บุญราศีเปียรีนา
โมโรซินี
Bl. Pierina
Morosini
ฉลองในวันที่ : 6 เมษายน
เปียรีนา
เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1931 เป็นลูกคนโตจากพี่น้องเก้าคน
บิดามารดาของท่านคือ ร็อกโก และซารา โนริส ที่พักในบ้านทรงลอมบาร์เด บนภูเขามูโต
ในหมู่บ้านฟิออบบีโอ เขตเมืองอัลบีโน ของจังหวัดแบร์กาโม ประเทศอิตาลี
และได้รับศีลล้างบาปด้วยนาม “เปียรีนา เอวเยเนีย” ในวันรุ่งขึ้นที่วัดหลังใหม่
ประจำหมู่บ้าน โดยมีคุณพ่ออันโตนีโอ ซาวอลดี เป็นผู้ประกอบพิธีให้
ในวัยเยาว์ท่านเติบขึ้นมาระหว่างที่เชดรีนา
อัลตา ที่ครอบครัวท่านย้ายไปตั้งรกรากเป็นกานถาวร กับที่เชดรีนา บัสซา
อันเป็นบ้านของคุณยายของท่าน ที่ท่านจะไปอยู่ในช่วงฤดูหนาว
เพื่อให้ง่ายต่อการไปโรงเรียนและไปวัด
และเนื่องจากที่บิดาท่านสุขภาพไม่ดีเกินกว่าจะทำงานฟาร์มได้
บิดาท่านจึงไปเป็นยามกะดึกให้กับโรงงานเซียมา ในเมืองอัลบีโน
ส่งผลให้มารดาท่านต้องอยู่กับท่านและบรรดาน้องๆคนเดียวทุกคืน
ด้วยความกลัวมารดาท่านจึงมักนำลูกๆสวดภาวนาเสมอ
เชดรีนา อัลตา
นั่นแหละจึงเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาของท่าน
“เปียรีนาสวดอย่างดี แม้เมื่อยังเล็ก เธอก็ไม่เคยเหนื่อยที่จะสวดภาวนา
และก็ไม่เคยบอกว่าการสวดภาวนานั้นยาวเกิน ตั้งแต่เธอและน้องๆยังเล็กๆ
ดิฉันก็พาสวดทุกเช้าค่ำ นอกจากนี้ ในทุกๆวัน ดิฉันก็จะสอนคำสอนให้พวกเขา
เปียรีนาเข้าใจดีถึงการสวดภาวนาด้วยใจ และถึงการปฏิบัติกิจศรัทธา กิจการความหวัง
กิจการเมตตาและกิจการทุกข์ตรม นอกเหนือจากพระบัญญัติและผลของความเมตตา” มารดาของท่านให้เล่า
น้องๆหลายคนยังจำแม่น ว่าท่านมักเป็นผู้นำพวกเขาสวดในวัดแม่พระมหาทุกข์ อัลบีโน
เสมอ
ในวัย 6 ปี แม้ยังไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน
ท่านก็ได้ศีลกำลัง จากพระคุณเจ้าอาเดรียโน แบร์นาเรยยี
พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลแบร์กาโม ในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ.1937 ท่ามกลางความแปลกใจของคุณพ่อเจ้าวัด
กับความรู้คำสอนที่มารดาท่านเป็นคนเตรียมให้ หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม ปีถัดมา
ท่านจึงได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก ณ วัดประจำหมู่บ้าน
เริ่มด้วยมิสซา
ทุกๆเช้าครอบครัวน้อยๆของท่านจะเริ่มด้วยมิสซาเสมอ โดยมีมารดาคอยพาท่านไป
กระทั้งมารดาท่านมีน้องน้อย มารดาท่านก็จะเพียงแค่ไปส่งที่ถนน
เพราะบ้านของท่านตั้งอยู่บนภูเขาที่เรียกกันง่ายๆว่า มิสมา แยกห่างจากชุมชน
ก่อนจะให้ท่านนำน้องๆที่รู้ความไปมิสซา
เวลาเดียวกันมารดาท่านก็จะกลับมาเลี้ยงลูกน้อยต่อ
ส่วนท่านก็จะพาน้องๆไปมิสซาเวลาหกโมงเช้า แล้วจึงค่อยกลับมารับประทานอาหารเช้า
และไปโรงเรียนตามลำดับ กระทั้งเมื่อน้องโตหมดแล้ว มารดาท่านจึงไปร่วมมิสซาด้วย
ซึ่งหากมาด้วยทั้งหมดจะนั่งม้านั่งตัวสุดท้ายทางซ้ายของวัด แต่ถ้าท่านมาคนเดียวท่านจะชอบไปนั่งแถวหน้าสุดเหมือนคุณแม่อธิการ
ด้านการศึกษา
ท่านได้เข้าศึกษาในระดับชั้นประถมในโรงเรียนของหมู่บ้าน
แต่เนื่องจากในเวลานั้นโรงเรียนของหมู่บ้านฟิออบบีโอ ยังไม่มีชั้นประถมห้า
ดังนั้นเมื่อเรียนจบชั้นประถมสี่ ท่านจึงเข้าไปเรียนชั้นประถมห้า(ค.ศ.1941-ค.ศ.1942) ที่โรงเรียนในเมือง
ของซิสเตอร์คณะพระหฤทัยพร้อมความฝันว่าจะเป็นครู
และทุกคนก็ต่างมั่นใจว่าหากท่านเรียนต่อ ท่านจะต้องประสบผลสำเร็จแน่ๆ
เพราะท่านเป็นเด็กเรียนเก่ง เรียนรู้อะไรเร็ว
แต่เพราะครอบครัวต้องการคนช่วยจุนเจือ
และท่านก็เป็นพี่คนโต ท่านไม่มีโอกาสได้เรียนต่อเมื่อจบชั้นประถมห้า
แม้ท่านจะอยากเรียนแค่ไหน ท่านก็ปรารถนาจะช่วยเหลือครอบครัว ท่านจึงตกลง
ดังนั้นในวัย 11 ปี
มารดาท่านจึงส่งท่านไปเรียนเย็บผ้าจากช่างเย็บผ้าในเมือง ซึ่งปีเดียวกันนั้นเอง
นอกจากเรียนเย็บผ้าแล้ว ท่านก็ยังได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มกิจการคาทอลิก
กลับมาที่การเรียนเย็บผ้า ท่านเรียนอยู่ราวสองปีในวัย 13 ปี
ท่านก็เรียนครบทุกกระบวนที่ครูจะให้ได้
และกลับบ้านไปพร้อมความรู้จำเป็นสำหรับครอบครัว ไม่ว่าจะเสื้อ ผ้ากันเปื้อน หรือกางเกง
ที่มารดาท่านยังยอมรับว่ายากมากๆ นับแต่นั้นเรื่องเย็บปักก็ต้องคิดถึงท่านเท่านั้น
กระทั้งอายุได้
15 ปี ท่านก็เข้าทำงานที่โรงงานสิ่งทอในเมือง
ที่มีกะทำงานสองกะคือ 6.00 น.- 14.00 น. และ 14.00 น. – 22.00 น. โดยสัปดาห์แรกท่านอยู่กะแรก
ส่วนสัปดาห์ถัดมาท่านก็จะอยู่กะสองสลับกันไปมา ซึ่งในสัปดาห์ที่อยู่กะเช้า
ท่านจะออกจากบ้านตั้งแต่เวลาตีสี่
โดยมีมารดาคอยตามไปส่งในช่วงแรกที่ท่านยังเล็กอยู่ ทั้งคู่จะร่วมกันสวดสายประคำ
กระทั้งมาถึงวัดประจำหมู่บ้าน มารดาท่านก็จะแยกไปร่วมมิสซา
ส่วนตัวท่านก็จะเดินต่อไปเพื่อไปร่วมมิสซาที่วัดในเมือง เป็นเช่นนี้ทุกๆวัน
เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ทุกคนที่พบเห็น เพราะท่านมักมาถึงเป็นคนแรกๆ
บางครั้งก่อนวัดเปิดด้วยซ้ำ หลังจากนั้นท่านจึงจะไปที่ทำงานก่อนหกโมงเช้าเสมอ
โรงงานที่ท่านทำงาน
งานใหม่ของท่านกินเวลากะละแปดชั่วโมง
โดยมีเวลาพักให้ประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น โดยงานแรกของท่านในโรงงานคือ “ปิชชีนีนา”
หรือ “เด็กฝึกงาน”
ตามภาษาท้องถิ่นของชาวลอมบาร์เดีย
ซึ่งมีหน้าที่การจัดหากระสวยไปตามกี่ต่างๆ ไปจนถึงการเก็บขุย หรือ ด้ายเสีย
ไปทิ้งในที่ที่จัดเตรียมไว้ มีหลายๆครั้งที่พวกคนงานจะเรียกคนในตำแหน่งนี้เมื่อพวกเขาต้องการโล๊ะผ้าที่มีข้อผิดพลาดหรือปม
ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนและความแม่นยำมาก และสำคัญไปกว่านั้นต้องเร็วอีกด้วย
ซึ่งทันที่ท่านถูกเรียกท่านก็รีบไปด้วยความเต็มใจเสมอผิดจากเด็กฝึกงานคนอื่นๆ
ที่บางครั้งก็ตอบโต้อย่างหยาบคาย และหลายครั้งท่านก็มาช่วยโดยไม่ต้องถูกเรียก
ประหนึ่งท่านทราบถึงความต้องการของพวกเขา หลังจากนั้นไม่กี่ปีท่านก็เลื่อนมาเป็น “พนักงาน”
และในฐานะพนักงานนั้นท่านทำงานได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมาก ยูกอนดา ซียอรี
ผู้สอนทอผ้าในโรงงานแก่ท่านเล่าว่าท่านเป็นคนอดทนมากๆ ครั้งใดท่านทำงานพลาด
ท่านก็ไม่เคยสบถเลยซักครั้ง นอกจากนั้นท่านยังทำงานมาก
ชนิดคนอื่นไม่อาจเข้าใจได้ว่าท่านทำงานมากได้อย่างไร
แม้นดูภายนอกท่านดูจะไม่อาจทำได้ แต่กระนั้นท่านก็เป็นคนแรกๆที่ได้รางวัลสำหรับการผลิตมากที่สุดเสมอ
พยานคนเดียวกันยังเล่าอีกว่าท่านทำงานด้วยดวงตาอันเศร้าสร้อย
และอยู่ในการภาวนาเสมอ “เธอไม่ค่อยคุยกับทุกคนและดูเหมือน ‘คนโง่’” ทั้งนั้นท่านยังเกรงใจแม้กระทั้งที่จะเรียกครูคนแรกของท่านผู้นี้ “แต่กระนั้นฉันก็รู้ดีว่าเธอครบครัน เธอเป็นนักบุญ” ยูกอนดากล่าว
ซึ่งฉายา “คนโง่”
นี้ที่เพื่อนๆท่านเรียก ก็มาจาการแต่งกายเฉิ่มๆ ไม่พอดูอุ้ยอ้ายของท่าน
โดยทุกวันท่านจะมาถึงโรงงานด้วยรองเท้าส้นสูง มีถุงน่องสีดำพื้นขาว พร้อมผ้ากันเปื้อน
และเสื้อแขนยาวจดกระดุมถึงคอ ซึ่งแม้เพื่อนของท่านจะทักในวันอากาศร้อนว่า “เปิดมันนิดหน่อยสิ” ท่านก็เพียงแค่ยิ้มตอบ
พลางยกมือขึ้นเช็ดเหงื่อเท่านั้น
นอกจากนั้นในฤดูร้อนที่อากาศร้อนตับแตก
ท่านก็กลับยังคงใส่เสื้อแขนยาว พร้อมถุงเท้าคู่หนาอย่างไม่สะทกสะท้าน ซึ่งแน่นอนทุกคนมองมันว่าเป็นเรื่องโง่
แต่ทุกคนก็เข้าใจดีว่านี่แหละ คือชีวิตของการใช้โทษบาป ท่านยังไม่เคยโต้ตอบใคร
แม้จะถูกหยอกล้อต่างๆนานาน ท่านก็ไม่เคยโกธร
และเมื่อมีคนชมท่าน ท่านก็จะตอบพวกเขาไปว่า “มันไม่เป็นความจริงซักนิด
ฉันก็เป็นเหมือนคนอื่นๆนะแหละ” ท่านยังไม่เคยตีโพยตีพาย เมื่องานที่ทำมีปัญหา
เคยมีเพื่อนคนหนึ่งเห็นใจท่านเลยถามท่านว่า “เปียรีนา เธอไม่เหนื่อยกับกี่นี่บ้างหรอ” ท่านก็ตอบเธอกลับอย่างเบาๆว่า “เราต้องยกถวายทุกสิ่งแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อคนบาปผู้น่าสงสารทั้งหลาย”
ในเวลาพัก
หลังพักรับประทานอาหารเช้าแล้วประมาณ 5
นาที ท่านก็จะไปที่วัดน้อยที่ตั้งอยู่ในเขตโรงงานเพื่อสวดภาวนาและอ่านหนังสือ
โดยเรียกเพื่อนคนหนึ่งไปด้วย
แน่นอนก็มีบางครั้งที่เพื่อนคนนั้นแซนวิชยังคามืออยู่ และก็มีหลายครั้งที่เธอคนนั้นปฏิเสธจะไปกับท่าน
เธอชอบที่จะอยู่คุยกับคนอื่นมากกว่า
ชั่วโมงแห่งการพลีกรรมและสวดภาวนา อย่างที่รู้กันดีว่าแต่ละวันของท่านไม่ได้จบลงตรงโรงงานทอผ้า
แต่จบลงด้วยการเดินเท้าไปตามทางที่ลัดเลาะผ่านหุบเขาในทุกวัน
