นักบุญมารีอัม เทรเซีย
St. Mariam Thresia
ฉลองในวันที่ : 6 มิถุนายน
ท่านเกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1876 ในหมู่บ้านปุเทนชิระ เมืองทริชชูร์ รัฐเกราละ ประเทศอินเดีย ท่านเป็นลูกคนที่สามของนายชิราเมล มันคิดิยัน โทมา กับนางทานดา ซึ่งนางทานดานั้นเป็นภรรยาคนที่สองของโทมา ภรรยาคนแรกของเขาคือนางมารีอัม คัตตี มาจากครอบครัวเมนาเชรีจากหมู่บ้านนจาราคคาล แต่ต่อมาเธอก็เสียชีวิตจากคลอดบุตรในปี ค.ศ.1872 ส่วนนางทานดา ภรรยาคนที่สองนั้นมาจากครอบครัวที่เป็นที่รู้จักกันดีที่หมู่บ้านทูราวูร นางทานดาเป็นทั้งมารดาและหญิงสาวที่งดงามทั้งภายนอกและภายใน เธอเป็นคนดีมีคุณธรรม มีน้ำใจและจิตใจที่ดีเป็นลักษณะ และก็เป็นนางทานดานี้เอง ที่เป็นคนสำคัญในการพัฒนาท่านในวัยเยาว์
นายโทมาและนางทานดา สองสามีภรรยาใช้ชีวิตร่วมกันในเพิงมุงด้วยหญ้าคาหลังเล็ก ๆ และภายใต้ชายคานี้ พวกเขาก็ได้มีบุตรชายด้วยกันถึง 2 คนและบุตรสาวอีก 3 คน บุตรชายคนแรกมีชื่อว่าฟรานซิส โพรินชุ ตามมาด้วยบุตรสาวคนแรกชื่อมารีอัม คัตตี และตามมาด้วยบุตรสาวคนที่สองคือมารีอัม แล้วจึงเป็นเอาเซฟ และอิทเทียนัมตามลำดับ
หลังจากที่ท่านเกิดได้ 7 วันท่านก็ได้รับศีลล้างบาปจากคุณพ่อเปาโลส มาเรียคคัล คูนัน คุณพ่อเจ้าวัดพระนางมารีย์ ซึ่งเป็นเขตวัดที่นายโทมาและนางทานดาเป็นสัตบุรุษ ในวันพุธ ที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1876 โดยมีลุงของท่าน คือ นายแอนโทนี ชิราเมล มันคิดิยัน และนางแอนนา ภรรยาของเขา รับเป็นพ่อแม่ทูนหัวของท่าน ซึ่งในกาลนี้ท่านได้รับชื่อใหม่ว่า “เทรเซีย” ตามนามของนักบุญเทเรซาแห่งอาวิลา
นางทานดา มารดาของท่านเป็นต้นแบบที่ดีในด้านการรักษาคุณธรรม ความเชื่อ และการยำเกรงต่อบาป นางสอนให้ท่านรู้จักทำสำคัญมหากางเขนตั้งแต่อายุ 3 ขวบครึ่ง และเมื่อท่านถามเกี่ยวกับไม้กางเขน ก็เป็นนางทานดาที่บอกท่านให้เข้าใจว่า การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า คือ การชดเชยบาปของโลก โดยที่นางในเวลานั้น ก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่า ในอนาคตธิดาน้อยบนตักของนางคนนนี้ ซึ่งเอ่ยวจีถามถึงความหมายของกางเขนผู้นี้ จะได้มีส่วนร่วมในการช่วยคนบาปมากมายให้เข้ามาหาพระองค์ และได้ร่วมมหาทรมานของพระองค์อย่างอาจหาญบนกางเขน
เมื่อท่านมีอายุได้ 5 ปีท่านก็ได้ถูกส่งไปที่คาลารีเพื่อเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากครูพื้นบ้าน เพราะในเวลานั้นยังไม่มีโรงเรียนในหมู่บ้านปุเทนชิระ ที่นั่นท่านได้เรียนรู้การอ่านการเขียนและร่วมเรียนคำสอนกับคนอื่น ๆ ในเขตวัด ท่านเป็นเด็กที่อ่อนน้อมถ่อมตน สมถะ ฉลาดในการเรียนรู้ ท่านจึงสามารถจดจำบทภาวนาต่าง ๆ ได้ในเวลาอันสั้น ท่านชอบเล่นสนุกกับพี่ ๆ ทั้งสอง ส่วนกลุ่มเพื่อนสนิทของท่านจะประกอบไปด้วย ด.ญ. มารีอัม คารูมาลิคคัล, ด.ญ.โคชูมารีอัม คูนัน และ ด.ญ. เทรเซีย คูนัน ทั้งสี่มักจะจับกลุ่มทำอะไรต่าง ๆ ด้วยกันเสมอ จนภายหลังเพื่อนทั้งสามก็ได้กลายเป็นสามชิกคนแรก ๆ ของคณะพระวิสุทธิวงศ์ที่พระเป็นเจ้าจะทรงตั้งขึ้นผ่านท่าน
นับตั้งแต่เยาว์วัย ท่านชอบยกถวายความสุขของท่านแด่พระเยซูเจ้าเสมอ หลาย ๆ ครั้งขณะท่านเล่นกับเพื่อนอย่างสนุกสนาน ท่านก็มักจะละจากกลุ่มเพื่อนไป ท่านเล่าเรื่องนี้ต่อมาว่า“ถ้าครั้งใดดิฉันไม่ได้ไปเล่นกับเพื่อนคนอื่น ๆ มารดาของดิฉันก็จะดุดิฉันและถามดิฉันว่า ทำไมดิฉันถึงไม่ไปและเล่นกับเพื่อน ๆ ของดิฉัน อะไรเป็นสาเหตุของความทุกข์และความเศร้าของดิฉัน ครั้งหนึ่งดิฉันเคยตอบไปว่า ลูกไม่ได้ป่วยเป็นอะไรทั้งสิ้น เวลาที่เสียไปทำให้พระเยซูเจ้าทรงเศร้าพระทัยและความคิดเช่นนี้เองทำให้ลูกเศร้า” ดั่งที่ท่านบันทึกไว้ เมื่อถามบ่อย ๆเข้าที่สุดมารดาของท่านก็เลิกถามไป และภายหลังคุณพ่อโจเซฟ วิท(ทะ)ยาทิล คุณพ่อวิญญาณของท่าน ก็ได้เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ในชีวประวัติของท่านว่า “มันเป็นไปเพื่อจะได้ดำรงไว้ซึ่งการสำแดงองค์ของพระเจ้า เธอจึงได้ยกถวายช่วงเวลาแห่งความยินดีของเธอ”
นับตั้งแต่เยาว์วัย ท่านชอบยกถวายความสุขของท่านแด่พระเยซูเจ้าเสมอ หลาย ๆ ครั้งขณะท่านเล่นกับเพื่อนอย่างสนุกสนาน ท่านก็มักจะละจากกลุ่มเพื่อนไป ท่านเล่าเรื่องนี้ต่อมาว่า“ถ้าครั้งใดดิฉันไม่ได้ไปเล่นกับเพื่อนคนอื่น ๆ มารดาของดิฉันก็จะดุดิฉันและถามดิฉันว่า ทำไมดิฉันถึงไม่ไปและเล่นกับเพื่อน ๆ ของดิฉัน อะไรเป็นสาเหตุของความทุกข์และความเศร้าของดิฉัน ครั้งหนึ่งดิฉันเคยตอบไปว่า ลูกไม่ได้ป่วยเป็นอะไรทั้งสิ้น เวลาที่เสียไปทำให้พระเยซูเจ้าทรงเศร้าพระทัยและความคิดเช่นนี้เองทำให้ลูกเศร้า” ดั่งที่ท่านบันทึกไว้ เมื่อถามบ่อย ๆเข้าที่สุดมารดาของท่านก็เลิกถามไป และภายหลังคุณพ่อโจเซฟ วิท(ทะ)ยาทิล คุณพ่อวิญญาณของท่าน ก็ได้เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ในชีวประวัติของท่านว่า “มันเป็นไปเพื่อจะได้ดำรงไว้ซึ่งการสำแดงองค์ของพระเจ้า เธอจึงได้ยกถวายช่วงเวลาแห่งความยินดีของเธอ”
