วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ศักดิ์ศรีแห่งพิบรัก 'เยอร์แม็ง กูซัง' ตอนแรก

นักบุญเยอร์แม็ง  กูซัง
St. Germaine Cousin
ฉลองในวันที่ : 15 มิถุนายน
องค์อุปถัมภ์ : ผู้ถูกทอดทิ้ง , ผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง , การสู้ชีวิต , ผู้พิการ , เยาวชนหญิงจากพื้นที่ชนบท , ผู้ป่วย , คนยากจน , การสูญเสียผู้ปกครอง , คนเลี้ยงแกะ , การเจ็บป่วย , คนอาภัพเรื่องความสวยความงาม , นักกายภาพบำบัด

ในฝรั่งเศสมีนักบุญหญิงหลายองค์ ซึ่งมีชีวิตที่น่าพิศวงไม่ว่าจะเป็นนักบุญเยโนเวฟา ผู้นำปารีสรอดพ้นจากศัตรูด้วยคำภาวนา ,  นักบุญโจน ออฟ อาร์ค วีรสตรีผู้ปลดปล่อยฝรั่งเศสจากอังกฤษตามเสียงจากสวรรค์ , นักบุญเทเรซา แห่ง ลีซีเออร์ ชีลับน้อยผู้ได้นำเสนอหนทางสายน้อยสู่ความศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ แต่นักบุญที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ หาได้มีคุณสมบัติเหมือนนักบุญที่ยกมาข้างต้นเลย เพราะนักบุญองค์นี้ไม่ได้นำเมืองให้รอดพ้นจากศัตรูด้วยคำภาวนา ไม่ได้ปลดปล่อยประเทศให้เป็นอิสระ หรือแม้แต่เขียนหนังสือที่มีคุณค่าฝ่ายจิตใดๆ นักบุญองค์นี้ก็หาทำไม่ ตรงข้ามตลอดชีวิตนักบุญองค์นี้กลับเป็นสตรีธรรมดาๆ ที่เป็นที่รู้จักเพียงแค่ละแวกบ้าน และจากคนยากไร้ที่ผ่านแวะมาเท่านั้น

พิบรัก(พิ-บรัก) คือหมู่บ้านฝรั่งเศสเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตตูลูส ปกครองของจังหวัดโอต-การอน ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค..1579 มีบันทึกว่าคือ เวลาแห่งฝันร้าย ด้วยพิษจากสงคราม(น่าจะเป็นสงครามศาสนาในฝรั่งเศส?-ผู้เรียบเรียง) ซึ่งนำมาสู่ความกันดารอาหารและโรคระบาดได้แพร่ไปทุกหัวระแหง ชาวพิบรักเวลานั้นซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยการเกษตร จึงอยู่ตกในสภาพที่ต้องดิ้นรนสู้ชีวิต ขณะที่กำลังใจใดๆก็แทบจะไม่มีเลย
บ้านตระกูลกูซัง
และก็เป็นในช่วงเวลานี้ และปีนี้เองที่บันทึกหน้าแรกของสตรีนางหนึ่ง ผู้จะเป็นศักดิ์ศรีแห่งพิบรักได้เริ่มขึ้นอย่างมีเงื่อนงำ เพราะไม่มีใครทราบแน่ว่า เยอร์แม็งเป็นลูกใครกันแน่ บางทีท่านอาจจะเป็นลูกน้อยที่มารดามิพึงปรารถนาและถูกนำมาทิ้งไว้ที่ประตูบ้านญาติ หรือเป็นลูกน้อยสุดรักของสองสามีภรรยาผู้ยากไร้ ที่ไม่อาจจะเลี้ยงดูบุตรสาวคนนี้ จึงจำต้องทิ้งไว้ให้คนอื่นเลี้ยงพร้อมความหวังว่าลูกน้อยจะมีอนาคตที่ดีกว่า หรือเป็นลูกแท้ๆของนายโลรังต์ กับภรรยาคนแรกของเขา ที่ด่วนจากไปตั้งแต่ท่านยังเล็กๆ ตามที่เชื่อกันมากที่สุด

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็ไม่มีใครตอบได้ และก็ไม่มีประโยชน์อะไรนักที่จะไปใส่ใจ เพราะศักดิ์ศรีแห่งพิบรัก ไม่ได้ว่าจากว่าท่านเป็นลูกใคร แต่อยู่ที่ชีวิตต่อจากนี้ต่างหาก แต่กระนั้นที่แน่ๆก็คือ บิดา(แท้?เลี้ยง?)ของท่านคือ นายโลรังต์ กูซัง(นามสกุลเขียนตามเสียงในคลิปประวัติท่านภาษาฝรั่งเศส) นั้นเป็นเจ้าของฟาร์มที่เป็นมรดกจากบิดาผู้เป็นช่างตัดเสื้อและอดีตนายกเทศมันตรีประจำเมืองในพิบรัก ผู้แม้จะมีบิดาที่เก่งธุรกิจแค่ไหน เขาก็ไม่ได้รับถ่ายทอดความสามารถนี้มาเลย 
ชีวิตในวัยเยาว์ของท่านในช่วงปีแรกๆ มีบันทึกน้อยมากเมื่อเทียบกับชีวิตในช่วงหลังๆ แต่ก็คงเดาได้ไม่ยากเพราะท่านก็เป็นเพียงเด็กธรรมดาๆ ไม่ว่าจะในแง่ไหน จึงพอสันนิษฐานได้ว่าท่านน่าจะได้รับการเลี้ยงดูตามแบบวิถีของชาวนาชาวไร่ทั่วไป ใน
ท่ามกลางทัศนียภาพท้องไร่ท้องนา และความขยันขันแข็งในการทำงานเลี้ยงชีพต่างๆ  ท่านคงเป็นเด็กน้อยผู้น่ารักและใสซื่อตามประสาลูกชาวบ้านชนบททั่วไป จนถึงวันหนึ่ง ที่ทุกสิ่งได้เปลี่ยนไป

เมื่อท่านมีอายุได้ราวสี่หรือห้าปี บิดาของท่านก็ได้รับเอา นางอาร์มองด์ เดอ ราโฌลเข้ามาเป็นภรรยาของเขา จึงทำให้นางอาร์มองด์กลายมาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลงานบ้านงานเรือนในฟาร์มของตระกูลกูซังทั้งหมด การเข้ามาของนางอาร์มองด์ผู้นี้ ดูเหมือนจะช่วยเติมเต็มครอบครัวเล็กๆนี้ให้อบอุ่นขึ้น และช่วยเลี้ยงดูท่านที่เริ่มป่วย แต่ผิดถนัดเพราะการเข้ามานางนี้เองที่ทำให้ชีวิตของท่าน ประสบกับความทุกข์มากยิ่งขึ้น เพราะทันทีที่พบหน้าท่าน แทนที่นางอาร์มองด์จะมีจิตสมัครรักใครท่าน  ตรงข้ามนางกลับไม่ชอบขี้หน้าท่าน และไม่เคยพอใจท่านเลยสักนิด ยิ่งภายหลังลูกแท้ๆของนางมาตาย หลังเกิดได้ไม่นาน นางก็ยิ่งชังขี้หน้าท่านเข้าไปอีก
ที่นอนของท่านใต้บันได ภายในโรงงานของบ้านตระกูลกูซัง
ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงเวลาเดียวกัน ท่านก็เริ่มมีอาการผิดปกติทางร่างกาย ซึ่งจะอยู่กับท่านไปตลอดชีวิต โดยจากชีวประวัติของท่านที่มีผู้เขียนไว้ ได้ทำให้เราทราบว่า ตั้งแต่เกิด ท่านมีอาการมือขวาพิการใช้งานไม่ได้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก่อนเมื่อท่านโตขึ้นมาหน่อย ท่านจึงเริ่มมีอาการของโรคหนองที่คนสมัยก่อนเรียกว่า วัณโรคต่อมน้ำเหลืองคอ ซึ่งทำให้เกิดแผลบริเวณคอและแก้มของท่าน รวมถึงยังทำให้บริเวณร่างกายของท่านเกิดอาการบวม และมีตุ่มฝีเกิดขึ้นอยู่ตลอด เพราะโรคดังกล่าวได้กินเข้าไปถึงกระดูกและข้อต่อส่วนต่างๆของร่างกาย เหตุนี้ท่านจึงต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างคนทุคลภาพโดยสมบูรณ์ 

เมื่อนางอาร์มองด์ได้เห็นสภาพของลูกติดคนนี้ นางก็ยิ่งรู้สึกรังเกียจท่านมากขึ้น นางไม่อาจทนมองเห็นท่านอยู่ใกล้ตัวได้ และยิ่งชังน้ำหน้าลูกเลี้ยงคนนี้มากขึ้น ที่สุดนางจึงเอาเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างให้ไล่ท่านไปนอนไกลๆ บ้าน และแทนที่บิดาของท่านจะออกมาปกป้องท่าน เขาก็กลับคล้อยตามคำยุยงของภรรยาคนใหม่ จึงทำให้ในไม่ช้าท่านก็ถูกไล่ให้ไปยึดเอาโรงนา เป็นที่หลบหนาวหลบร้อนแต่เพียงลำพัง พร้อมถูกสั่งห้ามอย่างเด็ดขาดว่าไม่ให้เข้ามาในบ้านอีก ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือเพื่อป้องกันไม่ให้ท่านเอาโรคร้ายนี้ไปติดคนอื่น และไม่เพียงเท่านั้นนางยังไม่ยอม ให้ท่านได้ใช้เสื้อผ้าดีๆตามฐานะลูกคนหนึ่งของครอบครัว ทำให้ท่านมีเพียงเสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ คอยไว้ใช้กันแดดกันฝน กับเท้าที่เปื่อยเปล่าตลอด นักเขียนประวัติของท่านคนหนึ่งได้อธิบายสภาพชีวิตของท่านว่า เยอร์แม็งถูกเลี้ยงอย่างรักใคร่น้อยเสียยิ่งกว่าสุนัขของครอบครัวเสียอีก
ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเห็นหน้าท่านทั้งวันตลอดทั้งปี นางอาร์มองด์จึงจัดให้ท่านไปเลี้ยงแกะของครอบครัว จึงทำให้แต่นั้นมาทุกเช้า ท่านก็จะมาคอยที่ประตูบ้านอย่างซื่อสัตย์ เพื่อรับทราบงานที่ต้องทำในวันนั้น ส่วนนางอาร์มองด์ ผู้ผูกใจเจ็บกับท่านก็โยนเศษอาหารเหลือๆ จากอาหารเช้ามาให้ท่าน ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นขนมปังบูดเสียส่วนใหญ่ แล้วท่านจึงต้อนฝูงแกะออกไปกินหญ้าตามทุ่งต่างๆ และนางอาร์มองด์ก็ยังมักถือโอกาสที่ต้องต้อนแกะไปกินหญ้านี้เอง สั่งให้ท่านไปเลี้ยงแกะที่บริเวณชายป่าบูกอนน์ ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีหมาป่าดุร้ายวนเวียนอยู่ เพื่อหมายจะกำจัดภาระอย่างท่านให้หมดๆไปเสีย

นอกจากใช้ให้ไปเลี้ยงแกะแล้ว  นางอาร์มองด์ยังใช้ให้ท่านปั่นขนแกะเป็นด้ายทุกวัน ซึ่งเป็นงานที่ขนาดคนมีมือดีสองข้างยังต้องใช้ฝีมือ และจำเป็นที่ต้องได้รับการฝึกฝน ไม่เว้นแม้แต่ในฤดูหนาว ที่อากาศอันหนาวเหน็บปกคลุมไปทั่วร่างของท่าน จนท่านไม่อาจจะขยับนิ้วได้ ท่านก็ยังถูกบังคับให้ทำงานดังกล่าวอยู่ตลอด แต่กระนั้นท่านก็สามารถทำงานนี้ออกมาได้เหมือนงานอื่นๆ เพราะไม่มีอะไรที่ท่านทำไม่ได้ ท่านมุมานะอย่างยิ่งที่จะทำให้แม่ใหม่ของท่านพอใจอยู่ตลอด แต่ความมุมานะของท่านก็ไม่เคยมีค่าในสายตาของนางอาร์มองด์เลยสักครั้ง
วัดนักบุญมารีย์ มักดาเลนนา พิบลัก
เพื่อนบ้านหลายคนในละแวกข้างเคียง ซึ่งเป็นพยานในระหว่างเสนอแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศี เล่าถึงการทำร้ายร่างกายท่านของแม่เลี้ยงซึ่งพวกเขาได้เห็น ว่าบ่อยครั้งเมื่อนางอาร์มองด์โกธรมากๆ นางก็จะเอาน้ำร้อนสาดใส่ท่าน ไม่ก็ทุบตีท่านด้วยเหตุผลต่างๆนานาที่นางจะสรรหามาได้ แม้บางครั้งงานที่นางมอบหมายให้ท่านทำ ท่านจะทำสำเร็จ นางก็สามารถที่จะหาเหตุผลมาทุบตีท่านได้ จนหลายคราชาวบ้านจึงมักพบท่านมีแต่พกช้ำและรอยเฆี่ยนตีทั่วทั้งตัว 

หามีความโหดร้ายอันใด หรือแม้นความป่าเถื่อนใดที่เกินกำลังของเธอ ท่ามกลางชีวิตที่ต้องสู้ ท่านก็ยังมีกำลังสู้ต่อไปทุกวัน บางที่กำลังนั้นก็อาจจะมาจากการที่ทุกๆวันอาทิตย์ นางอาร์มองด์จะอนุญาตให้ท่านไปร่วมมิสซา ที่วัดหลังเก่าประจำหมู่บ้าน อีกฝั่งของแม่น้ำชื่อ วัดนักบุญมารีย์ มักดาเลนนา เพราะจากที่แห่งนั้น ท่านได้ค้นพบการปลอบประโลมใจสำหรับชีวิตที่แสนจะโดดเดี่ยวของท่าน ท่านกระหายที่จะฟังคำเทศน์จากธรรมาสน์ และคำสอนจากการสอนคำสอนสำหรับเด็กหลังเลิกวัด  
จากที่วัดนี้เอง ท่านได้ปลูกเมล็ดพันธ์แห่งความเชื่อ ซึ่งท่านได้หล่อเลี้ยงมันด้วยกิจการดีทั้งหลาย ท่านตระหนักดีว่า ท่านต้องดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุมีผล และต้องอยู่ภายใต้สายพระเนตรขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ถูกตรึงติดบนกางเขน บัดนี้ความทุกข์ยากสำหรับท่านแล้ว จึงคือรางวัลและการซ่อมแซมความบกพร่องต่างๆตามประสามนุษย์ ท่านมองเห็นว่าชีวิตเป็นเพียงแค่การทดลองเพื่อไปสู่ความเป็นนิรันดร์ร่วมกับพระคริสตเจ้า หากแม้นท่านสมควรกับสิ่งนั้น และทีละนิด ขณะความคิดของท่านค่อยๆโตขึ้น ท่านก็เข้าใจได้ว่าชีวิตของท่านคือ
พันธกิจแห่งรักกล่าวคือการสละตนเองและปฏิบัติกิจการดีเพื่อผู้อื่น ซึ่งไม่เว้นแม้แต่การกลับใจของแม่เลี้ยงผู้ผูกใจเจ็บกับท่าน

และแม้ว่าท่านจะไม่เคยได้มีโอกาสได้ไปโรงเรียน ท่านก็เป็นนักเรียนที่ดีในโรงเรียนแห่งความรักของพระเจ้า คำสอนต่างๆที่มีในหัวของท่าน เกิดจากการฟังบทเทศน์และคำสอนจากช่วงการสอนคำสอนเล็กๆ ที่ท่านเรียนด้วยหัวใจ และจดจำมันไว้ ก่อนจะนำมารำพึงคิดตลอดทั้งสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ นอกนี้แล้วจากการไปวัด ท่านยังพบอีกว่า พระเยซูเจ้าผู้สถิตองค์ในเพศปังเป็นประดุจกำลังและสหายสนิทที่สุดในชีวิตที่แสนจะอ้างว้างของท่าน บ่อยครั้งเมื่อสัตบุรุษคนอื่นๆกลับไปแล้ว ท่านก็ชอบคุกเข่าสวดอยู่บนพื้นหินแข็งๆ เบื้องหน้าพระองค์เป็นเวลานานๆ จนเวลาล่วงผ่านไปหลายปี ท่านก็ตระหนักได้ว่าการมามิสซาแค่วันอาทิตย์นั้น หาได้ตอบสนองต่อความศรัทธาเป็นพิเศษ และความปรารถนามาร่วมมิสซาที่ไม่อาจจะอดกลั้นได้ของท่าน ท่านอยากจะวิ่งไปที่วัดเพื่อร่วมมิสซาทุกวัน แต่ท่านก็ไม่อาจทำได้ด้วยภาระเลี้ยงแกะ
ทุกๆวันระหว่างสัปดาห์จากทุ่งหญ้าสีเขียว ขณะท่านต้อนบรรดาแกะให้เล็มหญ้า ท่านก็จะเห็นวัดประจำหมู่บ้าน พร้อมหอสูงที่จะคอยย่ำระฆังเงินเสียงใสในตอนเช้าเพื่อเรียกสัตบุรุษให้มาร่วมมิสซา และเมื่อเสียงระฆังดังขึ้น วิญญาณของเด็กเลี้ยงแกะน้อยผู้ทอดสายตาไปยังวัด ก็จะบินตรงไปยังวัดดุจนกพิราบเพื่อร่วมมิสซาทางใจ ท่านเฝ้าทำเช่นนี้อยู่ทุกวัน จนวันหนึ่งการกระทำเช่นนี้ ก็ไม่อาจตอบสนองต่อเสียงเรียกภายในใจของท่านได้อีกต่อไป

ดังนั้นเองท่านจึงตัดสินใจเรียกแกะของท่านเข้ามาอยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นท่านจึงเอาแกนปั่นด้ายปักกับพื้นข้างๆพวกมัน แล้วจึงทำสำคัญมหากางเขน และวิ่งตรงไปวัดอย่างร้อนรน  จนกระทั้งมิสซาจบท่านจึงรีบกลับมา และก็พบว่าฝูงแกะของท่านต่างอยู่ในอาการสงบรอบๆแกนด้าย ใต้เงาทอดยาวของต้นโอ๊ค ดังนั้นเองในครั้งต่อๆไปท่านจึงปฏิบัติเช่นเดิมอีก และก็ปรากฏเป็นอัศจรรย์คือ ไม่ว่าครั้งไหนท่านจะละฝูงแกะท่านไปร่วมมิสซา ไม่ว่าที่ท่านเอาแกะไปปล่อยจะมีหมาป่าคอยซุ่มกินแกะ แกะหรือลูกแกะของท่านแม้แต่ตัวเดียวก็จะไม่เคยหาย หลายคนที่มาพบก็ต่างเป็นพยานและต่างพากันประหลาดใจ ที่ได้เห็นฝูงแกะของท่านต่างพากันเบียดเสียดอยู่รอบๆแกนปั่นด้ายอย่างเชื่อฟัง นอกนี้แล้วแม้นฝนหรือหิมะหรือพายุก็ไม่อาจจะหยุดท่านให้ไปร่วมมิสซาได้อีกด้วย
โปรดช่วยลูกให้เป็นที่พอใจของคุณแม่ และที่พอพระทัยของพระองค์ด้วยเถิด
จากสายตาไร้ประสีประสาของเด็กๆในหมู่บ้าน  ทีละนิดพวกเขาก็ค่อยๆมองข้ามสภาพร่างอันทุคลภาพของท่านทีพวกเขาเคยรังเกียจ และแลเห็นวิญญาณอันงดงามของท่านที่ซ่อนอยู่ จนอดที่จะชื่นชมท่านมิได้ เด็กๆต่างรู้สึกอยากจะเข้าใกล้ท่าน และอยากจะผูกมิตรกับท่าน หลายคนมักวิ่งตัดนาไปหาท่านหลังโรงเรียนเลิก และก็มักพบท่านกำลังคุกเข่าสวดอยู่เบื้องหน้าสักการสถานเล็กๆฝีมือของท่าน ที่เป็นเพียงไม้เท่าที่หาได้สองอันขัดเป็นกางเขน แลดูช่างขัดสน แต่สำหรับท่านแล้ว เพียงเท่านั้น มันก็พอให้ท่านระลึกถึงความรักขององค์พระมหาไถ่ ผู้ที่ท่านร้อนรนยิ่งที่จะเป็นที่พอพระทัยต่อพระองค์

นอกนี้พอใช้สายตาน้อยๆสอดส่ายสายตารอดผ่านช่องมือของท่านไป พวกเขาก็จะเห็นหนังสือเล่มเดีวในชีวิตของท่าน นั่นคือสายประคำ และแม้จะมีผู้มาเยือน ท่านก็ยังคงยกจิตใจของท่านขึ้นไปหาพระเป็นเจ้าผ่านการภาวนาและการรำพึงโดยสมบูรณ์ ท่านค่อยๆขยับสายประคำง่ายๆของท่าน ที่ท่านทำเองจากการเอาเชือกจากฟางเก่าๆมาขมวดปมอย่างง่ายๆ ข้าแต่พระเจ้าที่รัก โปรดอย่าให้ลูกหิวหรือกระหาย โปรดช่วยลูกให้เป็นที่พอใจของคุณแม่ และเป็นที่พอพระทัยของพระองค์ด้วยเถิด คือบทภาวนาง่ายๆที่ท่านชอบสวดบ่อยๆ แต่บางทีพวกเขาก็พบท่านกำลังนั่งปั่นด้ายอยู่บนโขดหิน รายล้อมไปด้วยเพื่อนๆที่ต่างนั่งอยู่กับพื้นหญ้า
ความปรารถนาของท่าน คือ การช่วยให้คนอื่นรักพระองค์มากขึ้น
เด็กๆในหมู่บ้านส่วนมากจะชอบเวลาท่านพูดคุยกับพวกเขา ซึ่งก็ไม่เคยเลยที่ท่านจะพูดถึงตัวท่านหรือชะตากรรมอันน่ารันทดของท่าน ตรงข้ามท่านจะพูดกับพวกเขา ถึงเรื่องเกี่ยวกับพระที่ท่านกลั่นกรองออกจากความรู้น้อยๆและความรักต่อความเชื่อของท่าน ท่านเผยถึงความปรารถนาอันแรงกล้าของท่านว่าคือการช่วยให้คนอื่นรักพระองค์ให้มากขึ้น และเมื่อเพื่อนของท่านแสดงความสงสารต่อชุดที่มอมแมมและอาหารที่อดๆอยากๆ หรือไต่ถามถึงรอยพกช้ำและรอยเฆี่ยนตี ท่านก็แสดงให้เห็นว่าท่านได้เปลี่ยนความทุกข์ยากเหล่านี้ เป็นโอกาสที่จะได้เลียนแบบองค์พระเยซูเจ้า ผู้ถูกเฆี่ยนตีอย่างทารุณเพื่อบาปของชาวเรา

และเมื่อกลับบ้านไป เด็กๆก็มักไปกล่าวยกย่องท่านให้บิดามารดาฟังอย่างซื่อๆ ฝั่งบิดามารดาก็จะทนฟังคำยกย่องเหล่านั้น และต่างพากันเรียกท่านอย่างเย้ยๆว่า คนใจศรัทธา ส่วนท่านเองก็จะน้อมรับคำตำหนิติเตียนเหล่านั้นด้วยความถ่อมสุภาพและความอดทน เหมือนที่ท่านปฏิบัติต่อคำด่าต่างๆของนางอาร์มองด์(คำติเตียนของคนทั้งหมู่บ้านรวมกัน ยังไม่มากเท่ากับนางอาร์มองค์พูดคนเดียว) ซึ่งก็ยังผลดีให้ชีวิตฝ่ายจิตของท่านถูกยกขึ้นสูงขึ้นเสียยิ่งกว่าจากเรื่องความทุคลภาพเสียอีก
แต่ละวันผ่านไป จากเพียงวันเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี ไม่มีอะไรในชีวิตประจำวันท่านที่เปลี่ยนไปเลย นอกเสียแต่ฤดูกาลที่ผันแปรไป แต่แผนงานของพระเจ้าสำหรับชีวิตของท่านหาได้เป็นเช่นไม่ เพราะวันหนึ่งพระเจ้าก็ทรงได้เผยแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของคนเลี้ยงแกะหญิงผู้นี้ให้บรรดาผู้มีตาแต่หามีแววไม่ให้ได้ประจักษ์  กล่าวคือวันหนึ่งในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิใหม่ๆ ละอองทิพย์ที่เคยปกคลุมไปทั่วทุกทิศก็ค่อยๆทยอยละลาย ประกอบกับฝนที่พากันตกหนัก ระดับน้ำทั้งในแม่น้ำและลำธารทั่วพิบรักจึงเอ่อสูงขึ้นจากปกติ

วันนั้นพอท่านได้ยินเสียงสุกใสของระฆังวัด ท่านก็รีบลุดไปร่วมมิสซาดั่งที่ปฏิบัติเช่นปกติ แต่เนื่องด้วยในวันนี้การจะวิ่งไปสะพานเพื่อข้ามไปยังวัด เห็นทีคงจะทันได้ร่วมมิสซา ท่านจึงตัดสินใจจะเดินข้ามลำธารชื่อ กูร์แบ’ ไปเลย เพราะปกติแล้วลำธารนี้จะเป็นเพียงลำธารตื้นๆที่เดินข้ามได้ แต่เมื่อท่านมาถึงท่านก็พบว่า ในเวลานี้ลำธารได้แปรสภาพไปเป็นลำน้ำที่เชี่ยวกราด จนยากเกินกว่าจะเดินข้ามไปได้

เพื่อนของท่านสองคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เมื่อเห็นท่านมีท่าทีคิดหนัก ทั้งสองก็รีบเตือนท่านว่าน้ำตอนนี้ลึกมาก และเชี่ยวเกินกว่าจะข้ามมาได้ พร้อมบอกให้ท่านว่าอย่าเสี่ยงข้ามมาเลย แต่ฝั่งท่านที่มีจิตปริตรวิตกถึงมิสซา ก็ตัดสินใจจะข้ามไปให้ได้ แต่ก่อนจะเริ่มข้ามท่านก็ทำสำคัญมหากางเขนก่อน และบัดดลเองน้ำในลำธารกูร์แบที่กำลังไหลเชี่ยว ก็แหวกออกเป็นทางแห้งให้ท่านข้ามไปอีกฝั่งได้ เหมือนดั่งเช่นเหตุการณ์ที่ทะเลแดงในพระธรรมเดิม

ฝั่งเพื่อนทั้งสองของท่านเมื่อเห็นเหตุการณ์เป็นดังนั้น ก็ต่างพากันเอาเรื่องนี้ไปเล่าต่อ จนจากปากต่อปากชาวบ้านทั้งหมู่บ้านก็ต่างทราบถึงการอัศจรรย์ครั้งนี้ และเริ่มเปลี่ยนความคิดที่มีต่อท่านเสีย ยกเว้นเสียแต่คนเดียวที่ไม่พอใจกับข่าวนี้ก็คือนางอาร์มองด์ เพราะยิ่งเห็นชาวบ้านหลายคนให้ความเคารพท่านมากเพียงใด เพลิงโทสะในใจของนางก็ยิ่งครุกกรุ่นมากขึ้นเท่านั้น เป็นความจริงที่ว่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งไม่เคยจะเปลี่ยนหัวใจของนางได้ เพราะนางเป็นหญิงแข็งกระด้างและชอบลงไม้ลงมือ

"ข้าแต่ท่านนักบุญเยอร์แม็ง กูซัง ช่วยวิงวอนเทอญ"


'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน ผู้ใหญ่ในคณะคนแรก ๆ ที่ท่านแสวงหา...