วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กุหลาบที่ยิ่งใหญ่อีกดอกแห่งภูเขาคาร์แมล "ซิสเตอร์มารี เทเรเซีย"


ซิสเตอร์มารี เทเรเซีย แห่ง พระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์
Sister Mary Theresia of the Holy Trinity

หมู่บ้านฟาซเซ็น เมืองอาเพลโดร์น ประเทศเนเธอร์แลนด์ วันที่ 13 พฤศจิกายน ค..1897 เทเรเซีย เอจส์ซูเดค์ ได้ถือกำเนิดขึ้น  ในฐานะบุตรีหัวปลีจากห้าคนของนายคราดุซ เอจส์ซูเดค์ กับ นางโยฮันนา สโคลเท็น แต่น่าเศร้าที่ไม่นานหนูน้อยก็ป่วยจนถึงขั้นเกือบตาบอด แต่ผ่านคำภาวนาต่อภาพนักบุญอันตนที่วัดใกล้ๆบ้าน ของมารดาอย่างร้อนรน ในวันนั้นดวงตาที่ป่วยก็ถูกแทนด้วยดวงตาอันงดงามเมื่อมารดาได้กลับมาจากวัดและมองดูบุตรีในเปล

เราอาจบอกได้ว่าท่านเป็นเด็กขี้โรค ท่านมีตุ่มเต็มตัวเกือบตลอดเวลา แต่กระนั้นตั้งแต่เยาว์วัยท่านก็พยายามทรมานตนเองและยืนอยู่เงียบๆเพื่อความรักของพระเจ้า จนหลายๆครั้งท่านจึงมักถูกเหน็บแหนมจากคนรอบตัวท่านเองว่า อา บางทีเธออาจต้องไปเข้าอารามนะ



จากนั้นพออายุได้ราวๆสามปีบิดาของท่านก็พาครอบครัวท่านย้ายไปอยู่เมืองอ็อคโทป ประเทศเยอรมัน ที่บิดาท่านได้งานทำ ทำให้ท่านได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่บริหารโดยซิสเตอร์ ซึ่งส่งให้ท่านเติบโตมาท่ามกลางความเชื่อบนโลกแห่งความสุข แต่แล้วฝันร้ายแท้จริงก็ฉีกกระชากความสุขของท่านเมื่อบิดาท่านประสพอุบัติเหตุกับเครื่องจักรจนนิ้วหัวแม่มือขาด ซึ่งพัฒนาเป็นอาการโลหิตเป็นพิษและพรากบิดาท่านไปอย่างไม่มีวันหวนกลับในขณะที่ท่านมีอายุเพียงเก้าปีเท้านั้น

มารดาของท่านใช้เวลาไว้ทุกข์ประมาณปีหนึ่ง ก็ตัดสินใจพาครอบครัวกลับมายังประเทศเนเธอร์แลนด์และได้เข้าพิธีสมรสอีกครั้งกับนายเฮรมานุส อัลเบอรตุส ติเชเลอร์ เมื่อพิสูจน์ได้ว่าเขาสามารถที่จะเป็นพ่อเลี้ยงที่ดีแก่ครอบครัวน้อยๆนี้ พร้อมย้ายมาอยู่ที่เมืองเอ็นสคีเด เช่นกันทีเมืองนี้ท่านก็ได้เข้าโรงเรียนของอาราม ที่ยามใดก็ตามเมื่อโรงเรียนเลิกเท่าที่ทำได้ท่านก็จะรีบวิ่งตรงไปที่วัดใกล้ๆ เพื่อใช้เวลาในการเฝ้าศีล และเช่นเด็กทั่วไปท่านก็ย่อมมีการเล่นที่ชอบ ซึ่งมันก็คือการเล่นเป็น ซิสเตอร์ อันคือกระแสเรียกที่ท่านมีอย่างร้อนรน



แต่การจะไล่ตามกระแสเรียกของท่านนั้นช่างยากนะเพราะพ่อเลี้ยงไม่ต้องการปล่อยท่านไป นอกจากนั้นยังสุขภาพของท่าน  ท่านจึงขอคำแนะนำจากคุณพ่อวิญญาณก็บอกให้วางเรื่องนี้ไว้ในพระหัตถ์เปี่ยมรักของพระเจ้า และแน่นอนว่าไม่มีอะไรขัดขวางน้ำพระทัยของพระเจ้าได้ ซึ่งไม่นานหลังจากนั้นบิดาเลี้ยงท่านก็ได้ไปคุยกับเพื่อนบ้านและได้สนทนากันเรื่องลูกๆของพวกเขา กระทั้งมาถึงเรื่องของท่านบิดาเลี้ยงก็ได้กล่าวว่าท่านต้องการเข้าอาราม แต่ตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่เขาก็จะไม่ยอมปล่อยให้ท่านไป ทันทีเพื่อนบ้านก็บอกกับเขาว่า ไม่เลยนะ ฉันจะไม่ทำเช่นนั้นเลย ถ้าหนึ่งในลูกๆของฉันอยากไป ฉันก็จะปล่อยให้เขาไปในทันที ทันทีหลังจากกลับบ้านเขาก็พูดกับท่านอย่างตรงๆว่า เทเรเซีย ถ้าลูกต้องการเข้าอาราม ก็ได้เลย ตอนนี้ความสุขก็พลันแล่นเข้าสู่ดวงใจของท่าน เพราะแพทย์ก็ได้ออกใบรับรองเชิงบวกให้ท่าน เหตุที่ว่าช่วงปีนั้นตุ่มของท่านก็หายแล้ว

และเมื่อได้รับความยินยอมแล้ว ท่านก็ได้สมัครเข้าคณะคาร์เมไลท์แห่งพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้าที่เมืองทิลเบริก ในปี ค..1917 ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งกำลังซาซัดเข้ามารอบๆประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำให้มีเด็กกำพร้ามากมายให้ซิสเตอร์ได้ดูแล จากนั้นขณะเป็นเป็นผู้เตรียมบวชของคณะท่านก็ได้รับอนุญาตให้เลือกนามในการปฏิญาณตนของท่าน ท่านจึงเลือกนามว่า ซิสเตอร์มารี เทเรเซีย ถัดมาในปี ค..1918 ขณะใกล้เข้าพิธีปฏิญาณตนในฐานะนวกะเณรี ท่านก็ได้รับสิทธิ์ให้เลือกนามอีกครั้ง แต่ท่านก็ยังคงหนักแน่นต่อนามนี้ดังนั้นท่านจึงได้รับนามว่า ซิสเตอร์มารี เทเรเซีย แห่ง พระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์



ชีวิตแห่งการเป็นธรรมทูตของท่านเริ่มขึ้น ขณะเป็นนวกะเณรีเมื่อบรรดานวกะเณรีถูกถามว่ามีใครยินดีจะไปเป็นธรรรมทูตไปยังประเทศอเมริกาหลังจากปฏิญาณตน และทันทีท่านตอบรับ ด้วยเหตุที่มันเป็นงานที่ท่านใฝ่ฝันไว้ตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นพิธีปฏิญาณตนในปี ค..1917 ท่านก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกคัดเลือกพร้อมซิสเตอร์อีกเจ็ดคนของคณะ ให้ลงเรือกลไฟที่มุ่งตรงสู่ดินแดนนามอเมริกาที่บุญราศีมารีอา เทเรซา แห่ง นักบุญยอแซฟผู้ตั้งคณะได้ก่อตั้งบ้านเด็กกำพร้าและสูงอายุไว้จำนวน 11 หลังตั้งแต่ปี ค..1912

หน้าแรกในดินแดนอเมริกาของท่านเริ่มขึ้นเมื่อท่านขึ้นฝั่งที่นิวยอร์ก ท่านก็ได้ไปทำงานที่บ้านคณะที่ชิคาโกตะวันออก ซึ่งที่นี่ท่านก็เริ่มมีอาการเจ็บป่วยเป็นระยะๆไปตลอด ทำให้จึงมีการย้ายท่านไปที่อารามที่เป็นบ้านพักคนชราที่เคโนชา รัฐวิสคอนซิน ใกล้กับทะเลสาบมิชิแกนเพราะเชื่อว่าท่านป่วยด้วยอากาศจากอุสาหกรรมที่ชิคาโก ซึ่ง ณ ที่นั่นท่านก็มีโอกาสได้แสดงคำอำลาในโอกาสกลับบ้านแม่ของคณะ ที่ประเทศฮอลแลนด์ของคุณแม่มารีอา เทเรซา ในเดือนกรกฎาคม ค..1920  หลังจากคุณแม่เดินทางมาตั้งคณะในอเมริกาอยู่หลายปี



แม้จะมีอาการป่วยออดๆแอดๆอยู่เสมอ ท่านก็ยังคงซ่อนความทุกข์ทรมานภายนอกนั้นไว้เท่าที่เป็นไปได้ และช่วยงานในบ้านคณะเท่าที่ท่านทำได้ พร้อมเรียนภาษาอังกฤษ ด้วยเหตุที่ท่านมาอเมริกาทั้งที่ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับภาษาอังกฤษเลยซักนิดยามเมื่อมาถึงแผ่นดินอเมริกา โปรดภาวนาให้ดิฉันเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้เร็วๆด้วยนะคะ ท่านเขียนถึงคนในครอบครัวที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ดิฉันกังวลมากๆที่จะเยี่ยมบ้านและทำงานธรรมทูตแท้จริง พร้อมชนะวิญญาณทั้งหลายเพื่อพระเจ้า

แต่หลังจากนั้นท่านก็ล้มป่วยหนักเหมือนเป็นโรคไขข้ออักเสบที่แพร่ไปทั่วร่างกายของท่าน ชนิดที่ว่าท่านแทบจะไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวได้เวลาอาการปวดกำเริบ ประการนี้ท่านจึงถูกกลับไปที่บ้านแม่ของคณะที่เวาวาโทซา ซึ่งท่านสามารถช่วยดูแดเด็กทารกได้ระยะหนึ่ง แต่เพื่ออากาศที่อบอุ่นท่านจึงถูกส่งไปที่เซนต์ชาลส์ รัฐมิสซูรี พร้อมหน้าที่ใหม่ในครัวของอารามที่ท่านทำด้วยความสุข แต่บ่อยครั้งบรรดาซิสเตอร์ก็จะเห็นท่านกัดฟันแน่นหรือเบ้ปากเพราะความเจ็บปวด แต่ทันทีที่ท่านเห็นว่ามีคนเห็นท่านก็จะหัวเราะอย่างขับขันแบบที่ว่าไม่เคยเกิดอะไรขึ้นเมื่อตะกี้เลย ท่านไม่ต้องการออกจากสำนักงาน(ครัว)ของท่านเลย



ที่สุดท่านก็ถูกพบว่าป่วยเป็นโรคไตในหกสัปดาห์ก่อนวันคริสต์มาส ปี ค..1922 หลังจากนั้นหลังวันคริสต์มาสท่านก็ถูกส่งไปโรงพยาบาลเซนต์ หลุยสื เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างระเอียด และพบว่าไตข้างหนึ่งของท่านเต็มไปด้วยหนองจนใช้การอะไรไม่ได้นอกจากต้องตัดทิ้งเสีย ดังนั้นในวันที่ 6 มีนาคม ปีถัดมาท่านจึงถูกส่งเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเซนต์ ชาลส์  แต่ทุกคนก็ต้องประหลาดใจกับไตของท่านทั้งแพทย์และคนอื่นๆ พยาบาลท่านหนึ่งบอกเลยว่าท่านทุกข์พอแล้วสำหรับสวรรค์ นอกจากนั้นซิสเตอร์ที่อยู่ข้างตอนให้ยาสลบท่าน ก็ได้ยินท่านเอ่ยพระนามของพระเยซูเจ้าตลอด และหลังการผ่าตัดท่านก็พูดติดตลกว่า เรียบร้อนชัวร์ๆ เธอคือเทเรซาแห่งพระเยซูเจ้าท่านยังคงอยู่ที่นั่นอีก 6 สัปดาห์โดยไม่เคยบ่นมีพยานมากมายรวมทั้งแพทย์ที่รักษาท่าน ที่ถึงกับกล่าวชื่นชมความอดทนของท่าน

และหลังจากนั้นท่านก็กลายเป็นคนป่วยอย่างสมบูรณ์ไปวันๆในบ้านคณะที่เซนต์ชาลส์ แต่ก็ยังคงต้องทนกับความเจ็บปวดเป็นเวลานาน ทำให้ท่านนอนไม่ค่อยหลับหลายๆคืน พยาบาลที่ดูแลท่านกล่าวว่า มันจะไม่แปลกอะไรเลย ถ้าวันหนึ่งเราจะพบซิสเตอร์เทเรเซียจากไปอยู่บนเตียง แต่เพียงไม่นานในฤดูร้อนอาการก็ทุเลาลงบ้าง ท่านจึงเริ่มทำงานบาอย่างอีกครั้ง จากนั้นท่านก็ได้มีโอกาสได้ปฏิญาณตนตลอดชีพที่นั่นในปี ค..1924 แม้จะเจ็บป่วยท่านก็ยังคงทำงานตามที่ทำได้อย่างไม่หยุดหย่อน ท่านไม่เคยบ่นเลยซักครั้ง พร้อมถวายความทุกข์ทรมานของท่านอย่างเงียบๆต่อพระเจ้า เหมือนบุตรีแห่งคาร์แมลแห่งลีซีเออร์



จากนั้นในเดือนพฤษภาคม ค..1925 อยู่ๆท่านก็กล่าวกับคุณแม่อธิการว่า ตอนนี้ลูกไม่สามารถทำต่อไปได้แล้ว ลูกกำลังนั่งอยู่บนด้านบนของบันไดและไม่สามารถทำต่อไปด้วยความเหนื่อยหล้า(ขัดฝุ่น) ยามมันดูเหมือนลูกที่บางคนพูดกับลูกว่า แค่เวลาอีกนิดหนึ่ง ทำให้ลูกเข้มแข็งพอที่จะมีกำลังทำมันจนเสร็จ(ปัดฝุ่น)ทั้งบันได คุณแม่อธิการจึงกำชับท่านว่า ดีแล้ว จากนี้ไป ลูกไม่ต้องแตะ(หรือทำ)อะไรอีกต่อไปแล้วนะ แต่ถ้าลูกยังพอทำอะไรได้ ก็จงเพียงแต่ทำงานที่เกินกำลังน้อยๆหน่อย(อาทิ เย็บปักถักร้อย)”

และเมื่อแพทย์ตรวจท่านอีกครั้งเขาก็ยืนยันว่าท่านคงจะมีชีวิตได้อีกราวสี่สัปดาห์ ในตอนนี้ความแข็งแรงของท่านก็เริ่มลดน้อยลงไปชนิดที่เห็นได้ชัดเลยทีเดียว ทำให้ต้องอยู่ที่ห้องแต่เพราะห้องท่านมีอากาศที่ร้อนอบอ้าวนั้น ท่านจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันไปกับการนั่งๆนอนๆอยู่ในสวนของระเบียงทางเดินอาราม ซึ่งถ้ามีโอกาสท่านก็จะทำงานเย็บปักถักร้อยไปจนบ่อยครั้งเข็มจึงมักตกจากมือท่าน แต่เมื่อฤดูร้อนอันแสบอบอ้าวใกล้จะจบลงเต็มที ท่านก็กลับไม่สามารถลงมาที่สวนได้อีก แต่อย่างไร ท่านก็ยังลงมาร่วมมิสซาทุกวันเสมอ จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม ในวันฉลองนักบุญเทเรซา แห่ง อาวิลา นับจากนั้นพระสงฆ์ก็จะขึ้นไปส่งศีลท่านเสมอ ท่านไม่เพียงแต่ต้องทุกข์ทรมานภายนอกเท่านั้น แต่ความทุกข์ภายในของท่านก็มิได้ขาดหายไปไหน



ท่านมีความรักต่อนักบุญเทเรซา แห่ง พระกุมารเยซู ซึ่งในวาระฉลองการประกาศนามบุตรีคาร์แมลแห่งลีซีเออร์เป็นนักบุญในวันที่ 17 พฤษภาคม ค..1925 บรรดาซิสเตอร์ก็ต่างพากันจัดนพวารเพื่อให้ท่านหาย และในช่วงบ่ายวันนั้นซิสเตอร์คนหนึ่งก็ได้แนะนำให้ท่านไปสวดภาวนาหน้ารูปของบุตรีแห่งลีซีเออร์ หลังจากภาวนาท่านก็กลับมาพร้อมเล่าว่า ดูเหมือนว่าดิฉันจะได้ยินเสียงจากท่านว่าดิฉันจะไม่หาย ดิฉันจะมีชีวิตอยู่ในเพียงเวลาสั้นๆ แต่ดิฉันยังต้องทนทุกข์ทรมานอีกมาก

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค..1926 ตรงตามที่ธิดาแห่งลีซีเออร์บอกไว้ สุขภาพท่านก็เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ จนต้องถูกส่งไปโรงพยาบาลในวันที่ 6 มีนาคม ท่านกล่าวว่า นี่คือการเสียสละครั้งสุดท้ายที่พระเจ้าผู้แสนดีทรงเรียกดิฉัน อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 มีนาคม ค..1926 อาการท่านก็ทรุดหนักลงจนถึงขั้นโรงพยาบาลต้องโทรแจ้งไปยังอาราม ทันทีซิสเตอร์สองคนจึงรีบรุดมาและถึงโรงพยาบาลในเวลาบ่ายสอง ซึ่งมันเป็นความยินดีของท่านที่จะได้เห็นพี่น้องที่รักของท่านอีกครั้ง



ทันทีพวกเขาจุดเทียนและนำสายจำพวกวางที่ไหล่ของท่าน พร้อมให้ท่านรื้อฟื้นคำปฏิญาณเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มสวดบทเพื่อผู้ตายซึ่งท่านคอยตอบรับตลอดด้วยเสียงน้อยๆเพราะความอ่อนแอ ประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อนท่านจะจากไปเห็นจะได้ท่านก็กล่าวขึ้นว่า โอ้ ตอนนี้ดิฉันรู้สึกไม่ดีเลย หลังจากนั้นท่านก็กล่าวอย่างเหยงๆอีกว่า อะไรกันจะเกิดขึ้นในวันนี้คะ ทันทีคุณแม่อธิการก็ตอบท่านว่า องค์พระผู้ช่วยให้รอดผู้พระทัยดีจะมาและรับลูกไปยังสวรรค์ในวันนี้ ตอนนี้เสียงท่านดูอ่อนแรงมากขึ้น

ที่สุดเพียงห้านาทีก่อนเวลาสิบแปดนาฬิกาในวันนั้น ในวัยเพียง 28 ปี ในโรงพยาบาลเซนต์ หลุยส์ ท่านก็ได้ละลมหายใจสุดท้ายจากโลกนี้ไปอย่างสงบเหมือนทารกที่ผลอยหลับไปในอ้อมอกมารดา ร่างของท่านได้พักกายอย่าสงบในสุสานของคณะที่มิลวอกี ท่ามกลางความสุขภายในของทุกคนในอาราม หลังจากนั้นก็มีรายงานว่าเพื่อนซิสเตอร์ของท่านว่าท่านได้ประจักษ์มาหาเธอแล้วบอกว่าท่านอยู่บนสวรรค์แล้ว และท่านจะตอบแทนทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านได้รับจากคณะนี้ ไม่นานก็เป็นดังนั้นโดยเริ่มจากคำวิงวอนของซิสเตอร์ที่ดูแลท่านที่เซนต์ชาลส์ ก่อนกระจายไปทั่วบ้านของคณะทั้งในอเมริกาและยุโรป



บิดาของท่านเล่าในหนังสือที่ตีพิมพ์หลังจากเจ็ดปีมรณกรรมของท่านว่าเมื่อเสื้อผ้าของท่านถูกวางเหนือผู้ป่วยในทันทีผู้ป่วยคนนั้นก็จะได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็ว รวมถึงเกษตรกรรายหนึ่งซึ่งประสพอุบัติเหตุจากม้า เด็กชายที่ติดเชื้อจนสูญเสียการได้ยิน เป็นต้น นอกจากนั้นบุญราศีมารีอา เทเรซา เชื่อเสมอว่าท่านคือนักบุญ คุณแม่มักวิงวอนผ่านท่านและก็ได้เสมอ คุณแม่กล่าวในจดหมายหนึ่งว่า ดิฉันเชื่อว่าซิสเตอร์มารี เทเรเซียที่รักจะอวยพรคุณที่นั่น คุณแม่กล่าวว่าท่านคือรูปแบบของความศักดิ์สิทธิ์ที่ควรยึดถือ

ความรักอยู่ที่ว่าพระเจ้าทรงรักเรา และทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อชดเชยบาปของเรา มิใช่อยู่ที่เรารักพระเจ้า(1 ยอห์น 4:10) เช่นกันท่านไม่เพียงแต่รักพระเจ้าแต่ท่านยังรักทุกคนเพราะท่านตระหนักถึงความรักของพระเจ้าดี ท่านจึงได้ตัดสินใจไปเป็นธรรมทูตในดินแดนที่ท่านไม่รู้จัก ไม่รู้ภาษา สุขภาพแย่ แม้จะกังวลใจอยู่บ้างแต่ท่านก็ไปเพื่อพระเจ้า ด้วยความวางใจ แม้จะเป็นชีวิตที่สั้นๆ ท่านก็ได้แสดงออกถึงความวางใจ และความรักในพระอย่างเต็มเปี่ยม ชนิดน่ายกย่องเป็นแบบอย่างเลยทีเดียว


ข้าแต่ท่านซิสเตอร์มารี เทเรเซีย แห่ง พระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ ช่วยวิงวอนเทอญ

ข้อมูลอ้างอิง

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การพบปะของมารดาผู้ทุกข์ทน


การพบปะของมารดาผู้ทุกข์ทน

ตามคำบอกเล่าของบุญราศีแอน แคทเทอรีน อัมเมอริก ภคินีชาวเยรมัน ผู้ได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์

หลังจากนั้นแม่ผู้ทุกข์ใจก็ได้ออกจากศาล พร้อมกับยอห์นและสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง ทันทีที่ประโยคอันอยุติธรรมได้ถูกประกาศขึ้น จากนั้นแม่ก็ได้ใช้เวลาตัวของแม่เองเดินตามสถานทรมานของพระบุตรและรินรดสถานที่เหล่านั้นด้วยหยาดน้ำตาของแม่ แต่เมื่อเสียงแตร การวิ่งของผู้คนและเสียงอึกทึกของม้าประกาศการเริ่มต้นของขบวนสู่กัลวาลิโอ แม่ก็ไม่สามารถที่จะอดกลั้นความปรารถนาของแม่ที่จะได้เห็นพระบุตรที่รักของแม่อีกครั้ง แม่ได้ขอร้องยอห์นให้พาแม่ไปยังสถานที่ที่พระบุตรทรงต้องผ่าน

ยอห์นจึงพาแม่ไปยังพระราชวัง ซึ่งมีประตูที่ถนนที่พระบุตรต้องตัดผ่านหลังพระองค์ทรงหกล้มครั้งแรก ดิฉันเชื่อว่าที่นั่นน่าจะเป็นที่อาศัยของมหาสมณะคายาฟาส ซึ่งมีศาลอยู่ตรงส่วนที่เรียกว่าซีโอน ที่นั่นยอห์นได้ขอและได้รับอนุญาตจากข้าราชการผู้ใจดีให้สามารถยืนอยู่ ณ ทางเข้ากับแม่และสหายของแม่



ในตอนนี้แม่ดูซีดเซียว ตาของแม่แดงกล่ำด้วยการร่ำไห้ แม่คลุมผ้าอย่างมิดชิดด้วยผ้าคลุมสีฟ้าเทา เสียงเอ็ดตะโรและดูถูกจากฝูงชนที่โกธรเกรี้ยวได้ยินมาแทบจะชัดถ้อยชัดคำ ผู้ส่งสารประกาศด้วยเสียงอันดังว่า เจ้าผู้ร้ายสามคนนี้กำลังจะถูกตรึงกางเขนแล้ว จากนั้นบ่าวรับใช้จึงเปิดประตูทันทีเสียงอันน่าสะพรึงกลัวก็ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้นทุกขณะ แม่ทิ้งตัวแม่คุกเข่าลง และหลังจากสวดภาวนาอย่างร้อนรน แม่จึงหันไปหายอห์นแล้วถามว่า แม่ควรจะอยู่ต่อดีไหม? หรือแม่ควรจะไปเลยเสียดีไหม? แม่จะมีพลังพอประคองตาได้หรือ?”  ยอห์นจึงตอบแม่ว่า ถ้าแม่ไม่อยู่จนเห็นพระองค์ผ่าน แม่จะเสียใจในภายหลังนะครับ

ดังนั้นพวกเขาจึงยังคงยืนอยู่ที่ใกล้ประตู พร้อมสายตาที่จ้องมองไปที่ขบวนซึ่งยังอยู่ห่างนัก ที่ค่อยเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ จนเมื่อบรรดาผู้กำลังแบกเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อใช้ตรึงกางเขนเดินเข้ามาใกล้ แม่ก็ได้เห็นความอวดดีและสายตาแห่งชัยชนะของพวกเขา แม่ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของแม่ได้ แม่ได้แต่พนมมือของแม่ราวกับวิงวอนขอความช่วยเหลือจากสวรรค์ หนึ่งในบรรดาทหารจึงได้กล่าวกับสหายของเขาว่า อะไรกันหรือที่ทำให้หญิงผู้นี้คร่ำครวญกันเล้า สหายเขาจึงตอบไปว่า อ้อ หล่อนคือแม่ของเจ้ากาลิลีน่ะ



เมื่อเจ้าคนโหดร้ายที่ช่างห่างไกลจากคำว่าเห็นใจเสียนี่กระไรได้ยินดังนั้นแล้ว พวกเขาก็เริ่มการละเล่นกับความเศร้าของแม่ พวกเขาชี้ไปที่แม่ หนึ่งในนั้นได้เอาตะปูสำหรับตอกพระบุตรกับไม้กางเขนไปถวายแม่อย่างดูถูก แต่แม่เบือนหน้าหนี ไปมองแต่พระบุตรของแม่ที่กำลังใกล้เข้ามาทุกที พลางยันตัวแม่กับเสาเพื่อค้ำตัวแม่ไว้ ด้วยเกรงว่าแม่อาจเป็นลมอีกครั้งจากความเศร้าโศก ในตอนนี้แก้มของแม่ดูซีดเซียวเหมือนคนตาย ริมฝีปากก็แทบจะเป็นสีฟ้าอยู่แล้ว

พวกฟาริสีขี่ม้าผ่านไปตามไปด้วยเด็กชายที่ถือคำจารึกเอาไว้ จากนั้นจึงเป็นพระบุตรที่รักของแม่ พระองค์ถูกกดพระวรกายลงด้วยน้ำหนักของไม้กางเขน ที่พระเศียรของพระองค์ยังคงมีมงกุฎหนาม ทรงหลบพระเนตรของพระองค์ลงเพราะความเจ็บปวดที่ไหล่ พระองค์ทรงทิ้งลักษณะของความเห็นใจและความเศร้าโศกลง ณ แม่ ทรงเดินอย่างโซซัดโซเซ และทรงหกล้มลงเป็นครั้งที่สองด้วยพระหัตถ์แลพระชานุของพระองค์



ตอนนี้แม่บรรลุถึงความทุกข์ทรมานอย่างสมบูรณ์ แม่ลืมทุกๆสิ่ง แม่ไม่เห็นทั้งบรรดาทหารหรือเพชฌฆาตเลย แม่ไม่เห็นอะไรเลย แต่ด้วยความรักสุดจะพรรณนาต่อพระบุตร แม่ได้ออกจากประตูแล้วฝ่าเข้าไปท่ามกลางฝูงชนที่ต่างพากันดูถูกและเหยียดหยามพระบุตรของแม่ และคุกเข่าลงพลางสวดกอดพระองค์อยู่ข้างๆพระองค์ คำเดียวที่ดิฉันได้ยินคือ ลูกรัก และ แม่ แต่ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าคำพูดเหล่านี้จะจริงไหม บางทีมันอาจเกิดจากใจของดิฉันเองก็ได้

ชั่วขณะเกิดความสับสนไปทั่ว ยอห์นและพรหมจารีศักดิ์สิทธิ์พยายามจะพยุงแม่ขึ้นมาจากพื้น จากนั้นแม่จึงถูกพลยิงธนูต่อว่าแม่ หนึ่งในพวกเขาพูดว่า แกจะทำอะไรที่นี่ หญิงเอ๋ย มันจะไม่ต้องตกอยู่ในกำมือของเรา ถ้ามันได้รับการสั่งสอนให้ดีกว่านี้ มีทหารไม่กี่คนที่มองเหมือนล่วงเกิน ถึงแม้พวกเขาจำเป็นต้องกันแม่ให้กลับไปที่ประตู ไม่มีใครประคองมือแม่ไว้เลย จากนั้นขณะยอห์นและสตรีรายล้อมแม่ก็ล้มลงเพราะเป็นลมใกล้หินที่อยู่ใกล้ประตู จนทำให้เกิดรอยฝ่ามือของแม่ขึ้น หินนั้นแข็งมากๆ และมันถูกย้ายออกไปอยู่ที่วัดหลังแรกของเยรูซาเล็มใกล้สระเบธไซดา เมื่อนักบุญยากอบ องค์เล็ก เป็นพระสังฆราชของเมือง จากนั้นสาวกสองคนที่อยู่กับแม่จึงอุ้มแม่เข้าไปในบ้านและประตูก็ถูกปิดลง


ข้าแต่พระมารดามหาทุกข์ ช่วยวิงวอนเทอญ
ข้อมูลอ้างอิง

"เทวสหยัม" ประกาศกของพระคริสตเจ้า

บุญราศีเทวสหยัม ปิลลัย
Bl. Devasahayam Pillai
ฉลองในวันที่ : 14 มกราคม

ปฐมบทแห่งมรณสักขีของอินเดียองค์นี้ เริ่มขึ้นอำเภอทางใต้สุดของประเทศอินเดีย นั่นคือ ‘อ. กันยากุมารี’ เพชรน้ำงามแห่งรัฐทมิฬนาฑู นอกเหนือจากความงามทางธรรมชาติของท้องทะเล อ. กันยากุมารียังเป็นที่รู้จักกันในฐานะเมืองศักดิ์สิทธิ์ของ ‘นางกันยากุมารี’ เทพธิดาผู้เป็นอวตารของนางปราวตีเทวี เพื่อปราบพนาสูร ยามเมื่อเสียงสรรเสริญนามแห่งศรีสดาศิวะ ดังขึ้นจากครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านนัตตลัม ในเขตเมืองกันยากุมารีในเวลานี้ ในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1712

เสียงนั้นดังมาจากครอบครัวชนชั้นสูงหนึ่ง ซึ่งมีหัวหน้าครอบครัวชื่อ ‘วสุเทวัญ นัมภูทิรี’ เป็นพราหมณ์จากเมืองกยัมกุลัม ในรัฐเกรละ ผู้ประจำอยู่ ณ เทวาลัยแห่ง ต. นัตตลัม ซึ่งเป็นที่ตั้งเทวาลัยในไศวนิกายถึง 2 หลัง คือ เทวาลัยพระสังกรนารายนัน (เทวาลัยพระหริหระ-พระศิวะรวมร่างกับพระวิษณุ) และเทวาลัยอรรถนารีศวระ (พระศิวะรวมร่างกับนางปารวตี) และมีภรรยาคือ ‘นางเทวกี อัมมา’ หญิงในวรรณะ ‘นยาร์’ (Nayar) ซึ่งเป็นกลุ่มวรรณะพิเศษในบริเวณตอนใต้ของอินเดียโดยเฉพาะบริเวณรัฐเกรละในปัจจุบัน มีบทบาทในด้านการปกครอง และมีศักดิ์รองลงมาจากวรรณะพราหมณ์ อันเป็นวรรณะสูงสุด (เมืองกันยากุมารีในสมัยนั้นเป็นเมืองในปกครองของอาณาจักรตราวันคอร์ ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบรัฐเกรละ) จากหมู่บ้านธิรูวัตตาร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเทวาลัยพระศรีอธิเกศวรเปรุมัล เทวาลัยอันศักดิ์สิทธิ์ของพระศรีหริวิษณุ (มักมีความสับสนว่าเป็นเทวาลัยที่ประจำของพราหมณ์วสุเทวัญ)

บริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นบ้านที่ท่านเกิดที่ ต. นัตตลัม

เมื่อเห็นว่าทารกนั้นมีเพศเป็นชาย พราหมณ์วสุเทวัญ ผู้เป็นที่เคารพยิ่งของชาวบ้าน จึงได้ให้นามบุตรชายคนนี้ตามนามหนึ่งของศรีสดาศิวะว่า ‘นิลกันฑา’ แปลว่า ‘ผู้มีคอเป็นสีนิล’ เพื่อความเป็นมังคละแก่บุตร และด้วยสถานภาพที่ได้มาโดยกำเนิดตามธรรมเนียมท้องถิ่น ทารกจึงได้มีคำสร้อยต่อท้ายนามว่า ‘ปิลลัย’ อนึ่งตามธรรมเนียมท้องถิ่นที่บุตรนั้นจะได้รับวรรณะตามวรรณะของผู้เป็นมารดา ดังนั้นนิลกันฑา ปิลลัยจึงได้รับวรรณะนยาร์ตามนางเทวกี และได้รับการอบรมเป็นส่วนใหญ่จากลุงของท่านที่อยู่ในวรรณะเดียวกันแทนที่จะเป็นบิดาของท่าน ซึ่งอยู่ในวรรณะพราหมณ์

ในฐานะบุตรแห่งนยาร์ ท่านได้รับการอบรมทั้งทางด้านภาษาถึงสามภาษาได้แก่ภาษามาลายัม ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ภายในครอบครัว ภาษาทมิฬ ซึ่งเป็นภาษาของคนท้องถิ่นในพื้นที่ที่อาศัย และภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาของชนวรรณะสูง และยังได้รับการอบรมทางด้านการใช้ศาสตราวุธชนิดต่าง ๆ และเพลงมวย ตามสถานภาพของวรรณะของท่านที่เป็นชนชั้นปกครองในสังคม จนท่านมีอายุได้สมควรแก่การรับราชการ ท่านจึงได้เริ่มรับราชการเป็นทหารในกองทหารของแห่งอาณาจักรตราวันคอร์ (อาณาจักรที่ปกครองดินแดนที่ท่านอาศัย) ซึ่งขณะนั้นปกครองโดยมหาราชามาร์ธันฑะ วาร์มะ (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1729 - ค.ศ. 1758)

ดาบและขวาน ซึ่งเป็นอาวุธท่าน ปัจจุบันเก็บรักษา ณ ต. นัตตลัม

ด้วยอุปนิสัยขยันขันแข็ง ว่องไวคล่องแคล่ว มุมานะในการปฏิหน้าที่ ยึดมั่นในความดี รังเกียจความชั่ว อีกทั้งมีสติปัญญาเฉียบแหลมสมกับชาติตระกูล และมีฝีไม้ลายมือในการรบไม่เป็นสองรองใคร ท่านจึงเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้บังคับบัญชาและมหาราชา จึงทำให้ในเวลาต่อมาท่านได้เลื่อนตำแหน่งให้มารับราชการภายในเทวาลัยพระนิลกันฑสวามี ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของพระราชวังปัทมะนาภะปุรัม แล้วจึงได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานในท้องพระคลังตามลำดับ และด้วยอุปนิสัยเช่นกัน เมื่อผนวกด้วยชาติตระกูลและทรัพย์ บรรดาครอบครัวทั้งหลายจึงต่างปรารถนาที่จะได้ท่านมาเป็นเขย และต่างพากันเสนอบุตรสาวของตนมาให้ท่านนั้นได้เลือกสยุมพร ซึ่งในท้ายที่สุดท่านได้เลือก ‘ภาร์กาวิอัมมัล’ หญิงสาววรรณะนยาร์จากหมู่บ้านเมกโกฑุ มาเป็นศรีภรรยาของท่าน

เป็นที่แน่นอนว่าด้วยตระกูลของท่านนั้นล้วนมาจากกลุ่มคนในวรรณะสูง รอบตัวท่านจึงอบอวนไปด้วยความศรัทธาในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะในลัทธิไศวนิกาย ที่บูชาพระสดาศิวะเป็นใหญ่ ท่านที่เติบโตมาในบรรยากาศนี้ ได้รับการอบรม และซึมซับด้วยตาเนื้อ จึงเป็นผู้หนึ่งที่ปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ ของชาวฮินดูอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งการไปบูชาที่เทวาลัยและที่บ้านในเวลาปกติและเทศกาล ชีวิตของท่านจึงห่างไกลจากคริสตศาสนาเป็นอย่างมาก แต่แผนการณ์ของพระเจ้านั้นเกิดจะหยั่งรู้ และสุดแสนจะอัศจรรย์ เมื่อวันหนึ่งใน ค.ศ. 1741 กองทัพเรือสัญชาติดัชต์นำโดย กัปตันยูสตาชิอุส เบเนดิกตุส เดอ ลันโนย ชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้รับคำสั่งจากบริษัทอินเดียตะวันออก หรือ วีโอซี ให้เข้ายึดเมืองโคลาเชล เพื่อใช้เป็นสถานีการค้า ได้เข้าปะทะกับกองกำลังตราวันคอร์ ที่ดูแลหัวเมืองดังกล่าว

กัปตันเดอ ลันโนย สวามิภักดิ์ต่อมหาราชา มาร์ธันฑะ ภายหลังแพ้สงคราม

ในการรบพุ่งครั้งนั้นผลปรากฏว่าฝ่ายกองทัพเรือดัชต์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ถูกสังหารจนเกือบหมด เว้นเสียแต่กัปตันเดอ ลันโนย และผู้ติดตามอีกสามสี่คน ซึ่งได้ถูกจับกลับมาจำคุก และในเวลาต่อมาเมื่อมหาราชามาร์ธันฑะ เล็งเห็นถึงความสามารถของกัปตันเดอ ลันโนยในด้านการทหาร จึงโปรดให้อภัยโทษกัปตันและได้มอบหมายให้เขาเป็นผู้ฝึกกองทหารแห่งอาณาจักรตราวันคอร์ ตามแนวทางแบบโลกตะวันตก ทำให้ในไม่ช้าท่านที่รับราชการในท้องพระคลัง จึงมีโอกาสได้พบกัปตันเดอ ลันโนยอยู่บ่อยครั้ง และจะด้วยนิสัยใจคอของทั้งสองที่เหมือนกันหรือเป็นการดลใจจากสวรรค์ ทั้งท่านและกัปตันเดอ ลันโนย แม้จะมีข้อแตกต่างกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือศาสนา ก็กลายมาเป็นสหายที่คอยพูดคุยสนทนาถึงเรื่องต่าง ๆ อยู่ด้วยกันโดยตลอด และอาศัยมิตรภาพนี้เอง จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของท่านไปอย่างไม่มีวันถอยกลับ

วันหนึ่งใน ค.ศ. 1744 กัปตันเดอ ลันโนยได้พบว่าท่านมีสีหน้าเศร้าหมอง จึงได้เอ่ยถามว่าถึงสาเหตุของปริวิตกที่ปรากฏบนใบหน้าของท่าน ท่านจึงได้เริ่มปรับทุกข์ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ท่านต้องสูญเสียหลายสิ่งไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้โคพันธุ์ดีของท่านหลายตัวก็ได้ล้มตายลงอย่างน่าประหลาด การสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อ ๆ กันนี้ ทำให้ท่านเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตัวท่านนั้นได้ทำบาปให้องค์พระเป็นเจ้าพิโรธหรือไม่ แม้ว่าท่านจะปฏิบัติบูชาพระองค์โดยตลอดมิได้ขาดตกบกพร่อง หรือแท้จริงมีคนที่ไม่ชอบหน้าท่าน ได้ทำของใส่ท่านกันแน่ ความสับสนถึงต้นตอของปัญหา รวมถึงความหวาดวิตกว่าท่านจะต้องสูญเสียสิ่งใดเป็นลำดับต่อไป จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่านทุกข์ใจเป็นอันมาก

ถ้าเรารับของดี ๆ จากพระเจ้า ทำไมเราจึงไม่รับของไม่ดีด้วยเล่า (โยบ 2: 10)

เมื่อกัปตันเดอ ลันโนยได้ทราบถึงความทุกข์ใจของสหายดังนี้แล้ว เขาจึงได้เริ่มกล่าวบรรเทาใจสหายด้วยความเชื่อแบบคริสตัง โดยได้เขาได้เล่าเรื่องราวของบุรุษผู้หนึ่งนามว่า ‘โยบ’ บุรุษในพันธสัญญาเดิมผู้ได้เผชิญกับการทดสอบมากมาย จนแปรเปลี่ยนจากคนมั่งมีให้กลายเป็นยาจก แต่ไม่ว่าจะเผชิญกับความทุกข์ยากเพียงใด โยบก็ยังคงมีความไว้วางใจในพระเจ้าของเขาโดยตลอด และที่สุดเมื่อเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านพ้นไปโยบก็ได้รับรางวัลเป็นเท่าทวีคูณจากที่เสียไป ท่านเมื่อได้ฟังเรื่องเล่าของโยบจบลง หัวใจที่สับสนวุ่นวายของท่านก็ได้รับความบรรเทา และรู้สึกประทับใจอย่างประหลาด กับความวางใจในพระเป็นเจ้าของโยบ

หลังจากนั้นวันนั้นมา เมื่อมีโอกาสได้สนทนากับกัปตันเดอ ลันโนย ท่านก็มักชวนเขาสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าของโยบอยู่ตลอด ฝั่งกัปตันเดอ ลันโนยก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้สหายของเขาฟัง กระทั่งวันหนึ่งท่านที่ได้รับฟังเรื่องราวของพระเจ้าของโยบมาหลายครั้ง ก็ตัดสินใจว่าชีวิตที่เหลือท่านจะขอยึดพระเป็นเจ้าพระองค์นี้เป็นที่พึ่งแต่เพียงพระองค์เดียว ท่านจึงได้แสดงเจตจำนงค์ที่จะรับศีลล้างบาปเป็นคริสตังให้กัปตันเดอ ลันโนยฟัง กัปตันเดอ ลันโนยเมื่อทราบถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ในครั้งนี้ จึงได้ส่งท่านพร้อมจดหมายไปพบคุณพ่อจูวานนี บัตติสตา บุตตารี พระสงฆ์ธรรมทูตคณะเยซูอิต ที่ประจำอยู่ที่หมู่บ้านวทักกันกุลัม อ. เนลลัย

ภาพเขียนวิถีชีวิตของผู้คนในอาณาจักรตราวันคอร์ ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19

โดยสาเหตุที่กัปตันเดอ ลันโนยต้องส่งท่านไปหมู่บ้านวทักกันกุลัม ซึ่งอยู่ขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของ อ. กันยากุมารีนั้น มีสาเหตุมาจากหมู่บ้านดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของอาณาจักรตราวันคอร์ ซึ่งในเวลานั้นมีนโยบายห้ามทุกคนในอาณาจักรเข้ารีตเป็นคริสตศาสนิกชน ยกเว้นเพียงแต่กลุ่มชาวประมงที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งและกลุ่มชาวบ้านที่นับถือศาสนคริสต์มาแต่ดั้งเดิม โดยเฉพาะกลุ่มที่รับราชการในราชสำนักได้มีการคาดโทษผู้ออกจากราชการเพื่อเข้ารีตว่าจะต้องถูกจำคุก และประหารชีวิต ดังนั้นจึงไม่เป็นการดีที่ท่านที่มีตำแหน่งแห่งที่ในราชสำนักจะรับศีลล้างบาปภายในเขตอำนาจของอาณาจักรแห่งนี้

ท่านเองก็น่าจะทราบอยู่เต็มอก ว่าการตัดสินใจในครั้งนี้ของท่านนั้นเป็น ‘อันตราย’ อย่างยิ่งต่อชีวิตของท่าน แต่ด้วยพลังความเชื่ออันแรงกล้า ที่ลุกร้อนอยู่หายในใจของท่าน ท่านจึงไม่ประหวั่นต่อผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้น ท่านออกเดินทางไปยังหมู่บ้านวทักกันกุลัมในเร็ววัน และเมื่อท่านได้พบคุณพ่อบุตตารี ท่านก็แสดงเจตจำนงค์จะรับศีลล้างบาปในทันที แต่ฝั่งคุณพ่อบุตตารีเมื่อพิจารณาถึงสถานภาพของท่านที่เป็นคนในวรรณะสูง กอปรด้วยมีตำแหน่งในราชสำนักนั้นมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนศาสนาของท่าน ดังนั้นเพื่อความแน่ใจคุณพ่อบุตตารีจึงขอให้ท่านเรียนคำสอนเสียก่อนตามขั้นตอนก่อนเสียก่อน โดยไม่ได้ระบุเวลาอย่างชัดเจนว่าท่านจะได้รับศีลล้างบาปเมื่อใด เพื่อคุณพ่อจะได้มีเวลามากขึ้นในการพิสูจน์ว่า ความตั้งใจของท่านนั้นเป็นความตั้งใจดี

หญิงในวรรณะนยาร์และหญิงรับใช้

ทำให้แต่นั้นมาท่านจึงได้เริ่มเรียนคำสอนที่หมู่บ้านวทักกันกุลัม โดยคอยเดินทางจากบ้านมาพักที่หมู่บ้านนี้อยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งการที่คุณพ่อบุตตารีไม่ยอมให้ท่านรับศีลล้างบาปในทันที ก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ท่านได้ไตร่ตรองถึงกระแสเรียกการเป็นคริสตชนของท่านอีกครั้ง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานั้นคริสตศาสนาถูกมองว่าเป็นศาสนาของพวกวรรณะต่ำ ที่เป็นวรรณะของพวกใช้แรงงาน ไม่มีหน้ามีตาในสังคม ดังนั้นการที่บุคคลผู้มีวรรณะสูงเช่นท่านตัดสินใจเป็นคริสตัง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อสถานภาพทางสังคมของท่าน และชีวิตของท่านในทุก ๆ มิติ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบวรรณะถือเป็นระบบที่มีอิทธิพลในสังคมอินเดียในทุก ๆ มิติ ตั้งแต่ตำแหน่งทางสังคม หน้าที่การงาน เกียรติยศ คู่ครอง หรือการใช้ชีวิตทุกอย่างล้วนกำหนดด้วยวรรณะที่ได้มาแต่กำเนิด และมากกว่าประเด็นเรื่องวรรณะแล้ว การที่ศาสนาซึ่งมีอิทธิพลหลักภายในราชสำนัก คือ ศาสนาฮินดู การที่ท่านเป็นคริสตชนย่อมทำให้การดำเนินชีวิตในเบื้องหน้าของท่านยากลำบากยิ่งขึ้น

แต่การได้เรียนรู้คำสอนต่าง ๆ และได้สัมผัสวิถีคริสตังในชุมชนหลายแห่งรอบหมู่บ้านวทักกันกุลัม ก็ยิ่งทำให้ท่านมั่นใจในกระแสเรียกการเป็นคริสตชนมากขึ้น ท่านยืนยันกับคุณพ่อบุตตารีว่าท่านพร้อมสละตำแหน่งในราชสำนักเพื่อจะรู้จักกับพระเจ้าพระองค์นี้ ยินดีแม้แต่จะต้องเสียผลประโยชน์ทั้งโลกรวมถึงชีวิตเอง ท่านก็ไม่เสียดาย มีครั้งหนึ่งท่านถึงกับกล่าวกับคุณพ่อบุตตารีว่า “คุณพ่อครับ หาได้มีใครบังคับข้าให้มาเป็นคริสตัง ข้านั้นเดินทางมาพบคุณพ่อ ก็เป็นเพราะข้านั้นมีความศรัทธาจริง ที่มิอาจจะมีสิ่งใดมาพรากไปจากใจข้าได้ และข้าเองก็พร้อมยิ่งที่จะสละทุกสิ่งเพื่อสิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นมรดกอันมากมีที่ข้าเหลืออยู่ ตำแหน่งแห่งที่ ครอบครัว หรือแม้แต่ชีวิตของข้าเอง”

วัดพระวิสุทธิวงศ์ หมู่บ้านวทักกันกุลัม

ที่สุดเมื่อล่วงได้ 9 เดือนที่ท่านเรียนคำสอน คุณพ่อบุตตารีจึงมั่นใจว่าท่านนั้นมีความเชื่ออันมั่นคง คุณพ่อจึงได้โปรดศีลล้างบาปให้กับท่าน ที่ขณะนั้นมีอายุได้ 32 ปี ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1745 ณ วัดพระวิสุทธิวงศ์ หมู่บ้านวทักกันกุลัม โดยคุณพ่อบุตตารีได้ให้นามใหม่แก่ท่านเป็นภาษาทมิฬว่า ‘เทวสหยัม’ (เท-วะ-สะ-หะ-ยัม) แปลว่า ‘พระเจ้าทรงช่วยเหลือ’ ซึ่งแผลงมาจากนามนักบุญลาซารัสในพระคัมภีร์ ตามแนวทางการในการทำงานแพร่ธรรมของคณะเยซูอิตในเวลานั้น ที่มีการแปลงนามนักบุญต่าง ๆ เป็นภาษาท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น ‘เปโตร’ เป็น ‘รยับปัน’ ‘เปาโล’ เป็น ‘ชินนัปปัน’ หรือ ‘ยอห์น’ เป็น ‘อรุลัปปัน’

หลังจากนั้นมาท่านก็ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งคัด ท่านไปร่วมมิสซากับชุมชนคริสตังต่าง ๆ โดยไม่ขัดเขิน ว่าคนที่ร่วมพิธีพร้อมกับท่านนั้นมีชาติกำเนิดมาจากวรรณะไหน ทุกวันท่านโมทนาคุณพระเจ้าเสมอ ที่มอบพระหรรษทานให้ท่านได้เป็นคริสตชน ท่านพยายามอย่างยิ่งที่จะเจริญชีวิตให้ชิดสนิทกับพระเป็นเจ้า ทั้งหมั่นพยายามเดินไปวัด ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของท่านไปถึง 18 ไมล์ เพื่อแก้บาปรับศีล (บางคราวท่านก็เดินทางไปร่วมมิสซาถึงที่หมู่บ้านวทักกันกุลัม ซึ่งในบางครั้งก็เพียงไม่กี่วันแต่บางครั้งท่านก็ไปเป็นแรมเดือน) และอ่านหนังสือเสริมศรัทธาต่าง ๆ ที่พอหาได้ มากกว่าไปกว่านั้นท่านยังขอย้ายเข้าสังกัดในกองทหารคริสตังของกัปตันเดอ ลันโนย ซึ่งยังความประหลาดพระทัยไม่น้อยแก่องค์มหาราชา ที่ทราบว่าท่านนั้นได้เขารีตเป็นคริสตชนและได้ขอเข้าร่วมกองทัพคริสตังอีกด้วย แต่พระองค์มิได้ทรงคาดโทษใด ๆ กับท่าน ท่านจึงยังสามารถรับราชการต่อไปได้

ผังแสดงลำดับชั้นทางสังคมในวรรณะหลักทั้งสี่ของอินเดีย

และยิ่งวิญญาณท่านชิดสนิทกับเบื้องบนมากเพียงใด ดวงใจของท่านก็ยิ่งลุกร้อนไปด้วยไฟแห่งการแพร่ธรรม ยิ่งเมื่อระลึกถึงหนึ่งในหน้าที่ของผู้รับเจิมจากพระคริสตเจ้าทุกคน คือ ‘การเป็นประกาศก’ ท่านยิ่งมีความปรารถนายิ่ง ที่จะนำผู้คนรอบตัวให้มารู้จักกับพระเจ้าองค์นี้ ท่านเริ่มการแพร่ธรรมของท่านจากภรรยาของท่านก่อน หนแรกภรรยาของท่านรับไม่ได้ที่จะต้องถูกครหาว่าเป็นคนในวรรณะต่ำ นางถึงขั้นเอาเรื่องที่ไปปรึกษามารดาของนางเอง ผู้ก็ไม่เห็นด้วยกับความคิดเช่นนี้ แต่ทีละเล็กละน้อยอาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า สามเดือนให้หลังท่านก็สามารถทำให้ภรรยาของท่านกลับใจได้สำเร็จ ท่านจึงได้พานางไปรับศีลล้างบาปที่วัดเดียวกันกับท่าน โดยภรรยาของท่านได้รับนามว่า ‘กนานะปู’ ซึ่งแผลงมาจากคำว่า ‘เทเรซา’ และหลังจากนั้นมา ท่านก็ได้ทำให้ทหารหลายนายรวมถึงคนรอบข้างอีกจำนวนหนึ่งกลับใจมาเป็นคริสตชนใหม่

แม้จะไม่ได้รับโทษใด ๆ จากมหาราชามาร์ธันฑะ แต่ในไม่ช้าการปฏิบัติตัวตามแนวคริสตศาสนิกชนของท่าน ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นภายในกลุ่มข้าราชบริพารในราชสำนัก โดยเฉพาะกลุ่มวรรณะพราหมณ์ ที่ไม่พอใจยิ่งกับพฤติกรรมของท่านใน 3 ประการ ประการแรก คือ ท่านปฏิเสธการร่วมพิธีบูชาในโอกาสต่าง ๆ ที่เทวาลัย รวมถึงปฏิเสธที่จะรับประซาท หรืออาหารที่ผ่านการถวายในพิธีบูชา แล้วเปลี่ยนไปร่วมมิสซาที่วัดแทน ประการสอง คือ ท่านได้สมาคมกับคนในวรรณต่ำ ทั้งสนทนาก็ดีเรื่อยไปจนถึงรับประทานอาหารร่วมกับคนเหล่านั้นโดยไม่ถือตัว และประการสาม คือ ท่านชอบชักชวนให้ผู้คนมาเข้ารีต และมักโต้เถียงในเรื่องความเชื่อที่งมงายและไม่เป็นธรรมกับกลุ่มพราหมณ์ และกลุ่มวรรณะสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ขัดหูขัดตากลุ่มวรรณะพราหมณ์ทั้งหลาย เพราะนี่คือการปฏิเสธหลักศาสนาของอาณาจักร และเป็นเสมือนการดูหมิ่นพระเกียรติของมหาราชา โดยเฉพาะการคบหาคนในวรรณะที่ต่ำกว่าอย่างเปิดเผย

ภาพเขียนมหาเสนาบดีรามายณะ 

(ประเด็นเรื่องการคบคนต่างวรรณะ ที่กลายมาเป็นชนวนให้ท่านเสียชีวิตในเวลาต่อมานี้ยังมีข้อโต้เถียงไม่ชัดเจนว่าจริงเท็จประการใด เพราะบทความโดย B R Gauthaman (2012) ซึ่งโจมตีเรื่องการเป็นมรณสักขีของเทวสหยัม ตามแนวทางเชิดชูความเป็นอินเดีย ในฐานะฮินดูสถาน ได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า คริสตชนอินเดียในเวลานั้นก็มีการแบ่งแยกคนจากวรรณะที่เกิดมา โดยเฉพาะที่หมู่บ้านวทักกันกุลัม ที่ท่านรับศีลล้างบาป ก็มีการแบ่งกลุ่มคริสตชนออกเป็นกลุ่มที่มาจากวรรณะสูงและวรรณะต่ำ การแบ่งแยกนี้ถูกอธิบายในประวัติของท่านเช่นกัน แต่ถูกให้คำอธิบายว่าการแบ่งแยกดังกล่าวที่ท่านได้เห็น คือ แรงบันดาลใจในการปฏิบัติตนของท่าน)

บรรดาคนข้าราชบริพารภายในราชสำนัก ซึ่งต่างเป็นคนในวรรณะพราหมณ์และนยาร์ จึงมักว่ากล่าวท่านในเรื่องเหล่านี้ และมักดูแคลนท่านต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะมหาเสนาบดีรามายณะ และราชเลขาธิการสิงครัม อันนวี สองข้าราชการผู้เกิดในวรรณะพรามหณ์ ทั้งสองมักดูแคลนว่าชาวคริสต์อย่างที่ท่านเป็นนั้นเป็นพวกชั่วช้า โสมม และขาดเขลา ฝั่งท่านเองก็ใช่จะยอมปิดปากเงียบ น้อมรับคำติเตียนนั้นแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อถูกวิพากษ์วิจารย์ถึงพฤติกรรมที่ขัดกับหลักศาสนาฮินดู ท่านก็ไม่ยอมลดลาวาศอกให้ใครทั้งสิ้น จนเกิดเป็นการกระทบกระทั่งกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ญาติของท่านเชิญพราหมณ์ไปทำพิธีบูชาที่บ้านเกิดท่าน ที่หมู่บ้านนัตตลัม เพื่อเป็นการขอขมากรรมที่ท่านได้ละทิ้งศาสนาของบรรพชน ท่านก็ได้ตำหนิพราหมณ์ผู้นั้น หรือครั้งราชเลขาธิการสิงครัม อันนวี ตำหนิถึงเรื่องการเข้ารีตของท่าน และลั่นวาจาว่าถ้าทำให้ท่านเปลี่ยนใจและขับไล่คริสตศาสนาออกจากอาณาจักรนี้ไม่ได้ เขาก็จะเลิกสวมสายยัชโญปวีต ซึ่งเป็นเครื่องแสดงสถานภาพพรามหณ์นั้นเสีย ท่านก็สวนกลับในทันควันว่าราชเลขาธิการสิงครัมทำไม่ได้ สายยัชโญปวีตเส้นเดียวกันนั้นจะต้องกลายมาสายรั้งสะเอวของท่านแทน

โบสถ์คริสต์ ภายในป้อมอุทยะคีรีของอาณาจักรตราวันคอร์ สร้างโดยกัปตันเดอ ลันโนย

แม้จะมีความขัดแย้งเรื่องแนวทางปฏิบัติดังนี้ ในช่วงปีแรกที่ท่านกลับใจเป็นคริสตชน ก็ไม่ได้มีปัญหาใด ๆ ร้ายแรงเกิดขึ้น เนื่องจากในเวลานั้นมหาราชามาร์ธันฑะก็ทรงมิได้เข้มงวดต่อการนับถือคริสตศาสนาเสียเท่าไร พระองค์ทรงรับเตียงเด็กที่สลักไม้กางเขนที่กัปตันเดอ ลันโนยน้อมเกล้าฯ ถวาย อีกทั้งทรงอนุญาตให้กัปตันนำพระสงฆ์มาอวยพรบ้านของกัปตันได้อย่างเปิดเผย มากไปกว่านั้นในเวลาต่อมาองค์รัชทายาทของมหาราชาก็ยังได้มอบที่ดินผืนหนึ่งให้คุณพ่อบุตตารีสร้างวัดขึ้นได้ในอาณาจักรตราวันคอร์

ทำให้แม้จะมีความไม่พอใจในกลุ่มคนวรรณะสูง นำโดยมหาเสนาบดีรามายณะ และราชเลขาธิการสิงครัม อันนวี ต่อตัวท่าน พวกเขาก็ไม่สามารถจะทำอะไรท่านได้มากไปกว่าการว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจา แต่สถานการณ์ที่คริสตศาสนาค่อย ๆ ได้รับการยอมรับ ภายในอาณาจักรตราวันคอร์ โดยเฉพาะในบริเวณศูนย์กลางของอาณาจักร ก็ยังความไม่สบายใจไม่น้อยแก่กลุ่มคนวรรณะสูงหลายคน ทั้งกลุ่มพระราชวงศ์ก็ดีและกลุ่มข้าราชสำนัก เพราะแท้จริงสถานภาพทางสังคม อำนาจ และทรัพย์สินต่าง ๆ ของพวกเขาต่างอิงแอบกับศาสนาฮินดูผ่านระบบวรรณะ ที่จำกัดสิทธิ อำนาจ และหน้าที่ของบุคคลไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นคริสตศาสนาที่ปฏิเสธในระบบวรรณะ รวมถึงเป็นศาสนาของคนต่างชาติจึงเป็นภัยยิ่งต่อพวกเขา

พระราชวังปัทมะนาภะปุรัม ศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรตราวันคอร์

พวกเขาเหล่านี้จึงทำได้แต่เพียงเก็บงำความรู้สึกชิงชังท่านไว้อยู่ภายใน และยิ่งพวกเขาทราบว่าท่านมีสัมพันธ์อันดีกับองค์รัชทายาท ผู้อนุญาตและบริจาคที่ดินสร้างวัดหลังแรกขึ้น ความชิงชังที่ครุกรุ่นก็ยิ่งทวีมากขึ้นตามลำดับ เพราะหากวันใดองค์รัชทายาททรงได้ขึ้นครองบัลลังก์ก็มีแนวโน้มว่า คริสตศาสนาจะได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถานภาพและอำนาจของพวกเขาดังที่ได้กล่าวไป ดังนั้นการกำจัดท่านให้เร็วที่สุด จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และจังหวะที่เหมาะสมก็ได้มาถึง ในขณะที่วางรากฐานวัดหลังแรกในอาณาจักรตราวันคอร์กำลังเริ่มขึ้น

เมื่อคุณพ่อบุตตารี ผู้รับผิดชอบการสร้างวัด บนที่ดินซึ่งได้รับพระราชทานจากองค์รัชทายาท ได้เขียนจดหมายมาหาท่าน เพราะคุณพ่อมีความประสงค์จะใช้ซุงในการสร้างวัดบนที่ดินที่ได้รับจากองค์รัชทายาท คุณพ่อจึงใคร่ขอเอกสารอนุญาตจากทางราชสำนักเสียก่อน ท่านจึงได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งแก่มหาเสนาบดีรามายณะ ฝั่งมหาเสนาบดีที่ไม่ชอบขี้หน้าท่านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้กล่าวสาปส่งคริสตศาสนา และได้ขู่ว่าจะเนรเทศบรรดาคริสตชนไปให้หมด ฝั่งท่านเองก็ลั่นวาจาตอบกลับไปว่า “ก็เริ่มที่ข้าก่อนสิ ข้ายังเป็นคริสตัง ข้าไม่กลัวคำขู่ของท่านดอก” สิ้นคำตอบในวันนั้น มหาเสนาบดีและราชเลขาธิการที่ชังน้ำหน้าท่าน พร้อมด้วยพระราชวงศ์บางองค์ และข้าราชสำนักบางคน จึงได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะลงดาบปลิดชีวิตท่านเสีย เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

ภาพเขียนมหาราชามาร์ธันฑะ วาร์มะ

โดยการก่อการในครั้งนี้ คณะผู้ก่อการได้กุ ‘ข่าวเท็จ’ ขึ้นทูลองค์มหาราชามาร์ธันฑะอย่างลับ ๆ กล่าวหาว่าท่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพระราชทานที่ดินให้สร้างวัดขององค์รัชทายาท ทั้งท่านนั้นได้นำความลับทางราชการของอาณาจักรไปขายให้กับชาวตะวันตก พวกเขาจึงใคร่ให้พระองค์ทรงจัดการอะไรบางอย่างกับท่านเพื่อเป็นการปราบปรามอิทธิพลของคริสตศาสนา ที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในอาณาจักรในทันที เพราะหากองค์มหาราชายังทรงปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปดังนี้ ไม่ช้าพระราชอำนาจที่พระองค์มีก็จะหายไป มหาราชามาร์ธันฑะเมื่อได้ฟังความดังนั้น ทรงพินิจต่างคำทูลและทรงคล้อยตาม พระองค์จึงมีรับสั่งให้จับกุมท่านในทันที

แต่ก็ใช่ว่าท่านนั้นจะไม่ล่วงรู้ถึงการก่อการ ที่นำโดยมหาเสนาบดีและราชเลขาธิการ เพราะสหายของท่านบางคนได้มาแจ้งท่านถึงเรื่องนี้ แต่ท่านนั้นไม่ได้ประหวั่นกลัว ตรงกันข้ามท่านยังคงเจริญชีวิตในฐานะคริสตชนที่ดี โดยไม่ยอมหนีไปไหน เพราะท่านมองว่าเป็นเรื่องน่าละอายยิ่งนักที่คริสตชนเช่นท่าน จะหลบหนีไปเพียงเพราะแผนการณ์อันแยบคลายของศัตรูต่อศรัทธา โดยในเวลาไล่เลี่ยกับที่ท่านทราบว่ามีกลุ่มคนภายในราชสำนักจะใส่ความท่าน ท่านก็ได้เดินทางไปวัดที่ท่านไปตลอด และเมื่อทราบว่าตัวท่านคงไม่รอดจากการจำคุกในไม่ช้า ท่านก็ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านวทักกันกุลัมเพื่อพบและปรึกษาถึงการตัดสินใจในครั้งนี้กับคุณพ่อบุตตารี ฝั่งคุณพ่อบุตตารีเองก็ให้คำแนะนำท่าน ทั้งได้หนุนใจให้ท่านพร้อมเผชิญกับสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้า หลังจากนั้นท่านจึงได้ไปเยี่ยมชุมชนคริสตังที่ท่านเริ่มชีวิตใหม่เป็นวันแรก แล้วท่านจึงเดินทางกลับไปบ้าน อันเป็นช่วงเวลาเพียงไม่นานก่อนที่คำสั่งจับกุมท่านได้รับการประกาศ


ฝั่งกัปตันเดอ ลันโนย เมื่อทราบข่าวนี้ ก็ได้เร่งมาพบท่าน เพื่อให้กำลังใจท่านในการยึดมั่นในความเชื่อไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และได้เข้าพบผู้มีอำนาจในราชสำนัก เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งนี้ ก่อนที่เขาจะได้พาท่านไปพบพระสงฆ์เยซูอิต ซึ่งได้โปรดศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิทให้ท่าน เพื่อเป็นการเตรียมตัวของท่านให้พร้อมสำหรับความทุกข์ยากที่กำลังจะเกิดขึ้น ฉะนั้นเองดุจประทีปที่ถูกเตรียมไว้อย่างดี เช่นเดียวกับบรรดามรณสักขีทั้งหลายในอดีต ที่ได้เตรียมกายเตรียมใจของตนให้พร้อมต่อการสละชีวิตเพื่อยืนยันความเชื่อ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1749 หรือสี่ปีให้หลังท่านรับศีลล้างบาป ท่านจึงถูกจับกุมตัวไปพิจารณาตามคดีความ และเพื่อเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากตัวกัปตันเดอ ลันโนย มหาราชามาร์ธันฑะจึงเตือนเขาอย่างเด็ดขาดไม่ให้เขาเข้ามายุ่งกับคดีความครั้งนี้ เนื่องจากเป็นกิจของราชสำนัก หาใช่กิจของทหารไม่

ด้วยวัย 36 ปี ท่านที่ได้เตรียมจิตใจของท่านพร้อมมอบชีวิตของตนเป็นมรณสักขีอยู่แล้ว เมื่อถูกนำตัวมาเข้าเฝ้ามหาราชามาร์ธันฑะเพื่อตัดสินคดีความ ท่านจึงยืนหยัดที่จะดำรงความเชื่อในคริสตศาสนา แม้ว่าจะถูกขู่ว่าต้องรับโทษอย่างหนัก หรือจะได้รับบำเหน็จเป็นยศฐาบรรดาศักดิ์ ท่านก็ยินดีที่ยึดมั่นในพระเป็นเจ้าพระองค์นี้ตราบจนวาระสุดท้าย มหาราชามาร์ธันฑะเมื่อเห็นว่าท่านยังคงดื้อรั้นดังนี้ พระองค์จึงได้รับสั่งให้นำตัวท่านไปจำคุกโดยทันทีเพื่อรอประหาร โดยคุกที่ขังท่านนั้นมีขนาดสูงเพียงแค่ 5 ฝ่ามือ มีความกว้างยาวเพียงด้านละ 1 ศอก

ในห้องขังข้ารับใช้พระเจ้าพร้อมด้วยกวีคริสตชนที่ถูกจับได้ร่วม
กันสรรญเสริญและโมทนาคุณพระเจ้าตลอดทั้งคืน ดังปรากฏหลักฐาน
เป็นคำกวีของ ธอมมัน ติรูมุตุ

ท่านได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ในคุกนั้นจนถึงรุ่งเช้า มหาราชามาร์ธันฑะจึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตท่าน ท่านจึงถูกนำตัวยังลานประหารด้วยสีหน้ายินดี ผิดกับผู้จะถูกประหารคนอื่น ๆ เพราะท่านทราบว่าในไม่ช้า เมื่อชีวิตของท่านสิ้นสุดลงด้วยเพชรฆาต เพราะความผิดจากความเชื่อ ท่านจะได้รับมงกุฏแห่งมรณสักขี แต่ในขณะที่มงกุฏนั้นอยู่ไม่ไกล ความยินดีของท่านก็ต้องสลายลง เมื่อในขณะท่านมุ่งสู่เกียรติแห่งมรณสักขี มหาราชามาร์ธันฑะก็ได้สั่งระงับการประหารท่าน เนื่องจากมีผู้ได้ทูลพระองค์ว่า หากประหารท่านจะเกิดภัยพิบัติใหญ่หลวงกับอาณาจักร ดังนั้นจากสีหน้าแห่งความยินดีในทีแรก จึงแปรเปลี่ยนเป็นสีหน้าแห่งความทุกข์ เมื่อท่านต้องถูกพากลับมายังห้องขังเดิม ในเวลาเหล่านั้น ท่านไม่ได้ทูลต่อพระเจ้าว่าให้ทรงช่วยท่านให้รอด แต่ท่านทูลพระองค์ให้ทรงพระเมตตา ทำให้ตัวท่านนั้นควรค่าแก่เกียรติแห่งมรณสักขีมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสีหน้าที่ยินดียามเมื่อก้าวสู่ลานประหาร และสีหน้าที่เศร้าหมองเมื่อรู้ว่าโทษประหารของตนนั้นได้เลื่อนไปของท่านนั้น ยังความประหลาดใจไม่น้อยแก่ผู้คุมนักโทษ

เมื่อรอดจากการประหารท่านก็ไม่ได้ถูกขังแต่เพียงอย่างเดียว เพราะตลอด 16 วันนับจากนั้น ท่านถูกจับสวมมาลัยดอกรักและถูกแห่ประจานไปรอบ ๆ เมืองปัทมนะภาปุรัม พร้อม ๆ กับมีผู้คุมคอยตีกลองเรียกชาวบ้านร้านตลาดตลอดสองข้างทางมาดู และบางครั้งในระหว่างการแห่ พวกผู้คุมก็ใช้ไม้มะขามและไม้ที่มีหนามแหลมเฆี่ยนตีท่านต่อหน้าฝูงชน ซึ่งไม่เพียงเท่านั้นเพื่อเป็นการทรมานท่าน พวกผู้คุมยังบังคับท่านยืนตากแดด กินข้าวหุงสุกเพียงหยิบมือ ดื่มน้ำจากน้ำขัง และยังเอาผงเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ร้อนมาทาไปทั่วตัวของท่าน ด้วยวิธีแบบแห้งและแบบละลายน้ำ


คุณพ่อบุตตารีบันทึกว่า “ทุกวันพวกผู้คุมเอาผงเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ร้อนจำนวนมากมาทาตลอดทั้งใบหน้าและร่างกายของเขา หลังจากนั้นเมื่อพวกเขาได้เฆี่ยนตีที่หลังของเขาจนเป็นแผลหลายจุดด้วยไม้หนาม พวกเขาก็จะนำผงเครื่องเทศดังกล่าวมาทาไปทั่วแผลนั้น ตามรูปแบบการทรมานอันน่าสยดสยองซึ่งใช้กันในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้รับโทษรู้สึกแสบร้อนไปทั่วเหมือนถูกจุดไฟเผา มากไปกว่านั้นพวกเขายังได้โยนผงเครื่องเทศดังกล่าวใส่กองไฟ และจับหัวของเหยื่อผู้น่าสงสารกดลงไปใกล้กองไฟเพื่อสูดควันที่เกิดขึ้นอีกด้วย” นอกเหนือจากนี้ในบางครั้งที่ท่านลืมตาระหว่างสวดภาวนา พวกผู้คุมยังเอาผงเครื่องเทศซดังกล่าวใส่ตาของท่านอีกด้วย

บางครั้งในการแห่ประจานตลอด 16 วัน พวกผู้คุมก็ให้ท่านขึ้นนั่งบนหลังกระบือ ซึ่งถือกันว่าเป็นพาหนะของพระยม (เทพแห่งความตายในศาสนาฮินดู) ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่ออาชญากรอันเป็นที่นิยมในบริเวณนั้น โดยแง่หนึ่งสัญญะของเลือกให้นักโทษนั่งบนหลังกระบือ ยังตีความได้ถึงความหมายของกระบือ ในฐานะสัตว์ ซึ่งเป็นตัวแทนของอวิชชา ความมัวเมา และความหลงผิดดังที่ปรากฏในฐานะ ‘มหิษาสูร’ อสูรกระบือ ผู้ถูกปราบโดยนางทุรคาก็เป็นไปได้ โดยในการแห่ด้วยกระบือแต่ละครั้ง ผู้คุมจะนำตัวท่านที่ถูกมัดมือไพล่หลังขึ้นนั่งบนหลังกระบือ โดยได้ยึดหรือให้ท่านยึดอะไรไว้กับตัวกระบือ ดังนั้นในบางครั้งในระหว่างแห่ ท่านก็พลัดตกจากหลังกระบือบ้าง หรือโดนกระบือสลัดท่านจนตกจากหลังบ้าง จนยังความทุกข์ทรมานแก่กายของท่านเป็นอันมาก


แต่ไม่ว่าท่านจะถูกทรมานทางร่างกายเช่นไร หรือถูกทรมานทางจิตใจด้วยคำสบประมาท คำเย้ยหยันจากผู้คนที่ออกมาดูท่านถูกแห่ประจาน ทุกวันตลอดการทรมานท่านยังคงยังจิตใจของท่านขึ้นหาพระเจ้า สวดภาวนาและสรรเสริญพระองค์ในทุก ๆ เวลา เพราะท่านตระหนักรู้ดีว่าอีกประเดี๋ยว ท่านก็จะได้รับเกียรติมงคลอันรุ่งเรืองในสวรรค์ ท่านจึงไม่ได้เศร้าโศกเสียใจที่ตนนั้นต้องตกอยู่ในสภาพ ‘นักโทษ’ เช่นนี้ เพราะหลักชัยที่รออยู่นั้นช่างใหญ่ยิ่งกว่านัก และแท้จริงเมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา พระเจ้าพระองค์เดียวกันกับท่านเชื่อ ก็ทรงได้บังเกิดเป็นมนุษย์และได้รับทัณฑ์โทษด้วยความอยุติธรรมในทำนองเดียวกับท่าน เพื่อเป็นบูชาใช้โทษบาปแทนสิ่งสร้างของพระองค์

ต้องขอกล่าวเท้าความในเวลาเดียวกันกับที่ท่านถูกจับกุมตัวนั้น อาณาจักรตราวันคอร์ก็ได้เริ่มการเบียดเบียนคริสตชนอย่างหนัก ในพื้นที่ลึกเข้ามาจากชายทะเล โดยในเวลานั้นมีคริสตชนจำนวนมากถูกลงโทษและเสียค่าปรับเป็นจำนวนมาก จนเป็นผลให้คริสตชนบางส่วนจึงเลือกที่จะหนีขึ้นไปอาศัยตามหุบเขา แต่บ้างก็เลือกที่จะหลบหนีออกจากอาณาจักร และบ้างก็เลือกที่จะละทิ้งความเชื่อเพื่อรักษาชีวิต (ก่อนที่ในระยะต่อมาเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง อดีตคริสตชนเหล่านี้บางส่วนจึงกลับมาเป็นคริสตชนดังเดิม) หนึ่งในนั้นก็คือ ภรรยาของท่าน (เรื่องนี้ยังความทุกข์ใจให้ท่านเป็นอันมาก) แต่เมื่อเทียบแล้ว คริสตชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็เลือกที่จะรักษาความเชื่อ และเผชิญหน้ากับการกดขี่ข่มเหงอย่างอธรรมนี้ด้วยความกล้าหาญ

มหาราชามารืธันฑะทรงประกอบพิธีถวายอาณาจักรแด่พระวิษณุ ใน ค.ศ. 1750
เพราะพระองค์ได้รับการสนับสนุนการขึ้นค
รองราชย์จากกลุ่มไวษณพนิกาย

การกดขี่ต่าง ๆ ยังรวมถึงการออกภาษีพิเศษเพิ่มเติมสำหรับคริสตชน ซึ่งก็คริสตชนจำนวนหนึ่งก็ปฏิเสธที่จะเสียภาษีเพิ่มเติมนี้ ท่านที่ถูกจำคุกอยู่จึงถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ยุยงให้บรรดาคริสตชนไม่ยอมเชื่อฟังมหาราชา ดังนั้นมหาราชามาร์ธันฑะที่เกรงว่าท่านจะเป็นภัยต่อพระราชอำนาจของพระองค์ จึงได้มีรับสั่งให้ประหารชีวิตท่านเป็นครั้งที่ 2 แต่ยังไม่ทันจะได้ลงมือประหาร ขณะท่านถูกนำตัวไปยังหมู่บ้านกุซุมาอิกกัด ซึ่งเป็นสถานที่ประหารชีวิต มหาราชามาร์ธันฑะก็ทรงเปลี่ยนพระทัย (อนึ่งพระองค์อาจยังทรงเชื่อในคำทำนายเดิม) ระงับการประหารครั้งนี้ของท่านลง ท่านที่มีความยินดีในทีแรกที่ทราบว่าตนนั้นจะถูกประหารชีวิตเสียที จึงกลับมามีความทุกข์ใจอีกครั้งเช่นเดียวกับในคราวแรก

อนึ่งตามธรรมเนียมของอาณาจักรตราวันคอร์ นักโทษที่ถูกจำคุกยังต้องถูกแห่ประจานไปตามหัวเมืองต่าง ๆ อีก 75 หัวเมืองทั่วอาณาจักร เพื่อรับโทษแตกต่างกันไปตามแต่เจ้าเมืองเมืองนั้นจะมีคำสั่ง ดังนั้นภายหลังจากการแห่ประจานรอบเมืองปัทมนะภาปุรัมเป็นเวลาถึง 16 วัน ท่านจึงถูกได้พาแห่ประจานตามหัวเมืองต่าง ๆ เหล่านั้นต่อ โดยพยายามใช้เส้นทางที่ผ่านหมู่บ้านคริสตชนใหม่ เพื่อเป็นการเตือนกลาย ๆ ถึงผลของการเป็นคริสตชนไปพร้อม ๆ กัน และแน่นอนว่าตลอดการเดินทางนั้น พวกผู้คุมยังคงเฆี่ยนตีท่าน เอาผงเครื่องเทศทาตัวท่าน จับท่านนั่งบนหลังกระบือ รวมถึงทรมานท่านด้วยวิธีต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่นครั้งหนึ่งที่ท่านกระหายน้ำ พวกเขาก็ได้นำน้ำทะเลมาให้ดื่ม ซึ่งท่านเองก็ยังคงน้อมรับความทุกข์ยากเหล่านั้นด้วยความยินดีดังเดิม โดยที่มีประจักษ์พยานคือบรรดาชาวบ้านต่างรวมตัวกันในทุกที่ ที่ท่านเดินทางไป

รอยข้อศอกของท่าน ที่ปุลิยูร์กุริชี

ในช่วงการแห่ประจานนี้ นอกจากผู้คุมจะตีฝ่าเท้าท่านวันละ 30 ครั้งตามคำสั่งมหาราชาแล้ว ในเจ้าเมืองบางองค์ยังได้ทรมานท่านได้ด้วยวิธีการพิศดาร เพื่อให้ท่านยอมละทิ้งความเชื่อ อาทิเช่น จับท่านขังไว้ในคุกที่เต็มไปด้วยมดแดง จับท่านขังไว้คุกร่วมกับงูพิษและแมงป่อง และจับท่านขังไว้ในห้องที่มีหม้อต้มพริกสองถึงสามใบ หรือตั้งไฟให้เดือดจัดอยู่รอบ ๆ เพื่อให้ท่านหายใจได้ลำบาก กระนั้นก็ตามไม่ว่าจะต้องเผชิญความทุกข์ทรมานรูปแบบใด ท่านก็ยังคงหนักแน่นในความเชื่อโดยตลอด และพระเป็นเจ้าก็ทรงกระทำอัศจรรย์ให้ท่านสามารถมีชีวิตรอดจากการทรมานเหล่านั้นมาได้ ดุจเดียวกับที่พระองค์ทรงกระทำบรรดามรณสักขีในยุคแรก

มีตำนานเล่าต่อกันมาในระหว่างการเดินทางครั้งนั้น เมื่อพวกผู้คุมได้นำท่านเดินทางมาถึงพะลานหินแห่งหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘ปุลิยูร์กุริชี’ ท่านได้เกิดกระหายน้ำ แต่ผู้คุมนั้นกลับเอาน้ำที่สกปรกมาให้ท่านดื่ม ท่านจึงได้เริ่มสวดวิงวอนต่อพระเจ้าทั้งน้ำตา และได้ใช้ข้อศอกของท่านกระทุ้งพะลานหินนั้นสองสามที พลันบริเวณที่ท่านใช้ศอกกระทุ้งนั้นก็เกิดเป็นตาน้ำผุดขึ้นมาให้ท่านได้ดื่มดับกระหาย ซึ่งเมื่อท่านได้ดื่มน้ำจากตาน้ำที่เกิดขึ้นนี้จนมีกำลังวังชาขึ้นแล้ว ตาน้ำดังกล่าวก้ไม่ได้หยุดไหลลง ตรงกันข้ามตาน้ำที่พะลานหินนั้นยังคงมีน้ำอยู่ตลอดตราบถึงทุกวันนี้ และได้กลายเป็นประจักษ์พยานถึงเรื่องราวของท่าน รวมถึงสถานที่แสวงบุญสำคัญอีกแห่งของคริสตชนชาวอินเดีย

บริเวณที่ท่านถูกมัดไว้กับต้นสะเดา ที่หมู่บ้านเปรุวิลัย 
เชื่อกันว่าในอดีตใบสะเดาจากต้นดังกล่าวสามารถรักษาโรคได้

หลังจากได้หยุกพักที่ปุลิยูร์กุริชีแล้ว ท่านจึงได้ถูกนำตัวเดินทางต่อไปเรื่อย ๆ กระทั่งมาถึงหมู่บ้านเปรุวิลัย อันเป็นสถานที่ตั้งเทวาลัยพระศิวะ ซึ่งเคยได้แสดงอัศจรรย์รักษาอาการเจ็บพระอุทรของมหาราชามาร์ธันฑะ พวกผู้คุมจึงนำตัวท่านไปล่ามโซ่ไว้กับต้นสะเดาต้นหนึ่งในท่ายืน แล้วทิ้งท่านไว้ในท่านั้นไม่ให้ไปไหน ไม่ว่าจะแดดจะออก ฝนตกจะตก พระอาทิตย์จะขึ้น หรือพระอาทิตย์จะตก พร้อมทั้งได้ส่งตัวท่านให้อยู่ภายใต้การกำกับของเพชรฆาต เพื่อรอพระราชโอการประหารต่อไป โดยการทรมานกินเวลานานถึง 7 เดือน ซึ่งตลอด 7 เดือนนี้ ท่านยังถูกบังคับให้ต้องอดอาหารอีกด้วย แต่ก็ใช่ว่าตลอดเจ็ดเดือน ท่านจะอยู่ในสภาพนั้นโดยตลอด เพราะนานวันเข้าโซ่ที่รัดท่านก็คลายลงบ้าง และพวกผู้คุมที่ยังดูแลท่านอยู่ ก็ได้ตัดเอาใบมะพร้าวมาทำเป็นเพิง ให้ท่านพอใช้หลบแดดหลบฝนได้บ้าง

พระคุณเจ้าเคลเมนต์ โฮเซ โกลาโก เลยเตา พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลโคชิน ซึ่งขณะนั้นมีเขตปกครองทางฟากตะวันตกของอินเดียตั้งแต่รัฐเกรละเรื่อยไปจนถึงเมืองกันยากุมารีและเกาะศรีลังกา นอกจากนี้ยังดูแลดินแดนแพร่ธรรมในฟากตะวันออกของอินเดียบางแห่งอีกด้วย ได้เขียนรายงานเรื่องการเป็นมรณสักขีของท่าน ให้พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 ในโอกาสเข้าเฝ้าถวายรายงานการดำเนินงานสังฆมณฑลประจำปี หรือ อัด ลิมินา โดยให้ข้อมูลในส่วนของท่าที่ท่านถูกมัดแตกต่างจากข้อมูลที่ระบุว่าท่านถูกมัดใน ‘ท่ายืน’ เป็น ‘ท่านั่ง’ ดังนี้ “เป็นเวลาที่เจ็ดเดือนได้ ที่เขาถูกนำตัวมาไว้ที่ใต้ต้นไม้นั้น โดยที่ขาทั้งสองข้างถูกใส่ตรวนและลำตัวถูกรัดตรึงไว้ด้วยโซ่กับลำต้น ทำให้เขาไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้ ไม่ว่าจะเป็นการลุก หรือการขยับไปด้านข้าง คงทำได้แต่นั่งและนอนพิงไปกับลำต้น”

"เป็นเวลาเจ็ดเดือนได้ ที่เขาถูกนำตัวมาไว้ที่ใต้ต้นไม้นั้น..."

เช่นเดิมแม้จะได้รับความทรมานทางกายอย่างยาวนาน ตลอดช่วงเวลา 7 เดือนที่หมู่บ้านเปรุวิลัย ท่านยังคงยึดมั่นในความเชื่อ ทุกวันท่านยังคงรำพึงภาวนายกจิตใจเข้าส่วนกับพระเป็นเจ้าในสวรรค์อยู่มิได้ขาด และสวดภาวนาสั้น ๆ ในระหว่างวันมิได้ขาด พระคุณเจ้าเลยเตายังได้บันทึกไว้อีกว่า ในเวลานี้ท่านยังมีวัตรปฏิบัติ คือ การอดอาหารในทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เพื่อถวายเกียรติต่อพระคริสตเจ้า ผู้ทรงสิ้นพระชนม์ และพระนางมารีย์ พระมารดาพระเจ้า ซึ่งเป็นการอดอาหารที่อยู่นอกเหนือการบังคับของพระศาสนจักรอีกด้วย (สันนิษฐานว่าท่านคงปฏิบัติดังนี้มาตั้งแต่รับศีลล้างบาปเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน)

ไม่เพียงเท่านั้นระหว่างอยู่ที่หมู่บ้านเปรุวิลัย ท่านยังมีโอกาสได้ติดต่อคุณพ่อบุตตารีอยู่เรื่อย ๆ ผ่านคนส่งสาส์นและจดหมาย ซึ่งไม่ว่าคุณพ่อจะได้แนะนำสิ่งใดมา ท่านก็ได้นบนอบเชื่อฟังคำดังกล่าวอยู่ตลอด และท่านยังมีโอกาสได้พบพระสงฆ์ท่านอื่น ๆ อีกสามครั้ง ที่ได้ลอบเดินทางมาพบท่านในตอนกลางคืน ซึ่งในโอกาสอันมีค่านี้ ท่านได้ขอรับศีลอภัยบาป และได้รับศีลมหาสนิท ซึ่งช่วยชุบชูกำลังฝ่ายจิตท่านให้พร้อมเผชิญกับความทุกข์ที่รออยู่ในวันข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า ครั้งหนึ่งในเวลากลางวัน พระสงฆ์องค์หนึ่งยังได้ลอบนำศีลมหาสนิทมาส่งให้ท่าน และตัวท่านเองก็มีความปรารถนาให้พระสงฆ์เดินทางมาส่งศีลมหาสนิทให้ท่านบ่อย ๆ แต่ในท้ายที่สุดความปรารถนาดังกล่าวก็ไม่อาจเป็นจริง

ท่านได้เปลี่ยนสถานที่แห่งความสิ้นหวัง เป็นสถานทที่แห่งความหวัง

โดยจากข้อมูลที่สืบค้นได้ สันนิษฐานได้ว่าว่าพระสงฆ์ที่มาเยี่ยมท่านในเวลานี้ คือ คุณพ่อฟรังซิสโก ปีเมนเตล พระสงฆ์คณะเยซูอิต หัวหน้างานแพร่ธรรมในเขตมาดูไร (ทมิฬ) ซึ่งท่านได้แบ่งปันถึงความสุขอันยิ่งใหญ่ ที่ตัวท่านนั้นได้รับพระหรรษทานที่จะรับความทุกข์ทรมานเพื่อพระคริสตเจ้า และคุณพ่อโทมัสโซ เด โฟนเซกา พระสงฆ์เยซูอิต ประจำวัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ หมู่บ้านก๊อตตาร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านเปรุวิลัย ที่มีข้อมูลระบุว่าได้เดินทางมาประกอบพิธีมิสซาและส่งศีลให้ท่านในเวลากลางคืน

เป็นเวลานี้เช่นเดียวกัน ที่เมื่อข่าวท่านถูกจับตรึงไว้กับต้นสะเดาแพร่ออกไป ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่โดยรอบหมู่บ้านเปรุวิลัย ก็เริ่มพากันเดินทางมาของคำภาวนาจากท่าน ซึ่งด้วยจิตวิญญาณของประกาศกที่ไม่เคยดับมอดไป ท่านจึงได้ใช้โอกาสเหล่านี้แพร่ธรรมอีกครั้ง โดยเมื่อท่านมีโอกาสได้พูดคุยกับบุคคลใด ท่านจะสอดแทรกเรื่องราวของพระมหาทรมาน ที่พระคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าทรงได้รับ เพื่อไถ่โทษมนุษย์โลกลงไปให้บุคคลนั้น ๆ ได้ฟัง และไม่เพียงเท่านั้นในโอกาสอื่น ๆ ท่านยังได้ให้ชาวบ้านคนหนึ่งช่วยอ่านพระคัมภีร์ให้ท่านและผู้ที่มาเยี่ยมท่านได้ฟังอีกด้วย

ตัวอย่างสำเนารายงานเรื่องการเป็นมรณสักขีของเทวสหยัม 
ต่อพระสันตะปาปา เขียนโดยพระคุณเจ้าเลยเตา

ดังนั้นในไม่ช้าร่มสะเดาที่เคยเป็นสถานที่แห่งความสิ้นหวัง จึงค่อย ๆ ถูกคนธรรมดาคนหนึ่งเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่แห่งความหวัง เฉกเช่นวัดหลังน้อยที่คอยต้อนรับทุกคนที่เหน็ดเหนื่อยและมีภาระหนัก ให้ได้มารับความบรรเทาใจผ่านชายธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ถูกตราหน้าว่าเป็น ‘อาชญากร’ โดยหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ได้มารับความบรรเทาใจจากร่มสะเดานี้ คือ ‘เพชรฆาต’ ที่ดูแลท่าน โดยเขาพร้อมภรรยาได้พากันมาให้ท่านอวยพรและสวดภาวนาให้ความประสงค์หนึ่งนั้นสำเร็จไป ซึ่งเมื่อท่านได้ทราบความต้องการของทั้งสอง ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธพวกเขา หรือโกธรเคืองต่อความอยุติธรรมที่เขาได้ปฏิบัติต่อท่าน ตรงข้ามท่านได้สนทนาและได้ให้ความมั่นใจกับพวกเขาว่า พระเจ้าจะทรงสดับฟังคำภาวนานี้ และไม่นานความประสงค์ของทั้งสองก็บรรลุผล ทำให้แต่นั้นมาเพชรฆาตที่ดูแลท่าน จึงมีความเห็นใจในตัวท่านมากขึ้น เช่นเดียวกับบรรดาผู้คุม

และด้วยความเห็นใจนี้เอง ครั้งหนึ่งทั้งเพชรฆาตแลผู้คุม จึงได้เสนอโอกาสให้ท่านหลบหนี โดยที่พวกเขาจะแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เสีย แล้วให้ท่านหหลบหนีออกไป ฝั่งท่านที่ได้รับข้อเสนอดังกล่าวจึงได้นำเรื่องนี้ปรึกษากับกัปตันเดอ ลันโนย และคุณพ่อบุตตารี ซึ่งทั้งสองก็มีความเห็นตรงกันว่าการหลบหนีนั้นเป็นเรื่องขาดเขลา และสนับสนุนให้ท่านนั้นเผชิญกับความตายเพราะความเชื่ออย่างกล้าหาญต่อไป ดังนั้นเมื่อได้รับการหนุนใจจากทั้งสอง กอปรกับคำตอบที่ได้รับจากการรำพึงภาวนา ท่านจึงปฏิเสธโอกาสที่จะหนีในครั้งนี้ และยินดีที่จะถวายชีวิตตัวตามมรรคาของบรรดามรณสักขีต่อไป

หลุมศพนางกนานะปู ที่หมู่บ้านวทักกันกุลัม

การที่ประชาชนจำนวนมากต่างพาเดินทางไปพบท่านหมู่บ้านเปรุวิลัย เพื่อขอคำภาวนาจากท่าน จนเป็นโอกาสให้ท่านได้แพร่ธรรม ทำให้ในที่สุดมหาราชามาร์ธันฑะจึงมีบัญชาให้เนรเทศท่านไปยังคุกตำบลอรัลไวโมศี ตำบลชายแดนทางตะวันออกของอาณาจักร ซึ่งติดกับอาณาจักรมาดูไรอย่างลับ ๆ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนมาพบท่านได้ แต่ทันทีที่ท่านมาถึง ต. อรัลไวโมศี ข่าวการมาถึงของท่านก็แพร่ไปตามหมู่บ้านคริสตชนโดยรอบ ดังนั้นทุกวันจึงประชาชนมากหน้าหลายตาเดินทางมาพบท่านเช่นที่หมู่บ้านเปรุวิลัย ดังปรากฏบันทึกถึงปริมาณผู้คนที่มาเยี่ยมท่านว่า “มีจำนวนมากเสียจนที่ตรงนั้น เหมือนเป็นที่จัดงานเทศกาลมากเสียกว่าเป็นสถานที่อันโดดเดี่ยว”

หนึ่งในบรรดาผู้ที่มาพบท่านในเวลานั้นรวมถึง ‘นางกนานะปู’ ภรรยาของท่านที่ได้ละทิ้งความเชื่อในคริสตศาสนาไปอยู่ระยะหนึ่ง ท่านจึงได้มีโอกาสปลอบประโลมใจภรรยาผู้เป็นทุกข์ และได้หนุนใจให้เธอวางใจในการทรงนำของพระเป็นเจ้าต่อไป ทั้งได้แนะให้เธอนั้นย้ายไปอาศัยที่หมู่บ้านวทักกันกุลัมเสียเพื่อความปลอดภัย นางกนานะปูจึงได้อำลาสามีทั้งน้ำตา การจากลาครั้งนี้ นับเป็นการจากลาครั้งสุดท้ายระหว่างนางกับท่านอย่างแท้จริง แม้เราไม่อาจล่วงรู้ได้ถึงเรื่องราวของนางต่อไป แต่อาจจินตนาการได้ว่า ในเวลาไล่เลี่ยกับที่นางนั้นได้ออกเดินทางออกจากอาณาจักรตราวันคอร์ ท่านก็ได้ออกเดินทางเช่นกัน แต่การเดินทางครั้งนี้ของท่านไม่ใช่การเดินทางไปที่ใดในโลก แต่คือการเดินทางไปยัง ‘สวรรค์’ ในฐานะ ‘มรณสักขี’ ตามที่ท่านปรารถนา

คุกที่เคยใช้ขังท่าน ณ ต. อรัลไวโมศี

เมื่อมหาเสนาบดีและราชเลขาธิการ ซึ่งเป็นผู้นำคณะก่อการในการจับท่านจำคุก เห็นว่าแม้จะเนรเทศท่านไปไว้ที่คุกตำบลอรัลไวโมศี ผู้คนจำนวนมากยังคงเดินทางไปหาท่านอยู่ตลอด จนกลายเป็นโอกาสให้ท่านได้แพร่ธรรม ดังนั้นการฝืนปล่อยให้ท่านมีชีวิตอยู่ต่อไปคงจะไม่เป็นการดีแน่ ฉะนั้นเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้คริสตศาสนาเติบโตยิ่งขึ้นในอาณาจักร ทั้งสองจึงได้ตัดสินใจนำเรื่องนี้ขึ้นทูลมหาราชามาร์ธันฑะให้ทราบ มหาราชามาร์ธันฑะเมื่อทรงพิจารณาตามคำทูล ก็ทรงเห็นด้วย พระองค์จึงได้มีรับสั่งให้เปลี่ยนกลุ่มผู้คุมตัวท่านเสียใหม่ โดยให้เอากลุ่มที่ไม่ชอบคริสตศาสนาเป็นทุนเดิมไปคุมแทน และได้มีรับสั่งให้ประหารท่านอย่างลับ ๆ ในเร็ววัน

ดังนั้นในเวลาต่อมา เมื่อกลุ่มผู้คุมชุดใหม่ได้เดินทางมาแทนที่กลุ่มผู้คุมชุดเดิมแล้ว ในกลางดึกของคืนวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1752 ในยามราตรีที่ทุกคนต่างหลับไหล ผู้คุมจึงได้ปลุกท่านและได้สั่งให้ท่านเดินออกมาจากห้องขัง ท่านที่ในคืนนั้นมีอาการกระสับกระส่ายตลอดคืนทั้งในระหว่างการภาวนา เรื่อยมาจนถึงตอนนอน เมื่อถูกปลุกให้ลุกขึ้น ก็ตระหนักได้ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า ท่านจึงได้กล่าวกับรรดาผู้คุมว่า “เจ้าไม่จำเป็นต้องเสแสร้งอันใด ข้ารู้ว่าเจ้าจะพาตัวข้าไปไหน ไปกันเถิด” จากนั้นท่านจึงได้ถูกบรรดาผู้คุมนำตัวไปยังชายป่าเมืองอรัลไวโมศี ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นป่ารกชัฏ บริเวณเนินเขาเล็ก ๆ ที่เรียกกันว่า ‘กัตตะทิมาลัย’ แปลว่า ภูเขาที่ลมพัดแรงอยู่ตลอด


เนื่องจากปฏิบัติการนี้เป็นไปอย่างลับ ๆ และต้องแข่งกับเวลาเพื่อมิให้มีใครล่วงรู้ว่าท่านนั้นได้หายไปไหน พวกผู้คุมเมื่อเห็นว่าท่านนั้นเดินได้ไม่ไวดังใจตน (เพราะมีตรวนที่ล่ามอยู่) จึงได้พากันหาไม้ท่อนหนึ่งขนาดยาวพอดี เอามาสอดระหว่างข้อเท้าและข้อมือของท่านที่มีตรวน แล้วแบกท่านที่อยู่ท่านอนหงายไม่ต่างอะไรจากสัตว์ มุ่งตรงไปยังกัตตะทิมาลัยด้วยความรวดเร็ว จนลุถึงที่หมายพวกคุมจึงได้นำไม้นั้นออก ท่านจึงได้ขอเวลาสวดภาวนา ฝั่งพวกคุมก็ได้อนุญาต ท่านจึงได้เริ่มสวดภาวนาที่พะลานหินด้านบริเวณนั้นอยู่ชั่วขณะ ยกถวายวิญญาณของท่านแด่พระเป็นเจ้าในโลกนี้เป็นครั้งสุดท้าย (บริเวณดังกล่าวในปัจจุบันก็ยังคงปรากฏรอยหัวเข่าทั้งสองข้าง และรอยข้อศอกข้างหนึ่งของท่านอยู่เป็นประจักษ์พยานตราบถึงทุกวันนี้)

เมื่อสงบจิตได้ระยะหนึ่ง ท่านจึงได้แจ้งกับผู้คุมว่า บัดนี้ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ของท่านลุล่วงแล้ว และพวกผู้คุมก็สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายต่อได้ ผู้คุมจึงได้ให้ท่านนั้นขึ้นไปยังเนินเขาขนาดไม่สูงมากนัก ฝั่งบรรดาผู้คุมก็ได้ขึ้นไปยังหินอีกก้อน และเมื่อเห็นว่าท่านขึ้นไปถึงยังตำแหน่งที่กำหนดแล้ว บรรดาผู้คุมจึงได้ใช้ปืนที่เตรียมมาสังหารท่านในทันที ผลปรากฏว่าในการยิงหนแรกกระสุนสามนัดได้ถูกท่านในทันที แต่กระสุนทั้งสามก็มิได้ทำให้ท่านเสียชีวิตในทันที พวกผู้คุมจึงได้ยิงท่านเป็นหนที่สองอีกสองนัด ท่านจึงได้ล้มลงพร้อมเปล่งเสียงว่า “พระเยซู ช่วยลูกด้วย” แต่ท่านก็ยังมิได้สิ้นใจในทันที ท่านยังคงมีแรงเปล่งพระนามของพระเยซูเจ้าและแม่พระซ้ำไปซ้ำมาอยู่ พวกผู้คุมที่มาตรวจสอบเมื่อเห็นเป็นดังนั้นจึงได้ยินท่านเป็นหนที่สามอีกสองนัด ท่านจึงถึงแก่มรณกรรมในฐานะ ‘มรณสักขี’ สมดังตั้งใจ ด้วยอายุ 40 ปี หรือภายหลังท่านรับศีลล้างบาปได้เพียงเจ็ดปี และถูกจำคุกมาได้สามปี

รอยหัวเข่าและข้อศอกของท่าน ณ กัตตะทิมาลัย

เมื่อมั่นใจว่าท่านได้สิ้นใจเป็นที่แน่นอนแล้ว พวกผู้คุมจึงได้ช่วยกันกลิ้งร่างของท่านลงไปหลบไว้หลังพุ่มไม้ที่ด้านล่าง เพื่อปล่อยให้ร่างของท่านนั้นกลายเป็นอาหารของสัตว์ป่าในบริเวณดังกล่าว ก่อนจะพากันเดินทางกลับไปยังคุกเมืองอรัลไวโมศี แต่ในเช้าวันต่อมาเมื่อชาวบ้านที่เดินทางมาพบท่าน ไม่พบตัวท่านอยู่ในคุก ทุกคนจึงคาดเดาได้ว่าท่านน่าจะได้เสียชีวิตลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บรรดาพระสงฆ์มิชชันนารีที่ทราบข่าวจึงได้เร่งเดินทางมาพบผู้คุม และได้เสนอเงินเพื่อแลกกับตรวนที่ใช้ล่ามท่านตลอดสามปี แต่บรรดาพระสงฆ์มิชชันนารีก็ยังไม่สามารถเข้าใกล้ร่างของท่านได้ในทันที เนื่องจากมีทหารได้คอยเฝ้าอยู่ไม่ไกล จนล่วงได้ห้าวันภายหลังคืนที่มีการสังหารท่าน บรรดาพระสงฆ์มิชชันนารีจึงสามารถเดินทางไปยังสถานที่สังหารท่าน และพบเพียงกระดูกของท่านเท่านั้น

บรรดาพระสงฆ์มิชชันนารีจึงได้รวบรวบกระดูกที่เหลือของท่านนั้นกลับมา และได้นำไปฝังไว้ที่หน้าพระแท่นวัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ก๊อตตาร์ ต. เนเยกอยล์ เมืองกันยากุมารี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ถูกสงวนไว้สำหรับร่างของพระสังฆราชและ ‘นักบุญ’ และเพื่อเป็นเกียรติแด่วีรกรรมอันกล้าหาญนี้ พระคุณเจ้าเลยเตา พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลโคชินจึงได้ให้มีการขับร้องบทเพลงเตเดอุมในวัดทุกแห่งในสังฆมณฑลพร้อมกัน เพื่อโมทนาคุณพระเจ้าต่อมรณกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ได้เกิดขึ้นในเขตความดูแลของสังฆมณฑลในเวลานั้น ทั้งตัวพระคุณเจ้ายังได้เทศน์สดุดีวีรกรรมของท่าน และได้เขียนรายงานเรื่องนี้ถวายพระสันตะปาปาในเวลาต่อมา

หลุมฝังศพของท่านภายในวัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ก๊อตตาร์
(ปัจจุบันเป็นอาสนวิหารสังฆมรฑลก๊อตตาร์)

มีคำกล่าวว่า “หากการแพร่ธรรมของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ เป็นปัจจัยหลักให้เกิดการกลับใจของผู้คนตามแนวชายฝั่งฉันใด ปรากฏการณ์ของเทวสหยัม พิลัยก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการกลับใจของผู้คน ที่อาศัยอยู่ตอนในเช่นกัน” เหตุว่าการที่ท่านถูกพาแห่ประจานจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง และได้จบชีวิตลงเช่นมรณสักขี ไม่ได้ทำให้กล้าพันธุ์แห่งพระศาสนจักรลดน้อยลงด้วยความหวาดกลัว ตรงข้ามอาศัยความกล้าหาญของท่านในการยืนหยัดในความเชื่อ ได้ส่งผลให้เกิดกล้าพันธุ์ใหม่งอกขึ้นอยากมากมายในบริเวณตอนใต้ของรัฐทมิฬนาฑู ไม่ว่าจะเป็นในชุมชนคริสตชนท้องถิ่น หรือในชุมชนชาวฮินดู แม้กล้าพันธุ์เหล่านั้นบางกล้าในท้ายที่สุดจะมิได้ออกผล และตายลงอย่างน่าเสียดาย แต่ก็ถือว่าเป็นผลผลิตอันน่าอัศจรรย์ผ่านชีวิตของท่าน ดังนั้นชีวิตของท่านจึงได้เป็นไปดังพระวาจาที่ว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงในดิน และตายไป มันก็จะเป็นเพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามันตายมันก็จะบังเกิดผลมากมาย” (ยอห์น 12: 24)

แต่แม้ว่าในทันทีที่ท่านได้ถึงแก่มรณกรรมลง ท่านจะได้ความเคารพในฐานะ ‘มรณสักขี’ และ ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’ รวมถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับท่านก็ได้กลายเป็นที่แสวงบุญสำหรับคริสตชน แต่กว่าที่พระศาสนจักรท้องถิ่นจะเริ่มดำเนินกระบวนการขอแต่งตั้งท่านขึ้นเป็นนักบุญอย่างจริงจัง ก็ใช้เวลาหลังท่านมรรกรรมไปกว่า 240 ปี โดยสังฆมณฑลที่รับผิดชอบในการเปิดกระบวนการครั้งนี้ คือ สังฆมณฑลก๊อตตาร์ และเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าการเป็นมรณสักขีของท่านนั้นเกิดขึ้นจริง ในที่สุดในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 จึงได้มีการบันทึกนามท่านไว้ในสารบบุญราศี ท่านจึงนับเป็นฆราวาสคนแรกของประเทศอินเดียที่ได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศี

พิธีสถาปนาบุญราศีเทวสหยาม โดยมีพระคุณเจ้าอังเยโล อมาโต 
เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16

และในสมัยของพระสันตะปาปาฟรานซิสนี้เอง กระบวนการขอแต่งตั้งข้ารับใช้พระเจ้าเทวสหยัมก็มาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อทางสันตะสำนักได้รับรองอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นผ่านคำเสนอวิงวอนของท่าน และได้เตรียมสถาปนาท่านขึ้นเป็นนักบุญใน ค.ศ. 2022 นี้ ดังนั้นในเร็ววันนี้พระศาสนจักรอินเดียจึงจะมีนักบุญเพิ่มเป็น ‘องค์ที่ 7’ และนับเป็นนักบุญองค์แรกของอินเดีย ที่เป็น ‘ฆราวาส’ โดยในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ ยังได้มีความพยายามเสนอให้ตัดคำว่า ‘ปิลลัย’ ออกจากนามของท่านอีกด้วย ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าในสถานปนาที่จะจัดขึ้นพระศาสนจักรจะมีความเห็นเช่นไร

“พี่น้องทั้งหลาย พระเจ้าทรงเรียกท่านให้มารับอิสรภาพ ขอเพียงแต่อย่าใช้อิสรภาพนั้นเป็นข้อแก้ตัวที่จะทำตามใจตน แต่จงรับใช้ซึ่งกันและกันด้วยความรัก” (กาลาเทีย 5: 13) ดังที่นักบุญเปาโลได้เขียนไว้ พระเจ้าผู้มีพระทัยดีทรงเรียกเราให้มารับ ‘อิสรภาพจากการเป็นทาสของบาป’ และได้กลายเป็น ‘บุตรบุญธรรม’ ของพระองค์ ผ่านการเป็นคริสตชนไม่เพียงแต่ในเอกสาร แต่รวมถึงในชีวิตทุกวินาที ซึ่งสถานภาพของบุตรบุญธรรมนี้ ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งของคริสตชนให้สูงส่งกว่าคนต่างศาสนนิก ตรงข้ามสถานภาพนี้กลับเรียกร้องให้คริสตชนผู้ที่ได้รับสถานภาพ ‘รับใช้’ เพื่อนมนุษย์ทุกคนด้วย ‘ความรัก’


ความหมายของการรับใช้ด้วยความรักนี้ ก็คือ ‘การช่วยเหลือ’ ทุกคนรอบตัวไม่ว่าจะเป็นด้วยกิจการ วาจา หรือการมอบความปรารถนาที่ดีให้ เพราะแท้จริงความหมายของการรับใช้ ไม่ใช่เพียงการทำบางสิ่งเพื่อคนอื่นแต่เพียงอย่างเดียว เพราะการกระทำนั้นยังต้องมี ‘ความรัก’ เป็นองค์ประกอบในการกระทำ ซึ่งความรักนี้ ไม่ใช่ความรักในฐานะชายหญิงที่ชอบพอกัน หรือความรักในพวกพ้องครอบครัวหนึ่ง แต่คือความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ในฐานะ ‘สิ่งสร้างของพระเจ้า’ ร่วมกับเรา ความรักนี้จึง ‘ไม่ได้หวังผลใด ๆ เพื่อตนเอง’

ชีวิตของบุญราศีเทวสหยัมได้ดำเนินไปดังนี้ กล่าวคือเมื่อท่านได้รับศีลล้างบาป ท่านได้ตระหนักดีถึงหน้าที่ในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ทุกคนด้วยความรัก ดังนั้นท่านจึงแพร่ธรรมให้คนรอบข้าง เพราะท่านปรารถนาช่วยให้บุคคลเหล่านั้นได้พบความสุขเช่นท่าน ไม่เว้นแม้แต่คนในวรรณะที่ต่ำกว่า จนท้ายที่สุดท่านจึงถูกจับและถูกประหารชีวิต ซึ่งในเวลาก่อนที่ท่านจะถูกประหารนั่นเอง เมื่อถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวน ท่านก็ยังคงตระหนักในสถานภาพของบุตรบุญธรรม ท่านจึงยังคงช่วยเหลือผู้อื่นและแพร่ธรรม ด้วยวาจาและคำภาวนา โดยไม่มีข้อละเว้นแม้คนผู้นั้นจะเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นเพชรฆาต ดังนั้นในท้ายนี้ จึงขอให้ชีวิตของบุญราศีเทวสหยัมเตือนใจเรา โดยเฉพาะคริสตชนตระหนักถึงหน้าที่ในการ ‘รับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก’ แท้ในวิถีทางตามแบบฉบับของแต่ละคน แต่ละช่วงเวลา และแต่ละสถานการณ์ เพราะแท้จริงไม่มีสิ่งใดที่เราขาดแคลน ในการจะช่วยเหลือผู้อื่น อาแมน



“ข้าแต่ท่านบุญราศีเทวสหยัม ปิลลัย ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
http://www.martyrdevasahayampillai.org/
https://blesseddevasahayampillai.blogspot.com
https://en.wikipedia.org/wiki/Devasahayam_Pillai
https://www.vijayvaani.com/ArticleDisplay.aspx?aid=2589
https://www.jayesu.com/emanna/emanna_017.php
http://www.missionariesoftheworld.org/2011/06/devasahayam-pillai_14.html
https://believersportal.com/meet-devasahayam-pillai-convert-from-hinduism-to-christianity-first-indian-martyr/
https://vskbharat.com/vatican-put-hold-on-canonisation-of-devasahayam-pillai/?lang=en
https://indianexpress.com/article/explained/explained-who-is-devasahayam-pillai-sainthood-7618659/

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...