นักบุญซดิสลาวา
แห่ง เล็มเบิร์ก
St. Zdislava z Lemberka
ฉลองในวันที่ : 1 มกราคม
เรื่องราวในวันนี้เป็นอีกเรื่องที่คงต้องเริ่มเหมือนนิยามปรัมปราที่เราๆเคยฟังว่า
กาลครั้งหนึ่ง ณ ที่ราบสูงอันมีนาม “เชสโคโมราฟสกา” ประเทศโมราวา (ประเทศทางประวัติศาสตร์ทางตอนกลางของยุโรป ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก) เป็นที่ตั้งของเมืองหนึ่งชื่อว่า คริชานอฟ เมืองนี้มีปราสาทอันงดงามที่ที่เรื่องราวที่เรากำลังจะเล่าจะได้เริ่มขึ้น
เมื่อเสียงแรกของทารกที่ส่งสัญญาถึงชีวิตใหม่ดังขึ้นในครอบครัวของ พรีบีสลาฟ กับ
เซบีลา สองสามีภรรยาผู้ร่ำรวยและศรัทธา
เราไม่อาจรู้แน่ถึงวันแห่งการเริ่มต้นนั้นได้
ก็คงได้แต่ประมาณว่าปีนั้นน่าจะราวๆปี ค.ศ.1220 สมาชิกใหม่ผู้นี้เป็นเพศหญิงและได้รับนามอันไพเราะว่า
“ซดิสลาวา”
พร้อมสัญชาติคือชาวโมราวา กาลเวลาต่อมาเมื่อให้กำเนิดซดิสลาวาแล้ว
ครอบครัวนี้ก็ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่อีกถึงสี่คน จัดเป็นธิดาสามและบุตรหนึ่งคือ เอวเฟเม
เอลิซกู ลีบูซี และเปตรา ทำให้ท่านจึงมีน้องสาวและน้องชายรวมสี่คนด้วยกัน
จากวันเป็นสัปดาห์
จากสัปดาห์ผันเป็นเดือน จากเดือนผันเป็นปี และจากปีหนึ่งเคลื่อนคล้อยเข้าปีหนึ่ง จากทารกก็เติบใหญ่เป็นเด็กสาวน้อยน่ารักในสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่สมบูรณ์แบบในปราสาทในคริชานอฟ และอาจที่ Brně ด้วยก็ได้ เพราะพรีบีสลาฟมีปราสาทที่นั่น
ซึ่งตลอดเวลาที่ท่านเติบโตมาจนเป็นคนเคารพพระสงฆ์และนักบวชนั้น ทั้งสองก็เฝ้าสั่งสอนและให้การศึกษาแก่เด็กสาวตัวน้อยตามที่ควรจะได้รับมาตลอด
จนวันหนึ่งท่านก็ยินความสุขของชีวิตบรรดานักพรต
ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นมาในหัวของท่าน ใช่แล้ว ท่านปรารถนาจะพบความสุขเช่นนั้น ดังนั้นท่านจึงไม่รีอรอตัดสินใจจะเจริญรอยตามพวกเขา
แม้เวลานั้นท่านจะมีวัยเพียง 7 ปี ท่านก็ได้ตัดสินใจหลบออกจากปราสาทเข้าไปในป่าใกล้ๆ
เพื่อรำพึงถึงพระเจ้า อดอาหารและปฏิเสธบ้านในทันที แต่ท้ายสุดท่านก็กลับมา แต่บ้างก็เล่ากันว่าท่านถูกบังคับให้กลับ
กระนั้นก็ตามแม้ไม่อาจดำเนินชีวิตตามฝันได้
ความรักต่อความสันโดษและการระลึกถึงพระเจ้าก็ยังคงติดตัวท่านไปตลอดชีวิต จวบจนเจริญวัยเป็นสาวงามท่านก็ปรารถนาจะเข้าอาราม ปรารถนาจะดำเนินชีวิตสนิทกับพระ แต่เวลาเดียวกันท่านก็ปรารถนาจะแต่งงานและเป็นมารดา
ท่ามกลาวความสับสนในใจนี้เอง ที่สุดครอบครัวก็จัดให้ท่านเข้าพิธีวิวาห์กับฮาวลา
ลอร์ด แห่ง มาร์ควาร์ตีชง ผู้เป็นคนดีแต่หยาบคายแบบทหาร เจ้าของปราสาทอันโอ่อ่าในเล็มเบิร์ก
ทางตอนเหนือของโบฮีเมีย ซึ่งเป็นไปได้ว่าเวลานั้นอายุท่านอาจไม่ถึง
15 ปี
เลยด้วยซ้ำ
ซึ่งหลังจากท่านเข้าพิธีสมรส
ท่านก็ได้ย้ายไปอยู่บ้านสามีที่เล็มเบิร์ก
และได้มีบุตรและธิดาร่วมกับเขาสี่คนคือฮาเวล มาร์เกตา ยาโรสลาฟ และ ซดิสลาฟ ขณะเดียวกันก็ได้เจริญชีวิตเช่นนักบุญ
ทั้งในทางโลกและทางศาสนา แต่เป็นชีวิตคริสตชนแบบบูรณการที่ดำรงอยู่ด้วยความเชื่อ
ความหวัง และความรักอย่างแท้จริง แม้นปราสาทจะมีเรื่องวุ่นวาย
ท่านก็พบสันติอันเนื่องมาจากพระหรรษทานเสมอ และในฐานะภรรยาของดยุกแห่งแลมเบิร์ก
ท่านก็มิได้ละเลยหน้าที่อันใดไป เช่นเดียวกันในฐานะภรรยาคนหนึ่งท่านก็รอบคอบในการดูแลครอบครัวของท่านเสมอ
มีบางคนเล่าว่า
ท่านเกลียดการใสเสื้อผ้าหรูๆและงานเลี้ยง
ท่านปรารถนาจะมีชีวิตอย่างเรียบง่ายและใช้เวลากับลูกๆที่น่าทั้งสี่คน จนถึงชนิดที่ว่าสามีท่านจะต้องยืนกรานให้ท่านแต่งชุดที่ดีที่สุดของท่านหรือไปร่วมงานเลี้ยงอันยาวนานและป่าเถื่อนตามที่เขาชอบ เราคงคิดจินตนาการว่าท่านคงปฏิเสธเสียงแข็งแน่
แต่ผิดถนัด เพราะในทางกลับกันท่านกลับทำตามที่เขาเรียกร้องเพราะนี่คือกระแสเรียกของท่าน
“ทำดีที่สุดตามคำขอของสามี”
ขณะเดียวกันกับการดูแลครอบครัวในฐานะศรีภรรยา
ท่านก็มิได้ถือตนจองหองดั่งกิ้งก่าที่ได้ทอง ตรงกันข้ามท่านกลับถ่อมตนมาหาผู้ยากไร้
ท่านมอบทั้งเงิน อาหาร และยาแก่พวกเขาด้วยหัวใจ ไม่ว่าบรรดาผู้แสวงบุญ
ผู้ยากไร้และเจ็บป่วย ก็ต่างได้รับการต้อนรับจากท่านด้วยความเตตา และการสนับสนุนเท่าที่ท่านทำได้ด้วยความสุภาพถ่อมตนเสมอ
จนทำให้ท่านเป็นที่รักและเป็นที่รู้จักในนาม “แม่คนจน” และก็ด้วยการปฏิบัติเช่นนี้บ่อยครั้งนี้เอง
ก็ทำให้ท่านต้องขัดแย้งกับสามีบ่อยๆ
เวลาต่อมาเมื่อธรรมทูตชาวโปแลนด์สองคนคือนักบุญไฮอาซินธ์
และ บุญราศีเคสลาอุส ได้นำคณะโดมินิกัน
คณะใหม่แกะกล่องที่เพิ่มจะเริ่มไม่นานโดยนักบุญโดมินิก
มาเผยแพร่เมื่อมาถึงแลมเบิร์ก
ท่านก็ได้ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกขั้นสามของคณะ นับเป็นชาวสลาฟคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกขั้นสาม
และได้ร่วมกับสามีสร้างอารามนักบุญลอเรนซ์ขึ้นเพื่อคณะโดมินิกัน ซึ่งในการสร้างครั้งนี้ท่านก็ไม่ได้เพียงแค่สนับสนุนเพียงด้านทุนทรัพย์
แต่ท่านยังสนับสนุนด้วยแรงกาย ด้วยการขนคานและวัสดุเข้าไปยังสถานที่ก่อสร้าง
ทุกๆคืนจนการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพราะท่านอยากมีส่วนร่วมในงานนี้
ไม่ใช่เพียงด้วยทรัพย์ แต่ด้วยสองมือของท่านเอง
ขอกลับมาเล่าถึงชีวิตฝ่ายจิตของท่าน
เราอาจกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่าความเชื่อของท่านไม่ได้อยู่ในระดับเด็กๆ
ท่านเจริญชีวิตด้วยการสวดภาวนาและร่วมมิสซาพร้อมรับศีลทุกวันที่วัดของคุณพ่อคณะโดมินิกัน
ซึ่งนับเป็นแปลกมากในสมัยนั้น และที่ปราสาทเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีวัดน้อย
เช่นเดียวกันที่ปราสาทแลมเบิร์กมีวัดน้อยชื่อวัดพระตรีเอกภาพ
ท่านใช่ที่นั่นเป็นที่ในการรำพึงเสมอ ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังได้รับพระหรรษทานพิเศษคือการเห็นนิมิตและการเข้าฌานอีกด้วย
ปี ค.ศ.1241 นับเป็นปีแห่งความยากลำบากอีกปี เพราะกองทัพมองโกเลียได้กรีฑาทัพมายังยุโรป
เริ่มจากทางตะวันออก ทหารมองโกได้ทำลายโมราวามาตุภูมิที่รักของท่าน
เสียงร้องของสตรีที่ถูกข่มขืนดังระงม
ผสมเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของผู้คนที่ถูกทำร้ายโดยไร้ความผิด
ฉาบด้วยสีเปลวไฟแดงลุกโชกจากเผาทำลาย
ผู้คนมากมายพากันอพยพหนีความป่าเถื่อนนี้ด้วยความหวาดหวั่น
แต่ที่สุดการรุกรานก็หยุดลง ณ โฮสตีน อาศัยความช่วยเหลือของพระมารดาพระเจ้า
ก่อนจะถึงโบฮีเมีย
ซึ่งก่อนถึงเวลาแห่งความสุกสันต์นั้น
ท่านก็ได้เปิดปราสาทของท่านให้เป็นสถานหลบภัยแก่บรรดาผู้ลี้ภัย
เวลาเดียวกันก็พยายามช่วยพวกเขาอย่างสุดกำลัง
แต่ขณะที่ท่านออกแรงช่วยผู้ลี้ภัยอย่างแข็งขัน สามีท่านก็กลับมองว่ามันมากเกินไป
จนกระทั้งวันหนึ่งเหตุการณ์หนึ่งก็ได้เปลี่ยนเขาไปตลอด
เมื่อเขาไปยังเตียงที่ท่านได้ยกให้ยาจกป่วยนอนในคืนที่ผ่านมา
แต่แทนที่เขาจะประจักษ์ร่างของยาจนซกมก สายตาเขากับพบร่างของพระเยซูเจ้าถูกตรึงไม้กางเขนแทน
เหตุการณ์นี้สร้างความประทับใจเขามาก จนเขากลับมาสนับสนุนท่านและได้ช่วยให้ท่านสร้างอารามคณะโดมินิกันขึ้นที่เมืองตูรนอฟขึ้นในประมาณปี
ค.ศ.1250
อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับกิจการเมตตาของท่านที่เราไม่ทราบว่าเวลาแน่นอน
คือการที่ท่านได้ชักชวนสามีสร้างบ้านพักสำหรับผู้แสวงบุญยากไร้ที่ไม่มีที่พักขึ้น
โดยมีตัวท่านเองเป็นทั้งพยาบาลและหมอ ซึ่งผ่านหน้าที่เหล่านั้นเอง ท่านก่ออัศจรรย์ไว้จำนวนมากมาย
“ห้าคนตายฟื้นเดชะฤทธิ์พระเจ้า หลายคนตาบอดได้มองเห็น
คนอ่อนเปลี้ยและคนโรคเรื้อนได้รับการรักษา และมากมายอัศจรรย์ต่อคนจน” และในเวลานี้ผู้มาเยือนปราสาทแลมเบิร์กยังคงสามารถมาดูน้ำพุของนักบุญซดิสลาวา
ที่ตั้งอยู่ด้านล่างของปราสาท ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าท่านได้ใช่น้ำนี้รักษาคนป่วยด้วยโรคตามาแล้ว
ไม่เพียงแต่ผู้ยากไร้
ท่านยังแวะเวียนไปเยี่ยมบรรดานักโทษในคุกใต้ดินอันน่ากลัวและใช้อิทธิพลของท่านในการลดโทษพวกเขา
ไม่เพียงเท่านี้ท่านยังสอนคำสอนให้บรรดาลูกหลานคนรับใช้อีกด้วย ซึ่งผ่านกิจการเรานี้
เราสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเลยว่าชีวิตของท่านเต็มไปด้วยความรักที่มีต่อพระเจ้าและผู้คน
ชีวิตท่านเอ่อล้นไปด้วยความปรารถนาความรอดของวิญญาณ และอำนาจอัศจรรย์ผ่านฤทธิ์กุศล
ท่านค้นพบการพลีกรรมผ่านงานมากมายภายในการดูแลครอบครัวและปราสาทอันโอ่โถง
ท่านไม่ได้มีชีวิตอยู่สูง
ท่านมีสุขภาพเปราะบางและใช้เวลาหมดไปกับภารกิจในชีวิต
ดังนั้นหลังจากมีชีวิตที่ยอดเยี่ยมกับสามีและลูก และมีชีวิตที่เต็มไปด้วยฤทธิ์กุศล
ท่านก็ได้คืนวิญญาณไปหาพระเป็นเจ้าอย่างสงบ ณ ปราสาทเล็มเบิร์ก ในปี ค.ศ.1252 ด้วยอายุประมาณ 27-30 ปี ร่างของท่านก็ถูกฝังไว้ ณ
ห้องใต้ดินวัดนักบุญลอเรนซ์ที่ท่านสร้างจวบจนปัจจุบัน หลังพิธีปลงศพ ท่ามกลางความโศกเศร้าของบรรดาผู้ยากไร้และผู้ลี้ภัย
และมีเรื่องเล่าว่าหลังท่านสิ้นใจแล้วท่านก็ได้ประจักษ์มาปลอบใจสามีของท่านพร้อมได้มอบเสื้อคลุมสีแดงของท่านเป็นเครื่องหมายก่อนจากไป
ซึ่งทำให้เขาได้กลับใจในที่สุด
หลังจากนั้นในวันที่
28 สิงหาคม
ค.ศ.1907 สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส
ที่ 10 ก็บันทึกนามท่านในสารบบบุญราศี
และในวันที่ 21 พฤษภาคม
ค.ศ.1995 ระหว่างการเสด็จเยือนสาธารณรัฐเช็กของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น
ปอล ที่ 2
พระองค์ได้ทรงสถาปนาท่านขึ้นเป็นนักบุญ รวมระยะเวลาตั้งแต่ท่านสิ้นใจแล้ว 743
ปี “ให้เรามองดูประจักษ์พยานความสว่างของนักบุญซดิสลาวา
แม่ของครอบครัว ผู้ร่ำรวยไปด้วยผลงานทางศาสนาและเมตตา” พระดำรัสพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2
“ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดา
ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั้งชีวิตของตนก็เป็นศิษย์ของเราไม่ได้”(ลูกา 14:26) ผ่านการใคร่ครวญของพระวาจาในวันนี้จากคำอธิบายของคุณพ่อสมเกียรติ
ตรีนิกร และจากความคิดตัวเองก็ทำให้ผมคิดได้ว่า พระวาจาในวันนี้ได้บอกเราคล้ายๆกับพระวาจาของเมื่อวาน
คือเกี่ยวกับการเลือกความต้องการของพระ หรือสาละวนกับความต้องการของเรา(ข้อผูกมัดฝ่ายโลก) และนักบุญซดิสลาวานับเป็นแบบอย่างที่แจ่มชัดสุดสำหรับเรื่องนี้
ท่านได้เลือกที่จะออกไปช่วยผู้ขัดสนผู้ที่ต้องการความเมตตาเป็นอันดับหนึ่ง คือ
เลือกที่จะเป็นภาพสะท้อนของพระคริสต์ไปยังพี่น้องผู้ยากไร้ เลือกที่จะปฏิบัติตามกฎทองที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้นั่นคือ
“รักพระสุดใจ
สุดความคิด สุดปัญญา รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” แม้จะถูกสามีปราม
และแม้จะมีฐานันดรสูงแค่ไหนก็ตาม ท่านก็ไม่ได้หยุดงานเหล่านี้ ชวนให้เราคิดว่าในหลายๆครั้งเมื่อเราพบคนกำลังทุกข์ยาก
ขณะเรากำลังมีความสุขหรือมีนัดกับคนรู้จัก คนในครอบครัว เราได้เลือกทำเช่นไรลงไป
เลือกที่จะรักพระมากกว่าคนรู้จัก/ครอบครัวคือไปช่วยเขา หรือเลือกที่จะรักคนรู้จัก/ครอบครัวมากกว่าคือเดินผ่านไป
คำถามคือคำถามที่ถูกตั้งขึ้นจากประวัติของท่าน
บัดนี้นักบุญซดิสลาวาได้ตอบในส่วนของท่านแล้ว แล้วเราละเลือกข้อไหนกัน อัลเลลูยา
อัลเลลูยา
“ข้าแต่ท่านนักบุญซดิสลาวา แห่ง
เล็มเบิร์ก ช่วยวิงวอนเถิด”
ข้อมูลอ้างอิง