นักบุญราฟาเอล อาร์ไนซ บารอน
St. Rafael Arnáiz Barón
วันฉลอง: 26 เมษายน
องค์อุปถัมภ์: ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
“ผมรักการออกแบบของพระองค์ด้วยทั้งชีวิตของผม” ถ้อยวลีดังกล่าว เป็นคำพูดของภารดารูปหนึ่ง ผู้มีชีวิตบนโลกนี้เพียงสั้น ๆ อยู่ในช่วงต้นคริสตศวตรรษที่ 20 และค้นพบหนทางที่เรียบง่ายในการบรรลุถึงความครบครัน โดยไม่ได้ทำสิ่งใดที่ยิ่งใหญ่ในแบบที่มนุษย์เข้าใจ เรื่องราวธรรมดาแต่แสนพิเศษของเราในวันนี้ เริ่มต้นขี้นที่เมืองบูร์โกส แคว้นกาสติลอีเลออน ทางตอนเหนือของประเทศสเปน ในครอบครัวปัญญาชนชาวสเปนของราฟาเอล อาร์ไนซ และเมร์เซเดส บารอน เมื่อทารกเพศชายได้ลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1911 และได้รับศีลล้างบาปในอีกสามวันต่อมาที่วัดนักบุญอกาทา เมืองบูร์โกสด้วยนามว่า ‘ราฟาเอล อาร์ตูโร อัลวาโร โฆเซ เด ลา อิมากูลาดา กอนเซ็ปซิโอน อี ซาน หลุยส์ กอนซากา’ หรือ ‘ราฟาเอล’
หนูน้อยราฟาเอลมีน้อง ๆ คลานกันออกมาอีก 3 คน ดังนั้นเมื่อรวมท่านผู้เป็นบุตรคนโตเข้าไป ครอบครัวนี้จึงมีบุตรธิดาด้วยกันทั้งสิ้น 4 คน นายราฟาเอล บิดาของท่านประกอบอาชีพเป็นวิศวรป่าไม้ ส่วนนางเมร์เซเดส นอกจากเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว นางยังเป็นนักเขียนคอลัมน์และนักวิจารณ์เพลงในหนังสือพิมพ์หลายหัวอยู่เป็นครั้งคราวไป ฉะนั้นครอบครัวของท่านจึงมีฐานะที่ค่อนข้างดี เป็นผลให้ท่านได้รับการศึกษาทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนอย่างเป็นระบบ และเนื่องจากครอบครัวของท่านก็จัดเป็นครอบครัวคริสตชนที่ดี ทำให้เมื่อท่านอายุได้ 2 ปี พวกเขาก็ได้ให้ท่านรับศีลกำลังที่โรงเรียนพระกุมารเยซู เมืองบูร์โกส ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1913 และเมื่อท่านอายุได้ 8 ปี พวกเขาก็ให้ท่านรับศีลมหาสนิทครั้งแรก ณ วัดประจำอารามของคณะแม่พระเสด็จเยี่ยม เมืองบูร์โกส ในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1919
หนึ่งปีให้หลังเข้าพิธีรับศีลมหาสนิทครั้งแรก ในเดือนตุลาคมบิดามารดาก็ได้ส่งท่านเข้าโรงเรียนพระเมตตา เมืองบูร์โกส ที่ดำเนินงานโดยคณะเยซูอิต ซึ่งเป็นโอกาสให้ท่านได้สมัครเข้ากลุ่มพระแม่ผู้ปฏิสนธินิรมล แต่เรียนไปได้ไม่เท่าไร ในวันที่ 1 ธันวาคม ปีเดียวกัน ท่านก็มีอาการเป็นไข้อย่างหนักจากการติดเชื้อโคไลบาซิลโลซิส (ติดเชื้อในทางเดินอาหาร) บิดามารดาจึงให้ท่านหยุดเรียนเพื่อพักรักษาอาการอยู่ที่บ้าน ระหว่างนั้นคุณพ่ออธิการโรงเรียนที่ทราบเรื่อง ก็หมั่นนำศีลมหาสนิทมาส่งให้ท่านทุกวันอาทิตย์ แต่เนื่องจากอาการท่านไม่ดีขึ้น ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1921 มารดาของท่านจึงตัดสินใจพาท่านไปอยู่บ้านคุณยาย ที่กรุงมาดริด เพื่อหวังว่าการเปลี่ยนบรรยากาศอาจจะช่วยให้อาการของท่านดีขึ้นบ้าง แต่แล้วเมื่อนางพาท่านกลับมาในวันที่ 4 พฤษภาคม ท่านก็ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการเยื้อหุ้มปอดอักเสบ อาการของท่านจึงยิ่งทรุดลง
