วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

"เทวสหยัม" ประกาศกของพระคริสตเจ้า

บุญราศีเทวสหยัม ปิลลัย
Bl. Devasahayam Pillai
ฉลองในวันที่ : 14 มกราคม

ปฐมบทแห่งมรณสักขีของอินเดียองค์นี้ เริ่มขึ้นอำเภอทางใต้สุดของประเทศอินเดีย นั่นคือ ‘อ. กันยากุมารี’ เพชรน้ำงามแห่งรัฐทมิฬนาฑู นอกเหนือจากความงามทางธรรมชาติของท้องทะเล อ. กันยากุมารียังเป็นที่รู้จักกันในฐานะเมืองศักดิ์สิทธิ์ของ ‘นางกันยากุมารี’ เทพธิดาผู้เป็นอวตารของนางปราวตีเทวี เพื่อปราบพนาสูร ยามเมื่อเสียงสรรเสริญนามแห่งศรีสดาศิวะ ดังขึ้นจากครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านนัตตลัม ในเขตเมืองกันยากุมารีในเวลานี้ ในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1712

เสียงนั้นดังมาจากครอบครัวชนชั้นสูงหนึ่ง ซึ่งมีหัวหน้าครอบครัวชื่อ ‘วสุเทวัญ นัมภูทิรี’ เป็นพราหมณ์จากเมืองกยัมกุลัม ในรัฐเกรละ ผู้ประจำอยู่ ณ เทวาลัยแห่ง ต. นัตตลัม ซึ่งเป็นที่ตั้งเทวาลัยในไศวนิกายถึง 2 หลัง คือ เทวาลัยพระสังกรนารายนัน (เทวาลัยพระหริหระ-พระศิวะรวมร่างกับพระวิษณุ) และเทวาลัยอรรถนารีศวระ (พระศิวะรวมร่างกับนางปารวตี) และมีภรรยาคือ ‘นางเทวกี อัมมา’ หญิงในวรรณะ ‘นยาร์’ (Nayar) ซึ่งเป็นกลุ่มวรรณะพิเศษในบริเวณตอนใต้ของอินเดียโดยเฉพาะบริเวณรัฐเกรละในปัจจุบัน มีบทบาทในด้านการปกครอง และมีศักดิ์รองลงมาจากวรรณะพราหมณ์ อันเป็นวรรณะสูงสุด (เมืองกันยากุมารีในสมัยนั้นเป็นเมืองในปกครองของอาณาจักรตราวันคอร์ ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบรัฐเกรละ) จากหมู่บ้านธิรูวัตตาร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเทวาลัยพระศรีอธิเกศวรเปรุมัล เทวาลัยอันศักดิ์สิทธิ์ของพระศรีหริวิษณุ (มักมีความสับสนว่าเป็นเทวาลัยที่ประจำของพราหมณ์วสุเทวัญ)

บริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นบ้านที่ท่านเกิดที่ ต. นัตตลัม

เมื่อเห็นว่าทารกนั้นมีเพศเป็นชาย พราหมณ์วสุเทวัญ ผู้เป็นที่เคารพยิ่งของชาวบ้าน จึงได้ให้นามบุตรชายคนนี้ตามนามหนึ่งของศรีสดาศิวะว่า ‘นิลกันฑา’ แปลว่า ‘ผู้มีคอเป็นสีนิล’ เพื่อความเป็นมังคละแก่บุตร และด้วยสถานภาพที่ได้มาโดยกำเนิดตามธรรมเนียมท้องถิ่น ทารกจึงได้มีคำสร้อยต่อท้ายนามว่า ‘ปิลลัย’ อนึ่งตามธรรมเนียมท้องถิ่นที่บุตรนั้นจะได้รับวรรณะตามวรรณะของผู้เป็นมารดา ดังนั้นนิลกันฑา ปิลลัยจึงได้รับวรรณะนยาร์ตามนางเทวกี และได้รับการอบรมเป็นส่วนใหญ่จากลุงของท่านที่อยู่ในวรรณะเดียวกันแทนที่จะเป็นบิดาของท่าน ซึ่งอยู่ในวรรณะพราหมณ์

ในฐานะบุตรแห่งนยาร์ ท่านได้รับการอบรมทั้งทางด้านภาษาถึงสามภาษาได้แก่ภาษามาลายัม ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ภายในครอบครัว ภาษาทมิฬ ซึ่งเป็นภาษาของคนท้องถิ่นในพื้นที่ที่อาศัย และภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาของชนวรรณะสูง และยังได้รับการอบรมทางด้านการใช้ศาสตราวุธชนิดต่าง ๆ และเพลงมวย ตามสถานภาพของวรรณะของท่านที่เป็นชนชั้นปกครองในสังคม จนท่านมีอายุได้สมควรแก่การรับราชการ ท่านจึงได้เริ่มรับราชการเป็นทหารในกองทหารของแห่งอาณาจักรตราวันคอร์ (อาณาจักรที่ปกครองดินแดนที่ท่านอาศัย) ซึ่งขณะนั้นปกครองโดยมหาราชามาร์ธันฑะ วาร์มะ (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1729 - ค.ศ. 1758)

ดาบและขวาน ซึ่งเป็นอาวุธท่าน ปัจจุบันเก็บรักษา ณ ต. นัตตลัม

ด้วยอุปนิสัยขยันขันแข็ง ว่องไวคล่องแคล่ว มุมานะในการปฏิหน้าที่ ยึดมั่นในความดี รังเกียจความชั่ว อีกทั้งมีสติปัญญาเฉียบแหลมสมกับชาติตระกูล และมีฝีไม้ลายมือในการรบไม่เป็นสองรองใคร ท่านจึงเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้บังคับบัญชาและมหาราชา จึงทำให้ในเวลาต่อมาท่านได้เลื่อนตำแหน่งให้มารับราชการภายในเทวาลัยพระนิลกันฑสวามี ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของพระราชวังปัทมะนาภะปุรัม แล้วจึงได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานในท้องพระคลังตามลำดับ และด้วยอุปนิสัยเช่นกัน เมื่อผนวกด้วยชาติตระกูลและทรัพย์ บรรดาครอบครัวทั้งหลายจึงต่างปรารถนาที่จะได้ท่านมาเป็นเขย และต่างพากันเสนอบุตรสาวของตนมาให้ท่านนั้นได้เลือกสยุมพร ซึ่งในท้ายที่สุดท่านได้เลือก ‘ภาร์กาวิอัมมัล’ หญิงสาววรรณะนยาร์จากหมู่บ้านเมกโกฑุ มาเป็นศรีภรรยาของท่าน

เป็นที่แน่นอนว่าด้วยตระกูลของท่านนั้นล้วนมาจากกลุ่มคนในวรรณะสูง รอบตัวท่านจึงอบอวนไปด้วยความศรัทธาในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะในลัทธิไศวนิกาย ที่บูชาพระสดาศิวะเป็นใหญ่ ท่านที่เติบโตมาในบรรยากาศนี้ ได้รับการอบรม และซึมซับด้วยตาเนื้อ จึงเป็นผู้หนึ่งที่ปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ ของชาวฮินดูอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งการไปบูชาที่เทวาลัยและที่บ้านในเวลาปกติและเทศกาล ชีวิตของท่านจึงห่างไกลจากคริสตศาสนาเป็นอย่างมาก แต่แผนการณ์ของพระเจ้านั้นเกิดจะหยั่งรู้ และสุดแสนจะอัศจรรย์ เมื่อวันหนึ่งใน ค.ศ. 1741 กองทัพเรือสัญชาติดัชต์นำโดย กัปตันยูสตาชิอุส เบเนดิกตุส เดอ ลันโนย ชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้รับคำสั่งจากบริษัทอินเดียตะวันออก หรือ วีโอซี ให้เข้ายึดเมืองโคลาเชล เพื่อใช้เป็นสถานีการค้า ได้เข้าปะทะกับกองกำลังตราวันคอร์ ที่ดูแลหัวเมืองดังกล่าว

กัปตันเดอ ลันโนย สวามิภักดิ์ต่อมหาราชา มาร์ธันฑะ ภายหลังแพ้สงคราม

ในการรบพุ่งครั้งนั้นผลปรากฏว่าฝ่ายกองทัพเรือดัชต์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ถูกสังหารจนเกือบหมด เว้นเสียแต่กัปตันเดอ ลันโนย และผู้ติดตามอีกสามสี่คน ซึ่งได้ถูกจับกลับมาจำคุก และในเวลาต่อมาเมื่อมหาราชามาร์ธันฑะ เล็งเห็นถึงความสามารถของกัปตันเดอ ลันโนยในด้านการทหาร จึงโปรดให้อภัยโทษกัปตันและได้มอบหมายให้เขาเป็นผู้ฝึกกองทหารแห่งอาณาจักรตราวันคอร์ ตามแนวทางแบบโลกตะวันตก ทำให้ในไม่ช้าท่านที่รับราชการในท้องพระคลัง จึงมีโอกาสได้พบกัปตันเดอ ลันโนยอยู่บ่อยครั้ง และจะด้วยนิสัยใจคอของทั้งสองที่เหมือนกันหรือเป็นการดลใจจากสวรรค์ ทั้งท่านและกัปตันเดอ ลันโนย แม้จะมีข้อแตกต่างกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือศาสนา ก็กลายมาเป็นสหายที่คอยพูดคุยสนทนาถึงเรื่องต่าง ๆ อยู่ด้วยกันโดยตลอด และอาศัยมิตรภาพนี้เอง จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของท่านไปอย่างไม่มีวันถอยกลับ

วันหนึ่งใน ค.ศ. 1744 กัปตันเดอ ลันโนยได้พบว่าท่านมีสีหน้าเศร้าหมอง จึงได้เอ่ยถามว่าถึงสาเหตุของปริวิตกที่ปรากฏบนใบหน้าของท่าน ท่านจึงได้เริ่มปรับทุกข์ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ท่านต้องสูญเสียหลายสิ่งไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้โคพันธุ์ดีของท่านหลายตัวก็ได้ล้มตายลงอย่างน่าประหลาด การสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อ ๆ กันนี้ ทำให้ท่านเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตัวท่านนั้นได้ทำบาปให้องค์พระเป็นเจ้าพิโรธหรือไม่ แม้ว่าท่านจะปฏิบัติบูชาพระองค์โดยตลอดมิได้ขาดตกบกพร่อง หรือแท้จริงมีคนที่ไม่ชอบหน้าท่าน ได้ทำของใส่ท่านกันแน่ ความสับสนถึงต้นตอของปัญหา รวมถึงความหวาดวิตกว่าท่านจะต้องสูญเสียสิ่งใดเป็นลำดับต่อไป จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่านทุกข์ใจเป็นอันมาก

ถ้าเรารับของดี ๆ จากพระเจ้า ทำไมเราจึงไม่รับของไม่ดีด้วยเล่า (โยบ 2: 10)

เมื่อกัปตันเดอ ลันโนยได้ทราบถึงความทุกข์ใจของสหายดังนี้แล้ว เขาจึงได้เริ่มกล่าวบรรเทาใจสหายด้วยความเชื่อแบบคริสตัง โดยได้เขาได้เล่าเรื่องราวของบุรุษผู้หนึ่งนามว่า ‘โยบ’ บุรุษในพันธสัญญาเดิมผู้ได้เผชิญกับการทดสอบมากมาย จนแปรเปลี่ยนจากคนมั่งมีให้กลายเป็นยาจก แต่ไม่ว่าจะเผชิญกับความทุกข์ยากเพียงใด โยบก็ยังคงมีความไว้วางใจในพระเจ้าของเขาโดยตลอด และที่สุดเมื่อเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านพ้นไปโยบก็ได้รับรางวัลเป็นเท่าทวีคูณจากที่เสียไป ท่านเมื่อได้ฟังเรื่องเล่าของโยบจบลง หัวใจที่สับสนวุ่นวายของท่านก็ได้รับความบรรเทา และรู้สึกประทับใจอย่างประหลาด กับความวางใจในพระเป็นเจ้าของโยบ

หลังจากนั้นวันนั้นมา เมื่อมีโอกาสได้สนทนากับกัปตันเดอ ลันโนย ท่านก็มักชวนเขาสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าของโยบอยู่ตลอด ฝั่งกัปตันเดอ ลันโนยก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้สหายของเขาฟัง กระทั่งวันหนึ่งท่านที่ได้รับฟังเรื่องราวของพระเจ้าของโยบมาหลายครั้ง ก็ตัดสินใจว่าชีวิตที่เหลือท่านจะขอยึดพระเป็นเจ้าพระองค์นี้เป็นที่พึ่งแต่เพียงพระองค์เดียว ท่านจึงได้แสดงเจตจำนงค์ที่จะรับศีลล้างบาปเป็นคริสตังให้กัปตันเดอ ลันโนยฟัง กัปตันเดอ ลันโนยเมื่อทราบถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ในครั้งนี้ จึงได้ส่งท่านพร้อมจดหมายไปพบคุณพ่อจูวานนี บัตติสตา บุตตารี พระสงฆ์ธรรมทูตคณะเยซูอิต ที่ประจำอยู่ที่หมู่บ้านวทักกันกุลัม อ. เนลลัย

ภาพเขียนวิถีชีวิตของผู้คนในอาณาจักรตราวันคอร์ ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19

โดยสาเหตุที่กัปตันเดอ ลันโนยต้องส่งท่านไปหมู่บ้านวทักกันกุลัม ซึ่งอยู่ขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของ อ. กันยากุมารีนั้น มีสาเหตุมาจากหมู่บ้านดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของอาณาจักรตราวันคอร์ ซึ่งในเวลานั้นมีนโยบายห้ามทุกคนในอาณาจักรเข้ารีตเป็นคริสตศาสนิกชน ยกเว้นเพียงแต่กลุ่มชาวประมงที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งและกลุ่มชาวบ้านที่นับถือศาสนคริสต์มาแต่ดั้งเดิม โดยเฉพาะกลุ่มที่รับราชการในราชสำนักได้มีการคาดโทษผู้ออกจากราชการเพื่อเข้ารีตว่าจะต้องถูกจำคุก และประหารชีวิต ดังนั้นจึงไม่เป็นการดีที่ท่านที่มีตำแหน่งแห่งที่ในราชสำนักจะรับศีลล้างบาปภายในเขตอำนาจของอาณาจักรแห่งนี้

ท่านเองก็น่าจะทราบอยู่เต็มอก ว่าการตัดสินใจในครั้งนี้ของท่านนั้นเป็น ‘อันตราย’ อย่างยิ่งต่อชีวิตของท่าน แต่ด้วยพลังความเชื่ออันแรงกล้า ที่ลุกร้อนอยู่หายในใจของท่าน ท่านจึงไม่ประหวั่นต่อผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้น ท่านออกเดินทางไปยังหมู่บ้านวทักกันกุลัมในเร็ววัน และเมื่อท่านได้พบคุณพ่อบุตตารี ท่านก็แสดงเจตจำนงค์จะรับศีลล้างบาปในทันที แต่ฝั่งคุณพ่อบุตตารีเมื่อพิจารณาถึงสถานภาพของท่านที่เป็นคนในวรรณะสูง กอปรด้วยมีตำแหน่งในราชสำนักนั้นมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนศาสนาของท่าน ดังนั้นเพื่อความแน่ใจคุณพ่อบุตตารีจึงขอให้ท่านเรียนคำสอนเสียก่อนตามขั้นตอนก่อนเสียก่อน โดยไม่ได้ระบุเวลาอย่างชัดเจนว่าท่านจะได้รับศีลล้างบาปเมื่อใด เพื่อคุณพ่อจะได้มีเวลามากขึ้นในการพิสูจน์ว่า ความตั้งใจของท่านนั้นเป็นความตั้งใจดี

หญิงในวรรณะนยาร์และหญิงรับใช้

ทำให้แต่นั้นมาท่านจึงได้เริ่มเรียนคำสอนที่หมู่บ้านวทักกันกุลัม โดยคอยเดินทางจากบ้านมาพักที่หมู่บ้านนี้อยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งการที่คุณพ่อบุตตารีไม่ยอมให้ท่านรับศีลล้างบาปในทันที ก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ท่านได้ไตร่ตรองถึงกระแสเรียกการเป็นคริสตชนของท่านอีกครั้ง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานั้นคริสตศาสนาถูกมองว่าเป็นศาสนาของพวกวรรณะต่ำ ที่เป็นวรรณะของพวกใช้แรงงาน ไม่มีหน้ามีตาในสังคม ดังนั้นการที่บุคคลผู้มีวรรณะสูงเช่นท่านตัดสินใจเป็นคริสตัง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อสถานภาพทางสังคมของท่าน และชีวิตของท่านในทุก ๆ มิติ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบวรรณะถือเป็นระบบที่มีอิทธิพลในสังคมอินเดียในทุก ๆ มิติ ตั้งแต่ตำแหน่งทางสังคม หน้าที่การงาน เกียรติยศ คู่ครอง หรือการใช้ชีวิตทุกอย่างล้วนกำหนดด้วยวรรณะที่ได้มาแต่กำเนิด และมากกว่าประเด็นเรื่องวรรณะแล้ว การที่ศาสนาซึ่งมีอิทธิพลหลักภายในราชสำนัก คือ ศาสนาฮินดู การที่ท่านเป็นคริสตชนย่อมทำให้การดำเนินชีวิตในเบื้องหน้าของท่านยากลำบากยิ่งขึ้น

แต่การได้เรียนรู้คำสอนต่าง ๆ และได้สัมผัสวิถีคริสตังในชุมชนหลายแห่งรอบหมู่บ้านวทักกันกุลัม ก็ยิ่งทำให้ท่านมั่นใจในกระแสเรียกการเป็นคริสตชนมากขึ้น ท่านยืนยันกับคุณพ่อบุตตารีว่าท่านพร้อมสละตำแหน่งในราชสำนักเพื่อจะรู้จักกับพระเจ้าพระองค์นี้ ยินดีแม้แต่จะต้องเสียผลประโยชน์ทั้งโลกรวมถึงชีวิตเอง ท่านก็ไม่เสียดาย มีครั้งหนึ่งท่านถึงกับกล่าวกับคุณพ่อบุตตารีว่า “คุณพ่อครับ หาได้มีใครบังคับข้าให้มาเป็นคริสตัง ข้านั้นเดินทางมาพบคุณพ่อ ก็เป็นเพราะข้านั้นมีความศรัทธาจริง ที่มิอาจจะมีสิ่งใดมาพรากไปจากใจข้าได้ และข้าเองก็พร้อมยิ่งที่จะสละทุกสิ่งเพื่อสิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นมรดกอันมากมีที่ข้าเหลืออยู่ ตำแหน่งแห่งที่ ครอบครัว หรือแม้แต่ชีวิตของข้าเอง”

วัดพระวิสุทธิวงศ์ หมู่บ้านวทักกันกุลัม

ที่สุดเมื่อล่วงได้ 9 เดือนที่ท่านเรียนคำสอน คุณพ่อบุตตารีจึงมั่นใจว่าท่านนั้นมีความเชื่ออันมั่นคง คุณพ่อจึงได้โปรดศีลล้างบาปให้กับท่าน ที่ขณะนั้นมีอายุได้ 32 ปี ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1745 ณ วัดพระวิสุทธิวงศ์ หมู่บ้านวทักกันกุลัม โดยคุณพ่อบุตตารีได้ให้นามใหม่แก่ท่านเป็นภาษาทมิฬว่า ‘เทวสหยัม’ (เท-วะ-สะ-หะ-ยัม) แปลว่า ‘พระเจ้าทรงช่วยเหลือ’ ซึ่งแผลงมาจากนามนักบุญลาซารัสในพระคัมภีร์ ตามแนวทางการในการทำงานแพร่ธรรมของคณะเยซูอิตในเวลานั้น ที่มีการแปลงนามนักบุญต่าง ๆ เป็นภาษาท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น ‘เปโตร’ เป็น ‘รยับปัน’ ‘เปาโล’ เป็น ‘ชินนัปปัน’ หรือ ‘ยอห์น’ เป็น ‘อรุลัปปัน’

หลังจากนั้นมาท่านก็ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งคัด ท่านไปร่วมมิสซากับชุมชนคริสตังต่าง ๆ โดยไม่ขัดเขิน ว่าคนที่ร่วมพิธีพร้อมกับท่านนั้นมีชาติกำเนิดมาจากวรรณะไหน ทุกวันท่านโมทนาคุณพระเจ้าเสมอ ที่มอบพระหรรษทานให้ท่านได้เป็นคริสตชน ท่านพยายามอย่างยิ่งที่จะเจริญชีวิตให้ชิดสนิทกับพระเป็นเจ้า ทั้งหมั่นพยายามเดินไปวัด ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของท่านไปถึง 18 ไมล์ เพื่อแก้บาปรับศีล (บางคราวท่านก็เดินทางไปร่วมมิสซาถึงที่หมู่บ้านวทักกันกุลัม ซึ่งในบางครั้งก็เพียงไม่กี่วันแต่บางครั้งท่านก็ไปเป็นแรมเดือน) และอ่านหนังสือเสริมศรัทธาต่าง ๆ ที่พอหาได้ มากกว่าไปกว่านั้นท่านยังขอย้ายเข้าสังกัดในกองทหารคริสตังของกัปตันเดอ ลันโนย ซึ่งยังความประหลาดพระทัยไม่น้อยแก่องค์มหาราชา ที่ทราบว่าท่านนั้นได้เขารีตเป็นคริสตชนและได้ขอเข้าร่วมกองทัพคริสตังอีกด้วย แต่พระองค์มิได้ทรงคาดโทษใด ๆ กับท่าน ท่านจึงยังสามารถรับราชการต่อไปได้

ผังแสดงลำดับชั้นทางสังคมในวรรณะหลักทั้งสี่ของอินเดีย

และยิ่งวิญญาณท่านชิดสนิทกับเบื้องบนมากเพียงใด ดวงใจของท่านก็ยิ่งลุกร้อนไปด้วยไฟแห่งการแพร่ธรรม ยิ่งเมื่อระลึกถึงหนึ่งในหน้าที่ของผู้รับเจิมจากพระคริสตเจ้าทุกคน คือ ‘การเป็นประกาศก’ ท่านยิ่งมีความปรารถนายิ่ง ที่จะนำผู้คนรอบตัวให้มารู้จักกับพระเจ้าองค์นี้ ท่านเริ่มการแพร่ธรรมของท่านจากภรรยาของท่านก่อน หนแรกภรรยาของท่านรับไม่ได้ที่จะต้องถูกครหาว่าเป็นคนในวรรณะต่ำ นางถึงขั้นเอาเรื่องที่ไปปรึกษามารดาของนางเอง ผู้ก็ไม่เห็นด้วยกับความคิดเช่นนี้ แต่ทีละเล็กละน้อยอาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า สามเดือนให้หลังท่านก็สามารถทำให้ภรรยาของท่านกลับใจได้สำเร็จ ท่านจึงได้พานางไปรับศีลล้างบาปที่วัดเดียวกันกับท่าน โดยภรรยาของท่านได้รับนามว่า ‘กนานะปู’ ซึ่งแผลงมาจากคำว่า ‘เทเรซา’ และหลังจากนั้นมา ท่านก็ได้ทำให้ทหารหลายนายรวมถึงคนรอบข้างอีกจำนวนหนึ่งกลับใจมาเป็นคริสตชนใหม่

แม้จะไม่ได้รับโทษใด ๆ จากมหาราชามาร์ธันฑะ แต่ในไม่ช้าการปฏิบัติตัวตามแนวคริสตศาสนิกชนของท่าน ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นภายในกลุ่มข้าราชบริพารในราชสำนัก โดยเฉพาะกลุ่มวรรณะพราหมณ์ ที่ไม่พอใจยิ่งกับพฤติกรรมของท่านใน 3 ประการ ประการแรก คือ ท่านปฏิเสธการร่วมพิธีบูชาในโอกาสต่าง ๆ ที่เทวาลัย รวมถึงปฏิเสธที่จะรับประซาท หรืออาหารที่ผ่านการถวายในพิธีบูชา แล้วเปลี่ยนไปร่วมมิสซาที่วัดแทน ประการสอง คือ ท่านได้สมาคมกับคนในวรรณต่ำ ทั้งสนทนาก็ดีเรื่อยไปจนถึงรับประทานอาหารร่วมกับคนเหล่านั้นโดยไม่ถือตัว และประการสาม คือ ท่านชอบชักชวนให้ผู้คนมาเข้ารีต และมักโต้เถียงในเรื่องความเชื่อที่งมงายและไม่เป็นธรรมกับกลุ่มพราหมณ์ และกลุ่มวรรณะสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ขัดหูขัดตากลุ่มวรรณะพราหมณ์ทั้งหลาย เพราะนี่คือการปฏิเสธหลักศาสนาของอาณาจักร และเป็นเสมือนการดูหมิ่นพระเกียรติของมหาราชา โดยเฉพาะการคบหาคนในวรรณะที่ต่ำกว่าอย่างเปิดเผย

ภาพเขียนมหาเสนาบดีรามายณะ 

(ประเด็นเรื่องการคบคนต่างวรรณะ ที่กลายมาเป็นชนวนให้ท่านเสียชีวิตในเวลาต่อมานี้ยังมีข้อโต้เถียงไม่ชัดเจนว่าจริงเท็จประการใด เพราะบทความโดย B R Gauthaman (2012) ซึ่งโจมตีเรื่องการเป็นมรณสักขีของเทวสหยัม ตามแนวทางเชิดชูความเป็นอินเดีย ในฐานะฮินดูสถาน ได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า คริสตชนอินเดียในเวลานั้นก็มีการแบ่งแยกคนจากวรรณะที่เกิดมา โดยเฉพาะที่หมู่บ้านวทักกันกุลัม ที่ท่านรับศีลล้างบาป ก็มีการแบ่งกลุ่มคริสตชนออกเป็นกลุ่มที่มาจากวรรณะสูงและวรรณะต่ำ การแบ่งแยกนี้ถูกอธิบายในประวัติของท่านเช่นกัน แต่ถูกให้คำอธิบายว่าการแบ่งแยกดังกล่าวที่ท่านได้เห็น คือ แรงบันดาลใจในการปฏิบัติตนของท่าน)

บรรดาคนข้าราชบริพารภายในราชสำนัก ซึ่งต่างเป็นคนในวรรณะพราหมณ์และนยาร์ จึงมักว่ากล่าวท่านในเรื่องเหล่านี้ และมักดูแคลนท่านต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะมหาเสนาบดีรามายณะ และราชเลขาธิการสิงครัม อันนวี สองข้าราชการผู้เกิดในวรรณะพรามหณ์ ทั้งสองมักดูแคลนว่าชาวคริสต์อย่างที่ท่านเป็นนั้นเป็นพวกชั่วช้า โสมม และขาดเขลา ฝั่งท่านเองก็ใช่จะยอมปิดปากเงียบ น้อมรับคำติเตียนนั้นแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อถูกวิพากษ์วิจารย์ถึงพฤติกรรมที่ขัดกับหลักศาสนาฮินดู ท่านก็ไม่ยอมลดลาวาศอกให้ใครทั้งสิ้น จนเกิดเป็นการกระทบกระทั่งกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ญาติของท่านเชิญพราหมณ์ไปทำพิธีบูชาที่บ้านเกิดท่าน ที่หมู่บ้านนัตตลัม เพื่อเป็นการขอขมากรรมที่ท่านได้ละทิ้งศาสนาของบรรพชน ท่านก็ได้ตำหนิพราหมณ์ผู้นั้น หรือครั้งราชเลขาธิการสิงครัม อันนวี ตำหนิถึงเรื่องการเข้ารีตของท่าน และลั่นวาจาว่าถ้าทำให้ท่านเปลี่ยนใจและขับไล่คริสตศาสนาออกจากอาณาจักรนี้ไม่ได้ เขาก็จะเลิกสวมสายยัชโญปวีต ซึ่งเป็นเครื่องแสดงสถานภาพพรามหณ์นั้นเสีย ท่านก็สวนกลับในทันควันว่าราชเลขาธิการสิงครัมทำไม่ได้ สายยัชโญปวีตเส้นเดียวกันนั้นจะต้องกลายมาสายรั้งสะเอวของท่านแทน

โบสถ์คริสต์ ภายในป้อมอุทยะคีรีของอาณาจักรตราวันคอร์ สร้างโดยกัปตันเดอ ลันโนย

แม้จะมีความขัดแย้งเรื่องแนวทางปฏิบัติดังนี้ ในช่วงปีแรกที่ท่านกลับใจเป็นคริสตชน ก็ไม่ได้มีปัญหาใด ๆ ร้ายแรงเกิดขึ้น เนื่องจากในเวลานั้นมหาราชามาร์ธันฑะก็ทรงมิได้เข้มงวดต่อการนับถือคริสตศาสนาเสียเท่าไร พระองค์ทรงรับเตียงเด็กที่สลักไม้กางเขนที่กัปตันเดอ ลันโนยน้อมเกล้าฯ ถวาย อีกทั้งทรงอนุญาตให้กัปตันนำพระสงฆ์มาอวยพรบ้านของกัปตันได้อย่างเปิดเผย มากไปกว่านั้นในเวลาต่อมาองค์รัชทายาทของมหาราชาก็ยังได้มอบที่ดินผืนหนึ่งให้คุณพ่อบุตตารีสร้างวัดขึ้นได้ในอาณาจักรตราวันคอร์

ทำให้แม้จะมีความไม่พอใจในกลุ่มคนวรรณะสูง นำโดยมหาเสนาบดีรามายณะ และราชเลขาธิการสิงครัม อันนวี ต่อตัวท่าน พวกเขาก็ไม่สามารถจะทำอะไรท่านได้มากไปกว่าการว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจา แต่สถานการณ์ที่คริสตศาสนาค่อย ๆ ได้รับการยอมรับ ภายในอาณาจักรตราวันคอร์ โดยเฉพาะในบริเวณศูนย์กลางของอาณาจักร ก็ยังความไม่สบายใจไม่น้อยแก่กลุ่มคนวรรณะสูงหลายคน ทั้งกลุ่มพระราชวงศ์ก็ดีและกลุ่มข้าราชสำนัก เพราะแท้จริงสถานภาพทางสังคม อำนาจ และทรัพย์สินต่าง ๆ ของพวกเขาต่างอิงแอบกับศาสนาฮินดูผ่านระบบวรรณะ ที่จำกัดสิทธิ อำนาจ และหน้าที่ของบุคคลไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นคริสตศาสนาที่ปฏิเสธในระบบวรรณะ รวมถึงเป็นศาสนาของคนต่างชาติจึงเป็นภัยยิ่งต่อพวกเขา

พระราชวังปัทมะนาภะปุรัม ศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรตราวันคอร์

พวกเขาเหล่านี้จึงทำได้แต่เพียงเก็บงำความรู้สึกชิงชังท่านไว้อยู่ภายใน และยิ่งพวกเขาทราบว่าท่านมีสัมพันธ์อันดีกับองค์รัชทายาท ผู้อนุญาตและบริจาคที่ดินสร้างวัดหลังแรกขึ้น ความชิงชังที่ครุกรุ่นก็ยิ่งทวีมากขึ้นตามลำดับ เพราะหากวันใดองค์รัชทายาททรงได้ขึ้นครองบัลลังก์ก็มีแนวโน้มว่า คริสตศาสนาจะได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถานภาพและอำนาจของพวกเขาดังที่ได้กล่าวไป ดังนั้นการกำจัดท่านให้เร็วที่สุด จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และจังหวะที่เหมาะสมก็ได้มาถึง ในขณะที่วางรากฐานวัดหลังแรกในอาณาจักรตราวันคอร์กำลังเริ่มขึ้น

เมื่อคุณพ่อบุตตารี ผู้รับผิดชอบการสร้างวัด บนที่ดินซึ่งได้รับพระราชทานจากองค์รัชทายาท ได้เขียนจดหมายมาหาท่าน เพราะคุณพ่อมีความประสงค์จะใช้ซุงในการสร้างวัดบนที่ดินที่ได้รับจากองค์รัชทายาท คุณพ่อจึงใคร่ขอเอกสารอนุญาตจากทางราชสำนักเสียก่อน ท่านจึงได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งแก่มหาเสนาบดีรามายณะ ฝั่งมหาเสนาบดีที่ไม่ชอบขี้หน้าท่านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้กล่าวสาปส่งคริสตศาสนา และได้ขู่ว่าจะเนรเทศบรรดาคริสตชนไปให้หมด ฝั่งท่านเองก็ลั่นวาจาตอบกลับไปว่า “ก็เริ่มที่ข้าก่อนสิ ข้ายังเป็นคริสตัง ข้าไม่กลัวคำขู่ของท่านดอก” สิ้นคำตอบในวันนั้น มหาเสนาบดีและราชเลขาธิการที่ชังน้ำหน้าท่าน พร้อมด้วยพระราชวงศ์บางองค์ และข้าราชสำนักบางคน จึงได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะลงดาบปลิดชีวิตท่านเสีย เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

ภาพเขียนมหาราชามาร์ธันฑะ วาร์มะ

โดยการก่อการในครั้งนี้ คณะผู้ก่อการได้กุ ‘ข่าวเท็จ’ ขึ้นทูลองค์มหาราชามาร์ธันฑะอย่างลับ ๆ กล่าวหาว่าท่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพระราชทานที่ดินให้สร้างวัดขององค์รัชทายาท ทั้งท่านนั้นได้นำความลับทางราชการของอาณาจักรไปขายให้กับชาวตะวันตก พวกเขาจึงใคร่ให้พระองค์ทรงจัดการอะไรบางอย่างกับท่านเพื่อเป็นการปราบปรามอิทธิพลของคริสตศาสนา ที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในอาณาจักรในทันที เพราะหากองค์มหาราชายังทรงปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปดังนี้ ไม่ช้าพระราชอำนาจที่พระองค์มีก็จะหายไป มหาราชามาร์ธันฑะเมื่อได้ฟังความดังนั้น ทรงพินิจต่างคำทูลและทรงคล้อยตาม พระองค์จึงมีรับสั่งให้จับกุมท่านในทันที

แต่ก็ใช่ว่าท่านนั้นจะไม่ล่วงรู้ถึงการก่อการ ที่นำโดยมหาเสนาบดีและราชเลขาธิการ เพราะสหายของท่านบางคนได้มาแจ้งท่านถึงเรื่องนี้ แต่ท่านนั้นไม่ได้ประหวั่นกลัว ตรงกันข้ามท่านยังคงเจริญชีวิตในฐานะคริสตชนที่ดี โดยไม่ยอมหนีไปไหน เพราะท่านมองว่าเป็นเรื่องน่าละอายยิ่งนักที่คริสตชนเช่นท่าน จะหลบหนีไปเพียงเพราะแผนการณ์อันแยบคลายของศัตรูต่อศรัทธา โดยในเวลาไล่เลี่ยกับที่ท่านทราบว่ามีกลุ่มคนภายในราชสำนักจะใส่ความท่าน ท่านก็ได้เดินทางไปวัดที่ท่านไปตลอด และเมื่อทราบว่าตัวท่านคงไม่รอดจากการจำคุกในไม่ช้า ท่านก็ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านวทักกันกุลัมเพื่อพบและปรึกษาถึงการตัดสินใจในครั้งนี้กับคุณพ่อบุตตารี ฝั่งคุณพ่อบุตตารีเองก็ให้คำแนะนำท่าน ทั้งได้หนุนใจให้ท่านพร้อมเผชิญกับสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้า หลังจากนั้นท่านจึงได้ไปเยี่ยมชุมชนคริสตังที่ท่านเริ่มชีวิตใหม่เป็นวันแรก แล้วท่านจึงเดินทางกลับไปบ้าน อันเป็นช่วงเวลาเพียงไม่นานก่อนที่คำสั่งจับกุมท่านได้รับการประกาศ


ฝั่งกัปตันเดอ ลันโนย เมื่อทราบข่าวนี้ ก็ได้เร่งมาพบท่าน เพื่อให้กำลังใจท่านในการยึดมั่นในความเชื่อไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และได้เข้าพบผู้มีอำนาจในราชสำนัก เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งนี้ ก่อนที่เขาจะได้พาท่านไปพบพระสงฆ์เยซูอิต ซึ่งได้โปรดศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิทให้ท่าน เพื่อเป็นการเตรียมตัวของท่านให้พร้อมสำหรับความทุกข์ยากที่กำลังจะเกิดขึ้น ฉะนั้นเองดุจประทีปที่ถูกเตรียมไว้อย่างดี เช่นเดียวกับบรรดามรณสักขีทั้งหลายในอดีต ที่ได้เตรียมกายเตรียมใจของตนให้พร้อมต่อการสละชีวิตเพื่อยืนยันความเชื่อ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1749 หรือสี่ปีให้หลังท่านรับศีลล้างบาป ท่านจึงถูกจับกุมตัวไปพิจารณาตามคดีความ และเพื่อเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากตัวกัปตันเดอ ลันโนย มหาราชามาร์ธันฑะจึงเตือนเขาอย่างเด็ดขาดไม่ให้เขาเข้ามายุ่งกับคดีความครั้งนี้ เนื่องจากเป็นกิจของราชสำนัก หาใช่กิจของทหารไม่

ด้วยวัย 36 ปี ท่านที่ได้เตรียมจิตใจของท่านพร้อมมอบชีวิตของตนเป็นมรณสักขีอยู่แล้ว เมื่อถูกนำตัวมาเข้าเฝ้ามหาราชามาร์ธันฑะเพื่อตัดสินคดีความ ท่านจึงยืนหยัดที่จะดำรงความเชื่อในคริสตศาสนา แม้ว่าจะถูกขู่ว่าต้องรับโทษอย่างหนัก หรือจะได้รับบำเหน็จเป็นยศฐาบรรดาศักดิ์ ท่านก็ยินดีที่ยึดมั่นในพระเป็นเจ้าพระองค์นี้ตราบจนวาระสุดท้าย มหาราชามาร์ธันฑะเมื่อเห็นว่าท่านยังคงดื้อรั้นดังนี้ พระองค์จึงได้รับสั่งให้นำตัวท่านไปจำคุกโดยทันทีเพื่อรอประหาร โดยคุกที่ขังท่านนั้นมีขนาดสูงเพียงแค่ 5 ฝ่ามือ มีความกว้างยาวเพียงด้านละ 1 ศอก

ในห้องขังข้ารับใช้พระเจ้าพร้อมด้วยกวีคริสตชนที่ถูกจับได้ร่วม
กันสรรญเสริญและโมทนาคุณพระเจ้าตลอดทั้งคืน ดังปรากฏหลักฐาน
เป็นคำกวีของ ธอมมัน ติรูมุตุ

ท่านได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ในคุกนั้นจนถึงรุ่งเช้า มหาราชามาร์ธันฑะจึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตท่าน ท่านจึงถูกนำตัวยังลานประหารด้วยสีหน้ายินดี ผิดกับผู้จะถูกประหารคนอื่น ๆ เพราะท่านทราบว่าในไม่ช้า เมื่อชีวิตของท่านสิ้นสุดลงด้วยเพชรฆาต เพราะความผิดจากความเชื่อ ท่านจะได้รับมงกุฏแห่งมรณสักขี แต่ในขณะที่มงกุฏนั้นอยู่ไม่ไกล ความยินดีของท่านก็ต้องสลายลง เมื่อในขณะท่านมุ่งสู่เกียรติแห่งมรณสักขี มหาราชามาร์ธันฑะก็ได้สั่งระงับการประหารท่าน เนื่องจากมีผู้ได้ทูลพระองค์ว่า หากประหารท่านจะเกิดภัยพิบัติใหญ่หลวงกับอาณาจักร ดังนั้นจากสีหน้าแห่งความยินดีในทีแรก จึงแปรเปลี่ยนเป็นสีหน้าแห่งความทุกข์ เมื่อท่านต้องถูกพากลับมายังห้องขังเดิม ในเวลาเหล่านั้น ท่านไม่ได้ทูลต่อพระเจ้าว่าให้ทรงช่วยท่านให้รอด แต่ท่านทูลพระองค์ให้ทรงพระเมตตา ทำให้ตัวท่านนั้นควรค่าแก่เกียรติแห่งมรณสักขีมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสีหน้าที่ยินดียามเมื่อก้าวสู่ลานประหาร และสีหน้าที่เศร้าหมองเมื่อรู้ว่าโทษประหารของตนนั้นได้เลื่อนไปของท่านนั้น ยังความประหลาดใจไม่น้อยแก่ผู้คุมนักโทษ

เมื่อรอดจากการประหารท่านก็ไม่ได้ถูกขังแต่เพียงอย่างเดียว เพราะตลอด 16 วันนับจากนั้น ท่านถูกจับสวมมาลัยดอกรักและถูกแห่ประจานไปรอบ ๆ เมืองปัทมนะภาปุรัม พร้อม ๆ กับมีผู้คุมคอยตีกลองเรียกชาวบ้านร้านตลาดตลอดสองข้างทางมาดู และบางครั้งในระหว่างการแห่ พวกผู้คุมก็ใช้ไม้มะขามและไม้ที่มีหนามแหลมเฆี่ยนตีท่านต่อหน้าฝูงชน ซึ่งไม่เพียงเท่านั้นเพื่อเป็นการทรมานท่าน พวกผู้คุมยังบังคับท่านยืนตากแดด กินข้าวหุงสุกเพียงหยิบมือ ดื่มน้ำจากน้ำขัง และยังเอาผงเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ร้อนมาทาไปทั่วตัวของท่าน ด้วยวิธีแบบแห้งและแบบละลายน้ำ


คุณพ่อบุตตารีบันทึกว่า “ทุกวันพวกผู้คุมเอาผงเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ร้อนจำนวนมากมาทาตลอดทั้งใบหน้าและร่างกายของเขา หลังจากนั้นเมื่อพวกเขาได้เฆี่ยนตีที่หลังของเขาจนเป็นแผลหลายจุดด้วยไม้หนาม พวกเขาก็จะนำผงเครื่องเทศดังกล่าวมาทาไปทั่วแผลนั้น ตามรูปแบบการทรมานอันน่าสยดสยองซึ่งใช้กันในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้รับโทษรู้สึกแสบร้อนไปทั่วเหมือนถูกจุดไฟเผา มากไปกว่านั้นพวกเขายังได้โยนผงเครื่องเทศดังกล่าวใส่กองไฟ และจับหัวของเหยื่อผู้น่าสงสารกดลงไปใกล้กองไฟเพื่อสูดควันที่เกิดขึ้นอีกด้วย” นอกเหนือจากนี้ในบางครั้งที่ท่านลืมตาระหว่างสวดภาวนา พวกผู้คุมยังเอาผงเครื่องเทศซดังกล่าวใส่ตาของท่านอีกด้วย

บางครั้งในการแห่ประจานตลอด 16 วัน พวกผู้คุมก็ให้ท่านขึ้นนั่งบนหลังกระบือ ซึ่งถือกันว่าเป็นพาหนะของพระยม (เทพแห่งความตายในศาสนาฮินดู) ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่ออาชญากรอันเป็นที่นิยมในบริเวณนั้น โดยแง่หนึ่งสัญญะของเลือกให้นักโทษนั่งบนหลังกระบือ ยังตีความได้ถึงความหมายของกระบือ ในฐานะสัตว์ ซึ่งเป็นตัวแทนของอวิชชา ความมัวเมา และความหลงผิดดังที่ปรากฏในฐานะ ‘มหิษาสูร’ อสูรกระบือ ผู้ถูกปราบโดยนางทุรคาก็เป็นไปได้ โดยในการแห่ด้วยกระบือแต่ละครั้ง ผู้คุมจะนำตัวท่านที่ถูกมัดมือไพล่หลังขึ้นนั่งบนหลังกระบือ โดยได้ยึดหรือให้ท่านยึดอะไรไว้กับตัวกระบือ ดังนั้นในบางครั้งในระหว่างแห่ ท่านก็พลัดตกจากหลังกระบือบ้าง หรือโดนกระบือสลัดท่านจนตกจากหลังบ้าง จนยังความทุกข์ทรมานแก่กายของท่านเป็นอันมาก


แต่ไม่ว่าท่านจะถูกทรมานทางร่างกายเช่นไร หรือถูกทรมานทางจิตใจด้วยคำสบประมาท คำเย้ยหยันจากผู้คนที่ออกมาดูท่านถูกแห่ประจาน ทุกวันตลอดการทรมานท่านยังคงยังจิตใจของท่านขึ้นหาพระเจ้า สวดภาวนาและสรรเสริญพระองค์ในทุก ๆ เวลา เพราะท่านตระหนักรู้ดีว่าอีกประเดี๋ยว ท่านก็จะได้รับเกียรติมงคลอันรุ่งเรืองในสวรรค์ ท่านจึงไม่ได้เศร้าโศกเสียใจที่ตนนั้นต้องตกอยู่ในสภาพ ‘นักโทษ’ เช่นนี้ เพราะหลักชัยที่รออยู่นั้นช่างใหญ่ยิ่งกว่านัก และแท้จริงเมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา พระเจ้าพระองค์เดียวกันกับท่านเชื่อ ก็ทรงได้บังเกิดเป็นมนุษย์และได้รับทัณฑ์โทษด้วยความอยุติธรรมในทำนองเดียวกับท่าน เพื่อเป็นบูชาใช้โทษบาปแทนสิ่งสร้างของพระองค์

ต้องขอกล่าวเท้าความในเวลาเดียวกันกับที่ท่านถูกจับกุมตัวนั้น อาณาจักรตราวันคอร์ก็ได้เริ่มการเบียดเบียนคริสตชนอย่างหนัก ในพื้นที่ลึกเข้ามาจากชายทะเล โดยในเวลานั้นมีคริสตชนจำนวนมากถูกลงโทษและเสียค่าปรับเป็นจำนวนมาก จนเป็นผลให้คริสตชนบางส่วนจึงเลือกที่จะหนีขึ้นไปอาศัยตามหุบเขา แต่บ้างก็เลือกที่จะหลบหนีออกจากอาณาจักร และบ้างก็เลือกที่จะละทิ้งความเชื่อเพื่อรักษาชีวิต (ก่อนที่ในระยะต่อมาเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง อดีตคริสตชนเหล่านี้บางส่วนจึงกลับมาเป็นคริสตชนดังเดิม) หนึ่งในนั้นก็คือ ภรรยาของท่าน (เรื่องนี้ยังความทุกข์ใจให้ท่านเป็นอันมาก) แต่เมื่อเทียบแล้ว คริสตชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็เลือกที่จะรักษาความเชื่อ และเผชิญหน้ากับการกดขี่ข่มเหงอย่างอธรรมนี้ด้วยความกล้าหาญ

มหาราชามารืธันฑะทรงประกอบพิธีถวายอาณาจักรแด่พระวิษณุ ใน ค.ศ. 1750
เพราะพระองค์ได้รับการสนับสนุนการขึ้นค
รองราชย์จากกลุ่มไวษณพนิกาย

การกดขี่ต่าง ๆ ยังรวมถึงการออกภาษีพิเศษเพิ่มเติมสำหรับคริสตชน ซึ่งก็คริสตชนจำนวนหนึ่งก็ปฏิเสธที่จะเสียภาษีเพิ่มเติมนี้ ท่านที่ถูกจำคุกอยู่จึงถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ยุยงให้บรรดาคริสตชนไม่ยอมเชื่อฟังมหาราชา ดังนั้นมหาราชามาร์ธันฑะที่เกรงว่าท่านจะเป็นภัยต่อพระราชอำนาจของพระองค์ จึงได้มีรับสั่งให้ประหารชีวิตท่านเป็นครั้งที่ 2 แต่ยังไม่ทันจะได้ลงมือประหาร ขณะท่านถูกนำตัวไปยังหมู่บ้านกุซุมาอิกกัด ซึ่งเป็นสถานที่ประหารชีวิต มหาราชามาร์ธันฑะก็ทรงเปลี่ยนพระทัย (อนึ่งพระองค์อาจยังทรงเชื่อในคำทำนายเดิม) ระงับการประหารครั้งนี้ของท่านลง ท่านที่มีความยินดีในทีแรกที่ทราบว่าตนนั้นจะถูกประหารชีวิตเสียที จึงกลับมามีความทุกข์ใจอีกครั้งเช่นเดียวกับในคราวแรก

อนึ่งตามธรรมเนียมของอาณาจักรตราวันคอร์ นักโทษที่ถูกจำคุกยังต้องถูกแห่ประจานไปตามหัวเมืองต่าง ๆ อีก 75 หัวเมืองทั่วอาณาจักร เพื่อรับโทษแตกต่างกันไปตามแต่เจ้าเมืองเมืองนั้นจะมีคำสั่ง ดังนั้นภายหลังจากการแห่ประจานรอบเมืองปัทมนะภาปุรัมเป็นเวลาถึง 16 วัน ท่านจึงถูกได้พาแห่ประจานตามหัวเมืองต่าง ๆ เหล่านั้นต่อ โดยพยายามใช้เส้นทางที่ผ่านหมู่บ้านคริสตชนใหม่ เพื่อเป็นการเตือนกลาย ๆ ถึงผลของการเป็นคริสตชนไปพร้อม ๆ กัน และแน่นอนว่าตลอดการเดินทางนั้น พวกผู้คุมยังคงเฆี่ยนตีท่าน เอาผงเครื่องเทศทาตัวท่าน จับท่านนั่งบนหลังกระบือ รวมถึงทรมานท่านด้วยวิธีต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่นครั้งหนึ่งที่ท่านกระหายน้ำ พวกเขาก็ได้นำน้ำทะเลมาให้ดื่ม ซึ่งท่านเองก็ยังคงน้อมรับความทุกข์ยากเหล่านั้นด้วยความยินดีดังเดิม โดยที่มีประจักษ์พยานคือบรรดาชาวบ้านต่างรวมตัวกันในทุกที่ ที่ท่านเดินทางไป

รอยข้อศอกของท่าน ที่ปุลิยูร์กุริชี

ในช่วงการแห่ประจานนี้ นอกจากผู้คุมจะตีฝ่าเท้าท่านวันละ 30 ครั้งตามคำสั่งมหาราชาแล้ว ในเจ้าเมืองบางองค์ยังได้ทรมานท่านได้ด้วยวิธีการพิศดาร เพื่อให้ท่านยอมละทิ้งความเชื่อ อาทิเช่น จับท่านขังไว้ในคุกที่เต็มไปด้วยมดแดง จับท่านขังไว้คุกร่วมกับงูพิษและแมงป่อง และจับท่านขังไว้ในห้องที่มีหม้อต้มพริกสองถึงสามใบ หรือตั้งไฟให้เดือดจัดอยู่รอบ ๆ เพื่อให้ท่านหายใจได้ลำบาก กระนั้นก็ตามไม่ว่าจะต้องเผชิญความทุกข์ทรมานรูปแบบใด ท่านก็ยังคงหนักแน่นในความเชื่อโดยตลอด และพระเป็นเจ้าก็ทรงกระทำอัศจรรย์ให้ท่านสามารถมีชีวิตรอดจากการทรมานเหล่านั้นมาได้ ดุจเดียวกับที่พระองค์ทรงกระทำบรรดามรณสักขีในยุคแรก

มีตำนานเล่าต่อกันมาในระหว่างการเดินทางครั้งนั้น เมื่อพวกผู้คุมได้นำท่านเดินทางมาถึงพะลานหินแห่งหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘ปุลิยูร์กุริชี’ ท่านได้เกิดกระหายน้ำ แต่ผู้คุมนั้นกลับเอาน้ำที่สกปรกมาให้ท่านดื่ม ท่านจึงได้เริ่มสวดวิงวอนต่อพระเจ้าทั้งน้ำตา และได้ใช้ข้อศอกของท่านกระทุ้งพะลานหินนั้นสองสามที พลันบริเวณที่ท่านใช้ศอกกระทุ้งนั้นก็เกิดเป็นตาน้ำผุดขึ้นมาให้ท่านได้ดื่มดับกระหาย ซึ่งเมื่อท่านได้ดื่มน้ำจากตาน้ำที่เกิดขึ้นนี้จนมีกำลังวังชาขึ้นแล้ว ตาน้ำดังกล่าวก้ไม่ได้หยุดไหลลง ตรงกันข้ามตาน้ำที่พะลานหินนั้นยังคงมีน้ำอยู่ตลอดตราบถึงทุกวันนี้ และได้กลายเป็นประจักษ์พยานถึงเรื่องราวของท่าน รวมถึงสถานที่แสวงบุญสำคัญอีกแห่งของคริสตชนชาวอินเดีย

บริเวณที่ท่านถูกมัดไว้กับต้นสะเดา ที่หมู่บ้านเปรุวิลัย 
เชื่อกันว่าในอดีตใบสะเดาจากต้นดังกล่าวสามารถรักษาโรคได้

หลังจากได้หยุกพักที่ปุลิยูร์กุริชีแล้ว ท่านจึงได้ถูกนำตัวเดินทางต่อไปเรื่อย ๆ กระทั่งมาถึงหมู่บ้านเปรุวิลัย อันเป็นสถานที่ตั้งเทวาลัยพระศิวะ ซึ่งเคยได้แสดงอัศจรรย์รักษาอาการเจ็บพระอุทรของมหาราชามาร์ธันฑะ พวกผู้คุมจึงนำตัวท่านไปล่ามโซ่ไว้กับต้นสะเดาต้นหนึ่งในท่ายืน แล้วทิ้งท่านไว้ในท่านั้นไม่ให้ไปไหน ไม่ว่าจะแดดจะออก ฝนตกจะตก พระอาทิตย์จะขึ้น หรือพระอาทิตย์จะตก พร้อมทั้งได้ส่งตัวท่านให้อยู่ภายใต้การกำกับของเพชรฆาต เพื่อรอพระราชโอการประหารต่อไป โดยการทรมานกินเวลานานถึง 7 เดือน ซึ่งตลอด 7 เดือนนี้ ท่านยังถูกบังคับให้ต้องอดอาหารอีกด้วย แต่ก็ใช่ว่าตลอดเจ็ดเดือน ท่านจะอยู่ในสภาพนั้นโดยตลอด เพราะนานวันเข้าโซ่ที่รัดท่านก็คลายลงบ้าง และพวกผู้คุมที่ยังดูแลท่านอยู่ ก็ได้ตัดเอาใบมะพร้าวมาทำเป็นเพิง ให้ท่านพอใช้หลบแดดหลบฝนได้บ้าง

พระคุณเจ้าเคลเมนต์ โฮเซ โกลาโก เลยเตา พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลโคชิน ซึ่งขณะนั้นมีเขตปกครองทางฟากตะวันตกของอินเดียตั้งแต่รัฐเกรละเรื่อยไปจนถึงเมืองกันยากุมารีและเกาะศรีลังกา นอกจากนี้ยังดูแลดินแดนแพร่ธรรมในฟากตะวันออกของอินเดียบางแห่งอีกด้วย ได้เขียนรายงานเรื่องการเป็นมรณสักขีของท่าน ให้พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 ในโอกาสเข้าเฝ้าถวายรายงานการดำเนินงานสังฆมณฑลประจำปี หรือ อัด ลิมินา โดยให้ข้อมูลในส่วนของท่าที่ท่านถูกมัดแตกต่างจากข้อมูลที่ระบุว่าท่านถูกมัดใน ‘ท่ายืน’ เป็น ‘ท่านั่ง’ ดังนี้ “เป็นเวลาที่เจ็ดเดือนได้ ที่เขาถูกนำตัวมาไว้ที่ใต้ต้นไม้นั้น โดยที่ขาทั้งสองข้างถูกใส่ตรวนและลำตัวถูกรัดตรึงไว้ด้วยโซ่กับลำต้น ทำให้เขาไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้ ไม่ว่าจะเป็นการลุก หรือการขยับไปด้านข้าง คงทำได้แต่นั่งและนอนพิงไปกับลำต้น”

"เป็นเวลาเจ็ดเดือนได้ ที่เขาถูกนำตัวมาไว้ที่ใต้ต้นไม้นั้น..."

เช่นเดิมแม้จะได้รับความทรมานทางกายอย่างยาวนาน ตลอดช่วงเวลา 7 เดือนที่หมู่บ้านเปรุวิลัย ท่านยังคงยึดมั่นในความเชื่อ ทุกวันท่านยังคงรำพึงภาวนายกจิตใจเข้าส่วนกับพระเป็นเจ้าในสวรรค์อยู่มิได้ขาด และสวดภาวนาสั้น ๆ ในระหว่างวันมิได้ขาด พระคุณเจ้าเลยเตายังได้บันทึกไว้อีกว่า ในเวลานี้ท่านยังมีวัตรปฏิบัติ คือ การอดอาหารในทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เพื่อถวายเกียรติต่อพระคริสตเจ้า ผู้ทรงสิ้นพระชนม์ และพระนางมารีย์ พระมารดาพระเจ้า ซึ่งเป็นการอดอาหารที่อยู่นอกเหนือการบังคับของพระศาสนจักรอีกด้วย (สันนิษฐานว่าท่านคงปฏิบัติดังนี้มาตั้งแต่รับศีลล้างบาปเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน)

ไม่เพียงเท่านั้นระหว่างอยู่ที่หมู่บ้านเปรุวิลัย ท่านยังมีโอกาสได้ติดต่อคุณพ่อบุตตารีอยู่เรื่อย ๆ ผ่านคนส่งสาส์นและจดหมาย ซึ่งไม่ว่าคุณพ่อจะได้แนะนำสิ่งใดมา ท่านก็ได้นบนอบเชื่อฟังคำดังกล่าวอยู่ตลอด และท่านยังมีโอกาสได้พบพระสงฆ์ท่านอื่น ๆ อีกสามครั้ง ที่ได้ลอบเดินทางมาพบท่านในตอนกลางคืน ซึ่งในโอกาสอันมีค่านี้ ท่านได้ขอรับศีลอภัยบาป และได้รับศีลมหาสนิท ซึ่งช่วยชุบชูกำลังฝ่ายจิตท่านให้พร้อมเผชิญกับความทุกข์ที่รออยู่ในวันข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า ครั้งหนึ่งในเวลากลางวัน พระสงฆ์องค์หนึ่งยังได้ลอบนำศีลมหาสนิทมาส่งให้ท่าน และตัวท่านเองก็มีความปรารถนาให้พระสงฆ์เดินทางมาส่งศีลมหาสนิทให้ท่านบ่อย ๆ แต่ในท้ายที่สุดความปรารถนาดังกล่าวก็ไม่อาจเป็นจริง

ท่านได้เปลี่ยนสถานที่แห่งความสิ้นหวัง เป็นสถานทที่แห่งความหวัง

โดยจากข้อมูลที่สืบค้นได้ สันนิษฐานได้ว่าว่าพระสงฆ์ที่มาเยี่ยมท่านในเวลานี้ คือ คุณพ่อฟรังซิสโก ปีเมนเตล พระสงฆ์คณะเยซูอิต หัวหน้างานแพร่ธรรมในเขตมาดูไร (ทมิฬ) ซึ่งท่านได้แบ่งปันถึงความสุขอันยิ่งใหญ่ ที่ตัวท่านนั้นได้รับพระหรรษทานที่จะรับความทุกข์ทรมานเพื่อพระคริสตเจ้า และคุณพ่อโทมัสโซ เด โฟนเซกา พระสงฆ์เยซูอิต ประจำวัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ หมู่บ้านก๊อตตาร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านเปรุวิลัย ที่มีข้อมูลระบุว่าได้เดินทางมาประกอบพิธีมิสซาและส่งศีลให้ท่านในเวลากลางคืน

เป็นเวลานี้เช่นเดียวกัน ที่เมื่อข่าวท่านถูกจับตรึงไว้กับต้นสะเดาแพร่ออกไป ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่โดยรอบหมู่บ้านเปรุวิลัย ก็เริ่มพากันเดินทางมาของคำภาวนาจากท่าน ซึ่งด้วยจิตวิญญาณของประกาศกที่ไม่เคยดับมอดไป ท่านจึงได้ใช้โอกาสเหล่านี้แพร่ธรรมอีกครั้ง โดยเมื่อท่านมีโอกาสได้พูดคุยกับบุคคลใด ท่านจะสอดแทรกเรื่องราวของพระมหาทรมาน ที่พระคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าทรงได้รับ เพื่อไถ่โทษมนุษย์โลกลงไปให้บุคคลนั้น ๆ ได้ฟัง และไม่เพียงเท่านั้นในโอกาสอื่น ๆ ท่านยังได้ให้ชาวบ้านคนหนึ่งช่วยอ่านพระคัมภีร์ให้ท่านและผู้ที่มาเยี่ยมท่านได้ฟังอีกด้วย

ตัวอย่างสำเนารายงานเรื่องการเป็นมรณสักขีของเทวสหยัม 
ต่อพระสันตะปาปา เขียนโดยพระคุณเจ้าเลยเตา

ดังนั้นในไม่ช้าร่มสะเดาที่เคยเป็นสถานที่แห่งความสิ้นหวัง จึงค่อย ๆ ถูกคนธรรมดาคนหนึ่งเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่แห่งความหวัง เฉกเช่นวัดหลังน้อยที่คอยต้อนรับทุกคนที่เหน็ดเหนื่อยและมีภาระหนัก ให้ได้มารับความบรรเทาใจผ่านชายธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ถูกตราหน้าว่าเป็น ‘อาชญากร’ โดยหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ได้มารับความบรรเทาใจจากร่มสะเดานี้ คือ ‘เพชรฆาต’ ที่ดูแลท่าน โดยเขาพร้อมภรรยาได้พากันมาให้ท่านอวยพรและสวดภาวนาให้ความประสงค์หนึ่งนั้นสำเร็จไป ซึ่งเมื่อท่านได้ทราบความต้องการของทั้งสอง ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธพวกเขา หรือโกธรเคืองต่อความอยุติธรรมที่เขาได้ปฏิบัติต่อท่าน ตรงข้ามท่านได้สนทนาและได้ให้ความมั่นใจกับพวกเขาว่า พระเจ้าจะทรงสดับฟังคำภาวนานี้ และไม่นานความประสงค์ของทั้งสองก็บรรลุผล ทำให้แต่นั้นมาเพชรฆาตที่ดูแลท่าน จึงมีความเห็นใจในตัวท่านมากขึ้น เช่นเดียวกับบรรดาผู้คุม

และด้วยความเห็นใจนี้เอง ครั้งหนึ่งทั้งเพชรฆาตแลผู้คุม จึงได้เสนอโอกาสให้ท่านหลบหนี โดยที่พวกเขาจะแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เสีย แล้วให้ท่านหหลบหนีออกไป ฝั่งท่านที่ได้รับข้อเสนอดังกล่าวจึงได้นำเรื่องนี้ปรึกษากับกัปตันเดอ ลันโนย และคุณพ่อบุตตารี ซึ่งทั้งสองก็มีความเห็นตรงกันว่าการหลบหนีนั้นเป็นเรื่องขาดเขลา และสนับสนุนให้ท่านนั้นเผชิญกับความตายเพราะความเชื่ออย่างกล้าหาญต่อไป ดังนั้นเมื่อได้รับการหนุนใจจากทั้งสอง กอปรกับคำตอบที่ได้รับจากการรำพึงภาวนา ท่านจึงปฏิเสธโอกาสที่จะหนีในครั้งนี้ และยินดีที่จะถวายชีวิตตัวตามมรรคาของบรรดามรณสักขีต่อไป

หลุมศพนางกนานะปู ที่หมู่บ้านวทักกันกุลัม

การที่ประชาชนจำนวนมากต่างพาเดินทางไปพบท่านหมู่บ้านเปรุวิลัย เพื่อขอคำภาวนาจากท่าน จนเป็นโอกาสให้ท่านได้แพร่ธรรม ทำให้ในที่สุดมหาราชามาร์ธันฑะจึงมีบัญชาให้เนรเทศท่านไปยังคุกตำบลอรัลไวโมศี ตำบลชายแดนทางตะวันออกของอาณาจักร ซึ่งติดกับอาณาจักรมาดูไรอย่างลับ ๆ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนมาพบท่านได้ แต่ทันทีที่ท่านมาถึง ต. อรัลไวโมศี ข่าวการมาถึงของท่านก็แพร่ไปตามหมู่บ้านคริสตชนโดยรอบ ดังนั้นทุกวันจึงประชาชนมากหน้าหลายตาเดินทางมาพบท่านเช่นที่หมู่บ้านเปรุวิลัย ดังปรากฏบันทึกถึงปริมาณผู้คนที่มาเยี่ยมท่านว่า “มีจำนวนมากเสียจนที่ตรงนั้น เหมือนเป็นที่จัดงานเทศกาลมากเสียกว่าเป็นสถานที่อันโดดเดี่ยว”

หนึ่งในบรรดาผู้ที่มาพบท่านในเวลานั้นรวมถึง ‘นางกนานะปู’ ภรรยาของท่านที่ได้ละทิ้งความเชื่อในคริสตศาสนาไปอยู่ระยะหนึ่ง ท่านจึงได้มีโอกาสปลอบประโลมใจภรรยาผู้เป็นทุกข์ และได้หนุนใจให้เธอวางใจในการทรงนำของพระเป็นเจ้าต่อไป ทั้งได้แนะให้เธอนั้นย้ายไปอาศัยที่หมู่บ้านวทักกันกุลัมเสียเพื่อความปลอดภัย นางกนานะปูจึงได้อำลาสามีทั้งน้ำตา การจากลาครั้งนี้ นับเป็นการจากลาครั้งสุดท้ายระหว่างนางกับท่านอย่างแท้จริง แม้เราไม่อาจล่วงรู้ได้ถึงเรื่องราวของนางต่อไป แต่อาจจินตนาการได้ว่า ในเวลาไล่เลี่ยกับที่นางนั้นได้ออกเดินทางออกจากอาณาจักรตราวันคอร์ ท่านก็ได้ออกเดินทางเช่นกัน แต่การเดินทางครั้งนี้ของท่านไม่ใช่การเดินทางไปที่ใดในโลก แต่คือการเดินทางไปยัง ‘สวรรค์’ ในฐานะ ‘มรณสักขี’ ตามที่ท่านปรารถนา

คุกที่เคยใช้ขังท่าน ณ ต. อรัลไวโมศี

เมื่อมหาเสนาบดีและราชเลขาธิการ ซึ่งเป็นผู้นำคณะก่อการในการจับท่านจำคุก เห็นว่าแม้จะเนรเทศท่านไปไว้ที่คุกตำบลอรัลไวโมศี ผู้คนจำนวนมากยังคงเดินทางไปหาท่านอยู่ตลอด จนกลายเป็นโอกาสให้ท่านได้แพร่ธรรม ดังนั้นการฝืนปล่อยให้ท่านมีชีวิตอยู่ต่อไปคงจะไม่เป็นการดีแน่ ฉะนั้นเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้คริสตศาสนาเติบโตยิ่งขึ้นในอาณาจักร ทั้งสองจึงได้ตัดสินใจนำเรื่องนี้ขึ้นทูลมหาราชามาร์ธันฑะให้ทราบ มหาราชามาร์ธันฑะเมื่อทรงพิจารณาตามคำทูล ก็ทรงเห็นด้วย พระองค์จึงได้มีรับสั่งให้เปลี่ยนกลุ่มผู้คุมตัวท่านเสียใหม่ โดยให้เอากลุ่มที่ไม่ชอบคริสตศาสนาเป็นทุนเดิมไปคุมแทน และได้มีรับสั่งให้ประหารท่านอย่างลับ ๆ ในเร็ววัน

ดังนั้นในเวลาต่อมา เมื่อกลุ่มผู้คุมชุดใหม่ได้เดินทางมาแทนที่กลุ่มผู้คุมชุดเดิมแล้ว ในกลางดึกของคืนวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1752 ในยามราตรีที่ทุกคนต่างหลับไหล ผู้คุมจึงได้ปลุกท่านและได้สั่งให้ท่านเดินออกมาจากห้องขัง ท่านที่ในคืนนั้นมีอาการกระสับกระส่ายตลอดคืนทั้งในระหว่างการภาวนา เรื่อยมาจนถึงตอนนอน เมื่อถูกปลุกให้ลุกขึ้น ก็ตระหนักได้ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า ท่านจึงได้กล่าวกับรรดาผู้คุมว่า “เจ้าไม่จำเป็นต้องเสแสร้งอันใด ข้ารู้ว่าเจ้าจะพาตัวข้าไปไหน ไปกันเถิด” จากนั้นท่านจึงได้ถูกบรรดาผู้คุมนำตัวไปยังชายป่าเมืองอรัลไวโมศี ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นป่ารกชัฏ บริเวณเนินเขาเล็ก ๆ ที่เรียกกันว่า ‘กัตตะทิมาลัย’ แปลว่า ภูเขาที่ลมพัดแรงอยู่ตลอด


เนื่องจากปฏิบัติการนี้เป็นไปอย่างลับ ๆ และต้องแข่งกับเวลาเพื่อมิให้มีใครล่วงรู้ว่าท่านนั้นได้หายไปไหน พวกผู้คุมเมื่อเห็นว่าท่านนั้นเดินได้ไม่ไวดังใจตน (เพราะมีตรวนที่ล่ามอยู่) จึงได้พากันหาไม้ท่อนหนึ่งขนาดยาวพอดี เอามาสอดระหว่างข้อเท้าและข้อมือของท่านที่มีตรวน แล้วแบกท่านที่อยู่ท่านอนหงายไม่ต่างอะไรจากสัตว์ มุ่งตรงไปยังกัตตะทิมาลัยด้วยความรวดเร็ว จนลุถึงที่หมายพวกคุมจึงได้นำไม้นั้นออก ท่านจึงได้ขอเวลาสวดภาวนา ฝั่งพวกคุมก็ได้อนุญาต ท่านจึงได้เริ่มสวดภาวนาที่พะลานหินด้านบริเวณนั้นอยู่ชั่วขณะ ยกถวายวิญญาณของท่านแด่พระเป็นเจ้าในโลกนี้เป็นครั้งสุดท้าย (บริเวณดังกล่าวในปัจจุบันก็ยังคงปรากฏรอยหัวเข่าทั้งสองข้าง และรอยข้อศอกข้างหนึ่งของท่านอยู่เป็นประจักษ์พยานตราบถึงทุกวันนี้)

เมื่อสงบจิตได้ระยะหนึ่ง ท่านจึงได้แจ้งกับผู้คุมว่า บัดนี้ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ของท่านลุล่วงแล้ว และพวกผู้คุมก็สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายต่อได้ ผู้คุมจึงได้ให้ท่านนั้นขึ้นไปยังเนินเขาขนาดไม่สูงมากนัก ฝั่งบรรดาผู้คุมก็ได้ขึ้นไปยังหินอีกก้อน และเมื่อเห็นว่าท่านขึ้นไปถึงยังตำแหน่งที่กำหนดแล้ว บรรดาผู้คุมจึงได้ใช้ปืนที่เตรียมมาสังหารท่านในทันที ผลปรากฏว่าในการยิงหนแรกกระสุนสามนัดได้ถูกท่านในทันที แต่กระสุนทั้งสามก็มิได้ทำให้ท่านเสียชีวิตในทันที พวกผู้คุมจึงได้ยิงท่านเป็นหนที่สองอีกสองนัด ท่านจึงได้ล้มลงพร้อมเปล่งเสียงว่า “พระเยซู ช่วยลูกด้วย” แต่ท่านก็ยังมิได้สิ้นใจในทันที ท่านยังคงมีแรงเปล่งพระนามของพระเยซูเจ้าและแม่พระซ้ำไปซ้ำมาอยู่ พวกผู้คุมที่มาตรวจสอบเมื่อเห็นเป็นดังนั้นจึงได้ยินท่านเป็นหนที่สามอีกสองนัด ท่านจึงถึงแก่มรณกรรมในฐานะ ‘มรณสักขี’ สมดังตั้งใจ ด้วยอายุ 40 ปี หรือภายหลังท่านรับศีลล้างบาปได้เพียงเจ็ดปี และถูกจำคุกมาได้สามปี

รอยหัวเข่าและข้อศอกของท่าน ณ กัตตะทิมาลัย

เมื่อมั่นใจว่าท่านได้สิ้นใจเป็นที่แน่นอนแล้ว พวกผู้คุมจึงได้ช่วยกันกลิ้งร่างของท่านลงไปหลบไว้หลังพุ่มไม้ที่ด้านล่าง เพื่อปล่อยให้ร่างของท่านนั้นกลายเป็นอาหารของสัตว์ป่าในบริเวณดังกล่าว ก่อนจะพากันเดินทางกลับไปยังคุกเมืองอรัลไวโมศี แต่ในเช้าวันต่อมาเมื่อชาวบ้านที่เดินทางมาพบท่าน ไม่พบตัวท่านอยู่ในคุก ทุกคนจึงคาดเดาได้ว่าท่านน่าจะได้เสียชีวิตลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บรรดาพระสงฆ์มิชชันนารีที่ทราบข่าวจึงได้เร่งเดินทางมาพบผู้คุม และได้เสนอเงินเพื่อแลกกับตรวนที่ใช้ล่ามท่านตลอดสามปี แต่บรรดาพระสงฆ์มิชชันนารีก็ยังไม่สามารถเข้าใกล้ร่างของท่านได้ในทันที เนื่องจากมีทหารได้คอยเฝ้าอยู่ไม่ไกล จนล่วงได้ห้าวันภายหลังคืนที่มีการสังหารท่าน บรรดาพระสงฆ์มิชชันนารีจึงสามารถเดินทางไปยังสถานที่สังหารท่าน และพบเพียงกระดูกของท่านเท่านั้น

บรรดาพระสงฆ์มิชชันนารีจึงได้รวบรวบกระดูกที่เหลือของท่านนั้นกลับมา และได้นำไปฝังไว้ที่หน้าพระแท่นวัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ก๊อตตาร์ ต. เนเยกอยล์ เมืองกันยากุมารี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ถูกสงวนไว้สำหรับร่างของพระสังฆราชและ ‘นักบุญ’ และเพื่อเป็นเกียรติแด่วีรกรรมอันกล้าหาญนี้ พระคุณเจ้าเลยเตา พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลโคชินจึงได้ให้มีการขับร้องบทเพลงเตเดอุมในวัดทุกแห่งในสังฆมณฑลพร้อมกัน เพื่อโมทนาคุณพระเจ้าต่อมรณกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ได้เกิดขึ้นในเขตความดูแลของสังฆมณฑลในเวลานั้น ทั้งตัวพระคุณเจ้ายังได้เทศน์สดุดีวีรกรรมของท่าน และได้เขียนรายงานเรื่องนี้ถวายพระสันตะปาปาในเวลาต่อมา

หลุมฝังศพของท่านภายในวัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ก๊อตตาร์
(ปัจจุบันเป็นอาสนวิหารสังฆมรฑลก๊อตตาร์)

มีคำกล่าวว่า “หากการแพร่ธรรมของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ เป็นปัจจัยหลักให้เกิดการกลับใจของผู้คนตามแนวชายฝั่งฉันใด ปรากฏการณ์ของเทวสหยัม พิลัยก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการกลับใจของผู้คน ที่อาศัยอยู่ตอนในเช่นกัน” เหตุว่าการที่ท่านถูกพาแห่ประจานจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง และได้จบชีวิตลงเช่นมรณสักขี ไม่ได้ทำให้กล้าพันธุ์แห่งพระศาสนจักรลดน้อยลงด้วยความหวาดกลัว ตรงข้ามอาศัยความกล้าหาญของท่านในการยืนหยัดในความเชื่อ ได้ส่งผลให้เกิดกล้าพันธุ์ใหม่งอกขึ้นอยากมากมายในบริเวณตอนใต้ของรัฐทมิฬนาฑู ไม่ว่าจะเป็นในชุมชนคริสตชนท้องถิ่น หรือในชุมชนชาวฮินดู แม้กล้าพันธุ์เหล่านั้นบางกล้าในท้ายที่สุดจะมิได้ออกผล และตายลงอย่างน่าเสียดาย แต่ก็ถือว่าเป็นผลผลิตอันน่าอัศจรรย์ผ่านชีวิตของท่าน ดังนั้นชีวิตของท่านจึงได้เป็นไปดังพระวาจาที่ว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงในดิน และตายไป มันก็จะเป็นเพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามันตายมันก็จะบังเกิดผลมากมาย” (ยอห์น 12: 24)

แต่แม้ว่าในทันทีที่ท่านได้ถึงแก่มรณกรรมลง ท่านจะได้ความเคารพในฐานะ ‘มรณสักขี’ และ ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’ รวมถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับท่านก็ได้กลายเป็นที่แสวงบุญสำหรับคริสตชน แต่กว่าที่พระศาสนจักรท้องถิ่นจะเริ่มดำเนินกระบวนการขอแต่งตั้งท่านขึ้นเป็นนักบุญอย่างจริงจัง ก็ใช้เวลาหลังท่านมรรกรรมไปกว่า 240 ปี โดยสังฆมณฑลที่รับผิดชอบในการเปิดกระบวนการครั้งนี้ คือ สังฆมณฑลก๊อตตาร์ และเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าการเป็นมรณสักขีของท่านนั้นเกิดขึ้นจริง ในที่สุดในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 จึงได้มีการบันทึกนามท่านไว้ในสารบบุญราศี ท่านจึงนับเป็นฆราวาสคนแรกของประเทศอินเดียที่ได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศี

พิธีสถาปนาบุญราศีเทวสหยาม โดยมีพระคุณเจ้าอังเยโล อมาโต 
เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16

และในสมัยของพระสันตะปาปาฟรานซิสนี้เอง กระบวนการขอแต่งตั้งข้ารับใช้พระเจ้าเทวสหยัมก็มาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อทางสันตะสำนักได้รับรองอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นผ่านคำเสนอวิงวอนของท่าน และได้เตรียมสถาปนาท่านขึ้นเป็นนักบุญใน ค.ศ. 2022 นี้ ดังนั้นในเร็ววันนี้พระศาสนจักรอินเดียจึงจะมีนักบุญเพิ่มเป็น ‘องค์ที่ 7’ และนับเป็นนักบุญองค์แรกของอินเดีย ที่เป็น ‘ฆราวาส’ โดยในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ ยังได้มีความพยายามเสนอให้ตัดคำว่า ‘ปิลลัย’ ออกจากนามของท่านอีกด้วย ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าในสถานปนาที่จะจัดขึ้นพระศาสนจักรจะมีความเห็นเช่นไร

“พี่น้องทั้งหลาย พระเจ้าทรงเรียกท่านให้มารับอิสรภาพ ขอเพียงแต่อย่าใช้อิสรภาพนั้นเป็นข้อแก้ตัวที่จะทำตามใจตน แต่จงรับใช้ซึ่งกันและกันด้วยความรัก” (กาลาเทีย 5: 13) ดังที่นักบุญเปาโลได้เขียนไว้ พระเจ้าผู้มีพระทัยดีทรงเรียกเราให้มารับ ‘อิสรภาพจากการเป็นทาสของบาป’ และได้กลายเป็น ‘บุตรบุญธรรม’ ของพระองค์ ผ่านการเป็นคริสตชนไม่เพียงแต่ในเอกสาร แต่รวมถึงในชีวิตทุกวินาที ซึ่งสถานภาพของบุตรบุญธรรมนี้ ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งของคริสตชนให้สูงส่งกว่าคนต่างศาสนนิก ตรงข้ามสถานภาพนี้กลับเรียกร้องให้คริสตชนผู้ที่ได้รับสถานภาพ ‘รับใช้’ เพื่อนมนุษย์ทุกคนด้วย ‘ความรัก’


ความหมายของการรับใช้ด้วยความรักนี้ ก็คือ ‘การช่วยเหลือ’ ทุกคนรอบตัวไม่ว่าจะเป็นด้วยกิจการ วาจา หรือการมอบความปรารถนาที่ดีให้ เพราะแท้จริงความหมายของการรับใช้ ไม่ใช่เพียงการทำบางสิ่งเพื่อคนอื่นแต่เพียงอย่างเดียว เพราะการกระทำนั้นยังต้องมี ‘ความรัก’ เป็นองค์ประกอบในการกระทำ ซึ่งความรักนี้ ไม่ใช่ความรักในฐานะชายหญิงที่ชอบพอกัน หรือความรักในพวกพ้องครอบครัวหนึ่ง แต่คือความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ในฐานะ ‘สิ่งสร้างของพระเจ้า’ ร่วมกับเรา ความรักนี้จึง ‘ไม่ได้หวังผลใด ๆ เพื่อตนเอง’

ชีวิตของบุญราศีเทวสหยัมได้ดำเนินไปดังนี้ กล่าวคือเมื่อท่านได้รับศีลล้างบาป ท่านได้ตระหนักดีถึงหน้าที่ในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ทุกคนด้วยความรัก ดังนั้นท่านจึงแพร่ธรรมให้คนรอบข้าง เพราะท่านปรารถนาช่วยให้บุคคลเหล่านั้นได้พบความสุขเช่นท่าน ไม่เว้นแม้แต่คนในวรรณะที่ต่ำกว่า จนท้ายที่สุดท่านจึงถูกจับและถูกประหารชีวิต ซึ่งในเวลาก่อนที่ท่านจะถูกประหารนั่นเอง เมื่อถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวน ท่านก็ยังคงตระหนักในสถานภาพของบุตรบุญธรรม ท่านจึงยังคงช่วยเหลือผู้อื่นและแพร่ธรรม ด้วยวาจาและคำภาวนา โดยไม่มีข้อละเว้นแม้คนผู้นั้นจะเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นเพชรฆาต ดังนั้นในท้ายนี้ จึงขอให้ชีวิตของบุญราศีเทวสหยัมเตือนใจเรา โดยเฉพาะคริสตชนตระหนักถึงหน้าที่ในการ ‘รับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก’ แท้ในวิถีทางตามแบบฉบับของแต่ละคน แต่ละช่วงเวลา และแต่ละสถานการณ์ เพราะแท้จริงไม่มีสิ่งใดที่เราขาดแคลน ในการจะช่วยเหลือผู้อื่น อาแมน



“ข้าแต่ท่านบุญราศีเทวสหยัม ปิลลัย ช่วยวิงวอนเทอญ”

รายการอ้างอิง
http://www.martyrdevasahayampillai.org/
https://blesseddevasahayampillai.blogspot.com
https://en.wikipedia.org/wiki/Devasahayam_Pillai
https://www.vijayvaani.com/ArticleDisplay.aspx?aid=2589
https://www.jayesu.com/emanna/emanna_017.php
http://www.missionariesoftheworld.org/2011/06/devasahayam-pillai_14.html
https://believersportal.com/meet-devasahayam-pillai-convert-from-hinduism-to-christianity-first-indian-martyr/
https://vskbharat.com/vatican-put-hold-on-canonisation-of-devasahayam-pillai/?lang=en
https://indianexpress.com/article/explained/explained-who-is-devasahayam-pillai-sainthood-7618659/

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...