ซึ่งทุกวันก็กินเวลาไปราวสามชั่วโมง แม้ว่าจะต้องลัดเลาะป่าจากตรงเชดรีนา อัลตา
เพื่อข้ามสะพานเซรีโอ ท่านก็ยังคงเดินเสมอ เวลานั้นของท่านนับเป็นสามชั่วโมงที่ไม่ใช่เพียงแต่การพลีกรรมอย่างเดียว
แต่เป็นเวลาสวดภาวนาและยกถวายความทุกข์ยากจากการเดินทางนี้ไม่ว่าร้อนหรือหนาวแด่พระเจ้า
เพื่อนคนหนึ่งชื่อมารีอา
การ์ราราของท่านเล่าว่า “หลังจากแยกจากกลุ่มในโรงงานในเวลาเย็นประมาณสิบนาฬิกาแล้ว
เมื่อเรามาถึงหน้าสักการสถานแม่พระมหาทุกข์ เปียรีนาก็พูดขึ้นว่า ‘มาสวดสายประคำบนถนนราบกันเถอะ
เพราะบนเนินลมมันแรง’ แต่พวกเราก็ได้แต่เพียงเฝ้ามอง “พวกเรารู้สึกว่ามันน่าอาย’ แต่เธอพูดว่า ‘ฉันจะสวดที่นี่ ดังนั้นอย่าไปคิดถึงมันเลยนะ’ หลังจากนั้นเธอจึงเริ่มสวดวันทามารีย์ไปอย่างช้าๆ
ด้วยการทำสำคัญมหากางเขน
และกว่าจะจบสายก็ต้องใช้เวลาตั้งแต่วัดน้อยนั้นมาถึงช่วงกลางของมิสมา มีบางคนพูดกับเธอว่า
‘เธอน่าหัวเราะมากเลยนะ เปียรีนา’ แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เธอยังคงสวดต่อไป”
“ครั้งหนึ่ง คนในกลุ่มพูดติดตลกขึ้นว่า ‘Fenésela, Pierina, ché n'va po a
séna!’หรือ ‘พอเถอะน่า เปียรีนา เราจะได้ไปกินข้าวเย็นกัน’ ทันทีเปียรีนาหันมาหาฉัน พลางพูดเบาๆว่า ‘ขอให้พวกเราสวดสายประคำเถอะ
ฉันสวดมันระหว่างเดินบนพื้น ก็เพราะฉันปีนขึ้นไปบนสายลมไม่ได้นะสิ…’ พวกเราจึงชะลอตัวห่างจากกลุ่มนิดหน่อย
และสวดภาวนาร่วมกันไปตลอดทางถึงบ้านของฉัน”
หลังจากนั้นเมื่อส่งเพื่อนเรียบร้อยแล้ว
คำภาวนาของท่านก็จะยิ่งทวีควานร้อนรนและชิดสนิทมากขึ้น
ความรักต่อพระเยซูเจ้าของท่านเรียกร้องให้ท่านสละบางสิ่งเพื่อพระองค์และเพื่อคนบาป
อาทิ การถอดถุงเท้าออกแล้วไปบนหิมะในฤดูหนาวด้วยเท้าเปล่า เพื่อนของท่านต่างสังเกตเห็นว่าท่านไม่เคยใส่ถุงเท้ายาว
แต่กลับเอามันยัดไว้ในกระเป๋า ทั้งๆที่เป็นหน้าหนาว
พวกเขาต่างทราบดีว่าท่านไม่ได้ทำเพราะเสียดายของหรืองกหรอก แต่มันเป็นการพลีกรรมโทษบาปของท่านเอง “ทำไมเธอไม่ใช่มันละ” ทุกๆครั้งที่ถามเช่นนี้
เพื่อนของท่านก็จะได้รับคำตอบอย่างสุภาพจากท่านว่า “ทำไมละก็ฉันไม่ได้หนาวซักหน่อย”
คราวหนึ่งระหว่างเดินไปถนน
ท่ามกลางอาการที่เย็นมากๆ เพื่อนของท่านก็พูดกับท่านขึ้นว่า “เปียรีนา ฉันหนาวเสียนี่กระไร” ทันทีท่านก็ตอบว่า “เธอต้องการผ้าพันคอของฉันไหมละ”
เพื่อนของท่านคนนั้นก็เลยตอบแบบเชิงขำๆว่า “ใช่เลย ให้มันกับฉันนะ” แต่กระนั้นท่านก็ถอดมันให้เธอจริงๆ
อีกเรื่องถึงการพลีกรรมของท่านก็มีอยู่ว่าวันหนึ่งนายอันเจโล เวโดวาตี
เกิดไปพบท่านเดินเท้าเปล่าลงจากภูเขาท่ามกลางหิมะด้วยรอยยิ้ม เขาจึงเข้าไปถามท่านว่า
“เธอทนได้อย่างไรกัน เปียรีนา” ท่านก็ตอบพร้อมรอยยิ้มเช่นเดิมว่า “ก็ฉันไม่หนาวไงละ..”
