นักบุญมาร์เกอริต เบย์
St. Marguerite Bays
ฉลองในวันที่ : 27 มิถุนายน
‘ลา ปีร์ราซ’ คือชื่อของหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่แถบชนบทของรัฐฟรีบูรก์ ทางตะวันตกของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ลา ปีร์ราซแห่งนี้ เมื่อพิจารณาดีๆ ก็จัดเป็นชุมชนหลังเขาพอสมควร มันเป็นเพียงชุมชนหนึ่งของตำบลซีวีรีส ที่รายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้าสีเขียว กับแม่น้ำลา แกลนไหลผ่าน ชีวิตของชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ก็ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ตามประสาชาวชนบททั่วไป ไม่ได้มีอะไรหวือหวาหรือพิเศษ ที่จะทำให้มันโดดเด่นต่างจากชุมชนในชนบทอื่นๆ แต่เป็นชุมชนที่ต่ำต้อยนี้เอง ที่พระเป็นเจ้าได้ทรงเลือกและได้ส่งของขวัญอันล้ำค่ามายังโลก ในวันเดียวกันกับที่พระศาสนจักรระถึงการบังเกิดของพระนางมารีย์เพื่อให้ชาวโลกได้รับพรอาศัยของขวัญชิ้นนี้ ผ่านการเกิดของธิดาคนหนึ่งของสองสามีภรรยา ผู้อาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งนี้
อ็องตวนและโฌเซตเต เป็นสองสามีภรรยาเจ้าของฟาร์มขนาดกลางในหมู่บ้านลา ปีร์ราซ ทั้งคู่เป็นคริสตชนใจศรัทธา ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตั้งแต่ชีวิตแทบจะไม่มีอะไรกิน จนพอลืมตาอ้าปากได้ในวันนี้ด้วยความขยันมุมานะ ซึ่งแม้จะไม่ถึงขั้นร่ำรวยมีกินมีใช้ ทั้งคู่ก็ได้ใช้ชีวิตเป็นประจักษ์พยานถึงกิจการเมตตาต่อคนยากคนจนในพื้นที่นี้เป็นอย่างดี เป็นครอบครัวนี้เองที่ในวันที่ชาวเราฉลองการบังเกิดของแม่พระ บุพผาแห่งรัก ผู้จะเป็นอนาคตนักบุญได้ถือกำเนิดขึ้นและส่งเสียงร้องงอแง เป็นสัญญาณถึงการมีชีวิต ในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1815
ทั้งสองตั้งชื่อธิดาตัวน้อย ผู้เป็นลูกคนที่สองจากเจ็ดคนของพวกเขาว่า ‘มาร์เกอริต’ และได้คอยช่วยกันอบรมธิดาน้อยให้เจริญขึ้นทั้งในด้านวิญญาณ และด้านร่างกายเป็นที่ชอบทั้งต่อพระพักตร์พระเป็นเจ้าและต่อหน้าเพื่อนมนุษย์ จนมีวัยตามเกณฑ์ ทั้งสองก็พาท่านไปรับศีลกำลัง( ค.ศ.1823) และศีลมหาสนิทในปี (ค.ศ.1826) พร้อมได้ส่งเสียเข้าเรียนในโรงเรียนชาว็องเนส เลส ฟอร์ตส์ตามกำลัง จนพออ่านออกเขียนได้ ทั้งสองจึงให้ท่านออกจากโรงเรียนมาช่วยงานที่บ้านอย่างเต็มตัว และเมื่อท่านมีวัยได้ประมาณสิบห้าปี ท่านจึงเริ่มเรียนเย็บผ้า และได้เริ่มรับจ้างเย็บผ้ารายวันเพื่อช่วยหาเงินมาจุนเจือครอบครัวที่เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น
โดยหนทางอันน่าพิศวง นับตั้งแต่เยาว์วัยแสงแห่งพระเป็นเจ้าก็ทอดลงมายังหัวใจน้อยๆของท่าน และหัวใจของท่านก็เลือกจะติดตามแสงนี้ไป เฉกทานตะวันหันไปตามแสงแห่งสุริยา วิญญาณของท่านถูกดึงดูดไปหาพระองค์มากกว่าจะหันเหไปหาโลกภายนอกเหมือนคนอื่นๆ ท่านชอบที่จะเลือกหาความสันโดษและความเงียบมากกว่าเล่นสนุกกับเพื่อนๆวัยเดียวกัน เพื่อใช้เวลาเหล่านั้นอยู่กับพระองค์ ในทำนองใจสื่อใจ ท่านสามารถจดจ่ออยู่กับการสวดภาวนา การรำพึง และการไตร่ตรองถึงพระเป็นเจ้าไปได้ตลอดวันตลอดคืน “‘เธอสวดตลอดเวลาแม้ระหว่างทำงานก็ตาม’ ด้วยจุดหมายเดียวคือกลับไปหาพระองค์ ‘เธอปรารถนาจะที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า’ ซึ่งเพื่อความปรารถนานี้ ‘เธอมีชีวิตอยู่ในการสำแดงองค์ของพระเจ้า’ สรุปได้ว่า ‘ทุกๆอย่างที่พูดเกี่ยวกับเธอ ก็คือเธอรักที่จะสวด และสวด และสวดภาวนา” นักเขียนชีวประวัติของท่านคนหนึ่งได้เขียนไว้
แม้เมื่อโตขึ้น ชีวิตจะสาละวนกับการงานตามหน้าที่ ท่านก็ไม่ละทิ้งการสวดภาวนา และหมั่นที่จะพัฒนาชีวิตภาวนาของตนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ช้ามันก็ยิ่งจะมีแต่ก้าวหน้า กระทั้งล้ำหน้าวัยของท่าน และผลิดอก อวดสี ส่งกลิ่นขจรไปรอบข้าง เป็นที่ชื่นชมจากผู้พบเห็นและได้สัมผัส จนพวกเขาอดไม่ได้ ที่จะคิดว่าวิญญาณที่งดงามเช่นนี้ช่างไม่คู่ควรกับโลกของฆราวาสที่ต้องสาละวนกับภาระงานมากมาย พวกเขาจึงต่างเอ่ยปากแนะนำให้ท่านไปสมัครเข้าอารามลา ฟิลเล ดือของคณะซิสเตอร์เซียนที่ตั้งอยู่ที่ โรม็อง ไม่ไกลเท่าไรจากบ้านของท่าน เพื่อท่านจะได้ใช้ชีวิตภาวนาได้อย่างเต็มที่ “ไม่คะ ฉันขอสวดแบบอื่นดีกว่าค่ะ คือคำตอบที่ท่านตอบพวกเขา ชลอยว่าในที่เร้นลับ ที่มีแต่ท่านและพระเป็นเจ้า พระองค์อาจทรงไขแสดงพันธกิจบางประการไว้สำหรับท่าน
วิญญาณแห่งลา ปีร์ราซดวงนี้ ไม่เพียงงดงามด้วยความศรัทธา แต่ยังงดงามด้วยกิจการนานาที่เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ผู้คนมากมาย ทั้งในเรื่องความรักเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และความร้อนรนในการประกาศพระวรสาร ซึ่งปรากฏออกมาในหนทางที่แสนธรรมดา ไม่ได้หวือหวาหรือน่าตื่นเต้นเมื่อเทียบกับเรื่องราวของนักบุญองค์อื่นๆ ที่ละทิ้งบ้านแล้วออกไปผจญภัยในโลกกว้าง เพื่อนำข่าวดีไปให้กับผู้ที่ยังไม่รู้ หรือตั้งคณะนักบวช/ฆราวาสเพื่อทำงานรับใช้พระศาสนจักร เพราะแท้จริงกิจการของท่าน เป็นเพียงการรับใช้พระศาสนจักรอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้
เป็นความจริงที่ว่าในสมัยของท่านนั้นด้วยผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนโฉมหน้าของโลก ทำให้เกษตรกรบางคนเริ่มหันมาพึ่งพาจักรกลแทนการใช้แรงงานคน สิ่งเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มจำนวนผลตอบแทน ซึ่งเป็นผลดีแก่เกษตรกรที่เป็นเจ้าของ แต่ก็เป็นผลร้ายต่อเกษตรกรอีกหลายคนที่เคยมีรายได้จากการรับจ้างทำงานในไร่ เพราะทำให้พวกเขาต้องตกงานและมีชีวิตที่ยากลำบากกว่าแต่ก่อน สิ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลกระทบต่อชีวิตท่านบ้าง แต่มันก็ไม่เคยเป็นข้ออ้างที่ท่านจะปฏิเสธการทำกิจการเมตตาต่อผู้อื่น สิ่งเหล่านี้มีประจักษ์พยานมากมายที่ต่างได้พบเห็น และได้สัมผัสด้วยตัวเอง
“เธอมีชีวิตเรียบง่ายสมถะ เธอไม่เคยคิดจะร่ำรวย คนยากไร้หลายคนชอบไปที่บ้านของเธอ และมาร์เกอริตก็ได้ให้การต้อนรับพวกเขาเป็นอย่างดี”“เธอไม่เคยปล่อยให้คนยากไร้ต้องอดข้าว ทุกวันอาทิตย์พวกเราจะไปรับประทานอาหารเย็นกันที่เลส ปีแอร์ร๊อต พร้อมกับมาร์เกอริตกับพี่น้องของเธอ”“ท่านอาบน้ำให้เด็กยากจน ปะชุนเสื้อผ้าของพวกเขา และบางครั้งก็หาเสื้อผ้าดีๆมาให้แล้วโยนผ้าขี้ริ้วของพวกเขาลงกองไฟ”“เธอปฏิบัติความรักต่อเพื่อนบ้านในระดับที่พิเศษ…กิจการเมตตาของเธอไม่มีขอบเขตและมันล้วนมากจากหัวใจทั้งสิ้น”
เหล่านี้คือตัวอย่างของคำพยาน ที่เล่าถึงข้ารับใช้พระเจ้า ผู้ได้รับการขนานนามจากบรรดาผู้ยากไร้ว่า ‘ผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปราน’ และได้รับการยกย่องจากชาวบ้านบางคนว่าทำงานหนักกว่าพระสงฆ์
“กิจการของพระเจ้าก็คือให้ท่านทั้งหลายเชื่อในผู้ที่พระองค์ทรงส่งมา” (ยน. 6:29) เมื่อท่านทำงานท่านชอบที่จะนั่งเป็น ‘ผู้ฟัง’ มากกว่าเป็น ‘ผู้พูด’ เพื่อรับฟังเรื่องราวต่างๆทั้งความเป็นไปของบ้านเมืองและบุคคลจากบรรดานักข่าวสตรีทั้งหลาย ไม่ใช่เพราะท่านหลงใหลในเรื่องสนุกต่างๆของโลก แต่เพื่อตามหาดวงวิญญาณที่หลงหายไปจากคอกแกะของพระศาสนจักร เพราะสำหรับท่านแล้ว ‘ความรอด’ ไม่ได้จำกัดแค่เพียงวิญญาณของท่าน แต่ยังรวมไปถึงของคนอื่นๆ ท่านจึงเฝ้าที่จะตามหาวิญญาณที่หลงหาย แล้วยกถวายพวกเขาไว้ในคำภาวนา ร่วมกับพลีกรรมต่างๆของท่าน เพื่อหวังว่าพวกเขาจะกลับใจในเร็ววัน บางครั้งท่านก็สวดภาวนาด้วยจุดประสงค์นี้ถึงค่อนคืน และบางครั้งท่านก็ชักชวนให้เพื่อนๆใจศรัทธาสักคนสองคนร่วมสวดภาวนาเพื่อจุดประสงค์นี้อีกด้วย
และแม้วิญญาณของท่านจะรักความเงียบและความสันโดษ ด้วยความกังวลต่อความรอดของเพื่อนมนุษย์ และตระหนักถึงดีถึงความจำเป็นที่จะต้อง ‘ประกาศสัจธรรม’ อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากการสวดภาวนาให้คนบาปกลับใจ ท่านจึงเริ่มรวบรวมเด็กๆละแวกบ้านเพื่อ ‘สอนคำสอน’ ให้กับพวกเขา แต่วิธีการสอนของท่านนั้นเป็นวิธีสอนที่สวนทางกับความนิยมในเวลานั้น เพราะแทนที่จะสอนแบบตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่แสนจะน่าเบื่อ ท่านเลือกที่สอนเด็กๆด้วยการใช้ภาษาสัญลักษณ์ พร้อมบทเพลงในการสวดภาวนาตามแบบที่ท่านถนัด
บรรดานักเรียนคำสอนน้อยๆทุกคนในวันนั้น ในวันที่พวกเขาโตขึ้นมาและได้มาเป็นพยานถึงครูคำสอนของพวกเขา ยังจดจำได้แม่นถึงรางหญ้าพร้อมพระกุมารที่เสด็จไปเยี่ยมยังที่ต่างๆ พระแท่นประดับดอกไม้นานาพันธุ์ในเดือนแม่พระ การเชิญชวนไปวัดแม่พระแห่งบัวส์ หรือแม้แต่เรื่องที่ครูคำสอนคนนี้ของพวกเขาปลอมตัวเป็นนักบุญนิโคลัสเพื่อเอาของขวัญมาให้พวกเขาทุกคน พวกเขาเล่าถึงตัวของท่านว่า
“คุณแม่มาร์เกอริตไม่เคยเบื่อที่จะพูดกับเรา” , “ท่านรักที่จะหัวเราะ ท่านเป็นคนร่าเริงตลอด” , “ท่านพูดถึงตัวเองน้อยมากๆ ท่านยังเป็นคนศรัทธามากๆ” , “ท่านทำทุกอย่างเพื่อพระสิริของพระเจ้า” , “หลายๆครั้ง ก็ดูเหมือนท่านกำลังรำพึง” , “กฎชีวิตของท่านก็คือทำงานและสวด”และเล่าถึงการสอนของท่านว่า“ท่านพูดคุยแบบง่ายๆและร่าเริงและมีเมตตา แต่สิ่งที่ชนะใจของพวกเรา ก็คือความเรียบง่ายที่น่าชื่นชม ความศรัทธาอันบริสุทธิ์ที่ส่องแสง ณ ที่นี่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความพอประมาณ และความถ่อมตนของท่าน อาทิการผลักไสการสรรเสริญ”“ท่านพูดคุยกับเรา แต่ไม่ใช่แบบเทศน์ ท่านเป็นคนใจศรัทธา แต่ไม่ใช่คนหัวแข็ง ท่านไม่เคยพูดเมื่อมีอะไรจะพูด”“การสวดภาวนาร่วมกับท่านใช้เวลาไม่นาน ท่านไม่ทำให้เราเบื่อ”
ตลอดช่วงชีวิตของท่าน เด็กๆทุกคนในหมู่บ้านต่างคุ้นชินดีกับทางเส้นเล็กๆที่นำไปสู่ฟาร์มแห่งหนึ่ง อันเป็นที่ที่พวกเขาจะพบกับท่านกำลังนั่งปั่นฝ้าย ไม่ก็สวดภาวนาอยู่ เพราะเมื่อถึงเวลาเลิกเรียนหรือวันหยุด พวกเขาก็จะพากันเดินทางมายังที่นี่เพื่อพบท่าน ฝั่งท่านเอง เมื่อทราบว่าเด็กๆมาก็ละจากภาระเบื้องหน้า เพื่อมาสนทนากับพวกเขา และแน่นอนด้วยความเป็นเด็ก ก็ต้องมีความซุกซนตามประสาเด็กๆตามมาเป็นธรรมดา แต่เรื่องนี้ไม่ต้องห่วงไป เพราะแม้ท่านจะเป็นคนเงียบๆ ท่านก็สามารถรับมือจอมวายร้ายเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี นอกนี้แล้ว ไม่เพียงแต่เป็นครูคำสอนให้กับพวกเขา ท่านยังกลายมาเป็นเหมือน ‘แม่’ อีกคนของบรรดาเด็กๆ ท่านคอยเป็นช่างเย็บผ้าของพวกเขา และบางครั้งเป็นช่างตัดชุดใหม่ให้ฟรีๆอีกด้วย
นอกจากบ้านของท่านที่เป็นจุดนัดพบระหว่างครูคำสอนผู้นี้กับบรรดานักเรียนของเธอแล้ว ‘วัดแม่พระแห่งบัวส์’ วัดน้อยที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของท่าน ก็เป็นหนึ่งในจุดนัดพบอีกจุดระหว่างท่านกับเด็กๆ ที่นี่เป็นวัดที่ท่านชอบแวะเวียนมาสวดภาวนา เพราะเป็นสักการสถานที่มีบรรยากาศที่เงียบสงบ (มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งที่ท่านมาสวดภาวนาต่อหน้าพระรูปแม่พระในวัดนี้ จู่ๆพระรูปก็ก้มพระพักตร์มาหาท่าน) และเนื่องจากมันรายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ที่พอจะให้นักเรียนวิ่งเล่น และก็มีต้นไม้ใหญ่ที่พอใช้เล่นซ่อนหาได้ ในทุกวันอาทิตย์ ท่านจึงชอบพาเด็กๆมาเรียนคำสอนที่นี่เสมอ โดยท่านจะเริ่มจากสวดก่อน แล้วจึงค่อยพาพวกเขาเล่นเกมส์ กระทั้งถึงเวลาสมควรท่านก็จะปล่อยทุกคนกลับบ้านไป เวลาเหล่านั้นช่างเป็นเวลาแห่งความสุขสำหรับเด็กๆ พวกเขาจึงอดเสียดายไม่ได้ แต่หลังจากกอดลาแล้วทุกคนก็จะแยกย้ายกันกลับบ้านไปแต่โดยดี
และด้วยความร้อนรนที่อยากจะแบ่งปัน ‘ความรอด’ ไปให้กับทุกคน ในทุกๆวันฉลองพระคริสตสมภพ ดั่งที่ท่านนักบุญฟรานซิส แห่ง อัสซีซี ที่ได้จำลองฉากแห่งเหมันต์ที่เบธเลเฮมขึ้นในอดีต ท่านก็ได้ทำถ้ำพระกุมารเล็กๆขึ้น เพื่อหวังจะให้เด็กๆ และชาวบ้านได้มาเฝ้าองค์สันติราชาด้วยตาเนื้อและกายเนื้อของพวกเขา มาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงหลับพริ้มในรางหญ้า เพื่อพวกเขาจะได้รู้สึกเหมือนว่าพวกเขาคือผู้เลี้ยงแกะ ที่ได้รับข่าวดีจากทูตสวรรค์ว่าพระทรงธรรมบังเกิดแล้ว
ท่านพยายามจะถ่ายทอดความรู้สึกนั้นไปให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ลูกในกฎหมายและนอกกฎหมาย ผู้เจ็บป่วยและผู้แข็งแรง ที่มารายล้อมเพื่อเฝ้าพระกุมารน้อยด้วยความยินดีและสันติ ให้พวกเขาได้รำพึง ดั่งที่ท่านรำพึงว่าในวันนี้ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้ถ่อมพระองค์ลงมาบังเกิดเป็น ‘ผู้ต่ำต้อยที่สุด’ ตลอดพระชนม์ชีพบนโลก นับแต่เวลาที่ทรงบังเกิด ทรงสำแดงพระองค์ ทรงรับททรมาน จนสิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพ เป็นความรักเหลือประมาณ ที่รุนเร้าให้ท่านอดไม่ได้ที่จะต้องถามขึ้นว่า “อะไรกันหนอที่พวกเราจะทำให้เรารักพระเจ้าได้มากกว่านี้”
ส่วนในช่วงเดือนพฤษภาคมขอทุกปีที่เป็นเดือนของแม่พระ ท่านก็จะชักชวนบรรดาเด็กๆที่มาเรียนคำสอนไปร้องเพลงตามบ้านหลังต่างๆ ท่านเชิญชวนพวกเขาให้เปล่งเสียงขับขานเพลง เพื่อถวายพระชนนีพระเจ้าจากหัวใจของพวกเขา ไม่เพียงเฉพาะวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ทุกๆวันตลอดทั้งเดือนนี้ นอกนี้ที่บ้านของครอบครัว ท่านก็จะจัดแท่นประดับด้วยดอกไม้เพื่อถวายเกียรติแด่แม่พระ และทุกวันท่านก็จะมาสวดภาวนา ร้องเพลง ณ แท่นนี้ ตัวอย่างเพลงเหล่านี้เช่น “นี่เป็นเดือนมงคลแม่มารีย์ บรรเจิดศรีเดือนนี้ช่างสวยสุด โอ้ พรหมจารีผู้พิสุทธิ์ มาร้องชุดเพลงใหม่สรรเสริญกัน”
ไหนๆก็กล่าวถึงเรื่องแม่พระแล้ว ก็อดได้ที่จะขอแทรกเรื่องราวความศรัทธาของท่านที่มีต่อแม่พระ ตัวท่านนี้ทั้งชีวิตมีความศรัทธาพิเศษต่อแม่พระมาก ทุกวันท่านจะต้องสวดสายประคำ และครั้งหนึ่งเมื่อท่านมีวัยได้ 20 ปี ท่านพร้อมเพื่อนๆจำนวนหนึ่งก็ได้ออกเดินเท้า จาริกแสวงบุญไปยังสักการสถานพระแม่แห่งฤษี เมืองไอน์ซีเดิลน์ ซึ่งอยู่ห่างหมู่บ้านของท่านไปถึง 120 ไมล์ โดยท่านกับเพื่อนใช้วิธีเดินพลาง สวดภาวนาพลาง พอค่ำก็อาศัยนอนในโรงนา มีเงินติดตัวไปนิดๆหน่อยๆ การเดินทางใช้เวลาประมาณสามวัน และเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ท่านและเพื่อนก็ไม่หวั่น เพราะพวกท่านต่างตระหนักรู้ถึงความรักที่พระนางมารีย์นั้นมีต่อพวกท่านตลอด
ดังที่เล่าไปแล้วว่าเพื่อช่วยจุนเจือครอบครัว ท่านได้เริ่มรับงานเป็นช่างเย็บผ้า และด้วยฝีไม้ลายมือในการเย็บผ้าของท่าน ก็ทำให้มีผู้คนมากมาย มากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามาในชีวิตประจำวันของท่าน ซึ่งได้เล่าไปบางแล้วว่าพวกเขาเหล่านั้น นอกจากนำงานมาให้ก็นำทั้งข่าว และเรื่องทุกข์สุขหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนมาเล่าให้ท่านฟังเสมอ ซึ่งท่านก็ไม่เคยเลยที่จะปฏิเสธที่จะไม่รับฟังพวกเขา แต่ท่านท่านฟังพวกเขาอย่างมีสติ เพื่อค้นหา ‘ความต้องการ’ ที่ท่านจะสามารถช่วยพวกเขาได้ และบางทีก็ชักชวนให้พวกเขาร่วมสวดภาวนากับท่าน และเมื่อจะกล่าวโต้ตอบ ท่านก็ไม่เคยเลยที่จะเลือกใช้วาจาที่ส่อเสียดหรือทำร้ายใคร เหล่านี้คือคำพยานถึงเรื่องเหล่านี้
“เธออารมณ์ดีเสมอ”“ชาวบ้านมีความสุขเสมอเมื่อเธอมาทำงานที่บ้าน เธอไม่เคยรบกวนเวลาใครและเธอก็เป็นช่างเย็บผ้าฝีมือดี”“ฉันประทับใจด้วยความแตกต่างของเธอ ทั้งความเรียบง่าย คำพูด คำตอบ อันเต็มไปด้วยความศรัทธาและชีวิตฝ่ายจิตที่สูงส่ง”“มาร์เกอริตไม่เคยโกธรเลยสักครั้ง….. ในความอดทนของทูตสวรรค์ พวกเราจึงเธออยู่ในสันติสุขเสมอ”“เธอตอบกลับอย่างเร็วไว บาดใจไม่มาก แต่เป็นสิ่งที่ถูกที่ควร”“เธอมีชีวิตมากกว่าคำว่าทั่วไป แล้วเธอยังเป็นคนเป็นๆ เรายังสามารถเห็นรอยย่นที่หน้าผากของเธอได้ เธอไม่เคยตอบกลับด้วยอารมณ์”
ชีวิตอันน่าพิศวงของท่านนี้ อาจทำให้พวกเราจินตนาการไปว่า ท่านต้องมีชีวิตที่ผิดแปลกไปจากชาวบ้านคนอื่นๆ แต่แท้จริงเมื่อคนในครอบครัวเล่าถึงท่าน ภาพที่ถูกฉายออกมากลับไม่ใช่ภาพของนักบุญผู้กระทำการอัศจรรย์ หรือวีรสตรีผู้มีชีวิตโลดโผน ตรงกันข้ามกลับเป็นภาพของ ‘ช่างเย็บผ้าแห่งลา ปีร์ราซ’ ผู้ที่ทุกวันจะลุกขึ้นมาแต่เช้ามืด เพื่อสวดภาวนา ณ เบื้องหน้าพระแท่นแม่พระเล็กๆที่ทำขึ้นเป็นอันดับแรก แล้วจึงเริ่มปั่นด้ายจากต้นป่าน ก่อนออกไปรีดนมวัว และช่วยงานในฟาร์มเท่าที่จะทำได้ จนเวลาล่วงมาถึงเวลาต้องไปมิสซาประจำวัน ก็จะรีบสลัดจากภาระทุกสิ่ง แล้วรีบคว้าหนังสือมิสซา เพื่อมุ่งหน้าไปร่วมมิสซาที่วัด ซึ่งห่างออกไปประมาณยี่สิบนาที เพื่อร่วมมิสซาอย่างตั้งใจ จนมิสซาจบจึงจะกลับมา และกลับมาทำงานเย็บผ้า ซึ่งหากเป็นช่วงหน้าร้อนก็จะเป็นการไปตามบ้านต่างๆ แต่หากเป็นช่วงหน้าหนาวก็จะเป็นที่บ้านของครอบครัว จนจบวัน ปฏิบัติกิจส่วนตัวต่างๆ สวดภาวนาและเข้านอน
นอกนี้พวกเราบางคนคงต้องจินตนาการเป็นแน่ ว่าครอบครัวนี้ต้องเป็นครอบครัวที่เพียบพร้อมและมีความสุข จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแรงขับให้ท่านพร้อมที่จะนำพระพรไปมอบแก่ทุกคน แต่ผิดถนัดเพราะถึงแม้บิดามารดาของท่านจะเป็นคริสตชนใจศรัทธา ครอบครัวของท่านก็ไม่ได้มีชีวิตที่จัดว่า ‘ราบรื่น’ เสียทีเดียวตรงข้ามกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวชวนปวดหัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมารี มาร์เกอริต ลูกสาวคนหนึ่งของบ้าน รายนี้ได้ตัดสินใจแต่งงานออกเหย้าออกเรือนไป แต่สุดท้ายชีวิตคู่ของเธอก็ไปไม่รอดและต้องจบด้วยความเจ็บปวด , เรื่องของโฌเซฟ ลูกชายอีกคนของบ้าน รายนี้เป็นคนเจ้าอารมณ์ อีกหย่อนยานในทางศีลธรรม จนสุดท้ายก็ถูกตัดสินจำคุก แต่เรื่องที่น่าจะชวนปวดหัวมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของโคล้ด ลูกชายคนเล็กของบ้านนี้ เพราะรายนี้ไปทำเขาท้องจนได้ลูกมาคนหนึ่ง ซึ่งภาระในการเลี้ยงอบรมก็ตกมาอยู่กับท่านในวัย 17 ปี ไม่พอเมื่อมีวัยได้ 47 ปี เขาก็ไปคว้าคนนิสัยหยาบกระด้างอย่างนางโฌเซตต์มาเป็นศรีภรรยา นางโฌเซตต์ผู้นี้เมื่อตกแต่งเข้ามา แทนที่จะช่วยแบ่งเบาภาระงานในบ้าน ก็กลับชอบกลั่นแกล้งท่าน ซ้ำชอบจิกหัวใช้งานท่านแทน แต่ในวาระสุดท้ายของนาง เมื่อนางป่วยหนักท่านก็ไม่ถือโทษนาง ซ้ำคอยเฝ้าพยาบาลนางอย่างดี คอยเตรียมจิตใจนาง กระทั้งนางสิ้นใจไป
ภาพวัดจากหน้าต่างบ้านของท่าน |
ท่านเจริญชีวิตอันน่าพิศวงนี้ครองตนเป็นโสดอยู่ในบ้านของครอบครัว กระทั้งมีอายุได้ 35 ปี ท่านก็เริ่มมีอาการปวดท้องอยู่บ่อยๆ เป็นอาการเรื้อรังมาตลอด ทีแรกท่านก็พยายามซ่อนมันไว้จากสายตาคนอื่นๆ จนหนักเข้าๆ ครอบครัวของท่านก็สังเกตเห็นอาการผิดปกติในตัวท่าน พวกเขาจึงพาท่านไปพบแพทย์ และได้ทราบว่าท่านนั้นป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ ซึ่งแน่นอนว่าในเวลานั้น ไม่มีวิธีทางการแพทย์ใดๆจะรักษาท่านหายได้ เวลานั้นจะด้วยเหตุผลเรื่องอะไรในใจของท่านก็ตาม ท่านจึงหันหน้าไปพึ่งพระมารดาเจ้าที่รักของท่าน ด้วยความวางใจสุดหัวใจ เพื่อวิงวอนขอพระนางให้ทรงวิงวอนต่อพระบุตรให้รักษาท่าน แลกกับการที่ท่านจะต้องรับทรมานร่วมกับพระองค์ เพื่อชดเชยความทรมานในสถานต่างๆ จากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เดือน จากเดือนเป็นปี ล่วงมาได้สี่ปี คำภาวนาของท่านก็ยังคงไร้ผล บางทีอาจถึงเวลาแล้ว ที่พระองค์จะทรงรับวิญญาณดวงนี้ไปรับบำเหน็จในสวรรค์?
“พระราชกิจของพระองค์น่าพิศวง” ดั่งคำสรรเสริญในหนังสือสดุดีบทที่ 139 ข้อ 14 ในวัยกลางคนของสตรีธรรมดาๆ พระเป็นเจ้าได้ทรงตระเตรียมแผนการณ์อันน่าพิศวงอีกประการที่ไม่เพียงจะเปลียนชีวิตของสตรีคนหนึ่งให้เปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนลา ปีร์ราซให้เป็นมากกว่าเพียงหมู่บ้านเกษตรกรเล็กๆ โดยพระองค์ได้เลือกสรรค์วันที่พระศาสนจักรประกาศยอมรับธรรมล้ำลึกของการปฏิสนธินิรมลของพระนางมารีย์ ซึ่งก็คือในวันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1854 ให้เป็นวันที่จะเริ่มแผนการณ์นี้ โดยวิถีทางอันน่าพิศวง กล่าวคือ ในวันนั้นขณะแสงเทียนแห่งชีวิตของท่านใกล้จะดับลงเต็มที ท่านที่เวลานั้นนอนรอความตายอยู่เพียงลำพังในบ้าน เพราะคนอื่นๆต่างออกไปมิสซา ก็ได้รับการดลใจจากสวรรค์ให้นำเหรียญแม่พระผู้ปฏิสนธินิรมลไปแตะส่วนที่ท่านเจ็บ พร้อมวอนขอพระแม่โปรดเมตตาท่านด้วย
ทันใดนั้นเองพระเจ้าผู้ทรงความรักมั่นคงก็ทรงรักษาท่านให้หายจากอาการป่วยครั้งนี้ ท่านรู้สึกมีกำลังวังชาอีกครั้ง จนสามารถลุกออกจากเตียงมานั่งอยู่ที่เก้าอี้เตากากน้ำตาล ด้วยหน้าตาที่แจ่มใส ไร้เค้าลางของโรคร้ายที่เกือบจะฆาตชีวิตท่านไป แน่นอนภาพท่านนั่งสวดสายประคำในเวลานี้ ยังความประหลาดใจไม่น้อย เมื่อทุกคนในครอบครัวของท่านกลับมาถึงไม่ว่าจะเป็นตัวพี่ชายของท่าน น้องสาวของท่าน หลานชายและหลานสาว เพราะก่อนพวกเขาจะไปวัดท่านยังอยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะรอดอยู่เลย ช่างเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ยากจะหาคำอธิบาย แต่แผนการอันน่าพิศวงของพระเจ้าจบลงเพียงเท่านี้หรือ?