ดั่งที่ยกมาข้างต้น ความนึกคิดของท่านนั้นผิดแปลกไปจากเด็กในวัยเดียวกัน ท่านไม่เพียงแต่รักพระเจ้า แต่ยังแลเห็นพระองค์ในตัวของทุก ๆ คน และตระหนักดีว่าพระเป็นเจ้าทรงปรารถนาการให้อภัย มากกว่าการถือโทษ ดั่งเรื่องที่ท่านเล่าไว้อีกถึงช่วงเวลาในวัยเด็กว่า “เมื่อดิฉันยังเป็นเด็ก ดิฉันเคยมีสิวบวมเป่งที่แขนของดิฉัน และไม่สามารถขยับไปไหนได้ วันหนึ่งดิฉันถูกช่วยพาไปนั่งข้างนอกเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ พี่ชายของดิฉันก็อยู่ที่นั่นเขากำลังเล่นอยู่กับคนอื่น ๆ อีกสามคน พอดีเกิดมีหินกระเด็นออกมาโดนแขนของดิฉัน จนดิฉันเป็นลมล้มพับไป ทันทีที่คุณพ่อของดิฉันกำลังตรงไปจับตัวเข้าไว้และเงี้อมมือเตรียมตี ดิฉันก็บอกกับท่านว่า เพียงเพราะคุณพ่อตีพวกเขา ความเจ็บของลูกก็ไม่หายไปดอกค่ะ โปรดยกโทษให้เขาเถิดค่ะ ดังนั้นเองท่านจึงไม่ตีพวกเขา แต่ท่านได้ถามดิฉันว่า ลูกสาวของพ่อ ลูกไปเอาความอดทนเช่นนี้มาจากไหน ลูกคิดยังไงของลูก”
แต่ขณะเติบโตขึ้นมากับการภาวนาและการตื่นเฝ้า ด้วยรูปร่างที่ผอมและอาการป่วยกระเสาะกระแสของท่านที่มีมาพร้อม ๆ กัน มารดาท่านที่สังเกตเห็นจึงได้พาท่านไปรักษาตัวที่บ้านคุณยาย และพยายามเลี้ยงท่านด้วยอาหารที่ดี ด้วยความหวังว่าอาหารเหล่านี้จะช่วยให้ท่านมีพัฒนาการที่ดีและกลายเป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ท่านแทนที่จะรับไปกิน ด้วยความรักพระเจ้าที่รุมเร้าอยู่ในหัวใจดวงน้อย ๆ ท่านกลับหาจังหวะโอกาสนำอาหารเหล่านั้นไปให้ผู้อื่นอย่างลับ ๆ จนในที่สุดมารดาของท่านก็ต้องยอมแพ้ต่อน้ำใจนี้ของท่าน ดังเช่นกรณีของการไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ๆ ไป
อาจกล่าวได้ว่าความรักของท่านที่มีต่อองค์พระสวามีเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนนั้นลึกซึ่งมาก ท่านพร้อมเสมอที่จะสละทุกสิ่งอย่างเพื่อพระองค์ตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก คุณพ่อโจเซฟ วิทยาทิล เขียนไว้ในบันทึกของคุณพ่อว่า “เมื่อเทรเซียอายุได้แปดหรือเก้าปี เธอก็ได้ถวายพรหมจรรย์ของเธอแด่พระเยซูเจ้าไปชั่วนิรันดร์ และเลือกพระองค์เป็นเจ้าบ่าวของเธอ” ดั่งที่ยกมาจากบันทึกคุณพ่อโจเซฟ นับตั้งแต่ได้ปฏิญาณตนเช่นนี้แล้ว ท่านก็ถือพรหมจรรย์อย่างเคร่งคัดมาโดยตลอด และได้รื้อฟื้นคำปฏิญาณนี้ เพื่อวอนขอความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้าเสมอ
และถึงแม้ว่าท่านจะยังไม่เข้าใจความหมายของพิธีมิสซามากนัก แต่ในทุก ๆ วันท่านก็จะไปร่วมมิสซาพร้อมกับมารดาเสมอ จนทำให้เพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันต่างพากันล้อเลียนท่านและเรียกท่านว่า “อัมมามา” (คุณยาย) ซึ่งเมื่อมารดาของท่านได้ยินคำล้อเลียนเช่นนี้ ด้วยความรักต่อบุตรสาวน้อย นางจึงคอยรบเร้าขอให้ท่านเลิกไปมิสซากับนางเสีย จนวันหนึ่ง เมื่อถูกขอเช่นนี้อีก ท่านก็ได้ตอบไปว่า “เราไม่เห็นจำเป็นต้องมีอายุพอเพื่อจะรักพระเจ้านี่คะ ดังนั้นขอคุณแม่โปรดมาโรงเรียนและรับหนูไปวัดกับแม่เถิดค่ะ”
นอกจากความภักดีต่อองค์พระเยซูเจ้าอย่างสุดหัวใจแล้ว นับตั้งแต่วัยเยาว์ท่านยังมอบความภักดี ความรัก ความศรัทธาเป็นพิเศษต่อแม่พระ พระมารดาของพระองค์เช่นกัน ท่านได้เขียนถึงความภักดีของท่านไว้ในบันทึกของท่าน ดังนี้ “ทุกวันเสาร์ดิฉันใช่ไปอย่างรวดเร็วกับการถวายเกียรติแด่แม่พระและสวดสายประคำแบบท่อง ๆ จนครบทศ
กระทั้งดิฉันได้เรียนรู้วิธีอ่านเขียน
ดิฉันยังไปร่วมมิสซาประจำวันและกระทำกิจเมตตาเป็นเกียรติแด่พระนางอีกด้วย” นอกจากข้อความข้างต้น เรายังทราบเพิ่มเติมในเรื่องกิจศรัทธาพิเศษของท่านต่อแม่พระอีกว่า ท่านเริ่มอดอาหารทุกวันเสาร์
และสวดสายประคำตั้งแต่อายุได้ 3-4 ปี แบบงู ๆ ปลา ๆ ไปอย่างซื่อ ๆ
จนท่านมีอายุได้ 4 ปี วันหนึ่งพระนางมารีย์ก็ได้ประจักษ์มาหาท่าน เพื่อสอนท่านสวดสายประคำ ดังที่คุณพ่อวิทยาทิลเขียนถึงวิธี ที่ท่านรู้วิธีสวดสายประคำไว้ว่า “ครั้งหนึ่งพระนางมารีย์ทรงประจักษ์มาและสวดลูกประคำกับเธอ และจึงสอนให้เธอสวดสายประคำ ตอนนั้นเธอมีอายุเพียงสี่ปี และก่อนเธอจะอายุได้แปดปี เธอก็มักตื่นมาตอนเที่ยงคืนเพื่อสวดสายประคำสิบห้าทศ…”
ด้วยวัยเพียงน้อยนิดท่านเริ่มที่จะใช้โทษบาปด้วยวิธีที่รุนแรงจนน่าทึ่ง ตั้งแต่วัย 8 ปี ท่านจะตื่นขึ้นมาในเวลาประมาณเที่ยงคืนเพื่อสวดภาวนา รำพึงเรื่องแม่พระ เรื่องพระมหาทรมานด้วยท่ากางแขนทั้งสองออก เป็นระยะเวลาประมาณชั่วโมงหนึ่ง ท่านเขียนว่า “ดิฉันอยากจะตื่นขึ้นมาหลาย ๆ ครั้งในเวลากลางดึกเพื่อสวดภาวนา” ท่านยังนอนบนพื้นเปล่าที่มีเศษกรวดและเศษแก้วกระจายเกลื่อน โดยมีก้อนหิน คือ หมอน บางทีท่านก็มักเฆี่ยนตีตัวเองด้วยไม้ที่มีหนาน ไม่ก็กลิ้งตัวเองบนพืชมีหนาม หรือใส่สมุนไพรรสขมในแกงของท่าน และหากเป็นในช่วงเทศกาลมหาพรต ท่านก็จะอดอาหารสัปดาห์ละสี่ครั้ง ตั้งข้อละเว้นในแต่ละวัน รำพึงถึงพระมหาทรมานและคุกเข่าบนพื้นที่เต็มไปด้วยตะปูกับก้อนกรวด
ความบันเทิงฝ่ายจิตประการหนึ่งของท่านในวัยเยาว์ อันคือการได้พลีกรรมทรมานตนเกินความคิดคนในวัยเดียวกัน หรืออาจจะเกินผู้ใหญ่บางคนเสียด้วยซ้ำ ก็คือการเอาก้อนหินมาวางไว้บนหลังของท่าน และคลานพร้อมกับรำพึงถึงพระมหาทรมานขณะพระเยซูเจ้าทรงแบกกางเขนไปพร้อม ๆ กัน มีบันทึกไว้ว่าคราวหนึ่งขณะท่านทำเช่นนั้น ก็เกิดมีฝีพุดขึ้นมาที่ที่หลังของท่าน ในทันทีพระเยซูเจ้าก็ทรงเสด็จมาพร้อมกับไม้กางเขน พระองค์ทรงนำหินออกที่หลังท่านออก ก่อนจะทรงประทับนั่งที่หลังของท่านแทน นี่นับเหตุอัศจรรย์หนึ่งที่แสดงความรักพิเศษที่องค์พระเยซูเจ้าทรงมอบให้ท่าน อันเป็นดังเครื่องหมายถึงชีวิตในอนาคตของท่าน
ต่อมาเมื่อท่านมีอายุ 12 ปี นางทานดา มารดาของท่านก็ได้ถึงแก่กรรมลง เป็นผลให้การศึกษาในโรงเรียนของท่านเป็นอันยุติลงเช่นกัน เวลานั้นนอกเหนือจากความเสียใจต่อความสูญเสีย ท่านก็มีเริ่มความปรารถนาอย่างจริงจัง ที่จะใช้ชีวิต
ซ่อนเร้นตัวเองในการภาวนาใช้โทษบาปอยู่ในที่ที่สันโดษ ดังนั้นในปี ค.ศ.1891 เมื่อท่านอายุได้ประมาณ 14-15 ปี ท่านจึงคิดจะหนีออกจากบ้าน แต่ด้วยยังมีอายุน้อยเกินไป โครงการนี้ของท่านจึงมีอันต้องพับเก็บไป และแม้มารดาของท่านจะสิ้นใจไปแล้ว ท่านก็ยังคงไปวัด ไปทำความสะอาด ไปตกแต่งพระแท่นอยู่เสมอ
ดังที่เกริ่นไปข้างต้นถึงการช่วยเหลือคนยากไร้ของท่านและมิตรสหาย สืบเนื่องจากไม่มีโรงพยาบาลในเวลาใกล้เคียงหมู่บ้านของท่าน
ดังนั้นการพยาบาลของท่านจึงเป็นการปลอบประโลมใจผู้ป่วยเสียมากกว่า คุณพ่อวิทยาทิลได้บันทึกไว้ว่า
“มีสตรีคนหนึ่งอาศัยอยู่ในครอบครัวที่ยากไร้ นอนป่วยอยู่บนเตียงมานานถึงสามสิบปีพร้อมด้วยอาการอัมพาตที่มือและขา
เธอมีแผลลึกที่บริเวณขา และมีหนอนไหลออกมาจากบาดแผลต่าง ๆ ทั้งบิดามารดาและญาติต่างทอดทิ้งเธอ
เมื่อเทรเซียรู้เรื่องนี้ เธอก็รีบตรงไปหาเธอผู้นั้นโดยไม่สนกลิ่นเหม็นเน่าน่ารังเกียจซึ่งอบอวลไปทั่วห้องพัก
เทรเซียสวดบทแสดงความทุกข์ให้เธอ และให้ความกล้าหาญกับเธอ
หลังจากนั้นไม่นานสตรีนั้นก็สิ้นใจไปอย่างสงบ”
ส่วนข้อเขียนของอัลมาระ ผู้มาจากวรรณะต่ำ ก็ทำให้เราเห็นภาพความกล้าหาญของท่านในการอภิบาลผู้ป่วย ที่บาดถึงหัวใจของเราดั่งนี้ “มีสตรีในวรรณต่ำ(ปูลายะ)คนหนึ่งชื่อ ธิรี มีแผลลึกมีหนองไหลที่ขาของเธอ ญาติ ๆ ของเธอคิดว่ามันเป็นโรคเรื้อน ดังนั้นพวกเขาจึงทิ้งเธอไว้คนเดียว เทรเซียจึงไปพาสตรีนั้นมาอยู่กับเธอที่บ้าน และได้ตระเตรียมบางสิ่งให้สตรีนั้นได้พักอย่างสบาย เธอบรรจงล้างแผลและใส่ยาที่แผล เธอเที่ยวไปขออาหารจากคนอื่น ๆ มาให้เธอ แต่อาการของเธอนับวันก็ยิ่งทรุดลง เธอได้รับศีลล้างบาป และที่สุดเธอจึงสิ้นใจ และถูกฝังไว้ที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน”
คนในหมู่บ้านและพื้นที่โดยรอบ ก็มีความเชื่อถึงผลของการเสนอวิงวอนของท่านต่อพระเจ้า เพราะหลาย ๆ ครั้งท่านเพียงสวดภาวนา
ผู้ป่วยบางคนก็หายจากโรคที่ป่วย ดั่งเช่นวันหนึ่งเมื่อท่านบวชแลัว ท่านได้เดินทางไปบ้านเกิดแม่ของท่าน
ก็มีคนมาขอให้ท่านแวะไปบ้านหลังหนึ่ง แต่ท่านไม่ยินดีที่จะแวะไปเท่าไรนัก
แต่ยังไม่ทันได้ไปต่อมารดาของผู้ป่วยก็ฟูมฟายออกมาหาท่าน พลางพูดกับท่านว่า “ฉันมีลูกสาวเพียงคนเดียวและเธอกำลังจะตาย
กรุณาไปดูเธอหน่อยค่ะ” ท่านจึงตอบกลับไปว่าท่านไม่ใช่หมอ กระนั้นจนแล้วจนรอดเธอก็อ้อนวอน
จนท่านต้องยอมกับคำขอร้องนี้ และได้เข้าไปเยี่ยมคนป่วยตามคำขอ
เมื่อไปถึงท่านก็เริ่มสวดสายประคำ พร้อมให้คนในครอบครัวร่วมกันสวดร่ำวิงวอนนักบุญทั้งหลาย ท่านทูลต่อพระเจ้าให้ทรงรักษาเด็กหญิงที่นอนป่วย และทันทีอาการที่เคยหนักก็ค่อย ๆ ทุเลาลง ไม่ช้าเด็กน้อยก็หายเป็นปกติ เหตุการณ์ลักษณะคล้าย ๆ กันนี้ ไม่เพียงจะเกิดแต่เฉพาะผู้ป่วยที่เป็นคริสตัง เพราะแม้นแต่ผู้ไข้ที่ไม่ใช่คริสตังท่านก็ช่วยสวดให้มาหลายต่อหลายคนอย่างไม่เคยถือเรื่องศาสนา และแม้นอาจจะไม่ทำให้เขาหายขาด แต่ก็ทำให้หลาย ๆ คนได้กลับใจ และได้สิ้นใจไปในพระพร
นอกจากนี้แล้วในบางโอกาส ไม่เพียงแต่คำภาวนาที่ท่านยกถวายเพื่อคนอื่น ท่านยังได้ถวายตัวของท่านเอง เพื่อรับความทุกข์ยากแทนคนอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย อาทิเช่น ในเดือนมกราคม ค.ศ.1909 เมื่อไข้ทรพิษครั้งใหญ่ถาโถมเข้ามา และฆ่าคริสตชนไปถึง
60 คนในระยะเวลาสั้น ๆ
ท่านก็ได้ทวีคำภาวนาของท่านให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
เพื่อว่าพระพิโรธของพระเป็นเจ้าจะบรรเทา และพระเมตตาจะลงมายังหมู่บ้าน โดยร่วมกับชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่ต่างเห็นพ้องกันว่า นี่คือพระพิโรธของพระเจ้า
และต่างพร้อมใจกันสวดภาวนาอย่างตั้งใจ
จนวันหนึ่งพระเยซูเจ้าก็ทรงประจักษ์มาหาท่าน ท่านก็รีบฉวยโอกาสทูลต่อพระองค์ด้วยความระทมทุกข์ว่า ขอให้พระองค์นำการลงโทษนี้ให้พ้นไป พระเยซูเจ้าเองเมื่อสดับเช่นนั้น ก็ทรงตรัสกับท่านว่า “เราไม่อาจจะแบกบาปที่มนุษย์ได้ปฏิบัติได้อีกต่อไป เราไม่ลงโทษพวกเขาตามพระยุติธรรมของเรา แต่ใครเล่าจะใช้โทษบาปทดแทนบาปทั้งมวลของมนุษย์ และผลอันคือความระทมทุกข์และความขุ่นเคืองที่เราได้รับ” ท่านจึงอาสารับ พระองค์จึงตรัสต่อ “สิบเก้าวันถูกกำหนดไว้เพื่อการลงโทษ ตลอดช่วงสิบเก้าวันนี้ ลูกจะต้องรับความเจ็บปวดทั้งกลางวันและกลางวัน” ทำให้สิบเก้าวันนับจากนั้น ท่านจึงได้รับความทุกข์ยากต่างๆที่พระเป็นเจ้าทรงประทาน ทั้งในยามกลางวันและกลางคืน ซึ่งยังผลให้ขณะนั้นโรคร้ายที่กำลังค่อยแพร่ระบาดในหมู่บ้าน หยุดชะงักทันทีเมื่อท่านเริ่มปฏิบัติกิจใช้โทษบาปนี้ แต่..เมื่อคุณพ่อวิทยาทิลทราบเรื่อง แม้จะเล็งเห็นถึงน้ำใจดีของท่านแค่ไหน คุณพ่อก็ได้ส่งห้ามท่านไม่ทำเช่นนี้อีก
อีกเรื่องก็คือเรื่องของลูกสาวอลัพพัต
โลนา ชื่อ กรันชิรา ซึ่งพลัดตกจากที่สูงตั้งแต่เป็นเด็กทารก
ทำให้เธอไม่อาจจะเปิดปากได้ จนถึงวัยที่เธอจะต้องรับศีลมหาสนิทครั้งแรก เธอก็ยังมีปัญหาเรื่องนี้
ดังนั้นเองด้วยความรักอยากให้ลูกได้รับการหล่อเลี้ยงฝ่ายจิตจากศีลมหาสนิท อลัพพัต ผู้บิดาจึงได้พาเธอไปขอร้องให้คุณพ่อวิทยาทิล เพื่อขอให้คุณพ่อไปขอท่านช่วยสวดให้ลูกสาวเขาได้รับศีล
ฝั่งคุณพ่อเมื่อทราบจึงได้สั่งให้ท่านสวดให้เธอ
ท่านเองเมื่อฟังเรื่องทั้งหมด
ก็รู้สึกเห็นใจในชะตาอันอาภัพนี้ยิ่ง ท่านจึงยกถวายทุกความเจ็บปวดและความยากลำบากของท่านเพื่อประโยชน์ของเธอโดยไม่รีรออันใด
และเพียงไม่นานหลังจากนั้นในเที่ยงคืนคืนหนึ่ง ร่างกายซีกซ้ายของท่านก็ขยับเขยื้อนไปไหนมาไหนไม่ได้
ตลอดข้างลำตัว ท่านก็รู้สึกปวดแป๊บ จนต้องใช้คนถึงสองสามคนคอยช่วยพลิกตัวท่านเพื่อเปลี่ยนท่า
ซึ่งแทนที่ที่ท่านจะบ่น ตรงข้ามท่านน้อมรับมันเพื่อเด็กหญิงผู้นั้น กระทั่งที่สุดอาศัยผลของการเสียสละและคำภาวนา
พระเป็นเจ้าก็ทรงรักษากรันชิรา