พยานคนเดียวกันยังคือนายอันเจโลยังเล่าถึงกิจวัตรระหว่างการเดินทางของท่านอีกว่า
ทุกครั้งที่ท่านพบกับคนงานเหมืองปูนซีเมนต์ที่กลับลงมาจากการทำงานจากเหมืองหมายเลข
14 ท่านก็หยุดสวดสายประคำเพื่อยิ้มและทักทายพวกเขาตามแบบฉบับชาวแบร์กาโมเสมอ และนอกจากนั้นหลังจากเดินไปได้ประมาณหนึ่งในสามของระยะทาง
ท่านก็จะหยุดพักที่ก้อนหินใหญ่ พร้อมหยิบหนังสือเสริมศรัทธาขึ้นมารำพึง
และเมื่อเดินทางกลับมาถึงบ้านท่านก็จะบอกมารดาว่า “คุณแม่ค่ะ หนูต้องหยุดสักคู่เพื่ออ่านหนังสือเล่มนี้เพราะที่บ้านหนูทำมันไม่ได้ค่ะ”
ตัดกลับมาต่อหลังจากอ่านหนังสือแล้ว
ท่านก็ใช้เวลาหลังจากนั้นไปกับการไตรตรองสิ่งที่อ่านหรือสวดภาวนายาวไป
จนสุดทางที่ท่านได้ยินเสียงเจี้ยวจ้าวของบรรดาน้องๆที่กรูกันมามาหาท่าน
ท่านก็จะรีบเร่งเดินให้เร็วขึ้น กอดจะเข้าสวมกอดพวกเขา ขณะเดียวกันก็ล้วงเอาผลแอปเปิ้ลหรือไม่ก็ผลเกาลัดของท่านให้พวกเขาเพื่อจะได้เห็นเพียงพวกเขามีความสุข
แม้จะท่านจะต้องอดมันมาให้พวกเขาก็ตาม
การกลับมาบ้านของท่านคือความสุขของครอบครัว
ท่านรับผิดชอบงานบ้านเป็นอย่างดี โดยเฉพาะงานซ่อมเสื้อผ้า
ซึ่งท่านทำทุกอย่างมาตั้งแต่อายุ 11 ปี
ท่านทำงานตอลดเวลาทั้งขัดถู เย็บปัก ด้วยความสุข
หลายๆครั้งท่านก็ชอบช่วยซ่อมแซมเสื้อผ้าของคนยากจน คนป่วย แม้จะมีเวลานิดหน่อยก็ตาม
ท่านมักกล่าวว่า “เวลาเป็นสิ่งมีค่ามากกว่าทองเสียอีก” หลายๆครั้งแม้น้องที่ซนเหมือนลิง
จะพันแข้งพันขาท่านระหว่างเย็บผ้า ท่านก็ไม่เคยไล่
เหมือนพระเยซูเจ้าทรงสำราญพระทับกับเด็กเล็กๆในพระวรสาร
นอกจากนั้นเมื่อมีอะไรขาดในบ้าน
ท่านก็จะไม่รอช้าที่จะรีบตรงไปซื้อแล้วแบกขึ้นมาเอง แม้จะหนักแค่ไหน
มีครั้งหนึ่งท่านได้ยินว่าแม่ของท่านต้องการไวน์ ขณะท่านพึ่งกลับ
ท่านก็ไม่รีรอที่จะตรงดิ่งกลับลงไปซื้อในทันที ท่านยังสวดภาวนาอยู่ตลอดเวลา
จนเป็นปกติที่น้องๆจะได้ยินท่านซ้ำๆว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้าและพระแม่มารีย์ลูกรักพระองค์
โปรดรักษาวิญญาณของลูกเถิด” และเมื่อได้ยินเสียงแจ้งเตือนชั่วโมง
ท่านก็มักกล่าวว่า “หนึ่งชั่วโมงน้อยๆในชีวิตของลูก
อีกชั่วโมงที่ลูกใกล้ความตายของลูกเข้าไปอีก”
หลายๆครั้งเมื่อน้องงอแงรบกวนบิดา
ท่านก็จะละจากงานมาพาน้องคนนั้นออกไปข้างนอก “มากับพี่” เพื่อทำให้เขาสงบพร้อมยกตัวอย่างนักบุญให้เขาฟัง นอกจากนี้เมื่อน้องๆนั่งล้อมท่านระหว่างทำงาน
นอกจากนำสวดแล้ว ท่านยังมักเล่าเรื่องราวของพระเยซูเจ้า
ไม่ก็นักบุญให้พวกเขาฟังด้วย ซึ่งท่านรู้มาจากการอ่านหนังสือที่ท่านซื้อมาเอง
ไม่ก็ยืมจากห้องสมุด เราอาจกล่าวได้เลยว่าหนังสือคือความมั่งคั่งฝ่ายจิตของท่าน
เวลาอ่านของท่านมักเป็นตอนกลางคืนหลังทุกคนหลับหมดแล้ว
โดยเฉพาะประวัติของมารีอา
โกเรตตี เป็นหนังสือเล่มโปรดของท่านเลย ท่านอ่านซ้ำหลายหนมากๆ แต่ไม่เพียงเท่านั้น
ท่านยังอ่านประวัติของนักบุญดอมินิก ซาวีโอ ของนักบุญยอห์น บอสโก ของนักบุญยอห์น
มารี เวียนเนย์ ของคุณพ่อดาเมียน ธรรมทูตในมาดากัสการ์ ของนักบุญเจมมา กัลกานี ของปีเอร
จอร์โจ ฟรัสซาติ ของคุณพ่อโอริโอเน ซึ่งกระตุ้นให้ท่านเลียนแบบ
นอกจากนี้ท่านยังอ่านหนังสือฝ่ายจิตคือ ชีวิตที่ซ่อนเร้นของคุณพ่อฟอสค์
และสันติสุขภายในของคุณพ่อปลุส อีกด้วย
ในวันอาทิตย์
ท่านจะลงไปร่วมมิสซาและรับศีล ก่อนจะอยู่เฝ้าศีลเป็นเวลานาน
แล้วจึงมาสอนคำสอนให้กับเด็กหญิงในตอนบ่าย ซึ่งในการสอน
ท่านแสดงชัดถึงศิลปะของการสอน ท่านสอนเด็กๆด้วยความอบอุ่น กระชับ ดี
ทำให้เด็กๆติดท่าน บางครั้งท่านก็ชอบ มาพร้อมหนังสือที่มีภาพประกอบสีสันสดใสที่ท่านซื้อเอง
เพื่อนำมาอ่านให้เด็กๆฟัง มีทั้งประวัตินักบุญยอห์น บอสโก และนักบุญดอมินิก ซาวีโอ
ท่านยังมีเคล็ดลับที่ทำให้เด็กๆเชื่อถึงการทำดี
ท่านมักย้ำเตือนเวลามีรางวัลให้กับเด็กๆว่า “รับมันไป และทำดี” แต่ในช่วงท้ายๆ
ท่านก็ไม่ได้ไปร่วมสอนคำสอน ท่านใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ
อุทิศเวลาว่างให้กับการดูแลผู้ยากไร้ แม้จะถูกเชิญไปสอน
ท่านก็ขอโทษและปฏิเสธเพราะท่านมีคนป่วยที่ชราต้องไปดูแล
และโอกาสสถาปนาข้ารับใช้พระเจ้ามารีอา
โกเรตตี เป็นบุญราศี “นักบุญน้อยของท่าน” มารดาที่เห็นว่าท่านอยากไปแสวงบุญครั้งนี้และท่านก็ไม่เคยขออะไร
ก็เลยไปปรึกษาบิดา และตัดสินใจออกเงินค่าใช้จ่ายให้เป็นของขวัญแก่ท่าน
ดังนั้นระหว่างวันที่
25 –
30 เมษายน
ค.ศ.1947
ท่านจึงออกเดินทางไปไกลบ้านครั้งแรก
ทุ่งหน้าขึ้นรถไฟไป “โรม” ที่ๆท่านได้มีโอกาสชมวิหารและสถานที่ต่างๆ
ที่ๆท่านเฝ้าเราวันที่ 27 เมษายน
เพราะเป็นวันที่นักบุญน้อยของท่านจะเป็นบุญราศี
“ทูตสวรรค์ของคณะ” เพื่อนที่ไปต่างๆเรียกท่าน
เพราะความเรียบง่ายและแสนดีของท่าน แต่หลายครั้งท่านก็ทำให้เพื่อนหัวเราะเพราความไร้เดียงสาของท่าน
เวลาเดียวกันก็ต้องประหลาดใจกับความเฉลียวฉลาดของท่าน
และในระหว่างที่อยู่ที่โรมนั้น ท่านก็แสดงชัดถึงความตั้งใจที่จะเลียนแบบนักบุญน้อยให้เพื่อนฟังถึงสามครั้ง
ครั้งแรกหลังพิธีสถาปนา ท่านหันไปพูกับเพื่อนว่า “ฉันอยากเป็นเหมือนมารีอา โกเร็ตตี
ฉันอยากจะเป็นเช่นเธอ”
ครั้งที่สองเกิดขึ้นหลังการเข้าเฝ้ารับพร
จากสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ภายหลังพระองค์เสด็จออกจากห้องไป
และท่านได้เห็นนางอัสซุนตา การ์ลินี มารดาของนักบุญน้อยของท่าน
ท่านก็อุทานออกมาว่า “โอ้ นั่นคุณแม่ของโกเร็ตตีนิ การตายของโกเร็ตตีเป็นความน่ายินดีเสียกระไร” และครั้งที่สาม
