บุญราศีมารี
เคลมองติน อานัวริต
เนนกาเปตา
Bl. Marie-Clémentine
Anuarite Nengapeta
ฉลองในวันที่ : 1 ธันวาคม
อานัวริต เกิด
ในวัมบา ประเทศคองโก เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม
ค.ศ.1939 ในเผ่าวาบูดู บิดาท่านคือ อามีซี บาตซูรู บาโตโบโบ ส่วนมารดาท่านคือ
อีซูด จูเลียน ท่านเป็นธิดาคนที่ 4 จากธิดาหกคน และเนื่องจากเหตุนี้ที่มารดาท่านไม่อาจสามารถให้กำเนิดบุตรชายให้บิดาท่านได้
บิดาท่านที่เป็นอดีตทหารจึงได้ไล่มารดาท่านออกจากบ้าน
เพื่อจะได้พาภรรยาคนใหม่มาแทน แต่น่าเศร้าที่ภรรยาคนนั้นเป็นหมัน
และแน่นอนความเจ็บปวดครั้งนี้ไม่พ้นท่านไปไหน แต่แม้จะต้องเจ็บปวดเพียงใดท่านก็ตัดสินใจให้อภัยบิดาท่านหมดหัวใจ
โดยแรกเกิดท่านได้รับชื่อว่าเนนกาเปตาอันมีความหมายว่า “ความมั่งคั่งคือความหลอกลวง”(riches deceive) ก่อนจะได้รับนาม “อัลฟองซิน” ภายหลังจากได้รับศีลล้างบาปพร้อมมารดาในปี ค.ศ.1945 ซึ่งดูเหมือนว่าท่านจะได้รับศีลล้างบาปสองรอบเพราะใบรับรองของท่านหายทำให้อันเดิมเป็นโมฆะ
ดังนั้นท่านจึงมีชื่อว่า “อัลฟองซิน เนนกาเปตา” แล้วชื่อ อานัวริต มาจากไหน? ชื่อที่มีความหมายว่า “ผู้หัวเราะในสงคราม” นี้ ความจริงแล้วเป็นชื่อของพี่สาวท่าน
หากแต่เกิดความผิดพลาดบางประการที่ทำให้ชื่อนี้กลายมาชื่อท่านไป
เรื่องนี้เกิดก็ตอนที่พี่สาวท่านเลอ็งติน
อานัวริต พาท่านไปสมัครเรียนชั้นประถมกับซิสเตอร์ชาวเบลเยี่ยม
แต่ไม่รู้เป็นอย่างไรซิสเตอร์ผู้นั้นจึงไปลงทะเบียนชื่อท่านว่า “อัลฟองซิน อานัวริต” อันอาจเป็นได้หลายสาเหตุ บางทีซิสเตอร์คนนั้นอาจไม่รู้ภาษาแอฟริกาหรือไม่ก็เป็นเหม่อลอยอยู่
แต่อย่างไรก็ตามก็ทำให้นับจากนั้นมาชื่อเนนกาเปตาของท่านแต่แรกมาก่อนก็หายไป
และไม่ปรากฏอีกเลยตลอดชีวิตของท่าน
ในวัยเยาว์ท่านเป็นเด็กอ่อนไหวนัก
ครั้งหนึ่งเมื่อเห็นการเชือดแพะ ท่านก็ปฏิเสธที่จะกินเนื้อ
พร้อมบอกว่าเลือดนั้นก็เหมือนของท่าน นอกจากนั้นท่านยังเป็นคนโอบอ้อมอารี
ทุกๆครั้งหลังเลิกเรียก ท่านรักที่จะช่วยคุณยายของท่านทำงานต่างๆเสมอ และในเวลาเดียวกันขณะท่านเติบโตขึ้นเรื่อยๆนี้เอง
กระแสเรียกการเป็นซิสเตอร์ในตัวของท่านเติบโตขึ้นไปเช่นเดียวกับสหายหลายคนของท่าน
ท่านปรารถนาจะเดินตามรอยพวกเขา ผู้ที่ท่านยกย่องอย่างยิ่งในหมู่บ้าน
ที่สุดท่านก็เผยความปรารถนานี้แก่มารดา
ซึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับความปรารถนานี้ แต่คำว่า ไม่
คำเดียวจากมารดาหรือจะทำให้ท่านท้อใจได้ ตรงกันข้ามท่านยังคงมุ่งมั่นที่จะทำตามฝันนี้ต่อ
ท่านจึงไปขอสมัครเข้าอารามกับซิสเตอร์
แต่ก็ต้องถูกปฏิเสธเพราะซิสเตอร์เห็นว่าท่านยังอายุน้อยเกินไปในเวลานี้ กระทั้งรถบรรทุกของคณะซิสเตอร์ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แวะมารับเด็กหญิงที่ต้องการเข้าคณะเพื่อพาไปเป็นผู้สมัครเณรียังอารามบัฟวาบากา
ท่านที่เห็นสบโอกาสจึงได้ได้แอบปีนขึ้นรถคณะนั้นไป โดยไม่มีใครได้สังเกต
มันใช้เวลาอีกหลายวัน
กว่ามารดาท่านจะทราบเรื่อง แต่กระนั้นมารดาท่านก็ไม่ได้ไปตามท่านกลับมา ทำให้ท่านได้ไล่ตามฝันจนได้เข้าพิธีปฏิญาณตนในวันที่ 5 สิงหาคม
ค.ศ.1959 ด้วยศาสนานามใหม่ว่า
“ซิสเตอร์มารี เคลมองติน”
โดยในวันนั้นบิดามารดาท่านได้มาร่วมพิธี และได้มอบแพะสองตัวแก่บรรดาซิสเตอร์เพื่อแสดงให้เห็นว่าทั้งสองภูมิใจแค่ไหนที่บุตรสาวน้อยของพวกเขาได้ถวายตนทั้งครบแด่พระเจ้า
แต่ไม่นานจากนั้น มารดาท่านก็พยายามเกลี้ยกล่อมท่านให้ละทิ้งกระแสเรียก
เพื่อมาช่วยเหลือครอบครัวอีก
ที่อาราม
ท่านได้มอบตนเองเพื่อทุกคนและทำให้ทุกคนมีความสุข
ท่านจะอาสาแก้ปัญหาที่ใครๆก็ส่ายหน้าบ่ายเบี่ยง แต่บางครั้ง
ท่านก็จะตำหนิตรงๆกับคนที่หลบงาน
นอกจากนั้นท่านยังถือหลักปฏิญาณของท่านที่ว่าจะไม่อยู่กับผู้ชายสองต่อสอง และก็อยากให้ซิสเตอร์คนอื่นๆถือปฏิญาณเช่นเดียวกันกับท่าน
มีวันหนึ่ง ท่านถึงกับลงมือทำร้ายอันธพาลที่พยายามทาบทามซิสเตอร์คนอื่น
ด้วยความโกธรเลยทีเดียว
กระทั้งปี ค.ศ.1964 การจลาจลมูเลเลก็เริ่มขึ้น จากเพียงแค่พื้นเล็กๆ
ไม่กี่สัปดาห์ก็ขยายจนเกือบจะทั้งประเทศคองโก นำโดยกลุ่มกบฏชื่อ “กลุ่มซิมบา”
พวกนี้ต่อต้านชาวตะวันตกแบบหัวเด็ดตีนขาด
รวมไปถึงต่อต้านพวกบาทหลวงและซิสเตอร์ชาวพื้นเมือง
เพราะสงสัยว่าคนพวกนี้เป็นสายให้กับพวกตะวันตก เหตุการณ์ลุถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน กลุ่มซิมบานี้ได้มาถึงอารามในบัฟวาบากา และได้จับซิสเตอร์ทั้งหมด 46 คนขึ้นรถบรรทุกพาไปยังเมืองวัมบา
แต่เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยตามที่พวกเขากล่าวอ้างกับบรรดาซิสเตอร์
จึงมีการย้ายพวกซิสเตอร์จากที่ต้องไปที่วัมบา ให้ไปที่เมืองอิซิโรแทน
ที่นั่นบรรดาซิสเตอร์ถูกจับขังไว้ที่บ้านของพันเอกยูมา ดีโอ ก่อนในคืนวันเดียวกันซิสเตอร์ทุกคนจะถูกย้ายไปที่บลูเฮาส์
ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆกัน ยกเว้นแต่ท่าน
ที่ถูกโน้มน้าวให้เป็นภรรยาของหนึ่งในผู้นำของกลุ่มกบฏนี้ที่ชื่อ พันเอกงาโล
ที่ยืมความช่วยเหลือจากทหารในกลุ่มชื่อ ซิกบันเด มาช่วยเกลี้ยกล่อม
แน่นอนว่าท่านหวาดกลัว
แต่ท่านก็ปฏิเสธอย่างแข็งขันที่จะแต่งงานกับเขา แม้จะถูกแยกขังและถูกขู่ว่าจะถูกฆ่าจากทหารที่โกธรเกี้ยวก็ตาม
และแม้คุณแม่เลอ็งแต็ง จะพยายามปกป้องท่านแค่ไหน ก็ยังไร้ผล
ตอนนี้ซิสเตอร์ที่ถูกคุมขังในบลูเฮาส์ร่วมกันปฏิเสธ
ที่จะรับอาหารหากคุณแม่อธิการไม่อยู่กับพวกเขา ซิสเตอร์สองคนคือซิสเตอร์บานัคเวนี
และซิสเตอร์มารี ลูซี ก็ถูกนำตัวไปพร้อมพันเอกปีแอร์ โอลอมเบ
เพื่อรายงานสถานการณ์ให้กับพันเอกงาโล ซึ่งสบโอกาสจึงขอให้พันเอกปีแอร์ช่วยเกลี้ยกล่อมท่านให้หน่อย
แน่นอนเขาก็ไม่ปฏิเสธที่จะช่วย
ในระหว่างมื้ออาหารเย็นในที่คุมขัง
ท่านใช้จานข้าวและปลาซาร์ดีนกับคุณแม่ซาเวเรีย แต่ก็ไม่สามารถรับประทานอะไรได้มาก
ท่านเอ่ยเตือนซิสเตอร์ทุกคนว่าอย่ารับเบียร์จากพวกซิมบา เพราะ
เวลานี้ทุกคนตกอยู่ในอันตราย
ท่านยังได้บอกอีกว่าท่านพร้อมที่จะตายเพื่อปกป้องพรหมจรรย์ จนอาทิตย์คล้อยต่ำ
ทิ้งไว้แต่เพียงท้องฟ้าสีดำ ซิสเตอร์ทุกคนก็ถูกพาเข้านอน แต่ท่านนอนไม่หลับ
ท่านเป็นทุกข์และกังวัลยิ่งนัก ท่านขอให้คุณแม่อธิการช่วยสวดให้ท่าน
พันเอกปีแอร์พาท่าออกมาด้านนอก
พยายามกดดันท่านอีกครั้งให้ยอมเป็นภรรยาของพักเอกงาโล จนไปๆมาๆเขาก็เปลี่ยนใจ
จับท่านทำภรรยาเสียเอง แต่เมื่อท่าปฏิเสธ เขาก็ด่าทอท่าน
ซึ่งก็ไม่อาจเปลี่ยนใจท่านได้
ท่านมั่นคงที่จะตอบว่าเจ้าบ่าวคนเดี่ยวของท่านคือพระคริสต
ที่สุดเขาจึงบังคับให้ท่านพร้อมซิสเตอร์โบคูมา ฌาน บัพติสต์
ที่เขาต้องการเข้าไปในรถ และเนื่องจากท่านเห็นสบโอกาสตอนเขาเข้าบ้านไปเอากุญแจรถ
ท่านก็ตัดสินใจหนีตามด้วยซิสเตอร์โบคูมา แต่น่าเศร้าที่ทั้งท่านและซิสเตอร์คนนั้นไม่อาจหนีรอดไปได้
ทั้งสองถูกจับและเกิดการต่อสู้ขึ้น
คุณแม่เลอ็งแต็ง
และคุณแม่เมลานี ผู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด
พยายามอ้อนวอนต่อพันเอกปีแอร์ให้เห็นใจท่านและซิสเตอร์โบคูมา แต่ยิ่งทำให้เขาโกธรจัด
เขาไม่ตอบอะไร และเริ่มตีท่านและซิสเตอร์โบคูมาอย่างเลือดเย็น
จนซิสเตอร์โบคูมาเป็นลมหมดสติลงไปพร้อมแขนขวาที่หักอยู่สามจุด
คงเหลือแต่ท่านที่ยังคงพยายามต่อต้านเข้าด้วยความกล้าหาญ
ท่านเอ่ยว่าท่านยอมตายเสียดีกว่าทำบาปนี้
ด้วยกำลังเฮือกสุดท้าย
ท่านก็ได้ทำสิ่งที่ท่านเคยทำกับบิดาของท่าน
คือการให้อภัยปีแอร์สุดหัวใจด้วยคำกล่าวว่า “ดิฉันยกโทษให้ท่านเพราะท่านไม่รู้ว่าได้กระทำอะไรลงไป” ก่อนจะล้มลง
คำกล่าวนี้ยิ่งเพิ่มอารมณ์เดือดดาลในตัวของปีแอร์ยิ่งไปอีก
เขาสั่งทหารสองคนใกล้ๆให้ใช้มีดปลายปืนแทงท่าน ท่านถูกแทงหลายต่อหลายครั้ง
ท้ายสุดปีแอร์จึงใช่ปืนยิงท่านที่หน้าอก ก่อนกลับเข้าไปในบ้าน
พร้อมประกาศกับซิสเตอร์ทั้งหลายว่า “ข้าฆ่ามัน ตามที่มันต้องการแล้ว เชิญไปเอาร่างมันได้เลย”
ซิสเตอร์สี่คนจึงออกมานำท่านที่หายใจรวยรินเต็มทีเข้ามา
และเพียงไม่กี่นาทีต่อมา ณ เวลาตีหนึ่ง ของวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1964 ด้วยอายุ
24 ปี
ท่านก็คืนวิญญาณของท่านไปหาพระเป็นเจ้าอย่างสงบ ร่างของท่านถูกฝังรวกพร้อมนักโทษคนอื่นๆของพวกซิมบา
ก่อนแปดเดือนถัดมา จึงมีการขุดและย้ายร่างของท่านไปฝัง ณ สุสานของคินโคเล และตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1978 เป็นต้นมาร่างของท่านก็ถูกย้ายมาฝัง ณ
อาสนวิหารประจำอิซีโร
และสืบเนื่องจากการพลีชีวิตเพื่อคงไว้ซึ่งพรหมจรรย์และการให้อภัยของท่าน
จึงมีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ.1978 และที่สุดในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1985
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศีอย่างสง่า
ณ ปรำพิธีชั่วคราว เมืองกินชาซา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ท่ามกลางสักขีพยานมากมาย
รวมทั้งบิดามารดาของท่านที่ได้ร่วมพิธีนี้ อยู่ทางซ้ายของพระแท่น
ปีแอร์ เมื่อหลังกบฏถูกปราบปรามเขาก็ถูกตัดสินประหารชีวิต
แต่เพราะมีความดีความชอบในเวลาต่อมาจาการร่วมรบในสงครามกับกบฏเบลเยี่ยม
เขาก็เลยได้รับการลดโทษ และถูกปล่อยตัวออกมา ในสภาพไม่มีอะไรเลย เขาต้องระหกระเหิน
ไปขอข้าวจากซิสเตอร์ในอารามแห่งหนึ่ง อันเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่เขาเคยจับ
และลงมือสังหารเพื่อนของพวกเธออย่างโหดเหี้ยม “ซิสเตอร์เคลมองตินได้ให้อภัยคุณฉันใด
พวกเราก็ต้องทำตามตัวอย่างของเธอฉันนั้น” ซิสเตอร์เลอ็งตนกล่าวขณะมอบอาหารให้เขา
“ผู้ที่พูดว่าตนเองอยู่ในพระเจ้า
ก็ต้องดำเนินชีวิตเหมือนกับที่พระองค์ ทรงดำเนินชีวิต”(1ยอห์น 2:6) คุณลักษณะอันโดดเด่นของพระเจ้าคืออะไร ก็คือ “การอภัยและรักไม่สิ้นสุด” แม้จะถูกต่อต้านจากหลายๆคน
หรือถูกจับตรึงกางเขนจนสิ้นพระชนม์ก็ตาม ดังนั้นเมื่อพระองค์ทรงวางแบบอย่างไว้เช่นนี้
เราในฐานะคริสตชน อันคือผู้ติดตามพระคริสต์ก็ต้องเดินตามแบบอย่างของพระองค์ ที่ทรงวางไว้เพื่อให้คู่ควรกับคำว่า
“ศิษย์พระคริสต์”เหมือนบุญราศีมารี ที่ให้อภัยบิดาและคนที่ฆ่า ด้วยความรักหมดดวงใจ ตามแบบอย่างของเจ้าบ่าวของท่าน
แม้จะถูกทำร้ายแค่ไหน ท่านก็เลือกที่จะอภัย เพื่อให้เขาได้รับความรอด
แม้คนๆนั้นจะฆ่าท่านก็ตาม
พิธีมิสซาสถาปนาท่านเป็นบุญราศี
“ข้าแต่ท่านบุญราศีมารี เคลมองติน อานัวริต
เนนกาเปตา ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง