วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2563

'ฌาน แห่ง วาลัวส์' ราชธิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ตอนที่ 1

นักบุญฌาน แห่ง วาลัวส์
St. Jeanne de Valois
ฉลองวันที่: 4 กุมภาพันธ์

ท่ามกลางความหวังที่เต็มเปี่ยมในพระราชหฤทัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 หลังเสด็จกลับจากการแสวงบุญที่เมืองชาร์ตพร้อมคำภาวนาวอนขอให้พระหน่อในครรภ์พระนางชาร์ล็อตต์เป็นพระโอรสต่อแม่พระ เพราะพระองค์ต้องสูญเสียพระราชโอรสไปถึงสามพระองค์ติดต่อกัน และพระหน่อองค์ล่าสุดที่มีประสูติกาลที่รอดก็ซ้ำเป็นพระธิดาเสียนี่ ดังนั้นการประสูติกาลพระหน่อครั้งนี้จึงเป็นที่คาดหวังยิ่งในพระราชหฤทัยของพระราชาจอมวางแผน ว่าพระองค์จะต้องได้พระโอรสไว้สืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศสเสียที แต่ก็ประดุจอัสนีผ่าลงกลางพระราชหฤทัย เมื่อแรกได้ทอดพระเนตรเห็นพระหน่อที่มีประสูติกาลในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1464 ขณะประทับพักแรมที่เมืองโนก็องต์ เลอ คอย แต่พระนางชาร์ล็อตต์ แห่ง ซาวอย พระอัครมเหสีองค์ที่สอง เพราะแทนที่พระหน่อจะเป็นชายดั่งความตั้งพระทัยไว้ตลอด พระหน่อที่พึ่งได้แลเห็นโลกใบนี้นั้น กลับเป็นพระธิดาตัวน้อย ๆ ที่มีลักษณะคนขี้โรคปรากฏชัดแทน

พระหน่อองค์น้อยผู้เกิดมาท่ามกลางความผิดหวังของพระชนกได้รับศีลล้างบาปตามพิธี แต่ไม่มีความยินดีใดปรากฏเลยในพิธีนั้น พิธีวันนั้นคงเป็นแค่พิธีที่ถูกจัดขึ้นไปอย่างเสียไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นพระหน่อองค์น้อยก็ได้รับการเถลิงนามให้ว่า ‘ฌาน’ และเพียงยี่สิบหกวันหลังกำเนิด พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ก็ทรงจับพระธิดาของพระองค์หมั้นไว้กับหลุยส์ ดยุกแห่งออร์เลอ็อง ซึ่งมีอายุมากกว่ากันสองปี เพื่อใช่พระธิดาองค์น้อยเป็นหมากหนึ่งในเกมส์การเมืองต่อไป


แม้จะไม่เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยของพระชนก ท่านก็ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักความเอ็นดูจากพระนางชาร์ล็อตต์ พระมารดาในพระราชวัง ณ เมืองอ็องบวซ จนเจริญพระชันษาได้ 5 ปี พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ก็ทรงตัดสินพระทัยส่งพระธิดาองค์นี้ที่มีหลังคดโก่งจากการที่มีกระดูกสันหลังคดผิดไปจากปกติ และอาการเดินเหินกระโผลกกระเผลก ไปอยู่ในความดูแลของสองสามีภรรยาบารอนฟร็องซัวส์ เดอ ลินแยร์ และบารอนเนสอานน์ เดอ กูล็อง ขุนนางสองสามีภรรยาใจศรัทธา ผู้ไม่มีทายาทสืบสกุล

สองสามีภรรยาอ้าแขนต้อนรับเจ้าหญิงองค์น้อยด้วยความรักใคร่ประหนึ่งเป็นบุตรีแท้ ๆ ของตน และได้สอนเจ้าหญิงองค์น้อยในการศาสตร์ศิลป์แขนงต่าง ๆ ทั้งการเขียนกวี คณิตศาสตร์ วาดรูป เย็บปัก และเล่นเครื่องดนตรีลูต (พิณประเภทหนึ่ง) ฝั่งเจ้าหญิงองค์น้อยที่นับวันจะเจริญชันษาขึ้นในปราสาทแห่งลีแยร์ ก็ตระหนักดีเสมอว่าตัวเองนั้นไม่ได้เหมือนกับเด็กหญิงคนอื่น ๆ ที่วิ่งเล่นตามทุ่งหญ้าจากหมู่บ้านรอบ ๆ ปราสาท แต่ตัวท่านก็ไม่เคยน้อยเนื้อต่ำใจต่อชะตาอันอาภัพ ทั้งยอมรับร่างกายอันอ่อนแอ การดูถูก ความอัปยศไว้อย่างเงียบ ๆ

ปราสาทลีแยร์

จนเมื่อท่านเจริญชันษาได้ 6 ชันษาบ้างว่า 7 ชันษา พระชนกของท่านที่ดูไม่เหลียวแลท่านก็ทรงอนุญาตให้ท่านเลือกคุณพ่อวิญญาณของท่าน และทุกคนก็ต้องประหลาดใจในปรีชาญาณของเจ้าหญิงผู้พิกลพิการองค์นี้นัก เมื่อแทนที่ท่านจะทูลตอบทันที ตรงข้ามท่านขอพระบรมราชานุญาตสวดภาวนาเสียก่อน ซึ่งฝั่งพ่ออยู่หัวหลุยส์เองก็ทรงมีพระบรมราชานุญาต ท่านจึงได้ทูลเรื่องนี้ต่อพระเป็นเจ้าในระหว่างมิสซา และก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นว่า “เดชะรอยแผลของพระบุตรของแม่ ลูกจะมีแม่” ท่านจึงเข้าใจทันทีว่าคุณพ่อวิญญาณของท่านจะต้องเป็นฟรังซิสกัน เพราะท่านนักบุญฟรังซิสได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ และคณะฟรังซิสเองก็เจริญชีวิตเพื่อเกียรติมงคลของแม่พระ ‘คุณพ่อฌอง เดอ ฟ็องเตน’ อธิการอารามฟรังซิสกันประจำเมืองอองบัวส์ ซึ่งอยู่ไกลออกไป คือคุณพ่อฟรังซิสกันองค์เดียวที่ท่านรู้จัก ท่านจึงเอ่ยนามของคุณพ่อองค์นี้ต่อพระชนก ซึ่งพระองค์ก็ไม่ทรงขัดค้อง และได้ทรงจัดรถม้าให้ไปรับคุณพ่อฌองมาฟังแก้บาปของท่านมิได้ขาด จนเวลาต่อมาท่านจึงได้สมัครเป็นฟรังซิสกันขั้นสาม นี่เองจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่รากแห่งจิตตารมณ์ฟรังซิสกันค่อย ๆ หยั่งลึกลงไปในชีวิตฝ่ายจิตของท่าน

ทุกวันขณะท่านเติบโตผ่านความทุกข์จากต้องห่างจากอ้อมอกพระชนนี และการปฏิเสธจากคนที่ได้ชื่อว่าพระชนกแท้ ๆ ท่านก็ยังคงแสดงออกถึงน้ำพระทัยที่อ่อนโยนและอดทนไม่เคยขาด ท่านยกถวายทุกความทุกข์และพลีกรรมทั้งหมดที่ท่านได้รับหรือกระทำต่อพระเจ้า ผู้ที่เชื้อเชิญท่านด้วยหนทางอันน่าพิศวง นอกนี้ท่านยังค้นพบบุคคลที่จะนำความปลอบประโลมมาสู่หัวใจที่เจ็บช้ำของท่าน คนที่พร้อมจะรับฟังท่านเสมอไม่ว่าเวลาไหน คนที่จะเป็นเสมือนมารดาอีกคน ซึ่งไม่มีวันจะปฏิเสธท่าน คนคนนั้นก็คือ ‘พระนางมารีย์ พระชนนีพระเจ้า’


ปราสาทลีแยร์เป็นปราสาทที่มีหอสังเกตการณ์หอใหญ่เป็นสง่า รายล้อมด้วยทุ่งหญ้าสีเขียวตัดกับแม่น้ำที่ไหลผ่าน ซึ่งกันให้ท่านห่างจากเหตุการณ์ในเมืองหลวง ที่บริเวณปราสาทแห่งนี้มีวัดน้อยหลังหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งสร้างขึ้นถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์ อยู่บริเวณปีกซ้ายของตัววัดประจำปราสาท ที่นี่เป็นสถานที่แคบ ๆ ซึ่งควรจะเรียกว่าห้องมากกว่าวัด แต่เป็นสถานที่ที่ท่านเลือกใช้สวดภาวนายกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้าเป็นเวลานานสองนานอยู่เป็นประจำ จนเวลาต่อมาเมื่อบารอนฟร็องซัวส์ แต่บ้างก็ว่าพระชนกของท่านทราบเรื่อง จึงสั่งให้ข้ารับใช้ไปสร้างเตาผิงไว้ให้ในวัดน้อยนั้น เพื่อให้ความอบอุ่นกับท่านในช่วงฤดูหนาว จนปรากฏเป็นประจักษ์พยานมาถึงปัจจุบัน

ท่านรักที่จะสวดภาวนามาก ทุกวันท่านจะร่วมสวดภาวนากับสหายสนิท และยิ่งท่านเติบโตขึ้นเท่าไร ท่านก็ยิ่งค้นพบว่าการสวดภาวนาคือความสุขสำหรับตัวท่านมากเท่านั้น แม้ในทีแรกท่านจะทราบดีว่าพระชนกทรงรับสั่งมิให้ท่านสวดภาวนามาก แต่ท่านก็ไม่กลัว เช่นคราวหนึ่งท่านก็บอกกับนางอานน์
ท่านบารอนเนสที่รักของเรา ให้พวกเราไปและสวดภาวนาต่อองค์พระราชินีศรีสวรรค์ในวัดของพระนางกันเถิด
ไม่ ไม่พะยะค่ะ พระองค์เสด็จไปที่นั่นไม่ได้  เพราะทรงเหน็ดเหนื่อยมามากแล้ว และมันจะเป็นอันตรายแก่พระองค์เองนะพะยะค่ะ  นางอานน์ทูลค้าน
อา เรามั่นใจว่าต้องตรงกันข้ามแน่ ๆ เราจะรู้สึกดีขึ้นเยอะ เพราะไม่มีสุขใดสำหรับเราจะมากยิ่งไปกว่าการได้อยู่กับพระชนนีพระเจ้า ท่านตอบ
ช้าก่อนพระองค์ พระองค์มิทราบดอกหรือว่าพ่ออยู่หัวทรงห้ามพระองค์ไม่ให้ทำคารวะกิจศรัทธาพิเศษต่าง ๆ ไว้  นางอานน์ค้านอีกครั้ง

"...พระเป็นเจ้านั้นเหนือพระองค์"

“การที่พ่ออยู่หัวจะทรงปกป้องเรานั้นเป็นสิ่งดี แต่มันมากเกินไป และถึงแม้พระองค์ก็ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น เราก็ไม่เชื่อว่าพระองค์ทรงทำสิ่งนี้ได้ เพราะพระเป็นเจ้าเป็นเจ้าเหนือพระองค์” ท่านตอบอย่างไม่ลดละ ฝ่ายนางอานน์เมื่อเห็นว่าไม่อาจรั้งท่านได้ นางจึงตัดสินใจพาท่านไปวัดน้อยที่ท่านชอบมา ที่นั่นบนหัวเข่าน้อย ๆ ท่านคุกเข่าลงพร้อมสายประคำในมือคู่น้อย แล้วเริ่มสวดภาวนาด้วยอากัปกริยาดุจเดียวกับบรรดาทูตสวรรค์ ก่อนเงียบเพื่อคอยฟังคำตอบของคำถามบางประการจากสวรรค์… ท่านเฝ้ารอคำตอบนี้จนถึงล่วงถึงปี ค.ศ.1471 ที่พระชนกของท่านก็มีพระบรมราชโองการให้มีการสวดบทวันทามารีย์เพื่อสันติภาพตลอดทั่วพระราชอาณาจักร ซึ่งแน่นอนตัวท่านมีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อแม่พระ เมื่อทราบก็เร่งปฏิบัติตามด้วยความร้อนรนระคนยินดี

วันหนึ่งในปีนั้นเอง ขณะท่านมาสวดภาวนาอยู่ที่ประจำของท่าน ด้วยคำถามซ้ำ ๆ ที่ว่า “โอ้พระมารดาของหนู โปรดสอนหนูเถิดว่าหนูต้องทำเช่นไรท่านถึงจะพอพระทัย” คราวนี้ท่ามกลางความเงียบ พลันก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นภายในตัวท่าน เสียงที่จะกำหนดชะตาชีวิตทั้งหมดของท่าน ซึ่งเป็นชะตาที่สวนทางอย่างชัดเจนกับชะตาที่พระราชบิดาของท่านทรงกำหนดไว้ตั้งแต่ท่านยังไม่รู้ความ แต่แท้จริงกลับเป็นชะตาที่ถูกเตรียมไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ท่านได้ปฏิสนธิในครรภ์โดยพระเจ้า นั่นคือการถวายชีวิตรับใช้พระเจ้าทั้งครบในฐานันดรของนักบวช มิใช่เจ้าหญิงผู้เป็นชายาของเจ้าชายองค์ใดองค์หนึ่งบนโลกนี้ หากแต่เป็นพระราชาแห่งสวรรค์ เสียงนั้นดังว่า “ลูกน้อยของแม่ อย่าร้องไห้ไป วันหนึ่งลูกจะได้ไปจากโลกที่มีแต่อันตรายน่าหวาดกลัว และลูกก็จะก่อตั้งคณะที่ใฝ่หาแต่บทเพลงสรรเสริญพระเจ้า และสัตย์ซื่อต่อการเดินตามรอยเท้าของแม่”


ท่านน้อมรับโชคชะตานี้และเก็บมันไว้ภายในใจ ในขณะที่เวลาแห่งชีวิตหมุนผ่านไป ดุจเดียวพระนางมารีย์ทรงน้อมรับการเป็นมารดาของพระวจนาถต์ไว้ แม้ในกาลต่อมาเมื่อพระราชินีมาร์กาเร็ต แห่ง อองฌู พระราชินีแห่งอังกฤษ ซึ่งมาประทับลี้ภัยที่ราชสำนักฝรั่งเศสพร้อมพระโอรส ผู้ทรงแลเห็นจิตใจที่งดงามของท่าน จะทรงอยากได้ท่านมาเป็นลูกสะใภ้สักคน จนถึงขั้นออกปากชวนท่านว่า
“เจ้าหญิงน้อยที่รักของฉัน เธออยากเป็นลูกสาวของฉันไหม”
“โอ้ อยากสิคะ ท่านผู้หญิงคะ หนูต้องการให้ท่านเป็นมาก ๆ เลยค่ะ และหนูก็จะได้ช่วยบรรเทาความทุกข์ของท่านได้เล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง แต่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้สำหรับหนู…” ท่านทูลตอบ
“ทำไมละ ก็ฉันจะยกลูกของฉันให้แต่งงานกับเธอไงละ” พระนางมาร์กาเร็ตตรัส
“โอ้ ก็เพราะหนูไม่ต้องการแบบนั้นไงคะ … เจ้าชายไม่อาจจะเทียบเคียงพระเป็นเจ้าผู้แสนดีได้ค่ะ” ท่านทูลตอบตามความเป็นจริง (ในเวลาต่อมาพระนางมาร์กาเร็ตได้เล่าเรื่องนี้ให้พระชนกของท่านฟังด้วยความโทมนัส ผิดกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ที่ทรงรับฟังด้วยท่าทีไม่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก)

ท่านดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายในลินแยร์ กระทั่งมีวัย 9 ชันษา ชีวิตของท่านมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยมันเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.. 1473 เมื่อเจ้าชายฟรังซัวส์ พระอนุชาของท่านสิ้นพระชนม์ลงด้วยพระชันษาไม่ถึงขวบปี ทำให้พ่ออยู่หลุยส์ที่ 11 เหลือรัชทายาทสืบสันตติวงศ์เพียงองค์เดียวนั่นคือ เจ้าชายชาร์ล พระองค์จึงตัดสินพระทัยดำเนินนโยบายสร้างพันธมิตรทางการเมืองของพระองค์ต่อ (บ้างว่าทรงต้องการตัดการสืบสกุลของตระกูลออร์เลอ็อง ซึ่งเป็นตระกูลคู่แข่งของตระกูลวาลัว ซึ่งพระองค์สืบสกุล) ผ่านการสยุมพรของพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ นั่นคือของท่านและของพระเชษฐภคินีของท่าน โดยพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในสัญญาวิวาห์ระหว่างท่านและหลุยส์ แห่ง ออร์เลอ็อง ขณะทรงประทับ ณ เมืองฌาร์ชู ในวันที่ 8 ตุลาคม ปีเดียวกัน พร้อมมอบสินสอดทองหมั้นเป็นจำนวนเงินถึงหนึ่งแสนเอซู (เงินเหรียญฝรั่งเศส) พร้อมกันนี้ทรงประกาศก้าวว่าใครก็ตามที่บังอาจจะขัดขวางแผนการครั้งนี้ ก็อย่าหวังจะได้มีชีวิตต่อไปใต้อาณาจักรของพระองค์


ฝั่งนางมารี เดอ คลีฟส์ มารดาของหลุยส์เมื่อทราบ นางก็เป็นทุกข์แทนบุตรของตนยิ่ง นางทั้งไม่พอใจต่อการตัดสินใจคราวนี้ นางอยากจะประท้วง อยากจะปล่อยโฮออกมา แต่ก็ต้องสะกดกลั้นอารมณ์ต่าง ๆ ไว้ภายในเพราะความกลัวตายจากอาญาแผ่นดิน เพราะอีกฝั่งหาใช่คนธรรมดาแต่เป็นถึงกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส เจ้าชีวิตของทุกชีวิตในแผ่นดินนี้ ฝั่งหลุยส์ ดยุกหนุ่มก็ไม่ได้มีสภาพต่างกัน เขาถูกขู่เช่นกันว่าหากเขาไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของกษัตริย์ เขาก็จะถูกจับยัดใส่ถุง แล้วเอาไปทิ้งลงแม่น้ำ สถานที่ที่ใครจะไม่ได้ยินเสียงของเขาอีกต่อไป

เมื่อจัดการเรื่องเจ้าบ่าวได้แล้ว พ่ออยู่หัวหลุยส์ที่ 11 ก็ทรงมีรับสั่งให้บารอนแห่งฟร็องซัวส์นำตัวท่านมาเข้าเฝ้าที่เมืองเปลสซี มีบันทึกถึงเวลานั้นว่าขณะท่านกำลังเสด็จข้ามลานเพื่อมาเข้าเฝ้าพระราชบิดา พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ทรงทอดพระเนตรเห็นท่านจากทางหน้าต่างบานหนึ่ง พระองค์ก็ทรงอุทานออกมาว่า “เราไม่อยากจะเชื่อเลยจริง ๆ” ตัวท่านในวัย 9 ชันษาสั่นสะท้านไปทั้งตัวเมื่ออยู่เบื้องหน้าชายที่ได้ชื่อว่าเป็นพระชนก กระทั่งทราบว่าพระชนกจะให้ท่านเข้าพิธีวิวาห์กับหลุยส์ แห่ง ออร์เลอ็อง ท่านก็หักความกลัวในใจแล้วทูลต่อพระชนกว่าท่านปรารถนาเพียงจะได้ถวายชีวิตทั้งครบแด่พระเจ้า แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ก็ทรงตัดบทขึ้นโดยเร็วว่า เจ้าต้องเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายที่เราเลือกไว้ให้เจ้า เราต้องการให้เป็นไปเช่นนี้ เจ้าได้ยินชัดไหม อย่าเอ่ยอะไรออกมาอีก เหตุนี้ท่านจึงต้องสะกดความปรารถนาไว้แต่ในใจเงียบ การเข้าเฝ้าคราวนั้นเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และเต็มไปด้วยความเย็นชา ก่อนพระองค์จะส่งท่านกลับไปลินแยร์เพื่อเตรียมเข้าพิธีต่อไป

 

งานมงคลสมรสของทั้งสองมิได้มีขึ้นในทันที เหมือนเช่นกรณีของพระเชษฐภคินีของท่านที่แม้จะหมั้นหลังท่าน แต่ก็ได้เข้าพิธีมงคลสมรสไปก่อน เพราะหากลองไล่ตามลำดับเครือญาติของคู่บ่าวสาวคู่ใหม่ จะพบว่าทั้งสองคนมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และตัวพ่ออยู่หัวหลุยส์ที่ 11 เองก็มีฐานะเป็นพ่อทูนหัวของหลุยส์ จึงต้องมีการเดินเรื่องขออนุมัติจากองค์สมเด็จพระสันตะปาปาเสียก่อน มีเรื่องเล่ากันว่าก่อนจะมีพิธีสมรส นางมารี เดอ คลีฟส์ก็ตัดสินใจพาหลุยส์เดินทางไปยังปราสาทลินแยร์ เพื่อพบอนาคตลูกสะใภ้ของตน ฝั่งท่านบารอนฟรังซัวส์เมื่อทราบ ก็พยายามช่วยท่านเท่าที่ทำได้ เขาพยายามจัดให้ท่านสวมชุดที่ดีที่สุด แม้มันจะไม่ใช่อาภรณ์ที่สมพระเกียรติซึ่งตัดเย็บจากผ้ากำมะหยี่หรือไหมชั้นเลิศ เพื่อพบกับว่าที่แม่สามี แต่มันก็ไม่ช่วยอะไรเลย เพราะเพียงแค่นางมารีได้แลเห็นลักษณะการเดินกระเผลก ๆ หลังที่ค่อมลงและร่างกายขี้โรคของท่าน นางก็แทบจะสิ้นสติลงด้วยความโทมนัส “อนิจจา นี่ลูกของฉันต้องมาแต่งกับหญิงพิการหรือนี่” นางรำพันออก ส่วนหลุยส์ อนาคตเจ้าบ่าวเอง ตั้งแต่วันที่พบท่านอีกครั้งก็ทุกข์ใจไม่แพ้กัน ทุกครั้งที่มีใครก็ตามพูดถึงเรื่องการแต่งงานครั้งนี้ เขาจะอดตระหนก และหลบออกไปร่ำไห้พลางบ่นออกมาอย่างอัดอั้นไม่ได้ ว่า “ให้ข้าตาย ๆ ไปเสียจะดีกว่า”

ที่สุดหลังจากเฝ้ารอมาอย่างยาวนานในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1476 สมเด็จพระสันตะปาปาซิกตุสที่ 4 ก็ทรงอนุมัติพิธีมงคลสมรสระหว่างหลุยส์และฌาน ดังนั้นในวันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน หลุยส์ในวัย 14 ปี และท่านในวัย 12 ปี จึงได้เข้าพิธีเสกสมรส ณ วัดน้อยปราสาทมองตริชาร์ด พิธีในวันนั้นดำเนินไปโดยไร้เงาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 และนางมารี เดอ คลีฟส์ เพราะนางตัดสินใจไปร่วมงานแต่งงานของลูกสาวตนในวันเดียวกันแทน ส่วนคู่บ่าวสาวเจ้าของพิธีเองก็ไม่ได้มีสีหน้าแช่มชื่นเหมือนคู่บ่าวสาวอื่นโดยทั่วไป เพราะทั้งต่างซ่อนความทุกข์ไว้ในตัวของทั้งคู่ แต่เป็นความทุกข์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนหนึ่งเป็นความทุกข์จากการต้องมีภรรยาสภาพทุพลภาพ แต่อีกคนเป็นความทุกข์จากการที่ตนไม่อาจได้ติดตามรับใช้พระเจ้าในฐานะนักบวช นี่จึงเป็นวิวาห์ที่แสนเศร้าโดยแท้

งานวิวาห์ที่แสนเศร้า

ในงานเลี้ยงฉลองการเริ่มต้นครั้งใหม่ของชีวิตคู่ หลุยส์ไม่แตะต้องอาหาร เขาเอาแต่เหม่อลอยพร้อมร้องไห้ให้กับชะตาชีวิตที่เขาคิดว่าบัดซบอยู่เนือง ๆ ส่วนตัวของฌานเองก็ไม่ต่างกันเท่าไร เพราะตลอดเวลาท่านก็ไม่ได้มีความสุขที่จะต้องแต่งงานกับหลุยส์ แต่ท่านไม่ได้ปล่อยน้ำตาให้ไหลออกมาตามใจ ตรงข้ามท่านเลือกที่จะสะกดมันไว้ สมกับที่มีสายเลือดขัตติยะ พร้อมเปิดหัวใจที่จะรักชายคนนี้ตามพระประสงค์ของพระชนก จนยากที่คนภายนอกจะเข้าใจได้ถึงความเศร้าที่ซ่อนอยู่ในความเงียบงันนั้น และนี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของกางเขนอีกประการที่ท่านต้องแบก เพราะในเวลาที่ท่านเลือกจะเปิดหัวใจที่มีไว้เพื่อชายเพียงผู้เดียว คือ โอรสของพระนางมารีย์ เพื่อรักชายหนุ่มที่ถูกบังคับให้แต่งงานด้วย คู่ครองของท่านกลับที่เลือกที่จะปิดหัวใจของเขาไว้อย่างสนิท 

กางเขนต่อไปที่ชีวิตของราชธิดาผู้นี้จะต้องเผชิญจากชายผู้ที่บัดนี้ได้ชื่อว่าเป็นสามีจะเป็นอย่างไรต่อไป หยาดน้ำตาเท่าไรที่ต้องสูญเสีย เพื่อพบแสงสว่างเบื้องหลังกางเขน พระเจ้าจะทรงทำเช่นไรเพื่อให้เจ้าสาวของพระองค์จากโลกที่แสนโหดร้ายนี้ไป จะเป็นความตายของท่าน หรือของสามีของท่าน หรือเป็นการกลับใจของสามีผู้มีใจด้านชา เหมือนเรื่องราวของนักบุญหลายองค์ที่ได้มีโอกาสสมรสอย่างไม่เต็มใจ วิธีการใดที่พระเจ้าจะทรงพาเจ้าสาวของพระองค์ไปตามพระสัญญาที่พระมารดาของพระองค์ได้ตรัสกับเจ้าสาวคนนี้ของพระองค์ 


"ข้าแต่ท่านนักบุญฌาน แห่ง วาลัวส์ ช่วยวิงวอนเทอญ"

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน ผู้ใหญ่ในคณะคนแรก ๆ ที่ท่านแสวงหา...