ก็ยิ่งเป็นการย้ำเตือนมากขึ้น เมื่อเพื่อนถามกันประมาณว่าหากเป็นมารีอาจะทำเช่นไร ท่านตอบเมื่อเพื่อถามท่านท่านจะทำเช่นนั้นไหม
“ทำไมจะไม่ละ ใช่ ฉันจะปล่อยให้เข้าฆ่า”
และแม้ท่านจะไปได้เข้าอารามเป็นนักบวชตามที่หวัง
ท่านก็ได้เจริญชีวิตที่เด่นชัดเหมือนนักบวชโดยแท้ โดยเฉพาะการสวดภาวนาและการทำงาน
ท่านไม่ได้แยกสองสิ่งนี้ว่าเวลานี้คือเวลาภาวนา เวลานี้คือเวลาทำงาน
แต่ท่านรวมสองเวลานี้ไว้เป็นเวลาเดียวกันก็คือ ทำงานไป สวดไปด้วย ดังนั้นความสนิทสัมพันธ์ระหว่างท่านกับพระจึงเป็นปัจจุบันเสมอ
เหตุการณ์ทุกอย่างดูจะไปได้ด้วยดี
กระทั้งในเดือนหนึ่งท่านก็เริ่มรู้สึกถึงความตายที่ย่างกรายเข้ามา
ท่านเริ่มกลายเป็นคนเงียบและบอกขอโทษมารดาหลายๆครั้ง “ลูกไม่ต้องการทำงานที่โรงงานอีกแล้ว
ลูกอยากอยู่คนเดียว” ท่านกล่าวกับมารดา แต่กระนั้นแม้จะเศร้าอย่างนี้
ท่านก็ยังคงร่าเริงเสมอ นอกจากนั้นหลังมิสซาที่ปกติท่านจะอยู่สวดต่อ
ท่านก็รีบออกเดินทางในทันที วันหนึ่งท่านถึงกับปรับทุกข์กับน้องชายในห้องครัวว่า “แทนที่จะทำบาป พี่ยอมถูกฆ่าตายเสียดีกว่า”
พฤหัสบดี ที่ 4 เมษายน ค.ศ.1957 ภายหลังจากเลิกกะเช้า ท่านก็เข้าไปสวดในวัดน้อยแม่พระมหาทุกข์ เวลาบ่ายสองครึ่ง
ท่านก็เดินคนเดียวไปตามทามตามปกติ แต่ก็กลับไม่ถึงบ้าน ดังนั้นน้องชายคนหนึ่งของท่านจึงออกตามหาท่าน
เมื่อท่านยังมาไม่ถึงบ้าน และก็พบกับท่านนอนสลบอยู่เหนือทางเดินขึ้นไป
ครั้งแรกเขาคิดว่าท่านแค่พัก จึงเรียกท่าน แต่ก็ไม่มีเสียงตอบกลับ
เขาจึงรีบตรงดิ่งไปหาท่านและพบว่าท่านกำลังนอนหายใจรวยริน
ที่ใบหน้าเต็มไปด้วยเลือด เขารีบไปตามคนอื่นๆมา ไม่มีใครพบฆาตกร
หลังจากนั้นท่านก็ถูนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที
ท่านยังคงสลบตลอดกระทั้งที่สุดในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1957 ท่านในวัย 25 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบ
จากอากาดบาดเจ็บที่ศีรษะ
ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุก็พบหินที่ชุ่มไปด้วยเลือด
จึงมั่นใจได้ว่าคนร้ายได้ใช้หินทุบท่าน หลังพยายามจะขืนใจท่าน แต่ท่านไม่ยอม ส่วนสาเหตุที่ร่างของท่านไม่อยู่ที่ถนน
ก็น่าจะเป็นเพราะท่านพยายามหนี แต่ก็มาหมดสติลง ณ จุดนั้น
หลังจากนั้นภายหลังที่มีการเปิดกระบวนการ ในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1987 พร้อมอันโตนีเนีย เมซีนา
ที่ยอมตายดีกว่าทำบาปเช่นเดียวกัน ท่านก็ได้รับการประกาศให้เป็นบุญราศี โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น
ปอล ที่ 2
“จำเป็นต้องอธิษฐานอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย”(ลูกา 18:1) บุญราศีเปียรีนา ได้สอนเราถึงการที่จะไม่ละทิ้งการสวด
และสอนเราว่าทุกๆเวลาก็เป็นการสวดภาวนาได้ เป็นสิ่งที่ทำได้กับทุกๆคน
ไม่ว่าจะอาชีพไหน เพราะขนาดท่านมีอาชีพเป็นเพียงสาวโรงงาน ที่ต้องนั่งทำงานงกๆแปดชั่วโมง
ท่านก็ทำให้ทุกๆเวลาเป็นการสวดภาวนาอยู่เสมอ แม้ท่านจะไม่ใช่นักบวช
เพราะท่านตระหนักดีว่าการสวดภาวนาคือการยกจิตใจขึ้นหาพระ เป็นดั่งสิ่งที่เสริมกำลังในการดำเนินชีวิตคริสตชน
ด้วยคริสตชนที่ขาดการสวดก็ไม่ใช่คริสตชน และท้ายสุดขอยกคำสอนของนักบุญปีโอ ที่ว่า “การอธิษฐานภาวนาคือออกซิเจนของจิตวิญญาน”
กฎชีวิตของเปียรีนา
1.ดิฉันจะตื่นแต่เช้า โดยไม่นอนต่อ และแต่งกายอย่างสุภาพ
ก่อนถวายวันทั้งวันแด่พระเยซูเจ้าผ่านพระหัตถ์ของพระแม่
2.จะสวดภาวนาตอนเช้า ร่วมมิสซา
และหากเป็นไปได้ก็จะรับศีลทุกวัน
3.รำพึงในความเงียบ ความรักเป็นเวลา 15 นาที เพื่อกิจการในวันนั้น
4.เมื่อกลับถึงบ้าน
ต้องรอด้วยความเที่ยงตรงและความเงียบในระหว่างการทำงานบ้านและงานอื่น
5.เมื่อได้ยินเสียงบอกเวลาทุกครั้งจะรำพึงถึงพระเยซูเจ้าและพระแม่ด้วยบทภาวนาสั้นๆหรือด้วยการมองดูด้วยความรัก
6.กิจการทั้งหลายของดิฉันจะประกอบขึ้นในความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระแม่
และในการทดลอง ก็จะเป็นเช่นเด็กน้อยในดวงใจแม่ วิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระนางและอารักขเทวดาที่รักของดิฉัน
7.จะสวดสายประคำหรือวันทามารีย์เป็นอย่างน้อย
เท่าที่ดิฉันจะสามารถทำได้
8.ทุกๆวันดิฉันมุ่งมั่นจะถวาย ‘ดอกไม้’
อันเปี่ยมด้วยกลิ่นหอมและซ่อนเล้นอยู่ในในการพลีกรรมจาทั้งคำพูด ดวงตา ลำคอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปรารถนาต่อพระแม่
9.จะไม่นั่งบนโต๊ะกินข้าวหากมิได้สวดภาวนาเล็กน้อย
และจะไม่ลุกจนกว่าจะได้ทำพลีกรรมที่ลำคอ
10.ดิฉันจะพยายามยิ้มให้ทุกๆคน และตอบแทนความรัก
คำตัดสินของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคุณพ่อคุณแม่และหัวหน้างานของดิฉัน
11.จะคงไว้ซึ่งความสุภาพทั้งยามแต่งกาย
ยามนั่งและยามเดิน
12.ก่อนจะนอน
หากเป็นไปได้ จะอ่านหนังสือวิญญาณและบันทึกการพิจารณามโนธรรมนิดๆหน่อยๆ
“ซึ่งทั้งหมดนี้ดิฉันเสนอในการนำไปปฏิบัติในการฝึกความศรัทธา
ด้วยความรักและพระสิริ แต่อย่าได้กังวลไปมากเลย สามารถเว้นการอุทิศตนบางอันอันหรือหยุดกลางคันได้
เพื่อนบนอบต่อคำสั่งของหัวหน้าหรือหน้าที่ที่จำเป็นก็ได้
ดิฉันมั่นใจว่าพระแม่ทรงพอพระทัย ให้ดิฉันเป็นข้ารับใช้ความรักน้อยๆของพระนาง ให้ดิฉันถวายดวงใจและความปรารถนาของดิฉันในทุกสถานการณ์ของชีวิตแด่พระนาง”
“ข้าแต่ท่านบุญราศีเปียรินา โมโรซินี
ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง