วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2566

'มาร์กิต' เพื่อพระแค่หนึ่งเดียว


นักบุญมาร์กิต แห่ง ฮังการี
St. Margaret of Hungary
(Árpád-házi Szent Margit)
วันฉลอง : 18 มกราคม

เจ้าหญิงมาร์กิต หรือมาร์การิตา ทรงเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าเบลาที่ 4 กษัตริย์แห่งฮังการีและโครเอเชีย กับพระนางมารีอา ลาสคารินา (ท่านจึงมีศักดิ์เป็นพระขนิษฐาหรือน้องสาวของนักบุญคินกา) ซึ่งในเวลาก่อนที่พระราชมารดาของท่านจะมีพระประสูติกาลท่านนั้น ใน ค.ศ. 1241 กองทัพมองโกลหรือพวกตาตาโรฟก็ได้กรีฑาทัพบุกเข้าตีอาณาจักรฮังการี พระเจ้าเบลาจึงได้นำทัพเข้าต่อตีอย่างดุเดือด ณ สนามรบที่ โมฮี แต่ก็มีอันต้องพ่ายศึกจนแทบเอาชีวิตไม่รอดกลับมา

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของพระราชวงศ์ พระองค์จึงได้ทรงพาพระชายาที่กำลังทรงครรภ์พร้อมพระโอรสพระธิดา เสด็จลี้ภัยไปทางตอนเหนือของอาณาจักร เพื่อมาประทับอยู่ที่ป้อมคลิส ในประเทศโครเอเชียปัจจุบัน และด้วยความสิ้นหวังที่จะต่อกรด้วยกำลังทหารในบังคับ พระเจ้าเบลาที่ 4 และพระนางมารีอาจึงได้หันพระพักตรเข้าหาองค์พระผู้เป็นเจ้า แล้วถวายสัตย์สาบานว่า หากแม้นทั้งสองพระองค์ได้พระหน่อองค์นี้เป็น ราชธิดา’ และอาณาจักรฮังการีได้เป็นไทแล้วไซร้จากพวกมองโกล ทั้งสองพระองค์ก็จะยกถวายให้พระธิดาองค์นี้เป็นนักบวชรับใช้พระเจ้าภายในภาคหน้าสืบไปตราบสิ้นชีวิต

พระเจ้าเบลาที่ 4 และพระนางมารีอา ลาสคารินา

ไม่นานหลังทั้งสองพระองค์ถวายคำปฏิญาณ พระนางเจ้ามารีอาก็ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาน้อย ในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1242 ขณะทรงประทับลี้ภัย ณ ป้อมคลิส และเช่นเดียวกันสืบเนื่องจากข่านหรือผู้นำของพวกมองโกลมาสิ้นใจลงอย่างกะทันหัน ณ ปัจจุบันทันด่วน จึงมีการยกเลิกการกรีฑาทัพที่ยึดฮังการี เพื่อกลับมาเลือกผู้นำคนต่อไปของเผ่าเสียก่อน ส่งผลให้พระเจ้าเบลาที่ 4 สบโอกาสเสด็จนำไพร่พลฮังการีกลับมาบูรณะสร้างบ้านแปงเมืองฮังการีที่เสียหายจากพวกมองโกล เหตุการณ์นี้ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า “ผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรฮังการีที่สอง”

และเมื่อเหตุการณ์เป็นไปตามคำขอเช่นนี้แล้ว พระเจ้าเบลาที่ 4 และพระนางเจ้ามารีอา เมื่อทรงเลี้ยงพระธิดาน้อยจนมีพระชันษาได้ 3 พระชันษาครึ่งแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็ได้ทรงส่งพระธิดาให้ไปอยู่กับซิสเตอร์คณะโดมินิกันที่เมืองเวสซ์เปร์มตามคำสัญญา ณ ที่นั่นเป็นระยะเวลาถึงเจ็ดปีที่พระธิดาน้อยได้รับการอบรมสั่งสองภายใต้การดูแลของบุญราศีเฮเลน แห่ง เวสซ์เปร์ม ซึ่งนับเป็นช่วงเวลานั้นเองที่พระธิดาน้อยได้พบรักกับชายคนหนึ่งบนไม้กางเขน ทำให้หลายครั้งเมื่อพระราชมารดาและพระเชษฐามาเยี่ยมท่าน ท่านก็มักมีอาการเศร้าเสมอ เพราะท่านตระหนักดีว่าราชวงศ์นี่เอง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุถึงชีวิตนักบวช ซึ่งคือชีวิตแห่งการเป็นเจ้าสาวของชายบนไม้กางเขนของท่าน


ด้วยพระชันษา 4 ปีท่านจึงได้เรียนรู้วิธีอ่านเขียน และเมื่อพระชันษาได้ 5 ปี ท่านจึงขอสวมเครื่องแบบของคณะโดมินิกันแบบบรรดานักบวชในอาราม พร้อมขอฝึกปฏิบัติตนตามที่ธรรมนูญของคณะได้บัญญัติไว้เหมือนนักบวช และนอกจากนี้ ท่านยังมีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันที่อยู่ภายในอาราม (ในยุคสมัยหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าอารามนักพรตได้กลายเป็นกึ่ง ๆ พื้นที่ทิ้งบุตรสาว ที่ครอบครัวไม่สามารถจัดการดูแลได้) กล่าวคือท่านไม่พอใจที่จะถูกทุกคนเรียกว่า “พระราชธิดา” เพราะท่านมีบิดาเพียงหนึ่งเดียวก็คือ พระเจ้า และแทนที่ท่านจะใช้เวลาไปเล่นกับเด็ก ๆ คนอื่น ตรงกันข้ามท่านกลับมักใช้เวลาว่างของท่านไปกับการสวดภาวนาอยู่ในวัด ทั้งยังคอยเรียกเพื่อน ๆ ให้มาร่วมสวดกับท่าน ชนิดที่เราอาจกล่าวได้เลยว่า ‘การสวดภาวนา’ คือ การละเล่นของท่านได้เลยทีเดียว

เวลาล่วงมาได้สามปี เมื่อท่านเจริญวัยได้ชันษาได้ 7 ปี พระเจ้าเบลาที่ 4 พระราชบิดาของท่านก็ทรงเหมือนจะหลงลืมคำมั่นที่เคยไว้กับพระเป็นเจ้าไปเสีย เพราะพระองค์ทรงรับหมั้นของโบเลสเลาส์ที่ 6 ดยุกแห่งโปแลนด์ที่มาสู่ขอท่าน แต่แทนที่จะคล้อยตามพระประสงค์ของพระราชบิดาอย่างเด็กหญิงทั่วไป ท่านก็ลั่นวาจาประกาศอย่างหนักแน่นว่า “ลูกต้องการจะรับใช้พระเยซูเจ้า ถ้าจะให้ลูกเข้าพิธีวิวาห์ ก็ขอทรงตัดจมูกลูกเสียเถอะ” นี่จึงนับเป็นบททดสอบแรกที่พระเป็นเจ้าทรงส่งมายังเจ้าสาวน้อยของพระองค์ เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าบัดนี้เจ้าสาวผู้นี้ได้เป็นอิสระจากพันธะใด ๆ ของโลกนี้เรียบร้อยแล้ว


ดังนั้นเมื่อท่านได้เลือกพระคริสตเจ้าเป็นเจ้าบ่าวแต่เพียงคนเดียวของท่านแล้ว ท่านจึงปรารถนาจะเข้าพิธีปฏิญาณตนเหมือนซิสเตอร์คนอื่น ๆ เพื่อถือศีลบนทั้งสามประการได้แก่ พรหมจรรย์ ความยากจน และความนบนอบ แต่ท่านก็ถูกปฏิเสธด้วยเหตุว่าท่านยังเด็กเกินไป ฝั่งท่านจึงทำได้แต่ร้องไห้ออกมา กระนั้นที่สุดในวันหนึ่งท่านก็ตัดสินใจสวมชุดคณะ แล้วเข้าไปในวัดพร้อมเพื่อน ๆ ก่อนท่านจะมาอยู่เบื้องหน้าพระแท่นบูชา และเริ่มขับบทเพลงเวนี เกรอาตอร์ สปิริตุสหรือเพลงเชิญเสด็จพระจิตเจ้า จากนั้นท่านก็เลียนแบบพิธีปฏิญาณตนของบรรดาซิสเตอร์ และแต่นั้นมาท่านก็สวมชุดคณะดอมินิกันมาโดยตลอด

ท่านอยู่ที่อารามเมืองเวสซ์เปร์มได้เจ็ดปี ใน ค.ศ. 1252 พระราชบิดา และพระราชมารดาของท่านก็สร้างอารามโดมินิกันหลังใหม่แล้วเสร็จ ทั้งสองจึงพาพระธิดาน้อยพร้อมบรรดาซิสเตอร์จำนวนสิบแปดท่านและโปสตุลันต์ทั้งหมดย้ายมายังอารามใหม่ ที่ตั้งเด่นอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำดานูบ ในเมืองบูดาเปสต์ ชื่อ เกาะกระต่าย เพื่อให้พระธิดาได้มาประทับอยู่ใกล้ ๆ (ปัจจุบันอารามนี้คงเหลือแต่ซากปรักหักพัง และนามของเกาะก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเกาะมาร์กิต ตามนามของท่านเรียบร้อยแล้ว) ท่านประทับอยู่ที่นั่น กระทั่งมีชันษาได้ 12 ปี ท่านจึงได้เข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นนักบวชของคณะโดมินิกัน

พระเจ้าออทโทคาร์ที่ 2 แห่งโบฮีเมีย

แต่นั้นมาชีวิตในอารามของท่านก็ดูจะราบรื่น และเป็นไปตามความประสงค์ของท่าน แต่การณ์ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะอีกครั้งที่พระเจ้าทรงทดสอบเจ้าสาวน้อยของพระองค์ เพื่อให้โลกได้เป็นที่ประจักษ์ว่าบัดนี้ข้าบริการน้อยผู้นี้ได้เป็นอิสระ และได้มอบตนทั้งครบเพื่อรับใช้พระเจ้าโดยไร้ซึ่งบ่วงพันธการแห่งความรักใด ๆ อาศัยการมาสู่ขอของพระเจ้าออทโทคาร์ที่ 2 แห่งโบฮีเมีย ซึ่งในกาลคราวนั้น แม้ท่านจะถูกพระราชมารดาและพระราชบิดาเกลี้ยกล่อมเท่าไร ๆ โดยยกว่าทั้งสองพระองค์พร้อมเสมอที่จะไปพาท่านไปโรม เพื่อจัดการกับปัญหาคำปฏิญาณตน และยังยกผลประโยชน์ทางการเมืองที่ประเทศจะได้รับ แต่ไม่ว่าทั้งสองเกลี้ยกล่อมเท่าไร ๆ ก็ไม่อาจเปลี่ยนความคิดของพระราชธิดาน้อยได้ ท่านยังคงหนักแน่นในคำตอบเดิม คือ การเลือกเป็นเจ้าสาวของพระคริสต์

กระนั้นก็ตาม แม้ท่านจะหนักแน่นในการปฏิเสธการสยุมพรครั้งนี้ แต่ผ่านการจัดการของพระราชบิดา ที่สุดพระเจ้าออทโทคาร์ก็ทรงได้พบกับท่าน ซึ่งเมื่อจบการพบกันครั้งนี้แล้ว พระเจ้าออทโทคาร์ก็ถึงกับออกปากชมถึงความงามของท่าน แม้ว่าในขณะนั้นท่านจะยังคงสวมชุดนักบวชอยู่ตาม ซึ่งตรงข้ามกับฝ่ายท่าน เพราะแม้จะได้พบพระเจ้าออทโทคาร์แล้ว ท่านก็ยังหนักแน่นในคำเดิม คราวหนึ่งท่านถึงกับบอกกับซิสเตอร์ในอารามว่าท่านยอมตัดริมฝีปากและตัดจมูกเสียดีกว่าต้องออกจากอาราม เช่นนั้นเองอาศัยการหนักแน่นนี้ ก็ทำให้ที่สุดพระราชบิดาท่าน ก็จำต้องล้มเลิกพระทัยจะจับท่านแต่งงานไปในที่สุด

ภาพเขียนอารามบนเกาะกระต่ายในศตวรรษที่ 16

หลังจากเล่าถึงเหตุการณ์แสดงน้ำใจเด็ดเดี่ยวของท่าน ในการจะถือพรหมจรรย์ อันเป็นศีลบนประการหนึ่งของนักบวช ในลำดับต่อไปก็จะขอกล่าวถึงวัตรปฏิบัติอันน่าศรัทธาในอารามของท่าน โดยเริ่มจากการศีลบนความยากจน ที่เราอาจกล่าวได้ว่า ท่านนั้นได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างของนักบวชผู้ตัดสละทุกอย่างอันเป็นของโลกโดยแท้ ทุกคราที่พระราชบิดาและพระราชมารดาส่งฉลองพระองค์ตามสมัยนิยมมาให้ถึงอาราม เพื่อให้ธิดาน้อยได้ใช้สอย ท่านในฐานะธิดาน้อยของทั้งสองก็จะยกให้อารามนำไปขาย แล้วเอาเงินมาช่วยคนยากคนจนเสียทุกครั้งไป โดยมิได้หวงแหนหรือใยดีว่าเป็นของสูงค่ามีราคา หรือของพระราชทานจากพระราชบิดามารดา 

แต่การสละทรัพย์อันน่ายกย่องของท่านนี้ ก็ยังไม่เท่าเศษเสี้ยววัตรปฏิบัติในการพลีกรรมใช้โทษบาปที่เข้มงวดตลอดชีวิตของท่าน ท่านเริ่มทรมานตนตั้งแต่มีพระชันษาได้เพียง 5 ปี โดยเริ่มจากการอดอาหารในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่ในปีต่อมาเมื่อคุณแม่โอลิมเปียนวกจารย์ได้อนุญาตให้ท่านสวมเข็มขัดตะขอเหล็กได้ โดยมีข้อแม้ว่าให้ใส่ได้เฉพาะระหว่างวันและห้ามสวมกับเนื้อโดยตรง ท่านก็เริ่มสวมใส่เข็มขัดตะขอเหล็กเพื่อทรมานตนในเวลากลางวัน ตำนานเล่ากันว่า ขณะซิสเตอร์ทุกคนกำลังหลับ ท่านจะเอาตัวเข็มขัดตะขอเหล็กมาวางแทนบริเวณที่เป็นเข็มขัดหนังเม่นที่ใช้รัดสะเอว ส่วนตรงแขนอันบอบบางท่านก็จะรัดด้วยเชือกจากหางม้า จนเป็นรอยแผลจาการกดทับ



นอกจากนี้ท่านยังได้ซ่อนตะปูตัวเล็ก ๆ ไว้ในรองเท้า ซึ่งยามท่านใส่จะไม่มีใครสังเกตเห็น เพราะเป็นตรงฝ่าเท้าของท่านพอดี และไม่เพียงเท่านั้น ทุกวันศุกร์ท่านยังใช้เวลาไปกับการร่ำไห้ขณะใคร่ครวญถึงพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า ซิสเตอร์ผู้รับหน้าที่ดูแลห้องซาคริสเตีย (ห้องหลังพระแท่น) ซึ่งมีชีวิตเป็นพยานถึงจริยาวัตรอันน่ายกย่องของท่าน ยังจดจำได้ดีถึงเสียงปรบมือและคำชักชวนของท่าน ให้ออกจากห้องภาวนาไปเฝ้าศีลร่วมกันแทนการนอนหลับพักผ่อน ภายหลังจากทำวัตรดึกเสร็จอยู่เสมอ เช่นเดียวกับซิสเตอร์รูปอื่น ๆ ที่ยังจำแม่นว่าทุกครั้งในช่วงท้ายของมหาพรต ท่านจะต้องมีอาการเหน็ดเหนื่อยจากการอดอาหารและอดนอนอยู่มิได้ขาด

และเมื่อถึงวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ ที่พระเยซูเจ้าทรงได้ล้างเท้าบรรดาศิษย์ก่อนจะทรงตั้งศีลมหาสนิทขึ้น ท่านได้เลียนแบบพระองค์ ด้วยการอ้างสิทธิ์ในการเป็นธิดาของผู้สร้างอารามในการล้างเท้าให้ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่บรรดาคนในอารามทั้งหมด เพราะท่านนั้นใฝ่หาการรับใช้ ความขายหน้า และความอับอายต่อหน้าผู้คน อันจะเป็นเครื่องปราบพยศชั่วของความจองหองและการถือตนมากจนเกินไป จนกลายเป็นความลุ่มหลงมัวเมา ด้วยเหตุเดียวกันนี้เองจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่จะพบว่าท่านอาสาไปทำงานในห้องครัวของอาราม ที่จะต้องเจออะไรน่าสะอิดสะเอียนแน่นอน เพื่อช่วยงานปรุงอาหาร งานล้างหม้อไหตะไหลป๊าก และงานล้างปลา ซึ่งยิ่งในหน้าหนาวที่อากาศเย็นสุดขั้ว ก็ทำให้มือของท่านแตกจนมีเลือดออกเลยทีเดียว

 

วัตรปฏิบัติในการพลีกรรมของท่านยังไม่หมดแต่เพียงที่บรรยายมาข้างต้น เพราะบรรดาซิสเตอร์ร่วมอารามหลายคนยังจำได้อีกว่าหลายต่อหลายครั้ง พวกเธอบางคนก็พบท่านนอนบนเสื่อเก่า ๆ ที่ท่านใช้ปูคุกเข่าสวดข้างเตียง แทนที่จะนอนบนเตียง ส่วนในเวลารับประทานอาหารกลางวัน บางครั้งแทนที่ท่านจะรับอาหาร ท่านก็จะคลี่ผ้าคลุมศีรษะที่พับไว้มาคลุมใบหน้า แล้วใช้เวลานั้นรำพึงถึงพระเจ้า แม้บางครั้งเมื่อท่านได้รับหน้าที่เสิร์ฟอาหารให้บรรดาซิสเตอร์ เมื่อเสิร์ฟอาหารเสร็จท่านก็จะละจากห้องอาหารไปสวดภาวนาที่ห้องภาวนาไม่ก็วัดน้อยแต่เพียงลำพัง กระทั่งช่วงท้ายของเวลารับประทานอาหารท่านจึงจะกลับมา