แต่ก็นับเป็นโชคดี ที่ในเวลาต่อมาอาการป่วยครั้งนี้ของท่านก็ค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ จนหายเป็นปลิดทิ้ง บิดาของท่านเชื่อว่าสาเหตุที่ท่านรอดจากอาการป่วยในครั้งนี้ เป็นผลมาจากคำเสนอวิงวอนของแม่พระอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นในปลายฤดูร้อน ค.ศ. 1922 บิดาของท่านจึงได้พาท่านในวัย 11 ปี เดินทางไปแสวงบุญที่สักการสถานพระนางมารีย์แห่งเสาหิน เมืองซาราโกซา สถานที่ที่พระนางมารีย์ทรงประจักษ์มาให้กำลังใจท่านนักบุญยากอบ องค์ใหญ่ที่เดินทางมาแพร่ธรรมที่ประเทศสเปนในปัจจุบัน เพื่อโมทนาคุณพระแม่และมอบถวายตัวของท่านไว้ในการอารักขาของพระนาง ก่อนจะให้ท่านกลับไปเรียนที่โรงเรียนต่อ แต่ท่านกลับไปเรียนได้ปีเดียว บิดาของท่านก็ได้งานที่เมืองโอเบียโด ขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองบูร์โกส ดังนั้นบิดาของท่านจึงตัดสินใจพาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่เมืองดังกล่าว ท่านจึงย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนซาน อิกญาซีโอ เดอ โลโยลา เมืองโอเบียโดของคณะเยซูอิต จนจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาใน ค.ศ. 1929
ตั้งแต่เล็ก ๆ ท่านเป็นเด็กหัวไวและเรียบร้อย ท่านจึงเป็นที่ชื่นชมของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะที่บ้านหรือโรงเรียน นอกจากนี้ท่านยังเด็กที่มีความสนใจโน้มเอียงไปทั้งทางเรื่องฝ่ายจิต และเรื่องศิลปะ ผู้เขียนชีวประวัติของท่านชิ้นหนึ่งอธิบายว่า เพราะท่านมีคุณลักษณะทั้งสองด้านนี้อย่างเท่า ๆ กันอย่างน่าประหลาด เป็นผลให้ท่านมีบุคลิกเป็นคนมีทัศนคติที่พร้อมรับและสนุกไปกับโลก ในเวลาเดียวกันกันก็เป็นคนที่มีอารมณ์ขัน มีสัมมาคารวะ และอ่อนน้อมตน เมื่อท่านโตเป็นหนุ่มท่านก็เป็นคนที่เป็นมิตรกับทุกคน ร่าเริงอยู่เสมอ ในทุกงานเลี้ยงที่มารดาของท่านจัดเลี้ยงบรรดาเพื่อน ๆ ของนางรวมถึงนักเรียนคลาสเปียโนที่นางสอน ท่านก็รู้จักวางตัวเป็นสุภาพบุรุษที่น่ารักสดใสต่อทุกคน
และด้วยความชอบวาดรูปเป็นทุนเดิม เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี ท่านก็ได้ขอบิดามารดาลงเรียนพิเศษวาดรูปกับจิตรกรที่มีชื่อเสียงประจำเมือง อย่างเอวเคนิโอ ตามาโย จนท่านมีฝีมือพอจะช่วยวาดรูปให้มารดาของท่านนำไปใช้ในงานการกุศลของนาง และก็ด้วยความชอบนี้เอง ที่ทำให้เมื่อท่านต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางในระดับอุดมศึกษาต่อไป ท่านในวัย 18 ปี จึงตัดสินใจสมัครเข้าโรงเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ขั้นสูง ในมหาวิทยาลัยโปลิเทคนิคมาดริด แต่ในขณะที่กำลังเตรียมตัวเพื่อจะเริ่มเรียนที่ใหม่นั้นเอง พระเจ้าก็ทรงไขแสดงแผนการณ์สำหรับชีวิตของท่านให้ท่านได้รู้ ด้วยหนทางที่ธรรมดาแต่แสนพิเศษ
ระหว่างที่รอมหาวิทยาลัยเปิดเทอม ใน ค.ศ. 1930 ท่านก็ถือโอกาสที่ได้หยุดยาวเดินทางไปพักอยู่กับคุณลุงเลโอปอลโดและคุณป้ามารีอา ดยุกและดัชเชสแห่งมาเกดา ที่มีบ้านอยู่ไม่ไกลจากเมืองอาบิลา เพื่อถือโอกาสพักผ่อนและเดินทางไปชมสถาปัตยกรรมที่เมืองซาลามังกา ในแคว้นคาสติลอีเลออน ซึ่งภายหลังจากที่กลับจากการตระเวนเที่ยวไปทั่วแคว้นคาสติลอีเลออนนี้เอง เมื่อท่านกลับมาแล้วได้เขียนกระจกสีให้วัดน้อยของคุณลุง พระเจ้าก็ใช้โอกาสนี้ชักนำท่านไปหากระแสเรียกการเป็นนักพรตหนุ่ม แทนที่การเป็นสถาปนิกหนุ่ม ดังที่ท่านคาดหวังไว้ด้วยความคิดตามประสามนุษย์
วันหนึ่งคุณลุงเลโอปอลโด ที่พึ่งแปลหนังสือชื่อ ‘จากสนามรบสู่ลา ทราปป์’ ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของนายทหารชาวฝรั่งเศส ผู้ได้ละทิ้งเกียรติยศต่าง ๆ ที่เขาได้รับจากความกล้าหาญในสงคราม เพื่อสมัครบวชเป็นฤษีใน ‘คณะซิสเตอร์เซียนปฏิรูปแห่งพระนางมารีย์แห่งลา ทราปป์’ หรือ ‘คณะทราปปิสต์’ คณะนักพรตที่ยึดธรรมนูญของนักบุญเบเนดิกต์ และได้รับการก่อตั้งขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 จากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษเสร็จ ก็ได้ขอให้ท่านช่วยออกแบบปกหนังสือเล่มนี้ให้ ท่านจึงมีโอกาสได้ลองอ่านและรู้สึกประทับใจไม่น้อยต่อชีวิตนักพรต ที่เรียกลำลองว่า ‘ฤษีขาว’ ท่านจึงได้ถามคุณลุงของท่านว่าท่านสามารถไปพบฤษีเหล่านี้ได้ที่ไหนบ้าง คุณลุงของท่านจึงได้แนะนำว่าที่เมืองปาเลนเซีย มีอารามของฤษีคณะดังกล่าว ชื่อ ‘อารามซาน อิสิโอโร เด ดุยญาส’
อารามซาน อิสิโอโร เด ดุยญาส
เมื่อการพักผ่อนครั้งนี้จบลง นอกจากการได้เที่ยว ได้สร้างผลงานศิลปะ ได้เติบโตขึ้นเรื่องชีวิตฝ่ายจิตผ่านการได้คุยกับคุณลุงคุณป้าของท่าน และการป่วยด้วยโรคไข้ไทฟอยด์ในตอนท้ายของการพักผ่อน ซึ่งหายดีเมื่อกลับมาถึงโอเบียโด ท่านเริ่มตั้งคำถามถึงอนาคตของท่านอีกครั้ง ว่าพระเจ้าทรงเรียกร้องให้ท่านเดินในทางสายไหนระหว่างการเป็นสถาปนิก ได้วาดรูปตามที่ท่านชอบ หรือการเป็นนักพรต ใช้ชีวิตบำเพ็ญภาวนาอยู่ในความเงียบ ท่านเฝ้าคิดถึงเรื่องนี้จนสบโอกาสระหว่างเปิดเทอม เดินทางไปยังเมืองปาเลนเซีย เพื่อเยี่ยมอารามซาน อิสิโอโร เด ดุยญาส ในเดือนตุลาคม ใน ค.ศ. 1930
แม้ในทันทีที่ได้เยี่ยมชมอาราม ท่านจะรู้สึกประทับใจไม่น้อยต่อชีวิตภาวนาในความเงียบ และท่วงทำนองเกรโกเรียนที่ถูกขับในเวลาทำวัตรของบรรดานักพรตในอาราม จนอีกหนึ่งปีต่อมาท่านได้เขียน ‘ความประทับใจต่อคณะทราปปิสต์’ ออกมา แต่ท่านก็ไม่ได้ตัดสินใจสมัครเข้าอารามในทันที อนึ่งอาจมาจากความไม่แน่ใจถึงเสียงที่เพรียกอยู่ภายใน แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจมาจากสถานการณ์ของประเทศในเวลานั้น ที่ประเทศสเปนนำโดยรัฐบาลที่มีแนวคิดแบบมาร์กซิส และเป็นปฏิปักษ์กับนักบวช (เรียกว่า ยุคสาธารณรัฐที่สอง ค.ศ. 1931 - 1939) ท่านจึงเลือกที่จะเรียนที่โรงเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ขั้นสูงต่อไป