ตรงข้ามเลยนี่คือ ‘การเริ่มต้น’ เพราะแท้จริงแล้ว ชีวิตหลังจากนี้ไปของท่าน พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมท่านไว้ให้มีส่วนในถ้วยของพระองค์ พระองค์ทรงได้เชื้อเชิญและอนุญาตให้ท่าน ไม่เพียงแต่ต้องแบกกางเขนของตัวท่านเองติดตามพระองค์ แต่ได้มีส่วนร่วมแบกกางเขนของพระองค์และร่วมกับพระองค์ ณ บนกางเขนนั้น… ในไม่ช้าภายหลังจากหายขาดจากอาการป่วยหนัก ที่มือทั้งทั้งสองข้าง เท้าทั้งสองข้าง และที่สีข้างของท่านก็ปรากฏบาดแผลคล้ายบาดแผลศักดิ์สิทธิ์ทั้งห้าจุดของพระเยซูเจ้า และในบ่ายของวันศุกร์ ท่านก็เริ่มมีอาการเข้า ‘ฌาน’ ร่วมส่วนในเหตุการณ์พรมหาทรมานขององค์พระเยซู
การปรากฏขึ้นของ ‘รอยแผลศักดิ์สิทธิ์’ เปลี่ยนวิถีของท่านไปตลอด กล่าวคือนับตั้งแต่วันที่เครื่องหมายนี้ปรากฏขึ้น จิตใจของท่านก็มุ่งหาแต่สวรรค์โดยสมบูรณ์ เสมือนหนึ่งท่านได้ตายจากโลกนี้ แล้วฟื้นขึ้นมามีชีวิต เป็นชีวิตใหม่ที่มุ่งหาแต่สวรรค์และความเป็นนิรันดร์ แม้กายจะยังอยู่ในโลก ดั่งคำพยานหนึ่งที่ว่า “ท่านมีความหวังในสวรรค์ … เมื่อพวกเราได้พบท่าน พวกเราพบว่าท่านนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเจ้า…” นอกนี้การเจริญชีวิตต่อจากนี้ ท่านได้กลายเป็นดั่งพระคริสตเจ้าอีกองค์ กล่าวคือ ความปรารถนาของพระองค์กลายเป็นความปรารถนาของท่านเอง คือ ความปรารถนาให้ผู้คนได้กลับใจ ดั่งคำพยานที่คนหนึ่งได้เล่ว่า “เป้าหมายสูงสุดในชีวตของท่าน คือ พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและความรอดของวิญญาณทั้งหลาย”
ถุงมือที่ท่านใช้สวมปิดบังรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ |
แต่ที่สุดข่าวว่าช่างเย็บผ้าแห่งลา ปีร์ราซ มีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ก็แพร่ไปทั่ว ส่งผลให้มีผู้มากหน้าหลายตาแวะเวียนมาเยี่ยมท่านเรื่อย มีทั้งพวกที่เชื่อ พวกขี้สงสัย และพวกไม่เชื่อเลย เพราะท่านไม่เพียงมีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ท่านยังได้รับพระพรในการหยั่งรู้ พระพรในการทำนาย และพระพรในการให้คำแนะนำ ที่ชักนำให้คนมากมายเลือกจะเดินทางมาหาท่าน จนทำให้โคล้ด น้องชายของท่านต้องตั้งกฎสำหรับบรรดาแสวงหาเหล่านั้นขึ้นมา เพื่อให้พี่สาวของเขาได้พักผ่อนบ้าง ซึ่งทุกคนที่เคารพกฎและได้พบกับท่านแล้ว ทุกคนก็พบกับความสุขที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของเขา เมื่อพวกเขาเข้าไปถึงห้องเล็กๆ ที่สว่างไปด้วยความเรียบง่าย พวกเขาจะพบการต้อนรับด้วยใบหน้าที่สงบพร้อมสองลักยิ้ม พวกเขาจะได้เห็นดวงตาที่เป็นประกายและลึกลับไปในตัว และสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นจากช่างเย็บผ้าผู้นี้ ผู้ที่อ้าแขนรับทุกคนที่มาหา เดชะพระจิตเจ้าได้ทรงเปลี่ยนช่างเย็บผ้าผู้ต่ำต้อยนี้ ให้เป็นเสมือนวัด ‘บ้านแห่งความรัก’ ไปแล้ว
หนึ่งในผู้คนที่มาขอคำแนะนำจากท่าน ก็คือเด็กชายคนหนึ่งที่ท่านได้เคยสวดขอพระพรที่วัดแม่พระแห่งบัวส์ ให้ได้บวชเป็นพระสงฆ์ และพระเป็นเจ้าก็ทรงสดับฟังคำวิงวอนดังกล่าว เขาก็คือ ‘แคนนอน โฌเซฟ ชอร์เดเรต’ ในเวลาดังกล่าวคุณพ่อได้ริเริ่มตั้งคณะนักบวชสตรีเล็กๆ ที่มีวัตถุประสงค์คือการทำสื่อสิ่งพิมพ์ออกมา เพื่อต่อสู้กับความชั่วร้ายในเวลานั้นด้วยความดี ในชื่อ ‘คณะภคินีแห่งนักบุญเปาโล’ หรือ ‘คณะกิจการนักบุญเปาโล’ และได้เริ่มผลิตหนังสือพิมพ์ลา ลิแบรท์ออกมา แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ที่พระศาสนจักรคาทอลิกภายในเมืองฟรีบูร์กำลังถูกเบียดเบียน คุณพ่อจึงไม่ได้รับการสนับสนุนเสียเท่าไร โดยเฉพาะจากพระสังฆราช
คุณพ่อจึงรู้สึกลังเลใจว่าสิ่งที่ทำเป็นน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าจริงไหม ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้เดินทางกลับมาบ้านเกิด คุณพ่อจึงได้แวะไปขอคำภาวนาและคำแนะนำจากท่าน ฝั่งท่านเมื่อทราบเรื่องทั้งหมดก็ได้ให้ความมั่นใจกับคุณพ่อไปว่า “อย่าห่วงเลย จงก้าวไปข้างหน้าเถิด กิจการนี้เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับชาวเราและจะได้รับพรเฉพาะจากพระเจ้าเพราะคือน้ำพระทัยของพระองค์” คุณพ่อเมื่อได้ยินเช่นนั้นแล้ว ในเย็นวันเดียวกันเมื่อคุณพ่อกลับถึงฟรีบูร์ คุณพ่อก็ได้รวบรวมบรรดาหญิงสาวที่เคยทำงานด้วยกัน และได้ให้พวกเธอได้ปฏิญานตนครั้งแรกที่วัดนักบุญนิโคลัส ประจำเมือง นี่จึงนับเป็นการเริ่มต้นคณะภคินีแห่งนักบุญเปาโลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1873
ผลของการตั้งคณะนักบวชใหม่ ทำให้ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ร่วมงานของคณะใหม่นี้อีกคน ภายใต้สถานภาพ ‘ธิดาของนักบุญเปาโล’ และมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลืองานคณะเท่าที่สามารถทำได้ และคอยเป็นกำลังหลักในการสวดภาวนา แต่เวลาเดียวกันการตั้งคณะใหม่ดังกล่าว ก็ทำให้ท่านถูกพระสังฆราชท้องถิ่นเรียกตัวไปพบ เพื่อตำหนิและขอให้ท่านนึกถึงเรื่องของตนเองก่อนที่จะไปก้าวก่ายเรื่องของคนอื่น แต่ที่สุดเมื่อพระคุณเจ้าองค์ดังกล่าวได้เห็นถึงความเชื่อความศรัทธาของท่าน พระคุณเจ้าจึงเปลี่ยนใจและภายหลังยังได้ให้อุปสังฆราชมาเป็นคุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่านอีกด้วย
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าในช่วงเวลาที่ได้ให้คำแนะนำคุณพ่อโฌเซฟตั้งคณะนักบวชขึ้น เป็นช่วงเวลาที่พระศาสนจักรภายในฟรีบูร์กำลังถูกเบียดเบียน เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิ์ปรัสเซียหรือเยอรมันนี ที่แผ่อิทธิพลมาถึงพื้นที่ กับพระศาสจักรคาทอลิก ในประเด็นเรื่องอิทธิพลของพระศาสนจักรเหนืออำนาจรัฐ จึงทำให้เกิดความพยายามปลดแอกอำนาจ จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘คุลทูร์คัมพฟ์’ (Kulturkampf) หรือการต่อสู้ทางวัฒนธรรมในระหว่างปี ค.ศ.1871 – ค.ศ.1878 ผลของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระศาสจักรท้องถิ่นถูกเบียดเบียนอนอย่างหนัก บางแห่งก็ถึงขั้นมีการสั่งปิดอาราม จนพระสงฆ์จำนวนมากต้องหลบหนีไปที่ต่างๆ เหตุการณ์ที่ครุกรุ่นนี้เป็นที่กังวลใจของหลายฝ่าย ซึ่งก็รวมถึงท่านและคุณพ่อโฌเซฟ ซึ่งได้เลือกตั้งคณะนักบวชหญิงเพื่อทำงานขึ้น ในขณะที่ท่านเองก็พยายามติดตามพระสมณสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาอย่างระมัดระวังโดยตลอด และหมั่นสวดภาวนามาขึ้น เพื่อวอนขอให้เหตุการณ์เบียดเบียนนี้จบลงโดยเร็ว
การปรากฏรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนำพระพรต่างๆ มาสู่ตัวท่านแล้ว แง่หนึ่งนับตั้งแต่การปรากฏขึ้นรอยแผลดังกล่าว ท่านก็เริ่มมีสุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนแต่เก่า ท่านจึงไม่สามารถปฏิบัติกิจวัติประจำวันบางประการได้เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมเยียนคนยากไร้ คนป่วย หรือการเดินทางไปรับจ้างเย็บผ้าตามบ้านต่างๆ ดังนั้นท่านจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านคอยรับงานเย็บผ้าและงานปั่นด้าย แต่กระนั้นแม้ท่านจะมีอาการสามวันดีสี่วันไข้ ท่านก็ไม่ได้ย่อหย่อนในการปฏิบัติศาสนกิจอื่นๆ นอกนี้บางคราวเมื่อท่านล้มป่วยหนัก ท่านก็ยังคงต้อนรับแขกผู้มาเยียน ซึ่งมาเพื่อขอคำแนะนำที่นำไปสู่การกลับใจ การเริ่มต้นใหม่ และการได้รับอิสระ
พระพรที่ได้รับมามิได้ทำให้ท่านยกตนให้สูงกว่าคนอื่น ท่านพยายามดำเนินชีวิตเป็นปกติเหมือนเดิม เท่าที่สามารถทำได้ ท่านยังคงตื่นนอนในเวลาราวตีสองถึงตีสองครึ่ง เพื่อมาสวดภาวนาก่อนจะนั่งปั่นด้ายหรือทำงานอื่นๆ ไปจนถึงเวลามิสซา ท่านจึงเดินทางไปร่วมมิสซาที่วัดตามปกติ จะผิดแปลกไปก็คงแต่ในวันศุกร์เท่านั้นเพราะท่านยังอยู่ในสภาวะฌานอยู่ นอกนั้นก็เหมือนเดิมท่านยังคงช่วยงานวัด และอุทิศตนต่อศีลมหาสนิท
หนังสือธรรมนูญคณะฟรังซิสกัันขั้นสามของท่าน |
และยังชอบแวะไปอารามของคณะฤษีกาปูชิน ที่อยู่ใกล้ๆ กันกับอารามฟิลเลดือ ซึ่งท่านได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกขั้นสามของคณะฟรังซิสกัน ณ ที่นั่นตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1861 เพื่อยืมหนังสือฝ่ายจิตมาจากห้องสมุดของอารามมาอ่าน จากอารามแห่งนี้ท่านเรียนรู้ทจะเจริญชีวิตเลียนแบบนักบุญฟรานซิส ผู้ก่อตั้งคณะอย่างดี ท่านได้ปฏิบัติตนเป็นเหมือนน้องสาวฝ่ายจิตของนักบุญฟรานซิสในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมีชีวิตภาวนา ธรรมทูต การไม่ตำหนินักบวช การถ่อมตน แต่โดยเฉพาะเรื่องความรักที่ไม่มีสิ้นสุดต่อพระคริสตเจ้าตามพระวรสาร ซึ่งผ่านนักบุญฟรานซิส ท่านก็ได้พบความปรารถนาที่จะติดตามพระคริสตเจ้า
แต่สำคัญไปกว่านั้นแม้จะมีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้น ท่านยังตระหนักดีถึงสภาพบาปของมนุษย์ที่ท่านมีเสมอ ดังที่ในระหว่างท่านเข้าฌาน ท่านอุทานด้วยความยำเกรงและสั่นเทาในภาษาละตินว่า “ซักตุส ซักตุส โดมินุส”(ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าทรงฤทธา) ก่อนจะอุทานต่อว่า “มีเซเร เมอี เดอุส…”(โปรดทรงพระเมตตาเถิด พระเจ้าข้า) และมีบางครั้งท่านจะมองไปรอบๆห้องที่มีผู้มาเฝ้าดูเหตุการณ์ ก่อนจะพูดว่า “โอ้ โปรดให้อภัยลูก ผู้เป็นคนบาปผู้น่าสงสารด้วยเถิด” และเมื่อถูกตรึง ณ กางเขน ในช่วงท้ายๆท่านก็พูดขึ้นว่า “องค์ความรักไม่ได้รับความรัก ทรงขอลูก ลูกทำไม่ได้…มันยากเกินไปสำหรับลูก…” ซึ่งคำพูดในระหว่างการเข้าฌานนี้เองที่ยืนยันถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีว่าท่านความถ่อมตนของท่านเป็นของแท้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะแม้จะได้รับสิทธิ์พิเศษจากพระองค์ให้ร่วมรับทรมาน ท่านก็ตระหนักดีว่าท่านไม่คู่ควรกับมันเลย
กล่าวมาถึงเรื่องนี้ หลายท่านก็อาจสงสัยว่ารอยแผลศักดิ์สิทธิ์ของท่านมีลักษณะเช่นไร ซึ่งจากรวบรวมประวัติของท่านทำให้เชื่อว่า รอยแผลของท่านในวันปกติกับวันที่ร่วมพระมหาทรมานจะไม่เหมือนกัน โดยมีคนได้เห็นรอยแผลของท่านน้อยมาก โดยคนที่ให้ข้อมูลนี้ดีที่สุดก็คือมาแมร์ลุตการ์ด ลูกทูนหัวที่สนิทกับท่าน มาแมร์เล่าถึงเรื่องนี้ว่า “ดิฉันได้เห็นรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่มือของท่านหลายครั้ง พวกมันเป็นผื่นแดงรูปกางเขนทั้งที่ฝ่ามือและหลังมือของท่าน ซึ่งท่านซ่อนรอยแผลของท่านนี้อย่างระมัดระวัง ส่วนในทุกๆวันศุกร์ มันจะมีสีแดงเข้มขึ้น ซึ่งดิฉันเห็นตั้งแต่เล็กๆจนโตเป็นเด็กหญิงโดยไม่รู้เลยว่านั้นคือรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ของท่าน” ส่วนมองซินญอร์ เลอ โดยอง ปิลลูด เล่าว่าเขาสามรถแหย่ปลายไม้เท้าของเขาลงไปในบาดแผลได้เลย ฝั่งคนอื่นๆที่ได้เห็น ยืนยันว่ามันเป็นแบบเดียวกับของนักบุญฟรานซิส คือเป็นรอยตะปู
“…ข้าพเจ้าได้ยินคนเล่าลือกันมาบ้าง ว่ามีคนได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ตำบลซีวีรีส ข้าพเจ้าจึงได้สอบถามเรื่องนี้กับคุณพ่อสองสามองค์ พวกท่านก็ได้เล่าว่ามีหญิงชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งจากลา ปีร์ราซ ได้รับพระพรพิเศษในทุกๆวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ตลอดสิบห้าถึงยี่สิบปี ข้าพเจ้าจึงได้ขออนุญาตเข้าพบเธอ แต่มาร์เกอริตไม่ประสงค์เป็นที่รู้จักเท่าที่จะเป็นไปได้ และครอบครัวของนางเองก็ไม่ประสงค์จะต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมเสียเท่าไร กระนั้นความอยากรู้อยากเห็นของข้าพเจ้าก็ยิ่งทวีขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับท่านโทมัส ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นเพื่อจะได้เชื่อ วันหนึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสถูกพาเข้าไปในห้องของมาร์เกอริต ข้าพเจ้าเห็นหญิงวัยห้าสิบนอนอยู่บนเตียงพร้อมด้วยหน้าผากที่ขมวดเป็นรอยย่น นางดูทรมานเพระความเจ็บปวดจำนวนมาก ข้าพเจ้าเห็นเพียงมือขวาของนาง ที่หลังมือระหว่างกระดูกที่เชื่อมระหว่างนิ้วกลางและนิ้วนาง ข้าพเจ้าได้เห็นรอยแผลทรงกลมลึกเข้าไป …แต่บริเวณฝ่ามือไม่มีรอยแผลใดๆ” – จูลส์ กร็องจี อดีตนายอำเภอเขียนเล่า
“ในทุกวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เวลา 15.00 น. นางได้ถูกยกออกไปจากชีวิตปกติ เพื่อเข้าสู่สภาวะฌานซึ่งกินเวลาถึงหนึ่งชั่วโมง ข้าพเจ้ายังคงจดจำได้แม่นเมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าไปสังเกตุข้ารับใช้พระเจ้าในช่วงที่นางเข้าสู่สภาวะฌาน… มาร์เกอริตค่อยๆ เข้าสู่สภาวะเหมือนคนสิ้นใจ ความมีชีวิตดูคล้ายจะค่อยๆ จางหายไปจากนาง นางดูเหมือนศพจริงๆ ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นตั้งแต่เวลาบ่ายสามโมง สัญญาณของการมีชีวิตค่อยๆปรากฏขึ้นอีกครั้งหลังเวลาล่วงเข้าสี่โมงเย็นได้ไม่นาน เธอเริ่มหายใจอย่างช้าๆ ก่อนจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ แล้วกลับสู่สภาวะปกติ สีแดงระเรื่อขึ้นบนแก้มของนาง นางดูเหมือนจะตื่นขึ้นจากเสียงรอบข้าง ภายหลังการหลับสนิท ความยินดีที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ปรากฏฉายขึ้นบนใบหน้าของนาง นางถอนหายใจแล้วจึงเริ่มกล่าวถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความเชื่อ ความรัก และความรู้ซึ่งในพระคุณต่อพระเจ้า พระเยซูคริสตเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” – คุณพ่อฟร๊องซัวส์ เมอเนอเตรย์ พระสงฆ์ประจำตำบลของท่าน
การตรวจสอบทางการแพทย์สำหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่าน เกิดขึ้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ 11 เมษายน ค.ศ.1873 โดยเป็นการริเริ่มของพระสงฆ์ประจำตำบลซีวีรีส ที่ได้เชิญนายแพทย์อเล็ซ เปไกตาซ วัย 30 ปี จากตำบลบูลล์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ให้มาเป็นผู้ตรวจสอบ โดยได้มีคำสั่งเป็นรายลักษณ์อักษรจากทางสังฆมณฑลในท้องถิ่นให้ดำเนินการตรวจสอบนี้ ทำให้ในวันดังกล่าวคุณหมออเล็ซพร้อมด้วยพระสงฆ์อีกสองสามรูปจึงได้เดินทางมายังทีบ้านของท่าน ก่อนเวลาบ่ายสามโมงเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ต่อไปนี้จะเป็นคำให้การของจูลส์ กร็องจีผู้ร่วมสังเกตการณ์ในวันดังกล่าว
“ในช่วงต้นของการตรวจ คุณหมอได้รับอนุญาตให้เข้าไปพร้อมกับหลานสาวของมาร์เกอริต ข้าพเจ้าไมทราบว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างคุณหมอและคนไข้ของเขา สิ่งเดียวที่ข้าพเจ้าพอจะเล่าได้คือ พวกเราต่างได้ยินเสียงมาร์เกอริตผู้น่าสงสารถอนหายใจและกรีดร้องออกมาจากห้องข้างๆ หลายครั้งพวกเราต้องคอยสงบสติอารมณ์ท่านนายกเทศมนตรี หรือน้องชายของนาง เพราะท่านต้องการจะไล่คุณหมอที่กำลังทำพี่สาวของท่านทรมานออกไปเสีย กระทั้งเมื่อเสียงกรีดร้องเงียบลง พระสงฆ์จึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องของมาร์เกอริต ข้าพเจ้าก็ได้รับอนุญาตเช่นกันคุณหมอเปไกตาซแสดงเท้าของมาร์เกอริตและให้พวกเราดูรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับที่อยู่บนมือของนางไม่มีผิด หลังจากนั้นข้าพเจ้าจึงถอยออกมาอยู่ที่ห้องข้างๆ เสียงครางค่อยๆ เงียบลงและหยุดไป สภาวะฌานได้เริ่มขึ้น ในเวลาประมาณ 15.20 น. ผู้มาสังเกตการณ์ทั้งหมดได้เข้ามาดูหญิงใจศรัทธา นางนอนนิ่ง หลับตาลงและมีรอยยิ้มอยู่ที่ริมฝีปาก นางดูเหมือนตัดขาดจากสิ่งรอบตัวโดยสมบูรณ์ คุณหมอพยายามทดสอบอาการไม่รู้สึกตัวของนาง เขาเริ่มจี้ไปที่ฝ่าเท้าของนาง แล้วจึงเปลี่ยนมาใช้ของมีคมแทงไปที่ระหว่างนิ้วเท้าของนางจนนางเลือดออก แต่ก็ไม่เป็นผล แขนขาของนางยังคงไม่มีการเคลื่อนไหวและใบหน้าของนางก็ไม่ได้แสดงอาการอะไรคุณหมอจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทดลองตรงบริเวณศีรษะของมาร์เกอริตบ้าง เขาได้ลองเอาเครื่องมือบางอย่างสอดเข้าไปในจมูก ในตา และใต้เปลือกตาของนาง แต่ก็เปล่าประโยชน์ คุณหมอจึงได้ลองถ่างตาทั้งสองข้างของนางค้างไว้ แต่ตาของนางก็ไม่ได้เคลื่อนไหวไปตามแสงที่เขาส่องเข้าไป แต่ตรงกันข้ามพวกมันกลับดูเหมือนจับจ้องไปที่วัตถุบางประการ ซึ่งบางครั้งอยู่ทางขวาบ้าง และบางครั้งก็เป็นทางซ้ายบ้าง เขายังพยายามจุดเทียนและเอาไปลนที่ใต้จมูกของนาง แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นเขาจึงลองใช้คีมคีบเอาผิวหนังบริเวณรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่เท้าของมาร์เกอริต แล้วชูให้พวกเราดู พร้อมกล่าวว่ามันคล้ายผิวหนังที่ถูกไฟไหม้ ผู้ได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ดูคล้ายกับคนเสียชีวิตแล้ว หลังจากนั้นคุณหมอจึงได้เอามือของนางไปประสานกัน เขาลองยกแขนข้างหนึ่งของเธอขึ้น มันกลับมาอ่อนนุ่มอีกครั้ง เขาจัดท่าให้นางนั่งอยู่บนเตียง แล้วนางจึงค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาเป็นเหมือนเดิมหลังจากสภาวะฌานดำเนินไปได้ครึ่งชั่วโมง การทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ จึงยุติลง ปล่อยให้มาร์เกอริตได้พักผ่อนในสันติ กระทั้งนางตื่นขึ้นมาพร้อมรอยยิ้มและหันไปมองผู้คนรอบตัวนาง ท่านอุปสังฆราชเข้าไปหานางและถามนางว่าเป็นอย่างไรบ้าง นางตอบว่า ‘ลูกสบายดี ลูกสบายดี ลูกรู้สึกดีมาก โอ้ลูกรู้สึกดีมากๆ’ ใบหน้าของนามเปล่งประกายไปด้วยความยินดีทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการตรวจสอบของคุณหมออเล็ซ เปไกตาซนั้นเชื่อถือได้ และเขาได้ยอมรับว่ามีเรื่องบางเรื่องที่เขาไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เขากล่าวว่า ‘นี่มันอะไรกันเนี่ย ช่างเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เสียจริง ผมได้พบกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติและน่าอัศจรรย์ของบุคคลที่ได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ผู้นี้ และมันอยู่เหนือหลักการทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไม่อาจช่วยให้เข้าใจหรืออธิบายปรากฏการณ์นี้ได้’”
ภายหลังแหตุการณ์นี้มีบันทึกว่าเมื่อคุณหมอเปไกตาซกำลังจะสิ้นใจ เขาก็ได้ขอรับศีลเสบียงและได้ศีลใจในศีลและพระพร
ในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต ท่านล้มป่วยหนักจนไม่ได้ออกจากห้องเลย ท่านมีอาการปวดเฉียบพลันบริเวณศีรษะ คอ และหน้าอก แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับท่านบ้าง เพราะท่านไม่เคยบ่นหรือพูดอะไรซักคำ ท่านไม่ต้องการความบรรเทาใจและการปลอบประโลมใดๆ มากกว่าเดิม ท่านยังคงเจริญชีวิตอยู่ในความเรียบง่าย ท่านมีเพียงศีลมหาสนิทและชาสมุนไพรเย็นเป็นอาหารหลัก และกลายเป็นคนผอมมากๆ จนถึงขั้นน้องชายของท่านบอกกับท่านเลยว่าท่าน ตอนอุ้มท่านเหมือนอุ้มถุงใส่กระดูก
ฝั่งคนในครอบครัวเมื่อเห็นท่านเริ่มมีอาการแย่ลง พวกเขาก็คอยดูแลท่านเป็นอย่างดี คอยประคบน้ำส้มสายชู ประคบน้ำแข็ง รวมถึงจัดยาให้ท่านรับประทาน แต่ก็เพราะยาดังกล่าวไม่ตรงตามอาการ ท่านจึงไม่สามารถรับยาดังกล่าวได้ แล้วจำต้องเลิกไป ในช่วงเวลานี้ท่านเริ่มไม่ปรารถนาให้ใครมาเยี่ยม เพราะไม่อยากให้ใครเห็นความทุกข์ยากที่ท่านได้รับ จนล่วงถึงช่วงมหาพรต ค.ศ.1879 อาการของท่านก็แย่ลงเรื่อยๆ ท่านรับได้แต่เพียงชาสมุนไพรกับซุปขนมปังอ่อนผสมนมเล็กน้อยในทุกๆ สองวัน จนเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ท่านยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยที่ยังไม่เป็นอะไร ยิ่งในช่วงท้ายของชีวิต ท่านก็รับเพียงศีลมหาสนิทเพียงอย่างเดียว และพระเป็นเจ้าก็ทรงส่งทูตสวรรค์ให้เป็นผู้นำศีลมหาสนิทมาส่งให้ท่านในบางครั้ง
มาแมร์ลุตการ์ด หลานสาวของท่านเผยในภายหลังว่า วันหนึ่งพ่อของมาแมร์ได้เล่าให้ฟังว่า “พ่อกำลังจะบอกเรื่องที่พ่อไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน เรื่องนี้มีเพียงพ่อและคุณพ่อฌาน ไมล์ลาร์ดกับพี่สาวของพ่อเท่านั้นทีที่รู้เพราะเธอได้เล่าให้เขาฟัง ในช่วงที่คุณป้ามาร์เกอริตป่วยหนักครั้งสุดท้าย คุณป้าปรารถนาจะรับศีลมหาสนิทตลอดทั้งคืน พวกพ่อก็พยายามที่จะจัดให้ตามคำขอ แต่ก็ไม่อาจจะทำได้สำเร็จ ดังนั้นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้พระทัยดีจึงทรงส่งสารผู้รับใช้ของพระองค์ และทรงส่งทูตสวรรค์ ให้อัญเชิญศีลมหาสนิทมาให้คุณป้า ตัวพ่อเห็นเองยังไม่อยากจะเชื่อในสิ่งที่เห็นเลย”
“โอ้ ข้าแต่ยัญบูชาอันศักดิ์สิทธิ์
โปรดวาดลูกขึ้นมาใหม่ที่ด้านหลังพระองค์
โปรดให้เราได้เดินไปด้วยกัน
ลูกรับทรมานพร้อมพระองค์ นั้นถูกแล้ว
โปรดเถิด อย่าฟังคำค้านของลูก
โปรดให้ลูกสำเร็จสิ่งอันเป็นฝ่ายเนื้อหนังที่ขาดไปในความทรมานของพระองค์
ลูกกอดกางเขน
ลูกปรารถนาจะตายไปพร้อมพระองค์
ในบาดแผลที่ดวงหทัยพระองค์ลูกปรารถนาจะหายใจเป็นครั้งสุดท้าย ”
คำปฏิญาณของท่านได้รับการสดับ ในวันศุกร์สมโภชพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้าที่ 27 มิถุนายน ค.ศ.1879 ขณะอายุ 64 ปี พร้อมเจ้าบ่าวที่รัก ท่านก็ได้สิ้นใจสงบในเวลาบ่ายสามโมงของวันนั้น ภายหลังจากร่วมรับทรมานพร้อมกับพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายบนโลกนี้ “นักบุญของพวกเราตายแล้ว” ชาวบ้านที่ทราบข่าวต่างพากันประกาศด้วยเสียงที่สั่นระริกพร้อมน้ำตา
พิธีปลงศพของท่านถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ท่ามกลางฝูงชนที่แห่แหนกันมาจนแน่นวัดประจำเขต พิธีดำเนินไปท่ามกลางความเศร้า จนถึงเวลาจะฝังศพของท่าน ทุกคนก็ต่างต้องการใช้สายประคำสัมผัสโลงไม้ของท่าน เพราะทุกคนมั่นใจว่าท่านคือนักบุญแห่งปีร์ราซจริงๆ อย่างไม่ต้องสงสัย “อย่าลืมวันนี้เราได้ฝังศพนักบุญ แต่อีกห้าสิบปี เราจะขุดท่านขึ้นมาใหม่” คนขุดหลุมเอ่ยเชิงทำนาย และก็เป็นจริง เพราะในปี ค.ศ.1929 หรือห้าสิบปีถัดมา ก็ได้มีการอนุญาตให้ขุดร่างของท่านขึ้นมาและเริ่มกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศี และภายหลังจากเกิดอัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่าน ในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1995 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ได้ทรงบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศีอย่างสง่า
พิธีสถาปนาท่านเป็นนักบุญอย่างสง่า |
“เราแต่ละคนได้รับพระหรรษทานตามสัดส่วนที่พระคริสตเจ้าประทานให้”(เอเฟซัส 4:7) ทุกคนเกิดมาไม่มีใครหรอกที่จะเหมือนกันเป๊ะๆ แม้แต่ฝาแฝดเองก็เหอะ เช่นเดียวกันเราทุกคนล้วนมีพระหรรษทานไม่เท่ากัน เพื่อให้เหมาะกับพันธกิจที่เราแต่ละคนได้รับมา และเหมาะกับความสามารถของเรา เช่นอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ บางคนได้รับเยอะ บ้างได้รับน้อย แต่ทุกอันล้วนมีจุดหมายเดียวกันคือต้องนำพระหรรษทานนี้ไปกระทำให้เกิดผลให้ได้ บุญราศีมาร์เกอริตเป็นแบบอย่างอีกอันของฆราวาสที่น่าจะเหมาะยกให้เป็นตัวอย่างสำหรับ ‘สัตบุรุษในวิถีชุมชนวัดผู้นำพระหรรษทานไปใช้ได้อย่างเกิดผล’ ด้วยท่านได้ใช้พระหรรษทานที่ท่านได้ในการอุทิศตัวเพื่อชุมชนวัดได้อย่างดีเลิศทั้งในด้านงานเมตตา และงานคำสอน
ทั้งนี้ชีวิตท่านยังได้บอกเราอีกว่า งานประกาศพระวรสารไม่ได้จำกัดแต่เพียงนักบวช แต่ยังเป็นหน้าที่ของฆราวาสที่จะร่วมกันด้วย ไม่ใช่ด้วยแรงก็ด้วยคำภาวนา เวลานี้ชีวิตของท่านเหมือนถามเราว่า ขนาดท่านผู้เป็นเพียงชาวบ้านไร่จนไม่มีการศึกษาอะไรมากยังนำพระหรรษทานมาใช้ให้เกิดผลได้ขนาดนี้ แล้วเราละได้ใช้พระหรรษทานที่เจ้านายได้มอบแก่เราแล้วหรือยัง โปรดระลึกไว้ไม่มีใครล่วงรู้หรอกหนาว่าเจ้านายจะกลับมาเมื่อไร นี่แหละคือคำถามจากชีวิตของท่าน.. อัลเลลูยา อัลเลลูยา
“อีกหนึ่งคริสตังชาวสวิสฯที่ได้ร่วมสู้ในสงครามความเชื่อ มาร์เกอริต เบย์เป็นฆราวาสธรรมดาที่มีชีวิตอย่างถ่อมตน ดั่งที่นักบุญเปาโลกล่าว ชีวิตของท่านก็ซ่อนอยู่กับพระคริสตเจ้าในพระเจ้า ท่านเป็นเพียงสตรีผู้เรียบง่ายที่ได้ดำเนินชีวิตธรรมดาๆในแบบที่เราสามารถเลียนแบบได้ ท่านไม่ได้ทำอะไรที่พิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม มันคือการเจริญชีวิตในความเงียบไปตลอดเส้นทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ โดยมีศีลมหาสนิทเป็นอาหาร กำลังและการรำพึงถึงเรื่องราวของพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้าที่ได้เปลี่ยนท่านให้ท่านให้สนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า … ในฐานะครูคำสอนท่านปลูกฝังเรื่องของข่าวดีแก่บรรดาเด็กๆ พร้อมยังได้อุทิศตนเพื่อคนป่วยและคนจนโดยไม่ต้องไปไกลที่ไหน ใจของท่านเปิดออกไปยังพระศาสนจักรและคนทั่วโลก ท่านก้าวไปข้างหน้าอย่างนบน้อมต่อพระองค์ ผู้ทรงกระทำทุกสิ่งในชีวิตของท่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความรักและเชิญชวนให้เราเปลี่ยนชีวิตของเราไปสู่ชีวิตแห่งความรัก”
พระดำรัสของนักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 โอกาสแต่งตั้งบุญราศีมาร์เกอริต
“ข้าแต่ท่านนักบุญมาร์เกอริต เบย์ ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง