วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

'ลูชีอา' หมดใจนี้มอบพระองค์ ตอนจบ


บุญราศีลูชีอา แห่ง นาร์นี
Bl. Lucia de Narni
ฉลองในวันที่: 16 พฤศจิกายน

กล่าวถึงท่านเคาท์เปียโตร ตั้งแต่วันที่ทราบว่าท่านย้ายจากกรุงโรมมายังวิเตร์โบ เขาก็ได้เดินทางมาเพื่อขอเข้าพบท่านมาโดยตลอด เช่นที่ทำเมื่อคราวท่านพำนักที่กรุงโรม แต่ไม่ว่าอย่างไรท่านก็ไม่ยอมให้เขาเข้าพบ ท่านเคาท์เปียโตร จึงเฝ้ารอท่านอยู่ที่หน้าประตูอารามโดยไม่ยอมกลับไปนาร์นี เขาเฝ้ารอวันที่จะได้พบท่านตลอด โดยเที่ยวนเวียนอยู่รอบ ๆ อารามเมืองวิเตร์โบเหมือนขอทานที่น่าสังเวช คอยมองไปยังกำแพงที่สูงตระหง่าซึ่งกั้นระหว่างเขาและภรรยาที่รัก ด้วยหวังในใจลึก ๆ ว่าการรอคอยนี้จะทำให้ภรรยาของเขากลับมา จนเวลาล่วงมาได้สองปีพิษที่ร้ายแรงที่สุดอย่างความรัก ผนวกกับความเสียใจต่อการกระทำในอดีตที่ให้เขาต้องสูญเสียสมบัติอันล้ำค่าที่สุดของเขาไป ก็ทำให้ชายหนุ่มที่เคยมีสง่าราศี กลายเป็นเพียงชายชราที่น่าสงสาร สวนทางกลับภรรยาของเขาที่นับวันจะงดงามขึ้นด้วยรัศมีแห่งสวรรค์

กระทั่งภายหลังการตรวจสอบครั้งที่สองโดยคุณพ่อโยวันนี กาญญัสโซเสร็จสิ้นลง ท่านจึงยอมให้ท่านเคาท์เปียโตรพบท่านได้ ชายหนุ่มที่มีสภาพไม่ต่างจากชายชราจึงได้เข้าพบกับอดีตภรรยาของเขาในห้องเยี่ยมของอาราม เขามีคำพูดมากมายที่เก็บอยู่ภายในใจมากกว่าสองปีที่เตรียมจะพูดกับท่าน เพื่อหวังจะให้ท่านเปลี่ยนใจและกลับไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับเขาดังเดิมที่เมืองนาร์นี แต่ทันทีที่ท่านปรากฏขึ้นหลังลูกกรงซึ่งกั้นระหว่างเขตพรตและเขตของคนนอก คำพูดทุกอย่างที่เขาเตรียมมาก็พลันหายไปสิ้น เมื่อเขาได้แลเห็นรอยแผลศักดิ์สิทธิ์บนมือของภรรยา ผู้บัดนี้มีสง่าราศีเป็นรองมาจากทูตสวรรค์ เขาทำได้เพียงแต่ทรุดตัวลงคุกเข่าลงเบื้องหน้า ก้มหน้ามองพื้นและนิ่งเงียบ ปล่อยให้ภรรยาของเขากล่าวกับเขา ถึงความตั้งใจเดิมที่จะถือพรหมจรรย์ในคณะโดมินิกัน รวมถึงสัจธรรมหลายสิ่ง จนเวลาล่วงเลยมาชั่วโมงหนึ่งได้ภรรยาผู้แสนดี จึงได้กล่าวมอบถวายดวงวิญญาณของอดีตสามีผู้นี้ไว้ในพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า

บุญราศีโกลอมบา แห่ง รีเอตี

ในชั่วโมงนั้นเองพระเป็นเจ้าก็ทรงกระทำการอัศจรรย์เปลี่ยนหัวใจที่ทุกข์ทนเพราะพิษรักให้เห็นถึงสัจธรรมของชีวิต ท่านเคาท์เปียโตรเมื่อได้ฟังท่านกล่าวสิ่งต่าง ๆ จบลง ได้ค่อย ๆ ชันตัวลุกขึ้นยืนเผชิญหน้ากับภรรยาของเขาด้วยน้ำตาที่นองหน้าอย่างไม่อายใคร เขาขอให้ท่านอภัยให้กับการล่วงเกินทุกสิ่งที่เขาได้เคยกระทำ และยินดีที่จะปล่อยท่านเดินไปตามทางที่ท่านเลือก หลังจากนั้นเมื่อเขาไปยังเมืองนาร์นี ด้วยตระหนักถึงสัจธรรมของโลก เขาก็ได้ตัดสินใจขายทรัพย์สินทุกอย่างในบ้านของเขาทิ้ง และได้สมัครเข้าร่วมคณะภารดาน้อยฟรังซิสกัน เขากลายเป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง มีความศักดิ์สิทธิ์ดุจเดียวกับอดีตภรรยา เขายังมักนำเรื่องที่เขาประสบระหว่างอยู่กินกับภรรยาคนนี้มาใช้ในการเทศน์สอนอยู่เสมอ กระทั่งเขาสิ้นใจลงในเดือนกันยายน ค.ศ. 1544 หรือเพียงหนึ่งเดือนครึ่งก่อนภรรยาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของเขา

เมื่อจบปัญหาระหว่างท่านและสามีลงด้วยดีแล้ว ในปีต่อมาหรือ ค.ศ. 1497 ในวันที่ 23 เมษายน เจ้าหน้าที่ศาลศาสนาแห่งโบโลญญาชื่อ คุณพ่อโดเมนิโก ดิ ยาร์ญาโม ก็ได้เริ่มทำการสอบสวนกรณีอัศจรรย์ของท่านอีกครั้งอย่างละเอียด และได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นเอกสารอย่างระเอียดเผยแพร่ใน ค.ศ. 1500 เช่นเดียวกับการตรวจสอบทั้งสองครั้งก่อนหน้า คุณพ่อโดเมนิโกยืนยันว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องอุปโลกน์ลวงโลกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเอกสารบางชิ้นได้ระบุว่า สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ได้เรียกให้ท่านไปพบที่กรุงโรม พระองค์ได้ทรงสนทนากับท่าน และเมื่อพระองค์ได้ทรงปรึกษากับบุญราศีโกลอมบา แห่ง รีเอตี ภคินีขั้นสามของคณะโดมินิกัน และเป็นรหัสยิกร่วมสมัยกับท่าน พระองค์ก็ทรงตัดสินว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านไม่ใช่เรื่องอุปโลกน์ และได้ให้ท่านเดินทางกลับไปยังวิเตร์โบ พร้อมขอให้ช่วยสวดภาวนาเพื่อพระองค์ด้วย

ดยุค เอรโกเล ที่ 1 แห่ง เอสเต

ชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านแพร่ขยายไปทั่วอิตาลี จนไปถึงเมืองเฟร์รารา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองวิเตร์โบขึ้นไปทางตอนเหนือราว 370 กิโลเมตร ผู้ปกครองเมืองนั้นชื่อ ดยุค เอรโกเล ที่ 1 แห่ง เอสเต ก็มีความปรารถนาให้ท่านมาพำนักในเมืองของเขา ท่านดยุคจึงได้ขอให้คุณพ่อโดเมนิโก ดิ ยาร์ญาโมเขียนจดหมายเชิญท่านในนามของเขา ให้มาพำนักยังเมืองเฟร์รารา ในฐานะ ‘ที่ปรึกษา’ ของเขา โดยเขายินดีจะสร้างอารามใหม่ให้เป็นที่พักของท่าน เมื่อท่านได้รับจดหมายท่านก็ตอบตกลงในทันที เนื่องจากท่านเองก็ได้มีความปรารถนาที่จะตั้งอารามใหม่ที่มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งคัดมาได้สักระยะแล้ว ดังนั้นท่านดยุคจึงเริ่มส่งเรื่องนี้ไปยังสันตะสำนัก คณะโดมินิกัน และสภาเมืองวิเตร์โบ เพื่อดำเนินการตั้งอารามในเฟร์รารา โดยมีท่านเป็นคุณแม่อธิการ

ทางฝั่งสันตะสำนัก และคณะโดมินิกันไม่มีปัญหากับเรื่องนี้ ยกเว้นแต่สภาเมืองวิเตร์โบที่ไม่ประสงค์ให้ท่านเดินทางออกจากเมืองไป จดหมายลงวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1497 ท่านดยุคได้แจ้งกับท่านว่า เขายินดีกับการตัดสินใจของท่านและกำลังส่งนักพรตสองท่านพร้อมด้วยล่อสองตัวไปรับท่านจากวิเตร์โบ สองเดือนต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม ปีเดียวกัน เมื่อสองนักพรตเดินทางมาถึงวิเตร์โบ อันโตนีโอ เมอี คุณลุงของท่านอีกคนก็มารับท่านกลับไปดูใจมารดาของท่าน ที่กำลังสิ้นใจ ส่วนสองนักพรตเมื่อเดินทางมาถึง ก็ถูกชาวเมืองวิเตร์โบจับไปยังที่ว่าการเมือง และเกือบถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต พวกเขาจึงได้รีบแจ้งให้ท่านดยุคเร่งจัดส่งนายทหารติดอาวุธจำนวน 24 นายพร้อมด้วยม้าชั้นดี 1 ตัวเพื่อมารับท่าน

ตำแหน่งเมืองวิเตร์โบและเฟร์ราราในแผนที่ประเทศอิตาลี

ท่านดยุคจึงได้ให้อเลสซานโดร ดา ฟีโอลาโน หัวหน้านายทหารให้เร่งนำทหารจำนวน 24 นายเดินทางไปยังวิเตร์โบ แต่จากจดหมายของอเลสซานโดรลงวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1498 ก็ทำให้ทราบว่าขณะเขานำกองทหารซ่อนตัวอยู่ที่สักการสถานแม่พระแห่งหนึ่งใกล้ ๆ เมืองวิเตร์โบเพื่อรอรับท่านตามที่นัดหมาย ทหารเมืองวิเตร์โบจำนวนราว 400 นายก็ได้เข้าล้อมพวกเขา และจับพวกเขาทั้งหมดในฐานะเชลย แล้วนำเข้าไปในเมือง ในการไต่สวนเขาพยายามกล่าวว่า พวกเขามาในสันติไม่ได้มีประสงค์ร้ายใด ๆ ต่อเมืองวิเตร์โบ พวกเขาเพียงรอให้นายทหารสองนายที่เข้าไปสวดภาวนาในวัด แต่ผู้ไต่สวนคดีก็ไม่ได้ปลักใจเชื่อ ทั้งได้ไล่ให้พวกเขาเดินทางกลับเฟร์ราราไป พร้อมฝากไปแจ้งให้ท่านดยุก เอรโกเล เลิกล้มความตั้งใจที่จะพาตัวท่านไปเสีย

เรื่องที่ชาวเมืองวิเตร์โบไม่ยอมส่งตัวท่านไปยังเมืองเฟร์ราราร้อนถึงสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ต้องมีคำสั่งในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1948 ให้ส่งท่านมายังกรุงโรม แต่ทางเมืองก็ปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ท่านเดินทางออกไปนอกเมืองตามคำสั่งนี้ ฝั่งท่านดยุค เอรโกเลเองก็ไม่ได้ยอมแพ้ต่ออุปสรรคนี้ ตลอดทั้งปีนั้นเขายังคงเขียนจดหมายอีกหลายฉบับไปยังเมืองวิเตร์โบ เพื่อขอให้ส่งตัวท่านมา เช่นเดียวกับสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 และเจ้าคณะใหญ่คณะโดมินิกัน ก็ต่างส่งจดหมายไปยังเมืองวิเตร์โบอีกหลายต่อหลายครั้งเพื่อให้แจ้งให้พวกเขายอมส่งตัวท่านไปเมืองเฟร์รารา และขู่ว่าหากพวกเขายังไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง พวกเขาก็จะต้องโดนลงโทษ แต่ทางเมืองวิเตร์โบก็ยังคงนิ่งเฉย และยืนยันที่จะให้ท่านพำนักที่เมืองวิเตร์โบต่อไป

ตำราจัดการกับแม่มด มัลเลอุส มาเลฟีการุม

ความขัดแย้งระหว่างเมืองเฟร์ราราและเมืองวิเตร์โบกินเวลามาได้ 2 ปี เพราะชาวเมืองวิเตร์โบไม่ยอมเสียนักบุญของพวกเขาไป ส่วนท่านดยุค เอรโกเลเอง แม้จะต้องสูญทรัพย์และเวลาไปจำนวนมาก เขาก็ยังคงไม่ลดละที่จะนำท่านมาให้ได้ กระทั่งถึง ค.ศ. 1499 ในวันที่ 15 เมษายน ด้วยวัย 22 ปี ท่านที่ปรารถนาจะเดินทางไปยังเมืองเฟร์รารา จึงได้หลบหนีออกจากเมืองวิเตร์โบโดยการนำของนายทหารท่านดยุค ด้วยการแกล้งหลบอยู่ในตระกร้าใส่สินค้าในคาระวานล่อที่ดยุคได้จัดเตรียมมา ท่านหยุดพักที่บ้าน ณ เมืองนาร์นี ก่อนจะออกเดินทางต่อ และมาถึงเมืองเฟร์ราราพร้อมด้วยนางเยนตีลีนา และสตรีใจศรัทธาชาวเมืองนาร์นีจำนวนหนึ่ง ในวันที่ 7 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ท่านดยุค เอรโกเล พร้อมด้วยเหล่าข้ารับใช้ได้ออกมาต้อนรับท่านถึงประตูเมืองในฐานะ ‘ผู้นำฝ่ายจิต’ และ ‘ที่ปรึกษาส่วนตัว’ ของท่านดยุค เขายังได้จัดเตรียมผู้สมัครเข้าอารามใหม่นี้ไว้ 13 คน

ไม่ถึงเดือนหลังท่านเดินทางมาถึงเมืองเฟร์รารา ในวันที่ 2 มิถุนายน ปีเดียวกัน ท่านดยุคจึงได้เริ่มสร้างอารามแห่งใหม่พร้อมวัดเพื่อเป็นเกียรติแด่นักบุญแคทเธอรีน แห่ง ซีเอนาให้กับท่านและคณะ ระหว่างการก่อสร้างอารามที่กินระยะเวลาราวสองปี ในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1500 พระสมณทูตขององค์พระสันตะปาปาก็ได้เริ่มทำการสอบสวนและตรวจสอบปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับท่านเป็นครั้งที่ 4 โดยได้รับความช่วยเหลือจากนักสอบสวนชาวเยอรมัน ผู้เขียนหนังตำราเกี่ยวกับศาสตร์ของแม่มด และกระบวนการจัดการพวกแม่มดชื่อ ‘มัลเลอุส มาเลฟีการุม’ (Malleus Maleficarum) ใน ค.ศ. 1487 ชื่อ คุณพ่อไฮน์ริค ครามาร์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเดินทางจากกรุงโรมไปยังแคว้นโมราเวีย (สาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน) ให้มาร่วมตรวจสอบในครั้งนี้

นักบุญโดมินิก และบุญราศีลูชีอา 

เช่นเดิมผลการสอบสวนก็ออกมาในทำนองเดียวกับการตรวจสอบในครั้งก่อนหน้า และในภายหลังเมื่อคุณพ่อไฮน์ริคเดินทางถึงโมราเวียแล้ว คุณพ่อจึงได้ตีพิมพ์หนังสือคู่มือสำหรับนักเทศน์ในการจำแนกเรื่องนอกรีต ซึ่งมีจดหมายยาวของท่านดยุค เอร์โกเล ลงวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1500 รับรองความน่าเชื่อถือของปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับท่าน และเอกสารรับรองผลการสอบสวนที่เมืองวิเตร์โบลงใน ค.ศ. 1497 ในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1501 และปีเดียวกันนั้นในวันที่ 16 กันยายน คุณพ่อยังได้ตีพิมพ์หนังสือขนาดเล็ก ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์เหนือธรรมชาติของท่านและสตรีชาวอิตาลีผู้ศักดิ์สิทธิ์อีก 3 ราย โดยได้นำจดหมายฉบับใหม่ลงวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1501 ของท่านดยุค เอร์โกเล มาตีพิมพ์พร้อมกับจดหมายอีกสามฉบับจากพระสังฆราชเมืองเฟร์รารา อาดรีอา และมิลาน นอกนี้ยังมีบทกวีถึงสี่หน้ากล่าวยกย่องท่านไว้อีกด้วย ซึ่งเพียง 5 ปีหลังตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือเล่มนี้ก็ได้ถูกแปลไปถึง 3 ภาษา ได้แก่ภาษาละติน ภาษาเยอรมัน และภาษาสเปน

กลับมาที่เมืองเฟร์รารา ในเวลาเดียวกับที่คุณพ่อไฮน์ริคตีพิมพ์เรื่องราวของที่โมราเวีย ในวันที่ 29 พฤษาคม ค.ศ. 1501 สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ก็ทรงมีประกาศแต่งตั้งให้ท่านเป็นอธิการคนแรกของอารามเมืองเฟร์รารา โดยมีสิทธิ์เด็ดขาด ทั้งยังอนุญาตให้อารามของท่านมีสิทธิพิเศษบางประการ หลังจากนั้นในวันที่ 5 สิงหาคม ปีเดียวกัน ซึ่งตรงกับวันฉลองนักบุญโดมินิก ผู้ก่อตั้งคณะ ท่านพร้อมสมาชิกอารามจำนวน 22 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมารดาของท่าน จึงได้ย้ายเข้าไปอาศัยภายในอารามแห่งใหม่ ซึ่งยังคงมีการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จเป็นอารามขนาดใหญ่ ซึ่งมีห้องพิเศษสำหรับท่าน ห้องสำหรับภคินีท่านอื่น ๆ 95 ห้อง และห้องสำหรับนวกะอีก 46 ห้อง ใน ค.ศ. 1503

นางลูเกรชีอา บอร์ยา 

เมื่ออารามแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ท่านจึงได้แจ้งความประสงค์ไปยังท่านดยุคว่าท่านปรารถนาให้อารามแห่งนี้มี สหายของท่านจากทั้งเมืองวิเตรโบและนาร์นี ประจวบเวลากับที่กับลูเกรชีอา บอร์ยา บุตรสาวของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์กับบุตรชายของท่านดยุค เอร์โกเล พอดี ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1501 ท่านดยุคจึงได้ส่งคนถือสารให้ไปแจ้งความประสงค์นี้ของท่านกับนางลูเกรซีอา นางลูเกรชีอาจึงได้จัดหาภคินีจำนวน 11 คนพร้อมด้วยผู้สนใจสมัครเข้าอารามอีกจำนวนหนึ่งส่งมาเป็น ‘ของขวัญส่วนตัวของเธอ’ ให้กับว่าที่พ่อตา ภายหลังจากที่เธอเดินทางมาถึงเมืองเฟร์ราราในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1502 ได้ราวสองสามวัน

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ท่านได้รับของขวัญของนางลูเกรชีอา ซึ่งบางเอกสารระบุว่าเป็นวันที่ 18 มกราคม แต่บ้างก็ระบุว่าเป็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ใน ค.ศ. 1502 สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ก็มีพระประสงค์จะตรวจสอบปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติของท่านอีกครั้ง โดยการตรวจสอบครั้งที่ 5 นี้ พระองค์ได้โปรดให้แพทย์ประจำพระองค์ พระคุณเจ้าแบร์นาโด โบนโยวันนี เด เรกานาตี พระสังฆราชแห่งเวโนซา ให้มาเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบในท่านในท่ามกลางประจักษ์พยาน คือ ข้าราชการทั้งหลาย ทั้งเรื่องของรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ พระพรในการหยั่งรู้จิตใจคนและอนาคต ผลการสอบสวนครั้งนี้ออกมาเป็นเช่นเดิม คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านไม่ใช่เรื่องอุปโลกน์หรือกิจการของปีศาจ


มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งเมื่อท่านเข้าไปในห้องพักของท่านที่อารามหลังใหม่ ท่านได้พบกับนักบวชท่านหนึ่งยืนคอยท่านอยู่ ซึ่งในทันทีท่านทราบว่านักบวชคนดังกล่าวก็คือ นักบุญแคทเธอรีน แห่ง ซีเอนา ที่ท่านเคารพ ท่านจึงได้ล้มตัวลงกราบเบื้องหน้าท่านนักบุญและได้ขอให้ท่านนักบุญช่วยอวยพรอารามหลังนี้ ซึ่งสร้างขึ้นเป็นเกียรติแก่ท่านนักบุญ ฝั่งนักบุญแคทเธอรีนก็รับคำขอของธิดาบุญธรรม และได้เดินนำพรมน้ำเสกไปตามห้องต่าง ๆ โดยมีท่านเป็นผู้คอยถือถังน้ำเสกเดินเคียงข้าง ทั้งสองต่างร่วมกันขับเพลงวันทาดาราสมุทรขณะเดินไปทั่วอาราม กระทั่งการอวยพรเสร็จลงแล้ว นักบุญแคทเธอรีนจึงได้มอบไม้เท้าของท่านนักบุญให้กับท่าน ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงการรับภาระปกครองบ้านหลังนี้ ก่อนท่านนักบุญจะอันตรธานหายไป 

ในวาระอื่นท่านได้แลเห็นบรรดาทูตสวรรค์จำนวนหนึ่งปรากฏขึ้น มีทูตสวรรค์องค์หนึ่งเหมือนเป็นประธานของกลุ่มทูตสวรรค์เหล่านี้ ทูตสวรรค์องค์นั้นมีรูปลักษณ์ที่งดงามกว่าทูตสวรรค์องค์อื่น สวมใส่อาภรณ์สีฟ้าประทับยืนอยู่ท่ามกลางบรรดาทูตสวรรค์ ทูตสวรรค์ตนนั้นได้สั่งให้บรรดาทูตสวรรค์องค์อื่น ๆ ไปประจำอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของอารามเพื่อทำหน้าที่เฝ้าพิทักษ์อารามแห่งนี้ ทูตสวรรค์องค์นั้นกล่าวสั่งว่า “พวกเราจะต้องปกป้องบ้านหลังนี้” เหตุการณ์ทั้งสองที่ยกมานี้ตอกย้ำให้เห็นว่า อารามแห่งเมืองเฟร์ราราเป็นอารามที่ได้รับการอวยพรจากสวรรค์ เป็นดังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนพื้นโลก แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องประกันว่า ปีศาจจะไม่สามารถเข้ามายังอารามแห่งนี้ได้ เพราะหลังการก่อตั้งอารามได้มาถึงสามปี ความชั่วร้ายที่มารูปของความอิจฉาก็ได้ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในอารามอันศักดิ์สิทธิ์นี้ และจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของท่าน


ความศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นที่กล่าวถึงไปทั่วในกลุ่มวงสังคมชั้นสูง เรื่อยมาจนถึงคนชนชั้นล่าง ผู้คนมากมายต่างแวะเวียนมาพบท่าน เช่นเดียวกับที่มีสตรีใจศรัทธาเริ่มทยอยกันมาสมัครเข้าอารามของท่านมากขึ้น โดยรายงานในเดือนกรกฏกาคม ค.ศ. 1502 ได้ระบุว่าอารามนักบุญแคทเธอรีนของท่านมีสมาชิกถึง 72 คน ซึ่งท่านดยุคผู้อุปถัมภ์อารามเองก็ประสงค์จะให้มีมากถึง 100 คน ซึ่งก็ได้ลูกสะใภ้อย่างนางลูเกรชีอาเป็นคนคอยช่วยจัดหาหญิงสาวที่สนใจเข้าอารามร่วมกับท่านอีกแรง ปริมาณสมาชิกในอารามเพิ่มมากขึ้นนี้เอง ทำให้ในไม่ช้าอารามของท่านก็เริ่มเกิดปัญหา ซิสเตอร์บางกลุ่มในอารามเริ่มมีความเห็นว่าท่านในวัย 25 ปี ยังเยาว์เกินไปที่จะเป็นคุณแม่อธิการ บ้างว่าท่านไม่มีความเข้มงวดพอ บ้างก็ว่าวัตรปฏิบัติของท่านเคร่งคัดและรุนแรงเกินจะรับได้ แต่บ้างก็เพียงอิจฉาลาภยศและสิทธิพิเศษที่ท่านได้รับจากผู้คนมากหน้าหลายตา

ต้นตอของปัญหาหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการกระทำของท่านดยุค เอร์โกเล เสียเอง เนื่องจากท่านดยุคนั้นมีความภูมิใจในอารามเขาสร้างขึ้นนี้มาก เขาจึงมักพาแขกที่แวะเวียนมาหาเดินทางมายังอารามนี้อยู่บ่อย ๆ เพื่ออวดผลงานที่เขาภูมิใจเป็นหนักเป็นหนา มีครั้งหนึ่งเขาถึงขั้นพาบรรดาสาวนักเต้นตรงจากงานเลี้ยงในปราสาทมายังอาราม เพื่อขอให้ท่านแสดงรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ให้พวกเขาชม และจะเป็นการดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าท่านจะเข้าฌานให้พวกเขาชมเป็นขวัญตา พฤติกรรมเช่นนี้ของท่านดยุค เอร์โกเล ทำให้อารามที่ควรจะอยู่ในความสันโดษต้องถูกรบกวนอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้สมาชิกในอารามหลายคน ที่ปรารถนาจะเจริญชีวิตนักพรตไม่พอใจ และเริ่มโทษว่านี่คือความผิดของท่าน

พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6

ความไม่พอในกลุ่มของสมาชิกอารามเมืองเฟร์ราราจำนวนหนึ่ง นำไปสู่การรวมตัวกันส่งจดหมายร้องเรียนไปถึงพระสังฆราชประจำเมือง ให้มาจัดการปัญหาเหล่านี้ จนที่สุดสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 จึงมีคำสั่งให้ส่งภคินีคณะโดมินิกัน ซึ่งมีสถานภาพเป็นนักบวชขั้นที่ 2 จากอารามอื่นจำนวน 10 คนไปยังอารามของท่าน เพื่อทำการปฏิรูปอารามในวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1503 การมาถึงของคณะซิสเตอร์เหล่านี้ได้ ซึ่งมีสถานะเป็นนักบวชแท้ และสูงกว่าสถานะนักบวชกึ่งฆราวาสอย่างนักบวชขั้นสามแบบพวกท่าน ถูกอธิบายในเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่า “ได้นำกล้าอ่อนของความขัดแย้งในรูปของผ้าคลุมศีรษะสีดำ” มายังอาราม (ในคณะโดมินิกันสิทธิ์ในการคลุมศีรษะด้วยผ้าสีดำ ได้รับอนุญาตเฉพาะนักบวชขั้นสองเท่านั้น)

เนื่องจากพื้นฐานสมาชิกในอารามที่แตกต่างกัน ฝั่งหนึ่งเป็นกลุ่มของสมาชิกขั้นสอง ในขณะที่ฝั่งหนึ่งก็เป็นสมาชิกขั้นสาม จึงทำให้เกิดเป็นความไม่ลงรอยภายในอารามเมืองเฟร์ราราอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในวันที่ 18 สิงหาคม สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ซึ่งให้การสนับสนุนท่านก็เสด็จสวรรคตลง ท่านจึงถูกปลดลงจากการเป็นอธิการของอาราม เพื่อให้ภคินีมารีอา เด ปาร์มา หนึ่งในซิสเตอร์ขั้นสองที่ถูกส่งมาเมื่อเดือนมีนาคมขึ้นเป็นคุณแม่อธิการอารามแทน ในวันที่ 2 กันยายน หรือเพียงไม่ถึงเดือนภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ทำให้สถานการณ์ภายในอารามของท่านดีขึ้นมาจากอดีต แต่ไม่วายความอิจฉาริษยาที่มีต่อตัวท่าน ซึ่งเจ้าปีศาจได้สร้างขึ้นภายในจิตใจของสมาชิกในอารามบางคนก็ไม่ได้หมดไป เพียงแต่ด้วยสถานภาพทางสังคมโดยทั่วไป ท่านยังเหลือคนที่คอยสนับสนุนท่านอย่างท่านดยุค เอร์โกเล อยู่ ท่านจึงยังเป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คน

ภารดายาโรลาโม ซาโวนาโรลา

แต่แล้วในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1505 เมื่อท่านดยุค เอร์โกเล สิ้นใจลงอย่างกะทันหัน บรรดาสมาชิกในอารามที่ไม่พอใจท่าน เมื่อทราบว่าท่านสิ้นคนหนุนหลังโดยสมบูรณ์แล้ว จึงพร้อมใจกันลุกขึ้นต่อต้านท่านอย่างโจ่งแจ้ง จนนำไปสู่การบีบให้ท่านต้องลงนามในเอกสารขอยกเลิกสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ท่านได้รับทั้งหมด ทั้งต้องยอมที่จะถูกกักบริเวณภายในอาราม และห้ามพูดกับใครในพื้นที่ส่วนตัวโดยไม่มีสมาชิกในอารามอยู่ ณ ที่ตรงนั้น มากไปกว่านั้นคุณพ่อนิกโกโล คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่านยังต้องถูกแทนที่ด้วยคุณพ่อเบเนเด็ตโต ดา มันโตวา ซึ่งไม่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับท่าน ณ เบื้องหน้าผู้แทนเจ้าอธิการคณะโดมินิกัน และนางลูเกรชีอา ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปีนั้นเอง (มีข้อสันนิษฐานหนึ่งได้เสนอว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านถูกลงโทษเช่นนี้ มาจากการที่ท่านให้การสนับสนุนแนวคิดปฏิรูปพระศาสนจักรตามแนวคิดของภารดายาโรลาโม ซาโวนาโรลา ซึ่งปรารถนาให้พระศาสนจักรที่เน่าเฟะในเวลานั้นได้รับการชำระอย่างเปิดเผย)

เมื่อสิ้นคนหนุนหลังไม่ว่าจะเป็นฝ่ายศาสนาและฝ่ายบ้านเมือง ท่านถูกประจานในที่สาธารณะว่า ท่านเป็นคนหลอกลวง ท่านสร้างความศักดิ์สิทธิ์จอมปลอมขึ้นมา เช่นเดียวกับบาดแผลทั้งห้าที่ถูกลือว่า คือรอยแผลศักดิ์สิทธิ์แบบเดียวกับองค์พระเยซูเจ้า โดยกลุ่มของสมาชิกในอารามที่ไม่พอใจท่าน ได้สร้างหลักฐานเท็จว่าพวกเธอได้เห็นท่านใช้มีดเพื่อทำรอยแผลที่มือและเท้าของท่านอยู่ในห้อง ข้อกังขาเหล่านี้ยิ่งทวีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่มือและเท้าของท่านได้หายไป เหลือเพียงรอยแผลที่สีข้างซึ่งท่านซ่อนไว้อย่างมิดชิด ตามคำวิงวอนของท่านที่ปรารถนาจะเจริญชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องยุ่งวุ่นวายกับใคร ผู้คนที่เคยศรัทธาในตัวท่าน จึงต่างคล้องตาม ชื่อของท่านจึงถูก ‘ลบ’ ออกจากเอกสารที่เขียนถึงท่านในเชิงบวก เมื่อมีการตีพิมพ์เอกสารชิ้นนั้นใหม่ สมาชิกในอารามหลายคนต่างมองท่านด้วยความไม่วางใจและเย็นชา ในขณะที่คนอื่น ๆ นอกอารามก็ต่างพากันดูหมิ่นและดูถูกท่าน แตกต่างลิบลับกับในเวลาก่อนหน้าเพียงไม่กี่ปี

บุญราศีกาเตรีนา แห่ง รักโกนีจี

อธิการอารามคนใหม่ได้สั่งให้ท่านเจริญชีวิตใช้โทษบาปของตน ประดุจหนึ่งท่านเป็นคนบาปหยาบช้า โดยกำหนดลำดับชั้นของท่านนั้นต่ำกว่านวกะที่อายุน้อยที่สุด ส่วนสมาชิกในอารามคนอื่น ๆ ที่เคยปฏิญาณตนกับท่าน ก็พากันปฏิญาณตนเสียใหม่กับอธิการคนใหม่ ดังว่าการปฏิญาณตนที่พวกเธอเคยทำไว้กับท่านนั้นไม่สมบูรณ์ ในขณะที่คุณพ่อเจ้าอธิการแขวงโดมินิกัน ซึ่งอารามของท่านอยู่ในเขตดูแล ก็มีคำสั่งไม่ให้สมาชิกในคณะนอกอารามเดินทางมาพบกับท่าน เพื่อไม่ให้คณะต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปมากกว่านี้ ทำให้ในเวลานั้นท่านค่อย ๆ ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของใครหลายคน ซึ่งเคยสรรเสริญยกให้ท่านเป็นนักบุญที่มีชีวิต คงมีเพียง ‘พระเจ้า’ ที่ยังจำท่านได้

ในห้องขังแสงอ้างว้างในอารามที่ท่านก่อตั้ง พระเป็นเจ้า พระมารดา และนักบุญบางองค์ยังคอยเฝ้าแวะเวียนมาหาท่านเพื่อบรรเทาใจท่านอยู่ตลอด หนึ่งในนั้นคือนักบุญที่มีชีวิตร่วมสมัยกับท่านชื่อ ‘บุญราศีกาเตรีนา แห่ง รักโกนีจี’ บุญราศีท่านนี้นักบวชขั้นสามของคณะโดมินิกันชาวอิตาลี เธอมีชะตาชีวิตที่ไม่ต่างอะไรกับท่าน เพราะด้วยเหตุอัศจรรย์มากมาย เธอจึงถูกชาวเมืองตูรินไล่ออกจากเมือง เพราะคิดว่าเธอเป็นแม่มด จนต้องไปสร้างบ้านเล็ก ๆ อยู่ที่เมืองการามัจโนกับเพื่อนอีกสองคน โดยพระเป็นเจ้าทรงได้นำทั้งสองมาพบกันด้วยวิถีทางอันน่าอัศจรรย์ในยามราตรีที่หลายชีวิตกำลังหลับใหล


ท่านเจริญชีวิตอยู่ในเงามืดของอารามเมืองเฟร์รารา ด้วยใจนบนอบต่อความอยุติธรรมยาวนานถึง 39 ปี โดยที่ท่านยังคงมีความเชื่อและไว้ใจในองค์พระเยซูเจ้า เจ้าบ่าวแต่เพียงคนเดียวของท่านเสมอ ท่านไม่เคยบ่นหรือถือโทษอันใด ท่านใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ไปกับการสวดภาวนา จนท่านมีวัยเข้า 67 ปี ท่านก็ล้มป่วยลง แต่ก็ไม่มีสมาชิกในอารามคนใดใยดีที่จะเข้ามาปฏิบัติดูแลท่านเลย แม้พวกเธอที่มีหน้าที่ดูแลบรรดาคนยากไร้ในเมือง ก็ยังปฏิเสธที่จะมาดูแลท่าน พวกเธอทำประหนึ่งท่านเป็นคนโรคเรื้อนที่น่ารังเกียจ ที่สมควรจะถูกปล่อยให้ตายไปเสียตามมีตามเกิด แต่ในขณะที่โลกทั้งใบทิ้งท่านไว้อยู่เบื้องหลัง พระเป็นเจ้าก็ไม่เคยทอดทิ้งท่านไปไหน เช่นเดียวกับชาวสวรรค์ และเหมือนครั้งในวัยเยาว์ นักบุญแคทเธอรีนผู้เป็นมารดาคนหนึ่งของท่าน ก็คอยแวะเวียนมาดูแลบุตรสาวคนนี้อยู่ตลอด มีหลายครั้งซิสเตอร์ในอารามได้เห็นซิสเตอร์ท่านหนึ่งปรากฏมาดูแลท่านที่ป่วยหนัก ร่วมกับซิสเตอร์อีกท่านในอาราม ซึ่งสิ้นใจไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ก่อนหน้านี้อีกด้วย

ไม่นานก่อนท่านจะสิ้นใจ ท่านได้เปิดเผยกับคุณพ่อวิญญาณของท่านว่า พระนางมารีย์ได้ตรัสปลอบประโลมใจท่านว่า “นามของลูกคือความสว่าง เพราะลูกคือบุตรสาวของความสว่างนิรันดร์” ในขณะที่พระเยซูเจ้าเองก็ทรงตรัสกับนักบุญเปาโล (ท่านเห็นในนิมิต) ว่า “เธอ (ลูชีอา) ได้ถูกตรึงกางเขนโดยบรรดาศัตรูใจทุรยศของเธอ บ้างตีไปที่หัว บ้างตีไปที่นิ้ว บ้างก็ชุดกระชากลากเธอไปตามที่ต่าง ๆ และปฏิบัติต่อเธออย่างชั่วช้า บ้างจับเธอโยนลงไปในบ่อน้ำ บ้างทุบตีฟันของเธอให้หักเสีย เธอรับทุกขเวทนาจากทั้งสิ่งเหล่านี้และความเจ็บปวดทั้งหลายด้วยน้ำใจอดทนโดยแท้ เพียงเพื่อความรักของเรา”


ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ใน ค.ศ. 1544 คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ ณ ขณะนั้นก็ได้มีคำสั่งให้ท่านเขียนถึงเรื่องที่ท่านได้รับการไขแสดง ท่านจึงได้เขียนบันทึกสั้น ๆ ซึ่งได้รับการค้นพบในเวลาต่อมาหอสมุดเมืองปาเวีย ใน ค.ศ. 1999 และในปีเดียวกันนั้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน ท่านเมื่อทราบว่าเวลาสุดท้ายของท่านใกล้เข้ามาเต็มที จึงได้ขอให้สมาชิกในอารามมารวมตัวกันรอบเตียงของท่าน ท่านขออภัยพวกเธอสำหรับปัญหาต่าง ๆ ที่ท่านได้สร้างให้กับพวกเธอตลอดชีวิต ท่านได้ให้โอวาทสุดท้ายกับสมาชิกในอารามทุกคน โดยไร้ซึ่งการวิพากษ์วิจารย์ การแก้ต่าง ความโศกเศร้า โอวาทนั้นเป็นเพียงการเตือนใจทุกคน โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่ครบครันของท่าน ให้ทุกคนรักพระ ให้หมั่นแสวงหาแต่สิ่งในสวรรค์ และมีใจมุ่งมั่นจะปฏิบัติตามกฏของอาราม

พระสงฆ์ได้ถูกตามเพื่อมาโปรดศีลเจิมคนไข้ให้กับท่าน และเมื่อได้รับการโปรดศีลเจิมแล้ว ท่านจึงขอให้คุณพ่อจิตตาธิการ ที่เดินทางมาโปรดศีลให้ท่านอย่างพึ่งกลับไป คุณพ่อจึงได้อยู่กับท่านจนถึงเวลาเที่ยงคืน ท่านจึงคืนวิญญาณอันงดงามเป็นเครื่องบูชาแด่พระเป็นเจ้า หลังท่านยกมือขึ้นไปบนอากาศและเปล่งเสียงออกมาว่า “ไปสู่สวรรค์ ไปสู่สวรรค์” ท่านถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบโดยไร้ซึ่งอาการตรีทูตในค่ำคืนของวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1544 ขณะอายุได้ 67 ปี แม้จะเผชิญกับความทุกข์ยากมาครึ่งชีวิต ร่างที่แน่นิ่งของท่านก็ไม่ปรากฏมีความทุกข์ใด มีเพียงรอยยิ้มที่งามกว่ารอยยิ้มไหน ซึ่งใครได้เห็นก็ต้องระอายใจที่จะมอง หากไม่ตระหนักว่าเจ้าของรอยยิ้มนี้ เป็นนักบุญที่มีชีวิตโดยแท้


เสียงร้องเพลงของบรรดาทูตสวรรค์ของพระเจ้าดังขึ้นเหนือห้องของผู้วายชนม์ ซึ่งไม่ใช่เพียงสมาชิกในอารามหนึ่งหรือสองคนได้ยิน แต่ทุกคนต่างล้วนได้ยินเสียงแห่งความยินดีของสวรรค์ เช่นเดียวกับกลิ่นหอมประหลาดที่ตลบอบอวลไปทั่วพื้นที่ ไม่เพียงแต่ในห้องเล็ก ๆ นี้ แต่เป็นทั่วทั้งอาราม เครื่องหมายอัศจรรย์สองประการนี้ ซึ่งไม่อาจหาคำอธิบายได้โดยมนุษย์ ได้ชำระมลทินของท่านทุกประการให้สิ้นไป สมาชิกในอารามซึ่งเคยถูกชักนำให้รังเกลียดท่านจากสมาชิกไม่กี่คน ต่างประจักษ์ถึงความศักดิ์สิทธิ์และความบริสุทธิ์ของผู้วายชนม์เบื้องหน้า พวกเธอจึงเห็นพ้องกันว่าควรประการการสิ้นใจของท่านให้ทราบโดยทั่วกัน และสมควรยิ่งที่จะจัดพิธีปลงศพให้ท่านในวัดน้อยอารามอย่างสมเกียรติ อันเป็นสิ่งเดียวที่พวกเธอทั้งหลายจะชดเชยให้กับความอยุติธรรมที่พวกเธอได้ปฏิบัติต่อท่าน

ทำให้ในไม่ช้าข่าวการมรณกรรมของท่านจึงค่อย ๆ ถูกส่งต่อไปทั่วเมืองเฟร์รารา หลายคนอดประหลาดใจไม่น้อยที่ทราบว่าท่านไม่ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ และหลายคนก็เปลี่ยนความคิดในใจที่มีต่อท่าน และเริ่มตระหนักได้ว่า มีเพียงบุคคลที่เป็นนักบุญแท้เท่านั้น ที่จะเจริญชีวิตอยู่ในความเงียบและความอยุติธรรมด้วยใจสงบราบคาบเช่นนี้ได้ถึง 39 ปี พวกเขาจึงต่างพากันเดินทางมายังอารามนักบุญแคทเธอรีน เพื่อจะได้เห็นและสัมผัสร่างนักบุญของพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย จนเป็นเหตุให้ทางอารามต้องเลื่อนพิธีฝังร่างของท่านออกไปถึง 3 วัน ซึ่งสามวันนั้นนอกจากพวกเขาจะเห็นบาดแผลที่สีข้างของท่านยังมีเลือดไหลซึมออกมา พวกเขายังได้คนป่วยได้รับการรักษา และได้เห็นคนที่ถูกปีศาจสิง ได้รับการช่วยเหลือผ่านผ้าที่สัมผัสร่างของท่านอีกด้วย

ร่างของบุญราศีลูชีอาในปัจจุบัน

ความศรัทธาที่มีต่อท่านนับวันก็ยิ่งทวีขึ้นเรื่อย ๆ จนล่วงมาได้ 4 ปี หลังมรณกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของท่าน จึงได้มีการขุดร่างของท่านขึ้นมา เพื่อนำมาไว้ในบริเวณที่สะดวกแก่ผู้ศรัทธาจะเดินทางมาสวดภาวนา ทำให้ได้พบว่าร่างของท่านนั้นไม่เน่าเปลื่อย ทั้งเมื่อเกิดรอยแผลที่ร่างนั้น ก็กลับมีเลือดสีแดงไหลออกมาพร้อมกลิ่นหอมประหลาด ประหนึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน จึงได้มีการจัดสร้างโลงแก้วเพื่อบรรจุร่างของท่านและตั้งไว้ที่วัดน้อยประจำอาราม ตราบเมื่ออารามของท่านถูกปิดตัวลงตามคำสั่งของจักรพรรดิ์นโปเลียนใน ค.ศ. 1797 จึงได้มีการย้ายร่างของท่านไปรักษาไว้ ณ พระแท่นของนักบุญลอเรนซ์ มรณสักขี ในอาสนวิหารประจำเมืองเฟร์รารา กระทั่งวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 ร่างของท่านจึงถูกเชิญกลับมายังอาสนวิหารประจำเมืองนาร์นี บ้านเกิดของท่าน

ข้ารับใช้พระเจ้าลูชีอาได้รับการประกาศให้เป็นบุญราศี ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1710 โดยอาศัยการรับรองคารวะกิจ (cultus confirmation) ที่มีต่อท่านของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 11 ลักษณะการแต่งตั้งเช่นนี้ เป็นการแต่งตั้งโดยไม่ได้มีการยื่นกรณีอัศจรรย์ที่เกิดผ่านคำเสนอวิงวอนประกอบ เหมือนในกรณีของการสถาปนาบุญราศีและนักบุญโดยทั่วไป แต่เป็นไปตามกฤษฎีกาชื่อ ‘กาเอเลสติส เยรูซาเลม ซีเวส’ (Caelestis Hierusalem Cives) ของสมเด็จพระสันตะปาปาอูร์บันที่ 8 ใน ค.ศ. 1634 ซึ่งมีใจความห้ามแสดงคารวะกิจต่อนักบุญในที่สาธารณะ เว้นเสียคารวะกิจนั้นจะได้รับอนุญาตโดยสมณะกระทรวงว่าด้วยจารีต (Congregation of Rites) และพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นได้รับการแสดงคารวะกิจโดยสาธณชนมาอย่างน้อย 100 ปี ก่อนจะมีการประกาศกฤษฎีกาฉบับนี้ ลักษณะการแต่งตั้งเช่นนี้ไม่ได้มีเพียงกรณีของท่าน เพราะก็มีนักบุญหลายท่านที่เราคุ้นเคย ในขั้นของการขึ้นเป็นบุญราศีก็อาศัยการรับรองคารวะกิจ ก่อนที่จะมีการสถาปนาเป็นนักบุญอย่างเป็นทางการเมื่อมีอัศจรรย์ประกอบ อาทิ นักบุญอังเยลา เมดิชี นักบุญฮวน ดิเอโก นักบุญเบียตริซ ดา ซิลวา นักบุญริตา แห่ง กัสชา นักบุญฌาน แห่ง วาลัว เป็นต้น


จากชีวิตของบุญราศีลูชีอา ชาวนาร์นี ชวนให้เราได้ลองไตร่ตรองว่า อะไรหรือสิ่งใดกันหนอ ที่ทำให้บุญราศีลูชีอาสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต โดยเฉพาะในช่วงชีวิตสุดท้าย ที่ท่านต้องกลายเป็นเหมือนบุคคลที่โลกปฏิเสธ ไร้ญาติ ขาดมิตร กลายเป็นคนแปลกหน้าในท่ามกลางคนรู้จักมา และยืนหยัดในความเชื่อจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตได้ โดยไม่ได้บ่นว่าหรือหันหนีไปจากพระเจ้า คำตอบนั้นอาจอยู่ในข้อพระคัมภีร์จากพันธสัญญาเดิม 2 ข้อความ คือ สดุดีถ้อยหนึ่ง ที่ผู้เขียนหนังสือดังกล่าวได้สดุดีพระเจ้าว่า “พระยาห์เวห์จะไม่ทรงทอดทิ้งประชากรของพระองค์ จะไม่ทรงละทิ้งมรดกของพระองค์” (สดุดี 94: 14) และพระวาจาของพระเป็นเจ้าเองที่ทรงตรัสกับประชากรของพระองค์ ในหนังสือประกาศกฮักกัย เมื่อทรงปลอบประโลมชาวอิสราเอลที่กำลังทุกข์ทนว่า “เราอยู่กับท่านทั้งหลาย … จงทำใจให้ดีเถิด” (ฮักกัย 1: 13 , 2: 4)

อาศัยการรับศีลล้างบาป บุญราศีลูชีอาตระหนักดีว่าท่านได้กลายเป็นประชากรของพระเจ้า และโดยวิถีทางดุจ ที่พระเป็นเจ้าทรงสัญญาไว้กับชาวอิสราเอล เมื่อออกทรงนำพวกเขาออกจากแผ่นดินอิยิปต์ ว่าจะไม่ทรงละทิ้งพวกเขาไปไหน (เทียบ ฮักกัย 2: 5) ท่านจึงมั่นใจว่าอาศัยการที่พระเยซูเจ้าทรงนำมนุษย์ออกจากการเป็นทาสของบาป ด้วยการสิ้นพระชนม์ พระสัญญานี้ก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ชาวอิสราเอล แต่ยังรวมถึงมนุษย์ทุกคนที่ตอบรับการไถ่กู้ครั้งนี้ ดังนั้นเมื่อท่านพบปัญหาและความทุกข์ยากมากมาย โดยเฉพาะการถูกตราหน้าว่าเป็นคนหลอกลวงกว่าสามสิบปี ท่านจึงยังคงมอบหัวใจทั้งดวงไว้กับพระเจ้า และพบกำลังใจที่จะฟันฝ่าความยากลำบากมาได้ นั่นเพราะท่านมั่นใจว่า แม้โลกทั้งใบจะทิ้งท่านไป แต่พระเจ้าของท่านนั้นไม่เคยละทิ้งท่าน และตรัสกับท่านเช่นเดียวกับที่ตรัสกับชาวอิสราเอล ผ่านประกาศกฮักกัยว่า “เราอยู่กับท่านทั้งหลาย จงทำใจให้ดีเถิด” สุดท้ายนี้ขอให้เมื่อเราคริสตชน เมื่อพบความทุกข์ยากต่าง ๆ ในชีวิตเนรเทศนี้ ให้เราได้มีพระพรที่จะเลียนแบบบุญราศีลูชีอา ในการที่จะมอบ ‘หัวใจ’ ทั้งหมดให้กับพระเจ้า และ ‘เชื่อมั่น’ ว่า พระเป็นเจ้าจะไม่ทรงทอดทิ้งเราไปไหน ทั้งได้ยินเสียงเดียวกันที่ว่า “เราอยู่กับท่านทั้งหลาย จงทำใจให้ดีเถิด” อาแมน


"ข้าแต่ท่านบุญราศีลูชีอา แห่ง นาร์นี ช่วยวิงวอนเทอญ"

รายการอ้างอิง

Bernardo Sastre Zamora. La reina Lucy, de las Crónicas de Narnia, existió de verdad y era dominica. accessed July 19, 2021. available from https://www.dominicos.org/noticia/lucy-cronicas-de-narnia-dominica/
Blessed Lucy of Narni. accessed July 19, 2021. available from https://catholicsaints.info/blessed-lucy-of-narni/
Blessed Lucy of Narnia. accessed July 19, 2021. available from http://www.narnia.it/lucia_eu.htm
Franco Mariani. Beata Lucia (Broccadelli) da Narni. accessed July 20, 2021. available from http://www.santiebeati.it/dettaglio/90818
Georgiana Fullerton. Blessed Lucy of Narnia. accessed August 2, 2021. available from http://www.narnia.it/lucia1_eu.htm
Lucia Broccadelli da Narni. accessed July 18, 2021. available from https://it.wikipedia.org/wiki/Lucia_Broccadelli_da_Narni
Lucy Brocadelli. accessed July 18, 2021. available from https://en.m.wikipedia.org/wiki/Lucy_Brocadelli
Roberto Tarquini. Lucia da Narni. accessed August 2, 2021. available from https://cattedraledinarni.weebly.com/lucia-da-narni---don-roberto-tarquini.html
Stephen Bullivant. The real Blessed Lucy of Narnia was even more amazing than CS Lewis’s imagination. accessed July 19, 2021. available from https://catholicherald.co.uk/the-real-blessed-lucy-of-narnia-was-even-more-amazing-than-cs-lewiss-imagination/

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...