นักบุญมารีอัม เทรเซีย
St. Mariam Thresia
ฉลองในวันที่ : 6 มิถุนายน
วันหนึ่งแม่พระผู้ท่านมอบความรักให้ดุจเป็นมารดา
ก็ทรงตรัสกับคุณพ่อวิทยาทิลผ่านท่านว่า พระนางปรารถนาให้สร้างอาศรมเพื่อพระนางขึ้นสักหลัง
ดังนั้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1903 คุณพ่อวิทยาทิลจึงได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งแก่พระสังฆราชเมนาเชรี
“ฉันไม่เชื่อเรื่องพวกนี้หรอก ถ้ามันมาจากพระเจ้าจริง มันควรจะได้รับการยืนยันด้วยเครื่องหมายสิ” พระคุณเจ้ากล่าว และปฏิเสธที่จะให้สร้างอาศรม
เพราะท่านมั่นใจว่าปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับท่านตลอดหลายปีนั้น เป็นการกระทำของปีศาจ
พระคุณเจ้าเคยเขียนถึงคุณพ่อว่า
“คุณพ่อที่รักของฉัน
ถ้าสิ่งนี้มาจากพระเจ้าจริง
ท่านก็สามารถที่จะขอให้เธอนบนอบต่อพระเจ้าในทุก ๆ สิ่ง และรับความทุกข์ทรมานทุกอย่างในนามของฉัน
เพื่อว่าอาศัยการมอบตัวของเธอไว้ทั้งครบต่อพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล
และนักบุญยอแซฟ และการอารักษ์ของท่านทั้งสอง เธอจะไม่หลงผิดอีก
คำสั่งพิเศษจะถูกส่งไป
ภายหลังปรึกษากับบรรดาซิสเตอร์ที่อลลูร์แล้ว
และด้วยต้องการทดสอบกระแสเรียก
พระคุณเจ้าจึงลองใจท่านด้วยการแนะให้ท่านไปเข้าคณะฟรังซิสกัน กลาริส (คณะเดียวกันกับนักบุญอัลฟองซา
นักบุญสตรีอินเดียองค์แรก) แต่ท่านปฏิเสธ เพราะท่านคิดว่าท่านมิได้ถูกเรียกให้เข้าคณะดังกล่าว และท่านปรารถนาจะอยู่แต่ลำพัง พระคุณเจ้าจึงขอให้ท่านลองไปเข้าอารามพระแม่มารีย์
ที่ อลลูร์ ของคณะภคินีแห่งพระมารดาแห่งคาร์แมล ซึ่งเวลานั้นมีนักบุญอิวพาเซียแห่งพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า ดำรงตำแหน่งเป็นนวกจารย์ และมี ฯพณฯ เมนาเชรีเป็นวิญญาณารักษ์ เนื่องจากประสบการณ์พิเศษเหนือธรรมชาติของเธอ
ฝั่งท่านในวัย 36 ปีก็น้อมรับ
และได้เดินทางมาถึงอารามพระแม่มารีย์ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1912 ท่ามกลางความยินดีของซิสเตอร์ทุกคนในอาราม ที่นั่นท่านได้รับมอบหมายให้อยู่ภายใต้ความดูแลของซิสเตอร์อิวพาเซีย ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านวิญญาณชิดสนิทกับพระเป็นเจ้า ไม่ต่างอะไรไปจากท่าน และอายุอานามไล่เลี่ยกับท่าน (ซิสเตอร์เกิดหลังท่านปีหนึ่ง) แต่ไม่วายปัญหาและการทดลองต่าง ๆ ก็รุมเร้าเข้ามาหาท่าน
ทั้งปัญหาเรื่องเลือดที่ไหลออกมาจากรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ทุกอาทิตย์
และปัญหาการรังควานของปีศาจ
แต่ท่ามกลางปัญหาเหล่านั้น
วิญญาณของท่านก็ฉายแสงแห่งความศักดิ์สิทธิ์ออกมา
ซิสเตอร์หลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘วิญญาณที่นบนอบ ถ่อมตน รับใช้ และการบำเพ็ญพรตของท่านเป็นแบบอย่าง’
และรู้สึกว่าเหตุการณ์เหนือธรรมชาติต่าง ๆ ของท่านไม่ได้เป็นเรื่องน่าอับอาย ตรงข้ามกลับเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับอาราม
ดังนั้นซิสเตอร์ทุกคนจึงปรารถนาให้ท่านอยู่ที่อารามนี้ต่อ
และยื่นข้อเสนอว่าพร้อมจะรับท่านโดยไม่เอาค่าสินสอดใด ๆ แต่พระคุณเจ้าได้ปรามไว้และขอให้พวกเธอรอสักระยะ
กลับมาที่ปุเทนชิระ เมื่อท่านจากไป ทั้งหมู่บ้านก็มีแต่ความทุกข์ ทุกคนคิดถึงท่านและต่างอยากให้ท่านกลับมาอยู่ที่นี่
ดังนั้นเพียงเดือนเดียวที่ท่านไป
คุณพ่อเจ้าวัดจึงได้ส่งจดหมายขอให้ส่งตัวท่านกลับไปยังพระสังฆราชในทันที (ฝั่งท่านนั้นเองก็มิได้สนใจจะอยู่ในอารามนี่อยู่แล้ว) จนวันหนึ่งพระคุณเจ้าเมนาเชรีก็เดินทางมาที่อาราม
และบอกกับท่านว่า “มันไม่ใช่น้ำพระทัยของพระเจ้าที่ลูกจะอยู่ในอาราม
ดังนั้นลูกจะได้กลับไปที่ของลูก คุณพ่อวิญญาณของลูกจะสร้างบ้านให้ลูกเอง”
ดังนั้นเองเมื่อได้รับคำอนุญาตแล้ว
ในวันที่ 27
มกราคม ค.ศ.1913 ท่านจึงได้ออกจากอารามอลลูร์แล้วเดินทางกลับไปยังปุเทนชิระพร้อมด้วยจดหมายอำลา
ซึ่งมีเนื้อความมีว่าขอคำภาวนาให้มีความอดทน ความรักของพระเจ้า และขอให้ได้ตายอย่างมีความสุขจากซิสเตอร์อิวพาเซีย
โดยทิ้งไว้แต่เพียงภาพของความศักดิ์สิทธิ์และความชื่นชมให้ผู้คนที่อลลูร์ได้จดจำ (ขณะท่านอยู่ที่อาราม
ข่าวเรื่องรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นที่เลื่องลือมาก
มีผู้คนมากมายแวะเวียนมาหาท่านด้วยความสนใจ ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์)
และที่สุดหลังร้องขอมาสิบปี
พระคุณเจ้าก็อนุญาตให้ท่านสร้างอาศรมตามที่แม่พระทรงปรารถนา เพราะพระคุณเจ้าได้แลเห็นถึงความอดทน
ความนบนอบ และความถ่อมตนอันหนักแน่นของท่าน พระคุณเจ้าจึงหมดข้อสงสัยในตัวท่าน
ดังนั้นเองเมื่อได้รับอนุญาตเช่นนี้ และได้รับบริจาคที่ดินจากอนาคตนักบวชของท่าน
ชื่อ ศรี มาลีเอ็กกัล กูนัน โกชุวาร์เกย์ อิททูพ โครงการสร้างบ้านแห่งคำภาวนาจึงเริ่มขึ้น
แต่ไม่ทันจะได้ทำอะไร
ปัญหาก็เข้ามาแทบจะทันที เมื่อบ้านหลังนี้ยังขาดแคลนเงินทุนอยู่ ทำให้คุณวิทยาทิลกลัดกลุ้มใจในเรื่องนี้เป็นอันมาก
แต่ท่านก็ปลอบใจว่าท่านจะออกไปเรี่ยไรมา ฝั่งคุณพ่อยอมรับแม้จะไม่เต็มใจเท่าไรนัก
ทำให้ในวันรุ่งขึ้นท่านพร้อมเพื่อนอีกสามคน จึงได้พากันออกไปเรี่ยไรเงิน
จนที่สุดแล้วบ้านหลังนี้ก็สำเร็จเสร็จลงได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ยังไม่ทันจะยินดีได้เท่าไร
ปัญหาใหม่ก็ตามมาในทันที กล่าวคือเมื่อคุณพ่อวิทยาทิลส่งคำร้องขออนุญาตเสกบ้านหลังนี้ไปยังพระสังฆราช
พระคุณเจ้าก็ไม่ได้ตอบกลับคำขอของคุณพ่อเสียที
แต่แทนที่ท่านจะผิดหวัง
ตรงข้ามท่านสงบนิ่งและได้แจ้งกับคุณพ่อ ว่าท่านน้อมรับทุกสิ่งให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า
“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าสิ่งใดเล่าที่พระองค์ทรงประสงค์ คือสิ่งเดียวที่ลูกประสงค์
ขอให้พระประสงค์ของพระองค์จงสำเร็จไปเถิด” และในวันรุ่งขึ้น คือ ในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ.1913 พระคุณเจ้าจึงได้ส่งคุณพ่อจอห์น อุกคัน
เลขานุการของพระคุณเจ้าให้มาเป็นผู้เสกบ้านหลังนี้ ซึ่งท่านให้นามว่า ‘เอคันทะ ภวัน’หลังจากนั้นในวันที่ 7 ตุลาคม ท่านที่ขณะนี้มีอายุได้ 37 ปี จึงย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังใหม่ ก่อนในเดือนมกราคม ปีถัดมาเพื่อน ๆ ของท่านจึงตามเข้ามาสมทบ หลังผลัดกันมานอนเป็นเพื่อนท่านคนละคืนกันมาได้สักพัก
ณ
ที่บ้านแห่งคำภาวนา ท่านได้ใช้เวลาส่วนมากไปกับการสวดภาวนา ตามความปรารถนาตั้งแต่ครั้งมารดาท่านเสียชีวิต โดยมิได้แผนการใด ๆ ชัดเจนว่าจะดำเนินการอะไรต่อ แต่ฝั่งคุณพ่อวิทยาทิลได้เล็งเห็นว่าชีวิตของพวกท่านจำต้องมีกฎระเบียบไม่ใช่อยู่ไปวัน ๆ โดยไม่มีระเบียบแบบแผน ดังนั้นคุณพ่อจึงได้ร่างกฎน้อย ๆ สำหรับท่านและเพื่อน โดยคุณพ่อได้แบ่งเวลาสวดภาวนา รำพึง
สำรวจมโนธรรม และปฏิบัติกิจการเมตตาอย่างเป็นสัดเป็นส่วน
ส่วนเวลานอนถูกกำหนดไว้เพียงสองชั่วโมงคือระหว่างสี่ทุ่มถึงเที่ยงคืน หลังจากนั้นตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีห้าก็จะเป็นเวลาในการรำพึงพระมหาทรมาน
และการพลีกรรมตามคำอนุญาตของคุณพ่อวิทยาทิล ฝั่งท่านก็ปฏิบัติตามกฎเหล่านี้อย่างเคร่งครัด
ทำให้ทีละนิด
บ้านหลังเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่า ‘เอคันทะ ภวัน’ กลายมาเป็นบ้านของคำภาวนา การชดเชยบาป
และศูนย์กลางของชีวิตฝ่ายจิตอย่างแท้จริง และไม่เพียงเท่านั้น
เพราะไม่เพียงพวกท่านจะเอาแต่สวดภาวนาอยู่เช้าค่ำ ท่านและเพื่อนก็ยังคงแวะเวียนคนยากไร้และคนเจ็บป่วย ดังเช่นที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อนมีบ้านหลังนี้ จึงทำให้เอคันทะ ภวัน ยังเป็นบ้านแห่งความเมตตาโดยแท้จริงไปด้วย
เอคันทะยังคงเป็นบ้านของสตรีกลุ่มหนึ่งที่มีท่านเป็นหัวหน้า
อยู่จนในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1914
พระคุณเจ้าเมนาเชรีที่เดินทางมาเยี่ยมบ้าน และพอใจกับวิถีชีวิตของสตรีทั้งสี่
พระคุณเจ้าจึงตัดสินใจบอกกับคุณพ่อวิทยาทิลระหว่างพูดคุยกันว่า พระคุณเจ้าตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนบ้านเอคันทะ
ภวัน เป็นคณะนักบวชหญิงพื้นเมืองใหม่นามว่า ‘คณะพระวิสุทธิวงศ์’ ดังนั้นในวันรุ่งขึ้น
ท่ามกลางพระสงฆ์นักบวช ณ วัดประจำปุเทนชิระ พระคุณเจ้าเมนาเชรีจึงได้ประกาศตั้งคณะพระวิสุทธิวงศ์ขึ้นอย่างเป็นทางการ
โดยให้คุณพ่อวิทยาทิลรับหน้าที่เป็นจิตตาภิบาลคนแรกของคณะ และท่านเป็นอธิการิณีที่ได้รับนามใหม่หลังปฏิญาณตนว่า ‘ภคินีมารีอัม เทรเซีย แห่ง แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์’ วันเดียวกันครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ยังได้ประจักษ์มาสนทนากับท่านอีกด้วย
คณะใหม่เริ่มด้วยท่านและโปสตุลันต์สามคน
พร้อมธรรมนูญใหม่ซึ่งจัดทำโดยพระคุณเจ้าเมนาเชรีด้วยตัวเอง โดยพระคุณเจ้าได้นำเอาธรรมนูญของภคินีคณะพระวิสุทธิวงศ์แห่งบอร์โดซ์
ซึ่งมาตั้งอารามอยู่ที่ศรีลังกามาและดัดแปลง เวลานั้นแม้นเอคันทะจะพัฒนาเป็นคณะนักบวชพื้นเมืองแล้ว คณะก็ยังไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เลย
แต่กระนั้นก็ตาม คุณแม่อธิการคนนี้ก็สามารถจัดหาทรัพย์สิน
และวิธีเก็บมันได้อย่างน่าแปลกประหลาด คุณพ่อวิทยาทิลบันทึกไว้ว่า “เมื่ออาหารขาดแคลนมาก ๆ
และไม่มีความช่วยเหลือจากใคร เธอจะสวดภาวนาต่อพระเจ้าอย่างเร่าร้อน
แล้วนักบุญยอแซฟก็จะนำอาหารมาให้ และเอาเงินไปใส่ไว้ในกล่องของเธอ แต่บางเวลาก็ไว้ใต้เสื่อนอนเธอ
บางเวลาก็ในมือของเธอเลย”
ด้วยเล็งเห็นว่าการศึกษาในโรงเรียนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการปลูกฝังคุณค่าของพระวรสาร
และจริยธรรมในสังคมให้เด็ก ๆ และเล็งเห็นว่าที่ปุเทนชิระยังขาดโรงเรียน
ทำให้เด็ก ๆ หลายคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงขาดโอกาสทางการศึกษา ท่านจึงนำเรื่องที่จะตั้งโรงเรียนนี้ไปปรึกษากับคุณพ่อวิทยาทิล
ซึ่งคุณพ่อก็เห็นด้วย และได้ส่งเรื่องไปยังพระคุณเจ้าเมนาเชรี
ฝั่งพระคุณเจ้าก็อนุมัติ ทำให้ในสภาพที่ไม่มีอะไรเลยไม่ว่าจะเงิน
หรือบุคลากรที่ได้รับการอบรม โรงเรียนประถมขนาดสองชั้นเรียนจึงถูกเปิดขึ้นในชื่อ ‘โรงเรียนประถมศึกษาพระวิสุทธิวงศ์’ ในปี ค.ศ.1915 โดยอาศัยการดัดแปลงอาคารที่ท่านพักมาเป็นที่เรียน
แต่เนื่องจากไม่มีใครในอารามของท่านมีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรบ ท่านจึงได้ขอให้พระคุณเจ้าเมนาเชรีช่วย ซึ่งพระคุณเจ้าก็ได้จัดส่งซิสเตอร์สองคนจากคณะภคินีแห่งพระมารดาแห่งคาร์แมลมาสอนที่โรงเรียนเป็นระยะเวลาหนึ่งปี
แต่ยังไม่ทันไร ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อโรงเรียนของท่านก็ไม่ถูกนับว่าเป็นโรงเรียนจากทางภาครัฐ
เพราะโรงเรียนขาดคุณสมบัติหลายประการ กระนั้นก็ดี ด้วยพระญาณสอดส่องของพระเจ้า ในเวลาต่อมาครูผู้ชำนาญการสองคนก็ถูกพามาสอนจากทั้งที่โกซีโกเดและก็อตตายัม และเมื่ออาคารเรียนแล้วเสร็จ
ภาครัฐจึงอนุมัติการเป็นสถานศึกษาของโรงเรียนของคณะ งานของคณะจึงดำเนินต่อไปได้อย่างไม่มีอุปสรรค
วันเวลาล่วงไป ทีละเล็กละน้อยจากสมาชิกเพียงสี่คน ก็ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นตามจำนวนสตรีที่มาคอยติดตามท่านในทุก ๆ ปี
จนทำให้อารามหลังเดิมที่มีอยู่ไม่อาจจะรองรับจำนวนของสมาชิกคณะได้อีกต่อไป แต่ในสภาวะการณ์ดังนี้ ท่านก็ไม่อาจจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ในทันที เนื่องจากในเวลานี้แม้คณะจะเริ่มมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น แต่คณะก็ยังขาดเงินทุนสำหรับการขยายอาราม รวมถึงที่ดินที่จะรองรับโครงการนี้ ดังนั้นบรรดานักบวชหญิงจึงอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบากอีกหน และแต่ก็เช่นทุกครั้งที่ท่านพบปัญหา ท่านได้หันหน้าไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า
เฝ้าสวดภาวนาทั้งเช้าค่ำด้วยความเชื่อและความวางใจ ต่อพระเจ้าและครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ให้แก้ปัญหานี้
จนวันหนึ่งคุณพ่อจอห์น
อัมบูเก็น ก็ได้เดินทางมายังอาราม และได้เสนอที่จะยกที่ดินรกร้างขนาดแปดไร่ที่หมู่บ้านกุสิกกัตตุสเสรี
ซึ่งอยู่ในความดูแลของเขตปุเทนชิระให้คณะ รวมถึงยินดีจะช่วยเหลือด้านการเงินในการสร้างอารามหลังใหม่นี้ให้ด้วย ฝั่งพระคุณเจ้าเมนาเชรีเมื่อทราบเรื่อง ก็ได้จัดการซื้อที่ดินผืนดังกล่าว และได้เดินทางมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อารามและวัดน้อย ในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1917 จึงเป็นอันว่าปัญหาเรื่องอารามไม่สามารถรองรับการเติบโตของคณะได้รับการแก้ไขไปในเบื้องต้น
ที่ใช้คำว่า ‘ในเบื้องต้น’ เพราะว่าแม้จะได้ที่ดินและเริ่มโครงการสร้างอารามใหม่ มันก็ไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เนื่องจากในเวลาที่เริ่มก่อสร้างอารามหลังใหม่นั้น ประจวบเหมาะพอดีกับช่วงเป็นช่วงข้าวยากหมากแพง
และค่าเงินรูปีอ่อนตัวอันเป็นผลหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้การหาความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนในการก่อสร้างเป็นเรื่องยากพอสมควร
กระนั้นก็ตามพระเจ้าก็มิได้ทรงปล่อยให้งานของพระองค์ล่มลงเสียกลางทาง
เพราะท่ามกลางความยากลำบากนั้น มหาราชาแห่งโกชิน ผู้ปกครองดินแดนชาวฮินดูก็ได้ทรงบริจาคไม้สำหรับใช้ก่อสร้างอาราม
เพราะพระองค์ทรงชื่นชมชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์และกิจการเมตตาของท่าน
และเวลาเดียวกันก็มีการบริจาคมากมายหลั่งไหลมาจากบรรดาผู้ใจบุญทั้งหลาย
ซิสเตอร์โรส
มารีอัม ซึ่งรู้จักท่านตั้งแต่ปี ค.ศ.1918 เล่าถึงเวลานั้นว่า “คุณแม่มารีอัม เทรเซียทำงานหนัก เพื่อการเติบโตและการพัฒนาของคณะที่พึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่
เกือบทุกวันท่านเดินถึงห้ากิโลจากปุเทนชิระไปยังกุสิกกัตตุสเสรี
เพื่อกำกับดูแลการก่อสร้างอารามใหม่ และเพื่อทำงานร่วมกับบรรดาคนงาน
ตั้งแต่ก่อนเวลาอาหารกลางวัน” ซิสเตอร์เทรเซีย
ที่มีโอกาสติดตามท่านในช่วงระหว่างการก่อสร้างอยู่บ่อยๆ เล่าว่า “บางครั้งเมื่อเงินจ่ายค่าแรงคนงานไม่มี
ท่านก็ยังคงมีความกล้าหาญ และความวางใจที่ไม่ธรรมดา
ท่านเดินหน้างานก่อสร้างอารามและวัด ด้วยการวางความวางใจของท่านไว้ในการอารักษ์ขาเช่นบิดาของพระเจ้า
ผู้ทรงสรรพานุภาพ” ในประวัติของท่าน มีบันทึกว่า ‘ท่านดูแลการก่อสร้างอาราม
ด้วยวิธีการทำงานหนักตลอดห้าปี โดยไม่เคยสนดวงอาทิตย์ ฝน อาการเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ ตามปกติ
หรืออาการเจ็บป่วยใหม่ที่ส่งผลต่อร่างกายของท่าน”
ระหว่างการก่อสร้างอารามใหม่
ท่านก็ตระหนักรู้ในทันทีว่าการพัฒนาพันธกิจด้านการศึกษา
จะไม่มีทางเป็นไปได้เลยหากขาดทีมของซิสเตอร์ด้านการศึกษา
ท่านเข้าใจดีถึงความจำเป็นของภาษาอังกฤษ อันเป็นสิ่งที่ท่านไม่มี ดังนั้นในปี ค.ศ.1918 ท่านจึงเช่าอาคารที่เมืองทริชชูร์ เพื่อใช้เป็นหอพักสำหรับผู้ที่ท่านส่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนภาษาอังกฤษเมืองทริชชูร์ หลังจากนั้นท่านจึงจัดส่งซิสเตอร์จำนวนสี่คน
และเด็กหญิงอีกยี่สิบคนไปศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป นอกนี้แล้ว
ท่านยังมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีความคิดที่ชัดเจนว่าจะให้คณะใหม่ของท่านดำเนินงานควบคู่ไปทั้งกับโรงเรียนและครอบครัว
เพราะท่านตระหนักดีเช่นกันว่าการศึกษาต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวเป็นอันดับแรก
การก่อสร้างอารามหลังใหม่แล้วเสร็จในปี
ค.ศ.1922
แต่เนื่องจากพระคุณเจ้าเมนาเชรีได้สิ้นใจไปก่อนหน้านั้นแล้ว
ดังนั้นอารามหลังใหม่จึงถูกเปิดเสกโดยพระสังฆราชคนใหม่ของสังฆมณฑลทริซชูร์ นั่นคือพระคุณเจ้าฟรานซิส
วาชาปิลลี ซึ่งก็เป็นผู้อนุญาตให้ท่านและคณะย้ายมาอยู่ที่อารามใหม่หลังนี้ ท่านนั้นเมื่อมองเห็นเหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนี้แล้ว ได้แต่ถอนหายใจออกมาอย่างโล่งอก บัดนี้อารามที่กุสิกกัตตุสเสรีได้กลายเป็นบ้านแม่หลังที่สองของคณะนี้แล้ว และคณะสามารถดำเนินพันธกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องที่ทางอีกต่อไป
ไม่นานหลังการย้ายอาราม
ท่านก็เริ่มขยายขนาดอาคาร และจัดได้ตั้งโรงเรียนประถมศึกษาตอนต้นขึ้น มีคำบรรยายถึงประวัติในการดำเนินงานด้านการศึกษาของท่านที่ไพเราะว่า “แม้ว่าข้ารับใช้พระเจ้าจะไม่เคยได้รับการศึกษาในโรงเรียน
ท่านก็เอาจริงและให้ความสนใจกับเรื่องการศึกษาของคนอื่น ๆ มาก ๆ เมื่อใดก็ตามที่พวกซิสเตอร์เปิดอารามใหม่
พวกเธอก็ร้อนรนยิ่งที่จะสร้างโรงเรียน”
ในอารามแม้จะผ่านสงครามครั้งใหญ่กับเจ้าปีศาจมาแล้ว
มันก็หาได้เลิกระรานท่านไม่ เพียงแค่มันลดระดับการรังควานลง
ซิสเตอร์โยฮันนาเป็นพยานว่า “ฉันมักสังเกตเห็นว่าอาหารที่เธอกำลังตักเข้าปาก
จะถูกผลักออกออกไปด้วยพลังบางอย่างที่มองไม่เห็น
บ่อยครั้งพวกเรามักได้ยินเสียงคร่ำครวญ และร้องไห้อย่างทุกข์ทรมานของเธอ” พยานลำดับที่ 18 ให้การว่าตนเห็นอากาศเย็นกระหวัดไปที่ดวงตาของท่าน
เหมือนมีแรงบางอย่างกระทำอยู่ คืนและวันในชีวิตนักบวชของท่าน จึงผ่านพ้นไปอย่างทุกข์ทน
แต่ท่านก็ต่อสู้กับอย่างกล้าหาญและน้อมรับมัน ด้วยความเชื่อความหวังในพระเจ้า ในการเดินตามน้ำพระทัยของพระองค์เช่นกัน ดั่งเห็นชัดในข้อความจากจดหมายของท่านถึงคุณพ่อวิทยาทิลที่ว่า “คุณพ่อที่เคารพของลูก ลูกไม่รู้จะอธิบายความเจ็บปวดลูก
และลูกรู้สึกอย่างไรได้อย่างไร เอาง่าย ๆ
ความเจ็บปวดของลูกเหมือนท้องทะเลที่ปั่นป่วน
พระเจ้าทรงประสงค์ให้เป็นดังนั้นแก่ลูก”
คุณแม่อธิการผู้แสนดี
ในการจัดการอาราม
ท่านรู้วิธีที่จะรับมือกับทุกคนด้วยความกรุณาและความเข้าใจ ท่านรู้ข้อจำกัดของตัวเองดี
ท่านเปิดอ้ารับทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดูแลอาราม สัตบุรุษหลายคนจดจำได้ถึงความเคารพและการช่วยเหลือของท่านกับบรรดาซิสเตอร์ได้เป็นอย่างดี
การปฏิบัติตัวของท่านต่อผู้อยู่ใต้บังคัญบัญชาถือเป็นแบบฉบับที่ดี กล่าวคือท่านไม่เคยถือตัว
หรือเอาแต่ใจ หรือเผด็จการ ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เมื่อพบท่าน และสามารถไปหาท่านเสมอ
นอกนี้ท่านยังเอาใจใส่สมาชิกใหม่ของคณะ
บุคลิกภาพและแบบฉบับของท่านมีส่วนในการเติบโตของสมาชิกใหม่มากกว่าคำแนะนำหรือคำชี้แนะของท่าน
และแม้ท่านจะมีการศึกษาน้อย ท่านจึงอ่านหนังสือภาวนาได้ไม่มาก และไม่อาจจะสอนคำสอนชีวิตจิตและชีวิตนักพรตได้มากเท่าไรนัก
ท่านก็เป็นศูนย์รวมของชีวิตฝ่ายจิต ท่านมักแนะนำให้นวกะเณรีของคณะถึงวิธีร่วมมิสซา
ซึ่งนั่นก็คือวิธีรำพึงถึงพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้าระหว่างมิสซาแบบของท่านเอง
คำแนะนำของท่านเปี่ยมไปด้วยเทววิทยาที่ลึกซึ้ง
ซึ่งเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้อย่างชัดเจน ซิสเตอร์บางคนได้บันทึกแนวทางปฏิบัติของท่านไว้ดังนี้
ก. ปฏิบัติตามธรรมนูญ
ข. ในช่วงเวลาของโรคภัยไข้เจ็บหรือความทุกข์ยาก
อยากทำหน้าบึ้งตึง
ฃ. เมื่อผู้ใหญ่ตักเตือนเธอ มันไม่ดีที่จะพูดโต้ตอบอันใด
ค. อย่าอิจฉาผู้มีสิ่งล้ำค่า
ฅ. อย่าสูญเสียเป้าหมาย
ฆ. มอบถวายให้กับพระกุมารเยซู ด้วยมงกุฎ, สร้อยข้อมือ, แหวนและเครื่องประดับอื่น ๆ
ง. อย่าเผลอหลับ และไม่มองที่นั่นที่นี่ในระหว่างมิสซา
จ. อย่าหลับในระหว่างรำพึง ถ้าหลับจงมาคุกเข่าอยู่ตรงกลางวัดแล้วเหยียดแขนออกเป็นรูปกางเขน
ฉ. อย่าหัวเราะเมื่อผู้ใหญ่ติเธอ หรือขัดจังหวะพวกท่านเหล่านั้น
ช. ของขวัญที่ได้รับจากทางบ้าน
ควรจะมอบให้กับคณะ
ซ. เมื่อเธอเดินรูป มันเป็นเรื่องดีแก่วิญญาณที่จะมองเห็นพระมารดามหาทุกข์ทุก ๆ ภาคที่เดินไป
ฌ. มอบความศรัทธาเป็นพิเศษต่อแม่พระมารดาของพระเจ้าและนักบุญยอแซฟ
ญ.เมื่อเกิดเหตุการณ์พิเศษระหว่างเสิร์ฟอาหาร จงมองเพียงเล็กน้อย
ฎ. ในห้องอาหารให้จูบเท้าของพวกซิสเตอร์และแบกกางเขน
ให้รักษาความเงียบหลังจากสัญญาณนอนในเวลากลางคืน
ไม่เพียงแต่ซิสเตอร์ในอารามที่ท่านดูแล
คนงานและคนใช้ในอารามท่านก็ดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี ท่านให้เงินเขาตรงเวลา
ทั้งยังให้ความรักกับพวกเขาอย่างเคยถือตัว ท่านคอยมอบอาหารให้เขาทุกวัน
และแสดงให้พวกเขาเห็นความเห็นอกเห็นใจดุจมารดา เชวาเย่ แก็คชัคโก อดีตคนงานในอาราม
เล่าถึงท่านว่า “ท่านระมัดระวังมากในเรื่องอาหารของเรา
แม้ท่านจะมีกิจธุระมากท่านก็ให้ความใส่ใจในการจัดหามัน
ท่านรักที่จะทำงานร่วมกับพวกเรา ท่านชอบเล่นกับเราและชอบให้กำลังใจเรา
ท่านแบ่งอาหารของท่านให้เราทุกวัน … ท่านรักพวกเรามาก
เวลาท่านได้ของขวัญอะไรมา ท่านก็จะเอามาแบ่งให้เด็ก ๆ กับคนงานในอาราม เหมือนที่ท่านแบ่งให้ซิสเตอร์คนอื่น ๆ ”
มารดา
จากคำพยานมากมาย
หลายคนมักจะพูดถึงกิจการเมตตาของท่านต่อผู้ยากไร้
ก่อนจะทันถูกถามจากสอบสวนในกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญเสียอีก ซึ่งหนึ่งในกิจเมตตาเหล่านั้นก็คืองานเมตตาต่อเด็กกำพร้า
โดยทุก ๆ ครั้งที่ท่านพบเด็กคนใดถูกปฏิเสธหรือไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่
ท่านก็จะตรงไปนำพวกเขาเหล่านั้นไปยังอารามในทันที ดั่งเรื่องที่มีบันทึกว่า “คุณแม่มารีอัม
เทรเซียทราบว่ามีอัมบัตตธี (สตรีในวรรณะต่ำ)ในปุเทนชิระคนหนึ่งกำลังกำลังจะตาย
และรีบไปดูแลเธอในเร็วพลัน…หลังจากเธอสิ้นใจ
ทารกเพศหญิงตัวน้อยคลานไปหาร่างกายไร้วิญญาณของมารดา
ดังนั้นท่านจึงก้มตัวลงอุ้มเด็กกำพร้านั้น และพาเธอไปยังอาราม
ท่านได้จัดให้เธอรับศีลล้างบาป และตั้งชื่อเธอว่า บริยิต”
ท่านดูแลเด็กๆกำพร้าเหล่านั้นดุจมารดาแท้ของพวกเขา
ท่านมีความรักของแม่อย่างแท้จริง แอนนี่ หนึ่งในเด็กกำพร้าที่ท่านดูแล
เขียนเล่าในภายหลังว่า “ท่านเป็นคุณแม่ตลอดชีวิตของดิฉัน
ท่านทั้งอาบน้ำ หวีผม และแต่งตัวให้ฉันเวลาไปโรงเรียน เมื่อดิฉันกลับมาจากโรงเรียน
คุณแม่ก็จะเอาอาหารบางส่วนของท่านให้ดิฉัน”
ความศรัทธาพิเศษต่อแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ฯ
ในเรื่องนี้พยานหลายคนก็ได้ให้การถึงสิ่งนี้ พยานลำดับที่เก้าได้ให้การว่า “ฉันสังเกตว่าวันฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์จะเป็นวันแห่งความสุขของท่าน