ในระหว่างที่เลือกจะศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป ท่านมุ่งมั่งในการศึกษา ในเวลาเดียวกันก็มุ่งมั่นในการปฏิบัติศาสนกิจเช่นเดียวกัน ท่านจัดตารางเวลาระหว่างวันที่ว่างจากการเรียน เพื่อไปพบ ‘พระอาจารย์เจ้า’ ผู้สถิตอยู่ในตู้ศีลที่วัดกาเบลเลโน เด กราเซียทุกวัน และยังไปร่วมเฝ้าศีลกลางคืนตามกะที่ได้รับมอบหมายอย่างตรงเวลา เพราะท่านได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเฝ้าศีลกลางคืนอีกด้วย และในช่วงเวลาเหล่านี้เอง ท่านก็ประสบกับหลายเหตุการณ์ที่ท้าทายกระแสเรียกของท่าน เช่นครั้งหนึ่งเมื่อท่านกลับมาที่หอพักในตอนบ่าย ท่านก็พบว่าหญิงชาวอาร์เจนตินาที่พักอยู่ที่หอเดียวกัน ได้เข้ามาให้ท่าท่านถึงที่ห้อง แต่ท่านก็ไม่เล่นด้วย ท่านบันทึกในภายหลังเหตุการณ์เหล่านี้ว่า “หากไม่ใช่เพราะอัศจรรย์ของแม่พระ ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะหลีกลี้หนีรอดจากเงื้อมมือของศัตรูแห่งวิญญาณ ที่พยายามจะช่วงชิงสมบัติแห่งพระหรรษทานและอิสรภาพของดวงใจไปจากผม”
นอกจากนี้ในระหว่างวันที่ 17-26 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 ท่านก็ได้ถือโอกาสไปทดลองเข้าเงียบที่ อารามซาน อิสิโอโร เด ดุยญาส เพื่อพิสูจน์กระแสเรียกของท่าน และท่านก็พบว่าที่นี่คือกระแสเรียกของท่านอย่างแท้จริง ดังที่ท่านเขียนอธิบายว่า “มนุษย์ทำให้ผมเบื่อหน่าย ไม่เว้นแม้แต่คนดี เมื่อผมไม่ต้องพูดกับใคร ผมได้แต่ถอนหายใจเพื่อพระคริสตเจ้า (...) อารามเป็นสองอย่างสำหรับผม อย่างแรกคือเป็นมุมหนึ่งของโลกที่ผมสามารถสรรเสริญพระเจ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืนโดยอิสระ และอย่างที่สองคือเป็นแดนชำระบนแผ่นดิน ที่ผมสามารถชำระตัวเองให้บริสุทธิ์ กระทำตนให้ครบครัน และกลายเป็นนักบุญ ลูกขอมอบความจำนงค์และความปรารถนาของลูกแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงจัดการที่เหลือเถิด” แต่ท่านก็ไม่ได้เข้าอารามในทันที และถูกเรียกตัวให้ไปรับราชาการทหารที่กองซาปาโดเรส มินาโดเรซ ที่เมืองโอเบียโด ในระหว่างวันที่ 15 มกราคม - 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1933
และเมื่อปลดประจำการ ท่านก็ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะหันหลังในอนาคตสถาปนิกหนุ่มและชีวิตที่สะดวกสะบาย ท่านได้ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยที่กำลังเรียนอยู่ก่อนวันฉลองพระคริสตสมภพ ในปีเดียวกัน ก่อนจะได้สมัครเข้าคณะทราปปิสต์ ที่อารามซาน อิสิโอโร เด ดุยญาส ขณะอายุย่างเข้า 23 ปี ในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1934 และได้รับเครื่องแบบสีขาวยาวของคณะพร้อมนามใหม่ เพื่อเริ่มต้นการเป็นนวกะของคณะว่า ‘ราฟาเอล มารีอา’ ท่านเขียนอธิบายในเวลาต่อมาว่าการตัดสินใจเข้าอารามครั้งนี้ของท่าน ไม่ได้เกิดจากความทุกข์หรือความผิดหวังในเรื่องใด แต่หากเกิดจากพระเจ้าผู้ทรงความดีไม่รู้สิ้นสุด ได้ประทานชีวิตให้ท่านมากเกินกว่าที่ท่านจะสมควรได้รับ ท่านรู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับการร้องเพลงเกรโกเรียนและการสวดทำวัตรในแต่ละวัน
แต่เพียงสี่เดือนที่ท่านเริ่มชีวิตนวกะภาพ ภายหลังเทศกาลมหาพรต จากวัตรปฏิบัติของคณะที่เคร่งคัด ท่านก็ล้มป่วยหนักและถูกตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้นคุณพ่ออธิการอารามจึงตัดสินใจส่งท่านกลับไปพักรักษาตัวกับครอบครัวที่โอเบียโดตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม เป็นต้นไป ยังโทรมนัสให้ท่านเป็นอันมาก แต่ท่านก็นบนอบและโอบรับมันไว้ในฐานะกางเขน ซึ่งเราอาจสามารถเข้าใจความนึกคิดของท่านในเวลานี้ ผ่านข้อความที่ท่านเขียนแนะนำคุณป้าของท่าน ใน ค.ศ. 1935 ที่ว่า “ปล่อยให้เป็นไปเถิดครับ น้อมรับความทรมาน แต่เป็นน้อมรับความทรมานด้วยความรัก ความรักมาก ๆ ในท่ามกลางความมืด แม้จะมีแต่พายุที่เหมือนองค์พระเจ้าทรงส่งมาให้คุณป้า แม้จะไม่เห็นพระองค์ ขอคุณป้ารักไม้กางเขนเปล่านั้น (...) ร้องไห้ออกมา ร้องเท่าที่คุณป้าทุกข์และจะทำได้ แต่อยู่แทบเชิงไม้กางเขนและอดทนต่อความทุกข์ยากด้วยความรักต่อพระเจ้า นี่ช่างเป็นสุขเสียนี่กระไร ... พระเจ้ารักคุณป้าเพียงใด สักวันหนึ่งคุณป้าก็จะได้เห็นเองในไม่ช้าครับ”
ท่านพำนักรักษาอยู่กับครอบครัวจนอาการดีขึ้นตามลำดับ ท่านจึงเดินทางกลับมายังอาราม ท่านจึงได้เดินทางกลับมายังอาราม ในวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1936 และเนื่องจากอาการป่วยของท่าน ทางอารามจึงพิจารณาให้ท่านเข้าเป็นสมาชิกประเภท ‘โอเบล์ต’ หรือสมาชิกที่ไม่ได้ถือคำปฏิญาณตนเท่านักบวชปกติ มีศักดิ์เท่านักบวชขั้นสามที่สถานภาพก้ำกึ่งระหว่างความเป็นนักบวชและฆราวาส เพื่อให้ท่านสามารถเจริญชีวิตภายในอารามต่อไปได้ เนื่องจากท่านต้องรับอินซูลินทุกวัน วันละสองครั้ง รวมถึงต้องคุมอาหารอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้อาการของโรคกำเริบ เรื่องนี้ยังความทุกข์ใจให้ท่านไม่น้อย เนื่องจากการดำรงสถานภาพนี้เท่ากับว่าท่านจะไม่มีโอกาสได้เข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นนักพรตโดยสมบูรณ์ ดังที่ท่านเขียนในภายหลัง เมื่อท่านสามารถปล่อยวางได้ว่า “สิ่งที่เคยทำให้ผมรู้สึกขายหน้า ตอนนี้แทบจะทำให้ผมหัวเราะ ผมไม่สนใจสถานะโอเบล์ตของผมอีกต่อไป”
ท่านกลับมาพำนักอยู่ที่อารามได้เพียงเก้าเดือน คือในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน ท่านและนักพรตหนุ่มอีก 2 คนก็ถูกเรียกตัวเข้าไปประจำในหน่วยทหาร เพื่อสู้รบในระหว่างสงครามกลางเมืองสเปนที่ได้เริ่มขึ้นในปีเดียวกัน (ค.ศ. 1936 - 1939) แต่เพียงสามเดือนให้หลังท่านก็ถูกส่งตัวกลับอาราม เนื่องจากท่านถูกพิจารณาว่าไร้ประโยชน์ แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1937 ท่านก็ถูกเรียกตัวเข้ารับราชการทหารอีกครั้ง แต่ก็เช่นเดิม คือ ท่านถูกส่งตัวกลับเนื่องจากอาการป่วยของท่านทรุดลงอีก ดังนั้นท่านจึงได้ใช้โอกาสนี้ไปพำนักรักษาตัวอยู่กับครอบครัว ซึ่งได้ย้ายจากโอเบียโดมาอยู่ที่เมืองวิลลาซานดิโน ในจังหวัดบูร์โกส จนถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ท่านจึงเดินทางกลับมาที่อารามเป็นครั้งที่ 4 และเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่านจะได้กลับมาอารามแห่งนี้
ท่านตระหนักดีว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของท่าน คือ การหันหน้าเข้าสู่มหากางเขน แต่ท่านก็ไม่ลังเลใจที่จะหันหน้าเข้าหามัน เพราะท่านเชื่อว่าอาศัยความทุกข์ยากนี้ มีสิ่งที่ดีกว่ากำลังรอท่านอยู่ ดังที่ท่านเขียนว่า “เมื่อผมได้ออกจากบ้าน ด้วยเจตนาอันแน่วแน่ของตัวผมเองแล้ว ผมก็ได้ละทิ้งการบำบัดรักษา ที่อาการป่วยของผมจำต้องได้รับ และได้ยอมรับสภาพที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะดูแลคนป่วยที่อ่อนแอ แต่ผมทราบดีว่าความครบครันกำลังรอท่าผมอยู่” และ “เมื่อผมพบว่าตัวเองต้องกลับมาอยู่ในโลกอีกครั้ง เพราะอาการป่วย โดนแยกห่างจากอาราม และพบตัวเองอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ ... ผมเห็นว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผม บทเรียนที่ผมกำลังได้เรียนรู้ช่างมีประโยชน์เสียนี่กระไร เพราะใจของผมยังคงผูกพันกับหลายสิ่ง และพระเจ้าทรงประสงค์ให้ผมปล่อยวาง เพื่อมอบตนทั้งครบแด่พระองค์เดียว”
ไม้กางเขนเป็นศูนย์กลางในการเจริญชีวิตแต่ละวันของท่าน ดังที่ท่านเขียนไว้ว่า “ศูนย์กลางชีวิตของผม คือ องค์พระเยซูเจ้า คือ ไม้กางเขนของพระองค์” ท่านจึงโอบรับมัน ท่านเขียนไว้ในบันทึกวิญญาณว่า “เพื่อได้ลิ้มรสไม้กางเขน เพื่อที่จะมีชีวิตอย่างป่วยไข้ อย่างไม่มีใครรู้จัก อย่างถูกทอดทิ้งโดยทุกสิ่ง – มีเพียงพระองค์เท่านั้นและบนไม้กางเขน. ความขมขื่น ความอ้างว้าง ความโศกเศร้า ความเจ็บปวดที่ต้องดื่มกินอย่างตระกละและกลืนลงไปในความเงียบ ไร้ซึ่งความช่วยเหลือใด ช่างอ่อนหวานเสียเหลือเกิน อ้า หากผมได้รู้วิธีที่จะบอกโลกว่าความสุขแท้นั้นคืออะไร แต่โลกนี้ช่างไม่เข้าใจมัน และไม่มีทางจะเข้าใจได้เลย เพราะการที่จะเข้าใจกางเขนนั้น หนึ่งเลยต้องรักมัน ซึ่งเพื่อจะได้รักมันนั้นก็ต้องรับทุกข์ทรมาน และไม่เพียงแต่รับ แต่ต้องรักที่จะรับทรมานด้วย … ในการนี้แหละ ข้าแต่พระองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นเพียงไม่กี่วิธีที่จะติดตามพระองค์สู่กัลวาลีโอ”
ท่านเคยได้วาดภาพหนึ่งส่งให้น้องชายของท่าน และได้เขียนกำกับว่า “ภารดาแผนกสงเคราะห์แสนถ่อมตน ผู้ได้เลือกถนนแห่งความจริงในความมืดของโลก…เพียงไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าเท่านั้นที่ส่องแสงบนหนทางชีวิตของเขา” ภราดาแผนกสงเคราะห์ผู้นั้นก็คือ ท่านเอง ภารดาผู้ต่ำต้อยผู้มองไปยังกางเขนด้วยความรักมั่นคง และค้นพบรหัสธรรมแห่งกางเขน “พระเจ้าทรงประทับอยู่ในหัวใจที่สันโดษ ในความเงียบแห่งการภาวนา ในการตัดสละด้วยความสมัครใจเพื่อรับความเจ็บปวด ในความว่างเปล่าของโลกและสิ่งมีชีวิต พระเจ้าทรงประทับอยู่ในไม้กางเขนและตราบใดก็ตามที่เราไม่รักไม้กางเขน เราก็จะไม่ได้แลเห็นพระองค์ หรือรู้สึกถึงพระองค์ได้….ถ้าเพียงโลกและมนุษย์ได้รู้…แต่พวกเขาจะไม่รู้ เพราะพวกเขามัวแต่ยุ่งกับผลประโยชน์ของพวกเขามากไป หัวใจของพวกเขาเต็มไปด้วยทุกสิ่งที่ไม่ใช่พระเจ้า” ดังนั้นอาศัยการค้นพบคุณค่าแห่งไม้กางเขน ด้วยวิถีทางอันเรียบง่าย ท่านจึงพบเคล็ดลับในการมีชีวิตในแต่ละวัน ในท่ามกลางความทุกข์ทั้งกายและทางใจ
เมื่อกลับอารามมาเป็นครั้งที่ 4 เนื่องจากอาการป่วยของท่าน ท่านจึงถูกส่งให้ไปอยู่ที่ห้องพยาบาลของอาราม เมื่อถึงช่วงเดือนเมษายนค.ศ. 1938 ก็ดูเหมือนอาการของท่านจะยิ่งทรุดหนักลง จนท่านทำอะไรได้อย่างยากลำบาก ท่านได้เขียนระบายและสนทนากับมโนธรรมของตนเองว่า “การภาวนาของผมไม่ดีเลย ผมไม่ได้ทั้งสวดหรือรำพึงหรือไตร่ตรองพระคัมภีร์ให้ดีพอ ส่วนเรื่องงาน…ผมก็แทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย คือผมเพียงกินและนอนเท่านั้น กินและนอนเหมือนเจ้าสัตว์ตัวน้อย ผมไม่สามารถทำอะไรไปได้มากกว่านี้ ทุกสิ่งไม่มีอะไรโดยตัวของมันเองและไม่มีค่าอื่นใด แต่สิ่งที่ทำให้มันมีค่าคือวิธีทำมันต่างหาก ... เมื่อใดหนอเจ้าจึงจะเข้าใจ เจ้าโง่เอ้ย เมื่อใดเจ้าจะเข้าใจเสียทีว่าฤทธิ์กุศล ไม่ใช่การกินหัวหอม แต่คือการกินหัวหอมเพราะความรักของพระเจ้าต่างหาก เมื่อไรพวกเขาจะเข้าใจว่าความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำภายนอก แต่ขึ้นอยู่กับน้ำใจภายในกิจการ ถ้าเจ้ารู้อย่างนี้แล้ว ไฉนเจ้าถึงไม่ปฏิบัติมันเสียเล่า” จากข้อความข้างต้นท่านดูจะพบความผิดบกพร่องมากมายในการรับใช้พระของตนเอง ท่านเริ่มรู้สึกว่าท่านขาดความถ่อมใจ และรู้ตัวว่าท่านเริ่มทำตามน้ำใจตน แต่ใครเล่าจะบอกได้ว่าสิ่งที่ท่านคิดต่อตัวท่านนั้นเป็นจริงเพียงไหน เพราะธรรมชาติของนักบุญมักไม่เคยยกยอตัวเองไว้บนหิ้ง แต่ก็ชอบกดตัวให้ต่ำลงกว่าบรรดาพี่น้องอยู่เสมอ
คุณพ่ออธิการที่เห็นอาการท่านทรุดลงเรื่อย ๆ จึงอนุญาตให้ท่านสวมผ้าห้อยหน้าห้อยหลังสีดำ พร้อมหมวกคลุมศีรษะสีดำอันเป็นเครื่องแบบของคณะในวันอาทิตย์สมโภชปัสกา ที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1938 เพื่อให้ท่านสามารถสิ้นใจในฐานะนักบวชของคณะตามที่ตั้งใจไว้ได้ และเพียงให้หลัง 9 วัน ในเวลาเจ็ดโมงเช้าของวันที่ 26 เมษายน หลังอยู่ในสภาวะโคม่าจากอาการโรคเบาหวานกำเริบ ท่านจึงคืนวิญญาณไปหาพระเจ้าอย่างสงบด้วยอายุเพียง 27 ปี ทิ้งไว้แต่ข้อเขียนและจดหมายถึงจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าวิญญาณดวงหนึ่งจำนงค์ต่อน้ำพระทัยพระเจ้าในทุก ๆ สถานการณ์อย่างไร รวมถึงความอัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงกระทำต่อดวงวิญญาณดวงหนึ่ง ด้วยวิถีทางที่แสนธรรมดา แต่แสนพิเศษ ท่านเคยเขียนว่า “ผมไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกจากพระเจ้า ความต้องการของพระองค์จะเป็นความต้องการของผมเช่นเดียวกัน…”
ต่อมาจดหมายที่ท่านเขียนกว่า 33 ฉบับส่งให้มารดา คุณลุง และคุณป้าของท่าน รวมถึงที่ท่านเขียนขึ้นตามคำแนะนำของคุณพ่อวิญญาณของท่านก็ได้รับการรวบรวมตีพิมพ์ ใน ค.ศ. 1947 ชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านจึงยิ่งขจรขจายไปไกลกว่ารั้วอารามที่ท่านฝากร่างของท่านไว้ และคนรอบข้างที่ได้สัมผัสชีวิตอันน่ามหัศจรรย์ จนนำไปสู่การเปิดกระบวนขอแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศี กระทั่งในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1992 นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงบันทึกนามท่านในสารบบบุญราศี โดยก่อนหน้านั้นพระสันตะปาปาพระองค์เดียวกันก็ได้ทรงยกย่องท่านเป็นแบบอย่างของคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน ในงานชุมชนเยาวชนโลกที่เมืองซันติอาโก เด กอมโปสเตลา ประเทศสเปน ค.ศ. 1989 และเพียง 17 ปีต่อมาในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2009 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ก็ทรงยกท่านไว้บนพระแท่นบูชาในฐานะนักบุญ
“ท่านทั้งหลายจงทำตามแบบฉบับของพระเจ้า ประดุจบุตรสุดที่รักของพระองค์” (เอเฟซัส 5:1) วิธีการง่าย ๆ ที่เราจะเลียนแบบพระคริสตเจ้าตามแบบฉบับบของพระองค์ ดุจบุตรสุดที่รักอีกวิธี คือ การยอมรับน้ำพระทัยเหมือนพระองค์ในทุก ๆ กรณี เหมือนที่ท่านนักบุญราฟาเอลกล่าวในขณะที่ท่านล้มป่วยว่า “ผมไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกจากพระเจ้า ความต้องการของพระองค์จะเป็นความต้องการของผมเช่นเดียวกัน….” แม้มันจะขัดต่อความปรารถนาของท่านที่จะเป็นนักพรต แต่เมื่อทราบว่าคือน้ำพระทัยของพระเจ้า ท่านก็เต็มใจยอมรับมันในทันที เป็นเรื่องจริงแท้และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในชีวิตประจำวันของเราหลาย ๆ ครั้ง น้ำพระทัยพระเจ้าก็ขัดกับความต้องการของเราหลาย ๆ อย่างอยู่เลยทีเดียว และเป็นเรื่องหินอยู่มากโขที่จะผ่านไป แต่ขอให้เราได้รำพึงเช่นเดียวกันกับท่านนักบุญราฟาเอล ว่าผลตอบแทนที่รออยู่ต่อจากกางเขนนั้นล้ำค่าเกินจะบรรยาย และคุ้มเสียยิ่งกว่า ขอให้กางเขนส่องสว่างในหัวใจเรา และขอให้เราตระหนักเสมอว่า คุณค่าของกางเขนไม่ได้อยู่เพียงเพราะเราประสบ แต่อยู่ที่เราประสบมันอย่างไร
รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
แก้ไข เพิ่มเติม ตัดทอน, 29 เมษายน 2023
--> ข้อคิดของนักบุญราฟาเอล (คลิกที่ลิงค์) <--
“ข้าแต่ท่านนักบุญราฟาเอล อาร์ไนซ บารอน ช่วยวิงวอนเทอญ”
http://saints.sqpn.com/saint-rafael-arnaiz-baron/
http://www.trappists.org/becoming-trappist/modern-saints/blessed-rafael-arnaiz-baron
http://www.es.catholic.net/santoral/articulo.php?id=35828
http://en.wikipedia.org/wiki/Rafael_Arnáiz_Barón
https://es.wikipedia.org/wiki/Rafael_Arnaiz_Bar%C3%B3n
http://www.vatican.va/news_services/liturgy/saints/2009/ns_lit_doc_20091011_arnaiz_en.html
http://www.abadiasanisidro.es/rafael3/index.html
https://sancrucensis.wordpress.com/2012/12/19/st-rafael-arnaiz-baron-among-the-vegetables-or-the-trappist-as-a-conquistador/
http://americamagazine.org/issue/731/article/st-rafaels-cross
https://omnesmag.com/en/focus/el-brother-rafael/
https://www.vivirasturias.com/religion/c/0/i/54796108/arnaiz-baron-san-rafael
https://www.aciprensa.com/recursos/biografia-4565
https://www.idente.org/san-rafael-arnaiz-baron-26-de-abril/