ส่วนในเรื่องเครื่องนุ่งห่ม นอกจากสวมชุดนักบวชเหมือนสมาชิกรูปอื่น ๆ ท่านยังได้เลือกใช้ผ้าพันศีรษะแบบหยาบซึ่งสงวนไว้สำหรับคนใช้และไม่เหมาะกับนักบวชมาพันศีรษะ จนถูกคุณแม่อธิการตำหนิ แต่ท่านก็ขอให้ท่านได้ทำเช่นนี้ต่อไปในพระนามของพระคริสตเจ้า นอกจากนี้เครื่องแบบของท่านยังมีแต่รอยปะซ้ำแล้วซ้ำอีก มีบันทึกอีกว่า ท่านไม่ค่อยสนใจสุขอนามัยของตัวท่านเท่าไร ท่านไม่ได้อาบน้ำถึงสิบเจ็ดปี (อาจจะเป็นไปตามธรรมเนียมของชาวยุโรปในสมัยนั้นที่ไม่นิยมอาบน้ำ เพราะเชื่อว่าการอาบน้ำทำให้เสียชีวิตเร็ว) ซึ่งดู ๆ ไปก็พวกฤษีผู้เจริญชีวิตอยู่ในอารามกลางทะเลทราย จนครั้งหนึ่งคุณแม่โอลิมเปียถึงขั้นต้องขอให้ท่านยอมโกนผมทิ้ง เพราะท่านมีเหามาทำรัง และอีกคราหนึ่งซิสเตอร์คนหนึ่งก็แนะให้ท่านเปลี่ยนชุดคณะที่มีแมลงเจาะเสีย ท่านก็ตอบทันทีว่า “ซิสเตอร์ที่รัก ปล่อยมันไปและอย่าได้สนมันเลยค่ะ ฉันต้องการให้เจ้าหนอนพวกนี้ลงโทษตัวของฉันค่ะ” การดำเนินชีวิตอย่างยากจนนี้จะไม่ได้ส่งผลอะไรกับท่าน แต่มันก็ส่งผลให้เกิดความไม่สบายใจในหมู่ซิสเตอร์บางคนที่รักความสะอาด และแก่พระราชบิดาพระราชมารดาของท่านอยู่พอสมควร


ทุกวันท่านจะสวดบทสดุดีประจำวัน และหากวันนั้นเป็นวันฉลองของพระเยซูเจ้าหรือแม่พระ ท่านก็จะรับประทานเพียงขนมปังและน้ำตามที่ได้รับอนุญาตจากคุณพ่อมาร์เซลโล (ท่านได้ขอคุณพ่อไว้สามข้อคือ 1.ขอให้ท่านได้มีโอกาสรับใช้คนอื่น 2.ขอสวมเข็มขัดตะขอเหล็ก และ 3.ขอรับเพียงขนมปังและน้ำในวันฉลองพระเยซูเจ้าและแม่พระ) และถ้าเป็นวันก่อนวันฉลองพระคริสตสมภพ ท่านก็จะเพิ่มการนอนราบหน้าพระแท่นเพื่อสวดข้าแต่พระบิดาหนึ่งพันจบ แต่หากเป็นวันสมโภชพระจิตเจ้า ท่านก็จะเปลี่ยนเป็นร้องเพลงเชิญเสด็จพระจิตเจ้าหนึ่งพันจบ ส่วนถ้าเป็นวันฉลองแม่พระบังเกิด แม่พระรับสาส์น และแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ท่านก็จะสวดบทวันทามารีย์หนึ่งพันจบ แต่ภายหลังเมื่อท่านล้มป่วยลงกิจการสวดเหล่านี้ก็ถูกทำแทนโดยบรรดาซิสเตอร์ในอาราม

แน่นอนการปฏิบัติที่เคร่งครัดเหล่านี้ก็ทำให้ท่านถูกตำหนิบ่อย ๆ จากซิคุณแม่โอลิมเปีย เช่นครั้งหนึ่งซิสเตอร์ได้พบท่านนอนเหมือนคนสิ้นใจอยู่หน้าพระแท่น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ท่านมักจะกราบลงระหว่างสวดอยู่เสมอ แต่ด้วยความกลัวว่าการปฏิบัติเช่นบ่อย ๆ จะบั่นทอนชีวิตของท่านให้สั้นลง เมื่อท่านฟื้นคืนสติแล้ว คุณแม่โอลิมเปียจึงกล่าวอย่างไม่พอใจกับท่านว่า “ทำไมซิสเตอร์ถึงชอบเอาหน้าและจมูกไปจรดพื้นดินประหนึ่งหมู พระเจ้าทรงอยู่ที่พื้นดินงั้นหรือ ซิสเตอร์ไม่เห็นหรือว่ามันทำลายสุขภาพของตัวซิสเตอร์เอง” ในประวัติของท่านไม่ได้ให้รายละเอียดต่อว่าท่านตอบคุณแม่โอลิมเปียไปอย่างไร บางทีก็อาจเลี่ยงไม่ตอบ ไม่ก็อธิบายให้เห็นถึงความตั้งใจที่ร้อนรนในการพลีกรรมของท่านก็เป็นไปได้

มีครั้งหนึ่งพระราชบิดาทรงเห็นว่าท่านพลีกรรมอย่างหนักหน่วง จึงตรัสถามท่านอย่างเป็นห่วงว่า “ลูกทำไปเพื่ออะไร ลูกคิดอะไรของลูกอยู่ ลูกจะเก็บเรื่องคนอื่นมาทรมานใจไปทำไม” ฝั่งท่านที่เมื่อฝั่งคำถามเช่นนี้ ก็ค่อย ๆ ถอนหายใจเหือกใหญ่ประหนึ่งระอากลับคำถาม ก่อนค่อย ๆ ตอบกลับว่า “พระศาสนจักร มารดาได้เรียกร้องให้คริสตชนใช้เวลาอันมีค่าในการเป็นนักบุญและรับทุกข์ยากจำนวนมาก แล้วท่านพ่อมาตรัสกับลูกว่า เพื่ออะไรหรือ เธอไม่ได้พึ่งให้กำเนิดลูกและท่านพ่อผ่านน้ำไม่ใช่หรือ ลูกไม่ใช่หนึ่งในธิดาของเธอหรือ แน่นอนลูกเป็น” (เป็นแปลโดยคะเนจริงๆ เพราะเหมือนจะเป็นศัพท์โบราณ ผู้เขียนจึงพยายามแปลให้ตรงบริบทมากที่สุด) แต่จุดประสงค์มากกว่านั้นของการพลีกรรมเช่นนี้ของท่าน ก็อาจเป็นไปเพื่อใช้โทษบาปแทนครอบครัวและแทนประเทศชาติของท่านก็ได้

“เธอเป็นคนดี เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และผู้เทศนาผ่านกิจการของเธอ ซึ่งต่ำต้อยเสียยิ่งกว่าบรรดาสาวใช้” ซิสเตอร์ในอารามกล่าวถึงท่าน เพราะไม่เพียงแต่ทำพลีกรรมทรมานกายจำนวนมากมาย ท่านยังคอยทำทุกหนทางเพื่อนำความบรรเทาใจไปยังบรรดาคนยากไร้และคนป่วย ดังที่ได้อธิบายไปแล้วบ้างก่อนหน้านี้ ท่านรักที่จะเป็นคนจน ท่านชอบใส่เสื้อเก่า ๆ บางครั้งท่านก็จะซ่อมเสื้อผ้าคนยากไร้ที่เก่าด้วยผ้าจากเสื้อคลุมของท่าน และทุก ๆ ครั้งหากท่านตื่นขึ้นมากลางดึก แล้วได้ยินเสียงครวญคราง ท่านก็จะรีบลุกไปหาต้นตอของเสียงนั้นเพื่อไต่ถาม และช่วยผู้นั้นให้พบความบรรเทา นอกจากนี้หากมีคนป่วยคนใดสิ้นใจลง ท่านก็จะไม่เพียงแต่ร่วมพิธีของเขาจนถึงเวลาฝัง แต่ท่านจะยังสวดภาวนาและร้องไห้ให้เขาจำนวนมาก ประดุจว่าผู้วายชนม์นั่นคือพี่น้องของท่านเองเสมอ


หากเกิดมีซิสเตอร์คนใดในอารามเกิดล้มป่วยขึ้นมา ท่านที่ทราบเรื่องก็จะรีบกุลีกุจอไปช่วยดูแลซิสเตอร์คนนั้นอย่างวิริยะ ท่านทั้งทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจพยาบาลให้ผู้ป่วยรายนั้น โดยไม่เคยแสดงท่าทีออกมาว่าโกธรหรือรังเกียจที่ต้องทำงานต่ำต้อยและใช้เวลามากเช่นนี้ แม้บางเวลาท่านจะถูกคุณแม่อธิการและคุณพ่อวิญญาณแนะว่าท่านไม่ควรจะทำเช่นนั้น เพราะจะเป็นการสร้างความกังวลพระทัยให้กับพระราชบิดาและพระราชมารดา ท่านก็ยังคงปฏิบัติเช่นเดิม เพราะท่านมีแรงขับภายใน อันแสดงชัดในคำพูดที่ท่านกล่าวอ้อนวอนต่อทั้งสอง นั่นคือ “โปรดให้ลูกได้ทำเช่นนั้นในพระนามพระเยซูเจ้าเถิดเจ้าค่ะ”

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังถือพรตตามธรรมนูญเหมือนซิสเตอร์คนอื่น ๆอย่างเคร่งครัด ท่านมันจะดึงข้อคิดจากชีวประวัตินักบุญซึ่งท่านได้ฟัง และด้วยความที่ท่านทั้งรักทั้งปรารถนาศีลมหาสนิท จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่ท่านจะชอบไปภาวนาหน้าพระแท่นไม้กางเขน เพราะ ณ ที่นั่นพระคริสตเจ้าผู้ทรงแฝงองค์ในเพศปังได้ประทับอยู่ในตู้ศีล ทั้งนี้แล้วในระหว่างมิสซาและรับศีล ท่านมักอดไม่ได้ที่จะถอนหายใจออกมายาว ๆ หรือกลั้นน้ำตาไว้ได้ ยามเมื่อท่านใคร่ครวญแผ่นปังอันบริสุทธิ์ ที่เปลี่ยจากสาลีเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า


ท่านประทับอยู่ในอารามบนเกาะกระต่ายได้สิบสองปี ท่านและซิสเตอร์ในอารามก็มีอันต้องประสบความยากลำบากครั้งใหญ่ เมื่อรอยร้าวฉานระหว่างบิดาและบุตรชายถึงจุดที่ไม่อาจจะกลับมาเชื่อได้อีก นั่นคือความเข้าใจผิดกันระหว่างพระราชบิดาของท่านเองกับพระเชษฐาสเตเฟน ผู้น้อยเนื้อต่ำใจว่าพระราชบิดาทรงไม่รักตน และคงจะตัดตนออกจากการเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ดังนั้นก่อนจะเป็นเช่นนั้นเจ้าชายสตีเฟนจึงได้ทรงเกณฑ์ไพร่พลที่ทรงซ่อมสุม แล้วยกมาบุกฮังการีใน ค.ศ. 1264 จนก่อเกิดเป็นสงครามกลางเมือง ที่กินระยะเวลายาวนานถึงสองปี

เหตุการณ์นี้ยังความโทรมมนัสเป็นอันมากแก่ตัวท่าน เพราะท่านได้แลเห็นสงครามอันเกิดแต่เพียงคำว่า ศักดิ์ศรีและความโลภ ซึ่งทำลายครอบครัวที่ท่านรักลามไปถึงวัด อาราม และประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย ท่านจึงทวีการพลีกรรมของท่านให้ยิ่ง ๆ ขึ้นกว่าปกติ เพื่อสองสิ่ง นั่นคือสันติภาพและความเท่าเทียมที่หายไปจะกลับคือสู่ดินแดนของท่าน ท่านทั้งสวมเข็มขัดขนเม่น ทวีการเฆี่ยนตีตน และพลีกรรมเช่นที่กล่าวมาในย่อหน้าต้น ๆ นอกนี้ท่านยังพยายามสลัดตัวเองจากอคติ การเหมาด่า และการทำร้ายคนอื่นอันเป็นสิ่งไร้แก่นสารอีกด้วย

นอกจากความทุกข์ใจที่ต้องเผชิญแล้ว ผลของสงครามก็ยังความทุกข์กายไม่น้อยสำหรับท่านและสมาชิกในอาราม เพราะไม่นานหลังสงครามกลางเมืองปะทุขึ้น ท่านและซิสเตอร์คนอื่น ๆ ก็ถูกขับไล่ออกจากอาราม ให้ต้องระหกระเหิรไปพำนักในอารามซิสเตอร์คณะเทเรเซียน และมีคำสั่งลงมา (ผู้แปลไม่แน่ใจว่าจากฝั่งไหน) ให้ตัดความช่วยเหลือแก่อารามในทุก ๆ ด้าน เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้น ในเวลาต่อมา คือ ค.ศ. 1265 เมื่อคุณพ่อมาร์เซลโล ผู้แทนคณะโดมินิกันจำต้องกลับไปยังเมืองมงเปอลีเย คุณพ่อก็ได้มีคำสั่งให้ซิสเตอร์จำนวนยี่สิบรูปร่วมกันพลีกรรมด้วยการรับประทานเพียงขนมปังและน้ำ ทันทีที่ท่านทราบเรื่อง ท่านจึงรีบไปคุกเข่าวิงวอนต่อหน้าคุณพ่อ ว่าขอโปรดให้ท่านได้พลีกรรมเพื่อประชาชน อย่าได้ยกเว้นท่านเสียเพียงเพราะท่านมีเลือดขัดติยาอยู่ในกาย

ท่านเจริญชีวิตร้อนรนในการสวดภาวนาและพลีกรรมใช้โทษบาปมาเกือบสองปีเพื่อประชาชนของท่าน จนที่สุดแล้วใน ค.ศ. 1266 ณ บนเกาะกระต่ายนั่นเอง ทั้งพระเจ้าเบลาที่ 4 พระราชบิดาและเจ้าชายสเตเฟน พระเชษฐาก็ได้คืนดีกัน ท่านและซิสเตอร์จึงได้หวนคืนมาสู่อารามบนเกาะกระต่ายอีกครั้ง และได้ประทับอยู่ที่นั่นตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ก่อนจะถึงวันนั้นก็เป็นอีกครั้งที่พระเป็นเจ้าทรงทดสอบความตั้งใจของเจ้าสาวตัวน้อยของพระองค์ ด้วยการวิวาห์อีกครั้ง คราวนี้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1268 โดยชายหนุ่มผู้นั้นก็คือ พระเจ้าการ์โลที่ 1 แห่งเนเปิลส์ และเช่นเดียวกันกับคราวพระเจ้าออทโทคาร์ที่ 2 คือพระเบลาพระราชบิดาทรงเกลี้ยกล่อมท่านว่า พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 4 หากทรงทราบว่าท่านจะยอมเข้าพิธีวิวาห์ พระองค์จะทรงถือให้คำปฏิญาณตนของท่านเป็นโมฆะ แต่ทันทีท่านก็ตอบคุณแม่โอลิมเปีย ในทันทีว่า “แม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจะทรงสั่งให้ลูกเข้าพิธีวิวาห์ลูกก็จะไม่ยอมโง่ทำลายพรหมจารรย์ของลูกหรอก”

นักบุญเอลิซาเบธ แห่ง ฮังการี, นักบุญมาร์กิต แห่ง ฮังการี และเฮนรี่ แห่ง ฮังการี กลุ่มนักบุญราชตระกูลอาร์ปัด

ตามผู้เขียนชีวประวัติของท่านคนหนึ่งได้บันทึกว่า ที่อารามใหม่ท่านเริ่มรำพึงบ่อยขึ้นและเริ่มได้สนทนากับนักบุญสเตเฟน แห่ง ฮังการี (ปฐมกษัตริย์คริสตชนองค์แรก ผู้มีส่วนในการเติบโตของพระศาสนจักรในฮังการี ) นักบุญเอเมรีโก แห่ง ฮังการี (พระโอรสแต่เพียงองค์เดียวของนักบุญสเตเฟน แต่อนิจจายังไม่ทันได้ครองราชย์ ก็มาสิ้นเพราะอุบัติเหตุระหว่างล่าสัตว์เสียก่อน ) นักบุญลาดิสเลาส์ แห่ง ฮังการี (อดีตบูรพกษัตริย์ของฮังการี ผู้มีใจศรัทธาร้อนรนต่อพระคริสตเจ้าและทำทุกสิ่งเพื่อพระเจ้าและประชาชน) นักบุญเอลิซาเบธ แห่ง ฮังการี ผู้มีศักดิ์เป็นอาของท่าน

นอกจากนี้ในบางเวลาพระเป็นเจ้าก็ทรงประทานพระพรแห่งการหยั่งรู้อนาคตให้กับท่าน ซึ่งหนึ่งในพยานในเรื่องนี้มิใช่ใครไหนอื่น ก็คือพระราชบิดาท่านเอง ที่คราวหนึ่งต้องรบทัพจับศึกกับดยุกเฟรเดอริก ที่ 2 แห่ง ออสเตรีย ท่านก็ได้พูดทำนายว่าพระราชบิดาจะทรงมีชัยชนะ และพระเจ้าเบลาที่ 4 ก็ทรงมีชัยจริง ๆ และพระเป็นเจ้ายังทรงแสดงเครื่องหมายความศักดิ์สิทธิ์อื่นของท่านให้เป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาซิสเตอร์ในอาราม ดั่งเช่นทั้งสามเรื่องที่ได้ยกมาต่อไปนี้


เรื่องที่หนึ่ง มีตำนานเล่ากันว่าคราวหนึ่งท่านได้ใช้สาวใช้ชื่อ อักเนส ให้ไปหาเสื้อผ้าจากอาคารใกล้ ๆ เอามาให้อาราม แต่ด้วยในคืนนั้นเป็นคืนเดือนมืด ขณะเจ้าหล่อนกำลังเดินตัดลานหลังอาราม จึงเกิดพลัดตกลงไปในบ่อน้ำติดห้องครัว เสียงร้องลั่นของหล่อนเรียกให้คุณแม่อธิการอารามคณะในเวลานนั้น คือ คุณแม่โอลิมเปียต้องรีบวิ่งจ้ำไปตามต้นเสียงเพื่อรีบช่วยเหลือ ส่วนท่านเองก็รีบวิ่งไปตามพระสงฆ์มาช่วย เพราะพวกท่านไม่มีแรงพอจะช่วยกันดึงนางอักเนสขึ้นมาจากบ่อน้ำได้ ก่อนเธอจะขาดใจตาย

แต่อนิจจา มันก็ไม่ทันการณ์ เพราะนางได้ขาดใจลงไปเสียแล้ว ดังนั้นเองท่านจึงถูกตำหนิจากทุกคนว่าต้นเหตุให้นางอักเนสตาย ฝั่งท่านที่โดยกล่าวโทษเช่นนี้ จึงเริ่มสวดภาวนาขอความช่วยเหลือไปยังพระเจ้า สักครู่หนึ่งร่างของนางอักแนสที่ดูซีดเซียวก็ค่อย ๆ ลอยขึ้นมา แม้จะอยู่ในสภาพแขนขาบิดงอเพราะการตกไปอย่างแรง กระทั่งร่างของนางพ้นจากบ่อแล้ว ท่านก็เริ่มสวดอีกครั้ง คราวนี้กระดูกต่าง ๆ ที่เคยหักงอก็กลับมาอยู่ในสภาพเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และนางอักเนสที่เหมือนสิ้นใจไปแล้ว ก็กลับมาชีวิตอีกครั้งหนึ่ง


เรื่องที่สอง เล่าอีกว่าคืนหนึ่งท่านได้ออกไปสวดภาวนาอยู่ที่ลานของอาราม และขณะที่ท่านกำลังอยู่สวดภาวนาอย่างร้อนรนนั้นเอง ฉับพลันบนท้องฟ้ายามรัตติกาลก็ปรากฏดวงสุริยาโผล่ขึ้นมาอยู่ข้างดวงจันทร์อย่างน่าอัศจรรย์ และเรื่องที่สาม คราวหนึ่งท่านและซิสเตอร์อักแนส แบร์กีตัดสินใจจะทำอาหารจากชีสเลี้ยงซิสเตอร์ทุกคน ท่านก็สามารถยกกระทะที่ตั้งอยู่บนไฟร้อน ๆ ออกมาได้โดยที่มือของท่านไม่เป็นอะไรเลย ซึ่งเรื่องนี้ซิสเตอร์แบร์กาก็ได้ยืนยันว่าเมื่อเธอขอดูมือท่านแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามือของท่านมีแผลอันใดไม่

แต่แม้ท่านจะเป็นที่โปรดปรานของพระเป็นเจ้า ดังที่พระองค์ได้ทรงไขแสดงอัศจรรย์ให้เป็นเครื่องหมายรับรอง พระเป็นเจ้าก็มิได้ทรงบันดาลมให้ท่านมีสุขภาพดีหรือมีอายุที่ยืนนาน ผลของวัตรปฏิบัติอันเข้มงวดของท่าน ก็ส่งผลให้ท่านในวัยยี่สิบปลาย ๆ แทบจะไม่เหลือเค้าความงามที่เคยมี ท่านกลายเป็นคนพิการเพราะการพลีกรรมและการอดอาหารอย่างยิ่งยวด และใน ค.ศ. 1269 ขณะท่านในวัยประมาณ 27 ปี กำลังสวดภาวนาอยู่ข้างเตียงซิสเตอร์รูปหนึ่ง ที่กำลังเข้าใกล้ประตูแห่งความตายเต็มที ท่านก็ได้รับการไขแสดงบางอย่างและได้พูดทำนายออกมาว่า “หลังจากซิสเตอร์สิ้นใจไปเป็นคนแรกแล้ว ก็จะเป็นตัวฉันต่อไป” และไม่นานก็เป็นดั่งที่ท่านกล่าวทำนายไว้ เพราะในเวลาต่อมา ท่านก็มีอาหารไข้ขึ้นสูงชนิดต้องล้มหมอนนอนเสื่อ ซึ่งท่านก็เหมือนจะทราบดีว่านี่คือวาระสุดท้ายแล้ว ดังนั้นก่อนจะถึงวันสำคัญนั้น ท่านจึงได้มอบกล่องที่บรรจุเข็มขัดตะขอเหล็กและแส้ที่ท่านใช้ให้แก่คุณแม่อธิการ


ลุถึงวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1270 ภายหลังป่วยด้วยอาการไข้มาสิบสองวันและเจริญชีวิตภายใต้กฎฎส่วนตัวที่ว่า ‘รักพระเจ้า ดูถูกตัวเอง ไม่เกลียดและไม่ตัดสินผู้อื่น’ เจ้าหญิงแห่งฮังการี พระราชธิดาในพระเจ้าเบลาที่ 4 ก็ได้สิ้นใจโดยสงบด้วยพระชันษาเพียง 28 ปี พระราชพิธีปลงพระศพถูกจัดขึ้น ณ อารามบนเกาะกระต่าย โดยมีพระคุณเจ้าเฟร์เดริก พระอัครสังฆราแห่งเอสซ์เตอร์กอมเป็นประธาน หลังจากนั้นร่างของหน่อเนื้อนฤนาถ จึงได้รับการฝังในวัดน้อยของอารามท่ามกลางกลิ่นหอมอบอวลของดอกกุหลาบที่พรั่งพรูกันออกมาจากศพของท่าน

และในทันทีที่ท่านสิ้นใจไปได้ไม่นาน ก็มีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งท่านขึ้นเป็นนักบุญขึ้น โดยมีผู้ร้องขอคือพระเชษฐาของท่านที่ได้ขึ้นเถลิงราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดาในปีเดียวกันกับที่ท่านสิ้นใจ แต่ก็ต้องติดปัญหาต่าง ๆ จนเรื่องยืดยาวนานหลายร้อยปี แม้ว่าในเวลานั้นจะมีอัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่านถึงเจ็ดสิบสี่กรณี มีทั้งที่หายป่วยและฟื้นจากความตายก็ตาม ท่านก็ยังคงไม่ได้รับการประกาศเป็นนักบุญอย่างเป็นทางการ 


กระนั้นก็ตามแม้จะไม่มีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการจากพระศาสนจักร ความศรัทธาของท่านก็ถูกนำไปยังอิตาลีพร้อมพระนางมารีอา แห่ง ฮังการี ผู้มีศักดิ์เป็นหลานสาวของท่านและได้สมรสกับอนาคตกษัตริย์ของเมืองเนเปิลส์ ท่านถูกนับรวมเป็นหนึ่งในนักบุญจากราชวงศ์อาร์ปัด (ราชวงศ์ของท่าน) ดังปรากฏภาพของท่านร่วมกับนักบุญเอลิซาเบธ แห่ง ฮังการีที่มหาวิหารนักบุญฟรานซิส เมืองอัสซีซีอายุประมาณศตวรรษที่ 14 และมีความเชื่อกันที่อิตาลีว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ ทำให้งานจิตรกรรมจำนวนหนึ่งแสดงภาพรอยแผลศักดิ์สิทธิ์บนร่างกายของท่าน 

แต่ที่สุดหลังมรณกรรมของท่านกว่า 500 ปี ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 6 ก็ได้ทรงบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศี และในรัชสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 พระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัยสถาปนาท่านขึ้นเป็นนักบุญในกรณีพิเศษนั่นคือไม่ต้องมีอัศจรรย์ครั้งที่สองมาประกอบ ในวันฉลองนักบุญเอลิซาเบธ แห่ง ฮังการี นั่นคือในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1943 โดยท่อนหนึ่งในการประกาศดังกล่าว พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ทรงรับสั่งว่า “สืบเนื่องจากท่านเป็นเคารพสืบมาแต่อดีต คุณงามความดีและอัศจรรย์ของท่านเป็นที่ประจักษ์มาตั้งแต่หนหลัง โดยไม่มีข้อกังขาโดยบรรดานักประวัติศาสตร์  ดังนั้นแม้จะไม่เป็นไปตามขั้นตอนการสถาปนานักบุญและจารีตตามปกติ ข้าพเจ้าจึงเห็นควรที่จะสถาปนาท่านขึ้นเป็นนักบุญอาศัยการตัดสินใจของข้าพเจ้าเอง และมีคำสั่งให้บันทึกนามของท่านในสารบบนักบุญนับแต่นี้เป็นต้นไป”


นักบุญเปโตรได้อธิบายว่า การดำเนินชีวิตในโลกนี้เป็นการดำเนินชีวิตใน อยู่ต่างแดน สำหรับผู้ที่เรียกพระเจ้าว่าเป็นบิดา (เทียบ 1 เปโตร 1:17) ขอให้ชีวิตนักบุญมาร์กิตกระตุ้นผู้อ่านได้ใคร่ครวญถึงการดำเนินชีวิตในโลกในฐานะ ต่างแดนที่เราเพียงผ่านมาชั่วคราว ก่อนมุ่งสู่สวรรค์ ขอให้เราได้เลียนแบบท่านในการใช้เวลาในโลกนี้ อันเป็นสิ่งชั่วคราว ด้วยการดำเนินชีวิตตามเสียงของพระเจ้าภายในตัวเองอย่างดีที่สุดในแต่ละวัน เพราะเราไม่รู้ว่าความชั่วคราวของเราจะยาวนานหรือสั้นเพียงใด เพราะท่านรู้ว่าท่านได้รับการไถ่กู้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตไร้ค่าที่สืบมาจากบรรพบุรุษ มิใช่ด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายได้เช่นเงินหรือทอง แต่ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสตเจ้า ดังเลือดของลูกแกะไร้มลทินหรือจุดด่างพร้อย (1 เปโตร 1:18-19) ท่านนักบุญมาร์กิตตระหนักได้ดังนี้ และท่านเชื่อว่าการพลีกรรมทรมานตนอย่างหนักหน่วง รวมถึงการรักรับใช้ผู้อื่นด้วยการปฏิบัติและการสวดภาวนา เป็นการใช้เวลาชั่วคราวที่ดีที่สุดสำหรับท่าน ดังนั้นท่านจึงปฏิบัติเช่นนั้น ในท้ายที่สุดนี้การเลียนแบบฉบับของท่านที่ดีที่สุด จึงไม่ใช่การทรมานตนอย่างบ้าคลั่ง แต่คือการเข้าใจถึงความเป็นชั่วคราวและแสวงหาน้ำพระทัยพระเจ้าต่อชีวิตของเราแต่ละคน ซึ่งหมุนเวียนอยู่รอบแก่นกลางเดียว คือ รักพระเจ้าและรักเพื่อนรอบข้างเหมือนรักตนเอง แต่รักอย่างไร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องหาคำตอบและแนวทางของตนเอง เพื่อจะได้อยู่เพื่อพระแค่หนึ่งเดียวเช่นท่าน อาแมน

รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู


“ข้าแต่ท่านนักบุญมาร์กิต แห่ง ฮังการี ช่วยวิงวอนเทอญ”

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน ผู้ใหญ่ในคณะคนแรก ๆ ที่ท่านแสวงหา...