วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2566

หมดชีวิตด้วยเชื่อและไว้ใจ 'ปีโอ กัมปีเดลลี'

บุญราศีปีโอ กัมปีเดลลี

Bl. Pío Campidelli

วันฉลอง: 2 พฤศจิกายน


กลางทุ่งหญ้าเขียวขจีอันห่างไกล ในเขตชนบทของจังหวัดริมินี ในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นที่รู้จักว่า เตรบบีโอ ดิ ปอจโจ เบร์นี ที่นี่เป็นพื้นที่ราบเหมาะแก่การทำการเกษตรซึ่งโอบล้อมด้วยเนินเขา 3 ลูกอันเป็นที่ตั้งของชุมชน 3 แห่ง คือ หมู่บ้านเบร์นีอยู่ทางเหนือ หมู่บ้านตอร์รีอานาอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ และหมู่บ้านเวรุคคิโออยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ณ บ้านหลังหนึ่งซึ่งมีโรงสีอยู่ติดกันและตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ที่นี่เป็นบ้านของสองสามีภรรยา คือ นายยูเซปเป กัมปีเดลลีและนางฟีโลเมนา เบลปานี ทั้งสองเป็นเกษตรกรธรรมดา ๆ ผู้ไม่มีอะไรขาดแคลน แต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมาก ทั้งสองขยันขันแข็งในการลงแรงทำงานในแต่ละวันในท้องทุ่ง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของพวกเขา และมีความเชื่อศรัทธาในพระเจ้าอย่างมั่นคง ดังนั้นครอบครัวของทั้งสองจึงมีแต่สันติและได้รับการอวยพระพร ความจริงยูเซปเปมีที่ดินติดแม่น้ำมาเรคเคียที่อยู่ห่างออกไป แต่ที่เขาเลือกจะมาอาศัยอยู่ที่เตรบบีโอเนื่องจากที่นี่มีโรงสีตั้งอยู่ติดกับตัวบ้าน ดังนั้นนอกจากครอบครัวกัมปีเดลลี บางครั้งจึงมีชาวบ้านคนอื่น ๆ แวะเวียนเอาผลผลิตข้าวมาสี พวกเขามักมาด้วยพร้อมคำสบถสาบานซึ่งทำลายความสงบของที่นี่

นายยูเซปเปและนางฟีโลเมนาสมรสกับมาในเกือบแปดปี พวกเขามีบุตรธิดาด้วยกันมาแล้วสามคน แต่เสียชีวิตไปหนึ่งคนตั้งแต่อายุได้ขวบครึ่ง ในช่วงรอยต่อระหว่างปีที่เจ็ดและแปดนั้นเอง นางฟีโลเมนาก็ได้ตั้งครรภ์สมาชิกคนที่ 4 ของครอบครัว และในเวลาต่อมาในเวลาสิบนาฬิกาของวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1868 นางฟีโลเมนาก็ได้ให้กำเนิดทารกเพศชาย ทั้งนายยูเซปเปและนางฟีโลเมนาก็ต่างโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับของขวัญของพระเจ้าชิ้นนี้ ทั้งสองรีบจัดแจงให้ทารกน้อยรับศีลล้างบาปเสียในวันเดียวกันนั้น ด้วยนามของนักบุญหลุยส์ กอนซากา ที่ออกในภาษาอิตาลีว่า ‘ลุยจี’ ประหนึ่งเป็นคำทำนายว่าชีวิตในเบื้องหน้าของหนูน้อย จะมีชีวิตไม่ต่างอะไรจากท่านนักบุญผู้มีชีวิตในโลกเพียงระยะสั้น ๆ ในฐานะ ‘เณร’ แห่งคณะเยซูอิตช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 16 แต่ทุกคนในบ้านไม่นิยมเรียกหนูน้อยนี้ด้วยชื่อเสียเท่าไร พวกเขามักเรียกหนูน้อยด้วยชื่อลำลองว่า ‘ยียีโน’ หลังจากนั้นสองสามีภรรยาก็มีสมาชิกเพิ่มอีก 2 คน หนูน้อยยียีโนจึงเป็นลูกคนที่ 4 จาก 6 คนของครอบครัว


เมื่อหนูน้อยยียีโนอายุได้ 5 ปี ครอบครัวก็ได้พาไปรับศีลกำลังตามธรรมเนียมในสมัยนั้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1873 ที่วัดประจำหมู่บ้านตอร์รีอานา แต่เพียงหนึ่งปีให้หลังเหตุการณ์ดังกล่าว คือ ในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1874 นายยูเซปเปก็ป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่และเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน นางฟีโลเมนาจึงได้กลายมาเป็นเสาหลักของครอบครัวกัมปีเดลลี นางได้พยายามเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้งห้าด้วยความอ่อนโยนของมารดาและความเข้มแข็งของบิดา นางขยันทำงานในไร่ของครอบครัวมากขึ้นเช่นเดียวกับที่ทวีการสวดภาวนาต่อพระเจ้า ผู้มอบพลังในการแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นให้กับนาง และเนื่องจากสถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ นายมิเคเล หรือที่คนในบ้านเรียกกันว่า คุณอาแบร์ตอลโด ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องชายของนายยูเซปเปและอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเดียวกันกับพี่ชาย จึงได้เริ่มให้ท่านมาช่วยงานในไร่เพื่อแบ่งเบาภาระงานในครอบครัว ซึ่งท่านก็เชื่อฟังและได้เริ่มช่วยงานคุณน้าอย่างแข็งขัน แต่เนื่องจากสุภาพที่ไม่สู้จะแข็งแรงของท่าน ทำให้ไม่นานเมื่อต้องออกแดดนาน ๆ ผนวกกับทำงานหนัก ท่านก็ล้มป่วยลง มีอาการอ่อนเพลีย ไข้ขึ้นสูง และมีใบหน้าบวม

นางฟีโลเมนาที่เห็นท่านล้มป่วยลงเช่นนี้ ก็เข้าใจทันทีว่าท่านไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานประเภทนี้ ดังนั้นนางจึงได้ส่งท่านเข้าไปเรียนกับพระสงฆ์หนุ่มชื่อ คุณพ่ออังเยโล แบร์ตอซซี ตั้งแต่ ค.ศ. 1875 เป็นต้นมา ทำให้ท่านได้มีโอกาสเรียนภาษาละตินเบื้องต้น โดยทุกวันนางฟีโลเมนาจะคอยพาท่านไปส่งให้คุณพ่อแบร์ตอซซีตั้งแต่เช้าตรู่ ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงสัปดาห์ระลึกถึงผู้วายชนม์ เพื่อร่วมมิสซาประจำวันและเข้าเรียน ซึ่งท่านเองก็มีความสุขที่ได้ตื่นไปเรียน เพราะมันทำให้ท่านได้ใกล้ชิดกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้สถิตอยู่ในวัดในรูปศีลมหาสนิท และในไม่ช้าท่านก็ตระหนักได้ว่า ท่านไม่อยากจะเก็บคำสอนที่ท่านได้เรียนรู้ไว้ได้คนเดียว ท่านจึงหาระฆังมาผูกกับต้นไม้แถวบ้าน แล้วเริ่มใช้มันเรียกเพื่อน ๆ ให้มาฟังสิ่งที่ท่านได้เรียนมาจากคุณพ่อแบร์ตอซซี ซึ่งเพื่อนของท่านหลายคนก็ชอบที่จะมาล้อมวงฟังท่านเล่าเรื่องราวเหล่านี้

ท่านเรียนอยู่กับคุณพ่อแบร์ตอซซีอยู่จนอายุพอเข้าโรงเรียนประถมศึกษา นางฟีโลเมนาก็ส่งเสียให้ท่านได้เรียนต่อที่โรงเรียนประชาบาลในท้องถิ่น นางมารีอา อมาตีที่เป็นครูประจำโรงเรียนในเวลานั้นเล่าถึงท่านว่าเป็นเด็ก “เอาใจใส่ มีสัมมาคารวะ ว่านอนสอนง่าย ดิฉันยังจำได้ดีถึงรูปร่างบ้าน ๆ บอบบาง ขาวซีด เขาไม่เคยเปิดโอกาสให้ดิฉันได้ดุเขาเลย เอาเข้าจริงดิฉันต้องชมเขาเสียด้วยซ้ำ คุณสามารถเห็นเทวดาได้บนใบหน้าของเขา” และในช่วงวัยของการเล่าเรียนนี้เอ เมื่อท่านมีอายุได้ 10 ปี ท่านจึงได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก ในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1878 ไม่ปรากฏว่าท่านรู้สึกเช่นไรในวันดังกล่าว แต่จากการที่ดวงใจน้อย ๆ ของท่านเริงรื่นเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดพระเจ้า ก็คงคาดเดาได้ไม่ยากว่าการที่ท่านจะสามารถรับพระเจ้ามาไว้แนบหัวใจผ่านแผ่นปังในแต่ละมิสซา จะเป็นความยินดีแก่วิญญาณที่ใสซื่อดวงนี้เพียงใด

อาจกล่าวได้ว่ายิ่งโตขึ้นเท่าไร วิญญาณของยียีโนก็โน้มเอียงไปหาสิ่งของในสวรรค์มากขึ้น ดังที่แม่ทูนหัวของท่านเล่าว่า “ดูเหมือนเขาเกิดมาเพื่อสวรรค์” ท่านรักที่จะสวดภาวนาเป็นเวลานานกว่าเด็กวัยเดียวกัน เวลาส่วนใหญ่ของท่าน ถ้าไม่อยู่ที่วัดก็อยู่ที่หิ้งพระของที่บ้าน นางเอมิลีอา พี่สาวของท่านเล่าว่า “เขาสวดเป็นพิเศษเพื่อคุณพ่อของพวกเรา เพื่อคนที่สิ้นใจและเพื่อคนในครอบครัว” และรังเกียจบาปซึ่งทำให้วิญญาณเสียความบริสุทธิ์ ท่านเคยบอกคุณแม่ของท่านว่า “แม่ครับ ผมขอให้พระเจ้าทรงได้รับการถวายพระพร เพราะพวกคนพาลต่างดูหมิ่นพระองค์” ท่านสั่นสะท้านทุกครั้งเมื่อได้ยินคำสบถสาบาน และได้แสวงหาวิธีการที่จะช่วยไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ทั้งผ่านการสวดภาวนาและกิจการเล็ก ๆ นั่นคือการเก็บเอาก้อนหินที่อยู่ตรงถนนหน้าโรงสีที่บ้านออก เพื่อว่าชาวนาที่เอาข้าวมาสีที่โรงงานจะได้ไม่มีเหตุผลให้สถบสาบานถึงพระเจ้า


นอกจากนี้ในทุกวันอาทิตย์ เมื่อถูกเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันชวนไปเล่นก่อนเริ่มมิสซา ท่านก็จะบอกกับพวกเขาอย่างสุภาพว่าท่านจะมาเล่นด้วยหลังมิสซา และรีบตรงไปที่วัดเพื่อเดินรูปสิบสี่ภาคก่อนมิสซาอุทิศให้บิดาผู้จากไป มีครั้งหนึ่งเพื่อนของท่านเคยแหย่ท่าทางการเดินที่สงบเสงี่ยมเจียมตัวของท่านว่า “ยียีโน นี่นายกลายเป็นคนหลังค่อมไปแล้วนะ” ซึ่งท่านก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร เพียงแต่ส่งยิ้มให้เพื่อนคนนั้นเป็นคำตอบ นายอัตติลิโอ พี่ชายของท่านเป็นพยานว่า “เพื่อไปวัดทุกวัน เขาต้องเดินถึงห้ากิโลเมตรไปตามถนน แม้ด้วยรองเท้าที่กัดเขาก็ตาม” และด้วยนิสัยที่แตกต่างนี้ ชาวบ้านบางคนก็เคยเอ่ยกับนางฟีโลเมนา มารดาของท่านว่า “เป็นเรื่องเจ็บปวดที่ต้องสูญเสียสามีไป แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงตอบแทนเธอด้วยลูกชายคนนี้นะ” และนางฟีโลเมนาก็สังเกตเห็นความแตกต่างในตัวของบุตรชายคนนี้โดยตลอด ทั้งตระหนักได้ว่าวิญญาณของท่านนั้นลอยสูงขึ้นเกินกว่านางจะตามทัน นางจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษาพี่ชายของนางที่เป็นพระสงฆ์ คือ คุณพ่อฟิลิปโป จนได้คำตอบร่วมกันว่า เป็นพระเจ้าที่ทรงทำงานอยู่ภายในดวงใจน้อย ๆ นี้ ของเด็กชายผู้ตอบสนองต่อพระองค์ด้วยความมหัศจรรย์

สองปีให้หลังจากท่านรับศีลมหาสนิทครั้งแรก ก็มีพระสงฆ์จากคณะพระมหาทรมานแห่งพระเยซูคริสตเจ้า ก่อตั้งโดยนักบุญเปาโล แห่ง ไม้กางเขนในประเทศอิตาลี เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่และได้รับมอบจากพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลริมินีให้ดูแลสักการสถานพระนางมารีย์แห่งกาซาเล ซึ่งในเวลาต่อมานักบวชคณะดังกล่าวก็ได้เดินทางมาเทศน์สอนที่หมู่บ้านปอจโจ เบร์นีและตอร์รีอานาในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1880 ท่านที่เวลานั้นมีอายุได้ 12 ปีจึงได้มีโอกาสติดตามมารดาไปฟังนักบวชคณะดังกล่าวเทศน์ในพื้นที่ และบัดดลท่านก็ได้ยินเสียงหนึ่งดังขึ้นในใจของท่านว่า “เราต้องการให้ลูกเป็นนักบวชคณะพระมหาทรมาน” ท่านตระหนักได้ว่าพระเป็นเจ้าทรงเรียกให้ท่านสมัครเข้าเป็น ‘พระสงฆ์’ ในคณะนักบวชนี้ ดังนั้นท่านจึงไม่รีรอที่จะตรงไปบอกพระสงฆ์ ที่มีตำแหน่งเป็นคุณพ่ออธิการถึงความปรารถนาจะสมัครเข้าคณะของท่าน แต่เมื่อคุณพ่ออธิการทราบก็ขอให้ท่านรอไปก่อนจนกว่าจะอายุ 14 ปี ซึ่งนอกจากปัญหาเรื่องอายุแล้ว เอาเข้าจริงทางคุณพ่ออธิการก็ค่อนข้างเป็นกังวลเรื่องสุขภาพที่ไม่สู้จะแข็งแรงของท่าน

ดังนั้นในโอกาสอื่น ๆ ที่ท่านเทียวไปยังอารามของคณะพระมหาทรมาน ที่สักการสถานพระนางมารีย์แห่งกาซาเล ซึ่งห่างจากบ้านของท่านไปราวสิบกิโลเมตร คุณพ่ออธิการรวมถึงนักบวชคนอื่นก็ได้แนะนำให้ท่านไปเข้าบ้านเณรของพระสงฆ์พื้นเมืองจะดีกว่า แต่แม้จะถูกแนะนำเช่นนี้ ท่านก็ตระหนักได้ว่า ‘ที่ใด’ ที่ท่านมีกระแสเรียกการถวายตนทั้งครบในฐานะ ‘พระสงฆ์’ ของพระเจ้า ท่านเคยตอบไปว่า “พระสงฆ์ ถูกแล้วครับ แต่ไม่ใช่พื้นเมืองครับ พระสงฆ์พื้นเมืองซึ่งอยู่ในโลกมีความรับผิดชอบและอันตรายอยู่มาก แตกต่างจากบรรดานักพรตที่ได้ใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่ในอารามตลอดเวลา และมีวิธีมากมายที่จะได้รับความรอดครับ” และไม่เพียงแต่นักบวชคณะพระมหาทรมานที่เกลี้ยกล่อมท่านเช่นนั้น นางฟีโลเมนา มารดาของท่านที่ทราบความตั้งใจของบุตรชายในการเป็นพระสงฆ์ ก็เคยเกลี้ยมกล่อมให้ท่านเข้าบ้านเณรเป็นพระสงฆ์พื้นเมืองเหมืองคุณลุงของท่าน คือ คุณพ่อฟิลิปโป ที่ออกปากจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่บ้านเณรให้ แต่ท่านก็ได้ปฏิเสธ นางเทเรซาน้องสาวของท่านเล่าว่า “เขาอยากจะเป็นนักพรตมากว่าพระสงฆ์พื้นเมือง เพราะบรรดาพระสงฆ์พื้นเมืองมีภาระและอันตรายอยู่มากมาย ในขณะที่นักพรตนั้นแยกตนจากโลก พวกเขาจึงไปสวรรค์ได้ง่ายกว่า เขายังบอกว่าเขาชอบนักพรตที่แต่งชุดสีดำแต่มีหัวใจสีขาว ไม่ใช่พวกที่ใส่ชุดสีน้ำตาล”

ท่านรอเวลาอยู่อีก 2 ปีด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ จนท่านมีอายุได้ 14 ปี ท่านก็ได้รับอนุญาตให้สมัครเข้าคณะพระมหาทรมาน ดังนั้นในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1882 ซึ่งเป็นกำหนดวันส่งตัวท่าน ทุกคนในครอบครัวกัมปีเดลลีจึงพากันอำลาและส่งตัวท่านเข้าอารามที่อยู่ข้างสักการสถานพระนางมารีย์แห่งกาซาเลด้วยความเศร้าสร้อย นางเทเรซาเล่าในภายหลังว่า “พวกเราทุกคนร้องไห้พร้อมกับคุณแม่ มีเพียงพี่เท่านั้นที่ยังร่าเริง พี่เขาหัวเราะและบอกกับพวกเราว่า ‘อย่าร้องไห้เพราะพี่เลย เพราะพี่มีความสุขมาก’” ในวันนั้นท่านโบกมืออำลาเตรบบีโอ ดิ ปอจโจ เบร์นี ที่ท่านเติบโตมา ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องบวชเป็นพระสงฆ์ ได้ไปเป็นธรรมฑูตคณะพระมหาทรมานผู้ร้อนรน และเป็นนักบุญ โดยไม่เคยหันหลังกลับไปยังที่แห่งนั้นอีกเลย

หลังจากนั้นอีกยี่สิบห้าวัน คือในวันที่ 27 พฤษภาคม ท่านจึงได้รับเครื่องแบบคณะสีดำตัวยาว ประดับด้วยตรารูปหัวใจสีขาวมีกางเขนปักอยู่ที่ยอด จารึกข้อความภายในว่า ‘ขอให้พระมหาทรมานของพระเยซูสถิตในใจของลูกทั้งหลายเสมอ’ ที่อกซ้าย และได้รับนามใหม่ว่า ‘บราเดอร์ปีโอ แห่ง นักบุญหลุยส์ กอนซากา’ สมดังความปรารถนาของท่าน ก่อนที่ในวันที่ 20 มกราคมปีต่อมา ท่านจะเดินทางไปเข้ารับการอบรมนวกะที่บ้านคณะ ในซานเตวติซิโอ ดิ ซอรีอาโน อัล ซิมิโน จังหวัดวิแตร์โบ ท่านรับการอบรมอยู่ที่นี่เป็นเวลาหกเดือน ในวันที่ 24 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ท่านจึงเดินทางกลับมาบ้านคณะที่กาซาเล เพื่อศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา วิชาเทววิทยาและปรัชญา เพื่อเตรียมบวชเป็นพระสงฆ์ต่อไปในอนาคต และเมื่อท่านมีอายุได้ 16 ปี ครบตามเกณฑ์ของคณะ ท่านจึงได้เข้าพิธีปฏิญาณตนครั้งแรก ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1884

ชีวิตในฐานะเณรของท่าน บรรดาผู้ที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับท่านต่างเห็นตรงกันว่าท่าน “เป็นคนถ่อมตน นบนอบต่อคำสั่งของคุณพ่ออธิการ แม้แต่ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเถรตรง สำรวมกาย ช่างจดจำ” นวกจารย์ของท่านเคยกล่าวถึงท่านไว้ในเวลาต่อมาว่า “นวกะคณะพระมหาทรมานหมดลงแล้วหรือ ที่นี่ไม่มีนวกะต่อไปแล้ว ปีโอเป็นนวกะที่แท้จริง เขาแสนดี ถ่อมตน นบนอบ หมั่นตักตวงผลการภาวนา ถ้าพวกเธอไม่เอาอย่างปีโอ พวกเธอก็ไม่ใช่นวกะที่แท้จริง” ในขณะที่คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่านเล่าว่า ท่านเป็นคนร่าเริงสดใส แต่รู้จักสงบโดยธรรมชาติและโดยการบังคับตน ส่วนบรรดาสัตบุรุษที่แวะเวียนมาที่สักการสถานพระนางมารีย์แห่งกาซาเลอยู่บ่อย ๆ ก็ต่างลงความเห็นว่าท่านเป็น ‘นักบุญน้อยแห่งกาซาเล’ เราอาจกล่าวโดยสรุปเพิ่มเติมได้ว่า ในฐานะสมาชิกคณะพระมหาทรมาน ท่านได้เจริญชีวิตเป็นแบบอย่างที่ดีของพี่น้อง ท่านมีความศรัทธาร้อนรนต่อศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน และพระนางมารีย์ ท่านยังสวดภาวนาเพื่อผู้อื่น หนึ่งในนั้นคือคุณอาแบร์ตอลโด ที่ถึงแม้จะเป็นคุณอาที่น่ารักของหลาน ๆ แต่ก็รักการสังสรรค์ และชอบสถบสาบานอยู่บ่อยครั้ง (ท่านยินดีไม่น้อย เมื่อทราบในเวลาต่อมาคุณอาได้เลิกนิสัยเช่นนี้แล้ว)

เป้าหมายในการเป็นพระสงฆ์ของท่านใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ เมื่อท่านได้เข้ารับพิธีโกนและศีลบวชน้อยอันเป็นขั้นก่อนเป็นอนุสงฆ์ สังฆานุกร และพระสงฆ์ตามลำดับ ณ อาสนวิหารประจำเมืองริมินี ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1887 ทุกคนต่างยินดีและมีความคาดหวังว่าในไม่ช้า คณะพระมหาทรมานจะได้มีพระสงฆ์เพิ่มอีกหนึ่งองค์ เป็นผลแรกของพันธกิจในโรมัญญา แต่ในขณะที่ท่านกำลังเตรียมตัวอย่างขยันแข็งเพื่อจะได้รับอนุญาตให้บวชเป็นอนุสงฆ์นั้น เมื่อเวลาล่วงถึงฤดูหนาวในปีถัดมา ท่านก็ล้มป่วยลงและได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อวัณโรค เป็นผลให้สุขภาพท่านที่ไม่ได้แข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งทรุดลงเรื่อย ๆ จนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่เตียงนอน ในสถานการณ์เช่นนี้ ท่านไม่ได้ต่อว่าตำหนิสิ่งใด ตรงข้ามท่านน้อมรับน้ำพระทัยของพระเจ้า ด้วยใจกล้าหาญและมอบความวางใจไว้ในองค์พระเยซูเจ้า และแม่พระดังที่ทำมาโดยตลอด

เมื่อข่าวอาการป่วยของท่านไปถึงเตรบบีโอ ญาติของท่านคนหนึ่งก็ได้เดินทางมาเยี่ยมท่าน และได้แนะนำให้ท่านกลับไปอยู่กับครอบครัวเพื่อพักรักษาตัว โดยสัญญาว่าถ้าท่านยอมปฏิบัติตาม ท่านก็จะได้รับมรดกเพิ่ม แต่ท่านก็รีบปฏิเสธอย่างเด็ดเดี่ยวว่า “ไม่มีทางครับ แม้แต่เอาทองคำทั้งโลกมาให้ก็ตาม” นับวันที่อาการของท่านมีแต่จะทรุดลงทรุดลง กลิ่นหอมของความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของท่านก็ยิ่งขจรขจายในยังผู้คนที่ได้พบเจอท่านมากขึ้น และเมื่อต้องนอนซมอยู่แต่กับเตียงนอนเป็นหลัก ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ท่านก็ไม่ได้ปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อน ตรงกันข้ามท่านได้ใช้เวลาเหล่านั้นไปการรำพึงภาวนาถึงพระเป็นเจ้าเป็นเวลาหลายต่อหลายชั่วโมง ไม่ก็ร้องเพลงถึงแม่พระด้วยเสียงแผ่วเบา ครั้งหนึ่งท่านเคยอุทานออกมาว่า “โอ้ ปัญญาอันไร้ขอบเขตของพระเจ้า โอ้ ความดีไม่รู้สิ้นสุด โอ้ พระเมตตาอันยิ่งใหญ่ ไม่รู้สิ้นสุดของพระเจ้า โอ้ พระกรุณาอันมิรู้ประมาณ ถูกแล้ว พระเจ้านั้นทรงพระกรุณา ลูกจะยกถวายสิ่งใดเพื่อตอบสนองพระกรุณานี้ได้เล่า”


ท่านตระหนักดีว่าการป่วยครั้งนี้เป็นกางเขนสุดท้ายที่ท่านจะได้รับบนโลกนี้ ท่านจึงแจ้งกับทุกคนที่คอยช่วยเหลือท่านตลอดมาว่าท่านจะคอยสวดภาวนาให้พวกเขาอยู่ในสวรรค์ ครั้งหนึ่งเมื่อนางฟีโลเมนามาเยี่ยมท่าน ในห้วงเวลาที่การเดินทางของท่านใกล้จะจบลงเต็มที ท่านก็ได้ปลอบโยนมารดาว่า “กล้าหาญไว้นะครับแม่ พวกเราจะได้พบกันใหม่ในสวรรค์” นอกจากนี้ในอีกวาระหนึ่ง ด้วยการตระหนักดีถึงเวลาที่ใกล้เข้ามา ท่านจึงได้มอบสิ่งสุดท้ายที่ท่านมี เพื่อยังประโยชน์ให้แก่พระศาสนจักรอย่างถึงที่สุด ดุจเป็นการชดเชยที่ท่านมิอาจจะได้เป็นพระสงฆ์และธรรมทูตผู้ร้อนรน คือ ชีวิตของท่านเป็นดุจแผ่นปังบนพระแท่นบูชา “ลูกถวายชีวิตของลูกเพื่อพระศาสนจักร เพื่อองค์พระสันตะปาปา เพื่อคณะของลูก เพื่อการกลับใจของคนบาป และเพื่อแผ่นดินโรมัญญาที่รักของลูก”

ล่วงถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1889 อันเป็นวันที่ท่านได้แจ้งกับมารดา คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ รวมถึงคนอื่น ๆ ว่าท่านจะจากไป ในยามกลางดึกของวันนั้นขณะทุกคนในอารามต่างพากันล้อมวงสวดภาวนาให้ท่านที่มีอาการตรีฑูต ชั่วขณะหนึ่งท่านที่จวนจะสิ้นใจก็อุทานขึ้นมาว่า “ดูนั่น แม่พระเสด็จมาแล้ว” พร้อมจ้องมองไปที่กำแพงที่ว่างเปล่า แล้วท่านจึงหลับตาลงสิ้นใจไปพร้อมรอยยิ้มในเวลา 22.30 น. ด้วยอายุเพียง 21 ปี 6 เดือน 4 วัน รุ่งขึ้นข่าวการจากไปของ ‘ภารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์’ และ ‘นักบุญน้อยแห่งกาซาเล’ ก็กระจายไปทั่วในหมู่สัตบุรุษรอบอาราม ทำให้ในวันฝังร่างของท่าน นอกจากสมาชิกในคณะและครอบครัวที่ต่างเศร้าโศกต่อการจากไปอย่างกระทันหันของท่าน ยังมีชาวบ้านที่ต่างมาร่วมพิธีฝังร่างของนักบุญองค์ใหม่ ที่สุสานของหมู่บ้านซาน วีโต


ไม่นานหลังจากการสูญเสียอนาคตพระสงฆ์คณะพระมหาทรมานชาวโรมัญญาคนแรกไป ด้วยชื่อเสียงที่เกิดจากวัตรปฏิบัติตลอดชีวิตสั้น ๆ ของท่าน ก็บันดาลให้สถานที่พำนักสุดท้ายกลายเป็นที่แสวงบุญของชาวบ้านใกล้เคียง จนที่สุดจึงนำไปสู่การเปิดกระบวนการแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ เป็นผลให้มีการเคลื่อนย้ายร่างของท่านจากสุสานหมู่บ้านซาน วีโต มายังพระแท่นภายในสักการสถานพระนางมารีย์แห่งกาซาเล ผู้ซึ่งท่านมอบถวายตัวไว้อย่างศรัทธา ใน ค.ศ. 1923 และภายหลังจากเกิดอัศจรรย์การหายจากโรคไขข้ออักเสบจากเชื้อวัณโรคของซิสเตอร์มารีอา โฟสกี อาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน จึงเป็นผลให้ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1985 ในโอกาสปีเยาวชนสากล สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงได้สถาปนาท่านขึ้นเป็นบุญราศี พร้อมคารีวียะสตรีอีก 2 ท่าน โดยในวันนั้นพระองค์ทรงยกย่องท่าน ‘เป็นเกลือดองแผ่นดิน’ สำหรับผู้คนรอบข้างที่รู้จัก

และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา จดหมายข่าวจากคุณพ่อมหาธิการคณะพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า ก็ได้ระบุว่าทางศาลสอบสวนอัศจรรย์อัครสังฆมณฑลเรอาเล ในประเทศอิตาลี ได้ปิดกระบวนการสืบสวนอัศจรรย์ครั้งที่ 2 ผ่านการเสนอวิงวอนของบุญราศีปีโอ และได้จัดส่งเอกสารการสอบสวนทั้งหมดไปยังสมณะกระทรวงว่าด้วยประกาศแต่งตั้งนักบุญ เพื่อให้ทางสมณะกระทรวงพิจารณาสอบสวนอีกครั้ง และหากไม่พบเหตุขัดข้องใดในการอัศจรรย์ครั้งนี้ ในไม่ช้าเราก็คงจะได้เห็นการสถาปนาบุญราศีปีโอขึ้นเป็นนักบุญในเร็ววัน 


พระเยซูเจ้าทรงอุปมาพระองค์เป็นนายชุมพาบาลที่ได้ทรงเรียกแกะของพระองค์ให้ออกไปจากคอก ดังที่ท่านนักบุญยอห์นได้บันทึกพระดำรัสตอนหนึ่งว่า “เมื่อเขาพาแกะออกไปหมดแล้ว เขาจะเดินนำหน้า และแกะก็ตามไปเพราะจำเสียงของเขาได้” (ยอห์น 10 : 4) พระวาจาอุปมาในข้อนี้ชวนให้เราเทียบเคียงได้ว่า เมื่อพระเยซูทรงไถ่เราด้วยการสิ้นพระชนม์ และทรงเป็นผลแรกของการกลับคืนชีพจากความตาย พระองค์ได้ปลดปล่อยเรามนุษย์จากพันธนาการของบาป พระองค์ได้ทรงนำหน้าเราไปยังสวรรค์เพื่อเตรียมที่ไว้คอยท่าเราในวันเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นเรามนุษย์ผู้เป็นแกะของพระองค์ และได้ถูกปลดปล่อยออกจากคอกแห่งบาป จึงมีหน้าที่ติดตามเสียงของพระองค์ไปจนบรรลุถึงสวรรค์ ท่านบุญราศีปีโอก็ปฏิบัติดังนั้น เพราะท่านสำนึกได้ว่าตนได้รับผลแห่งการไถ่กู้จากพระคริสตเจ้า ท่านจึงเงี่ยหูสดับฟังเสียงของพระองค์ และพบว่านอกจากการเป็นคริสตชนที่ดี พระองค์ได้ทรงเรียกให้ท่านได้เป็นพระสงฆ์ในคณะพระมหาทรมาน ‘ด้วยเชื่อและไว้ใจ’ ท่านจึงไม่ลังเลที่จะติดตามกระแสเรียกนั้นอย่างดีที่สุด แม้ในท้ายที่สุดท่านจะไม่สามารถบรรลุตามตั้งใจ เพราะพระเจ้าได้ทรงโปรดยกท่านไปรับบำเหน็จในขณะที่ท่านกำลังเตรียมตัวเพื่อเป็นอนุสงฆ์ก็ตาม แต่ก็ ‘ด้วยเชื่อและไว้ใจ’ หมดชีวิต ท่านไม่ได้ต่อว่าพระองค์ ท่านยังคงเงี่ยหูฟังเสียงเรียกนั้นในยามที่เจ็บป่วย และมอบทุกสิ่งให้เป็นไปตามน้ำพระทัย จนถึงกับมอบชีวิตพลีเป็นยัญบูชาเพื่อคนอื่นอย่างไม่หวงแหน 

วันนี้ที่พระศาสนจักรกำหนดให้เป็นวันภาวนาเพื่อกระแสเรียกสากล ขอให้ชีวิตท่านบุญราศีปีโอรุนเร้าเราในการติดตามเสียงเรียกของพระชุมพาบาลผู้แสนดี ‘ด้วยเชื่อและไว้ใจ’ ด้วยสถานภาพต่าง ๆ ทั้งฆราวาสและนักบวช ในทุกช่วงเวลาของชีวิต เป็นพิเศษสถานภาพของนักบวช โดยเฉพาะพระสงฆ์ ขอให้เราวิงวอนต่อพระเจ้าอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่านบุญราศีปีโอ ให้คริสตชนทั้งหลายสามารถ ‘จำเสียง’ ของชุมพาบาลได้ตลอดการเดินทางในโลกนี้ โดยเฉพาะเยาวชนชายผู้ตระหนักได้ถึงเสียงเรียกการเป็นพระสงฆ์ ทั้งที่ยังลังเลใจอยู่ในโลกและที่ตัดสินใจเข้าบ้านเณรไปแล้ว ขอพระเจ้าได้โปรดนำทางพวกเขาให้บรรลุศักดิ์สงฆ์ของพระองค์ พรั่งพร้อมด้วยความศักดิ์สิทธิ์ดุจท่านบุญราศีปีโอ ขอพระองค์โปรดปกป้องดวงวิญญาณเหล่านี้ดุจพระเกียรติมงคลของพระองค์ เพราะพวกเขาเหล่านี้เองจะมีส่วนในการประกาศพระเมตตาของพระองค์ให้โลกได้รับรู้อาศัยการเทศน์สอน การรับใช้ การโปรดศีลอภัยและศีลมหาสนิท แล้ววิญญาณจำนวนมากก็จะได้ติดตามพระองค์จนถึงสวรรค์ ดังที่พระองค์ตรัสกับท่านนักบุญโฟสตินาว่า ใจของพระองค์ “ทนทุกข์อย่างขมขื่นที่ต้องเห็นวิญญาณพินาศไปด้วยบาป” อาแมน

รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู

วันภาวนาเพื่อกระแสเรียกสากล ที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2023


“ข้าแต่ท่านบุญราศีปีโอ กัมปีเดลลี ช่วยวิงวอนเทอญ” 


รายการอ้างอิง

https://www.sangabrielebari.it/wp-content/uploads/santita-piocampidelli.pdf
https://www.passiochristi.org/blessed-pio-campidelli/
https://www.santiebeati.it/dettaglio/90635
https://www.causesanti.va/it/santi-e-beati/pio-di-san-luigi.html
https://www.vatican.va/content/john-paul-ii/it/homilies/1985/documents/hf_jp-ii_hom_19851117_tre-beatificazioni.html
http://www.madonnadicasale.it/b-pio-campidelli.html





'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน ผู้ใหญ่ในคณะคนแรก ๆ ที่ท่านแสวงหา...