วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2563

'ฌาน แห่ง วาลัวส์' ราชธิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ตอนที่ 4 (จบบริบูรณ์)

นักบุญฌาน แห่ง วาลัวส์
St. Jeanne de Valois
ฉลองวันที่: 4 กุมภาพันธ์

หลังจากนั้นอีกหลายเดือน ท่านก็มิได้ปริปากพูดเรื่องนี้กับคุณพ่อกาเบรียลอีก แต่ภายในของท่านนี่สิ แทนที่จะลืม ๆ เรื่องนี้ไป ตรงกันข้ามนับวันท่านกับรู้สึกว่าแม่พระทรงเรียกร้องให้ท่านปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระนางมากขึ้นเรื่อย ๆ จนท่านมิอาจกลั้นไว้ภายในได้ และที่สุดด้วยความโทมนัสแสนสาหัสที่ไม่อาจจะทำตามพระประสงค์ของแม่พระได้ ท่านจึงล้มป่วยลง และเมื่อสัมผัสได้ถึงความตายอยู่ไม่ไกลตัวแล้ว ท่านก็ตัดสินใจเรียกคุณพ่อกาเบรียลมาพบ เพื่อบอกกับท่านว่า “คุณพ่อคะ ลูกคิดว่าลูกกำลังจะตาย และก็เป็นคุณพ่อเองที่เป็นต้นเหตุแห่งความตายของลูก” ฝั่งคุณพ่อเมื่อได้ยินเช่นนั้น ก็มีอันตื่นตระหนกและพยายามจะยกเหตุผลต่าง ๆ นานามาอธิบายให้ท่านฟัง จนที่สุดแล้วท่านจึงเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวัยเยาว์ให้คุณพ่อได้ทราบ ทำให้คุณพ่อกาเบรียลเปลี่ยนความคิดที่มีมา และได้ทูลตอบ “ท่านหญิงขอรับ การเปิดเผยครานี้จะมิถูกละเลยแน่นอน” พร้อมให้สัญญาว่าจะช่วยท่านวางรากฐานความปรารถนาของแม่พระนี้ให้เป็นจริง ทำให้แต่วันนั้นเรี่ยวแรงที่หายไป ก็กลับมาเต็มเปี่ยมอีกครั้งในตัวท่าน

ขั้นแรกในการดำเนินการตามฝันนี้ คุณพ่อกาเบรียลได้ทูลแนะให้ท่านตั้งอารามในที่ดินใกล้ ๆ กับปราสาท พร้อมจัดหาหญิงสาวที่สนใจมาเข้ารับการอบรมเพื่อเตรียมเป็นนักพรตหญิงภายในอารามแห่งใหม่ ซึ่งในส่วนของการจัดหาหญิงสาวที่สนใจนี้ คุณพ่อกาเบรียลได้ตัดสินใจเดินทางไปหา ‘มาดมัวแซล เดอ ปัวเซลเลอ’ สตรีชาวเมืองตูรส์ผู้อุทิศชีวิตในการสอนเด็กหญิงในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1500 เพื่อแจ้งความประสงค์ของท่าน และได้ขอให้นางเลือกเด็กหญิงที่มีกระแสเรียกส่งมาให้ ซึ่งนางเดอปัวเซลเลอเมื่อทราบความประสงค์แล้ว ก็ได้คัดเด็กหญิงที่มีวัยระหว่าง 9 – 14 ปี ที่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองจำนวนทั้งสิ้น 11 คนมอบให้คุณพ่อ และคุณพ่อจึงได้พาคณะเด็กหญิงผู้มีกระแสเรียกออกเดินทางกลับมาเมืองบูร์ชในวันเสาร์วันของแม่พระอย่างพอดิบพอดี


เมื่อหน่ออ่อนของคณะใหม่เดินทางมาถึง ท่านก็ได้ต้อนรับพวกเธอด้วยความยินดีในฐานะ ‘ธิดา’ โดยในทุกวันท่านจะแวะไปหาพวกเธอ พลางเล่าถึงความสุขในการรับใช้แม่พระภายใต้อารามนี้ และทีละนิดผ่านคำพูดผนวกกับแบบฉบับของท่านดัชเชสผู้แสนดี กล้าอ่อนของคณะใหม่ก็เริ่มแทงยอดผลิใบน้อย ๆ ออกมา นั่นจึงนำมาสู่ก้าวต่อไปของอาราม นั่นก็คือการมี ‘กฏ’ ประจำอาราม แต่จะขึ้นกับธรรมนูญแบบใดดีที่จะสมกับเจตจำนงถวายเกียรติแด่แม่พระนี่สิ เป็นปัญหาต่อมาที่ท่านและคุณพ่อกาเบรียลต้องช่วยกันขบคิด และแน่นอนเมื่องานชิ้นนี้เกิดขึ้นโดยการชี้นำของพระนางมารีย์ พระนางเองก็ได้จัดเตรียมหนทางแก้ปัญหานี้ไว้

ดังนั้นเมื่อคุณพ่อกาเบรียลมาทูลถามท่านด้วยความกังวลถึงธรรมนูญที่อารามหลังนี้จะยึดถือ ท่านจึงได้บอกสิ่งที่แม่พระได้ทรงเผยแสดงให้ท่านทราบว่า “ลูกได้ทูลขอแม่พระให้ทรงสอนลูก ถึงชีวิตที่ลูกและธิดาของลูกต้องปฏิบัติ เพื่อเป็นที่พอพระทัยสำหรับพระนาง และองค์พระราชินีศรีสวรรค์ก็ทรงตรัสกลับว่า ‘จงปฏิบัติตามทุกสิ่งที่มีเขียนไว้ในพระวรสารว่าแม่ได้ปฏิบัติสิ่งใดบนโลกนี้ และจงทำให้ธรรมนูญนี้ได้รับการรับรองจากสันตะสำนัก ขอลูกรู้ไว้เถิด ว่าผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติดังนี้แล้ว ก็หมายความว่าเขาได้ดำรงอยู่ในพระหรรษทานขององค์พระเยซู พระบุตรของแม่และแม่ และทั้งนี้มันจะเป็นวิธีอันปลอดภัยในการสนองพระประสงค์ของพระบุตรของแม่ และความต้องการของแม่’”


เมื่อได้รับการไขแสดงเช่นนี้แล้ว ว่าธรรมนูญสำหรับอารามใหม่ไม่ได้อยู่ไหนหากแต่อยู่ในพระคัมภีร์ ฝั่งคุณพ่อกาเบรียลจึงได้เขียน ‘สิบฤทธิ์กุศลของแม่พระ’ ขึ้นโดยอาศัยพระวรสารที่ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวของการไถ่กู้ของพระเยซูคริสตเจ้า แต่ยังมีเรื่องเล็ก ๆ ของสตรีชาวนาร์ซาเร็ธคนหนึ่งซึ่งเปี่ยมด้วยฤทธิ์กุศลแห่งการถือความบริสุทธิ์ยิ่ง (มัทธิว 1 : 18 , 20 , 23 / ลูกา 1 : 27 , 34) ความไม่ประมาทยิ่ง (ลูกา 2 : 19 , 51) ความถ่อมใจยิ่ง (ลูกา 1 : 48) ความเชื่อยิ่ง (ลูกา 1 : 45 , ยอห์น 2 : 5) ความภักดียิ่ง (ลูกา 1 : 46-47 , กิจการอัครสาวก 1 : 14) ความนบนอบยิ่ง (ลูกา 1 : 38 , 2 : 21-22 , 27) ความยากจนยิ่ง (ลูกา 2 : 7) ความอดทนยิ่ง (ยอห์น 19 : 25) ความเมตตายิ่ง (ลูกา 1 : 39 , 56) และความทุกข์ยิ่ง (ลูกา 2 : 35) สอดแทรกอยู่ นี่เองจึงกลายมาเป็นธรรมนูญของอารามใหม่ ตามที่พระนางมารีย์ทรงเผยแสดงแก่ท่านว่า “จงปฏิบัติตามทุกสิ่งที่มีเขียนไว้ในพระวรสารว่าแม่ได้ปฏิบัติสิ่งใดบนโลกนี้ ”

นอกจากนี้เมื่อท่านไตร่ตรองว่ามตอนใดในชีวิตของพระนางมารีย์ ที่จะสำแดงให้เห็นชัดที่สุดถึงฤทธิกุศลอันงามพร้อมของผู้ได้ชื่อว่า ‘พระมารดาพระเจ้าและของชาวเรา’ ท่านก็พบว่า ‘การแจ้งสาส์นการรับเอากายของพระวจนาถต์’ ซึ่งส่วนตัวแล้วท่านก็มีความศรัทธาพิเศษต่อรหัสธรรมล้ำลึกนี้ยิ่ง ท่านทั้งชอบวาดรูปพระวรสารตอนนี้และยึดเอาพระวารสารตอนนี้เป็นแบบฉบับ นี่แหละคือการสรุปฤทธิ์กุศลทั้งหมดของแม่พระได้อย่างดีที่สุด ดังนั้นสำหรับคณะใหม่ที่จะเกิดขึ้น ท่านจึงได้เลือกรหัสธรรมแห่งการแจ้งสาส์นเป็นองค์อุปถัมภ์สำหรับการเจริญชีวิตเป็นที่พอพระทัยพระคริสตเจ้า ด้วยการเลียนแบบฤทธิ์กุศลของพระนางมารีย์โดยมีจุดประสงค์ที่จะเป็น ‘เหมือนพระนางมารีย์ที่มีชีวิตอยู่บนโลกอีกองค์’


เมื่อคุณพ่อกาเบรียลได้เพิ่มข้อความดังนี้ลงไปในธรรมนูญใหม่ตามคำสั่งของท่านแล้ว คุณพ่อคณะฟรังซิสกันชื่อ คุณพ่อวิลเฮล์ม โมแค็ง จึงรับหน้าที่เป็นผู้นำธรรมนูญคณะใหม่นี้ขึ้นทูลเกล้าถวายองค์สมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อให้ทรงอนุมัติ และฝั่งองค์พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ก็ทรงต้อนรับฑูตของท่านเป็นอย่างดีพร้อมตรัสถึงชีวิตที่ศรัทธาและยกถวายต่อพระของท่าน ณ ที่ประชุม จนดูเหมือนว่าการรับรองธรรมนูญครั้งนี้จะไม่มีข้อขัดข้องประการใด แต่เมื่อถึงเวลาต้องพิจารณา ปีศาจก็ได้ขัดขวางผลงานชิ้นนี้ ผ่านการที่บรรดาพระคาร์ดินัลทั้งหลายก็พากันไม่รับรองธรรมนูญคณะใหม่นี้ (มีส่วนจากการสังคายนาลาเตรลันครั้งที่ 4 ที่ให้คณะนักบวชที่ตั้งขึ้นในภายหลัง เจริญชีวิตตามธรรมนูญของคณะนักบวชที่เคยได้รับการรับรองแล้ว เพื่อลดความสับสนในพระศาสนจักรลง) ทำให้คุณพ่อวิลเฮล์มจำต้องกลับไปพร้อมความผิดหวัง และเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะขณะคุณพ่อข้ามเทือกเขาแอลป์ คุณพ่อก็ทำต้นฉบับธรรมนูญคณะใหม่ของท่านหล่นหายไป

ฝั่งท่านเมื่อทราบว่าเรื่องเป็นไปดังนี้แล้ว แทนที่ท่านจะถอดใจกับแผนการตั้งคณะใหม่นี้เสีย ท่านก็รับสั่งให้คุณพ่อกาเบรียลเขียนธรรมนูญคณะใหม่ขึ้นอีกครั้ง และได้ส่งคุณพ่อให้ไปดำเนินเรื่องนี้อีกครั้งที่กรุงโรมด้วยความเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า กิจการนี้เป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่มีต่อท่าน แต่กระนั้นก็ตามแม้คราวนี้คุณพ่อกาเบรียลจะเป็นผู้เดินทางไปด้วยตัวเอง มันก็ยังไร้ผลเพราะคณะพระคาร์ดินัลยังคงปฏิเสธคณะใหม่นี้เช่นเดิม ทำให้เมื่อไม่อาจจะพึ่งพาความช่วยเหลือมนุษย์ต่อไป คุณพ่อกาเบรียลจึงหันหน้าไปหาแม่พระ ผู้เป็นเจ้าของคณะนี้เพื่อให้พระนางทรงเอื้อมพระหัตถ์เข้ามาช่วยเหลือ และในคืนนั้นเอง องค์พระมารดาก็ทรงเอื้อมพระหัตถ์ของมารดาเข้ามาพลิกสถานการณ์อันสิ้นหวังนี้ให้ผ่านพ้นไปอย่างน่าอัศจรรย์


กล่าวคืนในคืนนั้นพระคุณเจ้าพระคาร์ดินัล โยวันนี บัพติสตา แฟร์ราโร ประธานดาตารีอา อโปสโตลิกา (หนึ่งในห้าหน่วยงานเดิมของโรมันคูเรีย ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้วในปี ค.ศ. 1967) ผู้มีอิทธิพลมากในหมู่พระคาร์ดินัลด้วยกันและเป็นปรปักษ์กับธรรมนูญและคณะใหม่นี้มากที่สุด ก็ได้ฝันเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสตำหนิเขา เหตุเพราะเขาไม่ยอมอนุมัติคณะใหม่นี้ ทั้งยังฝันเห็นท่านนักบุญลอเรนซ์ มรณสักขี และท่านนักบุญฟรังซิส อัสซีซี ยื่นมือออกมาเหนือศีรษะของคุณพ่อกาเบรียลในลักษณะอวยพร ใบหน้าของท่านนักบุญเหมือนบอกกับพระคุณเจ้าว่าภารดาผู้ต่ำต้อยคนนี้ คือ เครื่องมือของพระเป็นเจ้าโดยแท้ แล้วพระคุณเจ้าจึงได้เห็นความยิ่งใหญ่ของแม่พระ ในข้อรหัสธรรมลำลึกแห่งการแจ้งสาส์น จนเกิดเป็นแรงดลใจภายในให้พระคุณเจ้าจำต้องทำให้มีคณะใหม่ที่ถวายความศรัทธาเป็นพิเศษต่อข้อธรรมล้ำลึกนี้ และเมื่อพระคุณเจ้าจะสะดุ้งตื่นขึ้นจากฝันทั้งหมด พระคุณเจ้าจึงสวดภาวนาและไตร่ตรองถึงเรื่องทั้งหมด กระทั่งที่สุดพระคุณเจ้าจึงเรียกให้คุณพ่อกาเบรียลเข้าพบ พร้อมได้เปิดเผยเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนกลางคืนทั้งหมด ก่อนตัวพระคุณเจ้าจะไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา และได้ทูลขอให้พระองค์ทรงรับรองธรรมนูญและคณะใหม่นี้ ทำให้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1502 สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 จึงได้ทรงรับรองธรรมนูญและ ‘คณะแม่พระรับสาร’ อย่างเป็นทางการ ซึ่งพร้อมกันนั้นพระองค์ได้ทรงตั้งคุณพ่อกาเบรียลให้เป็นผู้แทนตรวจเยี่ยมของคณะใหม่นี้ด้วย

ไม่กี่วันต่อมาหลังได้รับการรับรองคณะใหม่ คุณพ่อกาเบรียลก็รีบออกเดินทางกลับถึงเมืองบูร์ช เพื่อนำข่าวแห่งความยินดีนี้มาแจ้งกับท่าน การเดินทางครั้งนี้เป็นไปได้อย่างปลอดภัย และเมื่อท่านได้รับพระราชกฤษฏีการับรองคณะใหม่ ท่านก็รับมาจูบด้วยความเคารพและความชื่นชมโสมนัสเป็นล้นพ้น ก่อนท่านจะรีบนำพระราชกฤษฏีกานี้ไปยังห้องของผู้สมัครในคณะใหม่คนหนึ่งที่ล้มป่วยหนักด้วยอาการไข้จนใกล้จะสิ้นใจเต็มที และเมื่อถึงที่ห้อง ท่านก็รีบเอาพระราชกฤษฏีกานี้ไปแตะที่ริมฝีปากของผู้สมัครเณรีที่หายใจรวยรินคนนั้น และบัดดลอาการไข้ของเธอก็หายสนิท (เหตุการณ์นี้เป็นที่เล่าลือกันมากในหมู่ชาวเมืองที่ต่างทวีความเคารพในตัวท่านมากขึ้น)


ขั้นต่อไปของการตั้งคณะใหม่ของท่านก็คือ ‘การสร้างอารามแม่พระรับสาร’ โดยท่านได้เลือกที่ดินที่จะสร้างอารามหลังใหม่ที่ข้าง ๆ ปราสาทของท่าน และได้เร่งจัดสร้างอาคารอารามหลังนี้ด้วยความร้อนรนในเดือนสิงหาคม ปีนั้น โดยในระหว่างที่การก่อสร้างอาคารถาวรวัตถุดำเนินไป ท่านก็ใช้เวลาเดียวกันนั้นก่อร่างจิตารมณ์แห่งการเลียนแบบฤทธิ์กุศลทั้งสิบประการของแม่พระ เพื่อสมเป็นที่พอพระทัยพระเป็นเจ้า ให้กับบรรดาธิดาน้อยของท่าน ท่านปรารถนายิ่งที่จะให้ความเมตตารักแผ่ปกคลุมอารามของท่านไม่ว่าจะยามนี้หรืออนาคต ท่านแนะให้บรรดาสมาชิกในคณะทักทายกันว่า “จงรักซึ่งกันและกัน”

ส่วนเครื่องแบบของคณะใหม่ ท่านได้เลือกให้สมาชิกสวมเสื้อยาวสีเทาคู่ผ้าคลุมสีดำเพื่อเตือนผู้ถวายตนถึงการพลีกรรมใช้โทษบาป ก่อนทับด้วยเสื้อจำพวกสีแดงสดอันสื่อถึงพระโลหิตประเสริฐของพระคริสตเจ้า และเสื้อคลุมสีขาวสัญลักษณ์แทนการถือพรหมจรรย์และความเมตตาธรรม ที่คอของสมาชิกทุกคนท่านยังออกแบบให้สวมเหรียญรูปพระนางมารีย์ ผู้ที่สมาชิกในคณะต่างมอบความศรัทธาพิเศษไว้ให้ โดยให้ผูกไว้กับริบบิ้นสีฟ้า เมื่อออกแบบเครื่องแบบคณะแล้วเสร็จดี ท่านจึงได้มอบชุดคณะที่ออกแบบใหม่นี้ให้กับผู้สมัครห้าคนแรกในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1502


จากนั้นคุณพ่อกาเบรียลและคุณพ่อเยราร์ดจึงได้ร่วมกันอบรมผู้สมัครที่เพิ่มมาเป็น 21 คน และได้มีการเลือกคัธริน กูวิเนลเลอ ชาวเมืองอัมบัวส์ให้เป็นหัวหน้ากลุ่มคนแรก และระหว่างนั้นในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1503 ก็มีพระราชหัตถเลขาลงพระนามพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 อดีตพระสวามีจากเมืองลียง รับรองการตั้งคณะของ ‘พระญาติที่รักและรักยิ่งฌานแห่งฝรั่งเศส ดัชเชสแห่งแบร์รี’ พร้อมพระราชทานการคุ้มครองเป็นพิเศษให้กับอารามของท่าน

แต่ขณะท่านส่งต้นกล้าอ่อนให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของชาวเมืองบูร์ชในฐานะผู้ปกครอง ท่านจึงมิได้เข้าประทับในอาราม แต่เลือกประทับที่ปราสาทดังเดิม โดยเลือกที่จะแต่งเครื่องแบบคณะและเข้าพิธีปฏิญาณตนนบนอบต่อคุณแม่อธิการในอารามในวันสมโภชพระจิตเจ้าที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1504 เมื่อมีพระชันษาได้ 40 พรรษา พร้อมปฏิบัติตนตามฤทธิ์กุศลของชีวิตนักบวชควบคู่ไปกับการดูแลทุกข์สุขของชาวเมืองให้ได้มากที่สุด


ลุถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนวกะห้าคนแรกของคณะก็ได้เข้าพิธีปฏิญาณตน หลังจากนั้นในวันที่ 21 เดือนเดียวกัน อันเป็นวันฉลองแม่พระถวายตนในพระวิหาร หลังสวดภาวนาตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าท่านจึงได้ร่วมในขบวนแห่กับบรรดาธิดาของท่านเข้าสู่อารามหลังใหม่ และ ณ ที่วัดน้อยประจำอาราม ท่านได้เป็นประธานในการยกถวาย ‘อารามแม่พระรับสาร’ ของคณะแด่พระเป็นเจ้าและแม่พระ ผู้ประสงค์ให้ตั้งอารามหลังนี้ขึ้น

แม้ภารกิจตั้งคณะแม่พระรับสารจะสำเร็จลุล่วงไปแล้ว แต่ด้วยความรักที่ลุกเป็นไฟของท่านต่อแม่พระ ท่านปรารถนาจะแต่งบทสวดสักบทให้วิญญาณทุกดวงได้สวดสรรเสริญพระมารดา ผู้นิรมล ดังนั้นเองหลังจากรำพึงคิดใครครวญท่านจึงได้ประดิษฐ์ลูกประคำชนิดสิบเม็ดขนาดเล็กเพื่อระลึกถึงฤทธิ์กุศลทั้งสิบประการของแม่พระขึ้น และเมื่อสมเด็จพระสันตาปาปาทรงทราบ พระองค์ก็ทรงส่งเสริมกิจศรัทธา ‘สวดวันทามารีย์สิบครั้ง’ และไม่นานกิจศรัทธานี้ก็แพร่ไปอย่างรวดเร็วในหมู่คริสตชน


แม้จะสามารถตั้งคณะใหม่ที่จำลองแบบแม่พระ และแต่งบทภาวนาเพื่อสรรเสริญพระนาง ท่านก็ยังรู้สึกว่าภารกิจของท่านบนโลกนี้ยังไม่จบสิ้น เพราะท่านยังรู้สึกเป็นทุกข์ยิ่งจากการเกิดสงครามกลางเมืองและความไม่ลงรอยกัน ท่านจึงไม่เคยเหน็ดเหนื่อยที่จะสวดภาวนาเพื่อสันติภาพของราชอาณาจักรฝรั่งเศส และปรารถนายิ่งที่จะนำพระพรแห่งสันตินี้ไปมอบแก่โลกทั้งใบ ทั้งนี้ท่านรู้ดีเสมอว่า ‘สันติ’ จะพบได้ก็เฉพาะใน ‘ความรักของพระคริสตเจ้า’ ซึ่งหลอมรวมมนุษย์ทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จนวันหนึ่งระหว่างท่านสวดภาวนาอยู่ลำพังเป็นเวลานาน แม่พระผู้ทรงสอนธิดาน้อย ๆ ของพระนางเองในเวลานี้หลายต่อหลายครั้ง ก็ตรัสกับท่านว่า “ในทุกคำพูดของลูก ลูกต้องแสดงถึงความปรารถนาดีกับทุกคน และสร้างสันติให้ปรากฏท่ามกลางพี่น้องที่ลูกอยู่ร่วมด้วย” 

พระดำรัสนี้จุดประกายเปลวไฟแห่งความคิดใหม่แก่ท่านอีกครั้ง คราวนี้ไม่ใช่การตั้งคณะแห่งการสวดภาวนา แต่คือการตั้งกลุ่มฆราวาสที่จะสร้างสันติแก่โลกทั้งใบ ‘คณะสันติภาพ’ หรือปัจจุบันคือ ‘ชมรมแม่พระรับสาร มรรคาแห่งสันติ’ จึงถูกก่อตั้งขึ้น โดยมีจุดประสงค์ให้สมาชิกของคณะนี้ “ไม่มีความเกลียดชัง ความไม่พอใจต่อใคร ในหัวใจของพวกเขาทุกคน” , “ไม่พูดถึงผู้อื่นในแง่ร้าย” , “นำสันติไปยังบรรดาพี่น้องที่ขุ่นข้องหมองใจ” และสุดท้ายคือการสวดสายประคำน้อย ๆ การสวดเพื่อองค์สมเด็จพระสันตะปาปา และสันติของพระศาสนจักร


นับวันหลังได้เป็นสมาชิกคณะ ความศรัทธาร้อนรนในการติดตามมรรคาแห่งสวรรค์ และความปรารถนาเจริญชีวิตร่วมกับบรรดาธิดาน้อยของท่านก็ยิ่งทวีขึ้น มีหลายต่อหลายครั้งพระเป็นเจ้า ผู้ทรงหมั้นท่านเอาไว้เป็นเจ้าสาวของพระองค์ก็ทรงกระทำกิจอันน่าพิศวงในตัวท่าน หลายครั้งหลายคราวระหว่างสวดภาวนา ท่านก็ได้เข้าสู่สภาวะฌาน พยานหลายคนมักได้ยินท่านพึมพำออกมาว่าระหว่างนั้นว่า “วันทามารีย์… เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน…” มีบางคราวท่านอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลาหลายวันโดยไม่กินไม่ดื่มอะไร ชนิดคนใช้ในปราสาทอุทานออกมาว่า “ท่านหญิงกำลังจะตายเป็นแน่” แต่แท้จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่เป็นเพราะการสนทนากับพระเป็นเจ้าต่างหากเล่า ที่ทำให้ท่านลืมโลกใบนี้ไปสิ้น และอิ่มหนำด้วยความสุขภายในที่มากพอจนความทุกข์ฝ่ายร่างกายไม่อาจมีกำลังเหนือได้

แต่ในขณะที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างแสนสุข เหมือนนี่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวใหม่ที่เต็มไปด้วยความยินดี โดยไม่มีใครคาดคิด เมื่อทุกสิ่งสำเร็จไปตามน้ำพระทัย พระเป็นเจ้าก็ทรงกระทำกิจอันน่าพิศวงอีกครั้ง ด้วยการทรงเรียกข้ารับใช้ผู้ต่ำต้อยกลับไปรับรางวัลในสวรรค์ กล่าวคือในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1505 จู่ ๆ ท่านก็เริ่มมีอาการป่วยหนัก ท่านจึงตัดสินใจสร้างช่องไว้สำหรับติดต่อกับอารามแม่พระรับสาร อาการของท่านยังทรง ๆ มาเรื่อย ๆ จนล่วงเลยมาถึงวันหนึ่งพระเป็นเจ้าก็ทรงดลใจให้ท่านปรารถนาจะไปยังอารามเพื่อพูดคุยแนะนำธิดาน้อยของท่านทุกคน ท่านจึงได้เสด็จไปยังอารามโดยที่ไม่ล่วงรู้เลยว่าการมาที่นี่จะเป็นการมาพร้อมลมหายใจเป็นครั้งสุดท้าย และท่านเองก็เหมือนจะทราบ เพราะครั้งนั้นเมื่อท่านเสด็จกลับ ท่านรู้สึกได้ว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่านจะได้มาเหยียบอารามหลังนี้อีกในสภาพที่มีลมหายใจ


ลุถึงค่ำของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1505 อาการของท่านก็ทรุดหนักลงสู่สภาวะตรีฑูต พระสงฆ์จึงถูกตามมาโปรดศีลเจิมให้ท่าน มีบันทึกว่าเวลานั้น ณ ท้องนภาเหนือปราสาทดยุกแห่งแบร์รีก็ปรากฏดาวหางทอแสงขึ้น คล้ายเครื่องแจ้งเหตุที่กำลังจะเกิดในปราสาทเป็นอัศจรรย์แก่ผู้พบเห็น ซึ่งภายหลังรับศีลเจิมแล้ว ท่านก็รับสั่งให้ทุกคนที่เฝ้าดูอาการของท่านถอยออกไป เพื่อว่าตัวท่านจะได้พร้อมจะรับเสด็จมาของเจ้าบ่าวที่รักที่กำลังจะเสด็จมารับท่าน กระทั่งถึงเวลาหนึ่ง ท่านจึงรับสั่งให้ดับไฟในห้องลง ก่อเกิดเป็นความมืดแห่งรัตติกาลแผ่ไปทั่วห้อง แต่… บัดดลสตรีที่ยืนอยู่ข้างท่าน ก็แลเห็นแสงสว่างส่องเรืองขึ้นมาจากร่างนายผู้เป็นที่รักของเธอ แสงนั้นสว่างเป็นพิเศษที่ตรงบริเวณหัวใจและปากของท่าน แต่มันอยู่เพียงชั่วขณะ (บ้างว่าถึงชั่วโมง) จึงค่อย ๆ อันตรธานหายไป สตรีรับใช้คนนั้นมองกิจการอันน่าพิศวงนี้ ก่อนเมื่อฉุดคิดถึงบางสิ่ง นางจึงรีบเอนตัวเข้าไปใกล้ร่างของท่าน และพบว่าพระเป็นเจ้าได้ทรงยก ‘ท่านดัชเชสผู้แสนดี’ ไปยังเมืองฟ้าด้วยพระชันษา 40 พรรษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ร่างของท่านที่ถูกพบสวมเข็มขัดตะขอพร้อมโซ่เหล็กคาดที่เอวได้รับการฝังตามพิธีอย่างสมพระเกียรติ และไม่นานอัศจรรย์มากมายก็บังเกิดขึ้นที่หลุมพระศพของท่าน ทั้งการรักษาโรคหรือการกลับใจต่างเกิดขึ้น ณ ที่พักแห่งสุดท้ายของท่านดัชเชส ส่วนคณะของท่านที่ท่านได้มอบไว้ในความดูแลของคุณพ่อกาเบรียล มารีก็ได้เจริญขึ้นตามลำดับ ดั่งคำสั่งเสียของท่านที่ว่า “มันคือความปรารถนาของลูกที่จะถูกเรียกว่าผู้ก่อตั้งคณะตามที่ลูกได้รับการเรียกมาทั้งชีวิต ท่าน คุณพ่อนั่นแหละ จะเป็นจิตตาธิการ อาจารย์ ผู้พิทักษ์แรก และผู้ตรวจการณ์คนแรก และบรรดาภคินีจะเรียกท่านว่า คุณพ่อผู้รอบคอบ”


กาลเวลาล่วงผ่านไปถึงปี ค.ศ. 1562 หรือ 56 ปีหลังมรณกรรมของท่าน ก็เกิดสงครามศาสนาขึ้นในฝรั่งเศสระหว่างฝ่ายคริสตังกับกลุ่มอิวเกโนต (กลุ่มคริสเตียนปฏิรูปพระศาสนจักรชาวฝรั่งเศสซึ่งได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของจอห์น คาลวิน ในช่วงศตวรรษที่ 16-17) เมืองบูร์ชก็ประกาศอยู่ฝ่ายอิวเกโนต ร่างของท่านจึงถูกขุดขึ้นมา และถูกพบว่าไม่เน่าสลายไปตามธรรมชาติ แต่อัศจรรย์นี้ก็ไม่อาจหยุดความเกียจชังในใจของผู้บุกรุกได้ ดังนั้นร่างของท่านจึงถูกนำไปเผาทำลาย … ในเหตุการณ์คราวนั้นมิได้มีเหตุอัศจรรย์ใดเกิดขึ้น พระเป็นเจ้าทรงปล่อยให้ไฟทำลายร่างอันรู้เสื่อมนี้ของท่านไปเป็นธุลี ให้พวกคนต่างความคิดเอาไปโยนทิ้ง แต่ก็มิทรงให้เปลวไฟแห่งความเกลียดชังนี้ลบวีรกรรมตลอดชีวิตของท่านไปได้ อัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวนอของท่านยังคงมี และพระศาสนจักรเองก็มิได้เพิกเฉยต่อชีวิตอันน่าพิศวงนี้

ในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1632 หรือกว่าร้อยปีหลังการจากไปของท่าน กระบวนการขอแต่งตั้งท่านจึงถูกเสนอต่อสมเด็จพระสันตะปาปาอูร์บันที่ 8 ให้ทรงพิจารณา แต่ก็ต้องใช้เวลาถึงร้อยปีหลังเสนอเรื่องพระศาสนจักรอันนำโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 ถึงทรงบันทึกนาม ‘ฌาน แห่ง วาลัว’ ไว้ในสารบบบุญราศี ในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1742 โดยอาศัยการรับรองคารวะกิจ (cultus confirmation) และที่สุดหลัง 445 ปี แห่งมรณกรรม สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ก็ทรงรับรองอัศจรรย์สามประการที่เกิดขึ้นอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน และทรงได้ประกอบพิธีสถาปนาท่านขึ้นเป็นนักบุญในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1950 อันตรงกับวันสมโภชพระจิตเจ้าในปีนั้น ท่ามกลางประจักษ์พยานกว่า 60,000 คน 

พิธีสถาปนาบุญราศีฌานเป็นนักบุญ

เหตุว่าบนโลกนี้พระเป็นเจ้ามิได้ทรงประกันว่าทุกสิ่งบนโลกนี้จะจีรัง ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์หรือความสุข ดังที่พระบุตรทรงสอนให้เราสวดภาวนาว่า ‘โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การผจญ แต่โปรดให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ’ ไม่ใช่ ‘โปรดช่วยข้าพเจ้าให้ไม่ต้องประสบการผจญ’ บทอ่านประจำวันในมิสซาไม่กี่วันที่ผ่านมาในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ไม่เพียงกล่าวถึงการทำนายถึงการเสด็จมาของพระผู้ไถ่เท่านั้น แง่หนึ่งข้อพระคัมภีร์ในข้อนี้ยังชี้ชวนให้เราคริสตชนรำพึงถึงความสุขที่เราจะได้ในวันสุดท้ายของชีวิต เมื่อเราบรรลุถึงยอดเขาแห่งความครบครันหรือสวรรค์ ภายหลังจากการเดินทางในโลกพร้อมกับไม้กางเขน นั่นก็คือ “บนภูเขานี้ พระองค์จะทรงทำลายผ้าคลุมที่คลุมหน้าประชากรทั้งหลาย และจะทรงทำลายม่านซึ่งกางอยู่เหนือนานาชาติ” (อิสยาห์ 25:7)

ในวันนี้จึงขอให้แบบฉบับของท่านนักบุญฌาน ในการเลียนแบบพระนางมารีย์ในรหัสธรรมล้ำลึกแห่งการรับเอากายของพระวจนาตถ์ นั่นคือการ ‘ยอมรับน้ำพระทัย’ ในทุกจังหวะของชีวิต โดยไม่รีรอหรือมีข้อกังขา ไม่ว่าน้ำพระทัยนั้นจะนำไปสู่ความสุขหรือความทุกข์เพียงไหน ได้เป็นแบบอย่างในการติดตามพระคริสตเจ้าของพวกเรา ขอให้ไม่ว่าชีวิตของเราจะต้องพบกับเรื่องราวอะไร ทั้งที่นำไปสู่ความสุขหรือความทุกข์ในโลกนี้ ก็ขอให้สายตาของเรามุ่งตรงไปยังความสุขแท้ ณ บนสวรรค์อยู่เสมอ เหมือนกับท่านนักบุญปฏิบัติตลอดชีวิต ขอให้เราหมั่นระลึกเสมอว่าสิ่งไหนก็ล้วนไม่จีรังทั้งสิ้นบนโลกนี้ ผิดกับในสวรรค์ เช่นคำที่พระนางมารีย์ตรัสสอนนักบุญแบร์นาแด็ตว่า ‘ฉันไม่รับรองว่าหนูจะมีความสุขในโลกนี้ แต่โลกหน้าแน่นอน’ อาแมน

รูทราย, เทเรซีโอของพระเยซู
เผยแพร่ครั้งแรก, 7 ธันวาคม ค.ศ. 2020
แก้ไขปรับปรุง, สี่วันหลังวันสมโภชแม่พระรับสาร
ที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2024

'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน ผู้ใหญ่ในคณะคนแรก ๆ ที่ท่านแสวงหา...