ขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระนางเจ้ารานาวาโลนา ที่ 2 และได้ให้พระนางเข้าพิธีเสกสมรสกับตนเองเพื่อประโยชน์ทางอำนาจทางการเมือง การขึ้นมาปกครองของพระเจ้ารานาวาโลนา ที่ 2 นี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านศาสนาครั้งสำคัญภายในอาณาจักรมาดากัสการ์ เนื่องจากพระนางเจ้ารานาวาโลนา ที่ 2 ทรงเป็นศิษย์เก่าของบรรดามิชชันนารีเชิร์ชออฟอิงแลนด์ พระนางจึงมีความศรัทธาในคริสต์ศาสนานิกายดังกล่าวและได้ขอรับบัพติสมาจากนิกายนั้น มหาเสนาบดีราอีนีลาอิอาริโวนีที่เล็งเห็นประโยชน์ทางการเมืองจากการเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนานิกายดังกล่าว ในการสถาปนาอำนาจสิทธิธรรมให้เขามากกว่าความเชื่อดั้งเดิมและคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก (ซึ่งสัมพันธ์กับชาติฝรั่งเศส) จึงได้สนับสนุนให้พระนางเจ้ารานาวาโลนา ที่ 2 ทรงจัดให้บรรดาข้าราชบริพารภายในพระราชสำนักรับพิธีบัพติสมาต่อหน้าฝูงชนที่ย่านอันโดฮาโลในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1869 ซึ่งเป็นวันอภิเษกสมรสของพระนางกับเขา ก่อนที่ในปีต่อมาพระนางจะได้ทรงประกาศให้คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้คริสต์ศาสนานิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์เติบโตและมีอำนาจมากขึ้นในเกาะมาดากัสการ์ในทันที

พระนางเจ้ารานาวาโลนา ที่ 2 ประทับนั่งตรงกลางภาพ

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในอาณาจักรมาดากัสการ์นับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าราดามา ที่ 2 ซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านศาสนาที่สัมพันธ์กับอำนาจทางการเมือง มีผลให้พระศาสนจักรคาทอลิกในเกาะมาดากัสการ์ถูกเบียดเบียนมากยิ่งขึ้น บรรดามิชชันารีถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝรั่งเศส บรรดาชนชั้นสูงที่เคยนำบุตรธิดาของตนมารับการอบรมในโรงเรียนคาทอลิกจึงได้พากันนำบุตรธิดาของตนลาออก เพื่อจะไปรับการอบรมในโรงเรียนของเชิร์ชออฟอิงแลนด์ จนเป็นผลให้พวกเขาเหล่านั้นจำนวนมากได้ละทิ้งความเชื่อแบบคริสต์ศาสนาไป ในภาวะการณ์เช่นนี้เอง ท่านจึงถูกครอบครัวกดดันให้ละทิ้งความเชื่อตามแบบคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก และหันมารับเชื่อในคริสต์ศาสนานิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ ซึ่งเป็นศาสนาที่บัดนี้ชนชั้นสูงชาวมาลากาซีต่างถือกัน ราอีนิมาฮาราโว คุณลุงผู้มีศักดิ์เป็นบิดาบุญธรรมของท่านคอยข่มขู่ท่านทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนสมาชิกครอบครัวของท่านคนอื่น ๆ ก็ถึงกับสั่งให้ทาสคนหนึ่งไปเอาก้อนหินขว้างใส่ท่านและครั้งหนึ่งพวกเขาถึงกับสั่งให้คนไปดักฆ่าท่านเพื่อให้ท่านเปลี่ยนใจเลยทีเดียว และนอกจากบุคคลข้างต้น ท่านยังถูกสามีผู้ไม่ค่อยจะสนใยดี กดดันและบังคับให้ท่านยอมละทิ้งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอีกด้วย

ครั้งหนึ่งมหาเสนาบดีราอีนีลาอิอาริโวนี ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนศาสนาครั้งนี้ถึงกับขู่ว่าจะตัดท่านออกจากครอบครัว พร้อมทั้งริบทรัพย์สินทุกอย่าง แล้วถอดยศให้ท่านกลายไปเป็นทาสเสีย หากท่านยังไม่ยอมเปลี่ยนความเชื่อ แต่ด้วยความเชื่ออย่างสุดหัวใจในสิ่งที่ท่านได้เลือกจากการได้สัมผัสและสะท้อนย้อนคิดอยู่ภายใน ท่านยังคงมั่นใจในทางที่ท่านเลือก ท่านจึงตอบอย่างกล้าหาญว่า “ลูกยินดีสละความรักของบรรดาญาติมิตร ลูกยังจะเป็นคริสตังเพราะความรักของพระเจ้า” ฝั่งคุณลุงจึงย้อนถามท่านกลับว่า “ลูกจะยอมแยกขาดกับพวกเราตลอดไปเลยหรือ” ท่านจึงย้ำกลับว่า “ลูกรักทุกคน แต่ลูกปรารถนาจะเป็นคริสตังไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แม้จะตายด้วยลูกกระสุนก็ตาม” คุณลุงจึงถามอีกครั้งว่า “ลูกจะไม่มีสิทธิ์ฝังในสุสานของตระกูลเรานะ” ท่านก็ตอบย้ำความตั้งใจ โดยมิได้สนใจสิ่งที่เป็นอนิจจังเมื่อเทียบกับพระเจ้าว่า “ลูกไม่สนใจดอกค่ะ ถ้าบรรดาธรรมทูตเขารักหลานลูก เขาก็จะฝังลูกไว้กับพวกเขา”  อาจกว่าวสรุปได้ว่าในภาวะเช่นนี้ เป็นอีกครั้งที่ท่านเผชิญกับความกดดันรอบตัวด้วยความสงบนิ่งและความเชื่ออย่างสุดหัวใจ เราทราบเพิ่มเติมว่าท่านมีลูกพี่ลูกน้องชื่อ อ็องตวน ราดิโลเฟรา และหญิงรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ชื่อ โรซาลี รานาฮี คอยอยู่เคียงข้าง และบางคราวท่านก็ชี้ให้สามีของท่านเห็นว่าท่านต้องเผชิญกับการลดคุณค่าความเป็นลูกผู้หญิงเพียงใดจากครอบครัวของท่าน ซึ่งนับเป็นโชคดีที่สามีของท่านก็เข้าใจและบางคราวเขาก็คุกเข่าลงสวดอยู่ข้าง ๆ ไปพร้อมกับท่าน

ภายนอกพระราชวังแห่งนครอันตานานาริโวใน ค.ศ. 1866

นอกจากชีวิตแต่งงานที่ไม่ได้ราบรื่นจากการได้สามีที่ไม่เอาไหน และการถูกกดดันให้ละทิ้งความเชื่อคริสตังจากความผันผวนทางการเมือง ยิ่งวันเวลาที่ท่านเปลี่ยนสถานภาพจากเด็กหญิงแรกรุ่นเป็นภรรยาล่วงเลยมานานมากเท่าใด ท่านที่ยังไม่สามารถตั้งครรภ์และโอบรับสถานภาพของแม่เพิ่มมาได้ ตามคาดหวังของสังคมจารีตที่มุ่งหวังให้เพศหญิง นอกจากแสดงความเป็นภรรยาแล้ว จำต้องแสดงความเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดทายาทสืบสกุลรุ่นต่อไปในเร็ววัน จึงตกเป็นเป้าของสายตาคนรอบข้าง ที่ต่างพากันมองท่านอย่างดูแคลนถึงความไร้ประสิทธิภาพของท่านในการเป็นหญิงที่สมบูรณ์แบบ สิ่งนี้กลายเป็นความทุกข์อีกประการที่ท่านต้องเผชิญไปพร้อม ๆ กับความทุกข์อื่น ๆ และเป็นดั่ง ‘ส่วนที่สาม’ ของกางเขนที่ท่านต้องแบกในชีวิตบนโลกนี้ แต่ก็โดยอาศัยสิ่งเดียวนั่นคือ ‘ความเชื่อในพระเจ้า’ ที่หล่อเลี้ยงด้วยคำภาวนาและการเจริญชีวิตเป็นคริสตัง ท่านจึงค้นพบทั้งความหวังและพลังมากพอที่จะผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ เหมือนกับที่ท่านได้ปฏิบัติต่อความทุกข์ยากทั้งสองเรื่องก่อนหน้า

ในท่ามกลางความทุกข์ยากของชีวิต วัดได้กลายเป็นเหมือนบ้านที่ท่านพบความอบอุ่นหัวใจ ท่านได้เจริญชีวิตทุกวันอย่างชิดสนิทกับพระเจ้า ด้วยความภาคภูมิใจในการเป็นคริสตังอยู่เสมอ ทุกวันท่านจะตื่นแต่เช้าเพื่อมุ่งไปที่วัดพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล อันโดฮาโล พร้อมสายประคำและตะเกียงในมือ เพื่อสวดภาวนาอยู่ต่อหน้าพระแท่นแม่พระ และร่วมพิธีมิสซาในตอนเช้าด้วยใจร้อนรนและศรัทธาตั้งแต่เวลาตีสี่ และเมื่อพิธีมิสซาจบแล้ว ท่านจะมิได้ตรงกลับบ้านในทันที แต่เลือกที่จะอยู่สวดภาวนาต่อในวัดจนถึงเวลาประมาณแปดโมงเช้า ท่านจึงจะกลับมาบ้านเพื่อจัดการภารกิจในบ้านและในวังตามที่รับมอบหมาย (ซึ่งแน่นอนว่าท่านสามารถจัดการมันได้อย่างดี เพราะการสวดภาวนาได้ช่วยให้ท่านสามารถจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ได้) จนเวลาล่วงได้ประมาณบ่ายสามโมง ท่านจึงจะปลีกตัวจากภาระงานต่าง ๆ เพื่อมุ่งกลับมาสวดภาวนาที่วัดอีกครั้ง ท่านจะใช้เวลาช่วงนี้ทูลสิ่งต่าง ๆ กับพระเจ้า ทั้งความต้องการของครอบครัว พระศาสนจักร โลก คนบาป และวิญญาณในไฟชำระ ผ่านการสวดสายประคำ และหากวันนั้นตรงกับวันศุกร์ต้นเดือน ท่านก็ทำชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์และเดินรูป 14 ภาคเพิ่มเข้าไปอีกด้วย ท่านจะใช้เวลาสวดภาวนาในรอบนี้จนถึงประมาณหกโมงเย็น ท่านจึงจะเดินทางกลับมาบ้าน ท่านปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งคัดไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลไหน หรือฝนจะตกแดดจะออก

อาสนวิหารพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล อันโดฮาโล 
ในช่วงศตวรรษที่ 19 อาคารหลังนี้ก่อสร้างระหว่าง ค.ศ. 1873 - 1890

ที่บ้านในเวลาหกโมงเย็น ท่านจะนำบรรดาคนรับใช้ภายในบ้านสวดภาวนาและสวดสายประคำ หลังจากนั้นท่านจึงรับประทานอาหารค่ำ และกลับเข้าห้องไปเพื่อรำพึงภาวนาส่วนตัวอยู่ตรงที่คุกเข่าหน้าพระแท่นที่เต็มไปด้วยภาพศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งท่านจัดเตรียมไว้สำหรับเป็นมุมสวดภาวนา จนเวลาล่วงถึงประมาณห้าทุ่มท่านจึงเข้านอน นอกเหนือจากการภาวนาตามเวลานี้ เมื่อท่านได้ยินเสียงระฆังตีบอกเวลาสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าวประจำวัน ท่านก็จะคุกเข่าลงสวดบทภาวนาดังกล่าว แม้เวลานั้นท่านจะอยู่บนถนน และหากท่านพบเวลาว่างจากภาระงานต่าง ๆ ทั้งในขณะกำลังเดินอยู่บนถนน อยู่ในบ้าน หรืออยู่ในเขตพระราชฐาน ท่านก็จะสวดสายประคำที่ท่านพกติดมืออย่างศรัทธา จนทำให้นิ้วมือของท่านด้าน และด้วยวัตรปฏิบัติในการสวดภาวนาแทบจะตลอดเวลาของท่านเช่นนี้เอง ทำให้หลายคนเรียกท่าน ‘หญิงนักภาวนา’ ผู้เป็นแบบฉบับของการสวดภาวนา ปอล โมลินารี บันทึกว่า “เธออยู่ที่วัดหกถึงเจ็ดชั่วโมง เวลาว่างทุกวันตอนกลางคืนเธอมอบเพื่อการสวดภาวนาทั้งหมด”

นอกจากเจริญชีวิตด้วยการสวดภาวนาอยู่ตลอด ท่านยังเจริญชีวิตอย่างเรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ ท่านไม่รับสินบนหรือของกำนัล ท่านไม่ชอบงานเลี้ยงที่หรูหรา ท่านไม่ทานเนื้อสัตว์ในวันศุกร์และวันเสาร์ รวมถึงไม่รับเหล้าองุ่นหรือกาแฟในระหว่างมื้ออาหาร และหากเป็นช่วงมหาพรตท่านจะรับประทานเพียงพืชตระกูลถั่วและน้ำเปล่าเพียงเท่านั้น และเมื่อต้องเข้าถวายงานภายในเขตพระราชฐานตามหน้าที่คุณข้าหลวงทุกวัน ท่านปรากฏตัวด้วยชุดที่สุภาพ พูดแต่น้อย และรับประทานแต่จำเป็น โดยไม่เคยอายที่จะแสดงตัวตนเองเป็นคริสตัง ท่านถือสายประคำไว้ติดมือให้ทุกคนเห็นโดยตลอด ท่านจะสวดภาวนาทั้งก่อนและหลังอาหาร และเมื่อได้ยินเสียงระฆังตีบอกเวลาสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าวประจำวัน ท่านก็จะขอปลีกตัวจากวงสนทนา เพื่อหามุมคุกเข่าลงสวดบทดังกล่าว และเมื่อมีคนถามว่าท่านทำแบบนี้ไปทำไม ท่านก็ไม่ลังเลที่จะตอบด้วยความภูมิใจว่า “มันเป็นประเพณีของพวกเราคริสตัง”


วัตรปฏิบัติเช่นนี้ของท่านในระยะแรกไม่ได้เป็นที่ชื่นชมเสียเท่าใดจากคนรอบข้าง ตรงกันข้ามกับเป็นที่ตลกขบขันของบรรดาขุนนางและคุณข้าหลวงทั้งหลายที่ต่างนับถือคริสต์ศาสนานิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์เสียมากกว่า พวกเขาบางคนถึงกับล้อเลียนทำท่าทางสวดภาวนาอย่างท่านด้วยความสนุกสนาน แต่ท่านก็มิได้ใส่เก็บเอามาคิดเป็นอารมณ์และยังคงปฏิบัติตนเช่นเดิม เพราะท่านตระหนักดีตามพระวาจาที่ว่า “เพราะท่านมิได้เป็นฝ่ายโลก และเราเรียกท่านมาจากโลก” (ยอห์น 15 : 19) จนนานวันเข้า เมื่อบรรดาคนรอบข้างท่านได้เฝ้ามองวัตรปฏิบัติเหล่านี้ทุกวันทุกวัน พวกเขาจึงได้มองเห็นหญิงใจศรัทธาผู้หนึ่ง ผู้ที่ในใจปราศจากความโอหัง ความจองหอง ความมีทิฐิ เพราะพื้นที่ในใจของนางนั้น อัดแน่นไปด้วยความเคารพยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้า และความรักความให้เกียรติแก่บรรดาคนรอบข้าง โดยไม่แบ่งแยกเลือกที่รักที่ชัง พวกเขาจึงต่างพากันเปลี่ยนความคิดดูถูกเป็นความประทับใจ และความเคารพในตัวของท่าน พ่อสามีของท่าน ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริงของอาณาจักรก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ประทับใจและให้ความไว้วางใจในตัวท่าน และโดยที่ทางที่ท่านได้ใช้ชีวิตของท่านพิสูจน์นี้เอง พระเจ้าจะได้ทรงใช้มันให้ก่อประโยชน์แก่พระศาสนจักรของพระองค์ในวิธีที่ท่านก็ไม่อาจจะคิดถึงได้

ไม่เพียงแต่เจริญชีวิตสวดภาวนาอย่างเข้มข้นดุจนักบวชในอาราม ท่านยังสละทั้งเวลา กำลังกาย และกำลังทรัพย์ในการช่วยงานพระศาสนจักรมาดากัสการ์ที่กำลังก่อรูปร่างขึ้นอย่างแข็งขัน ท่านได้ใช้ตำแหน่งทางสังคมของท่านในการปกป้องบรรดานักบวชคาทอลิกและโรงเรียนคาทอลิกต่อราชสำนัก จนทำให้ที่สุดพระนางเจ้ารานาวาโลนาที่ 2 ทรงอนุญาตให้มีเสรีภาพในการถือศาสนา มากไปกว่านั้นท่านยังใช้สายสัมพันธ์ที่ท่านมีโดยตรงกับมหาเสนาบดี ในการสนับสนุนการสร้างถาวรวัตถุในพระศาสนจักรตามจุดต่าง ๆ ของเกาะ รวมถึงการบำรุงรักษาอาคารถาวรวัตถุบางแห่งไปพร้อม ๆ กับสนับสนุนทางด้านทุนทรัพย์ส่วนตัวของท่านอีกด้วย นอกจากนี้ด้วยฐานะอันมั่งคั่งของท่าน ท่านยังให้บรรดาคนมั่งมีและขุนนางบางคนหยิบยืมเงินโดยไม่ได้หวังเก็บดอกเก็งกำไรจากพวกเขา แต่หวังให้พวกเขาได้มาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนพระศาสนจักร บรรดาธรรมทูต ซึ่งทำงานกับบรรดาทาส นักโทษ คนยากไร้ คนเจ็บป่วย อนุภรรยา และคู่สมรสที่แยกกันอยู่

ถนนเมืองตามาตาเว (อีกชื่อหนึ่งของนครอันจานานาริโว)

นอกเหนือจากการเจริญชีวิตฝ่ายจิตและชีวิตสมาชิกของพระศาสนจักร ในขณะที่มีภาระงานมากมายทั้งภายในบ้านและภายในเขตพระราชฐาน ท่านยังตระหนักว่าตนเองมีหน้าที่ส่งต่อความรักที่ท่านได้สัมผัสกับตัวเองไปยังผู้ด้อยโอกาสในสังคม ประตูบ้านของท่านเปิดอยู่เสมอเพื่อต้อนรับบรรดาผู้เจ็บป่วยและผู้ยากไร้ที่สิ้นหวัง ท่านคอยส่งคนรับใช้สามคนให้ออกตามหาผู้ยากไร้ที่ซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดของนครอันตานานาริโวเพื่อช่วยเหลือพวกเขา บางโอกาสท่านก็หาเวลาว่างจากภาระหน้าที่ต่าง ๆ ไปเยี่ยมผู้ป่วย โดยไม่สนว่าคนผู้นั้นจะอยู่ในชนชั้นไหน นอกจากนี้ท่านยังแสวงหาวิธีที่ท่านพอจะทำได้เพื่อช่วยบรรดานักโทษและผู้ป่วยโรคเรื้อน ไม่จะเป็นด้วยการไปเยี่ยมหรือการนำสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปให้อีกด้วย และเมื่อท่านได้มีโอกาสเป็นประธานกลุ่มฆราวาสชื่อ ‘ธิดาพระนางพรหมจารีมารีย์’ (Zanaki’I Masina Maria: ZMM) ที่คุณพ่อโลรองต์ ไอล์ลาวด์ ได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1876 ท่านก็ได้ใช้โอกาสนี้กระตุ้นให้บรรดาสมาชิกมีความร้อนรนในการทำกิจการเมตตาธรรม และยังจัดให้มีกิจกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับคนยากไร้และผู้ป่วยโรคเรื้อน เพื่อผลักดันให้กลุ่มศรัทธานี้เป็นมากกว่าเพียงกลุ่มกิจศรัทธาพิเศษต่อแม่พระอีกด้วย

ตามความปรารถนาลึก ๆ ของท่านแล้ว ท่านไม่ปรารถนาจะเป็นเจ้าของทาสในบ้าน แต่เนื่องจากทาสเหล่านั้นเป็นมรดกที่ท่านได้รับมา รวมถึงการใช้แรงงานทาสในทวีปแอฟวิกาในเวลานั้นก็ยังมิได้ถูกยกเลิก ท่านจึงจำต้องรับพวกเขาที่ีมีประมาณสามสิบคนไว้ โดยแบ่งส่วนหนึ่งให้รับใช้ภายในบ้านในขณะที่อีกส่วนให้ทำงานเก็บเกี่ยวผลผลิตในที่ดินของท่าน กระนั้นก็ตามท่านก็ไม่วางคุณค่าความเป็นคนของพวกเขาต่ำกว่าท่าน ตรงกันข้ามท่านเรียกพวกเขาด้วยคุณค่าความเป็นคนที่เท่ากันว่า ‘สหายของอิฉัน’ และปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนพวกเขาเป็นบุตรธิดาในไส้ กล่าวคือเมื่อพวกเขาป่วยท่านไม่ลังเลที่จะหาหยูกยาและหมอมารักษาอาการของพวกเขาแม้จะต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือเมื่อพวกเขาทำผิดหรือมีข้อบกพร่อง ท่านก็ไม่ลังเลที่จะตักเตือนเพื่อให้พวกเขาปรับปรุงตัว หรือเมื่อท่านได้เงินจากการขายข้าวที่ปลูกได้ ท่านก็นำเงินส่วนนั้นไปให้บรรดาผู้ลงแรงเพาะปลูกได้เก็บไว้ใช้ ท่านไม่รังเกียจที่จะทำงาน พูดคุย เดินไปตามที่ต่าง ๆ และร่วมประกอบศาสนกิจในวัดกับพวกเขา ทั้งยังมีแผนที่มอบพวกเขาให้พระศาสนจักร ภายหลังท่านเสียชีวิต เพื่อช่วยให้พวกเขาไม่ต้องตกไปอยู่กับนายเงินที่นิสัยกดขี่ และแม้ในบางครั้งท่านจะตำหนิพวกเขาบางคนอย่างรุนแรงบ้างด้วยความจำใจ เพราะพวกเขาไม่ยอมแก้ไขข้อบกพร่องหรือกระทำผิด ก็ไม่มีทาสคนไหนหนีไปจากท่านเพราะทุกคนต่างคิดเห็นเป็นทำนองเดียวกันว่า พวกเขาคงไม่สามารถหานายเงินที่ไหนจะดีเท่าท่านได้อีกแล้ว

ภาพล้อเลียนลูกแกะดำมาดากัสการ์และมหาป่าฝรั่งเศส
สื่อถึงความพยายามของฝรั่งเศสในการผนวก
เกาะมาดากัสการ์เป็นอาณานิคม

วันเวลาของชีวิตล่วงมาจนท่านมีอายุย่างสู่วัยประมาณ 35 ปี ท่านก็ต้องพบกับ ‘ส่วนที่สี่’ ของกางเขน เนื่องจากใน ค.ศ. 1883 ทางการฝรั่งเศสที่ไม่พอใจการที่อาณาจักรมาดากัสการ์ยกเลิกสัญญายกเว้นลอมแบรต์ ที่ทำไว้ในสมัยพระเจ้าราดามาที่ 2 รวมถึงไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติกับคณะฑูตจากมาดากัสการ์ได้ จึงได้ยกพลทหารจำนวนหนึ่งขึ้นเกาะมาดากัสการ์เพื่อกดดันอาณาจักรมาดากัสการ์ยอมที่จะให้สิทธิแก่ฝรั่งเศสในการเข้าไปสัมปทานสิ่งต่าง ๆ ภายในเกาะได้ตามสัญญายกเว้นลอมแบรต์ดังเดิม เป็นผลให้เกิดสงครามฟรังโก-โฮวาครั้งที่ 1 (Franco-Hova Wars) หรือสงครามฝรั่งเศส-มาดากัสการ์ครั้งที่ 1 ขึ้น และภายใต้เหตุการณ์ครั้งนี้เองในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1883 ก็ปรากฏประกาศจากหน่วยงานไม่ทราบชื่อส่งถึงบรรดาขุนนางฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายศาสนาให้ประกาศว่า นับแต่นี้ต่อไปคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาของพวกศัตรู และมันผู้ใดที่นับถือศาสนานี้ถือว่าเป็นผู้ทุรยศต่อบ้านเมือง เป็นผลให้บรรดาธรรมทูตชายหญิงในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกชาวฝรั่งเศสภายในเกาะมาดากัสการ์ทุกคนถูกขับไล่ออกจากวัดและโรงเรียน ก่อนจะถูกเนรเทศออกไปจากเกาะ

ในสถานการณ์ตึงเครียดเช่นนี้ เมื่อบรรดาธรรมทูตชาวฝรั่งเศสได้เริ่มทะยอยออกเดินทางจากนครอันตานานาริโว โดยได้รับความช่วยเหลือในการจัดหาลูกหาบและผู้นำทางจากท่านที่ได้นำเรื่องไปแจ้งกับมหาเสนาบดี คุณพ่อปีแอร์ คูซเซกี คุณพ่อคณะเยซูอิตเจ้าวัดพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล อันโดฮาโล ที่กำลังจะถูกเนรเทศ ได้ตัดสินใจมอบ ‘พระศาสนจักรแห่งมาดากัสการ์’ ไว้ในความดูแลของท่าน เช่นเดียวกับที่องค์พระเยซูเจ้าได้ทรงมอบบรรดาอัครสาวกของพระองค์ไว้กับแม่พระ ก่อนจะทรงจากพวกเขาไป คุณพ่อคูซเซกีได้สั่งเสียกับท่านว่า “ลูกทำหลายสิ่งหลายอย่างได้ เพราะลูกเป็นธิดาของมหาเสนาบดี และเปี่ยมล้นด้วยความเชื่อ” และเป็นอีกครั้งด้วยความเชื่อในพระเจ้าอย่างสุดหัวใจ ท่านได้น้อมรับภาระหน้าที่ดุจเดียวกับที่แม่พระได้ทรงน้อมรับการเป็นมารดาของบรรดาอัครสาวก ณ แทบเชิงไม้กางเขน ด้วยการตอบรับคุณพ่อว่า “คุณพ่อคะ แม้ลูกจะยังไม่รู้ว่าจะทำหลายสิ่งอย่างไร ลูกจะพยายามทำมันให้สำเร็จไป ด้วยหัวใจและพลังทั้งหมดที่ลูกมีให้ได้ค่ะ”


เมื่อวันอาทิตย์แรกหลังจากการเนรเทศบรรดาธรรมทูตได้มาถึง บรรดาคริสตังชาวมาลาซีที่ต่างสับสนและหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างเฝ้ามองไปที่วัดพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล อันโดฮาโล ที่ถูกปิดอย่างเศร้าโศก โดยไม่มีใครกล้าที่จะเดินเข้าไป เนื่องจากมีทหารยามมาเฝ้าประตูไว้ จนเวลาล่วงมาถึงเวลาเก้าโมงเช้าท่านจึงเดินทางมาที่หน้าประตูวัดและพบว่าประตูวัดยังคงถูกปิด ท่านจึงให้คนไปสอบถามมหาเสนาบดีว่า พระนางเจ้ารานาวาโลนาที่ 2 ทรงมีรับสั่งห้ามมิใช่ชาวคริสตังเข้าไปในวัดด้วยหรือไม่ และเมื่อทราบว่าพระนางมิได้มีรับสั่งเช่นนั้น ท่านจึงเดินดิ่งเข้าไปหาทหารที่เฝ้าประตูวัดด้วยท่าทีสงบ และสั่งให้เขาเปิดประตู ด้วยถ้อยคำว่า “หากเจ้าจะต่อต้านการทำเช่นนี้ด้วยกำลัง เลือดของข้านี้แหละจะเป็นเลือดหยาดแรกที่เจ้าจะได้ลงมือ เจ้าหามีสิทธิ์ใดที่จะห้ามมิให้พวกข้าเข้าไปในสวดในวัดของพวกข้าได้” ฝั่งทหารติดอาวุธก็ยอมเปิดประตูให้ท่านแต่โดยดี ท่านจึงได้นำบรรดาคริสตังชาวมาลากาซีเข้าไปสวดภาวนาในวัด นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญในระหว่างการเบียดเบียนครั้งนี้ เนื่องจากการกระทำของท่านในเวลานั้นเป็นผลให้มีการตรากฏหมายให้อิสระในการสวดภาวนาขึ้น ทำให้คริสตังชาวมาลากาซีสามารถกลับมารวมตัวกันที่วัดของตนเพื่อสวดภาวนาร่วมกันได้

ภายหลังจากนำชาวคริสตังให้มีสิทธิที่จะสวดภาวนาในวัดของตนเองได้แล้ว ท่านที่เล็งเห็นว่าการมีอยู่ของธรรมทูตชาวฝรั่งเศสจะส่งผลต่อตำแหน่งแห่งที่ของพระศาสนจักรในอาณาจักรมาดากัสการ์ ด้วยสถานภาพความเป็นคู่สงครามของฝรั่งเศส ท่านที่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีความคิดว่าฝรั่งเศสกับคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นสิ่งเดียวกัน จึงได้ตัดสินใจเขียนจดหมายขอให้มีการส่งธรรมทูตชาวอังกฤษเข้ามาอภิบาลคริสตชนในเกาะมาดากัสการ์แทนธรรมทูตชาวฝรั่งเศส แต่เอาเนื่องจากบริบทในเวลานั้นราชสำนักมาดากัสการ์ไม่ได้แยกศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกออกจากความเป็นชาติฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิง ดังปรากฏว่าในการเนรเทศธรรมทูตคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในคราวนี้ ธรรมทูตที่เป็นชาวอังกฤษเพียงคนเดียวบนเกาะก็ยังติดร่างแหถูกเนรเทศไปด้วย ทำให้ความคิดที่จะเชิญธรรมทูตชาวอังกฤษเข้ามาอภิบาลในช่วงเวลานี้ของท่านต้องพับเก็บไป

บุญราศีราฟาแอล หลุยส์ ราฟิรินกา 
ผู้ร่วมงานคนสำคัญในการปกป้องพระศาสนจักรคาทอลิก
ในเกาะมาดากัสการ์ร่วมกับบุญราศีวิกตัวร์

เมื่อไม่สามารถจัดหาธรรมทูตมาอภิบาลบรรดาลูกแกะในเกาะมาดากัสการ์ได้ ท่านจึงได้ตระหนักว่าในเมื่อไม่สามารถจัดหาธรรมฑูตมาอภิบาลได้ ตัวท่านเองนี้แหละก็จะรับหน้าที่นั้น โดยในเวลานั้นก่อนที่คุณพ่อปีแอร์ คูซเซกีจะได้จากไป คุณพ่อได้ก่อตั้งกลุ่มสัตบุรุษชายในนาม ‘สหภาพคริสตัง’ ไว้และได้มอบหมายให้สมาชิกในกลุ่มนี้สานงานของบรรดาธรรมทูตต่อ ท่านที่มองเห็นแนวทางอภิบาลในท่ามกลางภาวะเช่นนี้ จึงได้ร่วมกับบุญราศีราฟาแอล หลุยส์ ราฟิรินกา ภารดาคณะลาซาลชาวมาลากาซีคนแรกและนักบวชเพียงคนเดียวที่ยังคงอยู่ที่เกาะมาดากัสการ์ (บิดาของบราเดอร์เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่) ใช้สมาชิกกลุ่มดังกล่าวที่มีอยู่ประมาณ 20 คน เป็นฟันเฟืองสำคัญในการเปิดวัดที่ถูกปิด การติดตามรวบรวมบรรดาคริสตังที่กระจัดกระจาย และการฟื้นฟูโรงเรียนคาทอลิกตามที่ต่าง ๆ ภายในเกาะในนามของท่าน โดยมีท่านให้การสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงคอยสอดส่องดูแลไม่ให้พวกเขามีความขัดแย้งกันเอง หรือหลงไปกับคำหลอกลวงของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเรื่องศาสนากับความเป็นชาติ ท่านเตือนให้พวกเขาตระหนักว่า “เพราะบรรดาธรรมทูตเป็นชาวฝรั่งเศส พวกท่านจึงต้องจากไปเพราะพวกท่านเป็นชาวฝรั่งเศส ไม่ใช่เพราะพวกท่านเป็นธรรมทูตคริสตัง แต่พวกเรานี้เป็นชาวมาลากาซี และเรายังเป็นชาวมาลากาซีแม้เป็นคริสตัง” และแม้จะไม่มีหลักฐานว่าท่านได้รับแนวทางในการเช่นนี้มาจากแบบฉบับของแม่พระ ผู้ที่ท่านศรัทธาและได้ถวายตัวแด่พระนางทั้งครบเมื่อเป็นสมาชิกกลุ่มธิดาพระนางพรหมจารีมารีย์ ในสายตาของผู้ร่วมสมัยของท่านอย่างเลขาณุการกลุ่มได้นิยามท่านในตอนท้ายรายงานการประชุมครั้งแรกเพื่อดำเนินภารกิจนี้ว่าท่านในเวลานี้เป็น “รากฐาน เสาหลัก บิดามารดาของคริสตังทุกผู้ ดุจเดียวกับพระนางมารีย์ทรงเป็นหลังพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์”

นอกจากส่งบรรดาสมาชิกสหภาพคริสตังให้ไปกระตุ้นความหวังและความเชื่อให้กับบรรดาคริสตังตามส่วนต่าง ๆ ในเกาะ ตัวท่านเองในหลายโอกาสก็ได้ให้คนรับใช้แบกท่านนั่งเกี้ยวไปช่วยเหลือผู้คนที่ด้อยโอกาส ไปสอนคำสอน และไปให้ความมั่นใจกับบรรดาคริสตังรอบเกาะว่า สักวันหนึ่งบรรดาธรรมทูตจะกลับมา ครั้งหนึ่งท่านเคยบอกกับคริสตังที่สิ้นหวังจากภาวะเช่นนี้ว่า “ศาสนาคริสตังไม่ได้ถูกห้าม ชาวฝรั่งเศสจากไป แต่ศาสนาจะยังคงอยู่” ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างบราเดอร์ราฟิรินกา ผู้ได้รับฉันทามติจากคริสตังภายในเกาะให้เป็นผู้นำพระศาสนจักร เนื่องจากบราเดอร์เป็นนักบวชเพียงคนเดียวในเกาะและเป็นที่นับถือของทุกคน กับสมาชิกสหภาพคริสตังในเรื่องการทำงานในช่วงเวลานี้ ท่านก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยตลอด นอกเหนือไปจากนี้ ท่านยังมีส่วนในการช่วยเหลือคริสตังชาวมาลากาซีที่ถูกจับกุมตัวให้รอดพ้นจากการข่มเหงอย่างอยุติธรรมของบรรดาข้าราชการบ้างคน ด้วยสถานะทางสังคมของท่านอีกด้วย


จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี และสองปี ท่านยังคงยืนหยัดที่จะปกป้องพระศาสนจักรอย่างกล้าหาญ แม้จะถูกขู่หมายเอาชีวี และต้องไร้ความบรรเทาใจจากศีลมหาสนิทและศีลอภัยบาปที่ช่วยหล่อเลี้ยงความเชื่อในตัวของท่าน ทุกวันในช่วงเวลาอันดูเหมือนจะมืดมิดนี้ นอกเหนือจากการดูแลพิทักษ์พระศาสนจักรแห่งมาดากัสการ์ที่ได้รับมอบหมายไว้ ท่านยกจิตใจของท่านขึ้นไปหาพระเจ้าดังเช่นที่เคยทำมาโดยตลอด และค้นพบหนทางเล็ก ๆ ที่ช่วยบรรเทาใจของท่าน สำหรับชีวิตที่ไร้มิสซา นั่นคือการยกจิตใจร่วมในพิธีมิสซาที่ประกอบขึ้นทั่วโลก ดังที่ท่านอธิบายว่า “ลูกคิดถึงภาพบรรดาธรรมทูตกำลังทำพิธีมิสซา และร่วมมิสซาทั้งหมดในโลกอยู่ภายในใจ” 

ที่สุดด้วยความเพียรอุทิศตนอย่างต่อเนื่องในฐานะ ‘ผู้พิทักษ์’ และ ‘บิดามารดา’ ของพระศาสนจักรมาดากัสการ์ ที่ไม่เพียงขับเคลื่อนไปด้วยที่ทางทางสังคมและความอดทนของท่าน แต่ยังด้วยความลับที่แสนเรียบง่ายในวิญญาณของท่านอย่างการชิดสนิทกับพระเป็นเจ้าผ่านคำภาวนา และการมีพระเป็นเจ้าทรงเป็นหลักชัยในชีวิต เมื่อสงครามฟรังโก-โฮวาครั้งที่ 1 ยุติลงในเดือนมกราคม ค.ศ. 1886 ด้วยการทำสนธิสัญญาแห่งตามาตาเว (Treaty of Tamatave) ซึ่งมีใจความประการหนึ่งคือการที่อาณาจักรมาดากัสการ์ต้องเสียอำนาจในการควบคุมนโยบายต่างประเทศให้กับฝรั่งเศสไป บรรดาธรรมทูตชาวฝรั่งเศสจึงได้เดินทางกลับเข้ามายังเกาะมาดากัสการ์ในวันที่ 29 มีนาคม ปีเดียวกัน และได้พบกับเรื่องประหลาดใจ เมื่อแทนที่พวกเขาจะพบความเชื่อที่เหี่ยวเฉาลง พวกเขากลับพบว่าคริสตังชาวมาลากาซีจำนวน 21,000 คน ยังคงดำรงอยู่ในความเชื่อโดยฝีมือของหญิงตัวน้อย ๆ คนหนึ่ง ซึ่งยอมรับกับบรรดาธรรมทูตว่า หากวันนั้นตนได้ตัดสินใจบวชเป็นซิสเตอร์ ตนก็คงไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ และร้องไห้ด้วยความยินดีเมื่อเห็นบรรดาธรรมทูตกลับมายังแผ่นดินแห่งนี้

พระนางเจ้ารานาวาโลนา ที่ 3 ผู้ปกครองอาณาจักรมาดากัสการ์
เมื่อมีการทำสนธิสัญญาตามาตาเว

ความสำเร็จอันน่ามหัศจรรย์นี้ ทำให้เมื่อถึงวันอาทิตย์ปัสกาปีนั้น ซึ่งตรงกับวันที่ 23 เมษายน ปีเดียวกัน เมื่อพระคุณเจ้าฌ็อง บัพติสต์ กาเซต พระสังฆราชเกียรตินามแห่งโซซูซา อิน ปาเเลสตินา ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ปกครองมิสซังมาดากัสการ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1885 เดินทางมาถึง บราเดอร์ราฟิรินกาจึงให้ได้ให้ท่านเป็นผู้นำสมาชิกสหภาพคริสตังไปต้อนรับพระคุณเจ้า แต่ด้วยความถ่อมใจของท่าน ท่านได้ปฏิเสธที่จะพบพระคุณเจ้าเพราะท่านไม่ต้องการได้รับการยกย่อง แต่ที่สุดท่านก็ยอมไปพบพระคุณเจ้า ก่อนท่านจะได้กลับมาเจริญชีวิตที่สุภาพ เรียบง่าย ถ่อมตน และมีเมตตาธรรม ดังที่เคยปฏิบัติมาตลอด “เธอพูดน้อยและสวดภาวนามาก” คือคำพยานที่นิยามชีวิตของท่าน ท่านยังคงปฏิบัติตามหน้าที่ต่าง ๆ ทั้งในบ้านและในเขตพระราชฐาน รวมถึงยังคงเฝ้าสวดภาวนาเพื่อการกลับใจของสามีต่อไป โดยมิได้รู้สึกย่อท้อแม้เวลาจะล่วงเลยมานับสองทศวรรษ เพราะความไว้วางใจและความเชื่อ และที่สุดพระเจ้าก็ทรงไม่ทำให้ข้ารับใช้ผู้ต่ำต้อยของพระองค์ผิดหวัง เมื่อทรงประทาน ‘การกลับใจ’ ที่ท่านรอคอยมาแสนนาน

ค่ำวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1888 ท่านก็ได้รับแจ้งว่าราดรีอากา สามีของท่านเมาพลัดตกจากระเบียบบ้านชู้ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ยังไม่ถึงกับเสียชีวิตในทันที และโดยไม่คิดโกธรเคือง ท่านรับตัวของสามีที่บาดเจ็บนั้นมารักษาตัวที่บ้าน ท่านคอยเอาใจใส่ดูแลอภิบาลรักษาอาการของเขาด้วยตัวท่านเองอย่างใกล้ชิด โดยยอมสละเวลาที่จะได้ไปวัดเพื่อให้เวลากับเขามากยิ่งขึ้น ทุกวันนอกจากเฝ้าดูแลอาการ ท่านคอยชักชวนให้เขายอมกลับใจและคอยพูดถึงความเป็นบรมสุขในเมืองสวรรค์ซึ่งเป็นนิรันดร์ให้เขาฟัง ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อท่านทราบว่าพ่อของเขาขู่บุตรชายเพราะความเหลืออดจากประพฤติกรรมเหลวแหล่ของเขาว่า จะไม่ยอมให้เขาถูกฝังในสุสานประจำตระกูล ท่านก็เป็นผู้ออกหน้าเกลี้ยกล่อมยอมให้คุณลุงอย่าทำเช่นนั้น และที่สุดด้วยความอดทนและความเชื่อของท่าน ในวันที่ 14 มีนาคม ปีเดียวกัน หัวใจของราดรีอากาจึงเปลี่ยนไป เขาได้ขอรับศีลล้างบาป แต่เนื่องจากพระสงฆ์ที่ท่านให้ตามมามาถึงอย่างล่าช้า ในขณะที่สามีของท่านจวนเจียนจะสิ้นใจเต็มที ท่านจึงตัดสินใจโปรดศีลล้างบาปให้เขาด้วยตัวเอง ดังนั้นราดรีอากาจึงได้รับศีลล้างบาปจากมือของภรรยาของเขาด้วยนามว่า ‘ยอแซฟ’ และได้สิ้นใจในวันเดียวกัน


เมื่อเสร็จสิ้นจากพิธีปลงศพสามีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านยังคงขอมิสซาให้เขาอยู่บ่อย ๆ และในฐานะ ‘แม่หม้าย’ ท่านถือโอกาสนี้หันมาสวดเสื้อผ้าที่เรียบง่ายมากขึ้นเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ให้สามี และได้เริ่มปลีกตัวจากภาระหน้าที่คุณข้าหลวงเกือบทั้งหมด เป็นผลทำให้ท่านมีเวลามากขึ้นให้กับการสวดภาวนาและการทำกิจการเมตตาธรรมที่ท่านชอบ ไม่เท่านั้นท่านยังใช้โอกาสที่ตนอยู่ในสถานะของหญิงหม้ายผู้ไม่มีลูก ในการโอบกอดบรรดาผู้ต่ำต้อยทุกคนรอบตัวให้เป็นดังบุตรธิดาของท่าน ไม่ว่าจะเป็นคนป่วยไข้ คนยากไร้ นักโทษ และคนป่วยโรคเรื้อนที่โดนสังคมรังเกียจ รวมถึงอุทิศตนทำงานกับกลุ่มธิดาพระนางพรหมจารีมารีย์ และกลุ่มกิจการพระกุมารเยซูที่มุ่งทำงานด้านการแพร่ธรรมอย่างแข็งขัน

จนวัยของท่านล่วงได้ประมาณ 42 ปี ใน ค.ศ. 1890 ท่านจึงเริ่มมีอาการเจ็บออด ๆ แอด ๆ จากอาการเลือดออกในช่องคลอด แต่ท่านก็ยังคงอดทนทำทุกอย่างให้เป็นปกติ กระทั่งใน ค.ศ. 1893 ตามความเห็นของแพทย์ ท่านจึงได้ย้ายไปพำนักที่หมู่บ้านอัมโบฮิโป ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากใจกลางนครอันตานานาริโว แต่อาการเลือดออกในช่องคลอดที่รุมเร้าท่านมานานหลายปีก็ไม่ได้ทุเลาลง พ่อตาของท่านจึงขอให้ท่านเลือกเครือญาติสักคนเป็นทายาทสืบทอดมรดกต่อ แต่เพราะท่านกังวลถึงอนาคตของบรรดาข้าทาสบริวาร ท่านจึงมิได้ให้คำตอบในทันทีและได้ขอคิดเรื่องนี้ก่อน และเนื่องจากอาการป่วยที่นับวันยิ่งทรุดลงเรื่อย ๆ ทำให้บางเวลาท่านจึงไม่สามารถลุกไปร่วมมิสซาได้ตามปกติ คุณพ่อเยซูอิตจึงเป็นผู้คอยเชิญศีลมาส่งให้ท่าน ซึ่งในทุกครั้งที่คุณพ่อปฏิบัติเช่นนี้ ท่านจะให้บรรดาคนรับใช้ปูผ้ามีราคาและโปรยดอกไม้รับศีลมหาสนิทที่คุณพ่อเชิญตั้งแต่หน้าประตูบ้านมาถึงห้องของท่าน ก่อนจะให้บรรดาคนใช้ร่วมกันร้องเพลงตามวาระโอกาสต่าง ๆ

สุสานประจำตระกูลที่ฝังร่างของบุญราศีวิกตัวร์ครั้งแรก

อาการของท่านทรง ๆ ทรุด ๆ อยู่เรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1894 ภายหลังจากท่านเข้านอน หลังกลับจากไปร่วมแห่ศีลที่วัดประจำอัมโบฮิโป อาการของท่านก็ทรุดหนัก และเพียงสี่วันให้หลังในค่ำของวันที่ 21 สิงหาคม ท่านก็คืนวิญญาณไปหาพระเจ้าอย่างสงบ ภายหลังจากชูมือที่ข้างหนึ่งมีสายประคำขึ้นบนอากาศ และเปล่งเสียงว่า “แม่จ๋า แม่จ๋า แม่จ๋า” ขณะอายุได้ประมาณ 46 ปี ข่าวมรณกรรมของท่านได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ฝูงชนจำนวนมากทั้งในและนอกนครอันตานานาริโวต่างพากันมาแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ ‘นักบุญ’ และ ‘ผู้เสนอวิงวอน’ ของพวกเขา พิธีปลงศพของท่านถูกจัดขึ้นในอีกสามวันต่อมาที่วัดพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล อันโดฮาโล เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ดุจพิธีปลงพระศพของพระราชินีองค์หนึ่ง หลังจากนั้นตามความประสงค์ของมหาเสนาบดี ร่างของท่านจึงมิได้ฝังไว้ที่สุสานของบรรดาคริสตังในนครอันตานานาริโอ หากแต่ถูกเคลื่อนไปฝังที่สุสานจำประจำตระกูลที่บริเวณซึ่งเรียกกันว่า อิโซตรี ในนครอันตานานาริโว ในวันที่ 25 สิงหาคม ปีเดียวกัน และเพียงหนึ่งปีให้หลังมรณกรรมของท่าน สงครามฟรังโก-โฮวา ครั้งที่ 2 จึงได้ปะทุขึ้น ก่อนจะจบลงในระยะเวลาหนึ่งปี ด้วยการที่อาณาจักรมาดากัสการ์ก็ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส นับเป็นการปิดฉากการปกครองระบบการปกครองตนเองของอาณาจักรอิเมรีนาลงในที่สุด

37 ปีต่อมาในสมัยพระคุณเจ้าเอเตียน โฟคกาเดียร์ พระสังฆราชกิตติคุณฮิปโป ดีอาร์รีตุส เป็นผู้ปกครองมิสซังตานานารีเว (อีกชื่อหนึ่งของนครอันตานานาริโว) พระคุณเจ้าจึงได้เริ่มต้นกระบวนการไต่สวนชีวประวัติของท่านเพื่อประกอบการขอให้มีการสถาปนาท่านเป็นนักบุญขึ้นใน ค.ศ. 1931 และเพื่อร่วมรณรงค์ให้กระบวนการมีความรุดหน้า พระคุณเจ้ายังได้เขียนหนังสือชีวประวัติของท่านออกเผยแพร่ในชื่อ ‘ชีวิตวีรชนของวิกตัวร์ ราซัวมานาริโว’ แต่ก็ต้องใช้เวลาอีก 52 ปี พระศาสนจักรมาดากัสการ์จึงได้รับข่าวดีว่า นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้ทรงประกาศให้ท่านมีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับการเป็นนักบุญ ซึ่งทำให้ท่านมีตำแหน่งเป็นคารวียะ และพร้อมสำหรับการสถาปนาเป็นบุญราศีและนักบุญตามลำดับ หากมีอัศจรรย์เกิดขึ้นอย่างน้อยสองครั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1983 

ตราไปษณียากรโอกาสแต่งตั้งบุญราศีวิกตัวร์

และเพียงคล้อยหลังการประกาศนี้ไม่ถึงสิบปี พระศาสนจักรมาดากัสการ์ก็ได้ชื่นชมยินดี เนื่องจากสมณะกระทรวงว่าด้วยการสถาปนานักบุญสามารถพิสูจน์ได้ว่า การหายจากอาการป่วยของนางโฌเซฟิน ราเกตามันกา ผ่านคำเสนอวิงวอนของคารวียะราซัวมานาริโวเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ทำให้ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1989 ระหว่างการเสด็จเยือนมาดากัสการ์ นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงได้ทรงประกอบพิธีบันทึกนามข้ารับใช้ชาวมาลากาซีผู้มีชีวิตอยู่เมื่อ 96 ปีที่แล้วไว้ในฐานะบุญราศี พร้อมทรงยกย่องให้ท่านเป็น ‘ธรรมทูตที่แท้จริง’ และ ‘แบบฉบับของฆราวาสในยุคปัจจุบัน’ ส่งผลให้ท่านเป็นชาวมาลากาซีคนแรกที่ได้รับเกียรติดังกล่าว และกลายเป็นความหวังของชาวคริสตังมาลากาซีทุกคนว่าไม่ช้าก็เร็วหลังจากนี้ พวกเขาจะได้มีนักบุญชาวมาลากาซีคนแรกตราบถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้ร่างของท่านได้รับการเคลื่อนย้ายมายังวัดน้อยหน้าอาสนวิหารพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล อันโดฮาโล ที่ท่านผูกพันธ์ นับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา นับเป็นสถานที่ที่ 3 ที่ร่างของท่านได้พำนัก หลังจากก่อนหน้านี้ในโอกาสฉลองหนึ่งร้อยปีการแพร่ธรรมเกาะมาดากัสการ์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1961 พระศาสนจักรมาดากัสการ์ได้มีความเห็นสมควรย้ายร่างของท่านจากสุสานประจำตระกูลมาฝั่งร่วมกับบรรดาธรรมทูตที่หมู่บ้านอัมโบฮิโป ตามเจตจำนงค์ที่ท่านเคยแสดงไว้เมื่อยังมีชีวิต และตราบถึงวันนี้อัศจรรย์มากมายยังคงเกิดขึ้นที่นี่ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่าน เป็นเครื่องตอกย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหญิงสูงศักดิ์ชาวมาลากาซีผู้นี้ ผู้เคยใช้ชีวิตอย่างกล้าหาญในการผจญภัยไปในเส้นทางของความเชื่อ ในช่วงเวลาแรกที่พระศาสนจักรคาทอลิกได้หยั่งรากลงในแผ่นดินมาดากัสการ์ 

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงภาวนา
ที่หลุมศพของบุญราศีวิกตัวร์ในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 2019

ชีวิตของท่านบุญราศีวิกตัวร์ คือ แบบฉบับของ “ผู้ที่มุ่งหาสิริรุ่งโรจน์ เกียรติยศ และความเป็นอมตะ โดยยืนหยัดกระทำความดี จะได้รับชีวิตนิรันดร” (โรม 2 : 7) โดยแท้ ท่านเป็นตัวอย่างของคริสตชนธรรมดาผู้ไม่เคยย่อท้อในการรักษาความเชื่อในทุกจังหวะของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเมื่อต้องครองคู่กับชายที่ทำตัวเสเพล เมื่อถูกกดดันให้เปลี่ยนศาสนาจากญาติพี่น้อง เมื่อตกเป็นที่นินทาครหาเพราะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ และเมื่อพระศาสนจักรมาดากัสการ์ถูกเบียดเบียนอย่างหนักในช่วงสงครามฟรังโก โฮวา ที่ 1 ซึ่งมีความตระหนักถึง ‘สิริรุ่งโรจน์ เกียรติยศ และความเป็นอมตะ’ ในเมืองสวรรค์ เป็นแรงผลักดันในการก้าวผ่านความยากลำบากในชีวิต และการยืนหยัดกระทำการดีหรือสิ่งที่พระจิตเจ้าทรงดลใจมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ได้ชื่อว่าเป็นคริสตชน จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตบนโลก เราจึงอาจกล่าวสรุปได้อีกว่า ท่านบุญราศีวักตัวร์ คือ แบบฉบับของผู้ภูมิใจในความเป็นคริสตัง ภูมิใจในความเป็นลูกของพระและชีวิตใหม่ และผู้ดำรงอยู่ในวิถีความเชื่อ ดังที่ท่านบอกกับมารดาของท่านเมื่อจะรับศีลล้างบาป “แม่จ๋า ลูกจะไม่เป็นเหมือนก่อนแล้ว ลูกคือบุตรตรีของพระเป็นเจ้า” อย่างแท้จริง

มากไปกว่าแบบฉบับที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้เราในวันนี้ได้ใคร่ครวญ ชีวิตของท่านบุญราศีวิกตัวร์ยังเป็นเครื่องยืนถึงสิ่งที่ท่านนักบุญเปาโลได้บอกกับชาวโรมว่า “พระเจ้าจะทรงตอบสนองทุกคนตามสมควรแก่การกระทำของพวกเขา” (โรม 2 : 6) เพราะในท้ายที่สุดสิ่งที่ท่านได้สู้ทนด้วยความเชื่อที่หล่อเลี้ยงด้วยคำภาวนาและการทำกิจการเมตตา พระเจ้าผู้ที่ท่านเชื่อและติดตามได้แสดงให้เห็นว่ามัน ‘ไม่เคยสูญเปล่า’ สำหรับพระองค์ ผ่านทั้งการที่ท่านทั้งสามารถนำพระศาสนจักรแห่งมาดากัสการ์ให้รอดพ้นจากการเบียดเบียนตลอดสามปี และสามารถทำให้สามีของท่านกลับใจได้ในที่สุด ดังนั้นในหน้าสุดท้ายของเรื่องราวการผจญภัยแห่งความเชื่อของหญิงสูงศักดิ์แห่งเกาะมาดากัสการ์ จึงขอให้ชีวิตของท่านบุญราศีวิกตัวร์ได้หนุนนำใจของเราทุกคน ในการยืนหยัดท่ามกลางปัญหาในโลก เพื่อดำรงไว้ซึ่ง ‘ความเชื่อ’ จนถึงสุดท้ายของชีวิต ด้วยความไว้วางใจว่า ไม่มีสิ่งใดสูญเปล่าเลยในสายพระเนตรของพระเจ้า ขอให้เราได้มีชีวิตที่ดำรงอยู่ในวิถีของความเชื่อ อันคือ ความตระหนักถึงสิริรุ่งโรจน์ เกียรติยศ และความเป็นอมตะในเมืองสวรรค์ แล้วหยัดยืนในการทำความดีจนถึงวันสุดท้ายของเราบนโลกดุจเดียวกับท่านบุญราศีวิกตัวร์ อาแมน.
รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
เผยแพร่ครั้งแรก, 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013
แก้ไขปรับปรุง, 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2024
ในสัปดาห์สมโภชพระจิตเจ้า

“ข้าแต่ท่านบุญราศีวิกตัวร์ ราซัวมานาริโว ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
Congregation for the Evangelization of Peoples Pontifical Mission Societies. “BLESSED VICTOIRE RASOAMANARIVO.” In BAPTIZED AND SENT: THE CHURCH OF CHRIST ON MISSION IN THE WORLD (EXTRAORDINARY MISSIONARY MONTH OCTOBER 2019). Milano: SAN PAOLO, 2019. 300 – 304.
http://www.catholic.org/saints/saint.php?saint_id=7713
http://saints.sqpn.com/blessed-victoire-rasoamanarivo/
http://fr.wikipedia.org/wiki/Victoire_Rasoamanarivo
http://www.oremosjuntos.com/Santoral/BeataVictoriaRasoamanarivo.html
http://chapel.upperroom.org/chapel/saints/120
http://htspaola.eduk12.net/class/Amy Johnson/August.pptx
http://www.afriquespoir.com/saintsdafrique/page5.html
http://www.igw-resch-verlag.at/santibeati/vol2/rasoamanarivo.htmlhttps://sj-cluny.org/Madagascar-428
https://it.cathopedia.org/wiki/Beata_Vittoria_Rasoamanarivo
https://www.rdb.mg/en/pastoral/saint-of-the-day/4159-blessed-victoire-rasoamanarivo.html
https://www.catholique78.fr/2019/10/29/bienheureuse-victoire-rasoaman-rivo/
https://fascinatingmystery.wordpress.com/2014/08/22/saint-of-the-week-victoire-rasoamanarivo/
https://uscatholic.org/calendar/victoire-rasoamanarivo/
https://aleteia.org/2017/08/17/how-a-pagan-princess-saved-the-faith-in-madagascar/?_x_tr_hist=true
https://dacb.org/fr/stories/madagascar/rasoamanarivo-v2/
https://www.santiebeati.it/dettaglio/91366
https://www.paginecattoliche.it/B-VITTORIA-RASOAMANARIVO-18481894/ https://www.eglisecatholique-ge.ch/actualites/victoire-rasoamanarivo-foi-madagascar/

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...