นักบุญริตา แห่ง กาสชา
St. Rita of Cascia
ฉลองในวันที่ : 22 พฤษภาคม
องค์อุปถัมภ์ : การหลงหายไป , เหตุการณ์เป็นไปไม่ได้ , ผู้ป่วยยาก , บาดแผล , ปัญหาชีวิตคู่ , มารดา
เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว คืนหนึ่งขณะท่านกำลังสวดภาวนาอยู่ที่ก้อนหินบนเขาหินสูงตระหง่านใกล้หมู่บ้านร๊อกกา ปอร์เรนา ซึ่งเป็นที่ลับของท่าน ท่านก็ผลอยหลับไป และฝันว่าท่านถูกปลุกให้ตื่นจากห้วงเวลาระหว่างท่านกับพระเจ้าด้วยเสียงเคาะประตู ท่านจึงลุกออกไปดูและก็ไม่พบใคร ดังนั้นท่านจึงกลับมาสวดต่อ แต่ท่านก็ได้ยินเสียงเคาะประตูอีกครั้ง แต่คราวนี้มีเสียงหนึ่งเอ่ยขึ้นตามมาด้วยว่า “ริตา ริตา อย่ากลัวเลย องค์พระเจ้าจะทรงรับเธอเข้าอารามในฐานะเจ้าสาวของพระองค์”
บัดนั้นท่านจึงแลเห็นนักบุญยอห์น บัพติสต์ อยู่เบื้องหน้าท่าน นักบุญยอห์นกล่าวต่อไปว่า “มาสิ ริตา ที่รักของฉัน บัดนี้คือเวลาที่เธอจะได้เข้าอารามมัดเดลีนาซึ่งประตูได้ปิดกั้นเธอไว้” ท่านจึงลุกขึ้นตามนักบุญยอห์น บัพติสต์ออกไป และขณะติดตามนักบุญยอห์น บัพติสต์ไป นักบุญออกัสติน และนักบุญนิโกลัส แห่ง โตเลนติโน ก็ประจักษ์มาสมทบท่ามกลางแสงสว่าง ซึ่งส่องเรืองออกมาจากตัวทั้งท่านทั้งสอง ท่านเอง ที่เห็นเช่นนั้นจึงรีบคุกเข่าลงเบื้องหน้าทั้งสามและกล่าวขอบคุณสำหรับความเมตตาที่ทั้งสามมอบให้ท่าน ฝั่งทั้งสามจึงสั่งให้ท่านลุกขึ้นและตามพวกเขามา
ท่านจึงลุกขึ้นและตามนักบุญทั้งสามมาจนถึงอารามมัดเดลีนา และแม้ประตูอารามจะลงกลอนไว้อย่างแน่นหนา นักบุญทั้งสามก็สามารถพาท่านผ่านเข้าไปจนถึงตรงบริเวณระเบียงคดกลางอารามได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเมื่อมาถึงในอารามแล้ว นักบุญทั้งสามก็ได้เอ่ยกับท่านว่า “ริตา จงครองตนเป็นดั่งผึ้งผู้มีเหตุผลในสวนของเจ้าบ่าว ผู้ที่เธอรักอย่างรุกร้อนมานานแสนนาน เพื่อว่าผ่านการเก็บสะสมดอกไม้แห่งคุณธรรมนานา เธอจะได้สร้างรังอันแสนหอมหวาน บัดนี้เธอได้อยู่ในบ้านของเจ้าบ่าวของเธอ องค์พระเยซูเจ้าแล้ว จงรักพระองค์ด้วยสุดใจและสุดวิญญาณ และความรอดนิรันดร์ของเธอจะถูกประกันไว้ จงโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับกิจการชอบธรรมที่ทำในนามของเธอ จงสรรเสริญพระเมตตาอันมิรู้สิ้นสุดของพระองค์ และประกาศให้โลกรู้ว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้สำหรับพระเจ้า ริตา สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็คือเอาชนะนามของเธอ”
พูดเสร็จทั้งสามก็อันตรธานหายไป ท่านจึงใช้เวลาที่เหลือตลอดคืนไปกับการโมทนาคุณพระเจ้า กระทั่งตะวันของวันใหม่โผล่ขึ้น ทั้งอารามก็จึงออกมาพบท่าน และแน่นอนซิสเตอร์ทุกคนก็ต่างพากันประหลาดที่ออกมาจากห้องพัก และพบท่านอยู่ในนี้เพราะประตูอารามก็ยังคงลงดาลแน่นหนาเช่นเดิม ดังนั้นท่านจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นเมื่อคืนให้บรรดาซิสเตอร์ในอารามฟัง ฝั่งซิสเตอร์ทุกคนเมื่อทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว ก็ต่างพร้อมใจต้อนรับท่านเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิก พร้อมทั้งขอโทษขอโพยสำหรับหลาย ๆ ครั้งที่ปฏิเสธท่านไป
แต่ก่อนท่านจะเข้าอาราม ท่านก็กลับไปบ้านที่ร๊อกกา ปอร์เรนา และได้ไปพบกับทนายที่รู้จักกันดี คือ นายโดเมนิโก อังเยลี เพื่อให้เขารับภาระขายบ้านพร้อมทรัพย์สินของท่าน “แต่ริตา เธอยังไม่ทันได้ถวายตนเลยนะ รอไปก่อนดีไหม เธอจะได้ลองคิดดี ๆ ” เขารีบแย้งอย่างฉงน เมื่อทราบความต้องการท่าน ซึ่งจริง ๆ ลึกแล้ว ท่านก็ยังคงมีเสียงถามตัวเองอยู่บางครั้งว่า “จะเป็นอย่างไรถ้าฉันกลับไปบ้าน กลับไปโลกภายนอก” แต่ท่านก็ตระหนักดีว่ากระแสเรียกต้องมาก่อน และวางใจในการทรงนำของพระเจ้า ดังนั้นท่านจึงสั่งเขาว่า “ขายให้หมด และเอาเงินที่ได้ไปซื้อขนมปังให้คนจน” พร้อมถอดแหวนแต่งงานส่งให้เขาไป
หลังจากท่านจึงย้อนกลับมาอาราม และได้เข้าพิธีรับเครื่องแบบคณะ เพื่อเข้าเป็นนวกะของคณะออกัสติเนี่ยน ณ อารามมัดเดลีนา ด้วยอายุขณะนั้นคือ 30 ปี และในฐานะนวกะ ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายงานใดมา ไม่ว่าจะงานปอกเปลือกมันฝรั่ง ซักผ้า ล้างจาน ขุดดินหรือล้างโถปัสสาวะ (สมัยก่อนนิยมมีโถไว้ใช้ปัสสาวะที่พกพาได้) ท่านก็อดทนและนบนอบต่อคำสั่งดุจเดียวกับคนใช้ จนบางครั้งมือของท่านถึงกับแดงกล่ำ บวม แตก และมีเลือดออก เพราะท่านมอบทุกสิ่งไว้เพื่อพระเยซูเจ้า ดังนั้นท่านจึงมีความสุขยิ่งที่จะได้รับทุกข์ทรมานไปพร้อมกับพระองค์ และเพื่อพระองค์ จนเมื่อถึงเวลาอันควร ท่านก็เข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นซิสเตอร์คณะออกัสติเนี่ยน ภายใต้ศีลบนสามประการคือนบนอบ ยากจน และพรหมจรรย์อย่างเต็มตัว
และในฐานะซิสเตอร์ของอาราม ท่านก็แสดงออกชัดถึงความมีเมตตาของท่านต่อผู้ยากไร้ทุกคนที่แวะมาเคาะประตูของอาราม โดยบางครั้งท่านก็จะเอาอาหารที่ท่านได้รับในแต่ละมื้อมามอบให้พวกเขา เช่นครั้งหนึ่งเมื่อท่านพบว่ามีคนชราคนหนึ่งต้องอาศัยอยู่แต่ลำพังใกล้อาราม ท่านก็แบ่งอาหารเล็กน้อยไปให้อย่างไม่เคยหวง
นอกจากนี้ท่านยังอ้าแขนของท่านออก เพื่อผู้มีปัญหาเรื่องวิญญาณอีกด้วย ท่านมักใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องรับแขกของอาราม ไปกับการพูดคุยกับบรรดาสตรีที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัย สตรีที่ถูกรังแก สตรีชราผู้ถูกทอดทิ้ง สตรีแรกรุ่นที่ชีวิตกำลังประสบปัญหา และมารดาผู้มีข้อข้องใจหรือไร้ที่พึ่ง ซึ่งต่างแวะเวียนกันมาขอให้ท่านสวดให้บ้าง ปรึกษาท่านบ้าง เพราะต่างทราบดีว่าซิสเตอร์ผู้นี้ คือ ผู้เชี่ยวชาญยิ่งในเรื่องปัญหาครอบครัวและสังคม เป็นผลให้หลาย ๆ ครั้ง ท่านจึงมีโอกาสได้ฟื้นความเชื่อและความหวังที่หายไปจากจิตใจของพวกเธอ “การอวยพรของท่านแก่ผู้มาเยี่ยมที่จะกลับไป คือเครื่องหมาย แท้จริงแล้วมันคือพลังที่สามารถเปลี่ยนจิตใจคน”
วันหนึ่งขณะท่านกำลังคุกเข้าอยู่เบื้องหน้าไม้กางเขนในห้อง ท่านก็เห็นภาพนิมิตบันไดทอดยาวจากสวรรค์ลงมายังพื้นโลก ณ ที่บนปลายสุดของบันได ท่านเห็นพระเจ้าทรงประทับอยู่และทรงกวักพระหัตถ์ เชื้อเชิญให้ท่านก้าวขึ้นไปตามบันไดนี้ และยังได้ยินสุรเสียงหนึ่งดังขึ้นว่า “ริตา หากเธอปรารถนาเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้าในสวรรค์ เธอต้องไต่ขึ้นมาตามบันไดนี้” ท่านจึงเข้าใจว่า ท่านจำต้องเป็นเหมือนทูตสวรรค์ หากท่านปรารถนาจะเดินตามพวกเขา และเข้าใจว่าท่าน ‘จะต้องสร้างบันไดฝ่ายจิต ซึ่งแต่ละขั้นสร้างจากคุณธรรม เธอถึงจะได้บรรลุถึงสวรรค์ และได้รื่นเริงโสมนัสไปกับการสำแดงพระองค์และความสัมพันธ์ฉันมิตรกับพระเจ้าตลอดนิรันดร์’
บันไดขั้นแรกตามที่ท่านเข้าใจคือ ‘จิตตารมณ์แห่งการนบนอบ’ ซึ่งในข้อนี้ เจ้าสาววัยกลางคนคนนี้ก็ปฏิบัติมาโดยตลอด ดั่งเช่นวันหนึ่งขณะท่านยังเป็นวกะอยู่ จู่ ๆ คุณแม่อธิการก็สั่งท่านว่า “ซิสเตอร์ริตา เห็นไม้ที่วางอยู่ที่พื้นนั่นไหม” ท่านจึงตอบ “เห็นค่ะ คุณแม่ที่เคารพ” คุณแม่จึงสั่งท่านว่า “หยิบมันและเอาไปปลูกและรดน้ำมันทุกวัน” ท่านก็น้อมรับด้วยความนบนอบว่า “ได้ค่ะ คุณแม่ที่เคารพ” และได้ปฏิบัติดังนั้น ฝั่งซิสเตอร์คนอื่น ๆ เมื่อเห็นท่านปฏิบัติเช่นนั้นก็มิได้เห็นว่าเป็นเรื่องตลก แต่กลับมองเป็นที่น่ายกย่องเสียอีก
ท่านเพียรรดน้ำกิ่งไม้นั้นตลอดปีด้วยความนบนอบ จนที่สุดวันหนึ่งกิ่งไม้แห้ง ๆ นั้นก็แตกใบ ก่อนจะค่อยเติบโตขึ้นเป็นเถาองุ่นที่สวยที่สุดและให้ผลมากที่สุดในสวนของอาราม ซึ่งแม้ในปัจจุบันเหตุการณ์นี้จะผ่านล่วงมามากกว่า 600 ปีแล้ว เถาองุ่นเดียวกันกับที่ท่านปลูกก็ยังคงยืนต้นสง่าเป็นประจักษ์พยานถึงอัศจรรย์แห่งการนบนอบ ให้ผู้คนที่แวะเวียนไปยังอารามมัดเดลีนาได้ชื่นชม และยังคอยให้ผลผลิตที่บางส่วนก็ถูกแบ่งไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปา ให้พระคาร์ดินัลบางองค์ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูง ๆ บางคน นอกจากนี้ใบแห้ง ๆ หรือผงจากมันก็ยังถูกส่งไปทั่วโลกในฐานะพระธาตุ เพื่อมอบให้แด่ผู้กำลังอยู่ในความต้องการ และก็มีรายงานอัศจรรย์การรักษามากมายที่เกิดผ่านใบขององุ่นต้นนี้
บันไดขั้นที่สองตามที่ท่านเข้าใจก็คือ ‘จิตตารมณ์แห่งความยากจน’ ท่านตัดสินใจเลียนแบบความยากจนของพระคริสตเจ้า เจ้าบ่าวที่รักของท่าน ตามที่ท่านรำพึงถึงในทุกวัน ตลอดชีวิตท่านเลือกที่จะสวมเครื่องแบบคณะชุดเดียวกัน กับที่ท่านได้ในวันแรกที่ท่านเข้าอาราม ไม่เว้นแม้แต่ในยามจะสิ้นใจ หรือสิ้นใจไปท่านก็ยังคงถูกฝังไปพร้อมเครื่องแบบคณะที่ไม่เพียงเก่าคร่ำครึ แต่ยังมีรอยปะแล้วปะอีกเต็มไปหมด ส่วนห้องพักเล็ก ๆ ของท่านก็ไม่ได้หรูหราอะไร ตรงกันข้ามมันมีเพียงที่คุกเข่า , ม้านั่งยาวที่ท่านทำเป็นเตียงนอน และหมอนหินที่ท่านใช้หนุนนอน ทั้งนี้ท่านจะรับอาหารเพียงวันละหนึ่งมื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นขนมปังและน้ำ
นักบุญริตาในเครื่องแต่งกายอารามมัดเดลีนาแบบดั้งเดิม |
เมื่อใดก็ตามที่ท่านจำต้องออกไปนอกอาราม ท่านจะเอาผ้าคลุมศีรษะลงปรกหน้าไว้ และไม่พูดคุยกับใครระหว่างทาง ดังนั้นเองด้วยวิธีนี้ท่านจึงบรรลุถึงบันไดขั้นที่สามตามที่ท่านเข้าใจก็คือ ‘จิตตารมณ์แห่งพรหมจรรย์’ และเพื่อรักษาความเงียบไว้ ท่านยังอมหินก้อนเล็กไว้อีกด้วย
ท่านจะนอนหลับเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือตลอดคืนนั้น ท่านมักใช้ไปกับการสวดภาวนาและการทำงานเย็บปักถักร้อย นอกนี้ที่สีข้างท่านก็จะสวมผ้าหยาบ ๆ ที่ถักจากหนาม ซึ่งจะแทงเนื้ออ่อน ๆ ของท่านจนเป็นแผล และยังเฆี่ยนตีตัวท่านด้วยโซ่เส้นเล็ก ๆ และสายหนัง โดยเฆี่ยนครั้งแรกเพื่อวิญญาณในไฟชำระ ครั้งที่สองเพื่อผู้มีอุปการคุณต่ออาราม และครั้งที่สามเพื่อวิญญาณที่ยังตกอยู่ในบาป แต่ก็น่าแปลกที่ว่าตลอดชีวิตที่เหลือ แม้ท่านจะมีร่างกายที่ผอมบางจนเห็นกระดูก หรือพลีกรรมอย่างหนักหน่วงแค่ไหน ท่านก็ไม่เคยล้มป่วยลงเลยสักครั้ง
พระเป็นเจ้าทรงพอพระทัยข้ารับใช้ผู้นี้ และได้ทรงกระทำการอัศจรรย์ผ่านท่านหลายครั้ง เช่นคราวหนึ่งสตรีนางหนึ่งซึ่งลูกป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ได้เดินทางมาขอความอนุเคราะห์จากท่าน ท่านก็บอกให้เธอมีความเชื่อ และกลับไปเธอก็จะพบว่าลูกของเธอได้รับการรักษาแล้ว หลังจากนั้นท่านจึงเข้าไปสวดในวัดน้อย ส่วนสตรีนางนั้นก็กลับไป และก็พบตามที่ท่านบอกไว้จริง
อีกคราวหนึ่งมีสตรีนางหนึ่งถูกจิตชั่วร้ายครอบงำมานานหลายปีมาหาท่าน ท่านจึงช้อนดวงตาของขึ้นไปยังสวรรค์เพื่อสวดภาวนา แล้วจึงทำสำคัญมหากางเขนเหนือศีรษะของเธอ บัดดลจิตชั่วร้ายก็ละจากสตรีนั้นไป ซึ่งจะว่าไปแล้ว ความจริงในชีวิตของท่านการต่อสู้ระหว่างท่านกับสิ่งชั่วร้ายก็มีบันทึกไว้หลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกครั้งไป ท่านก็ไม่เคยแสดงความหวาดกลัวต่อมัน ซ้ำยังไล่พวกมันออกไปด้วยสำคัญมหากางเขน
พระเป็นเจ้าทรงเฝ้าทอดพระเนตร ท่านที่เพียรทรมานตนด้วยพลีกรรมรูปแบบต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจจะร่วมส่วนในพระมหาทรมานของพระบุตรเสมอภายในรั้วอารามมาโดยตลอด และที่สุดพระเยซูเจ้าก็ทรงประทานโอกาสให้ท่านได้มีส่วนในพระมหาทรมานของพระองค์ ด้วยพระหรรษทานที่ไม่เคยมีใครนับตั้งแต่อดีตหรือปัจจุบันจะเคยได้รับ นั่นคือ ‘หนามมงกุฎ’ ซึ่งเกิดขึ้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ปี ค.ศ. 1432 โดยมีเรื่องเล่าว่า วันนั้นนักบุญยาโกโม แห่ง มาร์กา พระสงฆ์คณะภารดาน้อย ได้เดินทางมาเทศน์ที่วัดนักบุญมารีอา เกี่ยวกับเรื่องพระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า โดยเน้นหนักไปทางเรื่องมงกุฎหนาม ซึ่งในวาระนั้นท่านในวัย 51 ปีก็มีโอกาสได้ฟังคำเทศน์นี้ และได้ร้องไห้อย่างหนักประดุจหนึ่งหัวใจแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ตลอดการเทศน์
และเมื่อการเทศน์จบลง ท่านรีบกลับไปยังห้อง แล้วหมอบราบลงแทบเชิงกางเขน พลางรำพึงนึกถึงความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากหนามมงกุฎของเจ้าบ่าวที่รักของท่าน ท่ามกลางบรรยากาศแห่งสายัณห์ ท่านร้องทูลต่อพระองค์ว่าขอให้ทรงประทานอย่างน้อย ๆ หนามสักหนึ่งก้าน จากทั้งหมดเจ็ดสิบสองก้าน ที่แทงพระเศียรอันน่าสงสารของพระองค์ จนต้องทรงได้รับทุกขเวทนาเหลือล้นแก่ท่าน เพื่อว่าท่านจะได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับความเจ็บปวดนี้
ตำแหน่งที่นักบุญริตาได้รับหนามจากมงกุฏหนาม |
ฝั่งเจ้าบ่าวของท่านเอง เมื่อได้สดับดังนั้น ก็ทรงตอบรับคำภาวนานี้ในทันที กล่าวคือพระองค์ทรงส่งหนามจากมงกุฎของพระองค์ให้พุ่งลงมาแทงทะลุหน้าผากของท่าน ดังคำอธิบายต่อไปนี้ “ทรงกระทำให้มงกุฎหนามของพระองค์(ตามภาษาพูด)กลายเป็นคันธนู และให้หนามหนึ่งอันเป็นลูกศร พระเยซูเจ้าทรงยิงลูกศรนี้ลงบนหน้าผากของนักบุญริตา ด้วยกำลังที่พอจะส่งมันให้แทงทะลุเนื้อและกระดูก และทิ้งรอยแผลที่คงอยู่กลางหน้าผากของท่านตลอดชีวิต และแม้ในเวลานี้รอยแผลนี้ก็ยังคงเห็นได้อย่างชัดเจน”
เมื่อหนามปักลงบนหน้าผากของท่าน บัดดลความเจ็บปวดก็แผ่ซ่านไปทั่วร่าง จนชนิดท่านเป็นลมล้มหมดสติไป และนี่ถ้าไม่ใช่เป็นน้ำพระทัยพระเป็นเจ้าที่ทรงประสงค์ให้ท่านมีชีวิตต่อไปแล้วไซร้ ท่านก็คงจะจากไปด้วยความเจ็บปวดนี้ แต่เพราะนี่คือน้ำพระทัยของพระเจ้าให้ท่านมีชีวิตต่อ ท่านจึงฟื้นคืนสติขึ้นมา และนับแต่นั้นทุก ๆ วันอาการปวดของท่านก็จะยิ่งทวีขึ้นเรื่อย ๆ ซ้ำร้ายบาดแผลก็ยังดูน่าเกลียดน่าชัง ทั้งส่งกลิ่นเหม็น เป็นที่น่าขยะแขยงเป็นยิ่งนัก
และก็เนื่องด้วยสภาพบาดแผลที่บรรยายข้างต้นนี้เอง ก็ทำให้หลาย ๆคนที่เข้าใกล้ท่าน มีอันต้องอยากอาเจียนไปเสียทุกราย ท่านจึงใช้โอกาสนี้ขออนุญาตคุณแม่อธิการใช้เวลาส่วนมากอยู่แต่ในห้องของท่านเอง และก็ยังคงมีความสุขดั่งเช่นปกติ นอกนี้ก็ด้วยบาดแผลนี้เองก็ยังทำให้ท่าน ได้มีโอกาสฝึกความอดทนด้วยวิธีใหม่ ๆ และได้วิธีระลึกถึงความเจ็บปวดของพระคริสตเจ้าใหม่เช่นกัน นั่นคือด้วยเจ้าหนอนตัวน้อย ๆ ที่อาศัยตัวอยู่ที่แผลเปิดของท่าน ซึ่งท่านเรียกมันว่า ‘เทวดาน้อยของฉัน’ นั่นเอง
ต่อมาในปี ค.ศ. 1450 สมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ทรงประกาศให้ปีนั้นเป็นปีศักดิ์สิทธิ์ พร้อมประกาศว่าผู้มาแสวงบุญมายังกรุงโรมทุกคนจะได้รับพระคุณการุณย์ ที่อารามมัดเดลีนาเมื่อทราบข่าวนี้ คุณแม่อธิการก็ได้อนุญาตให้ซิสเตอร์หลายคนไปแสวงบุญ ท่านเองก็ปรารถนาจะร่วมในการแสวงบุญครั้งนี้ ท่านจึงทรุดลงแทบเท้าของคุณแม่อธิการเพื่อขอไปแสวงบุญ แต่เนื่องด้วยคุณแม่อธิการกลัวว่าผู้คนจะสังเกตเห็นแผลน่าเกลียดน่าชัง และได้กลิ่นเหม็นจากแผลท่านจะทำให้อารามเสื่อมเสียเกียรติ และด้วยอายุที่ค่อนข้างมากโขของท่าน คุณแม่จึงปฏิเสธไม่ให้ท่านไป เว้นเสียแต่แผลของท่านจะหายสนิท
ท่านเมื่อทราบเช่นนั้น จึงรีบวิ่งไปทรุดลงแทบบาทของพระเยซูเจ้า เพื่อทูลให้พระองค์ทรงนำแผลนี้ออกไป แต่เวลาเดียวก็ขอให้คงไว้ซึ่งความเจ็บปวดจากบาดแผลนี้ ทันใดแผลที่เคยอยู่บนหน้าผากของท่านก็อันตรธานหายไป ท่านที่สังเกตเห็นเช่นนั้น จึงรีบวิ่งกลับไปหาคุณแม่อธิการ ผู้ต้องผงะด้วยความประหลาดใจต่อภาพเบื้องหน้า และได้อนุญาตให้ท่านติดตามคณะซิสเตอร์บางส่วนไปแสวงบุญที่กรุงโรม
ในวัย 69 ปี ท่านจึงได้ติดตามคณะซิสเตอร์ไปแสวงบุญยังวัดสำคัญต่าง ๆ รวมถึงสุสานของบรรดามรณสักขีในกรุงโรม ตลอดการเดินทางหลาย ๆ คนที่ได้ใกล้ชิดท่านในเวลานั้นต่างสัมผัสได้ถึงกลิ่นหอมแห่งความศรัทธาพิเศษและความศรัทธาจากวิญญาณของท่าน และเมื่อเดินทางกลับมาถึงอารามมัดเดลีนา ทันทีที่ท่านก้าวพ้นธรณีประตู ทั้งแผลน่าเกียจน่าชัง กลิ่นชวนเหียนและหนอนตัวน้อยก็ปรากฏกกลับมาพร้อมอาการเจ็บอย่างรุนแรงดังเดิม มีบันทึกว่าเวลานั้นมี ‘เทวดาน้อยของท่าน’ ตัวหนึ่งเกิดตกจากแผลของท่าน ท่านก็บรรจงหยิบมันขึ้นมาและวางมันไว้ที่แผลดังเดิม และหลังจากนั้น ท่านจึงกลับไปใช้ชีวิตแต่ลำพังในห้อง เพื่อยังความสะดวกแก่ซิสเตอร์คนอื่น ๆ ต่อไป
จนกาลเวลาล่วงเลยผ่าน เพียงแป๊บ ๆ ท่านก็กลับมาอารามได้สี่ปีแล้ว สุขภาพที่เคยแข็งแรงก็ค่อย ๆ ถดถอยไปตามอายุ อาการปวดที่เคยเป็นแต่เดิม เวลานี้ก็ทวีมากขึ้น แต่ก็ไม่เคยเกินกำลังของท่าน ท่านยังคงน้อมรับกางเขนนี้ดุจเดียวกับบรรดามรณสักขีทั้งหลายอย่างอาจหาญ และก็เป็นเวลานี้ ที่เจ้าบ่าวสวรรค์ของท่านได้เสด็จมา และปลอบประโลมใจท่านอยู่หลายต่อหลายครั้ง จนทำให้วิญาณที่กระหายของท่านกลับสดชื่น แต่เวลาเดียวกันเมื่อพระองค์ทรงละจากท่านไป พระองค์ทรงฝากแผลลึกไว้ในหัวใจน้อย ๆ ของท่าน จนท่านยิ่งล้มป่วยลงอีกด้วยความรักของพระเจ้าเข้าไปอีก
ตลอดสี่ปีสุดท้ายในชีวิต อาการป่วยไข้ก็ทำให้ท่านมีอันต้องล้มหมอนนอนเสื่ออยู่ตลอด แต่กระนั้นตลอดเวลาบนที่นอน ท่านก็ไม่เคยปริปากบ่น และหล่อเลี้ยงชีวิตอันไม่จีรังด้วย ‘ศีลมหาสนิท’ แต่เพียงอย่างเดียว นอกนี้แล้ว จากบนที่นอนท่านก็ยังได้ส่งต่อแสงไฟแห่งแรงบันดาลใจให้กับดวงใจของทุกคนที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมท่าน จากทั้งความอดทน และความร่าเริงสดใสที่ท่านมีอยู่ตลอด
มาถึงตอนนี้หากจะไม่กล่าวถึงที่มาแห่ง ‘ดอกกุหลาบนักบุญริตา’ ก็จะเป็นการไม่ครบสมบูรณ์ยิ่งสำหรับชีวประวัติของข้ารับใช้พระเจ้าผู้นี้ โดยเรื่องของอัศจรรย์นี้มีอยู่ว่า วันหนึ่งในเดือนมกราคม ปีหนึ่ง ลูกพี่ลูกน้องของท่านคนหนึ่งแวะมาเยี่ยมท่านที่นอนซมด้วยอาการป่วย และถามท่านว่าท่านอยากได้อะไรไหม เหมือนได้รับการดลใจจากสวรรค์ จู่ ๆ ท่านก็ตอบกลับไปว่า ท่านอยากได้ดอกกุหลาบและผลมะเดื่อสักสองลูกจากบ้านเก่าของท่านที่ร๊อกกา ปอร์เรนา ซึ่งท่านขายและเอาเงินไปให้คนยากไร้แล้ว
ฝั่งญาติของท่านเมื่อทราบความตั้งใจ ทีแรกก็ท้วงว่าเวลานี้สองสิ่งนั้นหาไม่ได้แน่นอน แต่ท่านก็ยังคงยืนยันคำเดิม ญาติของท่านที่แม้จะไม่เชื่อว่าจะพบ และคิดว่าท่าคงเพ้อตามประสาคนป่วย เพราะเวลานี้เป็นหน้าหนาว ทุก ๆ ที่ต่างปกคลุมไปด้วยหิมะและหิมะ พืชพันธุ์อะไรก็ต่างพลัดใบนิทรา จึงตัดสินใจไปที่บ้านเก่าของท่าน และเมื่อนางก้าวเท้าเข้าไปที่สวนของบ้าน พลันแทนที่นางจะพบแต่หิมะดั่งคาด นางกลับพบดอกกุหลาบสีแดงดอกหนึ่ง เบ่งบานชูดอกอยู่ท่ามกลางหิมะ และผลมะเดื่อสองผลที่ต้น นางจึงรีบตรงเข้าไปเด็ดทั้งสองสิ่ง และรีบเอาไปให้ท่านที่อาราม
บริเวณที่เกิดอัศจรรย์ดอกกุหลาบในปัจจุบัน |
ที่อาราม เมื่อท่านรับทั้งสองสิ่งมาแล้ว ท่านก็บรรจงยกมันขึ้นจูบและโมนาคุณพระเจ้าเช่นเดียวกับซิสเตอร์คนอื่น ๆ ที่ได้เห็น และภายหลังเพื่อระลึกถึงเหตุอัศจรรย์นี้ ทุกปีในวันฉลองนักบุญริตาจึงมีการจัดให้มีการเสกกุหลาบ และแจกจ่ายกุกลาบเสกนั้นให้บรรดาสัตบุรุษที่วัดของอารามมัดเดลีนา นอกจากนี้ยังมีการสร้างอนุสรณ์ไว้ตรงบริเวณสวนที่บ้านเก่าของท่าน ส่วนที่อารามเอง ก็มีการสร้างสวนกุหลาบไว้ที่บริเวณข้างห้องพักของท่านอีกด้วย
อัศจรรย์นี้มีเพื่อประการใด เพื่อรับรองความศักดิ์สิทธิ์ของข้ารับใช้พระเจ้าผู้ต่ำต้อยผู้นี้หรือ เปล่าเลย เพราะอัศจรรย์นี้คือเครื่องหมายว่า เวลาแห่งการกลับบ้านใกล้มาเยือนแล้ว ซึ่งท่านก็ทราบดีว่าเวลานี้ใกล้แล้ว อาศัยการไขแสดงของพระเป็นเจ้า “ท่านเสมือนได้ยินวาทะคล้ายกับที่หนุ่มคู่รักในเพลงซาโซมอนพูดกับสาวคู่รักด้วยจิตสมัครรักใครว่า ‘รีบลุกขึ้นเถอะ ที่รักของฉันเอ๋ย นกพิราบของฉัน คนสวยของฉัน และมาเถิด เพราะฤดูหนาวผ่านไปแล้ว ดอกไม้ต่างๆปรากฏขึ้นมาบนแผ่นดิน และต้นมะเดื่อเทศก็ออกผลสีเขียวให้เธอ ขอฉันได้เห็นหน้าและได้ยินเสียงของเธอสักหน่อยเถิด เพราะเสียงของเธอนั้นไพเราะและใบหน้าของเธอก็งดงาม’”
ท่านนอนรอเวลาที่ประตูสวรรค์จะถูกเปิดออกให้ท่าน เพื่อท่านจะได้กลับสู่บ้านแท้ด้วยความหวัง จนวันหนึ่งพระเยซูเจ้าพร้อมแม่พระก็ทรงประจักษ์มาหาท่านเป็นระยะเวลาสั้น ๆ พระองค์ตรัสกับท่านว่า “เราคือเจ้าบ่าวสวรรค์ของลูก ผู้จุดไฟแห่งความรักพระเจ้าในหัวใจของลูก และเติมวิญญาณของลูกให้เต็มไปด้วยคุณธรรมตามความปรารถนาอันร้อนรนของลูก เวลานี้เรามาเพื่อบอกข่าวที่น่ายินดีกับลูก ริตา ไม่ช้า ลูกจะละจากโลกนี้ไป สู่ความอภิรมย์ยินดีใยชีวิตนิรันดร์ที่เหลือในแดนสวรรค์ของลูก”
คำประกาศของพระเยซูเจ้านี้ ทำให้ดวงใจของท่านก็เอ่อล้นไปด้วยความสุข ผิดกลับซิสเตอร์ทุกคนที่คุกเข่าอยู่รอบตัวท่าน ที่ต่างมองไปที่ซิสเตอร์ที่พวกเธอรักด้วยหยาดน้ำตา หลังทราบเรื่องดังกล่าว เพราะเวลาแห่งการสูญเสียสำหรับพวกเธอกำลังใกล้เข้ามาแล้ว และเมื่อท่านเห็นว่าเวลาที่ท่านรอคอยนั้นใกล้มาถึง ดังคำประกาศของเจ้าบ่าวของท่าน ท่านจึงจัดแจงรีบขอให้ทุกคนยกโทษให้สำหรับความบกพร่อง ความไม่เอาไหน และความยากลำบากที่ท่านได้ก่อให้ซิสเตอร์ทุกคนจากแผลที่ศีรษะ และการอยู่แต่ในห้องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในท่ามกลางน้ำตาแห่งการต้องพลัดพรากของซิสเตอร์ผู้คอยปลอบโยนของบรรดาซิสเตอร์รอบตัวเธอ ท่านบอกกับทุกคนว่าท่านพร้อมเสมอที่จะ ‘ปิดดวงตาของท่านจากโลกนี้ และลืมขึ้นเบื้องหน้าพระเจ้า’ เพื่อว่าท่านจะได้อยู่ร่วมกับเจ้าบ่าวที่รักยิ่งในสวรรค์ หลังจากนั้นท่านจึงขอรับศีลเสบียง และเมื่อได้รับตามความประสงค์แล้ว ท่านจึงวิงวอนขอให้เจ้าบ่าวที่รักทรงเปิดประตูสวรรค์ให้ท่าน และจึงร้องเรียกหาแม่พระ บรรดานิกรสวรรค์ และผู้เสนอวิงวอนของท่าน นักบุญยอห์น บัพติสต์ นักบุญออกัสติน และนักบุญนิโกลัส แห่ง โตเลนติโน ให้ช่วยพาท่านเข้าสู่ปราสาทแห่งสันตินิรันดร์
หลังจากนั้นท่านจึงขอให้คุณแม่อธิการอวยพรท่าน และได้สั่งเสียว่า “จงรักพระเจ้าเหนือทุกสิ่ง ความดียิ่งของพระองค์ไม่รู้สิ้นสุด และความงามของพระองค์หาใดเปรียบ พวกเธอควรจะรักษาจิตใจของเธอให้คงมั่นอยู่ ณ เบื้องหน้าความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงมีให้พวกเธอทั้งในฐานะพระบิดา เจ้าบ่าว และเจ้านายอยู่เสมอ จงรักซึ่งกันและกันด้วยความจริงใจต่อกันและความรักอันศักดิ์สิทธิ์ จงหมั่นปฏิบัติตามธรรมนูญที่พวกเธอได้ยอมรับ และให้ความเคารพด้วยความรักในฐานะนักบวชต่อผู้ยิ่งใหญ่ของพวกเรา และภารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ นักบุญออกัสติน ผู้ได้ชี้นำพวกเธอ โดยธรรมนูญของท่าน อันคือราชมรรคาที่นำไปสู่พระสิริรุ่งโรจน์ จงนบนอบต่อพระศาสนจักรมารดาอันศักดิ์สิทธิ์ และคุณแม่อธิการของพวกเธอ เช่นที่พวกเธอเคยสัญญาไว้ยามพวกเธอปฏิญาณ”
พูดดังนี้แล้ว ท่านจึงอวยพรซิสเตอร์ทุกคนพร้อมเปล่งวาจาว่า “ขอพระเจ้าทรงอวยพรพวกเธอ และขอให้พวกเธอดำรงอยู่ในสันติและความรักแสนศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับเจ้าบ่าวที่รักของพวกเธอ พระเยซูคริสตเจ้าอยู่เสมอเถิด” หลังจากนั้นท่านจึงทอดสายตาไปยังไม้กางเขน และได้คืนวิญญาณไปหาพระเป็นเจ้าอย่างสงบ ในวันเดียวกัน นั่นคือวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1457 ด้วยอายุรวม 76 ปี และถวายตนมาแล้ว 46 ปี
หนึ่งในซิสเตอร์คนหนึ่งได้เห็นทูตสวรรค์องค์หนึ่งนำวิญญาณของท่านไปสู่สวรรค์ และยังมีตำนานเล่าอีกว่าในช่วงเวลาที่นอนซมนี้เอง ก็ปรากฏมีผึ้งบินวนอยู่แถว ๆ ท่านคล้ายตอนท่านเกิด ผิดก็แต่พวกมันเป็นสีดำ ทั้งนี้ภายหลังท่านสิ้นใจยังปรากฏแสงสว่างขึ้นทั่วบริเวณของพักของท่าน ทั่วอารามต่างอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมที่ฟุ้งออกมาจากร่างของท่าน หนอนบนแผลของท่านก็กลายเป็นละอองแสงระยิบระยับดุจดวงดาวบนนภา และแผลบนหน้าผากของท่านก็ปรากฏแสงสุกใสดั่งทับทิม ร่างของท่านยังคงอ่อนนุ่มและดูเหมือนมีชีวิต ใบหน้าของท่านเปี่ยมด้วยสันติและดูอ่อนเยาว์ลงมาก
เสียงระฆังดังย่ำขึ้นในอารามโดยที่ไม่มีใครตี ประดุจหนึ่งคือทำนองแห่งความยินดีที่บรรดานิกรสวรรค์แจ้งแก่ทุกคน ว่าบัดนี้ข้ารับใช้พระเจ้าผู้นี้ได้ไปรับบำเหน็จในสวรรค์แล้ว ร่างไร้วิญญาณของท่านยังคงสวมุดคณะชุดเดียวกับที่ท่านใส่ในวันแรกที่ท่านเข้าอาราม และในพิธีปลงศพของท่าน อัศจรรย์ก็ได้เกิดขึ้นแก่บรรดาสัตบุรุษที่ได้เข้ามาอำลาท่าน หนึ่งในนั้นคือญาติของท่านคนหนึ่ง ที่แขนข้างเป็นอัมพาตมาหลายปี แต่พอได้เข้าคารวะศพของท่าน บัดดลแขนที่เคยขยับไม่ได้ก็ขยับได้
หลังจากพิธีปลงศพร่างของท่านซึ่งบรรจุในโลงไม้ไซเปรส ก็ถูกเคลื่อนไปตั้งไว้ใต้พระแท่นที่สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ท่านได้รับหนามมงกุฎ และภายหลังเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ (น่าจะในปีเดียวกันกับที่ท่านสิ้นใจ) แต่ร่างของท่านรอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ จึงมีการว่าจ้างให้นายฟรังเชสโก บาร์บารี ช่างไม้ประจำเมืองกาสชาต่อโลงใหม่ แต่เวลานั้นเขากำลังป่วยหนักชนิดไม่อาจขยับมือและเท้าของเขาได้ เขาจึงสัญญากับบรรดาซิสเตอร์ที่ไปติดต่อว่าเขาจะต่อโลงให้ หากเขาได้รับการรักษาให้หายอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน และเพียงบัดดลเขาก็ได้รับการรักษา ดังนั้นเข้าจึงต่อโลงไม้ตามที่สัญญาไว้
โลงศพของนักบุญริตา ฝีมือการเขียนของจิตรกรอันโตนีโอ |
บนโลงใหม่ได้จิตรกรชื่อ อันโตนิโอ แห่ง นอสชา (1457) รับหน้าที่เป็นผู้วาดภาพตกแต่ง โดยที่ฝาโลงวาดเป็นรูปท่านในเครื่องแบบคณะเดิมของอารามนอนสิ้นใจอย่างสงบ ซึ่งปัจจุบันโลงนี้ยังถูกเก็บรักษาอย่างดีในอาราม ส่วนร่างของท่านที่ไม่เน่าเปลื่อยนั้น ปัจจุบันก็ได้รับการย้ายไปเก็บในโลงแก้วและตั้งไว้ ณ วัดที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นเกียรติแด่ท่านโดยการนำของบุญราศีมารีอา เตแรสซา ฟาสเช ผู้มีความศรัทธาต่อท่านเป็นยิ่งนัก
อีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่ท่านมาโดยตลอดก็คือเจ้าผึ้งน้อยที่ต่างพากันติดตามท่านมาอยู่ในอาราม พวกมันคอยวนเวียนอยู่แถว ๆ ผนังอาราม โดยไม่เคยทำรังหรือทำน้ำผึ้งมาเลยตลอดหลายทศวรรษนับตั้งแต่วันที่มันมาพร้อมท่าน และทุกปีพวกมันจะพากันหายไปจากอารามในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ และกลับมาอีกทีในวันฉลองนักบุญริตา นอกนี้แล้วก่อนมันจะบินไปไหนมาไหนในอาราม มันก็มักบินไปยังห้องที่ท่านเคยพัก ประดุจหนึ่งไปขออนุญาตท่านอีกด้วย
มีอัศจรรย์มากมายเกิดขึ้นทั้งจากผ้าที่พวกซิสเตอร์นำไปสัมผัสร่างที่ไม่เน่าสลายของท่าน แล้วนำมาตัดแบ่งแจกจ่ายเป็นพระธาตุ และจากน้ำมันตะเกียงที่พระแท่นตั้งร่างของท่าน จดเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างปี ค.ศ. 1457 – ค.ศ. 1563 ถึงสี่สิบหกรายการ นอกนั้นยังมีรายงานอีกว่าร่างของท่านลอยสูงขึ้นเองในหลาย ๆ โอกาส โดยเฉพาะในวันที่ 22 พฤษภาคม แต่แม้นความเคารพในตัวท่านจะแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วในหมู่สัตบุรุษ กระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญก็กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศีถูกเปิดขึ้นหลังมรณกรรมของท่านถึง 169 ปี ในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1626 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาอูร์บันที่ 8 ผู้ทรงรู้จักท่านดี และเคยดำรงตำแหน่งเป็นพระสังฆราชแห่งสโปเลโต (กาสชาสังกัดอยู่กับสังฆมณฑลนี้) ในกาลนั้นพวกซิสเตอร์ในอารามก็ได้ส่งผึ้งสามตัวที่อยู่ที่อารามไปให้สมเด็จพระสันตะปาปาทอดพระเนตรอีกด้วย
และที่สุดในวันที่ 1 ตุลาคม ปีถัดมา พระองค์ก็ทรงบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศี หลังจากนั้นในวันรุ่งขึ้น พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้สังฆมณฑลสโปเลโตและคณะออกัสตินสามารถประกอบพิธีมิสซาเพื่อฉลองท่านได้ ซึ่งในวันฉลองการแต่งตั้งเป็นบุญราศีนั่นเอง อัศจรรย์ประการหนึ่งก็เกิดขึ้นประหนึ่งเป็นการรับรองความศักดิ์สิทธิ์ของข้ารับใช้พระเจ้าผู้นี้ นั่นคือเมื่อถึงเวลาทำวัตรเย็นทั้งพระสงฆ์พื้นเมืองและพระสงฆ์สังกัดคณะออกัสตินก็ต่างแย่งกันที่จะนำสวด พวกซิสเตอร์ในอารามเมื่อเห็นเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น ก็ต่างพากันวิตกว่าจะบานปลายไปกันใหญ่ ทั้งหมดจึงพากันสวดขอต่อพระเจ้าอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน เพื่อให้ทรงระงับเหตุพิพาทนี้ และไม่นานร่างของท่านที่ไม่เน่าเปื่อยก็ลอยขึ้น พร้อม ๆ กับเปิดตาที่ปิดสนิทมานับตั้งแต่วันที่ท่านสิ้นใจขึ้น บรรดาซิสเตอร์ที่เห็นดังนั้นจึงพากันไปย่ำระฆังของอาราม เพื่อเรียกให้ทุกคนมาร่วมกันเป็นประจักษ์พยานต่อการอัศจรรย์คราวนี้ ซึ่งทันทีที่บรรดาสงฆ์ซึ่งกำลังรวิวาทกันอยู่ไดเห็นดั่งนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีคำพูดใด ๆ เพื่อระงับข้อวิวาทอีก สันติและความเข้าใจกันจึงกลับมายังงานฉลองอีกครั้ง
ร่างนักบุญริตา ที่ไม่เน่าเปลื่อย |
ภายหลังจากได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศีแล้ว อัศจรรย์มากมายอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่านก็ยังคงถูกรายงานมาเรื่อย ๆ อาทิเช่นกรณีของซิสเตอร์กอนสตันซา อธิการิณีของอารามัดเดลีนาในขณะนั้นซึ่งพบว่าเหล้าองุ่นในอารามหมดและอารามก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้อมา เธอจึงไปสวดหน้าร่างของท่าน เพียงไม่นานก็มีชายคนหนึ่งนำไวน์ถังใหญ่มาเคาะประตูอาราม และเมื่อนำไวน์มาเก็บที่ห้องใต้ดินแล้ว ชายปริศนาก็หายไปพร้อมกับเกวียนเทียมลาก็หายวับไป เหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันยังเกิดอีกครั้งเมื่อเหล้าองุ่นในอารามหมด แต่คราวนี้ ภรรยาเหรัญญิกประจำเมืองกาสชาก็ได้ยินเสียงหนึ่งบอกกับหล่อนว่า “จงเอาเหล้าองุ่นไปให้บรรดาซิสเตอร์ผู้ขาดแคลน” (เชื่อกันว่าคือเสียงของท่าน) นอกนี้หลาย ๆ ครั้งท่านก็มักส่งพระสงฆ์ให้ไปหาซิสเตอร์ที่กำลังเข้าตรีทูตหรือป่วยเพื่อส่งศีลเสบียงให้พวกเธออีกด้วย
ล่วงมาถึง ค.ศ. 1737 ชาวเมืองกาสชาและคณะออกัสตินก็ได้ร่วมกันผลักดันการสถาปนาท่านเป็นนักบุญ แต่ก็ไม่วายโดยเหตุการณ์บ้านเมืองขัด จนต้องพักโครงการไปจนถึงปี ค.ศ. 1853 และเมื่อเกิดอัศจรรย์การรักษากอสมา เปลเลจรินี ชาวเมืองกอนแวร์ซาโน กระบวนการของท่านจึงถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกในปี ค.ศ. 1887 และเมื่อส่งเรื่องเข้าทางโรม ในปี ค.ศ. 1899 ทางโรมก็ได้อนุมัติอัศจรรย์ถึงสามประการประกอบการแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญนั่นคือ กลิ่นหอมจากร่างของท่าน การรักษาเด็กหญิงเอลิซาเบ็ตตา แบร์กามินี และกอสมา เปลเลจรินีซึ่งต่างป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย ดังนั้นเองในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1900 สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 จึงทรงประกอบพิธีสถาปนาท่านขึ้นเป็นนักบุญ
ในหนังสือบุตรสิลาได้เขียนไว้ว่า “ดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นจากขอบฟ้า ประกาศว่าพระราชกิจของพระผู้สูงสุดน่าพิศวงยิ่งนัก” (บุตรสิลา 43 : 2) เป็นจริงดังนั้น เพราะพระราชกรณียกิจของพระเจ้าในชีวิตของมนุษย์ หรือน้ำพระทัยพระ นับเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ และน่าพิศวง อยู่เหนือการคาดเดาได้ของมนุษย์ และบางคราวเป็นสิ่งที่ขัดกับน้ำใจมนุษย์ ดั่งที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่าในบทข้าแต่พระบิดา ที่คริสตชนสวดอยู่ทุกวัน ข้อความหนึ่งที่เป็นไปได้ยากที่สุดในบรรดาคำขอทั้งหมดในหมดดังกล่าว ก็คือ ‘พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์’ แต่กระนั้นก็ตามน้ำพระทัยของพระต่อชีวิตมนุษย์นั้น ก็ล้วนเป็นสิ่งดี และเหมาะสมกับมนุษย์คนนั้น ๆ ทั้งคือ ทางที่มุ่งตรงไปยังสวรรค์ และคือทางในการใช้พระพรที่พระทรงมอบให้มนุษย์แต่ละคน ดั่งอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ได้อย่างดีที่สุด
76 ปีในการเดินทางของนักบุญริตา แห่ง กาสชา ได้แสดงให้เห็นถึงความน่าพิศวงของน้ำพระทัยพระเป็นเจ้าต่อชีวิตหญิงคนหนึ่ง ที่มีความตั้งใจจะบวชเป็นซิสเตอร์ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แต่เมื่อได้สวดภาวนาเงี่ยหูฟังน้ำพระทัยของพระเจ้า จึงได้กลายมาเป็นภรรยาที่ได้ทำให้สามี ผู้มีจิตใจหยาบกระด้างได้กลับมาหาพระเป็นเจ้า มารดาผู้ปกป้องวิญญาณของบุตรชายทั้งสองให้พ้นจากอบายของปีศาจ ผู้นำความสันติมาสู่ตระกูลสองตระกูลที่บาดหมางกันมา และที่สุดภคินีในอารามสมดั่งที่ท่านเคยวาดฝันไว้ในวัยเยาว์ด้วยหนทางอันน่าพิศวง ทั้งกลายเป็นผู้คอยให้คำแนะนำวิญญาณจำนวนมาก ด้วยประสบการณ์การเจริญชีวิตฆราวาสกว่าสิบปี ลองคิดเล่น ๆ ว่าหากท่านเลือกจะปฏิเสธการแต่งงานไป เพื่อเข้าอาราม วิญญาณจำนวนมากเพียงใดจะต้องพินาศไปเพราะความแค้นระหว่างสองตระกูล ที่ไม่มีวันจบวันสิ้น แต่อาศัยการที่ท่านได้แต่งงาน อย่างน้อยที่สุดท่านก็ได้ปกป้องวิญญาณถึงสี่ดวงให้พ้นจากกับดักแห่งความพินาศนี้ (แน่นอนว่า พระเจ้าทรงเสียพระทัยยิ่งนักที่วิญญาณ แค่เพียงดวงเดียวต้องพินาศไป) และยังสามารถนำประสบการณ์ชีวิตเหล่านั้นมา ช่วยวิญญาณอีกจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจนำปัญหาชีวิตมาปรึกษาท่านได้อีกด้วย
ดังนั้นชีวิตของนักบุญริตาจึงเรียกร้องให้คริสตชนเงี่ยหูฟังน้ำพระทัยของพระเจ้าในชีวิต ด้วยการสงบนิ่งอยู่พระองค์ในคำภาวนา ค้นหาดูว่า ดาวเหนือที่นำเราไปสู่เป้าหมายของเรานั้นอยู่ที่ใด และติดตามน้ำพระทัยพระที่ได้รับการเปิดเผยอย่างดีที่สุด ไม่ว่าน้ำพระทัยนั้นจะฝืนกับความต้องการของเราเพียงไหน ด้วยความไว้วางใจดุจเดียวกับองค์พระเยซูเจ้า ที่ทรงน้อมรับน้ำพระทัยพระบิดาอย่างถึงที่สุดจนถึงกับสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ขอให้ชีวิตของนักบุญริตาหนุนนำพวกเรา ในการแสวงหาและติดตามน้ำพระทัยของพระเจ้าของแต่ละคนในชีวิตสั้น ๆ นี้ ให้เราเลียนแบบท่านในการมอบชีวิต 'ให้แล้วแต่พระ' เพราะนี่คือวิถีทางแห่งการสรรเสริญพระเป็นเจ้าที่ดีที่สุด เสียยิ่งกว่าเครื่องบูชาราคาสูง บทเพลงอันไพเราะ หรือถ้อยกวีอันสละสลวย ดั่งที่ท่านบุตรสิลาเขียนไว้ว่า “เมื่อข้าพเจ้าก้าวหน้าเพราะปรีชาญาณ ข้าพเจ้าจะถวายเกียรติแก่ผู้สอนปรีชาญาณให้ข้าพเจ้า” (บุตรสิลา 51 : 17) และในวันหนึ่งที่เราไม่อาจรู้ได้ยามแจ่มชัด “พระเจ้าจะประทานบำเหน็จรางวัลแก่ท่านตามกำหนดเวลาของพระองค์” (บุตรสิลา 51 : 30)
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.sacramentals.org/saintritaofcascia.htm
http://www.saintritashrine.org/life-of-saint-rita/
https://en.wikipedia.org/wiki/Rita_of_Cascia
http://www.tuttocollezioni.it/it/santini-biografia-santa-rita2.php
https://it.wikipedia.org/wiki/Rita_da_Cascia
http://www.lerosemie.it/home/s-rita-da-cascia-la-santa-della-spina-e-della-rosa.html
http://www.santaritadacascia.org/santarita/simbologia-ritiana-rosa.php
http://stellaitblog.blogspot.com/2011/01/rita-da-cascia.html
https://noalsatanismo.wordpress.com/2016/05/20/santa-rita-da-cascia-e-la-forza-del-perdono/
http://www.santuariosantarita.org/1/santa_rita_da_cascia_369628.html
http://www.roccaporena.com/category/santa-rita/
http://www.santaritadacascia.org/en/
http://newsaints.faithweb.com/CCS_Saints2.htm