วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565

'ริตา' ชีวิตนี้แล้วแต่พระ ตอนแรก


นักบุญริตา แห่ง กาสชา
St. Rita of Cascia
ฉลองในวันที่ : 22 พฤษภาคม
องค์อุปถัมภ์ : การหลงหายไป , เหตุการณ์เป็นไปไม่ได้ , ผู้ป่วยยาก , บาดแผล , ปัญหาชีวิตคู่ , มารดา

ทุกปีในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่เมืองบนหุบเขาอย่าง 'เมืองกาสชา' จะมีประเพณีหนึ่งที่สำคัญ และสืบทอดมาอย่างยาวนาน ก็คือการเสกและแจกดอกกุหลาบ พร้อมขนมปังที่สัมผัสร่างของนักบุญองค์หนึ่งที่เป็นรู้จักและเคารพยิ่งในประเทศอิตาลี แต่เป็นที่รู้จักน้อยนักในประเทศไทย นักบุญผู้นี้มีชีวิตที่เป็นแบบฉบับให้ทั้งฆราวาสและนักบวชได้ยึดถือ นักบุญผู้นี้คือ ‘นักบุญริตา แห่ง กาสชา’ ยอดกุหลาบผู้ผลิดอกขึ้นในดินแดนอุมเบรีย และขจรกลิ่นหอมไปทั่วพระศาสนจักร ผู้ได้รับการขานนาม อย่างยกย่องว่า ‘รัตนชาติแห่งอุมเบรีย’

นักบุญริตา หรือนามจริง มาร์เกริตา ล็อตตี เกิดราว ๆ ปี ค.ศ. 1381 ที่หมู่บ้านร๊อกกา ปอร์เรนา เขตปกครองของเมืองกาสชา ในจังหวัดเปรูจา แคว้นอุมเบรีย ประเทศอิตาลี บิดามารดาของท่าน คือ นายอันโตนีโอ ล็อตตี และนางอมาตา แฟร์รี สองสามีภรรยาผู้เฝ้าคอยลูกจากพระมาถึง 12 ปีแล้ว ทั้งสองเป็นผู้ดีเก่าใจศรัทธา และเป็นคนใจบุญสุญทาน ชอบช่วยเหลือคนยากไร้ จนได้รับฉายว่า ‘นักสร้างสันติของพระคริสตเจ้า’ นอกนี้ทั้งสองยังยกถวายวันทุกวันเพื่อรับใช้พระเจ้าอยู่ตลอด


ตำนานเล่ากันว่าก่อนท่านจะเกิด คืนหนึ่งขณะนางอมาตาผู้อยู่ในวัยชรากำลังสวดภาวนา ทูตสวรรค์ของพระเป็นเจ้าก็ประจักษ์มาหาเธอ และได้แจ้งแก่เธอว่าเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่จะให้เธอให้กำเนิดบุตรสาว ผู้ตั้งแต่แรกคลอดจะถูกตราไว้ด้วยตราประทับแห่งความศักดิ์สิทธิ์ และเธอจะตั้งนามธิดาคนนี้ว่า ‘ริตา’ ดังนั้นสี่วันหลังให้กำเนิดท่าน เมื่อจัดให้มีพิธีรับศีลล้างบาปที่วัดนักบุญมารีอา ที่ กาสชา (เพราะวัดที่หมู่บ้านไม่มีอ่างโปรดศีลล้างบาป) บิดามารดาจึงให้นามท่านว่า ‘มาร์เกอริตา’ (ภาษาท้องถิ่นที่ท่านอาศัยคำนี้แปลว่า ไข่มุก) และเรียกท่านสั้น ๆ ว่า ‘ริตา’

ไม่กี่เดือนหลังท่านเกิดก็ถึงฤดูเก็บเกี่ยว บิดามารดาของท่านจึงกระเตงท่านใส่ตะกร้าหวาย แล้วหิ้วไปทำงานที่ทุ่งนาด้วย โดยทั้งสองจะเอาท่านไปวางไว้ที่ร่ม ใกล้ ๆ ที่ทั้งสองทำงาน มีวันหนึ่งขณะทั้งสองทำเช่นปกติ ทั้งสองก็ค่อย ๆ ทิ้งห่างท่านเรื่อย ๆ จากภาระงานเบื้องหน้า เวลานั้นเองก็มีชาวนาคนหนึ่ง พลาดเอาเคียวไปบาดเข้าที่แขนตัวเองจนเป็นแผลใหญ่ เขาจึงรีบออกวิ่งโดยหมายจะไปล้างแผลในลำธารใกล้ ๆ แต่ขณะวิ่งไปสายตาของเขาก็เหลือบไปเห็นตะกร้าที่ท่านนอนหลับปุ๋ยดั่งปกติ มีฝูงผึ้งสีขาวกลุ่มหนึ่งบินวนอยู่โดยรอบศีรษะของท่าน


อัศจรรย์การรักษาของทารกริตา

คุณพ่อยูเซปเป ริการ์โดเล่าถึงเหตุการณ์นี้ในหนังสือนักบุญริตา แห่ง กาสชา นักบุญแห่งความเป็นไปไม่ได้ ดังนี้ “ผึ้งบินลงมาเกาะที่ริมฝีปากของเธอ… และได้บินเข้า ๆ ออก ๆ ปากที่แย้มอยู่เล็กน้อย โดยมิได้ทำร้ายหรือปลุกเธอให้ตื่นจากนิทรา…. ผึ้งคือลางบอกเหตุของการบันทึกนามเธอในสารบบบุญราศีในอนาคตของริตา ว่าจะถูกกระทำโดยผึ้งนามอูร์บันที่ 8 ปกครองพระศาสนจักร” (พระองค์มีตราประจำพระองค์เป็นรูปผึ้งสามตัว) ตำนานบางแหล่งกล่าวว่าผึ้งบางตัวที่บินเข้าไปในปากของท่านนั้น ยังได้ฝากน้ำผึ้งหวาน ๆ ไว้ในปากนั้นอีก

ด้วยความตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์เบื้องหน้า ชาวนาผู้ได้รับบาดเจ็บจึงยกแขนข้างที่เป็นแผลขึ้นมาปัดผึ้งให้ท่าน และบัดดลเขาก็สังเกตเห็นว่าแผลที่แขนนั้นกลับหายสนิทเป็นที่เรียบร้อย ยังความประหลาดใจให้เขา เขาจึงได้คุกเข่าลงที่ข้างท่าน ด้วยความอัศจรรย์ใจ เครื่องหมายที่ปรากฏกับท่านในวัยทารกนี้ บางท่านอาจกล่าวอ้างได้ว่า ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติอันใด เพราะปกติแล้วผึ้งย่อมมิทำอันตรายแก่ใครก่อน และมันอาจจะมาเพราะกลิ่นหอมของดอกลาเวนเดอร์ที่เบ่งบานในทุ่ง แต่การหายสนิทของบาดแผลที่แขนของชาวนานั้นเล่า จะอธิบายได้เช่นไร ถ้ามันมิใช้อัศจรรย์จากสวรรค์

บ้านเกิดของนักบุญริตา ที่หมู่บ้านร๊อกกา ปอร์เรนา

ในวัยเยาว์บิดามารดาต่างช่วยกันอบรมท่านด้วยความรัก แม้ทั้งสองจะมิได้ร่ำรวยอะไรมากนัก แต่ก็เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้าน ดังนั้นชีวิตของท่านจึงได้ฝึกฝนทั้งการทำงานบ้านงานเรือน และการทำงานตามฤดูกาลต่าง ๆ ซึ่งผันแปรไปในแต่ละปี จนทำให้เรากล่าวได้ว่าชีวิตในวัยเยาว์ของท่านนั้นเป็นชีวิตที่แสนจะเรียบง่ายในหมู่บ้านที่โอบล้อมด้วยขุนเขาอย่างร๊อกกา ปอร์เรนา บางทีเราอาจพอจิตนาการได้ลาง ๆ ว่าท่านคงไปวัดพร้อมบิดามารดา ไปเล่นพร้อมเพื่อน ๆ หรืออาจไปร้านขายของ ไม่ก็อาจไปเยี่ยมพวกซิสเตอร์ทั้งในอารามนักบุญมารีอา มักดาเลนาที่จะเรียกต่อไปว่า อารามมัดเดลีนา และอารามนักบุญลูซีอาก็เป็นไปได้

ในฐานะเด็กหญิงตัวน้อยของบิดามารดาผู้ชรา ท่านเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย มีกริยามารยาทรวมถึงนิสัยอ่อนหวาน และรู้จักคิดอะไรให้ดีก่อนจะทำ วิญญาณของท่านสุกใสไปด้วยฤทธิ์กุศลแห่งการถือพรหมจรรย์ ซึ่งหยั่งรากลึกและเติบโตอยู่ภายในอย่างเงียบ ๆ ท่านชอบคุกเข่าลงที่เท้าของมารดา เพื่อฟังคำแนะนำที่เตือนจิตเตือนใจต่าง ๆ จากนางอยู่บ่อยครั้ง และยังมักแบ่งอาหารบางส่วนให้กับคนยากไร้ พร้อมรับใช้ผู้อื่นตามแบบอย่างของบิดามารดาที่เป็นคนใจบุญสุญทาน

ก้อนหินที่นักบุญริตาชอบหลบมาสวดภาวนา

ท่านรักจะอยู่คนเดียวเพื่อรำพึงถึงพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า ท่านจึงชอบขึ้นไปสวดภาวนาอยู่เงียบ ๆ บนก้อนหินที่ตั้งแหงนขึ้น บนเขาสูงที่ตั้งเด่นขึ้นมาท่ามกลางขุนเขาที่โอบล้อมหมู่บ้านอย่างโดดเดี่ยว ดังนั้นสถานที่แห่งนี้จึงกลายมาเป็น ‘ความลับ’ ของท่านกับพระเป็นเจ้า และปัจจุบันเพื่อเป็นการระลึกถึงท่าน จึงได้มีการสร้างวัดน้อยคลุมก้อนหินก้อนนี้ไว้ และได้เรียกขานหินก้อนนี้เสียใหม่ว่า ‘ก้อนหินแห่งคำภาวนา’

ท่านเฝ้าฟูมฟักความรักต่อพระคริสตเจ้าไว้เป็นอย่างดีในดวงฤดี จวบจนอายุย่างเข้า 12 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ต้องเลือกทางเดินชีวิตอย่างแท้จริง ตามประเพณีของกาสชา ที่เด็กหญิงผู้มีอายุเท่านี้ จะต้องเลือกทางเดินชีวิตของตน กล่าวคือถ้าไม่ตัดสินใจเข้าอารามเป็นนางชี ก็จะแต่งงานออกเหย้าออกเรือนไปเสีย ท่านจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะยกถวายพรหมจรรย์ของท่านไว้แด่พระเป็นเจ้า เพื่อเป็นเจ้าสาวของพระองค์โดยสมบูรณ์ แต่เมื่อท่านแจ้งเรื่องนี้แก่บิดามารดา ก็ประดุจหนึ่งมีค้อนใหญ่ทุบลงกลางใจของทั้งสอง เพราะทั้งสองปรารถนายิ่งที่จะมีทายาทสืบสกุลต่อไป ทั้งสองจึงปฏิเสธความปรารถนานี้ของท่านไป


วันเวลาล่วงเลยต่อมา เมื่อท่านอายุได้ 13 ปี จากเด็กทารกก็เติบโตเป็นสาวสะพรั่ง ผู้มีสิริโฉมงดงาม ความสูงไม่มากนัก แต่เอวองค์สมส่วน ผมยาวสลวยฟูหนาเป็นสีบลอนด์ รับกับดวงหน้าเปล่งปลั่ง ประดับด้วยดวงตาสีน้ำตาล โหนกแก้มขนาดใหญ่ ดูช่างผิดกับริมฝีปากที่บางเรียว ที่ยิ่งชวนหลงใหลยิ่งขึ้นยามแย้มยิ้ม ทั้งนายอันโตนีโอและนางอมาตา ก็เห็นว่าถึงเวลาอันควรจะจัดการตกแต่งลูกสาวคนนี้เสียที ดังนั้นวันหนึ่งนางอมาตาจึงเรียกบุตรสาวคนนี้มาพบและได้แจ้งว่าถึงเวลาแล้วที่ท่านครจะคิดถึงเรื่องการมีสามีเป็นตัวเป็นตน พร้อมทั้งได้สอนคำสอนสุดท้ายให้กับท่าน นั่นคือเรื่องการเป็นศรีภรรยาที่ดีของสามี

ซึ่งทันทีที่ท่านทราบความปรารถนาเช่นนี้ ท่านก็เตือนบิดามารดาว่าถ้ามิให้ท่านไปเข้าอารามตามความปรารถนา ก็ขอให้ท่านได้อยู่ดูแลทั้งสองจนถึงวันที่พระจะมารับทั้งสองไปเสียดีกว่า แล้วท่านจึงละไปสวดภาวนาแต่เพียงลำพัง เพื่อทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าให้ทรงแก้ปัญหานี้ เหตุว่าท่านมิประสงค์จะเชื่อฟังบิดามารดา แต่ปรารถนาจะเชื่อฟังน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า ท่านรอคอยคำตอบจากพระองค์เป็นเวลาหลายชั่วโมง และที่สุดพระเป็นเจ้าก็ทรงทำให้ท่านเข้าใจว่า พระองค์ปรารถนาให้ท่านเชื่อฟังบิดามารดาผู้ชรา


ดังนั้นท่านจีบรีบกลับมาหาบิดามารดา และทรุดตัวลงแทบเท้าของทั้งสอง เพื่อขออภัยต่อความผิดของท่าน และแจ้งแก่ทั้งสองว่า ท่านพร้อมที่จะปฏิบัติตามที่ทั้งสองปรารถนา แต่เนื่องจากตามกฎหมายของกาสชาในขณะนั้นยังมิอนุญาตให้เด็กสาวเข้าพิธีสมรสได้จนกว่าจะอายุ 15 ปี ท่านจึงรอจนอายุได้ตามเกณฑ์ (ผู้เรียบเรียงไม่แน่ใจเรื่องอายุที่ท่านเข้าพิธีสมรส เพราะหลายแหล่งให้ข้อมูลไม่ชัดเจน) บิดามารดาจึงได้จัดให้ท่านเข้าพิธีสมรสกับชายชาตินักรบ อย่าง 'นายเปาโล' บุตรของนายแฟร์ดินานโด มันชินี ซึ่งตำนานเล่าว่าเขาเป็นผู้บัญชากองทหารที่มีสมาชิก 75 นาย และหอสูงเฝ้าระวัง (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่กอลเลยากอเน)

พิธีแต่งงานของท่านถูกจัดขึ้นในวัดหลังเล็ก ๆ ที่อุทิศแด่นักบุญพื้นเมืองชาวร๊อกกา ปอร์เรนา อย่างนักบุญมอนตาโน ผู้เดินทางมาประกาศพระวรสารในหมู่บ้านของท่านเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว และจากวัดนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต ‘เหยื่อและศรีภรรยา’ ของท่าน เพราะนายเปาโล เป็นคนอารมณ์ร้อน หยาบกระด้าง ชอบใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย และมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้คนไปทั่ว เขาจึงมักต่อว่าและทุบตีท่านอยู่บ่อยครั้ง ไม่เว้นแม้ตอนท่านจะไปวัด

วัดนักบุญมอนตาโน ที่นักบุญริตาเข้าพิธีสมรสกับนายเปาโล

กระนั้นก็ตามลึก ๆ เขาก็รักท่าน แต่ก็ด้วยการเป็นชายชาติทหารนี่แหละ ที่ทำให้เขาไม่รู้วิธีที่จะเป็นคนอ่อนโยนอย่างไร ซึ่งท่านเข้าใจจุดนี้ดี ท่านจึงรักเขาในอย่างที่เขาเป็น พร้อมมองว่านี่คือเครื่องฝึกหัดความอดทนต่อทุกข์ยากต่าง ๆ ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจสำหรับท่าน ท่านดำรงตนเป็นศรีภรรยาคริสตังที่ดีพึงทำ ทุกวันท่านเตรียมอาหาร เก็บกวาดบ้าน ซักผ้ารีดผ้า ตักน้ำจากบ่อ คอยท่าสามีผู้มักกลับบ้านค่ำอย่างห่วง ๆ และเมื่อสามีของท่านบรรเทาจากอาการโกธรเกี้ยวแล้ว ท่านก็จะเตือนเขาว่าความโกธรของเขานั้นเป็นที่ขัดเคืองพระทัยพระเป็นเจ้ามากแค่ไหนอยู่เสมอ ดั่งนั้นท่านจึงเหมาะสมยิ่งกับคำว่า ‘ปดิวรัดา’ โดยแท้

ดั่งน้ำหยดลงพื้นดินทุกวัน ทีละนิดหัวใจที่ลั่นดาลแน่นของเปาโล ก็ค่อย ๆ เปิดออก ดวงตาที่เคยพร่ามัวก็ชัดขึ้น บัดนี้เขาแลเห็นแล้วว่าเขานั้นมี ‘ปดิวรัดา’ อยู่ใกล้ ๆ เขาจึงวอนขอการอภัยจากพระ และโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับพระหรรษทานเช่นนี้ อันทำให้สันติที่เคยหายไปหลายปีจากชีวิตคู่ กลับมาในที่สุด และเวลาเดียวกันผ่านท่าน เขาก็ยังเลิกความคิดที่จะเป็นศัตรูกับตระกูลชีกุยตามแบบอย่างบรรพบุรุษ พร้อมทั้งได้หันหลังให้อาชีพทหาร แล้วไปใช้ชีวิตเรียบง่าย ตามแบบชาวไร่โรงสี ซึ่งเขาได้เปลี่ยนเป็นบ้านสำหรับครอบครัวเล็ก ๆ ของเขา


ท่านและเปาโลมีบุตรด้วยกันสองคน คือ ยานยาโกโม อันโตนีโอ และเปาโล มารีอา ซึ่งบางตำราก็เชื่อว่าทั้งคู่เป็นแฝดกัน แต่เรื่องนั้นก็ไม่แน่นอนชัดเจน เท่ากับเรื่องที่ว่า ตั้งแต่ทั้งสองยังแบเบาะ มารดาของพวกเขาก็ได้คอยอบรมสั่งสอนพวกเขา ให้เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ซื่อตรง รู้จักกาลเทศะมีสัมมาคารวะ ไม่หลงไปกับความสนุกสบายฝ่ายโลกที่ไม่จีรัง และรักพระพร้อมเดียดฉันท์บาปผิดต่าง ๆ เหมือนกับที่บิดามารดาผู้ชราเคยอบรมนางมา

แต่อนิจจา ไม่นานหลังสามีท่านกลับตนเป็นคนใหม่ เสียงหัวเราะ ความสุข และความอบอุ่นในครอบครัวเล็ก ๆ ก็มลายหายไปสิ้น เพราะในคืนหนึ่งในราว ๆ ปี ค.ศ. 1406 ขณะท่านและลูก ๆ เฝ้ารอคอยนายเปาโลกลับมา เพื่อจะได้รับประทานอาหารเย็นร่วมกันดั่งเช่นปกติ ข่าวหนึ่งก็เดินมาถึงท่าน นั่นคือข่าวว่านายเปาโลที่กำลังเดินทางกลับบ้าน ถูกนายกุยโด สหายใหม่จากตระกูลชีกุย ตระกูลคู่อาฆาตของตระกูลมันชินี แทงด้วยดาบเข้าที่หน้าอกจนถึงแก่ความตายแล้ว


ฝั่งท่านเมื่อทราบความดังนั้นแล้ว หัวใจของปดิวรัดาน้อยก็เสมือนถูกเอาขวานใหญ่สับเข้ากลางดวงใจ ท่านเริ่มปล่อยโฮออกมาชุดใหญ่ ชนิดยากจะหาใครมาปลอบให้สงบได้ง่าย ๆ “สิ่งที่เป็นทุกข์ยิ่งในหัวใจและวิญญาณของเธอ ก็คือการที่เขาจากไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับศีลเสบียง ซึ่งช่วยให้คริสตชนที่ใกล้สิ้นใจได้รับการประกันความสุขในการออกดินทางไปสู่ชีวิตนิรันดร์” ท่านทูลขอการอภัยจากพระเจ้าสำหรับความผิดบาปและความบกพร่องนานตลอดชีวิตของเขา และในพิธีปลงศพของเขา ท่านก็ประกาศต่อหน้าทุกคนที่มาร่วมงานว่า ท่านขอให้อภัยคนที่ฆ่าสามีของท่าน

มีคำกล่าวว่า ‘ดาบย่อมล้างด้วยดาบ’ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท่านตระหนักดี ว่าจะต้องเกิดขึ้นในอนาคต เพราะตามกฎหมายกาสชา การล้างแค้นถือว่าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ท่านจึงพยายามกันบุตรชายทั้งสองให้พ้นจากวังวนแห่งการจองเวร ซึ่งไร้แก่นสารนี้ โดยตำนานเล่ากันว่าท่านมักชี้ให้ลูก ๆ ทั้งสองของท่านมองไปที่กางเขน และมักชี้ไปถึงเรื่องที่ว่าพระองค์ทรงให้อภัยผู้ที่ฆ่าพระองค์ ทั้งยังหมั่นขึ้นไปสวดภาวนาแต่เพียงลำพังที่บนสถานที่ที่เป็น ‘ความลับ’ ของท่านไม่ว่าจะฤดูหนาวหรือฤดูร้อน เพื่อว่าอาศัยความช่วยเหลือจากสวรรค์ ท่านจะสามารถลบล้างความคิดผิด ๆ ไปจากหัวใจของบุตรชายทั้งสองได้


แต่…ขณะท่านเลือกให้อภัยและพยายามสุดกำลัง ใครบางคนในตระกูลมันชินีก็หาคิดเช่นนั้นไม่ ซ้ำยังจ้องจะฝังความคิดเรื่อง ‘ดาบย่อมล้างด้วยดาบ’ ลงในความคิดของบุตรชายทั้งสองของท่าน ใครคนนั้นก็คือ ‘แบร์นาโด’ เพราะแม้น้องสะใภ้จะประกาศให้อภัย แบร์นาโดผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชายของเปาโล ก็ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า ศึกระหว่างครอบครัวทั้งสองจะต้องดำเนินต่อไป โดยเขาได้ชักชวนให้หลานชายทั้งสองซึ่งบัดนี้กำพร้าพ่อให้ออกจากบ้าน แล้วมาอยู่กับเขาที่คฤหาสน์ของตระกูลมันชินี ทำให้นับวันบุตรชายที่ท่านกีดกันจากการจมปลักอยู่ในตมแห่งความเกียจชังของสองตระกูลอย่างเต็มกำลัง ก็ยิ่งจมลึกลงไปในโคลนตมนั้นเรื่อย ๆ ภายใต้การชี้นำของคุณลุงแบร์นาโด ผู้ใจมีแต่ความอาฆาตแค้น บัดนี้ทั้งยานยาโกโม และเปาโลในวัยสิบสองปี ต่างหลงลืมคำสอนของมารดาสิ้น และมุ่งอย่างเดียวคือการชำระแค้นแทนบิดาที่สิ้นไป เพราะทั้งสองรู้แล้วว่ามัจจุราชร้ายที่พรากบิดาที่รักของพวกเขาไปคือใคร

ท่านเองเมื่อเห็นลูกทั้งสองคนเป็นเช่นนี้ ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะเกลี้ยกล่อมให้ทั้งสองเลิกความคิดนี้เสีย แต่ก็ไร้ผลทั้งสองยังคงมุ่งมั่นจะปฏิบัติตามความตั้งใจเดิมให้ได้ ที่สุดในวันหนึ่งท่านจึงหันหน้าไปหาเจ้าบ่าวที่รักยิ่งของท่าน และทูลต่อพระองค์ว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า องค์ความรักแสนอ่อนหวาน โปรดอย่าทรงปล่อยให้วิญญาณของพวกเขาแปดเปื้อนไปด้วยบาปจากการแก้แค้นอันไร้แก่นสารเลย โปรดพาพวกเขาไปจากโลกนี้โดยเร็วเถิด ลูกขอทูลถวายพวกเขาไว้ในฐานะเครื่องกำนัล โปรดทรงกระทำต่อพวกเขาตามน้ำพระทัยของพระองค์เถิด” และหนึ่งปีให้หลังบุตรชายทั้งสองของท่านจึงสิ้นใจลงด้วยโรคบิด พร้อม ๆ กับหัวใจของมารดาที่แหลกสลายไปไม่มีชิ้นดี


เมื่อหมดพันธะฝ่ายโลกทุกสิ่งแล้ว ไม่ว่าจะบิดามารดา สามี หรือลูก ท่านจึงตัดสินใจอุทิศชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ท่านเริ่มทวีการพลีกรรมให้หนักหน่วงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหันมาสวมชุดที่ตัดจากผ้าเนื้อหยาบ การอดอาหารมากขึ้น และการขังตัวอยู่แต่ในบ้านไม่ออกไปไหน เว้นเสียแต่ไปวัด และไปทำกิจการเมตตาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมเยียนคนเฒ่าคนแก่ ผู้ถูกทอดทิ้ง การช่วยคนยากคนจนอย่างสุดกำลัง หรือการไปพยาบาลรักษาคนเจ็บคนยาก

เป็นพิเศษในเรื่องของคนป่วย ตำนานปรัมปราเชื่อกันว่าท่านมักไปเยี่ยมคนป่วยที่สถานพยาบาลลัซซาเร็ตโต ซึ่งเปิดต้อนรับบรรดานักจาริกที่ผ่านมายังหมู่บ้าน และตั้งอยู่ห่างบ้านท่านไม่มาก ที่นี่มีแต่เสียงโอดครวญของบรรดาผู้สิ้นหวัง และกลิ่นไม่พึงประสงค์คละคลุ้ง ทำให้แรก ๆ เมื่อท่านเริ่มมาที่นี่ ก็จัดเป็นงานหินสำหรับท่านก็ว่าได้ แต่ตามพระวาจาที่ว่า “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องที่ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ก็ทำสิ่งนั้นต่อเราด้วย” ท่านจึงสามารเอาชนะสภาพไม่น่าอภิรมย์เหล่านี้ และมองเห็นว่าพวกเขา คือ พี่น้อง และพระเยซูเจ้า


นอกนี้ด้วยความฝันตั้งเยาว์วัย ท่านจึงตัดสินใจสมัครเข้าอารามมัดเดลีนาของคณะออกัสติน แต่ก็ถูกปฏิเสธเสียถึงสามครั้งจากคุณแม่อธิการ เพราะในอารามมีซิสเตอร์คนหนึ่งมาจากตระกูลชีกุยคู่อาฆาตตระกูลมันชินีที่ท่านเป็นสะใภ้ คุณแม่อธิการจึงเกรงว่าหากรับท่านเข้ามา จะยังผลให้เกิดความแตกแยกในอารามเพราะถึงแม้ท่านจะให้อภัย แต่ตระกูลท่านมิได้ให้อภัยเสียหน่อย แต่กระนั้นก็เพราะเล็งเห็นว่าท่านมีน้ำใจที่มุ่งมั่นต่อกระแสเรียก คุณแม่จึงยื่นข้อเสนอว่าท่านจะเข้าอารามได้ก็ต่อเมื่อท่านสามารถทำให้ทั้งสองตระกูลคืนดีกันได้เสียก่อน

ท่านเมื่อทราบเงื่อนไขดังนี้แล้ว ท่านจึงหันหน้าไปหานักบุญองค์อุปถัมภ์ของท่าน นั่นคือ นักบุญยอห์น บัพติสต์ นักบุญออกัสติน และนักบุญนิโกลัส แห่ง โตเลนติโน และเริ่มลงมือสร้างสันติระหว่างสองตระกูลในเร็ววัน โดยขั้นแรกท่านได้เดินทางไปยังบ้านของตระกูลฝั่งสามี และเตือนพวกเขาให้ล้มเลิกความเป็นอริกับตระกูลชีกุยเสีย เรื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่กล่าวถึงช่วงเวลานี้ เล่าไว้ว่าในเวลาต่อมาเมื่อกาฬโรคระบาดทั่วอิตาลี แบร์นาโดก็ติดโรคร้ายนี้จนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด เขาจึงสำนึกได้ และได้ตัดสินใจสงบศึกระหว่างสองตระกูลลง

วัดนักบุญฟรังซิส เมืองกาสชา

ทำให้หลังเปาโลตายไปได้ราวห้าปี ตระกูลมันชินีและตระกูลชีกุย อดีตอริกัน จึงได้ลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะทิ้งความบาดหมางระหว่างสองตระกูลไปตลอดกาล และได้แลกเปลี่ยนอ้อมกอดแห่งสันติ ซึ่งได้รับการบันทึกไว้ด้วยรูปปูนเปียกอ้อมกอดแห่งสันติ ณ ที่ผนังวัดนักบุญฟรังซิส เมืองกาสชา บัดนี้ความบาดหมางได้รับการคลายลงแล้ว เรื่องราวต่อไปของท่านนักบุญริตาจะเป็นเช่นไร โปรดติดตามต่อใน 'ริตา' ชีวิตนี้แล้วแต่พระ ตอนจบ (คลิกตรงนี้ได้เลย)


'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...