วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

มะลิน้อยแห่งแดนภารตะ "มารีอัม เทรเซีย" ตอน 5


นักบุญมารีอัม เทรเซีย
St. Mariam Thresia
ฉลองในวันที่ : 6 มิถุนายน

หลายต่อหลายครั้งพระเป็นเจ้าทรงสดับฟังคำวิงวอนของท่าน ดั่งที่เคยกล่าวไปแรกในตอนที่ 1 ดังนั้นหลาย ๆ ครั้งจึงมีคนมาขอให้ท่านช่วยสวดให้เสมอ ซึ่งก็มีพยานมากมายยืนยันถึงผลของคำภาวนาเหล่านี้ ซึ่งเราจะขอยกมาเพียงบางส่วน อาทิเช่น สตรีนางหนึ่งที่แต่งงานมาสิบปี แต่ก็ยังไม่มีลูก เธอจึงตัดสินใจเดินทางมาหาท่านเพื่อขอให้ช่วยสวดให้ จนเวลาล่วงเลยมาถึงเวลาเย็น ท่านก็บอกกับเธอว่า เธอจะได้ตามสิ่งที่เธอปรารถนา แต่เธอต้องแสดงความขอบคุณต่อแม่พระด้วยของขวัญหรือบางสิ่งให้พระนาง” ฝั่งสตรีนั้นจึงถามว่าจะให้ทำยังไง ฝั่งท่านก็เลี่ยง ๆ ที่จะตอบ เธอจึงคะยั้นคะยอจนท่านยอมแนะให้ถวายหมวก เธอจึงตัดสินใจจะถวายมงกุฎทองแด่แม่พระ และเพียงไม่นานเธอก็ตัดสินใจถวายกำไลทองคู่หนึ่งของเธอ พร้อมมอบไว้ให้ท่าน แต่เมื่อกลับไป เธอก็ไปรับยาตามคำสั่งแพทย์มากิน ฝั่งท่านที่รู้จึงดุทั้งเธอและบิดา เธอจึงตัดสินใจหยุดกินยานั้น ฉะนั้นฉันจึงหยุดกินยา เพียงไม่นานฉันก็ให้กำเนิดบุตรชาย ตอนนี้เขาเป็นหมอ และอยู่ที่อังกฤษ ครอบครัวเขาจะมาเยี่ยมคารวะหลุมศพของมารีอัม เทรเซียทุกครั้งที่เขากลับบ้าน เธอกล่าวสรุป

พยานอีกคนเล่าว่า สมาชิกห้าคนในครอบครัวของฉันป่วยเป็นโรคไข้รากสาดน้อย และหมอชาวเยอรมันชื่อ ลอง จึงได้เข้ามาดูแลรักษาพวกเรา คนที่น่าห่วงที่สุดก็คือน้องสาวของฉันชื่อมารีอัม เธอมีอาการหนักสุดและคุณหมอบอกว่าเธอไม่รอดแน่ แต่ทางกลับกันกับหมอ ข้ารับใช้พระเจ้าให้ความมั่นใจเราว่าเธอจะรอด เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี ค..1925 น้องสาวของฉันหายจากโรคและมีชีวิตอยู่จนถึงปี ค..1948 ฉันเชื่อว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะการเสนอวิงวอนและคำภาวนาของข้ารับใช้พระเจ้า


ซิสเตอร์มาร์ตีนา เป็นซิสเตอร์ใหม่ วันหนึ่งขณะเธอกำลังเรียนเย็บปักถักร้อย เธอก็มีอาการช็อกและกลายเป็นคนวิกลจริต เธอจึงถูกส่งกลับไปที่ปูเทนชิระ เพื่อพำนักรักษาตัว แต่อาการของเธอก็ไม่ได้มีที่ท่าว่าจะดีขึ้น จนวันหนึ่งเธอก็เข้าอาการตรีทูต แต่เธอปฏิเสธจะแก้บาปและรับศีลเจิมคนไข้ จนเป็นลมหมดสติไป ท่านที่เฝ้ามองเธอก็รู้สลดใจเป็นยิ่งนัก และเมื่อเห็นเธอหมดสติไปเช่นนั้น ท่านก็รีบรุดไปยังวัดน้อยและร้องทูลทั้งน้ำตาต่อพระเจ้าว่า
ลูกไม่อาจช่วยซิสเตอร์คนแรกที่จะตายไปเช่นนี้ได้ และเร่งสวดภาวนาอย่างร้อนรน แทบจะทันที ร่างที่หมดสติไปของซิสเตอร์มาร์ตีนาก็ลืมตาขึ้น พร้อมเปล่งเสียว่า คุณแม่คะ ลูกอยากแก้บาปและรับศีลค่ะ คุณพ่อวิทยาทิลจึงเร่งไปฟังแก้บาปเธอ และได้ส่งศีลให้ พร้อมประกอบพิธีศีลเจิมผู้ป่วย กระทั่งที่สุดแล้ว ซิสเตอร์น้อยจึงได้คืนวิญญาณไปหาพระเป็นเจ้าอย่างสงบในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค..1921 ด้วยวิญญาณที่เตรียมพร้อมอย่างดี ซึ่งซิสเตอร์ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นหลายคนก็ได้โจษจันถึงเหตุกาณร์นี้ไปทั่ว จนยิ่งทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของท่านขจรขจายไปมากขึ้น  

หลังจากกล่าวถึงอัศจรรย์และชีวิตท่านไปมากแล้ว ผู้เขียนก็นำท่านกลับมาสู่เหตุการณ์ต่อหลังจากอารามหลังใหม่สำเร็จแล้ว กล่าวคือไม่นานหลังคณะได้อารามหลังใหม่ ก็มีคำร้องขอให้ท่านไปตั้งอารามที่ทุมบูร์ จากเทกเกการะ ปาร๊อกการัน โลนา กุนยุวารีด สัตบุรุษเขตวัดเวลายานัตตู เพราะเป็นบ้านเกิดของเขา โดยเขาได้เสนอจะยกที่ดินให้ท่าน และให้ความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาการก่อสร้างอารามหลังนี้ แต่ยังไม่ทันจะได้ทำอะไร เขาก็ถูกชาวบ้านบางส่วนต่อต้านความคิดนี้ แต่มันก็ไม่อาจเปลี่ยนใจเขาได้ กุนยุวารีดยังคงยืนยันคำเดิมว่าจะมีอารามที่ทุมบูร์


เขาได้เดินทางไปพบพระสังฆราชพร้อมคุณพ่อวิทยาทิลเพื่อบอกถึงความประสงค์และข้อเสนอของเขา ฝั่งพระสังฆราชเองก็เห็นด้วย ดังนั้นในวันที่
29 พฤศจิกายน ค..1923 พระสังฆราชจึงได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อารามและวัดน้อยหลังใหม่นี้ ก่อนการลงมือก่อสร้างจะเริ่มขึ้นภายใต้ความช่วยเหลือทั้งด้านเงินทองและด้านแรงงาน  จากทั้งนายกุนยวารีดและชาวบ้านบางคนซึ่งเคารพรักท่านในทันที การก่อสร้างดำเนินไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งคือวันที่ 31 มีนาคมอันเป็นเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ (จะเป็นปี ค..1926 หรือไม่ก็ไม่ทราบแน่) ท่านก็บอกกับซิสเตอร์ทุกคน ในระหว่างเวลาตักเตือนว่า จงสวดภาวนาอย่างร้อนรนเพื่อว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในเร็ววัน จงไปที่วัดน้อยตามคำสั่ง แล้วก้มหัวลงช้า ๆ คุกเข่าลงโดยไม่หันซ้ายแลขวา ลูกเขียนคำสั่งของแม่ถูกต้องใช่ไหม

พยานคนหนึ่งเล่าว่า การปรากฏขึ้นของบ้านนักบวชเปลี่ยนท้องถิ่นไปในแนวเคร่งครัดขึ้น นี่เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทุมบูร์ ที่นั่น คุณแม่มารีอัม เทรเซียได้รับการต้อนรับ และท่านมีผลต่อชาวบ้านที่นั่น ท่านยังได้ทำให้พวกเขาบางคนกลับใจอีกด้วย ดังที่เล่าไป อาศัยความช่วยเหลือความช่วยเหลือคนละไม้คนละมือ อารามหลังใหม่ก็แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียงสองปี และได้รับการเปิดเสกอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 พฤษภาคม ค..1926 โดยมีพระคุณเจ้าวาชาปิลลีเป็นประธานในพิธี


วันนั้นมีโปสตุลันต์หกคนได้รับผ้าคลุมศีรษะ และนวกะเณรีเจ็ดคนได้รับเครื่องแบบคณะ ในวันนั้นท่านนั้นได้ร่วมคุกเข่าในระหว่างพิธีอยู่บริเวณพระแท่น ในท่ามกลางผู้คนมากมายต่างพากันมาร่วมพิธี จนวัดน้อยแออัดไปทุกบริเวณ และโดยที่ไม่มีใครคาดคิด จู่ ๆ ราวบันไดใหม่ก็ล้มลงใส่ขาของท่าน จนเป็นแผลลึกสร้างทุกขเวทนาแก่ท่านเป็นยิ่งนัก แต่ก็ไม่ได้มีการนำท่านส่งโรงพยาบาลแต่อย่างใด และในบ่ายวันเดียวกันนั้น 
พระคุณเจ้าวาชาปิลลีก็ได้ปรึกษาหารือกับคุณพ่อวิทยาทิล ในเรื่องการแต่งตั้งอธิการและรองอธิการประจำอารามทั้งสอง ซึ่งผลก็ปรากฏว่าซิสเตอร์อลิซได้รับเลือกให้เป็นอธิการอารามกุสิกกัตตุสเสรี ซิสเตอร์อัลแบร์ตาได้รับเลือกเป็นอธิการอารามทุมบูร์ ส่วนท่านในวัย 49 ปี ก็ได้รับเลือกให้เป็นนวกจารย์ของคณะ เพราะเวลานั้นคณะยังมิได้ใหญ่พอที่จะมีคุณแม่มหาธิการิณี

การแต่งตั้งท่านเป็นนวกจารย์เป็นเหตุการณ์ที่นำความยินมาให้แก่บรรดานวกะเณรีทั้งหลาย ซิสเตอร์ซูซานา หนึ่งในนวกะเณรีในขณะนั้น เขียนว่า เมื่อคุณแม่กลายมาเป็นนวกจารย์ของพวกเรา ความสุขของพวกเราก็ยากเกินจะบรรยายได้ วันนั้นท่านมาเล่นกับเราในช่วงสันทนาการ รุ่งขึ้นเมื่อพวกเราต้องออกเดินทางไปบ้านศึกษาที่ทริชชูร์ ท่านได้ตระเตรียมทุกอย่างไว้ให้เรา และมาส่งเราจนถึงประตูโรงเรียน ดังนั้นเองท่านจึงแสดงให้เราเห็นว่าท่านรักพวกเรามาก ๆ  นวกะทุกคนมีความสุข โดยที่ไม่อาจรู้เลยว่าความสุขนั้นจะอยู่กับพวกเธอเพียงไม่นาน และกำลังจะหายไป


ขอย้อนกลับในเย็นวันเดียวกันกับที่ท่านได้รับเลือกให้เป็นวกจารย์ของคณะ ท่านก็แสดงความขอบพระคุณผู้แทนแขวง ฯพณฯ มัทธิว เอดากาลาทูร์ และคุณพ่อวิทยาทิล ก่อนท่านจะวางมือของท่านบนมือของทั้งสอง พร้อมกล่าวกับทั้งสองเป็นนัย ๆ ว่า คุณพ่อคะ ฝากดูแลลูก ๆ ของลูกให้ดีด้วยนะคะ ซึ่งสร้างความฉงนสนเท่ห์แก่บรรดานวกะที่ได้ยิน เพราะท่านก็ยังไม่ได้มีอายุมากเสียหน่อย ท่านจะตายไปตอนนี้ได้อย่างไรกัน แต่น้ำพระทัยของพระเจ้านั้นเกินกว่าความคิดของมนุษย์ ดังที่พระเยซูเจ้าทรงเคยตรัสสอนไว้ ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระชนม์

วันหนึ่งที่อารามทุมบูร์ หลังจากเสกอารามได้ไม่กี่วัน ท่านที่มีอาการขาบวมขึ้นจากอุบัติเหตุในวันเปิดเสกอาราม ก็เรียกซิสเตอร์เมทิลดาให้ไปช่วยผสมปุ๋ยและสอนวิธีปลูกผักให้เธอ วันนั้นขณะกลับจากผสมปุ๋ยแล้ว ท่านก็พูดขึ้นกับซิสเตอร์เมทิลดาว่า แม่จะอยู่อีกไม่นาน อาการป่วยที่ขาของแม่นี้ถูกส่งมาจากพระเจ้าเพื่อพาแม่ไปจากเธอ ซิสเตอร์เมทิลดาจึงงแย้งท่านว่า ทำไมคุณแม่อย่างนั้นละคะ เพราะแผลบนขาคุณแม่นี้ คุณแม่ไม่ตายหรอกค่ะ


ไม่ แม่จะมีชีวิตอีกไม่นาน แม่กำลังจะไปในไม่ช้านี้ อย่าคิดว่าลูกยังสาว แต่จงเรียนรู้ทุกสิ่งและทำทุกสิ่งให้ดีเข้าไว้ ท่านย้ำอีกครั้งและตักเตือน ฝั่งซิสเตอร์เมทิลดาที่ได้ยินดังนั้น เธอที่ตามหลังท่านมาก็ปล่อยโฮออกมา ท่านเมื่อได้ยินเสียงร้องไห้จึงหันกลับไปมองเธอ ก่อนจะดึงตัวซิสเตอร์เมทิลดามากอดไว้ พลางปลอบใจเธอ เหตุการณ์การทำนายเช่นนี้ยังเกิดขึ้นอีก และพยานก็คือหลานสาวของท่าน ซิสเตอร์โกชุ เทเรซีย คุณแม่ที่น่าเคารพรู้ดีว่าความตายของท่านใกล้เข้ามาแล้ว เธอเล่า

ประมาณสองสามวันหลังพิธีเสกอารามทุมบูร์ ท่านจึงเดินทางกลับมาอารามกุสิกกัตตุสเสรี พร้อมแผลที่ขาซึ่งอักเสบหนัก ท่านจึงถูกส่งเข้ารับการผ่าตัดในทันที ดังนั้นแพทย์จากโรงพยาบาลชลากุดีจึงถูกตามตัวมา แต่เมื่อมาถึงแพทย์ก็ลงความเห็นว่าอาการท่านหนัก แพทย์จึงมีความเห็นว่าต้องส่งท่านไปผ่าตัดที่โรงพยาบาล ทีแรกท่านบอกคุณพ่อวิทยาทิลว่ามันไม่ประโยชน์อะไร แต่ที่สุดท่านก็ยอมปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ ดังนั้นบรรดาซิสเตอร์จึงได้พาท่านขึ้นเกวียนมุ่งหน้าไปยังโรงพยาบาลด้วยความร้อนใจ คุณพ่อจอร์จ ชิราพนัธ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเด็กนักเรียก บันทึกว่า (คุณครูแจ้งอาการป่วยของท่าน นักเรียนทุกคนจึงขอออกไปดูท่าน และก็ได้รับอนุญาตให้ไปดูท่านตอนกำลังจะเดินทางไปโรงพยาบาล) ข้าพเจ้าจำได้ว่าเห็นคุณแม่ลากตัวของท่านด้วยความพยายามไปที่เกวียน พวกเรารู้สึกว่าท่านกำลังเจ็บปวดทุกข์ทรมาน พวกเราต่างเคารพรักคุณแม่ ดังนั้นพวกเราจึงรู้สึกเศร้าใจที่เห็นท่านเจ็บปวดเช่นนี้


เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จึงได้ฉีดยาให้ท่านและได้ตรวจพบว่าการอักเสบที่ขาของท่านกระจายเป็นวงกว้าง ไม่พอท่านยังมีอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ซึ่งยิ่งทำให้อาการท่านทรุดลงตามลำดับ ท่านต้องรับทุกข์ทรมานเป็นอันมาก แต่ท่านก็น้อมรับมันด้วยความอดทนและความเงียบ คุณพ่อจอร์จ ชิราเมล คุณพ่อปลัดวัดชลากุดี ที่มีโอกาสไปส่งศีลให้ท่านระหว่างรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ได้บันทึกว่า ผมมีความสุขที่ได้ไปส่งศีลให้เธอ (ขณะเธออยู่ที่ชลากุดี) เธอรับความเจ็บปวดนานา ด้วยความสงบที่งดงามและความสุภาพผิดธรรมดา เธอไม่ได้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการขาดความอดทนหรือความไม่พอใจ มันดูเหมือนว่าเธอได้มอบทุกสิ่งให้พระเจ้าในความทุกข์ยากของเธอ

ด้วยอาการป่วยของท่าน เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรัฐที่รับผิดชอบเคสของท่านจึงตัดสินใจให้ท่านพำนักอยู่ที่อาคารของสังฆมณฑล เพื่อว่าจะสามารถไปตรวจอาการท่านได้อย่างสะดวก และนับวันแทนที่แผลของท่านจะทุเลาลงเมื่อได้รับการรักษา ตรงกันข้ามมันกลับมีหนองไหลออกมา และดูจะมีแต่แย่ลงเรื่อน ๆ เช่นนั้นเองเมื่อหมดปัญญาจะรักษาท่าน ในวันที่ 7 มิถุนายน ค..1926 คุณพ่อวิทยาทิลจึงได้ประกอบพิธีศีลเจิมให้ท่าน และได้นำท่านกลับมาอารามกุสิกกัตตุสเสรี ซึ่งบัดนี้มีซิสเตอร์ในคณะจากทั้งทริชชูร์และทุมบูร์ตามมาสมทบอยู่แล้ว


ทุกคนที่มารวมตัวกันยังอารามกุสิกกัตตุสเสรีต่างมีน้ำใส ๆ คลออยู่ในดวงตา หัวใจของพวกเธอทุกคนรวดร้าวด้วยความทุกข์ตรมอยู่ ๆ รอบตัวท่าน ซึ่งทันทีที่ท่านได้เห็นเช่นนั้น ความเจ็บปวดที่ท่านประสบทั้งหมดก็มลายหายไปสิ้น ซิสเตอร์เยมมาเล่าถึงเวลานั้นว่า แม้จะอยู่ในสภาพที่ทุกขเวทนาและเจ็บปวด ท่านก็ไม่ลืมที่จะปลอบใจฉันถึงเรื่องการจากไปอันน่าเศร้าของคุณแม่ของดิฉันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ปีเดียวกันนั้น

ในวาระที่ชีวิตของท่านจะดับลงเต็มที ท่านก็ได้เรียกซิสเตอร์ทุกคนมาพบ และได้ให้โอวาทสุดท้ายว่า ลูก ๆ ที่รักของแม่ ไฉนหัวใจของลูกจึงทุกข์ตรมเหมือนคนมีความเชื่อน้อยเช่นนั้นเล่า ลูกรู้อยู่แล้วว่าแม่จะไม่รอดจากโรคนี้ หากมันเป็นพระประสงค์ของเจ้าบ่าวในสวรรค์ที่แม่จะไปจากลูกเร็ว ๆ นี้ตามคำเชิญของพระองค์ ก็จงปล่อยให้มันสำเร็จไปเถิด คณะของพวกเรายังคงแบเบาะนัก ลูกจึงต้องไม่ลืม ว่ามันเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของลูกในฐานะสมาชิกของคณะนี้ ที่จะส่งเสริมและผลักดันมัน จงปฏิบัติต่ออธิการด้วยความจริงใจและความรัก จงรักคนอื่น จงช่วยเหลือคนอื่น


เช้าวันที่ 8 ธันวาคม ค..1926 ท่านยังคงรู้ตัว และยังสามารถอวยพรคนรอบข้างได้ แต่ยิ่งเวลาเดินไปเท่าไร อาการของท่านก็มีแต่ก็จะทรุดลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ ท่านขอให้เอาท่านนอนบนเสื่อที่พื้น กระทั่งเวลาล่วงมาถึงเวลา 22.00 . รายล้อมด้วยบรรดาซิสเตอร์และคุณพ่อวิทยาทิลซึ่งต่างพากันคุกเข่า คุณพ่อนำท่องบทภาวนาสั้น ๆ ให้ท่าน ทันใดนั้นเองท่านก็ยกศีรษะขึ้นประหนึ่งเห็นบางสิ่ง คุณพ่อวิทยาทิลจึงเข้าไปประคองศีรษะท่าน และวางมันลง ก่อนนำสวดว่า เยซู มารีย์ ยอแซฟ ลูกขอมอบหัวใจและร่างกายของลูกไว้ในมืออันเปี่ยมรักของพวกท่าน ท่านในวัย 50 ปีก็สวดตามจนจบบทสวดนี้ ท่านจึงได้คืนวิญญาณไปหาพระเป็นเจ้า เพื่อรับรางวัลในสวรรค์ ดั่งคำสัญญาในราตรีนั้นในที่สุด

คืนนั้นทั้งอารามเต็มไปด้วยเสียงสะอึกสะอื้นด้วยความคิดถึง คุณแม่ ของพวกเขา มันช่างเป็นคืนที่ยากจะข่มตาหลับลงได้สำหรับพวกซิสเตอร์ทั้งหลาย และเมื่อเช้าวันใหม่เริ่มขึ้น ในสวนของอารามอัศจรรย์ประการหนึ่งก็บังเกิดขึ้น ดังย้ำเตือนถึงความศักดิ์สิทธิ์ของคุณแม่ของพวกเธอ คือ ดอกมะลิสีขาวส่งกลิ่นหอมได้พร้อมใจกันบานขึ้นทั้งต้น ฉันเห็นมันกับตา ซิสเตอร์ซูซันนายืนยัน ดังนั้นเองในพิธีปลงศพ มงกุฎดอกมะลิจึงถูกวางไว้ที่ศีรษะของท่าน และถูกฝังไปพร้อมร่างของท่าน ที่มิได้ผ่านการอาบน้ำศพ ตามคำสั่งของท่าน ที่ไม่ได้บอกจุดประสงค์ไว้ แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าท่านไม่ปรารถนาให้ใครเห็นรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่สีข้างของท่านนั่นเอง



พิธีปลงศพเป็นไปอย่างเรียบง่ายโดยมีประธานคือ ฯพณฯ มัทธิว เอดากาลาทูร์ เป็นประธาน มีผู้เทศน์คือคุณพ่อโยเซฟ กายะลากัม ซึ่งได้เปรียบท่านกับนักบุญเทเรซา แห่ง ลิซิเออร์  ว่า แม้ว่าพิธีปลงศพจะดำเนินไปอย่างเรียบง่าย เวลานั้นจะมาถึง เวลาเมื่อนักบุญอีกองค์เช่น ดอกไม้น้อย(.เทเรซา แห่ง ลิซิเออร์)จะลุกขึ้นจากหลุมศพนี้ และมีสัตบุรุษจากหลายวัดแห่กันมาร่วมงาน ทั้งยังเอาสายประคำ ของศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มาสัมผัสร่างกายของท่าน และขอของใช้ท่าน จนคุณพ่อวิทยาทิลต้องออกมาปรามไว้

หลังจากนั้นอีก 51 ปี เมื่อมีการขุดร่างของท่านในระหว่างกระบวนขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ ก็ปรากฏว่าร่างของท่านนั้นคงสภาพดีเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เว้นแม้แต่มงกุฎดอกมะลิบนศีรษะของท่าน ทั้งนี้ยังปรากฏกลิ่นหอมประหลาดลอยฟุ้งออกมาจากหลุมของท่านอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่เพียงเท่านั้นตลอดหลายปีก่อนจะมีพิธีสถาปนาท่านเป็นบุญราศี ก็มีรายงานอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนของท่านถึง 700 รายการถูกรายงานมายังอาราม


อัศจรรย์ครั้งสำคัญคือการรักษาเท้าที่บิดงอตั้งแต่เกิดของมัธทิว ดี เปลลิสเสรี ในระหว่างปี ค..1970 – ..1971 แพทย์ชาวอินเดียและอิตาลีถึงเก้าคนได้ทำการตรวจสอบเรื่องนี้ และยืนยันว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ ดังนั้นเองในวันที่ 9 เมษายน ค..2000 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงได้ทรงบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศี ซึ่งผลักดันให้คำกล่าวที่ว่า เธอมีชีวิตอยู่เป็นนักบุญและเธอจะเป็นนักบุญในอนาคตยิ่งใกล้ความจริงขึ้นไปอีก และที่สุดในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ.2019 หลังจากการตรวจสอบอัศจรรย์อาศัยคำเสนอวิงวอนครั้งที่ 2 ของท่านอย่างยาวนาน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสก็ทรงสถาปนาท่านเป็นนักบุญ นับเป็นนักบุญองค์สตรีองค์ที่สามของพระศาสนจักรอินเดีย 

ปัจจุบันคณะพระวิสุทธิวงศ์ที่ท่านก่อตั้ง มีแขวงของคณะเก้าแขวง ข้อมูลจากปี ..2000 ระบุว่าคณะมีบ้าน 176 หลัง กระจายอยู่ในเกรละ , ภาคเหนือของอินเดีย , เยอรมัน , อิตาลี และกานา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในยุคปัจจุบัน ภายใต้จิตตารมณ์ของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แห่งนาร์ซาแร็ธ ความรักเห็นอกเห็นใจของคณะมาจากการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนอย่างลึกซึ้ง และพันธะกิจการสร้างความเท่าเทียมกระทำผ่านพันธกิจเรื่องครอบครัว


เพราะว่าแอกของเราอ่อนนุ่ม และภาระที่เราให้ท่านแบกก็เบา(มัทธิว 11:30) พระเยซูเจ้าตรัสว่าแอกของเรานั้นอ่อนนุ่ม พระองค์มิได้ตรัสว่าผู้ติดตามเราไม่ต้องแบกสิ่งใด ดังนั้นเองชีวิตคริสตชนจึงต้องพร้อมน้อมรับแอกในรูปแบบต่างๆเสมอ เพราะนับตั้งแต่วันที่เราตอบรับว่าจะเป็นคริสตชน เราก็ได้ยอมรับแอกของพระองค์เข้ามาในชีวิตด้วย ดังนั้นขอให้เราหมั่นระลึกถึงพระวาจานี้เข้าไว้ เพื่อว่าในยามเราเจอกับเรื่องร้ายๆเราจะตระหนักได้ว่า แอกของพระองค์นั้นอ่อนนุ่ม แอกนั้นคือแอกแห่งความรัก แอกนั้นไม่เคยเกินกำลังของเราจะแบกไว้ แอกนั้นช่วยให้เราเติบโต แอกนั้นพาเราไปสวรรค์ ขอให้ชีวิตของคุณแม่มารีอัม เทเรเซียกระตุ้นเตือนเราให้พร้อมรับแอกของพระองค์อยู่เสมอ ให้เราเลียนแบบท่านที่รับความทุกข์ยากต่างๆด้วยความยินดี ขอเรายินดีที่จะเลือกมงกุฎหนามบนโลก เพื่อไปรับมงกุฎดอกไม้แห่งชัยชนะในสวรรค์ ดีกว่าเลือกมงกุฎทองคำบนโลก เพื่อไปรับมงกุฎแห่งความอัปยศในนรก สุดท้ายนี้ขอให้ชีวิตของท่านกระตุ้นเรา ให้กล้าออกไปปฏิบัติกิจเมตตาในสังคมของเรา ที่ต้องการความเมตตาด้วยเถิด อาแมน 

(บทความนี้ได้มีการปรับแก้อีกครั้งในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 2023 ภายหลังการสถาปนาบุญราศีมารีอัม เทรเซียเป็นนักบุญ ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนตำแหน่งให้สอดคล้องกับปัจจุบัน)


ข้าแต่ท่านนักบุญมารีอัม เทรเซีย ช่วงวิงวอนเทอญ


ข้อมูลอ้างอิง

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน ผู้ใหญ่ในคณะคนแรก ๆ ที่ท่านแสวงหา...