ท่านแสดงถึงสิ่งนี้ด้วยการให้ของขวัญแก่เด็ก ๆ และใช้เวลาทำกิจกรรมสันทนาการตลอดทั้งวัน” ซึ่งในเรื่องความศรัทธานี้
ท่านจะเตรียมจิตใจของท่านเพื่อฉลองด้วยการอดอาหาร พลีกรรม
และสวดวันทามารีย์สี่สิบบทติดต่อกัน 25 วัน
พยานอีกคนเล่าว่า
“ท่านสอนพวกเราว่าพระเจ้าทรงดูแลทุกความต้องการของเรา และสอนให้เราสวดบทภาวนาสั้นๆว่า
‘ข้าแต่พระมารดาของลูก ความวางใจของลูก’
ท่านแนะให้เราสวดมันบ่อย ๆ ระหว่างทำกิจการต่าง ๆ”
ปรากฏการณ์พิเศษในอาราม
ใบหน้าเรืองแสงสว่าง
หลายต่อหลายครั้งใบหน้าของท่านจะเรืองแสงออกมาภายหลังท่านรับศีลมหาสนิท
ซิสเตอร์โยฮันนา ซึ่งอยู่กับท่านให้การเป็นลายลักษร์อักษรว่า “หลังจากรับศีลแล้ว เธอก็เข้าสู่ภวังค์ และใบหน้าของเธอก็สว่างขึ้น
ฉันเป็นพยานถึงเหตุการณ์ดั่งกล่าวในมิสซาเสมอ ฉันชอบหันกลับไป
และมองใบหน้าของเธอในเวลานั้น”
กลิ่นหอมพิเศษ
หลาย ๆ คนที่เข้าใกล้ท่านมักได้กลิ่นหอมประหลาดฟุ้งออกมาจากตัวของท่าน
ซิสเตอร์โยฮันนา เป็นพยานถึงปรากฏการณ์กลิ่นหอมเกิดขึ้นถึงสามครั้งที่วัดน้อย
เมื่อท่านเปิดตู้ศีล และเชิญให้เด็ก ๆ ในโรงเรียนประจำมาสวดภาวนาเป็นพิเศษร่วมกับท่าน
อดีตเด็กหญิงที่พักอยู่ที่หอพักในอารามกุสิกกัตตุสเสรี
เป็นพยานว่าเมื่อมีการรักษาอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน ก็จะบังเกิดมีกลิ่นหอมประหลาดให้ผู้คนที่ร่วมสวดอยู่กับท่านได้กลิ่น
ดั่งเช่นคราวหนึ่งที่มีซิสเตอร์คนหนึ่งในอารามกุสิกกัตตุสเสรีป่วยเป็นไข้ทรพิษ
และจวนเจียนจะสิ้นใจเต็มที
ท่านก็นำซิสเตอร์และทุกคนในอารามที่ต่างพากันหวาดกลัวโรคร้ายจะแพร่ระบาดเข้าไปในวัดน้อยเพื่อสวดภาวนา
ท่านได้ตรงไปเปิดตู้ศีลและสวดภาวนาร่วมกับทุกคนอย่างร้อนรน “พวกเราทุกคนได้กลิ่นหอมหวานไปทั่วทั่ววัดน้อย
ที่สุดซิสเตอร์ผู้นั้นก็หาย และไม่มีใครได้รับผลกระทบใด ๆ เลย” พยานที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นกล่าวสรุป
รอยแผลศักดิ์สิทธิ์
ที่อารามท่านใช้วิธีปกปิดรอยแผลของท่านด้วยการสวมใส่เครื่องแบคณะยาว ๆ
และกำมือไว้ มีพยานเล่าถึงเวลานั้นว่า “ฉันรูเรื่องรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ของท่าน
ตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะมาบ้านของฉันตอนฉันอายุแปดขวบ ทำให้ฉันอยากเห็นมัน ดังนั้นเอง
เมื่อคนอื่น ๆ กำลังคุยกับท่านอยู่ ฉันจึงผละออกมาจากแถวนั้นและมายืนอยู่ใกล้ ๆ ท่าน
และมองไปที่ฝ่ามือของท่าน
ข้ารับใช้พระเจ้าคงเข้าใจดีว่าฉันกำลังมองมันอยู่และฉันคิดว่าท่านก็อนุญาต
ฉันเห็นหลังมือของท่านเป็นแผลเป็นตรงรอยแผล
ซึ่งฉันพบว่ามันเป็นเหมือนกันทั้งที่มือและเท้าทั้งสองข้าง
วันเดียวกันคุณป้าของฉันที่นอนอยู่ใกล้ ๆ ท่าน
เห็นคราบเลือดเป็นรอยแบบมงกุฎหนามที่ผ้าคลุมศีรษะของท่าน ท่านเล่าให้ฉันฟังในวันถัดมา
ซิสเตอร์อากาธา ที่คอยดูแลอาหารให้ข้ารับใช้พระเจ้า ยังเล่าให้ฉันฟังว่าเธอเคยเห็นท่านรับทรมานในระยะต่าง ๆ ของพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าอีกด้วย
ประสบการณ์พระมหาทรมานของท่านเกิดในวันศุกร์เทศกาลมหาพรต”
“ข้าแต่ท่านนักบุญมารีอัม เทรเซีย ช่วงวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง