วันรุ่งขึ้นหลังพิธีมงคลสมรสหลุยส์ก็ได้นำท่านไปยังเมืองบลัวเพื่อพบแนะนำท่านกับบรรดาชาวเมือง แล้วเขาจึงส่งท่านกลับไปลินแยร์ในเร็ววัน แล้วออกเที่ยวเตร่ใช้ชีวิตสนุกสนานอยู่ที่เมืองบลัว โดยไม่เคยคิดจะเหลียวแลท่านผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นศรีภรรยา ชนิดแม้เขาจะต้องการเงินมาใช้สอยบำเรอตัวเท่าไร เขาก็ไม่คิดจะแตะต้องสินสอดจำนวนมหาศาลของท่านเลย ในทุก ๆ วันความคิดเดียวสำหรับเขาที่มีต่อท่าน ก็คือการผลักไสท่านออกไปจากชีวิตอันแสนสุขของเขา
ฝั่งท่านเองเมื่อถูกสั่งให้กลับไปที่ลินแยร์ท่านก็ไม่ได้รั้งรออันใด ท่านเดินทางกลับมายังเมืองที่เป็นเหมือนบ้านของท่านด้วยหัวใจที่โทมนัส แต่เวลาเดียวกันแม้จะถูกปฏิเสธอีกครั้ง ท่านก็ไม่ได้โกธรหรือเกลียดหลุยส์ ตรงกันข้ามท่านพยายามยิ่งที่จะรักและซื่อสัตย์ต่อเขาในฐานะภรรยาที่ดี ไม่ว่าเขาจะทิ้งขว้างน้ำใจอันดีของท่านไปก็ตาม เพราะท่านเชื่อมั่นว่าศีลสมรสคือศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจจะลบล้างได้ แต่น่าเศร้านักที่หลุยส์มองไม่เห็นหัวใจอันงดงามที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้รูปร่างอันอัปลักษณ์นี้เช่นคนอื่น ๆ เพราะไม่งั้นเขาคงต้องรู้สึกโชคดีแน่ที่ได้คนแบบท่านมาเป็นสตรีคู่ชีวิต
ทุกปีหลุยส์จะเดินทางมาพบท่านเพียงสองสามครั้งตามคำสั่งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 และวันนั้นก็ไม่ใช่วันที่ท่านจะมีความสุขที่สุดอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะตรงกันข้ามวันดังกล่าวจะเป็นวันแห่งความทุกข์ครั้งหลวงสำหรับท่าน เพราะตลอดเวลาที่หลุยส์มาหาท่านที่ลินแยร์ เขาจะไม่เอ่ยวาจาอะไรหรือแม้แต่แค่จะยิ้มให้ท่านเลยสักครั้ง ยิ่งในเวลาร่วมโต๊ะอาหาร เขาก็จะหาวิธีนั่งยังไงก็ได้ไม่ให้ต้องเห็นหน้าท่าน ครั้งหนึ่งบารอนฟรังซัวส์ได้แนะนำท่านว่า “คุณหญิง ลองพูดกับคุณผู้ชายและแสดงให้เขารู้ว่าท่านรักเขามากกว่าแต่ก่อนดูสิครับ” ฝั่งท่านก็ตอบกลับมาว่า “เราไม่กล้าพูดกับเขาหรอก ท่านกับคนอื่นก็เห็น ว่าเขาไม่เคยมีเราอยู่ในสายตาด้วยซ้ำ”
แต่กระนั้นทุกครั้งที่ต้องเจ็บช้ำเพราะการกระทำของหลุยส์ ท่านก็ไม่เคยถือโทษโกธรเขา ซ้ำยังคอยสวดภาวนาให้เขาตลอด มีครั้งหนึ่งในเมษายน ค.ศ. 1483 ที่หลุยส์เกิดล้มป่วยลงด้วยอาการไข้ทรพิษ ท่านที่ทราบก็รีบรุดไปดูแลเขาถึงข้างเตียง โดยไม่เคยคิดสนว่าชายเบื้องหน้าคนนี้จะเอาแต่ใส่ร้ายท่าน ต่อหน้าหญิงคนอื่นที่เขาไปติดพัน หรือเอาเวลาที่ควรจะใช้กับท่านไปใช้กับการล่าสัตว์ก็ตาม นักเขียนคนหนึ่งได้เขียนถึงท่านว่า “ชายาของอนาคตกษัตริย์ ทรงยอมรับ นบนอบ ถ่อมตนลง และดำรงพระเกียรติไว้ เป็นเวลานานถึงยี่สิบปี พระนางทรงยอม และทรงมอบชีวิตให้พระสวามีเจ้าอารมณ์และเอาแต่ใจ”
ชีวิตคู่แบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของท่านดำเนินมาได้เจ็ดปี พ่ออยู่หัวหลุยส์ที่ 11 พระชนกของท่านก็สวรรคตลง ซึ่งทันทีที่ท่านทราบ ท่านเร่งสวดภาวนาให้พระชนกของท่านเป็นการใหญ่ โดยไม่คิดติดใจต่อสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อท่านตลอดชีวิต แต่ระลึกเพียงพระคุณที่พระองค์ทรงมีต่อแผ่นดินฝรั่งเศสที่ท่านได้อาศัย เวลาไล่เลี่ยกันก็เร่งออกเดินทางมายังเมืองอัมบัวส์ซึ่งพระชนนีและพระเชฐภคินีของท่านคอยท่าอยู่ ทำให้เป็นครั้งหนึ่งที่ท่านได้สัมผัสกับความอบอุ่นที่ท่านเฝ้าหามานาน แต่อนิจจาไม่ทันได้มีความสุขนานเท่าไร ความทุกข์ที่ดูจะเป็นส่วนหลักในชีวิตของท่าน ก็กลับมาหาท่านอีก เมื่อยังไม่ทันจะพ้นปีแห่งความวิปโยค พระนางชาร์ล็อตต์ก็สิ้นพระชนม์ตามพระราชสวามีไป ไม่พอนางอานน์ก็มาจากไปอีกคน ซ้ำภรรยาคนใหม่ของท่านบารอนลินแยร์ก็ไม่ได้รักท่านนัก ดังนั้นชีวิตของท่านในยามนี้ จึงเหมือนกลับมาถูกทอดทิ้งอีกครั้ง แต่นี่ยังไม่ได้เศษเสี้ยวของความวุ่นวาย และความโทมนัสครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาเยือนท่านในไม่ช้า…
ผู้ขึ้นสืบสันตติวงศ์ต่อจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ก็คือ ‘พระเจ้าชาร์ลที่ 8’ พระอนุชาของท่าน แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ พระนางอานน์แห่งฝรั่งเศส พระเชษฐภคินีของท่านพร้อมพระสวามีจึงเข้ามาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนตามพระประสงค์เดิมของพระราชบิดา หากแต่หลุยส์ พระสวามีของท่านไม่เห็นด้วยต่อการให้พระนางอานน์ดำรงตำแหน่งนี้ และพยายามจะยึดอำนาจนี้ให้ตกมาเป็นของตน ด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง เขาพยายามนำเรื่องนี้ขึ้นพิจารณาในการประชุมรัฐสภาที่จัดขึ้น ณ เมืองตูร์ในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1484 แต่ก็ไร้ผล เพราะรัฐสภายังคงยืนตามพระประสงค์เดิมของพ่ออยู่หัวที่ล่วงลับไป
พระเจ้าชาร์ลที่ 8 พระอนุชาของท่าน
ดังนั้นในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน หลุยส์จึงเดินทางไปสมทบกับท่านดยุคฟร็องซัวส์ที่ 2 แห่ง บริตานี พระบิดาของพระนางแอนน์ แห่ง บริตานี พร้อมได้มีจดหมายทูลขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกาศว่าการสมรสระหว่างเขากับท่านเป็นโมฆะ เพื่อว่าเขาจะได้สามารถเข้าพิธีสมรสกับพระนางแอนน์ ทายาทของดยุคฟร็องซัวส์ได้ นอกนี้เขายังได้เริ่มก่อกบฏต่อต้านอำนาจของพระนางอานน์ กระทั่งเกิดเป็น ‘สงครามวิปลาส’ ซึ่งคือสงครามระหว่างกองทัพหลวงฝรั่งเศส และกองทัพฝ่ายปฏิวัติที่นำโดยหลุยส์ และดยุคฟร็องซัวส์ที่ 2 แห่ง บริตานีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความตั้งใจของหลุยส์ก็ไม่ได้เป็นจริงสักประการ เพราะที่สุดกองทัพฝ่ายปฏิวัติก็ต้องปราชัยลงในการปะทะกันในยุทธการแซงต์ โอแบง ดู โคมิเยร์ ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1488 ทำให้หลุยส์ในฐานะผู้นำการปฏิวัติ จึงถูกจำคุกในเมืองลูสิญอง และระหว่างที่เขาถูกจำคุกอยู่นั้น อีกสามปีต่อมาพระนางแอนน์ แห่ง บริตานีก็ได้เข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าชาร์ลที่ 8 แล้วได้รับการเถลิงขึ้นเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศส ด้วยความเห็นชอบจากทางสันตะสำนัก
ย้อนกลับมาที่ท่านที่ตลอดเวลาที่พระสวามีประพฤติตนเป็นกบฏไม่ได้มีส่วนรู้เห็นอะไร เมื่อทราบว่าพระสวามีถูกจำคุก ท่านก็เดินทางไปยังเมืองลูสิญองในทันที และเพื่อช่วยเขา ท่านได้จัดการขายเครื่องเงิน และอัญมณีของท่าน แล้วจัดเตรียมเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินในครั้งนี้ไปเป็นค่าประกันตัวเขาออกมาในทันที แต่ก็ไร้ผลเพราะไม่นานหลุยส์ก็ถูกคุมตัวไปคุมขัง ณ หอคอยเมืองบูร์ช ณ ที่แห่งนั้นในเรือนจำที่ทั้งมืด อับชื้น และไม่น่าอภิรมย์ หลุยส์ถูกเฝ้าจับตามองอย่างคุ้มเข้ม เพื่อป้องกันเหตุการณ์จะซ้ำรอยเหมือนในครั้งก่อน ๆ
"...คือสิ่งที่เบื้องบนบันดาล..."
และขณะหลุยส์ถูกจำคุกครั้งนี้เอง บทบาทในฐานะ ‘ปดิวรดา’ ของท่านก็ปรากฏชัดขึ้นอีก เมื่อท่านได้ตัดสินใจเดินทางมาอยู่ที่ห้องขังร่วมกับชาย ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระสวามีของท่าน เพื่อคอยเฝ้าปรนิบัติเขาตามฐานะของภรรยาเสมือนหนึ่งเขาได้อยู่บ้าน พร้อมคอยเขียนจดหมายทูลถวายทั้งพระนางอานน์ พระเชษฐภคินี และพระเจ้าชาร์ล ที่ 8 พระอนุชา ขอพระราชทานอภัยโทษให้กับเขาอยู่หลายฉบับ จนเวลาล่วงไปได้สามปีพระเจ้าชาร์ล ที่ 8 จึงทรงโปรดอภัยโทษหลุยส์ พร้อมได้ทรงกำชับเขาว่า “การที่เจ้าได้สยุมพรกับพระเชษฐภิคนีของเรา คือสิ่งที่เบื้องบนบันดาล หาใช้เพราะความโชคร้ายของเจ้าไม่”
สามปีในคุกไม่ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เสียทีเดียว เพราะชีวิตคู่ที่เคยลุ่ม ๆ ดอน ๆ พอได้ผ่านชีวิตสามปีในคุก มันก็กลับมาเป็นชีวิตคู่ที่ดูจะดีขึ้นกว่าแต่ก่อน สังเกตได้จากเมื่อหลุยส์ต้องออกเดินทางไปร่วมรบกับพระเจ้าชาร์ลที่ 8 ที่อิตาลี เขาก็ได้ยกทรัพยส์สินทั้งหมดให้ท่านดูแล ส่วนในจดหมายที่ส่งหากันของทั้งสอง เขาก็เรียกท่านว่า ‘ภรรยาของฉัน’ และเมื่อเขากลับมา แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ใกล้กัน ชีวิตของท่านก็มีอิสระที่จะเดินทางไปไหนมาไหน ไม่จำต้องอยู่ที่ลินแยร์ตลอดเวลา ทั้งสองเลยมีโอกาสได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาในต่างเมือง ไม่ว่าจะเป็นบลัว อัมบลัวส์ เมสนิล และมงติลส์ แต่... ความสุขนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป จนเกินกว่าที่ท่านจะคาดถึง เมื่อเหตุการณ์ใหญ่ได้เกิดขึ้นกับฝรั่งเศสอีกครั้ง
พิธีบรมราชาภิเษกของหลุยส์
ในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1498 พ่ออยู่หัวชาร์ล ที่ 8 ทรงเสด็จสวรรคตลงอย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกีฬาเทนนิส ทั้ง ๆ ที่ยังมิทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดากับพระนางเจ้าแอนน์แห่งบริตานีเลยสักองค์ และตามกฎมณเฑียรบาลก็ห้ามชัดมิให้สตรีขึ้นนั่งบัลลังก์ฝรั่งเศสเป็นกษัตริย์ หลุยส์ พระภัสดาของท่านซึ่งมีศักดิ์เป็นพระราชปนัดดา (เหลน) ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 และมีอายุมากสุดในผู้ที่อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ จึงได้รับการเถลิงราชขึ้นเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 35 ของฝรั่งเศส และลำดับที่ 8 ของราชวงศ์วาลัวส์ ด้วยพระนามว่า ‘หลุยส์ ที่ 12’
แต่แทนที่เมื่อได้รับครองราชย์แล้ว พระองค์จะทรงสถาปนาท่านขึ้นเป็นพระราชินีเคียงคู่บนบัลลังก์แห่งฝรั่งเศสที่เขาเคยหมายตาไว้ ตรงข้ามท่านกลับไม่เคยได้ดำรงพระยศเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศสเลย เพราะพระองค์ยังคงตรัสเรียกท่านว่า มาดามฌานแห่งฝรั่งเศส ทั้งยังกันท่านออกจากทุก ๆ อย่างที่ท่านสมควรจะได้รับตามพระเกียรติ แม้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 27 พฤษภาคม ปีเดียวกัน พระองค์ก็ยังทรงห้ามท่านมิให้มาร่วมในพระราชพิธีครั้งนี้ด้วย และที่หนักกว่าก็คือ ทรงดำเนินแผนขั้นต่อไปของพระองค์ นั่นก็คือการเขี่ยท่านออกจากชีวิตคู่ เพื่อพระองค์จะไปเข้าพระราชพิธีอภิเษกกับพระราชินีหม้ายอย่าง พระนางแอนน์ แห่ง บริตานี ซึ่งเขาเคยมุ่งหมายจะแต่งงานด้วยมาตั้งแต่ในคราวก่อการปฏิวัติ
พระนางแอนน์ แห่ง บริตานี
ส่วนทางฝั่งโรม สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 6 ก็ทรงส่งสำนวนคดีไปยังศาลฝรั่งเศสซึ่งว่าด้วยคดีความที่ได้รับอนุญาตให้รับการหย่าตามกฎหมายพระศาสนจักร และทางฝั่งพระนางแอนน์เองก็ทรงร้อนพระทัยต่อเรื่องนี้เป็นยิ่งนัก พระนางประสงค์ยิ่งให้พระเจ้าหลุยส์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระนาง และพวกขุนนางของพระองค์ให้การรับรอบการวิวาห์ครานี้ เพราะตามสนธิสัญญาแล้วหากครบหนึ่งปีแล้วพระนางมิได้เข้าพิธีอภิเษกกับผู้ที่สืบราชบัลลังก์ต่อ พระนางก็จะต้องถูกพาตัวกลับบ้าน
เมื่อเหตุการณ์เป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้น ในวันที่ 10 สิงหาคมปีเดียวกัน หลุยส์ หรือบัดนี้คือพ่ออยู่หัวหลุยส์ ที่ 12 จึงทรงฟ้องท่านโดยได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่าย ต่างกับท่านผู้ถูกกล่าวหาที่บัดนี้ไร้ซึ่งแรงหนุนใด ๆ แต่กระนั้นแม้สถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ ท่านก็ยังคงต่อสู้คดีอย่างอาจหาญ แม้ในชั้นศาลท่านจะไม่ได้รับความเป็นธรรมใด ๆ เลย กล่าวคือตลอดการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาไม่เคยคิดที่จะสอบไต่ถามพ่ออยู่หัวหลุยส์ ที่ 12 พวกเขาเอาแต่กล่าวโจมตี กล่าวหา สอบปากคำท่านที่ไม่มีแม้แต่ทนายคอยแก้คำครหาต่าง ๆ ที่สาดเทเข้ามาจากพวกเขา นอกนี้พวกเขายังพยายามขู่จะลงโทษท่าน แต่พอเห็นว่าไร้ผลพวกเขาจึงเปลี่ยนมาเป็นการยื่นขอเสนอว่าหลังการหย่าท่านจะได้รับการดูแลแทน
ในคดีความครั้งนี้ ทนายความของหลุยส์ยื่นข้อกล่าวหาแรกที่หลุยส์ใช้เป็นข้ออ้างในการหย่าก็คือ ‘ทรงไม่ได้ปลงใจต่อการแต่งครั้งนี้ และ ทรงยังไม่เคยหลับนอนกับท่านเลยสักครั้ง’ ซึ่งในข้ออ้างแรกที่ว่า ‘ทรงไม่ได้ปลงใจต่อการแต่งครั้งนี้’ ก็ฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไรนัก เพราะทั้งคู่สมรสกันมาถึง 22 ปีแล้ว ซึ่งก็เป็นเวลามากพอที่จะให้หลุยส์หย่ากับท่านได้ จึงทำให้เหลือแต่ข้ออ้างที่ว่า ‘ทรงยังไม่เคยหลับนอนกับท่านเลยสักครั้ง’ ซึ่งในรายงานได้กล่าวถึงอาการผิดปกติของท่านว่า “ไม่สมบูรณ์ บกพร่อง ใช้คาถาอาคมประพรมตามเรือนร่าง ไม่อาจตอบสนองต่อชายใดได้เลย” ซึ่งในวันที่ 13 กันยายน ระหว่างการสอบสวน ท่านก็ได้ตอบและได้รับการบันทึกไว้ดังนี้ “ไม่มีข้อบกพร่องทางร่างกายใดๆจะกันเธอจากอารมณ์ฝ่ายเนื้อหนังได้ และการแต่งงานของเธอก็เป็นไปอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ทั้งนี้แม้เธอเองจะรู้ตนดีว่าไม่ได้สวยเช่นสตรีหลายคน แต่สิ่งนี้ก็ไม่อาจจะกันเธอจากการแต่งงานและการมีบุตรสืบสกุลได้” นอกนี้ท่านยังงัดพยานคนหนึ่งที่เคยได้ยินพระเจ้าหลุยส์ทรงคุยโวว่า “เราเคยมีอะไรกับชายาเราตั้งสามสี่ครั้งในคืนเดียว”
จากนั้นมาก็เริ่มมีพยานหลายคนที่ไม่พอใจพระบิดาของพระเจ้าหลุยส์เป็นทุนเดิมออกมายืนข้างท่าน เพื่อหมายจะใช้โอกาสนี้ชำระแค้นที่มีมา แม้มันจะเป็นการมุสา แต่พวกเขาได้ให้การว่าแท้จริงแล้วพระเจ้าหลุยส์คือ ชายที่ไม่กล้าพูด หรือกล้าทำอะไรทั้งสิ้น ไม่เหมาะสมยิ่งกับการเป็นกษัตริย์ ทั้งเป็นคนขี้ขลาดและอ่อนแอ… ส่วนฝั่งประชาชนที่ได้ทราบการพิจารณาคดีนี้ ก็เริ่มพากันอดสงสารพระราชินีของพวกเขาไม่ได้ และฝั่งทนายของท่านเองในการพิจารณคดีรอบต่อมา ก็ได้ทำการโต้แย้งเรื่อง ‘อาการไม่สมประกอบของท่าน’ แม้ว่าจะถือเป็น ข้อที่ ‘ทำให้เสื่อมสรรมถภาพทางเพศ’ (ซึ่งเป็นเท็จเพราะคำ ๆ นี้ใช้ได้กับผู้ชายเท่านั้น) และได้ทำการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงปฏิบัติหน้าที่สามีได้ครบถ้วน โดยระบุเป็นฉาก ๆ เลยทีเดียว
และขณะที่ทางทนายของท่านได้ทำการแก้ต่างเรื่องที่เล่าไป ท่านก็ได้ร้องขอต่อศาลให้มีการ ‘การตัดสินอย่างเด็จขาด’ กล่าวคือท่านได้ร้องขอให้ ‘ผู้มีความรู้’ ให้ทำการเทียบกรณีของท่านกับกฎหมาย โดยไม่นำเอาเรื่องข้อบกพร่องของร่างกายของท่านมาพิจารณาประกอบ แต่ให้เทียบตามเหตุผลที่พระเจ้าหลุยส์ทรงยกมาสู้… แต่กระนั้นท่านก็มิอาจจะสบายใจได้ เพราะท่านยังเกรงว่าการพิจารณานี้อาจมีอำนาจมืดเข้ามาเอี่ยวก็เป็นได้ เวลานี้ในใจของท่านต้องเลือกเส้นทางที่จะก้าวต่ออีกครั้ง นั่นก็คือ การยอมรับว่าท่านยังเป็นพรหมจรรย์แล้วถูกมองว่าเป็นคนหลอกลวง หรือการปฏิเสธเพื่อดำรงไว้ซึ่งสถานะแห่งพระราชินีแห่งฝรั่งเศสในอนาคตและสถานะของภรรยาที่ถูกต้อง… แต่หนทางหลังนี้สำหรับท่าน มันชักไม่แน่ใจแล้วสิ ว่าถ้าเป็นจริง ท่านก็ต้องเป็นแค่ราชินีที่น่าสงสารที่ไม่มีใครปรารถนาจะพูดหรือรับฟัง
ฝั่งพระเจ้าหลุยส์เอง ที่ดูจะทรงกำชัยชนะไว้ตลอด เวลานี้ก็ตกอยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะพระองค์ต้องเลือกระหว่างสิ่งที่ล้วนต่อมีผลต่อบัลลังก์แห่งฝรั่งเศส นั่นคือ หนึ่งทรงเป็นคนอ่อนแอขี้ขลาด หรือ สองรับว่าท่านคือชายาตามกฎหมาย แต่ที่สุดแล้วในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1498 พระองค์ก็ทรงยอมรับว่าทรงได้อยู่กันฉันสามีภรรยากับท่านจริง ๆ… แล้วละครที่ดูกำลังจะจบได้สวยก็หักมุมอีกครั้ง เมื่อพระเจ้าหลุยส์ทรงงัดหลักฐานอีกชิ้นนั่นก็คือพระราชหัตถเลขาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ที่มีใจความแสดงชัดว่า “หลุยส์ ดอร์เลออ็อง ไม่อาจจะปฏิเสธการสมรสในครั้งนี้โดยไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และฌานเองก็เป็นหมัน ไม่เหมาะยิ่งที่จะสมรส” ก่อนจะทรงตรัสสาบานต่อพระวรสารว่า “ทรงมิเคยบรรทมในสภาพเปลือยเปล่ากับพระนางเลยสักครั้ง”
มาถึงตรงนี้ หลักฐานของทางฝั่งท่านค่อนข้างจะมีน้ำหนักมากกว่าฝั่งของพระเจ้าหลุยส์จนดูเหมือนท่านจะกำชัยไว้ แต่อนิจจาเพราะเหตุผลทางการเมืองที่มาเหนือเหตุผลแห่งความเป็นจริง ที่สุดแล้วในวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1498 ศาลพิจารณาคดีของท่าน ณ เมืองตูร์ ด้วยอำนาจของพระสันตะปาปาผู้มีสิทธิ์ผูกและแก้ทุกสิ่งในโลกและสวรรค์ ก็ประกาศให้พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าหลุยส์ ที่ 12 และท่านเป็นโมฆะ เป็นอันปิดฉากชีวิตคู่ที่แสนทุกข์ทนของสองชายหญิงด้วยวิธีการอันน่าโสมม แต่ก็เป็นการเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ของราชธิดาแห่งฝรั่งเศส และเป็นเรื่องราวบทต่อไปของเจ้าหญิงผู้เกิดมาโดนชายในชีวิตถึงสองคน คือ พ่อและสามี รังเกียจเดียจฉันท์ แต่เป็นที่รักยิ่งของชายผู้อยู่เหนือชายทั้งปวงอย่างองค์พระคริสตเจ้า ชีวิตหลังการหย่าครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป พระเจ้าจะทรงทำอย่างไรต่อไปกับเจ้าหญิงผู้อาภัพ
"ข้าแต่ท่านนักบุญฌาน แห่ง วาลัวส์ ช่วยวิงวอนเทอญ"